การศึกษาเรื่องความเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ โดย อจ. อีริค ชาง
บทที่ 1
ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับพระเจ้า
บันทึกส่วนตัว
มันเป็นเรื่องยากที่ผมจะเรียบเรียงสิ่งที่ผมมีประสบการณ์ในช่วงปีเศษๆ มันเป็นช่วงเวลาที่ดียิ่งเพราะพระเจ้าทรงให้ความเข้าใจจากพระคำของพระองค์กับผมแทบจะทุกวัน เมื่อผมตื่นขึ้นผมก็จะเข้าเฝ้าพระเจ้าและร้องหาพระองค์แทบจะทันที และภายในไม่กี่นาทีพระองค์ก็ให้ผมเข้าใจพระคำของพระองค์อย่างกระจ่างชัด ผมจะบอกเฮเลนภรรยาของผมว่า “ได้ความเข้าใจกระจ่างอีกอย่างจากพระเจ้า!” ความเข้าใจที่ชัดมากจะแวบเข้ามาในช่วงสั้นๆแต่ผมต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงทีเดียวกว่าจะเรียบเรียงข้อมูลเชิงลึกให้เป็นคำลงในคอมพิวเตอร์ พระเจ้าทรงให้กำลังและเรี่ยวแรงกับผมจากประสบการณ์ที่พิเศษนี้ทางพระคำของพระองค์ ผมมีทั้งความเสียใจและความโกรธในเวลาเดียวกัน เพราะเมื่อคุณได้เห็นความจริงชัดยิ่งขึ้นคุณก็จะเห็นสิ่งที่ผิดชัดยิ่งขึ้นด้วย คุณดีใจเมื่อได้เห็นความจริงแต่ก็เสียใจจนถึงกับโกรธ โกรธที่ทราบความจริงว่าผม(และคนอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน)ถูกชักนำไปผิดทาง โกรธไม่ใช่ที่ว่าสิ่งผิดนี้ถูกจงใจผลักดันให้กับพวกเรา แต่ตรงที่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปคริสตจักรค่อยๆหันเหไปจากพระคำของพระเจ้า เมื่อคุณเห็นความสว่างชัดขึ้น คุณก็จะเห็นความมืดชัดขึ้น ในพื้นที่สีเทานั้นคุณจะแยกดำกับขาวไม่ออก แต่เมื่อคุณเห็นว่าอะไรคือขาวคุณก็จะรู้ว่าอะไรคือดำ แต่อาจไม่เป็นอย่างนั้นในทางกลับกัน เพราะถึงแม้คุณจะรู้ว่าอะไรคือดำแต่คุณอาจไม่รู้ว่าอะไรคือขาวเพราะคุณอาจมีชีวิตอยู่ในความมืดทางจิตวิญญาณ ดังนั้นความรู้สึกที่ปนกันเหล่านี้จะดึงกันอยู่ในตัวของผม ด้านหนึ่งก็เศร้าใจกับคริสตจักรและคนของพระเจ้า อีกด้านหนึ่งก็ดีใจที่เข้าใจความจริงของพระเจ้าชัดเจนและกระจ่างขึ้น ผมเขียนข้อความในบันทึกส่วนตัวไว้ว่า “วันนี้ขณะกำลังนั่งเรือข้ามฟาก ผมมองออกไปนอกหน้าต่างและพูดกับเฮเลนว่า ‘นี่ห้าสิบปีแล้วสินะหลังจากที่ผมมาถึงฮ่องกงครั้งแรกในปี 1956 ผมมาถึงฮ่องกงในช่วงฤดูร้อนของปี 1956 หลังจากอยู่ภายใต้การปลดแอกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[1] มาเกือบเจ็ดปีและได้รู้เห็นเหตุการณ์อันน่าสยดสยองที่เกิดกับผู้ต่อต้าน เช่น กลุ่มซันฝั่นและหวู่ฝั่น[2]ที่ฝังใจผมมาก ฮ่องกงกลายเป็นที่ที่มีคุณค่ามากกับผมอยู่หลายปีไม่ใช่เป็นเพราะตัวเมืองที่อยู่ แต่เป็นเพราะพี่น้องที่นี่ต่างหาก การที่ผมอยู่ที่นี่วันนี้ในประชุมครบรอบ 50 ปีในการมาฮ่องกงของผมเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงทำงานด้วยความรอบรู้อย่างไม่มีขีดจำกัดของพระองค์อย่างแท้จริง”
ความสับสนว่าพระเจ้าเป็นใคร
ผมจะพยายามอธิบายหัวข้อสำคัญนี้ให้เข้าใจง่ายที่สุด นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก แต่โดยพระคุณของพระเจ้าผมจะพยายามชี้ให้คุณเห็นว่าความเข้าใจของเราทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้านั้นมีตรงไหนบ้างที่ผิดไป และถ้าเราไม่ทำให้เรื่องนี้กระจ่าง ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของเราก็จะไม่กระจ่างในทุกเรื่อง
บทนี้ผมจะพูดถึงความคิดที่ผิดและความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า ต่อจากนั้นเราจะดูความคิดที่เกี่ยวกับมนุษย์ พระเจ้ากับมนุษย์เป็นความจริงพื้นฐานสองอย่างที่สำคัญในชีวิตของเรา ดังนั้นเราจะต้องตรวจสอบว่าเรามีความคิดเกี่ยวกับมนุษย์อย่างถูกต้องหรือไม่ หรือว่าเราก็ยังสับสนเรื่องนี้อยู่
ในปลายปี 2006 ผมนำการประชุมคริสเตียนที่มีบรรดาศิษยาภิบาล มิชชันนารีและผู้อบรมการรับใช้มาร่วมประชุมกันแน่นห้องประชุมใหญ่ ผมเริ่มถามคำถามนี้กับทุกคนว่า “ทุกครั้งที่คุณอธิษฐาน มีใครไหมที่อธิษฐานกับพระยาห์เวห์? ถ้ามีช่วยยกมือด้วย” ปรากฏว่าไม่มีใครยกมือซึ่งก็เป็นไปตามที่ผมคาดเอาไว้
ผมถามต่อว่า “ทุกคนคงอธิษฐานกับองค์ผู้เป็นเจ้าอย่างแน่นอน แต่ช่วยบอกให้ชัดๆหน่อยได้ไหมว่าองค์ผู้เป็นเจ้าที่คุณกำลังอธิษฐานอยู่นี้คือใครกัน? คือพระบิดา หรือคือพระบุตร หรือคือพระบิดาและพระบุตร? ถ้าคุณหมายถึงพระบิดาก็ช่วยยกมือด้วย? มีสองสามคนยกมือ ส่วนคนอื่นๆนั้นผมเดาว่าคุณคงหมายถึงพระเยซูไม่ได้หมายถึงพระบิดา เห็นได้ชัดว่าบางคนก็อธิษฐานกับพระบิดา และบางคนก็อธิษฐานกับพระบุตร นี่หมายความว่าเมื่อเราอธิษฐานด้วยกัน บางคนจะพูดกับพระบิดาและบางคนจะพูดกับพระเยซู ในการอธิษฐานด้วยกันนี้เราไม่ได้พูดอยู่กับคนๆเดียวกัน”
น่าเสียดายที่คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจสภาพของความสับสนนี้หรือคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่คริสเตียนส่วนใหญ่ที่อธิษฐานกับพระเยซูจะอยู่ในสภาวะลำบากอย่างยิ่งคือ มีคำอธิษฐานที่ไหนไหมในพระคัมภีร์ใหม่ที่อธิษฐานกับพระเยซู? ถ้าคุณค้นจนทั่วพระคัมภีร์ใหม่โดยเริ่มตั้งแต่มัทธิวคุณจะไม่พบคำอธิษฐานเช่นนั้นเลยจนกระทั่งมาถึงข้อสุดท้ายของพระคัมภีร์ในวิวรณ์ 22:21 เราจึงจะเห็นคำที่เหมือนว่าเป็นคำอธิษฐาน “พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” นี่เป็นคำอธิษฐานหรือว่าคำเชื้อเชิญกันแน่? คำเชิญเป็นคำอธิษฐานหรือไม่? ถ้าผมขอให้คุณมาหาผม นั่นเป็นคำอธิษฐานหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่ แม้ว่าในพระคัมภีร์ใหม่จะไม่มีคำที่อธิษฐานกับพระเยซูเลย (ที่พระเยซูเป็นผู้รับการอธิษฐาน) แต่คริสเตียนส่วนใหญ่ก็อธิษฐานกับพระเยซู นี่แหละที่เราสับสนกัน
ผู้ที่รับการนมัสการในวิวรณ์จะเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าเสมอ และองค์ผู้เป็นเจ้าที่กล่าวถึงนั้นไม่ใช่พระเยซูแต่เป็นพระยาห์เวห์ผู้ประทับบนพระที่นั่ง พระคัมภีร์เดิมกล่าวว่าพระยาห์เวห์ทรงประทับอยู่เหนือฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกเป็นที่รองพระบาทของพระองค์ พระเยซูทรงมีภาพนี้ในความคิดของพระองค์เมื่อตรัสว่า “อย่าสาบานเลย ไม่ว่าจะทำโดยอ้างถึงสวรรค์เพราะสวรรค์เป็นที่ประทับของพระเจ้า หรืออ้างถึงแผ่นดินโลก เพราะแผ่นดินโลกเป็นที่รองพระบาทของพระเจ้า” (มัทธิว 5:34-35)
เมื่อผมอ่านวิวรณ์อย่างละเอียด ผมต้องประหลาดใจที่พระเยซูทรงรับการนมัสการแค่ครั้งเดียวในบทที่ห้าที่ร่วมกับการนมัสการพระองค์ผู้ประทับบนพระที่นั่ง และพระองค์ผู้นั้นก็คือพระบิดาเสมอ พระเยซูไม่เคยรับการนมัสการที่แยกจากพระบิดา แต่ถึงอย่างนั้นคริสเตียนจำนวนมากก็อธิษฐานกับพระเยซูโดยไม่ได้นึกถึงพระบิดาเลย เมื่อคุณอธิษฐานกับพระเจ้า พระเจ้าเป็นใครในความคิดของคุณ? สำหรับคริสเตียนส่วนใหญ่แล้วพระเจ้าก็คือพระเยซู
เมื่อคุณกับผมพูดถึงพระเจ้า พระเจ้าที่เราพูดถึงอาจเป็นคนละคนกันก็ได้ ผมอาจจะหมายถึงพระบิดา คุณอาจจะหมายถึงพระบุตร ผู้ที่มีพื้นเพจากคาริสมาติกและเพ็นเทคอสต์จะหมายถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้าคุณไปร่วมประชุมกลุ่มคาริสมาติกคุณอาจสงสัยว่าพระบิดาและพระบุตรยังดำรงอยู่หรือเปล่าเพราะคริสตจักรจะพูดถึงแต่พระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างเหนียวแน่น เหตุเพราะคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเราจึงไม่ชัดเจนว่าพระเจ้าที่เรากล่าวถึงนั้นคือใครกันแน่ เรากำลังจะหมายถึงพระบิดา หรือว่าพระบุตร หรือว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์? หรือหมายถึงพระบิดากับพระบุตรด้วยกัน? หรือว่าหมายถึงรวมกันทั้งสามพระองค์? แม้หากคุณรู้ว่าคุณกำลังหมายถึงใคร แต่ผมอาจไม่รู้ว่าคุณกำลังคิดถึงใครเมื่อผมพูดถึงพระเจ้ากับคุณ
ต้นเหตุของความสับสนมาจากพระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์
