pdf pic

ภาคผนวก 8

 

 

 

ปัญหาที่แก้ไม่ตกในเรื่องศาสนศาสตร์

เกี่ยวกับพระคริสต์

ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

 

ในบันทึกต้นฉบับของอีริค ชาง ได้รวมบทความเรื่อง “พระเยซูเป็นพระเจ้าที่สมบูรณ์แบบและมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบในเวลาเดียวกันหรือ?” ซึ่งบอกไว้ว่าเอามาจากอินเทอร์เน็ต จะค้นหาบทความนี้ภายหลังได้ทางอินเทอร์เน็ตที่

      

          http://www3.sympatico.ca/shabir.ally/new_page_26

ต่อไปนี้เป็นข้อความที่ยกมาแบบคำต่อคำตามบทความเดิมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2013 แม้ว่าความคมชัดของแผนภาพที่มาพร้อมกับบทความต้นฉบับจะจางลงมาก แต่ได้ทำขึ้นใหม่ (โดยเบนท์ลี่ ชาน) ให้คมชัดมากขึ้น

เราจะไม่แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับบทความนี้ โดยจะให้ผู้อ่านสรุปความถูกต้องของบทความเอาเอง ที่รวมบทความไว้ที่นี่ก็เพื่อจุดประสงค์ในการเห็นมุมมองของมุสลิมเกี่ยวกับประเด็นนี้เท่านั้น

 

[เริ่มต้นบทความเดิมทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2013]

 

พระเยซูเป็นพระเจ้าที่สมบูรณ์แบบและมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบในเวลาเดียวกันหรือ?

      ามความเชื่อของคริสเตียนนิกายออร์โธดอกซ์แล้ว พระเยซูทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและพระเจ้าที่สมบูรณ์แบบในเวลาเดียวกัน ความเชื่อเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นกับความรอดตามหลักข้อเชื่ออธาเนเซียที่คริสเตียนส่วนใหญ่ยึดมั่น บรรดานักวิชาการคริสเตียนสมัยใหม่ต่างปฏิเสธความคิดเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะมันเข้าใจยาก แต่เพราะไม่สามารถสื่ออย่างมีความหมายได้ หลักคำสอนนี้ไม่สามารถกล่าวได้ในลักษณะที่ไม่มีความขัดแย้งกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูจะทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและพระเจ้าที่สมบูรณ์แบบในเวลาเดียวกัน เพราะนี่จะหมายความว่า พระองค์ทรงมีความจำกัดและมีความไม่จำกัดในเวลาเดียวกัน และพระองค์จะทรงผิดพลาดได้และจะผิดพลาดไม่ได้ในเวลาเดียวกัน นี่ไม่สามารถจะเป็นได้

      สิ่งที่หลักความเชื่อปฏิเสธก็ค่อนข้างสำคัญเช่นกัน หลักความเชื่อถูกกำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆของคริสเตียนยุคแรกๆ และรวมถึงข้อย่อยที่ปฏิเสธความเชื่อของกลุ่มเหล่านั้นด้วย เพื่อตอบโต้ผู้เชื่อตามแบบเอเรียสที่เชื่อว่าพระเยซูไม่ใช่พระเจ้า สภาสังคายนาแห่ง   ไนเซีย (ค.ศ. 325) จึงกำหนดว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ เพื่อตอบโต้ผู้เชื่อตามแบบ อโพลลินาริส[1]ที่เชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าแต่ไม่ใช่มนุษย์อย่างสมบูรณ์ สภาสังคายนาแห่งคอน สแตนติโนเปิล (ค.ศ. 381) จึงกำหนดว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

      จากนั้นก็มีความเชื่อตามแบบเนสโตเรียส[2] เป็นความเชื่อที่เริ่มขึ้นเมื่อเนสโตเรียสปฏิเสธว่าไม่สามารถเรียกมารีย์ได้ว่าเป็น “พระมารดาของพระเจ้า” สำหรับเขาแล้ว มารีย์เป็นเพียงมารดาของพระเยซูที่เป็นมนุษย์เท่านั้น นี่บอกเป็นนัยว่ามีพระคริสต์สององค์คือ องค์หนึ่งเป็นพระเจ้า อีกองค์หนึ่งเป็นมนุษย์ สภาสังคายนาแห่งเอเฟซัส (ค.ศ. 431) ต่อต้านเนสโตเรียสโดยได้กำหนดว่า ไม่สามารถจะแยกสองสภาวะนี้ของพระเยซูออกจากกันได้ ทุกสิ่งที่พระเยซูทรงทำนั้น ทำโดยความเป็นมนุษย์และความเป็นพระเจ้าในตัวพระองค์ ในทำนองเดียวกัน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระองค์ ก็เกิดขึ้นกับทั้งมนุษย์และพระเจ้าที่พระองค์ทรงเป็น ดังนั้นมารีย์จึงได้ให้กำเนิดกับทั้งสองสภาวะ ทั้งสองสภาวะได้ตายบนไม้กางเขน ฯลฯ

