บทที่ 11
การไตร่ตรองมากขึ้น
เกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ
ในหนังสือเล่มก่อนของผมที่ชื่อพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว พูดถึงเรื่องความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ และเนื้อหาส่วนใหญ่มีความแตกต่างกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ สิ่งที่ผมต้องพูดส่วนใหญ่เกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ได้พูดครอบคลุมอยู่ในหนังสือเล่มนั้นแล้วและในบทก่อนๆของหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะในบทที่เกี่ยวกับสี่เสาหลักของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ในบทนี้ผมจะไตร่ตรองอีกสองสามสิ่งเกี่ยวกับคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ
คริสตจักรใช้เวลานานแค่ไหน ในการเปลี่ยนจากความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวที่แท้จริง ไปเป็นความเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ของคนนอกศาสนา?
บรรดานักวิชาการพูดถึง “การแยกทางกัน” ระหว่างคริสตจักรกับศาสนายิวว่าประมาณปี ค.ศ.135 นั่นก็คือ ในช่วงเวลาที่บาร์คัคบา[1]ล้มเหลวในการต่อต้านการปกครองของโรมัน เป็นการจราจลที่น่าเศร้าที่ได้รับพระพรจากรับบีอคีบา[2]ผู้มีชื่อเสียง แต่ “การแยกทางกัน” นี้โดยหลักแล้วเป็นวิธีที่เหมาะในทางประวัติศาสตร์ในการอ้างถึงการแยกคริสตจักรออกจากศาสนายิว ผลที่น่าเศร้าก็คือ ไม่นานหลังจากนั้น คริสตจักรก็ขาดการติดต่อกับรากเหง้าของชาวยิว โดยเฉพาะกับการยึดมั่นในความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวของชาวยิว
แต่ก่อนที่จะแยกทางกันนั้น ความเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ของคนนอกศาสนาได้เริ่มมีอิทธิพลแล้วกับคำสอนของพระกิตติคุณในเกือบจะทันทีที่พระกิตติคุณตกลงบนดินของคนนอกศาสนา สัญญาณเริ่มต้นของกระบวนการนี้เห็นได้ในหนังสือกิจการ ในช่วงเริ่มต้นพันธกิจของเปาโลกับบารนาบัสในการประกาศข่าวประเสริฐนั้น พวกเขายึดมั่นในหลักการ “ประกาศกับพวกยิวก่อน” แต่เมื่อพวกยิวปฏิเสธคำสอนของพวกเขา พวกเขาจึงแจ้งกับพวกยิวว่าตั้งแต่นี้ไป พวกเขาจะหันไปประกาศข่าวประเสริฐกับคนต่างชาติ (13:46) แต่ในกิจการ 14:1 เราพบว่าพวกเขาก็ประกาศกับพวกยิวอีก คราวนี้ประกาศในธรรมศาลาในอิโคนียูม คำสั่งสอนของพวกเขาได้ทำให้เกิดการมุ่งปองร้ายจากทั้งพวกยิวและพวกต่างชาติจนเปาโลกับบารนาบัสต้องหนีไปเมืองลิสตรา (14:5-6) ในเมืองลิสตรานี่เองเปาโลได้รักษาชายคนหนึ่งที่เป็นง่อยมาตั้งแต่กำเนิด (ข้อ 10) การรักษาได้ดึงความสนใจของผู้คน แต่ไม่ใช่แบบที่เปาโลยินดี เพราะพวกเขาไม่ได้รีรอที่จะกราบไหว้บารนาบัสเป็นพระซุส และเปาโลเป็นพระเฮอร์เมส (ข้อ 12)
พระซุสไม่ใช่พระย่อยๆ ชาวกรีกบูชาให้เป็นบิดาแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย ในขณะที่เชื่อกันว่าพระเฮอร์เมสมีฤทธิ์อำนาจในการรักษา[3] จะเห็นได้ชัดว่าในสองคนนี้บารนาบัสดูแก่กว่า และอาจมีหนวดเคราเต็มคางจนทำให้เขาดูคล้ายกับพระซุสที่เห็นบนเหรียญหรือรูปปั้น ตรงกันข้ามกับพระเฮอร์เมสที่มักเป็นภาพที่ไม่มีหนวดเครา และนี่เข้ากับภาพลักษณ์ของเปาโลอย่างชัดเจน แม้แต่ปุโรหิตในวิหารของพระซุสก็เชื่อว่าบารนาบัสเป็นพระซุส จึงออกมาถวายเครื่องบูชาแก่เขา (ข้อ 13)!
ประเด็นก็คือว่า พวกต่างชาติในเมืองลิสตราซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของตุรกีในปัจจุบัน พวกเขาต่างเต็มใจอย่างยิ่งที่จะยกย่องบารนาบัสกับเปาโลและกราบไหว้พวกเขาเป็นเทพเจ้า ตอนนี้เราก็เข้าใจได้ว่าทำไมพวกต่างชาติจึงยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าได้ง่ายๆในประวัติศาสตร์ต่อมาและเชื่อในพระองค์ว่าเป็นพระเจ้า เหตุการณ์ในลิสตรานี้เกิดขึ้นก่อนมีการประชุมของพวกอัครทูต (กิจการ 15) ในกรุงเยรูซาเล็มราวปี ค.ศ. 60 ประมาณ 30 ปีหลังจากพันธกิจของพระเยซูในโลกนี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เมื่อถึงปลายศตวรรษที่สอง พวกผู้นำของคริสตจักรตะวันตกก็ได้ประกาศว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าแล้ว[4]
การยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งศตวรรษที่สี่นั้นอาจเป็นเพราะพวกยิวยังคงมีอิทธิพลค่อนข้างมากอยู่เป็นเวลานานในคริสตจักรตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงโรม และยังคงเป็นปากเสียงที่หนักแน่นให้กับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว พวกเขาเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ค่อยๆลดลงและในเวลาต่อมากลายเป็นเสียงส่วนน้อยอยู่ในคริสตจักรต่างๆ แต่กระนั้นก็ไม่อาจมองข้ามพวกเขาได้ เมื่อมาถึงปลายศตวรรษที่สามหรือต้นศตวรรษที่สี่ ชาวยิวก็ไม่ได้เป็นปากเสียงให้กับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวในคริสตจักรตะวันตกอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ข้อเสนออย่างอาจหาญของคริสเตียนที่เชื่อในพระเจ้าหลายองค์ของคนนอกศาสนาจึงปรากฏให้เห็นในหลักข้อเชื่อไนเซีย[5] ค.ศ. 325 และหลักข้อเชื่อไนซีโน-คอนสแตนติโนโปลิแทน[6] ค.ศ. 381 ในขณะที่ยืนหยัดกับความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวพอเป็นพิธีและเป็นเพียงในนามนั้น ในความเป็นจริงแล้วหลักข้อเชื่อเหล่านี้กำลังประกาศคำบิดเบือนเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวในพระคัมภีร์
การใช้ “พระเจ้าพระบุตร” ผิดสมัย
พระเยซูไม่ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าเท่าเทียมกับพระเจ้าพระบิดาจนกระทั่งการประชุมสภาสังคายนาแห่งไนเซียในปี ค.ศ. 325 ดังนั้นหลังจากการประชุมสภาสังคายนาแห่งไนเซียนี่เองที่พระเยซูจึงถูกพูดถึงอย่างเป็นทางการว่า “พระเจ้าพระบุตร” ซึ่งกลับกันกับ “พระบุตรของพระเจ้า” ในพระคัมภีร์ ฉะนั้นการใช้คำว่า “พระเจ้าพระบุตร” ในช่วงเวลาใดก่อนการประชุมสภาสังคายนาแห่งไนเซียก็จะผิดสมัย นอกจากนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ถูกประกาศให้เท่าเทียมกันกับพระบิดาและพระบุตรจนอีกครึ่งศตวรรษต่อมาในปี ค.ศ. 381 โดยพวกบาทหลวงที่สภาสังคายนาแห่งคอนสแตนติโนเปิลครั้งที่หนึ่ง โดยมีจักรพรรดิโรมันอีกองค์ที่ชื่อธีโอโดเซียสที่ 1[7] เป็นผู้เรียกประชุม ยิ่งกว่านั้นก็ยังออกข้อบังคับให้ศาสนาคริสต์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นของจักรวรรดิโรมัน เนื่องจากความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้ถูกตั้งขึ้นตามหลักการและอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี ค.ศ. 381 การใช้คำ “ตรีเอกานุภาพ” กับพระคัมภีร์ใหม่จึงผิดสมัยเช่น เดียวกัน
การที่เราจะศึกษาเกี่ยวกับพระเยซูของพระคัมภีร์ใหม่นั้นหมายความว่าอะไร? ความพยายามใดๆที่จะทำการศึกษาเปรียบเทียบพระคริสต์ของพระคัมภีร์ใหม่กับพระคริสต์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ผู้ที่ไม่มีใครในช่วงสมัยพระคัมภีร์ใหม่เคยได้ยินมาก่อน ซึ่งได้มีขึ้นอย่างเป็นทางการในอีก 300 ปีต่อมานั้น จะเป็นการดำเนินการผิดสมัยที่ไม่สมเหตุสมผล อะไรคือรากฐานในการเปรียบ เทียบพระคริสต์ของพระคัมภีร์ใหม่กับพระคริสต์ที่ถูกยกขึ้นเป็นพระเจ้าของคริสตจักรตะวันตกที่พูดภาษากรีกในราว 300 ปีต่อมา? เป็นไปได้อย่างไรหรือที่พระคริสต์ผู้ทรงถูกปั้นแต่งขึ้นหลายศตวรรษหลังจากพระคัมภีร์ใหม่นั้น จะถูกเปรียบเทียบอย่างเชื่อถือได้กับพระคริสต์ที่มหัศจรรย์และมีหนึ่งเดียวที่เปิดเผยให้เห็นในพระคัมภีร์ใหม่?
สิ่งที่เราซึ่งรวมทั้งตัวผมได้ทำเมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นานหลายสิบปีก็คือ การค้นหาความเชื่อถือได้หรือการยืนยันบางอย่างในพระคัมภีร์ใหม่ให้กับพระคริสต์ของศตวรรษต่อมาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่ “หลักฐาน” ของพระคัมภีร์ใหม่ที่เราใช้เพื่อสนับสนุนพระคริสต์ตามแบบความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่มาภายหลังนานมากนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นหลักฐานที่ไม่เพียงพอและฟังไม่ขึ้นอย่างมากในทางการตีความที่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าต้องประกาศต่อสาธารณชนตามจิตสำนึกผิดชอบว่า พระคริสต์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นพระคริสต์ที่ผิดไปจากพระคัมภีร์ บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมักพูดซ้ำๆมาตลอด กับข้อพระคัมภีร์ไม่กี่ตอนมาสนับสนุน เช่น ยอห์น 1:1-18, ฟีลิปปี 2:6-11 และมีข้ออื่นอีกเล็กน้อยในพระคัมภีร์ใหม่ที่สามารถช่วยพวกเขาได้ยามคับขัน
แม้ว่านี่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเราที่สนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างกระตือรือร้นมาตลอดชีวิตส่วนใหญ่ของเรา แต่ถึงเวลาแล้วที่เราจะตระหนักว่าหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นผิด และซ้ำร้ายกว่านั้นที่หลักคำสอนนี้ยังได้ปกปิดพระเกียรติสิริของพระคริสต์ตามพระคัมภีร์ ในลักษณะที่อาจทำให้ความรอดของเราตกอยู่ในความเสี่ยง
ผลร้ายอีกประการหนึ่งของข้อเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ มันได้กีดกัน ไม่ให้ความสำคัญ และกำจัดพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียวของพระคัมภีร์ออกไปอย่างแท้จริง จนคริสเตียนส่วนใหญ่แทบไม่มีใครรู้ว่าพระยาห์เวห์เป็นใคร แต่ตรงกันข้ามกับคนยิวเมื่อพูดถึงพระเจ้าว่า อาโดนาย (Adonai)[8] นั้น เขารู้ว่าเขากำลังหมายถึงพระยาห์เวห์ (YHWH) เขาอาจไม่แน่ใจกับการออกเสียงที่ถูกต้องของ YHWH แต่เขารู้ว่าพยัญชนะสี่ตัวนี้แทนชื่อของพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว แต่คริสเตียนคิดไม่ออกเลยว่าพระบิดาเป็นใคร เพราะตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว พระเจ้าพระบิดาไม่ได้เป็นพระเจ้าเดียวและเพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่เป็นหนึ่งในสามพระองค์ของพระเจ้าตรีเอกานุภาพ และเพราะฉะนั้นจึงมีอัตลักษณ์ที่คลุมเครือและไม่มีใครรู้จักโดยทั่วไป
ทำไมจึงเป็นพระเจ้าที่มีสามพระภาค?
การมีพระเจ้าที่มีสามพระภาคหมายความว่าอะไรหรือ? พระเจ้าที่เปิดเผยไว้ในพระคัมภีร์นั้น ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง สถิตอยู่ทั่วไปในทุกที่ ทรงมีอำนาจทุกอย่าง และทรงดำรงนิรันดร์ แล้วบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็เข้ามาและประกาศว่ามีสามพระองค์ดังกล่าว ไม่สิ ที่จริงพวกเขาประกาศว่ามีสองพระองค์ แล้วต่อมาจึงมีสามพระองค์ สิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงต้นของประวัติศาสตร์คริสตจักรสืบเนื่อง จากอิทธิพลของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ของชาวกรีกและชาวโรมันที่กราบไหว้เทพเจ้ามากมาย ตามหลักเกณฑ์ในการเชื่อพระเจ้าหลายๆองค์ของพวกเขาแล้ว พระเยซูทรงมีคุณสมบัติอย่างเด่นชัดที่จะเป็นพระเจ้า ดังนั้นในการสังคายนาแห่งไนเซียในปี ค.ศ. 325 พวกเขาจึงได้ยกพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าอย่างเป็นทางการ ก่อนจะถึงจุดนั้นคริสตจักรโดยรวมได้ดำเนินมาโดยมีพระเจ้าพระองค์เดียว แต่ตอนนี้พวกเขามีสองพระองค์ อีกสองสามทศวรรษต่อมา พวกเขาก็ตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้รวม “พระเจ้าพระวิญญาณ” เข้าไปด้วย ดังนั้นในการสังคายนาแห่งคอนสแตนติโนเปิล พวกเขาจึงได้รวมพระวิญญาณให้เป็นพระเจ้าพระองค์ที่สาม จงสังเกตว่านี่เป็นการตัดสินใจของสภาสังคายนา! ดังนั้นเราจึงกำลังพูดถึงพระเจ้าที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่พระเจ้าในพระคัมภีร์
อะไรคือจุดประสงค์ของการยกผู้ที่ถูกเรียกว่า “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” (1 ทิโมธี 2:5) ขึ้นเป็นพระเจ้า? ถ้าพระเจ้าก็ทรงมีอำนาจทุกอย่างอยู่แล้ว ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง สถิตอยู่ทั่วไปในทุกที่ และทรงดำรงนิรันดร์แล้ว การมีสองพระองค์แบบนี้จะต่างกันอย่างไรหรือ นี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการมีสามพระองค์เลย? ถ้าองค์หนึ่งมีอำนาจทุกอย่าง พระเจ้าก็ทรงมีอำนาจทุกอย่างอยู่แล้ว ถ้าองค์หนึ่งมีความรอบรู้ทุกสิ่ง อีกสององค์ก็จะไม่รู้อะไรเกินจากที่พระองค์แรกรู้อยู่แล้ว ถ้าองค์หนึ่งสถิตอยู่ทั่วไปในทุกที่ อีกสององค์ก็ไม่สามารถจะอยู่ในที่ที่องค์แรกไม่ได้อยู่ ในส่วนของอำนาจทุกอย่างนั้น การที่จะมีหนึ่งหรือสองหรือสามพระองค์จะมีความแตกต่างอะไรหรือ? การเพิ่มทวีความมีอำนาจทุกอย่างด้วยความมีอำนาจทุกอย่างที่เท่าๆกันสามพระองค์ ก็เหมือนกับการเพิ่มทวีความไม่มีที่สิ้นสุดด้วยความไม่มีที่สิ้นสุดที่เท่าๆกันสามพระองค์