เมื่อผมตรวจสอบที่มาของความสับสน ผมเริ่มเข้าใจว่ามันค่อยๆเข้ามาอย่างแยบยลมาก ถ้าคุณดูพระคัมภีร์เดิมภาษากรีกที่เรียกว่าฉบับเซปทัวจินต์[3]หรือ LXX คุณจะเห็นคำสำคัญคือ “องค์ผู้เป็นเจ้า”(Lord) แต่คำว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ในฉบับเซปทัวจินต์หมายถึงอะไร? ที่แน่ๆนั้นคำนี้มักจะหมายถึงพระยาห์เวห์ที่เป็นชื่อเฉพาะของพระเจ้า แต่คำนี้ก็ไม่ได้หมายถึงพระยาห์เวห์เสมอไปเพราะยังมีคำฮีบรูอีกคำหนึ่งที่แปลว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ด้วยเช่นกันในฉบับเซปทัวจินต์ ฉบับเซปทัวจินต์แปลคำฮีบรูสองคำที่ต่างกันนี้ให้เป็นคำกรีกคำเดียวกันว่า “คูริออส (, Lord)”[4] ที่ทำให้เราสับสนอย่างมาก ความสับสนเริ่มต้นจากตรงนี้กับพระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์
คำ “ยาห์เวห์” ในภาษาฮีบรูคือ “” ซึ่งเรียกว่าพยัญชนะสี่ตัว[5]ที่ถอดเป็นภาษาอังกฤษตรงตัวอักษรว่า “YHWH” (“ยฮวฮ” หรือยาห์เวห์) ฉบับเซปทัวจินต์ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวยิวที่ไม่ยอมออกเสียงยาห์เวห์ชื่อของพระเจ้า ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์อิสราเอล เรื่องนี้กลายเป็นข้อปฏิบัติทางศาสนาที่หลีกเลี่ยงการพูดว่า “ยาห์เวห์” เพราะชาวยิวกลัวการละเมิดบทบัญญัติที่ว่า “ห้ามใช้พระนามพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าไปในทางที่ผิด เพราะผู้ที่ใช้พระนามของพระองค์ไปในทางที่ผิดนั้น พระยาห์เวห์จะทรงเอาโทษ” (อพยพ 20:7)[6] ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่ชาวยิวเจอคำ “ยาห์เวห์” (
) พระนามของพระเจ้า พวกเขาก็จะออกเสียงเป็น “อาโดนาย”[7] (องค์ผู้เป็นเจ้า) แทน
ต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรูไม่มีเครื่องหมายสระจนกระทั่งมีฉบับคัดลอกของชาวยิว[8] ที่ต้นฉบับภาษาฮีบรูมีเครื่องหมายสระ สิ่งสำคัญก็คือเมื่อมีชื่อ “ยาห์เวห์” ที่ใดฉบับคัดลอกของชาวยิวจะไม่ใส่สระของ “ยาห์เวห์” (Yahweh) แต่จะใส่สระของ “อาโดนาย” (Adonai) เนื่องจาก “อาโดนาย” ในภาษาฮีบรูเป็นคนละคำกับ “ยาห์เวห์” และเขียนคนละอย่างกัน () แต่กระนั้นฉบับคัดลอกของชาวยิวก็เอาสระของ “อาโดนาย” มาประสมกับพยัญชนะของ “ยฮวฮ” (YHWH) เพื่อว่าเมื่อคนอ่านเห็น “ยาห์เวห์” (
) ชื่อเฉพาะของพระเจ้า เขาก็จะออกเสียงเป็น “อาโดนาย” (Adonai) แทน
คำฮีบรู “อาโดนาย” (Lord) จะเหมือนกับคำกรีกว่า “คูริออส” (หรือ Lord) ในต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรูบางครั้งจะกล่าวถึงพระเจ้าว่า “ยาห์เวห์” และบางครั้งก็ “อาโดนาย” แต่จะไม่เห็นความแตกต่างกันในฉบับเซปทัวจินต์ (พระคัมภีร์เดิมภาษากรีก) เพราะฉบับเซปทัวจินต์แปลทั้งสองคำเหมือนกันว่า “
” (Lord) ตัวอย่างเช่น เมื่อภาษาฮีบรูมีคำ “อาโดนาย” กับ “ยาห์เวห์” เขียนติดกันว่า “Adonai Yahweh” คือ “Lord Yahweh” ภาษากรีกจะใช้คำ “Lord Lord” ซึ่งคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับเดิม และในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษหลายฉบับมักจะใช้คำ “Lord God”[9]
การที่คำฮีบรูสองคำคือ “ยาห์เวห์” กับ “อาโดนาย”(Adonai) ถูกรวมเป็นคำกรีกคำเดียวว่า “คูริออส” ทำให้มีความสับสนมาจนถึงพระคัมภีร์ใหม่ที่ไม่มีใครจะบอกได้ชัดๆว่า “คูริออส” (Lord องค์ผู้เป็นเจ้า) หมายถึงพระบิดา หรือหมายถึงพระบุตร ความสับสนที่เริ่มต้นจากฉบับเซปทัวจินต์ได้แผ่ขยายไปยังภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อเราอธิษฐานกับองค์ผู้เป็นเจ้า (Lord) คนหนึ่งจึงอาจกำลังอธิษฐานกับพระยาห์เวห์แต่อีกคนหนึ่งอาจกำลังอธิษฐานกับพระเยซู นี่คือความสับสนที่สืบทอดอย่างฝังแน่นในพระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์ เริ่มแรกในพระคัมภีร์เดิมไม่มีความสับสนเช่นนั้นเพราะคำ “ยาห์เวห์” (Yahweh) หมายถึงพระยาห์เวห์อย่างชัดเจนและไม่ได้หมายถึงใครอีก
พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษใช้คำ “Lord” (คูริออส) ตามฉบับเซปทัวจินต์ หรือพูดได้ว่าพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษหลายฉบับจะตามพระคัมภีร์เดิมภาษากรีกมากกว่าตามพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรูเมื่อพวกเขาแปลคำ “Yahweh” เป็น “LORD” ที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เพื่อให้รู้ว่าคำนี้มาจากคำ “ยาห์เวห์” () แม้แต่ในพระคัมภีร์ภาษาจีนเราก็ไม่เห็นความแตกต่างเช่นกันเพราะคำ “Lord” ไม่ว่าจะความหมายใดภาษาจีนก็ใช้อักษรตัวเดียวกันคือ “จวู๋”[10]
พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษเพียงฉบับเดียวที่คงการแปล “ยาห์เวห์” อย่างเสมอต้นเสมอปลายคือพระคัมภีร์ฉบับนิวเยรูซาเล็ม[11] ส่วนพระคัมภีร์ฉบับโฮลแมนคริสเตียนแสตนดาร์ด[12]จะมี “ยาห์เวห์” เป็นบางครั้งแต่กับข้อที่เน้นว่าพระยาห์เวห์เป็นพระนามของพระเจ้า (เช่น อพยพ 3:15-16)[13] ส่วนพระคัมภีร์ฉบับดาร์บี้[14] ยังคงพยัญชนะฮีบรูสี่ตัวไว้แต่ใช้เป็นคำ “เยโฮวาห์” ซึ่งในพระคัมภีร์ภาษาจีนก็คือคำ “เยเหอหัว”[15] แต่ “เยโฮวาห์” เป็นคำผสมซึ่งจะไม่พบที่ไหนเลยในพระคัมภีร์เดิม เป็นการผสมกันจากพยัญชนะของ “ยาห์เวห์” กับสระของ “อาโดนาย” ฉบับดาร์บี้แปล “ยาห์เวห์” เป็น “เยโฮวาห์” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย (หรือเกือบจะเสมอต้นเสมอปลาย เพราะจำนวนตัวเลขไม่เท่ากับในไบเบิ้ลเวิร์กส์)[16] แม้ว่า “เยโฮวาห์” (ภาษาจีนคือ “เยเหอหัว”) จะเป็นคำแปลที่ไม่สมบูรณ์ของ “ยาห์เวห์” แต่กระนั้นก็ยังเอื้อประโยชน์ที่ย้ำเตือนเราว่าพระเจ้าทรงมีชื่อเฉพาะ
อนึ่งข้อห้ามเกี่ยวกับการออกเสียงชื่อของพระเจ้าไม่มีหลักฐานในพระคัมภีร์เลย ที่พระคัมภีร์เดิมสั่งก็คือคุณจะต้องใช้ชื่อของพระยาห์เวห์ ตามจริงแล้วคุณจะต้องสาบานโดยใช้ชื่อนั้น หลักทั่วไปมีว่าคุณจะต้องใช้ชื่อของพระองค์ แต่คุณจะต้องไม่ใช้ชื่อของพระองค์อย่างผิดๆ แต่ในที่สุดชาวยิวก็ตัดสินใจไม่ใช้เสียเลยและระงับใช้ชื่อนี้ที่พระเจ้าทรงตั้งพระทัยให้ประกาศไปทั่วโลก
สถิติที่น่าสนใจ
ชื่อ “ยาห์เวห์” ในพระคัมภีร์เดิมมีความสำคัญอย่างไรหรือ? คุณอยากลองเดาดูไหมว่าในพระคัมภีร์เดิมมีคำ “ยาห์เวห์” ปรากฏกี่ครั้ง? คุณคงจะเดาว่ามี 1,000 หรือ 2,000 ครั้งใช่ไหม? ความจริงแล้วในพระคัมภีร์เดิมมีชื่อยาห์เวห์ปรากฏถึง 6,828 ครั้ง! นี่ยังหมายความด้วยว่าโดยเฉลี่ยแล้วชื่อยาห์เวห์จะถูกกล่าวถึงทุกๆสี่ข้อในพระคัมภีร์เดิม พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของพระคัมภีร์เดิม แต่กระนั้นเราก็ยังอาจหาญลบชื่อของพระองค์ด้วยการใช้คำที่คลุมเครือว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord)
คุณทราบไหมว่าในพระคัมภีร์เดิมมีคำฮีบรู “เอโลฮิม” (พระเจ้า)[17] ปรากฏกี่ครั้ง? คำนี้ปรากฏประมาณ 2,500 ครั้งซึ่งน้อยกว่า “ยาห์เวห์” มาก ดังนั้นคำ “พระเจ้า” จึงไม่ใช่คำสำคัญของพระคัมภีร์เดิมด้วยซ้ำเพราะมีปรากฏน้อยกว่าครึ่งของคำ “ยาห์เวห์” และยิ่งกว่านั้นจาก 2,500 ตัวอย่างคำ “เอโลฮิม” เหล่านี้กล่าวถึงบรรดาพระต่างชาติโดยส่วนมาก เช่น พระของชาวโมอับ พระของชาวอัมโมน พระของชาวอัสซีเรีย และพระของชาวเปอร์เซีย พระเหล่านี้ถูกเรียกว่า “เอโลฮิม (god)”[18] เช่นกัน คำนี้เป็นคำทั่วไปที่หมายถึง “พระ หรือ เจ้า”[19] ในภาษาฮีบรูซึ่งก็เหมือนกับคำ “เธ-ออส”(theos)[20] ซึ่งเป็นคำทั่วไปที่หมายถึง “พระ หรือ เจ้า” ในภาษากรีกเช่นกัน
สถิติเหล่านี้ยืนยันความจริงว่าคำ “พระเจ้า” นี้ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์เดิม คำที่เป็นศูนย์กลางคือยาห์เวห์ แต่เนื่องจากเราที่เป็นคริสเตียนไม่รู้ความจริงที่สำคัญยิ่งนี้จึงทำให้เกิดความสับสนเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ใหม่ เราไม่รู้ว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) หมายถึงพระเยซู หรือหมายถึงพระยาห์เวห์ หรือหมายถึงบุคคลอื่นๆ และเมื่ออธิษฐานเราก็ไม่รู้ว่าผู้ที่เรากำลังอธิษฐานด้วยเป็นองค์ไหน ผมพูดจากใจลึกๆของผมได้แต่ว่า ขอพระเจ้าทรงเมตตาเราด้วยเถิด!