      ยังมีอีกสภาหนึ่ง คือสภาสังคายนาแห่งแคลซีดอ[3] (ค.ศ. 451) ที่หลักข้อเชื่อได้ข้อสรุปสุดท้าย และหลักข้อเชื่ออธาเนเซีย[4]ก็ถูกประกาศให้เป็นคำสอนของคริสตจักรอย่างเป็นทางการ คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับความหมายอย่างละเอียดของหลักข้อเชื่อนี้ และในความคิดของพวกเขาเองก็เข้าใจเกี่ยวกับพระเยซูในแบบที่ความเชื่อนั้นถูกกำหนดให้ปฏิเสธ แนวโน้มเช่นนี้เป็นผลมาจากข้อจริงที่ว่า คำนิยามของหลักความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ความคิดของมนุษย์คนไหนจะสามารถเข้าใจได้ เราทำได้แค่พูดคำเหล่านั้นซ้ำ แต่ไม่สามารถจะเข้าใจความหมายของความเชื่อที่กำหนดไว้ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงเพียงแค่พูดความเชื่อซ้ำจากปากของพวกเขา แต่ในใจของพวกเขาหันไปที่มุมมองเกี่ยวกับพระเยซูที่ยุ่งยากน้อยกว่าในความเข้าใจ ถึงแม้ว่ามุมมองเหล่านั้นจะถูกคริสตจักรประกาศว่านอกรีต

      หลักคำสอนดั้งเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้ตามหลักเหตุผล ดังที่ฮูสตัน สมิธ นักวิชาการด้านศาสนาเปรียบเทียบชี้ให้เห็นว่า มันคงเป็นไปไม่ได้ตามหลักเหตุผล หากหลักความเชื่อนี้ได้กล่าวเพียงว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าบางส่วนและเป็นมนุษย์บางส่วน แต่นี่คือสิ่งที่หลักความเชื่อปฏิเสธอย่างชัดเจน เพราะสำหรับคริสเตียนดั้งเดิมแล้ว พระเยซูจะมีคุณสมบัติของมนุษย์เพียงบางอย่างไม่ได้ พระองค์จะต้องมีทั้งหมด พระองค์จะต้องเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ในเวลาเดียวกันพระองค์จะมีคุณสมบัติของพระเจ้าเพียงบางอย่างไม่ได้ พระองค์จะต้องมีทั้งหมด พระองค์จะต้องเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้เพราะการเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์นั้นหมายความว่า พระองค์จะ ต้องปราศจากข้อจำกัดของมนุษย์ หากพระองค์มีข้อจำกัดของมนุษย์แม้เพียงข้อเดียว พระองค์ก็ไม่ใช่พระเจ้า แต่ตามหลักความเชื่อแล้ว พระองค์มีทุกข้อจำกัดของมนุษย์ ถ้าเช่นนั้นพระองค์จะเป็นพระเจ้าได้อย่างไร? ฮูสตัน สมิธเรียกสิ่งนี้ว่าความขัดแย้งที่โจ่งแจ้ง เขาเขียนในหนังสือเรื่องศาสนาต่างๆของโลก[5] ไว้ว่า

 

