pdf pic

  

 

บทที่ 4

 ch1 1

 

เสาหลักที่สองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ:

โคโลสี 1:15-19

 

 

      ลายปีก่อน ขณะที่กำลังให้การอบรมผู้ที่จะรับใช้ในงานของคริสตจักรเต็มเวลา ผมจะเรียกโคโลสี 1:15-19 ว่าเสาหลักที่สองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะเป็นหนึ่งในตอนหลักๆของพระคัมภีร์ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู โดยเฉพาะข้อ 16  ซึ่งถูกตีความว่าข้อนี้กำลังบอกว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้สร้างสิ่งทั้งปวง และเพราะฉะนั้นจึงทรงเป็นพระเจ้า  แต่การตีความเช่นนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานในพระคัมภีร์ ดังที่เราจะได้เห็น

      เราจะดูที่ข้อ 16 ต่อด้วยข้อ 17 และข้อ 15 พร้อมกับข้อ 18 (เพราะใช้คำว่า “บุตรหัวปี” เหมือน กัน) แล้วตามด้วยข้อ 19  ต่อไปนี้คือพระคัมภีร์ตอนที่ถือว่าเป็นเสาหลักที่สองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (จงสังเกตข้อ 16, เป็นตัวหนา)

                                                                                                       

คโลสี 1:15-19 15พระองค์ทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้ เป็นบุตรหัวปีของ[1]ทุกสิ่งที่ทรงสร้าง  16เพราะโดยพระองค์ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น ทั้งในฟ้าสวรรค์และบนแผ่นดินโลก ทั้งสิ่งที่มองเห็นได้และสิ่งที่ไม่อาจมอง​​เห็นได้ ไม่ว่าบรรดาเทพผู้ครองบัลลังก์ หรือเทพผู้ทรงเดชานุภาพ หรือเทพผู้ครอง หรือเทพผู้ทรงอำนาจ ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์และเพื่อพระองค์  17และพระองค์ทรงอยู่ก่อนทุกสิ่ง และในพระองค์ทุกสิ่งประสานเข้าด้วยกัน 18และพระองค์ทรงเป็นศีรษะของกาย ซึ่งก็คือคริสตจักร  ทรงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นบุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากตาย เพื่อ​​พระองค์จะทรงเป็นผู้สูงสุดในทุกสิ่ง  19เพราะว่าพระเจ้าพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นดำรงอยู่ในพระองค์ (ฉบับ ESV)

 

“ในพระองค์” หรือ “โดยพระองค์” อันไหนถูกต้อง?

      สำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว ข้อที่สำคัญของพระคัมภีร์ตอนนี้ก็คือข้อ 16  ซึ่งพระคัมภีร์บางฉบับกล่าวว่า “เพราะโดยพระองค์ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น[2] หรือในพระคัมภีร์บางฉบับกล่าวว่า “เพราะในพระองค์ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น”[3]  การแปลทั้งสองแบบนี้เหมือนกัน ยกเว้นคำเดียวที่แตกต่างคือ “โดย” กับ “ใน” เป็นความแตกต่างที่เล็กน้อยมากซึ่งให้ความหมายเป็นนัยอย่างมากสำหรับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  คำแปลอย่างไหนหรือที่ถูกต้อง?

      คำแรกในข้อ 16 คือ hoti เป็นคำกรีกที่หมายถึง “สำหรับ” หรือ “เนื่องจาก” หรือ “เพราะว่า”  เป็นคำเชื่อมที่เชื่อมโยงข้อนี้กับข้อก่อนหน้า (ข้อ 15) ซึ่งกล่าวถึงพระเยซูว่าเป็น “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง”[4]

      แต่คำสำคัญสำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพในข้อ 16 ก็คือ en autō ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ในพระองค์” (“เพราะในพระองค์ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น” หมายถึงพระคริสต์)  นี่เป็นคำแปลที่ถูกต้องและตรงตามคำว่า “ในพระองค์” โดยฉบับ NIV, NJB, RSV, NRSV, REB  และแปลไม่ถูกต้องว่า “โดยพระองค์” ในฉบับ ESV, NASB, HCSB

      มีสองประเด็นที่จะกล่าวถึงตรงนี้  ประเด็นแรกคือฉบับ NIV 1984 แปลไม่ถูกต้องว่า “โดยพระองค์”  แต่ในฉบับ 2011 ได้ถูกแก้ไขเป็น “ในพระองค์”

      ประเด็นที่สอง ถึงแม้ฉบับ ESV, NASB, HCSB จะแปล en autō ในข้อ 16 ว่า “โดยพระองค์” เพื่อทำให้เปาโลกล่าวว่าทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยพระคริสต์  แต่ในแค่สามข้อต่อมา (ข้อ 19) พระคัมภีร์ฉบับเดียวกันเหล่านี้ก็แปล en autō อย่างถูกต้องว่า “ในพระองค์”  และยังบอกมากกว่านั้นคือพระคัมภีร์สามฉบับนี้แปล en autō ว่า “ในพระองค์” หรือคล้ายคลึงกันใน 99% หรือ 100% จากตัวอย่างทั้งหมดของ en autō ในจดหมายของเปาโล ด้วยข้อยกเว้นที่เด่นชัดของโคโลสี 1:16  ที่พระคัมภีร์ฉบับเหล่านี้แปลว่า “โดยพระองค์” แม้ว่า “ในพระองค์” จะให้ความหมายของคำได้ดีกว่า  การทำตามอำเภอใจในการแปลโคโลสี 1:16 ของพระคัมภีร์ฉบับเหล่านี้ เผยให้เห็นถึงความเอนเอียงไปตามหลักคำสอนของบรรดาผู้แปล

      อันที่จริงคำบุพบทกรีก “en” (en autō “ในพระองค์”) ไม่ใช่คำที่คลุมเครือหรือลึกลับ แต่เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกันกับ “in” ของคำบุพบทภาษาอังกฤษ  ทั้งสองคำนี้ไม่ได้เหมือนกันเฉพาะคำสะกดและความหมายพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังคล้ายคลึงกันในความหมายหลากหลายที่ใกล้เคียงกัน  ความคล้ายคลึงกันนี้สามารถยืนยันได้โดยการเปรียบเทียบคำนิยามต่างๆของ “en” อย่างละเอียดที่ระบุไว้ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG  และคำจำกัดความ “in” ที่ระบุไว้ในพจนานุ กรมภาษาอังกฤษฉบับอ็อกซ์ฟอร์ด (การแก้ไขครั้งใหญ่ฉบับ 2010 พิมพ์ครั้งที่ 3)[5]  สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับฉบับ BDAG ที่คำนิยามอาจดูแตกต่างจากฉบับ Oxford แต่นั่นเป็นเพราะฉบับ BDAG ให้คำนิยามโดยใช้คำศัพท์ทางวิชาการและคำย่อที่ไม่คุ้นเคย  แต่เมื่อเรามองข้ามคำศัพท์ทางวิชาการ  เราจะเห็นความเหมือนกันมากระหว่างคำกรีกว่า “en” กับคำอังกฤษว่า “in”  ที่จริงคำกรีกว่า “en” ดูเหมือนจะไม่มีความหมายหลากหลายหรือแตกต่างมากกว่าคำอังกฤษว่า “in” และคำนิยามบาง อย่างในฉบับ Oxford ก็เข้าใจยากเหมือนฉบับ BDAG (เช่น คำนิยามที่ 4 ของ “in” ในฉบับ Oxford ค่อนข้างเป็นนามธรรมว่า “บ่งบอกถึงลักษณะหรือทิศทางที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ”)  ผู้พูดภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา มักจะไม่ทราบว่าคำบุพบทภาษาอังกฤษว่า “in” นั้นซับซ้อนและหลากหลายเมื่อถูกวิเคราะห์และนิยามอย่างเป็นทางการ

      เราสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันในการสะกดคำระหว่างภาษากรีก en และภาษาอังกฤษ “in”  พจนานุกรมอังกฤษฉบับ Oxford แจกแจงที่มาของคำดังต่อไปนี้ คือจากคำกรีก “en” มาเป็นคำละติน “in” มาเป็นคำอังกฤษโบราณ “in” มาเป็นคำอังกฤษปัจจุบัน “in” ด้วยอิทธิพลจากภาษา เยอรมันและดัตช์  คำโบราณ “en” เป็นหนึ่งในคำที่มีมายาวนานและแพร่หลายมากที่สุดในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนและยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้ในภาษาอิตาลีคือ “in”, ภาษาคาตาลันคือ “en”,  ภาษาเช็กคือ “en”, ภาษาดัตช์คือ “in”, ภาษาเยอรมันคือ “in”, ภาษาโปรตุเกสคือ “em”, ภาษาโรมาเนียคือ “în”, ภาษาสโลวักคือ “in”, ภาษาสเปนคือ “en” ทั้งหมดนี้ต่างมีความหมายพื้นฐานเหมือนกัน  ภาษาเหล่านี้ในปัจจุบันบางภาษามีการสะกดแบบโบราณว่า “en” ซึ่งมีอยู่ก่อนภาษากรีก[6]  แม้ว่าที่มาของคำจะไม่น่าเชื่อถือเสมอไปในการกำหนดความหมายของคำ (เช่น คำ “deception” ในภาษาอังกฤษจะหมายถึงสิ่งที่แตกต่างจาก “déception” ในภาษาฝรั่งเศส, คือ “disappointment )[7]  ข้อเท็จจริงก็ยังคงอยู่ว่า “en” อยู่รอดมาได้สองสามพันปีโดยที่ความหมายพื้นฐานเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

      แม้หากเราจะไม่ทราบรายละเอียดเหล่านี้ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าคำกรีก “en” ยังคงอยู่ในคำอังกฤษ “in” โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงความหมายพื้นฐานเพียงเล็กน้อยนั้น สามารถเห็นได้ในข้อเท็จจริงที่น่าอัศจรรย์ว่า ถึงแม้พันธสัญญาใหม่จะเขียนเมื่อ 2,000 ปีมาแล้วในภาษาที่แตกต่างจากภาษาอังกฤษ แต่พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษก็แปลวลี en autō  ว่า “ในพระองค์” ด้วยความสม่ำเสมอที่ใกล้เคียง 100%  ความจริงก็คือว่า “ในพระองค์” ในภาษาอังกฤษ ไม่ได้แค่ให้ความหมายพื้นฐานของคำภาษากรีก en autō เท่านั้น แต่ยังมีหลายความหมายที่หลากหลายอีกด้วย

 

 

ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจำนวนมากปฏิเสธการอ่านโคโลสี 1:16 ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      ความจริงแล้วผู้เชี่ยวชาญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพจำนวนมากปฏิเสธอย่างหนักแน่นในการแปลโคโลสี 1:16 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า “โดยพระองค์” แต่โอนเอียงไปทางการแปลตรงตัวว่า “ในพระองค์”

 

  • คู่มือศึกษาคำของวินเซนต์[8], เกี่ยวกับโคโลสี1:16กล่าวว่า คำแปลที่ถูกต้องคือ “ในพระองค์” มาก กว่า “โดยพระองค์” และ “ในพระองค์” นั้น “ไม่ใช่การบอกวิธีการว่ากระทำโดย แต่เป็นตำแหน่งที่กระทำ”
  • เอ ที โรเบิร์ตสัน, ภาพของคำในพระคัมภีร์ใหม่ของโรเบิร์ตสัน[9]ยอมรับว่าโคโลสี1:16 กำลังกล่าวว่า “ในพระองค์” มากกว่า “โดยพระองค์”
  • พระคัมภีร์ภาษากรีกของผู้อธิบายฉบับนิโคลล์[10] ใช้คำ “ในพระองค์”
  • พระคัมภีร์สำหรับโรงเรียนและวิทยาลัยของเคมบริดจ์ (คู่มืออธิบาย)[11]เกี่ยวกับโคโลสี 1:16 กล่าวว่า “ในพระองค์” เป็นการแปลตรงตัวและดีกว่า “โดยพระองค์” มาก
  • คู่มืออธิบายพระคัมภีร์สำหรับนักเทศน์[12]อ่านโคโลสี1:16 ว่า “เพราะในพระองค์ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้น” และกล่าวว่า “en” ในจดหมายของเปาโลจะหมายถึง “ใน” เสมอและไม่เคยหมายถึง “โดย”
  • คู่มืออธิบายพรคัมภีร์ของแลงก์เกี่ยวกับพรคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์[13]อ่านโคโลสี 1:16 ว่า กำลังกล่าวว่า “เพราะว่าในพระองค์ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้น”
  • คู่มืออธิบายการวิเคราะห์และการตีความพระคัมภีร์ของมายเออร์[14]อ่านโคโลสี 1:16ว่า “ในพระองค์ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น” กำลังกล่าวว่านี่คือ “การยืนยันที่ถูกต้องอย่างมีเหตุผล” ของ “บุตรหัวปีของสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง
  • พระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกฉบับเฮนรี่ อัลฟอร์ด[15] (พิมพ์ครั้งที่5) ปฏิเสธ “โดยพระองค์” แต่เห็นด้วยกับ “ในพระองค์”.

 

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ข้องใจความหมายโดยการบ่งบอกวิธีที่กระทำโดย (“โดยพระองค์”) กับโคโลสี 1:16 ข้อที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จัดไว้ภายใต้คำนิยามที่ 4 ในหัวข้อ “เครื่องบ่งชี้ความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดภายในวงจำกัด, ใน” (คำตัวเอนเป็นของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG)  คำนิยามของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG เป็นเชิงวิชาการและใส่ไว้ในเชิงอรรถที่นี่[16] และอาจอ่านข้ามได้

      ไวยากรณ์กรีกที่นอกเหนือจากพื้นฐาน ของดาเนียล วอลเลซ[17] (หน้า 373-374) กล่าวว่า en + กรรมรอง แทบจะไม่แสดงถึงผู้เป็นเครื่องมือ  นี่เป็นข้อความที่ตัดตอนมาจากไวยากรณ์นี้ แต่ผู้อ่านบางคนอาจต้องการอ่านข้ามไป (เพิ่มคำตัวหนา)

 

บางคนได้แนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นกรรมรองเฉยๆ... หรือ ἐν + กรรมรอง ก็สามารถแสดงถึงบุคคลที่เป็นเครื่องมือในพระคัมภีร์ใหม่ได้  อย่างไรก็ตามเมื่อให้คำนิยามที่ชัดเจนกับบุคคลที่เป็นเครื่องมือ ก็จะเห็นว่าเป็นประเภทที่หายากหรือไม่มีเลย...

 

[บลาส-เดอบรันเนอร์-ฟังก์] ประเมินสถานการณ์พระคัมภีร์ใหม่ของกรรมรองเฉยๆที่ใช้กับบุคคลที่เป็นเครื่องมือได้อย่างถูกต้องว่า “กรรมรองที่เป็นเครื่องมือ อาจแสดงให้เห็นโดยตัวอย่างที่แท้จริงเพียงตัวอย่างเดียวในพระคัมภีร์ใหม่และพร้อมด้วยกาลสมบูรณ์ในลูกา 23:15  โดยสรุปแล้วเราสามารถพูดได้ว่าในพระคัมภีร์ใหม่มีตัวอย่างที่ชัดเจนน้อยมากของกรรมรองที่เป็นเครื่องมือ....