ผมยึดอยู่กับข้อผิดพลาดนี้อย่างแน่วแน่เหมือนกับคริสเตียนจำนวนมาก นั่นจึงเป็นเรื่องยากยิ่งที่ผมจะหลุดจากมันได้ ผมเคยสอนหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างร้อนรนอยู่หลายสิบปี ผมเป็นยอดของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเหมือนที่อาจารย์เปาโลเป็นยอดของฟาริสี[21]
แล้วเกิดความสับสนอย่างไรในพระคัมภีร์ใหม่หรือ? เมื่อคริสเตียนเจอคำว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า (Lord)” ในพระคัมภีร์ใหม่ก็มักจะคิดถึงพระเยซูโดยไม่คิดถึงพระยาห์เวห์ พวกเขารู้ว่าพระเยซูคือพระบุตรของพระเจ้าแต่พวกเขาไม่รู้ว่าพระบิดาคือพระยาห์เวห์ และถ้าพระบิดาไม่ใช่พระยาห์เวห์ในความคิดของเรา ถ้าเช่นนั้นแล้วพระเจ้าที่เรากำลังนมัสการอยู่นี้เป็นพระเจ้าองค์ไหน? จะมีพระเจ้าองค์ไหนที่ให้เรานมัสการได้นอกเหนือจากพระยาห์เวห์อีกหรือ? ความจริงที่น่าเศร้าก็คือมีคริสเตียนจำนวนน้อยที่รู้ว่าพระเจ้าคือพระยาห์เวห์ แล้วพระบิดาในพระคัมภีร์เดิมคือใครหรือ? พระบิดาก็คือพระยาห์เวห์ที่ชื่อถูกกล่าวถึง 6,828 ครั้ง ผมได้ทำการตรวจสอบสถิติที่สำคัญนี้หลายรอบจากโปรแกรมไบเบิ้ลเวิร์กส์ทั้งสามรุ่น (รุ่นที่ 5,6,7) เผื่อว่าจะมีจำนวนครั้งต่างกันแต่ผลปรากฏว่าทั้งสามรุ่นมีตัวเลข 6,828 ครั้งเหมือนกัน
มันน่าสนใจที่จะฟังคำตอบจากบรรดาคริสเตียนว่าชื่อไหนถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดในพระคัมภีร์ใหม่? คำตอบของคนส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัดก็คือพระเยซู เพราะพระเยซูทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์ใหม่ตามความคิดของเรา แต่เราต้องแปลกใจเมื่อทราบว่า “พระเจ้า” (theos) ถูกกล่าวถึง 1,317 ครั้งในขณะที่ “พระเยซู (Iēsus)” ถูกกล่าวถึงเพียง 917 ครั้งและ “พระคริสต์” (Christos) ถูกกล่าวถึงเพียง 529 ครั้ง คำรวมว่า “พระเยซูคริสต์องค์ผู้เป็นเจ้า”[22] (Lord Jesus Christ) มีปรากฏเพียง 63 ครั้ง นี่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “พระเจ้า” (theos) เป็นศูนย์กลางในพระคัมภีร์ใหม่ (เราจะไม่ให้ความสนใจ “องค์ผู้เป็นเจ้า” หรือ “kurios” ในตอนนี้เพราะคำนี้อาจหมายถึงพระเจ้าหรืออาจหมายถึงพระคริสต์)
แม้ที่จริงคำ “พระเจ้า” (theos) มีปรากฏบ่อยครั้งกว่าคำ “พระเยซู” (Iēsus) แต่ก็อาจไม่มีความหมายอะไรเลยกับคุณเพราะในความคิดและพื้นหลังความเชื่อในตรีเอกานุภาพของคุณเชื่อว่าคำ “พระเจ้า” มีความหมายเหมือนกับคำ “พระเยซู” อยู่แล้ว แต่ตามจริงแล้วพระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้ถือว่าพระเจ้ากับพระเยซูมีความหมายเหมือนกัน
บรรดานักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่รู้กันมานานแล้วว่า ไม่มีที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ใหม่ที่คำ “พระเจ้า” นำมาใช้กับพระเยซู และการเปรียบพระเยซูกับพระเจ้านั้นทำได้จากพระคัมภีร์เพียงไม่กี่ข้อที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ในพระคัมภีร์ใหม่พระเจ้าก็คือพระยาห์เวห์และไม่มีใครอื่น ถึงอย่างนั้นคริสเตียนก็ไม่ได้อธิษฐานกับพระยาห์เวห์และไม่รู้ว่าพระบิดาเป็นใครนอกเหนือจากว่าพระองค์คือพระบิดาของพระเยซู ในแวดวงศาสนศาสตร์จะถือว่า “พระยาห์เวห์” เป็นแนวคิดศาสนศาสตร์ของพระคัมภีร์เดิมจึงให้ความสนใจน้อยต่อพระยาห์เวห์ว่าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ผู้ทรงเข้าใกล้ประชากรของพระองค์เสมอ คริสเตียนส่วนมากไม่รู้ชื่อพระยาห์เวห์แม้ชื่อนี้จะถูกกล่าวถึงหลายพันครั้ง ดังเช่น “ตั้งแต่นั้นมามนุษย์เริ่มออกพระนามพระยาห์เวห์”[23] (ปฐมกาล 4:26) เนื่องจากพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่แปล “พระยาห์เวห์” ตรงนี้เป็น “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) จึงทำให้คริสเตียนบางคนอาจสับสนอย่างมากโดยคิดว่าคนได้ออกพระนามพระเยซูตั้งแต่สมัยปฐมกาลแล้ว! นั่นคือความสับสนของเรา
ผมหวังว่าถ้าเราใช้คำว่า “พระบิดา” คำนี้จะหมายถึงพระยาห์เวห์ เพราะถ้าไม่ได้หมายถึงพระยาห์เวห์ก็จะหมายความว่านั่นไม่ใช่พระเจ้าของพระคัมภีร์ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็น่าจะกำลังอธิษฐานกับพระเจ้าอื่นที่เราไม่ทราบชื่อ แต่ถ้าคุณคิดว่าพระบิดาคือพระยาห์เวห์คุณก็อยู่ในทางที่ถูกแล้วเพราะพระคัมภีร์เดิมพูดถึงพระยาห์เวห์เกือบ 7,000 ครั้ง พระยาห์เวห์เป็นพระเจ้าของพระคัมภีร์และเป็นชื่อที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่โมเสส
ได้มีการแปลพระคัมภีร์ใหม่จากภาษากรีกมาเป็นภาษาฮีบรูโดยนักวิชาการชาวฮีบรู และที่สำคัญคือในการแปลนี้ยังคงชื่อ “พระยาห์เวห์” ไว้ ตัวอย่างหนึ่งที่มีให้เห็นคือพระคัมภีร์ใหม่ภาษาฮีบรูฉบับซัลคินซัน-กินส์เบิร์ก[24] ซึ่งอ้างถึง “พระยาห์เวห์” 207 ครั้ง อันที่จริงนี่เป็นตัวเลขที่น้อยมากเพราะมีหลายกรณีที่ควรจะแปลเป็น “พระยาห์เวห์” แต่กลับใช้คำ “อาโดนาย (องค์ผู้เป็นเจ้า)” แทน นอกจากนี้ในพระคัมภีร์ใหม่ฉบับภาษาฮีบรูมีคำ “เอโลฮิม”[25] (พระเจ้า) ปรากฏเพียง 591 ครั้งในขณะที่พระคัมภีร์ใหม่ฉบับภาษากรีกมีคำ “เธ-ออส”[26] (พระเจ้า) ปรากฏ 1,317 ครั้ง ซึ่งหมายความว่ามีคำ “เธ-ออส” ประมาณ 700 ครั้งที่พระคัมภีร์ใหม่ฉบับภาษาฮีบรูไม่ได้แปลเป็น “เอโลฮิม”
อย่างไรก็ตามฉบับแปลภาษาฮีบรูตระหนักดีว่าในจำนวน 207 ครั้งนี้ “พระยาห์เวห์” เป็นคำแปลที่เหมาะสม ดังนั้นจึงมี “พระยาห์เวห์” ปรากฏอยู่เป็นอย่างมากในพระคัมภีร์ใหม่และเราก็ไม่สามารถจะกำจัดพระองค์ออกไปได้แม้ว่าเราอยากจะทำก็ตาม
เกิดอะไรขึ้นกับพระเจ้าที่สถิตอยู่ใกล้?
ความคิดแบบกรีกมีอิทธิพลอย่างผิดๆกับแนวคิดของพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเจ้า และนี่เป็นสิ่งที่คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึง เหตุผลก็คือว่าคริสเตียนส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติและดังนั้นจึงเปิดรับวิธีคิดของชาวกรีก ตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดจากอิทธิพลของกรีกที่มีต่อความคิดของคริสเตียนจะเห็นได้จากการที่เรามองเรื่องการสถิตอยู่ห่างไกลและการสถิตอยู่ใกล้ของพระเจ้า
ในความคิดของคนกรีกเรื่องการสถิตอยู่ห่างไกลของพระเจ้าก็คือพระเจ้าสถิตอยู่สูงเหนือทุกสิ่ง พระองค์อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นฟ้าที่ห่างจากโลกมนุษย์มาก พระองค์ประทับอยู่ไกลจากชีวิตของมนุษย์และไกลจากความคิดของมนุษย์เพราะพระองค์ทรงบริสุทธิ์เกินไปสำหรับสิ่งทางโลก เมื่อเทียบความบริสุทธิ์กับการสถิตอยู่ห่างไกลเราจึงคิดว่าพระเจ้าที่บริสุทธิ์คงจะไม่เอาตัวของพระองค์เองมาพัวพันกับเรื่องทางโลก แต่จะทรงเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลกจากระยะไกลในลักษณะที่เหมาะสมกับความสูงส่งและความล้ำเลิศของพระองค์
คริสเตียนจำนวนมากเห็นว่าแนวความคิดที่พระเจ้าสถิตอยู่ห่างไกลนั้นจะบรรเทาลงเพราะองค์พระเยซู ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระเยซูสถิตอยู่ใกล้ไม่ได้อยู่ห่างไกล พระองค์ทรงสภาพแบบมนุษย์ ทรงใช้ชีวิตอยู่กับเราและเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ นี่คือเหตุผลที่เรารักและชื่นชมพระเยซู เพลง “พระเยซูทรงอยู่ใกล้” เป็นเพลงที่เราเคยร้องช่วงที่ผมเรียนอยู่ในสถาบันพระคัมภีร์ พระเยซูทรงอยู่ใกล้ พระเจ้าทรงอยู่ไกล เราจะอธิษฐานกับพระเยซูผู้ทรงอยู่ใกล้ ไม่ได้อธิษฐานกับพระเจ้าที่ทรงอยู่ไกล
ดังนั้นเองความคิดของเราเกี่ยวกับพระเจ้าจึงบิดเบือนไปเพราะเราตาบอดกับหลักฐานมากมายในพระคัมภีร์ว่าความจริงแล้วพระยาห์เวห์ทรงอยู่ใกล้มาก เราคงต้องประหลาดใจอย่างมากที่พระยาห์เวห์ไม่ได้อยู่ห่างไกลตามความเข้าใจในปรัชญากรีกแต่ทรงอยู่ใกล้เรามาก
ให้เราเริ่มต้นจากปฐมกาลเพื่อดูว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกลและปลีกตัวจากมนุษย์ดังที่คนจำนวนมากคิดว่าพระองค์เป็นเช่นนั้นหรือไม่ ปฐมกาล 1:27 กล่าวว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามแบบพระองค์ พระเจ้าทรงทำเช่นนี้ด้วยความตั้งพระทัยชัดเจนที่จะติดต่อกับมนุษย์ สิ่งแรกที่พระเจ้าทรงทำหลังจากทรงสร้างอาดัมกับเอวาก็คือ “ทรงอวยพรพวกเขา” (ปฐมกาล 1:28) พระเจ้าทรงใส่พระทัยความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างแท้จริงซึ่งต่างกับพระเจ้าที่อยู่ห่างไกลตามความคิดของกรีก
พระเจ้าทรงใส่พระทัยถึงขนาดพูดคุยกับอาดัมและเอวา ข้อ 29 บอกเราว่า “พระเจ้าตรัส”[27] กับพวกเขาว่าให้พวกเขากินธัญพืชที่มีเมล็ดและผลจากต้นไม้ผลได้
ในปฐมกาล 2:7 เราเห็นอย่างเด่นชัดว่าพระเจ้าทรงใส่พระทัยมนุษย์ ในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีการรวมคำ “พระยาห์เวห์พระเจ้า” (พระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้า” หรือ “LORD God”) เพื่อระบุว่าพระเจ้าเป็นพระยาห์เวห์ที่ตรงกันข้ามกับพระของต่างชาติ ข้อนี้อ่านว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ด้วยผงคลีจากพื้นดิน ระบายลมปราณเข้าทางจมูกของเขา มนุษย์จึงกลายเป็นผู้มีชีวิตอยู่”[28]
จงสังเกตคำสำคัญว่า “ปั้น” การจะ “ปั้น” อะไรสักอย่างนั้นหมายถึงการทำให้สิ่งนั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา คำฮีบรูว่า “ปั้น” เป็นคำที่ช่างปั้นใช้ปั้นบางสิ่งบางอย่างจากดินเหนียว
พระเจ้าทรงสามารถจะตรัสสั่งสร้างมนุษย์และในเวลาแค่เสี้ยววินาทีก็มีมนุษย์ที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างสมบูรณ์ยืนอยู่ตรงหน้าพระองค์ แต่พระเจ้ากลับทรงเอาดินเหนียวหรือดินโคลนมาปั้นเป็นมนุษย์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง มนุษย์จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์ และถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ก็มีคำว่า “ปั้น” ซ้ำอีกในปฐมกาล 2:8 “พระยาห์เวห์ทรงกำหนดให้มนุษย์ที่พระองค์ทรงปั้นอยู่ที่นั่น”[29] ในสวนเอเดน
หนังสือปฐมกาลกล่าวไว้แบบไม่เจาะจงก่อนหน้านี้ว่า “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์” แต่ตอนนี้กำลังกล่าวอย่างเจาะจงว่าพระเจ้า “ทรงปั้นมนุษย์” พระยาห์เวห์ทรงหยิบโคลนแล้วบรรจงปั้นจมูก ดวงตา และหูของมนุษย์ด้วยฝีมืออันเยี่ยมยอด ทุกๆส่วนในร่างกายของเขาถูกปั้นแต่งด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า อาดัมได้ถูกปั้นขึ้นและเราก็ถูกปั้นขึ้นในอาดัมด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า
คำในพระคัมภีร์ไม่ได้พูดจนเกินไป คำว่า “ปั้น” เป็นคำที่ตั้งใจเลือก พระเจ้าทรงปั้นเราซึ่งหมายความว่าแม้แต่ผมบนศีรษะของเราไม่ได้อยู่ดีๆก็เกิดขึ้นเอง พระเยซูตรัสว่า “ถึงผมของท่านทั้งหลายก็ทรงนับไว้แล้วทุกเส้น”[30] (มัทธิว 10:30) พระเจ้าทรงให้ความสำคัญกับผมของเราเพราะพระองค์เป็นผู้สร้างมันทุกเส้น ทราบไหมว่ามีผมกี่เส้นที่ร่วงหลุดไปเมื่อเราหวีผมของเรา? แต่พระยาห์เวห์ทรงใส่พระทัยกับผมของเราโดยที่เราเองไม่ได้ใส่ใจว่ามันจะร่วงลงพื้นไปกี่เส้น!
นี่ไม่ใช่ความห่างเหินและอยู่ห่างไกลตามที่เข้าใจ พระเจ้าทรงใส่พระทัยมนุษย์เพราะพระองค์ทรงใช้เวลาในการสร้างมนุษย์ที่ประณีตซับซ้อนยิ่งกว่างานปั้นใดๆด้วยดินที่ช่างปั้นทำขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ดูสารคดีจากสถานีโทรทัศน์ของจีน[31]เรื่องของช่างผีมือใกล้ๆเมืองกว่างโจวที่แกะสลักงาช้างได้อย่างสลับซับซ้อน งานศิลป์ที่ประณีตของพวกเขางดงามและน่าประทับใจและงานแกะสลักชิ้นหนึ่งอาจจะใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน
งานแกะสลักบางชิ้นที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเป็นชุดลูกบอลงาช้างที่มีลูกบอลแกะสลักซ้อนกันอยู่ภายในอีกลูกหนึ่ง ชุดส่วนใหญ่จะมีลูกบอลแกะสลักซ้อนกันสามหรือสี่หรือห้าลูก แต่มีคนเคยทำได้สูงสุดที่ซ้อนกันถึง 34 ลูก คุณนึกภาพออกไหมถึงระดับฝีมือกับการทุ่มเทอย่างหนักให้กับงานชิ้นนี้?
ช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นพยายามจะทำให้ดียิ่งกว่าช่างชาวจีนโดยตั้งเป้าที่จะซ้อนลูกบอลให้ได้ถึง 24 ลูก เมื่อนับตามจำนวนลูกบอลที่ซ้อนกันพวกเขาก็ชนะชาวจีนในงานแข่งขันระดับนานาชาติ แต่ช่างศิลป์ของจีนออกความเห็นว่า “ก่อนจะประกาศผู้ชนะ ขอให้นำผลงานแกะสลักของช่างญี่ปุ่นไปแช่ในน้ำร้อนก่อน” เมื่อพวกเขาเอาลูกบอลแกะสลักไปแช่ในน้ำร้อน ลูกบอลที่แกะสลักทั้งหมดก็หลุดออกมาเป็นชิ้นๆเพราะงานแกะสลักที่ช่างญี่ปุ่นทำนั้นไม่ได้แกะสลักให้เป็นลูก แต่แกะสลักทีละชิ้นแล้วใช้กาวติดเข้าด้วยกัน ส่วนงานของช่างจีนนั้นเมื่อแช่ในน้ำร้อนก็ไม่หลุดออกจากกันและได้รับรางวัลเหรียญทอง
ประเด็นของผมก็คือว่าการปั้นให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานั้นต้องใช้เวลาและใช้ความคิด พระคัมภีร์ไม่ได้บอกเราว่าพระเจ้าทรงใช้เวลานานแค่ไหนในการปั้นมนุษย์ แต่ถ้าเราพิจารณาร่างกายของมนุษย์เราก็จะสามารถจินตนาการได้ว่าการสร้างรายละเอียดต่างๆที่ซับซ้อนเหล่านั้นจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน เราเป็นฝีพระหัตถ์ที่น่ามหัศจรรย์ของพระเจ้า! ถ้าพระเจ้าไม่ใส่พระทัยในตัวเราพระองค์ก็คงจะไม่ใช้เวลามาปั้นเรา พระองค์สามารถจะตรัสให้มนุษย์เกิดขึ้นได้ในพริบตาด้วยคำตรัสอันทรงฤทธิ์ของพระองค์ แต่นั่นก็จะไม่สอดคล้องกับความหมายว่า “ปั้น”
หลังจากที่ทรงสร้างมนุษย์แล้วพระยาห์เวห์พระเจ้าทรงแสดงความห่วงใยในตัวเขาโดยการตรัสกับเขาเรื่องต้นไม้ที่อยู่ในสวน (ปฐมกาล 2:16)[32]
เราจะเห็นความรักความเอาใจใส่ของพระเจ้าอีกครั้งในปฐมกาล 3:8 ที่กล่าวว่า พระยาห์เวห์พระเจ้ากำลังเสด็จดำเนินอยู่ในสวนช่วงยามเย็น[33] พระเจ้าจะมาเดินในสวนทำไมในเมื่อพระองค์ทรงอยู่ในสวรรค์ก็ดีอยู่แล้ว? คำตอบที่สมเหตุสมผลก็คือพระองค์เสด็จมาเพื่อจะพูดคุยกับมนุษย์ พระเจ้าทรงอยู่ห่างไกลจริงแต่ไม่ได้ทรงห่างไกลตั้งแต่แรก ที่จริงแล้วการอยู่ห่างไกลของพระองค์เกิดขึ้นภายหลังในประวัติศาสตร์พระคัมภีร์เดิม การติดต่อกับมนุษย์ของพระองค์เริ่มต้นด้วยการสถิตอยู่ใกล้ ไม่ได้เริ่มด้วยการอยู่ห่างไกล
หลังจากอาดัมและเอวาทำบาปพวกเขาก็รู้ตัวว่าตัวเองเปลือยกายอยู่ จึงเอาใบมะเดื่อมาเย็บเป็นเครื่องปกปิดกายไว้ แล้วพวกเขาก็ได้ยินเสียงของพระยาห์เวห์พระเจ้าเดินอยู่ในสวน
ให้เราหยุดคิดกันสักครู่และอ่านพระคัมภีร์แบบสนใจในรายละเอียด มีอะไรพิเศษกับเสียงเดินของพระเจ้าในสวนไหม? มีสิ เพราะตามความคิดของเราแล้วพระเจ้าที่ทรงอยู่ห่างไกล ผู้ที่เบาเหมือนอากาศและครองผืนฟ้าไม่น่าจะมีเสียงเดิน พระองค์น่าจะล่องลอยเหมือนวิญญาณ แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะดำเนินบนพื้นดินในลักษณะที่ได้ยินเป็นเสียงเคลื่อนไหวของพุ่มไม้ใบหญ้า แม้แต่ผมที่แค่ใส่รองเท้าแตะฟองน้ำ ผมก็ยังสามารถเดินไปหาใครๆโดยที่คนนั้นไม่ได้ยินเสียงเดินของผมเลย
อาดัมกับเอวาได้ยินเสียงของพระยาห์เวห์ดำเนินอยู่ในสวน พระเจ้าไม่มีพระประสงค์จะมาแอบดูพวกเขาไม่เช่นนั้นพระองค์ก็คงไม่ให้พวกเขาได้ยินเสียงของพระองค์ จริงๆแล้วพวกเขาได้ยินเสียงใบไม้หรือเสียงใบหญ้าไหวตอนที่พระยาห์เวห์กำลังดำเนินอยู่
อาดัมกับเอวาซ่อนตัวจากพระพักตร์ของพระเจ้าทันที ถ้าพระเจ้าจะมาแอบดูพวกเขาจริงๆ พวกเขาก็คงไม่มีโอกาสจะแอบพระองค์พ้น พระเจ้าผู้ทรงรู้ทุกสิ่งจะทรงรู้อย่างแน่นอนว่าพวกเขาแอบอยู่ตรงไหน ใครเล่าจะเล่นซ่อนหากับพระองค์ได้? แต่พระองค์ก็เสด็จมาหาเหมือนบิดาที่รักใคร่ร้องเรียกหาพวกเขาว่า “เจ้าอยู่ที่ไหน?”
ใครจะซ่อนพ้นจากพระเจ้าผู้ทรงสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่งได้หรือ? อาดัมและเอวาคิดว่าพวกเขาสามารถจะซ่อนตัวพ้นจากพระพักตร์ของพระองค์ได้ แต่สดุดี 139: 7-9[34] กล่าวว่าไม่มีใครจะหนีไปไหนให้พ้นจากพระพักตร์ของพระเจ้าได้ แม้ว่าจะขึ้นไปยังสวรรค์หรือจะลงไปในแดนคนตาย หรือหลบซ่อนอยู่สุดขอบทะเล ถึงอย่างนั้นอาดัมและเอวาก็พยายามซ่อนตัวให้พ้นจากพระพักตร์ของพระเจ้าดังที่คนเรามักจะทำกันเมื่อทำบาป
ในกรณีที่เราพลาดจากข้อความเกี่ยวกับการได้ยินเสียงของพระเจ้า เราจะเห็นในข้อถัดไปที่ตัวอาดัมเองเป็นคนพูดว่า “ข้าพระองค์ได้ยินเสียงของพระองค์” (ข้อ 10)[35] ทำไมพระเจ้าจึงส่งเสียงให้ได้ยินเมื่อทรงดำเนินอยู่ในสวน? เพราะเหตุว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกลฉะนั้นคนสมัยนี้จะบอกให้เราตีความตรงนี้ให้เป็นการเปรียบเทียบไม่ใช่ตีความตรงตัวตามคำ แต่ทำไมเราจึงยอมรับตามที่เขียนไว้ตรงนี้อย่างชัดๆไม่ได้?
ประการต่อมาเราอ่านพบว่าพระยาห์เวห์ทรงปลูกสวนแห่งหนึ่งไว้ในเอเดน (ปฐมกาล 2:8)[36] ทรงทำงานแบบชาวสวนและชาวนา หลังจากที่พระองค์ทรงปั้นมนุษย์แล้วพระเจ้าทรงปลูกสวนที่สวยงามน่าอยู่ให้เขา พระองค์ทรงออกแบบสวน ทรงปลูกสวน แล้วทรงให้มนุษย์ที่พระองค์ทรงปั้นได้อาศัยอยู่ในสวนนั้น
ถัดมาในปฐมกาลบท 4 ก็เป็นเรื่องของคาอินกับอาเบลลูกๆของอาดัมกับเอวา เมื่อผมกลับมาอ่านบทนี้อีกครั้งแต่ครั้งนี้อ่านโดยไม่มีแนวความคิดแบบศาสนศาสตร์ ผมก็เริ่มเห็นบางอย่างในพระคัมภีร์ตอนนี้ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน
คาอินฆ่าอาเบลด้วยความอิจฉาเพราะของถวายของอาเบลพระเจ้าทรงยอมรับ แต่ของถวายของเขา ไม่ทรงยอมรับ แต่แม้ว่าก่อนจะเกิดการฆ่ากันพระยาห์เวห์ได้ตรัสกับคาอินแล้วว่า “ทำไมเจ้าโกรธ? ทำไมหน้าเจ้าบูดบึ้ง?” (ปฐมกาล 4:6) พระองค์จึงทรงเตือนคาอินว่าถ้าเขาทำสิ่งที่ถูก เขาก็ได้รับการยอมรับ แต่ถ้าเขาทำสิ่งที่ไม่ถูก บาปก็รอตะครุบเขาอยู่ ต่อมาคาอินพาอาเบลออกไปกลางทุ่งที่เขาคิดว่าคงไม่มีใครเห็นและลงมือฆ่าอาเบล
แต่แม้หลังจากที่คาอินฆ่าน้องชายของเขา พระยาห์เวห์ยังคงพูดคุยกับเขาว่า “อาเบลน้องชายของเจ้าอยู่ที่ไหน?” คาอินตอบว่า “ข้าพระองค์เป็นผู้ดูแลน้องหรือ?”
ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นก็คือพระเจ้าทรงปกป้องคาอินเพื่อไม่ให้ใครมาทำร้ายหรือฆ่าเขา ทำไมพระเจ้าจึงทำอย่างนั้นกับผู้ร้ายฆ่าคน? บทบัญญัติบอกในเวลาต่อมาไม่ใช่หรือว่าให้ลงโทษถึงตายกับผู้ที่ฆ่าคนตามหลักของการ “ให้ชีวิตแทนชีวิต” (เฉลยธรรมบัญญัติ 19:21)[37] พระยาห์เวห์ทรงปกป้องคาอินไม่ให้ใครมาทำร้ายเขาโดยทำเครื่องหมายไว้ที่ตัวเขาและตรัสว่า “ทุกคนที่ฆ่าคาอินจะมีโทษเจ็ดเท่า” (ปฐมกาล 4:15) การทำเครื่องหมายคุ้มครองผู้ร้ายฆ่าคนเช่นนี้ดูแล้วออกจะไม่เป็นธรรมกับเรา แต่ก็ทำให้เรานึกถึงพระเยซูที่เป็นเพื่อนกับคนบาปและคนเก็บภาษี
คาอินโกรธที่พระยาห์เวห์ทรงปฏิเสธของถวายของเขาซึ่งเท่ากับว่าปฏิเสธตัวเขา คาอินเสียใจกับเรื่องนี้อย่างมากจนถึงกับฆ่าอาเบล ถ้าเป็นคุณ คุณจะเสียใจไหมที่พระเจ้าปฏิเสธคุณ? คุณอาจจะเสียใจหรืออาจไม่เสียใจ คนส่วนมากอาจไม่สนใจด้วยซ้ำว่าพระเจ้าจะทรงคิดอย่างไรกับพวกเขา แต่คาอินเสียใจที่พระยาห์เวห์ปฏิเสธเขาและเขารับไม่ได้ อะไรทำให้เขาตอบสนองรุนแรงถึงขนาดนั้น? คำตอบมีเพียงอย่างเดียวก็คือคาอินรักพระยาห์เวห์ มันเป็นเรื่องที่ช้ำใจมากเมื่อถูกคนที่คุณรักปฏิเสธ ถ้าถูกคนที่เกลียดคุณปฏิเสธคุณ คุณก็คงไม่สนใจเรื่องนี้และปฏิเสธเขากลับ
บางคนฆ่าตัวตายหรือฆ่าคนอื่นตายเนื่องมาจากถูกปฏิเสธ เพราะความรักที่รุนแรงจะก่อให้เกิดความอิจฉาอย่างแรง คาอินได้ฆ่าอาเบลเพราะเขาต้องการความรักและการยอมรับจากพระเจ้า เรื่องแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบันที่ผู้ชายฆ่าคู่แข่งเพื่อแย่งชิงความรักจากหญิงสาว
ผมไม่เห็นเหตุผลที่พระเจ้าทรงไว้ชีวิตและปกป้องคาอินนอกเสียจากว่าพระเจ้าทรงรู้ว่าคาอินรักพระองค์ (ถึงแม้จะในทางที่ผิด) ไม่เช่นนั้นคาอินคงต้องได้รับโทษถึงตายเนื่องจากความเลวร้ายของเขา แต่พระเจ้าทรงปกป้องคาอินถึงขนาดที่ใครฆ่าเขาก็จะมีโทษถึงเจ็ดเท่า
หลังจากที่อาดัมและเอวาทำบาปพระเจ้าก็ไม่ได้ให้พวกเขาตาย แต่พระองค์ไม่ได้บอกพวกเขาหรือว่าวันใดที่พวกเขากินผลจากต้นไม้ต้องห้ามนี้พวกเขาจะต้องตาย? ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงไว้ชีวิตของพวกเขาและ “พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงทำเสื้อผ้าด้วยหนังสัตว์ให้อาดัมและภรรยาของเขาสวมปกปิดกาย” (ปฐมกาล 3:21)[38]
การได้หนังสัตว์มานั้นคุณจะต้องฆ่ามันและมันก็ต้องเลือดตก พระยาห์เวห์ทรงทำหน้าที่ของปุโรหิตในการฆ่าสัตว์ที่พระองค์ได้ทรงสร้าง แล้วก็ทรงทำหน้าที่ของช่างเสื้อในการเตรียมเสื้อผ้าจากหนังสัตว์มาปกปิดร่างกายให้อาดัมกับเอวา ในพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรูนั้นคำว่า “ปกปิด” ก็คือคำ “การลบมลทิน” หรือ “ลบมลทินให้” พระยาห์เวห์ทรงทำเสื้อหนังสัตว์ปกปิดกายให้อาดัมกับเอวา ทรงลบมลทินบาปของพวกเขาด้วยเลือดของสัตว์
เรามักจะคิดว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างและอยู่ไกลเกิน เราก็เลยไม่รู้ว่าจะตีความพระคัมภีร์ตอนที่น่าแปลกใจเหล่านี้อย่างไร ในความคิดของเรานั้นพระเจ้าคงจะไม่ใส่พระทัยถึงขั้นจะฆ่าสัตว์สักตัว แต่ถ้าคุณไม่ฆ่าสัตว์แล้วคุณจะได้หนังสัตว์มาจากไหน? มีทางไหนบ้างที่จะถลกหนังสัตว์โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์? ในการฆ่าสัตว์นั้นพระยาห์เวห์กำลังทรงทำสิ่งที่ปุโรหิตจากเผ่าเลวีจะทำต่อมาในรูปแบบของการถวายเครื่องบูชาที่มีการฆ่าสัตว์และการลบมลทินบาปของคนทั้งหลายหรือปกปิดด้วยเลือดจากเครื่องบูชา ระบบการถวายเครื่องบูชาในพระคัมภีร์เดิมนั้นไม่ได้อยู่ดีๆก็มีขึ้นแต่ได้กระทำล่วงหน้าแล้วในปฐมกาลในรูปของต้นแบบ
นี่ทำให้คุณต้องน้ำตาตกใช่ไหมเมื่อเห็นอาดัมกับเอวาที่พระยาห์เวห์ทรงปั้นด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์และทรงปลูกสวนให้อยู่ได้ทำบาป? พระเจ้าน่าจะพิโรธและทำลายพวกเขาแต่พระองค์ทรงปกปิด[39]ความบาปของพวกเขาแทน พระเมตตาที่พระเจ้าทรงสำแดงกับคาอินด้วยการปกปิดเขาและปกป้องเขานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้พระเจ้าก็ทรงสำแดงพระคุณอันใหญ่หลวงกับพ่อแม่ของคาอิน แต่พระเจ้าทรงยอมให้อาดัมกับเอวาอยู่ในสวนนั้นอีกต่อไปไม่ได้ พวกเขาจะต้องเผชิญกับผลบางอย่างที่ยากเนื่องจากความผิดบาปของพวกเขา พวกเขาถูกขับออกจากสวนแต่พวกเขาก็เดินออกจากสวนเอเดนโดยมีเสื้อปกปิดกายที่พระยาห์เวห์ทรงทำให้พวกเขาสวมใส่ ทุกครั้งที่พวกเขามองเสื้อที่พวกเขาสวมใส่พวกเขาก็จะจำไปจนตลอดชีวิตว่า “เราไม่ได้ตายในวันนั้นที่เราทำบาปก็เพราะพระยาห์เวห์ทรงยกโทษให้เรา พระองค์ทรงฆ่าสัตว์และทรงปกปิดกายเราด้วยหนังของพวกมัน”
คุณยังคิดอยู่ไหมว่าพระยาห์เวห์ทรงอยู่ห่างไกลมากในสวรรค์ที่ไกลลิบในขณะที่พระเยซูทรงอยู่ใกล้มาก? อันที่จริงความรักต่อคนบาปมีอยู่อย่างท่วมท้นตั้งแต่ปฐมกาลก่อนจะมีพันธกิจของพระเยซูในโลกนี้เสียอีก เราจำเป็นต้องมีความคิดอย่างถูกต้องเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ที่พระองค์ทรงอยู่ใกล้มากและได้ทรงจัดเตรียมหนทางเพื่อปกปิดความบาปของเรา
การปฏิบัติของพระยาห์เวห์ต่อโนอาห์ อับราฮัม และโมเสส
ปฐมกาลบท 6 เป็นบันทึกที่น่าเศร้าเรื่องความบาปและความชั่วช้าของมวลมนุษย์ แต่ก็ยังมีคนหนึ่งชื่อโนอาห์ที่พระยาห์เวห์ยังสามารถสื่อสารได้ พระยาห์เวห์ยังคงสื่อสารกับประชากรแต่ก็เฉพาะกับผู้ที่เปิดรับพระองค์เท่านั้นคือกับผู้มีหูที่ฟังพระองค์และผู้ที่ใจของเขาดีพร้อมต่อพระองค์ ใจของโนอาห์ดีพร้อมต่อพระเจ้า ดังนั้นจึงมีคำเขียนไว้ว่า “โนอาห์เป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระยาห์เวห์” (ปฐมกาล 6:8) พระยาห์เวห์ตรัสกับโนอาห์หลายครั้ง อันที่จริงพระยาห์เวห์ตรัสกับโนอาห์ใน 30 กว่าข้อ
จากนั้นก็เกิดน้ำท่วมที่กวาดเอาความชั่วช้าออกไปจากพื้นแผ่นดินโลก พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าที่เมตตาแต่ยังทรงเป็นพระเจ้าที่บริสุทธิ์ด้วย พระองค์ทรงอภัยความผิดบาปแต่ทว่ามีปริมาณของความบาปที่อยู่ในภาวะเกินกว่าจะช่วยได้ เมื่อมนุษย์มาถึงจุดนั้นพระยาห์เวห์ทรงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะทำการพิพากษาโทษพวกเขา แต่แม้กระทั่งในการพิพากษาพระองค์ก็ทรงแสดงพระเมตตากับโนอาห์และครอบครัวของเขา
เมื่อนึกถึงเรื่องราวของเรือโนอาห์ในชั้นรวีวารศึกษา[40] เราอาจมองข้ามรายละเอียดที่สำคัญไป โนอาห์กับบรรดาสัตว์ต่างๆเข้าไปในเรือและพ้นจากน้ำที่กำลังท่วม จากนั้นปฐมกาล 7:16 ก็กล่าวว่า “บรรดาสัตว์ที่เข้าไปนั้นมีทั้งบรรดาตัวผู้และตัวเมียทุกชนิด ต่างเข้าไปตามที่พระเจ้าทรงบัญชา แล้วพระยาห์เวห์ทรงปิดให้ท่านอยู่ข้างใน”[41] (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “ทรงปิดประตูเรือ”)[42]
พระยาห์เวห์ทรงปิดประตูเรือหรือ? หลังจากที่โนอาห์เข้าไปในเรือแล้วใครหรือเป็นผู้ที่ปิดประตูเรือถ้าไม่ใช่พระยาห์เวห์? โนอาห์น่าจะเป็นผู้ปิดประตูเองแต่กลับเป็นพระเจ้าที่ทรงดูความเรียบร้อยเป็นคนสุดท้ายเหมือนพ่อที่รอส่งลูกๆของเขาไปโรงเรียน พระยาห์เวห์ทรงปิดประตูตามหลังพวกเขาเพราะพระองค์ทรงเป็นห่วงความปลอดภัยของทุกคนที่อยู่ข้างใน พระองค์ต้องแน่ใจว่าน้ำจะไม่เข้าไปในเรือทำให้ทุกคนที่อยู่ข้างในจมน้ำซึ่งก็เหมือนที่พ่อจะเป็นคนปิดประตูและล็อครถเพื่อความปลอดภัยของลูกๆของเขา พระยาห์เวห์ทรงกระทำสิ่งที่น่ารักหลายอย่าง
เมื่ออ่านปฐมกาลต่อไปเราจะเจออีกคนหนึ่งคืออับราฮัมผู้ที่พระเจ้าทรงตรัสด้วย เราจะข้ามเรื่องของเอโนคที่เดินกับพระเจ้าไม่ใช่แค่ปีสองปีแต่เป็นสามร้อยปี (ปฐมกาล 5:22) นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระยาห์เวห์ทรงรับเอโนคไป
อับราฮัมเป็นคนที่พระเจ้าทรงเรียกว่า “อับราฮัมสหายของเรา” (อิสยาห์ 41:8) และยากอบก็เรียกเขาว่า “สหายของพระเจ้า” (ยากอบ 2:23) พระเจ้าต้องการให้คุณและผมเป็นสหายของพระองค์ไม่ใช่เพราะพระองค์จำเป็นต้องมีเราเป็นสหายของพระองค์แต่เป็นเพราะพระองค์ทรงรักเรา และพระเจ้าก็พบสหายแท้ในอับราฮัม
ปฐมกาล 18 มีเรื่องราวน่าสนใจที่อับราฮัมพูดคุยกับพระเจ้า อับราฮัมกำลังนั่งอยู่ที่ประตูเต็นท์ของเขาช่วงแดดร้อน เขาเห็นชายสามคนกำลังเดินมาหาเขา เขาจึงวิ่งไปต้อนรับและก้มคำนับจนถึงพื้นเหมือนที่ชาวมุสลิมทำเวลาพวกเขาอธิษฐาน เรื่องกลับกลายเป็นว่าชายหนึ่งในสามนั้นก็คือพระยาห์เวห์
อับราฮัมรู้ในเวลาต่อมาว่าพระยาห์เวห์ทรงคิดทำลายเมืองโสโดมที่ชั่วช้า อับราฮัมจึงทูลพระยาห์เวห์ว่า “สมมุติว่ามีคนชอบธรรมห้าสิบคนอยู่ในเมืองนั้น พระองค์จะยังทรงทำลายเมืองนั้น ไม่ทรงละเว้นเพราะเห็นแก่คนชอบธรรมห้าสิบคนที่อยู่ในเมืองนั้นหรือ?” (ปฐมกาล 18:24) อับราฮัมจึงเริ่มต่อรองกับพระเจ้าว่า “ขอพระยาห์เวห์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย แต่พระองค์จะทรงละเว้นเมืองโสโดมเพราะเห็นแก่คนชอบธรรม 50 คนไหม?” “เราจะไม่ทำลายเพราะเห็นแก่ 50 คนนั้น” “แล้วถ้ามีคนชอบธรรมแค่ 45 คน” “เราจะไม่ทำลายเพราะเห็นแก่ 45 คนนั้น” การต่อรองนี้เหมือนกับการต่อราคาของในตลาดเลย แต่พระยาห์เวห์ก็ทรงสำแดงให้เขาเห็นถึงความอดทนที่ไม่มีขอบเขต “ขอพระยาห์เวห์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย พระองค์จะทรงละเว้นเมืองโสโดมเพราะเห็นแก่คนชอบธรรม 40 คนไหม?” “เราจะไม่ทำลายเพราะเห็นแก่ 40 คนนั้น” ในที่สุดอับราฮัมก็ต่อรองลงไปเรื่อยๆจาก 50 เป็น 45 เป็น 40 เป็น 30 เป็น 20 และ 10
แต่อับราฮัมไม่กล้าต่อรองต่ำกว่าสิบ เมื่อคุณต่อราคาของในตลาดคุณจะต้องรู้ขีดจำกัดว่าคุณต่อได้ถึงแค่ไหน หากมีใครขอคุณร้อยบาทคุณจะให้เขาแค่สองบาทไหม? อับราฮัมหยุดที่จำนวนสิบคนเพราะแน่ใจว่าทั้งเมืองโสโดมจะต้องมีคนชอบธรรมถึงสิบคน แต่แม้แค่สิบคนก็ยังไม่มี ถ้าอับราฮัมต่อรองลงไปอีกก็จะไม่ต่างกัน ความจริงมีแค่โลทเพียงคนเดียว เรื่องในปฐมกาลไม่ได้บอกอะไรถึงภรรยาของโลทมากนักมีเพียงว่าเธอได้กลายเป็นเสาเกลือ (ปฐมกาล 19:26) โสโดมทั้งเมืองมีคนชอบธรรมอยู่แค่คนเดียว
ในการต่อรองกับพระยาห์เวห์นั้น อับราฮัมมีประสบการณ์ตรงกับความอดทนและความเมตตาของพระองค์ ทำไมเราจึงคิดว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษาที่ฉุนเฉียวคอยแต่จ้องจะทำลายคนบาปหรือ? นักเทศน์บางคนถ่ายทอดความพิโรธของพระเจ้าด้วยการตบธรรมาสน์ดังๆบอกว่าถ้าคุณไม่กลับใจคุณก็จะตกนรกหมกไหม้ชั่วกัปชั่วกัลป์ แต่พระเจ้าแทบไม่ได้คิดที่จะทำให้เรากลัวเพราะพระองค์ชอบที่จะดึงดูดใจเราด้วยความรักของพระองค์
ภาพความสัมพันธ์ของพระยาห์เวห์กับมนุษย์ที่เห็นทั้งหมดในประวัติศาสตร์พระคัมภีร์จะเห็นว่า ในกรณีของโสโดมนั้นมีคนชอบธรรมที่พระยาห์เวห์จะพูดคุยด้วยน้อยมากจนเกือบจะไม่มีเลย
จากนั้นก็มาถึงเรื่องของโมเสสและพระเจ้าตรัสกับเขาแบบหน้าต่อหน้า พระยาห์เวห์ทรงใช้โมเสสให้นำคนอิสราเอลประชากรของพระองค์ออกจากอียิปต์ พระยาห์เวห์ไม่ได้เป็นพระเจ้าที่ห่างเหินและอยู่ห่างไกลตามที่เข้าใจ พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์อย่างเสมอต้นเสมอปลายกับคนอิสราเอล ในเวลากลางวันพระยาห์เวห์ทรงนำทางพวกเขาในถิ่นทุรกันดารด้วยเสาเมฆ และในเวลากลางคืนทรงนำพวกเขาด้วยเสาไฟเหมือนที่ผู้เลี้ยงแกะนำทางแกะของเขา นี่เป็นแรงบันดาลใจให้กับสดุดี 23 “พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ”
ในเวลากลางวันเสาเมฆจะลอยขึ้นและแผ่ออกเหมือนดอกเห็ดเป็นร่มใหญ่บังแสงอาทิตย์อันแรงกล้าให้คนทั้งหมด ใครที่เคยเห็นทะเลทรายซีนายมาแล้วจะรู้ว่าแสงอาทิตย์ในทะเลทรายนั้นน่ากลัวแค่ไหน เมฆให้ร่มเงาและการปกป้องประชากรซึ่งเป็นการแสดงความรักและฤทธานุภาพของพระยาห์เวห์ที่เห็นได้ชัด ในเวลากลางคืนเสาเมฆก็กลายเป็นเสาไฟที่ไม่ได้ให้แค่แสงสว่าง แต่ยังให้ความอบอุ่นกับผู้คนและฝูงสัตว์ในทะเลทรายที่หนาวเย็น
การจัดการเลี้ยงดูคนอิสราเอลสองล้านคนในทะเลทรายนั้นช่างเหลือเชื่อจริงๆ พระยาห์เวห์ประทานมานาให้พวกเขากินทุกวัน แล้วเรื่องน้ำล่ะ? น้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในทะเลทราย พระยาห์เวห์ประทานน้ำให้พวกเขาดื่มกิน นี่เป็นเพียงการอัศจรรย์หนึ่งในหลายอย่างที่ชาวอิสราเอลได้เห็นเป็นพยานวันแล้ววันเล่าถึงสี่สิบปี พระเจ้าน่าจะทำลายประชากรที่ผิดบาป กบฏ และไม่ได้ซาบซึ้งในพระคุณให้หมดไปจากโลก แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงเมตตาประทานอาหารและน้ำให้พวกเขา
สิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงทำในพระคัมภีร์เดิมนั้นต่อมาพระองค์ได้ทรงทำในพระคัมภีร์ใหม่ผ่านทางพระเยซู การเลี้ยงคน 5,000 กับ 4,000 คนนี้ก็เพื่อให้ระลึกถึงสิ่งที่พระยาห์เวห์ได้ทรงเลี้ยงดูประชากรของพระองค์ในถิ่นทุรกันดาร การเลี้ยงคน 5,000 กับ 4,000 คนนี้แม้ว่าจำนวนจะน้อยกว่าการเลี้ยงคนสองล้านคนในถิ่นกันดารมากก็เพื่อเป็นการเตือนใจคนทั้งหลายว่าพระเยซูทรงกำลังทำสิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงทำในพระคัมภีร์เดิม นี่ไม่ได้หมายความว่าพระเยซูคือพระยาห์เวห์แต่หมายความว่าพระยาห์เวห์สถิตอยู่ในพระเยซูและทรงทำงานผ่านทางพระองค์
พระเยซูทรงเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในถิ่นทุรกันดารอย่างชัดเจนว่า “เราเป็นอาหารแห่งชีวิต บรรพบุรุษของท่านได้กินมานาในถิ่นกันดาร ถึงกระนั้นพวกเขาก็ตาย แต่นี่คืออาหารที่ลงมาจากสวรรค์ซึ่งใครได้กินแล้วจะไม่ตาย เราเป็นอาหารซึ่งให้ชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ถ้าผู้ใดได้กินอาหารนี้ ผู้นั้นจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” (ยอห์น 6:48-51 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)
พระเยซูตรัสถึงน้ำเมื่อพระองค์ทรงบอกหญิงชาวสะมาเรียว่าเธอต้องขอน้ำนี้จากพระองค์และพระองค์จะให้น้ำดำรงชีวิตแก่เธอที่จะกลายเป็นบ่อน้ำพุในตัวเธอพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์ (ยอห์น 4:13-15) โมเสสรู้จักพระยาห์เวห์อย่างสนิทสนมและรู้จักความรักและฤทธานุภาพของพระองค์อย่างลึกซึ้งมายาวนานตั้งแต่เมื่อครั้งพุ่มไม้ที่มีเปลวไฟจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของเขา ดังนั้นจึงเหมาะสมแล้วที่พระยาห์เวห์ควรมีส่วนอย่างใกล้ชิดกับการตายของโมเสส ตามที่บันทึกในเฉลยธรรมบัญญัติหนังสือเล่มสุดท้ายของโทราห์[43] (พระบัญญัติห้าเล่มแรก) บอกว่าโมเสสสิ้นชีวิตเมื่ออายุ 120 ปี มันน่าสนใจว่าโมเสสมีสุขภาพแข็งแรงจนนาทีสุดท้ายของชีวิตและยังคงมีกำลังวังชาและความสามารถ (เฉลยธรรมบัญญัติ 37:4)[44] ตามปกติแล้วคนจะเจ็บป่วยตายตามธรรมชาติแต่กับผู้รับใช้ของพระเจ้านั้นอาจสวนทางกัน แม้จวบจนทุกวันนี้ผมก็ยังได้ยินเรื่องของผู้รับใช้พระเจ้าที่สิ้นชีวิตแบบฉับพลันขณะที่สุขภาพยังดีอยู่และจากไปอย่างสงบเหมือนแค่หลับไป มีนักเทศน์ท่านหนึ่งเล่าถึงคุณพ่อซึ่งเป็นผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อของพระเจ้าเมื่อตอนที่ท่านเสียชีวิตนั้นสุขภาพร่างกายของท่านก็ยังสมบูรณ์ดี ท่านก้มศีรษะแล้วก็เสียชีวิต
พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่าเวลาของเขามาถึงแล้วโมเสสจึงล่วงหลับไป เขาสิ้นชีวิตบนยอดเขาปิสกาห์หลังจากได้เห็นแผ่นดินพันธสัญญาจากระยะไกลที่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเพราะความล้มเหลวที่ร้ายแรงในชีวิตของเขา แล้วพระยาห์เวห์ทรงทำอะไรกับร่างของโมเสสหรือ? เฉลยธรรมบัญญัติ 34:6[45] ช่วยให้เราเห็นถ้อยคำที่น่าอัศจรรย์ใจว่า “พระยาห์เวห์ทรงฝังท่าน”
พระเจ้าทรงฝังโมเสสบนภูเขาเป็นการไว้อาลัยครั้งสุดท้ายให้กับสหายของพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทรงทิ้งร่างของเขาไว้บนเขาอันเวิ้งว้างปล่อยให้แร้งกากินแต่ทรงขุดหลุมฝังเขา พระยาห์เวห์นะหรือจะทรงขุดหลุม? เราคิดเกินความเป็นจริงไปไหม? แต่คุณจะฝังร่างของใครสักคนได้อย่างไรถ้าไม่ขุดหลุมเสียก่อน? พระยาห์เวห์ทรงวางโมเสสลงในพื้นดินแล้วทรงกลบเขาด้วยดินและกองหิน คุณนึกภาพที่น่าประหลาดใจนี้ออกไหม?
การถดถอยและความเหินห่าง
พระเจ้าทรงปฏิสัมพันธ์กับประชากรของพระองค์ด้วยวิธีที่มีอานุภาพ เมื่อพระองค์เสด็จลงมาจากภูเขาซีนายภูเขาที่มีเปลวไฟ ทรงสำแดงอานุภาพและความน่าเกรงขามของพระองค์กับฝูงชน ที่ภูเขาซีนายนี้ที่พวกผู้ใหญ่ของอิสราเอลได้เห็นพระรัศมีของพระเจ้าด้วยตาของเขาเอง (อพยพ 24:9-10)[46] พวกเขาได้เห็นพระเจ้าของอิสราเอล และพื้นรองพระบาทเป็นเหมือนนิลสีคราม สุกใสเหมือนท้องฟ้าทีเดียว แต่พระเจ้าไม่ได้ทรงลงโทษพวกเขา พวกเขาได้เห็นพระเจ้าและได้กินและดื่มซึ่งเป็นวิธีที่บอกว่าพวกเขายังคงมีชีวิตอยู่หลังจากที่ได้เห็นพระเจ้า
พระเจ้าทรงสำแดงพระรัศมีของพระองค์กับคนจำนวนมาก “พระรัศมีของพระยาห์เวห์มาอยู่บนภูเขาซีนาย เมฆนั้นปกคลุมภูเขาอยู่หกวัน...และพระรัศมีของพระยาห์เวห์ก็ปรากฏแก่ตาของชนชาติอิสราเอลเหมือนเปลวไฟที่ไหม้อยู่บนยอดภูเขา” (อพยพ 24:16-17)
จากเรื่องราวนี้เราจะพบถ้อยคำที่คุ้นๆ “เปลวไฟที่ไหม้” ในด้านหนึ่งพระเจ้าทรงเป็นเหมือนเปลวไฟที่ลุกไหม้ ในอีกด้านหนึ่งพระเจ้าทรงใส่พระทัยถึงขนาดฝังโมเสสสหายของพระองค์ โมเสสจะฟื้นขึ้นอีกเมื่อพระเจ้าจะทรงเรียกให้เขาฟื้นขึ้น! แต่ในเวลานี้เขาต้องหยุดพักหลังจากที่ทำงานของพระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อแม้เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในแผ่นดินพันธสัญญาเพราะความล้มเหลวครั้งเดียวที่ร้ายแรง
ตลอดเวลาและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพระเจ้ายังคงตรัสกับประชากรแต่ระยะห่างระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์นั้นค่อยๆห่างออกไปทุกที ไม่ใช่ว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่ว่ามนุษย์ไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารกับพระเจ้าอีกต่อไป ตัวอย่างนี้มีให้เห็นอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์พระคัมภีร์เดิม ในที่สุดประชากรของพระเจ้าก็หยุดร้องออกนามของพระองค์และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระองค์เป็นใคร ในทำนองเดียวกันที่เมื่อเราอธิษฐานว่า “พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์” เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระบิดาคือพระยาห์เวห์ และถ้าพระองค์ไม่ใช่พระยาห์เวห์แล้วเราก็ไม่ได้กำลังอธิษฐานกับพระเจ้าของพระคัมภีร์
เมื่อเวลาผ่านไปมีคนน้อยลงและน้อยลงที่สามารถจะสื่อสารกับพระยาห์เวห์ พระองค์ยังทรงสื่อสารกับคนเพียงแค่หยิบมืออย่างซามูเอลและพวกผู้เผยพระวจนะ อิสยาห์มีนิมิตเกี่ยวกับพระรัศมีของพระเจ้า เอเสเคียลก็ได้รับนิมิตจากพระเจ้าและเห็นเป็นชายคนหนึ่ง ศาสนศาสตร์ตะวันตกจะบอกว่านิมิตนี้ “เป็นการมาปรากฏในรูปของมนุษย์”[47] ให้เห็นพระเจ้าที่อยู่ในรูปของมนุษย์เหมือนว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ แต่เราอาจเข้าใจกลับกัน พระเจ้ามีรูปลักษณ์อย่างมนุษย์หรือ? หรือว่ามนุษย์จะมีรูปลักษณ์อย่างพระเจ้า? มนุษย์ถูกสร้างตามรูปลักษณ์[48]ของพระเจ้า ดังนั้นมนุษย์จึงมีรูปลักษณ์อย่างพระเจ้าตามคำสอนของพระคัมภีร์ มนุษย์ถูกสร้างตามรูปลักษณ์ของพระเจ้าเพื่อว่าในความเป็นเหมือนพระเจ้านั้นเขาจะได้สื่อสารกับพระเจ้า
คนสำคัญคนสุดท้ายที่สื่อสารกับพระเจ้าในระดับลึกที่สุดคือโมเสส ผู้ที่พระเจ้าตรัสด้วยแบบหน้าต่อหน้า ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ได้เห็นพระรัศมีของพระเจ้าและประกาศถ้อยคำขององค์ผู้เป็นเจ้าแต่ความใกล้ชิดลดน้อยลง หลังจากที่เอเสเคียลได้รับนิมิตที่ยิ่งใหญ่ของเขาแล้วก็ไม่มีความใกล้ชิดอย่างเดียวกันนั้นกับพระยาห์เวห์อีกต่อไป หลังจากมาลาคีผู้เผยพระวจนะที่สำคัญคนสุดท้ายแล้วก็มีแต่ความเงียบเป็นเวลา 400 ปี องค์ผู้เป็นเจ้าทรงหยุดตรัสคำของพระองค์เพราะไม่มีใครที่พระยาห์เวห์จะสามารถสื่อสารด้วยได้ มีใครบ้างไหมในยุคสมัยนี้ที่สามารถจะสื่อสารกับพระยาห์เวห์?
จัดเตรียมทางสำหรับพระเจ้า
อิสยาห์ 40:3 ออกคำประกาศที่น่ายินดีว่า จงเตรียมมรรคาของพระยาห์เวห์ในถิ่นทุรกันดาร! จงทำทางหลวงในที่ราบแห้งแล้งให้ตรงสำหรับพระเจ้าของเรา![49]
คุณจะเตรียมทางหลวงในถิ่นทุรกันดารเพื่ออะไร? ที่เตรียมก็เพื่อการเสด็จมาของพระยาห์เวห์เพื่อจะสำแดงพระรัศมีของพระองค์แก่ “มนุษย์ทั้งหลาย” มันเป็นพระสัญญาที่น่ายินดีในการเสด็จมาของพระยาห์เวห์จริงๆแต่ยังคงเป็นเพียงแค่คำสัญญาอย่างนั้นอยู่เป็นเวลานาน
อิสยาห์ 7:14 กล่าวว่าหญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชาย ชื่อเรียกต่างๆของพระเจ้าที่เด็กชายคนนี้ได้รับการขนานนามในอิสยาห์ 9:6[50] นั้นถึงแม้ว่าชื่อเรียกต่างๆอาจถูกตีความว่าไม่ได้เป็นชื่อเรียกของพระเจ้า ถ้าคุณใช้ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อเรียกของพระเจ้าและใช้เรียกพระเยซูก็จะเป็นปัญหาเพราะการเรียกพระเยซูว่า “พระบิดานิรันดร์” จะเพิ่มความสับสนยิ่งขึ้นอีก คนสมัยนี้ไม่รู้จริงๆว่าใครเป็นพระบิดาและใครเป็นพระบุตรเพราะบางครั้งพวกเขาก็เรียกพระบุตรว่าพระบิดา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระบิดาก็เป็นพระบุตรได้เช่นกัน ดูเหมือนผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะไม่เดือดร้อนกับความสับสนนี้และไม่คิดจะแก้ไขอะไรเมื่อมีคนบอกพวกเขาว่าผู้ที่กำลังเสด็จมานั้นเป็นพระบุตรไม่ใช่พระบิดา (หรือว่าเราควรจะตีความเหมือนอย่างนักวิชาการพระคัมภีร์หลายๆคนไหมว่า “พระบิดา” ตรงนี้เป็นชื่อเรียกของกษัตริย์ที่ถือว่าเป็นบิดาของประชาชนของพระองค์? และในเมื่อราชอาณาจักรของพระองค์เป็นราชอาณาจักรนิรันดร์พระองค์ก็ควรจะถูกเรียกว่าพระบิดานิรันดร์และกษัตริย์นิรันดร์) แต่ผมสบายใจที่จะยอมรับว่าคำกล่าวนี้ใช้กับพระเจ้า
ในอีกสัญญาหนึ่งที่เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระยาห์เวห์นั้นมาลาคี 3:1 กล่าวว่า “และองค์เจ้านาย[51]จะเสด็จมายังพระวิหารของพระองค์อย่างกะทันหัน” จากนั้นมาก็มีแต่ความเงียบอยู่สองสามร้อยปีก่อนที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาจะปรากฏตัวในถิ่นทุรกันดารสวมเสื้อผ้าขนอูฐและป่าวประกาศว่า เขาคือเสียงที่ป่าวร้องในถิ่นทุรกันดารว่า “จงเตรียมมรรคาขององค์ผู้เป็นเจ้า!”
แล้วพระเยซูก็เสด็จมาและตรัสและทำสิ่งต่างๆที่เตือนให้คนอิสราเอลนึกถึงบรรพบุรุษของพวกเขาในถิ่นทุรกันดารว่า “บรรพบุรุษของท่านได้กินมานาในถิ่นทุรกันดารแล้วก็ยังเสียชีวิต[52]....เราเป็นอาหารซึ่งให้ชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ถ้าผู้ใดได้กินอาหารนี้ผู้นั้นจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป[53]” พระเยซูทรงตระหนักอยู่เสมอถึงความจริงที่ว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา “ผู้ที่ต้อนรับเราก็ต้อนรับพระองค์ที่ทรงใช้เรามา” (มัทธิว 10:40) การที่พระเยซูทรงรักษาคนเจ็บป่วยให้หายคนตายให้ฟื้นขึ้นและทรงเลี้ยงฝูงชนเป็นจำนวนมากทำให้เรานึกถึงผู้เผยพระวจนะเอลียาห์ที่ทำการอัศจรรย์คล้ายๆกันรวมถึงการให้แป้งที่ไม่หมดและน้ำมันที่ไม่ขาด การเสด็จมาของพระเยซูนี้บางคนคงสงสัยว่า “เป็นได้ไหมว่านี่เป็นไปตามพระสัญญาในการมาปรากฏของพระยาห์เวห์?”
เมื่อธรรมาจารย์กำลังถกเถียงกันเองและกับพระเยซู คนหนึ่งในนั้นทูลถามพระเยซูว่าพระบัญญัติข้อใดสำคัญที่สุด พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “พระบัญญัติอันดับแรกคือ โอ ชนอิสราเอล จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นพระเจ้าองค์เดียว พวกท่านจงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน ด้วยสุดความคิดของท่านและด้วยสุดกำลังของท่าน” (มาระโก 12:29-30)
พระเยซูกำลังอ้างจากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 “โอ คนอิสราเอล จงฟังเถิด พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้น[54]ทรงเป็นพระเจ้าของเรา” (ฉบับมาตรฐาน 2011) ในฉบับภาษาฮีบรูคำ “พระยาห์เวห์ผู้เดียว”[55] นั้นมีความหมายตรงตัวตามคำคือ “พระยาห์เวห์เดียว” เราอาจคาดหวังที่จะอ่านว่า “พระเจ้าเดียว” แต่ที่จริงฉบับภาษาฮีบรูกล่าวว่า “พระยาห์เวห์เดียว” พระคัมภีร์ฉบับนิวเยรูซาเล็ม[56]แปลอย่างนี้ว่า “จงฟังเถิดชนอิสราเอล พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงเป็นผู้เดียว พระยาห์เวห์เท่านั้น”
แม้แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไม่กล้าบอกว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นสามบุคคล พวกเขาจะพูดถึงพระเจ้าว่าพระเจ้าทรงเป็นสามบุคคล[57]แต่จะไม่พูดเช่นนั้นกับพระยาห์เวห์เพราะในพระคัมภีร์เดิมมีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เรียกว่าพระยาห์เวห์ แต่เนื่องจากผมเติบโตมากับความเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพผมจึงไม่ได้เข้าใจอยู่เป็นเวลานานถึงความสำคัญของ “พระยาห์เวห์เดียว” สำหรับผมแล้วคำว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” นั้นหมายถึงพระเจ้าในความหมายทั่วๆไป แต่คำ “พระยาห์เวห์” มีปรากฏถึงสองครั้งในข้อนี้ในฉบับภาษาฮีบรูซึ่งหมายความว่าพระยาห์เวห์พระเจ้าของเราเป็นพระยาห์เวห์เดียว
สิ่งนั้นช่วยแก้ความข้องใจในเรื่องนี้ให้ผม พระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูไม่ได้กล่าวว่า “พระเจ้าเดียว” แต่กล่าวว่า “พระยาห์เวห์เดียว” มีพระเจ้าองค์เดียวและพระเจ้าองค์นั้นคือพระยาห์เวห์ พระเยซูทรงยึดมั่นพระคัมภีร์เดิมอย่างสัตย์ซื่อ พระองค์เองทรงสอนด้วยว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและพระเจ้าองค์นั้นก็คือพระยาห์เวห์ หากเราปฏิเสธคำกล่าวนี้เราก็กำลังปฏิเสธคำสอนของพระเยซูเอง แต่คริสเตียนจำนวนมากเต็มใจที่จะยกเลิกคำสอนของพระเยซู ยกเลิกพันธสัญญาใหม่ ยกเลิกพันธสัญญาเดิมเพื่อจะรักษาคำสอนตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพทำให้การสอนเกี่ยวกับพระเจ้าผิดไปจากพระคัมภีร์ ถ้าเราจะคิดหลักคำสอนของเราเองหรือจะตามหลักคำสอนของคนต่างชาติทางตะวันตกนั้นก็ขึ้นอยู่กับเรา แต่มันจะหมายความว่าเราปฏิเสธสิ่งที่พระคัมภีร์สอนและสิ่งที่พระเยซูทรงสอน สิ่งที่ผมสอนจากพระคัมภีร์เดิมในตอนนี้ตรงกับสิ่งที่พระเยซูทรงสอนเพราะพระองค์ก็ทรงยึดมั่นในพระคัมภีร์เดิมด้วยเช่นกัน สิ่งที่ผมพูดนี้ไม่มีสักคำที่พูดขัดกับสิ่งที่พระเยซูทรงสอนเพราะผมกำลังยึดตามสิ่งที่พระคัมภีร์เดิมกล่าว เมื่อพระเยซูทรงยกเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 เพื่อยืนยันมุมมองของพระองค์เองว่า มีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและพระองค์ก็คือพระยาห์เวห์ สิ่งนี้ตอกย้ำถึงความสำคัญกับผมเพราะมันออกมาจากพระโอษฐ์ขององค์ผู้เป็นเจ้าและผู้ช่วยให้รอดที่ประเสริฐของเรา
[5] Tetragrammaton
[7] Adonai
[8] Masoretic Text
[9] ผู้แปลแก้ไขเพิ่มเติม
[11] New Jerusalem Bible
[12] Holman Christian Standard Bible
[14] Darby Bible
[15] 耶和华
[16] BibleWorks
[22] หรือ “พระเยซูคริสต์เจ้า”
[27] ปฐมกาล 1:28 พระเจ้าตรัสว่า “ดูนี่ เราให้ธัญพืชที่มีเมล็ดทุกชนิด ซึ่งมีอยู่ทั่วพื้นแผ่นดิน และต้นไม้ผลทุกชนิดที่มีเมล็ดในผลของมันแก่เจ้าเป็นอาหารของเจ้า” (ฉบับมาตรฐาน 2011) ผู้แปล
[39] ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมีสองความหมาย ความหมายในที่นี้คือ ปิดไว้หรือกำบังไว้ ซึ่งต่างกับอีกความหมายที่หมายถึงปกปิดไม่ให้รู้หรือปิดไว้เป็นความลับ (ผู้แปล)
[42] ผู้แปลเพิ่มเติมข้อมูล
[43] Torah คือคัมภีร์ภาษาฮีบรูที่รู้จักกันในชื่อบัญญัติของโมเสสอันประกอบด้วย ปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถีและเฉลยธรรมญญัติ (ผู้แปล)
[47] anthropomorphic
[50] อิสยาห์ 9:6 ด้วยมีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา มีบุตรชายคนหนึ่งประทานมาให้เราและการปกครองจะอยู่บนบ่าของท่าน และเขาจะขนานนามของท่านว่า “ที่ปรึกษามหัศจรรย์ พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ พระบิดานิรันดร์ และองค์สันติราช” (ฉบับมาตรฐาน 2011) -ผู้แปล
[56] New Jerusalem Bible
[57] หรือจะบอกว่า “สามพระภาค” ก็เป็นสามพระองค์ที่แยกกัน ซึ่งไม่ใช่บุคคลเดียวกัน (ผู้แปล)