เราอาจเริ่มต้นด้วยหลักคำสอนเรื่องการจุติมาเกิด ซึ่งใช้เวลาหลายศตวรรษกว่าจะเข้าที่ การหยิบยกตามที่อ้างว่าในพระคริสต์นั้น พระเจ้าถูกทำให้เชื่อว่าทรงมีร่างกายมนุษย์ มันยืนยันว่าพระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ที่เป็นทั้งพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และมนุษย์อย่างสมบูรณ์ในเวลาเดียวกัน ที่จะกล่าวว่าการโต้เถียงดังกล่าวขัดแย้งกันนั้น ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ใจกว้างในการอธิบายเรื่องนี้ มันดูเป็นความขัดแย้งที่ชัดเจนมากกว่า หากหลักคำสอนนี้อ้างว่าพระคริสต์ทรงเป็นมนุษย์ครึ่งหนึ่งและเป็นพระเจ้าครึ่งหนึ่ง หรือว่าพระองค์เป็นพระเจ้าในบางแง่มุม ในขณะที่เป็นมนุษย์ในอีกแง่มุม ใจของเราก็จะไม่คัดค้าน (ศาสนาต่างๆของโลก, หน้า 340)

 

      ถ้ามีการกล่าวว่า พระเยซูทรงเป็นมนุษย์บางส่วนและเป็นพระเจ้าบางส่วน ซึ่งไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ตามหลักเหตุผล แต่เป็นไปไม่ได้ตามพระคัมภีร์เท่านั้น ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่สอนว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าในทางใดเลย ยิ่งกว่านั้น หากพระองค์เป็นพระเจ้าเพียงบางส่วน พระองค์ก็ไม่ใช่พระเจ้าที่เที่ยงแท้องค์เดียวของพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ พระเจ้าทรงเต็มด้วยฤทธานุภาพทั้งสิ้น ไม่ใช่เต็มด้วยฤทธานุภาพเพียงบางส่วน พระเจ้าทรงรอบรู้ทุกสิ่ง ไม่ใช่รอบรู้เพียงบางส่วน

      ซี แรนดอล์ฟ รอส เป็นคริสเตียน ในหนังสือของเขาที่ชื่อสามัญสำนึกของคริสต์ศาสนา[6] ที่เขาหักล้างมุมมองดั้งเดิม “ไม่ใช่เพราะเข้าใจยาก” เขากล่าวว่าแต่เพราะ “มันไม่สามารถพูดได้อย่างมีความหมาย” เขาปฏิเสธมัน เขาบอกว่าเพราะ “มันเป็นไปไม่ได้” (สามัญสำนึกของคริสต์ศาสนา, หน้า 79) ข้อโต้แย้งของเขาโน้มน้าวใจมาก จนทำให้ผมสามารถทำได้ดีกว่าแค่พูดคำเหล่านั้นซ้ำ การเป็นมนุษย์หมายถึงการถูกจำกัด ขาดความรู้ มีแนวโน้มที่จะผิดพลาด ไม่สมบูรณ์แบบ การเป็นพระเจ้านั้นหมายถึงสิ่งตรงกันข้ามกันคือ ไม่ถูกจำกัด มีความรอบรู้ครบถ้วน ไม่ผิดพลาด สมบูรณ์แบบ    คุณไม่สามารถจะมีทั้งสองทางได้ คุณไม่สามารถจะพูดถึงคนหนึ่งว่าเขาเป็นทั้งสองอย่าง เขาจะต้องเป็นคนนั้น หรือไม่ก็เป็นอีกคนหนึ่ง

 

นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งกันเอง

      สำหรับคนที่พูดว่านี่เป็นความขัดแย้งกันเอง รอสตอบไว้ดีมากว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าอะไรคือความขัดแย้งกันเอง ความขัดแย้งกันเองเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้แต่สามารถถูกแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงได้ ในทางกลับกันนั้น คำกล่าวเกี่ยวกับหลักความเชื่ออาจดูเหมือนเป็นความจริงสำหรับบางคน แต่หลักเหตุผลแสดงให้เห็นว่ามันเป็นความเท็จ รอสโต้แย้งด้วยตัวอย่างที่ทำให้ประเด็นนี้สั้นกระชับดังนี้

 