การที่คริสตจักรได้ดำเนินมาโดยไม่มีพระองค์ที่สองหรือพระองค์ที่สามอย่างเป็นทางการจนกระ ทั่งศตวรรษที่ 4 ทำให้เกิดสองสามคำถามขึ้นมาว่า ถ้าคริสตจักรได้ดำเนินมาโดยไม่มีสองพระองค์เพิ่มเข้ามา แล้วทำไมพวกเขาถึงได้เริ่มที่จะเพิ่มสองพระองค์เข้ามาด้วย? และถ้าคริสตจักรสามารถเพิ่มหนึ่งพระองค์ให้รวมอยู่ในพระเจ้าได้ตามต้องการโดยออกข้อกำหนด แล้วจะมีหลักการอะไรมาป้องกันไม่ให้เพิ่มพระองค์อื่นอีกในอนาคตหรือ? ผู้ที่เข้ามาในความคิดตอนนี้ก็คือพระแม่มารีย์ที่คนจำนวนมากในความเชื่อของนิกายโรมันคาทอลิกกราบไหว้บูชาและเป็นที่รู้จักในฐานะของผู้กลางที่เป็นหญิงเช่นเดียวกับที่พระคริสต์ทรงเป็นผู้กลาง[9] จากการที่ผู้หญิงได้รับการยกสถานะมากขึ้นในสังคมสมัยใหม่นั้น การจะผลักดันให้ผู้หญิงรวมอยู่ในพระเจ้า จึงอาจไม่ไกลจากความจริง
หลักพื้นฐานทางศาสนศาสตร์ในการเพิ่มพระเจ้าที่เป็นหญิงนั้น อาจพบได้ในข้อสังเกตของเจมส์ ดี จี ดันน์ (NIGTC,[10] โคโลสี 1:16) ที่ “โซเฟีย” (Sophia, ปัญญา) เป็นหลักการที่เทียบเท่ากันกับ “โลกอส” (Logos, ถ้อยคำ) ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่ทำให้จักรวาลเกิดขึ้น (เปรียบเทียบสุภาษิต 8 และเดอ เครูบิมของไฟโล[11]) ถ้า “โลกอส” สามารถถูกยกขึ้นเป็นพระเจ้าได้ และก็ได้ถูกยกขึ้นเป็นพระเจ้าจริงๆ แล้วทำไมจะยก “โซเฟีย” ขึ้นเป็นพระเจ้าไม่ได้ล่ะ? “โซเฟีย” จะเป็นแก่นแท้ของพระเจ้าด้วยไม่ได้หรือ? ถ้าบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่เห็นปัญหาในการมีพระเจ้าสององค์ และต่อมาก็มีพระเจ้าสามองค์ที่เรียกเป็นพระองค์ต่างๆ แล้วทำไมจะเป็นปัญหากับการมีสี่พระองค์ด้วย? อย่างไรก็ดี ชาวคาทอลิกจำนวนมากก็กราบไหว้พระแม่มารีย์ไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้วที่ได้มีการสร้างคริสตจักรมากมายสำหรับเธอ ถ้าเธอเป็นจุดหมายของการกราบไหว้ที่แท้จริง ขั้นตอนต่อไปที่ “สมเหตุสมผล” ก็คือการยกเธอขึ้นเป็นพระเจ้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชาวคาทอลิกจำนวนมากได้ทำเช่นนั้นแม้ว่าหลักคำสอนอย่างเป็นทางการของคาทอลิกจะไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น ดังนั้นความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงก้าวจากข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งไปสู่ข้อผิดพลาดอย่างอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นการขจัดพระยาห์เวห์พระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียวออกไป และแทนที่พระองค์ทีละนิดด้วยพระเจ้าองค์อื่นๆที่เรียกเป็น “พระองค์ต่างๆ”
ความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นแบบที่ “เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว” ที่มีพระเจ้าเพียงองค์เดียวในสามส่วนที่เหมือนกัน แต่ถ้าส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สามเท่ากันแล้ว ก็จะไม่มีความแตกต่างจริงๆระหว่างทั้งสอง ยกเว้นชื่อและการทำหน้าที่ การมีส่วนหนึ่งก็คือการมีทั้งหมด การให้ชื่อแต่ละพระองค์แตกต่างกันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในความเป็นจริง บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะมีข้อได้เปรียบอะไรกับการมีพระเจ้าสามองค์ของพวกเขา หรือมีสามองค์ที่แต่ละพระองค์ก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ มากกว่าการมีพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์? จะไม่มีข้อได้เปรียบแต่อย่างใด! ที่แย่ไปกว่านั้น พวกเขาได้บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าผู้ทรงพระสิริดังที่ได้เปิดเผยในพระคัมภีร์ สิ่งที่พวกเขาสอนเป็นเรื่องโกหกเกี่ยวกับพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ พระผู้สร้างทุกสิ่ง และพวกเขาจะต้องรับผิดชอบกับการบิดเบือนนี้ในวันพิพากษา
แต่สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นในแง่ของความรอดของมวลมนุษย์ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีสามองค์อยู่ในพระเจ้าเดียว ที่เท่าเทียมกัน ดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน และเป็นอมตะ ถ้ายังงั้น “พระเจ้าพระบุตร” จะสิ้นพระชนม์เพื่อความผิดบาปของเราได้อย่างไรถ้าหากพระองค์ทรงเป็นอมตะ? ตามหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพนั้น พระเจ้าพระบุตรได้เสด็จมาในร่างมนุษย์ของพระเยซูโดยการจุติลงมาเกิด แต่ตามคำสอนที่มีชัยในสภาสังคายนาแรกๆของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น วิญญาณมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ได้ถูกแทนที่ด้วยวิญญาณของ “พระเจ้าพระบุตร” (แม้จะกล่าวกันว่าเป็น “มนุษย์”) ซึ่งส่งผลให้เชื่อกันว่าเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้อยู่ในบุคคลเดียวกัน แต่มนุษย์แท้จะมีเพียงแค่ร่างกายมนุษย์โดยไม่มีวิญญาณมนุษย์แท้และไม่ขึ้นกับใครไม่ได้ เหตุผลของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ปฏิเสธวิญญาณมนุษย์ที่ไม่ขึ้นกับใครในพระเยซูก็คือ ถ้ามีวิญญาณมนุษย์ด้วย ก็จะมีสองบุคคลอยู่ในพระเยซู ซึ่งเป็นความคิดที่แม้แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็เห็นด้วยว่าฟังไม่ขึ้น (ยังเป็นที่ยอมรับด้วยว่าพระกายของพระเยซูเพียงอย่างเดียว หรือธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เป็นมนุษย์ ไม่เช่นนั้น การมีสองธรรมชาติของพระคริสต์ก็จะหมายถึงการมีสองบุคคลอยู่ในพระคริสต์) ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงไม่ยอมให้ส่วนที่เป็นมนุษย์ของพระเยซูมีวิญญาณของมนุษย์ที่แท้จริง แต่ร่างกายมนุษย์ที่ไม่มีวิญญาณของมนุษย์ที่แท้จริงนั้น จะไม่สามารถลบล้างความผิดบาปของเราได้ ความผิดบาปของอาดัมและเอวาไม่ได้กระทำโดยทางร่างกายเป็นหลัก แต่กระทำโดยทางใจและความคิด
ในเมื่อพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ใช่มนุษย์แท้แต่เป็น “พระเจ้าพระบุตร” ผู้เป็นพระเจ้าที่เป็นอมตะ แล้วพระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์เพื่อความผิดบาปของมนุษย์ได้อย่างไร? ดังนั้นความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงปล่อยให้มนุษย์ปราศจากความรอด ปราศจากการยกโทษบาป ปราศ จากความหวังในชีวิตนิรันดร์ นี่คือความจริงที่น่าเศร้าเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ปัญหาที่เราเผชิญไม่ใช่แค่การถกเถียงในเรื่องหลักคำสอน แต่เป็นเรื่องของชีวิตนิรันดร์และความตายนิรันดร์
หากมีตรีเอกานุภาพใดๆในพระคัมภีร์ใหม่ มันก็จะเป็นตรีเอกานุภาพที่ชั่วร้ายของพญานาค (ซาตาน) สัตว์ร้าย และผู้เผยพระวจนะเท็จ (วิวรณ์ 16:13; 20:10)[12] สิ่งที่ออกมาจากปากของตรีเอกานุภาพที่ชั่วร้ายก็คือวิญญาณโสโครกสามดวง (วิวรณ์ 16:13) ผู้สร้างตรีเอกานุภาพที่ชั่วร้ายของตนเอง ที่วิญญาณเหล่านี้ถูกอธิบายว่าเป็น “วิญญาณชั่ว” ที่มีฤทธิ์อำนาจในการทำหมายสำคัญต่างๆได้น่าประทับใจ ฤทธิ์อำนาจของพวกมันมีมากจนสามารถโน้มน้าวผู้นำของโลกให้ต่อสู้กับพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดที่อารมาเกดโดน (วิวรณ์ 16:14,16)[13] พวกมันได้รวมพลังและได้ร่วมใจกันทำสงครามกับพระยาห์เวห์พระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว ความจริงที่ว่า มีเพียงตรีเอกานุภาพเดียวเท่านั้นในพระคัมภีร์คือตรีเอกานุภาพที่ชั่วร้ายนี้ เผยให้เห็นถึงความรุนแรงและระดับการหลอกลวงของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ
บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมักจะค้นหาเศษเสี้ยวของหลักฐานใดก็ได้ให้กับความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆก็คือหนึ่งหรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งสองคำกล่าวที่ไม่มีทางโต้แย้งได้และไม่คลุมเครือจากพระคัมภีร์ เช่น “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าจากนิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล” หรือ “พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว” หรือ “พระเยซูทรงเป็น พระเจ้านิรันดร์ของอิสราเอล” หรือ “พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ” หรือ “พระเยซูคริสต์คือพระยาห์เวห์พระเจ้า” หรือ “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เราเป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองในพระเจ้าตรีเอกภาพ” และนั่นก็คงจะทำให้หมดปัญหา แต่ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดก็คือ ไม่มีคำกล่าวเช่นนั้นเกี่ยวกับพระเยซู แต่มีคำกล่าวเช่นนั้นเป็นร้อยๆ เกี่ยวกับพระยาห์เวห์พระเจ้า (แน่นอนว่ายกเว้นคำกล่าวสุดท้ายที่เกี่ยวกับพระเจ้าตรีเอกภาพ) ทำไมเราจึงไม่เห็นข้อเท็จจริงนี้? หากข้อเท็จจริงต่างๆไม่สำคัญ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องมีสิ่งอื่นที่มีอิทธิพลต่อหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพ อะไรหรือที่ทำให้เราปฏิเสธคำสอนที่ชัดเจนของพระคัมภีร์? บางทีมันอาจจะเป็นความบอดในฝ่ายวิญญาณ หรือความจงรักภักดีแบบหลับหูหลับตากับคำสอนสืบทอดที่เราได้รับมาและที่เรายืนหยัด แม้ว่าจะทำให้พระคำของพระเจ้าเป็นโมฆะ (เปรียบเทียบมัทธิว 15:3,6, มาระโก 7:9,13)[14]
ข้อผิดพลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในเรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์
จากสิ่งที่บาทหลวงจอห์น แอล แมคเคนซี่[15]ผู้ที่เชื่อในตรีเอกานุภาพยอมรับเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือว่า คำศัพท์ที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้กับพระเจ้าเป็นคำศัพท์ทางปรัชญากรีกมากกว่าคำศัพท์ในพระคัมภีร์ และคำศัพท์อย่างเช่น “แก่นแท้” และ “เนื้อแท้” ถูกนำมาใช้ “อย่างผิดๆ” กับพระเจ้าโดยนักศาสนศาสตร์ยุคแรกๆ จึงเป็นที่ชัดเจนว่า พระเจ้าของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นไม่ใช่พระเจ้าของพระคัมภีร์ เมื่อบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพพูดถึงพระเจ้า พวกเขาไม่ได้พูดถึงพระเจ้าที่เที่ยงแท้องค์เดียวของพระคัมภีร์ แต่พูดถึงตรีเอกานุภาพของสามพระองค์ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่พบในพระคัมภีร์เดิมหรือพระคัมภีร์ใหม่ เว้นแต่จะบิดเบือนพระคัมภีร์บางข้อ
ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น พระเจ้าพระบิดาทรงเป็นพระองค์แรกของตรีเอกานุภาพ แต่ในพระคัมภีร์แล้ว พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าเดียวและเพียงองค์เดียวเท่านั้น ที่มีพระนามว่าพระยาห์เวห์ (ถูกแปลว่า Lord ในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่) มีพระองค์เดียวเท่านั้นในตรีเอกานุภาพที่มีชื่อ คือพระองค์ที่สองซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ และยังถูกเรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” อีกด้วย (คำกลับกันกับ “พระบุตรของพระเจ้า” ของพระคัมภีร์) ชื่อ “เยซู” ในภาษาฮีบรูหมายถึง “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอด” หรือ “พระยาห์เวห์ทรงเป็นความรอด” แต่พระยาห์เวห์ของพระคัมภีร์ไม่ได้มีความสำคัญในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ! พระยาห์เวห์ทรงเป็นใครหรือ? มีบางคนไปไกลถึงขนาดพูดว่าพระเยซูคือพระยาห์เวห์ แต่นี่จะหมายความว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าเพื่อจะกันพระบิดาออกไป เพราะไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระยาห์เวห์ ดังที่มีกล่าวไว้ว่า “เราคือพระยาห์เวห์ ไม่มีใครอื่น นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใด” (อิสยาห์ 45:5)
การบิดเบือนคำพูดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพครอบคลุมถึงคำว่า “พระวิญญาณ” ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระองค์ที่สาม แต่ในเมื่อ “พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ” (ยอห์น 4:24)[16] แล้วมีความจำเป็นตรงไหนที่จะต้องตั้งพระองค์ที่สามที่เรียกว่า “พระเจ้าพระวิญญาณ” (ซึ่งเป็นอีกคำเรียกหนึ่งที่ไม่พบในพระคัมภีร์)? เปาโลไม่ได้คิดว่าพระวิญญาณของพระเจ้าเป็นอีกองค์บุคคลที่เป็นพระเจ้า แต่เป็นพระวิญญาณของพระเจ้าเอง
ใครเล่าจะหยั่งรู้ถึงความคิดของมนุษย์ นอกจากจิตวิญญาณของคนนั้นเอง? พระดำริของพระเจ้าก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครหยั่งรู้ได้นอกจากพระวิญญาณของพระเจ้า (1 โครินธ์ 2:11 ฉบับ ESV)
เปาโลกำลังพูดว่า “พระวิญญาณของพระเจ้า” เกี่ยวข้องกับตัวของพระเจ้าในลักษณะเดียวกับที่วิญญาณของมนุษย์เกี่ยวข้องกับตัวของมนุษย์ ข้อนี้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ (ฉบับ ESV, NASB, NIV, NJB, HCSB) จะขึ้นต้นคำว่า “พระวิญญาณ” ด้วยอักษรตัวใหญ่ (“Spirit”) ในคำ “พระวิญญาณของพระเจ้า” (“Spirit of God”) เป็นการบ่งชี้ว่าพวกเขาใช้คำนี้เพื่อจะอ้างถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นพระองค์ที่สามของตรีเอกานุภาพ ถ้าเป็นเช่นนั้น พระดำริของพระเจ้าก็จะถูกซ่อนไว้จากอีกสองพระองค์ในตรีเอกานุภาพ คือพระเจ้าพระบิดาและพระเจ้าพระบุตร เพราะเปาโล กล่าวไว้อย่างเจาะจงว่า ไม่มีใครหยั่งรู้ถึงพระดำริของพระเจ้าได้นอกจากพระวิญญาณของพระเจ้า! แต่ปัญหานี้จะหมดไป เมื่อเราเข้าใจว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็คือพระวิญญาณของพระเจ้าเอง เหมือนที่วิญญาณมนุษย์ก็คือวิญญาณของมนุษย์เอง
