pdf pic

 

 

 

บทที่ 3

 

 ch1 1

 

เสาหลักแรกของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ:

คำขึ้นต้นของยอห์น (1:1-18)

                                                                                                         

        

         อห์นบทที่ 1 โดยเฉพาะคำขึ้นต้นของยอห์น (1:1-18) เป็นเสาหลักแรกของสิ่งที่ผมเคยเรียกว่า “สี่เสาหลักของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ” เป็นสี่บทในพระคัมภีร์ที่ผมได้ยึดถือมายาวนานในสมัยที่ผมเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างจงรักภักดี เพราะให้การสนับสนุนหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพอย่างน่าเชื่อถือที่สุดคือ ยอห์นบทที่ 1 โคโลสีบทที่ 1 ฮีบรูบทที่ 1 และวิวรณ์บทที่ 1

      เป็นเวลาหลายปีมากที่ผมจะนึกถึงสี่เสาหลักนี้เมื่อกำลังอธิบาย (และแก้ต่าง) ความเชื่อตรีเอกานุภาพให้กับผู้อบรมของผมที่กำลังเตรียมตัวรับใช้เต็มเวลา ตอนนี้ผมจะตรวจสอบสี่เสาหลักนี้ในสี่บทโดยเริ่มจากบทนี้ แต่ไม่ใช่จากมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพอีกต่อไป จุดมุ่งหมายของผมก็คือเพื่อจะแก้ในสิ่งที่ผมได้สอนคนมามากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะชดเชยกับข้อผิดพลาดเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ผมได้สอนคนอื่นๆ และที่ตัวผมเองได้เรียนรู้มาจากคนอื่นๆ

      คำขึ้นต้นของยอห์นเป็นเสาหลักแรก ไม่เพียงแต่ในแง่ของลำดับเล่มในพระคัมภีร์ (มาก่อนอีกสามเสาหลักตามลำดับหนังสือในพระคัมภีร์) แต่ยังในแง่ที่มีความสำคัญกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพอีกด้วย หนังสือเล่มแรกของผมที่ชื่อพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว[1] ได้พูดครอบคลุมคำขึ้นต้นของยอห์นและข้อที่สำคัญยิ่งคือยอห์น 1:1 โดยใช้ถึงสามบท (7, 8, 9) ในการอธิบาย ในการพิจารณาของเราเกี่ยวกับคำขึ้นต้นของยอห์นนี้ จะเสริมหนังสือพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียวให้สมบูรณ์ อีกทั้งยังคาบเกี่ยวกับหนังสือพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียวในระดับพอๆกัน      

      ผู้อ่านพระคัมภีร์ใหม่ที่ช่างสังเกตจะเห็นว่า ในพระกิตติคุณสามเล่มแรกคือ มัทธิว มาระโก และลูกา มีสิ่งที่จะใช้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพน้อยมาก มันเห็นได้ชัดว่าผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้สนใจอย่างจริงจังว่า พระกิตติคุณสามในสี่เล่มนั้น ไม่สามารถจะนำมาใช้สนับสนุนความเป็น พระเจ้าของพระคริสต์ได้

 

ความกลัวที่จะออกเสียงพระนามของพระเจ้า

      เราจะเริ่มการพิจารณาคำขึ้นต้นของยอห์นด้วยข้อสังเกตโดยย่อบางประการ เกี่ยวกับข้อห้ามของชาวยิวในการออกเสียง YHWH พระนามของพระเจ้า เราจะเริ่มด้วยถ้อยคำสั้นๆ ซึ่งสั้นมากจนไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์ด้วยซ้ำ แต่ความสำคัญของมันนั้นแทบไม่ได้กล่าวเกินจริง

 

      “พระเจ้าที่ไม่อาจจะเรียกชื่อหรือเอ่ยถึง”

       (ไฟโล, ความฝัน, ที่ส่งมาจากพระเจ้า, XI, 1.67)[2]

 

      เราจะพูดถึงเกี่ยวกับไฟโลในภายหลัง สำหรับตอนนี้เราแค่พอรู้ว่าเขาเป็นนักปรัชญาชาวยิวซึ่ง มีความคิดแบบกรีก ที่ได้พยายามรวมปรัชญากรีกกับแนวคิดทางศาสนาของชาวยิวไว้ในระบบเดียวที่ความคิดและการใช้เหตุผลไม่ขัดแย้งกัน ในเวลาต่อมาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ได้ใช้แนวคิดของเขา ในตอนนี้เราจะพิจารณาคำกล่าวของเขาว่า พระเจ้าที่ “ไม่อาจจะเรียกชื่อหรือเอ่ยถึง” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของชาวยิวในสมัยของไฟโลที่ YHWH (ยฮวฮ) พระนามของพระเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะเปล่งเสียงออกมา และเนื่องจากไฟโลอยู่ในสมัยเดียวกับพระเยซู ข้อห้ามอย่างเดียวกันในการเปล่งพระนามของพระเจ้า ชาวยิวในสมัยของพระเยซูจึงยังคงถือรักษากันอยู่ ข้อห้ามนี้ยังคงปฏิบัติกันต่อมาในหมู่ชาวยิวจนถึงทุกวันนี้

      ต้นตอทางประวัติศาสตร์ของการห้ามนี้ได้ย้อนกลับไปหกศตวรรษก่อนพระคริสต์ เมื่อจักรวรรดิบาบิโลนภายใต้เนบูคัดเนสซาร์ได้ทำการปราบชนชาติอิสราเอล (ซึ่งเวลานั้นได้ยุบมาเป็นอาณาจักร ยูดาห์แล้ว) และได้ล้อมกรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นเมืองหลวงไว้ กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายเกือบทั้งหมด กรุงถูกทำลายราบเป็นหน้ากอง และพระวิหารของซาโลมอนก็ถูกปล้นสะดมและถูกทำลาย ชาวยิวส่วนใหญ่โดยเฉพาะพวกหัวกะทิก็ถูกเนรเทศไปยังบาบิโลน

      สิ่งที่เกิดขึ้นก็ตรงตามที่ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ได้เตือนชนอิสราเอลเอาไว้ (2 พงศาวดาร 36:21, เยเรมีย์ 29:10) คนเหล่านี้ต้องถูกเนรเทศเป็นเวลา 70 ปีเพื่อเป็นการลงโทษที่พวกเขาไปกราบไหว้รูปเคารพ ช่วงที่พวกเขาถูกเนรเทศ เป็นช่วงเวลาของการชำระในฝ่ายวิญญาณและการชำระให้บริสุทธิ์ ต้องใช้การทำลายอิสราเอลทั้งชาติโดยมหาอำนาจเก่าแก่ เช่น อัสซีเรีย บาบิโลน อียิปต์ ตลอดจนการถูกจับเป็นเชลยในต่างแดน เพื่อให้ชาวอิสราเอลกลับมามีชีวิตที่บริสุทธิ์และซื่อสัตย์กับพระเจ้าเหมือนเดิม ในที่สุดเมื่อพวกเขากลับมาอิสราเอลหลังจากถูกเนรเทศ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่ายุค “หลังจากถูกเนรเทศ” ของประวัติศาสตร์อิสราเอล พวกเขามองย้อนกลับไปดูความทุกข์ยากทั้งหมดของพวกเขา ในความหายนะ ความอัปยศ การเข่นฆ่า บวกกับถูกเนรเทศไปยังดินแดนต่างชาติ และได้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะว่าพวกเขาได้หันหลังให้กับพระยาห์เวห์

      หลังจากที่อิสราเอลกลับมาจากการถูกเนรเทศ พวกเขาก็เข้าสู่ช่วงใหม่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขา ในช่วงที่อิสราเอลได้ปฏิเสธอย่างแน่วแน่ที่จะไม่นมัสการพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระยาห์เวห์ นับแต่นั้นเป็นต้นมาชาวอิสราเอลยังคงความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวอย่างเคร่งครัด และเลิกไหว้รูปเคารพหรือนับถือพระเจ้าหลายๆองค์อีกต่อไป ชาวอิสราเอลก็เริ่มท่อง ชามา” (Shema) ทุกวัน ชามา” (คำฮีบรูที่หมายถึง “จงฟัง”) เป็นคำแรกของเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4จงฟังเถิด ชนอิสราเอลเอ๋ย องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของเรา องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่ง” (Hear O Israel, the Lord our God, the Lord is one) คำ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (Lord)[3] ตรงนี้ คำตรงตัวในภาษาฮีบรูคือ “ยาห์เวห์” (Yahweh) ชื่อเฉพาะของพระเจ้า ชามา” กำลังกล่าวตรงตัวว่า “จงฟังเถิด ชนอิสราเอลเอ๋ย พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของเรา พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่ง จนถึงทุกวันนี้ ชาวยิวที่เคร่งจะท่อง ชามา” ทุกวัน แต่จะไม่ออกชื่อ “พระยาห์เวห์”[4]

      หลังจากการถูกเนรเทศไปบาบิโลนได้สิ้นสุดลง ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวก็ได้ฝังแน่นในอิสราเอล ผู้คนเริ่มเกรงกลัวและยำเกรงพระเจ้าจนถึงกับไม่ยอมออกเสียงพระนาม “พระยาห์เวห์” อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ในพระคัมภีร์ที่ห้ามไม่ให้ออกเสียงพระนามของพระเจ้า เพราะพระยาห์เวห์ได้ตรัสกับโมเสสก่อนหน้านี้ว่า “ยาห์เวห์ [YHWH] นี่เป็นนามของเราชั่วนิรันดร์ เป็นนามที่พวกเจ้าจะเรียกเราตลอดทุกชั่วอายุ” (อพยพ 3:15) ในสองสามบทต่อมา พระยาห์เวห์ได้ตรัสกับฟาโรห์ว่า “​​แต่เหตุที่เราให้เจ้ามีชีวิตอยู่ ก็เพื่อจะให้เจ้าเห็น​​ฤทธานุภาพของเรา และนามของเราจะได้เลื่องลือไปทั่วโลก” (อพยพ 9:16) พระยาห์เวห์บอกชนอิสราเอลในเลวีนิติว่า เมื่อใดที่พวกเขาสาบานออกพระนามของพระองค์ พวกเขาจะต้องไม่เป็นคำเท็จ (ลวีนิติ 19:12) ในตอนท้ายหนังสือห้าเล่มแรกของพระคัมภีร์เดิม[5] โมเสสร้องด้วยถ้อยคำว่า “ข้าพเจ้าจะประกาศพระนามของพระยาห์เวห์ ขอสดุดีความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าของเรา! (เฉลยธรรมบัญญัติ 32: 3) และผู้เขียนสดุดีเขียนไว้ว่า จงขอบพระคุณพระยาห์เวห์ จงร้องออกพระนามพระองค์ จงประกาศบรรดาพระราชกิจของ พระองค์แก่ชนชาติทั้งหลาย” (สดุดี 105:1) การร้องออกพระนามของพรยาห์เวห์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการยกย่องสรรเสริญ แต่เป็นเรื่องของความรอด “ทุกคนที่ร้อง​​ทูลออกพระนามของพระยาห์เวห์จะรอด”(โยเอล 2:32) (ข้อพระคัมภีร์ทุกข้อที่อ้างอิงในย่อหน้านี้มาจากฉบับNIV โดยใช้คำ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับภาษาฮีบรูดังเดิม)[6]

      โทราห์หรือธรรมบัญญัติ (หรือคำสั่งสอน) สอนคนอิสราเอลให้ประกาศพระนามของพระยาห์เวห์ แต่หลังจากกลับจากการถูกเนรเทศ พวกเขาก็ไม่เอ่ยพระนามของพระเจ้าอีกต่อไป เป็นข้อห้ามที่ไม่ได้มีรากฐานตามพระคัมภีร์หรือแบบอย่างที่มีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ก่อนการถูกเนรเทศ ชาวอิสราเอลจะอ่านออกเสียงพระนาม YHWH (ยาห์เวห์) ซึ่งมีเขียนเกือบทุกหน้าจนถึงหน้าสุดท้ายในพระคัมภีร์ของพวกเขา แต่หลังจากการถูกเนรเทศ พวกเขาก็ไม่ยอมเอ่ยพระนามของพระองค์อีกต่อไป ด้วยความกลัวและความยำเกรงพระยาห์เวห์ครั้งใหม่นี้ พวกเขารู้ว่าหากพวกเขาทำบาปต่อพระองค์อีกครั้ง พวกเขาก็จะถูกทำลายชาติอย่างถอนรากถอนโคนอีกครั้ง พวกเขาไม่ต้องการจะถูกเนรเทศอีกแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจจะไม่พูดชื่อของพระเจ้าอีกเลยเพราะกลัวว่าจะใช้พระนามไปในทางที่ผิด (อพยพ 20:7, เฉลยธรรมบัญญัติ 5:11)[7] ฉะนั้นแทนที่จะเรียกพระองค์ว่า “พระยาห์เวห์” พวกเขาจึงเรียกพระองค์ด้วยคำแทนว่า “อาโดนาย” (องค์ผู้เป็นเจ้า หรือ Lord) แต่ในขณะที่ “พระยาห์เวห์” เป็นชื่อเฉพาะของพระเจ้า ส่วน “อาโดนาย” (Adonai) ไม่ใช่ชื่อแต่เป็นคำเรียก

      พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับเซปทัวจินต์ (LXX) ที่แปลจากพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูนั้นไม่ได้ทับศัพท์คำ “ยาห์เวห์” เป็นภาษากรีก แต่แปลคำนี้เป็น “kyrios” ซึ่งเป็นคำกรีกที่หมายถึง “Lord[8] และเทียบเท่าคำฮีบรูว่า “Adonai” พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์ก็แค่ทำตามหลักปฏิบัติในสมัยนั้นที่ไม่ยอมพูดคำว่า “ยาห์เวห์” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันสองสามศตวรรษก่อนหน้านี้

      สิ่งที่ไฟโลพูดเกี่ยวกับพระนามของพระเจ้าว่าไม่อาจจะเอ่ยถึงนั้นไม่มีรากฐานในพระคัมภีร์ แต่ได้กลายเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติทางศาสนาในหมู่ชาวยิว การที่มนุษย์ปฏิเสธที่จะเอ่ยพระนามของพระเจ้าซึ่งมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาเองนั้นได้ส่งผลที่สำคัญตามมาต่อชาวยิว คือบางคนได้ลืมชื่อของพระเจ้าผู้ทรงช่วยพวกเขาให้พ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ และทรงนำพวกเขาให้มีชีวิตแบบใหม่มาเป็นชาติๆหนึ่ง ด้วยเจตนาที่ดีนี่เอง ตอนนี้พวกเขาจึงหยุดเอ่ยพระนามของพระยาห์เวห์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหมิ่นพระนามโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเป็นความบาปร้ายแรงตามพระบัญญัติที่จะมีโทษถึงตาย แต่กระนั้นก็ดี สารานุกรมยูเดคา[9] ซึ่งเป็นงานเขียนของชาวยิวที่เชื่อถือได้ ก็ปฏิเสธข้อห้ามการเอ่ยพระนาม “พระยาห์เวห์” (ดูภาคผนวก 1)

 

“พระวาทะ” เป็นนามนัยสำหรับพระเจ้า

      หากไม่สามารถจะเอ่ยชื่อหรือเอ่ยถึงพระเจ้าได้ แล้วคนใดคนหนึ่งจะกล่าวถึงพระองค์อย่างไร? โดยทั่วไปมักจะกล่าวถึงกันอย่างอ้อมๆโดยใช้นามนัย หรือการพูดอ้อม เช่น “ผู้ทรงเดชานุภาพ” (ฮีบรู 1:3, 8:1) “ผู้สูงสุด” (ลูกา 1:35) หรือ “ผู้ทรงฤทธิ์เดช” (มัทธิว 26:64) ซึ่งทั้งหมดนี้หมายถึงพระเจ้า นามนัยเป็นชื่อหรือคำที่ใช้แทนสิ่งที่เกี่ยวข้องกันมากกับสิ่งนั้น (เช่น “วอชิงตัน” เป็นนามนัยที่หมายถึงรัฐบาลสหรัฐฯ) ชาวยิวมากมายในทุกวันนี้จะกล่าวถึงพระเจ้าว่า “ชื่อนั้น” (HaShem)[10]

      มีคำ “ยาห์เวห์” ปรากฏเกือบ 7,000 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู มีคำหรือคำพูดใดไหมที่คนอิสราเอลใช้เป็นนามนัยของพระยาห์เวห์? ชื่อ “ยาห์เวห์” โดยทั่วไปจะแทนด้วยคำพูดอ้อมว่า “พระดำรัสขององค์ผู้เป็นเจ้า” (“the Word of the Lord”) หรือ “พระดำรัส” (“the Word”) ชาวยิวทุกคนที่เคร่งศาสนาที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลในสมัยของพระเยซูเข้าใจดีว่า “พระดำรัส” (memra ในภาษาอาราเมค) เป็นคำอ้างอิงถึงพระเจ้า

      อาราเมคเป็นภาษาหลักที่พูดกันในปาเลสไตน์ในสมัยของพระเยซู ไม่ใช่ภาษาฮีบรูที่เป็นภาษาหลัก การใช้ภาษาอาราเมคมีให้เห็นในพระคัมภีร์ใหม่ ตัวอย่างเช่น คำ bar (“บุตรชาย”) ที่อยู่ในหลายๆชื่อ เช่น บารซับบาส บารทิเมอัส และบาร-โยนาห์ (บุตรโยนาห์)[11] (bar เป็นภาษาอาราเมค ben เป็นภาษาฮีบรู) เราจะเห็นการใช้ภาษาอาราเมคจากคำตรัสของพระเยซูว่า ทาลิธา คูม[12] (“เด็กหญิงเอ๋ย จงลุกขึ้นเถิด”) ที่ตรัสกับเด็กหญิงที่ตายแล้ว (มาระโก 5:41) และตอนที่พระเยซูทรงร้องเสียงดังที่กางเขนว่า “พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?” มาระโก 15:34 ก็บันทึกคำตรัสนี้ว่า “เอโลอี เอโลอี ลามา สะบักธานี” ซึ่งเป็นภาษาอาราเมค[13]

      ภาษาอาราเมคจะคล้ายกับภาษาฮีบรู แต่จะเข้าใจได้ยากถ้าไม่ได้สัมผัสกับสองภาษานี้มาก่อน[14] ในสมัยของพระเยซูมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถอ่านพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูได้ และต้องพึ่งฉบับแปล ภาษาอาราเมค พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูที่แปลเป็นภาษาอาราเมคที่เรียกว่า “ทาร์กัม[15] (“การแปล”) ซึ่งปกติแล้วเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ ทาร์กัมฉบับต่างๆ นี้รวมกันเป็นพระคัมภีร์ภาษาอาราเมคในสมัยของพระเยซู ทั้งในช่วงที่ยอห์นกำลังเขียนพระกิตติคุณยอห์นด้วย มาร์ติน แม็กนามารา[16] ผู้เชี่ยวชาญด้านทาร์กัมกล่าวว่า

 

ทาร์กัม คือหนังสือพระคัมภีร์เดิมเล่มหนึ่งหรือหลายเล่มที่แปลเป็นภาษาอาราเมค อาราเมคเป็นภาษาที่พูดกันโดยทั่วไปในปาเลสไตน์ในสมัยของพระเยซู และอันที่จริงเป็นภาษาที่ใช้พูดกันมาหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น การนมัสการในธรรมศาลาตามปกตินั้นจะมีการอ่านพระคัมภีร์ตอนต่างๆของหมวดเบญจบรรณและหมวดผู้เผยพระวจนะเป็นภาษาฮีบรู และมีการแปลเป็นภาษาอาราเมคทันที (ทาร์กัมและพันธสัญญา, หน้า 11)

ทาร์กัมปาเลสไตน์ที่ท่องกันทุกวันสะบาโตในธรรมศาลานั้น พระคริสต์และเหล่าสาวกของพระองค์น่าจะรู้จักดี เช่นเดียวกับชาวยิวที่กลับใจมาเชื่อในคริสต์ศาสนา (หน้า 167)

 

      นามนัยที่เราคุ้นเคยในภาษากวีว่า “พระดำรัสขององค์ผู้เป็นเจ้า” (the Word of the Lord)[17] สามารถย่อให้สั้นลงพอสมควรว่า “พระดำรัส” (the Word หรือ memra) ซึ่งเป็นรูปแบบที่มักจะเห็นในทาร์กัม รวมถึงในยอห์น 1:1 ที่ถอดความคำขึ้นต้นของปฐมกาลดังนี้

 

      ในปฐมกาล พระเจ้า (ปฐมกาล 1:1In the beginning God)

       ในปฐมกาล พระวาทะ​​ดำรงอยู่ (ยอห์น 1:1In the beginning was the Word)

 

      เรื่องการระบุตัวตนของ “พระเจ้า” ในปฐมกาล 1:1 กับ “พระวาทะ” (the Word หรือ “พระดำรัส”)[18] ในยอห์น 1:1 โดย memra (เมมรา) ภาษาอาราเมคนั้นไม่สามารถจะพลาดไปได้ เว้นแต่จะโดยผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะ “พระวาทะ” (memra หรือ “พระดำรัส”) จะเป็นนามนัยของพระเจ้าที่คุ้นกันในสมัยของยอห์นเท่านั้น (ดังยอห์น 1:1 “พระวาทะเป็นพระเจ้า”) แต่ยังเป็นเพราะคำกล่าวสองข้อที่คล้ายคลึงกัน (ปฐมกาล 1:1 และยอห์น 1:1) ต่างก็เป็นข้อความขึ้นต้นของหนังสือแต่ละเล่ม ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพท่านหนึ่งที่ไม่ได้พลาดการระบุตัวตนนี้ก็คือ ดร.โธมัส คอนสเตเบิล จากวิทยาลัยศาสนศาสตร์ดัลลัส[19] เขียนไว้ว่า

 

เห็นได้ชัดว่าคำว่า “พระวาทะ” (“Word” ภาษากรีกคือ logos และภาษาอาราเมคคือ memra ใช้เพื่ออธิบายพระเจ้าในทาร์กัมต่างๆ) ที่ยอห์นกล่าวถึงนั้นเป็นคำเรียกสำหรับพระเจ้า ทาร์กัมเป็นบทแปลพระคัมภีร์เดิมภาษาอาราเมค ต่อมาในข้อนี้ [ยอห์น 1:1] เขาได้ระบุว่าพระวาทะ (the Word) เป็นพระเจ้า เห็นได้ชัดว่ายอห์นเลือกคำเรียกนี้เพราะมันสื่อถึงความจริงที่ว่า พระวาทะไม่ได้เป็นแค่พระเจ้าเท่านั้น แต่พระวาทะยังเป็นถ้อยคำของพระเจ้าอีกด้วย (หนังสืออธิบายยอห์น 1:1 ของ ดร. คอนสเตเบิล, 2010)[20]

 

      ความเชื่อมโยงระหว่าง logos ของยอห์น 1:1 กับ memra ของทาร์กัมนั้น ยังถูกตั้งข้อสังเกตโดยนักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่ที่มีชื่อเสียง เช่น เจ บี ไลท์ฟุต (คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ใหม่จากทัลมุดและเฮเบรคา) และ ซี เค แบร์ริทต์ (พระกิตติคุณตามนักบุญยอห์น)[21] อัลเฟรด เอเดอร์สไฮม์รวบรวมการเชื่อมโยงอย่างละเอียดระหว่างพระเยโฮวาห์กับ Memra ในบทที่สี่ของหนังสือที่ชื่อ ชีวิตและช่วง เวลาของพระเยซูพระเมสสิยาห์[22] เมื่อไม่นานมานี้ (ปี 2010) จอห์น รอนนิ่ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างคำขึ้นต้นของยอห์นกับทาร์กัมต่างๆในงานเขียนตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าของเขาที่ชื่อ ทาร์กัมยิวและศาสนศาสตร์เกี่ยวกับ Logos ของยอห์น[23]

      ในทาร์กัมต่างๆนั้น ในกรณีส่วนใหญ่ “พระยาห์เวห์” จะถูกแทนที่ด้วย “พระดำรัสของพระเจ้า” และในบางกรณีก็ถูกแทนที่ด้วย “พระดำรัส” แม้ว่า “พระดำรัสของพระเจ้า” จะเป็นนามนัยที่โดดเด่นของพระยาห์เวห์ในทาร์กัมต่างๆ แต่บางครั้งก็ย่อลงเหลือแค่ “พระดำรัส” แม้ในทาร์กัมต่างๆ เช่น ปฐมกาล 5:24, 9:17, 16:1, 28:10; อพยพ 15:8, 33:11; เลวีนิติ 24:12; เฉลยธรรมบัญญัติ 4:12, 5:22, 23; 33:3 ของทาร์กัมเยรูชัลมัย (ซึ่งก็คือ ทาร์กัมเยรูซาเล็ม)[24]

      การเปรียบเทียบระหว่าง “พระยาห์เวห์” กับ “พระวาทะ” มีอยู่ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ในข้อต่อไปนี้ dabar (ดาบาร์หมายถึง “ถ้อยคำ”) ทำหน้าที่เป็นนามนัยที่เปรียบกับพระยาห์เวห์

 

ผู้ใดที่ใส่ใจกับพระวจนะ (dabar) จะพบความสุข

และผู้ใดที่วางใจในพระยาห์เวห์ก็เป็นสุข

(ภาษิต 16:20)

 

ความหมายทางฝ่ายวิญญาณที่ลึกซึ้งของ “พระวาทะ”

      การใช้คำ “พระวาทะ” (“the Word”) ของยอห์นเป็นนามนัยของพระยาห์เวห์ (“และพระวาทะเป็นพระเจ้า”) ซึ่งคล้ายคลึงกับการใช้เป็นนามนัยของ memra (Word, พระดำรัส) ในทาร์กัมภาษาอาราเมคนั้น จะพบสำนวนพูดที่ชัดเจนในถ้อยคำของพระคัมภีร์เดิมที่รู้จักกันดีคือ “พระดำรัสของพระยาห์เวห์” (หรือในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่คือ the word of the LORD”) ถ้อยคำสำคัญนี้มีปรากฏประมาณ 242 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู โดยใช้คำที่สำคัญว่า dabar (דָּבָר, “คำพูด”) ซึ่งให้ความ หมายของการสื่อสารด้วยวาจา ตามปทานุกรมคำศัพท์ศาสนศาสตร์ของพระคัมภีร์เดิมนั้น[25] คำนาม (พระดำรัส, คำตรัส) มีปรากฏมากกว่า 1,400 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู คำกริยา (ตรัส, ประกาศ) มีปรากฏมากกว่า 1,100 ครั้ง

      พระดำรัสของพระยาห์เวห์เป็นส่วนสำคัญในตัวตนของพระยาห์เวห์ ดังนั้น “พระดำรัส” จึงเป็นนามนัยที่คุ้นเคยของพระเจ้า พระดำรัสของพระยาห์เวห์เป็นวิธีที่พระยาห์เวห์ตรัสกับมนุษย์ เพื่อจะทรงสื่อสารพระประสงค์ของพระองค์ ความรักของพระองค์ ความตั้งพระทัยของพระองค์ การช่วยให้รอดของพระองค์ พระดำรัสเป็นช่องทางที่พระองค์ทรงสำแดงพระองค์เองกับเรา ด้วยเหตุนี้พระดำรัสของพระเจ้าจึง “มีชีวิตและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ” (ฮีบรู 4:12) และเต็มไปด้วยชีวิตของ   พระเจ้า (“พระวาทะแห่งชีวิต” 1 ยอห์น 1:1) โดยทางพระดำรัสที่มีชีวิตของพระเจ้านี้เอง เราจึงได้เข้ามาสัมผัสกับชีวิตและฤทธานุภาพในการทรงสร้างของพระยาห์เวห์ และเหนือสิ่งอื่นใดเราได้สัมผัสกับพระยาห์เวห์เอง

      เนื่องจากพระดำรัสเป็นนามนัยของพระยาห์เวห์ ยอห์นจึงประกาศว่า “พระวาทะเป็นพระเจ้า (ยอห์น 1:1) พระดำรัสนี้ “ได้มาเป็นเนื้อหนัง”[26] ในพระเยซู (ข้อ 14) และตอนนี้ได้แฝงพระกายอยู่ในพระเยซู โดยที่ตอนนี้พระยาห์เวห์สถิตอยู่ในพระเยซู นั่นก็คือ ตอนนี้พระเจ้าที่แท้จริงสถิตอยู่ในมนุษย์ที่แท้จริง เพราะว่าในพระองค์ (พระคริสต์) นั้น ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์ (คโลสี 2:9 ฉบับ ESV, จงสังเกตคำ “ในพระกาย”) พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์ ทรงแสดงให้เห็นถึงพระดำรัสของพระยาห์เวห์ที่ปรากฏอยู่ในพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงแสดงให้เห็นถึงความบริบูรณ์ พระคุณ ชีวิต และฤทธานุภาพของพระยาห์เวห์ที่ปรากฏอยู่ในพระองค์

      ในยอห์น 1:14 (“พระดำรัสได้มาเป็นเนื้อหนัง”) คำกรีกของคำ “ได้มาเป็น” คือ “ginomai ซึ่งหมายถึง “การเปลี่ยนแปลงลักษณะและบ่งชี้ถึงการเข้าสู่สภาพใหม่” นี่คือคำจำกัดความของ ginomai ที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กำหนดให้กับยอห์น 1:14 พระดำรัสซึ่งเป็นพระยาห์เวห์โดยนามนัยได้เข้าสู่สภาพใหม่ของการเป็นอยู่ หรือการดำรงอยู่ในรูปแบบใหม่ในพระคริสต์ นั่นก็คือการอยู่ในชีวิตมนุษย์ (เปรียบเทียบ “การเข้าสู่การดำรงอยู่ในรูปแบบใหม่” พระคัมภีร์ใหม่ฉบับแปลของวูเอสต์,[27] ยอห์น 1:14) พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ก็ยังนิยาม ginomai ว่า “เป็นการเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งในพื้นที่ว่าง” ซึ่งสอดคล้องกับความจริงอันมหัศจรรย์ว่า พระยาห์เวห์ได้เสด็จเข้ามาในโลกเพื่อประทับอยู่ในพระกายของพระเยซู พระยาห์เวห์ได้ทรงประกาศก่อนหน้านี้ว่า พระองค์จะเสด็จมาหาประชากรของพระองค์ (อิสยาห์ 40:3-5,10)[28] และจะเสด็จมายังพระวิหารของพระองค์ (มาลาคี 3:1)[29] ซึ่งในที่สุดแล้วก็คือพระเยซูคริสต์ ดังที่พระเยซูตรัสว่า “แต่พระบิดาผู้สถิตอยู่ในเราทรงทำพระราชกิจของพระองค์” (ยอห์น 14:10)

      เนื่องจากพระยาห์เวห์มาสถิตอยู่ในพระเยซูด้วยพระวจนะของพระองค์ ยอห์นจึงสามารถกล่าวได้ว่า “เราได้เห็นพระสิริของพระองค์ ดังพระสิริของพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา ที่บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง พระบุตรองค์นี้แสดงให้เห็นถึง “พระดำรัส” ซึ่งตั้งพลับพลาอยู่ในพระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระวิหารของพระเจ้าที่แสดงให้เห็นการมาประทับอยู่ด้วยพระสิริของพระเจ้า คือที่ “พระดำรัสได้มาเป็นเนื้อหนังและประทับอยู่ (คำตรงตัวคือ ได้ทรงตั้งพลับพลาอยู่) ท่ามกลางเรา

      วิธีที่พระดำรัสของพระยาห์เวห์ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระยาห์เวห์นั้นเห็นได้ในหลายๆคำเปรียบเปรย ตัวอย่างเช่น พระยาห์เวห์ทรงเปรียบคำตรัส (dabar) ของพระองค์เหมือนฝนที่โปรยลงมาจากฟ้าสวรรค์เพื่อรดแผ่นดินโลก หล่อเลี้ยงและอวยพรทุกชีวิต พระดำรัสออกจากพระโอษฐ์ของพระยาห์เวห์และทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์

 

เฉกเช่นฝนและหิมะโปรยลงมาจากฟ้าสวรรค์ และไม่กลับไปที่นั่นจนกว่าจะรดแผ่นดินโลกให้ชุ่มฉ่ำ และทำให้พืชพันธุ์แตกหน่องอกงาม เพื่อให้มันเกิดเมล็ดสำหรับคนหว่านและอาหารสำหรับคนกิน ถ้อยคำที่ออกจากปากของเราก็เป็นเช่นนั้น มันจะไม่กลับคืนมายังเราโดยเปล่าประโยชน์ แต่จะสัมฤทธิ์ผลตามที่เราปรารถนา และสำเร็จตามเป้าหมายที่เราใช้ไป (สยาห์ 55:10-11 ฉบับ NIV)

 

      พระดำรัสของพระยาห์เวห์แสดงให้เห็นอย่างที่สุดว่าพระดำรัสดำรงอยู่ในพระเยซูคริสต์ พระดำรัสของพระยาห์เวห์จะไม่กลับมายังเราโดยเปล่าประโยชน์ แต่จะสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์เช่นไร ที่พระเยซูตรัสว่า “ข้าพระองค์ถวายพระเกียรติแด่พระองค์ในโลก เพราะข้าพระองค์ทำกิจที่พระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ทำนั้นสำเร็จแล้ว” ก็เป็นเช่นนั้น (ยอห์น 17:4)

 

พระดำรัสและพระวิญญาณ

      พระเจ้าได้ทรงสร้างสรรพสิ่งโดยพระดำรัสของพระองค์ แต่พระวิญญาณของพระเจ้าก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย (ปฐมกาล 1:2-3) สดุดี 33:6 กล่าวว่า “โดยพระดำรัสของพระยาห์เวห์ ฟ้าสวรรค์ก็ถูกสร้างขึ้นมา กับบริวารทั้งปวง ก็ด้วยลมพระโอษฐ์ของพระองค์” ตรงนี้เราจะเห็นการเปรียบเทียบคำฮีบรูระหว่าง dabar (คำตรัส) กับ ruach (ลมปราณ หรือ วิญญาณ) ข้อนี้ในฉบับ LXX มีการเปรียบเทียบที่คล้ายกันในภาษากรีกระหว่าง logos (คำตรัส, เปรียบเทียบยอห์น 1:1) กับ pneuma (“วิญญาณ” หรือ “ลมปราณ”)

      การเชื่อมโยงที่สำคัญ ระหว่างพระดำรัสของพระเจ้ากับพระวิญญาณของพระเจ้าเป็นที่รู้จักกันดีและได้ถูกระบุไว้โดยพจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับอีแวนเจลิคอล[30] (1984, หน้า 521, พระวิญญาณบริสุทธิ์) ดังนี้ว่า

 

พระดำรัสที่สรรค์สร้างของพระเจ้า (เริ่มจากปฐมกาล 1:3) มีความคล้ายคลึงกับลมปราณที่สรรค์สร้างของพระเจ้า (ปฐมกาล 2:7) แนวคิดทั้งสองเหมือนกันในที่อื่นด้วยกับพระวิญญาณของพระเจ้า

 

      ความเชื่อมโยงระหว่างพระดำรัสกับพระวิญญาณยังปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่ด้วย เมื่อพระเยซูตรัสนั้น พระองค์ “ทรงกล่าวพระดำรัสของพระเจ้า เพราะพระเจ้าไม่ได้ประทานพระวิญญาณอย่างจำกัด” (ยอห์น 3:34) “พระวิญญาณประทานชีวิต” ดังนั้นคำตรัสของพระเยซูจึง “เป็นวิญญาณและเป็นชีวิต” (ยอห์น 6:63) เรา “เกิดจากพระวิญญาณ” (ยอห์น 3:8) อีกทั้ง “เกิดใหม่จากพระวจนะของพระเจ้าที่มีชีวิตและดำรงอยู่” (1 เปโตร 1:23) ดาบแห่งพระวิญญาณคือพระวจนะของพระเจ้า (เอเฟซัส 6:17)

      พระดำรัสของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าไม่ได้เป็นสองบุคคลที่แยกต่างหากจาก พระเจ้า แต่เป็นสองลักษณะและสองการแสดงออกของพระเจ้า[31] พระลักษณะแท้จริงของพระเจ้า พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ (ยอห์น 4:24) พระดำรัสเป็นรูปแบบ พระวิญญาณเป็นการดำรงอยู่ พระดำรัสเป็นเมล็ดพืช (ลูกา 8:11) ซึ่งประกอบด้วยพระวิญญาณแห่งชีวิต (โรม 8: 2); เปรียบเทียบ “พระพระวาทะแห่งชีวิต (1 ยอห์น 1:1)

      เหมือนดังที่พระดำรัสของพระเจ้าและพระวิญญาณของพระเจ้ามีส่วนร่วมในการสร้างเก่าในปฐมกาล ทั้งสองก็มีส่วนร่วมในการสร้างใหม่ซึ่งพระเจ้าได้ทรงมีแผนการไว้ “ก่อนทรงสร้างโลก” (มัทธิว 25:34, เอเฟซัส 1:4, 1 เปโตร 1:20, วิวรณ์ 13:8)[32]

 

อันตรายของการใช้นามนัยผิดๆ

      ในการใช้ “พระดำรัส” (หรือพระวาทะ หรือพระวจนะ ในภาษากรีกคือ logos, ภาษาฮีบรูคือ dabar, ภาษาอาราเมคคือ memra) เป็นนามนัยของพระยาห์เวห์นั้น คำขึ้นต้นของยอห์นกำลังประ กาศถ้อยคำที่มหัศจรรย์ว่าพระยาห์เวห์ พระเจ้าพระผู้สร้าง ได้เสด็จเข้ามาในโลก มาสถิตในพระเยซูผู้ทรงเป็นมนุษย์ ผู้ที่พระลักษณะทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์ใน “พระกาย” ของพระองค์ (โคโลสี 2:9)[33]

      อย่างไรก็ตาม นามนัยของพระเจ้าก็อาจถูกตีความผิดๆ หรือนำไปใช้ผิดๆกับผู้อื่นที่ไม่ใช่พระยาห์เวห์ ซึ่งรวมถึงนามนัย เช่น “ผู้ทรงเดชานุภาพ” (ฮีบรู 8:1) หรือ “พระสิริอันยิ่งใหญ่” (2 เปโตร 1:17) หรือ “ผู้ทรงฤทธิ์เดช” (มัทธิว 26:64) นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของซีโมนคนเล่นคาถาอาคม ผู้ถูกเรียกว่า “มหิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า” (กิจการ 8:10)

      ยอห์นเขียนพระกิตติคุณของเขาหลายปีหลังจากเหตุการณ์ต่างๆในกิจการ และได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆของคริสตจักร และอันตรายของการนำนามนัยต่างๆมาใช้ผิดที่ สิ่งนี้จะอธิบายข้อความที่สองและสามของยอห์น 1:1 (“และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”)[34] เห็นได้ชัดว่าข้อความเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันให้มั่นใจได้ว่า “พระดำรัส” (พระ   วาทะ หรือพระวจนะ) จะไม่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองที่ควบคู่กับพระเจ้า

      ในการศึกษายอห์น 1:1 เราจำเป็นต้องทราบว่าคำ “พระเจ้า” นั้นเข้าใจแตกต่างกันไปโดยต่างคนต่างเข้าใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อของพวกเขาว่าเป็นแบบคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าของคริสเตียน หรือเป็นคริสเตียน แบบที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวหรือว่าเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ พระเจ้าบางองค์ของชาวโรมันก็เหมือนกับพระเจ้าของกรีกที่มีชื่อต่างกัน (เช่น เทพเจ้าจูปิเตอร์ของโรมันจะเหมือนกับเทพเจ้าซูสของกรีก) แต่ “พระเจ้า” ในวัฒนธรรมกรีก-โรมันอาจหมายถึงสิ่งที่แตกต่างจาก “พระเจ้า” ในพระคัมภีร์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระบุว่าพระเจ้าองค์ไหนที่เรากำลังพูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอธิบายพระเจ้าให้กับชาวกรีก อีกทั้งกับคนทั่วไปที่เป็นกรีกหรือยิว นี่คือสิ่งที่ยอห์นทำในยอห์น 1:1 ที่ทำให้เจาะจงว่าพระเจ้าที่เขากำลังพูดถึงคือพระยาห์เวห์ พระผู้สร้างสรรพสิ่ง

      ข้อ 2 และ 3 มีเจตนามุ่งหมายอย่างเดียวกันเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อ่านใช้ “พระดำรัส” (หรือพระวาทะ หรือพระวจนะ)[35]กับผู้อื่นที่นอกจากพระยาห์เวห์ แต่คริสเตียนชาวต่างชาติได้ทำในสิ่งที่ยอห์นได้ตั้งใจจะป้องกันเอาไว้! พวกเขาทำสิ่งนี้โดยกำหนดความหมาย “กับ” (with”) ให้กับคำ “pros” ในยอห์น 1:1b (และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า) และในยอห์น 1:2 (ในปฐมกาลพระองค์ทรงดำรงอยู่กับพระเจ้า”)[36] แม้ว่า “กับ” จะไม่ใช่ความหมายหลักของ “pros ก็ตาม

 

pros ในยอห์น 1:1 หมายถึง “กับ” ไหม?