 

ข้อเท็จจริงซึ่งแตกต่างกันเล็กน้อยของ ἐν + กรรมรอง ที่หลายคนเห็นเหมือนกันว่า แสดงถึงผู้ที่เป็นเครื่องมือนั้นมีโอกาสยากมาก  แต่ไม่มีตัวอย่างที่ชัดเจนปรากฏให้เห็น  ดังนั้นสิ่งที่อาจพูดได้เกี่ยวกับกรรมรองที่เป็นเครื่องมือ ก็อาจพูดได้ถึง ἐν + กรรมรองที่แสดงถึงผู้เป็นเครื่องมือ ซึ่งหายากมาก ที่น่าเป็นไปได้มากที่สุด

 

      โปรดดู “กรรมรองที่เป็นเครื่องมือ” ของวอลเลซ (หน้า 163-166)

 

      พื่อให้ถูกต้องกับข้อเท็จจริงทางไวยากรณ์และสอดคล้องกันภายในโคโลสีบทที่ 1 เราจึงควรอ่านข้อ 16 ให้หมายความว่าทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น “ใน” พระคริสต์ ไม่ใช่ “โดย” พระคริสต์  นี่เป็นการอ่านแบบตรงตัวและตรงไปตรงมา  ในทางตรงกันข้าม การอ่านว่า “โดยพระองค์” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นต้องการสนับสนุนให้พระคริสต์ดำรงอยู่ก่อน และมีส่วนร่วมในการสร้างในปฐมกาล  แต่การอ่านแบบนี้ถูกปฏิเสธโดยคู่มือพระคัมภีร์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพหลายเล่ม และโดยพระคัมภีร์หลายฉบับ เช่น NJB, RSV, NRSV, REB, NIV 2011 ถึงแม้ว่าจะมีความโอนเอียงไปในทางความเชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่บ้าง

      การอ่านว่า “โดยพระองค์” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นได้มองข้ามสิ่งสำคัญสองประการ  ประการแรกคือในข้อ 15 ซึ่งเป็นข้อก่อนหน้า (ที่โยงกับข้อ 16 อย่างแน่นแฟ้นด้วยคำ hoti) ที่พระเยซูทรงถูกเรียกว่า “บุตรหัวปีของสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง” เป็นคำเรียกที่แทบจะไม่สมเหตุสมผลถ้าหากพระเยซูก็ทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่งด้วย (ความไม่สมเหตุสมผลตามหลักเหตุผลนี้ถูกสังเกตโดยคู่มืออธิบายการวิเคราะห์และการตีความพระคัมภีร์ของมายเออร์ในความคิดเห็นเกี่ยวกับโคโลสี 1:16)[18]

      ประการที่สองคือ การอ่าน “โดยพระองค์” นั้นมองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า “ในพระองค์” หรือ “ในพระคริสต์” เป็นแนวความคิดหลักในจดหมายของเปาโล  คำว่า “ในพระคริสต์” ไม่ได้เป็นแค่การผูกประโยคทั่วไปในจดหมายของเปาโลเท่านั้น แต่ยังเป็นคำที่จะพบเฉพาะในการเขียนของเปาโลซึ่งจะไม่พบในการเขียนของคนอื่นๆในพระคัมภีร์ใหม่ที่ “ในพระคริสต์” คือขอบเขตที่พระเจ้าทรงดำเนินการในงานช่วยให้รอดของพระองค์เพื่อให้โลกได้คืนดีกับพระองค์ (2 โครินธ์ 5:19)[19]  ท้ายที่สุดแล้วก็คือพระเจ้า ไม่ใช่พระคริสต์ที่เป็นจุดสนใจหลักของคำ “ในพระคริสต์”

      เมื่ออ่านโคโลสี 1:16 ในบริบทของเปาโล นั่นจึงเริ่มจะเข้าใจได้ว่า พระคริสต์ทรงอยู่ในฐานะที่สูงสุดของการเป็น “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” (ข้อ 15) และเพราะว่า “ในพระองค์” นี่เองที่    พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่ง นั่นก็คือมีพระคริสต์อยู่ในความตั้งพระทัย  พระคริสต์คือเหตุผลที่พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่ง!  สิ่งนี้แสดงให้เห็นจุดสูงสุดของจุดประสงค์ที่งดงามของพระเจ้าในการสร้างทุกสิ่ง  ใครมีตาที่มองเห็นการเปิดเผยนี้จะต้องประหลาดใจ  พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษบางฉบับพลาดความจริงที่งดงามนี้เมื่อทำให้โคโลสี 1:16 กล่าวว่า ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น “โดยพระองค์” คือ “โดยพระคริสต์”

 

 

ข้อสรุป: เหตุผลห้าประการในการปฏิเสธ “โดยพระองค์”

      โดยสรุปแล้ว en autō ในโคโลสี 1:16 ควรแปลว่า “ในพระองค์” มากกว่า “โดยพระองค์” ด้วยเหตุผล 5 ประการ  ประการแรก “ในพระองค์” เป็นคำแปลตรงตัวและตรงไปตรงมาของ en autō  ประการที่สอง เนื่องจาก “ในพระองค์” ทำให้เข้าใจความหมายในบริบทนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนไปเป็น “โดยพระองค์”  ประการที่สาม การแปลว่า “โดยพระองค์ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้น” ไม่มีความสมเหตุสมผลกันเมื่อพิจารณาคำที่กล่าวก่อนหน้านี้ว่าพระคริสต์ทรงเป็น “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” เพราะนี่กำลังจะบอกว่าผู้ที่สร้างทุกสิ่งยังเป็นบุตรหัวปีของสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างเองอีกด้วย!  ประการที่สี่ พระคัมภีร์ฉบับต่างๆที่แปล en autō ในโคโลสี 1:16 ว่า “โดยพระองค์” แต่ในที่อื่นๆในจดหมายของเปาโลจะแปล en autō ว่า “ในพระองค์” อย่างสม่ำเสมอถึง 99% หรือ 100%  ประการที่ห้า “ในพระองค์” ยืนยันหลักการ “ในพระคริสต์” ที่เป็นส่วนสำคัญในคำสอนของเปาโล (เราจะกลับมาพูดถึง “ในพระคริสต์” ในภายหลัง)

 

 

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเหตุในการทรงสร้างของพระเจ้า

      เราติดตามผลคำกล่าวของเราว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเหตุในการทรงสร้างของพระเจ้า  ในพระคัมภีร์ใหม่จะมีสองสามตอนที่เชื่อมโยงพระคริสต์กับการทรงสร้าง  แต่เนื่องจากพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่กล่าวอย่างชัดเจนว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งตามลำพัง (“พระยาห์เวห์ ผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ผู้ขึงฟ้าสวรรค์แต่ลำพัง อิสยาห์ 44:24) ฉะนั้นข้อความเหล่านี้กำลังพูดถึงพระคริสต์ว่าอย่างไรหรือ?  ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนชี้ให้เห็นในฮีบรู 1:2 เพื่อกล่าวว่าพระคริสต์ทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งเพราะคำว่า “โดยทางผู้ที่”[20]

 

แต่ในวาระสุดท้ายนี้พระองค์ (พระเจ้า) ได้ตรัสกับเราโดยพระบุตรของพระองค์ ผู้ที่พระองค์ได้ตั้งให้เป็นทายาทรับสิ่งทั้งปวง โดยทางพระองค์ผู้ที่ได้ทรงสร้างโลกด้วย (dia+genitive) (ฮีบรู 1:2 ฉบับ ESV)

 

      เราสังเกตเห็นบางสิ่ง  ประการแรก คำว่า “ทายาท” นั้นบ่งบอกถึงพระเยซูว่าเป็นผู้รับ ไม่ใช่ผู้สร้างทุกสิ่ง  ประการที่สอง ความจริงที่ว่าพระองค์ทรงได้รับการ “ตั้ง” ให้เป็นทายาทรับสิ่งทั้งปวงนั้นหมายความว่า ทุกสิ่งได้ประทานให้กับพระองค์โดยสิทธิอำนาจของพระเจ้า ไม่ใช่โดยสิทธิอำนาจของพระคริสต์  ประการที่สาม ข้อนี้ไม่ได้บอกว่าพระบุตรทรงเป็นผู้ที่สร้างโลก แต่พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่สร้างโลก (หรือ “จักรวาล” ในฉบับ NIV) ทางพระบุตร

      ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าพระเจ้าได้ทรงสร้างโลกหรือไม่ (พระองค์ได้ทรงสร้างโลกจริงๆ) แต่อยู่ที่ว่า “ทางใคร” จะหมายความว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงสร้างโลกด้วยตัวของพระองค์เอง แต่ผ่านทางตัวแทน คือพระคริสต์  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะขัดแย้งกับคำสอนที่มีอยู่ในพระคัมภีร์อย่างเสมอต้นเสมอปลายว่า พระยาห์เวห์ทรงสร้างทุกสิ่งด้วยพระองค์เอง

      ตามหลักไวยากรณ์แล้ว คำกล่าวนี้มีความคลุมเครือ เพราะ “โดยทางผู้ที่พระองค์ได้ทรงสร้าง โลกโดยเฉพาะ)” ยังสามารถหมายถึง “เพราะผู้ที่พระองค์ได้ทรงสร้างโลกโดยเฉพาะ[21] (นั่นคือ      พระเจ้าได้ทรงสร้างโลกโดยมีพระคริสต์อยู่ในความตั้งพระทัย)

 

 

คำบุพบท dia ยังหมายถึง “เพราะ” ด้วย

      คำบุพบท dia มักจะหมายถึง “โดยทาง” แต่บางครั้งก็หมายถึง “เพราะ” ในความหมายว่า “ด้วยเหตุที่” ตามที่ระบุไว้ในสามการอ้างอิง

      การอ้างอิงแรกมาจากพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG  ในการอธิบาย dia + สัมพันธการก[22]ในฮีบรู 1:2, BDAG (dia, A5) กล่าวอย่างเจาะจงว่า “บางครั้ง dia ที่มากับสัมพันธการก ดูเหมือนว่าจะมีความหมายเกี่ยวกับสาเหตุ...เพราะ...โรม 8:3; 2 โครินธ์ 9:13”  ในที่นี้พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ให้สองตัวอย่างของ dia + สัมพันธการกที่มีความหมายว่า “เพราะ” จากโรม 8:3 (ธรรมบัญญัติอ่อนลง “เพราะ” เนื้อหนัง) และ 2 โครินธ์ 9:13 (“เพราะผลของการปรนนิบัตินี้ พวกเขาจะสรรเสริญพระเจ้า” ฉบับ NASB)

      การอ้างอิงที่สองมาจากหนังสือ ไวยากรณ์กรีกที่นอกเหนือจากพื้นฐานของดาเนียล วอลเลซในหน้า 369 ซึ่งกำหนดให้ dia + กรรมการก[23] หมายถึง “เพราะ, ด้วยเหตุที่, เพราะเห็นแก่”  ไม่ได้ให้ความหมายอื่นไว้

      การอ้างอิงที่สามมาจากพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์ในหน้า 134 ซึ่งกล่าวว่า dia + กรรมการก หมายถึง “ด้วยเหตุที่, เพราะ” (รวมทั้งการตีความทางไวยากรณ์ของพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกฉบับย่อของกรีนลี หน้า 31)[24]

      ในขณะที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ยอมให้ความหมาย “เพราะ” กับการผูกประโยคด้วย dia + สัมพันธการกนั้น วอลเลซและเธเยอร์ก็กำหนดความหมายกับการผูกประโยคด้วย dia + กรรมการก  นี่บ่งชี้ว่าความหมายว่า “เพราะ” ตรงตัวและชัดเจนพอสมควรกับ dia ที่ครอบคลุมในสองกรณีคือ สัมพันธการกและกรรมการก (มีเพียงสองกรณีที่สามารถใช้กับ dia) ถึงจะไม่เท่ากัน เพราะความหมายออกมาชัดเจนในกรรมการกมากกว่าในสัมพันธการก

      ดังนั้นฮีบรู 1:2 จึงสามารถแปลได้ว่า “โดยทางผู้ที่พระองค์ได้ทรงสร้างโลกโดยเฉพาะ” หรือถ้าบริบทยอมให้ว่า “เพราะผู้ที่พระองค์ได้ทรงสร้างโลกโดยเฉพาะ[25]  คำแปลทั้งสองถูกต้องตามหลักไวยากรณ์และตามคำ  ดังนั้นเราต้องดูบริบทเพื่อพิสูจน์ความหมายที่ข้อนี้มุ่งหมายไว้  การอ่านอย่างหลัง (ว่าพระเจ้าได้ทรงสร้างทุกสิ่ง “เพราะ” พระคริสต์) มีการสนับสนุนจากบริบทถัดมาซึ่งกล่าวว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ทายาท” รับสิ่งทั้งปวง (กล่าวคือ เป็นผู้รับ ไม่ใช่ผู้สร้างทุกสิ่ง)  ในทางตรง กันข้าม การอ่านอีกอย่าง (ว่าพระเจ้าได้ทรงสร้างทุกสิ่ง “โดยทาง” พระคริสต์) นั้น ขัดแย้งกับข้อต่อมาคือ ฮีบรู 2:10 ซึ่งไม่ได้เอ่ยถึงตัวแทนสำรองในการทรงสร้าง แต่กลับตรงกันข้ามที่ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างพระเจ้าพระผู้สร้างกับพระเยซู โดยที่พระเยซูไม่ใช่ผู้ที่สร้างทุกสิ่ง

     

                                                                                                                            

ฮีบรู 2:10 ในเรื่องที่พระองค์ (พระเจ้า) ทรงนำบุตรจำนวนมากไปสู่ศักดิ์ศรีนั้น ก็เป็นการเหมาะสมแล้ว ที่พระเจ้าผู้ซึ่งทุกสิ่งดำรงอยู่เพื่อพระองค์และโดยทางพระองค์ จะทรงทำให้ผู้เบิกทาง (พระเยซู) ​​สู่ความรอดของพวกเขาสมบูรณ์โดยความทุกข์ทรมานต่างๆ

 

      การผูกประโยคด้วย dia + สัมพันธการกที่เราเห็นทั้งในฮีบรู 1:2 และ 2:10 ก็พบใน 1 โครินธ์ 8:6 เช่นกัน อันที่จริงมีสองครั้ง (ให้ดูเครื่องหมายดอกจันสองแห่ง)

 

แต่ว่าสำหรับเรานั้นมีพระเจ้าองค์เดียวคือพระบิดา ทุกสิ่งเกิดมาจากพระองค์และเราอยู่เพื่อพระองค์ และมีพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว ทุกสิ่งเกิดมาโดยทาง*พระองค์และเราก็เป็นมาโดยทาง*พระองค์  (1 โครินธ์ 8:6)

 

      ทุกสิ่งมาจากพระเจ้าพระบิดา และเราดำรงอยู่เพื่อพระองค์  ทุกสิ่งดำรงอยู่เพราะพระเจ้าผู้ที่ “ทุกสิ่งเกิดมาจากพระองค์” แล้วสิ่งนี้หมายความว่าอย่างไรเกี่ยวกับพระคริสต์หรือ?  มันจะหมาย ความว่าอะไรได้อีก นอกจากจะหมายความว่าพระเจ้าได้ทรงสร้างทุกสิ่งรวมถึงตัวเราเพราะพระคริสต์และเพื่อเห็นแก่พระองค์?  เราได้เห็นแล้วว่าบางครั้ง dia + สัมพันธการก ก็อาจหมายถึง “เพราะ” (พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG, dia, A5)

      ในทำนองเดียวกัน ทัลมุดบาบิโลนก็กล่าวว่า “โลกถูกสร้างขึ้น... เพื่อพระเมสสิยาห์”[26]  คำกล่าวนี้สอดคล้องกับความจริงในพระคัมภีร์ที่มนุษย์คือสาเหตุของการทรงสร้างในปฐมกาล  พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงสร้างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่ใช่เพราะว่าพระองค์ต้องการแสงสว่าง แต่เป็นเพราะว่ามนุษย์ต้องการสิ่งเหล่านี้

      ในโคโลสี 1:16 ข้อที่กำลังพิจารณานี้ เราจะเห็นการผูกประโยคด้วยคำบุพบทกรีกสามคำ นั่นคือ dia + สัมพันธการก และยังมีอีกสองคำบุพบท

 

โคโลสี 1:16  เพราะว่าโดยพระองค์ (คำตรงตัวคือ “ในพระองค์” en + กรรมรอง) ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้น ทั้งในสวรรค์และบนโลก ทั้งสิ่งที่มองเห็นและสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นบัลลังก์แห่งพวกภูตผี หรือพวกภูตผีที่ปกครอง หรือพวกภูตผีที่ครอบครอง หรือพวกภูตผีที่มีอำนาจ ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยพระองค์ (dia + สัมพันธการก)  และเพื่อพระองค์ (eis + กรรมการก) (ฉบับESV)

 

      ในพระองค์และเพื่อพระองค์ ไม่ใช่โดยพระองค์ที่ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น  ในข้อนี้พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์ (ἐν) กล่าวว่า “ในพระองค์ [พระคริสต์] คือสาเหตุที่ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่แรก”  พูดอีกอย่างก็คือ พระเยซูคริสต์เป็นมูลเหตุในการทรงสร้างของพระเจ้า

 

 