บางคนจะพูดว่า “อ๊ะ! นั่นเป็นความขัดแย้งกันเอง!” ไม่ใช่เลย มันไม่ใช่ความขัดแย้งกันเอง นี่เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ดังนั้นขอให้สังเกตเป็นพิเศษว่า ความขัดแย้งกันเองเป็นสิ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถูกแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงได้ ดังนั้นมันจึงเป็นความขัดแย้งกันเองเมื่อนักวิทยาศาสตร์บางคนได้วิเคราะห์แมลงภู่อย่างละเอียดและสรุปว่าตามกฎของฟิสิกส์แล้ว พวกมันไม่สามารถจะบินได้ มันมีความขัดแย้งและความเป็นไปไม่ได้ที่เห็นได้ชัด แต่แมลงภู่ก็ยังคงบินอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนๆเดียวที่มีทั้งสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นสิ่งที่กลับกันกับสิ่งนี้ คือมันอาจดูเหมือนเป็นจริงสำหรับบางคน แต่มันเป็นไปไม่ได้อย่างเห็นได้ชัด และไม่ใช่แค่เป็นไปไม่ได้ตามความเข้าใจของเราเกี่ยวกับกฎของธรรมชาติซึ่งอาจผิดได้ (เหมือนเช่นแมลงภู่) แต่เป็นไปไม่ได้ตามกฎของหลักเหตุผลซึ่งเป็นพื้นฐานของการให้เหตุผลทั้งหมดของเรา (หน้า 82)

 

      ผมขออธิบายเพิ่มเติมประเด็นสุดท้ายนี้ การสังเกตและการวิเคราะห์ของมนุษย์อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นี่เป็นกรณีของนักวิทยาศาสตร์ที่คิดว่า ตามกฎของฟิสิกส์แล้ว แมลงภู่ไม่สามารถจะบินได้ ข้อบกพร่องในกระบวนการของเขาก็คือว่า ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับกฎของธรรมชาตินั้นจะมีการพัฒนาขึ้นเสมอ ความรู้ใหม่มักจะประกาศว่าความรู้เก่าเป็นความเท็จ แต่ด้วยหลักของเหตุผลแล้ว สิ่งต่างๆนั้นจะแตกต่างกัน สิ่งที่เป็นจริงตามคำนิยามจะยังคงเป็นจริงเสมอ เว้นแต่ว่าเราจะเริ่มนิยามสิ่งต่างๆเสียใหม่ ตัวอย่างเช่น 2+2 =4 สมการนี้จะยังคงเป็นจริงเสมอ มีวิธีเดียวที่สมการนี้จะกลายเป็นเท็จได้ก็คือ ถ้าเราตัดสินใจที่จะเปลี่ยนคำนิยามของส่วนประกอบต่างๆ ทีนี้โดยคำนิยามแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะไม่สามารถเป็นตรงกันข้ามกับตัวมันเองได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่สามารถจะสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบในเวลาเดียวกันได้ การมีอยู่ของหนึ่งในคุณสมบัติเหล่านี้บ่งบอกถึงการไม่มีอยู่ของคุณสมบัติอีกอย่าง พระเยซูทรงเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง พระองค์ไม่สามารถจะเป็นทั้งสองอย่างตามหลักเหตุผลได้ รอสพูดได้ดีมากในเรื่องนี้

 

การจะบอกว่าใครบางคนสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบ ก็เหมือนกับการบอกว่า คุณเห็นวงกลมสี่เหลี่ยมจัตุรัส นี่คือความเป็นไปไม่ได้ คุณกำลังบอกว่าวงกลมไม่ได้กลม ซึ่งในกรณีนี้มันไม่ใช่วงกลมอย่างนั้นหรือ? หรือคุณกำลังจะบอกว่าสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้มันกลมหรือ? นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งกันเอง นี่เป็นเรื่องไร้สาระที่ไร้ความหมาย แม้อาจเป็นจินตนาการก็ตาม (หน้า 82)

 

      เพื่อทำให้ประเด็นนี้ชัดขึ้นอีก ผมจึงพยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่สามารถและไม่สามารถพูดเกี่ยว กับพระเยซูได้ตามหลักความเชื่อนี้ ในแผนภาพด้านล่าง เราจะเห็นรูปที่กลมบ้างและสี่เหลี่ยมจัตุรัสบ้าง มันนอกรีตนอกรอยที่จะกล่าวว่า พระเยซูทรงเป็นมนุษย์อยู่บ้างและเป็นพระเจ้าอยู่บ้าง แม้แต่ตัวอย่างที่รวมวงกลมและสี่เหลี่ยมจัตุรัสเข้าด้วยกัน โดยที่อันหนึ่งอยู่ข้างในอีกอันหนึ่งก็ใช้ไม่ได้ เพราะในแต่ละกรณี จะมีวัตถุสองอย่างที่แยกกันอย่างชัดเจน ความเชื่อแบบดั้งเดิมจะไม่ยอมให้ทำแบบนี้กับสองสภาวะของพระเยซู เพื่อให้เป็นตามข้อเรียกร้องของความเชื่อแบบดั้งเดิม เราจะต้องหาวัตถุที่เป็นวงกลมและสี่เหลี่ยมจตุรัสในเวลาเดียวกัน ตามคำนิยามแล้ว วัตถุดังกล่าวไม่สามารถมีจริงได้ (ดูแผนภาพประกอบ)