      นี่เป็นคำถามสำคัญที่สุดที่เราสามารถถามเกี่ยวกับยอห์น 1:1 เพราะการตอบของเราจะควบคุมวิธีที่เราตีความทั้งข้อ เพื่อความสะดวกเราจะให้ดูสามข้อความในยอห์น 1:1 โดยมี a, b, c ต่อท้าย[37]

 

                        ยอห์น 1:1a  ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่

                        ยอห์น 1:1b  และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า

                        ยอห์น 1:1c     และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า

 

      ในข้อความที่สองในยอห์น 1:1b คำว่า “with” (ที่ขีดเส้นใต้) แปลมาจากคำบุพบทภาษากรีกว่า “pros” ซึ่งความหมายตรงตัวก์คือ “ไปที่” หรือ “มายัง”[38] มากกว่าจะหมายถึง “กับ” แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะแปลยอห์น 1:1b ว่า “และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” แม้ว่า “กับ” จะไม่ใช่ความหมายปกติของ pros ความจริงแล้วมีคำบุพบทอื่นๆที่ใช้บ่อยกว่ามากในการสื่อความคิดว่า “กับ” ก็คือคำ (ก) syn หมายถึงด้วยกัน “กับ” ใครบางคน (เปรียบเทียบ synchron­ize, sympathy); (ข) meta หมายถึง “กับ” ใครบางคน หรือหมายถึง “หลังจาก” ใครบางคน (เปรียบเทียบ meta- phor); (ค) para หมายถึง “ข้างๆ” ใครบางคน หรือ บางสิ่งบางอย่าง (เปรียบเทียบ parallel)[39]        

      แต่ prosไม่ได้เป็นหนึ่งในคำบุพบทเหล่านี้ ถ้ายอห์นตั้งใจจะแสดงแนวคิด “กับพระเจ้า” ในยอห์น 1:1b เขาก็น่าจะใช้จากหนึ่งในสามคำบุพบทนี้แทน

      เราจะเห็นสิ่งนี้ในข้อมูลที่รวบรวมไว้ในศัพท์สัมพันธ์พระคัมภีร์ใหม่ฉบับสมัยนิยม[40] ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ภาษากรีกที่มีประโยชน์สำหรับการแยกหมวดหมู่ตามประเภทของความ หมาย ศัพท์สัมพันธ์เล่มนี้ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการโปรแตสแตนท์และคาทอลิกเหมือนๆกัน และมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการค้นหาสิ่งที่คำภาษากรีกหมายถึงในคำเขียนจริงๆ

      ในข้อมูลภายใต้หัวข้อ “กับ” (“Withหน้า 679-681) ศัพท์สัมพันธ์สมัยนิยมให้ 164 ตัวอย่างของ meta ให้ 66 ตัวอย่างของ syn ให้ 34 ตัวอย่างของ para แต่มีเพียง 16 ตัวอย่างของ pros! ดังนั้น pros จึงไม่ค่อยมีความหมายว่า “กับ” (“With”) แม้ว่าคำนี้จะมีปรากฏถึง 700 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ที่ปรากฏบ่อยครั้งยิ่งกว่าคำบุพบทอีกสามคำ คือ syn (128 ครั้ง), para (194 ครั้ง), meta (469 ครั้ง) อันที่จริงมีสองสามตัวอย่างจาก 16 ตัวอย่างของ pros ที่ไม่ได้มีความหมายว่า “กับ” ตามที่เราเข้าใจคำว่า “with” ในภาษาอังกฤษ

      ตารางต่อไปนี้แสดงให้เห็นคำบุพบท meta, syn, para ที่หมายถึง “กับ” มีจำนวนมากกว่าคำบุพบท pros ตามฐานข้อมูลที่ครอบคลุมภายใต้หัวข้อ “กับ” (“With”) ในศัพท์สัมพันธ์ฉบับสมัยนิยม ตารางช่องสุดท้ายมีเพียงบรรทัดเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีน้อยครั้งมากที่ pros จะหมายถึง “กับ” ถึงแม้คำนี้จะมีปรากฏถึง 700 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ที่มากกว่าคำบุพบทอีกสามคำกว่ามาก คุณไม่จำเป็นต้องดูข้อทั้งหมดในตาราง ข้อเหล่านี้มีไว้เพื่อแสดงให้เห็นอัตราส่วนระหว่างความถี่ของคำบุพบททั้งสี่

 

ข้อต่างๆที่ระบุในศัพท์สัมพันธ์ฉบับสมัยนิยม

ที่คำบุพบท meta, syn, para และ pros มีความหมายว่า “กับ”

Meta: มี 164 ครั้งจากคำปรากฏทั้งหมด 469 ครั้ง (35%)
มัทธิว 1:23; 2:11; 9:11; 9:15; 16:27; 17:17; 26:18; 26:20; 26:29; 26:36; 28:20; มาระโก 1:13; 1:29; 2:16; 2:19; 3:7; 5:24; 8:10; 8:38; 11:11; 14:14; 14:17; ลูกา 1:28; 1:58; 1:66; 1:72; 2:51; 5:30; 5:34; 6:17; 7:36; 22:11; 22:15; 22:53; 24:29; 24:30; ยอห์น 3:2; 3:22; 3:26; 4:27; 6:3; 7:33; 8:29; 9:37; 11:54; 13:33; 14:9; 14:16; 14:30; 16:4; 16:32; 17:12; 18:2; กิจการ 7:9; 10:38; 11:21; 14:27; 15:4; 18:10; โรม 15:33; 16:20; 16:24; 1โครินธ์ 16:23; 2โครินธ์ 13:11; 13:13; กาลาเทีย 6:18; เอเฟซัส 6:24; ฟีลิปปี 4:9; 4:23; โคโลสี 4:18; 1เธสะโลนิกา 3:13; 5:28; 2เธสะโลนิกา 1:7; 3:16; 3:18; 1ทิโมธี 6:21; 2ทิโมธี 4:22; ทิตัส 3:15; ฟีเลโมน 1:25; ฮีบรู 13:25; 1ยอห์น 4:17; 2ยอห์น 1:2; 1:3; วิวรณ์ 1:12; 2:16; 3:20; 4:1; 10:8; 21:3; 22:21; มัทธิว 12:30; 17:3; 25:31; 26:23; 26:38; 26:40; 26:51; 26:69; 26:71; มาระโก 3:14; 4:36; 5:18; 5:37; 14:18; 14:20; 14:33; 14:67; 16:10; ลูกา 5:29; 11:23; 22:21; 22:28; 22:33; 22:59; ยอห์น 6:66; 9:40; 11:16; 12:17; 13:8; 13:18; 15:27; 17:24; 18:26; 19:18; กิจการ 2:28; 7:38; 1ยอห์น 1:3; 1:6; วิวรณ์ 3:4; 3:20; 3:21; 14:1; 17:14; 20:4; 20:6; 22:12; มัทธิว 5:25; 12:3; 12:4; 27:54; มาระโก 1:36; 2:25; 5:40; ลูกา 6:3; 6:4; ยอห์น 11:31; 20:24; 20:26; กิจการ 9:19; 9:39; 20:34; ทิตัส 3:15
Syn: มี 66 ครั้งจากคำปรากฏทั้งหมด 128 ครั้ง (52%)

ลูกา 7:6; 24:29; 24:44; ยอห์น 18:1; 1โครินธ์ 15:10; มัทธิว 26:35; 27:38; 27:44; มาระโก 15:27; 15:32; ลูกา 8:1; 8:38; 8:51; 9:18; 22:14;

22:56; 23:32; ยอห์น 12:2; กิจการ 4:13; โรม 6:8; 8:32; 2โครินธ์ 4:14; 13:4;  ฟีลิปปี 1:23; โคโลสี 2:13; 2:20; 3:3; 3:4; 1เธสะโลนิกา 4:14; 4:17; 5:10; 2เปโตร 1:18; มาระโก 2:26; ลูกา 2:13; 5:9; 7:12; 8:45; 9:32; 24:10; 24:24; 24:33; กิจการ 5:17; 5:21; 13:7; 14:4; 22:9; 22:11; 27:2; โรม 16:14; 16:15; กาลาเทีย 2:3; โคโลสี 2:5

Para: มี 34 ครั้งจากคำปรากฏทั้งหมด 194 ครั้ง (18%)
มัทธิว 6:1; 19:26; มาระโก 10:27; ลูกา 1:30; 2:52; 9:47; 11:37; 18:27; 19:7; ยอห์น 1:39; 4:40; 8:38; 14:17; 14:23; 14:25; 17:5; โรม 2:11; 2:13; 9:14; 1โครินธ์ 3:19; 7:24; กาลาเทีย 3:11; เอเฟซัส 6:9; 2เธสะโลนิกา 1:6; ยากอบ 1:17; 1:27; 1เปโตร 2:4; 2:20; 2เปโตร 3:8
Pros: มี 16 ครั้งจากคำปรากฏทั้งหมด 700 ครั้ง (2%)
ยอห์น 1:1; 1:2; 12:32; 14:3; โรม 4:2; 5:1; 2โครินธ์ 5:8; 1ยอห์น 1:2; 2:1; มัทธิว 13:56; มาระโก 6:3; 9:19; 14:49; 1เธสะโลนิกา 3:4;   2เธสะโลนิกา 3:10

 

      ตารางนี้ยังแสดงให้เห็นถึงเปอร์เซ็นต์ที่ปรากฏของความหมาย “กับ” นั่นก็คือ meta 35%, syn 52%, para 18%, pros 2% เปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากของ pros (2%) นั้นหมายความว่า pros ไม่ค่อยจะมีความหมายว่า “กับ” คือมีเพียง 16 ครั้งในจำนวน 700 ครั้ง หรือหนึ่งครั้งในทุก 44 ครั้งที่ปรากฏ ดังนั้นในการใช้งานจริงแล้ว คำ “กับ” ไม่ได้เป็นความหมายปกติของ pros แต่เป็นแค่ความหมายอันดับสองหรืออันดับสาม แต่กระนั้นความหมาย “กับ” ที่ใช้น้อยมากของคำ pros นี้ก็ถูกเกณฑ์มาใช้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพในยอห์น 1:1

 

 

ความหมายของ “pros” ในพจนานุกรมภาษากรีกฉบับมาตรฐานต่างๆ

      ความหมายของการ “อยู่กับใครสักคน”[41] ซึ่งผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการให้มีในยอห์น 1:1b (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” ที่ให้ความหมายว่าเป็นบุคคลที่สอง) นั้นไม่ใช่ความหมายปกติของคำบุพบท pros สิ่งนี้จะเห็นได้จากวิธีการใช้ pros จริงๆในพระคัมภีร์ (เปรียบเทียบ ศัพท์สัมพันธ์ฉบับสมัยนิยม) แต่ยังเห็นได้จากวิธีนิยามคำนี้ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับต่างๆอีกด้วย พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG[42] ให้คำจำกัดความของ pros ไว้ดังต่อไปนี้ ผู้อ่านบางคนอาจต้องการข้ามคำจำกัดความเหล่านี้ แต่อาจเป็นประโยชน์ที่จะดูคำที่เป็นตัวหนา (คำที่เป็นตัวเอนและตัวหนาเป็นของ BDAG)[43]

      3 กับกรรมการก ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเคลื่อนไปทางหรือมีทิศทางไปทางใครบางคนหรือสิ่งบางสิ่ง

            (ก) ของสถานที่ บุคคล หรือสิ่งที่ชี้ไปยัง, มายัง, ไปที่, หลังคำกริยา

                   α. ของการไป

                   β. ของการส่ง

                   γ. ของการเคลื่อนที่ทั่วๆไป

                   δ. ของการนำ, การนำทาง

                   ε. ของการกล่าว, การพูด

                   ζ. ของการขอ, การอธิษฐาน

          (ข) ของเวลาที่ใกล้จะถึง, ณ เวลา, หรือในระหว่าง (เวลาที่แน่นอน)

                  α. แสดงถึงการเข้าใกล้สู่

                 β. ระยะเวลาชั่วขณะสำหรับ

           (ค) ของเป้าหมาย (การมุ่งเป้า) ไปที่ หรือ (มุ่งมั่น) ไปยัง

                 α. ด้วยจุดประสงค์ที่ตั้งใจเพื่อ, ด้วยจุดประสงค์ของ, ในนามของ

                 β. จุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายทั่วไป

                 γ. ของผลสถานการณ์ที่ตามมา (เพื่อว่า)

           (ง) ของความสัมพันธ์ (เป็นศัตรู หรือ เป็นมิตร) ต่อต้าน, สนับสนุน

                   α. เป็นศัตรูกับ, กับหลังคำกริยาของการโต้แย้ง ฯลฯ

                 β. เป็นมิตรกับ, ต่อ, กับ, ต่อหน้า

          (จ) เพื่อระบุการเชื่อมต่อโดยการอ้างอิง, โดยการอ้างอิงถึง/ในเรื่อง

                        α. โดยการอ้างอิงถึง

                       β. ในเรื่อง...ที่เกี่ยวกับ, ในเรื่อง

                   γ. เกี่ยวกับการละถ้อยคำ ti pros hēmas

                          δ. ตาม, เป็นไปตาม

                       ε. การแสดงวัตถุประสงค์

          (ฉ) ในการใช้คำที่ทำหน้าที่กริยาวิเศษณ์

            (ช) โดย, ที่, ใกล้ pros tina einai อยู่ (พร้อม) กับใครบางคน

     

 

 

      จากคำนิยามหลายข้อที่ระบุไว้ในที่นี้ คำนิยามที่ตรงกับการอ่านยอห์น 1:1b (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) ของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคือคำนิยามข้อสุดท้าย (ช) อันที่จริงนี่เป็นความหมายที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กำหนดให้กับยอห์น 1:1 แต่การที่คำยามนี้อยู่ในตำแหน่งท้ายสุดนั้น (ช) พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จึงไม่ถือว่าเป็นความหมายหลักของ pros การที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเลือกคำนิยามสุดท้ายของ pros ให้ใช้กับยอห์น 1:1b โดยตัดความหมายอย่างอื่นอีกมากที่เป็นไปได้มากกว่าออกไปนั้น จะเป็นการทำตามอำเภอใจอย่างชัดเจนหากเราไม่สามารถให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือในการทำเช่นนี้ได้

      และเมื่อเราตรวจสอบคำนิยามของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จาก (ก) ถึง (ช) ที่แสดงให้เห็นข้างต้น ข้อเท็จจริงที่สำคัญจึงปรากฏขึ้น นั่นก็คือความหมายที่โดดเด่นของ pros (กับกรรมการก) ไม่ได้บอกลักษณะด้วย “กับ” แต่ด้วย “ไปที่” หรือ “มายัง”

         เราจะเห็นบางสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ในผู้เชี่ยวชาญด้านคำศัพท์อีกฉบับหนึ่งในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษโดยลิดเดล-สก็อต-โจนส์[44] ความหมายหลักของ pros กับกรรมการกในพจนานุกรมนี้คือ “ในการอ้างอิงถึง” ดังนั้น “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” แท้จริงแล้วจะหมายถึง “พระวาทะมีการอ้างอิงถึงพระเจ้า” นั่นก็คือ พระวาทะได้อ้างถึงพระเจ้า หรือชี้ไปที่พระเจ้า สิ่งนี้สอดคล้องกับข้อความถัดไปของยอห์นว่า “และพระวาทะเป็นพระเจ้า” โดยที่สองข้อความนี้จัดเรียงต่อเนื่องเป็นลำดับอย่างเป็นธรรมชาติ ความจริงแล้วไม่มีอะไรในพจนานุกรมเล่มใหญ่ของลิดเดล-สก็อต-โจนส์ (LSJ) เกี่ยวกับ pros ที่สนับสนุนการอ่านยอห์น 1:1b ของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ (“และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) พจนานุกรมภาษากรีกดั้งเดิมฉบับนี้ ซึ่งไม่เหมือนกับพจนานุกรมคำศัพท์ของวรรณกรรมเกี่ยวกับพระคัมภีร์และวรรณกรรมคริสเตียน ไม่ได้สนใจเป็นพิเศษในการสนับสนุนหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      การทำหน้าที่อ้างอิงของ pros นี้เป็นเรื่องปกติในพระคัมภีร์ และเห็นได้จากตัวอย่างในมาระโก 12:12 ว่า “พระองค์ตรัสอุปมานี้กระทบพวกเขา” ซึ่งในภาษากรีกแปลตรงตัวว่า “พระองค์ตรัสอุปมานี้โดยการอ้างอิงถึงพวกเขา” นี่ยืนยันโดยกุญแจภาษาศาสตร์ไขพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก[45] ซึ่งแปล pros autous ในข้อนี้ว่า “โดยการอ้างอิงถึงพวกเขา”

      อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ในการการอ้างอิงของ pros มีอยู่ในโรม 10:21 ว่า “แต่​เกี่ยวกับพวกอิสราเอล (pros ton Israēl) ท่าน​กล่าว​​ว่า ‘ตลอด​ทั้ง​วัน เรา​ยื่น​มือของเรา​ออก ให้แก่​ชน​ชาติ​ซึ่ง​ไม่​เชื่อ​ฟัง​และ​ดื้อ​รั้น’”

      ข้อสรุป: จากข้อมูลคำศัพท์ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG และฉบับ Liddell-Scott-Jones นั้น ยอห์น 1:1 จึงควรเข้าใจได้ดังนี้ว่า “ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่ และพระวาทะได้มีการอ้างอิงถึงพระเจ้า (ได้ชี้ไปที่พระเจ้า) และพระวาทะเป็นพระเจ้า” (โดยนามนัย)[46]

 

pros ton theon ในยอห์น 1:1 หมายถึง “กับพระเจ้า” จริงๆหรือ?

      เราได้ดูคำ pros เดี่ยวๆ แล้วถ้อยคำทั้งหมดว่า pros ton theon ล่ะ? มันหมายถึง “กับพระเจ้า” ในยอห์น 1:1 จริงๆไหม? เพื่อให้เข้าใจแนวคิดที่แท้จริงของถ้อยคำนี้ เราสามารถดูได้ว่าพระคัมภีร์ฉบับอิงลิชแสตนดาร์ด (ESV) ที่เชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างมากได้แปลโดยทั่วๆไปเอาไว้อย่างไร ถ้อยคำ pros ton theon ที่เราพบในยอห์น 1:1 นี้มีปรากฏ 20 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยปรากฏสองครั้งในคำขึ้นต้นของยอห์น และ 18 ครั้งอยู่นอกคำขึ้นต้นนี้[47] ใน 18 ข้อนี้ที่อยู่นอกคำขึ้นต้นยอห์นนี้ พระคัมภีร์ฉบับ ESV ไม่เคยแปล pros ton theon ว่า “กับพระเจ้า” ยกเว้นในโรม 5:1 (“เราจึงมีสันติสุขกับพระเจ้า”[48] ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่า “กับพระเจ้า” ดังที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการให้มีในยอห์น 1:1b) ฉบับ ESV ได้แปล pros ton theon ว่า “ไปที่พระเจ้า” หรือ “ไปยังพระเจ้า” ใน 14 ข้อจาก 18 ข้อที่อยู่นอกคำขึ้นต้นของยอห์น! พระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ด (NASB) ก็เช่นเดียวกัน พูดได้ว่า ตรงไหนที่ไม่มีผลกับข้อเชื่อของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ฉบับ ESV ก็ไม่เคยแปล pros ton theon ในความหมายของ “กับพระเจ้า”

      ที่น่าสนใจก็คือ การอ่านที่ถูกต้องว่า “ชี้ไปยังพระเจ้า” ของ pros ton theon ในยอห์น 1:1 นั้นได้รับการยอมรับจากคู่มืออธิบายพระคัมภีร์บางฉบับของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ตัวอย่างเช่น คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกันกล่าวดังนี้ว่า

 

ผู้แปลส่วนใหญ่จะแปลคำกล่าวนี้ว่า “และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” ที่จริงแล้วเป็นเรื่องยากที่จะแปลถ้อยคำกรีก pros ton theon (ทั้งในข้อ 1 และ 2) เป็นภาษาอังกฤษ ความหมายที่ตรงตัวก็คือ “ชี้ไปยังพระเจ้า” (คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกัน,[49] ยอห์น 1:1)

 

      คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกัน ไม่ได้เป็นคู่มืออธิบายพระคัมภีร์เพียงฉบับเดียวของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่กล่าวว่า pros ton theon ในยอห์น 1:1 หมายถึง “ชี้มายังพระเจ้า คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับอื่นๆก็แปลอย่างเดียวกันนี้ ได้แก่ คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวไบเบิ้ล[50] (“การคิดตรงตามคำก็คือ ‘ชี้มายังพระเจ้า”); คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ของนักเทศน์[51] (“การแปลตรงตัวอาจเป็น พระวาทะชี้มายังพระเจ้า); และชุดศึกษาพระคัมภีร์ “พระคัมภีร์พูดในสมัยนี้”[52] (“คำ กับ ตรงนี้คำตรงตัวก็คือ ‘ชี้มายัง’”)

  พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์ (LXX) มีการปรากฏของ pros ton theon ประมาณ 70 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่แปลว่า “ไปที่พระเจ้า”[53] ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษ

 

ทำไมบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจึงกำหนดความหมาย “กับ” ให้ยอห์น 1:1?

      แล้วเหตุใดบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจึงกำหนดความหมายว่า “กับ” ให้กับคำ pros ในยอห์น 1:1 แต่ไม่ได้กำหนดความหมายนี้ให้กับส่วนที่เหลือในพระคัมภีร์ใหม่? เหตุผลก็เพราะหลักคำสอน การตีความว่า “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” จะช่วยสนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพโดยการบอกเป็นนัยว่ามีอีกบุคคลหนึ่งที่มีอยู่จริงซึ่งอยู่ “กับ” พระเจ้าในการทรงสร้าง และบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการจะบอกเป็นนัยต่อไปอีกว่า บุคคลที่มีอยู่จริงนี้ก็คือพระเยซูผู้ที่ดำรงอยู่ก่อน แต่การที่จะพิสูจน์ข้อสนับสนุนนี้ของพวกเขาจากพระคัมภีร์นั้น จะต้องมีตามเงื่อนไขสามข้อ

      ข้อแรก จะต้องแสดงให้เห็นว่าการสร้างทางกายภาพในปฐมกาล 1 นั้นมีบุคคลอื่นที่นอกเหนือ จากพระยาห์เวห์ร่วมอยู่ด้วย แต่ทุกคนที่คุ้นกับเรื่องราวในปฐมกาลจะรู้ว่าไม่มีใครที่มีส่วนร่วม “กับพระเจ้า” เมื่อพระองค์ได้ทรงทำการสร้าง ไม่มีบันทึกถึงคน หรือสิ่งที่มีชีวิต หรือบุคคลที่มีอยู่จริงใดๆนอกจากพระเจ้าผู้ทรงมีส่วนกับการสร้างนี้ นอกจากนี้ยังไม่มี “พระเจ้าพระองค์ที่สอง” ซึ่งเป็นคำที่ไฟโลใช้ แต่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้ใช้ผิดไปจากความหมายที่ไฟโลหมายถึง ดังนั้นอะไรก็ตามที่ pros อาจหมายถึงในยอห์น 1:1 มันก็ไม่ได้หมายความว่า “กับ” แต่อย่างใด ที่หมายถึงอีกบุคคลหนึ่งซึ่งอยู่ข้างๆกับพระเจ้าเดียวและเพียงผู้เดียว

      ข้อที่สอง แม้ว่าจะสามารถแสดงให้เห็นว่ามีบุคคลอยู่จริงที่อยู่ “กับพระเจ้า” ในการสร้างในปฐมกาล ก็จะต้องแสดงให้เห็นจริงต่อไปว่าบุคคลที่มีอยู่จริงนี้มีจริง และไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เป็นจริง ทำให้มีอยู่จริง หรือการสมมุติตัวตนคล้ายๆกับพระปัญญาในสุภาษิต 8:30[54] ดังนั้นไม่ว่าพระวาทะในยอห์น 1:1 จะเป็นพระเจ้าอีกพระองค์หนึ่งที่นอกเหนือจากพระยาห์เวห์หรือไม่ ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ และความพยายามเช่นนั้นจะเปล่าประโยชน์ เพราะตามพระคัมภีร์แล้วจะไม่มีบุคคลเช่นนั้นเลย พระยาห์เวห์ทรงประกาศอย่างชัดเจนว่า พระองค์เพียงผู้เดียวเป็นพระเจ้า (อิสยาห์ 45:5)[55] และพระองค์ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกด้วยพระองค์เอง (อิสยาห์ 44:24)[56] ดังนั้นแม้ว่าเราจะใช้ pros ในยอห์น 1:1 ว่าหมายถึง “กับพระเจ้า” นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      ข้อที่สาม จะต้องแสดงให้เห็นว่ายอห์นระบุว่า “พระวาทะ” เป็นบุคคลเดียวกันกับพระเยซู ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่เคยทำ อันที่จริงบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้ไปไกลเกินข้อแรก ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึงข้อที่สองและสาม

 

ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยอมรับว่า ความเข้าใจในตรีเอกานุภาพของพวกเขาเกี่ยวกับ prosสร้างความขัดแย้งกันระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c

      หลายคนคงจะแปลกใจที่คำสำคัญในยอห์น 1:1 ไม่ใช่คำว่า logos (พระวาทะ) หรือแม้แต่ theos (พระเจ้า) สองคำนี้ไม่ได้ขัดแย้งในตัวเอง แต่เป็นคำว่า pros นั่นเป็นเพราะวิธีที่เราเข้าใจ pros ในยอห์น 1:1b จะครอบงำวิธีที่เราตีความทั้งข้อ

      ความจริงที่ชัดเจนก็คือว่า pros ไม่ใช่คำที่คลุมเครือหรือลึกลับซับซ้อน แต่เป็นคำทั่วไปที่มีความหมายแน่นอน ซึ่งไม่ได้สร้างความสับสนให้กับยอห์น 1:1 นอกจากว่าเราจะเอาความหมายหลักของ pros ออกไป เราได้เห็นจากพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG และ Liddell-Scott-Jones ว่า pros มีความหมายหลายอย่าง แต่ความหมายหลักที่บอกลักษณะด้วย “ไปที่” หรือ “ไปยัง” ในขณะที่ความหมายรองหรือความหมายอันดับสามคือ “กับ” ความหมายอย่างแรกจะทำให้ยอห์น 1:1b กล่าวว่า “พระวาทะได้อ้างอิงถึงพระเจ้า” หรือ “พระวาทะได้กล่าวถึงพระเจ้า” ในขณะที่ความหมายอย่างหลังจะอยู่ในแนวเดียวกับการแปลของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพว่า “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”

      เราได้เห็นว่า ศัพท์สัมพันธ์สมัยนิยมแสดงให้เห็นว่าตัวอย่างทั้งหมดของ pros 700 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่นั้นให้ความหมายว่า “กับ” มากที่สุด 16 ครั้ง

      ถ้าเราไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือในการปฏิเสธความหมายหลักของ pros ในยอห์น 1:1 ละก็ การเลือกความหมายรอง จะเป็นการเลือกคำตามอำเภอใจอย่างแท้จริงและอาจเป็นแรงจูงใจจากหลักคำสอน ในทางตรงกันข้ามนั้น เรามีเหตุผลที่น่าเชื่อถือในการเลือกความหมายหลักของ pros นั่นคือมีความสอดคล้องในการอ้างอิง ในทำนองเดียวกันเราก็มีเหตุผลที่หนักแน่นในการปฏิเสธความหมายที่ใช้น้อยกว่าของ pros นั่นคือไม่มีความสอดคล้องในการอ้างอิง เพื่อจะดูว่านี่หมายถึงอะไร ก็ให้เราเปรียบเทียบการแปลยอห์น 1:1 ที่สู้กันของสองแบบนี้

 

      ความหมายอันดับแรกของ pros:

                                                                                                                        a. ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่

                                                b. และพระวาทะได้อ้างอิงถึงพระเจ้า

                                                c. และพระวาทะเป็นพระเจ้า

     

 

      ความหมายอันดับรองของ pros:

                                                                               a. ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่

                                                b. และพระวาทะอยู่กับพระเจ้า

                                                c. และพระวาทะเป็นพระเจ้า

      การแปลทั้งสองแบบจะเหมือนกัน ยกเว้นคำที่ขีดเส้นใต้ คำแปลแบบแรกมีข้อได้เปรียบของความสอดคล้องในการอ้างอิง ที่คำว่า “พระเจ้า” ในบรรทัด b มีความหมายเหมือนในบรรทัด c (ทั้งสองบรรทัดกล่าวถึงบุคคลเดียวกัน คือพระเจ้าพระองค์เอง) สิ่งนี้ทำให้ทั้งข้อลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติและต่อเนื่องกันเป็นลำดับ โดยบรรทัด b นำไปสู่บรรทัด c อย่างเป็นธรรมชาติ แต่คำแปลแบบที่สองไม่มีความสอดคล้องในการอ้างอิง เพราะคำว่า “พระเจ้า” ในบรรทัด c ได้ถูกบังคับให้มีความหมายที่แตกต่างจาก “พระเจ้า” ในบรรทัด b ตามที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหลายยอมรับ

      ความไม่สอดคล้องกันระหว่างบรรทัด b กับบรรทัด c ในการอ่านแบบที่สองนั้นเป็นปัญหา แต่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหลายก็ต้องการเช่นนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเชื่อแบบโมดาสิสซึ่ม[57] อีกทั้งเพื่อที่จะหมายถึงบุคคลที่สองที่อยู่ “กับ” พระเจ้า นักวิชาการหลายคนที่เชื่อในตรีเอกานุภาพต่างตระหนักถึงความไม่สอดคล้องกันนี้ เพราะใครก็ตามที่อ่านงานเขียนของพวกเขาเกี่ยวกับยอห์น 1:1 จะรู้ได้ แต่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนใหญ่นิ่งเฉยทำเป็นไม่รับรู้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะมันจะช่วยเป็นอย่างดีที่จะให้หลักคำสอนของพวกเขามีพระองค์ที่สองที่เป็นพระเจ้า

      แต่รากของปัญหาก็คือ การพูดว่าพระวาทะ “อยู่กับพระเจ้า” และในเวลาเดียวกันพระวาทะก็ “เป็นพระเจ้า” นั้นฟังแล้วไม่สอดคล้องกัน! นี่เป็นภาวะที่ลำบากอย่างแท้จริงสำหรับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่มีชื่อเสียงบางคน ดังที่เราจะได้เห็น เมื่อยอห์น 1:1 ถูกแปลแบบทั่วไปในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่นั้น จะมีความขัดแย้งตามหลักเหตุผลเกิดขึ้นระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ยอห์น 1:1c (“และพระวาทะเป็นพระเจ้า” ซึ่งเป็นคำแปลที่ถูกต้องแม้ว่าจะไม่ใช่เพียงคำแปลเดียวที่เป็นไปได้) แต่อยู่ที่ยอห์น 1:1b (“และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” ซึ่งเป็นการแปลที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการเช่นนั้นก็เพื่อจะปกป้องความเชื่อในตรีเอกานุภาพ)

      แต่ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่สร้างขึ้น เพราะมันไม่ได้มีอยู่ตั้งแต่แรกในยอห์น 1:1 ความขัดแย้งเกิดขึ้นก็เพราะบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพฝืนใช้ pros ความหมายรอง แทนที่จะใช้ความหมายหลัก เพื่อจะให้หมายถึงพระองค์ที่สองที่เป็นพระเจ้า

      ความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับ 1:1c ในความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และถูกตั้งข้อสังเกตโดยผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพหลายๆคน ตอนนี้เราจะให้ห้าตัวอย่างของความขัดแย้งนี้ สี่ตัวอย่างแรกนั้นสั้นและเข้าใจง่าย ตัวอย่างที่ห้ายาวกว่าและยังพูดคร่าวๆถึงการตีความยอห์น 1:1 ที่มีข้อบกพร่องของพยานพระยะโฮวา