ในพระคริสต์

      ในสมัยเมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เราได้ใช้ en autō ในโคโลสี 1:16 เพื่อหมายถึง “โดยพระองค์” ในเมื่อมันควรจะเป็น “ในพระองค์” โดยให้เป็นการบอกวิธีการเพื่อให้หมายความว่าทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยทางพระคริสต์  เนื่องจาก “ในพระคริสต์” เป็นแนวความคิดหลักในจดหมายของเปาโล ให้เรามาดูว่าเปาโลใช้การผูกประโยคด้วย en + dative ในการอ้างอิงถึงพระคริสต์อย่างไร

      คำว่า en Christō (ในพระคริสต์) มีปรากฏ 73 ครั้งในจดหมายของเปาโล  คำที่คล้ายกันว่า en autō (ในพระองค์) มีปรากฏ 24 ครั้งในจดหมายของเปาโลซึ่งมี 19 ครั้งที่หมายถึงพระคริสต์ (8 ครั้งในโคโลสีที่รวมโคโลสี 1:16)  ในจดหมายของเปาโลมีคำว่า en tō Iēsou (ในพระเยซู) ปรากฏเฉพาะในเอเฟซัส 4:21  ทุกข้อได้ถูกตรวจสอบและยืนยันทีละข้อ

      เมื่อรวมการปรากฏของคำว่า “ในพระคริสต์” 73 ครั้ง บวกกับ “ในพระองค์” 19 ครั้งที่อ้างถึงพระคริสต์ บวกกับ “ในพระเยซู” ที่มีเพียงครั้งเดียว เราก็จะได้จำนวนปรากฏของ “ในพระคริสต์” (หรือรูปแบบที่ต่างกัน) ในงานเขียนของเปาโลทั้งหมด 93 ครั้ง  ดูทุกตัวอย่างของ “ในพระคริสต์” หรือรูปแบบที่ต่างกันในงานเขียนของเปาโลได้ในภาคผนวก 10

      ต่อไปนี้คือความจริงที่สำคัญว่า ใน 93 ครั้งนี้ไม่มีตัวอย่างไหนมีความจำเป็นในทางภาษาศาสตร์ที่จะแปลคำนี้ว่า “โดยพระคริสต์” หรือ “โดยพระองค์”!  ในพระคัมภีร์หลายฉบับใช้ “ในพระองค์” ในโคโลสี 1:16 ได้อย่างถูกต้อง แต่ฉบับอื่นๆใช้คำว่า “โดยพระองค์” ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับหลักคำสอน  ฉบับ NASB และ ESV ใช้ “โดยพระองค์” ในโคโลสี 1:16 แต่ใช้ “ในพระองค์” ในที่อื่นทุกที่ในจดหมายของเปาโล!

      โคโลสีบทที่ 1 ซึ่งเป็นเสาหลักที่สองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีหกตัวอย่างของ en ที่อ้างถึงพระคริสต์ โดยมีสามตัวอย่างของ en Christō (ในพระคริสต์ ข้อ 2, 4, 28) และสามตัวอย่างของ en autō (ในพระองค์ ข้อ 16, 17 ,19)  คำหลังปรากฏหลายครั้งในโคโลสี 2 บทถัดมาในข้อ 6, 7, 9, 10, 15 ทั้งหมดนี้เรามีหลายข้อมากในบริบทโดยตรงเพื่อจุดประสงค์ในการเปรียบเทียบและตรวจสอบ  ดังนั้นความหมายของ “ในพระคริสต์” จึงสามารถแน่ใจได้ในระดับที่ค่อนข้างแน่นอน

      การที่เราจะดูว่าฉบับ ESV แปล “ในพระคริสต์” แบบโอนเอียงตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างไรนั้น  ต่อไปนี้จะเป็นรายการที่ปรากฏทั้งหมดของคำ en Christō (ในพระคริสต์) และ en autō (“ในพระองค์” ทั้งหมดอ้างถึงพระคริสต์) ในโคโลสีบทที่ 1 และ 2 ทั้งหมดนี้ใช้การผูกประโยคด้วย en + กรรมรอง ในแต่ละตัวอย่างนี้ฉบับ ESV ให้คำแปล “ในพระคริสต์” หรือ “ในพระองค์” ได้ถูกต้องและตรงตัว โดยยกเว้นโคโลสี 1:16 อย่างเด่นชัด (ดูตัวหนา) ซึ่งฉบับ ESV แปลว่า “โดยพระองค์” ซึ่งควรแปลว่า “ในพระองค์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของข้อ 15 และคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับ “ในพระคริสต์”

 

      โคโลสี 1:2           เรียน บรรดาธรรมิกชนและพี่น้องที่สัตย์ซื่อในพระคริสต์

       โคโลสี 1:4           เพราะเราได้ยินเรื่องความเชื่อของพวกท่านในพระเยซูคริสต์

       โคโลสี 1:16        เพราะ​​โดยพระองค์ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้น

       โคโลสี 1:17         ในพระองค์ทุกสิ่งถูกยึดเข้าด้วยกัน

โคโลสี 1:19         เพราะว่าพระเจ้าทรงพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระองค์

โคโลสี 1:28       เพื่อว่าเราจะถวายทุกคนให้สมบูรณ์​​ในพระคริสต์

โคโลสี 2:6          ในเมื่อพวกท่านรับพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว ก็จงดำเนินชีวิตในพระองค์

โคโลสี 2:7        จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ และจงตั้งมั่นในความเชื่อ

โคโลสี 2:9          เพราะว่าความ​​ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์

โคโลสี 2:10        และพวกท่านได้รับความบริบูรณ์ในพระองค์

โคโลสี 2:15         โดยมีชัยชนะเหนือพวกเขาในพระองค์

 

      ภาคผนวก 10 แสดงรายการ “ในพระคริสต์” ทั้งหมดที่มีในจดหมายฉบับต่างๆของเปาโล และรูปแบบต่างๆที่เข้ากันได้กับการผูกประโยคด้วย en + กรรมรอง  ไม่มีความจำเป็นทางไวยากรณ์หรือทางคำศัพท์หรือทางความหมายในกรณีใดที่จะแปลว่า “โดยพระคริสต์” หรือที่คล้ายกัน  พระคัมภีร์ฉบับ NASB 1977 และพระคัมภีร์อื่นๆบางฉบับไม่เคยใช้คำบุพบท “โดย” มาแปลการผูกประโยคด้วย en + กรรมรองที่อ้างถึงพระคริสต์ ยกเว้นในโคโลสี 1:16

 

 

โคโลสี 1:16 การทรงสร้างใหม่ ไม่ใช่การทรงสร้างเก่าในปฐมกาล

      ในการศึกษาโคโลสี 1:16 นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการทรงสร้างเก่ากับการทรงสร้างใหม่  ในการทรงสร้างเก่าในปฐมกาลนั้น พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระผู้สร้างแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีผู้ร่วมสร้างคนใด (อิสยาห์ 44:24 เราคือยาห์เวห์ ผู้​​สร้างทุกสิ่ง ผู้ขึงฟ้าสวรรค์แต่ลำพัง ผู้กางแผ่นดินโลกด้วยตัวเอง”)

      ในอีกแง่หนึ่ง โคโลสี 1:16 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างใหม่ ไม่ใช่การสร้างเก่า เนื่องด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ

      ประการแรก ข้อก่อนหน้านี้ (ข้อ 15 เชื่อมกับข้อ 16 ด้วยคำ hoti หรือ “เพราะว่า”) กล่าวว่า พระคริสต์ทรงเป็น “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง”  คำว่า “บุตรหัวปี” หมายถึงลูกชายคนโตของครอบครัวในหมู่พี่น้องคนอื่นๆ  สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนในโรม 8:29 ซึ่งบอกว่าเราได้ “ถูกกำหนดไว้ก่อนให้เป็นไปตามพระฉายาแห่งพระบุตรของพระองค์ เพื่อว่าพระองค์จะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก” (ฉบับ ESV)  นี่หมายถึงการทรงสร้างใหม่ เพราะเรามาเป็นพี่น้องของพระเยซูโดยการ “บังเกิดใหม่” หรือ “เกิดจากเบื้องบน” โดยมีพระเยซูทรงเป็นบุตรหัวปี  พระเยซูตรัสถึงเหล่าสาวกของพระองค์ว่าเป็น “พี่น้อง” ของพระองค์ (มัทธิว 25:40; 28:10; ยอห์น 20:17)[27] เพราะพระองค์ไม่ทรงละอายที่จะเรียกเราว่าเป็นพี่น้องของพระองค์ (ฮีบรู 2:11)[28]  ดังนั้นการทรงสร้างในโคโลสี 1:16 ก็คือการทรงสร้างใหม่ในพระคริสต์ ไม่ใช่การทรงสร้างในปฐมกาล

      ประการที่สอง โคโลสี 1:16 ไม่ได้พูดถึงการสร้างเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์และดวงดาว  แต่พูดถึงสิ่งต่างๆ “ทั้งสิ่งที่อยู่บนท้องฟ้าและบนแผ่นดินโลก ทั้งสิ่งที่มองเห็นและสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นบัลลังก์แห่งพวกภูตผี หรือพวกภูตผีที่ปกครอง หรือพวกภูตผีที่ครอบครอง หรือพวกภูตผีที่มีอำนาจ”  คำว่า “สิ่งที่มองไม่เห็น” หมายถึงสิ่งมีชีวิตวิญญาณที่ถาวรนิรันดร์ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งมีชีวิตร่างกายที่ไม่ยั่งยืน (เช่น 2 โครินธ์ 4:18สิ่งที่มองเห็นนั้นไม่ยั่งยืน แต่สิ่งที่มองไม่เห็นนั้น  ถาวรนิรันดร์” อีกทั้งโรม 8:24; 2 โครินธ์ 5:7; ฮีบรู 11: 1,13) ดังนั้นการทรงสร้างในโคโลสี 1:16 ก็คือการทรงสร้างใหม่มากกว่าการทรงสร้างเก่า

      การทรงสร้างทั้งเก่าและใหม่ถูกสร้างขึ้นโดยพระยาห์เวห์พระเจ้า แต่การทรงสร้างใหม่ถูกสร้างขึ้นในพระคริสต์และโดยทางพระคริสต์ ไม่ใช่โดยพระคริสต์  นั่นคือเหตุผลว่าทำไมโคโลสี 1:16 จึงใช้ “ในพระองค์” และ “โดยทางพระองค์” และ “เพื่อพระองค์” ไม่ใช่ “โดยพระองค์”  การทรงสร้างใหม่นี้อยู่ในพระคริสต์เพราะพระยาห์เวห์ทรงมีพระคริสต์อยู่ในความตั้งพระทัยแล้วที่จะมีการทรงสร้างใหม่ตั้งแต่ก่อนวางรากสร้างโลก  การทรงสร้างใหม่นี้ทำ “โดยทางพระคริสต์” เพราะเป็นการสร้างโดยทางความทุกข์ทรมานและหลั่งพระโลหิตของพระเยซู

 

 

 

“ในพระคริสต์” ในจดหมายของเปาโล

      ในจดหมายของเปาโล คำว่า “ในพระคริสต์” มีความหมายพิเศษของขอบเขตที่พระเจ้าทรงทำงานของพระองค์ในการช่วยให้รอด และในการทำให้โลกคืนดีกับพระองค์เองในพระคริสต์ (2    โครินธ์ 5:19)  เพราะหลักการ “ในพระคริสต์” เป็นของเปาโลโดยเฉพาะ ซึ่งจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงว่ามีปรากฏบ่อยที่สุดในจดหมายของเปาโล (en Christō มีปรากฏ 73 ครั้งในจดหมายต่างๆของเขา)

      เนื่องจาก “ในพระคริสต์” เป็นขอบเขตที่พระเจ้าทรงทำงานของพระองค์ในการช่วยให้รอด และยังเกี่ยวข้องกับการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเรากับพระคริสต์ด้วย คือถ้าเราอยู่ “ในพระคริสต์” พระคริสต์ก็ทรงอยู่ในเรา (“พระคริสต์​​ทรงมีชีวิตอยู่ในข้าพเจ้า” กาลาเทีย 2:20) ดังที่เห็นในคำตรัสของพระเยซูคริสต์เช่นเดียวกันว่า “พวกท่านอยู่ในเราและเราอยู่ในท่าน” (ยอห์น 14:20)  การที่จะอยู่ “ในพระคริสต์” นั้นก่อนอื่นเราจะต้อง “รับบัพติศมาเข้าในความตายของพระองค์” (โรม 6:3) แล้วเราจึง “เป็นอันหนึ่งอันเดียว” กับพระองค์ (ข้อ 5) และมีชีวิตด้วยฤทธิ์เดชแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์  นี่ไม่ใช่แค่แนวความคิดเชิงเปรียบเทียบ แต่เป็นความจริงทางจิตวิญญาณในยุคปัจจุบัน

      หลักการ “ในพระคริสต์” ยังแสดงให้เห็นในลักษณะของสรรพนาม “ในพระองค์” (en autō) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ในโคโลสี 1:16 (“ในพระองค์ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้น”)  คำนี้มีปรากฏอีกในไม่กี่ข้อต่อมาว่า “เพราะว่าพระเจ้าพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นดำรงอยู่ในพระองค์”  (ข้อ 19)  จุดประสงค์ตรงนี้ที่ให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระคริสต์ ก็เพื่อให้เกิดการคืนดี เหมือนใน 2 โครินธ์ 5:19 ดังที่ยืนยันไว้ในข้อต่อมาว่า “พระเจ้าทรงให้ทุกสิ่งกลับคืนดีกับพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลกหรือในสวรรค์โดยทางพระองค์ (พระบุตร) โดยทำให้เกิดสันติภาพโดยทางพระโลหิตของพระองค์ที่หลั่งบนกางเขน” (โคโลสี 1:20 ฉบับ NIV)  ตรงนี้เราจะเห็นคำว่า “โดยทางพระองค์” ที่เราได้เห็นในข้อ 16

      การเชื่อมโยงระหว่างกันหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับ “ในพระองค์” และ “โดยทางพระองค์” ในโคโลสี 1:15-19 ทำให้พระคัมภีร์ตอนนี้เชื่อมต่อและปะติดปะต่อกันอย่างชัดเจน ซึ่งเผยให้เห็นถึงบทบาทอันสูงส่งของพระคริสต์ในแผนการนิรันดร์ของพระเจ้าในการทรงสร้างของพระองค์  ในพระคริสต์นี่เองที่เราเห็นพระประสงค์ของพระเจ้าในการทรงสร้างทุกสิ่ง และที่พระประสงค์นิรันดร์ของพระเจ้าจะสำเร็จโดยทางพระคริสต์  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพระคริสต์ ดังคำสรุปที่กระชับว่า “พระคริสต์ทรงเป็นทุกสิ่ง และทรงอยู่ในทุกสิ่ง” (โคโลสี 3:11) และดังที่ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อพระคริสต์ (โคโลสี 1:16) ฉะนั้นทุกสิ่งจึงเป็นของเราในพระคริสต์ (1 โครินธ์ 3:22; เปรียบเทียบ 2 โครินธ์ 4:15)

แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต่างก็กระตือรือร้นอย่างมากที่จะทำให้พระคริสต์ทรงเป็นพระผู้ สร้างทุกสิ่ง พวกเขาจึงทำให้โคโลสี 1:16 กล่าวว่าทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น โดยพระคริสต์ โดยทางพระคริสต์ และเพื่อพระคริสต์!  ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะไม่มีอะไรเหลือให้อีกสองพระองค์ในตรีเอกานุภาพได้ทำงานในการสร้าง!  เพราะสำหรับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหลายแล้ว ในความยึดมั่นและความประสงค์ทั้งสิ้นนั้น พระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่มีความสำคัญจริงๆ

      เป็นเรื่องที่ยากและเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำที่การแปลข้อ 15 และข้อ 16  ของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะเข้าใจได้ที่กล่าวว่า พระคริสต์ทรงเป็น “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง เพราะทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยพระองค์[29]  แล้วพระผู้สร้างทุกสิ่งจะทรงเป็นบุตรหัวปีของการสร้างของพระองค์เองได้อย่างไร?

      ความงงงวยของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นตรงกันข้ามกับความสอดคล้องอย่างสวยงามของโรม 11:36 ที่ว่า “เพราะสิ่งสารพัดมาจากพระองค์ โดยพระองค์ และเพื่อพระองค์  ขอพระเกียรติจงมีแด่พระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน”  คำสรรพนาม “พระองค์” ไม่ได้หมายถึงพระเยซู แต่หมายถึงพระยาห์เวห์ที่ถูกกล่าวถึงในสองข้อก่อนหน้านี้ (ข้อ 34) ที่อ้างอิงจากพระคัมภีร์เดิม[30]  การเปรียบเทียบโรม 11:36 กับโคโลสี 1:16 แสดงให้เห็นว่าทั้งสองข้อจะไม่ถูกต้อง ถ้าเราแปลข้อหลังตามวิธีของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (“โดยพระองค์ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้น”)  การอ่านตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะให้หนึ่งในสองความเป็นไปได้คือ ที่พระผู้สร้างสองพระองค์ได้ทรงสร้างทุกสิ่ง (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ตามในพระคัมภีร์) หรือที่พระเยซูทรงเป็นผู้สร้างเพียงผู้เดียวโดยไม่นับรวมพระยาห์เวห์ (ข้อสรุปที่เป็นการหมิ่นประมาท)  ใครก็ตามที่คิดว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นแค่เรื่องของความชอบในหลักคำสอน ก็ควรจะไตร่ตรองที่จะคิดถึงผลนิรันดร์ที่ตามมาของระบบความเชื่อนี้

      การแปลโคโลสี 1:16 ในพระคัมภีร์ยิวฉบับสมบูรณ์ ซึ่งเป็นฉบับของชาวยิวที่ยอมรับพระคริสต์เป็นพระเมสสิยาห์[31] ทำให้เข้าใจมากกว่าฉบับแปลของความเชื่อในตรีเอกานุภาพดังนี้ว่า “เพราะในความเกี่ยวข้องกับพระองค์นั้น สิ่งทั้งปวงได้ถูกสร้างขึ้น ทั้งในฟ้าสวรรค์และบนแผ่นดินโลก ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นเทวบัลลังก์ หรือเทพผู้ครอง หรือเทพผู้ปกครอง หรือเทพผู้มีอำนาจ – ทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นผ่านทางพระองค์และเพื่อพระองค์”

      ความจริงแล้วนี่ขัดกับความเชื่อของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่บอกว่าทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้น “โดยพระองค์และเพื่อพระองค์”  เพราะผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหลายยืนยันว่า พระเยซูทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่ง นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาเปลี่ยน “ในพระองค์” ให้เป็น “โดยพระองค์” ในโคโลสี 1:16

      ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การอ่านพระคัมภีร์ด้วยมุมมองจากหลักคำสอนของเรา เป็นเรื่องที่อันตรายเพียงใด  แต่ความผิดของผู้แปลพระคัมภีร์นั้นยิ่งหนักกว่า เพราะผู้อ่านพระคัมภีร์โดยทั่วไปไม่สามารถวิเคราะห์ภาษาต้นฉบับได้และต้องพึ่งการแปลทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้ผู้แปลทั้งหลายจึงต้องรับโทษความผิดที่นำผู้อ่านไปในทางที่ผิด

      ดูเหมือนแค่นี้ยังไม่พอ คำแปลเหล่านี้ยังกล่าวต่อไปอีกว่า พระเยซูไม่ได้แค่ทรงสร้างทุกสิ่งและทำการสร้างด้วยพระองค์เองเท่านั้น แต่พระองค์ยังทำทุกสิ่งเพื่อพระองค์เอง  เราจะให้พระเยซูผู้ทรงคิดถึงแต่ตัวพระองค์เองนี้ คืนดีกับพระเยซูผู้ทรงให้ตัวของพระองค์เอง ดังที่เราเห็นในพระคัมภีร์ได้อย่างไร?  สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างก็ถูกจูงใจจากความปรารถนาของพระเยซูที่ทรงทำทุกสิ่งเพื่อพระองค์เอง!  สิ่งที่การแปลทั้งหลายได้ทำก็คือ เปลี่ยนสิ่งที่สวยงามให้เป็นสิ่งน่ารังเกียจ!

      แต่พระคัมภีร์มีภาพที่แตกต่างกัน  เพราะตั้งแต่เริ่มแรกนั้น แผนการนิรันดร์ของพระเจ้าที่จะให้มีการสร้างเกิดขึ้นนั้น ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับพระคริสต์ (“ในพระคริสต์”)  อีกทั้ง “โดยทางพระคริสต์” คือโดยทางการประสูติของพระองค์ ทางชีวิตของพระองค์ ทางการตายของพระองค์ ทางการคืนพระชนม์ของพระองค์ ทางการยกย่องของพระองค์ มีสิ่งมหัศจรรย์ที่ถูกเปิดเผยในที่นี้ก็คือพระเจ้า ได้ทรงสร้างทุกสิ่งโดยมีพระคริสต์อยู่ในความตั้งพระทัยคือ “เพื่อพระองค์”  พระคริสต์ทรงเป็นจุดประสงค์และเป็นเหตุผลในการสร้างของพระยาห์เวห์!  นี่เป็นใจความที่น่าอัศจรรย์ที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมองไม่เห็น

      แผนการของการทรงสร้างเริ่มต้นจากพระยาห์เวห์ และดำเนินการต่อไปด้วยพระปัญญาและฤทธิ์อำนาจของพระองค์ เพื่อว่าพระเกียรติทั้งสิ้นจะได้ถวายแด่พระองค์เมื่อแผนการที่สำเร็จอย่างงดงามของพระองค์ได้ปรากฏแก่ทุกคน  ดังนั้นจึงมีการยกย่องสรรเสริญพระเจ้าในโรม 11:36 ว่า “เพราะสิ่งสารพัดมาจากพระองค์ โดยพระองค์ และเพื่อพระองค์  ขอพระเกียรติจงมีแด่พระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน

      งานของพระเจ้าในพระคริสต์มีอีกด้านหนึ่ง คือประชากรของพระเจ้าได้รับการสถาปนาไว้ใน พระคริสต์โดยพระราชกิจของพระเจ้า “เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อ​​การดี ซึ่งพระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมไว้ก่อนแล้วเพื่อจะให้เราเดินตามนั้น” (เอเฟซัส 2:10 ฉบับESV)  ลาร์ส ฮาร์ทแมน[32] อธิบายความจริงนี้ได้ดีว่า

       

                                                                                                                          

“พระคริสต์” ยังแสดงถึงขอบเขตของพระเจ้า หรือขอบเขตแห่งอำนาจของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ทางพระคริสต์และงานของพระคริสต์ ... พระคริสต์องค์เดียวกันนี้ก็ยังทรงเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติใหม่ ที่อุปสรรคในทางศาสนา ทางสังคม และอุปสรรคอื่นๆถูกกำจัดออกไป “ไม่ว่าจะเป็นยิวหรือกรีก” (1 โครินธ์ 12.13; กาลาเทีย 3.28) (ในพระนามของพระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้า: การรับบัพติศมาในคริสตจักรยุคแรก, หน้า 80)[33]

 

 

ในสองสามหน้าถัดไปมีความสำคัญ  แต่ถ้าผู้อ่านเห็นว่ามี

รายละเอียดมากเกินไป ก็อาจจะข้ามไปก่อนและไปที่ส่วนที่เรียกว่า

“โคโลสี 1:17 – พระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนทุกสิ่ง”

 

 

 

“ในพระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้า”

      ตอนนี้เรากำลังพิจารณาการผูกประโยคด้วยบุพบทอีกสองสามอย่างในจดหมายของเปาโล  เราได้ดู en Christō  (ในพระคริสต์) และความหมายของคำที่เทียบเท่ากับ en autō (ในพระองค์) เมื่ออ้างถึงพระคริสต์  ในทั้งสองกรณี “พระคริสต์” และ “พระองค์” เป็นกรรมรองเนื่องจากบุพบท en ใช้กับกรรมรอง

      การผูกประโยคด้วยคำ “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (en kuriō) มีปรากฏ 48 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ (เช่น “ในพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า” โรม 14:14; 1 เธสะโลนิกา 4:1; 2 เธสะโลนิกา 3:12)[34]  ทั้งหมดนี้มีอยู่ในจดหมายของเปาโลโดยยกเว้นวิวรณ์ 14:13 (“คนทั้งหลายที่ตายในองค์พระผู้เป็นเจ้าก็เป็นสุข”) ซึ่งมีความหมายเดียวกับในจดหมายของเปาโล นี่จึงเหลือ 47 ครั้งในจดหมายของเปาโล  มันสอดคล้องกับการผูกประโยคด้วย  en + กรรมรองอีกครั้ง ที่ถึงตอนนี้ให้จำนวนปรากฏทั้งหมด 140 ครั้งในจดหมายของเปาโลในการผูกประโยครูปแบบนี้ซึ่งอ้างถึงพระคริสต์ (140 = 47 + 93 ตัวอย่างที่กล่าวมาถึงตอนนี้)

 

 

“ในพระเจ้า”

      เพื่อความครบถ้วนเราจะกล่าวถึงคำ “ในพระเจ้า” ซึ่งในภาษากรีกคือ en theō (โรม 2:17) หรือ en tō theō (โรม 5:11) ซึ่งจะเห็นอีกว่าทั้งสองสอดคล้องกับการผูกประโยคด้วย en + กรรมรอง  คำว่า “ในพระเจ้า” จะเห็นได้ใน 1 เธสะโลนิกา 1:1 (กล่าวซ้ำใน 2 เธสะโลนิกา 1:1) “เปาโล สิลวานัส และทิโมธี ถึงคริสตจักรของชาวเธสะโลนิกา ในพระเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า”  ตรงนี้คำว่า “พระเจ้า” และ “พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นกรรมรองเพราะทั้งสองใช้คำบุพบท “en” คำเดียวกัน  ชาวเธสะโลนิกาอยู่ในพระเจ้าและในพระคริสต์ในแบบที่เกี่ยวข้องกัน  การอยู่ในพระเจ้าก็คือการอยู่ในพระคริสต์ และการอยู่ในพระคริสต์ก็คือการอยู่ในพระเจ้า  สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างมากในแนวความคิดของเปาโลต่อไปนี้ที่มี “พระเจ้าในพระคริสต์” (2 โครินธ์ 5:19; โรม 6:11; 8:39; เอเฟซัส 4:32; ฟีลิปปี 3:14)[35]; “พระคริสต์ในพระเจ้า” (โคโลสี 3:3)[36]; “ของพระเจ้าและของพระคริสต์” (2 ทิโมธี 4:1;  เอเฟซัส 5:5); เปรียบเทียบยอห์น 17:21[37]

 

“โดยทางพระคริสต์”

      การผูกประโยคด้วยบุพบทอีกอย่างก็คือ “โดยทางพระคริสต์” (dia Christou) และเกี่ยวข้องกับ “โดยทางพระองค์” (di’ autou) เมื่อกล่าวถึงพระคริสต์  ตรงนี้ทั้ง “พระคริสต์” และ “พระองค์” อยู่ในสัมพันธการกที่ผูกประโยคด้วย dia + สัมพันธการก

      “โดยทางพระคริสต์” เผยให้เห็นว่าพระคริสต์ทรงเป็นเครื่องมือในแผนการนิรันดร์ของพระเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทรงสร้างใหม่และในงานการช่วยให้รอด  เมื่อตรวจสอบข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่ใช้คำนี้ มันก็เห็นชัดเจนว่าพระคริสต์ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงทำให้งานความรอดของมนุษย์สำเร็จโดยทางพระองค์และในพระองค์

      ที่เราจะต้องแปลกใจก็คือ “โดยทางพระคริสต์” หรือ “โดยทางพระองค์” นั้นไม่มีตัวอย่างที่อ้างถึงการทรงสร้างในปฐมกาลเลย  ทุกตัวอย่างทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมจะอ้างถึงการสร้างใหม่ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นโดยทางพระคริสต์  ตัวอย่างต่อไปนี้รวมถึงตัวอย่างทั้งหมดในพระคัมภีร์ใหม่ของ  “โดยทางพระคริสต์” (dia Christou) และ “โดยทางพระองค์” (di 'autou การอ้างถึงพระคริสต์)  รวมทั้งบางรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับ dia + กรรมรอง เช่น “ทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” หรือ “ทางมนุษย์ผู้หนึ่ง”  ข้อทั้งหมดมาจากฉบับ ESV ยกเว้นระบุไว้อย่างอื่น

 

 

ยอห์น 1:17      พระคุณและความจริงมาทางพระเยซูคริสต์

ยอห์น 3:17        เพื่อช่วยโลกให้รอดโดยทางพระองค์

กิจการ 13:38    โดยทางชายผู้นี้ จึงมีการประกาศการยกโทษบาป

โรม 1:5            โดยทางพระองค์​ ​พวกเราจึงได้รับพระคุณและหน้าที่เป็นอัครทูต

โรม 1:8            ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าของข้าพเจ้า​​ทางพระเยซูคริสต์

โรม 2:16          พระเจ้าจะทรงพิพากษาความลับของมนุษย์โดยทางพระเยซูคริสต์ (ฉบับ NIV)

โรม 5:1            เราจึงมีสันติสุขกับพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

โรม 5:9            เราจะพ้นจากพระพิโรธของพระเจ้าโดยทางพระองค์ (ฉบับ NIV)

โรม 5:11          เรายังชื่นชมยินดีในพระเจ้า โดยทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

โรม 5:17          ครอบครองในชีวิตโดยทางมนุษย์คนเดียว คือพระเยซูคริสต์

โรม 7:25          ขอบพระคุณพระเจ้า โดยทาง​​พระเยซูคริสต์

1 โครินธ์ 8:6     พระเจ้าองค์เดียวคือพระบิดาผู้ทรงเป็นที่มาของสิ่งสารพัด และเรามีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ และมี​​องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวคือพระเยซูคริสต์ ที่สิ่งสารพัดเป็นมาโดยทางพระองค์ และเราดำรงชีวิตอยู่โดยทางพระองค์

1 โครินธ์ 15:21 การเป็นขึ้นจากความตายก็มาทางมนุษย์คนหนึ่งด้วย (ฉบับ NIV)

1 โครินธ์ 15:57 ชัยชนะโดยทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

2 โครินธ์ 1:5     โดยทางพระคริสต์ การปลอบประโลมใจของเราก็​​ท่วมท้น

2 โครินธ์ 1:20   โดยทางพระองค์ เราจึงเปล่งเสียงว่าอาเมน

2 โครินธ์ 5:18 พระเจ้า ผู้ทรงให้เราคืนดีกับพระองค์โดยทางพระคริสต์

เอเฟซัส 2:18     โดยทางพระองค์ เราทั้งสองฝ่ายเข้าถึงพระบิดาได้โดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน

คโลสี 1:16      ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์และเพื่อพระองค์

คโลสี 1:20      ​​ทรงให้ทุกสิ่งกลับคืนดีกับพระองค์เอง (พระเจ้า) โดยทางพระองค์ (พระเยซู)

คโลสี 3:17         ​​ขอบพระคุณพระเจ้าพระบิดาโดยทาง​​พระองค์

 

 

      คำว่า “โดยทางพระองค์” ก็ใช้กับพระเจ้าด้วย

 

 

โรม 11:36          ทุกสิ่ง​​มาจากพระองค์ โดยทางพระองค์ และเพื่อพระองค์

1 โครินธ์ 1:9    พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ โดยทางพระองค์ท่านได้ถูกเรียก​​ให้สัมพันธ์สนิทกับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสต์  

กาลาเทีย 4:7    ถ้าเป็นบุตรท่านก็เป็นทายาทโดยทางพระเจ้า

ฮีบรู 2:10         ​​โดยทางพระองค์ ทุกสิ่งดำรงชีวิตอยู่

 

      อันที่จริง คำบุพบททั้งหมดที่ใช้กับพระเยซูก็ใช้กับพระเจ้าด้วย (เช่น “โดยทาง” จะใช้กับทั้งพระเยซูและพระเจ้าพระบิดาในกาลาเทีย 1:1)[38]  แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นในทางกลับกันคือ ไม่ใช่ว่าคำบุพบททั้งหมดที่ใช้กับพระเจ้าก็ใช้กับพระเยซู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ek  (“จาก” หรือ “ออกมาจาก”) ซึ่งใช้กับพระเจ้า (“จากพระเจ้า” หรือ “ออกมาจากพระเจ้า”) แต่ไม่เคยใช้กับพระเยซูที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรพสิ่ง (ta panta)  ต่อไปนี้เป็นบางตัวอย่างของ ek ซึ่งทั้งหมดอ้างถึงพระเจ้า (ทั้งหมดมาจากฉบับ ESV)