เราต้องตระหนักว่า พระคัมภีร์ใช้คำว่า “วิญญาณ” (“spirit”) ในความหมายที่เกี่ยวข้องกันหลายอย่าง แต่เมื่ออธิบายเป็นคำเฉพาะแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่พระองค์ที่สามที่เป็นคนละคนกับพระเจ้าพระบิดา แต่เป็นพระวิญญาณของพระบิดาเอง ดังที่เราจะเห็นในข้อพระคัมภีร์ตอนที่เหมือนกันต่อไปนี้ที่เน้นเป็นตัวหนา
...อย่ากังวลไปก่อนว่าจะพูดอะไรดี แต่จงพูดไปตามที่ประทานแก่ท่านในเวลานั้น เพราะว่าไม่ใช่ตัวท่านเองที่พูด แต่เป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์ (มาระโก 13:11 ฉบับ ESV)
...อย่ากังวลว่าท่านจะพูดอะไรหรือท่านจะพูดอย่างไร เพราะเมื่อถึงเวลานั้นสิ่งที่ท่านต้องพูด ก็จะประทานให้แก่ท่านในเวลานั้น เพราะว่าไม่ใช่ตัวท่านเองที่พูด แต่เป็นพระวิญญาณของพระบิดาของท่านที่ตรัสผ่านท่าน (มัทธิว 10:19-20 ฉบับ ESV)
ความเกี่ยวข้องที่สำคัญระหว่างพระบิดาและพระวิญญาณยังปรากฏให้เห็นในข้อที่สำคัญจากยอห์น 15:26 ที่พระเยซูตรัสถึง “พระวิญญาณแห่งความจริงซึ่งมาจากพระบิดา” (หรือ “ออกมาจากพระบิดา” ฉบับ NIV)[17] ในต้นฉบับภาษากรีกคำว่า “มาจาก” อยู่ในรูปไวยากรณ์กาลปัจจุบันที่ต่อเนื่อง เป็นความหมายที่ใกล้เคียงกันที่สื่อได้อย่างถูกต้องในพระคัมภีร์ยิวฉบับสมบูรณ์[18] (“พระวิญญาณแห่งความจริงซึ่งยังคงออกมาจากพระบิดา”) ด้วยเหตุนี้พระบิดาจึงทรงเป็นแหล่งของพระวิญญาณที่ไม่ขาดสาย เหมือนที่น้ำพุเป็นแหล่งของน้ำที่ไม่ขาดสาย (เปรียบเทียบยอห์น 7:38-39 ซึ่งพูดถึงพระวิญญาณว่าเป็น “แม่น้ำที่มีน้ำที่ให้ชีวิต”)[19] นั่นหมายความว่า พระวิญญาณไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยตัวเองโดยแยกจากพระบิดาผู้ทรงส่งพระวิญญาณออกมาอย่างไม่ขาดสาย พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าพระวิญญาณออกมาจาก “พระเจ้า” แต่ออกมาจาก “พระบิดา” ดังนั้นการยืนยันของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ว่า “พระเจ้าพระวิญญาณ” เป็นบุคคลผู้ดำรงอยู่ซึ่งแยกจากพระเจ้าพระบิดา จึงไม่ได้มีพื้นฐานมาจากพระคัมภีร์
พระคัมภีร์เดิมมักให้ภาพพระวิญญาณว่า เป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้าที่กระทำการอยู่ เช่น เศคา ริยาห์ 4:6 (“ไม่ใช่ด้วยกำลัง ไม่ใช่ด้วยฤทธานุภาพ แต่ด้วยวิญญาณของเรา พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสดังนี้แหละ”) และมีคาห์ 3:8 (“ข้าพเจ้าเต็มด้วยฤทธิ์เดช คือด้วยพระวิญญาณของพระยาห์เวห์”) ข้อเท็จจริงนี้นักวิชาการของความเชื่อในตรีเอกานุภาพหลายคนต่างรู้กันดี[20] พระคัมภีร์ใหม่มักให้ภาพพระวิญญาณบริสุทธิ์ในแง่ที่เป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า[21] พระเยซูเองก็ทรงกระทำการ “ด้วยฤทธิ์เดชของพระวิญญาณ” (ลูกา 4:14)[22]
พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็น “พระเยซูอีกองค์หนึ่ง”
ความเชื่อในตรีเอกานุภาพบิดเบือนคำในพระคัมภีร์ (เช่น โดยการกลับคำ “พระบุตรของพระเจ้า” ที่ตรงตามพระคัมภีร์ มาเป็น “พระเจ้าพระบุตร” ที่ไม่ตรงตามพระคัมภีร์) และรับเอาคำจากปรัชญาและปรัชญาตามหลักเทววิทยา (เช่น “แก่นแท้เดียวกัน” จากหลักความเชื่อแบบนอสติก[23]) นี่ไม่น่าแปลกใจที่คำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงมีวิญญาณที่ต่างจากคำสอนในพระคัมภีร์ และที่พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็มีวิญญาณที่ต่างจากพระเยซูของพระคัมภีร์ใหม่
การมี “วิญญาณที่ต่างกัน” เป็นสิ่งที่พระคัมภีร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และมันอาจเป็นสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่เลวร้ายได้ เป็นสิ่งที่ดี ถ้าวิญญาณที่ต่างกันนั้นแตกต่างจากวิถีของโลก และเป็นสิ่งที่เลวร้าย ถ้ามันแตกต่างจากวิถีของพระเจ้า ในแง่บวกของคำนั้น พระยาห์เวห์ตรัสว่า “แต่คาเลบผู้รับใช้ของเรา...มีวิญญาณที่แตกต่าง และได้ติดตามเราอย่างสุดใจ” (กันดารวิถี 14:24) ส่วนในแง่ลบเปาโลพูดถึง “วิญญาณที่ต่างกัน” ที่เกี่ยวข้องกับ “ข่าวประเสริฐที่ต่างกัน” และ “พระเยซูอีกองค์หนึ่ง”
เพราะถ้าใครมาประกาศถึงพระเยซูอีกองค์หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่องค์ที่เราเคยประกาศนั้น หรือถ้าพวกท่านรับวิญญาณอื่นซึ่งแตกต่างจากที่ท่านเคยได้รับนั้น หรือถ้ารับข่าวประเสริฐซึ่งแตกต่างจากที่ท่านเคยยอมรับ ท่านก็ช่างทนรับง่ายดายเสียจริงๆ (2 โครินธ์ 11:4 ฉบับ ESV)
เหตุใดชาวโครินธ์จึงหัวอ่อนมากที่จะยอมรับ “พระเยซูอีกองค์หนึ่ง” ที่พวกเขาจะทนรับการหลอกลวงได้ “อย่างง่ายดาย” เช่นนั้น? ตรงนี้คำกรีกสำหรับคำว่า “อีกองค์หนึ่ง” หมายถึง “ต่างจำพวกกัน” (BDAG, allos)
เราเห็นสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้นในคริสตจักรกาลาเทีย มันเลวร้ายเพราะสิ่งอันตรายที่ใกล้เข้ามาในหมู่ชาวโครินธ์นั้นได้กลายเป็นความจริงในหมู่ชาวกาลาเทีย (กาลาเทีย 1:6-9) พวกเขากำลังละทิ้งพระเจ้าและหันกลับไปหาข่าวประเสริฐอื่นที่ต่างกัน “ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจที่พวกท่านด่วนละทิ้งพระองค์ผู้ซึ่งทรงเรียกท่านมาโดยพระคุณของพระคริสต์ และหันไปหาข่าวประเสริฐอื่นเสีย” (ข้อ 6) เห็นได้ชัดว่าสิ่งนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นในโครินธ์ แต่เกิดขึ้นเฉพาะในกาลาเทีย ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า ถ้า สามครั้งใน 2 โครินธ์ 11:4 แต่เปาโลเล็งเห็นว่า ถ้าและเมื่อมีการประกาศพระคริสต์ที่ต่างกันในหมู่ชาวโครินธ์ พวกเขาก็จะยอมรับพระองค์อย่างง่ายดายเช่นเดียวกับที่ชาวกาลาเทียได้ยอมรับ นี่เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับคริสตจักรใดก็ได้เมื่อเวลาผ่านไป ความห่วงใยของเปาโลในเรื่องนี้เห็นได้จากคำว่า “กลัว” ในข้อ 3
2 โครินธ์ 11:2-3 2เพราะข้าพเจ้ารู้สึกหวงแหนท่านอย่างที่พระเจ้าทรงหวงแหน เพราะข้าพเจ้าได้หมั้นท่านไว้กับสามีคนเดียว เพื่อถวายท่านให้เป็นหญิงพรหมจารีบริสุทธิ์แด่พระคริสต์ 3แต่ข้าพเจ้ากลัวว่า งูนั้นได้ล่อลวงเอวาด้วยอุบายของมันอย่างไร ความคิดของท่านก็จะถูกนำให้หลงไปจากการอุทิศตัวที่จริงใจและบริสุทธิ์ต่อพระคริสต์อย่างนั้น (ฉบับ ESV)
เปาโลมองชาวโครินธ์ว่าเป็นคริสตจักรที่ได้หมั้นไว้กับพระคริสต์ ซึ่งใกล้จะหันเหไปจากพระองค์ นี่เป็นคำเตือนที่ไม่เพียงใช้กับคริสตจักรในโครินธ์เท่านั้น แต่ใช้กับคริสตจักรของพระเจ้าทุกแห่งด้วย เพราะได้หมั้นกับพระคริสต์ด้วยเช่นกัน คริสตจักรในโครินธ์ก็เหมือนกับเจ็ดคริสตจักรในวิวรณ์ เป็นคริสตจักรที่เป็นตัวแทนในพระคัมภีร์ ในการเปรียบเทียบของเปาโลนั้น เอวาถูกเปรียบกับคริสตจักร ซึ่งเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์ และอาดัมถูกเปรียบกับพระเยซู ซึ่งเปาโลเรียกว่าอาดัมคนสุดท้ายในสองสามบทต่อมา (1 โครินธ์ 15:45)
คำกล่าวที่น่ากลัวของเปาโลเกี่ยวกับคริสตจักรในโครินธ์นั้น ในที่สุดก็เป็นจริงในคริสตจักรโดย รวม ดังที่อาจเห็นได้ล่วงหน้าในคำกล่าวว่า “ท่านก็ช่างทนรับง่ายดายเสียจริงๆ” นั้น ในที่สุดการหลอกลวงของงูก็เป็นจริงในหมู่ผู้เชื่อคนต่างชาติในคริสตจักร ความกลัวของเปาโลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเอวาอาจเกิดขึ้นกับคริสตจักรโดยรวมด้วยนั้นเป็นตามการพยากรณ์ ผลสุดท้ายก็หนีไม่พ้นเพราะชาวโครินธ์ได้เอนเอียงที่จะทนรับพระคริสต์ที่ต่างกัน พระวิญญาณที่ต่างกัน และข่าวประเสริฐที่ต่างกัน หากนั่นเป็นจริงในสมัยของเปาโล แล้วจะยิ่งไม่เป็นอย่างนั้นในศตวรรษต่อมาหรือ เมื่อบรรดาผู้เชื่อต่างชาติเริ่มมีจำนวนมากกว่าผู้เชื่อชาวยิว (ผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวที่แท้จริง) ซึ่งลดจำนวนพวกเขาลงให้เหลือเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย?
ทำไมชาวโครินธ์และชาวกาลาเทียจึงยอมรับพระคริสต์ที่ต่างกัน ข่าวประเสริฐที่ต่างกัน และวิญ ญาณที่ต่างกัน (คือแตกต่างจากพระวิญญาณของพระยาห์เวห์) ได้ง่ายๆจากคนเหล่านั้นที่เปาโลได้เทศนาสั่งสอนพวกเขา มันไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาได้ยอมให้ตัวเองถูก “งู” (ซาตาน) หลอกลวงด้วยอุบายและถูกนำให้ “หลงไป” (ข้อ 3) เหมือนกับเอวาหรอกหรือ?
มันต้องมีบางสิ่งที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่าพระเยซูที่ต่างองค์กันนี้ ดีกว่าพระเยซูที่เปาโลได้สั่งสอนพวกเขา เมื่อพิจารณาถึงภูมิหลังของผู้เชื่อชาวต่างชาติส่วนใหญ่แล้ว (ซึ่งในสมัยของเปาโลนั้น เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่พอควรในคริสตจักรต่างๆที่อยู่นอกปาเลสไตน์ เช่น คริสตจักรโครินธ์ในกรีซ และคริสตจักรกาลาเทียในเอเชีย) สิ่งนี้สามารถพิสูจน์ได้ง่ายกว่าที่คาดไว้ ส่วนชาวกาลาเทียนั้น เปาโล “รู้สึกประหลาดใจ” ที่พวกเขากำลังละทิ้งพระเจ้าผู้ได้ทรงเรียกพวกเขาและหันไปหาข่าวประเสริฐอื่น ข่าวประเสริฐที่ต่างกันในสาระสำคัญ เช่นเดียวกับพระเยซูที่ต่างกัน เปาโลเห็นว่าชาว กาลาเทียได้หลงไปจากความเชื่อ และชาวโครินธ์ก็กำลังจะหลงไปจากความเชื่อในแบบเดียวกัน การหลงไปจากความเชื่อเป็นหมายสำคัญหลักของยุคสุดท้าย แต่มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นใน 30 ปีหลังจากพระเยซูทรงมีชีวิตอยู่ในโลก (เปรียบเทียบฮีบรู 6:4-6; 10:26-31)
มีหลายคนเทียบการละทิ้งพระเจ้าและการละทิ้งความเชื่อของคริสเตียนกับการมาเป็นผู้เชื่อว่าในพระเจ้าหรือไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่ตรงนี้เราไม่ได้เห็นแบบนั้น ในกาลาเทีย 1:6 คำพูดว่า “ละทิ้งพระองค์ผู้ซึ่งทรงเรียกท่าน” หมายถึง “หันไปหาข่าวประเสริฐที่ต่างกัน” และยอมรับ “พระเยซูอีกองค์หนึ่ง” (2 โครินธ์ 11:4) มันแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ละทิ้งพระเจ้ามักจะยังคงถือศาสนาและไม่ได้กลายเป็นผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า
เราไม่รู้ข้อมูลเฉพาะถึงพระเยซูองค์ที่ต่างกันนี้ นอกเหนือจากที่พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของพระกิตติคุณที่ต่างกัน เนื่องจากชาวกาลาเทียได้หันไปหาพระเยซูองค์อื่นนี้ พวกเขาก็คงพอจะรู้ว่าพระองค์เป็นอย่างไร เราอาจกล่าวแบบเดียวกันนี้กับกรณีของชาวโครินธ์ซึ่งเห็นว่าพระเยซูที่ต่างกันนี้น่าดึงดูดใจมากกว่าพระเยซูที่เปาโลได้สั่งสอนพวกเขา จากที่เข้าใจถึงปัญหาหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของคริสตจักรแล้ว ในกรณีของชาวโครินธ์นี้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า พระเยซูองค์ที่ต่างกันที่ตรงกันข้ามกับพระเยซูในพระคัมภีร์ น่าจะเป็นพระเจ้า เพราะความเป็นพระเจ้าของหลายๆองค์บุคคล เป็นสิ่งที่ดึงดูดความคิดที่ฝังหัวของคนต่างชาติอย่างมาก ถ้าพวกเขายังสามารถกราบไหว้บูชาบรรดาจักรพรรดิโรมันเป็นพระเจ้าได้ แล้วทำไมจะกราบไหว้บูชาพระเยซูเป็นพระเจ้าไม่ได้ล่ะ? อันที่จริง ภายในหนึ่งร้อยปีหลังจากสมัยของเปาโล ก็ได้มีการประกาศอย่างใจกล้าในโลกของคนต่างชาติแล้วว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า
การที่คนๆหนึ่งมีความเชื่อในพระเยซูที่ต่างกันก็หมายถึงการเปลี่ยนความจงรักภักดี การอุทิศตัว และความซื่อสัตย์ เปาโลประหลาดใจที่ชาวกาลาเทียกำลังจะ “ละทิ้ง” พระเจ้าผู้ได้ทรงเรียกพวกเขามาด้วยพระคุณของพระคริสต์ (กาลาเทีย 1:6)[24] คำกรีกของ “ละทิ้ง” (metatithēmi) พจนานุกรมภาษากรีกฉบับ BDAG ระบุว่า “การเปลี่ยนใจในความจงรักภักดี, การเปลี่ยนใจของคนๆหนึ่ง, หันเหไป, ละทิ้ง”
เปาโลกลัวว่าคริสตจักรจะถูกซาตานหลอกลวงเหมือนที่ทำกับเอวา ให้หันเหไปจากการอุทิศตนอย่างเต็มที่และจริงใจต่อพระคริสต์ เพื่อให้เข้าใจการหลอกลวงนี้ เราต้องดูเนื้อหาของมัน ลักษณะที่ซาตานหรือ “งู” หลอกลวงเอวาคืออะไร? ในการตอบคำถามนี้ เราจะดูเรื่องราวของการทดลองในปฐมกาล นี่เป็นคำสั่งของพระยาห์เวห์ที่ตรัสสั่งอาดัม
แล้วพระยาห์เวห์พระเจ้าจึงตรัสสั่งมนุษย์นั้นว่า “เจ้าจะกินผลจากต้นใดๆในสวนนี้ก็ได้ตามใจชอบ แต่ผลของต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่วนั้น ห้ามเจ้ากิน เพราะถ้าเจ้ากินผลของมันวันใด เจ้าจะต้องตายแน่” (ปฐมกาล 2:16-17)
ในบทต่อมาได้ระบุถึงสิ่งที่พระเจ้าได้ตรัสกับเอวาเกี่ยวกับผลของต้นไม้และคำตอบที่งูตอบเธอ
แล้วหญิงนั้นจึงพูดกับงูว่า “เราน่าจะกินผลของต้นไม้ในสวนนี้ได้ แต่พระเจ้าตรัสว่า ‘ห้ามเจ้ากินผลของต้นไม้ที่อยู่กลางสวนนั้นและห้ามแตะต้อง ไม่เช่นนั้นเจ้าจะตายแน่นอน’” แต่งูได้พูดกับหญิงนั้นว่า “เจ้าจะไม่ตายแน่นอน” (ปฐมกาล 3:2-4 ฉบับ ESV)
ซาตานกล่าวแย้งคำประกาศของพระเจ้าว่า “เจ้าจะต้องตายแน่นอน” ด้วยคำประกาศโต้กลับว่า “เจ้าจะไม่ตายแน่นอน” เป็นการบังคับให้เอวาเลือกระหว่างสองคำกล่าวที่ขัดกัน และเลือกระหว่างการเชื่อพระเจ้ากับการเชื่อซาตาน สุดท้ายเธอก็เลือกที่จะเชื่อซาตาน!
ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกที่จะเชื่อซาตาน ก็เป็นการบอกเป็นนัยๆจากเอวาว่า พระเจ้ากำลังหวงสิ่งดีๆที่ซาตานอยากจะให้เธอได้รับ “เพราะพระเจ้าทรงทราบว่า พวกเจ้ากินผลจากต้นไม้นั้นวันใด ตาของพวกเจ้าจะสว่างขึ้น แล้วพวกเจ้าจะเป็นเหมือนอย่างพระเจ้า คือรู้ถึงความดีและความชั่ว” (ปฐมกาล 3:5) งูได้สับเปลี่ยนระหว่างร่างกายกับจิตวิญญาณ โดยรู้ว่าอาดัมและเอวาจะไม่ตายทางร่างกาย อย่างน้อยก็ไม่ได้ตายทันที
อะไรคือเหยื่อที่ซาตานใช้ล่อ? สิ่งนั้นคือ “เจ้าจะเป็นเหมือนพระเจ้า” แต่อาดัมและเอวาได้ถูกสร้างไว้แล้วตามพระฉายาของพระเจ้าไม่ใช่หรือ? ก็ใช่ แต่เอวาต้องการจะ “ยึดฉวย” สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นก็คือ ความเท่าเทียมกับพระเจ้า ในทางตรงกันข้าม มีการกล่าวถึงพระเยซูในฟีลิปปี 2:6 ที่พระองค์ไม่ได้ทรง “ยึดฉวย” ที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า เป็นคำที่ให้เห็นการกระทำที่ชัดเจนที่อาจใช้อธิบายการเด็ดผลไม้จากต้น ความเท่าเทียมกับพระเจ้านั้นเป็นมากกว่าการมี “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” (พระเยซู) หรือการถูกสร้างตาม “รูปเหมือนของพระเจ้า”[25](อาดัม) อาดัมและเอวาอยากได้ปัญญา (“ต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่ว”) ที่จะทำให้พวกเขา “เป็นเหมือนพระเจ้า” ในระดับที่ลึกขึ้น ดังนั้นสิ่งล่อใจสำคัญของการทดลองก็คือการทำให้มนุษย์กลายเป็นพระเจ้า และนี่ทำให้เราเห็นคร่าวๆถึงลักษณะของ “พระเยซูอีกองค์หนึ่ง”
อาดัมไม่ได้ถูกหลอกลวงเหมือนกับเอวา (1 ทิโมธี 2:14)[26] นี่จะหมายความว่าอะไร ถ้าไม่ใช่ว่าอาดัมจงใจจะยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้าหรือ? สิ่งที่ตรงกันข้ามกับการกระทำที่กบฏนี้ก็คือ ท่าทีของพระคริสต์ที่อธิบายไว้ในฟีลิปปี 2:6 (“ไม่ได้ทรงยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า”) ซึ่งหมาย ความว่า เราจะไม่สามารถจะเข้าใจฟีลิปปี 2 ได้ถ้าเราแยกฟีลิปปี 2 ออกจากเหตุการณ์ในปฐมกาล 2 และ 3 แต่ไม่ว่าจะถูกหลอกลวงหรือไม่ก็ตาม อาดัมกับเอวาก็ได้ก้าวครั้งสำคัญสู่การยกตัวของพวกเขาเองเป็นพระเจ้าโดยการไม่เชื่อฟัง พระเจ้าเองตรัสว่า แท้จริงแล้วพวกเขาได้รู้ถึงความดีและความชั่ว (ปฐมกาล 3:22)[27]
บารับบัสอยู่ในการไต่สวนพระเยซู
เมื่อเปาโลบอกกับชาวกาลาเทียว่าพวกเขากำลังละทิ้งพระเจ้านั้น เปาโลไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้เลิกเชื่อในพระเจ้า แล้วกลายมาเป็นผู้เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าหรือไม่เชื่อในพระเจ้า แต่ว่าพวกเขากำลังติดตามพระเยซูที่ต่างกันและเชื่อข่าวประเสริฐที่ต่างกัน ในกรณีของชาวโครินธ์นั้น ข่าวประเสริฐนี้สั่งสอนโดย “อัครทูตปลอม” ที่พระเจ้าไม่ได้ทรงแต่งตั้ง (2 โครินธ์ 11:13) การละทิ้งความเชื่อไม่ได้เป็นการปฏิเสธความเชื่อและศาสนาเลยทีเดียว แต่มักจะเป็นการปฏิเสธพระเยซูในพระคัมภีร์
มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกันเกิดขึ้นในการไต่สวนพระเยซู ซึ่งปอนทิอัสปีลาตเจ้าเมืองโรมันไม่พบว่าพระเยซูมีความผิดอุกฉกรรจ์ที่จะถูกลงโทษแต่อย่างใด และยิ่งไม่สมควรกับการลงโทษด้วยการถูกตรึงบนกางเขน บารับบัสนักโทษอุกฉกรรจ์ก็อยู่ในการไต่สวนนี้ด้วย (มัทธิว 27:16) ฝูงชนถูกพวกผู้นำศาสนายุยงให้ตรึงพระเยซู แม้ว่ามันจะหมายถึงการปล่อยบารับบัสไป
เป็นที่น่าสังเกตว่าบารับบัสถูกเรียกว่า “เยซูบารับบัส” ในมัทธิว 27:16, 17 ตามต้นฉบับโบราณที่ระบุไว้ในสารานุกรมพระคัมภีร์ ISBE[28] การระบุว่ามีการคัดลอกหรือคัดสำเนาคำ “เยซูบารับบัส” ผิดพลาดนั้นไม่น่าเชื่อถือ มันเป็นไปได้มากกว่าที่คำว่า “เยซู” ได้ถูกขีดฆ่าออก
หลักฐานต้นฉบับเกี่ยวกับ “เยซูบารับบัส” ในมัทธิว 27:16 นั้นมีน้ำหนักพอที่ชื่อนี้จะรวมอยู่ในพระคัมภีร์สมัยใหม่บางฉบับ เช่น NRSV (“เยซูบารับบัส”), NET (“เยซูบารับบัส”), CJB (“เยชูวา บาร์-อับบา”) และ NIV 2011[29] (“เยซูบารับบัส” แต่ไม่ใช่ในฉบับ NIV 1984)
เมื่อพระเยซูทรงถูกไต่สวนต่อหน้าปอนทิอัสปีลาตนั้น ชาวยิวได้เลือก “เยซูอื่น” แม้จะด้วยเหตุผลที่แตกต่างจากทางเลือกของคนต่างชาติที่เลือกพระเยซูอื่น ดูเหมือนว่าทุกคนไม่ว่าจะยิวหรือต่างชาติต่างก็ต้องการพระเยซูองค์อื่น มากกว่าองค์ที่พระยาห์เวห์พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมไว้ให้ การปฏิเสธพระเยซูเพื่อเห็นแก่บารับบัสได้ถูกบันทึกไว้ในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม ซึ่งแสดงถึงความสำคัญในฝ่ายวิญญาณของการปฏิเสธนี้ และถูกเปโตรติเตียน (กิจการ 3:14)
แต่การเปรียบเทียบไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น คำว่า “บารับบัส” มาจากภาษาอาราเมคว่า “บาร์-อับบา” ซึ่งหมายถึง “บุตรของบิดา” ในกรณีของ “บารับบัส” ไม่ได้จำกัดว่า “บิดา” จะเป็นใคร (หัวข้อในสารานุกรมพระคัมภีร์ ISBE ที่กล่าวมาข้างต้นเสนอว่าเป็น “นาย หรือ ครู”) เป็นความคล้ายคลึงกันระหว่าง “บุตรของบิดา” กับพระเยซู “พระบุตรของพระเจ้า” ที่ไม่ผิดพลาด นี่เป็นเรื่องบังเอิญแท้ๆหรือไม่? ไม่มีเรื่องบังเอิญในพระคำของพระเจ้า ในการไต่สวนพระเยซูซึ่งพวกยิวได้เลือก “บุตรของบิดา” อีกคนหนึ่งมากกว่าบุตรที่พระเจ้าทรงตั้งไว้นั้น พระยาห์เวห์พระเจ้าได้ทรงบอกไว้ล่วงหน้าว่า วันหนึ่งคริสตจักรจะเลือกพระเยซูองค์ที่ต่างจากที่พระองค์ได้ทรงเลือกให้เป็นพระคริสต์ของพระองค์ คือกษัตริย์ผู้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลกนี้
ปฏิปักษ์ของพระคริสต์ในจดหมายของยอห์น ปัจจัยเกี่ยวกับความเชื่อแบบนอสติก
ไม่ใช่แต่เฉพาะแต่ในจดหมายของเปาโลที่เราเห็นการอ้างอิงถึงศัตรูของคริสตจักร ที่ทำงานอยู่ภายในคริสตจักร เช่น ผู้ที่สอนพระเยซูอีกองค์หนึ่ง หรือข่าวประเสริฐอื่น ยอห์นเองก็ต้องเผชิญหน้ากับพระคริสต์อีกองค์หนึ่งที่ทำหน้าที่เป็น “ปฏิปักษ์ของพระคริสต์” ซึ่งเป็นคำที่ยังรวมถึงผู้ที่ประกาศปฏิปักษ์ของพระคริสต์และข่าวประเสริฐที่แตกต่างกัน (ทุกข้อมาจากฉบับ ESV)
1 ยอห์น 2:18 ลูกทั้งหลาย นี่เป็นวาระสุดท้าย และตามที่ท่านได้ยินมาว่า ปฏิปักษ์ของพระคริสต์กำลังจะมานั้น บัดนี้ปฏิปักษ์ของพระคริสต์จำนวนมากก็มาแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงรู้ว่านี่เป็นวาระสุดท้าย
1 ยอห์น 2:22 ใครเป็นคนโกหกหรือ ถ้าไม่ใช่คนที่ปฏิเสธว่าพระเยซูไม่ใช่พระคริสต์? นี่คือปฏิปักษ์ของพระคริสต์ คือผู้ที่ปฏิเสธพระบิดาและพระบุตร
1 ยอห์น 4:2-3 ท่านจะรู้จักพระวิญญาณของพระเจ้าโดยข้อนี้ คือทุกวิญญาณที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ได้ทรงกำเนิดเป็นมนุษย์ ก็มาจากพระเจ้า และทุกวิญญาณที่ไม่ยอมรับพระเยซู ก็ไม่ได้มาจากพระเจ้า นี่เป็นวิญญาณของปฏิปักษ์ของพระคริสต์ ซึ่งท่านได้ยินว่าจะมา และขณะนี้ก็อยู่ในโลกแล้ว
2 ยอห์น 1:7 เพราะมีผู้ล่อลวงจำนวนมากได้เข้าไปในโลก คนเหล่านี้ไม่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงกำเนิดเป็นมนุษย์ คนเช่นนี้แหละเป็นผู้ล่อลวงและเป็นปฏิปักษ์ของพระคริสต์
ยุคที่ผ่านมา นักวิชาการบางคนเชื่อว่า “ผู้หลอกลวง” เหล่านี้มาจากกลุ่มความเชื่อแบบนอสติกที่เป็นชาวยิวและไม่ใช่ชาวยิวที่เคยกระตือรือร้นมาก่อน ในระหว่างและหลังช่วงสมัยคริสตจักรของ อัครทูต ความเชื่อแบบนอสติก ซึ่งเป็นการคาดคะเนของความคิดทางปรัชญาตามหลักเทววิทยาที่ถูกขับเคลื่อนโดยปรัชญากรีก และสอนข่าวประเสริฐโดยอาศัย “ความรู้” (gnōsis) ที่เร้นลับนั้น ได้จูงใจให้มีผู้ติดตามอย่างกว้างขวางและกลายเป็นภัยคุกคามต่อคริสตจักร
“อัครทูตพิเศษ” ที่โครินธ์ (2 โครินธ์ 11:5; 12:11)[30] กำลังท้าทายสิทธิอำนาจของอัครทูตเปาโล และได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนมาก นักวิชาการเยอรมันชื่อวอลเตอร์ ชมิทธัลส์ เขียนเอาไว้ว่า “แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่าฝ่ายตรงข้ามที่เชื่อแบบนอสติกและ ‘พวกอัครทูตพิเศษ’ นั้นเหมือนกัน” (หน้าที่ของอัครทูตในคริสตจักรยุคแรกๆ, หน้า 178)[31] แต่บรรดานักวิชาการในปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยมั่นใจเกี่ยวกับลักษณะที่แท้จริงของความเชื่อแบบนอสติกในช่วงสมัยคริสตจักรของอัครทูต
ผู้อธิบายพระคัมภีร์หลายคนกล่าวว่า ผู้ที่ปฏิเสธว่าพระเยซูคริสต์ได้ทรงกำเนิดเป็นมนุษย์ (1 ยอห์น 4:2-3) ก็คือ “พวกโดซีติสต์” นั่นคือบรรดาผู้ที่สอนว่าพระเยซูมีแต่รูปลักษณ์ของมนุษย์เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นมนุษย์ แต่คำว่า “โดซีติสต์” เป็นเพียงคำบอกลักษณะที่ไม่ได้ระบุชื่อหรือระบุกลุ่มเฉพาะใดๆ “พวกโดซีติสต์” ที่ถูกกล่าวถึงในสมัยของยอห์นนี้คือใครกันหรือ? เป็นพวกนอสติกหรือ? ยอห์นกำลังอธิบายถึงใครด้วยคำที่รุนแรงว่า “ผู้ล่อลวง” และ “ปฏิปักษ์ของพระคริสต์”?
แต่พระเยซูของหลักคำสอนในตรีเอกานุภาพได้ “กำเนิดเป็นมนุษย์” จริงๆหรือ? หรือจะพูดอีกอย่างว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่แท้จริงหรือไม่? พระองค์จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริงได้อย่างไร ถ้าพระองค์เป็น “พระเจ้าพระบุตร” ผู้ที่เท่าเทียมกับพระเจ้าพระบิดา? จะเป็นได้อย่างไรที่พระคริสต์ผู้ทรงดำรงอยู่ก่อน จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริงได้? มันจะเป็นไปได้ก็ด้วยการมาจุติใหม่เท่านั้น ความแตกต่างที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวระหว่างการดำรงอยู่ก่อนในการมาจุติใหม่ กับการดำรงอยู่ก่อนในความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ ความหวังและความประสงค์ ในกรณีของการมาจุติใหม่นั้น เราหวังจะเริ่มจากที่ต่ำกว่าไปสู่ที่สูงกว่าในการไต่เต้าของการดำรงอยู่ ในกรณีของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นความประสงค์ก็คือการเริ่มจากที่สูงกว่าไปสู่ที่ต่ำกว่าเพื่อจะเป็นคนรับใช้
ความเกี่ยวโยงต่อมาของความเชื่อแบบนอสติกกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่า คำดั้งเดิมของความเชื่อแบบนอสติกว่า homoousios (แก่นแท้เดียวกัน) ได้กลาย เป็นคำสำคัญยิ่งของการสังคายนาแห่งไนเซีย เหนือคำคัดค้านของบาทหลวงบางส่วนเท่านั้น แต่ความเชื่อแบบนอสติกยังปฏิเสธว่าพระคริสต์ทรงเป็นมนุษย์ที่แท้จริงผู้ที่ได้มา “กำเนิดเป็นมนุษย์” ความเชื่อแบบนอสติกก็เหมือนกับความเชื่อที่เรียกว่าโดซีติซึ่ม[32]ที่สอนว่า พระกายของพระเยซูมีภาพลวงตาของการเป็นมนุษย์ แต่ไม่ใช่มนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อแบบนอสติกจึงไม่ค่อยใช้กับการสอนเรื่องไม้กางเขน
แต่เปาโลกล่าวว่า “เราประกาศเรื่องพระคริสต์ทรงถูกตรึงที่กางเขนนั้น เป็นสิ่งที่พวกยิวสะดุด และพวกต่างชาติถือว่าเป็นเรื่องโง่” (1 โครินธ์ 1:23) แสดงให้เห็นว่าผู้ที่สั่งสอน “ข่าวประเสริฐที่ต่าง กัน” ไม่ได้สั่งสอนเรื่องกางเขน ซึ่งตรงกันข้ามกับคำสอนของเปาโลที่เน้นเกี่ยวกับกางเขนว่า “แต่ พระเจ้าไม่ทรงโปรดให้ข้าพเจ้าอวดอะไร นอกจากเรื่องกางเขนของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ของเรา” (กาลาเทีย 6:14)
ความน่าดึงดูดของความเชื่อแบบนอสติกในคริสตจักรยุคแรกนั้นอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่า แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วคำสอนนั้นจะขัดแย้งกับคำสอนในพระคัมภีร์ใหม่ แต่ก็ใช้คำซึ่งมาจากคำศัพท์ของพระคัมภีร์ใหม่โดยตรง เช่น ความรู้ (gnōsis, 1 โครินธ์ 8:1,7), ปัญญา (sophia, 1 โครินธ์ 2:7), ความเต็มบริบูรณ์ (plērōma, เอเฟซัส 1:23), ปรัชญา (philosophia, โคโลสี 2:8, ข้อที่ตามหัวข้อ ปรัชญา ในสารานุกรม ISBE แล้วระบุว่า “เป็นจุดเริ่มแรกของความเชื่อแบบนอสติกในคริสตจักรของคริสเตียน”; เปรียบเทียบ 1 ทิโมธี 1:4)
ชื่อที่ชื่อเสียงไม่ดีของซีโมนคนเล่นคาถาอาคมมีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับความเชื่อแบบนอสติก หนังสือสารานุกรมพระคัมภีร์เล่มหนึ่งกล่าวว่า “ชื่อของซีโมนคนเล่นคาถาอาคมมีปรากฏบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ยุคต้นๆของความเชื่อแบบนอสติกของ ‘คริสเตียน’ และได้มีการถกเถียงกันมากว่าผู้ติดตามคำสอนของซีโมนคนเล่นคาถาอาคม ซึ่งเป็นนิกายที่คงอยู่จนถึงศตวรรษที่ 3 นี้มีต้นกำเนิดมาจากคนเล่นคาถาอาคมในกิจการ 8 หรือไม่”[33] ซีโมนคนเล่นคาถาอาคมผู้เข้าร่วมกับคริสตจักรของอัครทูตและยังได้รับบัพติศมาในคริสตจักรนั้น เป็นผู้ทำการอัศจรรย์ หรือ “คนเล่นคาถาอาคม” ที่ถูกกล่าวถึงในข้อมูลนอกพระคัมภีร์สมัยต้นๆ ความโด่งดังของเขาในสมัยของเขานั้นเห็นได้ในหนังสือกิจการ
9มีคนหนึ่งชื่อซีโมนเคยเล่นคาถาอาคมในเมืองนั้นมาก่อน เขาทำให้ชาวสะมาเรียแปลกประหลาดใจ เขาอ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษ 10พวกเขาทุกคนตั้งแต่คนเล็กน้อยที่สุดไปจนถึงคนใหญ่โตที่สุดต่างสนใจฟังคนนั้น แล้วกล่าวว่า “คนนี้คือฤทธานุภาพที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” 11และพวกเขาทั้งหลายสนใจฟังเขา เพราะเขาทำวิทยาคมให้ผู้คนแปลกประหลาดใจมานานแล้ว 12แต่เมื่อฟีลิปประกาศข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าและพระนามของพระเยซูคริสต์แล้ว พวกเขาก็เชื่อและรับบัพติศมาทั้งชายและหญิง 13แม้ซีโมนเองก็เชื่อ และหลังรับบัพติศมาแล้วเขาก็อยู่กับฟีลิปต่อไป และเมื่อเขาเห็นการทำหมายสำคัญกับการอัศจรรย์อันยิ่งใหญ่เกิดขึ้น เขาก็ประหลาดใจไม่หยุด (กิจการ 8:9-13 ฉบับ NASB)
ในที่นี้ซีโมนถูกเรียกว่า “ฤทธานุภาพของพระเจ้า” (ข้อ 10) ซึ่งในลูกา 22:69[34] เป็นนามนัยของพระเจ้า นี่อาจเป็นเพราะหมายสำคัญและการอัศจรรย์ที่ซีโมนทำโดยการ “เล่นคาถาอาคม” (ข้อ 9) และ “วิทยาคม” (ข้อ 11) โดยที่เขาถูกมองว่าเป็นการสำแดงของพระเจ้า นี่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถถูกยกขึ้นเป็นพระเจ้าหรือถูกมองว่าเป็นการปรากฏของพระเจ้าได้อย่างง่ายดายเพียงใด
พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพแตกต่างจากพระเยซูในพระคัมภีร์
การประชุมสังคายนาแห่งไนเซีย ซึ่งเป็นชัยชนะสูงสุดของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ของชาวต่างชาตินั้น เป็นวิธีคิดที่แตกต่างจากหัวใจและลักษณะของพระคัมภีร์ใหม่อย่างสิ้นเชิง และมาถึงจุดสูงสุดในการยกพระคริสต์ขึ้นเป็นพระเจ้า สิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงก็คือ พระเยซูของพระคัมภีร์ใหม่ไม่แสวงหาความเท่าเทียมกับพระเจ้า แต่คนต่างชาติได้ประกาศอย่างมีชัยให้พระองค์เท่าเทียมกับพระเจ้าโดยค้านกับพระทัยของพระคริสต์ มันเป็นการค้านโดยตรงกับวิญญาณของพระเยซูของพระคัมภีร์ ผู้ไม่เคยอ้างความเท่าเทียมกับพระบิดาของพระองค์เลย แต่ได้ตรัสตรงกันข้ามว่า “พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา” (ยอห์น 14:28)[35] นี่เป็นคำกล่าวที่ผมกระตือรือร้นจะอธิบายให้ดูสมเหตุสมผลเมื่อครั้งยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ถึงแม้จะมีข้อความพระคัมภีร์ใหม่ตอนอื่นๆหลายตอนที่กล่าวถึงความจริงแบบเดียวกัน แต่เนื่องจากคริสเตียนชาวต่างชาติกระตือรือร้นที่จะทำให้พระเยซูเป็นศูนย์กลางของการนมัสการ พวกเขาจึงถูกขับเคลื่อนด้วยความร้อนร้นของการไหว้รูปเคารพของพวกเขาที่จะยกย่อง “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” (1 ทิโมธี 2:5) ให้อยู่ในระดับของพระเจ้า
พระเยซูยังได้ปฏิเสธว่าตัวของพระองค์เองไม่ได้ประเสริฐแต่อย่างใดเมื่อตรัสว่า “ท่านเรียกเราว่าประเสริฐทำไม? ไม่มีใครประเสริฐ เว้นแต่พระเจ้าองค์เดียว” (มาระโก 10:18; ลูกา 18:19; เปรียบ เทียบมัทธิว 19:17) พระเยซูตรัสตรงๆกับเศรษฐีหนุ่มว่าคำว่า “ประเสริฐ” เป็นคุณสมบัติของพระเจ้าเท่านั้น และจะสามารถนำมาใช้กับคนอื่นได้ก็เฉพาะในความหมายที่แตกออกมาและมีข้อจำกัด จากสิ่งนี้เราจะเห็นว่าพระเยซูจะไม่ยอมรับคุณสมบัติที่เป็นของพระเจ้าอย่างชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียว (“ไม่มีใครประเสริฐ เว้นแต่พระเจ้าองค์เดียว”)
บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่สามารถจะปฏิเสธและไม่ปฏิเสธว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ แล้วปัญหาของพวกเขาคืออะไรหรือ? ปัญหาของพวกเขาก็คือพวกเขาต้องการจะบอกว่าพระเยซู “ไม่ได้เป็นแค่” มนุษย์ แต่เป็น “พระเจ้าพระบุตร” ซึ่งเป็นพระองค์ที่สองของพระเจ้าในตรีเอกานุภาพที่จุติลงมาในพระเยซู นั่นเป็นเพราะตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว ผู้ทำงานตัวจริงที่อยู่ในพระเยซูก็คือ “พระเจ้าพระบุตร” (ซึ่งกลับกันกับ “พระบุตรของพระเจ้า”) ในขณะที่พระเยซูผู้ทรงเป็นมนุษย์เป็นเพียงธรรมชาติมนุษย์ที่พ่วงอยู่กับพระเจ้าพระบุตรทางการจุติลงมาเกิด นี่เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้เราเมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น จึงไม่ค่อยได้สนใจมากกับเรื่องที่พระเยซูทรงเป็นมนุษย์ ตามความคิดของเราแล้ว พระเจ้าพระบุตรที่ตัวจริงอยู่ในพระเยซูนั้น ทรงเป็นทุกสิ่งที่เราจำเป็นหรือต้องการให้พระเยซูเป็น
แต่เรามองข้ามสิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ พระเจ้าผู้ทรงสามารถตายได้นั้น ไม่ใช่พระเจ้าของพระคัมภีร์ เพราะพระยาห์เวห์พระเจ้าทรงเป็นอมตะและไม่สามารถตายได้ นี่หมายความว่าพระเจ้าของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่สามารถจะเป็นพระยาห์เวห์ พระเจ้าของพระคัมภีร์ได้ พระเจ้าที่ตายและเป็นขึ้นมาอีก จะมีความคล้ายคลึงกับบรรดาเทพเจ้าที่ตายไปและเป็นขึ้นอีกตามความเชื่อของคนนอกศาสนาที่แพร่หลายในโลกของคริสตจักรยุคแรกๆ
สูตรต่างๆของข้อเชื่อไนเซีย อย่างเช่น “พระเจ้าจากพระเจ้า ความสว่างจากความสว่าง” และการอธิบายอื่นๆที่เลิศลอยนั้นเป็นแค่การสะท้อนตรงๆ ให้เห็นถึงปรัชญาและศาสนากรีก แนวคิดที่สำคัญยิ่งในความเชื่อแบบนอสติกก็คือ การมีต้นกำเนิดของพระเป็นเจ้าต่างๆ ซึ่งตามปกติแล้วสิ่งที่เล็กน้อยกว่าจะมาจากสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นอกจากนั้นที่การประชุมแห่งไนเซียก็มีข้อกำหนดว่าถ้าไม่เชื่อจะถูกแช่งสาป ที่พระเจ้าพระองค์ที่สองเกิดมาจากพระเจ้าพระองค์แรก เหมือนที่ความสว่างเกิดมาจากแหล่งของความสว่าง คำสอนนี้มาจากปรัชญากรีกโดยตรง
ถ้าหาก “พระเจ้าพระบุตร” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีความเกี่ยวข้องที่น่าเชื่อถือกับ “พระเจ้าพระบิดา” ภายในกรอบของความนิรันดร์กาล เราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงข้อสรุปที่ว่าพระบุตรมีชีวิตมาจากพระบิดาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีเหตุผลใดที่พระองค์จะถูกเรียกว่าพระบุตร ความยุ่งยากแท้จริงซึ่งผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนยอมรับ ได้นำไปสู่แนวคิดเกี่ยวกับการบังเกิดมาจากพระบิดาและดำรงอยู่ด้วยตั้งแต่นิรันดร์กาล[36] โดยที่พระบุตรเกิดมาจากพระบิดาตั้งแต่นิรันดร์กาล เหมือนที่ความสว่างส่องออกมาจากดวงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง แต่แนวคิดทางปรัชญานี้ไม่ได้แก้ปัญหาเพราะยังคงไม่ได้อธิบายการใช้คำว่า “บุตร” ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า การดำรงอยู่ของพระบุตรมาจากพระบิดาในทางใดทางหนึ่งที่มีนัยสำคัญ และสิ่งนี้เป็นความจริงถึงแม้ว่าเราจะเสนอความคิดเรื่องการบังเกิดมาจากพระบิดาและดำรงอยู่ด้วยตั้งแต่นิรันดร์กาล ดังนั้นในความเข้าใจที่สำคัญนี้พระบุตรจึงไม่ได้เท่าเทียมกับพระบิดา
ตามจักรวาลวิทยาทางวิทยาศาสตร์แล้ว ในอนาคตอันยาวไกลนั้นดวงอาทิตย์จะสิ้นสลายและ จะไม่ส่องแสงเหมือนที่ส่องในขณะนี้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ดวงอาทิตย์จะดำรงอยู่ในภาวะเอกเทศ[37]โดยไม่ส่องแสง เมื่อพิจารณาถึงอายุขัยที่มีขีดจำกัดของดวงอาทิตย์แล้ว การเปรียบเทียบเกี่ยวกับดวงอาทิตย์นั้นไม่เพียงพอที่จะตั้งหลักคำสอนเกี่ยวกับ “การบังเกิดมาจากพระบิดาและดำรงอยู่ด้วยตั้งแต่นิรันดร์กาล” หรือแนวคิดที่พระเยซูเป็น “ความสว่างจากความสว่าง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์นี้ อีกทั้งในยุคของคริสตจักรยุคแรกๆ (ในมุมมองของ 2 เปโตร 3:10 “ฟ้าสวรรค์จะถูกเผาจนมอดไหม้และสลายไป”)[38] พระเจ้าทรงเป็นความสว่างอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่นั่นเป็นหลักในแง่ของความบริสุทธิ์ในคุณธรรมและการเห็นแจ้งทางวิญญาณ คุณลักษณะที่มีคุณธรรมของพระเจ้าไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะนำมาเปรียบเทียบได้อย่างเหมาะสมกับแสงที่ส่องออกมาจากวัตถุที่กำลังเผาไหม้ เช่น ดวงอาทิตย์ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญจริงๆก็คือ หลักคำสอนเรื่องการบังเกิดมาจากพระบิดาและดำรงอยู่ด้วยตั้งแต่นิรันดร์กาลนั้น เป็นแนวคิดที่ไม่พบในพระคัมภีร์
พระคริสต์ทรงอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า
พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาของเราผู้ประทานแกะนั้นให้แก่เรา ทรงเป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง” (ยอห์น 10:29) ตรงนี้พระองค์ตรัสเฉพาะเจาะจงว่า พระเจ้าพระบิดาทรง “เป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง” (เปรียบ เทียบ “ใหญ่ยิ่งกว่าพระทั้งหลาย” สดุดี 95:3)[39] นี่จะหมายความว่าพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าพระเยซูเพราะคำว่า “ทุกสิ่ง” จะรวมถึงพระเยซูซึ่งเป็นคนละคนกันกับพระบิดาแม้ในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (เปรียบเทียบหลักข้อเชื่ออธาเนเซีย) นี่ไม่ใช่คำกล่าวเดี่ยวๆ แต่มีการยืนยันจากคำกล่าวอื่นๆ เช่น “พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา” (ยอห์น 14:28) พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าพระเยซูด้วยเหตุผลพื้นฐานที่ว่า พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์
“บ่าวจะเป็นใหญ่กว่านายไม่ได้ ทั้งผู้ส่งข่าวจะเป็นใหญ่กว่าผู้ที่ส่งเขาไปก็ไม่ได้” (ยอห์น 13:16) เมื่อพูดถึงตัวพระองค์เองว่าเป็นบ่าวและผู้ส่งข่าวนั้น พระเยซูกำลังอธิบายว่าทรงทำงานเกี่ยวข้องกับพระบิดาอย่างไร เพราะพระองค์ตรัสถึงตัวพระองค์เองซ้ำๆว่าทรงเป็นบ่าว (doulos) ของพระบิดาของพระองค์ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่พระบิดาทรงใช้มา[40] พระเยซูทรงใช้คำ “เป็นใหญ่กว่า” เพื่ออธิบายความเกี่ยวข้องทั้งสองกับพระบิดา
พระเยซูทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อตรัสว่า “พระบิดาทรงเป็นใหญ่กว่าเรา”? คำกล่าวนั้นไม่อาจเป็นจริงได้ในความเชื่อตรีเอกานุภาพที่ “พระเจ้าพระบุตร” จะทรงมีความเท่าเทียมกันทุกประ การกับพระเจ้าพระบิดา คำกล่าวของพระเยซูและคำกล่าวที่คล้ายๆกัน เช่น “พระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสต์” (1 โครินธ์ 11:3)[41] ทำให้ผมลำบากใจขณะเมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะมันขัดแย้งโดยตรงกับหลักการสำคัญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั่นก็คือ ความเท่าเทียมกันของพระบุตรกับพระบิดา แต่หลักคำสอนเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันเป็นความเท็จอย่างชัดเจนตามคำกล่าวที่ว่า “พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา” พระเยซูทรงปฏิเสธที่จะยึดถือหรือยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้า (ฟีลิปปี 2:6) แต่เราที่เป็นผู้เชื่อตรีเอกานุภาพได้หูหนวกฝ่ายวิญญาณในความมุ่งมั่นของเราที่จะแต่งตั้งพระเยซูให้เป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด[42]
คำที่เอลีฮูเตือนโยบว่า “พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่ามนุษย์” (โยบ 33:12)[43] เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงคำซ้ำซาก แต่คำซ้ำซากนี้ดูจะเป็นวิธีเดียวที่สมเหตุสมผลที่จะให้เข้าใจคำกล่าวของพระเยซูว่า “พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา” มันกลายเป็นการยืนยันว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ ไม่ใช่พระเจ้า คำโต้แย้งของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่ว่าด้านความเป็นพระเจ้าของพระเยซูยิ่งใหญ่กว่าด้านความเป็นมนุษย์ของพระเยซูนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะว่าการเปรียบเทียบนั้นไม่ใช่ระหว่าง “สองสภาวะ” ที่ถูกกล่าวถึงของพระเยซู แต่ระหว่างพระเยซูกับ “พระบิดา”!
คำกล่าวที่ว่า “พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา” เป็นการปฏิเสธความเท่าเทียมกันของพระบุตรกับพระบิดาอย่างชัดเจน พระคัมภีร์ใหม่ยืนยันว่าพระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสต์หลังจากการเป็นขึ้นมาจากความตายที่ “พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของชายทุกคน สามีเป็นศีรษะของภรรยา และพระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสต์” (1 โครินธ์ 11:3 ฉบับ ESV) ซึ่งค้านกับการอ้างของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าพระคริสต์เป็นพระเจ้าและเท่าเทียมกับพระบิดา ไม่มีการเอ่ยถึงความเท่าเทียมกันของสามพระองค์ในตรีเอกานุภาพแต่อย่างใด เปาโลกล่าวว่าพระคริสต์ทรงอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้า (พระยาห์เวห์) เช่นเดียวกับที่บรรดาผู้เชื่ออยู่ใต้อำนาจของพระคริสต์ เปาโลไม่ได้กล่าวว่า ศีรษะของพระคริสต์ก็คือ “พระเจ้าพระบิดา” แต่กล่าวว่าศีรษะของพระคริสต์คือ “พระเจ้า”
การกล่าวว่าพระคริสต์ทรงอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้านั้น เราไม่ได้ปฏิเสธอำนาจสูงสุดและอำนาจทั้งหมดของพระคริสต์ จริงๆแล้วพระองค์เองตรัสว่า “สิทธิอำนาจทั้งหมดในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีได้ทรงมอบไว้แก่เราแล้ว” (มัทธิว 28:18) แต่โปรดสังเกตคำเล็กๆแต่ทรงพลังว่า “มอบไว้” มีผู้ที่ให้อำนาจสูงสุดแก่พระองค์ตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงมีข้อยกเว้นอย่างหนึ่งกับอำนาจสูงสุดของพระองค์และอยู่ในความจริงที่ว่า พระคริสต์ไม่มีอำนาจเหนือพระเจ้า
เพราะ “พระเจ้าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้พระบาทของพระบุตร” แต่เมื่อพระคัมภีร์กล่าวว่าทรงให้ “ทุกสิ่ง” อยู่ใต้อำนาจนั้น ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า นี่ไม่ได้รวมพระเจ้าผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ (1 โครินธ์ 15:27 ฉบับ NET)
บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและบรรดาผู้ที่ไม่เชื่อในตรีเอกานุภาพต่างเห็นพ้องกับสิ่งที่เปาโลกำลังพูดตรงนี้ว่า อำนาจที่เหนือทุกสิ่งของพระคริสต์นั้นยกเว้นพระเจ้า เรื่องนี้ไม่ได้มีการโต้แย้งและยังทำให้ชัดเจนโดยการแปลข้อนี้ของฉบับ NIV ว่า “เป็นที่ชัดเจนว่า นี่ไม่รวมถึงพระเจ้าเอง ผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ภายใต้พระคริสต์”
จากบริบทโดยตรงของข้อนี้ เรารู้ว่าเปาโลกำลังพูดถึงสองบุคคล นั่นคือ “พระเจ้าพระบิดา” (ข้อ 24) กับ “พระบุตร” (ข้อ 28) ดังนั้นจึงเป็นการเจาะจงถึงพระเจ้าพระบิดา ผู้ทรงให้ทุกสิ่ง (ยกเว้นพระเจ้าเอง) อยู่ภายใต้พระบาทของพระบุตร
เราสังเกตเห็นสามสิ่งจากข้อนี้ (15:27) ประการแรกคือ อำนาจของพระคริสต์ไม่ใช่อํานาจที่มีโดยกำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ได้มอบให้กับพระองค์นั่นก็คือ พระเจ้าทรง “มอบไว้” แก่พระองค์ (มัทธิว 28:18) ประการที่สองก็คือ เปาโลใช้ภาษาที่แยกความแตกต่างของสองบุคคลอย่างชัดเจนว่า ผู้หนึ่งคือพระเจ้าและอีกผู้หนึ่งคือพระคริสต์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพระเจ้ากับพระคริสต์เป็นสองบุคคลที่ต่างกัน ประการที่สามก็คือ คำว่า “ทุกสิ่ง” ซึ่งปรากฏสองครั้งในข้อ 1 โครินธ์ 15:27 นี้ ช่วยในการอธิบายความหมายของคำว่า “ทั้งหมด” ในคำกล่าวว่า “สิทธิอำนาจทั้งหมดในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว” (มัทธิว 28:18) โดยมีข้อจำกัดว่า “อำนาจทั้งหมด” ที่ได้มอบไว้กับพระเยซูนั้นไม่ได้รวมถึงอำนาจเหนือพระเจ้า หรือจะพูดอีกอย่างว่า สิ่งที่บอกเป็นนัยในมัทธิว 28:18 ว่าพระคริสต์ทรงอยู่ใต้อำนาจของพระบิดาเนื่องจากคำว่า “มอบไว้” นั้นได้อธิบายไว้ชัดเจนใน 1 โครินธ์ 15:27 นอกจากนี้ก็ยังได้อธิบายไว้ชัดเจนในวิวรณ์ 2:28 โดยพระเยซูที่เป็นขึ้นจากความตายว่า “เหมือนอย่างที่เราได้รับอำนาจจากพระบิดาของเราแล้ว”
ในข้อถัดมา เปาโลก็พูดอีกว่าพระคริสต์จะอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า
เมื่อทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์แล้ว พระบุตรเองก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจพระองค์ (พระเจ้า) ผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ เพื่อพระเจ้าจะทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง (1 โครินธ์ 15:28 ฉบับ ESV)
เปาโลไม่เพียงกล่าวว่า พระคริสต์ไม่มีอำนาจเหนือพระเจ้า (คำกล่าวที่อาจยอมให้มีความเท่าเทียมกันในทางทฤษฎี) แต่กล่าวอย่างหนักแน่นยิ่งขึ้นว่า พระคริสต์จะต้องอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า ซึ่งเป็นการปฏิเสธอย่างชัดเจนถึงความเท่าเทียมกันของพระเยซูกับพระบิดาของพระองค์ตามที่เชื่อกันโดยทั่วไป
ในที่สุดข้อสรุปที่โดดเด่นอาจมาจากข้อ 24
แล้วเวลาอวสานก็มาถึง เมื่อพระองค์ทรงถวายอาณาจักรแด่พระเจ้าพระบิดา หลังจากที่ทรงทำลายเทพผู้ปกครองอาณาจักร เทพผู้ทรงอำนาจและเทพผู้ทรงเดชานุภาพทั้งปวง (1 โครินธ์ 15:24)
“เวลาอวสาน” ตรงนี้เป็นการอ้างอิงเกี่ยวกับยุคสุดท้ายถึงช่วงเวลาในอนาคต ในอนาคตเมื่อไรหรือ? บริบท (ข้อ 21-23) กล่าวไว้ชัดเจนว่า “เวลาอวสาน” (ข้อ 24) จะมาถึงก็เมื่อหลังจาก “การเป็นขึ้นจากความตาย” (ข้อ 21) เป็นเหตุการณ์ที่ปลื้มปิติซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในสมัยของเรา แต่เมื่อเวลาอวสานมาถึง พระคริสต์จะทรงถวายอาณาจักรให้กับพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์ (ข้อ 24) และตามด้วยการที่พระบุตรจะทรงอยู่ใต้อำนาจพระบิดา (ข้อ 27) ลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังมีความสำคัญมากเพราะมันบอกเราว่า เวลาอวสานจะเริ่มเปิดฉากอย่างถาวร ที่การอยู่ใต้อำนาจของพระบุตรต่อพระบิดา (ข้อ 27) จะดำเนินต่อไปเป็นนิตย์! แม้แต่พระคัมภีร์ฉบับศึกษาของ ESV[44] ที่มีความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างมากก็ยอมรับว่า “ข้อนี้ (1 โครินธ์ 15:28) แสดงให้เห็นว่า การอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ต่อพระบิดาจะยังคงดำเนินต่อไปเป็นนิตย์”
เฟรเดริค หลุยส์ โกเดท[45] นักศาสนศาสตร์ชาวสวิสและผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ประณามบรรดาผู้ที่ใช้ “วิธีแยบยล” เพื่อหลบเลี่ยงคำสอนที่ชัดเจนของเปาโลเกี่ยวกับพระบุตรทรงอยู่ใต้อำนาจของพระบิดา ผู้อ่านบางคนอาจต้องการอ่านข้ามข้อความต่อไปนี้
“ถ้าเช่นนั้นพระบุตรเองก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจด้วย” เป็นต้น คำกล่าวนี้สามารถใช้ได้ตามที่กล่าวไว้เท่านั้น ความพยายามที่จะอธิบายคำกล่าวนี้มักจะไม่มีอะไร นอกจากจะมีวิธีแยบยลในการอธิบายให้ดูสมเหตุสมผล ในวิธีทั้งหลายนี้ วิธีที่เหล่าบรรพบุรุษมักนำมาใช้นั้นจะจำกัดคำกล่าวถึงธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสต์ (ยอห์น 5:26, 27, 30)[46] และการที่พระเจ้าทรงปกครองมนุษย์บนโลกโดยมีตัวแทนที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง (1 โครินธ์ 11:3 “พระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสต์”) ในการจัดการกับเรื่องนี้ เราสามารถ “ให้คำแนะนำที่คลุมเครือด้วยถ้อยคำที่ปราศจากความรู้” ได้ง่ายๆ และซ่อนความไม่รู้อะไรเลยไว้ภายใต้ความรู้ที่คล้ายคลึงกัน แต่ทั้งหมดที่เราสามารถพูดใน “คำอธิบาย” ของการที่พระบุตรยอมให้ตัวเองอยู่ใต้อำนาจพระบิดานี้เกี่ยวข้องกับคำพูดที่ตามมาว่า “เพื่อพระเจ้าจะทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง” ทุกสิ่ง...จะอยู่ใต้บังคับบัญชาของพระบุตร และพระบุตรจะอยู่ใต้บังคับบัญชาของพระบิดา (โครินธ์, เล่ม 1, เกี่ยวกับ 1 โครินธ์ 15:28 จากภาษาฝรั่งเศส)