 

 

 

TOPM2 8 5 copy

 

      ความยากไม่ได้อยู่ที่การเชื่อในสิ่งที่หลักความเชื่อกล่าวไว้ ปัญหาอยู่ที่ว่าโดยทั่วไปแล้วหลักความเชื่อไม่ได้พูดอะไร เมื่อมีคนบอกเราถึงสองสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน ถ้าเช่นนั้นเราจะเชื่ออะไร? รอส กล่าวไว้ดีมากว่า

 

การพูดว่าคนๆนั้นสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบในเวลาเดียวกันก็คือการพูดว่า “X” และ “ไม่ใช่ X” สามารถเป็นจริงได้ทั้งคู่ นี่ถ้าไม่เป็นการยกเลิกความหมายของคำเหล่านี้ ก็เป็นการยกเลิกหลักเหตุผล และไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน นี่จะหมายความว่าเรากำลังพูดเรื่องไร้สาระที่ไม่อาจมีความหมายสำหรับเรา (หน้า 82)

 

      ความเชื่อแบบดั้งเดิมกล่าวว่า พระเยซูไม่ได้สมบูรณ์แบบด้านสภาวะมนุษย์ของพระองค์ แต่สมบูรณ์แบบด้านสภาวะพระเจ้าของพระองค์ ปัญหาของมุมมองนี้ก็คือว่า มันหมายถึงการดำรงอยู่ของสองบุคคลที่อยู่ในกายเดียวกันของพระเยซู ที่คนหนึ่งสมบูรณ์แบบ อีกคนหนึ่งไม่สมบูรณ์แบบ คุณต้องมีสองจิตใจ สองใจปรารถนา สองบุคลิก แต่หลักความเชื่อไม่ยอมรับการสรุปที่สำคัญนี้และยืนกรานว่าพระเยซูไม่ได้เป็นสองบุคคล แต่เป็นบุคคลเดียวเท่านั้น ตอนนี้บุคคลเดียวนี้จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบหรือไม่ก็ไม่สมบูรณ์แบบ ผิดพลาดไม่ได้หรือไม่ก็ผิดพลาดได้ ไม่ถูกจำกัดในความรอบรู้หรือไม่ก็ถูกจำกัดในความรู้ คุณจะไม่สามารถพูดถึงบุคคลเดียวกันว่าเขามีทั้งสองอย่าง

      เมื่อพระเยซูทรงเผชิญกับความตายบนไม้กางเขนตามความเชื่อของคริสเตียนนั้น ถ้าพระองค์ไม่ได้เผชิญกับความตายด้วยความเชื่อของมนุษย์ว่า พระองค์จะถูกทำให้เป็นขึ้นมาในวันที่สามละก็ พระองค์ก็เผชิญกับความตายด้วยความรู้ที่ไม่ผิดพลาดว่า พระองค์จะถูกทำให้เป็นขึ้นมาเช่นกัน ถ้าพระองค์เชื่อด้วยความเชื่อของมนุษย์ในฤทธานุภาพของพระเจ้าที่ทำให้พระองค์เป็นขึ้น ตัวพระองค์เองก็ไม่ใช่พระเจ้า ในทางกลับกัน ถ้าพระองค์เผชิญกับความตายด้วยความรอบรู้ที่ไม่ผิดพลาดของพระเจ้าว่าพระองค์จะถูกทำให้เป็นขึ้นจากความตาย พระองค์ก็ไม่ได้มีความเสี่ยงใดๆจริงๆที่จะให้ตัวพระองค์เองตาย ถ้าสภาวะพระเจ้าในพระองค์รู้อยู่ว่าพระองค์จะถูกทำให้เป็นขึ้น แต่พระองค์ไม่ได้รู้เรื่องนี้ นั่นก็ไม่ใช่สภาวะพระเจ้าของพระองค์ ถ้าสภาวะพระเจ้าของพระองค์รู้บางสิ่งที่พระองค์ไม่รู้ เราก็จะกลับมาที่เรื่องมีสองบุคคล