 

รม 11:36          ทุกสิ่ง​​มาจากพระองค์ โดยทางพระองค์ และเพื่อพระองค์

1 โครินธ์ 8:6       ทุกสิ่งเกิดมาจากพระองค์ (เปรียบเทียบ 1:30)

1 โครินธ์ 11:12     ทุกสิ่งมาจากพระเจ้า

2 โครินธ์ 5:18       ทั้งหมดนี้มาจากพระเจ้า

 

      แม้ว่าพระเจ้าจะทรงกระทำทุกสิ่งและทรงสร้างทุกสิ่งโดยไม่ต้องพึ่งอาศัยผู้ใด แต่พระองค์ก็ยังคงเลือกที่จะทำสิ่งเหล่านี้ “ทางพระเยซูคริสต์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานการช่วยให้รอด (“พระบิดาผู้สถิตอยู่ในเรา ทรงทำพระราชกิจของพระองค์” ยอห์น 14:10)  แต่ในที่สุดแล้ว สิ่งทั้งปวงก็เริ่มมาจากพระยาห์เวห์พระเจ้า “พระเจ้าองค์เดียวผู้เป็นพระบิดาของทุกคน พระองค์ทรงมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง ทรงทำการผ่านสรรพสิ่งและทรงอยู่ในทุกคน” (เอเฟซัส 4:6) ซึ่งเป็นการยืนยันคำจริงที่หนักแน่นในพระคัมภีร์อีกครั้งว่า พระเจ้าพระบิดา (พระยาห์เวห์) เพียงผู้เดียวที่ทรงสร้างทุกสิ่ง (อิสยาห์ 44:24)[39]

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์เกี่ยวกับ dia กล่าวว่า พระเจ้าผู้เป็นต้นเหตุแห่งสิ่งทั้งหลาย

 

เราจะเห็นแนวความคิดทางศาสนาของพระคัมภีร์ได้ชัดเจนว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างหรือผู้เป็นต้น เหตุของสิ่งทั้งหลายได้จาก ยอห์น 11:4;  กิจการ 5:12; เอเฟซัส 3:10; 4:16; โคโลสี 2:19; 2  ทิโมธี 1:6; ฮีบรู 10:10; 2 เปโตร 3:6[40]

 

      เราอาจเพิ่มฮีบรู 3:4 (“แต่ผู้ที่สร้างสิ่งทั้งปวงคือพระเจ้า”) และเอเฟซัส 3:9 (“พระเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง”)[41] ในข้อเหล่านี้

 

 

“ทุกสิ่ง” (ta panta)

      การตรวจสอบของเราจนถึงตอนนี้ เราได้พบบางข้อที่พูดถึง “ทุกสิ่ง” (ta panta) ไม่ว่าจะเกี่ยว กับพระเจ้า (เช่น ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า) หรือจะเกี่ยวกับพระคริสต์ (เช่น ทุกสิ่งดำรงอยู่เพื่อพระคริสต์)  ต่อไปนี้เป็นบางตัวอย่างของ ta panta (ทั้งหมดมาจากฉบับ ESV ยกเว้นระบุไว้อย่างอื่น)

 

โคโลสี  1:16         เพราะในพระองค์ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น ทั้งสิ่งที่อยู่ในฟ้าสวรรค์และบนโลก ทั้งสิ่งที่มองเห็นได้และไม่อาจมอง​​เห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเทพผู้ครองบัลลังก์ หรือเทพผู้ทรงฤทธิ์ หรือเทพผู้ครอง หรือเทพผู้ทรงอำนาจ ทุกสิ่ง​​ได้ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์และเพื่อพระองค์  (ฉบับ NIV 2011)

รม 11:36          เพราะทุกสิ่งมาจากพระองค์ โดยทางพระองค์ และแด่พระองค์  ขอพระเกียรติจงมีแด่พระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน

1 โครินธ์ 8:6         แต่ว่าสำหรับเรานั้นมีพระเจ้าองค์เดียวคือพระบิดา ทุกสิ่งเกิดมาจากพระองค์และเราดำรงอยู่เพื่อพระองค์ และมี​​องค์พระผู้เป็นเจ้า​​องค์เดียวคือพระเยซูคริสต์ ทุกสิ่งเกิดมาโดยทางพระองค์และเรา​​ดำรงอยู่โดยทางพระองค์

1 โครินธ์ 11:12     และทุกสิ่งมาจากพระเจ้า (ek tou theou, “จากพระเจ้า”, ปรากฏ 5 ครั้งในจดหมายของเปาโล)

เอเฟซัส 3:9          เพื่อให้ทุกคน​​เข้าใจ​​แผนงานเกี่ยวกับความล้ำลึกที่ปิดบังไว้ในหลายยุคที่ผ่านมาในพระเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง

1 ทิโมธี 6:13         ข้าพเจ้ากำชับท่านต่อพระพักตร์พระเจ้า ผู้ประทานชีวิตแก่ทุก​​สิ่ง และต่อพระเยซูคริสต์

ฮีบรู 2:10           เพราะเป็นการเหมาะสมแล้วที่พระองค์ ผู้ซึ่งทุกสิ่งดำรงอยู่เพื่อพระองค์และโดยพระองค์ ที่จะ​​นำบุตรจำนวนมากไปสู่ศักดิ์ศรีนั้น จะทรงเป็นผู้เบิกทางความรอดของพวกเขาให้สมบูรณ์โดยทางความทุกข์ยาก

ฮีบรู 3:4              เพราะ​​บ้านทุกหลังจะต้องมีคนสร้าง แต่ผู้ที่สร้างทุกสิ่งก็คือพระเจ้า

 

      ในข้อเหล่านี้ พระผู้สร้างทุกสิ่งคือพระเจ้า แทนที่จะเป็นพระคริสต์  คำว่า ta panta (“ทุกสิ่ง”) มีปรากฏ 35 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ในจดหมายของเปาโลเป็นส่วนใหญ่ (30 ครั้ง)  คำว่า ta de panta (“แต่ทุกสิ่ง”) มีปรากฏ 4 ครั้ง  เปาโลใช้ในรูปของ pantōn (ทุกสิ่ง) บ่อยครั้ง (เช่น โคโลสี 1:17)[42]

 

 

“เพื่อพระคริสต์” และ “เข้าในพระคริสต์”

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์นิยาม eis (เข้าใน) ดังนี้ว่า “εἰς เป็นคำบุพบทที่ควบคุมกรรมการก และแสดงถึงการเข้าไปใน หรือทิศทางและวงจำกัด คือ เข้าไปใน ไปยัง ไปทาง เพื่อ ในท่ามกลาง”

      การผูกประโยคสองแบบด้วย eis+กรรมการก เกี่ยวข้องกับการพิจารณาของเรา  แบบแรกคือ eis Christon (เข้าในพระคริสต์ หรือเพื่อพระคริสต์) ที่มีปรากฏ 12 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจดหมายของเปาโล (10 ครั้ง) แบบนี้ใช้ในบริบทที่หลากหลาย แต่ความหมายของ eis ยังคงเหมือนเดิม โดยชี้ไปที่พระคริสต์เป็นเป้าหมาย จุดหมาย หรือจุดประสงค์  ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วน (อ้างอิงจากฉบับESV) ของ eis + กรรมการก ที่อ้างถึงพระเยซูคริสต์ว่าเป็นจุดหมายของความเชื่อ

      

                                                                                                                         

       กิจการ 24:24   ได้ยินเขากล่าวเรื่องความเชื่อในพระเยซูคริสต์

กาลาเทีย 2:16  แต่โดยทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์

ยอห์น 12:11    พวกยิวหลายคนก็แยกตัวไปและเชื่อในพระเยซู

 

      การผูกประโยคที่คล้ายกันคือ eis auton (เข้าในพระองค์) ซึ่งมีปรากฏ 38 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะกล่าวถึงพระเยซูว่าเป็นจุดหมายของบางสิ่ง เช่น เป็นจุดหมายของการดูถูกดูหมิ่นในช่วงความทรมานของพระองค์ (มัทธิว 27:30)[43] หรือผู้ที่ (หรือเข้าในผู้ที่) พระวิญญาณของพระยาห์เวห์เสด็จลงมา (มาระโก 1:10)[44]  มีการใช้ 16 ครั้งในงานเขียนของยอห์นเกี่ยวกับพระเยซูว่าเป็นจุดหมายของความเชื่อ  มีปรากฏ 8 ครั้งในจดหมายของเปาโล (4 ครั้งเกี่ยวกับพระคริสต์ และ 3 ครั้งเกี่ยวกับพระเจ้า) ซึ่งบางครั้งก็มีความหมายว่า “เพื่อพระคริสต์” เหมือนในโคโลสี 1:16 (“ทุกสิ่ง​​ถูกสร้างขึ้นโดยทางพระองค์และเพื่อพระองค์”)

      คำว่า “เพื่อพระองค์” ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าพระคริสต์ทรงเป็นเป้าหมายและเป็นเหตุผลที่    พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่ง  นี่คือการเปิดเผยที่สำคัญที่สุดในพระคัมภีร์ แต่เป็นเรื่องที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่สนใจ เพราะมันจะหมายความว่า “พระเจ้าพระบิดา” (บุคคลที่หนึ่ง) ได้ทรงสร้างจักรวาลเพื่อ “พระเจ้าพระบุตร” (บุคคลที่สอง) ซึ่งในกรณีนี้จะหมายความเพียงว่าพระเจ้าทรงสร้างบางสิ่งเพื่อพระเจ้า

      แต่ตามความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์นั้น พระเจ้าได้ทรงสร้างทุกสิ่งเพื่อมนุษย์ผู้หนึ่ง ซึ่งก็คือพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ที่แท้จริง แล้วก็เพื่อบรรดาผู้เชื่อในพระคริสต์  นี่เป็นการเปิดเผยที่น่าอัศจรรย์ถึงความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อมนุษย์  ดังนั้นพระคัมภีร์จึงเตือนผู้เชื่อทุกคนว่า “ให้หวังในพระเจ้า ผู้ประทานสิ่งสารพัดให้แก่เราอย่างบริบูรณ์ เพื่อให้เราชื่นชมยินดี” (1 ทิโมธี 6:17)  เปาโลไม่ได้มองชีวิตคริสเตียนว่าเป็นชีวิตที่จะเอาบางอย่างไปจากเราและเป็นความทุกข์ยากลำบากเสมอ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลมาถึงเราเนื่องจากการต่อต้านและการข่มเหง ดังที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ของคริสตจักร

      การทรงสร้างของพระเจ้าก็เพื่อพระคริสต์ โดยมีพระคริสต์เป็นเป้าหมาย เป็นจุดประสงค์ และเป็นจุดมุ่งหมายของการทรงสร้างใหม่  พระคริสต์ที่เป็นผลสรุปในการทรงสร้างของพระเจ้านั้น ทรงเป็นเบื้องต้นและเป็นเบื้องปลาย” (วิวรณ์ 1:17)[45] ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ใช้กับพระยาห์เวห์ด้วย (อิสยาห์ 41:4; 44:6; 48:12)[46]  สุดท้ายแล้วก็คือพระยาห์เวห์ผู้ทรงเป็นเบื้องต้นและเป็นเบื้องปลาย เป็นปฐมและอวสาน (วิวรณ์ 21:6)[47]  แต่พระคริสต์ผู้ทรงเป็น “พระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมอง เห็นได้” (โคโลสี 1:15) ก็ทรงเป็น “เบื้องต้นและเป็นเบื้องปลาย” ด้วย (วิวรณ์ 1:17; 2:8) และเป็น  “ผู้บุกเบิกความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์” (ฮีบรู 12:2)

 

 

โคโลสี 1:17 - พระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนทุกสิ่ง

      ตอนนี้เรากำลังดูที่โคโลสี 1:17 ซึ่งกล่าวถึงพระคริสต์ว่า “และพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนทุกสิ่ง และในพระองค์ทุกสิ่งประสานเข้าด้วยกัน”  บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้คำว่า “ก่อน” เป็นการอ้างอิงเวลา และใช้คำว่า “ทุกสิ่ง” เป็นการทรงสร้างในปฐมกาลหรือการสร้างทางกายภาพ ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นการถกเถียงเรื่องการดำรงอยู่ก่อนของพระคริสต์  แต่สิ่งที่เปาโลคำนึงถึงนั้นไม่ใช่การสร้างทางกายภาพหรือทางวัตถุ แต่เป็นการสร้างใหม่  ด้วยเหตุนี้เขาจึงพูดถึงเหล่าผู้มีอำนาจทางวิญญาณที่เห็นได้จาก “บรรดาเทพผู้ครองบัลลังก์ หรือเทพผู้ทรงเดชานุภาพ หรือเทพผู้ครอง หรือเทพผู้ทรง อำนาจ” (ข้อ 16) ทั้งที่มองเห็นได้และไม่สามารถมองเห็นได้

      คำว่า “ก่อน” (pro) ในภาษากรีกก็เหมือนในภาษาอังกฤษ ที่อาจหมายถึงลำดับความสำคัญเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้ง  ลำดับความสำคัญเกี่ยวกับเวลา  ลำดับความสำคัญเกี่ยวกับอันดับ (BDAG, pro)  คำว่า “ก่อนทุกสิ่ง” ในโคโลสี 1:17 แปลมาจาก pro pantōn   แม้ว่าพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จะจัดข้อนี้ไว้ในคำนิยามที่สองของ pro (“มาก่อนกว่า”, “ก่อน”) มันก็อาจแปลได้ว่า “อยู่เหนือทุกสิ่ง” (ตามอันดับ) ซึ่งจะอยู่ใต้หัวข้อที่สามของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG (“เครื่องบ่งชี้ให้เห็นความสำคัญหรืออันดับที่มาก่อน”)  อันที่จริง ภายใต้หัวข้อที่สามนี้ พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG อ้างถึงยากอบ 5:12 และ 1 เปโตร 4:8[48] ซึ่งทั้งสองข้อมี pro pantōn ปรากฏเหมือนกันเลยกับในโคโลสี 1:17[49]

      ถ้าหากเราให้ “พระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนทุกสิ่ง” หมายถึงลำดับความสำคัญเกี่ยวกับเวลา (ในมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) มันก็จะหมายถึงการดำรงอยู่ก่อน  แต่ถ้าหากเข้าใจในแง่ของอันดับและมีลำดับเหนือกว่า (“พระองค์ดำรงอยู่เหนือทุกสิ่ง”) มันก็จะหมายถึงการยกย่องพระคริสต์  ความหมายที่สอดคล้องกับบริบททั้งหมดของโคโลสี 1:17 คือความหมายอันหลัง ไม่ใช่อันแรก ซึ่งเป็นการได้รับพระเกียรติของพระองค์  ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่า pro pantōn นั้น เข้าใจกันว่าเป็นการพูดถึงความเหนือกว่าของพระคริสต์เหนือการทรงสร้างทั้งหมด  มีการยืนยันสิ่งนี้ในข้อถัดไปว่า “เพื่อ​​พระองค์จะทรงเป็นผู้สูงสุดในทุกสิ่ง” (ข้อ 18)[50]  ดังนั้นบริบทเพียงอย่างเดียวก็ตัดโอกาสการตีความอันหนึ่ง (ลำดับความสำคัญเกี่ยวกับเวลา) เพื่อสนับสนุนการตีความอีกอันหนึ่ง (การอยู่เหนือทุกสิ่ง)

      คำว่า “ก่อน” (pro) ในภาษากรีกจะไม่เหมือนในภาษาอังกฤษที่มักจะใช้เป็นการอ้างอิงเกี่ยวกับเวลา และเห็นได้ชัดว่าผู้แปลต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจเช่นนั้น  แต่เมื่อดูพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษก็จะเห็นว่าลำดับความสำคัญเกี่ยวกับเวลานั้นไม่ใช่ความหมายอันดับแรกของ pro ในภาษากรีก  คำนิยามแรกของ pro ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG คือ “เครื่องบ่งชี้ตำแหน่งข้างหน้ากรรมของกริยา ซึ่งก็คือ ก่อนหน้า ข้างหน้า ตรงที่”  มันเป็นตำแหน่ง ไม่ใช่เวลา ที่เข้ามาในความคิดของชาวกรีกเป็นสิ่งแรกเมื่อเห็นคำว่า pro  ลำดับความสำคัญเดียวกันนี้ก็ยังเห็นได้ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์ภายใต้คำว่า pro ซึ่งคำนิยามอย่างแรกจะเกี่ยวกับระยะห่าง ไม่ได้เกี่ยวกับเวลา

