บทที่ 6
ความเป็นมนุษย์ของพระคริสต์
ความเชื่อในตรีเอกานุภาพทำให้คำในพระคัมภีร์เป็นปัญหา
บทนี้ผมจะพูดถึงพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์ ผมหวังว่าเราได้ขจัดอุปสรรคตามรายทางออกไปบ้าง และได้เข้าใจประเด็นสำคัญๆเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ ผมก็รู้ถึงอิทธิพลอย่างมากของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่มีต่อความคิดของเรา มันมีผลทางจิตวิทยากับคุณและผมจนเราจะคิดเรื่องใดที่เกี่ยวกับศาสนศาสตร์ให้ชัดเจนได้ยาก คำในพระคัมภีร์ถูกความเชื่อในตรีเอกานุภาพบิดเบือนให้เป็นไปตามความหมายหรือความหมายแฝงของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เรื่องนี้รบกวนใจผมอย่างมากเพราะมันเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถจะคิดอย่างชัดๆและคิดอย่างพระคัมภีร์ได้
คนส่วนใหญ่ไม่เป็นนักคิดที่ดี แค่ทำให้ความคิดพวกเขาสับสนเพียงเล็กน้อยพวกเขาก็จะติดอยู่ในวังวนของความสับสนอยู่อย่างนั้น เราจำเป็นต้องอธิษฐานขอความชัดเจน ผมพบคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ความคิดของเขาชัดเจนมาก คริสเตียนทั่วไปจะสับสนได้ง่ายๆกับแนวคิดและคำที่ใช้ คุณต้องถามพวกเขาว่า “คำนี้คุณหมายความว่าอะไรแน่?” ความสับสนเป็นภัยอย่างยิ่งเมื่อมาถึงเรื่องของฝ่ายวิญญาณ
ทุกวันนี้เมื่อใช้คำในพระคัมภีร์เราต้องปล้ำสู้กับความหมายที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพทำให้เสียไป ถ้าคุณพูดว่า “พระบิดา” ผมก็ไม่รู้ว่าพระบิดาองค์ไหนที่คุณกำลังพูดถึง ถ้าคุณกำลังหมายถึงพระบิดาตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ พระองค์ก็ไม่ใช่พระบิดาตามที่เราเห็นในพระคัมภีร์เดิมซึ่งก็คือพระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์ไม่ได้เป็นคนๆเดียวกับพระบิดาตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพเพราะพระบิดาคนหลังเป็นเพียงหนึ่งในสามองค์ในตรีเอกานุภาพ ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นพระบิดาจะถูกแทนที่ด้วยพระเยซูผู้เป็นตัวเอกในงานของความรอด พระบิดากลายเป็นตัวรองที่เล่นบทตัวประกอบให้กับพระเยซูพระบุตร
แต่พระคัมภีร์เดิมมีพระบิดาแค่องค์เดียวและไม่มีพระเจ้าองค์อื่นเลย ไม่มีร่องรอยของพระเจ้าในรูปของพระบุตรหรือพระเจ้าอื่นใดเลย ในพระคัมภีร์เดิมจะมีแต่เพียงชนอิสราเอลกับพวกทูตสวรรค์เท่านั้นที่ถูกเรียกว่าบรรดาบุตรของพระเจ้า คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดชัดเจนหรือคิดอย่างมีเหตุผล ผมจึงสั่นกลัวเมื่อผมคิดถึงว่าเราจะรับมือกับแนวคิดของพระคัมภีร์ใหม่เกี่ยวกับพระคริสต์อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีความสับสนกับเรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์เพราะทุกคนกำลังใช้ภาษาเดียวกัน ใช้ถ้อยคำเดียวกัน ใช้คำศัพท์เดียวกันแต่มีความหมายที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระองค์ที่สามในตรีเอกานุภาพ แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ในพระคัมภีร์เดิมไม่เป็นแบบนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็คือพระวิญญาณของพระเจ้านั่นเอง ส่วน plēroma หรือความบริบูรณ์ของพระเจ้านั้นประกอบด้วยหลายสิ่ง เช่น พระปัญญาของพระองค์ ฤทธิ์อำนาจของพระองค์ พระคุณของพระองค์ พระคำของพระองค์ และพระวิญญาณของพระองค์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นบุคคลตามอย่างความคิดที่เชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ของกรีก แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงด้านที่แตกต่างกันของ “plēroma” (ความบริบูรณ์) ของพระเจ้า เป็นความบริบูรณ์ตามที่ยอห์นกล่าวในบทนำของเขา (ยอห์น 1:16)[1] ที่เราทั้งหลายได้รับ ไม่ว่าจะเป็นความบริบูรณ์ของพระคำพระองค์ หรือฤทธิ์อำนาจในการทรงสร้างของพระองค์ หรือฤทธิ์อำนาจที่ทำการเปลี่ยนแปลงของพระองค์ หรือพระปัญญาของพระองค์ เป็นต้น
พระวิญญาณของพระเจ้าเป็นส่วนสำคัญของพระเจ้าเช่นเดียวกับที่จิตวิญญาณของเราเป็นส่วนสำคัญของเรา การเอาความบริบูรณ์ของพระเจ้า หรือ “plēroma” ของพระเจ้าออกไปและให้องค์ประกอบแต่ละอย่างเป็นเหมือนบุคคลๆหนึ่งที่มีชีวิตนั้นจะเป็นไปได้ก็เฉพาะแต่กับความคิดของคนต่างชาติที่เชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ และเพราะเราไม่ได้มีรากฐานในความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวอย่างแท้จริงเราจึงถูกการให้เหตุผลของความเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ชักนำเราได้ง่ายๆ เมื่อมีข้อพิสูจน์ของความเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์เข้าทางของเรา เราจึงรับอย่างเต็มที่โดยไม่มีการวินิจฉัยหรือคิดให้ดีๆ
คณะหัวหน้าบาทหลวง[2]ในการประชุมแห่งไนเซียเป็นใคร?
เมื่อผมคิดถึงว่าความยุ่งเหยิงนี้เริ่มขึ้นอย่างไร และเมื่อมาถึงศตวรรษที่สี่ความคิดของคนต่างชาติและกรีกโบราณเกี่ยวกับคริสตจักรนำไปสู่สภาสังคายนาไนเซีย[3]ได้อย่างไร ผมคิดถึงความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงของเราในฐานะผู้นำคริสตจักร หากคุณให้คำสอนผิดๆคริสเตียนรุ่นต่อๆไปก็จะไปผิดทาง
พวกที่ประชุมกันในการประชุมแห่งไนเซียเป็นใครบ้าง? หัวหน้าบาทหลวงนิรนามเหล่านี้ที่ตั้งหลักข้อเชื่อไนเซียในปี ค.ศ. 325 ข้อเชื่อซึ่งกลายมาเป็นหลักข้อเชื่อให้กับคริสตจักร ไม่ว่าจะในข้อเชื่อของคริสตจักรต่อๆมาหรือว่าในงานเขียนทางศาสนศาสตร์หรือในหนังสือคริสเตียนต่างๆตลอดหลายศตวรรษก็ตาม คนเหล่านี้เป็นใครกัน? เราไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของพวกเขาเว้นแต่ข้อเด่นเพียงสองสามอย่าง พวกเขาถูกเรียกว่าหัวหน้าบาทหลวงจากคำ episkopos[4] ซึ่งมีความหมายแค่ว่าผู้ปกครองดูแลที่ดูแลคริสตจักร หรือดูแลเขตถ้ามีหลายคริสตจักร
ที่ประชุมสภาไนเซียของบรรดาหัวหน้าบาทหลวงได้ทำการตัดสินใจทุกอย่างในเรื่องหลักข้อเชื่อ แต่คนเหล่านี้เป็นใครกัน? พวกเขามีคุณสมบัติอะไรที่ให้การรับรองข้อเชื่อที่พวกเขาสั่งให้คริสเตียนทุกคนยอมรับ? จะเห็นว่านอกจากข้อมูลว่าพวกเขามีจำนวนสองหรือสามร้อยคนแล้ว ชื่อของคนส่วนใหญ่ก็ไม่มีบันทึกเอาไว้เลย ผมอยากจะรู้เกี่ยวกับพวกเขาสองสามอย่างว่าความเข้าใจพระคำของพระเจ้าของพวกเขาทะลุปรุโปร่งมากแค่ไหน? ความเข้าใจในฝ่ายวิญญาณของพวกเขาชัดเจนแค่ไหน? พวกเขามีคุณสมบัติอะไรบ้างในฝ่ายวิญญาณ? การทรงนำขององค์ผู้เป็นเจ้าเป็นจริงในชีวิตของพวกเขาแค่ไหน?
หัวหน้าบาทหลวงจำนวนมากเหล่านี้ก็เหมือนกับศิษยาภิบาลส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่อาจเป็นนักเทศน์ธรรมดาหรือน้อยกว่าธรรมดาที่มีความเข้าใจพระคำของพระเจ้าไม่ลึก ขณะเดียวกันพวกเขาอาจมีความสามารถในการบริหารคริสตจักรอยู่พอประมาณ ไม่เช่นนั้นพวกเขาคงไม่ได้มาเป็นผู้นำคริสตจักร มีบางคนได้มาเป็นผู้นำคริสตจักรเพราะพวกเขาสันทัดกับการเมืองคริสตจักรหรือไม่ก็ได้ตำแหน่งผู้นำโดยชนะคู่ชิงแบบหวุดหวิด อย่างที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆในคริสตจักรทุกวันนี้[5]
ผมเห็นเรื่องแบบนี้ด้วยตัวของผมเองเพราะในสมัยของผม ผมได้ไปหลายคริสตจักร เช่นที่คริสตจักรจีนลอนดอนในช่วงที่ผมศึกษาอยู่ ผมได้เห็นการเมืองในคริสตจักรว่าทำกันอย่างไร มีคนดีๆหลายคนไม่ได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งของผู้นำเพราะพวกเขาไม่มีคุณสมบัติพิเศษในการดึงดูดใจคน หรือไม่ได้เที่ยวออกไปหาคนให้สนับสนุน แต่นักเอาใจทั้งหลายในคริสตจักรรู้จักวิธีพูด วิธีผูกมิตร ชวนพี่น้องมากินข้าวเย็นและขอคะแนนเสียง นั่นเป็นภัยมหันต์ของระบบประชาธิปไตยของคริสตจักร กลยุทธ์สำคัญที่สุดก็คือการผูกมิตร คนที่ดีมักจะผูกมิตรไม่ค่อยเก่งเพราะพวกเขามีแนวโน้มที่จะเป็นคนตรงไปตรงมาและจริงใจมากไป
ผมสังเกตบ่อยๆว่าในการเลือกตั้งของคริสตจักรลอนดอนนั้น คริสเตียนที่ดีจะไม่ถูกเสนอชื่อ อย่าว่าแต่จะให้พวกเขาเป็นตัวสำรองเลย ส่วนคนที่มีคุณภาพแบบคริสเตียนธรรมดาจะได้รับเลือกเพราะพวกเขามีความสันทัดในวงสังคมและคนเหล่านี้แหละที่มาเป็นผู้นำของคริสตจักร
แม้ว่าผมไม่เคยจะแสวงหาตำแหน่งในคริสตจักรแต่ผมก็มักจะได้รับเลือกเสมอ มีบางคนยืนกรานเสนอชื่อของผม ส่วนคนอื่นจะเป็นตัวสำรองและพอรู้ตัวผมก็ได้รับเลือกไปแล้ว ผมคิดอยู่ว่าเหตุผลจริงๆที่เสนอชื่อของผมนั้นคงเป็นเพราะผมเป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาพระคัมภีร์ทั้งหมด ถ้าผมไม่ได้รับเลือกก็อาจจะไม่ได้ศึกษาพระคัมภีร์กันก็เป็นได้ พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกมากนักไม่ว่าตัวผมเองจะมีความสามารถพิเศษหรือไม่มีก็ตาม
หากผู้นำของคริสตจักรในปัจจุบันนี้อยู่ในระดับที่ธรรมดาอย่างที่เป็นอยู่ (ผมคิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนไปมากจากตั้งแต่ยุคแรก) ผมสงสัยว่าคนทั้งหลายที่อยู่ในการประชุมเพื่อคริสตจักรไม่ว่าจะเป็นการประชุมแห่งไนเซีย[6] หรือคอนสแตนติโนเปิ้ล[7] หรือที่อื่นๆก็คงเป็นคนที่ธรรมดามากที่ไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างดีมากในพระคำของพระเจ้า เราคงจะนึกภาพออกถึงผลลัพธ์ที่ตามมาภายหลัง คนเหล่านี้กำหนดข้อเชื่อที่คริสตจักรจะต้องยอมรับ แล้วคุณรู้ไหมว่าบางข้อเชื่อจบลงอย่างไร? หลายข้อเชื่อจะลงท้ายด้วยคำ “อนา-ธมา” ()[8] อย่างเช่น ข้อเชื่อของสภาสังคายนาแคลซีดอน[9] และข้อเชื่อของสภาสังคายนาคอนสแตนติโนเปิ้ลครั้งที่สอง[10] มันหมายความว่าถ้าคุณไม่ยอมรับสิ่งที่ประกาศไปในการประชุมนั้น คุณก็จะถูก “อนา-ธมา” คือ “ถูกแช่งสาป”