 

ห้าตัวอย่างที่เป็นความพยายามอย่างมากของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c

      ตัวอย่างที่ 1 เอฟ เอฟ บรูซ ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและนักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่ที่มีชื่อเสียงตระหนักถึงความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c เมื่อแปลตามแบบทั่วไป เขาพูดถึงยอห์น 1:1c ว่า “ความหมายน่าจะเป็นว่า พระวาทะก็เหมือนกับพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ถ้าพระวาทะก็อยู่ กับพระเจ้าด้วย” (พระกิตติคุณยอห์น, หน้า 31)[58] จงสังเกตคำที่หนักแน่นว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่เอฟ เอฟ บรูซ ใช้เพื่ออธิบายถึงความขัดแย้งนี้ ปัญหาที่ตอบยากนี้กระตุ้นให้เขาค้นหาการแปลยอห์น 1:1c ที่จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้โดยไม่ทำให้หลักคำสอนเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพต้องจำนนกับเหตุผล ยกตัวอย่างเช่น เขาพูดอย่างมั่นอกมั่นใจถึงการแปลในพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชว่า “สิ่งที่พระเจ้าเป็น คือสิ่งที่พระวาทะเป็น”[59] แต่เขายอมรับว่ามันเป็นเพียงการแปลความหมาย สุดท้ายดูเหมือนเอฟ เอฟ บรูซ จะไม่พบคำตอบที่ตัวเองพอใจ นอกจากจะให้ยอห์น 1:1c หมายถึง “พระวาทะมีสภาวะและการดำรงอยู่ของพระเจ้า”

      ตัวอย่างที่ 2 คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ใหม่ฉบับไอวีพี[60] ซึ่งมักจะแสดงความเห็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น กล่าวถึงปัญหาตามหลักเหตุผลอย่างเดียวกันว่า เอฟ เอฟ บรูซ แสดงความคิดเห็นแล้วสรุปว่า “ความจริงทั้งสองนี้ดูเป็นไปไม่ได้ที่จะสอดคล้องกันตามหลักเหตุผล แต่ความจริงทั้งสองนี้ก็ต้องถูกยอมรับอย่างหนักแน่นพอๆกัน” (“ความจริงทั้งสอง” นี้อ้างถึงสองข้อความซึ่งขัดแย้งกันที่เอฟ เอฟ บรูซ ชี้ให้เห็น) แต่หลังจากยอมรับว่าสองข้อความนี้ “ดูเป็นไปไม่ได้ที่จะสอดคล้องกันตามหลักเหตุผล” (คำพูดที่หนักแน่นมาก) คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ใหม่ฉบับนี้ไม่ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาใดๆนอกเหนือจากข้อเสนอแนะที่น้อยนิดว่าเราเพียงยอมรับสองข้อความนี้ “ด้วยความหนักแน่นพอๆกัน” กล่าวคือ ยอมรับความขัดแย้งอย่างที่เป็นอยู่

      ตัวอย่างที่ 3 ในคู่มือวิเคราะห์และตีความพระกิตติคุณยอห์น (หน้า 48) เอช เอ ดับบลิว มายเออร์[61]ตระหนักว่าสามารถจะอ่านยอห์น 1:1b ในความหมายของการอ้างอิง (พระวาทะได้อ้างอิงถึงพระเจ้า) และเห็นได้อย่างถูกต้องว่านี่จะทำให้พระวาทะเป็น “คำพูดอ้อมๆ” เกี่ยวกับตัวบุคคลของพระเจ้าเอง แต่คำพูดอ้อมๆนี้จะทำลายการยืนกรานของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า พระวาทะเป็นพระองค์ที่สองที่แตกต่างซึ่งอยู่ “กับ” พระเจ้าพระบิดา ดังนั้นมายเออร์จึงปฏิเสธว่าเป็นคำพูดอ้อมๆ เพื่อจะสนับสนุนการแปลตามแบบทั่วๆไปว่า “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” แต่เขาเห็นได้ทันทีถึงความขัดแย้งกันตามหลักเหตุผลแบบเดียวกับที่ เอฟ เอฟ บรูซเห็น ดังนั้นมายเออร์จึงยืนกรานว่า “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c “สามารถเป็นได้แค่ส่วนของคำกริยา ไม่ใช่ประธาน” และเสนอการอ่านว่า “พระองค์ทรงอยู่กับพระเจ้าและมีสภาวะของความเป็นพระเจ้า” (อักษรตัวเอนเป็นของมายเออร์) ซึ่งเป็นการตีความตามแบบฉบับของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่มากก็น้อย

      ตัวอย่างที่ 4 พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช (NET)[62] (ซึ่งเชิงอรรถมักแสดงความคิดเห็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพในพระคัมภีร์ใหม่ แต่ในพระคัมภีร์เดิมจะน้อยกว่า) ตระหนักถึงความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c ในวิธีแปลสองข้อความนี้ของพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ การแก้ปัญหานี้คือ พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชใช้หลักการว่าการอ่านยอห์น 1:1c ใดๆที่ขัดแย้งกับยอห์น 1:1b สามารถถูก “ยกเลิก” หรือพูดได้ว่าการอ่านยอห์น 1:1b ของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ มีความสำคัญกว่าการแปลที่เป็นไปได้ทั้งหมดของยอห์น 1:1c นี่จะเห็นได้ในคำกล่าวดังต่อไปนี้ (ถ้อยคำในวงเล็บเป็นของฉบับนิวอิงลิช)

 

การผูกประโยคในยอห์น 1:1c ไม่ได้เทียบให้พระวาทะเท่ากับองค์พระเจ้า (สิ่งนี้ถูกชี้ขาดโดยยอห์น 1:1b ว่า “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) มันยืนยันมากกว่าว่าพระวาทะกับพระเจ้ามีแก่นแท้เดียวกัน

 

      พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช (NET) ยอมรับความขัดแย้งระหว่างการอ่านแบบทั่วไปของยอห์น 1:1b (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) กับของยอห์น 1:1c (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) พระคัมภีร์ฉบับ NET ปฏิเสธการแปลยอห์น 1:1c เพราะการแปลนี้เทียบพระวาทะให้เท่ากับ “ตัวบุคคลของพระเจ้า” ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์ฉบับ NET ต้องการ ในการดิ้นรนกับภาวะที่ลำบากของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น พระคัมภีร์ฉบับ NET จึงถูกบังคับให้ปฏิเสธการแปลแบบทั่วไปของยอห์น 1:1c (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) เพราะมันถูกชี้ขาดโดยยอห์น 1:1 b (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) ด้วยเหตุนี้พระคัมภีร์ฉบับ NET จึงกล่าวต่อไปว่าพระวาทะในยอห์น 1:1c ไม่ใช่ “ตัวบุคคลของพระเจ้า” แต่เป็นผู้ที่ “มีแก่นแท้เดียวกัน” กับพระเจ้า (นี่เป็นการกล่าวเพิ่มเติมคำกล่าวที่ไม่ซับซ้อนของยอห์นอย่างมาก)

      อันที่จริง นี่เป็นมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าพระเจ้าไม่ได้เป็นบุคคลๆหนึ่ง แต่เป็นแก่นแท้ๆหนึ่ง หรือเนื้อแท้ๆหนึ่ง เราได้อ้างคำพูดของซี เอส ลูอิส ซึ่งเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่กล่าวว่า “ศาสนศาสตร์คริสเตียนไม่ได้เชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นบุคคล แต่เชื่อว่าในพระองค์นั้นตรีเอกานุภาพของสามองค์บุคคลสอดคล้องกับการรวมเป็นหนึ่งของพระเจ้า นั่นหมายความว่าศาสนศาสตร์ คริสเตียนเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นสิ่งที่แตกต่างจากบุคคลมาก” (ทัศนะของคริสเตียน,[63] หน้า 79)

      ในท้ายที่สุด พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช (NET) ก็แปลยอห์น 1:1c ว่า “พระวาทะเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์” ซึ่งเป็นการแปลความหมายโดยรวมที่ลดความเป็นบุคคลของคำว่า “พระเจ้า” เพื่อว่าจะไม่ได้หมายถึงพระเจ้าองค์ที่ชี้เฉพาะอีกต่อไป มันเป็นคำกล่าวที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของแก่นแท้ของพระเจ้า มากกว่าอัตลักษณ์ที่เท่าเทียมกันระหว่างพระวาทะกับพระเจ้า (“พระวาทะเป็นพระเจ้า”) นั่นคือเหตุผลที่เจมส์ ไวท์ กล่าวว่าพระเจ้าไม่ใช่ “ใคร” คนหนึ่ง แต่เป็น “อะไร” อย่างหนึ่ง

 

การตีความยอห์น 1:1 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีความคล้ายคลึงกับการตีความของพยานพระยะโฮวาในแง่ของวิธีการตีความ ที่ความขัดแย้งของความเชื่อทั้งสองเป็นเรื่องของหลักคำสอน ไม่ใช่เรื่องของการตีความ

      ตัวอย่างที่ 5 นี่เป็นตัวอย่างที่เปิดโลกทรรศน์ได้ดีที่สุดในห้าตัวอย่างของเรา แต่มันค่อนข้างจะเป็นวิชาการสักหน่อย แต่มันเขียนในลักษณะที่คุณสามารถจะอ่านข้ามรายละเอียดทางวิชาการนี้ได้ แต่ก็จะยังคงเข้าใจประเด็นหลักได้

      จุดมุ่งหมายของเราในตัวอย่างนี้ ไม่ใช่เพื่อจะศึกษาความเชื่อในตรีเอกานุภาพหรือความเชื่อของพยานพระยะโฮวา[64]ในเชิงลึก แต่เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าความเชื่อทั้งสองแบบนี้มีความคล้ายคลึงกันทั้งจุดประสงค์และความมุ่งหมายทั้งหมดในการวิเคราะห์ไวยากรณ์ของยอห์น 1:1 ความคล้ายคลึงกันนี้ทำให้น่าแปลกใจ เมื่อทั้งคู่มีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจนกับความเป็นพระเจ้าของพระเยซู

      ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายนั้น ความขัดแย้งที่แท้จริงระหว่างผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกับผู้เชื่อของพยานพระยะโฮวาเป็นเรื่องหลักคำสอน ไม่ใช่วิธีการตีความ อันที่จริงพวกเขาดูเหมือนจะเห็นด้วยกับทุกแง่ของวิธีการตีความที่สำคัญต่อการตีความยอห์น 1:1

  • พวกเขาเห็นด้วยกับข้อความภาษากรีกของยอห์น 1:1 (คือ ไม่มีปัญหากับข้อความต้นฉบับ)
  • พวกเขาเห็นด้วยกับวิธีที่สองข้อความแรกคือยอห์น 1:1aและยอห์น 1:1bควรถูกแปลแบบคำต่อคำเป็นภาษาอังกฤษ
  • ทั้งคู่ใช้ “พระวาทะ” ในยอห์น 1:1 ว่าอ้างถึงพระเยซูคริสต์
  • ทั้งคู่ใช้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1b ว่าอ้างถึงพระเจ้าพระบิดา
  • ทั้งคู่ใช้ pros ในยอห์น 1:1b ในความหมายรองว่า “กับ” (พระวาทะทรงอยู่ “กับพระเจ้า”) โดยปฏิเสธความหมายหลัก
  • ทั้งคู่ใช้ “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” ในยอห์น 1:1b ว่ากำลังอ้างอิงถึงสองบุคคลที่แตกต่างกัน คือพระเยซูคริสต์กับพระเจ้าพระบิดา
  • ทั้งคู่ตระหนักถึงความขัดแย้งกันระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c เมื่อทั้งสองข้อความถูกแปลตามแบบทั่วไป
  • ทั้งคู่พยายามแก้ไขความขัดแย้ง โดยเปลี่ยนความหมายของ “พระเจ้า” ในยอห์น1:1b เพื่อให้มีความหมายแตกต่างจาก “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c
  • ทั้งคู่ใช้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1cเป็นส่วนของกริยา เป็นลักษณะนาม ไม่ได้ชี้เฉพาะ และทั้งคู่ใช้ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ theos ในส่วนของกริยาและกรรมที่ไม่มีคำนำหน้านามชี้เฉพาะ เพื่อจะพิสูจน์ว่าการอ่านเชิงคุณลักษณะโดยลำดับของพวกเขาเกี่ยวกับ “พระเจ้า” ในยอห์น1:1cนั้นถูกต้อง
  • ทั้งคู่ลดความเป็นบุคคลของคำ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c จนกระทั่งคำว่า “พระเจ้า” ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคลของพระเจ้าอีกต่อไป แต่เป็นคุณสมบัติหรือแก่นแท้ของความเป็นพระเจ้า พูดอีกอย่างก็คือ ทั้งคู่ใช้ยอห์น1:1c ไม่ใช่เพื่อเป็นอัตลักษณ์ที่เท่าเทียมกัน (คือพระวาทะเป็นพระเจ้าโดยนามนัย) แต่ว่าเป็นคำกล่าวเชิงคุณลักษณะของแก่นแท้ของพระเจ้า หรือความเป็นพระเจ้า (ซึ่งเป็นมุมมองของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เช่น เจ พี แลง, มาร์คัส ด็อดส์, เอช เอ ดับบลิว มายเออร์, ซี เค แบร์เร็ตต์, อาร์ โบว์แมน)[65]

      ความคล้ายคลึงกันในวิธีการตีความนี้ จะพบได้อย่างน่าประหลาดใจจากหนึ่งในบทวิเคราะห์การตีความทางไวยากรณ์ของยอห์น 1:1 ที่มีรายละเอียดมากที่สุด แล้วยังเขียนโดยผู้เชื่อกลุ่มอีแวนเจลิคอล โรเบิร์ต เอ็ม โบว์แมน จูเนียร์ ซึ่งเป็นผู้ที่แก้ต่างที่ร้อนรนให้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ได้เขียนหนังสือที่ชื่อ พยานพระยะโฮวา, พระเยซูคริสต์, และพระกิตติคุณยอห์น[66] ซึ่งมีการขยายความยอห์น 1:1 อย่างละเอียดจากมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ โดยผสมผสานกับบทวิจารณ์การตีความจากยอห์น 1:1 ของพยานพระยะโฮวา[67] แต่ความจริงที่ไม่กล้าเปิดเผยก็คือว่า การตีความตามลำดับของพวกเขานี้เกือบจะเหมือนกันในแง่ของวิธีการตีความทางไวยากรณ์[68]

      ในส่วนโบว์แมนนั้น เราจะไม่เข้าไปในรายละเอียดในหนังสือของเขา นอกจากจะสรุปแนวโน้มหลักๆสองประการที่กระจายอยู่ทั่วการขยายความยอห์น 1:1 ของเขา[69] ผลกลับกลายเป็นว่าแนวโน้มสองประการนี้ โดยเฉพาะแนวโน้มอย่างที่สอง มีผลตามมาโดยไม่ตั้งใจที่ทำให้การตีความยอห์น 1:1 ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพของโบว์แมนเองอ่อนลง

      แนวโน้มแรก: โบว์แมนก็เหมือนกับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจำนวนมากที่ตระหนักอย่างมากถึงความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c เมื่อทั้งสองข้อความถูกแปลในแบบทั่วไปที่พบในพระคัมภีร์หลัก เขากล่าวถึงความขัดแย้งอย่างชัดเจนว่า

สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างลึกซึ้งก็คือคำถามว่า พระวาทะจะอยู่กับพระเจ้าและก็เป็นพระเจ้าได้อย่างไร...พระวาทะจะอยู่กับ “พระเจ้า” และก็เป็น “พระเจ้า” ด้วยไม่ได้อย่างแน่นอน เว้นแต่คำว่า “พระเจ้า” จะเปลี่ยนความสำคัญจากการใช้อย่างแรกมาเป็นการใช้อย่างที่สอง (หน้า 25-26)

      ตรงนี้โบว์แมนอธิบายถึงภาวะลำบากที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพเผชิญ คือถ้าคำว่า “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1b มีความหมายเหมือนกับ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c แล้วละก็ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไม่ถูกต้อง นั่นเป็นเพราะถ้า “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1b มีความหมายเช่นเดียวกับในยอห์น 1:1c ละก็ เราก็ถูกบังคับให้เลือกระหว่างความเป็นไปได้จากหนึ่งในสองนี้ ซึ่งทั้งสองความเป็นไปได้นั้นเป็นสิ่งที่บรรดาผู้ที่เชื่อในตรีเอกานุภาพรังเกียจ คือไม่ว่าจะเลือกความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวอย่างแท้จริงตามพระคัมภีร์ (ซึ่งพระบิดาทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวจากยอห์น 17:3 ไม่ใช่พระเยซู) หรือเลือกข้อผิดพลาดของความเชื่อแบบโมดาลิสซึ่ม (ที่พระเยซู = พระบิดา = พระวิญญาณ เช่นเดียวกับ H2O ที่สามารถเป็นน้ำ น้ำแข็ง หรือไอน้ำ) ไม่มีทางเลือกไหนที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยอมรับได้ และนี่จะอธิบายถึงความพยายามของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่จะทำให้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c มีความหมายแตกต่างไปจาก “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1b นั่นคือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างมากที่โบว์แมนกำลังพยายามพูด เมื่อเขาเรียกร้องอย่างชัดเจนว่า “คำ พระเจ้า เปลี่ยนความสำคัญจากการใช้อย่างแรกมาเป็นอย่างที่สอง” (นั่นคือ จากยอห์น 1:1b มาเป็นยอห์น 1:1c)

      แต่ความพยายามของโบว์แมนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้น่าสังเกตในเรื่องวิธีการธรรมดาๆที่เขาดัดแปลงถ้อยคำของยอห์น 1:1 ในที่ต่างๆอย่างหน้าตาเฉย ซึ่งตรงกันข้ามกับท่าทีที่ระมัดระวังของเอฟ เอฟ บรูซ ผู้ลังเลที่จะทำเช่นนี้แม้แต่คำเดียว โบว์แมนพูดอย่างง่ายดายถึง “การเปลี่ยน” การใช้ถ้อยคำ การเปลี่ยน “ความสำคัญ” ของถ้อยคำ การให้มี “การแปลแบบใช้สำนวนใหม่” ขึ้น (ซึ่งเป็นคำที่สละสลวยของเขาสำหรับ “การถอดความ”) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่หลังจากทำการเปลี่ยนทั้งหมดแล้ว นี่จึงเป็นการอ่านยอห์น 1:1 ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพในที่สุดและอย่างเต็มรูปแบบของเขา

ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่ และพระวาทะดำรงอยู่ในความสัมพันธ์กับบุคคลที่รู้จักกันทั่วไปว่า   พระเจ้า นั่นก็คือ พระบิดา และพระวาทะที่โดยพื้นฐานแล้วก็คือพระเจ้าเอง (หน้า 26)

      แนวโน้มที่สอง: การขยายความยอห์น 1:1 ของโบว์แมนแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ ซึ่งผม [เบนท์ลี่ ชาน][70]รับรู้เมื่อนานมาแล้ว กล่าวคือ การตีความยอห์น 1:1 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีความคล้ายคลึงกับของพยานพระยะโฮวาในแง่ของวิธีการตีความทางไวยากรณ์! ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและพยานพระยะโฮวาเห็นพ้องกันใน 80% แรกของการตีความของพวกเขาจากยอห์น 1:1 และแตกต่างกันเพียง 20% สุดท้ายเท่านั้น สิ่งนี้อธิบายหลายๆข้อสันนิษฐานของการตีความทางไวยากรณ์ที่ทั้งสองความเชื่อมีส่วนที่เหมือนกันในการตีความยอห์น 1:1 (ดูข้อย่อยที่แสดงไว้ย้อนไปสองหน้า)

      โบว์แมนยอมรับการเห็นด้วยกับพยานพระยะโฮวาในสามหลักเกณฑ์สำคัญของ theos (พระเจ้า) ในยอห์น 1:1c คือลักษณะนามที่ไม่มีคำนำหน้านามชี้เฉพาะของ theos (หน้า 37) ส่วนของกริยาและกรรมของ theos (หน้า 38) และคำนำหน้านามที่ไม่ระบุแน่ชัดของ theos (หน้า 41,47) การเห็นด้วยในสิ่งเหล่านี้ โบว์แมนเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัวในการพิสูจน์หักล้าง “พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (the Word was a god) ซึ่งเป็นการแปลยอห์น 1:1c ของพยานพระยะโฮวา

      สิ่งนี้นำเราไปสู่เป็นการสวนทางอย่างมากที่สุด หลังจากทำการวิเคราะห์ทางไวยากรณ์ที่ยาวที่สุดของยอห์น 1:1 ในหน้า 62 ที่ผมได้เห็นนั้น โบว์แมนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะยอมรับว่าการแปลยอห์น 1:1c ของพยานพระยะโฮวา (“พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง”)[71] นั้นเป็น “การแปลที่เป็นไปได้” และ “เป็นไปได้ทางไวยากรณ์” (คำพูดของโบว์แมนเอง)! โบว์แมนกำลังยอมรับว่าการแปลยอห์น 1:1 ของพยานพระยะโฮวาถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ แต่ที่เขาปฏิเสธก็เพียงเพราะมันเป็นหลักคำสอนที่เขาและผู้ร่วมความเชื่อในตรีเอกานุภาพยอมรับไม่ได้

      ไม่มีอะไรผิดปกติหรือเป็นไปได้ยากที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนหนึ่งจะยอมรับว่า “พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (การแปลของพยานพระยะโฮวา) ที่มีความเป็นไปได้ทางไวยากรณ์ โธมัส คอนสเตเบิลจากวิทยาลัยศาสนศาสตร์ดัลลัส ซึ่งเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนหนึ่งก็ยอมรับเช่นเดียว กันว่า “พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” นั้นเป็นไปได้ทางไวยากรณ์ แต่เขาก็ปฏิเสธเช่นเดียวกับโบว์แมน เพราะเป็นหลักคำสอนที่ยอมรับไม่ได้

พยานพระยะโฮวาใช้ข้อนี้ (ยอห์น 1:1) เพื่อสนับสนุนหลักคำสอนของพวกเขาว่า พระเยซูไม่ใช่พระเจ้าอย่างสมบูรณ์ แต่เป็นผู้ถูกสร้างที่สูงสุด พวกเขาแปลข้อนี้ว่า “พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง[72] ตามไวยากรณ์แล้วนี่เป็นการแปลที่เป็นไปได้ เนื่องจากมันถูกต้องตามหลักที่จะให้มีคำนำหน้านามเอกพจน์ที่ไม่ได้กล่าวถึงมาก่อน (“a”) เมื่อไม่มีคำนำหน้านามปรากฏในข้อความภาษากรีกในที่นี้   อย่างไรก็ตาม การแปลตรงนี้ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน เพราะเป็นการลดพระเยซูให้เป็นน้อยกว่าพระเจ้า (หนังสืออธิบายยอห์น 1:1 ของ ดร. คอนสเตเบิล)[73]

      ในการวิเคราะห์สุดท้ายนั้น ความขัดแย้งที่แท้จริงระหว่างผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกับพยานพระยะโฮวาเป็นเรื่องของหลักคำสอน ไม่ใช่เรื่องของวิธีการตีความทางไวยากรณ์ หลังจากที่เห็นด้วยใน 80% แรก พวกเขาจะเห็นแตกต่างกันใน 20% สุดท้าย กล่าวคือ ในเรื่องการอธิบายได้มากน้อยและถูกต้องแค่ไหนเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระเยซู คือระหว่าง “พระเจ้า” (God) กับ “พระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (a god) แต่แม้แต่เรื่องนี้พวกเขาก็เห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพพูดถึง “พระเจ้า” (God) ในยอห์น 1:1c พวกเขาไม่ได้หมายถึง “พระเจ้าที่เจาะจง” (the God) แต่หมายถึง “พระเจ้า” (God) ในความหมายเชิงคุณลักษณะของแก่นแท้หรือสภาวะของพระเจ้า ซึ่งคล้ายคลึงกับที่พยานพระยะโฮวาเข้าใจ “พระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (“a god”) ว่าหมายถึงพระเป็นเจ้าหรือเหมือนพระเจ้า อันที่จริงทั้งโบว์แมน (ในหน้า 63) และพยานพระยะโฮวา (ในเชิงอรรถในพระคัมภีร์ฉบับ NWT) ต่างยอมรับว่า “และพระวาทะทรงเป็นพระเป็นเจ้า” นั้นเป็นทางเลือกที่ใช้ได้ในการอ่านยอห์น 1:1c นอกจากนั้นก็เป็นหลักฐานเพิ่มเติมในการเห็นเหมือนกันระหว่างวิธีการตีความทางไวยากรณ์ตามลำดับของพวกเขา

      ในการวิเคราะห์สุดท้ายนั้น ความไม่เห็นด้วยของโบว์แมนกับพยานพระยะโฮวานั้นเป็นเพียงผิวเผิน ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการอธิบายความเป็นพระเจ้าของพระวาทะ คือ “พระเจ้า” (God) กับ “พระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (a god) ในความหมายเชิงคุณลักษณะของทั้งสอง เมื่อคุณคิดถึงเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเห็นไม่ตรงกันทางศาสนศาสตร์ในเรื่องความหมายเชิงคุณลักษณะ ของ theos ในยอห์น 1:1c ความจริงแล้วโบว์แมนใช้หลายหน้าเพียงเพื่อจะพิสูจน์ว่า ความเข้าใจเชิงคุณลักษณะของเขาเกี่ยวกับ theos นั้นดีกว่าความเข้าใจเชิงคุณลักษณะของพยานพระยะโฮวาเกี่ยวกับ theos!

      โบว์แมนไม่ยอมพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ pros ยอห์น 1:1 เป็นการอ้างอิงถึง เพราะนี่จะทำให้ยอห์น 1:1b อ่านว่า “พระวาทะได้อ้างอิงถึงพระเจ้า”[74] ซึ่งสอดคล้องกันอย่างดีกับข้อความถัดไปว่า “พระวาทะเป็นพระเจ้า” โดยไม่ลดความเป็นบุคคลของ “พระเจ้า” โบว์แมนไม่เคยพิจารณาความเป็นไปได้นี้เพราะมันจะทำให้ข้อสันนิษฐานตามความเชื่อตรีเอกานุภาพของเขาอ่อนลง แต่ยังเป็นเพราะผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเห็นดีเห็นงามกับพยานพระยะโฮวาเรื่องความหมายของ pros ในยอห์น 1:1b ของ (โบว์แมน หน้า 25)

 

ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตีความยอห์น 1:1 แตกต่างจากทั้งความเชื่อในตรีเอกานุภาพและพยานพระยะโฮวา

      โดยสรุปแล้ว ตอนนี้เราจะระบุอย่างเร็วถึงความแตกต่างที่สำคัญหกประการระหว่างความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ไว้ฝ่ายหนึ่ง และความเชื่อในตรีเอกานุภาพกับพยานพระยะโฮวาไว้อีกฝ่ายหนึ่งในการตีความยอห์น 1:1 ของพวกเขาตามลำดับ

      ประการแรก ทั้งสามความเชื่อสอนว่า “พระวาทะ” ในยอห์น 1:1 ดำรงอยู่ก่อน แต่ไม่เห็นด้วย กันว่าพระวาทะเป็นใคร คือจะเป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองที่เรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” (ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) หรือจะเรียกว่า “สิ่งที่เป็นวิญญาณ” ที่ไม่ใช่พระเจ้าหรือมนุษย์ (พยานพระยะโฮวา) หรือพระวาทะที่เป็นพระเจ้าเอง โดยนามนัย (ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว, เปรียบเทียบกับ “พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”)[75]

      ประการที่สอง การที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพและพยานพระยะโฮวา อ่าน pros ในยอห์น 1:1 ด้วยความหมายรอง (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) นั้นสร้างความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c ในทางตรงกันข้าม ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ อ่าน pros ด้วยความหมายหลัก (“พระวาทะชี้มายังพระเจ้า” หรือ “พระวาทะอ้างอิงถึงพระเจ้า”)[76] ซึ่งทำให้ไม่มีความขัดแย้งดังกล่าว และที่จริงไหลลื่นอย่างเป็นธรรมชาติไปยังยอห์น 1:1c (“และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”)

      ประการที่สาม เพื่อแก้ไขความขัดแย้งนี้ ทั้งความเชื่อในตรีเอกานุภาพและพยานพระยะโฮวาจึงถูกบีบให้เปลี่ยนความหมายของ theos (“พระเจ้า”) ในการเปลี่ยนจากยอห์น 1:1b ไปยอห์น 1:1c ขณะที่ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว มีความสอดคล้องกันทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความหมายของ “พระเจ้า”

      ประการที่สี่ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพและพยานพระยะโฮวา ไม่สามารถจะอ่านยอห์น 1:1c (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) ในลักษณะที่ตรงไปตรงมาว่ามีอัตลักษณ์ที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ตรงนี้ว่าเป็นการอ้างอิงถึงแก่นแท้ของพระเจ้า นั่นหมายถึงเป็นการลดความเป็นบุคคลของคำว่า “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c มาเป็นแก่นแท้หรือสภาวะของพระเจ้า แต่ในทางตรงข้าม ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวอ่านยอห์น 1:1c (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) ในลักษณะที่ตรงไป ตรงมาที่คงความเป็นบุคคลของพระเจ้า และระบุพระวาทะกับตัวพระเจ้าเอง สมการของอัตลักษณ์ที่เท่าเทียมกันนี้ (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) ไม่ควรใช้เหมือนกับสมการทางคณิตศาสตร์ แต่เป็นความจริงที่ “พระวาทะ” อ้างอิงถึงพระเจ้าโดยนามนัย

      ประการที่ห้า ความเชื่อในตรีเอกานุภาพและพยานพระยะโฮวา จำเป็นต้องแปลความหมายยอห์น 1:1c ให้หมายความอย่างที่พวกเขาเชื่อว่าหมายถึง (โบว์แมนยังอธิบายการแปลยอห์น 1:1c ของเขาว่า “การแปลแบบใช้สำนวนใหม่”) แต่ในทางตรงข้าม ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ไม่จำเป็นต้องใช้สำนวนใหม่กับยอห์น 1:1c เพราะความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวใช้การอ่านยอห์น 1:1c (“และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) แบบตรงๆ

      ประการที่หก พยานพระยะโฮวาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในตรีเอกานุภาพ จำเป็นต้องใช้คำศัพท์นอกพระคัมภีร์มาอธิบายการตีความยอห์น 1:1 และ 1:14 ของพวกเขา ในกรณีของพยานพระยะโฮวานั้น คำศัพท์ที่ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ที่เข้ามาในความคิดก็คือ สิ่งที่เป็นวิญญาณ (ดูคำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง) ในกรณีของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ มีรายการคำศัพท์นอกพระคัมภีร์อยู่มากที่ใช้ความพยายามแบบเฉไฉในการอธิบายความเข้าใจยอห์น 1:1 และ 1:14 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เช่น ตรีเอกานุภาพ ความเป็นพระเจ้าเดียว พระเจ้าพระบุตร แก่นแท้ การมีแก่นแท้เดียวกัน การดำรงอยู่ร่วมกัน พระองค์ที่สอง สองสภาวะ เป็นพระเจ้าขณะเดียวกันก็เป็นมนุษย์ การบังเกิดจากพระบิดาและดำรงอยู่ด้วยตั้งแต่นิรันดร์กาล ความสัมพันธ์ในตรีเอกภาพ ความเป็นพระเจ้าและมนุษย์ในพระเยซูคริสต์[77] และอื่นๆอีก  แต่ในทางตรงกันข้าม ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว จะยึดอยู่กับคำศัพท์พื้นฐานของยอห์นเพื่ออธิบายยอห์น 1:1 และ 1:14 (แม้แต่memra ก็หมายถึงdabar หรือlogos หรือword ทั้งสี่คำ[78] นี้เป็นการอ้างอิงที่เป็นคำนามนัยถึงพระยาห์เวห์พระเจ้าในภาษาอาราเมค ภาษาฮีบรู ภาษากรีก และภาษาอังกฤษตามลำดับ)

 

คำอธิบายเพิ่มเติม: พยานพระยะโฮวาเกี่ยวกับเรื่องการกำเนิดของพระเยซูคริสต์

      นึ่งในคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับสิ่งที่พยานพระยะโฮวาสอนในเรื่องการกำเนิดของพระเยซูคริสต์มีอยู่ในหนังสือของพวกเขาเองที่ชื่อพระคัมภีร์สอนอะไรจริงๆ?[79] (2005, 224 หน้า)

      นี่เป็นบทสรุปของประเด็นสำคัญในบทที่ 4 ของหนังสือเล่มนี้ (หน้า 37-45, พระเยซูคริสต์คือใคร?) คือก่อนการสร้างจักรวาล พระเจ้าทรงสร้างพระบุตรของพระเจ้า ซึ่งเป็น “สิ่งที่เป็นวิญญาณ” ที่ไม่ใช่ทั้งพระเจ้าหรือมนุษย์ และไม่มีร่างกาย (สิ่งที่เป็นวิญญาณทั้งหลายรวมถึงเหล่าทูตสวรรค์[80] หน้า 96) พระเยซูถูกกล่าวว่าเป็นพระบุตร “องค์เดียวที่มาบังเกิด” เพราะพระองค์ทรงเป็นบุคคลผู้เดียวเท่านั้นที่พระเจ้าได้ทรงสร้างโดยตรง แล้วพระเจ้าได้ทรงสร้างส่วนที่เหลือของจักรวาลโดยทางพระบุตร ก่อนที่พระบุตรจะทรงมาบังเกิดในโลกนี้ พระองค์ทรงเป็น “พระวาทะ” ผู้ทรงส่งถ้อยคำของพระเจ้าไปถึงบรรดาบุตรคนอื่นๆของพระเจ้า “ทั้งที่เป็นวิญญาณและมนุษย์” เมื่อพระวาทะทรงมาเป็นมนุษย์ พระบุตรได้เสด็จออกจากสวรรค์มาอยู่บนโลกอย่างมนุษย์ สิ่งที่เป็นวิญญาณที่เคยเป็นพระบุตรของพระเจ้าได้มาเป็นมนุษย์เมื่อพระเยโฮวาห์ทรงย้ายชีวิตของพระบุตรจากสวรรค์มาสู่ครรภ์ของมารีย์ พระเยซูทรงมาเป็นพระเมสสิยาห์เมื่อพระองค์ทรงรับบัพติศมาในช่วงหลังของปี ค.ศ. 29 และหลังจากที่พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์แล้ว “พระบิดาในสวรรค์ของพระองค์ได้ทรงให้พระองค์ฟื้นคืนชีวิตที่เป็นวิญญาณ” ในวันที่สาม

      ในภาคผนวกหนึ่งมีว่า “มีคาเอลหัวหน้าทูตสวรรค์คือใคร?” (หน้า 218-219) คำตอบที่ให้ไว้ก็คือ “พระเยซูเองคือหัวหน้าทูตสวรรค์มีคาเอล”

      ข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงก็คือ พยานพระยะโฮวาปฏิเสธเรื่องที่พระกายของพระเยซูฟื้นขึ้นจากความตาย พวกเขาสอนว่าพระเยซูทรงถูกชุบให้เป็น “วิญญาณที่ไม่สามารถมองเห็นได้” โดยไม่มีร่างกายมนุษย์ (ขอให้พระนามของพระองค์ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์[81] หน้า 266) พระเยซู “ไม่ได้ถูกทำให้เป็นขึ้นจากอุโมงค์ฝังศพมาเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต แต่ถูกชุบขึ้นให้เป็นวิญญาณ” (ขอให้พระเจ้าทรงสัตย์จริง[82] หน้า 272) เพราะพระองค์ไม่สามารถ “กลับเป็นมนุษย์ได้อีกครั้ง” (คุณสามารถมีชีวิตอยู่ตลอดไปในสวรรค์บนโลก[83] หน้า 143) ความร้ายแรงของข้อผิดพลาดนี้อยู่ที่การปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของพระเยซู พระองค์เป็นสิ่งที่เป็นวิญญาณอย่างแท้จริงซึ่งไม่ใช่มนุษย์หรือพระเป็นเจ้า และเป็นมนุษย์เพียงชั่วคราวในช่วงที่พระองค์ทรงอยู่บนโลก การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูไม่ใช่การฟื้นคืนพระชนม์ทางร่างกาย แต่เป็นแค่การกลับสู่สภาพที่แท้จริงที่เป็นสิ่งที่เป็นวิญญาณ