      นอกเหนือจากสองความหมายที่เป็นไปได้ของคำว่า pro ในโคโลสี 1:17 (pro ที่เป็นการอ้างอิงเกี่ยวกับเวลา กับ pro ที่เป็นอันดับและความเหนือกว่า) ก็ยังมีความหมายที่สามที่แสดงถึงแผนการของพระเจ้าซึ่งกำลังเปิดเผยในยุคปัจจุบันนี้ ได้อยู่ในความตั้งพระทัยของพระองค์ตั้งแต่ก่อนทรงสร้างโลก  แม้ก่อนที่พระเยซูจะทรงบังเกิดในโลก และยิ่งกว่านั้นอีกคือก่อนที่พระองค์จะทรงถูกยกขึ้นให้อยู่เบื้องพระหัตถ์ขวาของพระเจ้าและอยู่เหนือทุกสิ่งที่ทรงสร้างนั้น พระองค์ได้ทรงดำรงอยู่ในพระทัยของพระเจ้าแล้ว ดังที่กล่าวไว้ว่า “พระองค์ได้ทรงเลือกสรรพระคริสต์​​ไว้ตั้งแต่ก่อนทรงสร้างโลก แต่ทรงให้พระคริสต์​​ปรากฏ​​ในวาระสุดท้ายนี้เพื่อ​​ท่านทั้งหลาย” (1 เปโตร 1:20 ฉบับ NIV)[51]

      ในการทรงรู้ล่วงหน้าของพระยาห์เวห์นั้น พระองค์ได้ขยายการทรงเลือกไปถึงผู้เชื่อทั้งหลาย คือผู้ที่อยู่ในพระคริสต์ตั้งแต่ก่อนทรงสร้างโลกดังที่กล่าวว่า  ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเลือกเราไว้ในพระคริสต์ก่อนที่โลกนี้จะถูกสร้างขึ้น ให้บริสุทธิ์และปราศจากตำหนิในสายพระเนตรของพระองค์ด้วยความรัก” (เอเฟซัส 1:4 ฉบับนิวเยรูซาเล็ม)  พระคริสต์จะต้องถูกเลือกเป็นอันดับแรก ก่อนที่พระเจ้าจะทรงเลือกเรา “ในพระคริสต์”

      ความหมายที่สามของ pro นี้ไม่ขึ้นกับสองความหมายแรก หรืออาจรวมสองความหมายเพื่อแสดงถึงสิ่งที่อยู่ในพระทัยอันสูงส่งของพระเจ้า  ในขณะที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาอาจไม่ถูกคาดหมายว่าจะมีคำนิยามที่สามของ pro แต่พจนานุกรมพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกฉบับต่างๆก็มีเหตุผลที่จะถูกคาดหมายว่าจะให้คำนิยามตามพระคัมภีร์กับคำว่า pro ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า และในกรณีนี้เกี่ยวข้องกับการที่พระเจ้าทรงเลือกพระคริสต์ไว้ตั้งแต่ก่อนการทรงสร้างโลก

 

 

ในพระองค์ทุกสิ่งประสานเข้าด้วยกัน

      ในครึ่งหลังของโคโลสี 1:17 กล่าวว่า “ในพระองค์ทุกสิ่งประสานเข้าด้วยกัน(คราวนี้พระคัมภีร์ส่วนใหญ่ใช้ “ในพระองค์” มากกว่า “โดยพระองค์”)  คำว่า “ประสานเข้าด้วยกัน” นั้นแปลจากคำกรีกคำเดียวว่า  sunistēmi  ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการพักอยู่ด้วยกันหรือการรวมตัวกันอย่างใกล้ชิด  นี่ตอกย้ำในเอเฟซัส 1:10 ซึ่งกล่าวว่าพระเจ้าทรงมี “แผนงาน​​เมื่อเวลากำหนดครบบริบูรณ์แล้วที่จะทรงรวบรวมทุกสิ่งทั้งที่​​อยู่ในสวรรค์และในแผ่นดินโลกให้อยู่ในพระองค์ (พระคริสต์)”  คำว่า “สวรรค์” และ “แผ่นดินโลก” บ่งชี้ว่าพระเจ้าทรงคำนึงถึงขอบเขตของจักรวาลในงานการไถ่ของพระองค์ในพระคริสต์โดยแท้  การมองถึงทั้งจักรวาลในแบบเดียวกันถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสองข้อหลังจากโคโลสี 1:17

 

เพราะว่าพระเจ้าพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระองค์และโดยทางพระองค์ (พระคริสต์) เพื่อให้ทุกสิ่งคืนดีกับพระองค์ (พระเจ้า) ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่บนแผ่นดินโลกหรืออยู่บนสวรรค์  ทำให้เกิดสันติภาพโดยพระโลหิตของพระองค์บนกางเขน (โคโลสี 1:19-20 ฉบับ ESV)

      

 

      ความบาปคือความบาดหมาง ความไม่ลงรอย และความเป็นศัตรู ในขณะที่สันติภาพคือการขจัดความเป็นศัตรู และการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างความเป็นปรปักษ์ของสองฝ่าย เป็นการสร้างเอกลักษณ์ใหม่ที่ปรองดองและกลมเกลียวกันเป็นฝ่ายเดียว  การที่แม้กระทั่งว่าทุกสิ่งในสวรรค์ก็ยังคืนดี “โดยพระโลหิตของพระองค์บนกางเขน” (ข้อ 19) นั้นเป็นการเปิดเผยที่น่าประหลาดใจ  นั่นบอกเราว่าความบาปกับความบาดหมางกันได้แผ่ขยายไปถึงสวรรค์ (เปรียบเทียบกับ “สงครามในสวรรค์” วิวรณ์ 12:7)[52] และที่ความสำเร็จครั้งสำคัญบนกางเขนโดยพระโลหิตของพระเยซูกลายเป็นพลังอำนาจยิ่งใหญ่ฝ่ายวิญญาณในการคืนดีกับพระยาห์เวห์ แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นวิญญาณ นี่เป็นการเปิดเผยที่ผิดธรรมดา

 

 

โคโลสี 1:15 และ 1:18 บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง, บุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากตาย

     

 

      ในโคโลสี 1:15-19  คำว่า “บุตรหัวปี (prōto­tokos) ใช้กับพระเยซูสองครั้ง

 

1:15   พระบุตรทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้ เป็นบุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง

 

1:18   พระองค์ทรงเป็นศีรษะของกายคือคริสตจักร  ทรงเป็นจุดเริ่มต้น  เป็นบุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากตาย เพื่อ​​พระองค์จะทรงเป็นผู้สูงสุดในทุกสิ่ง (หรือ “เป็นเอก”)

 

 

      พจนานุกรมฉบับอเมริกันเฮริเทจ[53] นิยาม “บุตรหัวปี” ว่า “คุณศัพท์, ลำดับแรกของการเกิด; เกิดก่อน, คำนาม, เด็กในครอบครัวหนึ่งที่เกิดเป็นคนแรก”  คำว่า “บุตรหัวปี” (prōtotokos) ในพระคัมภีร์ฉบับเซปทัวร์จินต์และพระคัมภีร์ใหม่ มักจะหมายถึงคนที่เกิดเป็นคนแรกในครอบครัว

     

                                                                                                                            

ปฐมกาล 35:23 เหล่าบุตรชายที่เกิดจากเลอาห์ ได้แก่ รูเบนบุตรหัวปีของยาโคบ สิเมโอน เลวี ยูดาห์ อิสสาคาร์ และเศบูลุน (ฉบับNIV)

    

ลูกา 2:7 นางจึงคลอดบุตรชายหัวปี และเอาผ้าอ้อมห่อตัวเขาและวางเขาไว้ในรางหญ้า (ฉบับ ESV)

       prōtotokos คำเดียวกันนี้ก็ใช้กับพระคริสต์ในโรม  8:29

           

 

เพราะบรรดาผู้ที่พระองค์ (นั่นคือ, พระเจ้า) ได้ทรงรู้ล่วงหน้านั้น พระองค์ก็ทรงกำหนดไว้ก่อนให้เป็นเหมือนพระฉายาของพระบุตร​​พระองค์ เพื่อว่าพระบุตรจะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก (โรม 8:29 ฉบับESV)

 

      เกี่ยวกับข้อนี้ ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ใต้คำ prōtotokos กล่าวไว้ว่า

     

 

 

...เกี่ยวกับพระคริสต์ ที่ทรงเป็นบุตรหัวปีของมนุษยชาติใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับเกียรติ เป็นองค์เจ้านายที่น่ายกย่องได้รับเกียรติ prōtotokos en pollois adelphois (บุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก) ในโรม 8:29 นอกจากนี้ยังมี prōtotokos ในฮีบรู 1:6 (ทับศัพท์ภาษากรีก)

 

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ฉบับที่ตระหนักว่าพระคริสต์ทรงเป็น “บุตรหัวปีของมนุษยชาติใหม่”  ส่วนพจนานุกรมอื่นๆอีกหลายฉบับ (เช่น ฉบับเธเยอร์, prōtotokos 2b) ก็เพียงสันนิษฐานว่า “ที่ทรงสร้าง” ใน “บุตรหัวปีของ​​ทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” หมายถึงการสร้างทางกายภาพในปฐมกาล  ความเป็นไปได้ของการสร้างใหม่นั้นดูเหมือนจะไม่อยู่ในความคิดของพวกเขาแม้ว่าจะเห็นได้ในข้ออื่นๆที่มีคำว่า “บุตรหัวปี” ปรากฏอยู่ เช่น “เพื่อพระบุตรนั้นจะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก” (โรม 8:29)  คำว่า “พี่น้อง” ในพระคัมภีร์ใหม่ เป็นคำทั่วไปที่ใช้กับบรรดาผู้เชื่อและได้พูดถึงพวกเขาว่า พระเยซู “​​ไม่ทรงละอายที่จะเรียกพวกเขา ว่าพี่น้อง” (ฮีบรู 2:11)[54]  การที่ “พี่น้อง” เกี่ยวข้องกับการสร้างใหม่ ไม่ใช่การสร้างในปฐมกาลนั้นเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนในโลกนี้จะเป็นพี่น้องของพระเยซู แต่กับเฉพาะผู้ที่บังเกิดใหม่หรือเกิดจากเบื้องบนเท่านั้น  สิ่งนี้เผยให้เห็นภาพที่สวยงามในฮีบรู 12:23 ว่า “มาสู่ที่ชุมนุมของบรรดาบุตรหัวปีผู้มีชื่อจารึกไว้ในสวรรค์แล้ว[55]

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพปฏิเสธว่า พระเยซูทรงเป็นบุตรหัวปีในแง่ว่าเป็นคนแรกที่เกิดในหมู่พี่น้องหลายคนที่เกิดมาเช่นเดียวกัน (โรม 8:29) และพวกเขาจึงทำอย่างนี้โดยแยกเกียรติที่มอบให้บุตรหัวปีกับข้อเท็จจริงที่เกิดเป็นคนแรกออกจากกัน  หรือจะพูดว่า พระเยซูทรงได้รับเกียรติที่มอบให้กับบุตรหัวปี แต่ถูกปฏิเสธว่าพระองค์ทรงเป็นคนแรกในลำดับของพี่น้องจำนวนมากที่เกิดมา  นี่คือสิ่งที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทำ เมื่อพวกเขาต้องการปฏิเสธว่าพระเยซูทรงเป็นส่วนหนึ่งในการทรงสร้างของพระเจ้าในฐานะบุตรหัวปีของการทรงสร้างนั้น แต่ยืนยันว่าพระเยซูทรงเป็นบุตรหัวปีเฉพาะในแง่ของเกียรติที่ประทานให้กับพระองค์  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความเชื่อในตรีเอกานุภาพยึดมั่นว่าพระเยซูไม่ได้เป็นส่วนของการทรงสร้าง แต่ทรงดำรงอยู่ก่อนแล้ว

      ถ้าเฉพาะในแง่ของ “บุตรหัวปี” ที่เปาโลต้องการใช้กับพระคริสต์ว่าเป็นเกียรติสูงสุด แล้วทำไมเขาจึงไม่ใช้คำว่า “เกียรติ” เสียเลย หรือใช้คำพ้องความหมายคำใดคำหนึ่งที่จะเป็นปัญหาน้อยกว่ากับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพล่ะ?  แต่ทันทีที่เปาโลใช้คำว่า “บุตรหัวปี” มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจหมายถึงว่าพระคริสต์ทรงเป็นคนแรกในลำดับของบรรดาผู้ที่เกิดมาหรือถูกสร้างขึ้นมา  ความจริงที่ว่าพระเยซูทรงเป็น “บุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก” (โรม 8:29) ทำให้เกิดการเชื่อมโยงที่ไม่พึงประสงค์ (นั่นคือ ไม่พึงประสงค์กับบรรดาผู้ที่เชื่อในตรีเอกานุภาพ) ระหว่างการบังเกิดของพระเยซูกับการเกิดของบรรดาพี่น้องของพระองค์

      การขาดเหตุผลที่ดีที่จะเปลี่ยน “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” ให้เป็น “บุตรหัวปีก่อนทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ของพระคัมภีร์ที่จะใส่คำว่า “ก่อน” (หรือ “ก่อนหน้า”, ฉบับ   เธเยอร์ เรื่องเดียวกัน, หน้า 555, prōtotokos) ลงในตัวบท  การบิดเบือนที่น่าตกใจในโคโลสี 1:15  จะเห็นได้ในพจนานุกรมอธิบายคำในพระคัมภีร์ใหม่ของไวน์[56] (“บังเกิดก่อน, บุตรหัวปี”) “อนุประโยคนี้ให้ทั้งความหมายว่า พระองค์ทรงเป็น ‘บุตรหัวปี’ ก่อนทุกสิ่งที่ทรงสร้าง และพระองค์เองได้ทรงทำการสร้างขึ้น”

      ความจริงคงมีอยู่ว่าในโคโลสี 1:15 นี้เปาโลไม่ได้พูดว่า “บุตรหัวปีก่อนทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” แต่พูดเพียงว่า “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง”  การอ่านตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า “บุตรหัวปีก่อนทุกสิ่งที่สร้าง” มีผลร้ายแรงในการแยกคำว่า “บุตรหัวปี” ออกจาก “ทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” ซึ่งแต่เดิมเชื่อมด้วยสัมพันธการก “ของ” (“บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง”)[57]  แม้แต่สัมพันธการกเพียงบางส่วน[58] ก็ไม่ได้ให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปลี่ยน “ของ” ให้เป็น “ก่อน”  ถ้าเปาโลตั้งใจจะพูดว่า “ก่อนการทรงสร้าง” เขาก็คงได้ทำอย่างนั้นในภาษากรีกได้โดยไม่ต้องให้ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพช่วย!  แต่วิธีบิดเบือนพระคัมภีร์แบบนี้ก็ปฏิบัติกันเป็นเรื่องธรรมดาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  ในกรณีนี้ จุดมุ่งหมายก็คือการหลีกเลี่ยงข้อสรุปว่าพระคริสต์เป็นส่วนหนึ่งของ “ทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” นั่นก็คือการปฏิเสธว่าพระยาห์เวห์ได้ทรงสร้างพระองค์

      เมื่อวันหนึ่งบรรดาผู้เชื่อดำเนินตามพระคริสต์ผู้ทรงเป็นบุตรหัวปี (โรม 8:29) ได้อย่างสมบูรณ์ แล้วพวกเขาจะไม่มีพระฉายาของพระคริสต์ในแบบที่พระคริสต์ทรงเป็น “พระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้” (โคโลสี 1:15) ด้วยหรือ?  ดังนั้นทุกคนใน “ที่ชุมนุมของบุตรหัวปี” (ฮีบรู 12:23) จะมีพระฉายาของบุตรหัวปี (1 โครินธ์ 15:49)

