บทที่ 3
ความสับสนกับตัวบุคคล
พระบัญญัติหายไปจากอิสราเอล
ผมกำลังเดินหน้าศึกษาบทต่อๆไปโดยกำลังมุ่งไปในทิศทางที่จะนำเรากลับไปที่พระวจนะของพระเจ้าในแบบที่ไม่เคยทำกันมาก่อน ข้อความของพระคัมภีร์ใหม่และที่จริงของพระคัมภีร์ทั้งเล่มได้หายไปนานหลายปี แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์ของคริสตจักรหรือในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล
พระบัญญัติได้ให้ไว้กับชนอิสราเอลผ่านทางโมเสสและพวกเขาดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติซึ่งก็คือพระวจนะของพระเจ้าอยู่ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายพระวจนะของพระเจ้าก็หายไปจากอิสราเอลจนกระทั่งถึงปี 622 หรือ 621 ก่อนคริสตกาลในรัชสมัยของโยสิยาห์ที่ชนอิสราเอลได้ค้นเจอหนังสือพระบัญญัติขณะกำลังซ่อมแซมพระวิหาร การ “ค้นเจอ” พระบัญญัติเป็นเรื่องน่าแปลกใจเพราะใครๆก็คิดเสมอว่าคนอิสราเอลคงจะมีชีวิตอยู่กับพระบัญญัติมาตลอดแต่ก็พบว่ามีช่วงประวัติศาสตร์ของอิสราเอลที่พระคำของพระเจ้าได้สูญหายไปนานและประชาชาติก็ถลำลึกขึ้นและลึกขึ้นไปไหว้รูปเคารพ
พระเจ้าจึงทรงพิโรธชนอิสราเอล ในศตวรรษที่หกพระวิหารได้ถูกทำลายและชนอิสราเอลก็ถูกเนรเทศ แต่ก็หลังจากที่พวกเขามีโอกาสครั้งสุดท้ายที่จะรู้พระวจนะของพระเจ้า โอกาสครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีการค้นพบหนังสือพระบัญญัติในรัชสมัยของโยสิยาห์ โยสิยาห์เป็นกษัตริย์ที่อายุค่อนข้างน้อย (เขาเพิ่งจะอายุได้แปดปีเมื่อขึ้นครองราชย์) แต่มารดาของเขาได้สอนเขาเป็นอย่างดีและใจของเขาก็ร้อนรนด้วยความรักต่อพระเจ้าและต่อความจริง
โยสิยาห์มีคำสั่งให้ซ่อมแซมพระวิหารที่มีอายุสามร้อยกว่าปีหลังจากรัชสมัยของซาโลมอนซึ่งทุกส่วนตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม ขณะกำลังซ่อมแซมและขุดลงไปตรงฐานของพระวิหารก็มีคนพบสำเนาของพระบัญญัติ เมื่อนำมาให้โยสิยาห์ดูก็ทำให้เขาถึงกับแทบใจจะแตกสลายว่า “เราไม่ได้ดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระเจ้า แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมาพระวจนะของพระเจ้าไปอยู่เสียที่ไหนหรือ?” ไม่มีการสอนพระบัญญัติในอิสราเอลอีกต่อไปและประชาชนได้กราบไหว้บาอัลพระของคนคานาอันยิ่งหนักขึ้นๆ
กราบไหว้พระบาอัล
แต่สภาพการณ์ของการเชื่อถือศาสนาไม่ได้ง่ายเช่นนั้น พระบาอัล[1]เป็นพระที่กราบไหว้กันในอิสราเอลก่อนที่กลายมาเป็นพระของคนคานาอันที่อาศัยอยู่ในอิสราเอล อันที่จริงพระบาอัลเป็นที่นับถือกราบไหว้กันในอาณาบริเวณกว้างใหญ่จากด้านตะวันออกคือบาบิโลน (ประเทศอิรักในปัจจุบัน) ไปจนถึงด้านตะวันตกคือคาร์เธจ[2] (ประเทศตูนิเซียในปัจจุบัน) กราบไหว้พระบาอัลครอบคลุมพื้นที่เกือบจะทั้งตะวันออกกลางตั้งแต่อิรักไปจนถึงตูนิเซียที่เป็นชนมุสลิมในปัจจุบันนี้
บาอัลเป็นพระของภูมิภาคที่กว้างใหญ่นี้หรือพูดให้ชัดขึ้นก็คือมีพระบาอัลอยู่มากมาย มีผู้คนกราบไหว้พระหลายหลากมากมายที่พวกเขาเรียกว่า “บาอัล” ซึ่งเป็นชื่อเรียกทั่วไปที่หมายถึง “เจ้านาย”(lord)[3] นอกจากนี้พระบาอัลยังเป็นที่นับถือในประเทศอิสราเอลด้วยเพราะคนอิสราเอลก็คิดถึงพระเจ้าว่าเป็นองค์เจ้านายของพวกเขาเช่นกัน ความสับสนของการใช้คำทำให้คนอิสราเอลนมัสการเจ้านายผิดองค์ซึ่งก็คือพระบาอัลได้ง่ายๆ
ทุกวันนี้เราก็เผชิญปัญหาอย่างเดียวกันที่สับสนกับคำเรียก “องค์ผู้เป็นเจ้า หรือ องค์เจ้านาย” (Lord) คำกรีกของ “องค์ผู้เป็นเจ้า หรือ องค์เจ้านาย” ก็คือ “คูริออส” () ซึ่งอาจหมายถึงพระยาห์เวห์หรืออาจหมายถึงพระเยซู หรืออาจหมายถึงใครก็ได้ที่เป็นเจ้านายหรือนาย ในพระคัมภีร์ใหม่ก็เรียกเจ้าของทาสว่า “คูริออส”[4] เป็นคำเรียกที่สุภาพเหมือนกับคำว่า “ท่าน”[5] หรือ “คุณ”[6] บางครั้งพระเยซูก็ถูกเรียกในความหมายนี้ ตัวอย่างคำเรียกแบบนี้ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษบางฉบับจะใช้คำว่า “ท่านเจ้าคะ หรือ นายเจ้าข้า”[7] แต่ถ้าคุณดูต้นฉบับภาษากรีกก็จะเห็นว่าเป็นคำ “คูริออส” (Lord) คำเดียวกันทั้งหมด
เรื่องความสับสนในการใช้คำนั้นปัจจุบันเราก็อยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกับสมัยของโยสิยาห์ที่บทบัญญัติของโมเสสได้หายไป ผมอยากจะเห็นการค้นคว้าเรื่องพระบัญญัติและการนมัสการพระยาห์เวห์ที่อยู่ดีๆก็หายไป เนื่องจากว่าพระยาห์เวห์ก็ถูกเรียกว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า หรือ องค์เจ้านาย” ด้วยนี่จึงทำให้เกิดความสับสนระหว่างพระยาห์เวห์กับพระเทียมเท็จที่เรียกว่าบาอัลซึ่งเป็นคำที่หมายถึง “ผู้เป็นเจ้าหรือเจ้านาย” ในภาษาฮีบรูด้วยเช่นกัน ถ้าเราอยากให้ข้อผิดพลาดหมดไปเราจำเป็นต้องกำหนดความหมายของคำที่เราใช้ให้ชัดเจน
โยสิยาห์ร่ำไห้เมื่อเขาเห็นหนังสือพระบัญญัติและใจของเขาสลายเมื่อรู้ความจริงว่าพระคำของพระเจ้าเพิ่งจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งจนเมื่อมาถึงในรัชสมัยของเขา นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพราะหากหนังสือพระบัญญัติปรากฏตัวขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์องค์อื่นๆก็อาจถูกโยนเข้ากองไฟไปแล้วก็เป็นได้ พระเจ้าทรงเห็นว่าพระบัญญัติควรให้ค้นพบเมื่อโยสิยาห์เป็นกษัตริย์ของอิสราเอล ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของอิสราเอลนั้นมีกษัตริย์ที่ดีเพียงสามพระองค์เท่านั้นคือ ดาวิด เฮเซคียาห์ และโยสิยาห์
ก่อนหน้านี้เฮเซคียาห์มีความพยายามที่จะปฏิรูปเพื่อช่วยกู้ชนอิสราเอลจากการนมัสการบรรดาพระบาอัล[8] มีพระมากมายและผู้เป็นเจ้ามากมายในอิสราเอล เมื่อเปาโลพูดถึง “มีพระเจ้าและองค์ผู้เป็นเจ้ามากมาย”[9] (1 โครินธ์ 8:5) เขาไม่ได้กำลังพูดถึงคนต่างชาติเท่านั้นแต่ยังนึกถึงสภาพที่น่าเศร้าของการถือศาสนาในประวัติศาสตร์ฮีบรูโบราณด้วย
เฮเซคียาห์ได้ทำลายสถานที่บูชาทั้งหลายที่มีการกราบไหว้พระบาอัล หรือบรรดาผู้เป็นเจ้า หรือบรรดาพระทั้งหลายบนแท่นบูชาต่างๆที่สร้างที่นั่น แต่เมื่อเฮเซคียาห์ล่วงลับไป ชนอิสราเอลก็ตกต่ำลงจนกระทั่งมีการฟื้นฟูในรัชสมัยของโยสิยาห์ น่าเสียดายที่แม้จะมีการฟื้นฟูแต่ก็เป็นแค่เพียงช่วงสั้นๆเพราะโยสิยาห์เป็นกษัตริย์ที่อายุค่อนข้างน้อยจึงขาดสติปัญญาในการจัดการกับสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิง เมื่อฟาโรห์เนโค[10]ของอียิปต์เดินทัพขึ้นเหนือเข้าโจมตีประเทศอัสซีเรียและมหาอำนาจอื่นๆ โยสิยาห์คิดว่านี่จะเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลและราชอาณาจักรยูดาห์ เขาจึงทำสิ่งผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่ต่อสู้กับฟาโรห์เนโคโดยนำกองทัพที่เทียบเท่าหยิบมือเข้าสู้กับกองทัพอียิปต์ที่ชำนาญศึก โยสิยาห์จึงถูกฆ่าตายในการสู้รบ
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การปฏิรูปของเขาต้องสิ้นสุดลง โยสิยาห์ทำหลายอย่างที่ดีมากในสมัยของเขา เขาทำลายสถานที่บูชาทั้งหลายที่มีการกราบไหว้พระเทียมเท็จ เขารื้อฟื้นให้นำพระบัญญัติกลับมาใช้ใหม่และให้มีเทศกาลปัสกาเหมือนเดิม นั่นเป็นสภาพจิตวิญญาณซึ่งเกือบจะจบสิ้นลงของอิสราเอลจนแม้แต่เทศกาลปัสกาก็ต้องถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โยสิยาห์นำการปฏิรูปที่ดีมากเข้ามาแต่เขาก็ก้าวพลาด เราจะก้าวพลาดในชีวิตของเราไม่ได้ เราต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นตรงกับพระประสงค์ของพระเจ้า
โยสิยาห์สิ้นชีวิตในการรบที่มีชื่อเสียงแห่งเมกิดโด[11] ในหนังสือวิวรณ์เรียกเมกิดโดว่า “อารมาเกดโดน”[12] ในภาษากรีก “อาร” ในคำ “อารมาเกดโดน” เปลี่ยนจากพยัญชนะ “ฮา” ของฮีบรูเพราะภาษากรีกไม่มีพยัญชนะต้น “ฮ” ตัวที่ใกล้เคียงที่สุดจึงเป็น “อ” ที่มีเสียงหนัก ดังนั้น “อารมาเกดโดน” จึงเป็นคำเดียวกับคำฮีบรูว่า “ฮารมาเกดโดน”[13] ซึ่งหมายถึงภูเขาเมกิดโด (“ฮาร”[14]หมายถึง “เนินเขา” หรือ“ภูเขา” ในภาษาฮีบรู) มีการสู้รบที่เมกิดโด หรือฮารเมกิดโด ซึ่งก็คือภูเขาเมกิดโด ผู้ที่เคยไปเที่ยวภูเขาเมกิดโดแถบไฮฟาในปัจจุบันจะเรียกที่นี่ว่าเนินสูงไม่ใช่ภูเขาเพราะมันเตี้ยกว่ายอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะในทวีปอื่นๆมาก แต่ในอิสราเอลจะถือว่าเป็นภูเขา
หลังจากโยสิยาห์ถูกฆ่าตายในการสู้รบก็ได้มีการไว้ทุกข์ครั้งใหญ่ในอิสราเอล ประชาชนร่ำไห้เหมือนกับว่าร่ำไห้ให้กับบุตรชายของตนเอง (2 พงศาวดาร 35:24-25) เมื่อโยสิยาห์ล่วงลับไป ชนอิสราเอลก็ไม่มีผู้ที่นำทางจิตวิญญาณและการฟื้นฟูทางจิตวิญญาณของเขาต้องพังลงทันที พระบัญญัติจึงได้ถูกลืมอีกครั้งหนึ่งและพระพิโรธของพระเจ้าก็ตกอยู่กับชนอิสราเอล หลังจากนั้นไม่นานก็ไม่มีชนชาติอิสราเอลหลงเหลืออีกและประชาชนก็ถูกเนรเทศตามคำเผยวจนะที่ว่าจะถูกเป็นเชลยเจ็ดสิบปีแล้วคนที่เหลืออยู่จะกลับไปอิสราเอล ทั้งหมดนั้นเป็นประวัติศาสตร์
มันสายเกินไปไหม?
ประเด็นของผมก็คือว่าความจริงหรือการเปิดเผยจากพระเจ้านั้นอาจถูกลืมได้ หลังจากที่พระบัญญัติได้ให้ไว้ทางโมเสสและสุดท้ายก็สูญหายไปจากประเทศอิสราเอล มีการรื้อฟื้นขึ้นมาระยะหนึ่งแต่เมื่อถึงตอนนั้นมันก็สายเกินไปตามที่นักวิเคราะห์และนักประวัติศาสตร์บางคนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ อิสราเอลเสื่อมลงอย่างเต็มที่ช่วงหลายปีที่ไม่สามารถจะรักษาความจริงไว้ได้อีกต่อไปและไม่นานประเทศชาติก็พังพินาศลง เรื่องทั้งหมดนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์เดิมเพื่อสอนเรา
ดังนั้นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ สองพันปีมาแล้วที่ความจริงฝ่ายวิญญาณในเรื่องความรอดของมวลมนุษย์ได้ถูกเปิดเผยในพระเยซูคริสต์ แต่แล้วภายในเวลา 100 หรือ 150 ปีความจริงฝ่ายวิญญาณนี้ก็รับอิทธิพลผิดๆจากหลักคำสอนของคนต่างชาติและจากนั้นความจริงนี้ก็สูญหายไปราว 1800 ปีที่ผ่านมา ความจริงนี้อาจกำลังถูกค้นพบใหม่ในสมัยของเราโดยพระคุณของพระเจ้าก็เป็นได้ แต่ว่ามันจะสายเกินไปสำหรับเราไหมเหมือนอย่างที่เป็นกับชนอิสราเอล? คนอิสราเอลปลาบปลื้มที่ได้เห็นความเป็นกษัตริย์ที่ดีในโยสิยาห์ แต่ทว่าการปฏิรูปของพระองค์มาสายเกินไปเพราะเมื่อถึงตอนนั้นคนเหล่านั้นก็ไม่สามารถมองเห็นความจริงฝ่ายวิญญาณได้อีกต่อไป
ไม่ว่าเวลานี้จะสายเกินไปหรือไม่ก็มีแต่องค์ผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ นั่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา ความรับผิดชอบของผมก็คือบอกพวกคุณว่าองค์ผู้เป็นเจ้าได้ประทานความจริงนี้ให้คุณอีกครั้ง คนทั้งหลายจะยอมรับหรือจะปฏิเสธก็เป็นเรื่องระหว่างพวกเขากับองค์ผู้เป็นเจ้า มันอาจจะสายไปสำหรับคริสตจักรในยุคสุดท้ายนี้แต่เราก็ยังหวังว่าคริสตจักรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพระคุณของพระเจ้า
การประกาศข่าวประเสริฐกับชนมุสลิม
การประกาศอีซา (พระเยซู)[15] (ชื่อโครงการประกาศพระกิตติคุณกับชนมุสลิม) ซึ่งเป็นผลมาจากการทรงนำและแผนการขององค์ผู้เป็นเจ้าสำหรับคริสตจักรของเรา จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อประกาศข่าวประเสริฐกับคริสเตียนแต่เพื่อประกาศข่าวประเสริฐกับชนมุสลิม ผมไม่ได้สนใจที่จะประกาศกับคริสเตียนเว้นแต่ว่าองค์ผู้เป็นเจ้าจะทรงนำผมอย่างชัดเจนให้ทำเช่นนั้นแต่ในเวลานี้ผมไม่ได้รับการทรงนำ ผมแค่ทำตามการทรงนำและวิธีการของพระองค์ตามแต่จะทรงนำไปทางไหนแม้ว่าจะเป็นการประกาศกับชาวมุสลิมด้วยจุดประสงค์เพื่อทำให้บรรดาคริสเตียนเกิดความอิจฉาเหมือนกับวิธีการของเปาโลที่ประกาศกับชาวต่างชาติเพื่อทำให้ชาวยิวเกิดความอิจฉาก็ตาม เปาโลทำให้พวกเขาเกิดความอิจฉาบ้างไหม? ก็ไม่เลย ผมก็ไม่ทราบว่าเราจะทำให้บรรดาคริสเตียนเกิดความอิจฉาหรือไม่ นั่นอยู่ในพระหัตถ์ขององค์ผู้เป็นเจ้า แต่เปาโลก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสั่งสอนพระคำของพระเจ้าที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็วในหมู่คนต่างชาติซึ่งไม่เป็นอย่างนั้นในหมู่คนยิว ยิ่งไปกว่านั้นก็คือหลังจากที่เปาโลและบรรดาผู้รับใช้คนสำคัญๆของพระเจ้าล่วงลับไปแล้ว พวกคริสเตียนต่างชาติก็ได้บิดเบือนพระคำของพระเจ้าไปเต็มๆเหมือนที่คนยิวได้บิดเบือนพระบัญญัติที่ให้พวกเขาผ่านทางโมเสสในตอนต้นดังที่เราเห็นในบทก่อนหน้านี้
พระเจ้าทรงเห็นควรให้ประวัติศาสตร์ของอิสราเอลถูกบันทึกและคงอยู่เพื่อสั่งสอนเรา จงดูพันธกิจของเปาโลไปยังคนต่างชาติเป็นตัวอย่างที่นำพระคำของพระเจ้าไปยังโลกของคนต่างชาติจนเป็นผลสำเร็จ เราอาจจะเห็นพระคำของพระเจ้าไปถึงโลกของอาหรับในช่วงชีวิตของเราก็เป็นได้ บางทีไฟจะถูกจุดขึ้นก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คือที่พระคำของพระเจ้าจะไปถึงชาวอาหรับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาวอิสลาม สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่มันอาจเป็นผลสำเร็จในสมัยของเราโดยพระคุณของพระเจ้า เมื่อถึงเวลานั้นความรับผิดชอบของเราก็หมดลง
เมื่อก่อนผมคิดว่าพระเยซูอาจเสด็จกลับมาในปี 2006 หรือ 2007 แล้วผมก็คิดถึงที่องค์ผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ว่า “ข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้านี้จะถูกประกาศไปทั่วโลก ให้เป็นคำพยานแก่บรรดาประชาชาติ แล้วที่สุดปลายจะมาถึง” (มัทธิว 24:14 ฉบับมาตรฐาน 2011) ความจริงที่น่าเศร้าก็คือพระกิตติคุณยังไปไม่ถึงประเทศส่วนใหญ่ แม้จะมีประเทศอาหรับอยู่เป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่มีสักประเทศที่พระกิตติคุณไปถึงและสามารถพูดแบบเดียวกันว่าพระกิตติคุณยังไปไม่ถึงชาวมุสลิมจำนวน 1.3 พันล้านคนในโลก (จากสถิติล่าสุด)
บางทีโดยพระเมตตาของพระเจ้าอาจทำให้ผู้ไม่มีโอกาสรู้เรื่องพระเยซูที่ชาวอิสลามเรียกพระองค์ว่า “อีซา” หรือรู้เรื่องสำคัญๆที่พระยาห์เวห์ทรงทำผ่านทางพระเยซู พวกเขาอาจได้รับโอกาสสุดท้ายก่อนจะสิ้นยุคก็เป็นได้ ถึงเวลานั้นพระกิตติคุณก็จะไปถึงทุกๆชาติ แต่ถ้าเป็นตามสภาพของคริสเตียนและพระกิตติคุณที่ประกาศออกไปอย่างในทุกวันนี้แล้วละก็ข่าวประเสริฐคงจะไม่มีวันไปถึงโลกมุสลิมได้เลย ความเชื่อของคริสเตียนไม่ได้เข้าถึงชนมุสลิมใน 1,300 ปีที่ผ่านมาและพวกเขาก็จะไม่มีทางทำสำเร็จ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเสียก่อน ก่อนที่ภารกิจการนำพระกิตติคุณไปถึงชนทุกประเทศจะสำเร็จลงได้ นั่นคือภารกิจของคุณและผม
ที่กล่าวมาข้างต้นคือคำนำเรื่องที่ผมจะสอนในบทนี้ ผมได้พูดครอบคลุมจุดสำคัญบางอย่างเพื่อให้กรอบความคิดที่กว้างขึ้นกับคุณในการศึกษาของเราเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว
การสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า
จากข้อสรุปสองบทที่ผ่านมาในบทแรกผมพูดถึงพระลักษณะของพระยาห์เวห์ผู้ทรงสร้างมนุษย์เพื่อให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์และผู้ที่ยังมาเดินในสวนเพื่อพูดคุยกับมนุษย์ พระเจ้าสถิตอยู่ด้วยและทรงมีความห่วงใยอย่างใกล้ชิดต่อโลกนี้ แต่ในปรัชญากรีกและในศาสนศาสตร์[16]ของคริสเตียนได้วาดภาพพระเจ้าไว้สูงเหนือฟ้าสวรรค์เกินกว่าจะมาเกี่ยวข้องโดยตรงกับมนุษย์ ฉะนั้นพระเจ้าจึงจำเป็นต้องให้มีบุคคลที่สองมาเชื่อมกลางระหว่างพระเจ้ากับเราเพื่อเป็นคนกลางระหว่างสองฝ่าย แต่เมื่อดูในพระคัมภีร์เดิมเราจะไม่เห็นว่าเป็นเช่นนั้น เราจำเป็นต้องแก้ไขความคิดของเราเกี่ยวกับพระเจ้าเสียใหม่และไม่นำเอาความคิดของเราแบบคนต่างชาติเข้ามาใส่ในพระคัมภีร์
คุณอาจสงสัยว่าทำไมในบทแรกผมจึงบอกคุณถึงเรื่องราวจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระยาห์เวห์ พระคัมภีร์เดิมเปิดเผยบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่คุ้นชินเกี่ยวกับพระเจ้า แต่คุณอาจรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่คุ้นหูคู่ขนานไปกับสิ่งที่ไม่คุ้นหู เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพระยาห์เวห์เราฟังคุ้นหูเพราะเรื่องเหล่านั้นทำให้เรานึกถึงพระเยซูผู้ที่มาเดินอยู่บนโลกนี้ ผู้ที่พูดคุยและปะปนอยู่กับผู้คนมากมายและแม้กระทั่งเรียกผู้คนให้ติดตามพระองค์
พระคัมภีร์กล่าวว่าพระยาห์เวห์ทรงทำเสื้อให้อาดัมกับเอวา แต่เรารู้สึกว่างานแบบนี้ไม่น่าจะเป็นงานที่พระเจ้าผู้สูงสุดและผู้อยู่ไกลลิบควรจะทำ แต่เมื่อดูตามพระคัมภีร์แล้วเราจะเห็นว่าพระองค์ทรงทำเช่นนั้น ถ้าตาของเรามองเห็นและหูของเราได้ยินเราจะพบว่ามีรายละเอียดสำคัญๆหลายอย่างเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่ทั่วพระคัมภีร์ เช่นที่พระยาห์เวห์ทรงเป็นผู้ที่ปิดประตูเรือเพื่อให้โนอาห์และครอบครัวอยู่รอดและปลอดภัยอยู่ข้างใน เมื่อโมเสสสิ้นชีวิตบนภูเขาพระยาห์เวห์ก็ทรงฝังเขา ชาวยิวเองก็รับเรื่องนี้ยากเพราะชาวยิวตีความว่าผู้ฝังโมเสสคือทูตสวรรค์ของพระยาห์เวห์ แม้แต่ชาวยิวก็มีปัญหาเรื่องการสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้าและไม่พ้นจากอิทธิพลความคิดแบบกรีกเรื่องการสถิตอยู่ไกลของพระเจ้า
ทำไมเราจึงรับคำที่พระคัมภีร์กล่าวตรงๆไม่ได้? ทำไมเราจึงเอาความคิดที่ฝังหัวของเราใส่ในพระวจนะของพระเจ้า ถึงแม้จะมีข้อความที่ชัดเจนจากพระคัมภีร์แต่เราก็ไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรงฝังศพโมเสสและให้พระหัตถ์ของพระองค์เปื้อนดินหรือจะทรงปิดประตูเรือ หรือว่านั่นจะเป็นทูตสวรรค์ที่ทำ?
ในเรื่องราวเหล่านี้เรารับรู้บางสิ่งที่คุ้นหูคู่ขนานไปกับสิ่งที่ไม่คุ้นหูเพราะพระยาห์เวห์ทรงทำหลายสิ่งที่ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่พระเยซูทรงทำ ขณะที่เหล่าสาวกของพระองค์ออกไปจับปลาพระเยซูก็เริ่มก่อไฟด้วยพระหัตถ์ของพระองค์และทรงทำอาหารเช้าให้พวกเขา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ การที่พระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์มาทำอาหารให้เหล่าสาวกของพระองค์เตือนเราให้นึกถึงหลายสิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงทำในพระคัมภีร์เดิม เรารู้สึกว่าน่าจะเป็นพระเยซูที่จะทำสิ่งแบบนี้ก็เพราะ “เหมือนบุตรมนุษย์ที่ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อปรนนิบัติคนอื่น” (มัทธิว 20:28 เปรียบเทียบกับ ฟีลิปปี 2:7)
ในขณะเดียวกันเรื่องราวในพระคัมภีร์เดิมก็ฟังดูไม่คุ้นเพราะเราเองไม่อยากจะเชื่อว่าพระเจ้าพระบิดาจะมาทำสิ่งที่ติดดินแบบนี้ ถ้าเป็นพระเยซูล่ะก็ใช่ แต่ถ้าเป็นพระบิดาน่ะไม่ใช่ พระบิดาทรงอยู่ไกลลิบและสูงส่งในสวรรค์ฉะนั้นจึงต้องเป็นพระเยซูที่เสด็จเข้ามาในโลกและทำสิ่งที่ติดดินแบบนี้ คริสเตียนบางคนยังสรุปด้วยซ้ำว่าเป็นพระเยซูเองที่พูดกับอาดัมและเอวาในสวนนั้น หรือเป็นผู้ที่ปิดประตูเรือ หรือเป็นผู้ที่ฝังศพโมเสส เพราะพระเยซูก็ทำสิ่งที่คล้ายกันนี้ในพระคัมภีร์ใหม่ เราช่างใส่ความคิดของเราให้กับพระคัมภีร์เดิมได้ง่ายๆ
พระยาห์เวห์เสด็จเข้ามาในโลก
เราเห็นในบทที่สองว่าพระองค์ผู้เสด็จเข้ามาในโลกนี้ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นพระยาห์เวห์ เราพบความจริงในพระคัมภีร์ที่น่าตกตะลึงและยากที่จะเข้าใจ แต่เมื่อผมยิ่งคิดถึงเรื่องนี้ก็ยิ่งประหลาดใจเพราะความจริงในเรื่องนี้สอดคล้องกับพระลักษณะของพระเจ้าที่เปิดเผยไว้ในพระคัมภีร์เดิม การเสด็จเข้ามาในโลกนี่แหละเป็นสิ่งที่พระเจ้าจะทำ แต่ความคิดความเข้าใจของเราได้ถูกล้างสมองให้เชื่อว่างานแบบนี้ได้ถูกถ่ายโอนไปให้พระเยซู ในความคิดของเราแล้วพระยาห์เวห์จะไม่เสด็จเข้ามาในโลกแต่จะเป็นพระเยซูที่เสด็จมา เราคิดแบบนี้แม้จะไม่มีการสนับสนุนจากพระคัมภีร์ในการตีความเช่นนี้ของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์เดิมที่เราจะพบพระองค์ที่สอง หรือที่พระองค์ที่สามที่เป็นพระเจ้า พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าเดียวและเพียงผู้เดียวและความจริงนี้ก็ได้รับการยืนยันอีกครั้งหนึ่งจากพระเยซู[17]
เราจะยอมรับความคิดนี้ไม่ได้หรือว่าในการเฉลิมฉลองคริสต์มาสนั้นผู้ที่เสด็จเข้ามาในโลกคือพระยาห์เวห์และไม่ใช่ใครอื่นเลย? ทำไมเราจึงยืนกรานว่าพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ พระบิดานิรันดร์ และองค์สันติราชในอิสยาห์ 9:6 ไม่ใช่พระยาห์เวห์? เราตั้งพระเยซูให้เป็นพระบิดานิรันดร์อย่างน่าขบขันว่าพระบุตรคือพระบิดาและพระบิดาก็คือพระบุตร นั่นคือความหมิ่นเหม่และความสับสนที่มีในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ
ถ้าดูตามมาตรฐานของพระคัมภีร์เดิมแล้วเรามาถึงจุดที่ควรถูกกล่าวหาว่าไหว้รูปเคารพ เราไวที่จะติเตียนชาวยิวว่าไหว้รูปเคารพและกราบไหว้บรรดาพระอื่นๆ แต่เราเองก็ได้ทำอย่างเดียวกันมาตลอดชีวิตคริสเตียนของเรา โดยพระคุณของพระเจ้าตอนนี้ผมเริ่มจะเห็นถึงความร้ายแรงของความยุ่งเหยิงในฝ่ายวิญญาณอย่างที่ผมไม่อาจเห็นมาก่อนแม้แต่ปีที่ผ่านมา
ในบทที่สองเราดูการเปิดเผยอย่างน่าอัศจรรย์ที่พระยาห์เวห์เองเสด็จเข้ามาในโลก มาถึงตอนนี้พระคัมภีร์เดิมหลายตอนเริ่มจะสอดคล้องกัน เราจะเห็นว่าอิสยาห์ 9:6[18]ไม่ได้กล่าวถึงพระเจ้าพระองค์ที่สองหรือพระองค์ที่สามแต่อย่างใด เราสามารถจะบิดเบือนชื่อเรียกต่างๆของพระเจ้าในอิสยาห์ 9:6 ให้มาเป็นชื่อเรียกของมนุษย์ หรือว่าเราจะยอมรับชื่อเรียกเหล่านั้นตามที่ปรากฏอยู่ว่าเป็นชื่อเรียกของพระยาห์เวห์และไม่มีผู้ใดอื่นอีก
เนื่องจากคำ “องค์” (Prince)[19] ในคำ “องค์สันติราช” (Prince of Peace) ไม่ได้มีความหมายอย่างที่ภาษาอังกฤษหมายถึงว่าเป็นราชบุตรของกษัตริย์ คำภาษาฮีบรูนี้หมายถึง “ผู้ปกครอง” ด้วยเหตุนี้ถ้อยคำนี้จึงควรจะแปลว่า “ผู้ปกครองแห่งสันติ”[20]
ส่วนเรื่อง “ที่ปรึกษามหัศจรรย์” นั้นคุณคงจะจำได้ว่าเมื่อทูตของพระเจ้ามาปรากฏกับมาโนอาห์และภรรยาของเขา มาโนอาห์ได้ถามชื่อของท่านและทูตของพระเจ้าตอบว่า “ถามชื่อเราทำไม ชื่อเราก็มหัศจรรย์เกินความเข้าใจของเจ้า”[21] (ผู้วินิจฉัย 13:18) ทูตของพระเจ้าที่ปรากฏนี้ไม่ใช่ใครอื่นเลยแต่เป็นพระยาห์เวห์ที่ปรากฏพระองค์ในรูปของมนุษย์ สิ่งที่เราได้ทำตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือให้สิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงเป็นมาถ่ายโอนให้กับพระเจ้าพระองค์ที่สองทุกอย่าง
ผมไม่ได้กำลังเน้นศาสนศาสตร์หรือวิชาการในบทเหล่านี้ แต่จะเน้นความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าซึ่งขึ้นกับการที่เราเชื่อฟังพระองค์ หากเราไม่เชื่อฟังพระเจ้าเราก็จะไม่มีความสัมพันธ์กับพระองค์ แต่การที่จะเชื่อฟังพระเจ้านั้นเราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือความจริงที่จะให้เราเชื่อฟัง
ความสับสนของคำที่ใช้
บทก่อนเราได้ดูมาระโก 12:28-30 ที่ธรรมาจารย์ถามพระเยซูถึงบัญญัติข้อสำคัญที่สุด พระเยซูตรัสตอบโดยยกเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ว่า “โอ คนอิสราเอล จงฟังเถิด พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา” (ฉบับมาตรฐาน 2011 แปล “LORD” ว่า “พระยาห์เวห์” ตรงตามต้นฉบับภาษาฮีบรู)[22] จะเห็นว่าในภาษาฮีบรูมีคำ “ยาห์เวห์” ปรากฏสองครั้ง “พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา” ซึ่งไม่ได้กล่าวอะไรเลยถึงสามบุคคล ทุกคนจำเป็นต้องยอมรับว่าในคำกล่าวนี้มีเพียงแค่บุคคลเดียวคือพระยาห์เวห์ ไม่ได้มีสามบุคคล หรือมีสามพระยาห์เวห์ หรือว่ามีสามบุคคลในพระยาห์เวห์เดียว
ต่อไปนี้เป็นคำกล่าวในภาษาฮีบรูพร้อมคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
Shema Yisra’el Yahweh Eloheynu Yahweh ehad
เชมา ยิสราเอล ยาห์เวห์ เอโลเฮนู ยาห์เวห์ เอหาด
แม้คุณจะไม่รู้ภาษาฮีบรูเลยแต่คุณแค่ใช้ความพยายามนิดเดียวก็จะเห็นคำ (ยาห์เวห์) ปรากฏตรงนี้สองครั้ง ภาษาฮีบรูจะอ่านจากขวามาซ้ายขณะที่คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษจะอ่านจากซ้ายไปขวาตามลำดับ “เชมา ยิสราเอล (จงฟังเถิด คนอิสราเอล) ยาห์เวห์ เอโลเฮนู (พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้า) ยาห์เวห์ เอหาด (พระยาห์เวห์เดียว)”[23]
แต่มีสิ่งสำคัญบางอย่างหายไปในพระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษ ในฉบับภาษากรีกก็หายไปเช่นกันเพราะเซปทัวจินท์[24] (พระคัมภีร์ภาษากรีกที่แปลมาจากพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู) แปลคำ “ยาห์เวห์” (Yahweh) ด้วยคำที่คลุมเครือว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (kurios -คูริออส หรือ Lord -ลอร์ด) ด้วยเหตุนี้ชื่อ “ยาห์เวห์” จึงถูกลบออกจากฉบับภาษากรีก ความสับสนของคำที่ใช้เกิดขึ้นจากการแทนที่ชื่อของพระเจ้าคือ “ยาห์เวห์” ด้วยคำที่คลุมเครือว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ที่ทำให้เข้าใจผิดและหมิ่นเหม่ ถ้าคุณอยากให้ความสับสนนี้หมดไปละก็เมื่อคุณพบคำว่า “LORD”[25] ที่ไหนในพระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษก็ให้คุณอ่านว่า “Yahweh” วิธีการนี้ไม่ยุ่งยากและยังตรงกับต้นฉบับภาษาฮีบรู
ความสับสนมีเพิ่มขึ้นเมื่อคำฮีบรูอีกคำหนึ่งคือ “Adonai” (อาโดนาย) ซึ่งมีความหมายว่า “lord” (ผู้เป็นเจ้านาย) ด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆว่าคำฮีบรูสองคำที่ต่างกันนี้คือ “Yahweh” กับ “Adonai” ได้ถูกแปลมาเป็นคำกรีกคำเดียวกันว่า “kurios” (คูริออส) แล้วก็แปลมาเป็นคำภาษาอังกฤษคำเดียวกันว่า “Lord” (ผู้เป็นเจ้านาย) ความแตกต่างระหว่างคำ “Yahweh” กับ “Adonai” ในภาษากรีกได้หายไป ฉบับแปลภาษาอังกฤษส่วนมากยังคงความแตกต่างให้เห็นอยู่บ้างโดยแปลคำ “Adonai” ให้เป็นตัวพิมพ์เล็กว่า “Lord” (องค์ผู้เป็นเจ้า หรือ องค์เจ้านาย) และแปลคำ “Yahweh” ให้เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ว่า “LORD” (ยาห์เวห์)
เราได้เปลี่ยนใจรักภักดีของเรา
เมื่อเข้าใจว่าเป็นพระยาห์เวห์เดียวแล้วเราจะทำอะไรต่อไป? ข้อต่อมากล่าวว่า “ท่านจงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิต สุดใจ และสุดกำลังของท่าน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5 ฉบับมาตรฐาน 2011)[26] จุดประสงค์ที่เราพิจารณากันอยู่นี้ไม่ใช่เพื่อเป็นความรู้เชิงวิชาการหรือเพื่อเพิ่มพูนภูมิปัญญาแต่เพื่อจะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเจ้า เราจะต้องรักพระเจ้าด้วยสุดใจของเรา ด้วยสุดจิตของเรา และด้วยสุดกำลังของเรา
สิ่งที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีผลกับผมควรทำให้คุณต้องกลัวและตัวสั่น ผมเป็นคนที่แต่ง “เพลงแห่งการยกย่องและจงรักภักดี”[27]ต่อพระเยซู คุณสังเกตเห็นไหมว่าในเพลงนี้พระเยซูทรงเป็นทุกสิ่ง? ผมรักพระเยซูด้วยสุดใจ สุดจิต สุดความคิด และสุดกำลังของผม แต่ว่าเดี๋ยวก่อน! พระคัมภีร์สงวนคำเหล่านี้ไว้สำหรับพระยาห์เวห์ไม่ใช่สำหรับพระเยซู! ผมควรจะร่ำไห้เหมือนกับโยสิยาห์เพราะที่ถูกแล้วสิ่งที่ควรจะเป็นของพระยาห์เวห์แต่กลับไปให้ผู้อื่นเสีย คุณกำลังทำอย่างเดียวกันนี้ไหม? ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่ดีเราก็ทำแบบนี้ตลอดเวลา พวกคุณอธิษฐานกับใคร? หรือนมัสการใคร? หรือประกาศความจงรักภักดีกับใคร? คำตอบก็คือกับพระเยซู!
เราได้ผลักไสพระยาห์เวห์ออกไป เราไม่ต้องการพระองค์เพราะเรามีพระเยซู เราให้พระบิดาหมดความสำคัญและให้พระบุตรเป็นศูนย์กลาง เราได้ปฏิเสธพระบิดาแม้จะไม่ใช่ด้วยคำพูดมากมายแต่ด้วยการทำให้พระเยซูเป็นศูนย์รวมความรักภักดีของเรา เมื่อผมถามคราวก่อนว่ามีกี่คนที่อธิษฐานกับพระบิดาก็มีไม่กี่คนที่ยกมือ และมีใครที่อธิษฐานโดยใช้พระนามพระยาห์เวห์ไหม? ก็ปรากฏว่าไม่มีใครเลย
ในที่นี้เราไม่ได้กำลังพูดกันทางวิชาการ ถ้าไม่มีใครที่อธิษฐานกับพระยาห์เวห์ก็หมายความว่าไม่มีใครที่รักพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจ สุดจิต สุดความคิดและสุดกำลัง มันหมายความว่าไม่มีใครเชื่อฟังพระคำของพระเจ้าเพราะเราได้ให้ความรักภักดีทั้งหมดกับพระเยซูเหตุเพราะความเชื่อในตรีเอกานุภาพ
ผมอยากจะเปลี่ยนเนื้อเพลงนี้แต่ก็สายไปแล้ว ผมพูดได้แค่ว่า “ขอให้เพลงนี้เป็นหลักฐานว่าผมเคยเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยิ่งกว่าใครๆ” ผมได้ทำสิ่งที่ส่งผลให้กับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมากกว่าที่คริสเตียนส่วนใหญ่ได้ทำเสียอีก มันสายเกินไปที่จะเรียกเพลงนี้กลับคืนมา ถ้าเราเอาเพลงนี้ออกทั้งซีดีก็ไม่เหลืออะไรเพราะเพลงนี้เป็นเพลงนำและชื่อของแผ่นซีดีด้วย
จงระวังเมื่อกล่าวถึง “พระบิดา”
ทุกครั้งที่กล่าวถึงพระเจ้าในพระคัมภีร์ใหม่ก็คือการกล่าวถึงพระยาห์เวห์พระบิดา เราจะต้องระวังเมื่อเราใช้คำ “พระบิดา” เพราะเราอาจจะใช้คำนี้ให้มีความหมายว่ามีพระเจ้าพระบุตร (นั่นไม่ใช่สิ่งที่พระเยซูหมายถึงเมื่อพระองค์ตรัสถึง “พระบิดา”) แต่เราก็ทำให้ “พระบิดา” ทรงเป็นในสิ่งที่พระเยซูไม่ได้ต้องการให้พระองค์เป็น
เมื่อคุณตรวจดูคำว่า “บุตรของพระเจ้า” หรือ “บรรดาบุตรของพระเจ้า” ในพระคัมภีร์ใหม่ คุณจะเห็นว่าคำเหล่านี้กล่าวถึงแต่พวกมนุษย์หรือไม่ก็บรรดาทูตสวรรค์ ไม่มีพระเจ้าองค์ใดที่เรียกว่า “พระบุตร” ไม่ว่าจะทั้งในพระคัมภีร์เดิมหรือพระคัมภีร์ใหม่และก็ไม่มีใครที่ถูกเรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” ในพระคัมภีร์ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้สับเปลี่ยน “พระบุตรพระเจ้า” ให้เป็น “พระเจ้าพระบุตร” คำที่ใช้นั้นกลับกันและทำให้ความหมายผิดไป ผมก็ทำแบบนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนใดจะตั้งใจทำเช่นนี้ เราทุกคนเข้าใจผิดไปเพราะคำสอนของคนต่างชาติ
พระบัญญัติข้อสำคัญที่สุด
ให้เรากลับไปดูมาระโก 12:29-30 ที่ธรรมาจารย์ทูลถามพระเยซูว่า “พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด?” และนี่คือคำตอบขององค์ผู้เป็นเจ้า
29พระเยซูจึงตรัสตอบคนนั้นว่า “พระบัญญัติอันดับแรกคือ โอ ชนอิสราเอล จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นพระเจ้าองค์เดียว 30พวกท่านจงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน ด้วยสุดความคิดของท่านและด้วยสุดกำลังของท่าน” (ฉบับมาตรฐาน 2011)
สิ่งแรกจงสังเกตว่าผู้ที่ตอบคำถามของธรรมาจารย์ผู้นี้ก็คือพระเยซูเอง การสังเกตนี้สำคัญเพราะเราบอกว่าเราเป็นผู้ติดตามพระเยซูและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ พระเยซูทรงสอนไว้อย่างชัดเจนว่ามีพระเจ้าเดียวและเราจะต้องรักพระยาห์เวห์ด้วยสิ้นสุดทั้งหมดของเรา (พระเยซูทรงกำลังกล่าวถึงพระยาห์เวห์เพราะพระองค์ทรงกำลังอ้างอิงจากเฉลยธรรมบัญญัติบท 6) สิ่งที่พระเยซูตรัสสอนตรงนี้ไม่ได้กล่าวเฉพาะในมาระโกแต่ทรงกล่าวย้ำอย่างเดียวกันในมัทธิวและลูกา ในพระกิตติคุณเหล่านี้พระเยซูทรงกำลังบอกเราว่าการรักพระยาห์เวห์ด้วยความรักภักดีอย่างสุดๆนั้นคือพระบัญญัติข้อแรกและข้อสำคัญสุด
คำตอบของธรรมาจารย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญบทบัญญัติได้ถูกบันทึกไว้ในข้อ 32-34 ว่า
32ธรรมาจารย์คนนั้นจึงทูลว่า “จริงทีเดียวท่านอาจารย์ ท่านกล่าวถูกต้องที่ว่า พระเจ้า (พระยาห์เวห์) มีแต่องค์เดียว นอกจากพระองค์แล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นอีกเลย 33และการที่จะรักพระองค์ด้วยสุดใจ สุดความเข้าใจ และสุดกำลัง และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ก็สำคัญยิ่งกว่าเครื่องเผาบูชาและของถวายทั้งสิ้น” 34เมื่อพระเยซูทรงเห็นว่าคนนั้นตอบสนองอย่างมีปัญญาจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านไม่ไกลจากแผ่นดินของพระเจ้า” ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครกล้าถามพระองค์อีก (มาระโก 12:32-34 ฉบับมาตรฐาน 2011)[28]
ธรรมาจารย์เห็นด้วยกับพระเยซูอย่างสุดใจว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว และนอกจากพระองค์แล้วไม่มีผู้ใดอื่นอีกเลย เราเข้าใจภาษาง่ายๆตรงนี้ไหม? ไม่มีใครอื่นอีกไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าองค์ที่สอง หรือพระเจ้าองค์ที่สาม พระเยซูไม่ได้พูดแค่ว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่น” แต่พูดว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นอีกเลย”
กลวิธีของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือแสดงให้เห็นว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว แต่ในพระเจ้ามีสามบุคคล เราไม่ควรลองหาวิธีให้มีพระเจ้าหลายพระองค์โดยเสนอความคิดเช่นว่ามีสามพระองค์อยู่ในพระเจ้าเดียวและอะไรทำนองนั้น ความจริงที่เข้าใจได้ไม่ยากก็มีอยู่แล้วว่าไม่มีพระเจ้าอื่นอีก
ธรรมาจารย์ยืนยันอีกครั้งถึงสิ่งที่พระเยซูเพิ่งจะตรัส ว่าเราจะต้องรักพระเจ้าด้วยสุดใจ สุดความเข้าใจ สุดกำลังของเรา และต้องรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ธรรมาจารย์พูดต่อไปอีกว่าสิ่งนี้ “สำคัญยิ่งกว่า” เครื่องบูชาและของถวายทั้งสิ้น นั่นเป็นคำกล่าวที่น่าแปลกใจที่ได้ยินจากธรรมาจารย์เพราะเป็นการยอมรับว่าการปฏิบัติศาสนกิจทั้งสิ้นในงานของพระวิหารนั้นเทียบไม่ได้กับการรักพระยาห์เวห์
การตอบของพระเยซูต่อความเห็นของธรรมาจารย์ก็สำคัญพอๆกัน พระเยซูไม่ได้ตรัสกับเขาว่า “ท่านพูดเกินความจริงไปแล้ว” แต่ทรงชมเขาที่ตอบ “อย่างรู้แจ้ง” พระเยซูยังตรัสกับเขาอีกว่า “ท่านไม่ไกลจากแผ่นดินของพระเจ้า” ธรรมาจารย์เข้าไปใกล้แผ่นดินของพระเจ้ามากและเขาก็เข้าใจบทบัญญัติได้อย่างถูกต้อง ด้วยความที่เป็นธรรมาจารย์เขาจึงทราบดีว่ามีพระเจ้าองค์เดียวและไม่มีผู้ใดอื่นอีกและความรักภักดีทั้งหมดจะต้องมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่พระยาห์เวห์
แต่เราก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น! ธรรมาจารย์คนนั้นดีกว่าพวกเราที่เป็นคริสเตียน เราก้าวไปขั้นที่สองในการมอบความวางใจกับพระคริสต์ แต่เราก้าวข้ามขั้นแรกในการมอบความวางใจกับพระยาห์เวห์ (เป็นไปได้ทีเดียวที่ธรรมาจารย์ผู้นี้ก็ได้ก้าวข้ามไปขั้นที่สองเช่นกัน) แต่เราได้ข้ามขั้นแรกไปเมื่อเรามอบความวางใจกับพระคริสต์โดยไม่รู้ว่าความรักภักดีทั้งหมดของเราจะต้องมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่พระเจ้าองค์เดียวและเพียงผู้เดียวเท่านั้น ผมไม่ได้ทำอย่างนั้นเช่นกันและได้ให้ความรักภักดีทั้งหมดกับพระเยซูแม้ความจริงแล้วพระเยซูได้บอกให้เรารักพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจ สุดจิต สุดความคิดและสุดกำลังของเรา
แต่คุณอาจถามว่าพระยาห์เวห์ไม่ได้เสด็จมาอยู่ในองค์พระเยซูหรอกหรือ? นั่นถูกต้องแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพระยาห์เวห์กับพระเยซูคือองค์เดียวกันและเป็นบุคคลเดียวกัน การรักพระวิหารก็ไม่เหมือนกันกับการรักพระองค์ผู้ทรงสถิตอยู่ในพระวิหาร พระเยซูกำลังตรัสถึง “วิหารคือพระกายของพระองค์”[29] เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ถ้าทำลายวิหารนี้ เราจะสร้างขึ้นภายในสามวัน” (ยอห์น 2:19, 21) พระเยซูเป็นวิหารที่พระยาห์เวห์สถิตอยู่ แต่พระเยซูไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกันกับพระยาห์เวห์
เราต้องไม่สับสนประเด็นหรือว่าเราจะทิ้งความรอดของเรา เราได้ผิดพลาดพอแล้วจึงไม่จำเป็นจะต้องผิดพลาดไปมากกว่านี้ ฉะนั้นครั้งนี้ก็ให้ความคิดของเราชัดเจนไปเลย ผมเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะทรงเมตตาอภัยโทษในความไม่รู้ที่ผ่านมาของเรา เราได้ทำผิดอย่างร้ายแรงที่ให้พระบุตรมาแทนที่พระบิดา เราได้เอาพระลักษณะที่ประเสริฐของพระยาห์เวห์ (ได้กล่าวไว้ในบทแรก) อย่างเช่น ความรักของพระองค์ ความเมตตาสงสารของพระองค์ พระปัญญาของพระองค์ มาถ่ายโอนทั้งหมดไปที่พระเยซู
ในทางปฏิบัติจริงแล้วเราไม่ต้องการพระยาห์เวห์พระบิดา พวกคุณส่วนมากหรือทุกคนได้อธิษฐานกับพระเยซูแทน แต่พระเยซูทรงสอนเราอย่างไรในเรื่องการอธิษฐานหรือ? “พวกท่านจงอธิษฐานเช่นนี้ว่า ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ’” (มัทธิว 6:9) แต่เราก็ไม่ได้อธิษฐานอย่างนั้นใช่ไหม? ยกเว้นว่าเราจะอธิษฐานไปตามธรรมเนียมปฏิบัติอย่างในคริสตจักรนิกายแองกลิกัน[30]ที่ผู้เชื่อจะท่องปากเปล่าว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ” มีผู้ร่วมงานของเราหลายคนที่อธิษฐานกับพระเยซูและลงท้ายคำอธิษฐานในพระนามของพระเยซู ส่วนพระบิดานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร
ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา
พระคัมภีร์เดิมไม่เคยกล่าวอะไรถึงพระองค์ที่สองที่รวมอยู่ในพระเจ้า แต่มีบางคนถามผมว่า “แล้วในปฐมกาล 1:26 ล่ะที่พระเจ้าตรัสว่า ‘ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา’”? เราเอาคำพหูพจน์ “เรา” และ “ของเรา” มาจากไหนหรือ? ที่ผ่านมาเราตีความหมายคำนี้ว่ามีมากกว่าหนึ่งพระองค์ที่รวมอยู่ในพระเจ้า ตามความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้หมายความในลักษณะนั้นเลย เราคงต้องถามความหมายจากชาวยิวดูเพราะสุดท้ายแล้วมันก็มาจากพระคัมภีร์ของเขาและมาจากเชื้อสายความเชื่อที่เคร่งครัดในพระเจ้าเพียงองค์เดียวของเขา
ก่อนหน้านี้ผมพูดไว้ว่าคำสรรพนามพหูพจน์ในปฐมกาล1:26 คือ “‘เรา’ ที่ใช้กับกษัตริย์”[31] เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ขอความเห็นนักวิชาการพระคัมภีร์เดิมซึ่งที่จริงเป็นนักค้นคว้าพระคัมภีร์เดิมของโลกอีแวนเจลิคอล[32] เพื่อดูว่ามุมมองของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพพูดถึงปฐมกาล 1:26 อย่างไร แต่ผลปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นพูดถึงข้อนี้น้อยมากจากมุมมองของผู้เชื่อตรีเอกานุภาพเนื่องจากตระหนักถึงหลักฐานที่มี
ตัวอย่างที่เห็นได้มาจากคู่มืออธิบายพระคัมภีร์หลายชุดของคีลและเดอลิซช์[33]ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็นคู่มืออธิบายพระคัมภีร์เดิมที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในเวลานี้ของโลกอีแวนเจลิคอล ในคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ข้อนี้ คีลและเดอลิซช์ได้กล่าวว่าบรรพบุรุษของคริสตจักรและนักศาสนศาสตร์ยุคแรกๆ (ที่ส่วนใหญ่เป็นบรรพบุรุษกรีกเพราะไม่มีพวกผู้นำชาวยิวเหลืออยู่ในคริสตจักร) ได้ตีความพระคัมภีร์ตอนนี้เกือบจะเป็นเอกฉันท์ว่าอ้างถึงตรีเอกานุภาพ แต่คีลและเดอลิซช์กล่าวต่อไปว่านักวิชาการสมัยใหม่รวมถึงนักวิชาการของโลกอีแวนเจลิคอลดังเช่นตัวพวกเขาเองโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ยอมรับมุมมองนี้ เพราะมุมมองเช่นนี้ไม่สอดคล้องทางวิชาการของพระคัมภีร์เดิม
ที่จริงคีลและเดอลิซช์มองปฐมกาล 1:26 ว่าเป็น “‘เรา’ที่กษัตริย์ใช้” แม้จะไม่พูดคำนี้ตรงๆ พวกเขาใช้คำลาตินที่น่าประทับใจและฟังดูใหญ่โตว่า “พลูราลิส มาเจสตาติส”(pluralis majestatis)[34] ในภาษาลาตินคำ “พลูราลิส” หมายถึง “พหูพจน์” ด้วยเหตุนี้คำนี้จึงหมายถึง “คำพหูพจน์สำหรับกษัตริย์” นี่เป็นคำเรียกที่บรรดากษัตริย์จะใช้แทนตัวพระองค์เอง คีลและเดอลิซช์กล่าวไว้ดังนี้ว่า
การสร้างมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยคำที่พระเจ้าตรัสกับโลก แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำบัญชาของพระเจ้าว่า “เราจะสร้างมนุษย์ตามแบบเรา ตามอย่างเรา”[35] ซึ่งประกาศตั้งแต่ต้นถึงความแตกต่างและความโดดเด่นของมนุษย์ที่เหนือสิ่งที่ถูกสร้างอื่นๆทั้งหมดในโลกนี้ คำพหูพจน์ “เรา” คำนี้บรรพบุรุษและนักศาสนศาสตร์ก่อนหน้านี้ลงความเห็นเกือบเป็นเอกฉันท์ว่าบ่งบอกถึงความเป็นตรีเอกานุภาพของพระเจ้า ซึ่งกลับกันกับผู้อธิบายพระคัมภีร์ยุคใหม่ที่เห็นว่าเป็น “คำพหูพจน์สำหรับกษัตริย์” หรือเป็นการที่พระเจ้าตรัสกับตัวพระองค์เอง ที่ประธาน(ผู้พูด) และกรรม(ผู้ที่พูดด้วย) เป็นคนเดียวกัน หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการสื่อสาร หรือการกล่าวกับเหล่าวิญญาณหรือเหล่าทูตสวรรค์ที่ยืนเฝ้าอยู่รายล้อมพระเจ้าและเป็นสภามนตรีของพระองค์
คีลและเดอลิซช์กล่าวต่อไปว่าคำพหูพจน์สำหรับกษัตริย์ “พลูราลิส มาเจสตาติส” คือ “การอ้างถึงความครบบริบูรณ์ทั้งสิ้นด้วยฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้ในความเป็นพระเจ้าซึ่งพระองค์(พระยาห์เวห์)ครอบครอง” นั่นคือคำพหูพจน์ “เรา” ที่ไม่ได้หมายความว่ามีมากกว่าหนึ่งบุคคลแต่กล่าวถึงความครบบริบูรณ์ทั้งสิ้น (เปรียบเทียบกับ “ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้น”ในโคโลสี 2:9)[36] ของ “ฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้ในความเป็นพระเจ้าที่พระองค์ครอบครอง” แต่หลังจากที่ยอมรับว่า “ไม่มีคำอธิบายอย่างอื่นให้อธิบายได้” ฉะนั้นจึงต้องถือว่าเป็น “คำพหูพจน์สำหรับกษัตริย์” คีลและเดอลิซช์ซึ่งเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพตัวยงกล่าวต่อไปว่า “ฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้ในความเป็นพระเจ้า” เหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นหลายบุคคล[37] ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพดังนั้นคีลและเดอลิซช์จึงยกระดับ “ฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้ในความเป็นพระเจ้า” ให้เป็นหลายบุคคลแม้พวกเขาจะยอมรับว่าจะไม่พบสิ่งนี้ในภาษาฮีบรู ผมไม่มั่นใจการตีความอย่างนี้จนกว่าพวกเขาจะสามารถให้ข้อพระคัมภีร์ที่สนับสนุนสิ่งนี้ได้ (แต่ไม่มีให้ไว้เลย)
แม้จะมีพื้นหลังของความเชื่อในตรีเอกานุภาพแต่คีลและเดอลิซช์ก็เข้าใจปฐมกาล 1:26 ในแนวเดียวกันกับนักวิชาการพระคัมภีร์เดิมของสมัยนี้ คือคำกล่าวนั้นจะสามารถเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อแสดงถึงความครบบริบูรณ์ของฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้ของพระเจ้าในแง่ของความเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น
เนื่องจากปฐมกาล 1:26 ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นพหูพจน์ของหลายบุคคล ซึ่งเสริมกับการที่ “เอโลฮิม” (Elohim -พระเจ้า) เป็นคำพหูพจน์ในภาษาฮีบรูแต่ถูกแปลว่า “พระเจ้า” ที่เป็นเอกพจน์ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับต่างๆ ทำไมคำพหูพจน์จึงแปลมาเป็นคำเอกพจน์ได้? ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมันมีความหมายเป็นเอกพจน์ แต่ทำไมจึงเป็นคำพหูพจน์ตั้งแต่แรก? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีความเข้าใจกันว่าเทพทั้งมวลครอบครอง “ฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้” ตามที่คีลและเดอลิซช์พูดถึง และยังถือกันว่าเหล่าเทพอยู่เหนือมนุษย์และมีอำนาจมากมายหลายเท่า ดังนั้นชาวยิวและไม่ใช่ยิวจึงพูดถึงเหล่าเทพนี้เป็นพหูพจน์
เราจะพบตัวอย่างของ “ฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้ของพระเจ้า” ในสุภาษิต 8:30 “ข้าพเจ้าก็อยู่ข้างพระองค์แล้วเหมือนอย่างนายช่าง ข้าพเจ้าเป็นความปีติยินดีประจำวันของพระองค์ เปรมปรีดิ์อยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ทุกเวลา” (ฉบับมาตรฐาน 2011) ที่คำว่า “พระองค์” และ “ของพระองค์” กล่าวถึงพระยาห์เวห์ แต่ตรงนี้ใครเป็นคนพูด? ในข้อนี้ “ข้าพเจ้า” ผู้ที่พูดคือปัญญา พระปัญญาของพระยาห์เวห์เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตคือถูกพูดถึงว่าเป็นคน ปัญญาไม่ได้เป็นคนจริงๆแต่ในหนังสือสุภาษิตได้พูดราวกับว่าปัญญาเป็นคนคนหนึ่ง ในงานของการสร้างนั้น “พระปัญญาอยู่ข้างๆพระองค์” ใครก็อาจกล่าวได้ว่าพระยาห์เวห์กำลังพูดคุยหรือหารือกับพระปัญญาของพระองค์เอง พระปัญญาถูกพูดถึงเหมือนกับว่าเป็นอีกบุคคลหนึ่ง
พระวิญญาณของพระเจ้ารู้ความคิดของพระเจ้า
เราจะเห็นความเกี่ยวข้องกันในเรื่องนี้จาก 1 โครินธ์ 2:10-11 ซึ่งกล่าวสิ่งที่สำคัญมากและผมก็แปลกใจที่ไม่มีนักวิชาการพระคัมภีร์คนไหนเอ่ยถึงเลย
....พระเจ้าได้ทรงสำแดงสิ่งเหล่านี้กับเราทางพระวิญญาณ เพราะว่าพระวิญญาณทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งแม้เป็นความล้ำลึกของพระเจ้า อันความคิดของมนุษย์นั้นจะมีใครหยั่งรู้ได้ถ้าไม่ใช่จิตวิญญาณของมนุษย์คนนั้นเอง พระดำริของพระเจ้าก็ไม่มีใครหยั่งรู้ได้เว้นแต่พระวิญญาณของพระเจ้าเช่นกัน (ฉบับมาตรฐาน 2011)
ไม่ใช่แต่พระปัญญาของพระเจ้าเท่านั้นที่ถูกพูดถึงแต่พระวิญญาณของพระเจ้าก็ยังถูกพูดถึงอย่างน่าสนใจทีเดียว เปาโลพูดว่าพระเจ้าได้ทรงเผยสิ่งนี้กับเรา “โดยพระวิญญาณของพระองค์” สำหรับผู้เชื่อตรีเอกานุภาพแล้วเห็นว่าพระวิญญาณเป็นอีกบุคคลหนึ่ง แต่จากพระคำตรงนี้เราไม่ได้เห็นเช่นนั้น เปาโลกล่าวว่าพระวิญญาณหยั่งรู้ทุกสิ่งแม้เป็นความล้ำลึกของพระเจ้า “อันความคิดของมนุษย์นั้น จะมีใครหยั่งรู้ได้ถ้าไม่ใช่จิตวิญญาณของมนุษย์คนนั้นเอง พระดำริของพระเจ้าก็ไม่มีใครหยั่งรู้ได้เว้นแต่พระวิญญาณของพระเจ้าเช่นกัน”
เปาโลกำลังให้ภาพเปรียบเทียบระหว่างจิตวิญญาณของมนุษย์กับพระวิญญาณของพระเจ้า ก็เหมือนอย่างที่จิตวิญญาณของมนุษย์เข้าใจความคิดของเขาเอง ดังนั้นพระวิญญาณของพระเจ้าก็เข้าใจความคิดของพระองค์เองเช่นกัน พระวิญญาณหยั่งรู้ทุกสิ่งแม้แต่ความล้ำลึกของพระเจ้า ก็เหมือนกับที่จิตวิญญาณของเราหยั่งรู้สิ่งลึกๆภายในตัวเรา จิตวิญญาณของเราไม่ได้เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่แยกต่างหากจากเราแต่เป็นส่วนที่สำคัญของตัวเรา จิตวิญญาณของเราเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์อยู่ ถ้าเอาจิตวิญญาณไปจากเราเสียเราก็ไม่เป็นมนุษย์อีกต่อไป เมื่อมนุษย์ตายไป “จิตวิญญาณของเขาก็กลับไปสู่พระเจ้าผู้ประทานจิตวิญญาณให้มานั้น” (ปัญญาจารย์ 12:7)
คุณเคยพูดคุยกับตัวเองไหม? คนจะชอบพูดกับตัวเองตลอดเวลา การคิดก็คือกระบวนการที่คุณพูดกับตัวเองและสื่อสารกับตัวเอง “ฉันจะไปไหนดี? ฉันจะซื้ออะไรดี?” เมื่อคุณกำลังคิดนั้นคุณกำลังพูดกับตัวเอง
ในอุปมาฟาริสีกับคนเก็บภาษี “คนฟาริสีนั้นยืนนึกในใจของตนอธิษฐานว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพระองค์ไม่เหมือนคนอื่นซึ่งเป็นคนฉ้อโกง เป็นคนอธรรม และเป็นคนล่วงประเวณี และไม่เหมือนคนเก็บภาษีคนนี้’” (ลูกา 18:11 ฉบับมาตรฐาน 2011) คนฟาริสีกำลังอธิษฐานกับตัวเอง ทำให้ตัวเขาเป็นพระเจ้าเสียเองอย่างได้ผล
ในอุปมาบุตรน้อยหลงหาย บุตรที่หลงระเริงคนนี้เมื่อเขาคิดขึ้นได้จึงกล่าวว่า “บิดาของเรามีลูกจ้างหลายคน พวกเขามีอาหารเหลือเฟือ แต่นี่เรากำลังอดตาย!” (ลูกา 15:17 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) เขากำลังพูดกับตัวเองถึงเรื่องต่างๆ อย่างเช่น การกินอาหารหมูและการกลับไปหาบิดาของเขา
ดังนั้นการที่พระเจ้าจะพูดกับตัวพระองค์เองจึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร นักวิชาการพระคัมภีร์บางท่านกล่าวว่าในปฐมกาล 1:26 นั้นพระเจ้ากำลังทรงหารือกับวิญญาณของพระองค์เองถึงเรื่องสำคัญในการสร้างมนุษย์ พระเจ้าไม่ได้แค่ตรัสว่า “เราจะสร้างมนุษย์” พระองค์ได้ทรงดำริอย่างละเอียดถี่ถ้วนในการสร้างมนุษย์ และได้ทรงสื่อสารกับตัวพระองค์เองที่อยู่ข้างในตัวของพระองค์เอง
เมื่อคุณกำลังพูดคุยกับตัวเองคือตัวคุณพูดกับจิตวิญญาณของคุณ คือที่ทั้งสองส่วนของคุณมีส่วนร่วมกัน เมื่อมีการพูดต่อไปเรื่อยๆจากที่มีสองและแน่นขึ้นเป็นสาม เมื่อมีฝ่ายที่สามเข้ามาร่วมด้วยก็จะมีความสับสนเพราะคุณก็จะพูดกับอีกสองส่วนที่อยู่ภายในคุณ นี่อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจิตเภทเมื่อพวกเขาพูดกับคนนี้ทีคนโน้นทีอยู่คนเดียว
เท่าที่ผมรู้นั้นไม่มีใครที่อธิบายปฐมกาล 1:26 แล้วเคยอ้างอิง 1 โครินธ์ 2:10-11 ซึ่งเป็นข้อพระคัมภีร์ที่จะอธิบายสุภาษิต 8:30 ด้วย ในการพูดคุยกับพระปัญญาของพระองค์(ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์เอง)นั้น พระเจ้าทรงกำลังพูดคุยกับตัวของพระองค์เอง เมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราได้เอาความคิดของเรามาใส่ในปฐมกาล 1:26 แม้ว่าจะมีไม่มีข้ออ้างอิงในพระคัมภีร์เดิมถึงบุคคลที่สองแม้แต่ข้อเดียว นี่คือข้อเท็จจริงที่นักวิชาการทั้งหลายตระหนักดี
การคิดแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวหรือแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์
คำเฉลยที่จะชนะความสับสนนี้ก็คือการบัญญัติศัพท์ของคุณไปเลย ไม่เช่นนั้นคุณก็จะลงเอยด้วยการบิดเบือนความคิดให้เป็นที่ยอมรับหรือไม่ก็พูดอย่างกำกวมที่เดี๋ยวคุณก็หมายถึงอย่างนี้ เดี๋ยวต่อมาคุณก็หมายถึงอย่างโน้น การทำให้หมดจากความสับสนและความคิดเห็นที่ผิดก็คือเมื่อคุณเห็นคำ “พระเจ้า” ที่ไหนในพระคัมภีร์ก็ให้อ่านเป็น “พระเจ้าพระยาห์เวห์”
เราอ่านพระคำของพระเจ้าหนึ่งในสองวิธีนี้คือ อ่านแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว หรือไม่ก็แบบเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ ชาวยิวที่ยึดมั่นก็จะคิดถึงพระเจ้าที่มีเพียงองค์เดียวแต่คนต่างชาติไม่มีปัญหากับการคิดว่าพระเจ้ามีหลายองค์ ถ้าคุณคิดถึงพระเจ้าแบบเชื่อว่ามีพระเจ้าหลายองค์คุณก็จะคิดว่าพระเจ้าหมายถึงองค์นี้และต่อมาก็หมายถึงองค์โน้น ในความเชื่อแบบตรีเอกานุภาพนั้นมีพระเจ้าพระบิดา (พระเจ้าพระองค์แรก) พระเจ้าพระบุตร (พระเจ้าพระองค์ที่สอง) และพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์ (พระเจ้าพระองค์ที่สาม) ไม่ว่าจะนิยามแบบไหนมันก็หมายความถึงการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ซึ่งแม้แต่เหล่านักวิชาการที่เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ตระหนักดี ผมเคยพูดถึงหนังสือที่ชื่อว่า “ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว”[38] ซึ่งมีบทวิจารณ์ความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวที่แท้จริงจากผู้สนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ตัวของพวกเขาเองเข้าใจเอาว่าเป็นผู้ที่เชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว
อย่าลืมว่าพระเยซูทรงเป็นผู้ที่เชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวที่แท้จริง นี่คือคำกล่าวจากพระโอษฐ์ของพระองค์เองโดยตรงว่า “และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” (ยอห์น 17:3 ฉบับมาตรฐาน 2011) ในฐานะที่เป็นผู้ติดตามพระเยซูเราจึงควรจะเปลี่ยนมาฟังพระองค์มากที่สุด ภาษากรีกกล่าวว่า
(และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์)
(คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์)
(ผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้องค์เดียว)
(และพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา)
คำสำคัญสองคำที่ขีดเส้นใต้ไว้ คำแรกคือ “เดียว” หรือ “-โมนอส” (“
-โมนอน” เป็นกรรมการก[39]ของ “
-โมนอส”) คำที่สองคือ “พระเจ้า” หรือ “
-เธ-ออส” (“
-เธ-ออน” เป็นกรรมการกของ “
-เธ-ออส”) เมื่อเอาสองคำมาประสมกัน “monos + theos”(โมนอส + เธ-ออส) เราจะได้คำ “monotheism” (หรือความเชื่อว่าพระเจ้ามีองค์เดียว) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคงคาดหวังจากพระเยซูผู้ที่เชื่ออย่างเคร่งครัดว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว
ถ้าคุณคิดอย่างผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวเหมือนที่พระเยซูทรงคิด คุณจะหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดกับการเชื่อพระเจ้าในตรีเอกานุภาพ เราไปไม่ถูกทางเพราะเรากำลังคิดอย่างเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ คุณสามารถจะอ่านยอห์น 1:1 ได้ทั้งแบบที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวหรือแบบที่เชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ นี่ไม่ใช่เรื่องของการตีความแต่เป็นวิธีที่คุณคิด ถ้าคุณคิดแบบเฉพาะเจาะจงคุณจะได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกัน ยอห์น 1:1 กล่าวว่า “ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับ” อยู่กับพระยาห์เวห์หรือว่าอยู่กับคนอื่น? “และพระวาทะทรงเป็น” เป็นพระยาห์เวห์หรือหรือว่าเป็นคนอื่น? ถ้าคุณบอกว่าเป็น “คนอื่น” นั่นจะเป็นความคิดอย่างที่เชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์เพราะตอนนี้ “พระเจ้า” จะหมายถึงผู้นี้แต่ต่อมา “พระเจ้า” จะหมายถึงอีกผู้หนึ่ง
เราไม่รู้จักการคิดแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว เพราะเราได้ถูกฝึกให้คิดแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ แต่ถ้าคุณอ่านยอห์น 1:1 แบบที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว “พระเจ้า” จะหมายถึงพระยาห์เวห์เสมอเหมือนกับที่พระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่หมายถึง แต่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพทำตามแนวคิดของการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ ตอนนี้ “พระเจ้า” จะหมายถึงอย่างนี้แต่ต่อมา “พระเจ้า” ก็หมายถึงอีกอย่างหนึ่ง ข้อผิดพลาดนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของการตีความแต่เป็นเรื่องของการคิดแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ และก็เป็นอย่างนั้นจากอีกหลายข้อในพระคัมภีร์ไม่ใช่เฉพาะแต่ในยอห์น 1:1 เท่านั้น ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ครอบงำคุณเมื่อคุณคิดแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ แต่เมื่อคุณคิดแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว คุณก็ไม่มีโอกาสที่จะอ่านว่าเป็นพระองค์ที่สองตรงข้อความนั้น
พระเจ้าทรงมีฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้หลายอย่างดังที่คีลและเดอลิซช์สังเกตการณ์ไว้ได้ถูกต้องและดังที่พระคัมภีร์เดิมได้ให้ภาพพระองค์ไว้ ใครๆก็อาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าทรงครองครองพระปัญญาของพระองค์ ทรงครอบครองพระคำของพระองค์ และครอบครองพระวิญญาณของพระองค์ ยังมีพระลักษณะอื่นอีกมากแต่ที่กล่าวมานี้เป็นพระลักษณะหลักๆ แต่ก็มีคริสเตียนบางคนที่ถึงแม้จะยอมรับว่าพระยาห์เวห์ทรงมีฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้หลายอย่างแต่พวกเขาก็ยังไม่เห็นว่า “พระคำ” (พระวาทะ)[40] (เช่นเดียวกับพระปัญญาหรือพระวิญญาณ) ก็เป็นส่วนหนึ่งของฤทธิ์อำนาจและแก่นแท้ของพระเจ้า ถ้าเรามีคำแบบเดียวกันนี้คือ “ในปฐมกาลพระวิญญาณทรงดำรงอยู่ และพระวิญญาณทรงอยู่กับพระเจ้า และพระวิญญาณทรงเป็นพระเจ้า” คุณจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ไหม? คุณจะไม่มีปัญหาถ้าคุณรู้ว่าพระวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของพระเจ้า แต่ถ้าคุณคิดแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ละก็ เมื่อไรที่คุณเห็นคำว่า “พระวาทะ” (พระคำ)[41] ในยอห์น 1:1 คุณก็จะคิดถึงอีกพระองค์หนึ่งทันที
“พระวาทะ” (“Word” หรือ “พระคำ”) แสดงถึงการเปิดเผยพระองค์เองของพระเจ้าเพราะพระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์เองโดยพระวาทะของพระองค์ “พระวิญญาณ” แสดงถึงฤทธานุภาพของพระเจ้าในการดำเนินการ “ไม่ใช่ด้วยกำลัง ไม่ใช่ด้วยฤทธิ์อำนาจ แต่โดยวิญญาณของเรา” (เศคาริยาห์ 4:6 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) “พระปัญญา” ของพระเจ้าแสดงถึงเข้าใจอย่างลึกซึ้งของพระเจ้าในวิธีที่พระองค์ทรงจัดระบบระเบียบและวางโครงสร้างทุกสิ่ง
ทั้งสามส่วนนี้มีส่วนร่วมในการสร้าง พระวิญญาณมีส่วนร่วม พระวาทะมีส่วนร่วม และพระปัญญาของพระเจ้าก็มีส่วนร่วม ทั้งหมดมีส่วนร่วมในการสร้างเพราะส่วนเหล่านี้อันประกอบด้วยฤทธานุภาพของพระเจ้า การเผยพระองค์เองของพระเจ้า และแผนการและความเข้าพระทัยของพระเจ้า ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการทำการสร้าง
ถ้าเราเข้าใจหลักการนี้ เราก็จะไม่ตกในสภาพที่ผิดพลาดในการเชื่อถือพระเจ้าหลายองค์ ยอห์น 1:14 (“พระวาทะทรงเกิดมาเป็นมนุษย์ และทรงอยู่ท่ามกลางเรา”) บอกเราว่า ณ เวลานี้พระเจ้าทรงเผยพระองค์เองในร่างของมนุษย์ พระเจ้าทรงเผยพระองค์เองในกายที่มีเนื้อหนัง ไม่ว่าจะในพันธสัญญาเดิมหรือพันธสัญญาใหม่คำ “เนื้อหนัง” จะระบุถึงชีวิตของมนุษย์ พระยาห์เวห์ได้เสด็จเข้ามาในชีวิตของมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางพวกเราและเราได้เห็นพระสิริของพระองค์ ในข้อความภาษากรีก “ทรงอยู่ท่ามกลางพวกเรา” เป็นคำเจาะจง “” หมายถึง “ตั้งพลับพลาอยู่” (จากคำกริยาว่า “
”-สเคโนโอ) ซึ่งหมายความว่าพระยาห์เวห์สถิตอยู่ในพระเยซูแบบเดียวกันกับที่พระองค์สถิตอยู่ในเต็นท์นัดพบ พระองค์ทรงตั้งเต็นท์[42]อยู่ท่ามกลางเราและทรงตั้งพลับพลา[43]อยู่ท่ามกลางเรา
เมื่อคุณเข้าใจยอห์น 1:1 แล้วคุณจะเข้าใจข้อ 14 ทำไมเราจะต้องนำเอาอีกพระองค์เข้ามาด้วยในเมื่อพระยาห์เวห์เองที่เสด็จเข้ามาในโลก? ที่สรุปเอาว่าผู้ที่เสด็จมาไม่ใช่พระยาห์เวห์แต่เป็นผู้อื่นนั้นเรามีกรอบความคิดจากไหน? พระองค์ที่สองนี้มาจากไหนหรือ? พระองค์ที่สองนี้ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์แน่นอน
เราได้ความคิดที่ผิดๆนี้มาอย่างได้อย่างไร และผมได้ความคิดที่ผิดๆนี้มาได้อย่างไร? ผมรู้แต่วิธีที่จะคิดแบบเชื่อว่าพระเจ้าประกอบด้วยหลายพระองค์ แต่โดยพระคุณของพระเจ้าในที่สุดผมก็เห็นความจริงเมื่อผมทูลพระเจ้าว่า “ขอทรงเปลี่ยนความคิดจิตใจของข้าพระองค์ใหม่ และขอทรงช่วยให้ข้าพระองค์คิดอย่างที่พระองค์ต้องการให้ข้าพระองค์คิดด้วยเถิด” (เปรียบเทียบกับการรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจใหม่ในโรม 12:2) เราจำเป็นต้องคิดอย่างที่พระคัมภีร์สอน และอย่างที่ธรรมาจารย์ในมาระโก 12 เข้าใจเป็นอย่างดีว่า พระเจ้ามีแต่องค์เดียว นอกจากพระองค์แล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นอีกเลย คำกล่าวนี้ไม่เปิดช่องที่จะส่งพระเจ้าพระองค์อื่นอีกให้เข้ามาในโลกนี้ และถ้าเราจะยังคงยืนยันว่ามีผู้อื่นอีกนอกเหนือจากพระยาห์เวห์ที่เข้ามาในโลกนี้ ก็จะเหลือความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียวคือ พระเจ้าได้ทรงส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งมา แล้วเราพร้อมหรือไม่ที่จะบอกว่าพระเยซูทรงเป็นทูตสวรรค์องค์หนึ่ง? ยอห์นไม่เคยบอกว่าพระวาทะคือทูตสวรรค์ พระวาทะก็คือพระยาห์เวห์เอง ซึ่งเป็นความจริงที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าการส่งใครอื่นเข้ามาในโลกเสียอีก
ที่จริงถ้าหากพระยาห์เวห์ส่งผู้อื่นเข้ามาในโลกก็น่าจะเป็นปัญหาเพราะว่าพระบิดาจะเป็นผู้ที่อยู่เฉยๆในขณะที่พระองค์ส่งพระบุตรมาตายเพื่อเรา พระบุตรทำทุกอย่างแล้วพระบิดาทำอะไรบ้าง? พระองค์อาจจะวางแผนทั้งหมดแล้วคุยกับพระบุตร หรือพระบุตรอาจทรงอาสาที่จะไปเองแล้วพระบิดาก็ทรงส่งพระบุตรไปพร้อมกับคำอวยพรของพระองค์
ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้นพระบิดาทรงมีส่วนกับความรอดของเราน้อยกว่าพระเยซูผู้ที่ทำทุกสิ่งเพื่อเรา หากเป็นเช่นนั้นจะมีพระบิดาไว้เพื่ออะไร? พระบิดาก็เป็นผู้จัดเตรียมพระบุตรให้นะสิ นั่นเป็นเรื่องตลกที่น่าเศร้า เพราะถ้าพระบิดาส่งพระบุตรมาตายในขณะที่พระบิดาทรงอยู่เบื้องหลังเฉยๆ เราก็น่าจะถามว่า “ขอทรงอภัยด้วยพระบิดา ทำไมพระองค์จึงต้องส่งพระบุตรของพระองค์มา? พระองค์จะเสด็จมาในโลกนี้เองไม่ได้หรือ?” แต่จากที่เรารู้จักพระลักษณะของพระยาห์เวห์ในพระคัมภีร์เดิมมาแล้วเราจะรู้ว่าพระองค์จะไม่ส่งใครอื่น ความจริงที่น่ามหัศจรรย์ก็คือว่าเป็นพระองค์เองที่เสด็จมาช่วยเราให้รอดและนั่นก็ไม่ได้ขึ้นกับว่าจะมีหรือไม่มีพระบุตร ขนาดบิดาที่เป็นมนุษย์ก็ยังมาเองเสียดีกว่าที่บุตรของตนเองจะมาตาย พระเจ้าจะทำสิ่งน้อยหน้ากว่าบิดาที่เป็นมนุษย์ไหม? ถ้าคุณเป็นพ่อหรือแม่ คุณจะส่งลูกของคุณเองให้ตกอยู่ในอันตรายไหม? ผมแทบจะไม่กล้าคิดอย่างนั้นเลย
ผมยิ่งคิดเรื่องความเชื่อในตรีเอกานุภาพผมก็ยิ่งเห็นว่าฟังไม่ขึ้น พระเจ้าของผมไม่ได้เป็นเช่นนั้น นี่จึงไม่แปลกเลยที่เราไม่กระตือรือร้นที่จะนมัสการพระบิดาถ้าหากพระองค์ปล่อยให้คนอื่นมารับเอาความทุกข์ทรมานทั้งหมดไว้ในขณะที่พระองค์ทรงคอยอยู่เบื้องหลังเพื่อเฝ้าจักรวาลไว้ไม่ให้แตกเป็นเสี่ยงๆ พระเจ้าที่เราพูดถึงเป็นพระเจ้าแบบไหนหรือ? ผมยิ่งคิดผมก็ยิ่งถามตัวเองมากขึ้นว่า ผมมัวไปเสียเวลาทำอะไรอยู่? เพราะการคิดแบบเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์นี่เองผมจึงมองไม่เห็นว่าพระเจ้าทรงดียอดเยี่ยมเกินกว่าที่เราสามารถจะนึกคิดให้พระองค์เป็นในความเชื่อตรีเอกานุภาพ
ประกาศกับชาวมุสลิม
มันคงไม่ง่ายที่เราจะประกาศความจริงนี้กับชาวมุสลิมเพราะพวกเขาเองก็มีมุมมองด้วยว่าพระเจ้าทรงอยู่ไกล ตามจารีตประเพณีของชาวมุสลิมนั้นพระเจ้าไม่ได้ตรัสกับมูฮัมหมัด[44]โดยตรง แต่ได้ทรงส่งทูตสวรรค์กาเบรียลมาพูดคุยกับเขา การเอาชนะอุปสรรคที่จะให้พวกเขาเห็นความจริงนั้นทำได้แต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างสิ้นเชิงเพื่อชาวมุสลิมจะเห็นว่า พระเจ้าไม่ได้ทรงอยู่ไกลเกินจนพระองค์เสด็จเข้ามาในโลกนี้ไม่ได้
เราไม่เคยจะปรับเปลี่ยนถ้อยคำของเราเพื่อให้เหมาะกับชาวมุสลิม และผมก็จะไม่ “โอนอ่อนผ่อนตาม” ผมจะไม่อะลุ้มอล่วยกับถ้อยคำของพระกิตติคุณเพื่อเอาอกเอาใจชาวมุสลิม ผมไม่ใช่คนที่จะอะลุ้มอล่วยกับอะไรก็ตาม เราต้องสั่งสอนความจริง
คุณเห็นว่าสิ่งที่สอนนี้รับยากไหม? ผมก็รับยากเช่นกัน มันไม่ง่ายสำหรับผมที่มีพื้นหลังความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะยอมรับเรื่องนี้ซึ่งยากพอๆกับชาวมุสลิมที่มีพื้นหลังมุสลิมของพวกเขา พวกเขาได้เปรียบที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวแต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยในเมื่อพวกเขายังฝังแน่นกับความคิดที่พระเจ้าทรงอยู่ไกลเกิน นั่นคือเหตุผลที่พระเจ้าของพวกเขาไม่ได้ตรัสกับมูฮัมหมัดโดยตรง แต่ต้องส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งไปพูดกับเขา มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชาวมุสลิมจะหลุดจากการคิดแบบนี้นอกเสียจากว่าพวกเขาอยากจะฟังความจริง
ผมต้องการพูดเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่า ผมไม่ได้มาเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวเพราะจะให้ชาวมุสลิมยอมรับพระกิตติคุณได้ง่ายขึ้น อันที่จริงการเปิดเผยให้เห็นว่าพระยาห์เวห์เองได้เสด็จเข้ามาในโลกไม่ได้ทำให้งานนี้ง่ายขึ้นสำหรับเราเลย ความจริงที่พระยาห์เวห์ได้เสด็จมาในโลกนี้จะเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่ชาวมุสลิมจะยอมรับ แต่พระเจ้าทรงมีคนของพระองค์ที่จะฟังความจริงและผมคิดว่าคุณเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้ที่พระยาห์เวห์ได้ทรงเลือก ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะยังคงอยู่กับเราที่นี่ พวกคุณก็คงจะหายหน้ากันไปนานแล้วหลังจากที่ได้ฟังและตัวคุณเองต้องต่อสู้กับคำสอนในเรื่องนี้ มันยากสำหรับตัวผมเองด้วยที่จะยอมรับ แต่ความจริงก็คือความจริง ถ้าหากสิ่งที่เรากำลังสอนไม่เป็นความจริงก็จงกลับไปทางของคุณเถอะแล้วไม่ต้องมาพัวพันกับเรื่องนี้ แต่ถ้ามันเป็นความจริง เราก็ต้องทำตามแม้ว่าจะมีผลลัพธ์ตามมามากแค่ไหนก็ตาม
ความล้ำลึกนั้นยิ่งใหญ่มาก
เปาโลกล่าวว่า “เราต้องยอมรับว่าความล้ำลึกแห่งความเชื่อของเรานั้นยิ่งใหญ่มาก คือว่า พระองค์ทรงปรากฏเป็นมนุษย์[45] ทรงได้รับการพิสูจน์ว่าชอบธรรมโดยพระวิญญาณ ทรงปรากฏต่อเหล่าทูตสวรรค์ ทรงได้รับการประกาศออกไปยังบรรดาประชาชาติ ทรงได้รับการเชื่อวางใจจากคนมากมายในโลก และทรงถูกรับขึ้นไปด้วยพระสิริ” (1 ทิโมธี 3:16 ฉบับมาตรฐาน 2011)
คุณกำลังอ่านข้อนี้อย่างที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวหรืออย่างที่เชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์? ใครคือ “พระองค์” ที่ปรากฏในมนุษย์? ถ้าคุณเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคุณจะพูดว่าคือ “พระคริสต์” ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นความล้ำลึกที่ตรงไหน? แต่ถ้าผู้ที่เสด็จมาในมนุษย์เป็นพระยาห์เวห์นั่นก็จะเป็นความล้ำลึกที่ยิ่งใหญ่มากอย่างแท้จริง
การพิสูจน์ในการตีความว่าใครคือ “พระองค์” ผู้ที่กำลังถูกกล่าวถึงนั้น เราต้องย้อนไปข้อก่อนหน้านี้หนึ่งข้อ “ถ้าข้าพเจ้ามาช้า ท่านก็จะได้รู้ว่าควรประพฤติอย่างไรภายในครอบครัวของพระเจ้า ซึ่งเป็นคริสตจักรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ เป็นหลักและเป็นรากฐานแห่งความจริง” (1 ทิโมธี 3:15 ฉบับมาตรฐาน 2011) ตรงนี้ “พระเจ้า” ถูกกล่าวถึงสองครั้งแต่ไม่มีการอ้างถึงพระคริสต์ เพราะฉะนั้น “พระองค์” ในข้อ 16 จึงอ้างถึงพระเจ้า เราเห็นการอ้างถึงพระเยซูสามข้อก่อนหน้านี้แต่ไม่มีการอ้างถึงพระเยซูในบริบทตรงๆตรงนี้ ความล้ำลึกที่ยิ่งใหญ่และน่ามหัศจรรย์ก็คือว่า พระเจ้าเองคือพระยาห์เวห์ได้ถูกเปิดเผยให้เห็นในมนุษย์
ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า
ผมขอย้ำอีกครั้งว่าความกังวลของเราไม่ใช่เรื่องของวิชาการและก็ไม่ใช่เรื่องของศาสนศาสตร์ สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดก็คือเรื่องความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ แล้วจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
เราเพิ่งจะอ่านเกี่ยวกับ “คริสตจักรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์” (1 ทิโมธี 3:15) เราควรจะเป็นคริสตจักรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์หรือเป็นคริสตจักรของพระยาห์เวห์ผู้ทรงพระชนม์ คริสตจักรเป็นทั้งพระวิหารของพระเจ้าและพระกายของพระคริสต์ เราไม่ได้พูดถึงคริสตจักรว่าเป็น “พระกายของพระเจ้า” แต่เป็น “พระกายของพระคริสต์” เพราะพระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของพระกาย เราจะบอกเอกลักษณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ก็จากส่วนศีรษะของเขา ศีรษะที่ไม่ใช่จากเส้นผมหรือใบหูแต่จากใบหน้าของเขา ผมจำคุณได้จากใบหน้าของคุณและคุณก็รู้จักผมจากใบหน้าของผม เราจำพระกายของพระคริสต์ได้ก็จากศีรษะหรือใบหน้า แต่เมื่อพูดถึงพระวิหารเราจะพูดว่า “พระวิหารของพระเจ้า” มากกว่า “พระวิหารของพระคริสต์” (1 โครินธ์ 3:17)[46] เราเป็นคริสตจักรและพระวิหารของพระยาห์เวห์ผู้ทรงพระชนม์
ผมมีความกังวลอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ร่วมงานของเรากับพระเจ้า ผมไม่เห็นทางที่คุณจะมีความสัมพันธ์กับพระยาห์เวห์พระเจ้าได้ถ้าพระองค์ผู้ที่คุณอธิษฐานด้วยและนมัสการอยู่คือพระเยซู คุณได้กันพระยาห์เวห์ออกไปจากชีวิตของคุณ ออกไปจากความคิดของคุณและออกไปจากสาระบบของคุณ เช่นนี้แล้วคุณจะมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ได้อย่างไร?
ผมเกรงว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้แยกคุณออกจากการมีชีวิตที่สัมพันธ์กับพระเจ้า คุณจะมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้อย่างไรในเมื่อพระองค์ไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของชีวิตคุณ และฉะนั้นคุณก็ไม่สามารถจะรักพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจ สุดจิต สุดความคิด สุดกำลังของคุณได้? คุณได้สับเปลี่ยนบุคคลอื่นซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์มาแทนที่พระยาห์เวห์พระเจ้า และคุณก็ทำอย่างนั้นแม้ว่าพระเยซูไม่ได้ทรงต้องการให้คุณทำ เราประกาศว่าพระเยซูเป็นองค์เจ้านายและอาจารย์ของเรา แต่เราก็ไม่ได้ทำอย่างที่พระองค์ตรัส ในข้อสรุปของคำเทศนาบนภูเขาพระเยซูตรัสว่า “ทำไมพวกท่านเรียกเราว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า’ แต่ไม่ทำตามสิ่งที่เราบอกนั้น”[47] เราคิดเอาง่ายๆว่าพระเยซูกำลังพูดกับคนอื่นแต่พระองค์ไม่ได้พูดกับเรา เราสั่งสอนถ้อยคำเหล่านี้กับคนอื่นแต่ตัวเรากลับเป็นคนที่พูด “องค์ผู้เป็นเจ้า องค์ผู้เป็นเจ้า” แต่ไม่ทำตามที่พระองค์บอกนั้นเสียเอง และพระเยซูทรงสอนอะไรเราหรือ? สิ่งที่พระองค์สอนก็คือคุณต้องรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของคุณจนหมดหัวใจ หมดจิตวิญญาณ หมดความคิด และหมดกำลังของคุณ
เราเป็นทางนั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายคนยกอ้างยอห์น 14:6 “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” เป็นข้อพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า แต่คุณเห็นคำ “พระเจ้า” ที่ตรงไหนในข้อนี้ไหม? เราอ่านตามความคิดของเราโดยที่ไม่มีในข้อความ คำกล่าวว่า “เราเป็นทางนั้น” พิสูจน์ได้อย่างไรว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า? ทางจะชี้ให้คุณไปยังจุดหมายปลายทางแต่ไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางเสียเอง พระเยซูทรงเป็นทางไปยังจุดหมายปลายทางนั้น ความจริงและชีวิตก็ตามมาพร้อมกับทาง เพราะจะอธิบายว่าเป็นทางแบบไหน ซึ่งก็คือเป็นทางแห่งความจริง ทางแห่งชีวิต
เวลาผมขับรถจากเมืองมอนทรีออลไปโตรอนโต ผมจะใช้ทางหลวงสายทรานส์แคนาดาทุกครั้ง ผมน่าจะหยุดกลางทางวันไหนสักวัน จะได้ลงไปกอดทางหลวงนี้เสียหน่อย! ผมรักทางสายนี้! แม้คุณจะบอกผมว่าทางนี้เป็นเส้นทางเดียวที่จะพาไปถึงโตรอนโต ผมก็จะบอกว่า “ลืมโตรอนโตไปได้เลย ผมรักทางนี้มาก ผมจะตั้งเต็นท์บนทางสายทรานส์แคนาดาอยู่ตรงนี้แหละ!” คุณก็คงคิดว่าผมเสียสติไปแล้วแน่ๆ!
เรามักจะหลงประเด็นได้ง่ายๆ ทางจะนำคุณไปถึงจุดหมายปลายทางของคุณ เราพูดกันถึงทางแต่เรากลับลืมจุดหมายปลายทางที่ทางจะพาเราไปถึง พระเยซูไม่ได้ตรัสว่า “เราเป็นจุดหมายปลายทางนั้น” แต่ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น” ที่นำคุณไปถึงพระบิดา พระเยซูเสด็จมาเพื่อจะนำเราไปหาพระเจ้าแต่เราก็ยังคงไม่เข้าใจสิ่งนี้ หลายคนยกข้อยอห์น 14:6 เพื่อพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู ผมเองก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน ข้อนี้จะพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซูได้อย่างไร? พระเยซูเป็นความจริงและเป็นชีวิต แต่สองสิ่งนี้ตามมาและได้อธิบายถึงทางนั้นว่าเป็นทางของความจริง เป็นทางของชีวิตที่นำเราไปสู่ความจริงและสู่ชีวิต
เมื่อคุณกำลังขับรถกลับบ้าน คุณก็ลองหยุดอยู่บนทางหลวงและหยุดอยู่ตรงนั้นเพราะทางมีความสำคัญมากกว่าจุดหมายปลายทาง! เราคงนึกภาพออกว่าพระเยซูคงจะตรัสว่า “น่าสลดใจเหลือเกิน นี่หรือสาวกของเรา? เราไม่ได้บอกเอาไว้อย่างชัดเจนหรอกหรือว่าเราเป็นทางนั้นที่จะไปถึงพระยาห์เวห์?”
เราไม่ได้กำลังบอกว่าพระเยซูไม่สำคัญ พระองค์ทรงมีความสำคัญมากเพราะเราต้องการทางที่จะพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางของเรา ผมต้องการทางสายทรานส์แคนาดาที่จะพาผมไปถึงโตรอนโต แต่เราต้องไม่สับสนเรื่องทางกับจุดหมายปลายทาง ไม่เช่นนั้นเราจะห่างประเด็นจนผิดพลาดไป ถ้าเราไม่ได้มีชีวิตที่สัมพันธ์กับพระยาห์เวห์เราจะตำหนิพระเยซูไม่ได้เพราะพระองค์ได้ให้หนทางกับเราแล้วที่จะมาถึงพระบิดาได้
ขณะที่องค์ผู้เป็นเจ้าทรงเปิดใจและตาของเรา เราก็จะดูจากพระคัมภีร์ไปเรื่อยๆเพื่อให้เห็นความจริง ในเวลาเดียวกันเราจะได้เห็นถึงความโง่เขลาของวิธีการคิดแบบเก่าของเรา
เราเป็น
หลายคนตีความหมายคำ “เราเป็น” (I am) ในยอห์น 14:6 ว่าเป็น “เราเป็นผู้ที่เราเป็น” ที่เป็นคำกล่าวของพระยาห์เวห์ คำ “เราเป็น” (“I am”) มีปรากฏหลายครั้งมากในพระกิตติคุณยอห์น แต่เราได้เลือกเอามาสองสามข้อตามใจชอบตามความประสงค์ของเราเอง ที่ผ่านมาผมก็ทำเช่นนั้นด้วยจนกระทั่งผมได้เห็นว่ามีคำ “เราเป็น” (“I am”) ถึงสี่สิบครั้งในพระกิตติคุณยอห์น และมีหนึ่งครั้งที่ผู้พูดเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่พระเยซู หลังจากที่ชายตาบอดได้รับการรักษาจากพระเยซู มีคนถามเขาว่าเขาคือคนที่พวกเขารู้จักมาตลอดหรือไม่ เขาตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็น” (“I am” ยอห์น 9:9 “ข้าพเจ้าคือคนนั้น”) ในภาษากรีกคำทั้งหมดนี้คือคำเดียวกันเลยกับ “เราเป็น” (“I am”) ที่พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น” แต่ถ้าเราจะเอาตามข้ออ้างของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็น่าจะเข้าใจได้อย่างเดียวกันว่าชายตาบอดผู้นี้กำลังอ้างความเป็นพระเจ้าเช่นกัน คำสอนของความเชื่อตรีเอกานุภาพไม่เห็นเหตุผลอย่างอื่นที่พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น” นอกจากจะเป็นการอ้างถึงความเป็นพระเจ้า เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว “เราเป็น” หมายความแน่ๆว่าพระเยซูต้องเป็นพระเจ้า แต่กลับไม่มีใครเอ่ยอะไรเลยถึงชายตาบอดคนนี้ คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษากรีก แต่ถ้าพวกเขาสามารถตรวจสอบจากภาษากรีกได้พวกเขาก็จะเห็นว่าเป็นคำ “เราเป็น” คำเดียวกันเลยคือ “” (คำกล่าวมีว่า
– ตัวเขาเองพูดว่า “เราเป็น”) พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับต่างๆจะแปลคำนี้ว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนนั้น” (“I am the man”) แต่ตามจริงแล้วภาษากรีกกล่าวตรงตัวว่า “ข้าพเจ้าเป็น” (“I am”) แทนที่จะเป็น “ข้าพเจ้าเป็นคนนั้น” (“I am the man”)
คริสเตียนทั้งหลายใช้ “เราเป็น” เป็นคำเรียกพระเจ้าในตรีเอกานุภาพเพราะมันคล้ายกับคำที่เราเห็นในอพยพ 3:14 ที่พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” แต่ถ้าคุณดูภาษากรีกคุณจะเห็นว่าพระยาห์เวห์ไม่ได้พูดว่า “เราเป็น” เสียทีเดียว คำพูดที่ตรงกับคำกรีกคือ “” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “เราเป็นอย่างที่เราเป็น” ซึ่งแตกต่างจาก “เราเป็น” (
) ธรรมดาๆในยอห์น 14:6
คำ “เราเป็น” ไม่ได้พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู สิ่งสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ตรงที่ “เราเป็น” แต่อยู่ที่ “เราเป็น” ตรงนี้กล่าวถึงอะไร ในอพยพ 3:14 “เราเป็น” () มาด้วยกันกับ
เราจึงมีคำ “เราเป็นผู้ที่เราเป็น” หรือ “เราเป็นผู้ที่เป็นอยู่” หรือ “เราเป็นผู้ที่ทำให้สิ่งทั้งสิ้นดำรงอยู่” แค่คำ “เราเป็น” ในตัวของมันเองแล้วไม่ได้พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าแต่อย่างใด แต่ “
” ในส่วนหลังต่างหากที่สำคัญ ที่จริง “
” กลายเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ผู้เปลี่ยนศาสนาที่พูดภาษากรีกเพื่อใช้อ้างถึงพระเจ้าผู้ที่เป็น “เราเป็น” กับพวกเขาแล้วคำ “เราเป็น” ที่อ้างถึงพระเจ้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนแรก (
) แต่อยู่ที่ส่วนหลัง (
) ทั้งสองส่วนนี้ถูกแปลเป็นคำอังกฤษว่า “เราเป็น” (“I am”) ในภาษาอังกฤษนั้น “เราเป็นผู้ที่เราเป็น” ให้ความเข้าใจผิดๆว่า “เราเป็น” ในส่วนแรกเหมือนกันกับ “เราเป็น” ในส่วนหลัง ขณะที่ตามความจริงแล้วในภาษากรีกทั้งสองคำเป็นคำที่ต่างกัน
รากของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อความ แต่อยู่ที่วิธีที่เราอ่านข้อความตามความคิดของเรา ในพระกิตติคุณยอห์นนั้น “เราเป็น” ไม่ได้หมายความเกินจากความหมายแบบธรรมดา ในภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นนั้นสิ่งที่เน้นใน “เราเป็นทางนั้น” ไม่ได้อยู่ที่ “เราเป็น” สักเท่าไหร่แต่อยู่ที่ “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” เมื่อคุณเน้นสิ่งที่ผิดคุณจะได้ข้อสรุปที่ผิด
สุดท้ายนี้ผมวิงวอนให้คุณมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ พระเยซูเสด็จมาเพื่อจุดประสงค์ที่จะนำเรามาถึงพระเจ้า ถ้าเรานำตัวเองมาถึงพระเยซูแทนที่จะมาถึงพระเจ้านั่นคงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุด พระยาห์เวห์ได้เสด็จเข้ามาในโลกนี้และได้สถิตอยู่ในพระคริสต์ด้วยจุดประสงค์พิเศษ “พระเจ้าทรงอยู่ในพระคริสต์ ทรงทำให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์”[48] (2 โครินธ์ 5:19) แต่เราคิดว่าภารกิจของเราคือนำคนมาหาพระคริสต์ไม่ใช่มาหาพระเจ้า แม้แต่เรื่องการประกาศข่าวประเสริฐก็ออกไปนอกลู่นอกทาง แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ที่พระเยซูเสด็จมาเพราะพระองค์เป็นแค่ทางที่จะไปถึงพระบิดา พระเยซูไม่ใช่จุดหมายปลายทางและก็ไม่เคยอ้างว่าทรงเป็นจุดหมายปลายทาง เราตั้งให้พระองค์ทรงเป็นในสิ่งที่พระองค์ไม่ได้เป็นและไม่ต้องการจะเป็น พระเยซูทรงต้องการให้คุณมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้ทรงให้เราคืนดีกับพระองค์เองทางพระคริสต์ คุณได้รับการคืนดีกับพระองค์ไหม? หรือว่าคุณได้รับการคืนดีแต่กับพระคริสต์? ผมขอวิงวอนให้คุณเข้ามามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและความสัมพันธ์ที่มีชีวิตกับพระยาห์เวห์พระเจ้า
[1] เป็นคำฮีบรู (“” อ่านว่า บา-อัล) ใช้เรียกพระของคนคานาอันและคนฟีนิเซีย คำนี้หมายถึง “ผู้เป็นเจ้านาย หรือผู้เป็นเจ้าของ หรือพระของคนนอกศาสนา” (ความหมายจากพจนานุกรมของสตรอง) พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกจะใช้ทับศัพท์ว่า “
” (บาอัล) ตามคำฮีบรู พจนานุกรมของสตรองให้ความหมายคำ “Baal” ว่า “lord” ในข้ออ้างอิงจากโรม 11:4 (ผู้แปล)
[2] Carthage
[3] เป็นคำแปลของคำ “บาอัล” () ซึ่งมาจากภาษาฮีบรู (ผู้แปล)
[4] ภาษาอังกฤษคือคำว่า “lord หรือ Lord” ถ้าเป็นคำแรกของประโยค พยัญชนะต้นก็จะเป็นตัวอักษรใหญ่ตามหลักภาษาอังกฤษ (ผู้แปล)
[5] ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Sir”
[6] ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Mister”
[7] “Sir”
[8] คือคำ “บาอาลิม” (Baalim) ในภาษาฮีบรู พหูพจน์ของ “บาอัล”
[9] ฉบับมาตรฐาน 2011
[10] Pharaoh Neco
[11] Megiddo
[12] Armageddon
[13] Har-mageddon
[14] “har”
[15] Isa Movement
[16] Theology แปลตรงตัวว่า ศาสตร์เกี่ยวกับพระเจ้า หรือการศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้า (ผู้แปล)
[17] มาระโก 12:29 พระเยซูจึงตรัสตอบคนนั้นว่า “พระบัญญัติอันดับแรกคือ โอ ชนอิสราเอล จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นพระเจ้าองค์เดียว (ฉบับมาตรฐาน 2011) –ผู้แปล
[18] อิสยาห์ 9:6 “และเขาจะขนานนามของท่านว่า ที่ปรึกษามหัศจรรย์ พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ พระบิดานิรันดร์ และองค์สันติราช”
[19] คำฮีบรูในอิสยาห์ 9:6 คือ “” ที่หมายถึง “ผู้นำ ผู้ครอง ผู้ปกครอง” (ผู้แปล)
[20] “Ruler of Peace”
[21] ฉบับมาตรฐาน 2011
[22] ผู้แปลเพิ่มเติมเนื่องจากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ “Hear, O Israel: the LORD our God is one LORD” (ผู้แปล)
[23] ฉบับ 1971 แปลว่า “เป็นพระเจ้าเดียว” (ผู้แปล)
[24] Septuagint
[25] ฉบับภาษาไทยบางฉบับแปลว่า “พระเจ้า” หรือ “พระเยโฮวาห์” แต่ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “พระยาห์เวห์” ตรงตามต้นฉบับภาษาฮีบรู
[26] ต้นฉบับคือ “Love the LORD your God with all your heart and with all your soul and with all your strength” (Dt.6:5 NIV)
[27] Song of Allegiance เป็นเพลงแต่งโดย Pastor Eric H. H. Chang (ผู้แปล)
[28] ฉบับมาตรฐาน 2011
[29] ยอห์น 2:21 “แต่วิหารที่พระองค์ตรัสถึงนั้นคือพระกายของพระองค์” (ฉบับมาตรฐาน 2011) -ผู้แปล
[30] Anglican churches
[31] “royal we” (จากคำลาติน “พลูราลิส มาเจสตาติส”) คือการใช้สรรพนามพหูพจน์เพื่อกล่าวถึงบุคคลคนเดียวที่อยู่ในตำแหน่งสูงอย่างผู้ครอง เช่น กษัตริย์ สุลต่าน หรือพระสันตะปาปา เป็นต้น (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย -ผู้แปล)
[32] เกี่ยวกับนิกายหนึ่งของคริสเตียนในนิกายโปรแตสแตนท์ ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูศาสนาของกลุ่มเคลื่อนไหวหลายนิกายในศตวรรษที่ 18 และ 19 ในยุโรปและอเมริกา ที่เน้นความสัมพันธ์กับพระคริสต์ การรับการยกโทษบาปจากพระคริสต์ และการบังเกิดใหม่ในฝ่ายวิญญาณ (ข้อมูลจากเว็บไซด์ของคริสเตียนอีแวนเจลลิคอลกลุ่มต่างๆ) –ผู้แปล
[33] Keil and Delitzsch’s multi-volume commentary
[34] คำลาตินที่หมายถึง “คำพหูพจน์สำหรับกษัตริย์” (ผู้แปล)
[35] จากปฐมกาล 1:26 “ให้เราสร้างมนุษย์ขึ้นตามแบบเรา ตามอย่างเรา เพื่อให้เขาครอบครองปลาในทะเล นกในอากาศ สัตว์ใช้งาน สัตว์ป่าทั้งปวง และสัตว์ที่เลื้อยคลาน” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) -ผู้แปล
[36] โคโลสี 2:9 แปลตรงตัวตามต้นฉบับเดิมว่า “เพราะว่าในพระคริสต์ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์” (ผู้แปล)
[37] “hypostases” คำกรีกที่หมายถึงหลายบุคคล
[38] Monotheism คือความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว
[39] ทำหน้าที่เป็นกรรมในประโยค
[40] “word”
[41] “Word”
[42] “ปักกระโจม” หรือ “อาศัย”
[43] หรือ “ประทับ”
[44] Muhammad
[45] ฉบับภาษากรีกและภาษาอังกฤษแปลว่า “ในเนื้อหนัง” (พระเจ้าทรงปรากฏให้เห็นในเนื้อหนัง) –ผู้แปล
ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “พระเจ้าทรงปรากฏในเนื้อหนัง”–ผู้แปล
[46] 1 โครินธ์ 3:16-17 “ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าพวกท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพวกท่าน? ถ้าใครทำลายวิหารของพระเจ้า พระเจ้าจะทรงทำลายคนนั้น เพราะว่าวิหารของพระเจ้าเป็นที่บริสุทธิ์และพวกท่านเป็นวิหารนั้น”(ฉบับมาตรฐาน 2011)
[47] ลูกา 6:46 ฉบับมาตรฐาน 2011 ต้นฉบับภาษาอังกฤษและภาษากรีกมี “องค์ผู้เป็นเจ้า องค์ผู้เป็นเจ้า” สองครั้ง (Why do you call me “Lord, Lord”, and do not do what I say?) -ผู้แปล
[48] แปลตามต้นฉบับภาษาอังกฤษและภาษากรีก “God was in Christ” ()
ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “คือพระเจ้าผู้สถิตในองค์พระคริสต์ ทรงให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์เอง”
ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “คือพระเจ้าทรงให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์โดยพระคริสต์” (ผู้แปล)