      สิ่งนี้อาจอธิบายได้ยากขึ้นเมื่อเราดูสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำที่ได้บันทึกไว้ในพระกิตติคุณและถามว่าเป็นสภาวะพระเจ้าหรือสภาวะมนุษย์ หรือทั้งสองสภาวะที่กระทำสิ่งเหล่านั้น ให้เราพิจารณาตอนที่พระเยซูทรงสาปต้นมะเดื่อ เริ่มด้วยเรื่องราวตามที่ปรากฏในมาระโก

 

ขณะออกจากหมู่บ้านเบธานีพระเยซูทรงหิว  พระองค์ทรงเห็นต้นมะเดื่อใบดกแต่ไกลก็เสด็จเข้าไปดูว่ามีผลหรือไม่ เมื่อพระองทรงพบว่ามีแต่ใบไม่มีผล เพราะยังไม่ถึงฤดูออกผล  พระองค์จึงตรัสแก่ต้นมะเดื่อนั้นว่า “ตั้งแต่นี้ไปจะไม่มีใครได้กินผลจากเจ้าอีก” (มาระโก 11:12-14 ฉบับ NIV)

 

      ด้วยเหตุนี้ ต้นมะเดื่อจึงเหี่ยวเฉาไปจนถึงราก (ข้อ 20) มีบางสิ่งที่ชัดเจนในตอนนี้

1. พระเยซูไม่ได้ทรงทราบว่าต้นมะเดื่อนี้ไม่มีผลจนเมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ต้นและพบว่ามีแต่ใบ

2. เมื่อพระเยซูทรงเห็นใบจากระยะไกล พระองค์ทรงหวังว่าจะพบผลบนต้นมะเดื่อ

3. มันไม่ใช่ฤดูมะเดื่อออกผล และนี่คือสาเหตุที่ต้นไม่มีผลมะเดื่อ ข้อสังเกตนี้จากมาระโกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นต้นมะเดื่อที่สมบูรณ์ดี หากเป็นต้นที่ไร้ผล ข้อสังเกตของมาระโกเกี่ยวกับฤดูออกผล ก็คงไร้ความหมายและทำให้เข้าใจผิด

4. พระเยซูไม่ได้ทรงรู้ว่าไม่ใช่ฤดูมะเดื่อ หากพระองค์ได้ทรงรู้อย่างนี้ พระองค์ก็คงไม่ทรงคาดหวังให้ต้นมะเดื่อมีผล และพระองค์ก็จะไม่สาปต้นมะเดื่อนั้นที่ไม่มีผล

5. เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อพระเยซูทรงรู้สึกหิว

 

      ตอนนี้เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจว่าพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ทรงรู้สึกหิว และพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ไม่ได้ทรงรู้ว่ามันไม่ใช่ฤดูมะเดื่อ จึงทรงคาดผิดว่าต้นมะเดื่อจะมีผล พระเยซูผู้เป็นพระเจ้าจะต้องรู้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และไม่ต้องเสด็จไปที่ต้นนี้ที่จะพบว่ามันไม่มีผลเลย พระองค์ไม่น่าจะทรงหิวตั้งแต่ต้น

ตอนนี้การสาปต้นมะเดื่อจะเป็นเรื่องยากขึ้นหน่อยสำหรับผู้ที่ยืนยันความเป็นพระเจ้าของพระเยซู พวกเขาบอกว่า การทำอัศจรรย์ต่างๆของพระองค์นั้น ทำโดยสภาวะพระเจ้าของพระองค์ เอาล่ะ พระเยซูผู้เป็นพระเจ้าทรงสาปต้นมะเดื่อ แต่ทรงสาปทำไมหรือ? ทำไมจึงทรงทำลายต้นมะเดื่อซึ่งในมุมมองของมาระโกแล้วมันเป็นต้นที่สมบูรณ์ดี? เมื่อถึงฤดูมะเดื่อ ต้นนี้ก็คงจะออกผลและคนอื่นๆก็จะกินได้ เหตุผลก็คือว่าพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ทรงทำผิดพลาด แต่ทำไมพระเยซูผู้เป็นพระเจ้าจึงทรงทำตามความผิดพลาดของพระเยซูผู้เป็นมนุษย์? จิตใจมนุษย์ในพระเยซูเป็นผู้ชี้นำสภาวะพระเจ้าในพระองค์หรือ? จริงๆแล้วไม่มีการรับรองความคิดทั้งหมดนี้ เพราะไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่บอกว่าพระเยซูทรงมีสองสภาวะ ผู้ที่ต้องการจะเชื่อในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพระคัมภีร์ว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ แต่ก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์นั้น ก็สามารถคิดต่อไปได้