      นั่นคือเหตุผลที่เปาโลกล่าวว่า “เพราะสำหรับข้าพเจ้า การมีชีวิตอยู่ก็คือ[59]พระคริสต์” (ฟีลิปปี 1:21) และ “ข้าพเจ้าเองไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป แต่พระคริสต์ต่างหากที่ทรงมีชีวิตอยู่ในข้าพเจ้า” (กาลาเทีย 2:20)  แม้ว่าเปาโลจะไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แต่เขาก็ยังสามารถบอกชาวกาลาเทียว่าพวกเขาได้ต้อนรับเขาราวกับว่าเขาเป็นพระคริสต์เอง (กาลาเทีย 4:14)[60]  ถ้าขนาดเปาโลซึ่งอยู่ในขั้นที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้ยังมีพระฉายาของพระคริสต์และสำแดงถึงกลิ่นหอมของพระองค์ (2 โครินธ์  2:14,16) ละก็ แล้วจะยิ่งมากกว่านั้นสักแค่ไหนในยุคที่จะมาถึง (เอเฟซัส 1:21;  ฮีบรู 6:5)!  สุดท้ายแล้วผู้เชื่อทุกคนจะมีพระฉายาของพระยาห์เวห์ทางพระคริสต์ และฉายพระสิริของพระเจ้าในโลกนี้

      พระเยซูทรง “เป็นต้นกำเนิดของสิ่งสารพัดที่พระเจ้าทรงสร้าง” (วิวรณ์ 3:14) ซึ่งเป็นคำกล่าวที่สอดคล้องกับโคโลสี 1:18 ว่า “ทรงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นบุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากตาย เพื่อ​​พระองค์จะทรงเป็นผู้สูงสุดในทุกสิ่ง”  พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์ (archē, 2) นิยาม “จุดเริ่ม ต้น” ในโคโลสี 1:18 ว่า “บุคคลหรือสิ่งที่เริ่มต้น คนแรกหรือสิ่งแรกในลำดับ, ผู้นำ”

      สามคำสำคัญที่เราหยิบยกมานี้ (archē จุดเริ่มต้น aparchē  ผลแรก, prōtotokos บุตรหัวปี) ชี้ไปที่พระเยซูคริสต์ว่าเป็น “มนุษย์คนที่สอง” และเป็น “อดัมคนสุดท้าย” (1 โครินธ์ 15:47, 45)[61] และทรงเป็นศีรษะของสิ่งที่สร้างใหม่ของพระเจ้า (โคโลสี 1:18)  พระเยซูทรงเป็นมนุษย์คนสุดท้ายและมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและสูงสุดในแผนการนิรันดร์ของพระยาห์เวห์เพื่อมวลมนุษย์  โคโลสี 1:18 รวมคำประกาศไว้ในคำกล่าวเดียวที่พระเยซูทรงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นบุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากตาย และเป็นศีรษะของสิ่งที่สร้างใหม่ที่ว่า “และทรงเป็นศีรษะของกายคือคริสตจักร ทรงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นบุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากตาย เพื่อ​​พระองค์จะทรงเป็นผู้สูงสุดในทุกสิ่ง”  ไม่มีอะไรตรงนี้ที่จะนำมาใช้สนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้  อันที่จริงสารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับ ISBE อธิบายถึงพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็น “บุตรหัวปี” โดยไม่ได้อ้างถึงแนวความคิดใดๆของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

 

ในพระคัมภีร์สามตอนนี้ (โรม 8:29; โคโลสี 1:15; ฮีบรู 1:6) พระเยซูคริสต์ทรงเป็นบุตรหัวปีท่าม กลางพี่น้องจำนวนมาก (โรม 8:29) ทรงเป็นบุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (โคโลสี 1:16)  การใช้คำนี้กับพระเยซูคริสต์อาจย้อนไปถึงสดุดี 89:27[62] ที่ผู้ปกครองจากเชื้อสายของดาวิด หรืออาจเป็นประชาชาติที่ถูกพูดถึงว่าเป็นบุตรหัวปีของพระยาห์เวห์ (สารานุกรมพระคัมภีร์ ISBE, บุตรหัวปี)

 

      การที่พระคัมภีร์ใหม่พูดถึงพระเยซูว่าเป็นบุตรหัวปี เป็นบุตรคนโตในครอบครัวนั้น เป็นปัญหากับผมเมื่อผมเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะไม่มีใครจะเป็นพี่คนโตได้หากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แต่ความจริงที่ชัดเจนก็คือว่า โรม 8:29 กล่าวถึงพระเยซูว่าเป็น “บุตรหัวปีท่ามกลางพวกพี่น้องจำนวนมาก”

      พระเยซูยังทรงเป็น “บุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากตาย” (คโลสี 1:18) ด้วย ทรงเป็นคนแรกที่พระเจ้าทรงทำให้เป็นขึ้นมาจากความตาย  “ทรงให้พระคริสต์​​เป็นขึ้น​​จาก​​ตายจริงๆ เป็นผลแรกของบรรดาผู้ที่ล่วงลับไป (1 โครินธ์ 15:20 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย เปรียบเทียบข้อ 23, “พระคริสต์, ผลแรก”) เมื่อพระคริสต์ได้ทรงสิ้นพระชนม์จริงๆ พระองค์ก็จะสามารถเป็น “ผลแรก” หรือเป็น บุตรหัวปีที่​​เป็นขึ้นจากตาย” ได้ (อีกทั้งวิวรณ์ 1:5)[63]

      เมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นเราพบว่าโคโลสี 1:15 มีปัญหาที่ว่า “พระบุตรทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้ เป็นบุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง”  พระเยซูจะทรงเป็นบุตรหัวปีของสิ่งทั้งปวงได้อย่างไร ถ้าพระองค์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทรงสร้าง?  ในความคิดแบบตรีเอกานุภาพของเรานั้น พระเยซูจะเป็นส่วนหนึ่งของการทรงสร้างไม่ได้  เราต่างยืนกรานกันว่าพระเยซูที่เป็นพระเจ้านั้น ไม่ได้ทรงเป็นส่วนหนึ่งของ “ทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” แต่พระองค์ไม่ได้ทรงถูกสร้างและทรงดำรงอยู่ก่อนทุกสิ่งที่ถูกสร้าง

      ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนหนึ่งกล่าวอย่างค่อนข้างน่าประหลาดใจว่า “บริบท (ของโคโลสี 1:15) ไม่ยอมรับความคิดที่ว่า พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้น” (ที รีส์, ISBE, “บังเกิดก่อน”)  ผู้เขียนกำลังกล่าวว่า คำกล่าวของเปาโลเกี่ยวกับ “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” ในข้อ 15 ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับบริบท เหมือนกับว่าเปาโลกำลังขัดแย้งกับตัวเอง!

      โคโลสี 1:15 กล่าวอย่างชัดเจนที่สุดว่า พระคริสต์ทรงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้น พระคริสต์ทรงเป็นบุตรหัวปีและเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องสูงสุดเหนือทุกสิ่ง (เปรียบเทียบสดุดี 89:27เราจะให้เขาเป็นบุตรหัวปี สูงที่สุดในบรรดาพระราชาแห่งแผ่นดินโลก” และวิวรณ์ 1:5)  ไม่ว่าจะกรณีใด พระเยซูจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าพระองค์ทรงเป็น “บุตรหัวปี” ของมารีย์ (ลูกา 2:7)[64]?  พระองค์ทรงบังเกิดเข้ามาในโลกเหมือนกับมนุษย์ทุกคน และการที่ได้ทรงบังเกิดเข้ามาในโลก พระองค์ก็ทรงเป็นส่วนหนึ่งของ “ทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” เหมือนกับมนุษย์ทุกคน

 

 

การเป็นเหมือนพระฉายาของพระเยซูผู้เป็นบุตรหัวปี

      เราสังเกตสามอย่างเกี่ยวกับ “บุตรหัวปี” ที่ใช้กับพระเยซู  อย่างแรก “บุตรหัวปี” เกี่ยวข้องกับบุตรชาย  อย่างที่สองบอกเป็นนัยว่ามีคนอื่นๆอีกที่เกิดหลังจากพระองค์โดยมีพระเยซูทรงเป็น “บุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก” (โรม 8:29)  และอย่างที่สาม พระเยซูทรงเป็นคนหัวปีของพี่น้องจำนวนมากไม่ใช่แค่ในลำดับ แต่โดยที่พระองค์ยังทรงเป็นพระฉายาซึ่งผู้ที่มาภายหลังพระองค์จะมีด้วย โรม 8:29 ข้อเดียวกันกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้จะ “เป็นตามพระฉายาแห่งพระบุตรของพระองค์”[65]

      ในการทรงสร้างใหม่นี้ พระเยซูทรงเป็นบุตรหัวปีผู้ที่พระบิดาประทานเกียรติสูงสุดให้  แผนการของพระเจ้ารวมถึงการทำให้เกิด “บรรดาบุตรของพระเจ้า” โดยการบังเกิดใหม่  เราสามารถบอกได้ว่าการสร้างใหม่นี้ “เป็นจริง” ในบรรดาบุตรของพระเจ้าโดยทางพระคริสต์และในพระคริสต์  ชุมชนใหม่ของบรรดาบุตรของพระเจ้าคือสิ่งที่เปาโลเรียกว่า “พระกายของพระคริสต์” นั่นก็คือคริสตจักร (ekklēsia, คนเหล่านั้นที่พระเจ้าทรงเรียกออกมา)  สิ่งที่หมายถึงในคำว่า “คริสตจักร” ไม่ควรนำไป ใช้อย่างไม่เลือกกับคริสตจักรบางแห่งตามที่มีอยู่ในโลกทุกวันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะนมัสการพระเยซูที่ต่างกัน

      แผนการนิรันดร์ของพระเจ้าสำหรับพระคริสต์ ไม่เพียงแต่หมายรวมบรรดาบุตรของพระเจ้า (มัทธิว 25:34, เอเฟซัส 1:4, วิวรณ์ 13:8) และบรรดาผู้เชื่อที่แท้จริงเท่านั้น แต่ยังทั้งจักรวาลด้วย  นี่เป็นแง่มุมของพระคริสต์ที่เกี่ยวกับจักรวาลในแผนนิรันดร์ของพระเจ้า ซึ่งได้กล่าวถึงสั้นๆเท่านั้นในพระคัมภีร์ใหม่

 

 

 

โคโลสี 1:19  ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าอยู่ในพระเยซู

      โคโลสี 1:19 กล่าวถึงพระเยซูว่า “เพราะว่าพระเจ้าพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระองค์ ข้อนี้เสริมโดยอีกข้อหนึ่งในโคโลสีซึ่งกล่าวถึงการสถิตของพระเจ้าทางกายภาพในพระคริสต์ว่า “เพราะในพระคริสต์ พระลักษณะทั้งสิ้นของพระเจ้า[66]ดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์​​ในพระกายของพระองค์” (โคโลสี 2:9  ฉบับ NIV)

      คำว่า theotēs ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG อ้างถึงข้อหลังโดยกล่าวว่า “the deity” คือ “สภาวะของการเป็นพระเจ้า มีพระลักษณะหรือสภาวะของความเป็นพระเจ้า พระเจ้า ความเป็นพระเจ้า[67] ใช้เป็นคำนามที่เป็นนามธรรมสำหรับ theos (God)”[68]  ดังนั้น “ความบริบูรณ์ทั้งสิ้น” ของพระเจ้าจึงหมายความว่าทุกแง่มุมขององค์พระยาห์เวห์ (เปรียบเทียบ “คำนามที่เป็นนามธรรม”, BDAG) และไม่ใช่แค่บางแง่มุมของการดำรงอยู่ของพระองค์ (เช่นพระวิญญาณของพระองค์  ฤทธานุภาพของพระองค์  พระปัญญาของพระองค์  พระวจนะของพระองค์ ฯลฯ) แต่การดำรงอยู่ทั้งหมดหรือตัวตนของพระองค์อยู่ในพระกายของพระเยซู[69]  ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของความเป็นพระเจ้า ดำรงอยู่ในพระกายของพระคริสต์

      มันจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่คนของพระเจ้าโดยรวมก็เต็มด้วยความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า “เพื่อ​​ท่านจะได้รับความบริบูรณ์ของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม” (เอเฟซัส 3:19)  คำว่า “ท่าน” เป็นพหูพจน์ (เพราะคำว่า “เต็มเปี่ยม” ในภาษากรีกเป็นพหูพจน์) แสดงถึงลักษณะการรวมกันของคนของพระเจ้า ผู้ซึ่งเป็นวิหารของพระเจ้าและเป็นที่สถิตของพระเจ้า ที่เต็มไปด้วยความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระองค์

 

ในพระองค์นั้นทุกส่วนของโครงสร้างถูกเชื่อมต่อกันและเจริญขึ้นเป็นวิหารอันบริสุทธิ์ในองค์ผู้เป็นเจ้า  ซึ่งในพระองค์นั้น พวกท่านก็ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยกัน​​เป็นที่ประทับของพระเจ้าในพระวิญญาณ (เอเฟซัส 2:21-22, ฉบับ NET)

 

      การที่พระยาห์เวห์ พระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียวไม่เข้ากับตรีเอกานุภาพ ดังนั้นเอง คำกล่าวของเปาโลในโคโลสี 1:19 และ 2:9 เกี่ยวกับความบริบูรณ์ของพระเจ้าที่ดำรงอยู่ในพระคริสต์ จึงไม่มีความหมายในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  เพราะถ้าพระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าละก็ ทั้งสองคำกล่าวนี้ (“เพราะว่าพระเจ้าพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าอยู่ในพระองค์” และ “เพราะในพระคริสต์ พระลักษณะทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์​​ในพระกายของพระองค์”) ก็จะหมายความว่า “พระเจ้าพระบุตร” ที่เต็มเปี่ยมด้วยทั้งสามพระองค์ คือ พระเจ้าพระบิดา พระเจ้าพระบุตร และพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์ (เพราะถ้าขาดพระองค์ใดไป ก็จะไม่ใช่ความบริบูรณ์ของพระเจ้า)

      เรากำลังบอกว่า พระเจ้าทรงเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเจ้าหรือ?  ว่าพระเจ้าพระบุตรทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระองค์เองหรือ?  หรือว่าสภาวะที่เป็นมนุษย์ของพระเยซูผู้เป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์นั้นเต็มเปี่ยมด้วยพระเจ้าอย่างนั้นหรือ?  ข้อเสนออย่างหลังฟังไม่ขึ้นเพราะสภาวะที่เป็นมนุษย์เป็นเพียงลักษณะของมนุษย์เท่านั้น ไม่ได้แสดงให้เห็นทั้งหมดของมนุษย์  มีความสมเหตุสมผลอะไรไหมที่จะพูดว่า “ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า” เต็มเปี่ยมอยู่ในสภาวะที่เป็นมนุษย์ของพระเยซู?  