นี่ช่างเป็นวิธีลงท้ายข้อเชื่อของคริสเตียนอย่างเป็นมิตรเสียเหลือเกิน! ผมขอบอกตั้งแต่ต้นว่าผมไม่เกี่ยวข้องกับ “อนา-ธมา” และผมจะอยู่ให้ห่างจากภาษาแบบนี้
ผมได้อธิบายความจริงอย่างละเอียดกับคุณในบทต่างๆนี้ คุณสามารถจะตรวจสอบดูว่าคำสอนของผมเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จ ถ้าคุณคิดว่าคำอธิบายอย่างละเอียดของผมที่ยึดจากพระคัมภีร์อย่างระมัดระวังแบบข้อต่อข้อนั้นไม่ถูกต้อง ผมพร้อมที่จะให้ใครก็ได้ตรวจสอบทั้งความถูกต้องด้วยเหตุด้วยผลและที่สำคัญกว่านั้นคือรากฐานที่หนักแน่นจากพระคำของพระเจ้า หากมีใครสามารถแสดงให้เห็นว่าคำสอนของผมผิดและไม่ตรงตามพระคัมภีร์ ผมก็จะถอยและขอโทษต่อหน้าทุกคนกับความผิดพลาดนี้
แต่เราไม่ได้ความเชื่อมั่นเช่นนั้นจากบรรดาผู้นำในการประชุมแห่งไนเซีย ข้อเชื่อของพวกเขาไม่มีพระคัมภีร์อ้างอิงเลยสักข้อมาสนับสนุนการยืนยันของพวกเขา พวกเขาประกาศข้อเชื่อออกไปอย่างไม่มีข้อพิสูจน์และไม่ให้หลักฐานจากพระคัมภีร์มาสนับสนุนว่าถูกต้องเชื่อถือได้ บางข้อเชื่อก็ลงท้ายด้วย “อนา-ธมา” ซึ่งหมายความว่าถ้าคุณไม่ยอมรับข้อเชื่อนี้คุณก็จะตกนรก นั่นคือความหมายของ “อนา-ธมา” แบบภาษาง่ายๆ
ไม่มีใครมีอำนาจที่จะประกาศ “อนา-ธมา” หรือให้ใครสักคนตกอยู่ใน “อนา-ธมา” ได้ พระเจ้าทรงให้ความรับผิดชอบกับคุณและผมที่จะตัดสินใจเอง ถ้าคุณตัดสินใจผิดคุณก็จะ “อนา-ธมา” ต่อหน้าพระเจ้า ไม่ใช่ต่อหน้าผมหรือต่อหน้าคริสตจักร ในชีวิตนี้เราจะทำผิดพลาดกับความจริงในเรื่องนี้ไม่ได้เลย เพราะว่ามันเป็นเรื่องความเป็นและความตาย
ความรับผิดชอบของเราในฐานะของผู้นำนั้นมีมาก เมื่อผมคิดถึงบรรดาผู้นำคริสตจักรผู้ให้การรับรองข้อเชื่อเหล่านี้ ผมก็เห็นชัดว่าพวกเขาจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างมาก ฉะนั้นจงระมัดระวังสิ่งที่คุณสอน คุณต้องแน่ใจว่าคุณมีรากฐานแน่นกับพระคำของพระเจ้า พวกคุณคงรู้ว่าหนทางของคุณยังมีอีกยาวไกล แค่เพียงแต่รู้พระคัมภีร์นั้นยังไม่ดีพอ คุณยังต้องมีความคิดที่ชัดเจนด้วยเพื่อคุณจะได้ไม่สรุปจากข้อสนับสนุนที่ถูกต้องมาแบบผิดๆ คุณอาจมีข้อมูลที่ถูกอยู่ตรงหน้าของคุณแต่คุณอาจได้ข้อสรุปที่ผิดจากข้อมูลเหล่านั้นได้
คุณจะเจอการตีความที่ไม่ถูกต้องได้ในทุกที่ มันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะดูใจความหนึ่งแล้วคิดทันทีว่าเราได้ข้อสรุปที่ถูกแต่การตีความอาจผิดก็ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาค้นคว้าอย่างมากและการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนถึงจะได้ความหมายที่แท้จริงของข้อนั้น
ผมแน่ใจจริงๆว่าสิ่งที่เหล่าหัวหน้าบาทหลวงขาดเป็นส่วนใหญ่ก็คือ ความลึกและคุณภาพในฝ่ายวิญญาณ คริสตจักรกำลังตกต่ำลงเรื่อยๆทางฝ่ายวิญญาณในช่วงสามศตวรรษแรกภายหลังจากพระคริสต์พร้อมๆกับคุณภาพฝ่ายวิญญาณที่ตกต่ำลงของบรรดาผู้นำของคริสตจักร
มีผู้นำคริสตจักรที่ดีอยู่จำนวนน้อยในศตวรรษที่สี่แต่ในจำนวนนี้มีหลายคนถูกข่มเหง ตัวอย่างหนึ่งในนั้นคือยอห์น คริสซอสตอม[11] (“คริสซอสตอม” ในภาษากรีกหมายความว่า “ผู้มีฝีปากดี”[12]) คำเทศนาของเขาดีมาก เร้าใจมาก และมีพลังจนเขาได้รับฉายาว่าผู้มีโวหารดี เขาประกาศพระวจนะของพระเจ้าและการทุ่มเทของเขาให้กับพระเจ้าก็เกินธรรมดา เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะบาทหลวงแห่งคอนสแตนติโนเปิ้ล[13]เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออก แต่ยังไม่ทันถึง 400 ปีหลังจากช่วงเวลาของพระคริสต์ คริสตจักรที่คอนสแตนติโนเปิ้ลก็เสื่อมลงมากแล้วจึงทำให้คริสซอสตอมต้องว่ากล่าวอย่างต่อเนื่อง ความเสื่อมลงนี้มีไปจนถึงจักรพรรดินีที่ประกาศตัวว่าเป็นคริสเตียน แต่เธอก็หนีคำตำหนิของคริสซอสตอมไม่พ้น (นี่แย่มากกับภาพลักษณ์ของเธอต่อสาธารณชน) เขาถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าคณะบาทหลวงและก้าวเข้าสู่ความตาย บรรดาหัวหน้าบาทหลวงที่เสื่อมถอยได้พร้อมใจกันต่อต้านเขาและคริสตจักรก็ได้สูญเสียคนดีๆไปคนหนึ่ง นั่นคือคุณภาพที่มากของคำสอนและคำเทศนาของเขาจนงานเขียนและคำเทศนาของเขายังมีมาถึงเราจนทุกวันนี้
คริสซอสตอมมีชีวิตที่บริสุทธิ์และเรียบง่ายซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการดำเนินชีวิตที่ด่างพร้อยของบรรดาผู้นำคริสตจักรส่วนใหญ่ และในจำนวนเหล่านี้ก็รวมบรรดาหัวหน้าบาทหลวง บรรดานักบวชและบรรดาผู้นำคริสตจักรคนอื่นๆที่จัดให้มีข้อเชื่อเหล่านี้ของคริสตจักรขึ้น เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับหัวหน้าบาทหลวงอีกสองสามร้อยคนเหล่านี้ที่อยู่ในการประชุมแห่งไนเซียยกเว้นคนที่เด่นๆเพียงไม่กี่คน ผมอยากเห็นรายชื่อของพวกเขาและอยากรู้ว่าพวกเขาเป็นคนแบบไหนกันบ้างแต่ก็ไม่มีรายละเอียดไว้ให้เราเลย
ความคิดที่ไม่ชัดเจน
สถานการณ์ของคริสตจักรในปัจจุบันก็คือ เราถูกใส่ด้วยคำสอนที่ไร้เหตุผลอย่างเช่น พระเยซูเป็นพระเจ้า 100% และเป็นมนุษย์ 100% คนที่มีจิตปกติดีจะเสนอแนะเรื่องเหลวไหลอย่างนี้หรือ? มันเป็นความโง่เง่าของผมและของคนอื่นๆที่เชื่อเรื่องเหลวไหลนี้
ไม่มีใครเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงด้วยการเป็นมนุษย์มากขึ้นอีก 10% หรือเป็นมนุษย์น้อยลงอีก 10% และถ้าหากคุณจะเพิ่มอะไรให้กับพระเจ้า พระองค์ก็จะไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป การรวมสองธรรมชาตินี้ในพระคริสต์จะเป็นได้อย่างไร? สองธรรมชาตินี้คือเป็นพระเจ้า 100% และเป็นมนุษย์ 100% จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร? ปัญหานี้ไม่เคยมีการชี้ขาดในศาสตร์เกี่ยวกับพระคริสต์ มันจะไม่สามารถชี้ขาดได้เลยเพราะเรามีข้อกำหนดที่ขัดกัน คือสองธรรมชาตินี้จะต้องไม่ผสมปนกันแต่ก็จะต้องไม่แยกกัน คุณจะให้พระเจ้าผสมปนกับมนุษย์อย่างที่คุณผสมซุปสองกระป๋องปนกันในหม้อไม่ได้ ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นพระเจ้าและมนุษย์ไม่สามารถจะผสมปนกันในพระคริสต์ได้ แต่ถึงอย่างนั้นทั้งสองก็ไม่สามารถจะแยกจากกันได้ ถ้าหากทั้งสองไม่สามารถจะผสมปนกันหรือจะแยกกันได้ อย่างนั้นพระเจ้ากับมนุษย์ก็คงจะติดอยู่ด้วยกันด้วยกาววิญญาณ วิธีนี้ทั้งสองก็จะไม่ต้องผสมปนกันและก็จะไม่ต้องแยกกัน
เราได้ข้อสรุปที่เหลวไหลนี้มาได้อย่างไร? การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจริงๆด้วยสูตรนี้ไม่อาจเป็นไปได้ไม่ว่าจะให้ความเป็นมนุษย์ของพระคริสต์อยู่นอกพระองค์ผู้ซึ่งเป็นพระเจ้า หรือจะให้ความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์อยู่นอกพระองค์ผู้ซึ่งเป็นมนุษย์ พระองค์ไม่สามารถจะเป็นทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันได้ พระเยซูทรงอยู่ในฝั่งความเป็นมนุษย์ของพระองค์มากกว่าหรือว่าทรงอยู่ในฝั่งความเป็นพระเจ้าของพระองค์มากกว่า? ถ้าพระองค์อยู่ในอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็จะต้องอยู่นอกพระองค์ที่เหมือนว่าติดอยู่กับพระองค์
ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะคนอย่างออกัสติน[14]ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในบรรดาคนที่ฉลาดที่สุดของคริสตจักร เขาฉลาดกว่าผู้นำทั่วไปของคริสตจักรอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่เขาเป็นคนเริ่มความคิดทั้งหมดเรื่องความบาปแต่กำเนิดและเรื่องทำนองนั้น หลายศตวรรษต่อมาคาลวิน[15]ก็รับเรื่องนี้อย่างเต็มๆ มนุษย์ถูกกล่าวว่าเลวทราม ซึ่งมีการเพิ่มคำ “ไปหมด” เพื่อมนุษย์จะเลวทรามอย่างสมบูรณ์ คือเลวทราม 100%
อาจเป็นได้ว่าพวกเขาไม่ได้คิดให้ดีถึงผลที่ตามมาของเรื่องนี้ เพราะถ้าพระเยซูเป็นมนุษย์ 100% และถ้ามนุษย์เลวทราม 100% ซึ่งไม่ต้องถึงกับเป็นนักตรรกวิทยาก็เห็นได้ว่าพระเยซูก็ต้องเลวทราม 100% เช่นกัน แต่นี่คือสิ่งที่บ่งบอกอยู่ในข้อเชื่อต่างๆนี้ จงตัดสินใจเสียเลยว่าถ้าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงพระองค์จะทรงเลวทรามไปหมดไหม? และถ้าพระเยซูไม่ได้ทรงเลวทรามไปหมด พระองค์จะทรงเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงไหม?
แม้เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ผมก็ไม่เคยยอมรับคำสอนเรื่องความเลวทรามไปหมดเพราะไม่มีหลักฐานเรื่องนี้ในพระคำของพระเจ้า แต่นี่ก็ไม่ได้ทำให้บรรดาผู้นำของคริสตจักรที่เสนอหลักคำสอนนี้ทุกข์ร้อนอะไร หลักคำสอนนี้ไม่ได้กล่าวไว้ในการประชุมแห่งไนเซียแต่มีในภายหลังซึ่งทำให้คำสอนสับสนยิ่งขึ้น พวกเขาไม่พอใจจะพูดแค่ว่ามนุษย์ทุกคนทำบาป พวกเขาได้เพิ่มคำสอนในเรื่องความเลวทรามไปหมดเข้าไป ความจริงมีอยู่ว่า อาดัมไม่จำเป็นจะต้องเลวทรามจึงทำบาป เขาถูกสร้างให้ดีพร้อมแต่เขาก็ทำบาปเพราะว่าเขามีเสรีภาพที่สมัครใจเลือกและมีร่างกายเนื้อหนัง เนื้อหนังจะต่อสู้กับวิญญาณ
ความเลวทรามไปหมดไม่ได้ทำให้เราเข้าใจสภาพของมนุษย์ดีขึ้นและยังบิดเบือนในความเป็นจริงเพราะหลักคำสอนนี้ไม่สามารถอธิบายความเอื้ออารีของคนที่ไม่ได้รู้จักพระเจ้าได้ เช่นพวกเจ้าหน้าที่ดับเพลิง บางคนไม่ได้เป็นคริสเตียนแต่ชีวิตของพวกเขาแขวนอยู่บนเส้นด้ายทุกครั้งที่พวกเขาวิ่งฝ่าเข้าไปในกองเพลิง มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหลายคนตายในเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดถล่ม ตัวอาคารกำลังลุกไหม้ตึกและคนกำลังถูกไฟครอก แต่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็เข้าไปช่วยชีวิตคนที่ยังติดอยู่ข้างใน เจ้าหน้าที่จำนวนมากเสียชีวิตเมื่อตึกถล่มลงมา เราจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงบางคนเลวทรามไปหมดและที่พวกเขาวิ่งเข้าไปในตึกเพื่อจะฆ่าตัวตายอย่างนั้นหรือ?
ผมเคยเห็นและได้ยินการกระทำที่เอื้ออารีหลายอย่างที่ผู้ไม่เชื่อได้เสี่ยงชีวิตของเขาเพื่อช่วยชีวิตคนอื่นๆ ทั้งในแม่น้ำที่เย็นยะเยือก ในบ้านที่เพลิงไหม้ หรือในทะเลที่คลื่นแรง แต่เราก็บอกว่าพวกมนุษย์ชั่วช้าอย่างสุดๆ คนอย่างเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะได้อะไรจากการเสี่ยงชีวิตของพวกเขาหรือ? พวกเขาน่าจะรับงานที่ไม่ต้องเอาชีวิตของตัวเองไปเสี่ยง แต่พวกเขาก็ยังเลือกงานช่วยชีวิตคนโดยให้ชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ทำไมพวกเขาจึงเลือกเอางานที่อันตรายด้วยในเมื่อมีงานนั่งโต๊ะมากมายที่ปลอดภัยและมั่นคง
ผมได้เห็นพิธีศพของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหนุ่มคนหนึ่งที่เสียชีวิตในกองเพลิง คุณแม่ของเขาสูญเสียสามีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเช่นกัน และตอนนี้เธอก็สูญเสียบุตรชายของเธอที่อายุแค่ 22 หรือ 23 ปี หลังจากที่บิดาเสียชีวิตในหน้าที่แล้วลูกชายของเขาทำอะไรหรือ? เขาตัดสินใจที่จะอุทิศชีวิตของเขาให้กับการช่วยชีวิตคน แต่เพราะเขาไม่ได้เป็นคริสเตียนเขาจึงน่าจะเป็นคนที่เลวทรามไปหมดตามคำสอนของพวกผู้นำคริสตจักรอย่างจอห์น คาลวิน
ทำไมเราจึงพูดเรื่องเหลวไหลเช่นนี้? คำสอนเรื่องความเลวทรามไปหมดยกระดับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับมนุษย์อย่างไรหรือ? อาดัมทำบาปโดยไม่ได้เป็นคนเลวทรามไปหมด เราทุกคนได้ทำบาปและมีแนวโน้มที่จะทำบาปเพราะเรามีเนื้อหนัง
ทำไมบรรดาผู้นำของคริสตจักรจึงไม่เข้าใจให้ถูกต้องโดยไม่ทำให้ทุกคนต้องสับสน? นี่เป็นคำเตือนให้เราระมัดระวังและรอบคอบ ผมจึงตั้งใจเช็คและตรวจเช็คการอ่านพระคัมภีร์ของผมอีกครั้ง ถ้าคุณเห็นข้อผิดพลาดที่ไม่มีเหตุผลอันควรตรงไหนหรือข้อผิดพลาดในการยกพระคัมภีร์ก็ช่วยชี้ให้ผมเห็นด้วย ถ้าคุณไม่ยอมรับสิ่งที่ผมพูดผมก็จะไม่พูด “อนา-ธมา” กับคุณเหมือนที่พระเยซูไม่ได้ทรงสาปแช่งใครที่ไม่ยอมรับสิ่งที่พระองค์ทรงสอน เราพูดได้แค่ว่า “ขอองค์ผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาคุณด้วยเถิด” ผมจะไม่พูด “อนา-ธมา” กับใครที่ไม่เห็นด้วยกับผม คุณต้องรับผิดชอบชีวิตของคุณและชีวิตชั่วนิรันดร์ของคุณเอง
พระเจ้าในพระเยซูคริสต์
ผมพยายามอย่างมากที่จะหาวิธีอธิบายความเป็นมนุษย์ของพระคริสต์ มันเป็นเรื่องยากเพราะเราสามารถจะอธิบายความเป็นมนุษย์ของพระคริสต์ได้จากหลายมุมมอง เช่น จากมุมมองทางฝ่ายวิญญาณ จากมุมมองทางการตีความพระคัมภีร์ หรือจากมุมมองของการเปรียบเปรย คืออธิบายเรื่องนั้นโดยใช้ภาพที่คุ้นเคย ผมจะใช้การผสมผสานกันของสิ่งเหล่านี้รวมกันไปและหวังว่าเราจะได้ความชัดเจนขึ้นบ้าง
ครั้งก่อนผมพูดถึงพระเยซูว่าทรงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างใหม่ในแผนการของพระเจ้า เราพูดถึงความรอดในแง่ของการสร้างใหม่ซึ่งก็คือคนใหม่ อาดัมใหม่หรือที่เปาโลเรียกว่ามนุษย์คนที่สอง[16]
ถ้าเราจะใช้ชื่อสักชื่อหนึ่งเพื่อแสดงถึงองค์พระคริสต์ ผมเชื่อว่า “อิมมานูเอล” น่าจะเป็นชื่อที่ดีกว่าชื่อใดๆ คำนี้เป็นคำผสมของคำฮีบรู “อิมมานู” () ซึ่งหมายถึง “อยู่กับเรา” กับ “เอล” (
) ซึ่งหมายถึง “พระเจ้า” ดังนั้นจึงเป็น “พระเจ้าอยู่กับเรา” พระเจ้าอยู่กับเราในพระคริสต์ในแง่ไหนหรือ? พระองค์อยู่กับเราในความหมายทั่วไปของการอยู่กับเราเพราะพระองค์ทรงสถิตอยู่ทุกหนแห่งอย่างนั้นหรือ? ถ้าเป็นเช่นนั้น “อิมมานูเอล” จะไม่มีความหมายพิเศษเกินจากที่สดุดี 139:8 กล่าวไว้แล้วว่า “ถ้าข้าพระองค์ขึ้นไปยังสวรรค์ พระองค์ก็สถิตที่นั่น ถ้าข้าพระองค์จะทำที่นอนไว้ในแดนคนตาย พระองค์ทรงอยู่ที่นั่น!” (ฉบับมาตรฐาน 2011)
เราจะต้องแยกแยะระหว่างการทรงอยู่ของพระเจ้าแบบทั่วไปกับการทรงอยู่ของพระเจ้าแบบพิเศษ อิมมานูเอลจะต้องหมายถึงว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเราในแบบพิเศษอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้เราเห็นว่าเป็นพระยาห์เวห์ผู้ได้เสด็จมาในองค์พระคริสต์ พระยาห์เวห์ได้มาเป็นเนื้อหนังแฝงพระกายอยู่ภายในองค์พระเยซู โดยพระวาทะของพระองค์และการสำแดงพระองค์เองนั้นพระยาห์เวห์ “มาเป็น”[17]เนื้อหนังดังที่ยอห์น 1:14 กล่าวไว้ คำว่า “มาเป็น” ไม่ได้หมายความว่าพระยาห์เวห์ได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นเนื้อหนังเพราะนั่นจะเป็นไปไม่ได้ แล้วอย่างนั้นพระองค์ “มาเป็น” เนื้อหนังจะหมายความว่าอย่างไร? มันก็หมายความว่าพระยาห์เวห์ได้ทรงเข้าไปอยู่ในรูปกายใหม่ที่การทรงอยู่เป็นพิเศษของพระองค์อาศัยอยู่ในองค์พระคริสต์ พระยาห์เวห์ทรงสวมพระองค์เองด้วยร่างกายเนื้อหนัง
ความจริงในข้อนี้มีสอนไว้อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์ใหม่แต่มันได้หายไปเมื่อเวลาผ่านไป คำสอนนี้แตกต่างจากหลักคำสอนของความเชื่อแบบยูนิทาเรียน[18]และของพยานพระยะโฮวาห์[19] พวกเขาสอนว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่ในสวรรค์และพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ทรงอยู่บนโลก พระเยซูเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่พระเจ้าทรงรับเป็นบุตรของพระองค์ในแบบเดียวกันกับที่พระเจ้าทรงรับเรา
สิ่งที่พระคัมภีร์ให้เราก็คือการเปิดเผยที่สำคัญต่อโลก คือพระยาห์เวห์ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์และสวมพระองค์ในกายของเนื้อหนังอยู่ในองค์พระคริสต์ ความคิดเรื่องของการสวมว่าเป็นเครื่องหมายของร่างกายนั้นจะพบในพระคัมภีร์ใหม่
1บัดนี้เรารู้อยู่ว่าหากเต็นท์[20]ฝ่ายโลกของเรานี้จะพังทำลายเสีย เราก็ยังมีที่อาศัยซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานให้ ที่มิได้สร้างด้วยมือมนุษย์และตั้งอยู่เป็นนิตย์ในสวรรค์ 2เพราะว่าในร่างกายนี้เรายังครวญคร่ำอยู่มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะสวมที่อาศัยของเราที่มาจากสวรรค์ 3ถ้าได้สวมเช่นนั้นแล้วเราก็จะมิได้ถูกพบเห็นว่าเปลือยเปล่าอีก 4เพราะว่าเราผู้อาศัยในพลับพลานี้จึงครวญคร่ำเป็นทุกข์มิใช่เพราะปรารถนาที่จะอยู่ตัวเปล่าแต่ปรารถนาจะสวมกายใหม่นั้นเพื่อว่าร่างกายของเราซึ่งจะต้องตายนั้นจะได้ถูกชีวิตอมตะกลืนเสีย 5แต่พระเจ้าทรงเป็นผู้เตรียมเราไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ และพระองค์ได้ทรงโปรดประทานพระวิญญาณเป็นมัดจำไว้กับเรา (2 โครินธ์ 5:1-5 ฉบับไทยคิงเจมส์)
เปาโลใช้คำเปรียบเทียบผสมในข้อ 4 คำว่า “สวม” นั้นเกี่ยวข้องกับการนุ่งห่ม แต่เปาโลยังพูดถึงร่างกายว่าเป็นเต็นท์[21]ด้วย ซึ่งถ้าไม่มีเต็นท์ห่อหุ้มแล้วเราก็จะไม่ได้สวมอะไรและเปลือยกาย “คำเปรียบเทียบผสม” ที่ว่านี้เราหมายถึงสองคำเปรียบเทียบที่ต่างกันคือ “เต็นท์” และ “สวม” นั้นใช้เพื่อให้เห็นความจริงอย่างเดียวกันคือ เมื่อเราตายไปเราก็ทิ้งเต็นท์ของเราและเปลือยเปล่า เปาโลกำลังบอกว่า “ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะไม่มีเต็นท์หรือไม่สวมอะไร ข้าพเจ้าปรารถนาจะมีกายใหม่ คือเต็นท์ซึ่งเป็นกายที่เป็นขึ้นมาและซึ่งจะไม่ตาย”[22]
ในคำเปรียบเทียบผสมนี้คือการที่พระเจ้าได้เสด็จเข้าไปในเต็นท์นี้ นั่นคือทรงสวมพระองค์เองด้วยเต็นท์นี้ซึ่งก็คือพระคริสต์ พระยาห์เวห์ได้เสด็จมาและพักอาศัยอยู่ในเต็นท์ (หรือตั้งพลับพลาอยู่ ในยอห์น 1:14)[23]ในเนื้อหนัง ตรงนี้คุณจะเห็นคำสำคัญ “เต็นท์” พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษใช้คำที่ให้ความหมายไม่ชัดเจนโดยแปลคำนี้ในยอห์น 1:14 ว่า “ทรงอยู่”[24] คำ “ทรงพลับพลาอยู่” (skēnoō) ในยอห์น 1:14 เป็นรูปคำกริยาของ “เต็นท์” (skēnos) ใน 2 โครินธ์ 5:4 การเชื่อมโยงกันนั้นเห็นชัดเจนในภาษากรีกแต่ในภาษาอังกฤษจะหายไป
ยอห์น 1:14[25] กล่าวว่าพระยาห์เวห์ได้เสด็จมาและประทับหรือพักอาศัยอยู่ในเต็นท์ข้างในเนื้อหนัง ถ้าคุณเข้าใจภาพนี้คุณก็จะเข้าใจความคิดของพระคัมภีร์ใหม่ว่าพระคริสต์เป็นใคร คำสอนนี้สำคัญแต่มันได้หายไปด้วยเหตุที่ผมก็ไม่เข้าใจ ปัจจุบันนี้ได้มีคำสอนมาแทนว่าไม่ใช่พระยาห์เวห์ที่เสด็จมาและประทับอยู่ในเนื้อหนัง[26]แต่กลับเป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองที่ไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์เดิม ผมกล่าวอย่างนี้โดยไม่กลัวการโต้แย้งแต่อย่างใดเพราะมีความจริงที่ชัดเจนว่า ในพระคัมภีร์เดิมไม่มีร่องรอยของพระเจ้าพระองค์ที่สองเลย แล้วทำไมบรรดาหัวหน้าบาทหลวงเหล่านี้จึงผลักพระยาห์เวห์ออกไปและแทนที่พระองค์ด้วยพระเจ้าพระองค์ที่สองที่พวกเขาเรียกว่า “พระวาทะ” ซึ่งเป็นแนวคิดของ “โลกอส” ที่รับมาจากความคิดของกรีก?
ตามความเชื่อของยูนิทาเรียน[27]และพยานพระยะโฮวาห์แล้ว พระเจ้าไม่ได้เสด็จเข้ามาในโลก พระองค์ทรงส่งมนุษย์คนหนึ่งที่ชื่อพระเยซูผู้ที่พระองค์ทรงเจิมตั้งและรับเป็นบุตร นี่แตกต่างอย่างมากจากสิ่งที่ผมได้อธิบายไป ถ้าคุณตรวจสอบพระคำของพระเจ้า คุณจะเห็นความจริงที่น่าแปลกใจว่าพระเจ้าทรงอยู่ด้วยกับเราไม่ใช่ในแง่ทั่วไป แต่ในแง่ที่พระองค์เสด็จเข้ามาในเนื้อหนังร่างกายที่มีชีวิตเหมือนกับเรา
เราสามารถใช้ภาพของหมู่บ้านร่อนเร่ที่ใช้แต่เต็นท์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้น แม้ในปัจจุบันนี้คุณก็จะพบหมู่บ้านร่อนเร่แบบนี้ได้ในแถบอาระเบีย ในภาพนี้เราเปรียบเต็นท์กับมนุษย์ซึ่งแต่ละเต็นท์จะแทนร่างกายของคนๆหนึ่งเหมือนใน 2 โครินธ์ 5 แต่มีอยู่คนหนึ่งในท่ามกลางพวกเขาที่แตกต่างจากคนอื่นทั้งหมดคือพระบุตรของพระเจ้าที่ไม่มีใครเหมือน หรือ “ผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่มีใครเหมือน”[28] หรือ “ผู้เดียวและผู้เดียวเท่านั้น” บุคคลผู้นี้ไม่มีใครเหมือนเพราะพระยาห์เวห์ทรงประทับอยู่ในเขา ในบรรดาเต็นท์มากมายนั้นมีเพียงเต็นท์เดียวเท่านั้นที่พระยาห์เวห์ประทับอยู่ พระยาห์เวห์ประทับอยู่ในเต็นท์ของพระเยซูด้วยการอยู่ที่พิเศษของพระองค์ “อิมมานูเอล” ที่พระเจ้าทรงอยู่กับเรา พระยาห์เวห์ทรงอาศัยอยู่บนโลกนี้ในพระเยซูประมาณ 33 ปี “พระเจ้าทรงอยู่กับเรา” หมายถึงพระเจ้าทรงอยู่กับผู้หนึ่งที่พิเศษ (พระเยซู) แต่พระเจ้าก็ทรงอยู่กับเราด้วย แต่พระเยซูผู้นี้เป็นมากกว่าคนพิเศษ พระองค์ทรงเป็นการเริ่มต้นของการสร้างใหม่ พระเยซูทรงเป็นตัวแทนมนุษย์ เพื่อว่าโดยการสถิตในพระองค์นั้นพระยาห์เวห์ก็กำลังสถิตกับเราทั้งหลาย
ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระเยซูกับพระบิดา
เราจะเห็นสองสิ่งเกี่ยวกับพระเยซูจากความสัมพันธ์ที่พิเศษของพระเยซูกับพระยาห์เวห์ สิ่งแรกจากมุมมองในฝ่ายวิญญาณจะเห็นความสนิทสนมของพระองค์กับพระบิดาเป็นเวลา 33 ปี ความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระยาห์เวห์ที่เมื่ออายุ 12 ปี พระองค์ก็สามารถจะพูดกับบิดามารดาของพระองค์ว่า “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อกับแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในพระนิเวศของพระบิดา” (ลูกา 2:49) นี่เป็นเรื่องผิดธรรมดาที่เด็กอายุ 12 ปีจะพูดแบบนี้ แต่กระนั้นหนุ่มน้อยเยซูก็รู้อยู่แล้วถึงการสถิตอยู่เป็นพิเศษของพระยาห์เวห์ในพระองค์ เพราะความครบบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์ (โคโลสี 2:9)[29]
สิ่งที่สอง เราจะเห็นการเชื่อฟังและการยอมอยู่ใต้พระบิดาอย่างทั้งหมดของพระเยซู แม้อายุ 12 ปี พระเยซูก็ทรงมุ่งเน้นกับภารกิจอย่างหนึ่งคือทำพระราชกิจของพระบิดา แม้เมื่อเรามีอายุมากกว่า 12 ปีกว่ามากแต่เราก็ไม่ได้จริงจังกับพระราชกิจของพระบิดาของเรามากเท่าไร
ดังนั้นเราจึงเห็นความสนิทสนมของพระเยซูกับพระบิดาและการยอมอยู่ใต้พระบิดา สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญฝ่ายวิญญาณในความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระยาห์เวห์ ในความสัมพันธ์นี้พระเจ้ากับมนุษย์ไม่ได้ติดอยู่ด้วยกันด้วยวิธีการลึกลับที่ไม่มีใครเข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆก็คือพระยาห์เวห์ประทับอยู่กับพระเยซู (นั่นก็คือพำนัก[30]อยู่ในพระเยซู) ด้วยสามัคคีธรรมที่สนิทสนม จากความสนิทสนมนั้นจึงเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นในฝ่ายวิญญาณที่พระเยซูทรงรู้ลึกๆถึงการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้าพระบิดา คือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความมุ่งหมายเดียวกัน ใจเดียวกันและความคิดเดียวกัน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในความรัก
ความรักรวมเป็นหนึ่งอย่างสมบูรณ์และสองก็กลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวในความรัก ไม่มีสิ่งใดจะรวมมนุษย์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันฝ่ายวิญญาณได้มากเท่ากับความรัก ถ้าคุณมีความรักอย่างทั้งหมดต่อพระเจ้า คุณก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวอย่างสมบูรณ์กับพระองค์ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเรากับพระเจ้าเป็นแบบจางๆก็เพราะว่าความรักของเราต่อพระองค์เป็นแบบจางๆ ถ้าเราเชื่อฟังคำสั่งที่ให้รักพระเจ้าอย่างสุดใจ สุดจิตวิญญาณ สุดความคิด และสุดกำลังของเรา เราก็จะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์กับพระองค์ซึ่งเป็นจุดประสงค์ตั้งแต่ต้นของการทรงสร้าง นั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าการมีสองบุคคลติดอยู่ด้วยกันที่เข้าใจได้ยาก ด้วยความรักอย่างทั้งหมดของพระเยซูต่อพระบิดาและด้วยไฟแห่งความรักของพระยาห์เวห์หลอมรวมทุกสิ่งเข้าด้วยกันนี่เองพระเยซูจึงทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า ถ้าเรามีความรักที่ใกล้เคียงกับความรักเช่นนั้น เราเองก็จะรับรู้ถึงการเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่มหัศจรรย์ของเรากับพระเจ้า
ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระเยซูกับพระบิดาไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบบปิดที่เราเข้าไปไม่ได้และไม่เหมือนกับสโมสรที่เปิดรับเฉพาะแต่สมาชิก วันก่อนน้องเขยของผมเชิญผมกับเฮเลนไปกินอาหารค่ำที่สโมสรหรูหราในเขตเซ็นทรัลดิสทริคของฮ่องกง[31]ที่เขาเป็นสมาชิก หากคุณไม่ได้เป็นสมาชิกคุณก็จะเข้าไปกินอาหารที่นั่นไม่ได้นอกจากว่าจะมีใครเชิญคุณ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระเยซูกับพระบิดาไม่เหมือนกับสโมสรที่เปิดรับเฉพาะแต่สมาชิก แต่เป็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เปิดรับซึ่งเราได้รับเชิญให้เข้าร่วม พระเจ้าไม่เพียงเชื้อเชิญเราเท่านั้นพระองค์ยังต้องการให้เราเข้าร่วมในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ นั่นคือประเด็นทั้งหมดของคำอธิษฐานอย่างมหาปุโรหิตของพระเยซูว่า “เพื่อพวกเขาทั้งหมดจะเป็นหนึ่งเดียวกัน พระบิดาเจ้า พระองค์ทรงอยู่ในข้าพระองค์และข้าพระองค์อยู่ในพระองค์อย่างไร ก็ขอให้พวกเขาอยู่ในพระองค์และอยู่ในข้าพระองค์เช่นนั้นด้วย เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพระองค์มา” (ยอห์น 17:21 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) แต่ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระเจ้าพระบิดากับพระเจ้าพระบุตรจะเป็นแบบสโมสรที่ผูกขาดแต่เฉพาะสมาชิก การไม่ได้เป็นพระเจ้าทำให้เราไม่มีทางจะเข้าร่วมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นระหว่างพระเจ้ากับพระเจ้าด้วยกัน เว้นแต่ว่าจะเข้าร่วมในความหมายที่คลุมเครือหรือผิวเผิน
เราเข้าใจ “จงเข้าสนิทอยู่ในเรา และเราเข้าสนิทอยู่ในท่าน”[32] ในอุปมาเรื่องเถาองุ่นและแขนงในยอห์น 15 อย่างไร? ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าและผมเป็นมนุษย์ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของผมกับพระเจ้าก็ไม่สามารถจะเป็นเหมือนระหว่างพระบิดากับพระบุตรได้ ยอห์น 15 ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพซึ่งเหมือนกับสโมสรที่ผูกขาดแต่เฉพาะพระเจ้าสามพระองค์ คือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ มันออกจะน่าแปลกใจสักหน่อยที่มีเพียงสองสามบุคคลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า แต่การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระบิดากับพระบุตรนั้นไม่ได้ผูกขาดอยู่เฉพาะแค่นี้ เพราะว่ามันเป็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของพระเจ้ากับมนุษย์โดยความรัก ความรักซึ่งเป็นจุดประสงค์ทั้งหมดของพระกิตติคุณยอห์นคือหัวใจสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่ผูกเราให้เป็นหนึ่ง
แม้กับมนุษย์ด้วยกันเอง คนสองคนก็สามารถเป็นหนึ่งอันเดียวกันในความรักโดยที่ทั้งสองมีใจและความคิดเดียวกันและดำเนินเหมือนเป็นคนเดียวกัน นั่นเป็นต้นแบบสำหรับการสมรส ในด้านฝ่ายวิญญาณก็ยังแสดงลักษณะการสมรสของเจ้าสาว (คริสตจักร) กับเจ้าบ่าว (พระคริสต์) ด้วย ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเรากับพระคริสต์นั้นคล้ายกับการสมรสเหมือนที่เปาโลกล่าวในเอเฟซัส 5:22-30 เพราะการแต่งงานเป็นภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระเจ้ากับมนุษย์
“อิมมานูเอล” หมายถึงว่าพระเจ้าได้เสด็จเข้ามาในพระคริสต์ด้วยการทรงอยู่ด้วยเป็นพิเศษของพระองค์เพื่อจะรวมพระองค์เองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมนุษย์ด้วยการเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่เปิดกว้างกับทุกคน ด้วยเหตุนี้จึงสำเร็จตามที่พระเยซูได้ทรงอธิษฐานในคำอธิษฐานของมหาปุโรหิตจากยอห์น 17
ผู้สูงสุดจะปกเธอ
เราจะดูลูกา 1:35 เพื่อให้เข้าใจยอห์น 1:14 เพิ่มขึ้นที่ทูตสวรรค์กาเบรียลกล่าวกับมารีย์ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาบนเธอ และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ เหตุฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่จะบังเกิดมานั้นจะได้เรียกว่าพระบุตรของพระเจ้า”[33] คริสตมาสเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะดูเรื่องการเกิดจากหญิงพรหมจารี
ตรงนี้เราจะเห็นสิ่งสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับการเสด็จเข้ามาในโลกของพระยาห์เวห์ อย่างแรกคือพระวิญญาณบริสุทธิ์จะ “เสด็จลงมาบน” มารีย์ ในภาษากรีกคำว่า “เสด็จมาบน” คือ “เอเปลูเซเต เอปี” ()[34] เป็นคำที่ปรากฏในกิจการ 1:8 ด้วย “แต่พวกท่านจะได้รับพระราชทานฤทธานุภาพ เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาเหนือท่าน”[35] นี่กล่าวถึงเหตุการณ์เทศกาลเพนเทคอสต์ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาเหนือ 120 คนที่รวมตัวกันในห้องชั้นบน
พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เสด็จลงมาบนมารีย์เช่นเดียวกับที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เสด็จมาเหนือคริสตจักร คุณเห็นความคล้ายกันไหม? ตอนพระเยซูประสูติ พระยาห์เวห์ได้เสด็จเข้ามาในพระเยซู และการสร้างใหม่ก็ได้เริ่มขึ้น ภายหลังพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เสด็จมาบน 120 คนที่รวมตัวกันในห้องชั้นบน การสร้างใหม่จึงเห็นชัดในกายของคริสตจักรที่พระยาห์เวห์ประทับอยู่ทางพระวิญญาณบริสุทธิ์
ลูกา 1:35 พูดถึง “ผู้สูงสุด” คือพระยาห์เวห์ นี่เป็นชื่อเรียกของพระยาห์เวห์ที่รู้จักกันดีในพระคัมภีร์เดิม (ตัวอย่างเช่น “พระยาห์เวห์ผู้สูงสุด” สดุดี 47:2)[36] พระผู้สูงสุด (พระยาห์เวห์) จะ “ปก” มารีย์ เหตุฉะนั้น “องค์บริสุทธิ์ที่จะบังเกิดมานั้นจะได้เรียกว่าพระบุตรของพระเจ้า”
คำว่า “ปก” ในลูกา 1:35 ถูกใช้ที่อื่นในพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการแปลงพระกาย “ขณะที่เขากำลังพูดอยู่นั้น ก็มีเมฆมาปกคลุมพวกเขาไว้ และเมื่อเข้าไปอยู่ในเมฆนั้นพวกเขาก็กลัว” (ลูกา 9:34) คำ “ปกคลุม” ตรงนี้คือคำเดียวกันกับ "เอปีสคีอัสโซ" ()[37] เช่นเดียวกับในลูกา 1:35 (“ปกเธอ”) มันน่าสนใจที่เมื่อเหล่าสาวกถูกปกคลุมไว้ พวกเขาก็เกิดความกลัวเมื่อพวกเขาเข้าไปอยู่ในเมฆนั้น เราจะคิดถึงก้อนเมฆที่อยู่สูงขึ้นไปราว 4,000 ฟุต แต่ตรงนี้เมฆ “ปกคลุม” พวกเขาในความหมายของห่อหุ้มพวกเขาไว้
สิ่งนี้บอกเราว่าเราควรเข้าใจลูกา 1:35 อย่างไร เมฆนี้ไม่ใช่เมฆที่อยู่สูงเหนือมารีย์แต่ปกคลุมเธอในความหมายว่าห่อหุ้มเธอไว้ เธออยู่ในเมฆที่ปกคุลมเธอโดยฤทธิ์เดชของผู้สูงสุด ในกิจการ 1:8 ก็คล้ายๆกันที่คนในห้องชั้นบนถูกปกคุลมเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาบนพวกเขา
พระองค์ทรงพำนักอยู่ในเต็นท์ท่ามกลางเรา
ความสำคัญอันนี้จะปรากฏออกมาเมื่อเรากลับไปที่พระคัมภีร์เดิม งานหนักในการตีความพระคัมภีร์ก็คือคุณจะต้องเปรียบเทียบคำต่างๆ ตรวจสอบดูว่าคำเหล่านั้นถูกใช้อย่างไรและเชื่อมโยงคำเหล่านั้นด้วยกันเพื่อนำความหมายในฝ่ายวิญญาณ ออกมา
ในพระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์คำว่า “ปก” ปรากฏในสดุดี เช่น สดุดี 91:4 และ 140:7 (ข้อเหล่านี้ในฉบับเซปทัวจินต์คือ สดุดี 90:4 และ 139:8) ตัวอย่างสำคัญอันหนึ่งของ “ปก” จะเห็นได้ในอพยพ 40:35 (ดูคำ “ปกคลุม” ที่ขีดเส้นใต้)
“โมเสสเข้าไปในเต็นท์นัดพบไม่ได้ เพราะเมฆปกคลุมอยู่[38] และพระรัศมีของพระยาห์เวห์ก็อยู่เต็มพลับพลานั้น” (ฉบับมาตรฐาน 2011)
ตรงนี้เราเห็นความเชื่อมโยงกับยอห์น 1:14 คำว่า “เต็นท์” ทำให้เรานึกถึงเต็นท์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของร่างกาย และคำว่า “เต็ม” ทำให้เราให้นึกถึงการเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณเมื่อเทศกาลเพ็นเทคอสต์ คำว่า “เต็นท์” ในอพยพ 40:35 ( จาก
) เป็นคำๆเดียวกันกับในยอห์น 1:14 ส่วนคำว่า “ปกคลุมอยู่” (
จาก
) เป็นคำเดียวกันกับ “ปก” ในลูกา 1:35 และ 9:34 เต็นท์ก็ “เต็ม” ด้วย “พระรัศมี”[39] ของพระเจ้า (
) ตรงนี้เราจะเห็นคำ “เมฆ” (
)
ข้อนี้สำคัญเพราะมันบอกเราว่า พระยาห์เวห์เสด็จเข้ามาในพลับพลาเต็นท์นัดพบในกลุ่มเมฆที่ปกคลุมและห่อหุ้มเต็นท์เหมือนที่พระรัศมีของพระยาห์เวห์อยู่เต็มในเต็นท์นั้น
ความสำคัญของเต็นท์ขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่า ต่อมาพลับพลาได้กลายเป็นพระวิหารซึ่งเป็นสถานที่ที่พระยาห์เวห์ประทับอยู่ คำว่า “เต็นท์” ในพระคัมภีร์ใหม่โดยเฉพาะในฮีบรูมักจะหมายถึงพระวิหาร (เช่น ฮีบรู 9:2, 3, 8; 13:10) ฮีบรู 9:3 กล่าวว่า “และภายในม่านชั้นที่สองมีห้องพลับพลา ซึ่งเรียกว่าที่บริสุทธิ์ที่สุด (ฉบับไทยคิงเจมส์)” คำ “พลับพลา” ตรงนี้ในภาษากรีกคือ “สคีนี” (skhnh)[40] เป็นคำที่ใช้กับ “เต็นท์”
พระยาห์เวห์ประทับท่ามกลางประชากรอิสราเอลของพระองค์ในเต็นท์หรือพลับพลาโดยการปกคลุมเต็นท์นั้นและให้การทรงสถิตอยู่ด้วยพระรัศมีของพระองค์เต็มอยู่ในเต็นท์ และในการประสูติของพระเยซูนั้นพระยาห์เวห์เสด็จมาและพำนักเต็นท์ในพระเยซู นั่นคือเหตุที่พระเยซูตรัสถึงพระกายของพระองค์ว่าเป็นวิหาร “ถ้าทำลายวิหารนี้ เราจะสร้างขึ้นภายในสามวัน” (ยอห์น 2:19) พระวิหารก็เหมือนกับพลับพลาคือเป็นที่ที่พระยาห์เวห์ประทับอยู่
ในลูกา 16:9 พระเยซูตรัสถึง “ที่อาศัยอันถาวรเป็นนิตย์”[41] คำกรีกตรงนี้ของ “ที่อาศัย” คือคำพหูพจน์ของ “สคีนี” ()[42] “เต็นท์อันถาวรเป็นนิตย์” หมายถึงสวรรค์เป็นที่ที่พระเจ้าประทับอยู่
พระเยซูทรงสำแดงพระบิดา
ผมกำลังพยายามอธิบายคำที่ถ่ายทอดยากให้เป็นคำง่ายๆแต่ผมหวังว่าคุณจะเห็นภาพ “อิมมานูเอล” ที่พระยาห์เวห์อยู่กับเรานั้นเป็นจริงในวิธีที่พิเศษ การสถิตของพระยาห์เวห์อยู่ในร่างกาย ในเนื้อหนังและในองค์พระเยซูที่เป็นคนใหม่และตัวแทน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระยาห์เวห์กับพระเยซูนั้นไม่ได้ผูกขาดอยู่เฉพาะแค่สองคน แต่มุ่งหมายที่จะรวมเราทุกคนในพระกายของพระคริสต์ เรื่องนี้น่าจะเข้าใจได้ง่ายแต่อยู่ที่ว่าเราไม่เคยได้รับการสอนดังนั้นมันจึงยากที่จะปรับรับความคิดใหม่และมุมมองใหม่
พระเยซูทรงเป็นรูปเหมือนของพระเจ้า (พระยาห์เวห์) ที่มองไม่เห็น เพราะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระองค์กับพระยาห์เวห์นี่เองพระองค์จึงทรงสำแดงพระยาห์เวห์ ฉะนั้นพระเยซูจึงมีพันธกิจในการสำแดงพระยาห์เวห์ให้กับเรา ที่พระองค์ทรงสำแดงพระยาห์เวห์นั้นไม่ได้เป็นผู้ที่สอน (แม้พระองค์จะตรัสถึงพระยาห์เวห์) แต่เป็นผู้ที่พระยาห์เวห์ทรงปรากฏอยู่ เหมือนกับว่าเมื่อคุณเห็นพระเยซูคุณก็เห็นพระบิดา ฟิลิปทูลว่า “ขอทรงสำแดงพระบิดา” และพระเยซูตรัสตอบว่า “คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา” (ยอห์น 14: 8-9)[43] การสำแดงพระบิดานี้เป็นจริงและได้ผลมากในพระเยซูจนโธมัสอุทานเสียงดังว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์” (ยอห์น 20:28)
ผมได้ตรึกตรองคำกล่าวของโธมัสและเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเมื่อคุณคิดอย่างผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ที่ค้านกับผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว จะมีก็แต่ผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์เท่านั้นที่สรุปว่าโธมัสกำลังนมัสการพระเยซูเป็นพระเจ้า ความคิดเช่นนั้นจะไม่เคยเข้ามาในความคิดของผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวเลย ไม่เคยมีผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวคนใดจะนมัสการมนุษย์เป็นพระเจ้าไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะยิ่งใหญ่สักแค่ไหน นี่แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพระเจ้าตามความเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์นั้นมีน้อยนิดแค่ไหน เมื่อผมเริ่มจะเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ตอนนี้ผมจึงประจักษ์ชัดว่ามันคงเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่สุดที่จะมีผู้เชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวคนใดเคยคิดว่ามนุษย์จะเป็นพระเจ้า ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่หรือวิเศษสักแค่ไหนแม้ว่าเขาจะเป็นถึงจักรพรรดิของโรมันก็ตาม
การนมัสการมนุษย์หรือทูตสวรรค์จึงเป็นการไหว้รูปเคารพอย่างชัดๆ เมื่อยอห์นทรุดตัวลงต่อหน้าทูตสวรรค์ตนหนึ่งด้วยความซาบซึ้งที่ได้สำแดงสิ่งยิ่งใหญ่กับเขา ทูตสวรรค์ได้ห้ามเขาทันทีว่า “อย่าทำเช่นนั้น! เราเป็นเพื่อนผู้รับใช้ร่วมกับท่านและร่วมกับพี่น้องของท่านที่ยึดมั่นในคำพยานเรื่องพระเยซู จงนมัสการพระเจ้า!” (วิวรณ์ 19:10 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)
คนที่คิดแบบเชื่อว่ามีพระเจ้าหลายองค์เท่านั้นจึงจะจินตนาการเอาว่าโธมัสคุกเข่าต่อหน้าพระเยซูและพูดกับพระองค์ว่าทรงเป็นพระเจ้า เราทุกคนเคยเป็นผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ดังนั้นจึงไม่ยากที่เราจะยอมรับคำของโธมัส “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์!” ว่าพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าโธมัสคงไม่เคยนึกฝันที่จะนมัสการพระเยซูเป็นพระเจ้าและที่ยอห์นจะบันทึกเช่นนั้นก็ยิ่งเป็นไปได้ โธมัสได้เห็นว่าเป็นพระยาห์เวห์จริงในพระเยซู พระองค์ผู้ที่เป็นอิมมานูเอล[44] คือพระยาห์เวห์ทรงอยู่กับเรา พระยาห์เวห์คือผู้ที่โธมัสกำลังนมัสการ คำกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์” (My Lord and my God) เป็นวิธีที่พระคัมภีร์เดิมใช้พูดกับพระยาห์เวห์ซึ่งมีหลายแบบ เช่น “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์” (“O Lord my God” ในสดุดี 7:3)[45] หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า” (“the Lord my God” ในเฉลยธรรมบัญญัติ 4:5)[46]
มันยากที่เราจะล้างการปนเปื้อนของความเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ออกจากความคิดของเรา เราไม่สามารถจะคิดแบบผู้ที่เชื่ออย่างแท้จริงว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวได้เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่าโธมัสกำลังนมัสการพระเยซูทั้งๆที่เป็นพระยาห์เวห์ ตัวโธมัสเองคงจะขนลุกกับความคิดนี้
ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่เคยให้พระเยซูเท่าเทียมกับพระยาห์เวห์เลย และถ้าพวกเขาคิดจะใช้คำที่เรียกพระยาห์เวห์มาเรียกพระเยซู พวกเขาจะทำอย่างนั้นไปเพื่ออะไร? คำเรียกพระยาห์เวห์ไม่ใช่คำเรียกอีกบุคคลหนึ่งที่เป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองที่พระคัมภีร์เดิมไม่เคยกล่าวถึงเลย แต่คำเรียกที่กล่าวถึงนั้นเป็นคำที่เรียกพระยาห์เวห์โดยเฉพาะ ถ้าผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้ให้พระเยซูเท่าเทียมกับพระยาห์เวห์แล้วจะเหลือข้อสรุปอะไรไว้ให้เรา? ข้อสรุปจะเหลือแต่ว่าคำของโธมัสนั้นพูดกับพระยาห์เวห์ไม่ได้พูดกับพระเยซู
พระคัมภีร์ที่ใช้พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์
คุณคงจะสังเกตว่าผมไม่ได้ทุกข์ร้อนที่จะพูดมากมายถึง “พระคัมภีร์ตอนที่ใช้พิสูจน์” ความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์จากพระคัมภีร์ใหม่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้อเหล่านั้นมีแต่จะแสดงให้เห็นว่าพระยาห์เวห์ทรงอยู่ในพระคริสต์แต่ไม่ได้พิสูจน์อะไรเลยเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ พระคัมภีร์ตอนที่ใช้พิสูจน์เหล่านี้ซึ่งมีไม่มากในพระคัมภีร์มักจะมีความหมายที่แฝงด้วยความคิดแบบเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ของผู้อ่าน ที่ไหนที่มีการอ้างอิงถึงพระเยซู เราก็มักจะคิดว่าเป็นการอ้างอิงถึงพระเจ้าในเมื่อที่จริงกำลังพูดเกี่ยวกับการสถิตอยู่ของพระยาห์เวห์ในพระเยซู
ตรงนี้เราจะเห็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสิ่งที่พระคัมภีร์สอนกับสิ่งที่ความเชื่อของยูนิทาเรียนและพยานพระยะโฮวาห์สอน ตามความเชื่อของพวกเขานั้นพระยาห์เวห์ไม่ได้อยู่ในองค์พระคริสต์หรือแฝงพระกายอยู่ในพระองค์ เพราะฉะนั้นพระคัมภีร์ตอนที่ใช้พิสูจน์เหล่านี้จึงไม่ได้สนับสนุนมุมมองของพวกเขา และยิ่งกว่านั้นพระคัมภีร์ที่ใช้พิสูจน์เหล่านี้ก็ไม่มีตอนใดจะล้มล้างความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวในพระคัมภีร์ได้ แต่ในความเป็นจริงกลับยืนยันความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวในพระคัมภีร์
เราสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นพระเยซูจากคำที่ใช้เปรียบเปรยหรือคำที่แบ่งประเภท แม้ขณะที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเราก็คุ้นเคยกับคำเรียกพระเยซูว่า ผู้เผยพระวจนะ ปุโรหิต กษัตริย์ เป็นต้น แต่จงสังเกตว่าคำเรียกแต่ละคำเหล่านี้จะอยู่หน้าคำ “พระเจ้า” เช่น ผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า ปุโรหิตของพระเจ้า กษัตริย์ที่พระเจ้าทรงเจิม คำเรียกเหล่านี้ความจริงแล้วเป็นคำเรียกมนุษย์ไม่ใช่คำเรียกพระเจ้าที่แม้แต่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็เข้าใจ
ผมเคยชอบคำเรียกนี้มาก “กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย”[47] ที่ใช้กับพระเยซูในวิวรณ์ 17:14 ผมคิดว่ามันพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู ฉะนั้นผมจึงค่อนข้างจะจ๋อยไปเลยที่ได้พบว่าเนบูคัดเนสซาร์ก็ถูกเรียกเหมือนกันว่า “กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย”[48] (ดาเนียล 2:37) หลักฐานที่ผมใช้พิสูจน์ก็ตกไปทันที พระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายอย่างแน่นอน แต่นี่ก็เป็นคำเรียกเนบูคัดเนสซาร์ด้วยที่ดาเนียลเองก็ยอมรับ เราพยายามอยู่ตลอดที่จะพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ให้ได้และมันก็ล้มเหลวเมื่อได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดขึ้น
ภาพสองภาพของพระเยซูที่เกี่ยวข้องกับพระยาห์เวห์
พระคัมภีร์ให้ภาพกับเราเพื่อช่วยให้เข้าใจความเกี่ยวข้องของพระเยซูกับพระยาห์เวห์ ภาพหนึ่งก็คือโยเซฟในพระคัมภีร์เดิม คุณคงจำโยเซฟที่ถูกพี่ๆขายไปเป็นทาสได้ แต่เขาก็ได้ขึ้นมาเป็น “เจ้านายเหนืออียิปต์ทั้งสิ้น”[49] (ปฐมกาล 45:9) รองจากฟาโรห์กษัตริย์ของอียิปต์ เขายังได้รับมอบตราสัญลักษณ์ของฟาโรห์ (ปฐมกาล 41:42) ซึ่งให้อำนาจเขาใช้พระนามของฟาโรห์ เขาสามารถทำหน้าที่เสมือนฟาโรห์ เหมือนกับที่พระเจ้าทรงให้อำนาจโมเสสกระทำการแทนพระองค์ “ดูสิ เราตั้งเจ้าไว้เป็นดังพระเจ้าต่อฟาโรห์”[50](อพยพ 7:1) โมเสสไม่ได้เป็นพระเจ้าเสียเองแต่ถูกแต่งตั้งจากพระเจ้าให้เป็นตัวแทนของพระองค์
พระเยซูก็เป็น “เหมือนพระเจ้า” กับเราในความหมายเดียวกันนี้ นั่นก็คือทรงเป็นผู้ที่มีอำนาจเต็มจากพระเจ้าและมีอำนาจกระทำการเสมือนเป็นผู้แทนของพระองค์ ในองค์การสหประชาชาตินั้นนักการทูตคือผู้มีอำนาจเต็มที่ได้รับอำนาจจากรัฐบาลของเขาให้ทำการตัดสินใจในนามของรัฐบาลของเขาและจะได้การยอมรับเช่นนั้นจากรัฐบาลชาติอื่นๆ โยเซฟเป็นผู้มีอำนาจที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากฟาโรห์และเขาสามารถกระทำการใดๆได้เหมือนฟาโรห์ ฟาโรห์ในสมัยของโยเซฟเป็นฟาโรห์ที่ดี ไม่เหมือนกับฟาโรห์ในสมัยของโมเสส
ดังนั้นโยเซฟจึงเป็นแบบของพระคริสต์ ถ้าคุณอยากจะเข้าใจงานและพันธกิจของพระเยซูในโลกนี้ก็จงดูชีวิตของโยเซฟ โยเซฟถูกทรยศและครอบครัวคิดว่าเขาตายไปแล้ว (เอาเสื้อผ้าเปื้อนเลือดไปให้บิดาของเขาดูเพื่อเป็น “เครื่องพิสูจน์” ว่าเขาตายแล้ว) แต่ดูเถิดเขาขึ้นมามีอำนาจในอียิปต์เพราะองค์ผู้เป็นเจ้าได้ทรงยกเขาขึ้น มันคงไม่เป็นเรื่องบังเอิญที่บิดาของพระเยซูก็มีชื่อว่าโยเซฟเหมือนๆกับชื่อน้องชายคนหนึ่งของพระองค์ (มัทธิว 13:35)[51]
ความสำคัญของโยเซฟเห็นได้จากเรื่องราวของเขาที่ครอบคลุมถึง 20 บทในปฐมกาล เรื่องการเกิดของเขาถูกบันทึกในปฐมกาล 30:24 และเรื่องการตายของเขาถูกบันทึกอยู่ในข้อสุดท้ายของปฐมกาล 50:26 เพราะเหตุที่เรื่องของโยเซฟครอบคลุมช่วงสุดท้ายทั้งหมดของปฐมกาลจึงทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่มีความสำคัญอย่างมาก ในเรื่องราวของการตายอย่างทุกข์ทรมานของสเทเฟนก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับโยเซฟ 10 ข้อจาก 60 ข้อของกิจการบท 7
โมเสสเป็นคนต่อไปที่ให้เห็นภาพขององค์พระเยซูและพันธกิจของพระองค์ ความสำคัญของโมเสสยิ่งมีมากกว่าโยเซฟ ความสำคัญของโมเสสเห็นได้จากที่หนังสือห้าเล่มแรกของพระคัมภีร์[52]บันทึกเรื่องราวของโมเสสซึ่งเริ่มด้วยการเกิดของเขาในอพยพบท 2 ไปจนถึงข้อสุดท้ายของพระคัมภีร์ห้าเล่มแรก (เฉลยธรรมบัญญัติ 34:12) บทสุดท้ายของพระคัมภีร์ห้าเล่มแรกซึ่งบันทึกการตายของโมเสสนั้นได้พูดสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับความสนิทสนมของเขากับพระยาห์เวห์ว่า “ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีผู้เผยพระวจนะคนใดเกิดขึ้นในอิสราเอลเสมอโมเสส ผู้ซึ่งพระยาห์เวห์ทรงรู้จักหน้าต่อหน้า” (เฉลยธรรมบัญญัติ 34:10)
วิธีหนึ่งที่ทำให้เข้าใจพันธกิจของพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่ได้ดีขึ้นก็คือการเห็นถึงบทบาทสำคัญของโมเสส การเปรียบระหว่างพระเยซูกับโมเสสนั้นฟังขึ้นเพราะโมเสสพูดว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านจะโปรดให้ผู้เผยพระวจนะเช่นเดียวกับข้าพเจ้านี้ เกิดขึ้นในหมู่พวกท่านจากพี่น้องของท่าน พวกท่านจงเชื่อฟังเขา” (เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15)[53] โมเสสกล่าวอย่างนี้อีกในข้อ 18 และ 19
คำเผยพระวจนะของโมเสสถูกอ้างอิงหลายต่อหลายครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ (เช่น ยอห์น 1:45 กิจการ 3:23, 7:37)[54] เป็นการบ่งบอกถึงความสำคัญของมัน มีการอ้างอิงถึงสิ่งเดียวกันนี้บนภูเขาที่ทรงจำแลงพระกายเมื่อมีเสียงดังออกมาจากเมฆว่า “ผู้นี้เป็นบุตรของเรา เป็นผู้ที่เราเลือกสรรไว้ จงเชื่อฟังท่านเถิด” (ลูกา 9:35) หรือ “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก จงเชื่อฟังท่านเถิด” (มัทธิว 17:5) คำว่า “จงเชื่อฟังท่านเถิด”[55] จากสองข้อนี้เป็นการอ้างอิงถึงเฉลยธรรมบัญญัติ 18:15
ความสำคัญของโมเสสยังเห็นได้จากมุมมองของสถิติในพระคัมภีร์ สถิติจากพระคัมภีร์เป็นประโยชน์ในการชั่งดูความสำคัญของสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน โมเสสถูกกล่าวถึง 833 ครั้งในพระคัมภีร์ซึ่ง 79 หรือ 80 ครั้งอยู่ในพระคัมภีร์ใหม่ คุณทราบไหมว่าโมเสสที่นับว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่งของพระคัมภีร์เดิมนั้นถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งมากในพระคัมภีร์ใหม่ คำกล่าวถึงโมเสส 833 ครั้งนั้นใกล้เคียงกับจำนวน 917 ครั้งที่กล่าวถึงพระเยซูและมากกว่าจำนวน 529 ครั้งที่กล่าวถึงพระคริสต์
พระเจ้าตรัสกับโมเสสแบบสองต่อสอง (อพยพ 33:11)[56] แต่ในกรณีของพระเยซูนั้นพระเจ้าตรัสกับพระองค์อย่างไรหรือ? พระเจ้าตรัสกับพระเยซูแบบที่ยิ่งกว่าสองต่อสองคือพระยาห์เวห์ประทับอยู่ในเต็นท์ของพระเยซูคริสต์เป็นเวลาประมาณ 33 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่มีสามัคคีธรรมแบบต่อหน้าเท่านั้น พระเยซูในฐานะที่เป็นคนใหม่ก็ทรงเป็นรูปเหมือนของพระยาห์เวห์
รูปเหมือน[57]ของพระเจ้าในเรา
บางคนแย้งว่ามีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถมีรูปกายของพระเจ้า คำกล่าวที่ดูจะมีเหตุผลนั้นเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิง ตรงนี้แหละที่คุณจะต้องมีความชัดเจน ผมพูดไว้ครั้งก่อนว่าพระเจ้าที่ไม่อาจมองเห็นได้นั้นไม่มีรูปกาย แต่พระองค์ก็สามารถจะใช้รูปกายใดรูปกายหนึ่งได้และที่จริงพระองค์ทรงอยู่ในรูปกายของมนุษย์อยู่บ่อยๆ แต่การที่จะบอกว่ามีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถมีรูปกายของพระเจ้านั้นเป็นการใช้ความคิดอย่างมนุษย์กับเรื่องฝ่ายวิญญาณ จริงอยู่ว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถมีรูปกายของมนุษย์ แต่เมื่อเรากำลังพูดถึงพระเจ้า เราต้องจำไว้ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ไม่สามารถจะมองเห็นได้และทรงไม่มีรูปกาย แต่พระองค์ทรงปรากฏให้เราเห็นได้ในพระเยซู เพราะพระเยซูคือรูปเหมือนหรือพระฉายาของพระเจ้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้
ยิ่งกว่านั้นคุณและผมได้ถูกสร้างขึ้นทั้งในการสร้างเก่าและในการสร้างใหม่ในรูปกายของพระองค์ผู้ทรงสร้างเรา นั่นก็คือเราเป็นรูปเหมือน[58]ของพระเจ้า มันหมายความว่าภารกิจของคุณและภารกิจของผม (เป็นภารกิจของพระคริสต์ด้วย) ก็คือการสำแดงจากชีวิตของเราว่าพระเจ้าทรงเป็นอย่างไร ภารกิจของเราในฐานะที่เป็นผู้นำของคริสตจักรนั้นไม่ใช่เพียงแค่สอน นำ หรือบริหารเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนที่เมื่อคนอื่นมองเราแล้วพวกเขาจะเห็นพระเจ้าในเรา บางทีคุณอาจต้องการประเมินผลความสำเร็จหรือความล้มเหลวในพันธกิจของคุณก็ได้ คุณเข้าใจไหมว่าการเป็นรูปเหมือนหรือพระฉายาและเป็นพระรัศมีของพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร?