      ข้อผิดพลาดนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่พระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ตรัสว่า “จงดูที่มือและเท้าของเราว่าเป็นเราเอง จงคลำตัวเราดู เพราะว่าผีไม่มีเนื้อและกระดูกเหมือนอย่างที่พวกท่านเห็นว่าเรามี (ลูกา 24:39)

      ข้อผิดพลาดมากมายทางศาสนศาสตร์เกิดจากความล้มเหลวที่มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์แท้ของพระเยซูคริสต์ ไม่ว่าเราจะพูดถึงผู้เชื่อกลุ่มนอสติก ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ผู้เชื่อตามแบบเอเรียส หรือพยานพระยะโฮวา

 

ยอห์น 1:1-3 มาจากปฐมกาล ไม่ใช่จากไฟโล

“พระวาทะ” ในยอห์น 1:1-3

      ตอนนี้เราจะอ้างถึงยอห์น 1:1-2 สามทางที่แตกต่างกัน (i) จากพระคัมภีร์หลัก (ii) การแปลตรงตัวจากภาษากรีก (iii) การแปลตรงตัวเหมือนกับข้อ (ii) แต่มีความคิดเห็นสอดแทรก (แสดงให้เห็นเป็นตัวหนา)

อห์ 1:1-2[84] 1ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า 2พระองค์ทรงอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ปฐมกาล

อห์ 1:1-2 การแปลตรงตัว[85] 1ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่ และพระวาทะมีการอ้างอิงถึงพระเจ้า และพระวาทะเป็นพระเจ้า 2 สิ่งนี้ในปฐมกาลมีการอ้างอิงถึงพระเจ้า

อห์ 1:1-2 การแปลตรงตัวพร้อมความคิดเห็นสอดแทรก

1ในปฐมกาล (อ้างอิงถึงปฐมกาล 1:1) พระวาทะทรงดำรงอยู่ (นามนัยสำหรับพระยาห์เวห์) และพระวาทะมีการอ้างอิงถึงพระเจ้า (“กำลังระบุถึงพระเจ้า”, ITNT[86]) และพระเจ้าเป็นพระวาทะ 2 สิ่งนี้ (พระวาทะ) ในปฐมกาล (การอ้างอิงอีกถึงปฐมกาล 1:1) มีการอ้างอิงถึงพระเจ้า

      ถ้าในข้อ 2 เราย้ายคำ “ในปฐมกาล” ไปไว้ตรงเริ่มต้นของข้อ เพื่อให้เข้ากับโครงสร้างของข้อ 1 เราจะเห็นความคล้ายคลึงกันอย่างชัดเจนดังนี้

      ข้อ 1 “ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่ และพระวาทะมีการอ้างอิงถึงพระเจ้า”

      ข้อ 2 “ในปฐมกาล พระวาทะนี้มีการอ้างอิงถึงพระเจ้า”

      การพูดซ้ำนั้นแน่นอนว่าเพื่อเป็นการเน้นย้ำ อย่างเดียวกันกับการเน้นในการใช้คำ “พระวาทะ” สามครั้งในยอห์น 1:1 และข้อ 3 (ฉบับ ESV) กล่าวดังนี้

ข้อ 3 สรรพสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์ และถ้าปราศจากพระองค์ก็ไม่มีสักสิ่งเดียวที่ได้ถูกสร้างขึ้น

      ในครึ่งแรกของข้อนี้ (“สรรพสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์”) ชี้ไปที่พระยาห์เวห์ว่าเป็นพระผู้สร้าง นี่เป็นครั้งที่สาม (ในสามข้อเท่านั้น!) ที่ยอห์นกลับไปที่ปฐมกาล 1:1 เพื่อให้เข้าใจชัดเจนว่ายอห์น 1:1-3 นั้นจะต้องมีความเข้าใจว่าเกี่ยวโยงกับปฐมกาล

      ข้อ 1 และ 2 ในคำขึ้นต้นของยอห์น จะคล้ายกันกับในครึ่งแรกของปฐมกาล 1:1 (“ในปฐมกาลพระเจ้า...”) ในขณะที่ข้อ 3 จะคล้ายกับปฐมกาล 1:1 ทั้งข้อ (“ในปฐมกาล พระเจ้าได้ทรง​​สร้างฟ้าสวรรค์และโลก”) เพราะว่า “พระเจ้า” ในเรื่องราวของปฐมกาลกล่าวถึงพระยาห์เวห์ ได้มียืนยันในปฐมกาล 2:4 ว่า “นี่คือเรื่องราวการทรงสร้างฟ้าสวรรค์และโลก เมื่อพระยาห์เวห์พระเจ้าทรง​​สร้างโลกและฟ้าสวรรค์”

      แม้แต่ในหลักข้อเชื่อไนเซีย ก็มีพระเจ้าพระบิดาเท่านั้น ไม่ใช่พระเจ้าพระบุตร ที่เป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่งที่มองเห็นได้และที่มองไม่เห็น แต่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไปไกลกว่าหลักข้อเชื่อเมื่อพวกเขากล่าวว่าพระบุตรเป็นพระผู้สร้าง หรือเป็นพระผู้สร้างร่วมกับพระบิดา ฉะนั้นพวกเขาจึงใช้ยอห์น 1:3 (“สรรพสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์”) กับพระเยซูซึ่งพวกเขาเทียบให้เท่ากับพระวาทะ

      เมื่ออ่านห์น 1:1-3 มีข้อเท็จจริงสองข้อที่หนักแน่นและโต้แย้งไม่ได้ ซึ่งต้องจดจำไว้ก็คือ (1) ไม่มีที่ไหนเลยที่ยอห์นระบุว่าพระวาทะเป็นบุคคลเดียวกับพระเยซู (2) ปฐมกาลบทที่ 1 ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลใดหรือบุคคลที่มีอยู่จริงใดๆที่ทำงานเคียงข้างกับพระเจ้าในเรื่องการทรงสร้าง

      เราจะต้องจำไว้ด้วยว่าคำขึ้นต้นของยอห์นเป็นคำกวี ข้อเท็จจริงนี้รู้กันอย่างกว้างขวางในงานวิชา การพระคัมภีร์ใหม่ แม้จะมีการถกเถียงกันบ้างว่าเป็นบทเพลงหรือไม่[87]

      ตอนนี้เราจะกล่าวต่อไปตามนี้ (i) พิจารณาการใช้ Logos ของไฟโลในการตีความคำขึ้นต้นของยอห์นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (ii) แสดงให้เห็นว่าทำไม Logos ของไฟโลจึงไม่สามารถนำมา ใช้สนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ (iii) แสดงให้เห็นว่ายอห์น 1:1-3 มีรากฐานมาจากปฐมกาล ไม่ใช่ไฟโล (iv) แสดงให้เห็นว่าการสร้างในปฐมกาลนั้นทำการสร้างโดยพระยาห์เวห์แต่ลำพัง โดยไม่มีความช่วยเหลือใดๆจากตัวแทนสำรอง และเพราะฉะนั้นยอห์น 1:3 (“สรรพสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์”) จึงหมายถึงพระยาห์เวห์ ไม่ใช่พระเยซู

 

ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้โลกอสของไฟโล

      ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพสันนิษฐานว่า “พระวาทะ” ในยอห์น 1:1 คือพระเยซูคริสต์ผู้ดำรงอยู่ก่อน แม้ว่าจะไม่มีวี่แววของผู้ที่เป็นพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระยาห์เวห์ในพระคัมภีร์เดิม ข้อในพระคัมภีร์เดิมที่มักถูกอ้างเป็นหลักฐานของพระเจ้าตรีเอกภาพก็คือปฐมกาล 1:26 ที่พระเจ้าตรัสว่า “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา ตามอย่างของเรา” ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าพหูพจน์ “เรา” ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงลักษณะตรีเอกภาพของพระเจ้า แม้จะมีคำอธิบายที่เป็นอีกหลายทางเลือก และแม้จะไม่มีการอ้างอิงใดๆที่ชัดเจนว่าใครอาจเป็นบุคคลที่สองที่เป็นพระเจ้าในปฐมกาล 1:26 เราจะไม่พิจารณาข้อนี้ในตอนนี้นอกจากจะชี้ให้เห็นว่าผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนไม่ยอมรับการตีความปฐมกาล 1:26 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

  • คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับซอนเดอร์วาน (เอฟ เอฟ บรูซ ผู้รวบรวม) เกี่ยวกับปฐมกาล1:26 “ลอยโพลด์[88]ยังโต้แย้งอย่างรุนแรงกับมุมมองของคริสเตียนที่มีความเชื่อแบบดั้งเดิมว่า พหูพจน์นั้นหมายถึงตรีเอกานุภาพ” ซึ่งนี่ไม่ควรจะปฏิเสธเสียทีเดียว แต่โดยลักษณะของมันแล้วไม่ได้ทำให้เชื่อมั่น... น่าจะเป็นว่าเหนือสิ่งอื่นใดนั้นพหูพจน์มีไว้เพื่อจะทำให้เห็นความสำคัญและความจริงจังในการตัดสินใจของพระเจ้า
  • ในเชิงอรรถของพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช (NET) เกี่ยวกับปฐมกาล1:26กล่าวไว้ว่า “นักศาสนศาสตร์คริสเตียนส่วนใหญ่ตีความ [พหูพจน์ “เรา”] ว่าเป็นการบอกให้ทราบตั้งแต่แรกถึงความเป็นพหูพจน์ภายในความเป็นพระเจ้า แต่มุมมองนี้กำหนดแนวคิดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในภายหลังเกี่ยวกับต้นฉบับโบราณ”
  • ดร. โธมัส คอนสเตเบิล ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจากสถาบันพระคริสตธรรมดัลลัสกล่าวว่า “เราไม่ควรใช้ [พหูพจน์ “เรา”] เป็นหลักฐานอย่างเป็นทางการของตรีเอกานุภาพ เนื่องจากการอ้างอิงนี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าพระเจ้าองค์เดียวดำรงอยู่ในสามองค์บุคคล” (หนังสืออธิบาย, ปฐมกาล 1:26)[89]
  • คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ตอนสำคัญๆซึ่งมี20เล่มที่รวบรวมโดยผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่ชื่อเจมส์ เฮสติงส์[90] ได้อธิบายเกี่ยวกับปฐมกาล1:26ไว้ว่า “เราทราบมาว่าภาษาที่กล่าวถึงในการทรงสร้าง เช่น ให้เราสร้างมนุษย์’ นั้นบอกถึงหลักคำสอนเกี่ยวกับการมีหลายบุคคลอยู่ในความเป็น     พระเจ้า... เราทราบมาอีกว่า เราจะต้องยึดถือเรื่องนี้ตามหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพ มุมมองเช่นนี้ช่างไม่มีเหตุผล มีแต่ความโง่เขลาเท่านั้น
  • คีลและเดลิทซ์มองว่าพหูพจน์ “เรา” ในปฐมกาล 1:26 เป็นคำพหูพจน์สำหรับกษัตริย์[91]มากกว่าการอ้างอิงถึงพระเจ้าตรีเอกภาพ และเป็นการเผยให้เห็น “ความบริบูรณ์ของอำนาจและแก่นแท้ซึ่ง [พระเจ้า] ทรงครอบครอง”
  • คู่มืออธิบายตอนจากพระคัมภีร์: การตีความทางศาสนศาสตร์ของตอนจากพระคัมภีร์สำหรับวันอาทิตย์,[92]เกี่ยวกับปฐมกาล 1:1-2, 4a กล่าวว่า “แต่ทั้งนี้ ปฐมกาลบทที่1 ไม่ใช่ตัวบทที่เกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างชัดเจน” แม้ว่าผู้อธิบายที่เป็นคริสเตียนในประวัติศาสตร์จะถูก ล่อใจด้วยคำแนะนำว่าเป็นพหูพจน์จาก ‘ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา...’ นักวิชาการฮีบรูปฏิเสธความคิดนี้นานมาแล้วว่านี่หมายถึงการมีหลายบุคคลอยู่จริงภายในพระเจ้า สิ่งนี้ไม่ได้อยู่ในความคิดของผู้เขียนปฐมกาล และดังนั้นผู้อ่านในภายหลังก็ไม่ควรเข้าใจแบบนั้นเช่นกัน

      การที่พระคัมภีร์เดิมไม่มีผู้ที่เป็นพระเจ้าผู้อยู่ข้างๆพระยาห์เวห์นั้น เห็นชัดว่าเป็นเรื่องที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจมาก เพราะบางคนได้รับเอาแนวคิดมาจากไฟโลซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวยิว (ราวๆ 20 ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 50) ที่ว่าพระวาทะ (Logos) เป็น “พระเจ้าพระองค์ที่สอง”

      ไฟโลช่ำชองในปรัชญาและหลักเทววิทยาของกรีก และใช้แนวความคิดแบบกรีกเพื่อส่งเสริมศาสนาของยิว เขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ Logos (พระวาทะ) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ดึงดูดใจอย่างยิ่งกับคนต่างชาติที่ชุ่มโชกในวัฒนธรรมกรีก มันเป็นแนวความคิดที่โดดเด่นในปรัชญากรีกที่สอนโดย เฮราคลิตัส, โซเครติส, เพลโต, อริสโตเติล, ผู้ยึดถือปรัชญาสโทอิค,[93] และคนอื่นๆ 

      สิ่งที่ทำให้ Logos ของไฟโลเป็นประโยชน์กับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ แม้ไฟโลจะสอนว่า Logos เป็นเพียงตัวกลางที่เป็นนามธรรมระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ โดยในสองสามคำกล่าวที่เขาเรียก Logos ว่า “พระเจ้าพระองค์ที่สอง” ดังนั้นบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจึงสรุปว่ายอห์นได้รับเอาแนวความคิดเกี่ยวกับ Logos (พระวาทะ) ของไฟโลว่าเป็น “พระเป็นเจ้าพระองค์ที่สอง” และได้นำมาใช้กับยอห์น 1:1 เพื่อประกาศว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าพระองค์ที่สอง ตอนนี้เราจะแสดงให้เห็นว่าการใช้ Logos ของไฟโลตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นไม่ถูกต้องและไม่มีหลักฐาน

      เราจะเห็นว่าไฟโลไม่ได้ถือว่า Logos เป็นสิ่งที่เท่าเทียมกับพระเจ้า แต่ถือว่าเป็นแนวความคิดแบบนามธรรมที่แตกต่างจากพระเจ้าและอยู่ใต้บัญชาพระองค์ นี่แทบไม่น่าแปลกใจเลยเพราะไฟโลมีใจเป็นยิวและเป็นผู้เชื่อที่เคร่งครัดในพระเจ้าองค์เดียว แม้ว่าเขาจะใช้ภาษาที่เป็นนามธรรมเพื่อทำให้ Logos เป็นบุคคล แต่เขาก็ไม่ได้เชื่อว่าจะเป็นบุคคลจริงๆ แต่ถือว่า Logos เป็นแนวความคิดทางปรัชญา แต่จากการที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนอ้างอิงถึงไฟโลบ่อยๆ จึงทำให้อาจมีความเข้าใจอย่างผิดๆว่าไฟโลเป็นคริสเตียน![94]

      ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนต่างยอมรับโดยไม่มีหลักฐานว่ายอห์นซึ่งเป็นชาวประมง ก็รู้เรื่องปรัชญาของไฟโล สำหรับพวกเขาแล้วความเชื่อมโยงก็ปรากฏชัดและไม่จำเป็นต้องมีข้อพิสูจน์ มีการยอมรับต่อไปว่าเพราะยอห์นรู้เรื่องปรัชญาของไฟโล เขาจึงอ้าแขนรับและได้รวมเอา Logos (พระ วาทะ) ของไฟโลไว้ในพระกิตติคุณของเขา

      ความจริงก็คือ ไฟโลไม่ได้คิดว่า Logos เป็นบุคคลจริง แต่เป็นแนวความคิดทางศาสนาและปรัชญา แต่นี่ไม่ได้ขัดขวางผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนจากการยึดถือไฟโลที่ทำให้ Logos ในยอห์น 1:1 เป็นพระเจ้าองค์ที่สอง พวกเขาทำเช่นนี้ก็เพราะไม่มีอะไรในพระคัมภีร์ที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของพระเจ้าพระองค์ที่สองที่เรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร”

 

ไฟโลเป็นชาวยิวที่เคร่งศาสนาที่ทำให้ชีวิตของเขาเองตกอยู่ในอันตราย

      มีข้อมูลทางวิชาการมากมายสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับไฟโลและแนวคิดของเขา[95] แม้แนวคิดทางปรัชญาของเขาจะเป็นนามธรรมแต่ก็อธิบายหรือเข้าใจได้ไม่ยาก แต่เนื่องจากแนวคิดส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาของเรา เราจึงจะให้ข้อมูลโดยย่อเกี่ยวกับชีวประวัติของไฟโลและพูดถึงคำสอนบางอย่างของเขา

      ไฟโลแห่งอเล็กซานเดรีย (ราว 20 ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 50) หรือที่เรียกกันว่าไฟโล ยูเดียส เกิดก่อนพระเยซูและเสียชีวิตหลังจากพระเยซู เขาเป็นนักปรัชญาชาวยิวที่พูดภาษากรีกที่อาศัยอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรียในประเทศอียิปต์ เขามีชื่อเสียงในเรื่องความพยายามจะผสมกลมกลืนปรัชญากรีกกับคำสอนทางศาสนาของยิวเข้าด้วยกัน ตลอดจนรวมปรัชญาเพลโตกับคำสอนโมเสสไว้ในระบบปรัชญาเดียว

      ไฟโลเป็นผู้ที่โจซีฟัสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรกรู้จักดี ผู้ที่กล่าวไว้ในชุดหนังสือประวัติศาสตร์เก่าแก่ของชาวยิว[96]ว่าไฟโลมีความเชี่ยวชาญในด้านปรัชญา โจซีฟัสยังกล่าวอีกว่าไฟโลปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะยกย่องจักรพรรดิโรมันเป็นพระเจ้า และต่อต้านอย่างเปิดเผยกับแผนการของจักรพรรดิคาลิกูลา[97] ที่จะสร้างรูปปั้นของตัวเองในพระวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม อันที่จริงไฟโลเป็นกระบอกเสียงที่เห็นได้ชัดที่สุดของชาวยิวในการต่อต้านการสร้างรูปปั้นของจักรพรรดิคาลิกูลาไว้ในธรรมศาลาต่างๆแห่งอเล็กซานเดรีย มันเป็นจุดยืนที่อันตรายสำหรับไฟโลที่ทำเช่นนั้น เพราะความวุ่นวายทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวโรมันกำลังตรึงกางเขนชาวยิวในอเล็กซานเดรีย

      เราพูดถึงการต่อต้านการกราบไหว้จักรพรรดิโรมันอย่างเปิดเผยและกล้าหาญของไฟโลเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไฟโลเป็นชาวยิวที่เด็ดเดี่ยวในการตอบสนองไวเกี่ยวกับศาสนาของเขา ความจริงแล้วเขาเป็นผู้ที่เคร่งกับความเชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียว

      ความเป็นยิวที่เคร่งศาสนาของไฟโลถูกระบุไว้โดยยูซีเบียสแห่งซีซาเรีย (ราว ค.ศ. 263-339) ที่รู้จักกันว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์คริสตจักรเพราะหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของคริสตจักร[98]ของเขา เขากล่าวว่าไฟโลเป็นชาวยิวที่ช่ำชองในคำสอนของบรรพชนของเขา รวมทั้งในกฎบัญญัติและธรรมเนียมปฏิบัติของชาติยิว เขายืนยันว่าไฟโลเรียก Logos ว่า “พระเจ้าพระองค์ที่สอง”

      แต่คำอธิบายของยูซีเบียส (ดูภาคผนวก 9 ของหนังสือเล่มนี้) เกี่ยวกับ “พระเจ้าองค์ที่สอง” ที่ไฟโลหมายถึงนั้นไม่ได้ช่วยอะไรผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะไม่มีความคล้ายคลึงกับพระวาทะในยอห์น 1:1 อย่างที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเข้าใจ (ว่าพระวาทะเป็นพระองค์ที่สองที่เป็นพระเจ้า) ยูซีเบียสกล่าวในทางตรงกันข้ามว่า ไฟโลนำเสนอ “พระเจ้าองค์ที่สอง” เพื่อเป็นวิธีหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงโดยตรง โดยที่ไม่มีใครมาแทรกกลางระหว่างความเป็นพระเจ้ากับมนุษย์ และความเป็นอมตะกับไม่อมตะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำสอนว่ามนุษย์ถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า แทนที่จะถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า แต่มนุษย์ถูกพูดถึง (โดยไฟโล) ว่าถูกสร้างขึ้นในทางอ้อมตามพระฉายาของ “พระวาทะของพระเจ้า”[99]

      นั่นคือความเข้าใจของยูซีเบียสที่มีต่อไฟโล แล้วตัวของไฟโลเองล่ะมีความเข้าใจอย่างไร? เขาสอนไหมว่า Logos หรือพระเจ้าองค์ที่สองเป็นพระเป็นเจ้าไหม? Logos ของเขาเป็นบุคคลจริงๆไหม? คำตอบของทั้งสองคำถามนี้ก็คือ “ไม่ใช่” ที่สามารถตรวจสอบได้จากงานเขียนของไฟโลเอง เราจะข้ามรายละเอียดไปและจะให้ข้อสรุปสั้นๆสองสามประเด็น ผู้ที่สนใจในรายละเอียดก็ให้ค้นดูได้ในภาคผนวก 9

 

Logos ที่ไฟโลหมายถึงจริงๆ (สรุปโดยย่อ)

      หนึ่งในหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับไฟโลที่หาอ่านได้ง่ายสุดก็คือ คู่มือสรุปงานเขียนของไฟโล ของเคนเน็ธ เชงค์[100] ซึ่งเป็นบทนำแรกที่สำคัญเกี่ยวกับไฟโลในช่วงเสี้ยวหนึ่งของศตวรรษ[101] หนังสือของเชงค์โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับศาสนาหรือเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา แต่เกี่ยวกับไฟโลและงานเขียนแนวปรัชญาของเขา ซึ่งหมายความว่าหนังสือเล่มนี้มีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีแรงจูงใจมาจากหลักคำสอนในการตีความไฟโลผ่านปริซึมหักเหของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (ไม่มีการถกเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ นอกเหนือจากการตรวจสอบ logos ของยอห์นในบทนั้น, “ไฟโลกับคริสต์ศาสนา”) ต่อไปนี้คือบทสรุปคำอธิบายของเชงค์ (หน้า 58-62) ถึง logos ที่ไฟโลหมายถึง

  • ไฟโลสอนว่าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่ง
  • บางครั้งไฟโลพูดถึง logosว่าเป็น “พระเจ้าองค์ที่สอง”
  • ไฟโลกล่าวว่าหลายคนเข้าใจผิดว่า logos ของเขาเป็นพระเจ้า
  • บางครั้งไฟโลแสดงให้เห็นว่า logos เป็นเหตุผลในการดำเนินการของพระเจ้า และบางครั้งก็เป็นขอบเขตระหว่างพระเจ้ากับการทรงสร้างของพระองค์
  • ไฟโลกล่าวว่า logos ไม่ใช่ทั้งถูกสร้างขึ้นหรือไม่ได้ถูกสร้างขึ้น แต่เขาก็ให้ logos อยู่ในพวกที่ถูกสร้างขึ้นของการทรงสร้าง
  • ไฟโลไม่ได้เห็นว่า logos เป็นบุคคล แต่มีตัวตน แม้จะไม่ใช่บุคคลโดยเฉพาะ

      สำหรับรายละเอียดโปรดดูภาคผนวก 9 ไฟโลไม่ได้สอนว่า logos เป็นบุคคลจริง แต่ผู้ที่เชื่อในทวิเอกานุภาพ[102]บางคนในยุคแรกๆเห็นว่า logos ของไฟโลมีประโยชน์กับหลักคำสอนของพวกเขา บรรดาผู้นำคริสตจักรยุคแรกๆที่ชุ่มโชกในความคิดแบบกรีก เช่น จัสติน ผู้พลีชีพ หนึ่งในบรรดานักตีความ logos ที่สำคัญที่สุดก็พร้อมรับเอาแนวความคิดนี้ คำกล่าวที่ต่อต้านชาวยิวอย่างแรงของเขาในหนังสือของเขาที่ชื่อการโต้ตอบกับไทรโฟ[103] แสดงให้เห็นถึงระดับของการเบี่ยงเบนออกไปจากรากเหง้าของความเชื่ออย่างชาวยิวของเขา คำกล่าวของเขารวมถึงคำกล่าวที่คล้ายกันของบรรพบุรุษคนอื่นๆในคริสตจักรยุคแรกๆได้เร่งให้เกิด “การแยกคนละทางกัน” ระหว่างชาวยิวกับชาวคริสต์

 

ในวงวิชาการก็รู้ว่า Logos ของไฟโลไม่ใช่บุคคล

ปัญหาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับการใช้ Logos ของไฟโลกับยอห์น 1:1 มีสามประการ ประการแรก ไฟโลเป็นชาวยิวที่เคร่งในความเชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียว ประการที่สอง ไม่มีหลักฐานว่ายอห์น หรือแม้แต่ผู้รอบรู้อย่างเปาโลจะรู้จักไฟโล จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงการใช้คำสอนของเขา ประการที่สาม แม้ว่าไฟโลจะตั้งใจให้ Logos เป็นตัวกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ Logos ของเขาก็ไม่เทียบเท่ากับพระเจ้า และก็ไม่ได้เป็นบุคคลจริงๆ ประเด็นสุดท้ายนี้ระบุไว้โดยสารานุกรมคาทอลิก, สารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับอินเตอร์เนชันแนลแสตนดาร์ด, และสารานุกรมยูเดคา[104] (คำกล่าวในสารานุกรมเหล่านี้มีในภาคผนวก 9)

       ผู้อ่านที่มีความสนใจคำกล่าวต่างๆของไฟโลเอง ก็มีอ้างอิงอีกในภาคผนวก 9 ของหนังสือเล่มนี้ มีการอ้างอิงมากมายจากหนังสือ งานเขียนของไฟโล ซึ่งแปลโดย ซี ดี ยอนช์[105] เนื่องจากผู้อ่านส่วนใหญ่อาจจะอยากอ่านข้ามภาคผนวกนี้ เราจึงจะกล่าวถึงสั้นๆว่า คำอ้างอิงในภาคผนวก 9 จัดเป็นสามหัวข้อเพื่อแสดงให้เห็นว่าไฟโล (i) เชื่อในพระเจ้าเดียวและเพียงองค์เดียว (ii) ไม่เชื่อว่า Logos เป็นบุคคลจริงๆ และ (iii) อธิบายให้เห็นว่า “พระเจ้าองค์ที่สอง” นั้นไม่ใช่บุคคลจริงๆ แต่เป็นคำพูด ความคิด และความตั้งใจที่ออกมาจากผู้ที่เป็นพระเจ้า

      แนวความคิดของไฟโลเกี่ยวกับพระเจ้าก็คือ เป็นผู้ที่อยู่ไกลโพ้นที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ตรงกันข้ามกันเลยกับพระเจ้าของพระคัมภีร์ เพราะพระองค์ทรงเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะเข้ามาหามนุษย์ ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงชีวิตของไฟโลนั้น พระเจ้าได้เสด็จเข้ามาในโลกมาประทับอยู่ในพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์ การเสด็จเข้ามาในโลกของพระยาห์เวห์เป็นถ้อยคำของคำขึ้นต้นของยอห์น และถ้อยคำของข่าวประเสริฐในพระคัมภีร์ใหม่

 

คำขึ้นต้นของยอห์นมีพื้นฐานมาจากปฐมกาล

      การพูดว่ายอห์นได้แนวความคิดของเขาเกี่ยวกับ Logos มาจากปรัชญากรีกโดยทางไฟโลนั้นไม่สมเหตุสมผล ในเมื่อยอห์นมีแนวคิดของพระคัมภีร์เกี่ยวกับ dibbur และ memra (“คำพูด”) อยู่แล้ว ยอห์นได้รับการดลใจจากพระคัมภีร์ฮีบรู ไม่ใช่จากปรัชญากรีกหรือจากหลักเทววิทยา

      ผู้รอบรู้ในหมู่ของอัครทูตนั้นไม่ใช่ยอห์น[106]แต่เป็นเปาโล ถ้าจะมีอัครทูตคนไหนที่รู้จักไฟโลแห่ง อเล็กซานเดรียในประเทศอียิปต์ คนนั้นจะต้องเป็นเปาโล ไม่ใช่ยอห์น แต่กระนั้นก็ไม่มีการพูดเปรยไว้ในจดหมายฉบับต่างๆของเปาโลว่าเขารู้เรื่องของไฟโล หรือได้ใช้ปรัชญาของเขาแต่อย่างใด และยิ่งกว่านั้น ยอห์น 1:1 ยังบอกเราด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่ายว่า พระวาทะเกี่ยวข้องกับปฐมกาล 1:1 (“ในปฐมกาล”) คำนี้กล่าวซ้ำอีกในข้อต่อมาว่า “ในปฐมกาล สิ่งนี้อยู่กับพระเจ้า”[107] กล่าวโดยย่อก็คือคำขึ้นต้นของยอห์นเกี่ยวข้องกับปฐมกาล 1:1 ไม่ใช่ไฟโล! เอ ที โรเบิร์ตสัน กล่าวว่า “มุมมองของยอห์นมาจากพระคัมภีร์เดิมและไม่ได้มาจาก ผู้ยึดถือปรัชญาแบบสโตอิก หรือแม้แต่มาจากไฟโลที่ใช้คำ Logos” (คำในพระคัมภีร์ใหม่ที่อธิบายให้เห็นภาพ,[108] ยอห์น 1:1) เอฟ เอฟ บรูซ[109] กล่าวในทำนองเดียวกันว่า

logos เป็นคำที่คุ้นเคยในโรงเรียนปรัชญากรีกบางแห่ง... คำนี้ไม่ได้ใช้ในหลักปรัชญากรีก แต่ถึงอย่างไรก็ควรค้นหาเบื้องหลังความคิดและภาษาของยอห์น... เราจะไม่พบเบื้องหลังที่แท้จริงของความคิดและภาษาของยอห์นในปรัชญากรีก แต่จะพบในการเปิดเผยของชาวฮีบรู (พระกิตติคุณยอห์น, หน้า 29)

      นยอห์น 1:1-3 เราจะพบสามคำอ้างอิงที่ชัดเจนถึงปฐมกาลบทที่ 1 (ดูคำที่เป็นตัวหนา)

1 ในปฐมกาล พระวาทะทรงดำรงอยู่และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้าและพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า

         2 พระองค์ทรงอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ปฐมกาล

              3 ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์ และไม่มีสิ่งใดที่ถูกสร้างขึ้นนั้นได้สร้างขึ้นโดยปราศจากพระองค์ (ฉบับ ESV)

      ถ้าเราพลาดสามคำอ้างอิงนี้ถึงปฐมกาลไปอย่างน่าแปลกใจ ก็ยังมีอีกในข้อ 10 ว่า “โลกถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์” ด้วยพระปัญญาของพระยาห์เวห์ พระองค์ทรงรู้วิธีที่จะไม่ปล่อยให้เรา “มีข้อแก้ตัวเลย” (โรม 1:20)!

      ในสมัยของยอห์นยังไม่มีระบบกำกับเลขบทหรือข้อในพระคัมภีร์ เพราะเรื่องนี้มีขึ้นในภายหลังมาก แล้วเช่นนั้นคนจะอ้างถึงพระคัมภีร์ตอนหนึ่งตอนใดในปฐมกาลหรือตอนอื่นๆในพระคัมภีร์ได้อย่างไร? การอ้างถึงมักจะทำโดยการอ้างถ้อยคำเริ่มต้น เช่นในกรณีนี้คือ “ในปฐมกาล” นี่คือคำอธิบายไว้โดยคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ที่เห็นการเชื่อมโยงของปฐมกาลในยอห์น 1:1 ดังนี้

เมื่อได้ยินถ้อยคำว่า “ในปฐมกาล” ใครๆในสมัยของยอห์นที่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ก็จะคิดถึงข้อเริ่มต้นของปฐมกาลทันทีว่า “ในปฐมกาล พระเจ้า ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” ...การตอกย้ำเรื่อง ราวของการทรงสร้างตรงนี้ต่อเนื่องกับการอ้างถึงพระคำของพระเจ้าที่ทรงพลานุภาพและทำให้เกิดผล (“และพระเจ้าตรัสว่า จงเกิดความสว่าง ความสว่างก็เกิดขึ้น”) (คู่มือเบื้องหลังพระคัมภีร์ใหม่พร้อมภาพประกอบของซอนเดอร์วาน, เล่ม 2, เกี่ยวกับยอห์น 1:1)[110]

      ในยอห์น 1:2 (“พระองค์ทรงอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ปฐมกาล”)[111] คำกรีกที่แปลเป็น “พระองค์” ก็คือคำ houtos ซึ่งหมายถึง “สิ่งนี้” ดังนั้นการแปลที่ถูกต้องมากกว่าก็คือ “สิ่งนี้อยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ปฐมกาล” ความหมายอย่างเดียวกันนี้จะพบในฉบับคิงเจมส์ (“สิ่งเดียวกันนี้อยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ปฐมกาล”)[112] และฉบับไอทีเอ็นที (“พระวาทะนี้ได้กล่าวในปฐมกาล, เป็นของพระเจ้า”)[113] พระคัมภีร์ภาษากรีก-อังกฤษฉบับอินเทอร์ลิเนียร์ของมาร์แชล[114] แปล houtos ในยอห์น 1:2 ว่า “สิ่งนี้” ที่เหมือนกันในภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับพระคัมภีร์ภาษากรีก-อังกฤษฉบับอินเทอร์ลิเนียร์โดยบราวน์และคอมฟอร์ต[115]

      แต่พระคัมภีร์ส่วนใหญ่ใช้คำ “พระองค์” (he) ในข้อ 2 (“พระองค์ทรงอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ปฐมกาล”) นี่เป็นการตีความของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าหมายถึงบุคคลที่แตกต่างจากพระเจ้าพระบิดา การแปลเช่นนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้อ่านที่ไม่สามารถหรือไม่ได้ตรวจสอบข้อความภาษากรีกต้นฉบับ!