      แต่ถ้าเปาโลกำลังบอกว่า พระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์ ผู้ซึ่งความบริบูรณ์ของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระองค์แล้วละก็ โคโลสี 1:19 ก็จะมีความสมเหตุสมผล

      แต่ถ้าเปาโลกำลังพูดถึง “พระเจ้าพระบุตร” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ โคโลสี 1:19 ก็คงเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะจะเป็นการบอกว่า ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า (ของตรีเอกานุภาพ) ดำรงอยู่​​ในพระกายของ “พระเจ้าพระบุตร” นั่นก็คือ ความบริบูรณ์ของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระเจ้า!  นั่นเป็นคำซ้ำที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะถ้าความบริบูรณ์ของพระเจ้าไม่ได้ดำรงอยู่ในพระเจ้า พระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าตั้งแต่แรกได้อย่างไร?  คำกล่าวของเปาโลจะสมเหตุสมผลก็เมื่อ มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระเจ้าที่ความบริบูรณ์ของพระเจ้าดำรงอยู่ในคนนั้น  ความงดงามของโคโลสี 1:19 และ 2:9 อยู่ในความจริงที่ว่า ความบริบูรณ์ของพระองค์ดำรงอยู่ในมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์  นี่เป็นสิ่งพิเศษในประวัติศาสตร์ของการทรงสร้าง

      มีกาลกริยาแอริสต์[70]สองแห่งในโคโลสี 1:19 คือ eudokēsen และ katoikēsai (ใน “พอพระทัยที่จะดำรงอยู่”) กล่าวถึง ณ จุดๆหนึ่งของเวลา  ถ้าเรายอมรับมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ แล้ว ณ จุดไหนของเวลาที่พระเจ้าพระบุตรที่เต็มเปี่ยมด้วยความบริบูรณ์ของพระเจ้า และพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าก่อนที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไหม?  บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่มีคำตอบที่น่าพอใจให้กับคำถามนี้ เพราะในมุมมองของพวกเขาแล้ว พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าตลอดมาตั้งแต่นิรันดร์ กาลและเพราะฉะนั้นจึงทรงมีความบริบูรณ์ของพระเจ้าอยู่เสมอมา

      แต่ถ้าโคโลสี 1:19 ใช้กับพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ตามในพระคัมภีร์ มันก็จะสมเหตุสมผลที่จะกล่าวว่า ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง พระองค์ได้ทรงเต็มเปี่ยมด้วยความบริบูรณ์ของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามคำขึ้นต้นของยอห์น โดยเฉพาะยอห์น 1:14

      เนื่องจากพระเยซูทรงเต็มเปี่ยมด้วยความบริบูรณ์ของพระเจ้า ตอนนี้เราจึงเข้าใจยอห์น 1:16 ได้ดียิ่งขึ้นที่ “เราได้รับพระคุณซ้อนพระคุณจากความบริบูรณ์ของพระองค์” นั่นก็คือ จากความบริบูรณ์ของพระยาห์เวห์ในพระคริสต์ที่เราทุกคนได้รับความไพบูลย์ของพระคุณที่ช่วยให้รอด โดยการที่เรา “เกิดจากเบื้องบน” (ยอห์น 3:3,7)[71]  คริสตจักรที่เป็นพระกายของพระคริสต์ก็เต็มเปี่ยมด้วยความบริบูรณ์ของพระเจ้า  จะเห็นได้ว่าในทุกตัวอย่างนั้น ผู้ที่ความบริบูรณ์ของพระเจ้าแสดงให้เห็นก็คือมนุษย์เสมอ (“เพื่อพวกท่านจะได้รับความบริบูรณ์ของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม” เอเฟซัส 3:19)[72]


[1] the first­born of all creation ตามไวยากรณ์กรีกเป็น “สัมพันธการก” ที่บอกความเป็นเจ้าของ (ผู้แปล)

[2] For by him all things were created”

[3]  “For in him all things were created”

[4] the “firstborn of all creation” พระคัมภีร์ภาษาไทยทุกฉบับแปลว่า “บุตรหัวปีเหนือสรรพสิ่ง” (ผู้แปล)

[5] Oxford Dictionary of English  (the massive 2010 3rd edition)

[6] สำหรับเค้าโครงทั่วไปในการพัฒนาของคำ “en” โปรดดูหัวข้อ “รากศัพท์จากภาษาอินโด-ยูโรเปียน” ในพจนานุกรมฉบับอเมริกันเฮอริเทจ (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับสมบูรณ์ ไม่ใช่ฉบับสำหรับวิทยาลัย)

[7] deception หมายถึง “การหลอกลวง”, disappointment” หมายถึง “ความผิดหวัง” (ผู้แปล)

[8] Vincent’s Word Studies

[9] Robertson’s Word Pictures 

[10] Nicoll’s Expositor’s Greek Testament

[11] Cambridge Bible for Schools and Colleges (a commentary)

[12] Pulpit Commentary

[13] Lange’s Commentary on the Holy Scriptures

[14] Meyer’s Critical and Exegetical Commentary

[15] Henry Alford’s Greek Testament

[16] BDAG: ἐν αὐτῷ ἐκτίσθη τὰ πάντα (ที่อาจเข้าใจว่าเป็นตำแหน่งที่ตั้ง ไม่ใช่โดยวิธี เนื่องจาก ἐν αὐ จะเหมือนกับ διʼ αὐ ในข้อเดียวกัน) ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นโดยเชื่อมโยงกับพระองค์ [โคโลสี] 1:16 (cp. M. Ant. 4, 23 ἐν σοὶ πάντα; Herm. Wr. 5, 10; AFeuillet, NTS  12, 65, 19)

[17] Daniel Wallace’s Greek Gram­mar Beyond the Basics

[18] Meyer’s Critical and Exegetical Commentary in a comment on Col.1:16

[19] 2 โครินธ์ 5:19 “คือพระเจ้าได้ทรงให้โลกคืนดีกับพระองค์ในพระคริสต์  ไม่ทรงถือโทษบาปของมนุษย์ และพระองค์ทรงมอบหมายเรื่องราวแห่งการคืนดีนี้ไว้กับเรา” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[20] “through whom”

[21] “through whom also he created the world”; “because of whom he also created the world”

[22] genitive หมายถึงการกทำหน้าที่แสดงความเป็นเจ้าของ (ผู้แปล)

[23] accusative หมายถึงการกที่ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค

[24] Thayer’s Greek-English lexicon (also Greenlee, Concise Exegetical Grammar of New Testament Greek, p.31)

[25] หรือแปลว่า “ได้ทรงสร้างโลกโดยทางพระบุตร” และ “พระองค์ได้ทรงสร้างโลกเพราะพระบุตร” (ผู้แปล)

[26] ทัลมุดฉบับซันไซโน รวบรวมโดยรับบี ดร. อิซิดอร์ เอปสไตน์, สำนักพิมพ์ซันไซโน, ลอนดอน, โฟลิโอ 98a (98b ฉบับแปลภาษา   อังกฤษในบางฉบับของซันไซโน)

[27] ยอห์น 20:17 พระเยซูตรัสกับนางว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้ เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปหาพระบิดาของเรา แต่จงไปหาพวกพี่น้องของเรา และบอกเขาว่าเรากำลังจะขึ้นไปหาพระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน ไปหาพระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน”

[28] ฮีบรู 2:11 “เพราะทั้งผู้ชำระให้บริสุทธิ์และคนเหล่านั้นที่ได้รับการชำระ ก็มีพระบิดาองค์เดียวกัน ด้วยเหตุนี้ พระเยซูจึงไม่ทรงละอายที่จะเรียกเขาเหล่านั้นว่าพี่น้อง”

[29] คโลสี 1:15-16 15พระบุตรทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้  เป็นบุตรหัวปีเหนือสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง 16เพราะโดยพระองค์ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[30] รม 11:34 “เพราะว่า ใครเล่ารู้พระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า? หรือใครเป็นที่ปรึกษาของพระองค์?” ซึ่งอ้างอิงจากอิสยาห์ 40:13 ว่า  “ใครให้คำแนะนำแก่พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ หรือเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ผู้ให้คำสอนแก่พระองค์?” (ผู้แปล)

[31] mess­ianic Jewish translation

[32] Lars Hartman

[33] Into the Name of the Lord Jesus: Baptism in the Early Church, p.80

[34] โรม 14:14 “ในฐานะที่ข้าพเจ้าอยู่ในพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าก็เชื่อแน่ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นมลทินในตัวเองเลย”

[35] ฟีลิปปี 3:14 “และข้าพเจ้าบากบั่นมุ่งไปสู่หลักชัย เพื่อจะได้รับรางวัลซึ่งพระเจ้าในพระเยซูคริสต์ ได้ทรงเรียกจากเบื้องบนให้เราไปรับ” (ฉบับ ESV)

[36] คโลสี 3:3 “เพราะว่าท่านตายแล้ว และชีวิตของพวกท่านซ่อนไว้กับพระคริสต์ในพระเจ้า

[37] 2 ทิโมธี 4:1 “ข้าพเจ้ากำชับท่านต่อพระพักตร์ของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์ ผู้จะทรงพิพากษาคนเป็นและคนตาย  โดยอ้างถึงการที่พระองค์จะเสด็จมาปรากฏและแผ่นดินของพระเจ้าว่า” (ฉบับ ESV)

[38] กาลาเทีย 1:1 เปาโล ผู้เป็นอัครทูต (ไม่ได้ถูกส่งโดยทางตัวแทนของมนุษย์ แต่โดยทางพระเยซูคริสต์และพระเจ้าพระบิดา ผู้ทรงให้พระองค์เป็นขึ้นจาก​​ตาย) จากฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ด (NASB)

[39] อิสยาห์ 44:24 “เราคือยาห์เวห์ ผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ผู้ขึงฟ้าสวรรค์แต่ลำพัง ผู้กางแผ่นดินโลกด้วยตัวเอง

[40] โคโลสี 2:19 และไม่ได้ยึดมั่นในพระคริสต์ผู้ทรงเป็นศีรษะ ซึ่งเป็นเหตุให้ทั่วทั้งร่างกายได้รับการบำรุงเลี้ยงและประสานเข้าด้วยกัน

[41] เอเฟซัส 3:9 ทรงให้ทุกคนเห็นว่าอะไรคือแผนงานของความล้ำลึกที่พระเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสิ่งทรงปิดบังไว้ตลอดหลายยุคที่ผ่านมา”

[42] โคโลสี 1:17 “ทรงดำรงอยู่ก่อนทุกสิ่ง และในพระองค์ทุกสิ่งประสานเข้าด้วยกัน” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[43] มัทธิว 27:30 “แล้วก็ถ่มน้ำลายรด และเอาไม้อ้อนั้นตีพระเศียรพระองค์”

[44] มาระโก 1:10 “ทันทีที่พระองค์เสด็จขึ้นมาจากน้ำ ก็ทอดพระเนตรเห็นท้องฟ้าแหวกออก และพระวิญญาณดุจนกพิราบเสด็จลงมาประทับบนพระองค์”

[45] วิวรณ์ 1:17  พระองค์วางพระหัตถ์ขวาบนตัวข้าพเจ้า แล้วตรัสว่า “อย่ากลัวเลย เราเป็นเบื้องต้นและเป็นเบื้องปลาย

[46] อิสยาห์ 48:12 “จงฟังเรา โอ ยาโคบ อิสราเอล ผู้ซึ่งเราเรียก เราคือผู้นั้น เราเป็นเบื้องต้น และเราเป็นเบื้องปลาย”

[47] วิวรณ์ 21:6  แล้วพระองค์ (ผู้ประทับบนพระที่นั่ง) ตรัสกับข้าพเจ้าว่า “สำเร็จแล้ว เราเป็นอัลฟาและโอเมกา เป็นปฐมและอวสาน”

[48] 1 เปโตร 4:8 เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ จงรักกันและกันให้มาก เพราะความรักให้อภัยบาปมากมายได้

[49] โคโลสี 1:17 “ทรงดำรงอยู่ก่อนทุกสิ่ง และในพระองค์ทุกสิ่งประสานเข้าด้วยกัน” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[50] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “เพื่อพระองค์จะทรงเป็นเอกในทุกสิ่ง” (ผู้แปล)

[51] ฉบับไทยคิงเจมส์แปล 1 เปโตร 1:20 ว่า “แท้จริงพระเจ้าได้ทรงดำริพระคริสต์นั้นไว้ก่อนทรงสร้างโลก แต่ทรงให้พระคริสต์ปรากฏพระองค์ในวาระสุดท้ายนี้เพื่อท่านทั้งหลาย” ผู้แปล

[52] วิวรณ์ 12:7 “ขณะนั้นเกิดสงครามขึ้นในสวรรค์ มีคาเอล กับบรรดาทูตสวรรค์ของท่านต่อสู้กับพญานาค และพญานาคกับบริวารของมันก็ต่อสู้”

[53] American Heritage Dictionary

[54] ฮีบรู 2:11 เพราะทั้งผู้ชำระให้บริสุทธิ์และคนเหล่านั้นที่ได้รับการชำระ ก็มีพระบิดาองค์เดียวกัน ด้วยเหตุนี้ พระเยซูจึงไม่ทรงละอายที่จะเรียกเขาเหล่านั้นว่าพี่น้อง

[55] ฮีบรู 12:23 ว่า “และมาถึงคริสตจักรของบรรดาบุตรหัวปีผู้มีชื่อจารึกไว้ในสวรรค์แล้ว”

[56] Vine’s Expository Dictionary of NT Words

[57] ฉบับภาษาไทยทุกฉบับแปลว่า “เหนือ” (“บุตรหัวปีเหนือสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง”) ผู้แปล

[58] สัมพันธการกเพียงบางส่วน (partitive genitive) เป็นสัมพันธการกที่ “คำนามในสัมพันธการกแสดงถึงคำนามหลักซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด” (ไวยากรณ์กรีกที่นอกเหนือจากพื้นฐาน, หน้า 84)  สิ่งนี้สามารถอธิบายได้ด้วยโครงสร้าง “A ของ B”  ในสัมพันธการกเพียงบางส่วนนั้น A เป็นส่วนหนึ่งของ B ทั้งหมด  โครงสร้าง “ส่วนของทั้งหมด” นี้จะเห็นได้ใน “ทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งของข้าพระองค์” (ลูกา  19:8) และ “ธรรมิกชนที่ยากจน” (โรม 15:26)

[59] ฉบับภาษาไทยทุกฉบับจะแปลฟีลิปปี 1:21 ตรงนี้ว่า “ก็เพื่อ” (การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์”) ผู้แปล

[60] กาลาเทีย 4:14 ​“ท่านกลับต้อนรับ​​...ราวกับข้าพเจ้า​​เป็นองค์พระเยซูคริสต์เอง” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[61] 1 โครินธ์ 15:45 ดังที่เขียนไว้ว่า “มนุษย์คนแรกคืออาดัม จึงเป็นผู้มีชีวิต” แต่อาดัมสุดท้ายนั้นเป็นวิญญาณผู้ประทานชีวิต

[62] สดุดี 89:27 และเราจะให้เขาเป็นบุตรหัวปี สูงที่สุดในบรรดาพระราชาแห่งแผ่นดินโลก

[63] วิวรณ์ 1:5 “และจากพระเยซูคริสต์.. ซึ่งเป็นผู้แรกที่ทรงเป็นขึ้นจากตาย และเป็นผู้ทรงครอบครองเหนือบรรดากษัตริย์ในโลก

[64] ลูกา 2:7 นางจึงคลอดบุตรชายหัวปี เอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้า เพราะว่าไม่มีที่ว่างในโรงแรมสำหรับพวกเขา

[65] เจ ดี จี ดันน์กล่าวว่า “พระเยซูผู้เป็นองค์ผู้เป็นเจ้าและเป็นพระฉายาของพระเจ้าก็เป็นอดัมคนสุดท้ายด้วย ตลอดจนเป็นแบบฉบับให้กับบรรดาผู้ที่เชื่อได้เป็นเหมือน เป็นพี่ชายคนโตในครอบครัวของการทรงสร้างใหม่” (คริสเตียนในสมัยแรกนมัสการพระเยซูคริสต์หรือไม่? หน้า 148)

[66] the Deity (For in Christ all the fullness of the Deity lives in bodily form” Col.2:9, NIV)

[67] divine character/nature, deity, divinity

[68] “คำนามที่เป็นนามธรรม” พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG หมายความว่า “the deity” กล่าวถึงพระเจ้าเอง แต่ใช้ศัพท์อ้อมๆ หรือเชิงนามธรรม หรือเชิงคุณลักษณะหรือเชิงแนวความคิด

[69]  ในโคโลสี 2:9 คำกริยา “ดำรงอยู่” เป็นกาลปัจจุบันของ katoikeō (“อาศัยอยู่, อยู่”)  คำว่า “กาย” แปลจากคำกรีกว่า sōmatikōs, ให้นิยามไว้ว่า “สภาพร่างกาย” และ “เกี่ยวกับร่างกาย” และ “ในสภาพปัจจุบันที่เป็นรูปธรรม” (คำศัพท์ของพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก, โมลตันและมิลลิแกน)

[70] Aorist คือกาลกริยาในไวยากรณ์กรีก เป็นการกระทำที่เกิดขึ้น ณ จุดๆหนึ่งของเวลา บางครั้งจะเรียกแอริสต์ว่า  “punctiliar

[71] ยอห์น 3:3 พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ถ้าคนใดไม่ได้เกิดใหม่ คนนั้นไม่สามารถเห็นแผ่นดินของพระเจ้า”

[72] เอเฟซัส 3:19ให้ซาบซึ้งในความรักของพระคริสต์ซึ่งเกินความรู้ เพื่อพวกท่านจะได้รับความบริบูรณ์ของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม”