pdf pic

 

 

บทที่ 2

 

 

 ch2 1

 

 

ที่มาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

ตามประวัติศาสตร์:

คอนสแตนตินกับการประชุมแห่งไนเซีย

 

 

ความหมายพื้นฐานของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      แม้แต่ในหมู่ผู้ที่ยึดมั่นในหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ก็มีน้อยคนที่รู้หลักคำสอนเกินจากสูตรพื้นฐาน “พระเจ้าในสามองค์บุคคล” และมีคนยิ่งน้อยขึ้นไปอีกที่รู้เหตุการณ์ในประวัติ ศาสตร์ที่ส่งผลให้มีการกำหนดหลักความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      คริสตจักรส่วนใหญ่ถือว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นหลักสำคัญของความเชื่อของพวกเขา แต่ก็น่าแปลกใจที่มีคริสตจักรเพียงไม่กี่แห่งที่สอนเรื่องตรีเอกานุภาพในเชิงลึกให้กับสมาชิก นั่นอาจเป็นเพราะความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะทำให้เกิดการคัดค้านหลักคำสอน สิ่งแรกที่คนทั้งหลายจะสังเกตเห็นก็คือ การขาดการสนับสนุนทางพระคัมภีร์และขาดเหตุผลที่สอดคล้องกัน

      เนื่องจากเราจะพิจารณาถึงต้นตอทางประวัติศาสตร์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพกันในบทนี้ และ “สี่เสาหลักของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ” ในสองสามบทถัดไป จึงเป็นสิ่งสมควรที่เราจะมีความเข้าใจในเบื้องต้นว่า ความเชื่อในตรีเอกานุภาพคืออะไร คำนิยามเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างของการอธิบายโดยผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและการยึดตามภาษาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ใช้ในคำนิยามที่กำหนดโดยบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ซึ่งเราจะอ้างอิงของบางคน

              สำหรับความหมายของคำภาษาอังกฤษ เราจะดูจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษสองฉบับ คือฉบับอเมริกันเฮริเทจ (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับเต็ม)[1] และพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับอ๊อกซ์ฟอร์ด (พิมพ์ครั้งที่ 3)[2] โดยใช้ชื่อย่อว่า AHD และ Oxford ตามลำดับ

      ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายทีละประเด็นเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพพร้อมด้วยหมายเหตุชี้แจงบางประการ และตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว

  • มีพระเจ้าพระองค์เดียวและเพียงผู้เดียวเท่านั้น
  • พระเจ้าทรงดำรงอยู่ในสามองค์บุคคล
  • หมายเหตุ: คำว่า “ดำรงอยู่” คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย แต่มักใช้ในการเขียนของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเพื่อหมายถึง “คงอยู่ เป็นอยู่”(พจนานุกรมฉบับ AHD)
  • สามองค์บุคคลนี้ก็คือพระเจ้าพระบิดา พระเจ้าพระบุตร และพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์
  • แต่ละองค์เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์
  • ทั้งสามพระองค์มีความเท่าเทียมกัน และดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน
  • ทั้งสามพระองค์จะแยกกันชัดเจน แต่กระนั้นก็ไม่ได้เป็นพระเจ้าสามองค์
  • พระเจ้าจะไม่ใช่พระเจ้า เว้นแต่ว่าจะมีพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ -ทั้งสามพระองค์อยู่ด้วยกัน
  • หมายเหตุ: บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมักใช้คำว่า “ความเป็นพระเจ้า” (Godhead)[3] ในการอ้างถึงพระเจ้าตรีเอกภาพ[4](พจนานุกรมฉบับ AHD นิยาม “ความเป็นพระเจ้า” ว่าเป็น “พระเจ้าของคริสเตียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของตรีเอกานุภาพ”) เหตุผลหนึ่งที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้คำ “ความเป็นพระเจ้า” ก็คือในความเชื่อใตรีเอกานุภาพนั้น พระเจ้าไม่ใช่บุคคล
  • พระเจ้าทรงเป็นสามบุคคล แต่มี “ตัวตน” เดียว หรือมี “เนื้อแท้” เดียวเท่านั้น
  • หมายเหตุ:แม้คำว่า “ตัวตน” มักจะหมายถึงมนุษย์คนหนึ่ง แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะใช้คำนี้ในแง่ของสภาวะที่เป็น “แก่นแท้หรือเนื้อแท้” ของคนๆหนึ่ง (พจนานุกรมฉบับ AHD, เช่นเดียวกับฉบับ Oxford)
  • หมายเหตุ: แม้คำว่า “บุคคล” มักจะหมายถึงตัวบุคคลของมนุษย์คนหนึ่ง แต่ในภาษาของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว มักจะหมายถึงองค์พระเจ้า (เช่น “พระเจ้าในสามองค์บุคคล”)
    • [5]
    • หมายเหตุ: บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมักจะใช้คำกรีก hypostasis ที่เทียบให้ใกล้เคียงกับ “บุคคล” ดังนั้นพระเจ้าจึงเป็นสาม hypostases (สามองค์บุคคล)
    • หมายเหตุ: สาม hypostases (องค์บุคคล) นี้ก็คือพระบิดา พระบุตร พระวิญญาณ ที่มี (เนื้อแท้หรือแก่นแท้) เดียวกัน ดังนั้นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจึงพูดถึง “สาม hypostases ใน เดียวกัน” (สามบุคคลในแก่นแท้เดียวกัน)
    • หมายเหตุ: จาก ก็มาเป็นคำ homoousios (จากเนื้อแท้หรือจากแก่นแท้เดียวกัน) ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นคำสำคัญในความเชื่อตรีเอกานุภาพ เพราะคำนี้เองที่ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็น “ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว”
    • หมายเหตุ: เพราะสามบุคคลมาจากแก่นแท้เดียวกัน ทั้งสามพระองค์จึงถูกกล่าวว่า “มีสภาวะเดียวกัน”
  • ด้วยการจุติลงมาเกิดของพระองค์ที่สองในความเป็นพระเจ้า คือพระเจ้าพระบุตรผู้ทรงดำรงอยู่ก่อนในนิรันดร์กาลจึงได้รับสภาวะของมนุษย์และรับสภาวะของพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์คือพระเยซูคริสต์ ผู้ซึ่งตอนนี้มีทั้งสภาวะของพระเจ้าและสภาวะของมนุษย์อยู่ในคนๆเดียว และเป็นทั้งพระเจ้าที่สมบูรณ์และมนุษย์ที่สมบูรณ์โดย“มีสองสภาวะอยู่ในบุคคลเดียวกัน[6](ของสองสภาวะของพระคริสต์ ที่มีทั้งพระเจ้าและมนุษย์อยู่ในคนๆเดียว หรือhypostasis)

      คำนิยามนี้สมบูรณ์ในแง่ที่ว่า การพิจาณาต่อไปเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ เช่น สามบุคคลเกี่ยวข้องกันและกันอย่างไร หรือทั้งสามพระองค์มีบทบาทแตกต่างกันอย่างไรในประวัติศาสตร์ของความรอด (หรือบทบาทของสามพระองค์ภายในตรีเอกานุภาพ)[7] หรือสภาวะพระเจ้าของพระคริสต์เกี่ยวข้องกับสภาวะของมนุษย์อย่างไร (การถกเถียงอย่างรุนแรงในคำถามสุดท้ายนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ)

      ใครที่อ่านงานเขียนที่เป็นทางการหรือทางวิชาการเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ ไม่ช้าจะพบว่างานเขียนเหล่านี้มักใช้คำศัพท์ภาษากรีกและละติน (หรือคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ตรงกัน) และซึมซับด้วยแนวคิดปรัชญาศาสนาของเพลโตและหลักปรัชญาอื่นๆ สิ่งเหล่านี้สร้างความสับสนมากกว่าจะให้ความกระจ่างว่าสามองค์บุคคลนี้จะเป็นพระเจ้าองค์เดียวได้อย่างไร เราจะพบแนวคิดเหล่านี้บางส่วนในหนังสือเล่มนี้ เช่น ความเป็นพระเจ้าและมนุษย์ในพระเยซูคริสต์[8]

      คำนิยามพื้นฐานของเราเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ จะยึดตามหลายสิบคำนิยามที่ถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่เชื่อในตรีเอกานุภาพ ทั้งจากโปรแตสแตนท์และคาทอลิก รวมถึงหกคำนิยามต่อไปนี้ (คำนิยามเหล่านี้อาจอ่านข้ามไปก่อนในครั้งแรก) เรารวมคำกล่าวที่เจ็ดเกี่ยวกับการจุติลงมาเกิดไว้ด้วย

 

“หลักคำสอนของคริสเตียนเกี่ยวกับพระเจ้า ตามที่พระองค์ทรงเป็นสามองค์บุคคลในแก่นแท้หรือเนื้อแท้เดียวกัน” (พจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับใหม่, “ตรีเอกานุภาพ”)[9]

 

“ตรีเอกานุภาพของพระเจ้าถูกกำหนดโดยศาสนจักรที่เป็นความเชื่อว่า ในพระเจ้ามีสามพระองค์ผู้ดำรงอยู่ในสภาวะเดียวกัน” ความเชื่อที่ถูกกำหนดไว้เช่นนั้นมีมาในศตวรรษที่ 4 และ 5 นี้เอง และด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่ความเชื่อตามพระคัมภีร์อย่างชัดเจนและอย่างเป็นทางการ (พจนานุกรมพระคัมภีร์, บาทหลวงจอห์น เอล แมคเคนซี่, “ตรีเอกานุภาพ”)[10]

 

“คำที่กำหนดพระเจ้าองค์เดียวในสามบุคคลนี้ แม้จะไม่ใช่คำในพระคัมภีร์แต่ก็พบว่า ตรีเอกานุภาพ กำหนดไว้เหมาะกับพระเจ้าองค์เดียวที่เปิดเผยพระองค์เองในพระคัมภีร์ว่าเป็น พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ นั่นหมายความว่าภายในเนื้อแท้เดียวกันของความเป็นพระเจ้านั้น เราต้องแยกความแตกต่างของสามบุคคล ผู้ที่ด้านหนึ่งก็ไม่ใช่พระเจ้าสามองค์ และอีกด้านหนึ่งก็ไม่ใช่สามส่วนหรือสามสถานะของพระเจ้า แต่เป็นพระเจ้าที่เท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน” (พจนานุ กรมศาสนศาสตร์ฉบับอีแวนเจลิคอล, “ตรีเอกานุภาพ”)[11]

 

“คำว่าตรีเอกานุภาพไม่ใช่คำในพระคัมภีร์ และเราก็ไม่ได้ใช้ภาษาในพระคัมภีร์เมื่อเรานิยามสิ่งนี้ตามคำว่าเป็นหลักคำสอนที่มีพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว แต่ในการรวมเป็นหนึ่งของความเป็นพระเจ้านั้น มีสามองค์บุคคลที่มีความเท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน มีแก่นแท้เดียวกัน แต่แตกต่างกันในการดำรงอยู่” (บี บี วอร์ฟิลด์, สารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับ ISBE, “ตรีเอกานุภาพ”)[12]

 

“ตรีเอกานุภาพ เป็นคำที่ใช้เพื่อแสดงถึงหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของศาสนาคริสต์ คือความจริงที่ว่าในการรวมเป็นหนึ่งของความเป็นพระเจ้านั้นมีสามองค์บุคคล คือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทั้งสามองค์บุคคลนี้แตกต่างกันอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้คำกล่าวในหลักข้อเชื่ออธาเนเซียจึงมีว่า พระบิดาทรงเป็นพระเจ้า พระบุตรทรงเป็นพระเจ้า และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระเจ้า แต่กระนั้นก็ไม่ได้มีพระเจ้าสามพระองค์ แต่มีพระเจ้าองค์เดียว ในตรีเอกานุภาพขององค์บุคคลทั้งสามนี้ พระบุตรทรงบังเกิดจากพระบิดาและดำรงอยู่ด้วยตั้งแต่นิรันดร์กาล[13] และพระวิญญาณบริสุทธิ์มาจากพระบิดาและพระบุตร[14] แต่แม้จะมีความแตกต่างในเรื่องต้นกำเนิด ทุกพระองค์ก็มีความเท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน ทุกพระองค์ไม่ได้ถูกสร้างและทรงมีอำนาจทุกอย่างเหมือนๆกัน” (สารานุกรมคาทอลิก, “ตรีเอกานุภาพที่ศักดิ์สิทธิ์”, ภายใต้ “ข้อเชื่อของตรีเอกานุภาพ”)[15]

“มันถึงเวลาแล้วที่จะกำหนดคำนิยามพื้นฐานที่แท้จริงของตรีเอกานุภาพ แต่เราต้องเริ่มต้นด้วยคำนิยามที่สั้น กะทัดรัด และถูกต้อง นั่นก็คือภายในตัวตนเดียวที่เป็นพระเจ้า มีสามบุคคลที่ดำรงอยู่   นิรันดร์ที่มีความเท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกันคือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์... เมื่อพูดถึงตรีเอกานุภาพ เราต้องเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงหนึ่งนั้นหมายถึงหนึ่ง “อะไร” และสามนั้นหมายถึงสาม “ใคร” หนึ่ง “อะไร” ก็คือตัวตนหรือเนื้อแท้ของพระเจ้า ส่วนสาม “ใคร” ก็คือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ” (ตรีเอกานุภาพที่ลืมเอ่ยถึง, เจมส์ อาร์ ไวท์, หน้า 26-27)[16]

 

“[การจุติลงมาเกิดคือ] การที่พระบุตรผู้ดำรงนิรันดร์ของพระเจ้า พระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ไม่ได้ทรงหยุดเป็นในสิ่งที่พระองค์ทรงเป็น คือเป็นพระเจ้าพระบุตร ที่ทรงมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวพระองค์เองซึ่งพระองค์ไม่มีมาก่อนคือสภาวะของมนุษย์ ‘และดังนั้นพระองค์จึงทรงเป็นและยังคงเป็นพระเจ้าและเป็นมนุษย์ในสองสภาวะที่ต่างกันและเป็นบุคคลเดียวตลอดไป” (พจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับอีแวนเจลิคอล, “การจุติลงมาเกิด” ถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูดเล็กอ้างอิงโดยฉบับ EDT จากคำถามคำตอบฉบับย่อของเวสต์มินสเตอร์)[17]

 

เรื่องการมีแก่นแท้เดียวกัน ไม่มีการสนับสนุนจากพระคัมภีร์และถูกลูเธอร์ปฏิเสธ

      คำว่า homo­ousios (“จากแก่นแท้เดียวกัน”) เป็นคำสำคัญทางประวัติศาสตร์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะคำนี้หรือแนวคิดของคำนี้เนื่องด้วยคำว่า “เดียวกัน” ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพดูเหมือนกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวอยู่บ้าง มุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในยุคแรกที่ homo­ousios เป็น “รากฐานของความเชื่อที่มีมาแต่เดิม” (วิคโตรินัส)[18]นั้น ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพสมัยปัจจุบันก็คิดเห็นอย่างเดียวกัน แต่กระนั้นก็ไม่พบคำว่า homo­ousios ที่ไหนเลยในพระคัมภีร์! การที่ไม่มีพื้นฐานในพระคัมภีร์นี้ ได้ถูกตั้งข้อสังเกตโดยผู้เชี่ยวชาญด้านคำศัพท์ฉบับหนึ่ง, พจนานุกรมศาสนศาสตร์พระคัมภีร์ใหม่ฉบับนิวอินเตอร์เนชันแนล (ฉบับโคลิน บราวน์, หัวข้อ พระเจ้า> ตรีเอกานุภาพ> พระคัมภีร์ใหม่)[19]

      ข้อความที่ตัดตอนจากบทความดังต่อไปนี้อ้างอิงคาร์ล บาร์ธ ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่ก็ยอมรับตามตรงว่า จะหาหลักคำสอนเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพไม่พบในพระคัมภีร์ ข้อความที่ตัดตอนมาดังนี้เป็นคำอ้างอิงสองชั้น เพื่อความสะดวกของผู้อ่าน ผมจึงพิมพ์ถ้อยคำของบาร์ธเป็นตัวหนา เพื่อแยกคำเหล่านั้นออกจากถ้อยคำที่อยู่ล้อมรอบของพจนานุกรมศาสนศาสตร์พระคัมภีร์ใหม่ฉบับ NIDNTT ดังนี้

 

พระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้มีหลักคำสอนที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ [บาร์ธกล่าวว่า] “พระคัมภีร์ไม่มีคำประกาศอย่างชัดแจ้งว่าพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์มีแก่นแท้ที่เท่าเทียมกัน และเพราะฉะนั้นจึงไม่ได้มีความหมายที่เท่าเทียมกันของพระเจ้าเอง และไม่มีคำประกาศอย่างชัดแจ้งอย่างอื่นด้วยว่า พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าด้วยเหตุนี้และด้วยเหตุนี้เท่านั้น คือ เป็นพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทั้งสองคำประกาศอย่างชัดแจ้งซึ่งเกินจากหลักฐานของพระคัมภีร์นี้ มีเนื้อหาสองเท่าของหลักคำสอนของคริสตจักรเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ (คาร์ล บาร์ธ, การศึกษาหลักคำสอนของคริสตจักร, I, 1, 437)[20] นอกจากนี้ก็ยังไม่มีคำเช่น ตรีเอกานุภาพ... และ จากแก่นแท้เดียวกัน (homoousios) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในหลักข้อเชื่อไนเซีย (325)

 

      ในคำยอมรับที่น่าประหลาดใจนี้บาร์ธยอมรับว่าหลักการสำคัญสองประการของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์  และเนื่องจาก homoousios ไม่ใช่คำในพระคัมภีร์ (ตามที่ระบุไว้ในพจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับ NIDNTT) มันจึงไม่น่าแปลกใจที่การคัดค้านคำนี้อย่างแรงจะมาจากเหล่าผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแถวหน้า และมาร์ตินลูเธอร์ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนหนึ่งก็เป็นเช่นนั้น เขาได้คัดค้านอย่างรุนแรงกับการใช้ homo­ousios ว่าไม่ได้เป็นคำที่มาจากพระคัมภีร์ และถึงกับ “เกลียด” คำนี้ด้วยซ้ำ ในคู่มือทำความเข้าใจความเชื่อในตรีเอกานุภาพของเคมบริดจ์[21] (หน้า 151) อ้างอิงคำพูดของลูเธอร์ว่า “ปรปักษ์ของเรา...เป็นพวกที่คลั่งไคล้คำพวกนี้ เพราะพวกเขาต้องการให้เราแสดงให้เห็นความจริงของบทความที่เกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ... โดยขอให้เรายอมรับคำ homo­ousios คู่มือของเคมบริดจ์กล่าวต่อไปว่า “คำต่างๆที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพใช้ เช่น homo­ousios มีเพื่อให้ลูเธอร์ต้อง ‘พูดอึกอักและ พูดพล่าม’

      ลูเธอร์ปฏิเสธ homo­ousios รุนแรงยิ่งกว่าเดิมในคำกล่าวที่อ้างถึงในหนังสือประวัติศาสตร์ของข้อเชื่อ เล่มเจ็ดของอดอล์ฟ ฮาร์นัค ดังนี้

 

[ลูเธอร์] ประกาศว่าคำ homoousios ดังกล่าวไม่สามารถจะยอมได้ว่าเป็นความหมายที่ถูกต้อง เพราะมันแสดงให้เห็นสภาวะที่เลวร้ายเมื่อคำเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นในระบบความเชื่อของคริสเตียน “...แต่ถ้าจิตวิญญาณของผมเกลียดคำ homoousios และผมไม่ต้องการใช้มัน ผมก็ไม่ได้เป็นคนนอกศาสนา เพราะใครเล่าจะมาบังคับให้ผมใช้มัน... แม้ว่าผู้เชื่อตามแบบเอเรียส[22]จะมีมุมมองที่ผิดเกี่ยวกับความเชื่อ แต่พวกเขาก็ทำถูกต้องอย่างมากในเรื่องนี้... ที่พวกเขาเรียกร้องไม่ยอมให้นำเอาคำทางโลกหรือคำแปลกๆเข้ามาในหลักของความเชื่อ” (ประวัติศาสตร์ของข้อเชื่อ เล่ม 7, บท 4, หน้า 225, เปรียบ เทียบฉบับเออแลงเกน[23]จากงานเขียนของลูเธอร์ เล่ม 5, หน้า 505)

 

      คำคัดค้านของลูเธอร์กับการใช้ homoousios ซึ่งมีที่มาไม่ตรงตามพระคัมภีร์นั้นรุนแรงมากจนเขาเต็มใจยอมรับว่าผู้เชื่อแบบเอเรียสที่นอกศาสนานั้นทำ “ถูกต้องทีเดียว” ในการปฏิเสธคำ “ทางโลก” นี้ ลูเธอร์รู้ว่าการคัดค้านการใช้ homoousios ของเขาจะทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็น “คนนอกศาสนา” เพราะ homoousios เป็นรากฐานหลักของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ในการกล่าวอ้างที่น่าแคลงใจว่าเป็นความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว และหากไม่มี homoousios ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็จะตกไปอยู่ในข่ายของความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน[24] (หลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าสามองค์) อย่างชัดเจน

 

คำยอมรับของนักวิชาการคาทอลิกเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ

      ลูเธอร์มาจากกลุ่มนิกายโปรแตสแตนท์ชั้นแนวหน้า แต่จะมีความขัดแย้งที่คล้ายกันไหมจากกลุ่มนิกายโรมันคาทอลิกชั้นแนวหน้า? ฮานส์ คูง นักศาสนศาสตร์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของนิกายโรมัน คาทอลิกแห่งศตวรรษที่ 20 ได้เขียนตอนหนึ่งในหัวข้อ “ไม่มีหลักคำสอนเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพในพระคัมภีร์ใหม่” ในหนังสือที่คลาสสิคของเขาชื่อ ศาสนาคริสต์: แก่นแท้, ประวัติศาสตร์, และอนาคต (เริ่มจากหน้า 95 เป็นต้นไป) คูงปฏิเสธความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างหนักแน่นในงานเขียนของเขา แต่จะมีเสียงคัดค้านที่คล้ายกันนี้ไหม จากกลุ่มนิกายโรมันคาทอลิกชั้นแนวหน้าที่เชื่อในตรีเอกานุภาพ?

      พจนานุกรมพระคัมภีร์ที่ได้รับความเชื่อถือ ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่งมาเป็นเวลาสองทศวรรษ และเป็นชุดพจนานุกรมพระคัมภีร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดที่เคยมีในช่วงนั้นคือ พจนานุกรมพระคัมภีร์เชิงวิชาการที่เขียนโดยบาทหลวงจอห์น แอล แม็คเคนซี่[25] ซึ่งแม้ว่าจะเขียนโดยบาทหลวงคาทอลิกแต่ชาวโปรแตสแตนท์ก็ยังใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อความเข้าใจที่ลึกขึ้น ต่อไปนี้เป็นข้อความที่ตัดตอนมาจากหัวข้อ “ตรีเอกานุภาพ” ในพจนานุกรม ในหัวข้อนี้แม็คเคนซี่ที่ตัวเขาเองเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนหนึ่ง ได้ให้ข้อสังเกตบางอย่างที่ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อในตรีเอกานุภาพซึ่งรวมถึง (i) หลักคำสอนของตรีเอกานุภาพเพิ่งจะมีขึ้นเมื่อศตวรรษ 4 และ 5 และไม่ได้แสดงให้เห็นความเชื่อตามพระคัมภีร์ (ii) คำศัพท์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ใช้อธิบายเกี่ยวกับพระเจ้าเป็นศัพท์ตามปรัชญากรีกมากกว่าคำตามพระคัมภีร์ (iii) คำศัพท์เช่น “เนื้อแท้” และ “แก่นแท้” ถูกบรรดานักศาสนศาสตร์สมัยแรกๆนำไปใช้กับพระเจ้า “อย่างผิดๆ” (iv) ความเป็นจริงเฉพาะบุคคลของพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นคลุมเครือและต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นในความเชื่อตรีเอกานุภาพ (v) ตรีเอกานุภาพเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ซึ่งเกือบเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจ (vi) ตรีเอกานุภาพไม่ได้ถูกกล่าวถึงหรือบอกให้รู้มาก่อนในพระคัมภีร์เดิม นี่คือข้อความบางตอนของเขา

 

ตรีเอกานุภาพ ตรีเอกานุภาพของพระเจ้าถูกกำหนดโดยศาสนจักรให้เป็นความเชื่อว่าในพระเจ้ามีสามบุคคลผู้ทรงดำรงอยู่ในสภาวะเดียวกัน ความเชื่อที่กำหนดเช่นนี้เพิ่งมีขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 4 และ 5 และด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้เป็นความเชื่อตามพระคัมภีร์อย่างชัดเจนและอย่างเป็นทางการ ตรีเอกานุภาพของหลายบุคคลภายในสภาวะที่รวมเป็นหนึ่งนั้นถูกกำหนดไว้ในแง่ของ “บุคคล” และ “สภาวะ” ซึ่งเป็นคำศัพท์ทางปรัชญากรีกนั้น ที่จริงแล้วคำเหล่านี้ไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ คำนิยามของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการถกเถียงกันอย่างยาวนาน ซึ่งคำเหล่านี้และคำอื่นๆเช่น “เนื้อแท้” และ “แก่นแท้” ถูกนักศาสนศาสตร์บางคนนำไปใช้กับพระเจ้าอย่างผิดๆ

. . . . .

ความเป็นจริงเฉพาะบุคคลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นที่รู้จักทีหลังกว่าความเป็นจริงเฉพาะบุคคลของพระบิดาและพระบุตร ซึ่งเป็นคำศัพท์เฉพาะบุคคล... สิ่งที่แทบจะไม่ชัดเจนเกี่ยวกับพระวิญญาณก็คือความเป็นจริงเฉพาะบุคคลของพระองค์ ที่พระองค์มักจะถูกกล่าวถึงด้วยภาษาที่ความเป็นจริงเฉพาะบุคคลของพระองค์ไม่ชัดเจน

. . . . .

...ในความเชื่อของคาทอลิกเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพของหลายบุคคลภายในสภาวะที่รวมเป็นหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ซึ่งเข้าใจได้ยากที่สุด และในส่วนที่ไม่สามารถอธิบายได้ยิ่งกว่าก็คือความสัมพันธ์ของหลายบุคคลที่มีต่อกันและกัน

. . . . .

พระคัมภีร์เดิมไม่มีข้อเสนอแนะหรือมีวี่แววให้เห็นถึงตรีเอกานุภาพของหลายบุคคล ที่จะมีก็คือคำต่างๆที่พระคัมภีร์ใหม่ใช้นั้น จะแสดงถึงตรีเอกานุภาพของหลายบุคคล เช่น พระบิดา พระบุตร พระวาทะ พระวิญญาณ เป็นต้น

 

การใช้ “แก่นแท้เดียวกัน” ของความเชื่อแบบนอสติก

      ความเชื่อแบบนอสติกถูกจัดว่าเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงที่สุดต่อชีวิตของคริสตจักรในช่วงสองศตวรรษแรก เราจะไม่อธิบายว่าความเชื่อแบบนอสติกคืออะไร[26] (แต่ให้ดูคำอธิบายย่อๆในภาค ผนวก 7) เนื่องจากเป็นหัวข้อทั่วไปในประวัติศาสตร์คริสตจักร เว้นแต่จะกล่าวถึงว่ามันเป็นขบวนการซึ่งเป็นเนื้อร้ายที่ฝังรากลึกในคริสตจักรและเกือบจะทำลายคริสตจักร นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชื่อจัสโต แอล กอนซาเลซ[27]กล่าวไว้ว่า “ในบรรดาการตีความที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียน ไม่มีการตีความอันไหนที่เป็นอันตรายเท่าหรือเฉียดชัยชนะได้เท่าความเชื่อแบบนอสติก”[28]

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะต้องตกตะลึงที่รู้ว่า ผู้เชื่อแบบนอสติกเป็นพวกแรกที่ใช้คำว่า homoousios คนแรกที่รู้กันว่าใช้คำนี้ก็คือบาสิลิดิส นักศาสนศาสตร์ที่เชื่อแบบนอสติก (ศตวรรษที่ 2 ของคริสตศักราช) ผู้ใช้ homoousios อธิบายแนวคิดของเขาเกี่ยวกับ “สามสภาวะของการเป็นบุตรที่มีเนื้อแท้เดียวกับพระเจ้าผู้ไม่ได้เป็น”[29]

      เมื่อความเชื่อแบบนอสติกมาถึงจุดสูงสุดนั้น homoousios ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นคำของความเชื่อแบบ   นอสติก แต่ก่อนหน้าการสังคายนาแห่งไนเซียในปี 325 บรรพบุรุษทั้งหลายของคริสตจักรก็รับรู้ถึงการใช้ homoousios ของความเชื่อแบบนอสติกแล้ว ในงานเขียนที่เชื่อถือได้ของอาร์ พี ซี แฮนสันที่ชื่อ การค้นหาหลักคำสอนของคริสเตียนเกี่ยวกับพระเจ้า กล่าวในหน้า 191 ว่า “ฮิปโปลิทัสอ้างว่าพวกผู้เชื่อแบบนอสติกใช้คำ homoousios ... เคลเมนท์แห่งอเล็กซานเดรียยังใช้คำนี้ในคำอ้างอิงของพวกผู้เขียนที่เชื่อแบบนอสติก เช่นเดียวกับ ไอเรเนียส[30] ... ออริเกนก็ใช้คำนี้เช่นเดียวกันเฉพาะเมื่อเขากำลังอ้างถึงคนนอกศาสนาที่เชื่อแบบนอสติก” งานเขียนที่เชื่อถือได้ทางวิชาการของอาร์ พี ซี แฮนสันเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักประวัติศาสตร์คริสตจักรและนักวิชาการทั้งหลายที่เป็นผู้นำศาสนาคริสต์ในสมัยแรกเริ่ม

      แม้ว่าความเชื่อแบบนอสติกจะเสื่อมลงในช่วงศตวรรษที่สามหรือสี่ แต่ก็ได้ทิ้งรากฐานบางส่วนไว้ในคริสตจักรดังที่เห็นจากการรับเอา homoousios แนวคิดสำคัญของความเชื่อแบบนอสติกก็คือบ่อเกิดของสิ่งที่ดำรงอยู่ ซึ่งสิ่งที่เล็กกว่าย่อมมาจากสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การสังคายนาแห่งไนเซียจึงมีข้อกำหนดว่าถ้าไม่เชื่อจะถูกแช่งสาป ที่พระเจ้าพระองค์ที่สองเกิดมาจากพระเจ้าพระองค์แรก เหมือนที่ความสว่างเกิดมาจากแหล่งของความสว่าง สูตรต่างๆของข้อเชื่อแห่งไนเซีย เช่น “พระเจ้าจากพระเจ้า ความสว่างจากความสว่าง” และการอธิบายอื่นๆที่เลิศลอยนั้นเป็นเพียงการสะท้อนตรงๆถึงปรัชญาและศาสนากรีก

 

ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ หรือว่าความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน?

      ความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เดียวในสามบุคคล ในขณะที่ความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน[31]เป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าสามพระองค์ ความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันเป็นกรณีเฉพาะของความเชื่อในพระเจ้าหลายๆองค์[32] เป็นความเชื่อในพระเจ้ามากมาย (เช่น ศาสนาฮินดู) บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองแบบก็คล้ายกันจนแยกไม่ออกอย่างแท้จริง ถ้าจะพูดให้ชัดเจน ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันที่ปฏิเสธว่าเป็นพระเจ้าสามองค์ที่ต่างบุคคลกัน[33]

      ปัญหาโดยตรงที่เราพบในความพยายามที่จะทำความเข้าใจความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ การใช้คำพูดกำกวมที่ให้ความหมายสองด้านทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดๆ ในการกำหนดสองความหมายที่แตกต่างกันให้กับคำว่า “พระเจ้า” แล้วสลับไปมาระหว่างสองความหมายนี้ โดยมักจะหลีกเลี่ยงปัญหาของความสอดคล้องกับหลักเหตุผล มีความหมายแรกของ “พระเจ้า” ที่พระเจ้าจะไม่ใช่พระเจ้า เว้นแต่ว่าจะมีพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ด้วยกันทั้งสามพระองค์ สูตรนี้ถูกกำหนดไว้เพื่อเป็นวิธีหลีกเลี่ยงความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และเป็นหนึ่งในสองหลักพื้นฐานของความเชื่อในตรีเอกานุภาพตามคำของคาร์ล บาร์ธ[34]

      แต่มีความหมายที่สองของ “พระเจ้า” (และขัดแย้งกัน) ซึ่งแต่ละพระองค์ในตรีเอกานุภาพต่างก็เป็นพระเจ้าอย่างเอกเทศและอย่างสมบูรณ์ “ดังนั้นพระบิดาจึงเป็นพระเจ้า พระบุตรก็เป็นพระเจ้า และพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เป็นพระเจ้า” (หลักข้อเชื่ออธาเนเซีย) ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหลายกล่าวว่าแต่ละพระองค์เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์” (ไวท์, กรูเด็ม, โบว์แมน)[35] หรือเป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างบริบูรณ์” (พระคัมภีร์ฉบับศึกษาของ ESV หน้า 2513)[36]

      การประชุมสภาสังคายนาแห่งลาเตรันครั้งที่สี่ (1215, กรุงโรม)[37] ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์บอกชัดยิ่งขึ้นว่า “แต่ละพระองค์เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง” พูดอีกอย่างก็คือ พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง พระบุตรทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง พระวิญญาณทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง และกระนั้นทั้งสามพระองค์จึงรวมกันเป็นพระเจ้าเดียวอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง

     นความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น แต่ละพระองค์รวมอยู่ในความเป็นพระเจ้าตรีเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นพระบิดา หรือพระบุตร หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ต่างก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ เป็นพระเจ้าที่ดำรงอยู่ด้วยกันตลอดนิรันดร์ และเป็นพระเจ้าที่เท่าเทียมกัน เพื่อว่าบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะสามารถพูดถึง พระเจ้าพระบิดา พระเจ้าพระบุตร และพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในภาษาที่จะบรรยายความเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ของแต่ละพระองค์ได้ ความเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ของแต่ละพระองค์จะยังคงอยู่แม้ว่าเราจะอ่านกลับลำดับภายในสามประโยคย่อยว่า “พระบิดาคือพระเจ้า พระบุตรคือพระเจ้า พระวิญญาณบริสุทธิ์คือพระเจ้า” (หลักข้อเชื่ออธาเนเซีย)

      ความเชื่อในตรีเอกานุภาพตั้งสมมุติฐานว่าแต่ละพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ต่างก็เป็นพระเจ้า “อย่างสมบูรณ์” ในตัวเอง (“แต่ละพระองค์เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง” สภาสังคายนาแห่งลาเตรันครั้งที่สี่) ยิ่งกว่านั้นความเชื่อในตรีเอกานุภาพยังกำหนดความแตกต่างกันมากระหว่างพระองค์เหล่านี้ เพื่อไม่ให้พระบิดาต้องสับสนกับพระบุตร หรือพระบุตรสับสนกับพระวิญญาณ หรือพระบิดาสับสนกับพระวิญญาณ หลักข้อเชื่ออธาเนเซียได้กล่าวว่า “ด้วยเหตุว่ามีพระบิดาองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งพระบุตร และอีกองค์หนึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์” ระบุให้ชัดก็คือ ความแตกต่างในหลายองค์บุคคลนั้นจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพพูดถึง “สามองค์บุคคล”

      เนื่องจากทั้งสามพระองค์ที่แต่ละพระองค์เป็นพระเจ้า “อย่างสมบูรณ์” แต่ก็เป็นสามพระองค์ที่ต่างบุคคลกัน มันจะถูกต้องตามความหมายของคำที่จะบอกว่า พระองค์ทั้งสามเป็นพระเจ้าสามพระองค์ (ความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน) ความฉะฉาน ความชัดเจน และความแจ่มแจ้งของข้อสรุปนี้เห็นได้เด่นชัด แต่หลักข้อเชื่ออธาเนเซียก็ปฏิเสธความถูกต้องโดยกล่าวว่า “และถึงกระนั้นพระองค์ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่พระเจ้าสามพระองค์ แต่เป็นพระเจ้าองค์เดียว”

      การฝ่าฝืนความหมายของคำอย่างชัดเจน ซึ่งหลักข้อเชื่ออธาเนเซียไม่มีคำอธิบายนอกจากการปฏิเสธแบบดันทุรังนี้จะต้องถูกปฏิเสธ เว้นแต่ว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ฟังขึ้น ดังเช่น การสนับสนุนอย่างชัดเจนจากพระคัมภีร์ แต่พระคัมภีร์ได้สอนสูตรทรีอินวัน (สามรวมอยู่ในหนึ่ง) อย่างของความเชื่อในตรีเอกานุภาพจริงๆไหม? ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนมากยอมรับว่าไม่มีสูตรนี้อยู่ในพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น ดร.ชาร์ล ซี ไรรี่ ผู้เขียนพระคัมภีร์ฉบับศึกษาของไรรี่[38] และเป็นศาสตราจารย์วิชาศาสนศาสตร์ระบบที่สถาบันศาสนศาสตร์ดัลลาส[39]มายาวนาน ก็ยอมรับอย่างน่าประหลาดใจว่า

 

แต่มีหลายหลักคำสอนที่ได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้เชื่อกลุ่มอีแวนเจลิคอลว่าได้สอนไว้อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์โดยไม่มีข้อความจากพระคัมภีร์มาสนับสนุน หลักคำสอนของตรีเอกานุภาพให้ตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ มันก็เป็นธรรมที่จะบอกว่าพระคัมภีร์ไม่ได้สอนหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพอย่างชัดเจน อันที่จริงไม่มีข้อความจากพระคัมภีร์มาสนับสนุนแม้แต่ข้อความเดียว หากข้อความจากพระคัมภีร์ที่มาสนับสนุนนั้นเราหมายถึงข้อหรือตอนจากพระคัมภีร์ที่กล่าวไว้ ชัดเจน ว่ามีพระเจ้าองค์เดียวที่ดำรงอยู่ในสามบุคคล ... การยกตัวอย่างข้างต้นพิสูจน์ให้เห็นการเข้าใจผิดที่สรุปว่า ถ้าสิ่งนั้นไม่มีข้อความจากพระคัมภีร์มาสนับสนุน เราก็ไม่สามารถจะสอนผลลัพธ์นั้นได้อย่างชัดเจน ... หากเป็นเช่นนั้น ผมก็คงไม่สามารถสอนหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพ หรือความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ หรือความเป็นพระเจ้าของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ (ศาสนศาสตร์พื้นฐาน หน้า 89-90)[40]

มิลลาร์ด เอริกสัน ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่มีชื่อเสียงและผู้เชี่ยวชาญในหลักคำสอนตรีเอกานุภาพ และผู้เขียนหนังสือ ศาสนศาสตร์คริสเตียน[41] เขียนไว้ว่า

[ตรีเอกานุภาพ] ไม่ได้มีสอนไว้ชัดเจนหรือแน่ชัดจากที่ไหนในพระคัมภีร์ แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหัวใจของหลักคำสอน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับความเชื่อของคริสเตียน ในเรื่องนี้มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นความจริงจากหลักคำสอนของพระคัมภีร์อย่างแท้จริง กล่าวคือ มีความเกี่ยวพันกันโดยตรงระหว่างความชัดเจนของหลักคำสอนในพระคัมภีร์กับความสำคัญของหลักคำสอนที่มีต่อความเชื่อและชีวิตของคริสตจักร (พระเจ้าในสามองค์บุคคล: การตีความร่วมสมัยของตรีเอกานุภาพ, หน้า 11)[42]

วิธีที่ดีเยี่ยมในการอธิบายแบบให้พ้นตัวถึงรากฐานความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ โดยการตั้งสมมุติฐานว่าสามบุคคลร่วม “แก่นแท้” (homoousios) เดียวกันนั้นไม่น่าเชื่อถือ นั่นไม่เพียงเพราะคำว่า homoousios ไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะแก่นแท้ที่มีร่วมกัน จะบอกถึงลักษณะของความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันซึ่งเหมือนกับลักษณะของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ! ไม่ว่าเราจะพูดถึงการรวมเป็นหนึ่งของพระเจ้าสามพระองค์ (ความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน) หรือการรวมเป็นหนึ่งของสามองค์บุคคลในพระเจ้าองค์เดียว (ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) ทั้งสามพระองค์ก็ร่วมแก่นแท้หรือเนื้อแท้เดียวกันของความเป็นพระเจ้า การนำแนวคิด “แก่นแท้เดียวกัน” มาใช้กับสามองค์บุคคลซึ่งแต่ละองค์ต่างก็เป็นพระเจ้า “อย่างสมบูรณ์” นั้นไม่ได้ทำให้ทั้งสามพระองค์เป็น “พระเจ้าองค์เดียว” มันแค่ทำให้พระเจ้าอย่างสมบูรณ์ทั้งสามพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับ homoousios (แก่นแท้เดียวกัน) ซึ่งรู้กันว่าใช้ครั้งแรกโดยบาสิลิดิส นักศาสนศาสตร์ที่เชื่อแบบนอสติก และต่อมาได้รับการรับรองในการสังคายนาแห่งไนเซียที่มีคำคัดค้านของบาทหลวงบางคนจากทั้งสองฝ่าย แนวคิดนี้จึงไม่ได้ช่วยความเชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่แท้จริงแล้วกลับทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ต้องการที่ว่า ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีความใกล้เคียงกับความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน!

      รากฐานเกี่ยวกับความเชื่อในพระเจ้าสามองค์ที่แตกต่างกันของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเห็นได้ในหนังสือหลายเล่ม อย่างเช่น ตรีเอกานุภาพที่ลืมเอ่ยถึงของ เจมส์ อาร์ ไวท์[43] หนังสือที่รับรองโดย เจ ไอ แพ็คเกอร์, กลีสัน อาร์เคอร์, นอร์แมน ไกส์เลอร์ และจอห์น แมคอาร์เธอร์[44] แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในหมู่ผู้นำกลุ่มอีแวนเจลิคอล  

      อันดับแรกไวท์ให้คำจำกัดความของตรีเอกานุภาพที่เขาเรียกว่า “สั้น กระชับ และถูกต้อง” ดังนี้ว่า “ภายในตัวตนเดียวซึ่งก็คือพระเจ้านั้น มีสามบุคคลที่เท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกันคือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” (หน้า 26) ตรงนี้ไวท์แยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “ตัวตน” กับ “บุคคล” โดยที่พระเจ้าเป็นสามองค์บุคคล กระนั้นก็มีตัวตนเดียว ไวท์อธิบายเรื่องนี้ว่า

“เมื่อพูดถึงตรีเอกานุภาพ เราต้องตระหนักว่าเรากำลังพูดถึงหนึ่ง “อะไร” และสาม “ใคร” หนึ่ง “อะไร” ก็คือตัวตนหรือแก่นแท้ของพระเจ้า สาม “ใคร” ก็คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ”

      ด้วยเหตุนี้คำกล่างอ้างของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าเป็นความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวจึงขึ้นอยู่กับแนวคิดของ “ตัวตนเดียว”[45] หรือ “แก่นแท้เดียว” มากกว่าจะเป็น “บุคคลเดียว”[46] ความพยายามที่จะให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีความคล้ายคลึงกับความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวอยู่บ้างนั้น ไวท์จึงถูกบีบที่จะทำให้พระเจ้าเป็น “อะไรอย่างหนึ่ง” ไม่ใช่ “ใครคนหนึ่ง[47] ซึ่งเป็นคำอธิบายที่หมิ่นประมาทพระเจ้า พระเจ้าของความเชื่อในตรีเอกานุภาพตามหลักแล้วก็คือ “สิ่ง” (“it หรือ “มัน”) ไม่ใช่ “บุคคล” (“He หรือ “พระองค์”)

      ถ้าคุณใช้สิ่งนี้ให้หมายความว่า พระเจ้าของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ใช่บุคคล คุณก็คิดถูกแล้ว เทอร์ทูลเลียนกล่าวว่า “พระเจ้าเป็นนามสำหรับแก่นสาร (ดูที่ เจ เอ็น ดี เคลลี่ ในหลักคำสอนของคริสเตียนยุคแรก หน้า 114)” ซี เอส ลูอิส[48] ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างเต็มหัวใจกล่าวไว้ว่า “ศาสนศาสตร์คริสเตียนไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรงเป็นบุคคล แต่เชื่อว่าในพระองค์นั้นตรีเอกภาพของสามองค์บุคคลสอดคล้องกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของความเป็นพระเจ้า นั่นก็หมายความว่า ศาสนศาสตร์คริสเตียนเชื่อว่าพระองค์เป็นอะไรอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากบุคคลมาก” (ทัศนะของ คริสเตียน หน้า 79)[49]

      ในหลักเหตุผลที่แปลกประหลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่เพียงแค่ใช้ “เดียวกัน” ดังใน “แก่นแท้เดียวกัน” ก็ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว นี่คือสิ่งที่เราอาจเรียกว่า “ความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวโดยคำศัพท์” วิธีเดียวที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะได้มาซึ่ง “พระเจ้าเดียว” จากแนวคิดของ “แก่นแท้เดียว” ก็คือการกำหนดให้พระเจ้าเป็นสสาร (เทอร์ทูลเลียน) ซึ่งเป็นเหตุผลที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เช่น เจมส์ ไวท์ไม่รีรอที่จะกล่าวว่าพระเจ้าคือ “อะไร”[50] อย่างหนึ่ง

      มันน่าแปลกที่แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันของ “สามองค์บุคคลซึ่งแต่ละองค์บุคคลต่างก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์” (จงสังเกตคำสำคัญว่า “อย่างสมบูรณ์”) ไม่ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพหมดคุณสมบัติจากการเป็นความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว   นี่เป็นความพยายามที่จะมีทั้งสองทาง คือที่จะมีความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวและก็เชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน ที่จะมีพระเจ้าเดียวและก็มีพระเจ้าสามพระองค์ โดยที่แต่ละพระองค์เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในการวิเคราะห์สุดท้ายนี้ เหตุผลที่วกวนมากของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นผลมาจากความพยายามที่จะพิสูจน์ในทางคณิตศาสตร์ให้ได้ว่าสามเท่ากับหนึ่ง หรือ 1/3 เท่ากับหนึ่ง

      ไวท์กล่าวต่ออีกว่า “พระบิดาไม่ใช่ 1/3 ของพระเจ้า พระบุตรไม่ใช่ 1/3 ของพระเจ้า พระวิญญาณไม่ใช่ 1/3 ของพระเจ้า แต่ละพระองค์ต่างก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ แต่ละพระองค์มีความเท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน” คำกล่าวนี้มีปัญหาเพราะถ้าพระเจ้าเป็นสามองค์บุคคล แล้วทุกองค์ก็เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์” (จงสังเกตคำว่า “อย่างสมบูรณ์” ซึ่งบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพหมายถึงพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง) ก็จะต้องมีทั้งสามองค์บุคคลในเวลาเดียวกัน มิฉะนั้นพระองค์ก็จะเป็นพระเจ้าเพียงบางส่วน (เว้นแต่ว่าเราจะเปลี่ยนคำนิยามของ “พระเจ้า” โดยใช้คำพูดที่บิดเบือนความหมายให้เข้าใจผิดๆ)

      ปัญหายิ่งลึกกว่านั้นอีก เพราะถ้าพระเยซูไม่ได้เป็นทั้งสามองค์บุคคลในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็จะไม่ใช่พระเจ้าเลย เพราะว่าพระเจ้าจะต้องดำรงอยู่เป็นสามองค์บุคคลเสมอ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วเราก็กำลังเปลี่ยน “ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพให้ตกอยู่ในข่ายของความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน ไวท์ปฏิเสธความคิดที่ว่าพระเยซูทรงเป็นหนึ่งในสามของพระเจ้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระเยซูทรงเป็นหนึ่งในสามของตรีเอกานุภาพ ในแง่ที่เป็นหนึ่งในสามองค์บุคคลของตรีเอกานุภาพ ซึ่งบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพถือว่าเท่าเทียมกับพระเจ้า

      คำยืนยันของไวท์ว่าทั้งสามองค์ต่างก็เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์” แต่เป็นการยืนยันที่ไม่มีข้อ สนับสนุนของความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันขนานแท้และดั้งเดิม แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ปฏิเสธอย่างร้อนแรงว่าหลักคำสอนของพวกเขาเป็นความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน และพวกเขาทำเช่นนี้โดยยืนกรานว่า พระเจ้าจะไม่ใช่พระเจ้าโดยมีพระบิดาแต่เพียงลำพัง หรือมีพระบุตรแต่เพียงลำพัง หรือมีพระวิญญาณแต่เพียงลำพัง แต่โดยมีทั้งสามพระองค์รวมกัน นี่เป็นหนึ่งในสองหลักการพื้นฐานของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (คาร์ล บาร์ธ) และกล่าวไว้อย่างชัดเจนในคำพูดต่อไปนี้ของมิลลาร์ด เอริกสัน[51] ผู้แทนที่มีชื่อเสียงของความเชื่อในตรีเอกา   นุภาพดังนี้ว่า

 

พระเจ้าจะไม่สามารถดำรงอยู่เพียงแค่พระบิดา หรือเพียงแค่พระบุตร หรือเพียงแค่พระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือเพียงแค่พระบิดากับพระบุตร หรือเพียงแค่พระบิดากับพระวิญญาณ หรือเพียงแค่   พระบุตรกับพระวิญญาณ โดยไม่มีองค์ที่สามของพระองค์เหล่านี้ในกรณีดังกล่าวนั้น นอกจากนี้ก็ไม่มีพระองค์ใดจากสามพระองค์ จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้เป็นส่วนของตรีเอกานุภาพ... ไม่มีพระองค์หนึ่งพระองค์ใดมีพลังชีวิตภายในตัวเองเพียงลำพัง แต่ละพระองค์จะสามารถดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเป็นส่วนของพระเจ้าที่ประกอบด้วยสามองค์เท่านั้น (พระเจ้าในสามองค์บุคคล หน้า 264)[52]

 

      คำกล่าวของเอริกสันที่ว่า “ไม่มีพระองค์หนึ่งพระองค์ใดมีพลังชีวิตภายในตัวเองโดยลำพัง” เป็นวิธีอธิบายที่น่าตกใจที่สุดในการอธิบายถึงผู้ที่ควรจะเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ (และในกรณีของพระบิดาจะขัดแย้งอย่างจังกับยอห์น 5:26 ที่กล่าวว่า “พระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เอง”) คำกล่าวที่น่าตกใจพอๆกันก็คือ “ไม่มีพระองค์ใดจากสามพระองค์นี้จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้เป็นส่วนของตรีเอกานุภาพ” เอริกสันไม่ได้แค่พูดว่าพระเจ้าทรงดำรงอยู่ในสามพระองค์ แต่ว่าแต่ละพระองค์ไม่มีพลังอำนาจในการดำรงอยู่ด้วยตนเองนอกกรอบของตรีเอกานุภาพ! คำกล่าวนั้นน่าจะจงใจให้เป็นวิธีหลีกเลี่ยงการเป็นความเชื่อในพระเจ้าสามบุคคลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

      คำกล่าวของเอริกสันที่ทำให้งงว่า “ไม่มีพระองค์ใดจากสามพระองค์นี้จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้เป็นส่วนของตรีเอกานุภาพ” ได้ทำลายความหมายของการเป็นพระเจ้าอย่างได้ผล ถ้าพระเยซู (หรือพระบิดา หรือพระวิญญาณ) เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ละก็ การดำรงอยู่ของพระองค์ก็จะไม่ขึ้นอยู่กับใครอื่น เพราะพระเจ้า “ทรงเป็น” พระเจ้าทรงเป็น “เราเป็นผู้ที่เราเป็น” หรือ “เราจะเป็นผู้ที่เราจะเป็น”[53] ไม่มีสิ่งใดจะสามารถจำกัด หรือกำหนด หรือจำกัดขอบเขตการดำรงอยู่ของพระเจ้าได้ แต่ในความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น ความเป็นจริงในการดำรงอยู่สูงสุดนั้นไม่ใช่พระเจ้าเอง แต่เป็นกรอบของพระเจ้าสามพระองค์ที่กำหนดการดำรงอยู่ของสามองค์บุคคล ซึ่งไม่มีพระองค์ใดจะสามารถดำรงอยู่นอกตรีเอกานุภาพได้ (มิลลาร์ด เอริกสัน) นั่นเป็นเหตุที่พระเจ้าตรีเอกภาพจึงไม่ใช่ “บุคคล” หนึ่ง (ซี เอส ลูอิส) แต่เป็น “สิ่ง” หนึ่ง (เจมส์ ไวท์)[54]

      คำกล่าวของเอริกสันที่ว่า “พระเจ้าไม่สามารถดำรงอยู่เพียงแค่พระบิดา หรือเพียงแค่เป็นพระบุตร หรือเพียงแค่เป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์” นั้น ขัดแย้งตรงๆกับคำยืนยันของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ พระบุตรทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และพระวิญญาณทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์

      ความจริงที่เห็นได้ชัดก็คือ เอริกสันกำลังพยายามจะทำภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ในการอธิบายความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่ไม่เคยมีการอธิบายได้อย่างสอดคล้องกันมาสองพันปี นั่นคือเหตุผลว่าทำไมความเชื่อในตรีเอกานุภาพมักจะถูกกล่าวว่าเป็นความล้ำลึก[55] (เปรียบเทียบกับไวท์ หน้า 173 “ความล้ำลึกที่เกินความเข้าใจของมนุษย์”)[56] ความเชื่อในตรีเอกานุภาพยังคงเป็นความล้ำลึกมาจนถึงศตวรรษที่ 21 เพราะบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยังคงไม่สามารถอธิบายให้สอดคล้องกันได้ว่าทั้งสามพระองค์ ซึ่งแต่ละพระองค์ก็เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง” นั้นจะสามารถรวมกันเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวได้อย่างไร สิ่งนี้อธิบายถึงการหลบเลี่ยงให้เป็น ความล้ำลึก แม้จะด้วยความคิดอันหลักแหลมอย่างของออกัสตินก็ตาม

      แต่นั่นไม่ใช่ความหมายของ “ความล้ำลึก” ตามพระคัมภีร์ ความล้ำลึกที่กล่าวถึงในพระคัมภีร์ ไม่ใช่สิ่งที่ไร้เหตุผลหรือสิ่งที่เกินความเข้าใจ แต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ก็เพราะเราขาดข้อมูลที่สำคัญบางอย่าง นี่เป็นความจริงแม้ในการใช้คำนี้ในทางโลก เช่น ความล้ำลึกของวิธีการสร้างพีระมิดต่างๆ หรือความล้ำลึกหรือความลึกลับที่ถูกสืบสวนสอบสวนโดยเชอร์ล็อก โฮล์ม[57] (แต่เมื่อเขาไขปัญหาได้ มันก็ไม่เป็นความลึกลับที่เข้าใจยากอีกต่อไป)

      เปาโลกล่าวว่าเราเข้าใจความล้ำลึกได้กระจ่างชัดเมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยสิ่งนั้นกับเราคือ “ทรงให้ทุกคนเห็นว่าอะไรคือแผนงานของความล้ำลึกที่พระเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ทรงปิดบังไว้ตลอดหลายยุคที่ผ่านมา” (เอเฟซัส 3:9) เปาโลปรารถนาจะ “ประกาศข้อล้ำลึกของพระคริสต์” ที่ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถเข้าใจได้ แต่ “เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประกาศเรื่องราวอย่างแจ่มชัดตามที่ควร (โคโลสี 4:3-4) เป็นคำกล่าวที่แทบจะไม่เป็นจริงกับความล้ำลึกของตรีเอกานุภาพ

      ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น ความล้ำลึกก็ยังคงเป็นความล้ำลึกแม้หลังจากที่ได้อธิบายแล้วก็ตาม! แต่ในพระคัมภีร์ไม่ได้กล่าวเช่นนั้น พจนานุกรมพระคัมภีร์ต่อไปนี้กล่าวได้ถูกต้องว่า ความล้ำลึกไม่ใช่สิ่งที่ “ไม่สามารถหาคำตอบได้” แต่เป็นสิ่งที่ “เมื่อถูกเปิดเผยก็รู้กันและเข้าใจได้”

 

แต่ในขณะที่ “ความล้ำลึก” (mystery) อาจหมายถึงและการใช้ในปัจจุบันมักจะหมายถึง ความลับที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ นี่ไม่ใช่ความหมายของคำ mystērion ในภาษากรีกดั้งเดิมและในพระคัมภีร์ภาษากรีก คำ mystērion ในพระคัมภีร์ใหม่หมายถึงความลับที่กำลังจะเปิดเผยหรือแม้แต่ได้ถูกเปิดเผย ซึ่งยังอยู่ในวิถีของพระเจ้าในการทำบางสิ่ง และพระเจ้าจะต้องเปิดเผยกับมนุษย์ทางพระวิญญาณของพระองค์ ดังนั้นเองคำนี้จึงใกล้เคียงมากกับคำ apokalypsis ในพระคัมภีร์ใหม่ที่หมายถึง “การเปิดเผย” (revelation) Mystērion เป็นความลับที่ชั่วคราว ซึ่งเมื่อใดที่ถูกเปิดเผยให้ทราบและเข้าใจ ก็จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป (พจนานุกรมนิวไบเบิ้ล, พิมพ์ครั้งที่ 3, “ความล้ำลึก”)[58]

 

      ความจริงแล้วคำสอนที่ไม่ตรงตามพระคัมภีร์ของความเชื่อแบบซาเบลเลียสหรือโมดาลิส[59] (ซึ่งกล่าวในประวัติศาสตร์แห่งความรอดว่า พระเจ้าถูกสำแดงให้เห็นในสามสถานะคือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ เหมือนกับการที่น้ำ (H2O) สามารถจะเป็นของเหลว น้ำแข็ง หรือ ไอน้ำ) มีความเป็นเหตุเป็นผลแบบไม่จำกัดมากกว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพ นั่นเป็นเพราะความเชื่อแบบโมดาลิสไม่ขัดแย้งในตัวเองเหมือนกับความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน หากความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีความเป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องในตัวเอง มันสามารถเป็นเช่นนั้นได้ในรูปของความเชื่อแบบโมดาลิสหรือความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันโดยสมบูรณ์ ซึ่งทั้งสองความเชื่อนี้ไม่ตรงตามพระคัมภีร์เช่นเดียวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      ความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามองค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นกรณีพิเศษของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ที่คาดกันว่าน่าจะยืมมาจากภาษาของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ และก็เป็นเช่นนั้น ศาสนาฮินดูที่มีชื่อเสียงในการนับถือพระเจ้าหลายองค์บางครั้งจะพูดถึง “เนื้อแท้ของพระเจ้า” หรือ “แก่นแท้ของพระเจ้า”[60] ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เผยให้เห็นเพิ่มเติมถึงความเกี่ยวดองกันของความเชื่อใน   ตรีเอกานุภาพกับความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามองค์ที่แตกต่างกันและความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์

      คำ “แก่นแท้ของพระเจ้า” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพยังใช้ในตำนานเทพเจ้ากรีกที่เชื่อในพระเจ้าหลายองค์[61]และในความเชื่อแบบนอสติก[62] แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูและภาษากรีก!

      ในสมัยที่ผมเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่ดีคนหนึ่งนั้น ผมเชื่อความเป็นพระเจ้าในสามพระภาค เพราะเราที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราได้เชื่อในสามพระองค์ที่เท่าเทียมกัน เราไม่สามารถจะพูดถึงพระเจ้าองค์เดียวได้อย่างที่ควร แต่จะพูดถึงความเป็นพระเจ้าเดียว สิ่งที่แปลกก็คือเราไม่สามารถจะพูดถึง “พระเจ้าสามองค์” ได้ แม้ว่าแต่ละ “องค์บุคคล” เหล่านี้ (ตามที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกา นุภาพเรียกกัน) จะเป็นพระเจ้าที่สมบูรณ์และเป็นพระเจ้าที่เท่าเทียมกันก็ตาม เรามีสิทธิ์อย่างเต็มที่ที่จะพูดถึงพระเจ้าสามองค์ในตรีเอกานุภาพ ไม่ใช่แค่ว่าสามองค์บุคคล ที่ถูกกล่าวว่ามี “แก่นแท้” เดียวกันที่มาจากคำกรีกว่า “ousia” ซึ่งเป็นคำที่เหมาะจะใช้กับสิ่งที่เป็นวัตถุหรือสสารมากกว่า แต่ได้ถูกดึงเข้ามาใช้ในความเชื่อตรีเอกานุภาพเพราะไม่สามารถจะหาคำที่ดีกว่านี้ได้ เมื่อคุณเริ่มคิดค้นคำ ต่างๆ เช่น “ตรีเอกานุภาพ” หรือ “พระเจ้าพระบุตร” หรือ “พระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์” มันก็จะบีบให้คุณคิดค้นคำอื่นๆขึ้นมา เช่น “แก่นแท้” และกำหนดความหมายให้กับคำเหล่านั้น เช่น กับคำ “พระเจ้า” ที่พระคัมภีร์ไม่ได้หมายความเช่นนั้น

      ถ้า “พระเจ้าเป็นวิญญาณ” (ยอห์น 4:24) แล้วพระเจ้าจะมีแก่นแท้ได้อย่างไร? ในความไม่สม เหตุสมผลของความเชื่อในตรีเอกานุภาพกับแนวคิดทางวัตถุสสารที่เกี่ยวกับ “แก่นแท้” ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวทางของพระคัมภีร์ ได้ถูกนำมาใช้อธิบายว่าสามารถจะเป็นสามองค์บุคคลในพระเจ้า “เดียว” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ สามัญสำนึกบอกเราว่า หากมีสามองค์บุคคล (ไม่ใช่แค่มีสามใบหน้าหรือสามศีรษะในบุคคลเดียวกัน) ที่แต่ละองค์ก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ก็แสดงว่ามีพระเจ้าสามองค์ นี่เถียงไม่ได้ในแง่กฎของไวยากรณ์ ในแง่ความหมายของคำ และภาษาที่ชัดเจน แต่กระนั้นคริสเตียนทั้งหลายที่รวมทั้งตัวผมเองก็มึนงงจนเราไม่สามารถจะมองเห็นได้ชัด อานุภาพในการล้างสมองของสิ่งที่เชื่อสืบทอดกันมานั้นน่ากลัวเพราะมันทำให้ตาบอดมืด สภาพฝ่ายวิญญาณของคริสตจักรก็เป็นเหมือนกับที่พระเยซูตรัสไว้ว่า “คนตาบอดนำทางคนตาบอด” กับผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทั้งสอง “จะตกลงไปในบ่อ” (มัทธิว 15:14, ลูกา 6:39)

      ขอพระยาห์เวห์ทรงเมตตาต่อผู้ที่อยู่ในคริสตจักรที่แสวงหาความจริง และขอพระองค์ประทานสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสัญญากับพวกเขาว่า

 

“เรา​จะ​นำ​คน​ตา​บอด​ไป​ใน​ทาง​ที่พวก​เขา​​ไม่​รู้จัก เรา​จะ​พา​เขา​ไปในเส้นทาง​ที่พวก​เขา​ไม่​ได้คุ้นเคย เรา​จะ​ให้​ความ​มืด​ข้าง​หน้า​พวก​เขา​กลับ​เป็น​ความ​สว่าง จะทำ​ที่ขรุขระ​ให้​เป็นพื้นราบ เราจะทำสิ่ง​เหล่า​นี้​ และ​เรา​จะ​ไม่ทอด​ทิ้งพวกเขา” (อิสยาห์ 42:16 ฉบับ ESV)

 

กระแสประวัติศาสตร์:

คอนสแตนตินและการสังคายนาแห่งไนเซีย

หลักคำสอนของตรีเอกานุภาพที่ใช้ภาษาไม่ตรงตามพระคัมภีร์และซึมซับแนวคิด

ตามปรัชญากรีก เช่น “การมีแก่นแท้เดียวกัน”[63] และ “การดำรงอยู่ร่วมกัน”[64] และ

“การบังเกิดมาจากพระบิดาและดำรงอยู่ด้วยกันตั้งแต่นิรันดร์กาล”[65]

จะกลายมาเป็นคำสอนที่เป็นหลักของความเชื่อของคริสเตียนได้อย่างไร?

คำตอบมีอยู่ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของคริสตจักรยุคแรก

 

      าวๆสามร้อยปีหลังสมัยของพระเยซู ในเวลานั้นคริสตจักรของคนต่างชาติก็ได้ตั้งให้พระองค์เป็นเป้าหมายของการนมัสการแล้ว พระเยซูพระเจ้าที่เรียกว่าพระเจ้าพระบุตรได้เป็นผู้ที่คริสตจักรของคนต่างชาติ (ที่ไม่ใช่ชาวยิว) แต่งตั้งขึ้นโดยถือว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะยกระดับพระเยซูจากการเป็นมนุษย์ให้เป็นพระเจ้า การยกมนุษย์ขึ้นเป็นพระเจ้านั้นวงสังคมของคนต่างชาติในยุคสมัยนั้นต่างคุ้นเคยกันดี จริงๆแล้วชาวกรีกมีพระเจ้ามากมายที่เห็นเป็นมนุษย์ และชาวโรมันก็นมัสการจักรพรรดิหลายองค์ของพวกเขาเองเป็นพระเจ้า รวมทั้งคอนสแตนตินเองด้วย

      วิธีที่คริสตจักรของคนต่างชาติได้ยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้า ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่พระเยซูตรัสถึงวิธีที่บางคนปฏิบัติกับยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่า “เขาได้ทำกับท่านตามที่ต้องการแล้ว” (มัทธิว 17:12)[66] คริสตจักรต่างๆ ได้กระทำกับพระเยซูตามที่พวกเขาต้องการอย่างไม่ละอายใจเช่นเดียวกัน พวกเขาคิดจริงๆหรือว่าพระเยซูจะทรงเห็นชอบให้พวกเขา “ยกพระองค์ขึ้น” เป็นพระเจ้า (เปรียบเทียบกับยอห์น 8:28[67] ที่ “ถูกยกขึ้น” หมายถึงการที่พระองค์ทรงถูกยกขึ้นบนกางเขนต่างหาก)?

      ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา พระเยซูตามพระคัมภีร์ก็เลือนหายไปจากคริสตจักรของคนต่างชาติในเรื่องของความเชื่อและการปฏิบัติ และผู้เข้ามาแทนที่พระองค์ก็คือพระเยซูคริสต์ พระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      เราไม่ควรจะด่วนสรุปว่าความตั้งใจของบรรดาผู้นำคริสตจักรไม่ถูกต้องเมื่อพวกเขาทำเช่นนี้ ในการยกย่องพระเยซูเป็นพระเจ้านั้น พวกเขาคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่น่าสงสัย แต่เจตนาที่ดีไม่ได้ทำให้การกระทำที่ผิด การกระทำที่รุนแรง การไหว้รูปเคารพ หรือคำสอนที่ไม่ได้เป็นตามพระคัมภีร์กลายเป็นสิ่งที่ถูก เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “การกระทำที่ชั่วร้ายมักจะถูกบังตาด้วยเจตนาที่ดีเสมอ[68]

 

การยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าใน ค.ศ. 325 และการยกพระวิญญาณขึ้นเป็นพระเจ้าใน ค.ศ. 381

      มีคริสเตียนน้อยคนที่รู้ว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในคริสตจักรของคริสเตียนจนกระทั่งปี ค.ศ. 381 สามศตวรรษครึ่งหลังจากสมัยของพระคริสต์ ในปีของการสังคายนาแห่งคอนสแตนติโนเปิลที่เรียกประชุมโดยจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่หนึ่ง[69]ของโรมันที่ได้รับรองว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์มี “แก่นแท้” เดียวกันกับพระบิดาและพระบุตร นั่นเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคริสตจักร และด้วยคำชี้ขาดของคณะบาทหลวงนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์จึงได้ถูกประกาศให้เป็นพระองค์ที่สามในตรีเอกานุภาพ และก่อนที่เรื่องนี้จะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีตรีเอกภาพของผู้ที่ดำรงอยู่ “ในสภาวะเดียวกัน” ฉะนั้นการพูดถึงตรีเอกานุภาพในพระคัมภีร์ใหม่ในช่วงนั้นจึงเป็นการพูดที่ผิดสมัย เพราะคริสตจักรไม่ได้ยอมรับว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของตรีเอกานุภาพเลย จนกระทั่ง 350 ปีหลังจากสมัยของพระคริสต์               

      การยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าอย่างเป็นทางการนั้นเกิดขึ้นเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนหน้า ในการสังคายนาแห่งไนเซียปี ค.ศ. 325 แม้ว่าในพระคัมภีร์ใหม่จะไม่มีคำกล่าวที่ชัดเจน หรือตรงไปตรงมา หรือเถียงไม่ได้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า อันที่จริงการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าได้เริ่มต้นก่อนหน้านี้อีกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สอง เมื่อบรรดาผู้นำคริสตจักรคนต่างชาติบางส่วนมีคำแถลงอย่างไม่เกรงขามและไม่ยึดถือตามพระคัมภีร์เกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระเยซู การยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าจึงได้แพร่หลายในคริสตจักรต่างชาติที่เป็นกรีกในช่วงของการยกระดับพระเยซูให้สูงขึ้นและสูงขึ้นสู่ความเป็นพระเจ้า แต่ส่งผลให้มีการโต้แย้งและการต่อต้านมาก แม้แต่ความรุนแรงที่ต้องใช้กำลังกัน ซึ่งได้ดำเนินไปโดยไม่ได้นึกถึงเรื่องน่าอับอายกับพฤติกรรมดังกล่าว[70]

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสภาสังคายนาแห่งไนเซีย

      เมืองคอนสแตนติโนเปิลโบราณตั้งอยู่ในพื้นที่ของเมืองอิสตันบูลของตุรกีในปัจจุบัน ในขณะที่เมืองไนเซียโบราณตั้งห่างออกไป 60 ไมล์ซึ่งในปัจจุบันคือเมืองอิซนิกของตุรกี สองเมืองนี้เป็นเมืองที่พูดภาษากรีกในจักรวรรดิไบแซนไทน์ช่วงสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนติน (เกิด ค.ศ.272, สิ้น ชีวิต ค.ศ. 337) เมืองคอนสแตนติโนเปิลก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 330 โดยคอนสแตนตินเองบนที่ตั้งของ เมืองไบแซนเทียม[71]มาก่อน คอนสแตนติโนเปิลถูกยึดครองโดยมุสลิมชาวออตโตมันในปี ค.ศ. 1453 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูล

      ในปี ค.ศ. 325 จักรพรรดิคอนสแตนติน หรือที่รู้จักกันในนามของคอนสแตนตินมหาราช ได้จัดให้มีสภาสังคายนาแห่งไนเซียครั้งที่หนึ่ง ซึ่งในบทสรุปของหลักข้อเชื่อไนเซียได้นำคำสำคัญว่า homoousios (แก่นแท้เดียวกัน) มาประกาศว่าพระเยซูทรงมี “แก่นแท้เดียวกัน” กับพระเจ้าพระบิดาและดังนั้นจึงทรงเท่าเทียมกับพระบิดา เนื่องจากการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าอย่างเป็นทางการมาแทนที่ ตอนนี้คริสตจักรจึงมีพระเจ้าสององค์ (ความเชื่อว่าพระเจ้ามีสององค์ที่มีอำนาจเท่าๆกัน)[72] หรือสองบุคคลที่เป็นพระเจ้าองค์เดียวที่เสมอภาคกัน (ทวิเอกานุภาพ)[73] เนื่องมาจากการมี “แก่นแท้” เดียวกันของพระเจ้าสององค์นี้

      สองสามทศวรรษต่อมาในปี ค.ศ. 381 ในสภาสังคายนาแห่งคอนสแตนติโนเปิลครั้งที่หนึ่ง ได้เพิ่มพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระองค์ที่สามในความเป็นพระเจ้า เพื่อทำให้พระเจ้าเป็นตรีเอกานุภาพอย่างเป็นทางการ หลักคำสอนเกี่ยวกับสามองค์บุคคลในความเป็นพระเจ้า ซึ่งเป็นสูตรของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์มากกว่าเป็นความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวนั้น คริสตจักรของคนต่างชาติโดยมากไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ไม่ตรงตามพระคัมภีร์ หรือนอกคอก เพราะที่จริงเป็นคริสตจักรที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ได้ฝังรากลึกอยู่นานแล้ว และคนทั่วไปก็คุ้นชินกับแนวความคิดแบบนอสติก[74]

      พูดโดยย่อก็คือ ความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ ในแง่ของการที่พระองค์ทรงมีสภาวะเดียวกับพระบิดานั้นไม่ได้มีขึ้นอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี ค.ศ. 325 สองสามเดือนหลังจากที่คอนสแตนตินได้มาเป็นจักรพรรดิเพียงผู้เดียวของจักรวรรดิโรมัน จากการที่เห็นความขัดแย้งของการแบ่งแยกในหมู่ผู้นำของคริสตจักรในเรื่องความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ และกลัวว่าเรื่องนี้อาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงในความเป็นปึกแผ่นของจักรวรรดิ คอนสแตนตินจึงมีคำสั่งทันทีให้บรรดาหัวหน้าบาทหลวงคริสเตียนมารวมตัวกันที่ทำเนียบของเขาในไนเซีย

      เขาได้จัดการประชุมสังคายนานี้ด้วยตนเอง แม้ว่าตัวเขาจะไม่ได้เป็นคริสเตียนโดยหลักการ (เขาไม่ได้รับบัพติศมาจนกระทั่ง 12 ปีต่อมา ไม่นานก่อนที่จะเสียชีวิต) การที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนนั้น เขาจึงรู้เรื่องหลักคำสอนของคริสเตียนน้อยมาก และต้องพึ่งคำแนะนำของที่ปรึกษาที่เป็นคริสเตียนหนึ่งหรือสองคน แม้จะไม่ใช่คริสเตียนซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักคำสอนของคริสเตียน แต่เขาได้กำหนดให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหลักคำสอน โดยการรวบรวมหัวหน้าบาทหลวงสามร้อยกว่าคนที่เป็นตัวแทนของมุมมองจากหลักคำสอนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งกรณีส่วนมากไม่สามารถจะปรองดองกันได้ เขาขาดความรู้ที่ถูกต้องในคำสอนของคริสเตียน แต่การที่เป็นนักการเมืองที่ชาญฉลาด เขารู้ว่ามันจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองเพื่อสนับสนุนและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งจากการประชุมของบรรดาหัวหน้าบาทหลวงนี้ ฝ่ายที่สนับสนุนความเป็นพระเจ้าที่สมบูรณ์ของพระคริสต์นั้นแข็งแกร่งกว่าฝ่ายที่ไม่ได้สนับสนุนเล็กน้อย แม้ว่าบาทหลวงส่วนใหญ่จะยังคงเชื่อว่าพระบุตรทรงอยู่ใต้บัญชาของพระบิดา ในกรณีนี้เป็นความเฉลียวฉลาดทางการเมืองของคอนสแตนตินที่จะสนับสนุนฝ่ายที่สนับสนุนความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ อย่างไรก็ดีคอนสแตนตินเองก็ไม่ได้รังเกียจเรื่องการที่จะยกพระคริสต์ขึ้นเป็นพระเจ้า เพราะบรรดาจักรพรรดิโรมันก็ถูกยกให้เป็นพระเจ้าเช่นกัน รวมทั้งตัวของเขาเองด้วย

      ด้วยเหตุนี้สภาสังคายนาแห่งไนเซียจึงประกอบด้วยผู้นำคริสตจักรราว 300 คน ซึ่งถือสิทธิ์ว่าตนเองมีอำนาจเหนือชาวคริสต์ทั้งหลายที่จะยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้า ประกาศพระองค์เป็นพระเจ้าโดยอ้างอำนาจของตนเอง ไม่ได้อ้างพระคัมภีร์เพื่อมาสนับสนุนในการประกาศหลักความเชื่อด้วยซ้ำ ผู้นำคริสตจักรที่ค่อนข้างเล็กกลุ่มนี้ได้ทำกับพระเยซู “ตามที่พวกเขาต้องการ” เมื่อพวกเขา “ยกพระองค์ขึ้น” เป็นพระเจ้า และด้วยเหตุนั้นจึง “ได้ตรึงพระบุตรของพระเจ้าอีก” (ฮีบรู 6:6) พวกเขาคิดว่าพวกเขากำลังถวายเกียรติพระเยซูด้วยการประกาศให้พระองค์มีแก่นแท้เดียวกับพระเจ้าพระผู้สร้าง แต่คนๆหนึ่งจะได้รับเกียรติอย่างไรเมื่อเขาถูกประกาศให้เป็นในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น แล้วยังทำให้เขากลายเป็นรูปเคารพที่คนมากราบไหว้

      จำนวนของหัวหน้าบาทหลวงในการสังคายนาแห่งไนเซียนั้นไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัด รายงานต่างๆในสมัยเดียวกันให้จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมตั้งแต่ 220 คน (ตามรายงานของนักบุญซีซาเรีย[75] นักประวัติศาสตร์คริสตจักรคนสำคัญที่สุดจากคริสตจักรยุคแรก) ไปจนถึง 318 คน (เจโรเม่ และรูฟิอัส, เปรียบเทียบวิกิพิเดีย, สภาสังคายนาแห่งไนเซียครั้งที่หนึ่ง, “ผู้เข้าร่วมประชุม”)[76] จากจำนวนหัวหน้าบาทหลวง 1,800 คนของคริสตจักรในเวลานั้น มีเพียง 300 คนที่เข้าร่วมการสังคายนา ซึ่งบางคน “ไม่ค่อยรู้ศาสนศาสตร์ของคริสเตียนดีพอ” (สารานุกรมคาทอลิก, เล่ม 11, หน้า 44, ไนเซีย, สภาสังคายนา)[77] ข้อสังเกตสุดท้ายนี้เป็นสาเหตุให้เกิดความกังวลอย่างชัดเจนกับการประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับหลักคำสอนพื้นฐานของพระคัมภีร์

      เราอาจได้ข้อสรุปบางประการจากข้อสังเกตเหล่านี้ ประการแรกจะเห็นว่ามีผู้นำคริสตจักรเพียงหนึ่งในหกเท่านั้นที่อยู่ในการสังคายนาแห่งไนเซีย เนื่องจากการสังคายนานี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากคอนสแตนตินที่ให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาหาร และที่พักของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน แล้วเหตุใดหัวหน้าบาทหลวงอีก 83% จึงไม่ได้อยู่ในการสภาสังคายนานี้? (ในเวลานั้น “หัวหน้าบาทหลวง” ก็คือบาทหลวงอาวุโสของคริสตจักร) แม้แต่หัวหน้าบาทหลวงแห่งกรุงโรม นครซึ่งต่อมากลายเป็นที่ทำการของพระสันตะปาปา ก็ไม่ได้เข้าร่วมในการสังคายนานี้แต่ส่งตัวแทนไปร่วม จริงๆแล้วการสังคายนานี้มีสิทธิอำนาจอะไรหรือ?

      แล้วเราจะอธิบายเรื่องบันทึกที่ไม่ตรงกันของจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมอย่างไร? ตัวเลขเหล่านี้ได้มาจากบรรดาหัวหน้าบาทหลวงที่ได้เข้าร่วมในการประชุมสังคายนานี้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันถึง 100 คนเมื่อประเมินจากจำนวนสูงสุดและต่ำสุด ใครๆก็สงสัยในความน่าเชื่อถือของสภาสังคายนานี้ในการสังเกตข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หรือว่าหัวหน้าบาทหลวงบางคนได้เข้าร่วมประชุมแบบไม่ค่อยสม่ำเสมอไหม?

      คำกล่าวจากสารานุกรมคาทอลิกว่า พวกหัวหน้าบาทหลวงบางคนมีความเข้าใจคำสอนของคริสเตียนยังไม่ดีพอ จึงทำให้เกิดคำถามว่า “บางคน” ที่ว่านั้นมีจำนวนสักเท่าไร? มี 10 คน? 50 คน? 100 คน? พวกหัวหน้าบาทหลวงได้รับการแต่งตั้งโดยใช้หลักเกณฑ์อะไรหรือ หากพวกเขาไม่สามารถจะให้คำสอนที่ถูกต้องกับกลุ่มคนของพวกเขาเองได้?

      ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่แม้ว่าจะไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเองก็คือ การขาดการเข้าถึงพระคัมภีร์อย่างเลวร้ายมาก แม้ในหมู่ของพวกหัวหน้าบาทหลวงเอง คอนสแตนตินตระหนักถึงปัญหานี้ เขาจึงมอบหมายให้นักบุญยูซีเบียสแห่งซีซาเรียจัดทำสำเนาพระคัมภีร์ห้าสิบเล่ม[78] แต่ข้อกำหนดของจักรพรรดินี้ออกมาในปี ค.ศ. 331 ซึ่งสายเกินไปที่จะให้คำชี้ขาดเกี่ยวกับหลักคำสอนของการประชุมสภาสังคายนาแห่งไนเซียปี ค.ศ. 325 อ่อนลง

 

หลักข้อเชื่อไนเซีย

      คำว่า “หลักข้อเชื่อไนเซีย” โดยหลักการแล้วมีความคลุมเครือเพราะสามารถอ้างได้ถึงหลักข้อเชื่อที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งได้รับการรับรองในที่ประชุมสังคายนาแห่งไนเซียปี ค.ศ. 325 หรือหลักข้อเชื่อเพิ่มเติมที่ได้รับการรับรองในสภาสังคายนาแห่งคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 381 หลักข้อเชื่อก่อนหน้า บางครั้งจะเรียกว่า “หลักข้อเชื่อของไนเซีย” หลักข้อเชื่ออย่างหลังของปี ค.ศ. 381 ที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่า “หลักข้อเชื่อไนซีโน-คอนสแตนติโนโปลิตัน” แต่มักจะเรียกง่ายๆว่าหลักข้อเชื่อไนเซียนั้น เป็นหลักข้อเชื่อที่บรรดาคริสตจักรที่เชื่อในตรีเอกานุภาพในปัจจุบันได้รับรองเพราะรวมพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ในตรีเอกานุภาพ ในขณะที่หลักข้อเชื่อก่อนหน้าของปี ค.ศ. 325 ไม่มีการกำหนดความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ชัดเจน[79]

      ต่อไปนี้คือหลักข้อเชื่อไนซีโน-คอนสแตนติโนโปลิตันของปี ค.ศ. 381 ที่พบในหนังสือหลักข้อเชื่อของคริสเตียนยุคแรก โดย เจ เอ็น ดี เคลลี่ (พิมพ์ครั้งที่ 3 หน้า 297) เป็นงานเขียนที่ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับหลักข้อเชื่อของคริสตจักรในยุคแรก ส่วนการถกเถียงทางศาสนศาสตร์ตามประวัติ ศาสตร์เกี่ยวกับหลักข้อเชื่อนี้ สามารถดูได้ในหลักคำสอนของคริสเตียนยุคแรก[80], บทที่ 9 และ 10 โดยผู้เขียนคนเดียวกัน

 

        เราเชื่อวางใจในพระเจ้าองค์เดียว คือพระบิดา ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด

          ผู้สร้างฟ้าสวรรค์และโลก

            และทุกสิ่งที่ประจักษ์และไม่ประจักษ์แก่ตา

            ละเราเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว

            ผู้ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า

            ทรงกำเนิดจากพระบิดาก่อนการทรงสร้างกัลปจักรวาลทั้งมวล

            ความสว่างจากความสว่าง พระเจ้าแท้จากพระเจ้าแท้

          ทรงกำเนิด ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น ทรงมีแก่นแท้เดียวกันกับพระบิดา

            สิ่งสารพัดเป็นมาโดยทางพระองค์

            พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์

            เพื่อมนุษย์อย่างเรา และช่วยเราให้รอด

          ทรงกำเนิดจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

          และจากมารีย์หญิงพรหมจารี และทรงมาเป็นมนุษย์

          และทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อเราทั้งหลาย ภายใต้ปอนทิอัสปีลาต

          พระองค์ทรงทุกข์ทรมาน และทรงถูกฝังไว้[81]

          และในวันที่สาม ทรงคืนพระชนม์ตามที่พระคัมภีร์ทำนายไว้

          และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์

          และประทับ ณ เบื้องขวาของพระบิดา

          และจะเสด็จมาอีกด้วยพระสิริ เพื่อพิพากษาทั้งคนเป็นและคนตาย

          ราชอาณาจักรของพระองค์ไม่มีที่สิ้นสุด   

          ละเราเชื่อวางใจในพระวิญญาณบริสุทธิ์ องค์พระผู้เป็นเจ้าและผู้ประทานชีวิต

          ผู้ทรงเป็นมาจากพระบิดา

          ผู้ทรงรับนมัสการและการสรรเสริญพร้อมพระบิดาและพระบุตร

          ผู้ได้ตรัสทางพวกผู้เผยพระวจนะ

          ในคริสตจักรเดียวที่ศักดิ์สิทธิ์ของคาทอลิก และคริสตจักรของอัครทูตเท่านั้น[82]

          รายอมรับว่า มีพิธีบัพติศมาเพื่อการยกบาปแต่พิธีเดียว

            เราเชื่อมั่นในการฟื้นขึ้นจากความตาย

            และชีวิตในโลกหน้า

          อาเมน

 

      มีคริสเตียนน้อยคน ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพนอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่แทบไม่พอว่า เป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ร่วมแก่นแท้เดียวกันเป็นพระเจ้าองค์เดียว ความจริงแล้ว คริสเตียนบางคนไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับแก่นแท้เดียวกันด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาเข้าใจว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือความเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า แต่ถ้าถามว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นหลักคำสอนตามพระคัมภีร์ไหม พวกเขาก็จะตอบอย่างเสียงดังฟังชัดว่า “ใช่” แต่พวกเขาทราบหรือไม่ว่า หลักคำสอนนี้ไม่ได้มาเป็นหลักข้อเชื่อจนกระทั่งถึงศตวรรษที่สี่? นักวิชาการคาทอลิกที่ชื่อบาทหลวงจอห์น แอล แมคเคนซี่ กล่าวไว้ว่า “ความเชื่อที่ว่าในพระเจ้าประกอบด้วยสามองค์บุคคล ผู้ดำรงอยู่ในแก่นแท้เดียวกันนั้น ... ได้มีขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 และ 5 นี่เอง และด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่ความเชื่อในพระคัมภีร์อย่างชัดเจนและอย่างเป็นทางการ”

      หลักคำสอนซึ่งมีขึ้น 300 ปีหลังจากสมัยของพระเยซู จะมาเป็นหลักคำสอนในพระคัมภีร์ได้อย่างไร? หรือว่าหลักคำสอนนั้นจะ “ค่อยๆพัฒนาขึ้น” จากพระคัมภีร์ในช่วงตลอด 300 ปี ที่ใช้ภาษาอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งนำมาใช้กันอย่างเสรีกับหลายสาขาวิชาในทุกวันนี้ไหม? ความจริงของเรื่องก็คือว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้พัฒนาขึ้นในคริสตจักรของคนต่างชาติที่เป็นกรีกจากช่วงหลังของศตวรรษที่ 2 หลังจากที่ได้ขาดหายการติดต่อเป็นส่วนใหญ่กับคริสตจักรยิวสมัยแรกจากช่วงกลางของศตวรรษเดียวกัน คริสตจักรของคนต่างชาติมีความมุ่งมั่นที่จะยกพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์ให้สูงขึ้นและสูงขึ้นจนถึงขั้นเป็นพระเจ้า ซึ่งที่จริงสูงขึ้นจนเท่าเทียมอย่างสมบูรณ์กับพระเจ้า โดยผ่านกระบวนการของหลักคำสอนที่ไปจนถึงจุดสูงสุดในการทำให้พระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าอย่างเป็นทางการที่สภาสังคายนาแห่งไนเซียในปี ค.ศ. 325

 

คริสตจักรในยุคแรกรู้ว่าพระเยซูไม่ได้เท่าเทียมกับ

พระบิดาของพระองค์

      แม้จนถึงสมัยของการสังคายนาแห่งไนเซียและหลังจากนั้นเล็กน้อย ผู้นำคริสตจักรส่วนใหญ่ไม่ได้ยอมรับว่าพระเยซูทรงมีความเท่าเทียมกับพระบิดาของพระองค์ คนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อตามพระคัมภีร์ว่า พระเยซูทรงต่ำกว่าและอยู่ใต้พระบัญชาของพระบิดาของพระองค์ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่รู้จักกันว่า พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ใต้พระบัญชาของพระเจ้าพระบิดาในสภาวะและการดำรงอยู่[83] ในความเป็นจริงแล้ว หลักคำสอนที่พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ใต้พระบัญชาของพระเจ้าพระบิดาในสภาวะและการดำรงอยู่นี้เป็นมุมมองแบบ “ออร์โธดอกซ์”[84] ซึ่งมีมาก่อนการสังคายนาแห่งไนเซีย แต่กลายเป็นมุมมองที่ “นอกรีต” หลังจากการสังคายนาแห่งไนเซีย มันเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่หลักคำสอนว่าพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ใต้พระบัญชาของพระเจ้าพระบิดาในสภาวะและการดำรงอยู่ เป็นความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิมของคริสตจักรจนกระทั่งถึงช่วงสมัยของอธาเนเซียสในศตวรรษที่สี่ (อธาเนเซียส เป็นผู้สนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่กระตือรือร้นที่สุดในคริสตจักรยุคแรก) เราจะเห็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในคำกล่าวของสองแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ดังนี้

 

หลักคำสอนว่าพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ใต้พระบัญชาของพระเจ้าพระบิดาในสภาวะและการดำรงอยู่ การสอนเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าซึ่งเห็นว่าพระบุตรอยู่ใต้พระบัญชาของพระบิดาหรือพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ใต้พระบัญชาของทั้งพระบิดาและพระบุตร มันเป็นแนวลักษณะการสอนของคริสเตียนส่วนใหญ่ในช่วงสามศตวรรษแรก และเป็นลักษณะที่โดดเด่นของเหล่าบาทหลวงของออร์โธดอกซ์ เช่น เซนต์ จัสติน และเซนต์ ไอเรเนียส[85]... ตามข้อกำหนดของความเชื่อแบบออร์โธดอกซ์ที่ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 4 แล้ว มุมมองดังกล่าวถูกถือว่านอกรีตอย่างชัดเจนที่ปฏิเสธความเท่าเทียมกันของสามองค์บุคคลของตรีเอกานุภาพ” (พจนานุกรมของคริสตจักรคริสเตียนฉบับอ๊อกซ์ฟอร์ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 หน้า 1552-1553)[86]

 

“ด้วยข้อยกเว้นของอธาเนเซียส ซึ่งที่จริงก็ของนักศาสนศาสตร์แทบทุกคนทางประเทศตะวันออกและตะวันตก ได้ยอมรับบางรูปแบบของคำสอนว่า พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ใต้พระบัญชาของพระเจ้าพระบิดาในสภาวะและการดำรงอยู่ อย่างน้อยก็จนถึงปี ค.ศ. 355 แท้ที่จริงคำสอนว่าพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ใต้พระบัญชาของพระเจ้าพระบิดาในสภาวะและการดำรงอยู่ อาจถูกอธิบายว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เป็นที่ยอมรับ จนกระทั่งตอนจบ (ข้อยุติ) ของข้อโต้เถียง(อาร์ พี ซี แฮนสัน, การค้นหาหลักคำสอนของคริสเตียนเกี่ยวกับพระเจ้า หน้า xix)[87]

 

      ชื่อเสียงด้านวิชาการในงานเขียนของอาร์ พี ซี แฮนสัน ในเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับผู้นำทางศาสนาคริสต์สมัยแรกเริ่มนั้นยากที่จะพูดเกินจริง นักวิชาการทั้งหลายของคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า “ให้คำอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างครอบคลุมมากที่สุดในวงวิชาการที่ใช้ภาษา อังกฤษสมัยปัจจุบัน” หรือ “รักษามาตรฐานทางวิชาการที่ใช้ภาษาอังกฤษของข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพในศตวรรษที่สี่” และ “เกือบยี่สิบปีที่งานเขียนของแฮนสันได้ให้คำอธิบายที่ได้มาตรฐานเกี่ยวกับหลักคำสอนและแรงผลักดันของความขัดแย้งเกี่ยวกับความเชื่อตรีเอกานุภาพในศตวรรษที่สี่”

      หากหลักคำสอนว่าพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ใต้พระบัญชาของพระเจ้าพระบิดาในสภาวะและการดำรงอยู่ เป็นมุมมองของความเชื่อดั้งเดิมแม้จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 355 (อาร์ พี ซี แฮนสัน) แล้วหลักข้อเชื่อไนเซียในปี ค.ศ. 325 สามารถประกาศความเท่าเทียมกันของพระเยซูกับพระเจ้าได้อย่างไร? คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่ทราบคำตอบของข้อสงสัยนี้ แต่มันมีความสำคัญมากที่สุดเพราะมันเกี่ยวข้องกับหลักการที่เป็นหัวใจของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้า ดังนั้นอะไรคือคำตอบของข้อสงสัยนี้? คำตอบก็คือคอนสแตนติน

 

คอนสแตนติน

      มีคริสเตียนส่วนน้อยรู้เรื่องเกี่ยวกับคอนสแตนตินมหาราช (ค.ศ. 272-337) ผู้มาเป็นจักรพรรดิเพียงคนเดียวของจักรวรรดิโรมันเมื่อ 19 กันยายน ค.ศ. 324[88] เขาเป็นจักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียวจากกันยายน ค.ศ. 324 จนถึงมีนาคม ค.ศ. 325 เมื่อการสังคายนาแห่งไนเซียได้เริ่มขึ้นซึ่งมีช่วงห่างเพียงแค่หกหรือเจ็ดเดือน[89] ตัวคอนสแตนตินเองที่เรียกบรรดาผู้นำคริสตจักรมาที่พำนักของเขาในไนเซีย หลังจากนั้นเขาได้พูดกับบรรดาผู้นำคริสตจักรในที่ประชุมสังคายนา และได้ควบคุมเป็นส่วนใหญ่ในการประชุม[90]ของบรรดาผู้นำคริสตจักรที่เรียกว่า “หัวหน้าบาทหลวง” 300 คนหรือประมาณนั้น เขาเป็นผู้สนับสนุนหลัก[91]ของคำสำคัญ homo­ousios ซึ่งสภาสังคายนาใช้ยืนยันว่าพระเยซูทรงมี “แก่นแท้เดียวกัน” กับพระเจ้าพระบิดา

      ให้เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน หลักข้อเชื่อที่ชี้ขาดแล้วของคริสตจักรมีพื้นฐานมาจากหลักคำสอนของการมีสภาวะเดียวกันที่เป็นข้อมูลนอกพระคัมภีร์ ซึ่งก้าวหน้าขึ้นเพราะจักรพรรดิโรมันพระองค์หนึ่ง ผู้ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้รับบัพติศมาด้วยซ้ำ และยังเป็นหัวหน้าบาทหลวงในพิธี กรรมต่างๆของคนนอกศาสนาของจักรวรรดิ! คำ homo­ousios นี้ไม่ได้เป็นคำที่ตรงตามพระคัมภีร์ และคอนสแตนตินอาจได้รับมาจากที่ปรึกษาคริสเตียนคนหนึ่งของเขา (นักวิชาการส่วนใหญ่คิดว่าเป็นออสซีอัส หัวหน้าบาทหลวงแห่งเมืองคอร์โดวาในประเทศสเปน[92])

      ลักษณะที่นอกศาสนาอย่างชัดเจนของ homoousios สามารถเห็นได้ในข้อสังเกตทางประวัติ ศาสตร์ดังต่อไปนี้ “[ออสซีอัส] อาจกล่าวกับจักรพรรดิว่าแนวคิดแบบเพลโตเกี่ยวกับพระเจ้าองค์ที่หนึ่งและองค์ที่สองนั้นค่อนข้างคล้ายกับความเชื่อของคริสเตียนในพระเจ้าพระบิดา และพระวาทะพระบุตรของพระองค์ และความคล้ายคลึงกันนี้อาจนำมาใช้ในการเปลี่ยนคนนอกศาสนาให้มานับถือศาสนาคริสต์ได้”[93]

      การถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนที่สภาสังคายนาแห่งไนเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการถกเถียงระหว่างผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกับผู้เชื่อตามแบบเอเรียส[94] ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่พระคัมภีร์ (แม้ว่าผู้สนับสนุนคนสำคัญของแต่ละฝ่ายบางครั้งจะอ้างพระคัมภีร์มาสนับสนุนข้อเท็จจริงของพวกเขา) โดยพื้นฐานแล้ว ทั้งความเชื่อในตรีเอกานุภาพและความเชื่อตามแบบเอเรียสต่างก็ไม่ตรงตามพระคัมภีร์ และทั้งสองความเชื่อก็มีรากฐานมาจากปรัชญากรีก ถ้อยคำที่เลิศลอยจากหลักข้อเชื่อไนเซีย เช่น “ความสว่างจากความสว่าง” เป็นตัวอย่าง ที่เป็นคำสอนเกี่ยวกับบ่อเกิดซึ่งโดดเด่นในความเชื่อแบบนอสติก

      ที่น่าสังเกตก็คือ หลักข้อเชื่อต่างๆของคริสตจักรในยุคแรกๆ ไม่ได้อ้างอิงข้อพระคัมภีร์แม้แต่ข้อเดียวมาสนับสนุนการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้า แต่เราจะต้องไม่คาดหวังที่ผิดสมัยว่าคริสตจักรของคนต่างชาติในยุคแรกๆ จะยึดพระคัมภีร์เป็นแนวทางในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ หลักการ sola Scriptura (ด้วยสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์เพียงอย่างเดียว) มีขึ้นในภายหลังมากในประวัติศาสตร์คริสตจักรและไม่เคยได้รับการยอมรับจากคริสตจักรคาทอลิก ในความเป็นจริงแล้วคณะกรรมาธิการคริสตจักรในประวัติศาสตร์ถือว่าตัวพวกเขาเองมีอำนาจเด็ดขาดในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ซึ่งเป็นสภาพที่ยังคงอยู่ในคริสตจักรคาทอลิกจนถึงทุกวันนี้

      ในยกร่างของหลักข้อเชื่อไนเซียซึ่งคอนสแตนตินมีส่วนร่วม เขาได้กำหนดคำว่า homoou­sios คำกรีกที่เหมือนกับคำละตินว่า consub­stantialis อาจโดยคำแนะนำจากที่ปรึกษาของเขา นี่กลายเป็นคำที่สำคัญยิ่งในความเชื่อตรีเอกานุภาพ แต่ได้จัดให้โดยจักรพรรดิที่เป็นคนนอกศาสนา ผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิโรมันที่แต่งตั้งตัวเองเป็นประมุขของคริสตจักร นั่นก็คือ “หัวหน้าของบรรดาหัวหน้าบาทหลวง” ในเวลาที่เขายังคงทำหน้าที่เป็นสังฆราช หัวหน้าของบาทหลวงนอกศาสนาของจักรวรรดิโรมัน[95] มันจะทำให้คนต้องสะดุ้งเมื่อรู้ว่าหลักข้อเชื่อไนเซียถูกบัญญัติขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของจักรพรรดิโรมันที่ยังคงเป็นคนที่ไม่ได้เชื่อในพระเจ้าของคริสเตียน และที่สำคัญแล้วเป็นเหตุผลทางการเมืองโดยเฉพาะเพื่อจะรักษาความเป็นเอกภาพและความมั่นคงภายใต้การปกครองของเขา

      เป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ว่า เมื่อคอนสแตนตินได้รับบัพติศมาไม่นานก่อนที่เขาจะเสียชีวิตนั้น เขาไม่ได้รับบัพติศมาจากหัวหน้าบาทหลวงที่เชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่รับกับยูซีเบียสแห่งนิโคมีเดีย[96]หัวหน้าบาทหลวงที่เชื่อตามแบบเอเรียส! นี่หมายถึงว่าคอนสแตนตินเสียชีวิตในขณะที่เป็นผู้เชื่อตามแบบเอเรียส นั่นก็คือเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับความเป็นพระเจ้าของพระเยซูและการมีสภาวะเดียวกันกับพระบิดา! มีใครสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้บ้าง? บางทีมันอาจจะบอกเราว่าคอนสแตนตินได้สนใจในหลักคำสอนของคริสเตียนมากหรือน้อยแค่ไหน เว้นแต่ว่ามันสามารถใช้เพื่อส่งเสริมวัตถุประสงค์ทางการเมืองของเขา[97]

         มีใครไหมที่ยังต้องการจะยืนยันสิ่งทั้งหมดนี้ว่า “พัฒนา” มาจากพระคัมภีร์? คอนสแตนตินบีบบังคับคริสตจักรให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหลักคำสอน และเอาชนะคนส่วนใหญ่ที่ยังคงเชื่อว่าพระบุตรอยู่ใต้บัญชาพระเจ้าพระบิดา เขากำหนดหลักข้อเชื่อไนเซียให้เป็นความเชื่อ     ของคริสตจักรโดยคำสั่งที่มีกฎหมายของจักรวรรดิโรมันหนุนอยู่[98] คอนสแตนตินทำอย่างนี้เพื่อจุด ประสงค์ที่จะรักษาความเป็นเอกภาพทางการเมืองในจักรวรรดิของเขา จากการขจัดความขัดแย้งกันในคริสตจักร เสรีภาพของคริสตจักร (libertas ecclesiae) จึงถูกกำจัดให้หมดไป ดังจะเห็นได้จากกรณีของการถูกขับออกจากคริสตจักรและการถูกเนรเทศเยี่ยงอาชญากรภายใต้กฎหมายของโรมัน พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ คนนั้นจะต้องเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า หรือมิฉะนั้นจะต้องเจอกับผลลัพธ์ที่น่ากลัวตามมา

      มีคริสเตียนจำนวนน้อยที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์การพัฒนามาเป็นความเชื่อในตรีเอกานุภาพ และหลักข้อเชื่อไนเซีย บางคนอาจต้องตกใจเมื่อได้ยินว่า ผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งของหลักคำสอนนี้ก็คือคอนสแตนตินจักรพรรดิของโรมันที่ไม่ได้เชื่อในพระเจ้า ผู้ที่ยังไม่ได้รับบัพติศมาในตอนที่เขาเรียกประชุมสังคายนาแห่งไนเซียปี ค.ศ. 325 ด้วยซ้ำ เขาเป็นคนสั่งดำเนินการสังคายนาทั้งโดยตรงและโดยตัวแทนที่เขาแต่งตั้ง คอยชี้แนะสภาสังคายนาให้รับเอามุมมองที่ถกเถียงกันในเวลานั้นว่าพระเยซูทรงมีความเท่าเทียมกับพระบิดาในแก่นแท้เดียวกัน และในที่สุดก็กำหนดให้ข้อเชื่อนี้เป็นส่วนของกฎหมายของรัฐในจักรวรรดิโรมัน[99] ด้วยเหตุนี้เราจึงมีหลักคำสอนที่เป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนจักรซึ่งกำหนดโดยจักรพรรดิที่ในช่วงของการสังคายนาไนเซียนั้นก็ยังคงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าบาทหลวงให้กับพระเจ้าของคนนอกศาสนาของโรมัน นี่จึงเป็นที่มาของข้อเชื่อของความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างเป็นทางการ

 

ลักษณะที่ไม่เป็นตามพระคัมภีร์ของ homoousios

      หลักข้อเชื่อไนเซียไม่ได้มีพื้นฐานตามในพระคัมภีร์เช่นเดียวกับคำสำคัญว่า homoousios (คำนี้ไม่ได้มีปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์) ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่หลักความเชื่อนี้ถูกร่างขึ้นโดยการรวมกลุ่มของบรรดาผู้นำคริสตจักรที่เป็นคนต่างชาติภายใต้การกำกับดูแลของจักรพรรดิที่ยังไม่เป็นคริสเตียนเลย ในช่วงเวลาที่คริสตจักรซึ่งเป็นคนต่างชาติได้ขาดการติดต่อกับรากเหง้าของคริสตจักรที่เป็นชาวยิวไปแล้ว แม้เมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ถึงเกือบสองศตวรรษเสียอีก สิ่งที่ควรจดจำก็คือว่าพระคัมภีร์ใหม่ได้เขียนขึ้นโดยชาวยิว ยกเว้นลูกากับกิจการ[100] แนวคิดต่างๆที่หลักข้อเชื่อไนเซียนำมาใช้จะฟังดูแปลกสำหรับผู้เขียนพระคัมภีร์ใหม่

      เราได้เห็นแล้วว่าคำ homoousios (จากแก่นแท้เดียวกัน) นั้นไม่ตรงตามพระคัมภีร์ และบรรพบุรุษของคริสตจักรยุคแรกๆได้ใช้ร่วมกับกลุ่มนอสติก อันที่จริงคนแรกที่รู้กันว่าใช้คำนี้ก็คือบาสิลิดิส ครูของกลุ่มนอสติก (คริสต์ศตวรรษที่ 2) ผู้ใช้ homoousios เพื่ออธิบายแนวคิดของเขาเกี่ยวกับ “สามสภาวะของการเป็นบุตรที่มีเนื้อแท้เดียวกับพระเจ้าผู้ไม่ได้เป็น”[101] นอกจากนี้เรายังได้ตั้งข้อสังเกตว่ามาร์ติน ลูเธอร์ ได้ต่อต้านการใช้คำ homoousios นี้อย่างแรง และพจนานุกรมฉบับนิวอินเตอร์เนชันแนลเกี่ยวกับศาสนศาสตร์พระคัมภีร์ใหม่ (ฉบับคอลิน บราวน์) ก็กล่าวอย่างเห็นพ้องกับคาร์ล บาร์ธ[102]ว่า homoousios ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากพระคัมภีร์

      เรื่องเกี่ยวกับ homoousios (คำละตินคือ consubstantialis) นั้น ฮานส์ คูงซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดานักศาสนศาสตร์ที่โดดเด่นในนิกายโรมันคาทอลิกร่วมสมัยกล่าวไว้ว่า “การมีสภาวะเดียวกันที่มีพื้นหลังมาจากปรัชญากรีกนั้นเข้าใจได้ยาก ไม่ใช่แต่เฉพาะกับชาวยิวเท่านั้น แต่กับบรรดาคริสเตียนชาวยิวด้วย” คูงกล่าวต่อไปว่า

 

คอนสแตนตินเองเป็นผู้ที่ได้บรรจุคำที่ไม่ตรงตามพระคัมภีร์ว่า “จากแก่นแท้เดียวกัน” (คำกรีกคือ homoousios, คำลาตินคือ consubstantialis) ซึ่งต่อมาเป็นสาเหตุของความขัดแย้งอย่างแรง เรื่องที่พระบุตรทรงอยู่ใต้พระบัญชาของพระเจ้าและพระบิดาองค์เดียว (พระเจ้า “ที่เฉพาะเจาะจง”) ตามที่ได้รับการสอนส่วนใหญ่จากออริเจน[103] และบรรดานักศาสนศาสตร์ของสมัยก่อนหน้านี้ ตอนนี้ถูกแทนที่ด้วยความเท่าเทียมกันในเนื้อแท้และการดำรงอยู่ของพระบุตรกับพระบิดา เพื่อว่าต่อไปจะได้พูดถึงพระเจ้าพระบุตร และพระเจ้าพระบิดาได้[104]

 

      คูงตั้งข้อสังเกตที่สำคัญบางประการตรงนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ ก่อนการสังคายนาแห่งไนเซียก็ได้มีคำสอนเกี่ยวกับการอยู่ใต้บัญชาของพระบุตรต่อพระบิดาอยู่แล้วในคริสตจักร ดังนั้นการสังคายนาแห่งไนเซียจึงเป็นชัยชนะของคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจในคริสตจักร และเบี่ยงเบนถึงขีดสุดจากคำสอนของคริสตจักรในศตวรรษที่หนึ่งและที่สอง แต่ก็มีผู้นำเพียงไม่กี่คน เช่น จัสติน ผู้พลีชีพ กับเมลิโตแห่งซาร์ดีส[105] ซึ่งก่อนหน้านี้ยอมรับมุมมองว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าและเป็นผลให้มีการเผยแพร่ความเชื่อว่ามีพระเจ้าสององค์ที่มีอำนาจเท่าๆกัน หรือความเชื่อในทวิเอกานุภาพ (เชื่อในความเป็นสองภาคของพระเจ้า)[106] แม้ว่ายังไม่ได้เป็นความเชื่อในตรีเอกานุภาพเนื่องจากพวกเขายังไม่ได้ถือว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระเจ้าพระภาคที่สาม

      เนื่องจากหลักข้อเชื่อไนเซียได้เบี่ยงเบนจากคำสอนก่อนหน้านี้ดังที่คูงชี้ให้เห็น ซึ่งอธิบายโดยคนอย่างออริเกน ผู้เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงแห่งอเล็กซานเดรีย มันจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ความเบี่ยงเบนไปจากพระคัมภีร์ใหม่ของหลักข้อเชื่อไนเซียนั้นยิ่งมากขึ้นเนื่องจากช่วงเวลาที่ห่างกันมากขึ้น หลังจากยุคสมัยของพระคัมภีร์ใหม่ผ่านไป คำสอนต่างๆของบรรดาผู้นำคริสตจักรรวมกับการแยกคริสตจักรของคนต่างชาติออกจากคริสตจักรแม่ที่เป็นยิว โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ. 135[107] ได้ทำให้คำสอนต่างๆค่อยๆห่างไปไกลจากพระคัมภีร์ใหม่เรื่อยๆ

    จากศตวรรษที่สี่เป็นต้นมา การยอมรับหลักความเชื่อใหม่นี้ได้ทำให้เป็นมาตรฐานและเกณฑ์กำหนดของความเชื่อสำหรับคริสเตียน ที่จะต้องเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าหรือมิฉะนั้นเขาก็จะต้องถูกคริสตจักรตัดสินว่าเป็นคนนอกศาสนาและเป็นความผิดทางอาญา นี่เป็นการละเมิดเจตนาของพระคัมภีร์อย่างยิ่ง ซึ่งไม่เคยห้ามไม่ให้ใครตรวจสอบพระคัมภีร์และหาข้อสรุปที่แท้จริงของตน เองในการแสวงหาความจริงของพระเจ้า และเนื่องจากพระคัมภีร์ไม่ได้สอนถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซูตั้งแต่แรก จึงยิ่งกว่าแน่ใจได้ว่า ไม่มีที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ที่มีเงื่อนไขของความรอดที่ขึ้นกับการเชื่อในความเป็นพระเจ้าของพระองค์ตามที่เชื่อกัน ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้โดยไม่ต้องกลัวการโต้แย้งใดๆว่า ไม่มีสักข้อในพระคัมภีร์ใหม่ที่ระบุว่าคนนั้นจะต้องเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าจึงจะรอดได้ นี่แสดงให้เห็นว่าข้อกำหนดในคำสอนของหลักข้อเชื่อไนเซียขัดแย้งกับเจตนาของพระคำของ พระเจ้าตามที่สอนในพระคัมภีร์ใหม่อย่างไร

 

หลักข้อเชื่อของคอนสแตนติน

      ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักประวัติศาสตร์คริสตจักรและบรรดานักวิชาการที่เป็นผู้นำทางศาสนาคริสต์สมัยแรกเริ่ม แต่มีคริสเตียนจำนวนน้อยที่รู้เรื่องเหล่านี้ พวกเขาอาจต้องแปลกใจที่ได้ยินจาก เจ เอ็น ดี เคลลี่ นักวิชาการเกี่ยวกับศาสนาคริสต์สมัยแรกเริ่มที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษว่า หลักข้อเชื่อไนเซียที่กำหนดให้พระคริสต์มีความเท่าเทียมกับพระเจ้านั้น ที่จริงแล้วก็คือ หลักข้อเชื่อของคอนสแตนติน (เคลลี่เรียกมันว่า “หลักข้อเชื่อของเขา” ถึงสองครั้ง)[108]

      หลักข้อเชื่อในตรีเอกานุภาพที่กำหนดว่าพระคริสต์เป็นพระเจ้านั้น ขอพูดอีกครั้งว่าเป็นหลักข้อเชื่อของคอนสแตนติน ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้อยู่ในความคิดของคริสเตียนส่วนใหญ่เช่นเดียวกับที่ไม่ได้อยู่ในความคิดของผม เมื่อผมยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ผมรับการอบรมพระคัมภีร์และศาสนศาสตร์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งรวมเวลาถึงหกปีในการศึกษาจากสองสถาบันพระคัมภีร์และยังศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วย ผมนึกไม่ออกว่าได้เคยมีการพูดถึงที่มาทางประวัติศาสตร์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพมาก่อน ไม่ได้มีการกล่าวถึงแม้แต่ในกระบวนวิชาประวัติศาสตร์ของคริสตจักร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ผมบอกตามตรงว่าไม่ทราบคำตอบในเรื่องนี้ ผมไม่กล้าถึงขนาดจะบอกว่าได้มีการปกปิดเอาไว้

      ผมได้ศึกษางานเขียนของ ดร. เจ เอ็น ดี เคลลี่อย่างละเอียด ซึ่งยังคงเป็นงานเขียนที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับหลักคำสอนของคริสเตียนในยุคแรก ผมยังมีสำเนาเก่าของงานชิ้นนี้ที่ผมได้ศึกษาในช่วงที่ผมเรียนอยู่ โดยเขียนบันทึกย่อไว้อย่างดีตรงที่ว่างของทุกหน้า อย่างไรก็ตาม หนังสือของ ดร. เคลลี่เป็นงานเขียนเกี่ยวกับหลักคำสอนของคริสตจักร ไม่ใช่งานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคริสตจักร ดังนั้นรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จึงไม่ได้ถูกนำเสนอในลักษณะเดียวกันกับงานเขียนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคริสตจักร (ถึงแม้ ดร. เคลลี่จะมีความรู้อย่างน่าชื่นชมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คริสตจักร) จนเมื่อผมได้อ่านประวัติศาสตร์ของคริสตจักรในยุคนั้นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นจนความสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นโดนใจผมในที่สุด แม้ว่า ดร. เคลลี่ จะไม่ได้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคริสตจักรโดยเฉพาะ ความคุ้นเคยของเขาในเรื่องนี้พูดออกมาได้ชัดเจนอย่างน่าประหลาดใจ เมื่อเขาอธิบายหลักข้อเชื่อไนเซียตรงๆว่าเป็น “หลักข้อเชื่อ (ของคอนสแตนติน) ของเขา” ถึงอย่างนั้นความแรงของคำเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจเมื่อผมอ่านครั้งแรก ผมมองข้ามมันไปได้อย่างไรกัน? นี่เป็นคำถามที่ตัวผมเองไม่สามารถตอบได้ มันเป็นเพราะผมคิดว่านักวิชาการเหล่านี้ซึ่งรวมทั้ง ดร. เคลลี่ ก็เป็นคริสเตียนและน่าจะเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ดังนั้นพวกเขาคงไม่ได้หมายถึงสิ่งใดในเชิงลบจากคำพูดนี้ไหม? แต่คำกล่าวเช่นนี้จะเข้าใจในเชิงบวกได้อย่างไรหรือ?

      ตอนนี้สิ่งที่ชัดเจนก็คือ หลักคำสอนในตรีเอกานุภาพเกิดขึ้นจากสิ่งที่ฮานส์ คูง นักศาสนศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงเรียกว่า “เล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง”[109] ของคอนสแตนติน หรือจะพูดว่า ส่วนใหญ่แล้วคอนสแตนตินไม่ได้มีความสนใจในจุดยืนทางศาสนศาสตร์ของคริสตจักรคริสเตียนจริงๆแต่อย่างใด[110] เรื่องศาสนศาสตร์ของคริสเตียนอาจไม่ใช่สิ่งที่คอนสแตนตินซึ่งในเวลานั้นเขาไม่ได้เป็นคริสเตียน จะเข้าใจหรือสนใจที่จะเข้าใจ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาก็คือการเมืองของจักรวรรดิของเขาที่จะมีความเป็นปึกแผ่นและมีเสถียรภาพ[111]

      คอนสแตนตินมองคริสตจักรว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของจักรวรรดิของเขา ดังนั้นเขาจึงไม่ยอมให้เกิดความแตกแยกหรือการวิวาทใดๆภายในคริสตจักรที่อาจเป็นภัยคุกคามความเป็นปึกแผ่นและเสถียรภาพของจักรวรรดิได้ นี่จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล จากมุมมองของการเมืองและการปกครองจักรวรรดิ แต่มันยังแสดงให้เห็นว่าหลักข้อเชื่อไนเซียซึ่งเขียนขึ้นราวสามร้อยปีในยุคของ คริสเตียนได้หลงไปไกลจากพระคัมภีร์ใหม่ ไปไกลจากคริสตจักรยิวยุคแรกในเยรูซาเล็ม และไปไกลจากคริสตจักรทั้งหลายที่เปาโลได้ก่อตั้งด้วยความบากบั่นของเขาในการออกไปเผยแพร่พระกิตติคุณ

      ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพในช่วงชีวิตส่วนมากของผม ผมพยายามอย่างมากที่จะหาหลักฐานของพระคัมภีร์ใหม่ให้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพของผม โดยเฉพาะหลักฐานให้กับความเชื่ออย่างแน่วแน่ของผมว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า แม้ว่าหลักฐานทางพระคัมภีร์เกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะไม่เพียงพอจริงๆแต่ผมก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ เมื่อผมนึกย้อนกลับไปก็ต้องละอายใจ ผมไม่ได้อยากจะดูพยานหลักฐานใดๆที่น่าเชื่อถือกับสิ่งที่ค้านกัน เพราะผมถือว่าความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์นั้นอยู่เหนือข้อพิพาทใดๆที่ไม่มีช่องให้แย้งได้ ในทำนองเดียวกับคริสตจักรซึ่งแทบจะเป็นผู้เชื่อตรีเอกานุภาพกันทุกแห่งหนในปัจจุบันนี้ ก็จะไม่พิจารณาหลักฐานใดๆในพระคัมภีร์ที่ขัดกับหลักคำสอนที่ตนยึดมั่นไว้สุดชีวิต นักวิชาการคนใดที่กล้าชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดใน “การตีความ” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็จะถูกปฏิเสธและยังถูกประณามว่าเป็น “พวกเสรีนิยม” หรือ “พวกนอกคอก” หรือ “พวกทรยศ” ที่สมควรตกนรก

      ในพวกเรามีสักกี่คนกันเมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่ทราบมานานแล้วว่าเสาหลักของความเชื่อของเราก็คือหลักข้อเชื่อของคอนสแตนตินนั่นเอง? ศาสนาจารย์ ดร. เจ เอ็น ดี เคลลี่ (1909-1997) ได้เสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ว่าเขาจะอธิบายคำว่า “หลักข้อเชื่อของเขา” ไว้อย่างไร แต่ว่าเคลลี่ไม่ได้เป็นนักวิชาการพระคัมภีร์ ดังนั้นเขาจึงไม่ได้พิเคราะห์ความเกี่ยวข้องระหว่างหลักข้อเชื่อไนเซียกับพระคัมภีร์ใหม่ แต่นี่เป็นสิ่งที่เราที่ต้องพิจารณาหากเราคิดว่าพระคัมภีร์ใหม่เป็นพระวจนะของพระเจ้าที่ชีวิตฝ่ายวิญญาณของเรายึดแน่น และเราเห็นว่าพระคัมภีร์ไม่ได้เป็นเพียงเอกสารเกี่ยวกับศาสนาโบราณที่บรรดานักวิชาการทั้งหลายทำการศึกษาเพราะความสนใจในทางวิชาการ

การค้นหาหลักฐานทางพระคัมภีร์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      พระเยซูได้รับการยอมรับว่าเป็นพระเจ้าอย่างเป็นทางการก็เมื่อศตวรรษที่ 4 ของคริสตศักราชนี่เองโดยการยื่นมือเข้ามาแทรกของคอนสแตนติน ผู้เป็นจักรพรรดิที่นอกศาสนาอย่างเป็นทางการของโรมัน ซึ่งถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากเขาแล้ว ฝ่ายของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในการสังคายนาแห่งไนเซีย ก็คงไม่สามารถทำให้ความเป็นพระเจ้าของพระเยซูได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจนได้มาเป็นหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในเวลาต่อมา และหลังจากที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ถูกกำหนดให้เป็นหลักคำสอนอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิโรมัน โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ. 381 จึงได้มีความพยามยามอย่างจริงจังในระดับหนึ่งที่จะดูว่ามีหลักฐานทางพระคัมภีร์ใดบ้างที่อาจจะพบเกี่ยวกับหลักคำสอนนี้

      หลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่เป็นทางการที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เริ่มแรกไม่ได้พัฒนามาจากพระคัมภีร์ แต่เป็นผลในภายหลังของการค้นหาหลักฐานทางพระคัมภีร์ย้อนหลังที่อาจสนับสนุนหลักคำสอนที่กำหนดขึ้น การดำเนินการนี้ไม่เคยประสบผลสำเร็จดังที่อาจคาดหมายภายใต้สถานการณ์ต่างๆทางประวัติศาสตร์ แม้จนถึงทุกวันนี้ บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ยังคงขุดค้นพระคัมภีร์ใหม่เพื่อหาหลักฐานใดๆที่พวกเขาคิดว่าสามารถจะใช้พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซูได้ ทุกคำกล่าวที่คลุมเครือได้ถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์นี้ แม้แต่คำกล่าวที่ว่า “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยอห์น 10:30) ก็ยังยึดว่าเป็นการบ่งบอกถึงการมีสภาวะเดียวกันโดยไม่สนใจความจริงที่ว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวทางจิตวิญญาณอย่างเดียวกันนี้ใช้ได้กับผู้เชื่อทุกคนเหมือนที่ “แต่คนที่ผูกพันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นจิตวิญญาณเดียวกับพระองค์” (1 โครินธ์ 6:17)

      เนื่องจากความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้มีรากฐานจากพระคัมภีร์ใหม่ และไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ใหม่ แต่ถูกกำหนดให้มีผลย้อนหลังกับพระคัมภีร์ มันจึงไม่มีความถูกต้องตามพระคัมภีร์เลย ดังนั้นในการศึกษาของเราเกี่ยวกับความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์และพระเยซูตามพระคัมภีร์ จึงไม่ใช่หน้าที่ของเราจะพิสูจน์หักล้างความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพสมควรจะถูกมองว่านอกรีต เพราะมันเป็นหลักการของหลักความเชื่อที่ได้หันเหไปจากพระคัมภีร์โดยการดำเนินการของผู้ประกาศใช้ ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทุกคนควรจะไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนด้วยความเกรงกลัวและตัวสั่นถึงความจริงที่ว่า หลักคำสอนของพวกเขามาจากจุดเริ่มต้นของคนต่างชาติทั้งคนนอกศาสนาและกรีกโบราณ และได้ถูกพัฒนาขึ้นหลังจากที่พระกิตติคุณได้ฝังรากลึกในประชาชาติของคนนอกศาสนาที่คนต่างชาติอาศัยอยู่ โดยเริ่มต้นจากมากกว่าศตวรรษหลังช่วงสมัยของพระคริสต์

 

ผลพวงทางประวัติศาสตร์

      สภาสังคายนาแห่งไนเซียภายใต้การควบคุมดูแลของคอนสแตนตินผู้นำตัวจริงของคริสตจักร ได้ปูทางให้ความเชื่อของคริสเตียนจากการประชุมแห่งไนเซียมาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิโรมัน จักรพรรดิธีโอโดเซียสที่หนึ่ง (พร้อมกับผู้ครองร่วมของเขาคือ เกรเทียนกับ     วาเลนติเนียนที่สอง)[112] ได้เดินหน้าอย่างเป็นทางการในการประกาศกฤษฎีกาฉบับเธสะโลนิกา ค.ศ. 380 ซึ่งประกาศว่า หลักข้อเชื่อของ “สภาสังคายนาแห่งไนเซียครั้งที่หนึ่ง” ก่อนหน้านี้ จะเป็นหลักปฏิบัติของศาสนาที่ได้รับการยอมรับเพียงศาสนาเดียวของจักรวรรดิ กฤษฎีกาฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ทันที ไม่ใช่เฉพาะแต่ในไนเซียหรือคอนสแตนติโนเปิล แต่ในทั้งจักรวรรดิโรมัน

      แต่สิ่งนี้นำพระพรของพระเจ้ามาสู่จักรวรรดิโรมันหรือไม่? เกือบจะทันทีหลังการออกกฤษฎีกาในปี ค.ศ. 380 จักรวรรดิก็เริ่มล่มสลาย ความจริงแล้ว ธีโอโดเซียสเองเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ปกครองจักรวรรดิโรมันทั้งซีกตะวันตกและตะวันออก จักรวรรดิโรมันไม่เคยกลับมารวมกันใหม่ได้อีกเลย

      ความเสื่อมลงนั้นรวดเร็วมากจนในปี ค.ศ. 410 เพียงแค่ชั่วคนรุ่นเดียวหลังประกาศกฤษฎีกา กรุงโรมก็ถูกชาววิซิกอท[113]ช่วงชิงและปล้นสะดม ถนนหนทางสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะท่อน้ำใต้ดินและระบบบำบัดน้ำเสียได้ถูกทำลาย และประชากรก็ลดลงจนเกือบไม่เหลือใคร ในที่สุดนครใหญ่ที่มีคนเป็นล้าน ก็ลดขนาดลงมาเป็นเมืองที่มีประชากร 10,000 คน เพราะผู้คนได้หนีจากสภาพที่ทนกับการขาดแคลนอาหารและน้ำอย่างหนักไม่ได้

      มีใครเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างการล่มสลายของกรุงโรม กับการจัดตั้งหลักคำสอนไนเซียไหม? หนังสือคริสเตียนโดยทั่วไปจะไม่พูดถึงข้อเท็จจริงนี้ ดังนั้นจึงมีคริสเตียนน้อยคนที่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

      การล่มสลายของกรุงโรมเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพระทัยของพระเจ้าไหม? นี่เป็นจุดที่จักรวรรดิโรมันไม่อาจจะหวนกลับมาได้ และตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยกลับมารุ่งโรจน์ดังเดิมอีก นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 800 ปีที่กรุงโรมได้ถูกปล้นสะดม คอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิตะวันออกก็กลายเป็น “กรุงโรมใหม่” ครึ่งจักรวรรดิทางตะวันตกอยู่รอดได้ไม่นานและแล้วจักรวรรดิที่รุ่งโรจน์นี้ก็ล่มสลาย ในขณะเดียวกัน ทางตะวันออกของจักรวรรดิโรมันซึ่งได้หดลงเท่าดินแดนประเทศกรีซและตุรกีในปัจจุบัน ก็ได้ดำเนินต่อไปจนกระทั่งถูกยึดครองโดยชาวมุสลิมออตโตมันในปี ค.ศ. 1453 และเปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูล

      เรื่องเกี่ยวกับการปล้นสะดมกรุงโรมนี้ หาดูได้ในหนังสือชื่อ ประวัติศาสตร์การเสื่อมลงและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ของเอ็ดเวิร์ด กิ๊บบอน[114] ที่มีหลายฉบับ กิ๊บบอนเขียนอย่างเน้นย้ำและ ลงรายละเอียดว่าศาสนาคริสต์มีส่วนโดยตรงกับการล่มสลายของกรุงโรม และสิ่งที่เขาเขียนก็ถูกชาวคริสต์วิพากษ์วิจารณ์ มีหนังสือเล่มล่าสุดที่มีชื่อคล้ายๆกัน เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อเจมส์ ดับบลิว เออร์มาทิงเกอร์ ซึ่งไม่ได้เป็นการดัดแปลงงานเขียนของกิ๊บบอน เออร์มาทิงเกอร์ กล่าวในงานเขียนของเขาว่า “ศาสนาคริสต์มีส่วนกับการล่มสลายของจักรวรรดิในหลายๆทาง” (การเสื่อมลงและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน, หน้า 39)[115]

      เราเห็นสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ในวารสารประวัติศาสตร์ของคริสเตียนและชีวประวัติ ปี 2007 ฉบับครบรอบ 25 ปี ซึ่งมีเรื่องการล่มสลายของกรุงโรมและความเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ บทความกล่าวว่าชาวคริสต์ในกรุงโรมเชื่อว่าไม่มีใครจะเอาชนะกรุงโรมได้ เหรียญที่ออกโดยจักรวรรดิโรมันซึ่งตอนนี้เชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างเป็นทางการมีถ้อยคำจารึกว่า “กรุงโรมที่ไม่มีใครเอาชนะได้ตลอดกาล”[116] บทความกล่าวว่าไม่กี่ปีก่อนการปล้นสะดมกรุงโรมอย่างน่ากลัวในปี ค.ศ. 410 โดย “พวก อนารยชน” 40,000 คน พรูเดนเทียส กวีคริสเตียนเขียนไว้ว่า กรุงโรมจะไม่มีทางล่มสลายเพราะกรุงโรมอ้าแขนรับความเชื่อของคริสเตียน เขายังโอ้อวดว่า “ไม่มีอนารยะศัตรูจากชาติใดจะพังทลายกำแพงของข้าด้วยทวน และไม่มีมนุษย์คนใดที่มีอาวุธ สวมเครื่องแต่งกายและมีทรงผมแปลกๆ จะเที่ยวเดินไปทั่วกรุงที่เขายึดได้และคร่าชีวิตเด็กหนุ่มๆของข้าได้” แต่เมื่อกรุงโรมล่มสลายในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 410 ความหายนะนั้นรุนแรงและย่อยยับมาก จนขนาดเมื่อนักวิชาการพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงอย่างเจอโรมได้ยินเรื่องนี้อยู่ในเบธเลเฮมก็ถึงกับวาง “คู่มืออธิบายพระคัมภีร์เอเสเคียล[117]ของเขาและนั่งตะลึงอยู่ในความเงียบงันอยู่สามวัน[118]

      ในเวลาไม่นาน คนจำนวนวนมากได้มาถึงบทสรุปว่า การล่มสลายของกรุงโรมเป็นการพิพากษาจากพระเจ้ากับบรรดาคริสเตียน เป็นมุมมองที่กระตุ้นให้ออกัสตินเขียนหนังสือ นครของพระเจ้า[119] นอกจากนี้ยังเชื่อกันในวงกว้างว่า การล่มสลายของกรุงโรมสำเร็จตามคำเผยพระวจนะในวิวรณ์ 14:8 ในการล่มสลายของ “บาบิโลน[120]

 

สิทธิอำนาจของคริสตจักรในการข่มเหงพวกนอกศาสนา

      หลักข้อเชื่อไนเซียฉบับสมัยใหม่ส่วนใหญ่จะไม่พูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หลักข้อเชื่อไนเซียที่กำหนดแล้วในปี ค.ศ. 325 นั้นลงท้ายด้วยคำสาปแช่ง (anathema) กับผู้ที่ไม่ยอมรับหลักข้อเชื่อนี้คือ “(ผู้ไม่เห็นด้วย) จะถูกประณามจากคริสตจักรคาทอลิกอันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์และคริสตจักรของอัครทูต” (ดังที่ฟีลิป แชฟฟ์ ได้แปลไว้ในหลักข้อเชื่อทั้งหลายของชาวคริสต์) คำกรีก anathema ที่ใช้ตรงนี้มีความหมายแรงกว่าคำว่า “condemn” (ประณาม) ในภาษาอังกฤษมาก เพราะมันหมายถึงการกล่าว โทษให้ตกนรกดังจะเห็นในสามคำนิยามของคำนั้นในพจนานุกรมพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG[121]ว่า “1. ที่ถูกถวายเป็นของแก้บน, แก้บน; 2. ที่ได้ถูกสาปแช่ง, ถูกสาป, ถูกแช่ง; 3. เนื้อหาที่แสดงในคำสาปแช่ง, คำสาปแช่ง” คำนิยามที่ 1 เราสามารถตัดไปได้เพราะหลักข้อเชื่อแทบจะไม่ถือว่าผู้ไม่เห็นด้วยจะเป็นของถวายแก้บนกับพระเจ้า นี่ทำให้เหลือเพียงคำนิยามที่ 2 และ 3 ซึ่งหมายความว่า ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับหลักข้อเชื่อไนเซียจะถูกกล่าวโทษให้ตกนรกโดยหลักข้อเชื่อเดียวกันนี้

      ในทำนองเดียวกัน หลักข้อเชื่ออธาเนเซียก็ลงท้ายด้วยคำกล่าวโทษดังนี้ว่า “นี่คือความเชื่อของคาทอลิก ใครก็ตามที่ไม่ได้เชื่ออย่างยึดมั่น เขาก็จะไม่รอด” ที่ฟีลิป แชฟฟ์[122]แปลในหลักข้อเชื่อต่างๆของชาวคริสต์ ตัวแชฟฟ์เองไม่เห็นด้วยกับ “ข้อความที่สาปแช่ง” ของหลักข้อเชื่ออธาเนเซียดังต่อไปนี้

ข้อความที่สาปแช่ง หลักข้อเชื่ออธาเนเซียที่มีความตรงกันข้ามอย่างมากกับหลักข้อเชื่อของอัครทูตซึ่งมีลักษณะไม่ขัดแย้งและมีสันติสุขนี้ เริ่มต้นและจบลงด้วยการประกาศอย่างจริงจังว่า ความเชื่อของคาทอลิกในตรีเอกานุภาพและการจุติลงมาเกิดที่ชี้แจงในที่นี้ เป็นเงื่อนไขของความรอดที่ขาดไม่ได้ และบรรดาผู้ที่ปฏิเสธสิ่งนี้จะหลงหายไปตลอดกาล ข้อความการสาปแช่งเดียวกันนี้แทรกอยู่ [ระหว่างส่วนแรกกับส่วนที่สองของหลักข้อเชื่อนี้] คำสาปแช่งสามส่วนนี้...กำหนดให้ทุกคนที่จะรอด ต้องเชื่อในพระเจ้าที่เที่ยงแท้และทรงพระชนม์อยู่เพียงองค์เดียว ซึ่งก็คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทั้งสามพระองค์ผู้มีเนื้อแท้เดียวกัน และเชื่อในพระเยซูคริสต์องค์เดียวที่เป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ในคนๆเดียว

ข้อความที่สาปแช่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อร้องหรือท่องบทสวดในการนมัสการต่อหน้าคนจำนวนมากนั้นรบกวนโสตประสาทของชาวโปรแตสแตนท์สมัยใหม่อย่างแรง และอาจน่าสงสัยอย่างมากว่าพวกเขายึดมั่นในความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีความถ่อมใจของคริสเตียนอย่างแท้จริงหรือไม่ และพวกเขาอยู่เหนืออำนาจอันชอบธรรมของคริสตจักรหรือไม่ (หลักข้อเชื่อต่างๆของชาวคริสต์, บทที่ 10 ย่อหน้า 3)

      นับตั้งแต่การสังคายนาแห่งไนเซีย คริสตจักรก็ได้กำหนดคำนิยามของตนเองว่าอะไรคือความนอกรีต และประณามผู้ไม่ยอมรับข้อกำหนดของคริสตจักรที่คริสเตียนควรจะเชื่อ พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อถึงศตวรรษที่สี่ คริสตจักรได้อาจหาญมาแทนที่พระคัมภีร์ โดยถือดีว่าตัวเองมีอำนาจที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเด็ดขาดว่าคริสเตียนควรจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร เรื่องนี้ยังคงเป็นจริงในคริสตจักรคาทอลิกทุกวันนี้ ในขณะที่คริสตจักรโปรแตสแตนท์ในนิกายต่างๆก็ยอมรับในหลักการของพระคัมภีร์ที่ว่าเป็นอำนาจเด็ดขาด แนวคิดของหลักคำสอนได้ตกหลุมพรางมายาวนานในความเชื่อในตรีเอกานุภาพด้วยเหตุผลที่ว่า รากฐานข้อเชื่อนั้นเกือบทั้งหมดได้มาจากคริสตจักรคาทอลิกที่คริสตจักรโปรแตสแตนท์ได้ถือกำเนิดขึ้น (ตัวลูเธอร์เองเป็นนักบวชตามคำสอนของออกัสตินในคริสตจักรคาทอลิก)

      คริสตจักรโปรแตสแตนท์ได้แยกออกจากศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในสองประเด็นหลักที่เสนอโดยลูเธอร์ เรื่องแรกคือ ความสำคัญของการทำให้ชอบธรรมโดยความเชื่อ เรื่องที่สองก็คือ การปฏิเสธอำนาจของพระสันตะปาปาและการจะทำอะไรก็ถือว่าถูกต้องตลอด แต่นอกเหนือจากทั้งสองประเด็นนี้แล้ว ข้อเชื่อส่วนที่เหลือของคาทอลิก รวมทั้งหลักข้อเชื่อไนเซียและคอนสแตนติโนเปิล และการสังคายนาอื่นๆที่ตามมาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ก็ถูกรวมอยู่ในความเชื่อของนิกาย โปรแตสแตนท์ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความแตกต่างอย่างแท้จริงทางศาสนศาสตร์ระหว่างความเชื่อของนิกายคาทอลิกกับความเชื่อของนิกายโปรแตสแตนท์ จึงเป็นเรื่องง่ายที่ผู้เชื่อในนิกายโปรแตสแตนท์และแม้แต่บรรดาผู้รับใช้ในนิกายโปรแตสแตนท์จะเปลี่ยนมาเชื่อในนิกายคาทอลิกเหมือนที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆในทุกวันนี้ และในทางกลับกันก็มีผู้เชื่อในนิกายคาทอลิกที่ไม่ได้ชื่นชอบพระสันตะปาปามาก ก็ไม่ค่อยมีปัญหาที่จะเข้าร่วมกับคริสตจักรโปรแตสแตนท์

      เรื่องการกำหนดว่าอะไรคือพวกนอกรีตนั้น คริสตจักรตั้งแต่สมัยของการสังคายนาแห่งไนเซียได้ถือตนว่าเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการกำหนดความเชื่อ และเป็นผู้กำหนดว่าใครเป็นคนนอกรีตและใครไม่เป็น คริสตจักรคาทอลิกได้ประกาศให้ลูเธอร์เป็นพวกนอกรีต และให้มีผลไปถึงพวกโปรแตสแตนท์ที่ติดตามเขา แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คริสตจักรคาทอลิกได้มีทัศนคติที่ปรองดองกับนิกายโปรแตสแตนท์มากขึ้น

      หลังจากการสังคายนาแห่งไนเซีย ตอนนี้บ้านเมืองโรมันเป็นปึกแผ่นและถือได้ว่าคริสตจักรขานรับนโยบายข่มเหง “พวกนอกรีต” การพลิกผันที่ประหลาดและน่าขันของประวัติศาสตร์ซึ่งแต่ก่อนเป็นคริสตจักรของคริสเตียนที่ถูกข่มเหง แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นผู้ข่มเหงพวกคริสเตียนเสียเองโดยเพ่งเล็งพวกเขาว่าเป็นพวกนอกรีตและนอกศาสนา ความโหดเหี้ยมของผู้ข่มเหงที่เป็นคริสเตียนเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดจากความน่าสยดสยองของการสอบสวนอย่างทารุณด้วยการใช้ระบบการทรมาน การสังหาร และการสังหารหมู่ในการข่มเหง “พวกนอกรีต” แต่การปฏิบัติเช่นนี้ได้เริ่มต้นขึ้นในหลายศตวรรษก่อนหน้านี้แล้ว

      เมื่อคริสตจักรหรือกลุ่มของคริสเตียนถือตนว่ามีสิทธิที่จะกำหนดว่าสิ่งใดที่นอกรีต และอะไรคือความเชื่อดั้งเดิม หรือใครเป็นคนนอกรีตและใครไม่ได้เป็น ดังนั้นเองสิ่งที่น่ากลัวในทุกรูปแบบจึงสามารถเกิดขึ้นได้ซึ่งจะถูกบันทึกไว้ตลอดไปให้เป็นความน่าอับอายของคริสตจักร พระเยซูได้ทรงเตือนผู้ที่ติดตามพระองค์ในเรื่องนี้แล้วเมื่อพระองค์ตรัสว่า “วันนั้นจะมาถึง เมื่อผู้ที่ฆ่าพวกท่านจะคิดว่าเขากำลังรับใช้พระเจ้าอยู่” (ยอห์น 16:2 ฉบับ NIV)

      ส่วนชาวโปรแตสแตนท์ ที่คนอาจจะคิดว่าตัวของพวกเขาเองได้เคยถูกประณามว่าเป็นพวกนอกรีต ก็คงไม่มีแนวโน้มที่ประณามคนอื่นๆในแบบเดียวกัน แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่เป็นเช่นนั้น การข่มเหงอย่างสยดสยองต่อพวกอนาแบ็บติสต์[123]ที่เริ่มตั้งแต่สมัยการปฏิรูปศาสนานั้น จะเป็นรอยแปดเปื้อนกับคริสตจักรตลอดไป

      พวกอนาแบ็บติสต์นับหมื่นคนถูกชาวคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ฆ่าตาย ในเวลาเดียวกันพวกหลังโดยลูเธอร์ สวิงลี่ และคาลวิน ก็มีการเผาประจานพวกอนาแบ็บติสต์จนไหม้เกรียม (พจนานุกรมคริสตจักรคริสเตียนฉบับอ็อกซ์ฟอร์ด พิมพ์ครั้งที่ 3 หน้า 55)[124] สิ่งนี้สอดคล้องกับการประมาณการที่ได้จากแหล่งอื่นๆว่าพวกอนาแบ็บติสต์ถูกฆ่าตายจำนวน 50,000 คนในปี ค.ศ. 1535 พวกอนาแบ็บติสต์บางคนซึ่งตกเป็นเหยื่อที่เรารู้จักกันดีคือ เจค็อบ ฮัทเตอร์ (ถูกเผามัดกับหลักในอินส์บรุค) ฮานส์ ฮัท (ถูกทรมานไม่นานก่อนจะเสียชีวิตในอ๊อกส์เบิร์ก) และนักศาสนศาสตร์บัลธาซาร์ ฮับไมเออร์ [125](ถูกทรมานและเผาทั้งเป็นในเวียนนา หลังจากนั้นสามวัน ภรรยาของเขาก็จมน้ำตายในแม่น้ำดานูบโดยมีหินผูกคอของเธอ)[126]

      พวกโปรแตสแตนท์ที่รู้เรื่องความโหดร้ายเหล่านี้ (เช่น ผู้ที่สอนวิชาประวัติศาสตร์คริสตจักรในวิทยาลัยและสถาบันพระคัมภีร์ต่างๆ) ก็เข้าใจได้ว่าคงไม่ต้องการจะพูดถึงพวกเขาเหล่านี้ ดังนั้นเอง คริสเตียนโดยทั่วไปจึงไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่น่าละอายเหล่านี้ ภารกิจที่กระตือรือร้นของคาลวินในการลงโทษและเผาไมเคิล เซอร์วีตัสขณะมัดกับหลัก ก็เป็นอีกเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้อย่างดีซึ่งมีคริสเตียนไม่กี่คนและแม้แต่ผู้เชื่อตามคำสอนของคาลวินเองที่รู้เรื่องนี้[127]

      การถือดีว่าตัวเองมีสิทธิที่จะกำหนดว่าใครเป็นคนนอกรีตและใครไม่เป็น ก็ยังมีมาถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากคริสตจักรไม่มีอำนาจของรัฐอีกต่อไป คริสตจักรจึงไม่สามารถจะข่มเหงผู้ขัดขวางหรือผู้คัดค้านด้วยมาตรการทางกายได้อีกต่อไป แต่ก็ยังคงมีอาวุธให้เลือกใช้ได้ คือการโจมตีใส่ร้ายและการทำลายชื่อเสียง มีการกระทำแบบนี้ผ่านทางอินเตอร์เน็ตเพื่อดำเนินการรณรงค์ใส่ร้ายป้ายสีคริสตจักรหรือผู้นำคริสตจักรที่เป็นเป้าหมายอย่างไม่ละอายใจ บรรดาผู้ที่ใส่ร้ายเหล่านี้มักจะเป็นคนพวกเดียวกันกับผู้ที่อ้างว่ายอมรับสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์ แต่ยังมองไม่เห็นการกล่าวโทษที่รุนแรงกับความบาปของการใส่ร้ายจากในพระคัมภีร์เดียวกันนี้ นี่คือขอบเขตที่หลายคนในคริสตจักรล้มลงในอีกความบาปหนึ่งคือ ความหน้าซื่อใจคด ที่พระเยซูได้ทรงติเตียนในมัทธิว 23 คนเหล่านี้เป็นคนพวกเดียวกันกับพวกที่หูหนวกกับการเตือนของพระเยซูว่า “อย่าตัดสิน” (มัทธิว 7:1)

      ประเด็นที่เราต้องเน้นตรงนี้ถ้าจะมีความหวังสำหรับอนาคตของคริสตจักรคือ คริสตจักรจำเป็น อย่างเร่งด่วนต้องเห็นว่าคริสตจักรได้ตกอยู่ในสภาพที่เชื่อผิดและหน้าซื่อใจคด และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดตารับความจริงเหล่านี้เพื่อจะสามารถกลับใจเพื่อความรอดของคริสตจักรเอง ความจริงก็คือว่าคริสตจักรได้สูญเสียความน่าเชื่อถือ และถูกชาวโลกมองว่าคริสตจักรเป็นเพียงสถาบันทางศาสนาหรือสถาบันทางสังคมที่มีความสัมพันธ์ (ถ้ามี) กันน้อยนิดในยุคปัจจุบัน

 

การเปลี่ยนจากการดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์มาเป็นการเห็นดีเห็นงามกับหลักคำสอน

      การเบี่ยงเบนอย่างมหันต์ไปจากแนวทางปฏิบัติในพระคัมภีร์ใหม่ ที่มีผลที่ร้ายแรงกับชีวิตฝ่ายวิญญาณของคริสตจักรก็คือ จากการสังคายนาแห่งไนเซียเป็นต้นมา การมาเป็นคริสเตียนถูกมองว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเห็นด้วยกับหรือการยอมรับหลักข้อเชื่อ หลักข้อเชื่อไนเซียปี ค.ศ. 325 กล่าวอย่างชัดเจนว่า ความรอดตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการยอมรับข้อที่เป็นหลักคำสอน สิ่งนี้ไม่สอดคล้องกับพันธกิจของพระคัมภีร์ใหม่ที่ให้ออกไปทั่วโลกเพื่อนำชนทุกชาติมาเป็นสาวก (มัทธิว 28:19) มากกว่าจะมาเป็นพี่น้องร่วมชาติตามความเชื่อ

      “ทฤษฎีความเชื่อ” ที่เป็นมาตรฐานในคริสตจักรปัจจุบันนี้เกี่ยวข้องไม่มากไปกว่าการยอมรับหลักข้อเชื่อของคริสตจักร ซึ่งโดยปกติแล้วจะยึดตามหลักข้อเชื่อไนเซีย แต่ไม่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตฝ่ายวิญญาณของคนๆหนึ่ง นี่เป็น “ความเชื่อ” ชนิดที่น่าเศร้าซึ่งได้เป็นบรรทัดฐานในคริสตจักรตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 จนมาถึงปัจจุบัน มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองเห็นล่วงหน้าถึงผลกระทบทางลบที่ทฤษฎีความเชื่อจะมีต่อชีวิตด้านคุณธรรมของคริสตจักร การประพฤติตนของคริสเตียนจำนวนมากก็ยังไม่ถึงมาตรฐานของคนดีที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน มีข่าวความบาปต่างๆของผู้นำคริสตจักรพาดหัวตามหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยมาก การระดมเงินถวายก็เป็นกิจกรรมหลักของคริสตจักรมากมายในปัจจุบันนี้ คริสตจักรมีความน่าเชื่อถืออะไรบ้างในโลกนี้? จนกว่าเราจะหลุดออกจากแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อตามหลักข้อเชื่อนี้ และสนใจการเรียกของพระคัมภีร์ใหม่ให้เป็นคนใหม่ในพระคริสต์นั่นแหละ เราจึงจะมีความหวังสำหรับคริสตจักร


[1] The American Heritage Diction­ary of the English Language (5th full edition)

[2] Oxford Dictionary of English (3rd edition)

[3] หรือแปลตามพจนานุกรมว่า “เทวภาพของพระเจ้า พระเจ้า หรือ พระเป็นเจ้า” Godhead มาจากคำกรีกในโคโลสี 2:9 ว่า θεότης (theotes ที่หมายถึง deity) ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “ความเป็นพระเจ้า” ฉบับไทยคิงเจมส์และฉบับ 1971 แปลว่า “สภาพของพระเจ้า” และฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “พระลักษณะของพระเจ้า” (ผู้แปล)

[4] Triune God หรือแปลว่า พระเจ้าที่ประกอบด้วยสามองค์ในร่างเดียวกัน (ผู้แปล)

[5] God in three persons

[6] hypostatic union หมายถึงการมีสองสภาวะของพระคริสต์ ที่มีทั้งพระเจ้าและมนุษย์อยู่ในคนๆเดียว (ผู้แปล)

[7] The economic Trinity หรือ ความสัมพันธ์พิเศษของสามพระองค์ในตรีเอกานุภาพ (ผู้แปล)

[8] communicatio idiomatum

[9] New Diction­ary of Theology, Trinity

[10] Dictionary of the Bible, Father John L. McKenzie, Trinity

[11] Evangelical Dictionary of Theology, Trinity

[12] B.B. Warfield, ISBE, Trinity

[13] Eternal gen­eration of the Son หมายถึงความสัมพันธ์ของพระบุตรภายในพระเจ้าที่นิรันดร์ ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่มีที่สิ้นสุด ที่บังเกิดจากพระบิดาโดยเนื้อแท้ของพระเจ้าพระบิดาที่ส่งผ่านพระบุตร (ผู้แปล)

[14] Eternal procession of the Holy Spirit หมายถึงความสัมพันธ์ภายในระหว่างพระวิญญาณบริสุทธิ์กับพระบิดาและพระบุตร ผู้ที่มาจากพระบิดาและมีแก่นแท้ของพระบิดาและถูกส่งมาโดยพระบุตร (ผู้แปล)

[15] Catholic Encyclope­dia, The Blessed Trinity,under The Dogma of the Trinity

[16] The Forgotten Trinity, James R. White, pp.26-27

[17] Evangelical Diction­ary of Theology, Incarnation; the words in quotes are cited by EDT from the Westminster Shorter Catechism (หนังสือสรุปคำสอนของคริสเตียนในรูปคำถามคำตอบตามหลักข้อเชื่อของเวสต์มินสเตอร์) ผู้แปล

[18] Victorinus นักศาสนศาสตร์และบรรพบุรุษของคริสตจักรในยุคแรก (ผู้แปล)

[19] New Inter­na­tion­al Dic­tionary of New Testament Theology (NIDNTT, ed. Colin Brown, arti­cle God >The Trinity>NT)

[20] Karl Barth, Church Dogmatics (CD), I, 1, 437

[21] Cam­bridge Compan­ion to the Trinity

[22] ผู้เชื่อตามหลักคำสอนของเอเรียส ไม่ยอมรับว่าพระเยซูมีแก่นแท้เดียวกับพระเจ้า และถือว่าพระองค์เป็นเพียงผู้ที่ถูกสร้างที่สูงสุดที่ถูกคริสตจักรส่วนใหญ่มองว่านอกรีต (ผู้แปล)

[23] History of Dogma, vol.7, ch.4, p.225, cf. Erlangen edition of Luthers works, vol.5, p.505

[24] Tritheism

[25] Diction­ary of the Bible by Father John L. McKenzie

[26] Gnosticism คือความเชื่อว่าความรู้เป็นทางไปสู่ความรอดในการหลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุซึ่งมีสิ่งชั่วร้าย (ผู้แปล)

[27] Justo L. González

[28] เรื่องราวของศาสนาคริสต์: คริสตจักรในสมัยแรกจนถึงสมัยปัจจุบัน, เล่ม 1 หน้า 58 (The Story of Christianity: The Early Church to the Present Day, vol.1, p.58.)

[29] Basilides; Hippolytus in Refutatio omnium haeresium 7:22 ดูบทความทางวิชาการ “ผู้เชื่อเรื่องการมีเนื้อแท้เดียวกัน” ในวิกิพิเดียที่อ้างถึงในภาคผนวก 7 ของหนังสือเล่มนี้ (มูลเหตุของความเชื่อเรื่อง “เนื้อแท้เดียวกัน” ของความเชื่อแบบนอสติก)

[30] Irenaeus

[31] Tritheism คือความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน (ข้อมูลจาก Christian Apologetics & Reseach Ministry)

[32] Poly­theism ความเชื่อในพระเจ้าหลายๆองค์

[33] ทอม ฮาร์เปอร์ กล่าวบางอย่างที่ตรงประเด็นว่า “คุณจะไม่พบหลักคำสอนเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ นักบุญเปาโลมีมุมมองสูงสุดเกี่ยวกับบทบาทและองค์บุคคลของพระเยซู แต่ไม่มีที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ที่เขาเรียกพระองค์ว่าพระเจ้า หรือพระเยซูเองก็ไม่ได้กล่าวอ้างอย่างชัดเจนว่าทรงเป็นพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ ... งานวิจัยนี้ทำให้ผมเชื่อว่าผู้ที่ไปคริสตจักรเป็นประจำส่วนใหญ่ ในความเป็นจริงแล้วเป็นผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน” (เพราะเห็นแก่พระคริสต์ หน้า 11)

[34] Karl Barth

[35] James White, Wayne Grudem, Robert Bowman

[36] ESV Study Bible, p.2513

[37] Fourth Later­an Council (1215, Rome)

[38] Ryrie Study Bible

[39] Dallas Theological Seminary

[40] Basic Theology, pp. 89-90

[41] Millard Erickson; Christian Theology

[42] God in Three Persons: A Contem­porary Interpretation of the Trinity, p.11

[43] The Forgotten Trinity;James R. White

[44] J.I. Packer; Gleason Archer; Norman Geisler; John MacArthur

[45] one Being

[46] one Person

[47] a what, not a who

[48] C. S. Lewis

[49] Christian Reflect­ions, p.79

[50] God is a what

[51] Erick­son

[52] God in Three Persons, p.264

[53] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

[54] God is not a “person” (C.S. Lewis) but a “what” (James White)

[55] มาจากคำกรีกว่า “μυστήριον พระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยมีแปลอีกว่า “ความลึกลับ” และ “ความลึกล้ำ” (ผู้แปล)

[56] cf. White, p.173, a mystery beyond the compre­hension of man

[57] Sherlock Holmes เป็นนักสืบในนิยายสืบสวนสอบสวนเขียนโดย เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ผู้แปล)

[58] New Bible Dictionary, 3rd ed.Mystery

[59] Sabellianism หรือ Modalism มีความเชื่อว่าพระเจ้ามีองค์เดียวและไม่ได้เป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันแต่อยู่ในรูปของบทบาทหรือสถานะที่แตกต่างกัน (ผู้แปล)

[60] เคล้าส์ คลอสติเมเออร์, สารานุกรมฉบับย่อของศาสนาฮินดู, หน้า 124; เคล้าส์ คลอสติเมเออร์, สำรวจศาสนาฮินดู, หน้า 487; สตีเว่น โรเซน, สาระสำคัญของศาสนาฮินดู, หน้า 193; ศรี สวามี ศิวะนันดา, เรื่องเกี่ยวกับศาสนาฮินดู, หน้า 143

[61] ริชาร์ด คาลด์เวลล์, บ่อเกิดของพระเจ้าต่างๆ, อ๊อกซ์ฟอร์ด, หน้า 137

[62] ชอง-มาร์ค นาร์บอนน์, โพลตินัสในการตอบโต้กับหลักคำสอนของผู้เชื่อแบบนอสติก, หน้า 39; ฌอน มาร์ติน, ผู้เชื่อแบบนอสติก, หน้า 38

[63] Homo­ousios

[64] Hypostasis หรือ การมีธรรมชาติเดียวกัน (ผู้แปล)

[65] Eternal gene­ration คือคำสอนว่าพระบุตรบังเกิดมาจากพระบิดาตั้งแต่นิรันดร์กาลและดังนั้นจึงดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน (ผู้แปล)

[66] มัทธิว 17:12 แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่าเอลียาห์นั้นมาแล้ว และเขาทั้งหลายไม่รู้จักท่าน แต่เขาได้ทำกับท่านตามที่ต้องการแล้ว บุตรมนุษย์ก็จะต้องทนทุกข์เพราะน้ำมือของพวกเขาเช่นกัน”

[67] ยอห์น 8:28 พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า “เมื่อพวกท่านยกบุตรมนุษย์ขึ้น ท่านก็จะรู้ว่าเราเป็นผู้นั้น และรู้ว่าเราไม่ได้ทำอะไรตามใจชอบ พระบิดาทรงสอนเราอย่างไร เราก็กล่าวอย่างนั้น”

[68] The road to Hell is paved with good intentions หรือแปลตรงตัวว่า “เส้นทางสู่นรกมักจะปูด้วยเจตนาที่ดี” (ผู้แปล)

[69] Theodo­sius I (จักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 ทรงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ปกครองทั้งจักรวรรดิโรมันตะวันตกและโรมันตะวันออก)

[70] ประวัติของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ดูได้ใน สงครามเกี่ยวกับพระเยซู: วิธีการที่สี่พระสังฆราช สามพระราชินี และสองจักรพรรดิได้ตัดสินใจว่าคริสเตียนควรจะเชื่ออะไรใน 1,500 ปีถัดไป ของฟีลิป เจนกิ้น; และวิธีการที่พระเยซูกลายมาเป็นพระเจ้า: ความพยายามที่จะกำหนดความเชื่อของศาสนาคริสต์ในช่วงสุดท้ายของอาณาจักรโรมัน ของริชาร์ด รูเบนสไตน์

[71] Constantinople, Nicaea, Iznik, Byzantium

[72] Ditheism คือความเชื่อว่ามีพระเจ้าสององค์ มีพระเจ้าแห่งความดีและความชั่ว ที่มีอำนาจเท่าๆกัน (ผู้แปล)

[73] Binitarianism คือความเชื่อในความเป็นสองภาคของพระเจ้า (ผู้แปล)

[74] Gnostic concepts แนวความคิดที่เชื่อว่าความรู้ที่ปิดซ่อนอยู่จะนำไปสู่ความรอด กลุ่มที่เชื่อว่าวัตถุหรืออินทรีย์ทั้งหลายในโลกเป็นสิ่งที่เลวและไม่เชื่อว่าพระเยซูคริสต์จะจุติในโลกในรูปของกายมนุษย์ (ผู้แปล)

[75] Eusebius of Caesarea

[76] Jerome and Rufius; cf. Wikipedia, First Council of Nicaea, Attendees

[77] Catholic Encyclope­dia, vol.11, p.44, Nicaea, Councils of

[78] คอนสแตนตินและจักรวรรดิคริสเตียน, หน้า 261 (Constantine and the Christian Empire, p.261)

[79] Niceno-Constantinopolitan Creed; หลักข้อเชื่อไนซีโน-คอนสแตนติโนโปลิตันมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในรูปแบบต่างๆตามที่คริสตจักรลูเธอร์แรน, คริสตจักรโรมันคาทอลิก (จากจารีตละติน), คริสตจักรออร์โธดอกซ์, คริสตจักรนิกายคอปติกออร์โธดอกซ์, และกลุ่มคริสตจักรอังกลิคันให้การรับรอง ความแตกต่างบางอย่างระหว่างหลักข้อเชื่อไนเซียฉบับต่างๆทำให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนศาสตร์ในยุคแรกๆ เช่น “และจากพระบุตร” ที่ปรากฏในหลักข้อเชื่อบางฉบับแต่ไม่ปรากฏในฉบับอื่นๆ

[80] J.N.D. KellyEarly Christian Creeds; Early Christian Doctrines

[81] ต้นฉบับมีแค่ “ถูกฝังไว้” แต่ในหลักข้อเชื่อของสภาคริสตจักรแปลว่า “บรรจุไว้ในอุโมงค์” (ผู้แปล)

[82] หลักข้อเชื่อของสภาคริสตจักรแปลว่า“ผู้ได้ตรัสทางพวกผู้เผยพระวจนะ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในสากลคริสตจักรที่สืบจากอัครธรรมทูตคริสตจักร”ผู้แปลยึดหลักข้อเชื่อของสภาคริสตจักร หลักข้อเชื่อไนเซีย และคอนสแตนติโนเปิลเป็นหลักในการแปล (ผู้แปล)

[83] subordination­ism

[84] orthodox เป็นความเชื่อแบบดั้งเดิม หรือแปลว่า “ที่คนทั้งหลายเห็นว่าถูกต้อง หรือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตกทอดมา” (ผู้แปล)

[85] St. Justin และ St. Irenaeus

[86] The Oxford Dictionary of the Christian Church, 3rd ed., pp. 1552-1553

[87] R.P.C. Hanson, The Search for the Christian Doctrine of God, page xix,

[88] ยูซีเบียส, ชีวิตของคอนสแตนติน, เอ เคเมอรอน และสจ๊วต ฮอลล์ (อ๊อกซ์ฟอร์ด หน้า 41)

[89] “สภาสังคายนาแห่งไนเซียครั้งที่หนึ่งมีขึ้นโดยคอนสแตนตินในปีคริสตศักราช 325 ภายในเจ็ดเดือนแห่งชัยชนะที่เขาได้รับการตั้งให้เป็นผู้ครองเพียงคนเดียวของจักรวรรดิ” (ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ของเคมบริดจ์: จุดเริ่มต้นจนถึงคอนสแตนติน เล่ม 1 หน้า 552)

[90] ฮานส์ คูง: “แต่เป็นจักรพรรดิที่มีอำนาจในการตัดสินใจในสภาสังคายนา และแม้แต่หัวหน้าบาทหลวงแห่งกรุงโรมก็ไม่ได้รับเชิญ จักรพรรดิเปิดประชุมผู้แทนบาทหลวงในจักรวรรดิ เขาชี้นำผ่านหัวหน้าบาทหลวงผู้หนึ่งที่เขาได้แต่งตั้ง และผ่านบรรดาผู้ตรวจการของจักรวรรดิ เขาให้สภาลงมติโดยที่เขารับรองให้เป็นกฎหมายของรัฐ” (คริสตจักรคาทอลิก: ประวัติศาสตร์โดยสังเขป, หน้า 36)

[91] คอนสแตนติน “เป็นที่เชื่อถือว่าทำให้การตกลงใช้สูตร homoousios ในสภาสังคายนาแห่งไนเซียเป็นผลสำเร็จ” (ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ของเคมบริดจ์: จุดเริ่มต้นจนถึงคอนสแตนติน, เล่ม 1, หน้า 548) ฮานส์ คูง: “คอนสแตนตินเองได้บรรจุคำ จากแก่นแท้เดียวกัน (คำกรีกคือ homoousios, คำละตินคือ consub­stant­ialis) ที่ไม่พบในพระคัมภีร์ ซึ่งต่อมาเป็นสาเหตุของการโต้แย้งอย่างมาก” (คริสตจักรคาทอลิก, ประวัติศาสตร์โดยสังเขป, หน้า 37) “คอนสแตนตินได้คำแนะนำจากที่ปรึกษาชาวสเปนของเขา แล้วยังเพิ่มเติมถ้อยคำของเขาเองเข้าไปว่า: พระบุตรมี homoousios เดียวกับพระบิดา ... คนส่วนใหญ่ที่เป็นกลางต่างไม่สบายใจ” (สตีเฟ่น ทอมกิ้นส์, ประวัติศาสตร์ความเชื่อคริสเตียนโดยสังเขป, หน้า 49) จาโรสลาฟ เพลิกัน: “เมื่อคอนสแตนตินได้เสนอคำ homoousios ในปี ค.ศ. 325 นั้น คอนสแตนเชียสบุตรชายของเขาได้เข้ามาแทรกแซงในฝั่งตรงกันข้ามด้วยคำชี้ขาด ข้าพเจ้าไม่ต้องการใช้คำที่ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์” (คำสอนสืบทอดของคริสเตียน, เล่ม 1, หน้า 209-210)

[92] Ossius, the bishop of the city of Cordova in Spain; J.N.D. Kelly (หลักคำสอนของคริสเตียนในยุคแรก, หน้า 237) อ้างถึง “สิ่งสืบทอดกันมาแต่เก่าก่อน ที่ออสซีอัสเป็นผู้เสนอแนะ ὁμοούσιος [homoousios] ให้กับคอนสแตนติน”

[93] หรือเปลี่ยนคนที่ไม่ได้เชื่อในพระเจ้าของคริสเตียนให้มาเชื่อ (คอนสแตนตินและจักรวรรดิคริสเตียน, หน้า 112-113)

[94] ผู้แปลเพิ่มเติมจาก Arians (ผู้เชื่อตามคำสอนของเอเรียส ที่ปฏิเสธว่าพระเยซูมีแก่นแท้เดียวกับพระเจ้า และพระองค์เป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างสูงสุด ซึ่งถูกคริสตจักรคริสเตียนส่วนมากมองว่าเป็นคนนอกรีต)

[95] Pontifex Maximus เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดทางศาสนาของโรมันโบราณ ลักษณะนอกศาสนาอย่างละเอียดของตำแหน่งนี้สามารถดูรายละเอียดและเชิงวิชาการได้ในบทความวิกิพีเดียจากชื่อเดียวกัน

[96] “ในคำเหน็บแนมสุดท้าย จักรพรรดิที่ใกล้ตายน่าจะได้รับบัพติศมาจากบาทหลวงที่เชื่อตามแบบเอเรียส คือยูซีเบียสแห่งนิโคมีเดีย คนเดียวกับที่คอนสแตนตินได้ปกป้องผลประโยชน์ใน ค.ศ. 325 (คู่มือเคมบริดจ์เกี่ยวกับยุคสมัยของคอนสแตนติน, หน้า 130) คอนสแตนตินรับบัพติศมาในวันอีสเตอร์ ค.ศ. 337 โดยบาทหลวงยูซีเบียสแห่งนิโคมีเดียที่เชื่อตามแบบเอเรียส และเสียชีวิตวันที่ 22 พฤษภาคม ในวันเพ็นเทคอสต์ในขณะเตรียมการต่อต้านเปอร์เซีย (ยูซีเบียส: ชีวิตของคอนสแตนติน, หน้า 49)

[97] ยูซีเบียส: ชีวิตของคอนสแตนติน (หน้า 44) กล่าวว่า “มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นคริสเตียนที่แท้จริงของคอนสแตนติน” ที่สังเกตโดยยาคอบ บอร์คาร์ด ในหนังสือ ยุคสมัยของคอนสแตนตินมหาราช, อลิสแตร์ คี ในหนังสือ คอนสแตนตินกับพระคริสต์ และเอ็ดเวิร์ด ชวอตซ์ ในหนังสือ Charakterköpfe aus der Antiken Literatur: Vorträge.

[98] ฮานส์ คูง “หลักข้อเชื่อนี้กลายเป็นกฎข้อบังคับของคริสตจักรและจักรวรรดิ ตอนนี้ทุกอย่างถูกครอบงำมากขึ้นด้วยคำขวัญว่า พระเจ้าเดียว จักรพรรดิเดียว จักรวรรดิเดียว คริสตจักรเดียว ความเชื่อเดียว” (คริสตจักรคาทอลิก: ประวัติโดยสังเขป, หน้า 37)

[99] เพราะข้อเชื่อไนเซียมีผลผูกพันกับหัวหน้าบาทหลวงทั้งหมดในโลกของชาวคริสต์และไปจนถึงคริสเตียนทุกคน ซึ่งจะเห็นได้ในข้อสังเกตทางประวัติศาสตร์ เช่น ในเชิงอรรถก่อนหน้านี้และยังข้อสังเกตต่อไปนี้: “คอนสแตนตินเองที่เรียกตัวหัวหน้าบาทหลวงกว่า 200 คนให้เข้าร่วมประชุมสภาสังคายนาแห่งไนเซีย ในบิธีเนีย ในเอเชียน้อย ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 325 เนื่องจากเป็นกลุ่มขนาดใหญ่และเพราะเป็นการประชุมสังคายนาครั้งแรกที่จะกำหนดหลักข้อเชื่อให้หัวหน้าบาทหลวงทุกคนยอมรับ ในที่สุดสภาสังคายนาแห่งไนเซียก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นสภาสังคายนาทั่วไปหรือสภาสังคายนาของนิกายคริสเตียนทั้งหมดครั้งแรกของคริสตจักร ที่มีอิทธิพลกับหลักคำสอนซึ่งมีผลผูกพันกับคริสเตียนทุกคนพระเยซูสมัยปัจจุบันและสมัยคริสตจักรยุคแรก, เบอร์ริดจ์ และกูลด์ หน้า 172 (Jesus Now and Then, Burridge and Gould, p.172)

[100] พระกิตติคุณลูกากับกิจการของอัครทูตถูกมองว่าเป็นงานเขียนชิ้นเดียวกันโดยผู้เขียนคนเดียวกันคือลูกา ที่เขียนถึงเธโอฟีลัส

[101] Basilides,three­fold sonship consub­stantial with the god who is not

[102] Martin Luther and New International Dic­tion­ary of NT Theology (Colin Brown), with Karl Barth

[103] the God; Origen

[104] ทั้งสองคำกล่าวของฮานส์ คูง มาจากหนังสือคริสตจักรคาทอลิก: ประวัติศาสตร์โดยสังเขป, หน้า 37

[105] Justin Martyr and Melito of Sardis

[106] Ditheism หรือ Binitarian­ism

[107] การแยกคนละทางกัน: ระหว่างศาสนาคริสต์กับศาสนายิวและความสำคัญของทั้งสองต่อสถานภาพของศาสนาคริสต์ พิมพ์ครั้งที่ 2, เจ ดี จี ดันน์, สำนักพิมพ์ เอสซีเอ็ม, 2006

[108] เจ เอ็น ดี เคลลี่, หลักคำสอนของคริสเตียนยุคแรก, กล่าวว่า คอนสแตนตินเต็มใจที่จะยอมให้กับกลุ่มคริสเตียนต่างๆ “บนเงื่อนไขที่ว่าพวกเขายอมรับในหลักข้อเชื่อของเขา” (หน้า 237) และว่า “ตราบใดที่จักรพรรดิยังมีชีวิตอยู่ หลักข้อเชื่อของเขาจะต้องมีความศักดิ์สิทธิ์” (หน้า 238) มีการเน้นเพิ่ม

[109] Realpolit­ikเป็นคำภาษาเยอรมันที่หมายถึงการเมืองในทางปฏิบัติจริง (ผู้แปล)

[110] เจ เอ็น ดี เคลลี่: “ไม่ว่าศาสนศาสตร์ของสภาสังคายนาจะเป็นอย่างไร แรงจูงใจที่จะเอาชนะของคอนสแตนตินเองก็คือ การรักษาความสมานฉันท์ไว้ให้ได้มากที่สุดที่เป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่พร้อมที่จะปิดประตูให้กับใครก็ตามที่เต็มใจจะลงนามให้กับหลักข้อเชื่อนี้ ดังนั้นจึงมีความไม่สมจริงที่จะพูดถึงศาสนศาสตร์ของสภาสังคายนานี้” (หลักคำสอนของคริสเตียนยุคแรก, หน้า 237)

[111] การกล่าวตรงๆจากประวัติศาสตร์ที่รู้กันว่า “คอนสแตนตินคงไม่สนใจว่าพระเยซูจะเป็นพระเจ้าหรือไม่ เขาสนใจแต่ความเป็นปึกแผ่นของจักรวรรดิ” (ทิโมธี พอล โจนส์, ประวัติศาสตร์คริสเตียนเป็นเรื่องง่าย, หน้า 39)

[112] Gratian and Valentin­ian II

[113] Visigoths หนึ่งในกลุ่มชนเจอร์มานิคต่างๆที่เข้ามารุกรานจักรวรรดิโรมันในปี ค.ศ.  410 กองทัพวิซิกอทที่นำโดยพระเจ้าอาลาริกที่ 1 ประสบความสำเร็จในการพิชิตกรุงโรมทำให้เกิดการล่มสลายของโรมและจักรวรรดิโรมันตะวันตก (ผู้แปล)

[114] Edward Gibbon The History of the Decline and Fall of the Roman Empire

[115] James W. Ermatinger: The Decline and Fall of the Roman Empire, p.39

[116] Invicta Roma Aeterna

[117] Jeromes Comment­ary on Ezekiel

[118] ในชุดสารคดีของบีบีซีตอนที่ 3 หัวข้อ ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ ผู้บรรยายเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์คริสตจักรที่ อ๊อกซ์ฟอร์ดได้กล่าวว่า “จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศตะวันตกเคยรู้จัก ดูเหมือนจะโงนเงนไปสู่ความหายนะ จากจุดเริ่มต้นของศตวรรษที่ 4 จักรวรรดิโรมันที่เป็นจักรวรรดิคริสเตียน แต่แล้วพระเจ้าของคริสเตียนดูจะทิ้งมันไปเสียแล้ว อนารยชนได้บุกรุกเข้ามาในภาคตะวันตก ในปี ค.ศ. 410 พวกเขาได้เข้ามายึดกรุงโรม” คำพูดที่เป็นตัวเอนสะท้อนให้เห็นถึงน้ำเสียงที่สลดของดีอาร์เมด แมคคัลลอคผู้บรรยาย ซึ่งรู้จักกันดีในงานเขียนของเขาที่ชื่อ ศาสนาคริสต์:สามพันปีแรก ผลงานที่ได้รับรางวัลคันดิล ปี 2010 ในสาขาประวัติศาสตร์

[119] The City of God

[120] มีข้ออ้างอิงถึง “บาบิโลน” หกครั้งในวิวรณ์ พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์กล่าวถึง Babulōn “ในเชิงเปรียบเทียบว่า กรุงโรมเป็นแหล่งที่เสื่อมทรามที่สุดในการนับถือรูปเคารพและเป็นศัตรูของคริสต์ศาสนา: วิวรณ์ 14:8; 16:19; 17:5; 18:2,10, 21” บทความ “บาลิโลนในพระคัมภีร์ใหม่” ในสารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับอินเตอร์เนชันแนลสตนดาร์ด (ISBE) กล่าวว่า “นักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่ากรุงโรมคือเมืองที่หมายถึงเช่นนั้น” สำหรับบรรดาผู้เชื่อในสมัยของยอห์นแล้ว การเผยพระวจนะเกี่ยวกับบาบิโลนตามจริงจะมีความหมายน้อยมาก เพราะว่าอิสราเอลอยู่ภายใต้จักรวรรดิโรมันและไม่ได้ถูกคุกคามจากบาบิโลน ตัวยอห์นเองก็เป็นนักโทษของกรุงโรมบนเกาะปัทมอส ไม่ใช่บาบิโลน (วิวรณ์ 1:9) ถ้ายอห์นตั้งใจให้ “บาบิโลน” หมายถึงกรุงโรมอย่างจริงๆ คำสอนของเขาเกี่ยวกับบาลิโลนก็น่าจะมีความสำคัญ

[121] A Greek-English Lexicon of the New Testament and Other Early Christian Literature (Bauer, Danker, Arndt, Gingrich)

[122] Creeds of Christendom by Philip Schaff

[123] Anabaptists ผู้ยึดถือนิกายโปรแตสแตนท์ที่มีการล้างบาป (ผู้แปล)

[124] Luther, Zwingli and Calvin (The Oxford Diction­ary of the Christian Church, 3rd edition, p.55)

[125] Jacob Hutter, Hans Hut,Balthasar Hubmaier

[126] ในยูทเร็คท์ มาเรียและเออร์ซูล่า แวน เบคกัม น้องสะใภ้สองคนก็ถูกเผามัดกับหลัก เธอทั้งสองถูกมัดแบบไม่แน่นกับหลักเพื่อบรรดาผู้เฝ้าดูจะได้เห็นเธอดิ้นทุรนทุรายอย่างเจ็บปวดเมื่อถูกไฟเผา (ประวัติของสตรีนิกายอนาแบ็บติสต์ ผู้บุกเบิกการปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่สิบหก, อาร์โนลด์ ซไนเดอร์ และลินดา เอ ฮิวเบิร์ต เฮคท์ (บก.), หน้า 352-356, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยวิลเฟรด ลอริเออร์, วอเตอร์ลู, ออนตาริโอ, แคนาดา, 1996

[127] เรื่องการทรมานและการประหารชีวิตไมเคิล เซอร์วีตัสในเรื่องของหลักคำสอน, ดูใน ตามล่าหาคนนอกรีต: ชีวิตและความตายของไมเคิล เซอร์วีตัส, 1511-1553, โรแลน เอช เบนตัน, ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนักบวชที่มหาวิทยาลัยเยล; และ ออกมาจากเปลวเพลิง โดยลอเรนซ์และแนนซี่ โกลด์สโตน