ผมเคยได้ยินใครบางคนพูดถึงคนๆหนึ่งว่าเมื่อเขาเห็นคนๆนั้นเขา “เห็นพระเจ้าในคนนั้น” นั่นเป็นคำพยานที่ดีที่สุด ซึ่งคล้ายกับที่เกิดขึ้นเมื่อโธมัสเห็นพระเจ้าในพระเยซูแล้วร้องอุทานว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์!” คำพูด “ผมเห็นพระเจ้าในคุณ” นี้พูดถึงผู้ร่วมงานของเราคนหนึ่ง ผมจะไม่เอ่ยชื่อของเขาเพื่อเขาจะได้ไม่ภาคภูมิใจจนเกินไปและคนที่พูดถึงนี้ก็ไม่ใช่ผม มีคนพูดถึงผู้ร่วมงานคนนี้ว่า “เมื่อผมพูดกับเขา ผมเห็นพระเจ้าในเขา” ผู้ร่วมงานคนนี้ได้ทำภารกิจของเขาสำเร็จ หากมีคนเห็นพระเจ้าในชีวิตของเราแม้เพียงเล็กน้อยก็เท่ากับเราได้ทำภารกิจของเราในการเป็นรูปเหมือนหรือพระฉายาของพระเจ้าสำเร็จ
เมื่อคุณเทศนาวันอาทิตย์ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคำเทศนาของคุณดีแค่ไหนแต่อยู่ที่ว่าในชีวิตของคุณได้สำแดงพระเจ้ามากแค่ไหน มีใครเคยบอกคุณไหมว่าเขาเห็นพระเจ้าในคุณ? มีใครไหมที่ถูกจูงใจให้มาหาพระเจ้าเพราะคุณ? ผมหวังว่าบรรดาผู้นำคริสตจักรในยุคแรกๆจะเป็นคนที่มีคุณภาพแบบนี้ เพราะถ้าพวกเขาเป็นแบบนี้ คริสตจักรก็คงจะไม่สับสนในเรื่องหลักคำสอนและในเรื่องฝ่ายวิญญาณอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันคริสตจักรในทุกที่หมดพลังในการโน้มน้าวใจคน ส่วนในประเทศอังกฤษ คริสตจักรก็จะถูกชาวมุสลิมแซงหน้าในที่สุด คริสตจักรในทวีปอเมริกาเหนือก็ยึดติดกับวัตถุนิยมอย่างมาก รูปเหมือนหรือพระฉายาของพระเจ้าอยู่ที่ไหนหรือ และจะสามารถมองเห็นพระเจ้าในโลกนี้ได้ที่ไหนถ้าไม่ใช่ในเรา?
พระเยซู พระบุตรของพระเจ้า
ผมขอสรุปด้วยคำเรียกสุดท้ายของพระเยซูคือ พระบุตรของพระเจ้า ผมจำเป็นต้องให้รายละเอียดเพิ่มเติมกับคำเรียกนี้เพราะความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้สับเปลี่ยนเป็น “พระเจ้าพระบุตร” ซึ่งเป็นการใช้คำ “พระบุตรของพระเจ้า” ผิดไปเลย อีกอย่างหนึ่ง “พระบุตรของพระเจ้า” ไม่ได้เป็นคำเรียกที่พบบ่อยในพระคัมภีร์ใหม่ คำนี้ปรากฏ 41 ครั้งซึ่งส่วนมากปรากฏในพระกิตติคุณสามเล่มแรก (มัทธิว มาระโก และลูกา) ในจดหมายทั้งหมดของเปาโลได้กล่าวถึง “พระบุตรของพระเจ้า” เพียง 4 ครั้งเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่สำคัญสำหรับเปาโลเท่าไร อย่างไรก็ตามประเด็นต่อไปนี้เกี่ยวกับ “พระบุตรของพระเจ้า” ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก[59] มีความสำคัญมาก
สิ่งแรกที่ต้องสังเกตก็คือคำเรียก “พระบุตรของพระเจ้า” ไม่เคยใช้กับเทพใดๆ มันใช้กับเหล่าทูตสวรรค์ที่ดำรงอยู่เหนือธรรมชาติแต่ไม่ได้เป็นเหล่าเทพ คำเรียกนี้ยังใช้กับชนอิสราเอลด้วย
ในพระคัมภีร์สามเล่มแรก คือมัทธิว มาระโกและลูกานั้น พระเยซูไม่เคยเอ่ยถึงคำเรียกนี้ เมื่อพระองค์โดนถามตอนถูกไต่สวนว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าหรือไม่ พระองค์ก็ตอบปัดคำถามนี้ เช่นตัวอย่างในมัทธิว 26:63-64 มหาปุโรหิตถามพระเยซูว่าพระองค์เป็น “พระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า” หรือไม่ แต่พระเยซูตรัสตอบว่า “ท่านได้พูดแล้ว” ก่อนจะตรัสต่อไปถึงบุตรมนุษย์แทนที่จะตรัสว่าพระบุตรของพระเจ้าที่ “ประทับข้างขวาของผู้ทรงฤทธิ์เดช”[60]
สิ่งที่สองที่ต้องสังเกตก็คือ ในพระกิตติคุณสามเล่มแรกนั้น “พระบุตรของพระเจ้า” จะพูดออกมาจากปากของคนอื่นเสมอแต่ไม่ได้ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเยซู เราเพิ่งเห็นว่าที่สภาแซนเฮดริน[61]เป็นมหาปุโรหิตที่พูดว่า “พระบุตรของพระเจ้า” ในมัทธิว 27:54 นายร้อยของโรมันที่ยืนอยู่ตรงกางเขนเรียกพระเยซูว่า “พระบุตรของพระเจ้า” แต่เรารู้ว่าเขาไม่ได้กำลังพูดถึงพระเยซูว่าเป็นพระเจ้า เพราะพระคัมภีร์ตอนที่เหมือนกันในลูกา 23:47 นายร้อยคนนี้เรียกพระเยซูว่า “คนชอบธรรม”[62] ในเหตุการณ์ที่พระเยซูทรงดำเนินบนน้ำ พวกสาวกก็ประหลาดใจพูดกับพระเยซูว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงแล้ว” (มัทธิว 14:33) เพราะพวกเขาสามารถมองเห็นว่าพระองค์อยู่ในสถานะที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้า ในลูกา 4:41 ผีก็เรียกพระเยซูว่า “พระบุตรของพระเจ้า”
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับ “พระบุตรของพระเจ้า” คือว่าซาตานก็อ้างคำเรียกนี้ด้วยเมื่อมันพยายามจะทดลองพระเยซู (มัทธิว 4 และลูกา 4) โดยเฉพาะในคำพูด “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า...” ซาตานใช้คำเรียกนี้ทดลองพระเยซูแต่พระเยซูทรงเมินเฉย แม้เวลาที่คำเรียก “พระบุตรของพระเจ้า” ออกมาจากปากของมนุษย์ มันก็มักจะถูกใช้เป็นช่องทางในการทดลองพระเยซู เมื่อทรงถูกตรึงบนกางเขนก็มีบางคนเยาะเย้ยพระเยซูว่า “ถ้าเจ้าเป็นพระบุตรของพระเจ้า จงลงมาจากกางเขนเถิด” (มัทธิว 27:40) คำเรียกเหล่านี้เป็นคำพูดเดียวกันกับที่ซาตานใช้ “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า...”
ในพระกิตติคุณยอห์น “พระบุตรของพระเจ้า” ปรากฏเพียงแปดครั้งเท่านั้น คราวนี้สถานการณ์แตกต่างกันเพราะว่าตอนนี้ “พระบุตรของพระเจ้า” พระเยซูทรงใช้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่ในสามตัวอย่างของ “พระบุตรของพระเจ้า” ที่ตรัสจากพระโอษฐ์ของพระเยซู เราจะสังเกตเห็นบางอย่างที่น่าคิดซึ่งจับความสนใจของนักวิชาการพระคัมภีร์ทั้งหลายด้วย คือเมื่อพระเยซูตรัสว่า “พระบุตรของพระเจ้า” ในพระกิตติคุณยอห์นนั้นดูเหมือนว่าพระองค์จะกำลังพูดแบบอ้อมๆถึงบุคคลที่ถูกกล่าวถึง[63] นี่เป็นสิ่งที่ทำให้นักวิชาการพระคัมภีร์ทั้งหลายงงงวย ตัวอย่างเช่นในยอห์น 10:36 พระเยซูทรงอ้างคนอื่นๆที่อ้างอิงพระองค์
“...พวกท่านจะกล่าวหาผู้ที่พระบิดาทรงตั้งไว้เป็นพิเศษและทรงใช้เข้ามาในโลกว่า ‘ท่านกล่าวคำ
หมิ่นประมาทพระเจ้า’ เพราะเรากล่าวว่า ‘เราเป็นบุตรของพระเจ้า’ อย่างนั้นหรือ?”[64]
ดูเหมือนว่าพระเยซูจะอยู่ให้ห่างคำเรียก “พระบุตรของพระเจ้า” ในการพูดแบบอ้อมๆนั้นพระเยซูกำลังพูดกับพวกเขาว่า “ท่านอ้างถึงเราเหมือนกำลังบอกว่าเราเป็นพระบุตรของพระเจ้า” เราจะไม่พบคำอ้างอิงที่พระเยซูพูดถึงพระองค์เช่นนั้นในยอห์น พระเยซูน่าจะกำลังอ้างสิ่งที่คนอื่นพูดเกี่ยวกับพระองค์
“พระบุตรของพระเจ้า” หมายถึงอะไร? คำว่า “พระบุตรของพระเจ้า” ในพระกิตติคุณยอห์นหมายถึงพระคริสต์พระเมสสิยาห์นั่นเอง ในยอห์น 11:27 มารธาพูดว่า “ข้าพระองค์เชื่อว่าพระองค์เป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า” ยอห์น 20:31 กล่าวว่า “แต่การที่บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ก็เพื่อพวกท่านจะได้เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า” ปัญหาของคนต่างชาติก็คือคำเรียก “พระคริสต์” ไม่ได้มีความหมายมากกับพวกเขา พวกเขามักจะคิดว่า “พระคริสต์” เป็นชื่อเฉพาะของพระเยซูโดยไม่รู้ว่ามันหมายถึงพระเมสสิยาห์
พวกยิวพูดกับปีลาตว่า “เรามีกฎหมาย และตามกฎหมายนั้นเขาสมควรตาย เพราะเขาตั้งตัวเป็นพระบุตรของพระเจ้า”[65] (ยอห์น 19:7) พวกเขากำลังกล่าวหาพระเยซู พระเยซูทรงถูกกล่าวหาว่าทำอะไรหรือ? ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบอกว่าพระเยซูทรงอ้างว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้าและดังนั้นจึงเป็นการอ้างว่าทรงเป็นพระเจ้า นั่นเป็นการตีความที่ผิด เราต้องเข้าใจไว้เสียเลยว่า “พระบุตรของพระเจ้า” ไม่ได้เป็นคำเรียกพระเจ้า แล้วอะไรคือข้อกล่าวหาอย่างร้ายแรงกับพระเยซูหรือ? ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเชื่อว่าพระเยซูถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาทที่อ้างตัวเป็นพระเจ้าและเพราะฉะนั้นจึงทรงถูกตรึงกางเขน แต่ความจริงของเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากอย่างนั้น
การอ้างว่าเป็นพระเมสสิยาห์ของอิสราเอลคือการอ้างสถานะที่สูงสุดในอิสราเอล เพราะเป็นการอ้างสถานะของผู้เผยพระวจนะเช่นเดียวกับโมเสสที่พูดกับพระเจ้าแบบหน้าต่อหน้าและพูดด้วยสิทธิอำนาจของพระเจ้า ไม่มีใครในอิสราเอลที่จะได้รับความเคารพนับถือเท่ากับโมเสส นั่นจึงเป็นเรื่องร้ายแรงที่ใครจะอ้างว่าเท่าเทียมกับโมเสส ไม่มีชาวยิวคนไหนที่เห็นว่าจะมีใครสูงไปกว่าโมเสส การที่จะตระหนักในเรื่องนี้คุณจะต้องมีรากฐานแน่นในพระคัมภีร์เดิมและในความคิดของยิว ใครก็ตามที่กล่าวอ้างเช่นนั้นก็กำลังประกาศว่าเขากำลังอยู่ในสถานะที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับพระยาห์เวห์พระผู้ตรัสกับประชากรของพระองค์ทางโมเสส
การอ้างว่าเป็นเหมือนโมเสสผู้เป็นตัวแทนของพระเจ้าโดยที่ไม่ได้รับอำนาจจากพระเจ้านั้นเขาคนนั้นจะต้องถูกลงโทษถึงตาย ในทุกบทจากเฉลยธรรมบัญญัติที่พูดถึงผู้เผยพระวจนะที่จะมีมา เช่นโมเสส เราจะเห็นถ้อยคำว่า “แต่ผู้เผยพระวจนะที่บังอาจกล่าวคำในนามของเราซึ่งเราไม่ได้บัญชาให้กล่าว หรือกล่าวในนามของพระอื่น ผู้เผยพระวจนะนั้นต้องมีโทษถึงตาย”(เฉลยธรรมบัญญัติ 18:20)[66] การกล่าวโทษบาปที่มีโทษถึงตายได้เล็งไปที่พระเยซูผู้กระทำทุกสิ่งในนามของพระยาห์เวห์เสมอ พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์พระบุตรของพระเจ้า พระองค์เป็นผู้เผยพระวจนะที่โมเสสพูดถึง และพระองค์ก็อ้างว่าพระองค์กล่าวในพระนามของพระยาห์เวห์ แต่พวกเขากล่าวหาพระองค์ว่าเป็นผู้เผยพระวจนะเทียมเท็จและต้องการให้ประหารชีวิตพระองค์เสีย
ข้อกล่าวหาอีกอย่างที่นำมากล่าวหาพระเยซูนั้นเป็นผลมาจากความสนิทสนมของพระองค์กับพระบิดา คำเทศนาหนึ่งที่ผมเทศน์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ผมพูดถึงมุสลิมนิกายซูฟีคนหนึ่ง[67]ที่พูดว่า “ผมเป็นความจริง”[68] และด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกพวกมุสลิมตรึงบนกางเขนจริงๆด้วยวิธีตรึงแบบของมุสลิมที่น่าสยดสยองมากๆ สิ่งที่ชายมุสลิมนิกายซูฟีคนนี้หมายถึงก็คือ เขามีความสัมพันธ์แบบพิเศษและแบบเฉพาะกับพระอัลเลาะห์ เขาได้มาถึงจุดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริงกับพระอัลเลาะห์ ดังนั้นพระอัลเลาะห์จึงเป็นพระเจ้าเฉพาะของเขา
คำกล่าวหาคล้ายกันที่เอามากล่าวหาพระเยซูก็คือ “เหตุฉะนั้นพวกยิวยิ่งแสวงโอกาสที่จะฆ่าพระองค์ มิใช่เพราะพระองค์ละเมิดกฏวันสะบาโตเท่านั้น แต่ยังได้เรียกพระเจ้าว่าเป็นบิดาของตนด้วย ซึ่งเป็นการกระทำตนเสมอกับพระเจ้า” (ยอห์น 5:18 ฉบับ 1971) การเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกสำหรับชาวยิว ข้อที่นำมากล่าวหาพระเยซูก็คือพระองค์เรียกพระเจ้าว่า “พระบิดาของพระองค์เอง” () นี่เท่ากับอ้างความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับพระเจ้าแล้วยังทำตัวเท่าเทียมกับพระเจ้าในแง่ของการอ้างเอาพระสิริและพระเกียรติที่เป็นของพระเจ้า ตอนนี้เราคงเข้าใจแล้วว่าทำไมพระเยซูจึงถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาท พวกเขาตั้งข้อหาพระองค์ว่าอ้างพระเกียรติที่เท่าเทียมกับพระเจ้า (แม้ว่าพระองค์จะไม่เคยอ้างตัวว่าเป็นพระเจ้า) ในการอ้างถึงพระเจ้าว่าเป็น “idios”[69] ของพระองค์ คำนี้ทำให้เรานึกถึงคำภาษาอังกฤษว่า “idiosyncratic” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นพิเศษ หรือเฉพาะกับตัวเองผู้เดียว
มีข้ออ้างอิงถึง “พระบุตรของพระเจ้า” เพียงไม่กี่ข้อในส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่ มีการบันทึกถึงเปาโลหลังจากประสบการณ์บนถนนในดามัสกัสว่า “เขาเริ่มเทศนาในธรรมศาลาต่างๆทันทีว่า พระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (กิจการ 9:20 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) เราจะต้องจำไว้ว่าสำหรับเปาโลแล้ว “พระบุตรของพระเจ้า” ไม่ได้เป็นคำเรียกพระเจ้า ในจดหมายของเปาโลทั้งหมดนั้น “พระบุตรของพระเจ้า” ปรากฏเพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้นและทุกครั้งก็เป็นการอ้างอิงถึงพระเมสสิยาห์ กษัตริย์ที่พระเจ้าทรงเจิมตั้งไว้
