pdf pic 

 

 

บทที่ 14

 

 

 ch1 1

 

 

ความล้ำลึกตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

 

กับความล้ำลึกตามพระคัมภีร์

 

  

      วามจริงที่เห็นได้ชัดก็คือว่า ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหลาย ดังเช่น เอริกสันกำลังพยายามจะทำภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ในการอธิบายความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่ไม่เคยมีการอธิบายได้อย่างสอดคล้องกันมาสองพันปี นั่นคือเหตุผลว่าทำไมความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงถูกกล่าวว่าเป็น “ความล้ำลึกที่เกินความเข้าใจของมนุษย์” (เจมส์ ไวท์, ตรีเอกานุภาพที่ลืมเอ่ยถึง, หน้า 173)[1]

      โรเจอร์ โอลเซ่น และคริสโตเฟอร์ ฮอลล์ กล่าวว่า “ตามที่ออกัสตินบิดาของคริสตจักรบอกไว้ว่า ใครก็ตามที่ปฏิเสธตรีเอกานุภาพ จะตกอยู่ในอันตรายที่จะสูญเสียความรอดของเขา แต่ใครก็ตามที่พยายามจะเข้าใจตรีเอกานุภาพ จะตกอยู่ในอันตรายที่จะเสียสติของเขา”[2]

       ความเชื่อในตรีเอกานุภาพยังคงเป็นความล้ำลึกอยู่ในศตวรรษที่ 21 เพราะบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยังคงไม่สามารถจะอธิบายให้สอดคล้องกันได้ว่า ทั้งสามองค์บุคคล ซึ่งแต่ละพระองค์ก็เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง” นั้นจะเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวร่วมกันได้อย่างไร สิ่งนี้อธิบายถึงการหลบเลี่ยงให้เป็น “ความล้ำลึก” แม้จะด้วยความคิดที่หลักแหลมอย่างของออกัสตินก็ตาม

      เป็นเวลากว่าสิบหกศตวรรษที่คริสตจักรได้ใช้คำล้ำลึก เพื่ออธิบายถึงความไม่สามารถจะเข้าใจในหลักคำสอนตรีเอกานุภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เช่น พระเจ้าองค์เดียวสามารถดำรงอยู่ในสามบุคคลได้อย่างไร หรือสภาวะที่เป็นพระเจ้าของพระคริสต์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่เป็นมนุษย์ของพระองค์อย่างไร ความคิดเหล่านี้ขัดกับหลักเหตุผลและความเข้าใจ ดังนั้นวิธีแก้ก็คือให้ปัญหาเหล่านั้นอยู่ในวังเวียนของความล้ำลึก ที่ไม่สามารถจะรู้ได้ ที่ยากจะหยั่งถึง

        มีบางคนวิพากษ์วิจารณ์ถึงการอาศัยความล้ำลึกของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ การค้นหาในกูเกิ้ลจะแสดงให้เห็นว่าบางคนมองการใช้ความล้ำลึกว่าเป็น “การทิ้งความรับผิดชอบ” เพื่อหลีกเลี่ยงคำถามที่ยากๆ ภายใต้การปกปิดด้วยความล้ำลึก ผมคิดว่า “การทิ้งความรับผิดชอบ” เป็นคำที่รุนแรงเกินไปเพราะมันทำให้เห็นถึงทัศนคติที่ไม่คิดและไม่สนใจใยดี ในความเป็นจริงแล้ว การอาศัยความล้ำลึกนั้นมักจะมาพร้อมกับทัศนะเชิงลึกทางศาสนศาสตร์ ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมาสองทศวรรษนั้น ผมเห็นใจกับความพยายามของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพในการทำความเข้าใจ “สิ่งที่ลึกลับและปิดซ่อนไว้” ของพระเจ้า (เปรียบเทียบดาเนียล 2:22) แม้ว่าตัวผมเองจะไม่เคยใช้ความล้ำลึกเพื่ออธิบายความไม่สามารถจะเข้าใจได้ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ตาม

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพให้ตรีเอกานุภาพอยู่ในวังเวียนของความล้ำลึก อยู่ในโลกของสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้ได้และยากจะหยั่งถึง แต่ความหมายของ “ความล้ำลึก” นี้ไม่ตรงตามพระคัมภีร์ ความล้ำลึกที่กล่าวในพระคัมภีร์ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีเหตุผลหรือสิ่งที่เกินความเข้าใจของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ก็เพียงเพราะเราขาดข้อมูลหรือการเปิดเผยที่สำคัญบางอย่าง ความหมายนี้มักจะเป็นจริงแม้ในการใช้ของทางโลก เช่น ความล้ำลึก หรือความลึกลับของการสร้างพีระมิด หรือความลึกลับที่ถูกสืบสวนสอบสวนโดยเชอร์ล็อก โฮล์ม[3] แต่เมื่อเขาไขปัญหาได้ มันก็ไม่เป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ “อ๋อ!” เข้าใจได้

      เราต้องจำไว้ว่า “ข้อความล้ำลึกแห่งแผ่นดินของพระเจ้า” ซึ่งปิดบังไว้ในอุปมาต่างๆของพระเยซูนั้น สามารถถูกเปิดเผยให้รู้ได้ง่ายๆด้วยการอธิบายความหมายของอุปมาต่างๆนั้น (มาระโก 4:11) จากนั้นก็เข้าใจได้แม้แต่กับชาวประมง

      ในทำนองเดียวกัน เปาโลกล่าวว่าเราจะเข้าใจความล้ำลึกได้กระจ่างชัด เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยสิ่งนั้นกับเราทรงให้ทุกคนเห็นว่า อะไรคือแผนงานของความล้ำลึกที่พระเจ้า​​ทรงปิดบังไว้ตลอดหลายยุคที่ผ่านมา” (เอเฟซัส 3:9) เปาโลปรารถนาจะ “ประกาศข้อล้ำลึกของพระคริสต์” ที่ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถเข้าใจได้ แต่ “เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประกาศเรื่องราวอย่างแจ่มชัดตามที่ควร[4] (โคโลสี 4:3-4) ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่สามารถจะเป็นจริงได้กับความล้ำลึกของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับพระคริสต์

      ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น ความล้ำลึกก็ยังคงเป็นความล้ำลึกแม้หลังจากได้รับคำอธิบายแล้วก็ตาม!  แต่ในพระคัมภีร์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พจนานุกรมพระคัมภีร์ต่อไปนี้ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเมื่อกล่าวว่า ความล้ำลึกไม่ใช่สิ่งที่ “ไม่สามารถพบคำตอบ” แต่เป็นสิ่งที่ “เมื่อถูกเปิดเผยก็เป็นที่รู้กันและเข้าใจได้ ไม่เป็นความลึกลับอีกต่อไป”

 

แต่ในขณะที่ “ความล้ำลึก” อาจหมายถึง และในการใช้ในปัจจุบันมักจะหมายถึงความลับที่หาคำตอบไม่ได้ นี่ไม่ใช่ความหมายของคำ mystērion ในภาษากรีกดั้งเดิมและภาษากรีกในพระคัมภีร์ ในพระคัมภีร์ใหม่ mystērion จะมีความ หมายว่า ความลับซึ่งกำลังจะเปิดเผยหรือได้ถูกเปิดเผย ซึ่งยังอยู่ในวิถีของพระเจ้าในการทำบางสิ่ง และพระเจ้าจะต้องเปิดเผยให้มนุษย์ได้รู้ทางพระวิญญาณของพระองค์ ดังนั้นคำนี้จึงใกล้เคียงมากกับคำ apokalypsis ในพระคัมภีร์ใหม่ที่หมายถึง “การเปิดเผย” (revelation) Mystērion เป็นความลับที่ชั่วคราว ซึ่งเมื่อถูกเปิดเผยให้รู้และเข้าใจ มันก็จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป (พจนานุกรมนิวไบเบิ้ล,[5] พิมพ์ครั้งที่ 3, “ความล้ำลึก”)

 

ความล้ำลึกตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ กับความล้ำลึกในดาเนียล

      สิ่งที่เป็นความจริงเกี่ยวกับความล้ำลึกในพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งจะเข้าใจได้เมื่อมีการอธิบายนั้นก็เป็นความจริงในพระคัมภีร์เดิมด้วย

      ในดาเนียลบทที่ 2 กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เป็นทุกข์กับสิ่งที่ฝันที่เรียกโดยรวมว่า “ความฝัน” พระองค์จึงทรงเรียกพวกโหร นักวิทยาคมและผู้มีเวทมนตร์คาถา ให้มาบอกพระองค์เรื่องความฝัน พวกเขาไม่สามารถบอกความฝันให้กับพระองค์ได้ พวกเขาจึงพูดว่า “ขอพระราชาทรงเล่าพระสุบินแก่บรรดาผู้รับใช้ของพระองค์ และเหล่าข้าพระบาทจะถวายคำแก้พระสุบิน” (ข้อ 7)

      เนบูคัดเนสซาร์มองเห็นข้ออ้างของพวกเขา และได้ทรงตัดสินที่จะให้พวกเขาตายหรือจะให้รางวัลพวกเขา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะสามารถบอกเรื่องความฝันและแก้ความฝันให้กับพระองค์ได้หรือไม่ พวกเขาทูลตอบว่า ไม่มีใครจะเปิดเผยความฝันให้รู้ได้ “นอกจากบรรดาพระผู้ไม่ได้อยู่กับมนุษย์” (ข้อ 11) กษัตริย์จึงกริ้วและมีรับสั่งให้ประหารพวกนักปราชญ์ทั้งหมดในราชอาณาจักรของพระองค์รวมทั้งดาเนียลและเพื่อนๆ ของเขาด้วย

      ดาเนียลและเพื่อนๆได้อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า คำอธิษฐานของพวกเขาได้รับคำตอบเมื่อ “คืนนั้นพระเจ้าทรงเปิดเผยความล้ำลึกนี้แก่ดาเนียลในนิมิต” (ข้อ 19) แล้วดาเนียลก็สรรเสริญพระเจ้า โดยกล่าวว่า “พระองค์ทรงเปิดเผยสิ่งที่ล้ำลึกและปิดซ่อนไว้” (ข้อ 22) และ “พระองค์ได้ทรงเปิดเผยความล้ำลึกของกษัตริย์แก่ข้าพระองค์” (ข้อ 23)

      จากนั้นเนบูคัดเนสซาร์ก็เรียกดาเนียลมาและถามเขาว่า “เจ้าสามารถบอกสิ่งที่เราฝันและแก้ฝันให้ได้หรือ?” (ข้อ 26) ดาเนียลทูลพระองค์ว่า เขาไม่สามารถทำได้ “แต่มีพระเจ้าองค์หนึ่งในฟ้าสวรรค์ผู้ทรงเปิดเผยสิ่งล้ำลึก และพระองค์ได้ทรงสำแดงให้กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์รู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคสุดท้าย” (ข้อ 28) ดาเนียลอธิบายว่าพระเจ้าเป็น “ผู้เปิดเผยความล้ำลึก” (ข้อ 29) และว่า “ความล้ำลึกนี้ได้ถูกเปิดเผยแก่ข้าพระบาทแล้ว” (ข้อ 30)

      จากนั้นดาเนียลก็ได้บรรยายถึงรูปปั้นขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยทองคำ เงิน ทองสัมฤทธิ์ เหล็กและดิน โดยที่ห้าส่วนประกอบนี้ถูกก้อนหินกระแทกแตกเป็นชิ้นๆ ซึ่งจะกลายเป็นภูเขามหึมาและเต็มแผ่นดิน “นี่คือความฝัน บัดนี้เราจะขอ​​ทูลคำแก้ฝัน​​ให้กษัตริย์ทรงทราบ” (ข้อ 36)

      จากนั้นดาเนียลได้กล่าวถึงราชอาณาจักรต่างๆ ของโลกที่กำลังจะปรากฏขึ้น ซึ่งจะถูกทำลายโดยราชอาณาจักรที่ตั้งมั่นเป็นนิตย์ เขาจบคำแก้ฝันของเขาด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ว่า “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ได้ทรงให้พระราชารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ความฝันนั้นเป็นจริง และคำแก้ฝันก็แน่นอน (ข้อ 45)

      แล้วกษัตริย์ก็ทรงก้มลงกราบคำนับดาเนียลและยอมรับว่า “แท้จริงแล้ว พระเจ้าของท่านทรงเป็นพระเจ้าเหนือพระทั้งหลาย ทรงเป็นองค์เจ้านายเหนือกษัตริย์ทั้งปวง และทรงเป็นผู้เปิดเผยความล้ำลึก เพราะท่านสามารถเปิดเผยความล้ำลึกนี้ได้” (ข้อ 47)

      ดังนั้นในหนังสือดาเนียลจึงมีความล้ำลึกที่เข้าใจได้ ซึ่งไม่เหมือนกับความล้ำลึกของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ จงสังเกตจำนวนที่มีมากกว่าของคำว่า “เปิดเผย” และ “บอก” และ “รู้ถึง” และ “เข้าใจ” ในดาเนียลบทที่ 2 ซึ่งตรงข้ามกับ “ไม่รู้ได้” และ “เกินความเข้าใจของมนุษย์” ในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      จนถึงทุกวันนี้ บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ยังไม่สามารถอธิบายเรื่องตรีเอกานุภาพให้สอดคล้องกันได้ แม้ว่าจะมีวาทกรรมทางศาสนศาสตร์มายาวนานถึงสิบหกศตวรรษก็ตาม และจะไม่มีการอธิบายในปีต่อๆไปข้างหน้า เพราะความล้ำลึกของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นไม่สามารถเข้าใจได้ในตัวเอง การถกเถียงเรื่องสภาวะเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่บรรดานักศาสนศาสตร์สมัยใหม่ก็ไม่เห็นด้วยกัน (เปรียบเทียบงานของไมเคิล แอล เคียอาโวน[6] ที่ระบุไว้ในบรรณานุกรม)

      ความล้ำลึกในพระคัมภีร์นั้นไม่สามารถจะเข้ากันได้กับความล้ำลึกของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ความชัดเจนกับความคลุมเครือ เหมือนเช่นกลางวันกับกลางคืนที่จะอยู่ตรงข้ามกันคนละขั้ว


[1] James White, The Forgotten Trinity, p.173

[2] โรเจอร์ อี โอลเซ่น และคริสโตเฟอร์ เอ ฮอลล์, ตรีเอกานุภาพ, ดับบลิวเอ็ม บี เอียร์ดแมนส์, แกรนด์ แรปิดส์ และ เคมบริดจ์, 2002, หน้า 1   ในผลงานที่สมบูรณ์ของออกัสตินในไอแพดของผม, “ความล้ำลึก” ถูกกล่าวถึงหลายครั้งเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพและการจุติมาเกิด

[3] Sherlock Holmes เป็นนักสืบในนิยายสืบสวนสอบสวนเขียนโดยเซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ผู้แปล)

[4] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

[5] New Bible Dictionary

[6] Michael L. Chiavone’s work