 

พระผู้สร้างในปฐมกาลบทที่ 1

      ในปฐมกาลบทที่ 1 พระยาห์เวห์ทรงสร้างสรรพสิ่งโดยพระวาทะ (พระดำรัส) ของพระองค์ ในบทนี้บทเดียวมีคำกล่าวว่า “และพระเจ้าตรัสว่า” หรือคำกล่าวที่คล้ายกันนี้ปรากฏสิบเอ็ดครั้ง และในแปดครั้งนี้ (ข้อ 3, 6, 9, 11, 14, 20, 24, 26) เป็นการประกาศเมื่อทำการสร้างในลักษณะของ “และพระเจ้าตรัสว่า จงเกิดความสว่าง” ส่วนอีกสามครั้ง (ข้อ 22, 28, 29) เป็นคำสั่งเสริมกับสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงสร้างแล้วในทำนองเดียวกันกับ “พระเจ้าทรงอวยพร และตรัส​​ว่า จงมีลูกดกทวีมากขึ้น” และหกในสิบเอ็ดครั้งลงท้ายว่า “ก็เป็นดังนั้น”

      ทั้งสิบเอ็ดครั้งอ้างถึงการสร้างของพระเจ้าโดยการกล่าวคำตรัสของพระองค์ สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ความจริงที่พระองค์ตรัส แต่ที่คำตรัสของพระองค์ได้ทำให้เกิดการสร้างขึ้น[116] นี่เป็นถ้อยคำที่เป็นรูปธรรมและมีชีวิตของพระวาทะคำของพระเจ้า แต่ฤทธานุภาพของพระวาทะคำในการทรงสร้างนั้นไม่ได้อยู่ในคำตรัสมากเท่ากับอยู่ที่พระองค์ผู้ที่ตรัสพระวาทะคำนั้น เมื่อพระเจ้าตรัส พระองค์ก็ทรงส่งฤทธานุภาพของพระองค์ออกไปโดยคำตรัสที่มีพลังและสร้างสรรค์ของพระองค์ เพื่อให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ทันที ดังนั้นจึงมีคำกล่าวซ้ำๆว่า “ก็เป็นดังนั้น”

      ตอนนี้เราก็เห็นว่า “พระวาทะ” เป็นนามนัยหลักของพระเจ้าในปฐมกาลบทที่ 1 นามนัยของพระเจ้าชี้ให้เห็นพระลักษณะเฉพาะ คุณลักษณะ และผลงานของพระองค์ คำอธิบายถึงพระเจ้าว่าเป็น “พระวาทะ” ในยอห์น 1:1 (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) นั้นเน้นถึงฤทธานุภาพที่สร้างสรรค์ของพระองค์ดังที่ได้แสดงให้เห็นในการทรงสร้างของพระองค์

      นอกจากนี้ยังประกาศด้วยว่า พระเจ้าได้เสด็จเข้ามาในโลกมาประทับอยู่ในพระเยซูคริสต์ เพื่อจะทำการสร้างใหม่ ที่ประกอบด้วยบรรดาผู้ที่ “บังเกิดจากเบื้องบน” หรือ “บังเกิดใหม่” (ยอห์น 3:3-8) ปฐมกาลบทที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างทางกายภาพ แต่ก็ได้บอกเป็นนัยถึงการสร้างใหม่โดยบอกให้รู้ในรูปของเมล็ดพันธุ์หรือการเผยพระวจนะ คำประกาศซึ่งมีอำนาจที่เป็นคำประกาศสุดท้ายจากแปดครั้งเกี่ยวกับการสร้างนั้นเกี่ยวข้องกับการสร้างมนุษย์ (“ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา” ข้อ 26) แต่ครั้งนี้ไม่ได้ลงท้ายด้วยคำว่า “ก็เป็นดังนั้น” อย่างเช่นเคย นี่อาจเป็นการบอกให้รู้ว่างานของพระเจ้าในมนุษย์นั้นยังไม่เสร็จสิ้น เพราะมนุษย์ยังไม่สมบูรณ์ การพูดเป็นนัยนี้หนักแน่นขึ้นจากความจริงที่ว่า แม้คำกล่าวว่า “พระเจ้าทรงเห็นว่าดี” จะปรากฏหกครั้งในปฐมกาลบทที่ 1 (ข้อ 4, 10, 12, 18, 21, 25) ปฐมกาลก็หยุดใช้คำกล่าวนี้ทันที แค่ก่อนที่จะมาถึงการสร้างมนุษย์ในข้อ 26-28 แต่หลังจากที่ผ่านพ้นการสร้างมนุษย์ ปฐมกาลก็กลับมาใช้คำ “ก็เป็นดังนั้น”

      ข้อสุดท้ายของปฐมกาลบทที่ 1 สรุปเรื่องราวทั้งหมดของการสร้างด้วยข้อสังเกตว่า “ดูสิ ทรงเห็นว่าดียิ่งนัก” ซึ่งเป็นผลรวมของการทรงสร้างที่งดงาม พระเจ้าจะทรงทำพระประสงค์ในการสร้างของพระองค์ให้สำเร็จโดยผ่านทางกษัตริย์ซึ่งเป็นพระเมสสิยาห์ที่พระองค์ได้ทรงเจิมตั้ง แล้วทุกสิ่งก็จะ “ดียิ่งนัก” จริงๆ

      การใช้ “และพระเจ้าตรัสว่า” ซ้ำๆเป็นวิธีกล่าวเน้นว่าพระเจ้าได้ทรงสร้างสรรพสิ่งโดยพระวาทะของพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเห็นว่าทำไมพระวาทะจึงเป็นนามนัยของพระเจ้า เราจะเห็นฤทธานุภาพแห่งพระวาทะของพระองค์ในสดุดี 33:8-9 ว่า “ให้แผ่นดินโลกทั้งสิ้นยำเกรงพระยาห์เวห์ ให้ชาวพิภพทั้งปวงเกรงกลัวพระองค์ เพราะพระองค์ตรัส โลกก็เกิดขึ้นมา พระองค์ทรงบัญชา มันก็ตั้งมั่นคง

      จาโรสลาฟ เพลิกัน นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงด้านหลักคำสอนของคริสเตียน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่าง “พระวาทะ” ของยอห์นบทที่ 1 กับ “พระเจ้าตรัสว่า” ของปฐมกาลบทที่ 1

คำขึ้นต้นเหล่านี้ของ [ยอห์น 1] ประกาศความเชื่ออย่างเดียวกันที่คริสต์ศาสนามีร่วมกับศาสนายิว... คำว่า “วาทะ” ตรงนี้แปลจากคำนามกรีกว่า logos ซึ่งมาจากคำกริยาว่า legein ที่หมายถึง “กล่าว” หรือ “พูด”... แต่ไม่ว่าความหมายอื่นๆอาจกล่าวไว้หรือไม่ได้กล่าวไว้ก็ตาม “ในปฐมกาล พระวาทะดำรงอยู่แล้ว” อาจอ่านได้ว่าเป็นบทสรุปและการเรียบเรียงใหม่จากการกล่าวซ้ำของสิบเอ็ดครั้งที่ว่า “ในปฐมกาลพระเจ้าตรัสว่า” จากบทแรกของปฐมกาล (พระคัมภีร์ของใครหรือ? ประวัติโดยย่อของพระคัมภีร์ หน้า 25)[117]

 

ในพระคัมภีร์เดิม พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระผู้สร้างเพียงผู้เดียว

      การตีความยอห์น 1:3 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพมักจะชำนาญในการให้เหตุผลที่วกวนที่ว่า เนื่องจากพระเยซูคือพระวาทะ และพระวาทะคือพระเจ้า ดังนั้นพระเยซูจึงทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง (“สรรพสิ่งถูกสร้างขึ้น​​โดยทางพระองค์”)[118] และเนื่องจากพระเยซูทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง พระองค์จึงเป็นพระเจ้า เราสามารถติดอยู่กับเหตุผลที่วนไปเรื่อยๆนี้ได้โดยไม่รู้ตัว

      พระเยซูไม่ใช่พระผู้สร้างหรือผู้ร่วมสร้างจักรวาล เพราะพระคัมภีร์สอนมาตลอดว่าพระยาห์เวห์ ผู้เดียวทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง เราจะเห็นสิ่งนี้ในพระคัมภีร์เดิมหลายๆตอนซึ่งไม่ได้พูดเป็นนัยสักนิดว่าพระองค์ทรงได้รับความช่วยเหลือในทางใดจากผู้อื่นเลย (พระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้มาจากฉบับ ESV ยกเว้นระบุไว้อย่างอื่น, โดยกลับมาใช้ “พระยาห์เวห์”[119] ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู)

       ปฐมกาล 1:1 ในปฐมกาล พระเจ้าได้ทรง​​สร้างฟ้าและแผ่นดินโลก

นหะมีย์ 9:6 พระองค์คือพระยาห์เวห์ พระองค์ผู้เดียว พระองค์ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์ ฟ้าสวรรค์สูงสุดพร้อมกับบริวารทั้งสิ้น​​นั้น แผ่นดินโลกและทุกสิ่งที่อยู่ในนั้น ท้องทะเลและทุกสิ่งที่อยู่ในนั้น         

สดุด 8:3 เมื่อข้าพระองค์มองดูฟ้าสวรรค์ของพระองค์ อันเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ดวงจันทร์และดวงดาวทั้งหลายซึ่งพระองค์ได้ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม...                                                   

สดุด 19:1 ฟ้าสวรรค์ประกาศพระสิริของพระเจ้า และท้องฟ้าเบื้องบนประกาศฝีพระหัตถ์ของพระองค์

สดุด102:25 ตั้งแต่​กาล​ก่อน พระ​องค์ได้​ทรง​วาง​ราก​ฐาน​ของ​แผ่น​ดิน​โลก และ​ฟ้า​สวรรค์​เป็น​ผล​งานจาก​ฝี​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​องค์

อิสยาห์ 40:28 พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าเป็นนิตย์ เป็นพระผู้สร้างจนสุดปลายแผ่นดินโลก

อิสยาห์ 45:12 เราเอง​สร้าง​แผ่น​ดิน​โลกและ​​สร้างมนุษย์​บน​นั้น มือของเรา​เอง​ขึง​ฟ้า​สวรรค์​ และ​เรา​บัญ​ชา​บริ​วาร​ทั้ง​หมด​ของ​มัน

อิสยาห์ 48:12-13 เราคือ​ผู้​นั้น เรา​เป็น​เบื้อง​ต้นและ​เรา​เป็น​เบื้อง​ปลาย มือ​ของ​เรา​ได้​วาง​ราก​ฐานของ​แผ่น​ดิน​โลก และ​มือ​ขวา​ของ​เรา​ได้​กาง​ฟ้า​สวรรค์​ออก เมื่อ​เรา​เรียก​มัน มัน​ก็​ตั้งตระหง่าน​ขึ้น​มา

อิสยาห์ 51:13 พระยาห์เวห์ พระผู้สร้างของเจ้า ผู้ทรงขึงฟ้าสวรรค์ และ​​วางรากฐานของแผ่นดินโลก

เยเรมีย์ 10:12 แต่เป็นพระองค์ (พระยาห์เวห์, ข้อ 10) ผู้ทรงสร้างโลกด้วยฤทธานุภาพของพระองค์ ผู้ทรงสถาปนาโลกไว้ด้วยพระปัญญาของพระองค์ และทรงคลี่​​ฟ้าสวรรค์ออกด้วยความเข้าใจของพระองค์ (กล่าวซ้ำในข้อ 51:15)           

เยเรมีย์ 27:5คือ​เรา​เอง ผู้​ได้​สร้าง​โลก​ด้วย​ฤท​ธา​นุ​ภาพยิ่ง​ใหญ่​ และ​ด้วย​แขน​ที่​เหยียด​ออก​ของ​เรา ทั้ง​มนุษย์​และ​สัตว์​ซึ่ง​อยู่​ใน​โลก และ​เรา​จะ​ให้สิ่งนี้​กับผู้ที่​เรา​เห็น​ชอบ                                                           

เยเรมีย์ 32:17 ข้าแต่พระยาห์เวห์องค์เจ้านาย พระองค์เองได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกด้วยฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ของพระองค์ และด้วยพระหัตถ์ที่เหยียดออกของพระองค์!

เยเรมีย์ 51:19 พระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง รวมทั้งชนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ พระยาห์เวห์ผู้ทรงฤทธิ์คือพระนามของพระองค์ (ฉบับ NIV)                                                                         

เศคาริยาห์ 12:1 พระยาห์เวห์ ผู้ทรงคลี่ฟ้าสวรรค์ออกและวางรากฐานของโลก และสร้างวิญญาณในตัวมนุษย์ ประกาศว่า...

      

      (นอกจากนี้ยังมีในสดุดี 136:5-9, 146:5-6; อิสยาห์ 42:5)

      ข้อเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระยาห์เวห์ได้ทรงสร้างสรรพสิ่งโดยไม่มีใครช่วยเหลือ ในข้อต่อไปนี้เป็นการกล่าวโดยเน้นย้ำถึงสองครั้งทั้ง “แต่ลำพัง” และ “ด้วยตัวเอง”

อิสยาห์ 44:24 เราคือยาห์เวห์ ผู้ได้สร้างทุกสิ่ง ผู้คลี่ฟ้าสวรรค์แต่ลำพัง ผู้กางแผ่นดินโลกด้วยตัวเอง”

 

ในพระคัมภีร์ใหม่ พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระผู้สร้างแต่เพียงผู้เดียว

      พระคัมภีร์ใหม่ยังคงคำสอนของพระคัมภีร์เดิมว่า พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระผู้สร้างแต่เพียงผู้เดียว พระคัมภีร์ใหม่ตอนต่อไปนี้ไม่ได้พูดเป็นนัยว่าพระคริสต์ได้ทรงช่วยในงานการสร้างของพระเจ้า (ข้อทั้งหมดมาจากฉบับ ESV[120] ยกเว้นระบุไว้อย่างอื่น และข้อคิดเห็นของผมด้วย)

กิจการ 4:24 เมื่อพวกเขาได้ยินสิ่งนี้ พวกเขาก็พร้อมใจกันเปล่งเสียงอธิษฐานทูลพระเจ้า “องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เจ้าชีวิต พระองค์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และโลก ท้องทะเลและสรรพสิ่งในนั้น (ฉบับ NIV)

ข้อคิดเห็น: ในคำอธิษฐานนี้ คนทั้งหลายประกาศว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่ง อย่างไรก็ตาม พวกเขาพูดถึง “พระเยซูผู้รับใช้บริสุทธิ์ของพระองค์” (ข้อ 27, 30)[121] ถึงสองครั้ง คำว่า “ของพระองค์” หมายความว่าพระเยซูทรงเป็นคนละคนกับ “พระเจ้า” ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก

กิจการ 7:48-50 แต่องค์ผู้สูงสุด​​ไม่ได้ประทับในพระนิเวศที่สร้างด้วยมือมนุษย์ ตามที่ผู้เผยพระวจนะกล่าวไว้ว่า สวรรค์เป็นบัลลังก์ของเรา และแผ่นดินโลกเป็นที่วางเท้าของเรา พวกเจ้าจะสร้างนิเวศแบบไหนให้เราหรือ องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส หรือ​​ที่พำนักของเราอยู่ที่ไหน? มือของเราไม่ได้ทำสิ่งทั้งหมดนี้หรือ?”                          

กิจการ 14:15 พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ทะเลและสรรพสิ่งในนั้น!” (ฉบับ CJB)

กิจการ 17:24-26 พระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกกับสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในนั้น... พระองค์เอง​​เป็นผู้ประทานชีวิตและลมหายใจและสิ่งสารพัดแก่มวลมนุษย์ และพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ทุกชาติจากคนๆ เดียวให้อยู่ทั่วพิภพ           

ข้อคิดเห็น: บริบทถัดมา (ข้อ 31)[122] กล่าวว่า พระเจ้าได้ทรงตั้งผู้หนึ่งที่พระองค์ได้ทรงทำให้เป็นขึ้นจากตาย ดังนั้นพระเยซูจึงเป็นคนละคนกับพระเจ้าผู้ทรง “สร้างโลกกับทุกสิ่งที่อยู่ในนั้น” (ข้อ 24)

โรม 1:20 เพราะตั้งแต่ทรงสร้างโลก เราก็เห็นและเข้าใจคุณลักษณะที่เราไม่อาจมองเห็นได้ของพระเจ้า คือฤทธานุภาพนิรันดร์และสภาวะที่เป็นพระเจ้าของพระองค์อย่างชัดเจนจากสิ่งที่ทรงสร้าง ดังนั้นมนุษย์จึงไม่มีข้อแก้ตัวเลย (ฉบับ NIV)         

เอเฟซัส 3:9พระเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง...

วิวรณ์ 4:11 องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าของเรา พระองค์ทรงสมควรที่จะได้รับพระสิริ พระเกียรติและฤทธานุภาพ เพราะพระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่ง และสรรพสิ่งก็ดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์   

วิวรณ์ 14:7 ...จงนมัสการพระองค์ (พระเจ้า) ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ทะเลและบ่อน้ำพุทั้งหลาย

      ข้อความพระคัมภีร์เหล่านี้มีไม่น้อยกว่าสี่ข้อที่มาจากกิจการ นี่คือหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของพระกิตติคุณแห่งความรอดที่ออกมาจากศูนย์กลางของโลกฝ่ายวิญญาณคือเยรูซาเล็มไปยังศูนย์กลางของทางโลกคือโรม ในการประกาศพระกิตติคุณนั้น สิ่งสำคัญคือการประกาศว่า ใครเป็นพระเจ้าของพระกิตติคุณที่ประกาศออกไป และใครเป็นพระเจ้าที่ส่งพวกอัครทูตของพระองค์เข้าไปในโลกเพื่อประกาศพระกิตติคุณ

      การที่พระเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกและทุกสิ่งที่มีอยู่ในนั้นเป็น “เครื่อง หมายบ่งชี้เอกลักษณ์” ของพระองค์ที่ไม่เหมือนใคร ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพควรจะคิดไตร่ตรองถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำเมื่อพวกเขากำหนด “เครื่องหมายบ่งชี้เอกลักษณ์” ของพระยาห์เวห์ที่เป็นพระผู้สร้างให้กับ “พระเจ้าพระบุตร” ผู้ทรงดำรงอยู่ก่อนของพวกเขา ในการทำเช่นนั้น พวกเขาไม่ได้กำลังหมิ่นประมาทพระยาห์เวห์หรอกหรือ เพราะตามพระคัมภีร์แล้ว พระองค์เพียงผู้เดียวทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง? การสร้างของพระองค์สำแดงพระสิริของพระองค์ (โรม 1:20) แต่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็กล้าที่จะฉกฉวยพระสิรินั้นไปจากพระองค์ และมอบให้กับพระเจ้าพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ ผู้ที่ไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์

      ในโรม 1:25 เปาโลกล่าวเป็นคำเอกพจน์ถึง “พระผู้สร้าง ผู้ซึ่งควรจะได้รับการสรรเสริญเป็นนิตย์! อาเมน” นี่เป็นบทเพลงสรรเสริญพระเจ้า ดังที่เราจะเห็นในบทที่ 7 บทเพลงสรรเสริญเหล่านั้นจะกล่าวกับพระยาห์เวห์พระเจ้าแทบทุกครั้ง

      พระเยซูก็ทรงกล่าวถึงพระผู้สร้างด้วยคำเอกพจน์ว่า “ท่านทั้งหลายไม่ได้อ่านหรือว่า พระองค์ (He) ผู้ทรงสร้างพวกเขาตั้งแต่ปฐมกาลนั้น ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (มัทธิว 19:4)

 

ยอห์น 1:3สรรพสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์

      เนื่องจากพระวาทะในคำขึ้นต้นของยอห์นกล่าวถึงพระยาห์เวห์ ดังนั้นยอห์น 1:3 (“สรรพสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์”) จึงหมายถึงพระยาห์เวห์ และด้วยเหตุนี้จึงไม่มีอะไรต้องพูดอีก แต่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหลายจะโต้แย้งว่ายอห์น 1:3 กล่าวว่าสรรพสิ่งถูกสร้างขึ้น “โดยทางพระองค์” มากกว่าถูกสร้างขึ้น “โดยพระองค์” ซึ่งหมายถึงบุคคลที่สองที่ไม่ได้เป็นคนๆเดียวกับพระยาห์เวห์พระผู้สร้าง แต่กระนั้นก็เป็นตัวแทนของพระองค์ในการทรงสร้าง ความมุ่งหมายก็เพื่อจะบอกว่า พระเยซูทรงคือพระองค์ที่สองนั้นที่เป็นพระเจ้า

      ตอนนี้เราจะตรวจสอบ “โดยทางพระองค์” ที่ใช้กับพระยาห์เวห์และกับพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่อย่างคร่าวๆ ผู้ที่ต้องพึ่งฉบับแปลภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวจะไม่เห็นภาพทั้งหมด เพราะพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับต่างๆจะแปลยอห์น 1:3 แตกต่างกัน โดยบางฉบับจะใช้ “โดยทาง   พระองค์” และฉบับอื่นๆจะใช้ “โดยพระองค์”

      เพื่อให้เข้าใจเรื่องได้ง่าย เราจะดูที่คำ dia (ใช้ในยอห์น 1:3) ด้วยพระปัญญาของพระยาห์เวห์ซึ่งแม้แต่คนที่ไม่รู้ภาษากรีกก็ดูออกไม่ยาก เมื่อถอดเป็นพยัญชนะอังกฤษคำนี้ก็คือคำ dia ซึ่งดูเหมือนตัวเขียนของคำกรีกว่า δια! และเมื่อเราตรวจสอบคำ dia (คำบุพบท) เราจะเห็นว่าบางครั้งก็ใช้ในพระคัมภีร์ใหม่กับพระเจ้า (พระยาห์เวห์) ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพระผู้สร้างของพระองค์

      ความหมายของคำบุพบทกรีกจะแตกต่างกันตามหน้าที่ทางไวยากรณ์ คือตาม “การก” ของคำที่ตามมา (ซึ่งมักจะเป็นสัมพันธการกที่แสดงความเป็นเจ้าของ หรือกรรมการก อีกทั้งเป็นกรรมรอง) คำบุพบท dia สามารถใช้เป็นทั้งสัมพันธการกหรือกรรมการก ในยอห์น 1:3 dia (“โดยทาง”) ใช้กับสัมพันธการก ดังนั้นเราจึงสนใจในกรณีของ dia + สัมพันธการกที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง เราจะใช้ยอห์น 1:3 อีกครั้งในการอ้างอิงโดยให้สังเกต dia + สัมพันธการก

ยอห์น 1:3 สรรพสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์ (dia+ สัมพันธการก) และถ้าปราศจากพระองค์ก็ไม่มีสักสิ่งเดียวที่ได้ถูกสร้างขึ้น

ข้อสำคัญในการพิจารณาของเราคือฮีบรู 2:10 เพราะมีสองกรณีของ dia ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ซึ่งกรณีแรกใช้กับกรรมการก กรณีที่สองใช้กับสัมพันธการก

ฮีบรู 2:10 เพราะเป็นการเหมาะสมแล้วที่พระองค์ (พระเจ้า) ผู้ซึ่งสรรพสิ่งมีอยู่เพื่อพระองค์(dia + กรรมการก) และโดยทางพระองค์ (dia + สัมพันธการก) ในการนำบุตรจำนวนมากไปสู่ศักดิ์ศรีนั้น จะทรงทำให้ผู้เบิกทางสู่ความรอดของพวกเขาสมบูรณ์แบบโดยทางการทนทุกข์ (ฉบับ ESV)

      ข้อนี้กำลังบอกว่าพระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง (“สรรพสิ่งมีอยู่โดยทางพระองค์”) ก็ทรงเป็นผู้ที่ทำให้พระเยซูสมบูรณ์แบบโดยทางการทนทุกข์ นี่ทำให้พระเยซูเป็นคนละคนกับพระเจ้าพระผู้สร้างทันที ข้อเท็จจริงที่สำคัญนี้รวมกับข้อเท็จจริงที่พระเจ้าทรงถูกกล่าวถึงในที่นี้ว่าเป็นพระผู้สร้างโดยใช้การผูกประโยคของ dia + สัมพันธการกเหมือนในยอห์น 1:3 ทำให้การยืนยันของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าพระวาทะในยอห์น 1:3 หมายถึงพระเยซูนั้นอ่อนลงไปอย่างมาก BDAG พจนานุกรมพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก-อังกฤษ (dia, B2a) กล่าวว่า dia + สัมพันธการกในฮีบรู 2:10 “หมายถึงพระเจ้าว่าเป็นพระผู้สร้าง”

      ในโรม 11:36 dia + สัมพันธการก อ้างถึงพระเจ้าว่าเป็นพระผู้สร้างโดยไม่ได้กล่าวถึงพระเยซู “เพราะสิ่งสารพัดมาจากพระองค์ โดยทางพระองค์ (dia + สัมพันธการก) และเพื่อพระองค์ ขอพระเกียรติจงมีแด่พระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน” คำว่า “พระองค์” ที่กล่าวสามครั้งนั้นหมายถึงพระยาห์เวห์ที่ถูกกล่าวถึงในสองข้อก่อนหน้านี้[123]โดยอ้างถึงเยเรมีย์ 23:18 และอิสยาห์ 40:13 ซึ่งทั้งสองข้อนี้กล่าวถึงพระยาห์เวห์ แต่พระเยซูไม่ได้ถูกกล่าวถึงเลยในโรมบทที่ 11 หรือบทที่ 12 ยกเว้นในข้อ 5 ในบริบทที่แตกต่างกัน (“เราซึ่งมีกันหลายคนก็เป็นกายเดียวในพระคริสต์”)

      ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ใหม่ที่การสร้างในปฐมกาลได้อ้างถึงพระเยซู แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้ตัดสินใจด้วยอำนาจของพวกเขาเองว่า พระวาทะในยอห์น 1:3 หมายถึงพระเยซู เพราะพระเยซูทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ตอนนี้จึงใช้ข้อเดียวกันนี้เพื่อบอกว่าพระเยซูได้ทรงสร้างสรรพสิ่ง! การให้เหตุผลแบบชี้นำข้อสรุปนี้เป็นเรื่องปกติที่เห็นในหนังสือของความเชื่อตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับคำขึ้นต้นของยอห์น แต่กระนั้นก็เห็นได้ชัดเจนจากข้อความพระคัมภีร์ข้างต้นว่า พระเจ้าพระผู้สร้างสรรพสิ่งนั้นเป็นคนละคนกับพระเยซูคริสต์

      ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเรื่องนี้เพิ่มเติม ก็สามารถตรวจสอบกรณีของ dia + สัมพันธการกที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าหรือกับพระเยซูคริสต์ ไม่ว่าจะตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยโปรแกรมไบเบิ้ลเวิร์ค หรือโดยการค้นหาข้อมูลอ้างอิงที่ระบุไว้ใน BDAG พจนานุกรมพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก-อังกฤษ, dia, A ผลของการตรวจสอบ เราจะพบ 3 ข้อที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการพิจารณาของเราในขณะนี้ (เครื่องหมายดอกจัน* แสดงถึง dia + สัมพันธการกในสามข้อต่อไปนี้ ทุกข้อมาจากฉบับ ESV)

อเฟซัส 4:6 พระเจ้าองค์เดียวและพระบิดาของทุกคน ผู้ทรงอยู่เหนือสรรพสิ่ง และทำการผ่าน*สรรพสิ่งและทรงอยู่ในทุกคน

1 โครินธ์ 1:9 พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ โดย*พระองค์นั้นพวกท่านได้ถูกเรียกให้สัมพันธ์สนิทกับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

ฮีบรู 1:2 แต่ในวาระสุดท้ายนี้ พระองค์ได้ตรัสกับเราโดยพระบุตรของพระองค์ ผู้ที่พระองค์ทรงตั้งให้เป็นทายาทของสิ่งทั้งปวง ที่โดยทาง*พระบุตรนั้นพระองค์ได้ทรงสร้างโลกนี้ (เราจะดูข้อนี้ในบทที่ 4 และ 5 ของหนังสือเล่มนี้)

      ข้อแรกพูดถึงพระเจ้าพระบิดา ไม่ใช่พระบุตร ข้อที่สองและข้อที่สามพูดถึงพระเจ้าว่าเป็นคนละคนกับ “พระบุตรของพระองค์” แม้ในข้อที่สามจะกล่าวถึงพระบุตร แต่พระผู้สร้างก็ยังคงเป็นพระบิดา ทั้งหมดนี้สนับสนุนความจริงว่า พระวาทะในยอห์น 1:3 และในคำขึ้นต้นของยอห์นนั้นหมายถึงพระยาห์เวห์ ไม่ใช่พระเยซู ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนก็คือ ไม่มีที่ไหนเลยในพระกิตติคุณยอห์นหรือในพระคัมภีร์ใหม่ที่พระวาทะหมายถึงพระเยซู

 

 

ในปฐมกาล

      ในหนังสือเล่มก่อนของผมที่ชื่อพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว ซึ่งสรุปโดยการชี้ไปที่ข้อความอันงดงามของพระคัมภีร์เดิม ที่พระยาห์เวห์ทรงเปิดเผยนานมาแล้วว่า พระองค์เองจะเสด็จเข้ามาในโลกเพื่อให้แผนการของพระองค์ในการไถ่มนุษยชาติบรรลุผล พระกิตติคุณยอห์นจึงเริ่มต้นด้วยบทกวีที่ประกาศความจริงนี้

      บทกวีนี้เดิมทีอาจเขียนขึ้นเป็นภาษาอาราเมค ซึ่งใช้พูดกันทั่วไปในอิสราเอลจนกระทั่งอย่างน้อยถึงปี ค.ศ. 135 นักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระกิตติคุณยอห์นเขียนขึ้นในช่วง 90 ปีของศตวรรษแรก ซึ่งหมายความว่าภาษาอาราเมคก็ยังคงใช้กันอยู่ในสมัยของยอห์น

      เมื่อบทกวีนี้ใช้คำพูดหรือใช้คำพูดซ้ำในภาษากรีกในคำ logos (“วาทะ”) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่มีรากฐานมาจากความคิดทางศาสนาของชาวฮีบรูนี้ ทำให้ผู้อ่านของยอห์นที่พูดภาษากรีกและคิดแบบกรีกจะเข้าใจผิด เว้นแต่จะมีการอธิบายโดยผู้นำดั้งเดิมของคริสตจักร คือชาวยิวที่พูดภาษาอาราเมคเหมือนอัครทูตยอห์น การมองข้ามภาษาอาราเมคจึงทำให้นักวิชาการทั้งหลายยังคงถกเถียงกันในเรื่องความหมายของ “พระวาทะ” ในยอห์น 1:1 อย่างไม่เกิดประโยชน์อะไรมาจนถึงทุกวันนี้ บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยืนกรานว่า “พระวาทะ” หมายถึงพระเยซู แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานสักนิดในการระบุถึงตัวตนนี้ในพระคัมภีร์ใหม่

      แต่ถึงแม้ว่าพระเยซูจะทรงเป็นพระวาทะ การดำรงอยู่ของพระองค์ “ในปฐมกาล” ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า คำว่า “ในปฐมกาล” หมายถึงเวลาที่ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกได้ถูกสร้างขึ้น เรื่องราวของการสร้างในปฐมกาลดูเหมือนจะมีการอ้างอิงเฉพาะระบบสุริยะของเรา ไม่ใช่ทั้งจักรวาล นี่ไม่ได้บอกว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงสร้างจักรวาลขึ้น พระเจ้าทรงสร้างอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อดูเรื่องราวในปฐมกาลโดยมีการอ้างอิงถึงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เราสามารถมั่นใจได้ว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบสุริยะและสิ่งมีชีวิตในนั้น ไม่มีการเอ่ยถึงดวงดาวต่างๆอย่างเจาะจงนอกจากปฐมกาล 1:16 แต่ถึงกระนั้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ข้อนี้กำลังพูดถึงการสร้างดวงดาวตามที่นักวิชาการบางคนได้ระบุไว้[124] พระเจ้าทรงสร้างดวงดาวต่างๆอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะไม่มีสิ่งใดสามารถเกิดขึ้นมาได้โดยแยกจากพระองค์ แต่ปฐมกาลบทที่ 1 และบทที่ 2 ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์และไม่ใช่ว่าจักรวาลโดยรวมเกิดขึ้นได้อย่างไร

      จากการคำนวณของเจมส์ อัสเชอร์[125] บอกว่าโลกได้เกิดขึ้นประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นการประมาณเอาว่าโลกนี้ได้ถูกสร้างขึ้นในหกวันที่มี 24 ชั่วโมง เมื่อนับย้อนไปถึงอาดัมทางลำดับวงศ์ตระกูลในพระคัมภีร์ เขาก็ได้จำนวนแค่ 6,000 กว่าปี สำหรับผู้ที่ยอมรับการคำนวณของเขาจะเห็นว่า “ในปฐมกาล” นั้นไม่นานมากเท่าไรและก็แทบจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่ดำรงนิรันดร์ หรือเป็น “พระเจ้าพระบุตร” ที่ดำรงนิรันดร์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพแต่อย่างใด

      เราจะเห็นความจริงอย่างเดียวกันนี้ แม้ว่าเราจะมองเวลาจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม มีความคิดเห็นในหมู่ผู้รอบรู้เรื่องของจักรวาลว่า จักรวาลเกิดขึ้นมาตามทฤษฎีบิกแบง เมื่อประมาณ 13.77 พันล้านปีมาแล้ว[126] ตัวเลขนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนก่อน เพราะในปัจจุบันนี้เราจะพูดถึงการเงินเป็นพันๆล้าน หรือหลายล้านๆเหรียญ แม้หากพระเยซูทรงดำรงอยู่เมื่อ 13 พันล้านปีก่อน นั่นก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระองค์ได้ เพราะพระเจ้าทรงดำรงนิรันดร์และไม่มีที่สิ้นสุด “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าตั้งแต่นิรันดร์กาลจนถึงนิรันดร์กาล” (สดุดี 90:2) พระยาห์เวห์ทรงเป็น “พระเจ้านิรันดร์” (ปฐมกาล 21:33, สดุดี 90:2, อิสยาห์ 40:28, เยเรมีย์ 10:10) สำหรับพระองค์แล้วไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด พระองค์ทรงเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของทุกสิ่ง รวมทั้งจักรวาลและสิ่งมีชีวิตที่ทรงสร้างขึ้นทั้งหมด เราไม่ต้องเป็นนักคณิตศาสตร์ก็รู้ได้ว่า ความไม่มีที่สิ้นสุดนั้นไม่สามารถจะบรรจุจำนวนตัวเลขศูนย์ให้หมดได้ แม้กระทั่งตัวเลขศูนย์ของจำนวนล้านล้านล้านล้านได้

 

พระยาห์เวห์อยู่ตรงไหนในคำขึ้นต้นของยอห์น?