      บางคนจะบอกว่า ทุกอย่างเป็นไปได้โดยพระเจ้า และเรากำลังใช้คำตรงนี้ด้วยความหมายของมนุษย์ของพวกเขา นี่เป็นความจริง ทุกสิ่งเป็นไปได้โดยพระเจ้า เราเชื่ออย่างนั้น ถ้าคุณบอกผมว่า พระเจ้าทรงทำเช่นนั้นเช่นนี้ และพระองค์ทรงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ผมไม่สามารถพูดได้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคุณพูดว่า “พระเจ้าได้ทรงทำและไม่ได้ทรงทำ” หรือ “พระองค์ทรงเป็นและไม่ได้ทรงเป็น?” คำพูดของคุณก็ไม่มีความหมาย เมื่อคุณพูดว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ในเวลาเดียวกัน คุณกำลังพูดสองสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน ดังนั้นผมจึงตอบว่า “เป็นไปไม่ได้!”

      ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการในที่นี้ก็คือ การได้ยินคำพูดซึ่งมีความหมาย หากคุณคิดว่าคำเหล่านั้นมีความหมายที่แตกต่างหรือลึกซึ้งกว่านั้น เมื่อคุณนำมาใช้กับพระเจ้า ผมก็อดเห็นด้วยกับคุณไม่ได้ แต่ผมอยากรู้ว่าคุณกำลังใช้คำเหล่านี้ในความหมายใด รอสอธิบายว่า

 

หากคุณต้องการจะนิยามบางคำเหล่านี้เสียใหม่ก็ทำได้ ตราบใดที่คุณสามารถบอกความหมายใหม่ที่คุณกำลังใช้กับเราได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ตามปกติดูเหมือนจะบอกว่า แม้ว่าใครคนนั้นไม่สามารถจะพูดได้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่าความหมายใหม่เหล่านี้คืออะไร แต่คนนั้นก็ยังแน่ใจว่าความหมายเหล่านั้นเข้ากันได้ดีในลักษณะที่สมเหตุสมผล แน่นอนว่านี่เป็นเพียงความพยายามที่จะบ่ายเบี่ยงข้อกำหนดของหลักเหตุผล แต่ถ้าคุณไม่รู้ความหมายของคำเหล่านี้ที่คุณกำลังใช้กับพระเยซู คุณก็แค่กำลังพูดว่า “พระเยซูเป็น X” และ “พระเยซูเป็น YX และ Y เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้จัก แน่นอนว่านี่ไม่ได้บอกอะไรเลย (หน้า 83)

 

      ผลจากความสับสนนี้ คริสเตียนจำนวนมากจึงกลับไปที่ความคิดที่ว่า พระเยซูทรงมีสองสภาวะที่แยกกัน บางครั้งพระองค์ก็ทำตัวเป็นมนุษย์และบางครั้งก็ทำตัวเป็นพระเจ้า แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระคัมภีร์ และมันคงจะฉลาดกว่าที่จะเปลี่ยนไปที่มุมมองของพระคัมภีร์ว่า พระเยซูทรงเป็นมนุษย์ และทรงเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า (ดูมัทธิว 12:18, กิจการ 3:13, กิจการ 4:27[7] ในพระคัมภีร์ฉบับรีไวซ์แสตนดาร์ด[8])

 

[จบส่วนที่ตัดตอนมาจากบทความในอินเทอร์เน็ต]


[1] Arians; Apollina­rians

[2] Nestorianism

[3] Council of Chalcedon (A.D. 451)

[4] Athanasian Creed

[5] Huston Smith: The World’s Religions

[6] C. Randolph Ross: Common Sense Christianity

[7] กิจการ 3:13 พระเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ซึ่งเป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษของเรา ได้ประทานพระเกียรตินี้แด่พระเยซูผู้รับใช้ของพระองค์ พระเยซูผู้ที่ท่านทั้งหลายมอบไว้และปฏิเสธต่อหน้าปีลาต แม้ว่าปีลาตตั้งใจจะปล่อยพระองค์ไป

[8] Revised Standard Version