การเริ่มขึ้นของความเชื่อในตรีเอกานุภาพและความสับสนในคำว่า “Lord”
ในสมัยของพระคัมภีร์ใหม่นั้น ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในปาเลสไตน์จะพูดภาษาอาราเมคเป็นส่วนใหญ่รวมทั้งภาษาฮีบรู นอกจากนี้ยังมีชาวยิวที่พูดภาษากรีกเป็นส่วนใหญ่หรือพูดแต่เฉพาะภาษากรีก ชาวยิวเหล่านี้ที่พูดภาษากรีกถูกเรียกว่า “พวกกรีก” ในกิจการ 6:1; 9:29; 11:20[47] มีหลายคนในพวกเขาใช้พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์ (ฉบับ LXX) ซึ่งเป็นการแปลพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูมาเป็นภาษากรีก การอ้างอิงส่วนใหญ่จากพระคัมภีร์เดิมในพระคัมภีร์ใหม่เอามาจากฉบับ LXX ซึ่งเป็นพระคัมภีร์หลักของบรรดาผู้เชื่อที่พูดภาษากรีกในคริสตจักรยุคแรกๆ ผลของความก้าวหน้าในเรื่องนี้ควบคู่กับการระงับการใช้พระนามยาห์เวห์ของฉบับ LXX ทำให้พระนามของพระยาห์เวห์หายไปจากคริสตจักรในที่สุด
ดีที่ชาวยิวที่พูดภาษาอาราเมคและภาษาฮีบรู ซึ่งมีความคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ฮีบรูรู้จักพระนามยาห์เวห์ (YHWH) แต่ไม่เป็นเช่นนั้นกับบรรดาผู้เชื่อที่พูดภาษากรีก ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นปัญหาร้ายแรง เพราะคริสตจักรยังคงยึดแน่นอยู่ในความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ แม้จะมีคำ “Lord” (“องค์ผู้เป็นเจ้า”) มาแทนที่คำ “Yahweh” (“ยาห์เวห์”) ในฉบับ LXX ผู้เชื่อชาวยิวส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะพูดภาษาอาราเมคหรือพูดภาษากรีกต่างก็รู้ว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นบางครั้งจะหมายถึงพระยาห์เวห์ โดยเฉพาะในข้ออ้างอิงที่มาจากพระคัมภีร์เดิม อีกทั้งในบริบทอื่นๆอีกมากมาย พวกเขายังรู้ด้วยว่าพระเยซูทรงเป็น “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ในความหมายที่ต่างกัน หลังจากที่พระองค์ได้ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมาจากความตายโดยฤทธานุภาพของพระเจ้า เปโตรประกาศในวันเพ็นเทคอสต์ว่า “ให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งหมดทราบแน่นอนว่า พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูที่ท่านทั้งหลายตรึงไว้บนกางเขนนั้น ให้เป็นทั้งองค์ผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์” (กิจการ 2:36) เนื่องจากพระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้พระเยซูเป็นองค์ผู้เป็นเจ้า พระเยซูจึงทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง
ปัญหาที่ร้ายแรงเกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่สอง เมื่อการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าเริ่มจะ ฝังรากในคริสตจักรต่างชาติ ดังที่สะท้อนให้เห็นในคำกล่าวของเมลิโตแห่งซาร์ดิส และไม่นานหลังจากนั้นก็ในคำกล่าวของเทอร์ทุลเลี่ยน[48]บุคคลที่รู้จักกันดีตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 3 เมื่อพระเยซูได้ทรงถูกยกขึ้นเป็นพระเจ้าแล้ว ผู้เชื่อที่เป็นคนต่างชาติบางคนก็เริ่มเชื่อในพระเจ้าสององค์ที่มีอำนาจเท่าๆกันหรือพระเจ้าเดียวในสองบุคคล (ทวิเอกานุภาพ)[49] ความเชื่อทั้งสองนี้เหมือนกันอย่างแท้จริง สิ่งนี้สร้างความสับสนอย่างมากในการใช้คำ “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างไม่เจาะจงกับพระยาห์เวห์และกับพระเยซูคริสต์ ผลกลับเป็นว่า ต่อมาบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะใช้คำเรียก “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) มาใช้กับพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นพระเจ้า! การชี้นำข้อสรุปนี้ บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกำลังใช้ข้อผิดพลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่พวกเขาสร้างขึ้นแต่แรก ที่จะพิสูจน์ข้อผิดพลาดเดียวกันของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ
คริสตจักรต่างชาติตัดชื่อ “พระยาห์เวห์” (Yahweh) ออก เพราะชื่อนี้ไม่เข้ากับสถานการณ์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว พระเจ้าพระบิดาเป็นพระเจ้าหนึ่งในสามพระองค์ ในขณะที่พระคัมภีร์บอกว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระยาห์เวห์ (อิสยาห์ 45:5)[50] การยกระดับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพขึ้นเป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ก็ได้ตัดความจำเป็นใดๆในทางปฏิบัติที่จะต้องมีพระเจ้าอื่นที่ไม่ใช่พระเยซู ยิ่งกว่านั้น พระเยซูทรงมีชื่อ แต่พระเจ้าพระบิดาและพระเจ้าพระวิญญาณไม่มีชื่อ พระเจ้าพระบิดาเป็นเพียงพระบิดาของพระเยซูคริสต์ และบทบาทของพระองค์ถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระเจ้าพระบุตร และเนื่องจากมีการกล่าวถึงพระบุตรว่าทรงเท่าเทียมกับพระบิดาทุกประการ ฉะนั้นถ้าเรามีพระบุตรอยู่แล้ว เราจะต้องการพระบิดาไปทำไม? เมื่อยังเป็นบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น เราให้ความเคารพพระบิดา แต่ไม่ได้ต้องการพระองค์จริงๆ เพราะพระเยซูทรงเป็นทุกสิ่งเพียงพอแล้ว ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับต่างๆนั้น จะเห็นว่าชื่อของพระยาห์เวห์ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นบางฉบับ เช่น NJB และ HCSB[51]
เพราะความสับสนในการใช้ “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ที่ปนกันในคริสตจักร จึงเป็นการดีที่สุดที่จะกลับมาพูดถึงพระเจ้าว่าพระยาห์เวห์ แทนที่จะพูดแค่ว่าองค์ผู้เป็นเจ้า ไม่มีข้อห้ามในพระคัมภีร์ที่จะพูดถึงพระเจ้าที่เที่ยงแท้องค์เดียวว่าพระยาห์เวห์
การที่พระเยซูทรงมีพระบิดาก็เป็นการตัดโอกาสพระองค์ที่จะเป็นพระเจ้าแล้ว
พระคัมภีร์ใหม่พูดถึงพระยาห์เวห์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นพระเจ้าและพระบิดาของผู้เชื่อทั้งหลาย ที่สำคัญคือพระยาห์เวห์ทรงเป็นทุกสิ่งนี้กับพระเยซู เช่น “เรากำลังจะขึ้นไปหาพระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน ไปหาพระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน” (ยอห์น 20:17) ในพระคัมภีร์ไม่ได้มีปัญหาในการกล่าวถึงพระยาห์เวห์โดยสามคำเรียกนี้ (องค์ผู้เป็นเจ้า, พระเจ้า, พระเจ้าพระบิดา) แม้แต่ในความเกี่ยวข้องกับพระเยซู
เปาโลก็พูดอย่างเดียวกันถึง “พระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์องค์ผู้เป็นเจ้าของเรา” (โรม 15:6; 2 โครินธ์ 1:3; 11:31; เอเฟซัส 1:3; เปรียบเทียบกับ 1 เปโตร 1:3)[52] ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าจริงๆ ฉะนั้นพระเจ้าก็จะเป็นพระเจ้าของพระเจ้า
ข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซูทรงมีพระบิดา นี่ก็เป็นการตัดโอกาสพระองค์ที่จะเป็นพระเจ้าเสียแล้ว นั่นเป็นเพราะเปาโลกล่าวถึง “พระเจ้าองค์เดียวและเป็นพระบิดาของทุกคน” (เอเฟซัส 4:6)[53] พูดอีกอย่างก็คือ มีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและพระเจ้าองค์นั้นก็คือพระบิดาของทุกคน เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ไม่ใช่พระบิดาของทุกคนก็ไม่ใช่พระเจ้า แต่พระเยซูไม่ใช่พระบิดาอย่างแน่นอน (ไม่ใช่พระบิดาแม้ในความเชื่อตรีเอกานุภาพ) จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะเป็นพระบิดาของทุกคน เราไม่ได้เรียกประชากรของพระเจ้าว่า “บรรดาบุตรของพระเยซู” หรือ “ลูกของพระคริสต์” และพวกเขาก็ไม่ได้ร้องว่า “อับบา พระคริสต์!” ตรงกันข้ามกับ 1 ยอห์น 5:18[54] ที่กล่าวว่าเรา “เกิดจากพระเจ้า” และกล่าวว่าพระเยซูก็ทรง “บังเกิดจากพระเจ้า” ในประโยคเดียวกัน!
เมลิโตแห่งซาร์ดิส ผู้บุกเบิกในยุคแรกๆของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ
เพียงแค่ร้อยปีหลังจากที่บารนาบัสกับเปาโลถูกกราบไหว้เป็นพระเจ้าในแผ่นดินของคนต่างชาติ (กิจการ 14:12)[55] เมลิโตแห่งซาร์ดิสก็อยู่ครึ่งทางของความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว เนื่องจากวัฒนธรรมของการเชื่อพระเจ้าหลายองค์ของคนนอกศาสนาที่เขาเติบโตขึ้น เมลิโตจึงสามารถพูดถึง “พระเจ้าที่ถูกฆ่าตาย” ได้โดยไม่ได้ตระหนักแม้แต่น้อยว่า การพูดถึงความตายของพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวนั้นคือการหมิ่นประมาท
เมลิโตแห่งซาร์ดิส ไม่ได้เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่เป็นผู้เชื่อในทวิเอกานุภาพ (ผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นสองบุคคลในพระเจ้าเดียว) เพราะเขาไม่ได้มองว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระองค์ที่สาม เมลิโตยังสอนอีกด้วยว่าในพระเยซูมีสอง “ธรรมชาติ” คือมนุษย์และพระเจ้า สิ่งนี้ทำให้เมลิโตเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกยุคต้นๆของหลักข้อเชื่อในตรีเอกานุภาพที่มีขึ้นในศตวรรษที่ 4 และ 5
เมลิโตมีชีวิตอยู่ประมาณกลางศตวรรษที่สองและเขาเสียชีวิตราวๆ ปี ค.ศ. 190 เขาเป็นหัวหน้าบาทหลวงแห่งซาร์ดิสในภูมิภาคเอเชียที่พูดภาษากรีกซึ่งปัจจุบันอยู่ในตุรกี งานเขียนมากมายของเขาที่ส่วนใหญ่ได้สูญหายไปนั้น เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าได้เริ่มขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 2 แท้จริงแล้วก็เพียงร้อยกว่าปีหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ และก่อนการสังคายนาแห่งไนเซียในปี ค.ศ. 325 อย่างแน่นอน
สองข้อความที่ตัดตอนมาต่อไปนี้จากงานเขียนของเมลิโตซึ่งรวบรวมไว้ที่ Error! Hyperlink reference not valid.melito.htm นำมาจากหนังสือชุดเกี่ยวกับบรรพชนก่อนการประชุมแห่งไนเซีย[56] (เล่ม 8) ในข้อความที่ตัดตอนมาต่อไปนี้ เมลิโตสอนเรื่องความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ และว่าพระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าที่ถูกฆ่าตาย:
พระเจ้าผู้มาจากพระเจ้า พระบุตรผู้มาจากพระบิดา พระเยซูคริสต์ผู้เป็นกษัตริย์ที่ดำรงนิรันดร์... พระองค์ผู้ทรงทนทุกข์บนโลกได้ทนทุกข์อยู่บนต้นไม้ องค์ผู้เป็นเจ้าทรงรับความน่าอดสูด้วยร่างกาย ที่เปลือยเปล่า พระเจ้าที่ถูกฆ่าตาย กษัตริย์ของอิสราเอลที่ถูกสังหาร! (การอภิปรายเรื่องกางเขน,[57] ข้อ IV, VI)
ในข้อความที่ตัดตอนถัดมา เมลิโตกล่าวว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริง พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าและเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ในเวลาเดียวกัน และความเป็นพระเจ้าของพระองค์นั้นซ่อนอยู่ในกายมนุษย์ของพระองค์
เพราะสิ่งที่กระทำโดยพระคริสต์หลังจากที่พระองค์ทรงรับบัพติศมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำอัศจรรย์ต่างๆของพระองค์ ได้ชี้ให้เห็นและให้ความมั่นใจกับโลกถึงความเป็นพระเจ้าที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหนังของพระองค์ เพราะในทำนองเดียวกัน การเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์อย่างสมบูรณ์ในเวลาเดียวกันนั้น พระองค์ได้ทรงบ่งชี้แน่นอนถึงสองสภาวะของพระองค์ นั่นคือความเป็นพระเจ้าของพระองค์ โดยการทำอัศจรรย์ต่างๆ ของพระองค์ในช่วงสามปีที่ผ่านไปหลังจากบัพติศมาของพระองค์ และความเป็นมนุษย์ของพระองค์ ในช่วงสามสิบปีไล่เลี่ยก่อนการรับบัพติศมาของพระองค์ เพราะด้วยฐานะที่ต่ำต้อยของพระองค์เกี่ยวกับกายเนื้อหนังนั้น พระองค์ทรงซ่อนร่องรอยการเป็นพระเจ้าของพระองค์ แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าอย่างแท้จริงที่ดำรงอยู่ก่อนทุกยุคสมัย (สภาวะของพระคริสต์, 760)
บ็อบ ธีล[58]ผู้รวบรวมข้อมูลข้างต้นกล่าวดังนี้ว่า:
เมลิโตไม่ได้เป็นผู้ที่เชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว เขาเห็นว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า (แม้ว่าจะเป็นพระเจ้าผู้ทรงซ่อนร่องรอยบางส่วนในความเป็นพระเจ้าของพระองค์) และเห็นว่าพระบิดาทรงเป็นพระเจ้า ซึ่งนี่เป็นมุมมองของผู้ที่เชื่อว่ามีพระเจ้าสององค์ เราควรสังเกตว่า เมลิโตไม่เคยกล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าเป็นพระเจ้า ... เนื่องจากนักวิชาการที่เชื่อถือได้ทุกคนต่างยอมรับว่าผู้นำคริสเตียนยุคแรกๆไม่ได้สนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพสมัยใหม่ คือบรรดาผู้ที่สนใจในความเชื่อซึ่งได้มอบให้กับธรรมิกชนทั้งหลายในที่สุดนั้น จะไม่ยอมรับความคิดที่ว่า ความเชื่อที่แท้จริงได้ค่อยๆถูกเปิดเผยออกมา (คำตัวเอนเป็นของธีล)
ในคำบรรยายที่แปดจากหลักสูตรสำคัญของบาร์ต แอร์แมน[59]กล่าวถึงเมลิโตแห่งซาร์ดิสและคำเทศนาวันอีสเตอร์ของเขา การยกพระคริสต์ขึ้นเป็นพระเจ้าได้รับการยอมรับอย่างเต็มๆในคำสอนของเมลิโต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงกลางศตวรรษที่สอง พระเยซูที่ถูกยกขึ้นเป็นพระเจ้าได้กลายเป็นที่ยึดมั่นในคริสตจักรของคนต่างชาติ ดังนั้น “การแยกคนละทางกัน” ต้องเริ่มเร็วกว่าที่คาดคิดไว้
การยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าและการต่อต้านชาวยิว
ผลตามมาที่น่ากลัวของการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าก็คือ ข้อหาการต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรงที่เมลิโตแห่งซาร์ดิสได้กล่าวหาชาวยิวว่าฆ่าพระเจ้า นั่นไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะนึกภาพผลที่ตามมาของข้อกล่าวหานี้จากเมลิโตและบรรพบุรุษคนอื่นๆของคริสตจักรยุคแรกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเกลียดชังและความรุนแรงกับชาวยิวที่ต่อมามีการปลุกปั่นขึ้นในยุโรป การยกพระคริสต์ขึ้นเป็น พระเจ้าพร้อมๆกับการเบี่ยงเบนอย่างสุดขีดไปจากความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวของชาวยิว ได้กลายเป็นสถานการณ์ที่ส่งเสริมให้มีการต่อต้านชาวยิวอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่าต้นตอของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อยู่ที่นี่เอง
บางคนตั้งข้อสังเกตว่า การต่อต้านชาวยิวในหมู่บรรพบุรุษของคริสตจักรยุคแรกๆได้ขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ศตวรรษที่ 4[60] นี่เป็นศตวรรษที่มีสภาสังคายนาแห่งไนเซียปี ค.ศ. 325 (ซึ่ง กำหนดความเชื่อในทวิเอกานุภาพ) และสภาสังคายนาแห่งคอนสแตนติโนเปิลปี ค.ศ. 381 (ซึ่ง กำหนดความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สิ่งเช่นนั้นได้เกิดขึ้น) ไม่ว่าจะมีเหตุผลอื่นใดที่ทำให้การต่อต้านชาวยิวเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ก็ได้แต่เพียงคาดการณ์เท่านั้น แต่ไม่มีสิ่งอื่นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หรือทางศาสนาในศตวรรษที่ 4 ที่สามารถอธิบายได้อย่างมีเหตุผลในการลุกขึ้นมาต่อต้านชาวยิวอย่างเด่นชัด
ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและบรรพบุรุษของคริสตจักรยุคแรกๆบางคน ทั้งที่อยู่ก่อนการสังคายนาแห่งไนเซียและอยู่หลังการสังคายนาแห่งไนเซีย ได้กล่าวต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรงในงานเขียนและคำประกาศอย่างเปิดเผยของพวกเขา งานเขียนที่สำคัญเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการต่อต้านชาวยิวจาก บรรพบุรุษของคริสตจักรยุคแรก ก็คือหนังสือของโรเบิร์ต มิเชล เรื่องความเกลียดชังที่น่ากลัว: คริสต์ศาสนา, การต่อต้านชาวยิว, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[61] ข้อความบางส่วนต่อไปนี้ตัดตอนมาจากหนังสือที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของคริสตจักรบางคนผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น
... [กับบรรพบุรุษของคริสตจักรยุคแรกๆส่วนใหญ่แล้ว] ชาวยิวทุกคนต้องเป็นผู้รับผิดชอบตลอดไปกับการฆ่าพระเจ้า ดังนั้นชาวยิวจึงน่ารังเกียจและต้องรับการกระทำทุกอย่างที่อยุติธรรมกับพวกเขา ตามความเห็นของออกัสตินแล้ว การไม่ถึงกับฆ่าก็เป็นเหตุผลอันควร และแม้แต่การฆ่าบางทีก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว (หน้า 2)
เจอโรม[62]อ้างว่าชาวยิวทุกคนเป็นยูดาส และเป็นสัตว์ร้ายโดยธรรมชาติที่ทรยศองค์ผู้เป็นเจ้าเพื่อเงิน จอห์น คริสซอสตอม[63]เรียกชาวยิวว่าคนที่ฆ่าพระเจ้า [ฆาตกรฆ่าพระเจ้า] โดยไม่มีโอกาส “ลบมลทินบาป ยกโทษให้ หรือแก้ตัว” (หน้า 5)
เอฟราอิมแห่งซีเรีย[64]นักศาสนศาสตร์ในศตวรรษที่สี่ เรียกชาวยิวว่าพวกสุนัขที่เข้าสุหนัต; จอห์น คริสซอสตอมเรียกพวกเขาว่าพวกสัตว์ร้ายที่เข้าสุหนัต... เทอร์ทูลเลียนแนะว่าพระเจ้าทรงตั้งพระทัยให้การเข้าสุหนัตเป็นการระบุว่าเป็นพวกยิว เพื่อที่พวกเขาจะกลับเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้อีก (หน้า 22)
ข้อสรุปในการต่อต้านชาวยิวของเทอร์ทูลเลียนก็เหมือนกับของพวกบรรพบุรุษส่วนใหญ่ ที่มักจะทั้งสะเทือนอารมณ์และโหดเหี้ยม ในเกมการแสดงในอัฒจันทร์นั้น[65] เขาเพ่งดูด้วยความพอใจและดีอก ดีใจ โดยคิดในใจถึงวิธีที่พระเยซูจะทรงลงโทษชาวยิว (หน้า 26)
[เจอโรม] แย้งว่า พระเจ้าได้ประทานบัญญัติแก่พวกยิวเพื่อจงใจหลอกลวงพวกเขา และนำพวกเขาไปสู่ความพินาศ (หน้า 26)
วันอาทิตย์วันหนึ่ง แอมโบรส [หัวหน้าบาทหลวงแห่งมิลานของศตวรรษที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ผู้ทรง คุณวุฒิแรกเริ่มของคริสตจักรคาทอลิก] ได้เทศนาเกี่ยวกับคริสตจักรและธรรมศาลาที่มีจักรพรรดิธีโอโดเซียส[66]เข้าร่วม พระองค์เพิ่งถูกเขาขับออกจากศาสนาไม่นานก่อนหน้านี้และตอนนี้กลับใจและเปิดใจรับอิทธิพลของเขาอย่างมาก แอมโบรสได้ติเตียนต่อหน้าจักรพรรดิถึงการกระทำของพระองค์ที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของชาวยิว โดยแย้งว่าการเผาธรรมศาลาเป็นการกระทำที่ชอบธรรม และถ้ากฎหมายห้ามไม่ให้ทำ ก็แสดงว่ากฎหมายนั้นผิด เขาปฏิเสธการเข้าร่วมกับเขา โดยขู่จักรพรรดิและพระโอรสของพระองค์ว่าจะถูกขับออกจากศาสนาอีกครั้ง เว้นแต่พระองค์จะทรงยกเลิกบทลงโทษบาทหลวงที่ก่อความไม่สงบ ในที่สุด ธีโอโดเซียสก็สัญญาที่จะทำตามสิ่งที่แอมโบรสเรียกร้อง (p.33)
จอห์น คริสซอสตอม เป็นนักเทศน์ผู้มีอิทธิพลอย่างมาก ฮิตเลอร์แสดงความชื่นชมต่อความคิดที่ต่อต้านชาวยิวในเรื่องที่ “คริสเตียนแท้ทุกคนมีขีดความสามารถที่โดดเด่น” เขานับจอห์น คริสซอสตอมอยู่ในพวกนี้ (หน้า 35)
คริสซอสตอมต้องการให้ชาวยิวที่ไร้ประโยชน์เหล่านี้ถูกฆ่า สัตว์ที่ไม่ยอมลากคันไถต้องถูกฆ่าฉันใด ชาวยิวผู้ไร้ประโยชน์ก็ “เกิดมาเพื่อถูกฆ่า” ฉันนั้น นี่เป็นเหตุที่พระคริสต์ตรัสว่า “ส่วนพวกศัตรูของเราที่ไม่ต้องการให้เราปกครองพวกเขานั้น จงพาเขามาที่นี่ แล้วฆ่าเสียต่อหน้าเรา” ด้วยเกรงว่าเราจะพลาดประเด็นเกี่ยวกับการฆ่าชาวยิวที่ “ไร้ประโยชน์” คริสซอสตอมจึงกล่าวซ้ำโดยเพิ่มข้ออ้างอิงลูกา 19:27 ที่เขากล่าวอ้างอย่างเจาะจงถึงคำสั่งของพระเยซูที่จะต้องฆ่าชาวยิวเสีย ต่อมาคริสซอสตอมให้ความโหดร้ายเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยโต้แย้งว่า “สิ่งที่ทำไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของสิ่งทั้งปวง แม้ว่าจะดูเลวร้ายก็ตาม.. สมมติว่ามีใครฆ่าใครสักคนตามพระประสงค์ของ พระเจ้า การฆ่านี้ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าความรักความเมตตาใดๆ” (หน้า 35)
ควรสังเกตว่า โรเบิร์ต มิเชลผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เป็นปรปักษ์กับพระเยซูคริสต์ และที่จริงแล้วพูดถึงพระองค์ในแง่บวก โดยแสดงความชื่นชมอย่างมากกับคำสอนของพระองค์เรื่องกางเขน การปฏิเสธตนเอง และความรักต่อเพื่อนมนุษย์
... ศาสนศาสตร์เกี่ยวกับกางเขน[67]มีพื้นฐานมาจากคำตรัสของพระเยซูในพระกิตติคุณมัทธิว (16:24-25) ว่า “ถ้าใครต้องการจะติดตามเรา ให้คนนั้นปฏิเสธตนเอง รับกางเขนของตนแบกและตามเรามา เพราะว่าใครต้องการจะเอาชีวิตรอด คนนั้นจะเสียชีวิต แต่ใครยอมเสียชีวิตเพราะเห็นแก่เรา คนนั้นจะได้ชีวิตรอด” ในความเชื่อนี้เรียกร้องให้คริสเตียนซื่อสัตย์ที่จะปฏิบัติตามคำสอนในทางธรรมของพระเยซูเกี่ยวกับมนุษย์ทุกคน แม้จะเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขาเอง... ศาสนศาสตร์เกี่ยวกับกางเขนเน้นความทุกข์ยากร่วมกันในหมู่มนุษย์ทุกคน ทั้งคนต่างชาติและชาวยิว ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ของพวกคริสเตียนที่ช่วยชาวยิวในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เผยให้เห็นแรงจูงใจมากมายที่แตกต่างกับพฤติกรรมของพวกเขา แต่แรงจูงใจส่วนใหญ่เหล่านี้มาจากแบบอย่างพฤติกรรมของมนุษย์ที่พบในหลักคุณธรรมของยูเดโอ-คริสเตียน[68]ของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ
คำกล่าวต่อต้านชาวยิวของเหล่าบรรพบุรุษของคริสตจักรยุคแรกๆ สามารถพบกระจัดกระจายอยู่หลายที่ในหนังสือชุดบรรพชนก่อนการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย[69] (10 เล่ม) และบรรพชนช่วงการประชุมและหลังการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย[70] (28 เล่ม) มีสองสามคำกล่าวต่อต้านชาวยิวซึ่งส่วนใหญ่แสดงความเป็นปรปักษ์ทางศาสนศาสตร์ ได้ถูกรวมอยู่ในพจนานุกรมเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียนยุคแรก หน้า 375-378 ของเดวิด เบอร์คอท;[71] นี่คือคำกล่าวบางส่วนโดยบรรดาบรรพบุรุษของคริสตจักรยุคแรก (พร้อมด้วยเล่มและหมายเลขหน้าจากหนังสือชุดบรรพชนก่อนการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย)
ชาวยิวเคยอยู่ในพันธสัญญากับพระเจ้ามาก่อน แต่ภายหลังถูกทอดทิ้งเพราะความบาปของพวกเขา พวกเขาจึงเริ่มอยู่โดยปราศจากพระเจ้า เทอร์ทูลเลียน (c.197), 3.247
หมายสำคัญที่เธอ [อิสราเอล] ได้รับหนังสือหย่าร้าง [จากพระเจ้า] ก็คือ กรุงเยรูซาเล็มได้ถูกทำลายพร้อมกับเธอ สิ่งที่พวกเขาเรียกว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ออริเกน[72] (c.245), 9.507
ตั้งแต่การเสด็จมาของพระคริสต์ ก็ไม่ได้มีผู้เผยพระวจนะในท่ามกลางชาวยิว เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ละทิ้งพวกเขา ออริเกน (c.248) 4.614
บัดนี้ธรรมศาลาที่ชั่วร้ายก็ถูกพระเจ้าทอดทิ้ง พระองค์ได้ทรงปฏิเสธพระนิเวศของพระองค์เอง ดังที่พระองค์ตรัสว่า “เราได้ละทิ้งนิเวศของเราเสียแล้ว เราได้เหวี่ยงมรดกของเราทิ้ง” ข้อปฏิบัติของอัครทูต[73] (c.390), 7.451
การทดลองของพระเยซู
เมื่อพิจารณาถึงหัวข้อสำคัญของการทดลองแล้ว ความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะลดให้หมดความ หมายในกรณีของพระเยซู เพราะพระเยซูที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าเป็นพระเจ้านั้น จะไม่สามารถถูกทด ลองให้ทำบาปได้เลย เพราะยากอบ 1:13 กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ความชั่วไม่สามารถจะล่อลวง พระเจ้าได้” ความเข้าใจของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับการทดลองของพระเยซู จะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงจากพระคัมภีร์ที่ว่า พระองค์ได้ทรงถูก “ทดลองใจเหมือนเราทุกอย่าง” (ฮีบรู 4:15)[74] การทำให้การถูกทดลองของพระเยซูหมดความหมาย แล้วยังเป็นเรื่องตลกนั้น ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ทำให้เราตาบอดจนไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
แต่พระคัมภีร์ใหม่ประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่แท้จริงที่ถูกทดลองเหมือนเราทุกประการ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระเยซูจะทรงเผชิญกับการทดลองทุกอย่างในชีวิตโดยไม่เคยล้มเหลวสักครั้งได้อย่างไร? คำตอบที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพตอบคำถามนี้มีผลในการลดความหมายของการทดลอง และการต่อสู้ที่สำคัญกับชีวิตของมนุษย์ให้หมดความหมาย เพราะถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ก็ไม่สามารถถูกทดลองได้ จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงการยอมจำนนต่อบาป มันคงไม่น่าเชื่อที่จะบอกว่าพระเยซูทรงเห็นใจในการต่อสู้ทางคุณธรรมและทางจิตวิญญาณของเรา หรือทรงเห็นใจกับความพ่ายแพ้อันเจ็บปวดของเราในการต่อสู้เหล่านี้ ในเมื่อตัวพระองค์เองไม่มีวันจะล้มเหลวได้และไม่จำเป็นต้องต่อสู้ด้วยซ้ำ เพราะไม่มีการทดลองใดจะสามารถทำให้พระเจ้าพ่ายแพ้ได้ สิ่งนี้ทำให้ความเป็นมนุษย์ของพระเยซูไม่เกี่ยวข้องกับเรา
แม้จะมีคำคัดค้านของบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ พระเยซูของพวกเขาก็เป็นแค่ร่างมนุษย์ ที่พระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพเข้ามาแทนที่ พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่มีใจ ปรารถนาของมนุษย์ แต่แม้หากว่าพระองค์มี ก็จะเป็นการถูกครอบงำด้วยพระประสงค์ของ “พระเจ้าพระบุตร” ที่ใจปรารถนาของมนุษย์จะสามารถทำงานได้ภายในพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้น ดังนั้น ถึงแม้ว่าพระเยซูจะทรงมีใจปรารถนาที่อิสระของมนุษย์ (ซึ่งอย่างไรก็ดีโดยทั่วไปแล้วจะถูกปฏิเสธในความเชื่อตรีเอกานุภาพ) มันก็ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่ในคนๆเดียวกันจะมีใจปรารถนาของมนุษย์ที่ทำงานอย่างอิสระจากพระประสงค์ของพระเจ้าพระองค์ที่สองในตรีเอกานุภาพ ในประวัติศาสตร์คริสตจักรนั้น ปัญหาทางศาสนศาสตร์เช่นนี้เกิดขึ้นจากการตั้งพระเยซูเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ตามที่เชื่อกันทั่วไป และได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในความเชื่อใน
ตรีเอกานุภาพ โดยเฉพาะกับคำสอนของเนสโตเรียส[75]เกี่ยวกับสองบุคคล คือมนุษย์และพระเจ้าในพระคริสต์
แต่การทดลอง ซึ่งเป็นการต่อสู้กับบาปที่หมายถึงชีวิตและความตายนี้ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ประจำวันที่ผู้เชื่อจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเราเอาชนะความบาปด้วยฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณของพระเจ้าที่สถิตภายใน เราก็ก้าวไปสู่ความสมบูรณ์แบบที่เราได้ถูกเรียกให้เป็น และพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบก็เพราะทรงมีชัยชนะอย่างสมบูรณ์ต่อบาป
แต่ความจริงที่มีอานุภาพนี้เปลี่ยนเป็นความยุ่งเหยิงในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ถ้าหากจะถามคริสเตียนว่า ทำไมพระเยซูจึงทรงสมบูรณ์แบบและปราศจากบาป คำตอบที่ได้รับเช่นเคยก็คือ “เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า และพระเจ้าทรงสมบูรณ์แบบ[76]” ไม่ว่าบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะพยายามจะเสริมแต่งความเป็นมนุษย์ของพระเยซูให้ดูเหมือนกับเรามากแค่ไหน ความจริงก็ยังคงมีอยู่ว่า ในหลักความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น พระเยซูที่เป็นมนุษย์นั้นจริงๆแล้วเป็นเพียงแค่ร่างกายมนุษย์ที่พระเจ้าพระบุตรมาสถิตอยู่ภายใน ถ้าถามว่าตามหลักการแล้ว พระเยซูผู้ปราศจากบาปนี้ จะสามารถทำบาปได้หรือไม่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนใหญ่จะตอบว่า “ไม่ได้” เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะถูกทดลอง นี่จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่จะทำบาป อย่างไรก็ตามพระเยซูก็ทรงสมบูรณ์แบบอยู่แล้วในทั้งสองสภาวะของพระองค์เนื่องจากการรวมเป็นหนึ่งของความเป็นพระเจ้าและความเป็นมนุษย์ของพระองค์ ดังนั้นความพยายามใดๆที่จะทำลายความสมบูรณ์แบบของพระองค์โดยการทดลองพระองค์ให้ทำบาปก็จะเปล่าประโยชน์และไม่มีผล ซาตานจะต้องโง่แน่ๆ ถ้าจะพยายามมาทดลอง! นั่นคือเหตุผลที่เราพูดว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพเปลี่ยนเรื่องการทดลองให้เป็นเรื่องตลก
แต่พระเยซูที่แท้จริง คือพระเยซูตามพระคัมภีร์นั้นจะแตกต่างกันมาก เพราะพระองค์ได้ทรงต่อสู้กับความบาปจนถึงกับพระเสโทและน้ำพระเนตรไหล ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนี้เลยถ้าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ
ในคำวิงวอนของพระเยซูตามพระคัมภีร์ต่อพระยาห์เวห์พระบิดาของพระองค์ว่า “พระเจ้าได้ทรงสดับในสิ่งที่พระองค์กลัว” (ฮีบรู 5:7, ฉบับ KJV) พระองค์กลัวอะไรหรือ? กลัวตัวตายหรือ? ไม่ใช่แน่นอน เพราะพระเยซูเป็นผู้ที่ตรัสว่า “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย แต่ไม่สามารถฆ่าจิตวิญญาณ แต่จงกลัวพระองค์ผู้ทรงสามารถทำลายทั้งจิตวิญญาณและกายในนรกได้” (มัทธิว 10:28) สิ่งที่พระเยซูทรงกลัวไม่ใช่ความตาย แต่เป็นอันตรายถึงตายจากการยอมจำนนต่อบาปและทำให้งานในการไถ่มวลมนุษย์จากความบาปต้องล้มเหลว ผมเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะมีอะไรที่พระเยซูทรงกลัว มันก็ไม่ใช่เพื่อตัวพระองค์เอง เช่นเดียวกับเปาโล (ผู้มีพระทัยของพระคริสต์ 1 โครินธ์ 2:16)[77] ก็เต็มใจที่จะถูกสาปแช่งเพื่อเห็นแก่พวกพี่น้องชาวยิวของเขา โดยแลกจิตวิญญาณของเขากับจิตวิญญาณของพวกเขาเหล่านั้น (โรม 9:3)[78]
แต่ด้วยความหนักอึ้งในการไถ่บาปของมวลมนุษย์ที่เป็นความรับผิดชอบของพระองค์แต่เพียงผู้เดียวนั้น พระเยซูก็ยังสามารถจะล้มเหลวได้ในส่วนของพระองค์ ถึงแม้ว่าพระยาห์เวห์จะสถิตอยู่ในพระองค์ก็ตาม เราอาจไม่สามารถเข้าใจถึงความรับผิดชอบอันหนักหน่วงที่ขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณของพระองค์ แต่เราก็ตระหนักดีถึงความเป็นไปได้อันน่าสะพรึงกลัวของความล้มเหลวทางคุณธรรม แม้แต่ในกรณีของผู้ที่มีพระวิญญาณของพระยาห์เวห์สถิตอยู่ภายใน ดังนั้นจึงสามารถใช้ฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าเพื่อชัยชนะเหนือความบาป เราจึงเห็นแวบหนึ่งของความน่าอัศจรรย์และความงดงามในชัยชนะของพระเยซูเหนือความบาป ด้วยการผ่านความทุกข์ยากจากการทดสอบและการทดลองหลายครั้งในช่วงหลายปี พระองค์จึงได้ทรงบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ
พระเยซูคืออาดัมคนสุดท้ายที่มีชัยชนะ ซึ่งตรงกันข้ามกับอาดัมคนแรก ชัยชนะของพระองค์เหนือความบาปทำให้มวลมนุษย์ได้รับการไถ่ ด้วยเหตุนี้พระเยซูผู้เป็นขึ้นจากความตายจึงได้มาเป็น “วิญญาณผู้ประทานชีวิต” (1 โครินธ์ 15:45)[79]
สุดท้ายนี้เพื่อให้เห็นถึงความสับสนตามแบบฉบับของความเข้าใจตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับการทดลองของพระเยซู ต่อไปนี้เป็นข้อความที่ตัดตอนมาเพื่อช่วยเปิดหูเปิดตา จากหนังสือ ศาสนศาสตร์ระบบ: ความรู้เบื้องต้นในหลักคำสอนของพระคัมภีร์โดยเวย์น กรูเด็ม[80] (ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นหนังสือศาสนศาสตร์ระบบที่ขายดีที่สุดในโลกทุกวันนี้)
ข้อความที่ตัดตอนนี้มาจากหนังสือศาสนศาสตร์ระบบของเวย์น กรูเด็ม, บทที่ 26, ท่อน A4:
เรายังต้องยืนยันด้วยพระคัมภีร์ว่า “เพราะว่าพระเจ้าจะถูกความชั่วล่อลวงไม่ได้” (ยากอบ 1:13) แต่คำถามนี้จะกลายเป็นเรื่องยาก คือถ้าหากพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์...แล้วเราจะไม่ต้องยืนยันด้วยหรือว่า (ในบางแง่มุม) พระเยซูก็ “ถูกความชั่วล่อลวงไม่ได้” เช่นกัน?