      คำขึ้นต้นของยอห์นมีรากฐานมาจากพระคัมภีร์เดิม ไม่ใช่จากปรัชญากรีกหรือจากไฟโล แต่ความคิดของเราถูกเหนี่ยวนำอย่างมากด้วยความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง จนเราไม่เห็นพระยาห์เวห์ในพระคัมภีร์ใหม่ พระองค์ได้หายไปจากความคิดและสายตาของเรา

      พระยาห์เวห์ปรากฏอยู่ตรงไหนในคำขึ้นต้นของยอห์น? เนื่องจากพระเยซูถูกกล่าวว่าเป็นพระเจ้าในความเชื่อตรีเอกานุภาพ เราจึงนึกถึงพระเยซูทันทีเมื่อเราพบชื่อ หรือคำนาม หรือคำสรรพนามในคำขึ้นต้นของยอห์นไม่ว่าจะเป็น “พระวาทะ” หรือ “ชีวิต” หรือ “ความสว่าง” หรือ “พระองค์” หรือ “ของพระองค์” ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น แม้แต่พระเจ้าพระบิดาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไม่ได้ปรากฏตัว ยกเว้นในข้อ 1

      แต่ถ้อยคำขึ้นต้นของยอห์นที่ว่า “ในปฐมกาล พระวาทะทรงดำรงอยู่” หมายถึงพระยาห์เวห์ ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะ “พระวาทะ” เป็นนามนัยของพระยาห์เวห์ที่ยอมรับกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะพระยาห์เวห์ “ในปฐมกาล” ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกด้วยตัวของพระองค์เอง เมื่อมีการสร้างในปฐมกาลนั้น พระเยซูยังไม่ได้ทรงมีชีวิตอยู่จริง แต่สรรพสิ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อพระองค์ นั่นคือโดยมีพระองค์อยู่ในจุดประสงค์

      ในคำขึ้นต้นของยอห์น พระเจ้าทรงถูกกล่าวถึงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกี่ครั้งใน 18 ข้อ? หลายคนอาจแปลกใจกับการอ้างอิงถึงพระยาห์เวห์ในคำขึ้นต้นที่มีจำนวนมากกว่าทั้งโดยตรง (“พระเจ้า”) หรือโดยนามนัย[127] (“พระวาทะ”) หรือโดยสรรพนาม (“พระองค์”) ในข้อ 1, 1, 1, 1, 1, 2, 2, 3, 4, 5, 6, 9, 10, 10, 10, 11, 11, 11, 11, 12, 12, 12, 12, 13, 14, 14, 18, 18, 18 มีตัวอย่างมากกว่านี้แต่เราเว้นไปสองสามตัวอย่าง เพราะว่าผู้อ่านบางคนอาจนับได้น้อยตัวอย่างกว่าเรา แต่ไม่ว่าจะนับได้แน่ชัดอย่างไร ตัวอย่างเหล่านี้ก็เป็นหลักฐานให้เห็นประเด็นที่พระยาห์เวห์ทรงเป็นจุดศูนย์กลางในคำขึ้นต้นนี้ “พระเยซูคริสต์” ถูกเอ่ยชื่อเพียงครั้งเดียวในตอนท้ายของคำขึ้นต้นนี้ (ข้อ 17 “ส่วนพระคุณและความจริงมาทางพระเยซูคริสต์”) ในขณะที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาถูกเอ่ยชื่อสองครั้ง (ข้อ 6, 15)

      ในพระคัมภีร์ใหม่มีคำ “พระเจ้า” (theos) ปรากฏ 1,317 ครั้งโดยไม่นับหลายกรณีที่มาจาก พระเจ้าผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำโดยไม่ถูกเอ่ยชื่อ (เช่น ฮีบรู 9:28) แต่ตรงข้ามกับคำว่า “พระเยซู”  (Iēsous) โดยไม่มีคำว่า “พระคริสต์” (Christos) นั้นมีปรากฏ 672 ครั้ง และคำว่า “พระคริสต์” (Christ) โดยไม่มีคำว่า “พระเยซู” (Jesus) มีปรากฏ 281 ครั้ง ส่วนคำว่า “พระเยซูคริสต์” (Jesus Christ) มีปรากฏ 135 ครั้ง และคำว่า “พระคริสต์พระเยซู” (Christ Jesus) ก็มีปรากฏ 95 ครั้ง รวมทั้งหมด 1,183 ครั้งซึ่งน้อยกว่าคำ “พระเจ้า” (God) ที่มีปรากฏ 1,317 ครั้ง ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้นับรวมคำสรรพนามที่อ้างถึงพระเจ้า หรือกรณีที่มาจากพระเจ้าผู้อยู่เบื้องหลัง

      การที่พระเจ้าทรงถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งกว่าพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่นั้น ก็สอดคล้องกับข้อเท็จ จริงที่ว่า พระเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์ใหม่เหมือนกับคำขึ้นต้นของยอห์น เมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราจะอ่านพระคัมภีร์ใหม่เสมือนว่าพระคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลาง และพระเจ้าทรงมีบทบาทสำคัญน้อยกว่าพระเยซูผู้ที่เป็นพระเจ้าในที่สุด! ความจริงก็คือว่าในพระคัมภีร์ใหม่ พระเยซูไม่ได้ถูกเรียกว่า “พระเจ้า” เพราะฉะนั้นการยกระดับพระเยซูให้เป็นพระเจ้าก็เท่ากับเป็นการไหว้รูปเคารพ

      ชาวอิสราเอลมีใจโอนเอียงอย่างมากต่อการไหว้รูปเคารพ พวกเขาเพิ่งจะออกจากอียิปต์ พวกเขาก็ร้องหาสิ่งที่จะนมัสการ อาโรนช่วยพวกเขาหล่อรูปวัวทองคำตามรูปที่พวกเขานมัสการพระของชาวคานาอันคือ “พระบาอัล” ซึ่งเป็นคำที่หมายถึง “องค์ผู้เป็นเจ้า” เนื่องจากชาวอิสราเอลก็เรียกพระยาห์เวห์ว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (อาโดนาย)[128] ดังนั้นสถานการณ์ที่ขยายวงกว้างในอิสราเอลก็คือ “องค์ผู้เป็นเจ้า” อาจหมายถึงพระยาห์เวห์หรือพระบาอัล ในที่สุดแล้วชาวอิสราเอลก็ไม่สนใจว่าองค์ผู้เป็นเจ้าองค์ไหนที่พวกเขากำลังนมัสการอยู่ และผลสุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็หันไปนมัสการพระบาอัล นั่นเป็นสาเหตุหลักที่พวกเขาถูกเนรเทศ

      สถานการณ์ของชาวอิสราเอลในอดีตแต่ก่อน ถูกสะท้อนให้เห็นในเวลาต่อมาโดยคริสตจักรของคนต่างชาติไม่นานหลังจากสมัยของพระเยซู เนื่องจากพระยาห์เวห์ถูกเรียกว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” และพระเยซูก็ถูกเรียกว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” ในไม่ช้าพระเยซูก็มาแทนที่พระยาห์เวห์ในคริสตจักร และแทบไม่มีใครสังเกตเห็นว่าได้มีอะไรเกิดขึ้น! ตอนนี้คริสตจักรมีพระเจ้าตรีเอกานุภาพที่มีสามพระภาค เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีที่ว่างภายในความเป็นพระเจ้านี้สำหรับพระยาห์เวห์ที่แท้จริง “คริสตจักรของพระเจ้า” (คำที่ปรากฏเก้าครั้งในพระคัมภีร์ใหม่) ได้ถูกบรรดาบาทหลวงแห่งกรุงโรม อเล็กซานเดรีย อันทิโอก และเมืองอื่นๆในจักรวรรดิโรมันมีอำนาจควบคุม โดยเริ่มจากจักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยทั่วไป

 

ผู้ร้องประกาศในคำขึ้นต้นของยอห์น

มีชายคนหนึ่งที่พระเจ้าได้ทรงส่งมาชื่อยอห์น ท่านมาเป็นสักขีพยานเพื่อเป็นพยานเกี่ยวกับความสว่างนั้น เพื่อว่าทุกคนจะได้เชื่อผ่านทางท่าน ท่านไม่ใช่ความสว่างนั้น แต่​​มาเพื่อเป็นพยานเกี่ยวกับความสว่างนั้น (ยอห์น 1:6-8 ฉบับ ESV)

      เหตุใดในคำขึ้นต้นจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับยอห์นผู้ให้บัพติศมา ในเมื่อบทบาทของเขาในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มโดยรวมแล้วไม่ได้มีความสำคัญอย่างเดียวกันนี้? นั่นเป็นเพราะเขาเป็นเพียงผู้ป่าวประกาศการเสด็จมาของพระยาห์เวห์! อิสยาห์ได้บอกเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว

มีเสียงหนึ่งร้องว่า “จงเตรียมทางในถิ่นทุรกันดารสำหรับพระยาห์เวห์จงทำทางหลวง​​ในที่รกร้างให้ตรงไปสำหรับพระเจ้าของเรา ถมหุบเขาทุกแห่งให้สูงขึ้น ปรับภูเขาและเนินเขาทุกลูกให้ต่ำลงทำที่สูงชันให้เรียทำที่ลาดชันให้ราบ แล้วพระสิริของพระยาห์เวห์จะปรากฏ และมนุษย์ทุกคนจะมองเห็นด้วยกัน เพราะพระโอษฐ์ของพระยาห์เวห์ได้ตรัสไว้ (อิสยาห์ 40:3-5 ฉบับนิวเยรูซาเล็ม)[129]

      พระคัมภีร์ในตอนนี้กล่าวถึง “พระยาห์เวห์” สามครั้ง มีเสียงหนึ่งร้องประกาศการเสด็จมาของพระองค์ นอกจากนี้ยังประกาศ “พระสิริของพระยาห์เวห์” อีกด้วย ซึ่งในคำขึ้นต้นของยอห์นก็คือ “พระสิริ” (ยอห์น 1:14) ที่ส่องสว่างในพระเยซูคริสต์

      ยอห์นผู้ให้บัพติศมายืนยันว่าเขาเป็นผู้ร้องประกาศที่อิสยาห์กล่าวไว้ว่า “เราเป็นเสียงของคนที่ร้องประกาศในถิ่นทุรกันดารว่า ‘จงทำทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า (พระยาห์เวห์) ให้ตรงไป’ ตามที่อิสยาห์ผู้เผยพระวจนะได้กล่าวไว้” (ยอห์น 1:23)

      พระกิตติคุณทั้งสี่เล่มอ้างอิงอิสยาห์ 40:3 (มัทธิว 3:3, มาระโก 1:3, ลูกา 3:4, ยอห์น 1:23) และทั้งสี่เล่มพร้อมใจกันประกาศว่า คำเผยพระวจนะของอิสยาห์สำเร็จโดยการเสด็จเข้ามาในโลกของพระยาห์เวห์ในพระคริสต์ นี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ที่สุดสำหรับผู้ที่มีตาที่มองเห็นและมีหูที่ได้ยิน

 

ยอห์น 1:14

พระวาทะได้มาเป็นเนื้อหนังและประทับอยู่ท่ามกลางเรา

      พระวาทะถูกกล่าวถึงในข้อ 1 และ 2 ของคำขึ้นของยอห์น แต่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงอีกไปจนถึงข้อ 14

และพระวาทะได้มาเป็นเนื้อหนังและ​​ประทับอยู่ท่ามกลางเราทั้งหลาย และเราได้เห็นพระสิริของ   พระองค์ ดังพระสิริ​​ของพระบุตรองค์เดียวจากพระบิดา ซึ่งบริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง (ยอห์น 1:14 ฉบับ ESV)[130]

      คำขึ้นต้นของยอห์นสิ้นสุดลงในคำกล่าวว่า “และพระวาทะได้มาเป็นเนื้อหนังนี่เป็นภาษากวีและไม่ได้หมายความตรงตัวว่าพระเจ้าได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นเนื้อหนัง[131] แต่พระองค์ได้เสด็จเข้ามาในโลก “ได้แฝงพระกาย” อยู่ในพระเยซูพระเมสสิยาห์ (เปรียบเทียบโคโลสี 2:9เพราะความบริบูรณ์ทั้งสิ้น​​ของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์”) แท้จริงแล้วภาษาของคำ “ดำรงอยู่” (dwell) เป็นคำกรีกในยอห์น 1:14 ว่า “ได้ประทับอยู่ท่ามกลางเรา” คำตรงตัวของ “ดำรงอยู่” (dwelt) ตรงนี้ก็คือ “ประทับอยู่” (taberna­cled) ดังนั้นยอห์นจึงกำลังกล่าวว่า “และพระวาทะได้มาเป็นเนื้อหนังและได้ประทับอยู่ท่ามกลางเรา”

      ในภาษาอังกฤษ “tabernacle” จะเป็นคำนามไม่ใช่คำกริยา แต่ภาษากรีกจะมีรูปคำกริยาของ “tabernacle” คือ skēnoō (to tabernacle หมายถึง “ตั้งพลับพลาอยู่”) ซึ่งมาจากคำนามว่า skēnē (a tabernacle, พลับพลา) พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กล่าวว่าคำนาม skēnē นี้ใช้ในพระคัมภีร์เดิมภาษากรีกฉบับเซปทัวจินต์เกี่ยวกับ “พลับพลาของพระยาห์เวห์” และ “พลับพลาหรือเต็นท์พระโอวาท” พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ยังกล่าวด้วยว่าคำกริยา skēnoō ในยอห์น 1:14 “บางทีอาจแสดงถึงความต่อเนื่องกับการ ‘ปักเต็นท์’ ของพระเจ้าในอิสราเอล” และในพระคัมภีร์ตอนอื่นก็กล่าวว่า พระเยซูทรงเป็นพระวิหารของพระเจ้า (ยอห์น 2:19)[132] เช่นเดียวกับคนทั้งหลายที่อยู่ในพระคริสต์ (1 โครินธ์ 3:16)[133]

      ข้อในวิวรณ์ต่อไปนี้จะช่วยให้เห็นความหมายของ “พลับพลา” ทั้งคำกริยาและคำนาม ถึงแม้ว่าจะอยู่ในบริบทที่แตกต่างจากยอห์น 1:14 คำที่เป็นตัวเอนตรงกับคำกรีกว่า naos (วิหาร) หรือ skēnē (พลับพลา) หรือ skēnoō (ตั้งพลับพลา)

วิวรณ์ 7:15 เพราะ​ฉะนั้น เขา​ทั้ง​หลาย​จึง​ได้​อยู่​หน้า​พระ​ที่​นั่ง​ของ​พระ​เจ้า และ​ปรน​นิบัติ​​พระ​องค์​ทั้ง​กลาง​วัน​และ​กลาง​คืน​ใน​พระ​วิหาร​ของพระองค์  และ​พระ​องค์​ผู้​ประ​ทับ​บน​พระ​ที่​นั่ง​จะ​ทรงปกป้องกำบังพวก​เขาด้วยการสถิตอยู่ของพระองค์ (ฉบับ ESV)

วิวรณ์ 12:12 เพราะฉะนั้น​จง​ชื่นชม​ยินดี​เถิด โอ ฟ้าสวรรค์​และ​บรร​ดา​ผู้​ที่อาศัยอยู่ใน​นั้น (ฉบับ ESV)

วิวรณ์ 21:3 ดูเถิด พลับพลาของ​พระ​เจ้า​มาอยู่​ท่ามกลางมวล​มนุษย์​แล้ว และ​พระ​องค์​จะ​ประ​ทับอยู่ ท่ามกลางพวกเขา​ และพวก​เขา​จะ​เป็น​ประชากรของ​พระ​องค์ และพระ​เจ้า​เอง​จะ​สถิต​ท่ามกลางพวก​เขา (ฉบับ NASB)

      เมื่อเราเห็นว่าเป็นพระยาห์เวห์เอง และไม่ใช่พระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพที่ “ได้มาเป็นมนุษย์และได้ตั้งพลับพลาอยู่ท่ามกลางเรา” (ยอห์น 1:14) ซึ่งคล้ายกับคำประกาศของพระยาห์เวห์ว่า “พลับพลาของเราที่อยู่ท่ามกลางพวกเขา” (เลวีนิติ 15:31) ที่เราจะเห็นการประทับอยู่ด้วยพระสิริของพระยาห์เวห์ในพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์ ผู้ที่พระยาห์เวห์ได้ทรงทำงานและได้ตรัสผ่าน วิธีที่ถูกต้องในการทำความเข้าใจฤทธิ์อำนาจในคำตรัส และการทำพระราชกิจของพระเยซูที่รวมถึงการทำการอัศจรรย์ต่างๆของพระองค์ก็คือ การได้เห็นการสถิตอยู่ของพระเจ้าในพระองค์ แท้ที่จริงแล้วการอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ พระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำ “ผ่านทาง” พระเยซู (กิจการ 2:22)[134] ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหันไปใช้สิ่งที่เราเคยทำมาก่อน โดยอ้างว่าพระราชกิจต่างๆของพระเยซูที่พระเจ้าทรงมอบอำนาจให้พระเยซูนั้นมาจากความเป็นพระเจ้าของพระองค์เองในฐานะที่เป็นพระเจ้าพระบุตร นั่นเป็นวิธีที่เราเคยใช้ยืนยันว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า โดยเพิกเฉยความมุ่งหมายของยอห์นที่จะให้เราได้เชื่อผ่านทางพระกิตติคุณของเขาว่า พระเยซูทรงเป็น “พระเมสสิยาห์ พระบุตรของพระเจ้า” (ยอห์น 20:31)[135] มากกว่าจะเป็นพระเจ้าพระบุตร

      พระยาห์เวห์ได้เสด็จเข้ามาในโลกโดยมาประทับอยู่ในเนื้อหนังซึ่งก็คือในร่างกาย เพื่อทำให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์ในพระคริสต์ (2 โครินธ์ 5:19)[136] พระกิตติคุณยอห์นเป็นการประกาศถึงงานการช่วยให้รอดของพระยาห์เวห์ในพระคริสต์ พระเยซูตรัสอย่างชัดเจนว่า พระยาห์เวห์พระบิดาของพระองค์เป็นผู้ที่ทำงานและตรัสผ่านพระองค์ แต่เราทั้งหลายที่เคยเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็หูหนวกสนิทกับคำกล่าวที่ชัดเจนนี้ นี่ถ้าไม่ใช่เพราะพระเมตตาของพระเจ้าแล้ว เราก็คงไม่มีหวังที่จะได้เห็นความจริง

 

เราได้เห็นพระสิริของพระองค์

และพระวาทะได้มาเป็นเนื้อหนังและประทับ​​อยู่ท่ามกลางเราทั้งหลาย และเราได้เห็นพระสิริของพระองค์ ดังพระสิริ​​ของพระบุตรองค์เดียวจากพระบิดา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง (ยอห์น 1:14)

      พระสิริที่กล่าวถึงในที่นี้ก็คือพระสิริและการสถิตอยู่ของพระเจ้าในพระเยซูคริสต์ และเปาโลได้อธิบายว่าเป็น “พระสิริของพระเจ้า ที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6)[137] พระสิริในยอห์น 1:14 เกี่ยวข้องกับความสว่างที่กล่าวถึงในสองสามข้อก่อนหน้านี้ในคำขึ้นต้นของยอห์น ในข้อ 4 และ 5 ที่ว่า “ในพระองค์มีชีวิต และชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์ ความสว่างนั้นส่องเข้ามาในความมืด และความมืดไม่อาจเอาชนะความสว่างได้” เพราะเหตุนี้จึงเชื่อมโยงกับปฐมกาล 1:3 (“จงเกิดความสว่าง”) จึงกลับมาที่ปฐมกาลอีกครั้ง!

      ความสว่างไม่เพียงแต่จะเชื่อมโยงกับพระสิริ แต่ยังเชื่อมโยงกับชีวิต (“ชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์”) ดังที่เห็นในพระคัมภีร์เดิมข้อต่อไปนี้ด้วย (ข้อทั้งหมดมาจากฉบับ ESV)

โยบ 33:28 พระองค์ได้ทรงไถ่จิตวิญญาณของข้าให้พ้นจากการลง​​สู่หลุมมรณะ และชีวิตของข้าจะเพ่งมองความสว่าง

โยบ 33:30 ที่จะนำจิตวิญญาณของเขา​​จากหลุมมรณะ เพื่อให้เขาเห็นความสว่างแห่งชีวิต

สดุดี 36:9 เพราะพระองค์ทรงเป็นน้ำพุแห่งชีวิต เราเห็นความสว่างในความสว่างของพระองค์

สดุดี 56:13 เพราะ​พระ​องค์​ทรง​ช่วย​กู้​จิตวิญญาณของ​ข้า​พระ​องค์​จากความตาย​ ใช่แล้ว ช่วยย่างเท้าของ​ข้า​พระ​องค์​​จาก​การสะดุดล้ม​ เพื่อ​ข้า​พระ​องค์​จะ​ดำ​เนิน​อยู่​ต่อหน้า​พระ​เจ้าใน​ความ​สว่าง​แห่ง​ชีวิต

      คำว่า “ความสว่างแห่งชีวิต จากสองข้อนี้พระเยซูได้ทรงอ้างอิงว่า “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต” (ยอห์น 8:12) การสร้างในปฐมกาลนั้น พระเจ้าทรงเป็นผู้ให้ชีวิตแก่สิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง (เปรียบเทียบยอห์น 1:4 “ในพระองค์คือชีวิต”)[138]

      คำขึ้นต้นของยอห์นกล่าวถึง “ความสว่าง” อีกครั้งในข้อ 9 ว่า “ความสว่างแท้ซึ่งให้ความสว่างแก่มนุษย์ทุกคนนั้นกำลังเข้ามาในโลก พระยาห์เวห์ผู้เสด็จเข้ามาในโลกถูกระบุว่าเป็นความสว่างแท้ ภาพของพระยาห์เวห์ที่เป็นความสว่างจะเห็นได้ในพระคัมภีร์เดิมหลายข้อ เช่น สดุดี 27:1 (“พระยาห์เวห์ทรงเป็นความสว่างและความรอดของข้าพเจ้า”); สดุดี 84:11 (“พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงเป็นดวงตะวันและเป็นโล่”); อิสยาห์ 2:5 (“มาเถิด ให้เราดำเนินในความสว่างของพระยาห์เวห์”);     อิสยาห์ 60:1 (“ความสว่างของเจ้ามาแล้ว และพระสิริของพระยาห์เวห์ขึ้นมาเหนือเจ้า”); อิสยาห์ 60:19 (“พระยาห์เวห์จะทรงเป็นความสว่างของเจ้าเป็นนิตย์”) เนื่องจากความบริบูรณ์ของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระเยซู ดังนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือความสว่างของพระเจ้าจึงส่องผ่านพระเยซู

และนครนั้น (เยรูซาเล็มใหม่) ไม่จำเป็นต้องอาศัยแสงจากดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ เพราะ​​พระสิริของพระเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของนครนั้น และพระเมษโปดกทรงเป็นโคมประทีปของนครนั้น (วิวรณ์ 21:23 ฉบับ ESV และวิวรณ์ 22:5 ด้วย)

      พระเจ้าทรงเป็นความสว่าง ในขณะที่พระเยซูทรงเป็นโคมประทีป เป็นการยืนยันว่าพระวาทะในยอห์น 1:1 คือพระยาห์เวห์ในตัวอย่างแรก ไม่ใช่พระเยซู

      ในการจำแลงพระกายของพระเยซูนั้น (มัทธิว 17:1-9, มาระโก 9:2-9, ลูกา 9:28-36) พระสิริของพระเจ้าทอแสงผ่านพระเยซูในลักษณะที่สาวกสามคนที่อยู่กับพระองค์ด้วยคือ เปโตร ยากอบ และยอห์นมองเห็นได้ หลายปีต่อมาเปโตรก็ระลึกถึงเหตุการณ์นี้โดยบันทึกว่า พระสิริของพระเยซูเป็นสิ่งที่พระเยซูทรง “ได้รับ” จากพระเจ้าพระบิดาผู้ที่ถูกเรียกว่าพระสิริอันยิ่งใหญ่ดังนี้

....เรา​เป็น​สักขี​พยาน​ถึง​ความ​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระ​องค์ ​พระ​องค์​ทรง​ได้​รับ​พระ​เกียรติ​และ​พระ​สิริ​จาก​พระ​เจ้า​พระ​บิดา เมื่อ​มีพระ​สุร​เสียง​จาก​พระ​สิริ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่มา​ถึง​พระ​องค์​ว่า “ท่าน​ผู้​นี้​เป็น​บุตรของ​เรา ​​เป็น​ผู้ที่​เรารัก ​เรา​พอ​ใจ​ท่าน​ผู้​นี้​มาก” พวก​เรา​เอง​ก็​ได้​ยิน​พระ​สุรเสียง​นี้ที่มา​จาก​สวรรค์เมื่อ​เรา​อยู่​กับ​พระ​องค์​ที่​ภูเขา​บริ​สุทธิ์​นั้น (2 เปโตร 1:16-18 ฉบับ NIV)

      ยอห์นแทบจะกล่าวอย่างมั่นใจถึงการสำแดงพระสิรินี้ที่เขาเป็นประจักษ์พยาน เมื่อเขากล่าวในยอห์น 1:14 ว่า “เราได้เห็นพระสิริของพระองค์ ดังพระสิริ​​ของพระบุตรองค์เดียวจากพระบิดา ที่เปี่ยมไปด้วยพระคุณและความจริง

 

 

ยอห์น 1:18 พระบุตรองค์เดียวหรือว่า

พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา?

      พระคัมภีร์ฉบับอิงลิชแสตนดาร์ด (ESV) และฉบับโฮลแมนคริสเตียนแสตนดาร์ด (HCSB) เป็นพระคัมภีร์สมัยใหม่สองเล่มที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในเวลาเดียวกัน ให้คำแปลยอห์น 1:18 ที่ขัดแย้งกัน

ESV: No one has ever seen God; the only God, who is at the Fathers side, he has made him known. (ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระเจ้าองค์เดียว ผู้ทรงอยู่ข้างๆพระบิดา ได้ทรงทำให้พระองค์เป็นที่ประจักษ์แล้ว)

HCSB: No one has ever seen God. The One and Only Son-the One who is at the Fathers side -He has revealed Him. (ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระบุตรองค์เดียวและเพียงผู้เดียว ผู้ทรงอยู่ข้างๆพระบิดา พระองค์ได้ทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว)[139]

      การแปลอย่างไหนหรือที่ถูกต้อง? ฉบับ ESV แปลว่า “พระเจ้าองค์เดียว” ซึ่งเป็นการแปลตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ทำให้พระเยซูเป็นพระเจ้าองค์เดียว ในขณะที่ฉบับ HCSB แปลว่า “พระบุตรองค์เดียวและเพียงองค์เดียว” ซึ่งไม่ได้แปลตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ทำให้พระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้า การแปลทั้งสองแบบนี้แสดงให้เห็นถึงการแบ่งเป็นสองค่ายใหญ่ๆ ค่ายหนึ่งซึ่งได้แก่ ฉบับ HCSB, CJB, KJV, NJB, RSV, REB จะโอนเอียงไปทาง “พระบุตรองค์เดียว” หรือในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น “พระบุตรองค์เดียวและเพียงผู้เดียว” อีกค่ายหนึ่งได้แก่ ฉบับ ESV, NASB, NIV, NET จะโอนเอียงไปทาง “พระเจ้าองค์เดียว” หรือในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา”

      การแปลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นสองแบบว่า ใช้ตัวบทกรีกแบบไหนมาแปลข้อนี้ระหว่างแบบไบแซนไทน์กับอเล็กซานเดรีย การแปลว่า “พระบุตรองค์เดียว” นั้นมาจากแบบไบแซนไทน์ (ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นตัวบทของภาษากรีกส่วนใหญ่) ซึ่งเป็นตัวบทที่มีการรับรอง (สนับสนุน) มากที่สุดในบรรดาต้นฉบับภาษากรีกทั้งหมดที่รู้จักกันโดยทั่วไป ในทางตรงกันข้าม การแปลว่า “พระเจ้าองค์เดียว” ส่วนใหญ่จะยึดตามแบบอเล็กซานเดรียที่แสดงให้เห็นโดยต้นฉบับต่างๆ ซึ่งถึงแม้จะน้อยกว่าแต่โดยทั่วไปแล้วจะเก่าแก่กว่าและให้น้ำหนักมากกว่าในฉบับ UBS5 และ NA28[140]

      บรรทัดฐานของต้นฉบับสมัยแรกๆมีความสมเหตุสมผล แต่โดยตัวของมันเองไม่ได้คำนึงถึงความจริงที่เพียงพอว่า แม้แต่ต้นฉบับต่างๆในสมัยแรกๆก็อาจมีข้อผิดพลาดได้ (เช่น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาษาอาราเมค ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป) การตีความพระคัมภีร์ใหม่อย่างถี่ถ้วนนั้นจะคำนึงถึงทั้งฉบับที่ใช้ตัวบทของภาษากรีกส่วนใหญ่ และตัวบทภาษากรีกของต้นฉบับภาษากรีกโบราณของฉบับ UBS5/NA28 ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการเลือกฉบับหนึ่งเพื่อจะตัดอีกฉบับหนึ่งออก

      ในบรรดาพระคัมภีร์ที่มีการแปลว่า “พระเจ้าองค์เดียวก็ยังมีการแปลที่แตกต่างกันอีกระหว่าง “พระเจ้าองค์เดียว” กับ “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา”[141] ดังจะเห็นในฉบับ ESV กับ NASB (เพิ่มตัวเอน):

ESV No one has ever seen God; the only God, who is at the Fathers side, he has made him known. (ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระเจ้าองค์เดียว ผู้ทรงอยู่ข้างๆพระบิดา ได้ทรงทำให้พระองค์เป็นที่ประจักษ์แล้ว)

NASB No one has seen God at any time; the only begotten God who is in the bosom of the Father, He has explained Him. (ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลยแต่พระเจ้าเพียงองค์เดียวที่บังเกิดมา ผู้สถิตในพระทรวงของพระบิดา ทรงอธิบายให้เห็นพระเจ้าแล้ว)

      การแปลของฉบับ ESV มีปัญหาในแง่ของหลักเหตุผลและศาสนศาสตร์ การแปลว่า “พระเจ้าองค์เดียว” นั้นให้ความหมายอะไรหรือ? ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว ก็ต้องมองไม่เห็นพระเยซู เพราะในข้อเดียวกันนี้กล่าวว่า “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว นั่นก็จะไม่นับรวมพระบิดาว่าเป็นพระเจ้า ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ดูหมิ่นบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพด้วยซ้ำ นอกจากนั้นก็จะขัดแย้งกับยอห์น 17:3 ที่กล่าวว่าพระบิดาทรงเป็นพระเจ้าที่เที่ยงแท้แต่องค์เดียว[142] ฉบับ NIV 1984 ก็จับคู่กับฉบับ ESV ในความไม่สมเหตุสมผลกันที่ว่า “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระเจ้าเดียวและองค์เดียว ผู้ทรงอยู่ข้างๆพระบิดา ได้ทรงทำให้พระองค์เป็นที่ประจักษ์แล้ว

สองหรือสามย่อหน้าถัดไปค่อนข้างจะเป็นวิชาการ ดังนั้นผู้อ่านบางคน

                      อาจต้องการอ่านข้ามไปยังหัวข้อถัดไป “หลักฐานภายใน”

      พระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกซึ่งรองรับ “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” คือพระคัมภีร์ใหม่ฉบับ NA27/NA28 และฉบับ UBS4/UBS5 ของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล[143] คู่มืออธิบายตัวบทพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก[144] ที่คู่กับฉบับ UBS4 อธิบายไว้ในหน้า 169-170 ว่า ต้นฉบับปาปิรัส P66 และ P75 คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อ “เสียงส่วนใหญ่” ของนักวิชาการห้าคนในคณะกรรมการบรรณาธิการของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากลที่โอนเอียงไปทาง “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” แต่หนึ่งในห้านั้นคืออัลเลน วิกเกร็น[145] ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากรีกและตัวบทพระคัมภีร์ใหม่ที่มีชื่อเสียง ได้แสดงคำคัดค้านของเขาต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการในบันทึกที่รวมอยู่ในคู่มืออธิบาย ซึ่งเขากล่าวว่า monogenēs theos (พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา) “อาจจะเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการคัดลอกแต่แรก (สมัยแรกๆ) ในต้นฉบับดั้งเดิมตามแบบอเล็กซานเดรีย” นี่เป็นต้นฉบับดั้งเดิมที่ยืนยันความเป็นพระเจ้าของพระเยซูและได้ชัยชนะในการสังคายนาแห่งไนเซีย วิกเกร็นยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “อย่างน้อยการตัดสินใจแบบ D น่าจะดีกว่า” เมื่อตัวบทในฉบับ UBS4 ถูกจัดอยู่ในแบบ {D} มันก็หมายความว่า “มีข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับการแปลที่เลือกไว้แล้วสำหรับตัวบท” ในฉบับ UBS4/5 ซึ่งตามจริงจัดเป็นแบบ {B} นั้นแสดงให้เห็นมุมมองว่าหลักฐานต้นฉบับสนับสนุน monogenēs theos (“พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา”) แม้ว่าจะไม่ท่วมท้นก็จริง

      มัทธิว แบล็ค กรรมการอีกคนหนึ่งอ้างในหนังสือของเขาที่ชื่อ “การทำความเข้าใจพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มและกิจการในภาษาอาราเมค”[146] โดยเห็นชอบกับการประเมินของนักวิชาการภาษาอาราเมคอีกคนหนึ่งว่า

....หนึ่งในข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดของเบอร์นีย์[147]ในลักษณะนี้ [การอ่านภาษาอาราเมคอย่างผิดๆ] ก็คือว่า monogenēs theos ที่ถกเถียงกันในยอห์น 1:18 นั้นแปล yehidh elaha อย่างผิดๆว่า “ผู้เดียวที่บังเกิดจากพระเจ้า” (หน้า 11)

      กล่าวได้อีกอย่างว่า “ผู้เดียวที่บังเกิดจากพระเจ้า” (“the only be­gotten of God”) ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” (“the only begotten God)! นี่เป็นเรื่องน่าตกใจกับการตัดสินใจของ “เสียงส่วนใหญ่” ของคณะกรรมการห้าคนที่ส่งผลให้พระคัมภีร์นับล้านเล่มพิมพ์ว่า “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” แทนที่จะเป็น “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา” ผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังการอ่านแบบนี้

 

หลักฐานภายใน

       นี่คือสถานการณ์จนถึงตอนนี้ หลักฐานต้นฉบับของยอห์น 1:18 ถูกแบ่งระหว่าง “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา” กับ “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” การแบ่งนี้สะท้อนถึงความเห็นที่ไม่เป็นเอกฉันท์แม้แต่ภายในคณะกรรมการของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล (UBS)[148] ด้วยเหตุนี้จึงมีระดับของความไม่แน่นอนในแบบ {B} สำหรับ “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” อีกทั้งยังมีความแตกต่างระหว่างพระคัมภีร์หลักด้วยกัน ซึ่งบางฉบับจะโอนเอียงไปทางการอ่านตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (ฉบับ ESV, NASB, NIV, NET) และฉบับอื่นๆที่ไม่ได้อ่านตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (ฉบับ HCSB, CJB, KJV, NJB, RSV, REB) ดังนั้นหลักฐานของต้นฉบับโดยตัวของมันเองจึงไม่ได้ยุติปัญหา แล้วกับหลักฐานภายในล่ะ?