ในหนังสือฮีบรู “พระบุตรของพระเจ้า” มีปรากฏ 4 ครั้งและจะอ้างอิงถึงพระเยซูเสมอว่าเป็นมหาปุโรหิตผู้อยู่ในสถานะที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้า
นอกเหนือจากพระกิตติคุณแล้วจดหมายจากยอห์นฉบับแรกก็มีการใช้คำเรียก “พระบุตรของพระเจ้า” บ่อยที่สุด คำเรียกนี้มีปรากฏ 7 ครั้งในจดหมายสั้นๆนั้นแต่ไม่เคยเป็นคำเรียกพระเจ้า ในมุมมองของยอห์น 20:31 เรารู้ว่าสำหรับยอห์นแล้ว “พระบุตรของพระเจ้า” หมายถึงพระเมสสิยาห์แค่นั้น
ในวิวรณ์จะมีคำ “พระบุตรของพระเจ้า” ปรากฏแค่ครั้งเดียวเท่านั้น “นี่คือถ้อยคำของพระบุตรของพระเจ้า[70] ผู้ทรงมีพระเนตรเหมือนอย่างเปลวไฟ และทรงมีพระบาทเหมือนทองสัมฤทธิ์” (วิวรณ์ 2:18)[71] อีกประการหนึ่งนี่เป็นวิธีอธิบายถึงเหล่าทูตสวรรค์ในหนังสือคัมภีร์นอกสารบบ[72]
ผมขอสรุปการพิจารณาของเราเกี่ยวกับ “บุตรของพระเจ้า” ประเด็นแรกก็คือว่า ไม่มีตัวอย่างที่ “บุตรของพระเจ้า” เคยใช้อ้างอิงถึงพระเจ้าเลย “บุตรของพระเจ้า” มักจะใช้อ้างอิงถึงพวกทูตสวรรค์หรือไม่ก็พวกมนุษย์โดยเฉพาะชนอิสราเอล โฮเชยา 11:1 กล่าวว่า “เมื่ออิสราเอลยังเด็ก เราก็รักเขา เราได้เรียกบุตรของเราออกจากอียิปต์” (ฉบับ 1971) ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ถูกยกอ้างในมัทธิว 2:15[73] ในพระคัมภีร์เดิมนั้นชนอิสราเอลก็คือบุตรของพระเจ้า พระเยซูผู้ทรงเป็นร่างที่ปรากฏของอิสราเอลใหม่ซึ่งก็คือคริสตจักร ก็ทรงเป็นบุตรของพระเจ้าในแง่นี้ด้วย
ลำดับพงศ์พันธุ์ในลูกาลงท้ายด้วยคำว่า “อาดัมเป็นบุตรของพระเจ้า” (ลูกา 3:38) เราได้เห็นว่า “บุตรของพระเจ้า” จะหมายถึงทูตสวรรค์หรือมนุษย์เสมอซึ่งไม่ใช่ตามอย่างที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวอ้างว่าเป็นคำเรียกพระเจ้า ลูกา 1:35 กล่าวว่าพระเยซูได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้าก็เพราะการเกิดจากหญิงพรหมจารีที่ว่า “ฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่เกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า” เพราะทั้งสองข้อนี้ (3:38 และ 1:35)[74] พบในพระกิตติคุณลูกาหนังสือเล่มเดียวกันจึงเป็นการยืนยันความเข้าใจของเราเกี่ยวกับ “บุตรของพระเจ้า”
เราได้เห็นว่าพระบุตรของพระเจ้าในยอห์นก็คือพระคริสต์พระเมสสิยาห์ เราซึ่งเป็นคนต่างชาติจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญของพระเมสสิยาห์จริงๆ คนยิวเข้าใจว่าเมสสิยาห์คืออะไรและเขาก็ยังคงรอคอยพระเมสสิยาห์อยู่ เขาไม่เชื่อว่าพระเยซูคือพระเมสสิยาห์แต่เขาเชื่อว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาสักวันหนึ่ง แม้กระทั่งทุกวันนี้ชาวยิวยังเตรียมที่นั่งว่างเอาไว้เมื่อมีเทศกาลปัศกาหรือในงานเลี้ยงพิเศษอื่นๆ ที่นั่งที่ว่างนั้นเตือนใจพวกเขาว่าพวกเขายังกำลังรอคอยการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ที่จริงที่นั่งนั้นสงวนไว้สำหรับเอลียาห์ เพราะเมื่อเอลียาห์มาพระเมสสิยาห์ก็จะเสด็จมาด้วย แม้แต่พระเยซูก็ตรัสว่าเอลียาห์จะต้องมาก่อน (มาระโก 9:11,12)[75] แม้ว่าสำหรับพระองค์แล้วตัวของเอลียาห์ก็คือยอห์นผู้ให้บัพติศมา (มัทธิว 11:14)[76] ผู้ที่มาด้วยวิญญาณและฤทธิ์เดชของเอลียาห์
ชาวยิวเชื่อว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาแต่กับเราที่เป็นคนต่างชาติแล้วคำเรียกพระเมสสิยาห์ไม่ได้มีความหมายมากนัก คริสเตียนส่วนใหญ่คิดว่า “คริสต์” เป็นนามสกุลของพระเยซู “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” ไม่ได้มีความหมายกับเราและนั่นคือเรื่องเศร้า
ทำไมพระเมสสิยาห์จึงถูกเรียกว่าพระบุตรของพระเจ้า? เราจะพบเบื้องหลังของเรื่องนี้ได้ในพระคัมภีร์เดิมในสดุดีบท 2 ที่สะดุดตาซึ่งถูกอ้างถึงบ่อยๆในพระคัมภีร์ใหม่ สดุดี 2:6-7 กล่าวว่า
“เราเอง (ยาห์เวห์) ได้ตั้งกษัตริย์ของเราไว้แล้ว บนศิโยน ภูเขาบริสุทธิ์ของเรา” ข้าพเจ้าจะบอกถึงกฎเกณฑ์ของพระยาห์เวห์ พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า “เจ้าเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดเจ้าแล้ว” (สดุดี 2:6-7 ฉบับมาตรฐาน 2011)
“กษัตริย์ของเรา” (กษัตริย์ของพระยาห์เวห์) กล่าวอย่างชัดเจนถึงพระเมสสิยาห์ซึ่งตรงนี้คือพระบุตรของพระเจ้า คำว่า “วันนี้” เป็นการอ้างอิงถึงเวลา “วันนี้เราให้กำเนิดเจ้าแล้ว” เป็นวันแห่งการราชาภิเษก ผู้เขียนสดุดีกำลังกล่าวว่าในวันราชาภิเษก พระยาห์เวห์จะกล่าวกับกษัตริย์พระองค์นี้ “เจ้าเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดเจ้าแล้ว” เราจะอ่านเกี่ยวกับพระบุตรได้ต่อไปอีกในสดุดีบท 2
เจ้าจะตีพวกเขาให้แตกด้วยคทาเหล็ก และฟาดให้แหลกเป็นชิ้นๆ ดุจภาชนะของช่างปั้นหม้อ” เพราะฉะนั้น กษัตริย์ทั้งหลายเอ๋ย จงฉลาดเถิด บรรดาผู้ปกครองแห่งแผ่นดินโลกเอ๋ย จงรับคำเตือนเถิด จงปรนนิบัติพระยาห์เวห์ด้วยความยำเกรง และจงเปรมปรีดิ์จนเนื้อเต้น (สดุดี 2:9-11 ฉบับมาตรฐาน 2011)
แนวคิดของพระคัมภีร์ใหม่เรื่องพระบุตรของพระเจ้าในฐานะพระเมสสิยาห์มีรากฐานจากในสดุดีบท 2 คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่คุ้นกับพระคัมภีร์เดิม ฉะนั้นพวกเขาจึงไม่รู้ว่า “พระบุตรของพระเจ้า” ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ใหม่ มันเป็นคำเรียกของพระคัมภีร์เดิมที่เห็นในข้อที่สำคัญมากเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในสดุดี 2:7 นี้ ถ้าคุณตรวจดูข้ออ้างอิงอื่นๆที่โยงกับข้อนี้คุณจะเห็นว่ามีการอ้างอิงข้อนี้หลายข้อในพระคัมภีร์ใหม่
เพื่อนบ้านของคุณเหมือนตัวคุณเอง
ผมอยากจะจบบทนี้ด้วยภาพที่จับใจผมซึ่งจะพบในอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลูกา 10) ก่อนหน้าที่พระเยซูจะให้คำอุปมานี้พระองค์ทรงยก “ชามา” (Shema)[77] ชาวยิวทุกคนรู้ว่า “ชามา” (จงฟัง) คือคำแรกของเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ก่อนหน้านี้ไม่มีระบบอ้างอิงข้อพระคัมภีร์ที่จะช่วยให้คุณบอกว่า “เฉลยธรรมบัญญัติบท 6 ข้อ 4” เพราะไม่มีหมายเลขบทและเลขข้อกำกับจนกระทั่งหลายศตวรรษไม่นานมานี้เอง ฉะนั้นคุณจึงต้องอ้างอิงพระคัมภีร์ตอนนั้นจากบรรทัดแรก ตัวอย่างเช่น คุณจะอ้างอิงสดุดีบท 22 ก็โดยการอ้างบรรทัดแรกคือ “พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย” คนก็จะรู้ว่าคุณกำลังพูดถึงสดุดีบท 22
และเมื่อคุณพูดว่า “ชามา” คนยิวจะรู้ว่าคุณกำลังพูดถึงเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 “จงฟังเถิด[78] โอ คนอิสราเอล พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา!”[79] พระเยซูทรงยกอ้างข้อนี้และเน้นย้ำบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรกที่สั่งให้รักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดทั้งหมดของตัวเรา และคำสั่งที่สองที่เกี่ยวโยงกัน (มัทธิว 22:39, 19:19 มาระโก 12:31 ลูกา 10:27) มัทธิว 22:39 กล่าวว่า “ข้อ (บัญญัติ) ที่สองก็เหมือนกัน คือจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เอามาจากเลวีนิติ 19:18
พระเยซูตรัสคำอุปมาเรื่องของชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลูกา 10:30-37) เพื่อตอบคำถามของธรรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในบทบัญญัติที่ถามพระเยซูว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” ในอุปมาชาวสะมาเรียผู้ใจดีนี้ พระเยซูตรัสถึงชายคนหนึ่งที่ถูกโจรดักทำร้ายและทิ้งเขาไว้ในสภาพปางตาย ปุโรหิตคนหนึ่งผ่านมาทางนั้นและก็เดินเลยไปอีกฟากหนึ่ง แล้วคนเลวีก็ผ่านมาแล้วก็เดินไปอีกฟากหนึ่งเช่นกัน สุดท้ายก็มีชาวสะมาเรียที่ต่ำต้อยและน่ารังเกียจคนหนึ่งเดินทางผ่านมาเห็นแล้วมีใจสงสารผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นคนยิวซึ่งถือว่าเป็นศัตรูของชาวสะมาเรียและได้เข้าไปช่วยในความเดือดร้อนของเขา พระเยซูจึงตรัสถามผู้เชี่ยวชาญในบทบัญญัติว่า ในสามคนนี้คนไหนถือว่าเป็นเพื่อนบ้านของผู้เคราะห์ร้าย ผู้เชี่ยวชาญในบทบัญญัติกล่าวว่าคือคนที่สำแดงความเมตตากับผู้เคราะห์ร้าย พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้น”
เรามักจะไม่เห็นว่าอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีเป็นคำอุปมาเกี่ยวกับพระเยซูเอง พระเยซูเองทรงเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดีนั้น และพระองค์ทรงเห็นว่าเรากำลังจะตายในสภาพที่น่าเวทนา ประเด็นอยู่ที่ว่าพระยาห์เวห์ที่อยู่ในพระคริสต์ต่างหากคือชาวสะมาเรียผู้ใจดีนั้น พระยาห์เวห์ในพระคริสต์ทรงรักเราเหมือนรักตัวพระองค์เอง ในแง่ของความรัก พระยาห์เวห์ได้ทรงทำให้เราเสมอกับพระองค์เองเพราะพระองค์ทรงรักเราเหมือนที่ทรงรักตัวของพระองค์เอง
พระยาห์เวห์ไม่เคยสั่งให้เราทำสิ่งใดที่พระองค์ไม่ได้ทำ เรารักพระองค์ก็เพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน นั่นคือทางที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับทัศนตคิของคนเคร่งศาสนา ขณะเมื่อเรานอนแน่นิ่งในปลักโคลนและถูกปล่อยให้ตาย คนธรรมะธรรมโมในศาสนาก็เดินผ่านเราไป นี่รวมทุกคนในทุกศาสนาดังเช่นปุโรหิตและคนเลวีในอุปมานี้ พวกเขาไม่ได้ทำอะไรเพื่อเราและพวกเขาก็ไม่ใส่ใจเราและพวกเขาก็ไม่ได้เป็นห่วงอะไรเราเพราะพวกเขาห่วงแต่จะรักษาตัวของพวกเขาให้พ้นจากมลทิน นั่นคือเหตุที่พระยาห์เวห์เสด็จเข้ามาในพระคริสต์เป็นองค์อิมมานูเอลที่อยู่กับเรา พระองค์ทรงเห็นเราและทรงช่วยชีวิตเรา
ภาพของพระยาห์เวห์ในพระคริสต์เป็นแนวคิดที่เราจำเป็นต้องปลูกฝัง พระเจ้าทรงอยู่ในพระคริสต์ พระองค์ทรงทำให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์ (2 โครินธ์ 5:19)[80] ชาวสะมาเรียผู้ใจดีที่ช่วยชีวิตเราไม่ได้เป็นสองบุคคลที่แยกกันทำงานแต่เป็นการรวมเป็นหนึ่งของสองบุคคลคือพระยาห์เวห์ในพระคริสต์ เพื่อนบ้านของเราก็คือการรวมเป็นหนึ่งของพระยาห์เวห์กับพระคริสต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคริสต์ เพราะในอุปมานั้นเพื่อนบ้านเป็นชายคนหนึ่ง
เราจะต้องรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดทั้งหมดของตัวเรา และรักเพื่อนบ้านของเราเหมือนรักตัวของเราเอง แล้วเราจะรักพระเยซูอย่างไรหรือ? เราก็รักพระองค์เหมือนที่เรารักเพื่อนบ้านของเราและเหมือนที่เรารักตัวของเราเอง พระองค์เป็นเพื่อนบ้านของเราเพราะว่าพระองค์ได้ทำให้เราเป็นเพื่อนบ้านของพระองค์ ผมพบว่านี่เป็นสิ่งล้ำเลิศอย่างแท้จริง ตอนนี้ผมรู้ว่าจะสัมพันธ์กับพระยาห์เวห์ด้วยความรักภักดีทั้งหมดอย่างไร
แต่คำสั่งข้อที่สองก็ “เหมือน” กับคำสั่งข้อแรก (มัทธิว 22:39)[81] ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเราก็ถูกสร้างตามพระฉายาหรือรูปเหมือนของพระเจ้าเหมือนกับพระเยซู เพราะคำสั่งข้อที่สองซึ่ง “เหมือน” กับคำสั่งข้อแรกคือที่จะ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” คำว่า “เหมือน” () หมายถึงความเหมือนของรูปเหมือน มนุษย์เหมือนกับพระเจ้า(อย่างที่คำสั่งข้อที่สองเหมือนคำสั่งข้อแรก)เพราะว่าเขาเป็นรูปเหมือนหรือฉายาของพระเจ้า เพราะฉะนั้นถ้าเรารักพระเจ้า เราก็ต้องรักมนุษย์ด้วย และมนุษย์ที่เหมือนพระเจ้ามากที่สุดก็คือพระเยซูคริสต์ ถ้าเรารักพระเจ้าเราก็จะรักพระเยซู ผู้ที่มีพระบิดาก็มีพระบุตรและผู้ที่มีพระบุตรก็มีพระบิดา
ผมได้พูดในการอบรมซีที[82]ว่าเมื่อคุณรักใครสักคนเหมือนที่คุณรักตัวคุณเองนั้น ในทางปฏิบัติจริงแล้วมันก็หมายความว่าคุณรักเขามากกว่าที่คุณรักตัวคุณเองเสียอีก ถ้าคุณเห็นตัวคุณเองในสถานการณ์เดียวกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่คุณกำลังเจอกับการเลือกระหว่างช่วยชีวิตเพื่อนบ้านของคุณกับช่วยชีวิตตัวคุณเอง การตัดสินใจของคุณที่เห็นได้ชัดก็คือคุณรักเพื่อนบ้านของคุณมากกว่าตัวของคุณเอง ถ้าคุณออกไปช่วยชีวิตเขาคุณอาจไม่รอดชีวิตกลับมา ในการรักพระเยซูเหมือนที่เรารักตัวของเราเองนั้น ท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะต้องจ่ายราคาด้วยชีวิตของเรา ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวในพระคัมภีร์จะทำให้เรารักพระเยซูน้อยลงหรือ? ก็เปล่าเลย เราจะรักพระองค์มากเท่ากับแต่ก่อนและยิ่งมากขึ้น
[1] ยอห์น 1:16 “เพราะเราได้รับพระคุณซ้อนพระคุณจากความบริบูรณ์ของพระองค์” ฉบับมาตรฐาน 2011 (ผู้แปล)
[2] Bishops (บิชอป)
[3] Council of Nicaea
[4] จากคำกรีก “”
[5] การเผยให้เห็นบรรยากาศที่ร่วงโรยของการเมืองคริสตจักรในช่วงหลายปีที่นำไปสู่สภาสังคายนาไนเซียดูได้จาก “เมื่อพระเยซูกลายเป็นพระเจ้า–การต่อสู้เพื่อกำหนดความเชื่อของคริสเตียนในช่วงยุคสุดท้ายของโรม” เขียนโดย ริชาร์ด อี รูเบนสไตน์ (“When Jesus Became God - The Struggle to Define Christianity during the Last Days of Rome,” Richard E. Rubenstein, 1999, Harcourt)
[6] Nicaea
[7] Constantinople
[8] Anathema (แช่งสาป) ผู้แปล
[9] Council of Chalcedon
[10] the Second Council of Constantinople
[11] John Chrysostom
[12] “golden-mouthed” หรือ “ผู้มีวจนะน้ำผึ้ง” (ผู้แปล)
[13] Archbishop of Constantinople
[14] Augustine
[15] Calvin
[16] 1 โครินธ์ 15:47 “มนุษย์คนแรกนั้นมาจากดินและเป็นมนุษย์ดิน มนุษย์คนที่สองนั้นมาจากสวรรค์” (ฉบับมาตรฐาน 2011) ผู้แปล
[17] แปลตรงตัวจาก “became” ตามฉบับภาษาอังกฤษ พระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยหลายฉบับแปลว่า “ได้ทรงบังเกิด” หรือ “ทรงสภาพเนื้อหนัง” ในฉบับไทยคิงเจมส์ (ผู้แปล)
[18] Unitarianism
[19] Jehovah’s Witnesses
[20] ต้นฉบับภาษาอังกฤษและกรีกใช้คำว่า “เต็นท์” หรือแปลว่า “เต็นท์ที่เป็นเรือนกาย” (ผู้แปล)
[21] แปลตามต้นฉบับ (ผู้แปล)
[22] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปล 2 โครินธ์ 5:4 ตรงตามภาษากรีกว่า “เพราะเราไม่ปรารถนาที่จะเปลือยเปล่า แต่ปรารถนาที่จะรับการคลุมกายด้วยที่อาศัยจากสวรรค์ของเราเพื่อชีวิตจะกลืนกลบกายที่ต้องตายนั้น” (ผู้แปล)
[23] John 1:14 “And the Word became flesh, and did tabernacle among us” (ฉบับ Young’s Literal Translation) ตรงกับฉบับภาษากรีกว่า “” (ผู้แปล)
[24] อมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “ประทับอยู่” (มาจากคำกรีกว่า เป็นคำกริยาบอกเล่าจากคำ
ซึ่งแปลว่า “พลับพลาอยู่ หรือประทับอยู่” หรือแปลตรงตัวว่า “พักอาศัยอยู่ในเต็นท์”) (ผู้แปล)
[25] ฉบับไทยคิงเจมส์แปลยอห์น 1:14 ว่า “พระวาทะได้ทรงสภาพของเนื้อหนัง และทรงอยู่ท่ามกลางเรา” และฉบับมาตรฐาน 2011 แปล
ยอห์น 1:14 ว่า “พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา” (ผู้แปล)
[26] หรือแปลว่า “มนุษย์” ตามการแปลของพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยว่า “ทรงเกิดเป็นมนุษย์” (ผู้แปล)
[27] Unitarians ผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียว (ผู้แปล)
[28] “only begotten” มาจากคำกรีกว่า “” (Only, unique) แปลว่า “ผู้เดียว หรือ ที่ไม่มีใครเหมือน” (ผู้แปล)
[29] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลโคโลสี 2:9 ว่า “เพราะในพระคริสต์ลักษณะทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์ในพระกายของพระองค์”
ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลโคโลสี 2:9 ว่า “เพราะว่าความเป็นพระเจ้าที่ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้นดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์” (ผู้แปล)
[30] หรืออยู่ในเต็นท์
[31] Hong Kong’s Central district
[32] ยอห์น 15:4 (ฉบับ 1971) ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “จงติดสนิทอยู่กับเราและเราติดสนิทอยู่กับพวกท่าน” (ผู้แปล)
[33] ฉบับไทยคิงเจมส์
[34] epeleusetai epi
[35] ฉบับมาตรฐาน 2011
[36] สดุดี 47:2 “เพราะพระยาห์เวห์ผู้สูงสุดเป็นที่น่าคร้ามกลัว ทรงเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่เหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้น” (ฉบับมาตรฐาน 2011)
[37] episkiazō
[38] แปลตรงตัวว่า “เพราะเมฆได้ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น” (ผู้แปล)
[39] ฉบับ 1971 แปลว่า “พระสิริ” ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “พระเกียรติสิริ” และฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “สง่าราศี” (ผู้แปล)
[40] Skēnē
[41] “eternal dwellings” ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “ที่พำนักอันถาวร” (ผู้แปล)
[42] มาจากคำกรีก “” เป็นคำพหูพจน์ของ “
” ที่หมายถึง “เต็นท์” หรือ “พลับพลา” หรือ “ที่พำนักอาศัย” (ผู้แปล)
[43] ยอห์น 14:9 พระเยซูตรัสกับเขาว่า “ฟีลิป เราอยู่กับท่านนานถึงขนาดนี้แล้วท่านยังไม่รู้จักเราอีกหรือ? คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา ท่านจะพูดได้อย่างไรอีกว่า ‘ขอสำแดงพระบิดาให้พวกข้าพระองค์เห็น?’” (ผู้แปล)
[44] Immanuel
[45] หรือ “ข้าแต่พระยาห์เวห์พระเจ้าของข้าพระองค์” (สดุดี 7:3 ฉบับมาตรฐาน 2011) - ผู้แปล
[46] หรือ “พระยาห์เวห์พระเจ้าของข้าพเจ้า” (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:5 ฉบับมาตรฐาน 2011) และ “พระเยโฮวาห์พระเจ้าของข้าพเจ้า” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย และ ฉบับ 1971) - ผู้แปล
[47] ฉบับมาตรฐาน 2011 หรือ “the King of kings” (ผู้แปล)
[48] ฉบับมาตรฐาน 2011 และ 1971แปลว่า “พระราชาเหนือราชาทั้งหลาย” ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “จอมกษัตริย์” (ผู้แปล)
[49] ฉบับมาตรฐาน 2011 หรือ “lord of all Egypt” (ผู้แปล)
[50] ฉบับมาตรฐาน 2011
[51] มัทธิว 13:55 “คนนี้เป็นลูกช่างไม้มิใช่หรือ มีแม่ชื่อมารีย์ และน้องชายของเขาชื่อยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาสมิใช่หรือ” (ฉบับ1971)
[52] Pentateuch
[53] ฉบับมาตรฐาน 2011
[54] ยอห์น 1:45 ฟีลิปไปหานาธานาเอลและบอกเขาว่า “เราพบคนที่โมเสสกล่าวถึงในหนังสือธรรมบัญญัติ และคนที่พวกผู้เผยพระวจนะกล่าวถึง คือ เยซูชาวนาซาเร็ธบุตรโยเซฟ”
กิจการ 3:23 “ถ้าคนหนึ่งคนใดไม่เชื่อฟังผู้เผยพระวจนะผู้นั้น เขาจะต้องถูกตัดขาดให้พินาศไปจากชนชาติของพระเจ้า”
กิจการ 7:37 โมเสสคนนี้แหละที่กล่าวกับชนชาติอิสราเอลว่า “พระเจ้าจะประทานผู้เผยพระวจนะผู้หนึ่งเกิดมาเพื่อท่านทั้งหลาย จากพี่น้องของพวกท่าน เหมือนอย่างข้าพเจ้า”
[55] เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15 “พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านจะโปรดให้ผู้เผยพระวจนะเช่นเดียวกับข้าพเจ้านี้เกิดขึ้นในหมู่พวกท่านจากพี่น้องของท่าน พวกท่านจงเชื่อฟังเขา” (ฉบับมาตรฐาน 2011) -ผู้แปล
[56] อพยพ 33:11 “พระยาห์เวห์เคยตรัสกับโมเสสสองต่อสอง เหมือนมิตรสหายสนทนากัน” ฉบับมาตรฐาน 2011 (ผู้แปล)
[57] หรือ “พระฉายา” (ผู้แปล)
[58] หรือ “พระฉายา” (ผู้แปล)
[59] Synoptics
[60] มัทธิว 26:64 พระเยซูตรัสตอบว่า “ท่านได้พูดแล้ว แต่เราจะบอกท่านทั้งหลายด้วยว่า ตั้งแต่นี้ไป พวกท่านจะเห็นบุตรมนุษย์ประทับข้างขวาของผู้ทรงฤทธิ์เดช และเสด็จมาบนเมฆแห่งฟ้าสวรรค์” (ฉบับมาตรฐาน 2011)
[61] Sanhedrin (จะพบในกิจการ 6:15 และ 23:6 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย - ผู้แปล)
[62] ลูกา 23:47 เมื่อนายร้อยเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ จึงสรรเสริญพระเจ้าว่า “แท้จริงท่านผู้นี้เป็นคนชอบธรรม” (ฉบับมาตรฐาน 2011) -ผู้แปล
[63] หรือเป็น “บุคคลที่สาม”
[64] ฉบับมาตรฐาน 2011
[65] ฉบับมาตรฐาน 2011
[66] ฉบับมาตรฐาน 2011
[67] Sufi Muslim (นิกายซูฟี นิกายนี้ยึดมั่นในพระอัลเลาะห์เป็นสำคัญ -ผู้แปล)
[68] “I am the truth”
[69] จากคำกรีก “ ”
[70] แปลตามฉบับภาษาอังกฤษ ฉบับ NIV, KJV และ YLT ที่ตรงกับต้นฉบับภาษากรีก “These are the words of the Son of God, whose eyes are like blazing fire and whose feet are like burnished bronze” Rev. 2:18 (ผู้แปล)
[71] ฉบับมาตรฐาน 2011, ฉบับ 1971, ไทยคิงเจมส์, และอมตธรรมร่วมสมัย แปลวิวรณ์ 2:18 ว่า “พระองค์ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงมีพระเนตรเหมือนอย่างเปลวไฟ และทรงมีพระบาทเหมือนทองสัมฤทธิ์ ได้ตรัสดังนี้ว่า” (ผู้แปล)
[72] Apocryphal books คือหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับพระเยซูที่ไม่ได้บรรจุในสารบบและไม่ได้รับการยอมรับจากคริสเตียนหมู่มาก (ผู้แปล)
[73] มัทธิว 2:15 “และได้อยู่ที่นั่นจนเฮโรดสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้ตรัสผ่านทางผู้เผยพระวจนะว่า เราได้เรียกบุตรของเราให้ออกมาจากอียิปต์” (ฉบับมาตรฐาน 2011) ผู้แปล
[74] ลูกา 3:38 “ไคนานเป็นบุตรของเอโนส เอโนสเป็นบุตรของเสท เสทเป็นบุตรของอาดัม อาดัมเป็นบุตรของพระเจ้า” (ฉบับมาตรฐาน 2011)
[75] มาระโก 9:11-12 พวกเขาจึงทูลถามพระองค์ว่า “ทำไมพวกธรรมาจารย์ถึงกล่าวว่า เอลียาห์จะต้องมาก่อน” พระองค์ตรัสตอบพวกเขาว่า “เอลียาห์จะต้องมาก่อนแน่นอนเพื่อทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิม แต่ทำไมยังมีถ้อยคำเขียนเกี่ยวกับบุตรมนุษย์ว่า พระองค์จะต้องทรงทนทุกขเวทนาหลายประการและทรงถูกทอดทิ้ง” (ฉบับมาตรฐาน 2011)
[76] มัทธิว 11:14 “ถ้าท่านทั้งหลายจะยอมรับ ยอห์นผู้นี้แหละ คือเอลียาห์ที่จะมานั้น” (ฉบับมาตรฐาน 2011)
[77] เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 “ชามา ยิศราเอล ยาห์เวห์ เอโลเฮนู ยาห์เวห์ เอคหัด” (Sh'ma Yisra'el YHWH Eloheinu YHWH Eḥad) แปลตรงตัวตามภาษาฮีบรูว่า “จงฟังเถิด คนอิสราเอล พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของเรา พระยาห์เวห์องค์เดียว” (ผู้แปล)
[78] ต้นฉบับฮีบรูขึ้นต้นด้วย “จงฟังเถิด คนอิสราเอล” (ผู้แปล)
[79] หรือจากฉบับมาตรฐาน 2011 “โอคนอิสราเอล จงฟังเถิด พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา” (ผู้แปล)
[80] 2 โครินธ์ 5:19 “คือพระเจ้าผู้สถิตในองค์พระคริสต์ทรงให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์เอง มิได้ทรงถือโทษในการละเมิดของเขา และทรงมอบพระวจนะแห่งการคืนดีกันนั้นไว้กับเรา” (ฉบับไทยคิงเจมส์) ส่วนฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “คือพระเจ้าทรงให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์โดยพระคริสต์ ไม่ทรงถือโทษในความผิดของพวกเขา และทรงมอบเรื่องราวการคืนดีนี้ให้เราประกาศ” (ผู้แปล)
[81] มัทธิว 22:39 “ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ ‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง’”
[82] Commitment Training (การอบรมชุดการมอบทั้งหมดให้กับพระเจ้า) ผู้แปล