      ในพระคัมภีร์ใหม่ คำว่า “monogenēs” (ซึ่งหมายถึง “คนเดียวที่เกิดมา” หรือ “คนเดียว” หรือ “หนึ่งเดียว”[149] ใช้กับพระเยซูเฉพาะในการเขียนของยอห์นเท่านั้น มันน่าสนใจที่ห้าตัวอย่างของ monogenēs ในการเขียนของยอห์นนั้นทั้งหมดอ้างถึงพระเยซู ข้อพระคัมภีร์ที่นอกจากยอห์น 1:18 สี่ข้อต่อไปนี้ใช้ monogenēs กับพระเยซู (ข้อทั้งหมดมาจากฉบับ NASB)

ยอห์น 1:14 และพระวาทะได้มาเป็นเนื้อหนังและประทับ​​อยู่ท่ามกลางเรา และเราได้เห็นพระสิริของพระองค์ พระสิริดัง​​ของผู้เดียวที่บังเกิดจากพระบิดา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง

ยอห์น 3:16 พระเจ้าทรงรักโลก คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมาของพระองค์ เพื่อใครก็ตามที่วางใจในพระบุตร​​ก็จะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร์

ยอห์น 3:18 คนที่เชื่อวางใจในพระองค์จะไม่ถูกพิพากษา ส่วนคนที่ไม่เชื่อวางใจก็ได้ถูกพิพากษา​​แล้ว เพราะเขาไม่ได้เชื่อวางใจในพระนามพระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมาของพระเจ้า

1 ยอห์น 4:9 ด้วยเหตุนี้ ความรักของพระเจ้าจึงถูกสำแดงในเรา คือที่พระเจ้าได้ทรงส่งพระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมาของพระองค์เข้ามาในโลก เพื่อเราจะได้ดำรงชีวิตโดยทางพระองค์

 

ข้อสังเกตบางประการ

  • จากข้อพระคัมภีร์สี่ข้อนี้ สามข้อหลังมีคำว่า “พระบุตร” (คำกรีก huios) ในถ้อยคำ “พระบุตรองค์เดียว” ดังนั้นนอกจากคำขึ้นต้นของยอห์นแล้ว เมื่อใดก็ตามที่ monogenēs ถูกใช้กับพระเยซู ก็มักจะหมายถึงพระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา โดยไม่เคยหมายถึงพระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา
  • ข้อหนึ่งในสี่ข้อนี้จากยอห์น 1:14 ไม่มีคำว่า “พระบุตร” หรือคำว่า “พระเจ้า” ในแง่นี้จึงถือเป็นหลักฐาน “ที่เป็นกลาง” ในการตัดสินใจระหว่าง “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา” กับ “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา”
  • แต่ถ้าเรายอมรับว่ายอห์น 1:18 หมายถึง “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” (การอ่านตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) เราจะเจอปัญหาที่ข้อนี้ขัดแย้งกับข้ออื่นๆที่พูดถึง “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา” ข้อเท็จจริงก็คือว่า “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” ไม่ปรากฏที่ไหนในพระคัมภีร์ใหม่นอกจากยอห์น 1:18 ที่ถกเถียงกันอยู่ เหตุใดยอห์นจึงขัดแย้งกับตัวเองที่ใช้ “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา” มาอย่างเสมอต้นเสมอปลายเว้นก็แต่ในยอห์น 1:18? ถ้าเราแยกยอห์น 1:18 ออกจากบันทึกที่เหลือของยอห์นโดยกำหนดให้เป็น “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” ก็จะทำให้ไม่เหมือนกับที่อื่นๆในพระกิตติคุณยอห์นหรือในพระคัมภีร์ใหม่
  • แต่ถ้าเรายอมรับว่ายอห์น 1:18 กล่าวว่า “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา” ทั้งห้าข้อก็จะสอด คล้องกัน
  • จากห้าข้อนี้ ยอห์น 1:18 เป็นข้อเดียวที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับตัวบท อีกสี่ข้อไม่มีปัญหาเกี่ยว กับตัวบท และจริงๆแล้วไม่ได้ให้คำอธิบายในเชิงอรรถเชิงวิจารณ์ของฉบับUBS5

      เราอาจโต้แย้งเป็นธรรมดาตามหลักของการวิจารณ์ตัวบทอันเนื่องจาก “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” อ่านเข้าใจยากกว่า “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา” มันจึงเป็นไปได้มากว่า การอ่านอย่างแรกได้เปลี่ยนมาเป็นการอ่านอย่างหลังเพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากนี้ บางทีอาจเป็นเช่นนั้น แต่สิ่งนี้เป็นการมองข้ามความจริงที่ว่าปัญหาเกี่ยวกับตัวบทโดยรอบยอห์น 1:18 นั้นไม่เป็นกลางในหลักคำสอน ซึ่งต่างจากสถานการณ์ของข้ออื่นๆส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตัวบท เช่น ข้อถัดไปในยอห์น 1:19 (“พวกยิวส่งพวกปุโรหิตและพวกเลวีจากกรุงเยรูซาเล็มไปถามเขา”)[150]

      ปัญหาของอิทธิพลจากหลักคำสอนนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากกระบวนการในการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าได้เริ่มต้นก่อนปี ค.ศ. 200 ถ้ามีการกำหนดให้อ่าน “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” ในต้นฉบับสมัยแรกๆราว ค.ศ. 200 จริงๆ บรรดาผู้นำคริสตจักรของชาวต่างชาติซึ่งในขณะนั้นก็ได้ยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าแล้ว จะไม่รับรองโดยเร็วหรือ? แต่ข้อเท็จจริงก็ยังคงอยู่ว่าตัวบทของพระคัมภีร์ใหม่ส่วนใหญ่ใช้ “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา”

      นี่คือเหตุผลที่อัลเลน วิกเกร็นซึ่งเราได้อ้างอิงจึงกล่าวว่าการอ่าน “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” อาจเป็นข้อผิดพลาดของการคัดลอกในสมัยแรกๆในต้นฉบับดั้งเดิมตามแบบอเล็กซานเดรีย นั่นก็คือ ผลจากอิทธิพลของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในคริสตจักรยุคแรก

      ในหนังสือที่ชื่อพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว: ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวของคริสเตียนยุคแรกในบริบทของชาวยิว[151] เจมส์ เอฟ แมคแกร็ธ ให้ความเห็นที่โดดเด่นบางอย่างเกี่ยวกับยอห์น 1:18 รวมทั้งข้อสังเกตว่าต้นฉบับปาปิรัส 66 และปาปิรัส 75 (บางคนเห็นว่าเป็นการโน้มนำที่โอนเอียงไปทางการอ่านว่า “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา”) ว่ามีหลักฐานโน้มน้าวของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ทั้งสองต้นฉบับลบคำว่า “พระเจ้า” ออกจากยอห์น 5:44 เพื่อหลีกเลี่ยงการกล่าวว่าพระบิดาคือ “พระเจ้าแต่องค์เดียว”[152] โดยหวังจะนับรวมพระเยซูเป็นพระเจ้า ฉบับปาปิรัส 66 ยังเพิ่ม “the” (นั้น) ให้กับคำ “God” (พระเจ้า) ในยอห์น 10:33 เพื่อทำให้พระเยซูทรงเรียกพระองค์เองว่า “พระเจ้าผู้นั้น” (the God) แทนที่จะเป็น “พระ” (God) ในความหมายของสดุดี 82:6[153] นี่คือข้อความที่ตัดตอนมาจากหนังสือของแมคแกร็ธ (หน้า 65 เว้นเชิงอรรถของเขา)

การรับรองสองต้นฉบับปาปิรัสตามแบบอเล็กซานเดรียของพระกิตติคุณในยุคแรก ที่รู้จักกันในชื่อปาปิรัส 66 และปาปิรัส 75 มักจะให้น้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น อันที่จริงปาปิรัส 75 เป็นต้นฉบับสมัยแรกๆมาก แต่มักจะให้การอ่านซึ่งยอมรับกันโดยทั่วไปว่าด้อยกว่า และในบางกรณีก็ส่งสัญญาณเจตนาในการเพิ่มเติมหรือแก้ไข นอกจากนั้นสิ่งสำคัญก็คือต้นฉบับสองฉบับนี้พร้อมใจกันเว้นคำว่า “พระเจ้า” ในยอห์น 5:44 ซึ่งนักวิชาการเกือบทั้งหมดเห็นพ้องกันว่าเป็นส่วนของต้นฉบับเดิม บีสลีย์ เมอร์เรย์[154]ถือว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่ก็อาจเป็นได้พอๆกันว่าบรรดาผู้คัดลอกต้นฉบับเหล่านี้มีปัญหาในการกล่าวถึงพระบิดาว่าเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว เพราะ “โลกอส” ก็สามารถถูกพูดถึงว่าเป็น “พระเจ้า” ด้วย และความสำคัญอีกอย่างก็คือว่าปาปิรัส 66 เพิ่มคำนำหน้านามที่ระบุแน่นอนหน้าคำ “พระเจ้า” ในยอห์น 10:33 ดังนั้นจึงมีข้อบ่งชี้ว่าผู้คัดลอกต้นฉบับเหล่านี้มีมุมมองทางศาสนศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการคัดลอกของพวกเขา ต้นฉบับทั้งสองนี้ยังคงการอ่านที่ด้อยกว่าอย่างมาก และแม้ว่าน้ำหนักที่รวมกันของสองต้นฉบับจะต้องถูกพิจารณาอย่างจริงจัง มันยังไม่ได้เป็นข้อสรุป ดังที่ระบุไว้โดยข้อตกลงทั่วไปว่า “พระเจ้าแต่องค์เดียว” เป็นการอ่านตามต้นฉบับในตัวอย่างที่เพิ่งอ้างถึง (ยอห์น 5:44)

      ฟีลิป เวสลีย์ คอมฟอร์ท กล่าวในคู่มืออธิบายตัวบทของความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างแรงกล้าของเขาที่ชื่อคู่มืออธิบายเกี่ยวกับต้นฉบับและตัวบทของพระคัมภีร์ใหม่[155] ในหน้า 248 ว่า “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” น่าจะเป็นการอ่านที่เป็นไปได้กับยอห์น 1:18 ด้วยเหตุผลที่ว่าสิ่งนี้จะสอดคล้องกับส่วนที่เหลือในคำขึ้นต้นของยอห์นในการสนับสนุนการเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ และเป็นข้อสรุปที่เหมาะสมกับคำขึ้นต้นและเป็นภาพสะท้อนของยอห์น 1:1 แต่ข้อโต้แย้งนี้ไม่น่าเชื่อถือเพราะมันสามารถโต้แย้งในทางตรงกันข้ามได้เช่นกันโดยเปิดเผยแรงจูงใจที่ชัดเจนของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพในการอ่านยอห์น 1:18 ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนักเนื่องจากมีการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าในคริสตจักรยุคแรก

      บาร์ต ดี แอร์แมน (การอ้างอิงพระเยซูผิดๆ, หน้า 162)[156]อ้างเหตุผลว่า “พระบุตรองค์เดียว” มีแนวโน้มมากกว่า “พระเจ้าองค์เดียว”[157] ที่จะเป็นถ้อยคำดั้งเดิมด้วยเหตุผลที่ว่า การเปลี่ยน “พระบุตรองค์เดียว” มาเป็น “พระเจ้าองค์เดียว” สามารถอธิบายได้อย่างน่าเชื่อถือโดยการคง “องค์เดียว” ในทั้งสองถ้อยคำไว้ ประเด็นก็คือว่า หากผู้คัดลอกได้เปลี่ยน “พระบุตรองค์เดียว” ที่ไม่เป็นปัญหาให้เป็น “พระเจ้าองค์เดียว” ที่เป็นปัญหา (เป็นปัญหาก็เพราะ ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว พระบิดาก็จะไม่ถูกรวมว่าเป็นพระเจ้า) ดังนั้นการไม่สามารถลบคำประกอบ “องค์เดียว” ออก ไป ผู้คัดลอกจะเผยให้เห็นการแก้ไขของเขาเองและความพยายามที่ไม่สำเร็จของเขาเอง

      ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่อาจเป็นหลักฐานจากภายนอกหรือภายในนั้น ผลลัพธ์โดยรวมก็คือว่า พระคัมภีร์เช่นฉบับ CJB, KJV, HCSB, NJB, RSV, และ REB แม้จะมีความโอนเอียงไปทางความเชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่บ้างก็ได้เลือกที่จะแปลความหมายยอห์น 1:18 ในแบบที่ไม่ใช่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่ตรงข้ามกันกับฉบับ ESV ที่แปลยอห์น 1:18 ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแม้ว่าจะมีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นจากการแปลนั้น มันทำให้ยอห์นขัดแย้งในตัวเองและมีความหมายว่าพระเยซูเป็น “พระเจ้าแต่องค์เดียว” เพื่อกันพระเจ้าพระบิดาออกไป

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์[158] (เกี่ยวกับ monogenēs) ปฏิเสธการอ่านยอห์น 1:18 ว่า “พระเจ้าองค์เดียวที่บังเกิดมา” เพราะไม่สอดคล้องกับคำพูดและวิธีคิดของยอห์น และอาจถูกจูงใจจากหลักคำสอน

การอ่าน monogenēs theos (โดยไม่มีคำนำหน้านามหน้าคำ monogenēs) ในยอห์น 1:18 ซึ่งไม่ได้มีน้ำหนักจากหลักฐานโบราณมาสนับสนุนแม้แต่น้อยนั้น...ต่างจากวิธีคิดและคำพูดของยอห์น (ยอห์น 3:16, 18; 1 ยอห์น 4:9)[159] เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องและแข็งกร้าวที่ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของความกระตือรือร้นที่ดันทุรังซึ่งเริ่มต้นไม่นานหลังจากยุคแรกๆของคริสตจักร (ทับศัพท์ภาษากรีก)

 

ยอห์น 1:18 พระบุตรองค์เดียวหรือว่าพระบุตรหนึ่งเดียว?

      ในขณะที่ฉบับคิงเจมส์ (KJV) ใช้ “พระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมา” (only begotten Son) กับยอห์น 1:18 นั้น มีหลายฉบับที่เว้นคำว่า “ที่บังเกิดมา” (begotten) เพราะบรรดานักวิชาการทราบว่า monogenēs มีความหมายแค่ว่า “เดียว” หรือ “หนึ่งเดียว” เมื่อ monogenē ใช้กับบุตรชาย มันก็หมายความแค่ว่าบุตรชายเพียงคนเดียว หรือบุตรชายหนึ่งเดียวโดยไม่มีคำว่า “ที่บังเกิดมา” คำว่า “ที่บังเกิดมา” เป็นคำภาษาอังกฤษโบราณของ “เกิด” คือ “บุตรชายที่เกิดมาคนเดียว” ซึ่งก็คือ “บุตรชายเพียงคนเดียว”

      การใช้คำ monogenē นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับพระเยซู คำนี้ยังใช้กับอิสอัค บุตรชายคนเดียวของอับราฮัม (ฮีบรู 11:17) ใช้กับบุตรชายคนเดียวของหญิงม่ายที่ตายไปและฟื้นขึ้นมา (ลูกา 7:12) และใช้กับบุตรชายคนเดียวของชายคนหนึ่ง (ลูกา 9:38) นอกจากนี้คำนี้ยังใช้กับบุตรหญิงอีกด้วย เช่น บุตรสาวคนเดียวของไยรัส (ลูกา 8:42)

      ในพระคัมภีร์ใหม่คำ monogenē นี้ใช้กับพระเยซูเฉพาะในงานเขียนของยอห์นเท่านั้น (ยอห์น 1:14, 18; 3:16, 18; 1 ยอห์น 4:9) พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ให้คำนิยามของคำ monogenē สองแบบคือ

  1. การเป็นเพียงคนเดียวของแบบเดียวกัน ภายในความสัมพันธ์เฉพาะ คนเดียวและเพียงคนเดียว, เท่านั้น
  2. ารเป็นเพียงคนเดียวของแบบเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน “หนึ่งเดียว” (ไม่เหมือนใครในแบบเดียวกัน) ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวอย่างเดียวของประเภทนั้น

      สรุปโดยย่อก็คือ พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ให้คำนิยามพื้นฐานสองประการของคำ monogenēs ว่า “เพียงคนเดียว” กับ “หนึ่งเดียว”[160] หมายเหตุภาคคำแปลศัพท์ (คำนิยามโดยสรุปของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ที่เห็นเป็นตัวอักษรเอน) ไม่มีที่ไหนเลยที่มีคำว่า “บุตร” หรือ “ที่เกิดมา” แม้ว่าหลายคำอ้างอิงเกี่ยวกับคำนิยามแรกของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จะเกี่ยวข้องกับผู้สืบเชื้อสายของมนุษย์

      คำว่า monogenēs ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือ mono ที่ดูออกได้ง่ายว่าเป็นส่วนแรกของคำ mono+theism (“เดียว” และ “เพียงคนเดียว” + พระเจ้า) ส่วนที่สองมาจากคำกรีกว่า “เกิด” (หรือ “ที่เกิดมา” ในภาษาอังกฤษโบราณ) จากคำอธิบายของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG เกี่ยวกับ monogenēs นั้นเห็นชัดเจนว่าความหมายของคำนี้โดยหลักแล้วมาจากส่วนแรกของคำ (mono) มากกว่าส่วนที่สอง

      แล้วการแปลยอห์น 1:18 แบบไหนจะถูกต้องมากกว่ากัน ระหว่าง “พระบุตรองค์เดียว” กับ “พระบุตรหนึ่งเดียว”?[161] เนื่องจากการแปลทั้งสองแบบมีความถูกต้องตามคำ คำถามว่าอันไหนเป็นความหมายที่ตั้งใจไว้ จะสามารถตอบได้ก็โดยการดูว่าอันไหนเหมาะกับข้อมูลพระคัมภีร์ใหม่มากกว่า

      ในขณะที่ฉบับแปลส่วนใหญ่โอนเอียงไปทาง “พระบุตรองค์เดียว” เมื่อ monogenēs กล่าวถึงพระเยซู พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ก็ยอมรับ “พระบุตรหนึ่งเดียว” พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ตั้งข้อสังเกตว่าในงานเขียนของยอห์นนั้น mono­genēs huios ใช้กับพระเยซูเท่านั้น จากนั้นก็กล่าวว่าในตัวอย่างดังกล่าวทั้งหมด “การแปลว่า คนเดียว, หนึ่งเดียว อาจเพียงพอสำหรับการปรากฏทั้งหมดตรงนี้” พูดอีกอย่างก็คือ คำว่า mono­genēs huios นี้ พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ยอมรับทั้ง “บุตรคนเดียว” และ “บุตรหนึ่งเดียว” ในทุกตัวอย่าง

      แต่ถ้าเราเลือก “พระบุตรองค์เดียว” กับยอห์น 1:18 เราจะเจอปัญหากับคำว่า “คนเดียว” เพราะว่าในพระคัมภีร์ คำเรียก “บุตรของพระเจ้า” ไม่ได้ใช้กับพระเยซูเท่านั้น แต่ใช้กับสิ่งที่มีชีวิตหลายประเภทตามที่นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้[162] นั่นหมายความว่าพระเยซูไม่ใช่บุตร “คนเดียว” ของพระเจ้าอย่างแท้จริง อันที่จริงคำพหูพจน์ว่า “บรรดาบุตรของพระเจ้า” มีปรากฏทั้งในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ (โยบ 1:6; มัทธิว 5:9; กาลาเทีย 3:26) ความจริงที่พระเยซูทรงถูกเรียกว่า “บุตรหัวปี” (โรม 8:29; โคโลสี 1:15, 18; วิวรณ์ 1:5) ก็บ่งบอกแล้วว่าพระองค์ไม่ใช่บุตรเพียงคนเดียว ในแผนการนิรันดร์ของพระเจ้านั้น พระเยซูจะต้องเป็น “บุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก” (โรม 8:29) ความจริงแล้ว พระเยซูตรัสถึงเหล่าสาวกของพระองค์ว่าเป็น “พี่น้อง” ของพระองค์ (มัทธิว 25:40; 28:10; ยอห์น 20:17) นั่นเป็นเพราะพระเยซูและบรรดาผู้เชื่อของพระองค์เป็นครอบครัวเดียวกัน คือ “ทั้งพระองค์ผู้ทำให้มนุษย์ทั้งหลายบริสุทธิ์ และบรรดาผู้ที่ถูกทำให้บริสุทธิ์​​นั้นก็เป็นครอบครัวเดียวกัน ดังนั้นพระเยซูจึงไม่ทรงละอายที่จะเรียกพวกเขา​​ว่าพี่น้อง” (ฮีบรู 2:11 ฉบับ NIV 1984) สิ่งที่สวยงามเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือว่า พระเยซูผู้ทรงบริสุทธิ์เพราะความเพียบพร้อมสมบูรณ์ของพระองค์นั้น ไม่ได้ทรงละอายที่จะยอมรับว่าผู้ที่ (ยัง) ไม่บรรลุถึงความเพียบพร้อมสมบูรณ์มาเป็นพี่น้องของพระองค์ ไม่มีความชอบธรรมด้วยตัวเองในพระองค์

      อาดัมถูกเรียกว่า “บุตรของพระเจ้า” (ลูกา 3:38) เช่นเดียวกับผู้เชื่อทุกคน (มัทธิว 5:9; กาลาเทีย 3:26) บรรดาบุตรของพระเจ้าคือผู้ที่ร้องทูลพระเจ้าว่า “อับบา พระบิดา” พวกเขาเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ (โรม 8:14-17)

      จากข้อมูลของพระคัมภีร์ใหม่ มีหลายคนมากที่ถูกเรียกว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ดังนั้นพระเยซูจึงไม่ใช่บุตร “คนเดียว” ของพระเจ้าอย่างแท้จริง ฉะนั้นการอ่านยอห์น 1:18 ว่า “พระบุตรองค์เดียว” จะทำให้เราไม่แน่ใจในการตีความ แต่ปัญหานี้จะหายไปทันทีเมื่อเราให้ monogenēs ในยอห์น 1:18 หมายถึง “หนึ่งเดียว” ซึ่งเป็นคำนิยามศัพท์ที่เป็นไปได้ไม่ว่ากรณีใดๆ นั่นหมายความว่ายอห์นน่าจะเผยให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของพระเยซูว่าเป็น “พระบุตรเดียวและองค์เดียว” ของพระยาห์เวห์ ทั้งนี้เนื่องจากการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบคนเดียวและเพียงผู้เดียวของพระองค์ เป็นต้น แม้ว่าจะมีบุตรของพระเจ้ามากมาย แต่พระเยซูก็ทรงเป็นพระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า นี่ทำให้เข้าใจได้ดีและสอดคล้องกับพระคัมภีร์ใหม่

      ข้อความที่ตัดตอนมาจากสามฉบับอ้างอิงตามมาตรฐานต่อไปนี้ อธิบายเกี่ยวกับ monogenēs ในลักษณะที่เผยให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระเจ้า

monogenēs มีความหมายตรงตัวว่า “พิเศษไม่เหมือนใคร” “คนเดียว” “หนึ่งเดียว” (unicus) ไม่ใช่ “คนเดียวที่บังเกิดมา” ซึ่งจะเป็นคำ μονογέννη­τος (unigenitus) และพบได้ทั่วไปในฉบับ LXX ในแง่นี้ (เช่น ผู้วินิจฉัย 11:34; สดุดี 21(22):21; 24(25):16) มีการใช้แบบเดียวกันในพระคัมภีร์ใหม่ในความหมายของบุตรชายและบุตรสาว “คนเดียว” (ลูกา 7:12, 8:42, 9:38) และนำมาใช้ในความหมายพิเศษกับพระเยซูด้วยในยอห์น 1:14,18; 3:16,18; 1 ยอห์น 4:9 โดยเน้นที่ความคิดที่ว่าเป็นพระบุตร “องค์เดียว” ของพระเจ้า พระองค์ไม่ได้เท่าเทียมและสามารถจะสำแดงพระบิดาได้อย่างสมบูรณ์ (โมลตันและมิลลิแกน, คำศัพท์ของพระคัมภีร์ใหม่, monogenēs)[163]

Monogenēs เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียว ในแง่ของการเป็นเพียงคนเดียวในแบบประเภทเดียวกันหรือจำพวกเดียวกัน “หนึ่งเดียว, คนเดียว” τὸν υἱὸν τὸν μονογενῆ ἔδωκεν หมายถึง “พระองค์ได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์” (ยอห์น 3:16...) “ท่านผู้ได้รับพระสัญญาก็ถวายบุตรชายคนเดียวของท่าน” หรือ “..ก็พร้อมแล้วที่จะถวายบุตรชายคนเดียวของท่าน” (ฮีบรู 11:17) แน่นอนที่อับราฮัมยังมีบุตรชายอีกคนหนึ่งชื่ออิชมาเอล และมีบุตรชายอีกหลายคนในภายหลังที่เกิดจากนางเคทูราห์ แต่อิสอัคเป็นบุตรหนึ่งเดียวเนื่องจากเป็นบุตรชายที่เกิดโดยพระสัญญาของพระเจ้า ดังนั้นจึงอาจเรียกเขาว่าเป็นบุตร μονογενής เนื่องจากเขาเป็นคนเดียวในประเภทเดียวกัน (พจนานุกรมพระคัมภีร์ใหม่ฉบับลูว์-ไนดา ที่ยึดกลุ่มคำตามความหมายของคำ; monogenēs, 58.52, เพิ่มการเน้น)[164]

[“บังเกิดมา” ถูก] ใช้โดยเฉพาะในการที่พระเจ้าทรงทำให้พระคริสต์เป็นบุตรของพระองค์ ดังที่กล่าวว่า “เจ้าเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดเจ้าแล้ว(สดุดี 2:7) ที่อ้างอิงในกิจการ 13:33 เกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (เปรียบเทียบโรม 1:4) ข้อความเดียวกันนี้ถูกอ้างถึง (ในฮีบรู 1:5) เป็นการพิสูจน์ฐานะของพระคริสต์ฉันบุตรที่ยิ่งใหญ่เหนือพวกทูตสวรรค์โดยที่ “พระองค์ทรงได้รับพระนามที่ประเสริฐกว่านามของพวกทูตสวรรค์ คือ นามของบุตร และอีกครั้งที่พระเจ้าทรงให้เกียรติพระคริสต์ด้วยตำแหน่งมหาปุโรหิต (ที รีส์ ในสารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับอินเตอร์เนชันแนลแสตนดาร์ด, หัวข้อ “ที่บังเกิดมา”, เพิ่มตัวเอน)[165]

      ข้อความที่ตัดตอนมาสุดท้ายนี้เตือนเราว่า การนำ “บังเกิดมา” และ “บุตร” มาใช้กับพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นมีรากฐานมาจากสดุดี 2:7 ซึ่งเป็นข้อที่พระเจ้าทรงประกาศว่าพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้นั้นเป็นบุตรของพระองค์ เป็นผู้ที่จะปกครองเหนืออิสราเอลและประชาชาติทั้งหลาย (ข้อ 8-10) คำประกาศว่า “เจ้าเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดเจ้าแล้ว” ในสดุดี 2:7 ถูกยกอ้างอิงในกิจการ 13:33; ฮีบรู 1:5 และ ฮีบรู 5:5 แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ยกอ้างอิงสดุดี 2:7 ไว้อย่างชัดเจน แนวความคิด “ที่บังเกิดมา” กับ “พระบุตร” เมื่อนำมาใช้กับพระคริสต์ก็มาจากสดุดี 2:7 อย่างแน่นอน

      ยอห์นกล่าวผนวกคำว่า “หนึ่งเดียว” หรือ “คนเดียว” ต่อท้ายคำว่า “บุตร” ในกรณีของพระเยซูก็เพื่อจะแสดงให้เห็นความเป็นเพียงหนึ่งเดียวของพระองค์ นั่นเป็นเพราะในพระกิตติคุณยอห์น บรรดาผู้เชื่อก็ถูกเรียกว่าเป็นบุตรของพระเจ้าด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขา “ไม่ได้เป็นของโลก” (ยอห์น 15:19, 17:16) แต่ “เกิดจากเบื้องบน” การแปลยอห์น 3:3,7 ว่า “เกิดจากเบื้องบน” ในฉบับ NJB, NRSV, CJB, ITNT[166] นั้นถูกต้อง เนื่องจาก anō­then หมายถึง “จากเบื้องบน” ตามพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG และ Thayer คำว่า “จากเบื้องบน” ก็เหมือนกันกับ “จากสวรรค์” (ยอห์น 3:31) แต่ในขณะที่คำเรียก “บุตรของพระเจ้า” ใช้กับพระเยซูและบรรดาผู้เชื่อนั้น ก็มีแต่พระเยซูผู้เป็นพระบุตรหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เป็นพระเมสสิยาห์[167]

 

 

ปัญญาที่พูดถึงในสุภาษิตบทที่ 8

ระบุถึงพระคริสต์ไหม?

      ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนเปรียบเทียบ “ปัญญา” ในสุภาษิตบทที่ 8 กับพระคริสต์เหมือนที่พวกเขาเปรียบเทียบพระวาทะในยอห์นบทที่ 1 กับพระคริสต์ ใจความสำคัญของสุภาษิตบทที่ 8 ก็คือปัญญาที่ถูกอธิบายว่าเป็นหลักการของการดำเนินในทางของพระเจ้า แต่เป็นที่รู้จักกันดีว่าถูกเทียบให้เป็นบุคคลว่าเป็นปัญญาที่พูดในฐานะบุคคลที่หนึ่ง (ตัวอย่างเช่น “ข้าพเจ้าคือปัญญา อยู่กับความสุขุม และข้าพเจ้าพบความรู้และความเฉลียวฉลาด” ข้อ 12) สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ กล่าวกันว่าปัญญาอยู่กับพระยาห์เวห์ก่อนและระหว่างการสร้างจักรวาล โปรดสังเกตคำที่เป็นตัวหนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 30

 

22 องค์พระผู้เป็นเจ้า (คำตรงตัวคือ “พระ​ยาห์​เวห์”) ทรงเป็นเจ้าของข้าพเจ้าตั้งแต่​ทรง​เริ่ม​งาน​ของ​พระ​องค์​ เป็นสิ่งแรกในบรรดา​พระ​ราช​กิจโบราณของ​พระ​องค์

23 ตั้ง​แต่​โบราณกาล​มา​แล้ว ข้าพเจ้า​ถูก​สร้างขึ้น ตั้ง​แต่​แรก ก่อน​​โลกนี้จะมีขึ้น

24 เมื่อ​ยัง​ไม่มี​ที่ลึก ข้าพเจ้าก็​ถือ​กำ​เนิด​มา​แล้ว เมื่อยัง​ไม่​มี​น้ำ​พุ​ที่​มี​น้ำ​มาก​หลาย

25 ก่อน​ภูเขา​ถูก​วางรูปทรง ก่อน​เนิน​เขา ข้าพเจ้าก็​ถือ​กำ​เนิด​มา​แล้ว 26 ก่อน​ที่พระองค์ได้ทรง​สร้าง​แผ่น​ดินที่มีท้องทุ่ง หรือ​​ผง​คลี​แรก​ของโลก

27 เมื่อ​ทรง​สร้าง​ฟ้า​สวรรค์ขึ้น ข้าพเจ้า​ก็อยู่​ที่​นั่น​แล้ว เมื่อ​ทรง​ลากเส้นขอบฟ้าเป็นวง​รอบบน​พื้นผิว​ของที่ลึก

28 เมื่อ​ทรง​ทำ​ให้​เมฆ​เบื้อง​บน​จับตัวกันแน่น เมื่อ​ทรง​กำหนด​น้ำ​พุ​ของ​ที่​ลึก

29 เมื่อ​ทรงจำกัดขอบ​เขต​ให้​ทะเล เพื่อ​ว่า​น้ำ​จะ​ไม่​ละเมิด​คำ​บัญ​ชา​ของ​พระ​องค์ เมื่อ​พระองค์ทรง​ปักผัง​ราก​ฐานของ​แผ่น​ดิน​โลก

30 ​​​​ เวลานั้น ข้าพเจ้า​ก็​อยู่​ข้าง​พระ​องค์​แล้ว​เหมือน​อย่าง​นาย​ช่าง และข้าพเจ้า​เป็น​ความยินดี​​ของ​   พระ​องค์ทุกวัน ชื่นชมยินดี​อยู่​ต่อ​พระ​พักตร์​พระ​องค์​เสมอ

31 ชื่นชมยินดีกับที่อาศัย​ใน​โลกที่​พระ​องค์ทรงสร้าง และชื่นใจยินดีใน​มนุษย์​ทั้ง​หลาย

            (สุภาษิต 8:22-31 ฉบับ ESV)

 

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพระบุว่า “พระวาทะ” (Logos) เปรียบเหมือนกับพระคริสต์อย่างไร พวกเขาก็ระบุว่า “ปัญญา” (wisdom) ที่เทียบให้เหมือนบุคคลในสุภาษิตบทที่ 8 ก็เปรียบเหมือนกับพระคริสต์ผู้ดำรงอยู่ก่อนอย่างนั้นเช่นกัน แต่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนไม่เห็นด้วยกับการระบุตัวตนเช่นนี้และด้วยเหตุผลที่เฉพาะ หนึ่งในนั้นกล่าวว่า “หลายคนได้เทียบปัญญาในบทนี้กับพระเยซูคริสต์... แต่เนื่องจากปัญญาดูเหมือนว่าจะเป็นผลงานสร้างของพระเจ้าในสุภาษิต 8:22-31 จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ปัญญาตรงนี้คือพระเยซูคริสต์[168]  คำอธิบายนี้โดดเด่นในเรื่องที่ปฏิเสธการระบุว่าปัญญาเป็นบุคคลเดียวกันกับพระคริสต์ กล่าวคือ ที่ปัญญาในสุภาษิต 8 “ดูเหมือนจะเป็นผลงานการสร้างของพระเจ้า” และความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะไม่มีวันยอมรับความคิดที่ว่าพระคริสต์ทรงถูกสร้างขึ้น!

      การอ่านสุภาษิตบทที่ 8 อย่างถี่ถ้วนแสดงให้เห็นว่าปัญญา (ซึ่งปรากฏว่าเป็นคำเพศหญิงทั้งในภาษาฮีบรูและภาษากรีก) ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานของการสร้าง มีพระยาห์เวห์เพียงผู้เดียวทรงเป็นผู้สร้าง ปัญญาเป็นเพียงพยานรู้เห็นโดยตรงที่อยู่กับพระยาห์เวห์ในการทรงสร้าง ที่ชื่นชมยินดีและเปรมปรีดิ์ในงานของพระยาห์เวห์ และในข้อ 30 ของพระคัมภีร์บางฉบับ (ESV, RSV, NASB) อธิบายว่าปัญญาเป็น “นายช่าง” แต่ฉบับอื่นๆ บางฉบับ (NIV, CJB, KJV) จะเว้นคำนี้เนื่องจากตัวบทภาษาฮีบรูไม่ยอมรับคำนี้ตามความเห็นของนักวิชาการบางคน[169]

      ในสุภาษิตบทที่ 8 ปัญญาพูดในฐานะของบุคคลที่หนึ่ง แต่มันไม่ได้หมายความว่าปัญญาจะเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่แยกต่างหากจากพระยาห์เวห์ ปัญญาเป็นเพียงพระลักษณะหนึ่งของพระองค์และไม่ได้เป็นบุคคลที่แยกจากพระเจ้า ในทำนองเดียวกัน ปัญญาและความเข้าใจในสุภาษิต 3:19 ก็ไม่ได้เป็นสองบุคคลที่แยกจากพระเจ้า “พระยาห์เวห์ทรงวางรากแผ่นดินโลกโดยพระปัญญา พระองค์ทรงสถาปนาฟ้าสวรรค์โดยความเข้าพระทัย

      การระบุตัวตนของพระปัญญากับพระคริสต์ผู้ทรงดำรงอยู่ก่อนตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นถูกปฏิเสธด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญญาในสุภาษิตบทที่ 8 ถูกสร้างโดยพระยาห์เวห์ คู่มือพระคัมภีร์เดิมของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล[170] เป็นชุดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการแปลพระคัมภีร์มาก กว่าประเด็นทางศาสนศาสตร์ที่สรุปบนพื้นฐานของสุภาษิต 8:22 ว่า ปัญญาได้ถูกสร้างขึ้นและชี้แนะว่าข้อเท็จจริงนี้ควรสะท้อนให้เห็นในการแปลพระคัมภีร์

ปัญญาไม่ได้มีส่วนในการสรรค์สร้างด้วยตนเองที่นอกเหนือจากพระเจ้าผู้เป็นพระผู้สร้าง ปัญญาไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยตัวเอง ในข้อ 22 พระเจ้าเป็นผู้ทรงสร้างปัญญา (คู่มือพระคัมภีร์เดิมฉบับ UBS, สุภาษิต 8:22)

      ต่อไปนี้เป็นการแปลสุภาษิต 8:22 จากสี่ฉบับ ข้อที่คู่มือพระคัมภีร์เดิมฉบับ UBS พูดถึงการสร้างปัญญา (เพิ่มตัวเอน)

ESV: The Lord possessed me at the beginning of his work, the first of his acts of old.

องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นเจ้าของข้าพเจ้าตั้งแต่ทรงเริ่มงานของพระองค์ เป็นสิ่งแรกในบรรดาพระราชกิจแต่โบราณของพระองค์

CJB: Adonai made me as the beginning of his way, the first of his ancient works.

อาโดนาย (องค์ผู้เป็นเจ้า) ได้ทรงทำให้ข้าพเจ้าเกิดขึ้น เมื่อทรงเริ่มแผนงานของพระองค์ เป็นสิ่งแรกในบรรดาพระราชกิจโบราณกาลของพระองค์

NIV: The Lord brought me forth as the first of his works, before his deeds of old.

องค์พระผู้เป็นเจ้า ได้ทรงให้กำเนิดข้าพเจ้า เป็นสิ่งแรกในบรรดาพระราชกิจของพระองค์ ก่อนบรรดาสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำตั้งแต่ครั้งโบราณ

RSV: The Lord created me at the beginning of his work, the first of his acts of old.

องค์พระผู้เป็นเจ้า ได้ทรงสร้างข้าพเจ้า ตั้งแต่ทรงเริ่มงานของพระองค์ เป็นสิ่งแรกของการทำพระราชกิจของพระองค์แต่โบราณ

      มีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสี่ฉบับโดยเฉพาะในคำที่เน้นเป็นตัวเอียง ฉบับ ESV แสดงถึงมุมมองอย่างตรีเอกานุภาพโดยไม่ได้อธิบายว่าปัญญาเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น แต่อีกสามฉบับกล่าวอย่างชัดเจนหรืออย่างไม่ต้องสงสัยว่าปัญญาถูกสร้างขึ้น ดังเช่น “ได้ทรงทำให้ข้าพเจ้าเกิดขึ้น” (ฉบับ CJB) “ได้ทรงให้กำเนิดข้าพเจ้า” (ฉบับ NIV) และ “ได้ทรงสร้างข้าพเจ้า” (ฉบับ RSV) ฉบับเซปทัวจินต์[171]กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างข้าพเจ้าขึ้น”

      ไม่ว่าเราจะใช้สุภาษิต 8:22 เพื่อบอกว่าพระยาห์เวห์ “ทรงเป็นเจ้าของ” ปัญญา (ฉบับ ESV) หรือ “ได้ทรงสร้าง” ปัญญา (ฉบับ RSV, LXX) นั้น เรากำลังจะบอกว่าพระเจ้าไม่มีพระปัญญา จน กระทั่งพระองค์ได้ทำให้เกิดปัญญาขึ้นอย่างนั้นหรือ? นั่นไม่สามารถจะเป็นได้ เพราะพระปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าที่แยกจากกันไม่ได้ มันคงเป็นเรื่องโง่เขลาที่จะเสนอแนะว่าสิ่งแรกที่พระเจ้าต้องทำก็คือการให้ได้มาซึ่งปัญญา เพราะสิ่งนี้จะบอกว่าพระองค์ไม่ได้มีพระปัญญามาก่อน เปาโลพูดถึงพระเจ้าว่า “พระเจ้าผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง​แต่​องค์​เดียว” (โรม 16:27)

      แต่การอ่านสุภาษิตบทที่ 8 แบบคำกวีไม่ได้เป็นปัญหา และก็ไม่ได้เป็นปัญหากับชาวยิว ในเวลาต่อมาพวกคริสเตียนก็ได้สร้างปัญหาขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่กลางศตวรรษที่สอง ซึ่งเป็นผู้ที่นำสุภาษิตบทที่ 8 มาเบี่ยงบ่ายในบทกวีด้วยการทำให้ปัญญาเป็นบุคคล (คล้ายกับการทำให้ความรักเป็นบุคคลใน 1 โครินธ์ 13:4 ที่ว่า “ความรักไม่อิจฉา หรืออวดตัว”) และทำให้ปัญญามาเป็นบุคคลจริง

      เรามักจะมองไม่เห็นสิ่งที่สารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับ ISBE กล่าวไว้อย่างเข้าใจได้ง่ายในหัวข้อ “ปัญญา” ว่า “และปัญญาเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ (สุภาษิต 8:31-36) ไม่ใช่คุณสมบัติของพระเจ้า” สารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับ ISBE ไม่ได้กำลังบอกว่าพระเจ้าไม่มีพระปัญญา แต่เพราะจุดประสงค์ของหนังสือสุภาษิตก็คือเพื่อสอนปัญญาแก่ผู้ที่แสวงหา สุภาษิตเป็นคู่มือชี้แนะ เมื่อเป็นหนังสือชี้แนะ มันก็เหมือนกับ “โทราห์” ซึ่งเป็นคำที่มักจะแปลว่า “บทบัญญัติ” แต่หมายถึง “คำชี้แนะ” หรือ “คำสอน” ปัญญาในสุภาษิตเป็นแนวทางปฏิบัติและแนวทางฝ่ายวิญญาณสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน

      หลักการของปัญญาในสุภาษิตจะแสดงได้มากที่สุดในชีวิต ในบุคคล และในคำสอนของพระเยซู ปัญญาเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสมบูรณ์แบบของพระองค์ เราอาจกล่าวได้ว่าพระเยซูทรงแสดงให้เห็นถึงปัญญา แม้ว่าในพระคัมภีร์ใหม่พระองค์จะไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเหมือน กับปัญญา[172]

      พระเยซูถูกกล่าวถึงว่าทรงมีสติปัญญา (มัทธิว 13:54; มาระโก 6:2; ลูกา 2:40,52)[173] ทรงให้ปัญญา (ลูกา 21:15)[174] ทรงครอบครองปัญญาว่าเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ (โคโลสี 2:3)[175] และ     ทรงสมควรได้รับพระปัญญา (วิวรณ์ 5:12)[176] พระคริสต์ถูกพูดถึงว่าเป็นพระปัญญาของพระเจ้า (1     โครินธ์ 1:24, 30)[177]


[1] TOTG (The Only True God)

[2] Philo, On Dreams, that They are God-Sent, XI, 1.67

[3] พระคัมภีร์ภาษาไทยทุกฉบับแปลเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ตามต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “พระยาห์เวห์” หรือ “พระเยโฮวาห์” (ผู้แปล)

[4] เดิมที “ชามา” อ้างถึงคำประกาศอันศักดิ์สิทธิ์ของเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 แต่ได้ถูกขยายรวมเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-9 และ 11:13-21 และกันดารวิถี 15:37-41

[5] หรือเรียกว่า “เบญจบรรณ” ที่ประกอบด้วย ปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถี และเฉลยธรรมบัญญัติ (ผู้แปล)

[6] ภาษาไทยมีฉบับมาตรฐาน 2011 และฉบับอมตธรรมร่วมสมัยได้กลับมาใช้คำ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู (ผู้แปล)

[7] อพยพ 20:7 และฉลยธรรมบัญญัติ 5:11 “ห้ามใช้พระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าไปในทางที่ผิด เพราะผู้ที่ใช้พระนามของพระองค์ไปในทางที่ผิดนั้น พระยาห์เวห์จะทรงเอาโทษ”

[8] หมายถึง ผู้เป็นเจ้า หรือผู้เป็นนาย หรือเจ้านาย (ผู้แปล)

[9] Encyclopae­dia Judaica

[10] ฮาเชม คือคำฮีบรูที่ชาวยิวใช้อ้างถึง YHWH (พระยาห์เวห์) พระเจ้าของอิสราเอลด้วยความยำเกรง (ผู้แปล)

[11] Barsabbas, Bartimaeus and Bar-Jonah

[12] Talitha koum (มาระโก 5:41)

[13] มัทธิว 27:46 มีคำ “เอลี เอลี ลามาสะบักธานี” ซึ่งเป็นภาษาอาราเมค ยกเว้นคำฮีบรูว่า “เอลี” แต่พระคัมภีร์ใหม่ต้นฉบับโบราณที่สำคัญบางฉบับรวมทั้งฉบับซีนายทิคัส และฉบับวาติกานัสมีคำอาราเมค “เอโลอี” (ดูเชิงอรรถเชิงวิเคราะห์จากฉบับ NA28)

[14] The Oxford Handbook of Biblical Studies, p.137

[15] Targumคือพระคัมภีร์เดิมภาษาอาราเมคของยิว (ผู้แปล)

[16] Martin McNamara

[17] หรือ “พระดำรัสของพระยาห์เวห์” (ปฐมกาล 15:1 พระดำรัสของพระยาห์เวห์มาถึงอับรามทางนิมิต) ผู้แปล

[18] พระคัมภีร์ภาษาไทยทุกฉบับแปลว่า “พระวาทะ” ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับ “คำตรัส” หรือ “พระวจนะ” ของพระเจ้า (ผู้แปล)

[19] Thomas Constable of Dallas Theological Seminary

[20] Dr. Constables Expository Notes, 2010, on John 1:1

[21] J.B. Lightfoot (A Commentary on the New Testament from the Talmud and Hebraica) and C.K. Barrett (The Gospel According to St. John)

[22] Alfred Edersheim, The Life and Times of Jesus the Messiah

[23] John Ronning,The Jewish Targums and Johns Logos Theology

[24] Targum Yerushalmi ยังเรียกอีกอย่างว่า “ทาร์กัมซูโด-โจนาธาน” เนื่องจากเหตุบังเอิญทางประวัติศาสตร์การพิมพ์ (วิกิพิเดีย, Targum Pseudo-Jonathan)

[25] Theological Wordbook of the Old Testament (TWOT)

[26] became flesh ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “พระวาทะได้ทรงสภาพของเนื้อหนัง” ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์” ฉบับ 1971 และฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “พระวาทะได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์” (ผู้แปล)

[27] entering a new mode of existence,”  Wuest’s NT translation , Jn.1:14

[28] อิสยาห์ 40:3-5 เสียงหนึ่งร้องว่า “จงเตรียมมรรคาของพระยาห์เวห์ในถิ่นทุรกันดาร จงทำทางหลวงในที่ราบแห้งแล้งให้ตรงสำหรับพระเจ้าของเรา หุบเขาทุกแห่งจะถูกถมสูงขึ้น ภูเขาและเนินเขาทุกลูกจะปรับให้ต่ำลง ที่ลุ่มๆดอนๆ จะทำให้เสมอ และที่สูงๆต่ำๆ จะให้ราบเรียบ และพระสิริของพระยาห์เวห์จะปรากฏ แล้วมนุษย์ทุกคนจะมองเห็นด้วยกัน เพราะพระโอษฐ์ของพระยาห์เวห์ตรัสไว้แล้ว”

[29] มาลาคี 3:1 พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสว่า “นี่แน่ะ เราส่งทูตของเราไปเพื่อตระเตรียมหนทางไว้ข้างหน้าเรา และองค์เจ้านายผู้ซึ่งเจ้าแสวงหานั้นจะเสด็จมายังพระวิหารของพระองค์อย่างกะทันหัน ทูตแห่งพันธสัญญาผู้ซึ่งเจ้าพอใจนั้น ดูซี ท่านกำลังมาแล้ว”

[30] Evangelical Dictionary of Theology

[31] เมื่อเราบอกว่าคนๆหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยสติปัญญาของเขา เราไม่ได้หมายความว่าสติปัญญาเป็นบุคคลที่แยกต่างหากจากตัวเขา ในทำนองเดียวกัน คำกล่าวว่า “แต่พระองค์ทรงสร้างโลกด้วยฤทธิ์เดชของพระองค์ ทรงสถาปนาพิภพไว้ด้วยพระสติปัญญาของพระองค์ และทรงคลี่ท้องฟ้าออกด้วยความเข้าใจของพระองค์” (เยเรมีย์ 10:12) ก็ไม่ได้หมายความว่าฤทธิ์อำนาจ พระปัญญา และความเข้าใจของพระเจ้า เป็นสามบุคคลที่แยกต่างหากจากพระองค์

[32] เอเฟซัส 1:4 “ในพระคริสต์ พระเจ้าทรงเลือกเราตั้งแต่ก่อนทรงสร้างโลก เพื่อให้เราบริสุทธิ์และปราศจากตำหนิ

[33] โคโลสี 2:9 “ในพระคริสต์ พระลักษณะทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์ในพระกายของพระอง์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[34] and the Word was with God, and the Word was God

[35] ผู้แปลเพิ่มเติมเนื่องจากพระคัมภีร์ภาษาไทยแปลคำ the Word แตกต่างกันในขณะที่คำต้นฉบับเป็นคำเดียวกัน

[36] and the Word was “with God” (pros ton theon); he was in the beginning “with God” (pros ton theon)

[37] John 1:1a In the beginning was the Word; John 1:1b and the Word was with God; John 1:1c and the Word was God.

[38] to” or “towards” หรือว่า “ไปยัง” และ “มายัง” (หนังสือทำความเข้าใจภาษากรีก, อ. เอษรา โมทนาพระคุณ) ผู้แปล

[39] ตัวอย่างที่รู้จักกันดีของการใช้คำ para มีอยู่ในสุภาษิต 8:30 (LXX) เกี่ยวกับการทำให้ปัญญาเป็นบุคคลที่อยู่ “ข้างๆ” พระเจ้าในการสร้าง (“ข้าพเจ้าก็อยู่ข้างพระองค์แล้วเหมือนอย่างนายช่าง” สุภาษิต 8:30)

[40] Modern Concordance to the New Testament, ศัพท์สัมพันธ์เล่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ความสำเร็จอันงดงาม” โดยดาวิด โนเอล ฟรีดแมน ผู้เป็นบรรณาธิการทั่วไปของชุดศึกษาพระคัมภีร์ฉบับแองเคอร์ (Anchor Bible series) และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงด้านม้วนหนังสือเดดซี (Dead Sea Scrolls) และเป็น “ศัพท์สัมพันธ์ภาษาสมัยใหม่ที่ดีที่สุดที่ผมเคยเห็น” โดยเรย์มอนด์ บราวน์ นักวิชาการพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงของคาทอลิก

[41] to be with someone

[42] BDAG Greek-English lexicon หมายถึงพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษของพระคัมภีร์ใหม่และวรรณกรรมคริสเตียนอื่นๆในสมัยแรกๆ โดย บาวเออร์ แดงเกอร์ อาร์นท์ กิงกริช (Bauer, Danker, Arndt, Gingrich) ผู้แปล

[43] เราอ้างอิงเฉพาะส่วนที่สามจากคำจำกัดความทั้งหมดเกี่ยวกับ pros ของ BDAG (โดยมีการกล่าวอ้างถูกละไว้, การสะกดคำย่อ, การทับศัพท์คำกรีก) เราข้ามสองส่วนแรกไป เพราะส่วนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสัมพันธการกที่แสดงความเป็นเจ้าของและกรรมรอง แต่ส่วนที่สามเกี่ยวข้องกับกรรมการก (ซึ่งเป็นกรณีทางไวยากรณ์ที่ใช้ในยอห์น 1:1b)

[44] Liddell-Scott-Jones Greek-English Lexicon (LSJ) ดู pros, C-III, 1-5 การพิเคราะห์ยาวเหยียดของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ LSJ เกี่ยวกับ pros + กรรมการกของประโยคภายใต้หัวข้อต่างๆ ส่วนที่เกี่ยวกับยอห์น 1:1b เป็นส่วนภายใต้หัวข้อ “III ของความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่ง” ต่อไปนี้เป็นคำนิยามของฉบับ LSJ (โดยเว้นการอ้างอิง): “1. ในการอ้างอิงถึง, ในทาง, การเกี่ยวข้องกับ; 2. ในการอ้างอิงถึง, อันเนื่องมาจาก; 3. ในการอ้างอิงถึง หรือเพื่อจุดประสงค์; 4. ในสัดส่วน หรือเกี่ยวข้องกับ, เมื่อเปรียบเทียบกับ; 5. ในหรือโดยการอ้างอิงถึง, ตามที่, เมื่อพิจารณาถึง; 6. ประกอบกับเครื่องดนตรี; 7. πρός การก กรรมการก ความถี่ คำอ้อมค้อม สำหรับคุณศัพท์, π. βίαν, = βιαίως, ภายใต้การบังคับใช้; 8. ของจำนวน, จนถึง, ประมาณ”

[45] Linguistic Key to the Greek NT

[46] พระคัมภีร์ฉบับคอนคอร์แดนท์ (Concordant Version) ให้ความหมายที่ถูกต้องว่า “ไปยัง” กับยอห์น 1:1 ว่า “ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่ และพระวาทะชี้ไปยังพระเจ้า...”

[47] 18 ตัวอย่างที่อยู่นอกคำขึ้นต้นยอห์นคือ ยอห์น 13:3; กิจการ 4:24, 12:5, 24:16; โรม 5:1, 10:1, 15:17, 30; 2โครินธ์ 3:4; 13:7; ฟีลิปปี 4:6; 1เธสะโลนิกา 1:8,9; ฮีบรู 2:17, 5:1; 1ยอห์น 3:21; วิวรณ์ 12:5, 13:6 สองตัวอย่างในคำขึ้นต้นยอห์นคือยอห์น 1:1 และ 1:2

[48] we have peace with God ฉบับ 1971 แปลว่า “เราจึงมีสันติสุขในพระเจ้า” ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “เราจึงอยู่อย่างสงบสุขเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า” (ผู้แปล)

[49] New American Commentary (NAC)

[50] New Bible Commentary

[51] The Preachers Commentary

[52] New American Commentary, New Bible Commentary, The Preachers Commentary, Bible Speaks Today แปลความ หมายตรงตัวเหมือนกันว่าthe Word was towards God(ผู้แปล)

[53] หรือ “แด่พระเจ้า”, “ต่อพระเจ้า” (ผู้แปล)

[54] สุภาษิต 8:30 ​ ​​​“ข้าพเจ้าก็อยู่ข้างพระองค์แล้วเหมือนอย่างนายช่าง ข้าพเจ้าเป็นความปีติยินดีประจำวันของพระองค์ เปรมปรีดิ์อยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ทุกเวลา

[55] อิสยาห์ 45:5 เราคือยาห์เวห์ ไม่มีใครอื่น นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใด” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[56] อิสยาห์ 44:24 พระยาห์เวห์ผู้ไถ่ของเจ้า ผู้ปั้นเจ้าตั้งแต่ในครรภ์ตรัสดังนี้ว่า “เราคือยาห์เวห์ผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ผู้ขึงฟ้าสวรรค์แต่ลำพัง ผู้กางแผ่นดินโลกด้วยตัวเอง”

[57] Modal­ism หรือ Sabellianism คือความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นบุคคลเดียวที่สำแดงพระองค์ในสามรูปแบบในเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งตรงข้ามกับหลักคำสอนในตรีเอกานุภาพที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นพระเจ้าเดียวผู้ดำรงอยู่นิรันดร์ในสามองค์ในเวลาเดียวกัน คือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความเชื่อนี้ปฏิเสธความเป็นตรีเอกานุภาพของพระเจ้า (ผู้แปล)

[58] F.F. Bruce, The Gospel of John, p.31

[59] New English Bible,what God was, the Word was,

[60] IVP New Testament Comment­ary

[61] H.A.W. Meyer in Critical and Exegetical Handbook to the Gospel of John

[62] New English Translation (NET)

[63] C.S. Lewis, Christian Reflections

[64] Jehovahs Witnesses

[65] J.P. Lange, Marcus Dods, H.A.W. Meyer, C.K. Barrett, R. Bowman

[66] Robert M. Bowman Jr., Jehovah’s Witnesses, Jesus Christ, and the Gospel of John

[67] ต้นฉบับใช้ตัวย่อ “the JWs” (the Jehovahs Witnesses)โดยไม่มีความตั้งใจที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใด พระคัมภีร์ของกลุ่มพยานพระยะโฮวามีชื่อว่าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ฉบับนิวเวิลด์2013 (New World Trans­lation of the Holy Scriptures, 2013 edition) มีชื่อย่อว่าNWT (ผู้แปล)

[68] ถ้าบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและพยานพระยะโฮวาจะเห็นด้วยกัน อันที่จริงเกือบจะเหมือนกันเลยในวิธีการตีความ แล้วตรงไหนหรือที่เป็นส่วนที่ไม่เห็นด้วยกัน? สิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วยกันนั้นไม่ใช่วิธีการตีความ แต่เป็นหลักคำสอน โดยเฉพาะในเรื่องคำที่จะเหมาะสมที่สุดสำหรับการอธิบายลักษณะความเป็นพระเจ้าของพระเยซู ระหว่างคำว่า “พระเจ้า” (God ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) กับ “พระ” (godของพยานพระยะโฮวา)

[69] สำหรับรายละเอียดนั้น โปรดดูในหนังสือพยานพระยะโฮวา, พระเยซูคริสต์, และพระกิตติคุณยอห์นของโบว์แมน (เบเกอร์, แกรนด์แรปปิดส์, 1989) และพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับคิงดอมอินเทอร์ลิเนียร์ของพยานพระยะโฮวา, 1965, หน้า 1158-1160

[70] Bentley Chan

[71] the Word was a god” (ยอห์น 1:1 “ในตอนเริ่มต้นพระวาทะเป็นอยู่แล้ว พระวาทะอยู่กับพระเจ้า และพระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง พระวาทะองค์นี้อยู่กับพระเจ้าในตอนเริ่มต้น” พระคัมภีร์ของพยานพระยะโฮวา ฉบับนิวเวิลด์) ผู้แปล

[72] the Word was a god”

[73] Dr. Constables Expository Notes, on John 1:1

[74] the Word referred to God”

[75] คำในวงเล็บ ต้นฉบับใช้เป็นตัวย่อคำเรียก BM ฝ่ายหนึ่ง และ TR กับ JW ในอีกฝ่ายหนึ่ง

[76] (“the Word was towards God” or “the Word referred to God”)

[77] ความหมายตามลำดับของคำเหล่านี้คือ trinity, Godhead, God the Son, substance, homo­ousios, hypo­stasis, second person, two natures, hypostatic union, eternal genera­tion, perichor­esis, com­municatio idio­matum

[78] ที่แปลเหมือนกันว่า “พระวาทะ, พระดำรัส, พระวจนะ” (ผู้แปล)

[79] What Does the Bible Really Teach?

[80] หรือเทวทูต

[81] Let Your Name be Sanctified (หรือ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ) ผู้แปล

[82] Let God be True

[83] You Can Live Forever in Paradise on Earth

[84] 1In the beginning was the Word, and the Word was with God, and the Word was God. 2 He was in the begin­ning with God. (ESV)

[85] 1In the beginning was the Word, and the Word had reference to God, and God was the Word. 2 This in the be­ginning had reference to God.

[86] The Idiomatic Translation of the New Testament (ฉบับไอทีเอ็นที ที่แปลตามสำนวนเจ้าของภาษา) ผู้แปล

[87] กรณีที่มีน้ำหนักเรื่องการอ่านคำขึ้นต้นของยอห์นเป็นเพลงสรรเสริญนั้นถูกขยายความโดย เอ็ม กอร์ดเลย์ ในบทความชื่อคำขึ้นต้นของยอห์นและคำสอนสืบทอดในการสอนเพลงสรรเสริญของชาวยิว: กรณีใหม่ในการอ่านคำขึ้นต้นเป็นเพลงสรรเสริญ, วารสารวรรณกรรมพระคัมภีร์, เล่ม 128, ครั้งที่ 4, หน้า 781-802

[88] Zondervan Bible Commentary (ed. F.F. Bruce); Leu­pold

[89] Dr.Thomas Constable; Expository Notes on Genesis 1:26

[90] Great Texts of the Bible by James Hast­ings

[91] Keil and Delitzsch; pluralis majestatis

[92] Lectionary Commentary: Theological Exegesis for Sunday’s Text

[93] Heraclitus, Socrates, Plato, Aristotle, the Stoics (Stoics หมายถึง ผู้ยึดถือหลักการขจัดตัณหาราคะ-ผู้แปล)

[94] เรื่องที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้แนวคิดของไฟโล มีระบุไว้ในคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวไบเบิ้ลเกี่ยวกับยอห์น 1:1 ว่า “[The Logos] ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในวรรณกรรมกรีก และนักวิชาการหลายคนเชื่อกันว่าความสำคัญของมันกับยอห์น สามารถเข้าใจได้เฉพาะกับภูมิหลังดังกล่าว... ความคิดนี้ถูกพัฒนาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในงานเขียนของไฟโลแห่งอเล็กซานเดรีย” โปรดสังเกตคำว่า “เฉพาะ” ที่ให้ความกระจ่าง)

[95] หนังสือที่อ่านเข้าใจง่ายเกี่ยวกับไฟโลชื่อคู่มือสรุปงานเขียนของไฟโล โดยเคนเน็ธ เชงค์ (2005, เวสท์มินสเตอร์ จอห์น น็อกซ์, 172 หน้า) ที่เป็นวิชาการมากขึ้นคือ คู่มือทำความเข้าใจไฟโลของเคมบริดจ์ (ผู้จัดพิมพ์ เอ คามีซาร์, 2009, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 301 หน้า) สำหรับการรวบรวมงานเขียนของไฟโลเอง, โปรดดูงานเขียนของไฟโล (1993, เฮนดริกสัน, 944 หน้า)

[96] Josephus; Antiquities of the Jews

[97] Caligula จักรพรรดิโรมันที่อำมหิตและโหดเหี้ยม ปกครองในปี ค.ศ. 37-41 (ผู้แปล)

[98] Eusebius of Caesarea; Ecclesias­tical History

[99] Logos of God

[100] Kenneth Schencks A Brief Guide to Philo (2005, WJK)

[101] ตามความคิดเห็นของ จี อี สเตอร์ลิง ศาสตราจารย์ด้านพระคัมภีร์ใหม่และจุดเริ่มต้นของคริสเตียน, มหาวิทยาลัยโน้ตเทรอะดาม และบรรณาธิการทั่วไปของชุดคู่มืออธิบายเกี่ยวกับไฟโลแห่งอเล็กซานเดรีย

[102] Binitarianism คือความเชื่อในความเป็นสองภาคของพระเจ้า (ผู้แปล)

[103] Justin Martyr; Dialogue with Trypho

[104] The Catholic EncyclopediaInternation­al Standard Bible Encyclo­pedia (ISBE), Encyclopedia Judaica

[105] The Works of Philo, translated by C.D. Yonge

[106] เว้นแต่ว่าเรากำลังพูดถึงยอห์นคนอื่น เนื่องจากผู้เขียน 2 ยอห์นและ 3 ยอห์นเรียกตัวเองว่า “ผู้ปกครอง” บางคนจึงได้เสนอว่าผู้ที่เขียนจดหมายสองฉบับนี้คือ “ยอห์น ผู้ปกครอง” หรือ “ยอห์น ผู้รับใช้ของคริสตจักร” ซึ่งเป็นคนละคนกับอัครทูตยอห์น แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น เราก็ยังคงไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับยอห์น ผู้รับใช้คนนี้

[107] this was in the beginning with God”

[108] A.T. Robertson; Word Pictures in the New Testa­ment

[109] F.F. BruceGospel of John, p.29

[110] Zondervan Illustrated Bible Backgrounds NT Commentary, vol.2, on John 1:1

[111] He was in the beginning with God”;

[112] This was in the begin­ning with God”; “The same was in the beginning with God”

[113] This word, expressed in the beginning, be­longed to God; ITNT (The Idiomatic Translation of the New Testament)

[114] Marshall’s Greek-English interlinear พระคัมภีร์ภาษากรีกพร้อมคำแปลภาษาอังกฤษระหว่างบรรทัด

[115] Greek-English interlinear by Brown and Comfort

[116] ในแปดขั้นตอนนี้ ได้แก่ การสร้างความสว่าง ภาคพื้นระหว่างน้ำ แผ่นดินแห้งท่ามกลางทะเล พืชพันธุ์ ดวงสว่างสำหรับกลางวันและกลางคืน นกและสัตว์ทะเล สัตว์บก มนุษย์ชายและหญิง (พูดให้ถูกต้องก็คือ ทั้งหมดนี้พระเจ้าได้ทรง “สร้างขึ้น”)

[117] Jaroslav Pelikan; Whose Bible is It? A Short History of the Scriptures, p.25

[118] ยอห์น 1:3 “พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาโดยพระวาทะ ในบรรดาสิ่งที่เป็นอยู่นั้น ไม่มีสักสิ่งเดียวที่เป็นอยู่นอกเหนือพระวาทะ”

[119] ในข้อที่มีคำ “พระยาห์เวห์” มาจากฉบับมาตรฐาน 2011 ซึ่งกลับมาใช้คำ “พระยาห์เวห์” ดังเดิมตามฉบับภาษาฮีบรู (ผู้แปล)

[120] ภาษาไทยใช้ฉบับมาตรฐาน 2011

[121] กิจการ 4:27, 30 27 ความจริงในเมืองนี้ ทั้งเฮโรดและปอนทิอัสปีลาตกับพวกต่างชาติและชนชาติอิสราเอล ร่วมชุมนุมกันต่อสู้พระเยซูผู้รับใช้บริสุทธิ์ของพระองค์ซึ่งทรงเจิมไว้แล้ว... 30 ในเวลาที่พระองค์ยื่นพระหัตถ์ของพระองค์ออกรักษาโรค และโปรดให้หมาย สำคัญกับการอัศจรรย์เกิดขึ้น โดยพระนามของพระเยซูผู้รับใช้บริสุทธิ์ของพระองค์

[122] กิจการ 17:31 “เพราะพระองค์ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้แล้ว ในวันนั้นพระองค์จะทรงพิพากษาโลกตามความชอบธรรมโดยบุคคลที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ และพระเจ้าทรงให้คนทั้งปวงมีความมั่นใจในเรื่องนี้โดยทรงให้บุคคลผู้นั้นเป็นขึ้นจากตาย”

[123] โรม 11:34 “เพราะว่าใครเล่ารู้พระทัยของพระเจ้า หรือใครเล่าเป็นที่ปรึกษาของพระองค์” (ฉบับ 1971)

[124] คู่มือพระคัมภีร์เดิมของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล UBS, เล่ม 1, ปฐมกาล 1:16: พระองค์ทรงสร้างดวงดาวต่างๆด้วย คำว่า พระองค์ทรงสร้าง นั้นเพิ่มเข้ามาในฉบับแปลภาษาอังกฤษหลายฉบับ แต่ไม่มีคำนี้ในภาษาฮีบรู” การอ้างอิงอื่นกล่าวว่า “ดังนั้นข้อ 16 จึงไม่ใช่เรื่องราวของการสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆในวันที่สี่ แต่เป็นคำกล่าวที่ขยายความสำคัญของสิ่งที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้” (คู่มือพระคัมภีร์ของผู้อธิบาย, ฉบับย่อ, เค แอล บาร์เกอร์และเจ อาร์ โคห์เลนเบอร์เกอร์ III บรรณาธิการ, เกี่ยวกับปฐมกาล 1:16)

[125] James Ussher

[126] NASA at http://map.gsfc.nasa.gov/universe/uni_age.html. เรากำลังใช้คำนิยามพันล้าน: 1,000,000,000 ของอเมริกัน

[127] คำหรือข้อความโดยใช้คำอื่นแทน ไม่เรียกตรงๆ (ผู้แปล)

[128] Lord” (Adonai)

[129]New Jerusalem Bible

[130] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา เราเห็นพระสิริของพระองค์ คือพระสิริที่สมกับพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง (ผู้แปล)

[131] ในส่วนก่อนหน้านี้ที่หัวข้อชื่อ “ความหมายทางฝ่ายวิญญาณของพระวาทะ” เราได้ดูความหมายคร่าวๆของคำกรีก ginomai ที่แปลว่า “มาเป็น” ในยอห์น 1:14 “และพระวาทะได้มาเป็นเนื้อหนัง(“And the Word became flesh”)

[132] ยอห์น 2: 19 พระเยซูจึงตรัส​​ตอบพวกเขาว่า “ถ้าทำลายวิหารนี้ เราจะสร้างขึ้นภายในสามวัน

[133] 1 โครินธ์ 3:16 “ท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในท่าน?

[134] กิจการ 2:22 “คือพระเยซูชาวนาซาเร็ธผู้ที่พระเจ้าทรงรับรองต่อท่านทั้งหลาย โดยการอิทธิฤทธิ์ การอัศจรรย์และหมายสำคัญต่างๆ ที่พระเจ้าได้ทรงทำโดยพระองค์ท่ามกลางท่านทั้งหลาย ดังที่พวกท่านทราบอยู่แล้ว

[135] ยอห์น 20:31 แต่การที่บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ก็เพื่อพวกท่านจะได้เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อแล้วท่านก็จะมีชีวิตโดยพระนามของพระองค์”

[136] 2 โครินธ์ 5:19 “คือพระเจ้าทรงให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์โดยพระคริสต์ ไม่ทรงถือโทษในความผิดของพวกเขา และทรงมอบเรื่องราวการคืนดีนี้ให้เราประกาศ”

[137] 2 โครินธ์ 4:6 “เพราะว่าพระเจ้าผู้ตรัสว่า ให้ความสว่างส่องออกมาจากความมืด ทรงส่องสว่างเข้ามาในใจของเรา เพื่อให้เรามีความสว่างแห่งความรู้ถึงพระสิริของพระเจ้า ที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระคริสต์”

[138] ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “ในพระองค์มีชีวิต”, ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “พระองค์ทรงเป็นแหล่งของชีวิต” (ผู้แปล)

[139] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลยอห์น 1:18 ว่า “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย แต่พระบุตรองค์เดียวผู้สถิตในพระทรวงของพระบิดาทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว” (ผู้แปล)

[140] The Greek New Testament, 5th edition (United Bible Societies) and Novum Testamentum Graece (Nestle-Aland), 28th edition

[141] the only God” and “the only begotten God”

[142] ยอห์น 17:3 “และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ (พระบิดา) ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา

[143] Novum Testament eum Graece (NA27/NA28) and United Bible Societies Greek New Testament (UBS4/UBS5)

[144] A Textual Com­ment­ary on the Greek New Testa­ment (2nd ed.)

[145] Allen Wikgren

[146] Matthew Black; An Aramaic Approach to the Gospels and Acts

[147] Burney

[148] United Bible Societies

[149] only begot­ten or onlyorunique

[150] ยอห์น 1:19 นี่เป็นคำพยานของยอห์น คือเมื่อพวกยิวส่งพวกปุโรหิตและพวกเลวีจากกรุงเยรูซาเล็มไปถามท่านว่า “ท่านคือใคร?

[151] James F. McGrath; The Only True God: Early Christian Monotheism in Its Jewish Context

[152] ยอห์น 5:44 พวกท่านจะเชื่อได้อย่างไรในเมื่อท่านรับเกียรติจากกันและกันเองและไม่ได้แสวงหาเกียรติที่มาจากพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว?

[153] สดุดี 82:6 เราได้กล่าวว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นพระ เป็นบุตรองค์ผู้สูงสุด เจ้าทุกคนนั่นแหละ”

[154] Beasley-Murray

[155] Philip Wesley Comfort; A Commentary of the Manuscripts and Text of the New Testament

[156] Bart D. Ehrman (Misquoting Jesus, p.162)

[157] unique Son” to “unique God” หรือแปลว่า “พระบุตรหนึ่งเดียว” มาเป็น “พระเจ้าหนึ่งเดียว” (ผู้แปล)

[158] Thayer’s Greek-English lexicon

[159] ยอห์น3:16,ยอห์น3:18และ1ยอห์น4:9ใช้ “พระบุตรองค์เดียวของพระองค์” (ผู้แปล)

[160] only and unique

[161] พระคัมภีร์ฉบับยิวสมบูรณ์รวมเอาทั้ง “พระบุตรองค์เดียวและหนึ่งเดียว”

[162] ปทานุกรมคำศัพท์ศาสนศาสตร์จากพระคัมภีร์ของเวสมินส์เตอร์, ข้อย่อย “พระบุตรของพระเจ้า” กล่าวว่า “บุตรของพระเจ้า” หรือ “บรรดาบุตรของพระเจ้า” ใช้กับจำพวกของมนุษย์และบุคคลดังต่อไปนี้ ชนชาติอิสราเอล ชาวอิสราเอลโดยรวม ประชากรของพระเจ้า กษัตริย์ของศิโยน พงศ์พันธุ์ของดาวิด ผู้ชอบธรรม ชาวสวรรค์ และสุดท้ายก็พระเยซูคริสต์

[163] Moulton and Milligan, Vocabu­lary of the NT

[164] Louw-Nida Lexicon of the NT Based on Semantic Domains; monogenēs, 58.52, emphasis added

[165] T. Rees in ISBE (International Standard Bible Encyclopedia), article “Begotten”

[166] New Jerusalem Bible, New Revised Standard Version, Complete Jewish Bible, Idiomatic Translation of the New Testament (ITNT พระคัมภีร์ที่แปลตามสำนวนเจ้าของภาษา โดย ดร. วิลเลี่ยม จี แมคโดนัล ผู้เขียนคู่มือไวยากรณ์ภาษากรีกสำหรับการแปลและการตีความฉบับย่อ)

[167] ในเรื่องการศึกษาแนวความคิดของเปาโลเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ที่สมดุลย์ โปรดดูบทความ พระเมสสิยาห์ของชาวยิว, พระคริสต์ในความคิดของเปาโลและคำถามของคนต่างชาติ, มัทธิว วี โนเวนสัน, หน้า 357373, วารสารวรรณกรรมพระคัมภีร์, ฉบับที่ 128, ลำดับ 2, 2009 (The Jewish Messiahs, the Pauline Christ, and the Gentile Question)

[168] แอลเลน พี รอส, คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ของผู้อธิบาย, เล่ม 5, หน้า 943, อ้างอิงในหนังสืออธิบายของ ดร. คอนสเตเบิล, 2010, เกี่ยวกับสุภาษิตบทที่ 8

[169] สารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับ ISBE, หัวข้อ “ปัญญา” อธิบายว่าทำไมการใช้คำว่า “นายช่าง” อาจไม่ถูกต้อง: ‘อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ตอนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือสุภาษิต 8:22-31 ปัญญาที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มาก ได้ถูกสร้างขึ้นก่อนมนุษย์ ที่จริงก่อนการสร้างโลก เมื่อโลกเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเธอ (ปัญญา) อยู่ในวัยเด็ก และในขณะที่พระเจ้าทรงสร้างโลกให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น เธอก็จดจ่อกับการเล่นตามประสาเด็กภายในที่กำบังของพระองค์และเป็นความปีติยินดีของพระองค์ ดังนั้นสุภาษิต 8:30 จึงควรถูกแปล (ดังที่บริบทอธิบายชัดเจนว่า mwn ควรถูกแสดงให้เห็นเป็น amun) “ที่กำบัง” ไม่ใช่ “amon” ที่แปลว่า “นายช่าง

[170] The United Bible Societies OT Hand­books

[171] Septua­gint คือพระคัมภีร์เดิมภาษากรีกที่แปลจากพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรู (LXX)

[172] ในพระคัมภีร์ใหม่ “ปัญญา” ถูกทำให้เป็นบุคคลเฉพาะในมัทธิว 11:19 (“แต่พระปัญญาได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องแล้วโดยการกระทำของเธอ”) และลูกา 7:35 (“แต่พระปัญญาก็ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องแล้วโดยบรรดาลูกของเธอ”)

[173] มัทธิว 13:54 ทรงสั่งสอนในธรรมศาลาของพวกเขา จนคนทั้งหลายประหลาดใจ​​ว่า “คนนี้ได้สติปัญญาและฤทธิ์เดชนี้มาจากไหน?

[174] ลูกา 21:15 “เพราะว่าเราจะให้คำพูดและปัญญาแก่ท่าน ซึ่งพวกศัตรูของท่านทั้งหลายจะต่อต้านและคัดค้านไม่ได้”

[175] โคโลสี 2:3 “ซึ่งคลังสติปัญญาและความรู้ทุกอย่างซ่อนอยู่ในพระองค์”

[176] วิวรณ์ 5:12 “พระเมษโปดกผู้ถูกปลงพระชนม์แล้วนั้นทรงสมควรได้รับ ฤทธานุภาพ ทรัพย์สมบัติ พระปัญญา พระกำลัง พระเกียรติ พระสิริ และคำสดุดี”

[177] 1 โครินธ์ 1:24 “แต่สำหรับพวกที่พระเจ้าทรงเรียกนั้น ทั้งพวกยิวและพวกกรีก ต่างถือว่าพระคริสต์ทรงเป็นฤทธานุภาพและพระปัญญาของพระเจ้า”