... ณ จุดนี้ เรากำลังเจอกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่คล้ายกับหลายๆภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอื่นๆเกี่ยวกับหลักคำสอนที่ดูเหมือนพระคัมภีร์จะสอนสิ่งที่หากไม่ขัดแย้งกันโดยตรง อย่างน้อยก็ยากมากที่จะรวมเข้าด้วยกันในความเข้าใจของเรา ตัวอย่างเช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพ เรายืนยันว่าพระเจ้าดำรงอยู่ในสามองค์บุคคล และแต่ละองค์บุคคลก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และมีพระเจ้าองค์เดียว ... พระคัมภีร์บอกเราว่า “พระเยซูทรงถูกทดลอง” และ “พระเยซูทรงเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์” และ “พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์” และ “พระเจ้าไม่สามารถจะถูกทดลองได้”
...คำอธิบายต่อไปนี้เป็นลักษณะวิธีการเสนอแนะของการรวมคำสอนต่างๆในพระคัมภีร์มากกว่า และไม่ได้มีคำกล่าวที่ชัดเจนในพระคัมภีร์มาสนับสนุนโดยตรง ด้วยเหตุนี้จึงเหมาะสมที่เราจะกล่าวว่า (1) ถ้าสภาวะมนุษย์ของพระเยซูดำรงอยู่ด้วยตัวเองโดยไม่ขึ้นกับสภาวะพระเจ้าของพระองค์ มันก็จะเป็นสภาวะมนุษย์เหมือนที่พระเจ้าประทานแก่อาดัมและเอวา มันคงจะเป็นอิสระจากบาป แต่กระนั้นก็สามารถทำบาปได้ ดังนั้นหากสภาวะมนุษย์ของพระเยซูดำรงอยู่ด้วยตัวเอง ก็มีความเป็นไปได้ในทางนามธรรมหรือในทางทฤษฎีที่พระเยซูจะสามารถทำบาปได้เช่นเดียวกับสภาวะมนุษย์ของอาดัมและเอวาที่สามารถทำบาปได้ (2) แต่สภาวะมนุษย์ของพระเยซูไม่เคยดำรงอยู่โดยแยกจากการรวมเป็นหนึ่งกับสภาวะพระเจ้าของพระองค์ พระองค์ทรงดำรงอยู่ทั้งในฐานะพระเจ้าอย่างแท้จริงและมนุษย์อย่างแท้จริงตั้งแต่ช่วงการปฏิสนธิของพระองค์ ทั้งสภาวะมนุษย์และสภาวะพระเจ้าของพระองค์รวมกันเป็นบุคคลเดียว (3) แม้ว่าจะมีบางสิ่ง (เช่น หิว กระหาย หรืออ่อนแอ) ที่พระเยซูทรงประสบในสภาวะมนุษย์ของพระองค์เท่านั้น และไม่ได้ทรงประสบในสภาวะพระเจ้าของพระองค์ (ดูด้านล่าง) ถึงกระนั้น การกระทำบาปก็เป็นการกระทำด้านคุณธรรมที่เห็นได้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลทั้งหมดของพระคริสต์ ดังนั้นถ้าพระองค์ได้ทรงทำบาป มันก็จะเกี่ยวข้องกับทั้งสภาวะมนุษย์และสภาวะพระเจ้าของพระองค์ (4) แต่ถ้าพระเยซูในฐานะบุคคลๆหนึ่งได้ทำบาป ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งสภาวะมนุษย์และพระเจ้าของพระองค์ในบาป ดังนั้นพระเจ้าเองก็คงได้ทำบาป แล้วพระองค์ก็จะหยุดเป็นพระเจ้า แต่นั่นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะความบริสุทธิ์ที่ไม่สิ้นสุดของสภาวะของพระเจ้า (5) ดังนั้นหากเราจะถามว่า เป็นไปได้จริงไหมที่พระเยซูจะทรงทำบาป ดูเหมือนเราจะต้องสรุปว่ามันเป็นไปไม่ได้ การรวมกันเป็นหนึ่งของสภาวะมนุษย์และพระเจ้าของพระองค์ในคนๆเดียวนี้ได้กันไม่ให้เป็นไปได้
แต่คำถามยังคงมีอยู่ว่า “แล้วการทดลองของพระเยซูจะเป็นจริงได้อย่างไร?” ตัวอย่างของการทดลองให้เปลี่ยนก้อนหินเป็นขนมปังมีประโยชน์ในเรื่องนี้ พระเยซูทรงมีความสามารถในการทำอัศจรรย์นี้โดยอาศัยสภาวะพระเจ้าของพระองค์ แต่ถ้าพระองค์ทรงทำเช่นนั้น พระองค์ก็จะไม่เชื่อฟังกำลังของสภาวะมนุษย์ของพระองค์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป พระองค์จะทรงล้มเหลวในการทดสอบที่อาดัมก็ล้มเหลวเช่นกัน และพระองค์ก็คงจะไม่ได้ทำให้เราได้รับความรอด ดังนั้นพระเยซูจึงทรงปฏิเสธการพึ่งพาสภาวะพระเจ้าของพระองค์เพื่อให้การเชื่อฟังง่ายขึ้นสำหรับพระองค์ ในลักษณะเดียวกันก็ดูเหมือนเหมาะสมที่จะสรุปว่า พระเยซูทรงเผชิญทุกการทดลองให้ทำบาป ไม่ใช่ด้วยฤทธิ์อำนาจพระเจ้า แต่ด้วยกำลังของสภาวะมนุษย์ของพระองค์เพียงอย่างเดียว (แม้จะไม่ใช่ว่า “เพียงอย่างเดียว” เพราะในการใช้ความเชื่อที่มนุษย์ควรใช้นั้น พระเยซูทรงพึ่งพาพระเจ้าพระบิดาและพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ทุกช่วงเวลา) กำลังทางคุณธรรมของสภาวะพระเจ้าของพระองค์มีอยู่ที่นั่น เพื่อเป็น “ปราการด่านหลัง” ที่จะป้องกันพระองค์จากการทำบาปในทุกกรณี (และด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถพูดได้ว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะทรงทำบาป) แต่พระองค์ไม่ได้ทรงพึ่งพากำลังของสภาวะพระเจ้าของพระองค์ เพื่อให้พระองค์เผชิญกับการทดลองต่างๆได้ง่ายขึ้น และการที่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะเปลี่ยนก้อนหินให้เป็นขนมปังในช่วงเริ่มต้นพันธกิจของพระองค์ ก็เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ...
แล้วเราจะพูดอย่างไรกับข้อเท็จจริงที่ว่า “พระเจ้าจะถูกความชั่วล่อลวงไม่ได้” (ยากอบ 1:13)? ดูเหมือนว่านี่เป็นหนึ่งในหลายสิ่งที่เราต้องยืนยันว่าเป็นจริงกับสภาวะพระเจ้าของพระเยซู แต่ไม่ใช่กับสภาวะมนุษย์ของพระองค์ สภาวะพระเจ้าของพระองค์ไม่สามารถถูกความชั่วล่อลวงได้ แต่สภาวะมนุษย์ของพระองค์สามารถถูกล่อลวงได้และได้ถูกล่อลวงอย่างชัดเจน ทั้งสองสภาวะนี้จะรวมกันในบุคคลเดียวในการเผชิญกับการทดลองได้อย่างไร พระคัมภีร์ไม่ได้อธิบายกับเราอย่างชัดเจน
[จบข้อความตัดตอนจากศาสนศาสตร์ระบบของกรูเด็ม]
เราจะพูดอะไรได้อีก? ในการวิเคราะห์สุดท้ายนั้น ความพยายามของกรูเด็มในการแก้ปัญหาที่ตัวเขาเองสร้างขึ้น ไม่ได้เป็นทางแก้ปัญหาเลยจริงๆ แต่เป็นเพียงการขยายคำอธิบายถึงธรรมชาติของปัญหาในตัวมันเอง หรือจะพูดว่า ยิ่งกรูเด็มพยายามแก้ปัญหามากเท่าใด เขาก็ยิ่งเปิดเผยธรรมชาติของปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ ภาพตัวอย่างที่เขาใช้ เช่น พระเยซูที่เป็นมนุษย์ซึ่งต่อสู้ด้วยตัวพระองค์เอง ด้วยความช่วยเหลือบางส่วนจากพระเยซูที่เป็นพระเจ้าซึ่งทำหน้าที่เป็นปราการด่านหลังนั้น ยังคงแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเป็นสองบุคคล คือมนุษย์และพระเจ้า แม้ว่ากรูเด็มจะใช้ภาษาของ “สองสภาวะ” มากกว่า “สองบุคคล”
พระบุตรไม่รู้เวลาการเสด็จกลับมาของพระองค์
แล้วเรื่องความรอบรู้ทุกสิ่งของพระเยซูที่เชื่อกันโดยทั่วไปล่ะ? ในฐานะที่เป็นพระเจ้าพระบุตรนั้นพระองค์ทรงทราบทุกสิ่งไหม? ได้มีการหยิบยกคำถามขึ้นจริงในกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ว่า พระเยซูจะทรงนั่งทำข้อสอบมหาวิทยาลัยอย่างไรในวิชาฟิสิกส์หรือเคมีโดยไม่ต้องศึกษา (ใช้สถานการณ์ปัจจุบัน) หรือพระเยซูผู้ทรงรอบรู้ทุกอย่างจะจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรเลยหรือไม่ แล้วพระกุมารเยซูทรงรู้ภาษาสันสกฤต ภาษายูการิติก[81] และภาษาจีนโบราณไหม? หรือทรงรู้ภาษาในอนาคต เช่น ภาษาอังกฤษไหม? เราต้องจำไว้ว่า ตามหลักความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว พระกุมารเยซูทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เวย์น กรูเด็มกล่าวว่า “พระองค์ทรงดำรงอยู่ทั้งในฐานะพระเจ้าอย่างแท้จริงและมนุษย์อย่างแท้จริงตั้งแต่ช่วงการปฏิสนธิของพระองค์” (ศาสนศาสตร์ระบบ, 26A4) แต่ผู้ที่รู้ทุกสิ่งจะเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์คนใดจะรู้ทุกสิ่ง? พระเยซูเองทรงให้คำตอบที่ชัดเจนกับคำถามของเรา
“แต่เรื่องวันหรือเวลานั้นไม่มีใครรู้ แม้แต่บรรดาทูตสวรรค์หรือพระบุตร มีแต่พระบิดาเท่านั้นที่ทรงทราบ” (มัทธิว 24:36, ฉบับ NIV, และมาระโก 13:32)
พระบุตรไม่รู้เวลาการเสด็จมาของพระองค์เองด้วยซ้ำ! ถ้าพระเยซูเป็น “พระเจ้าพระบุตร” จริง ผู้ทรงเท่าเทียมกับพระบิดาทุกประการและดังนั้นจึงทรงรอบรู้ทุกสิ่ง ข้อนี้ก็จะไม่สามารถอธิบายได้
มีเพียงพระบิดาเท่านั้นที่รู้วันและเวลานั้น เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้กำหนดการเสด็จมาของพระเยซู ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่เข้าใจว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ที่แท้จริง แต่จะเป็นปัญหากับผู้ที่ยืนกรานว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า หากมีเพียงรายละเอียดเดียวที่พระเยซูไม่รู้ ก็แสดงว่าพระองค์ก็ไม่ได้เป็นผู้รอบรู้และไม่ใช่พระเจ้า ข้อโต้แย้งของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่านี่เป็นการจัดการภายในพระเจ้าตรีเอกภาพในการส่งผ่านความรู้นั้นไม่สมเหตุสมผล และมันก็ไม่สมเหตุสมผลอีกด้วยที่จะกล่าวว่าภายในบุคคลเดียวกันนี้ สภาวะมนุษย์ของพระเยซูไม่ได้รอบรู้ทุกสิ่งที่สภาวะพระเจ้าของพระองค์ทรงรอบรู้! คำอธิบายนี้เป็นเรื่องปกติในความเชื่อตรีเอกานุภาพ ยกตัวอย่างเช่น เวย์น กรูเด็มกล่าวในหนังสือศาสนศาสตร์ระบบ[82] (ส่วน 26C3a) ว่า
ในด้านหนึ่ง ในส่วนสภาวะมนุษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงมีความรู้ที่จำกัด (มาระโก 13:32; ลูกา 2:52)[83] ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูทรงรู้ทุกสิ่งอย่างชัดเจน (ยอห์น 2:25; 16:30; 21:17)[84] เรื่องนี้จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อพระเยซูทรงเรียนรู้สิ่งต่างๆและมีความรู้ที่จำกัดในส่วนสภาวะมนุษย์ของพระองค์ แต่ทรงรอบรู้เสมอในส่วนสภาวะพระเจ้าของพระองค์ และด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถที่จะ “นึกถึง” ข้อมูลใดก็ตามได้ทุกเวลาที่ต้องการสำหรับพันธกิจของพระองค์ ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถเข้าใจคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับเวลาที่พระองค์จะเสด็จกลับมาได้ว่า “แต่ไม่มีใครรู้เรื่องวันหรือเวลานั้นแม้แต่พวกทูตในฟ้าสวรรค์หรือพระบุตร มีแต่พระบิดาเท่านั้น” (มาระโก 13:32) การไม่รู้เวลาที่พระองค์จะเสด็จกลับมานี้เป็นความจริงกับสภาวะมนุษย์และจิตสำนึกของมนุษย์ของพระเยซูเท่านั้น เพราะในสภาวะพระเจ้าของพระองค์ พระองค์ทรงรอบรู้ทุกสิ่งอย่างแน่นอนและทรงรู้เวลาที่พระองค์จะเสด็จกลับสู่โลกอย่างแน่นอน
ปัญหาร้ายแรงจากข้อพิสูจน์ของกรูเด็มก็คือ พระเยซูได้ตรัสอย่างเจาะจงว่า “มีเพียงพระบิดาเท่านั้น” ที่รู้ พระเยซูไม่ได้กำลังพูดถึงสภาวะพระเจ้าของพระองค์เองกับสภาวะมนุษย์ของพระองค์ คำประกาศของพระองค์ว่า พระองค์ไม่รู้วันหรือเวลานั้น ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้วจะเป็นจริงจากทั้งสองสภาวะของพระองค์ คือพระเจ้าและมนุษย์ เพราะ “มีเพียง” พระบิดาเท่านั้นที่ทรงรู้ คำว่า “มีเพียง” เป็นปัญหาสำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพด้วยเหตุผลอื่นคือ มันตัดโอกาสพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ที่สามของพระเจ้าตรีเอกานุภาพว่าเป็นผู้ที่รู้วันและเวลานั้น
เราจึงเหลือความเป็นไปได้สองอย่าง คือพระเยซูไม่ได้เป็นพระเจ้า หรือพระเจ้าไม่ได้เป็นผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง! อย่างแรกนั้นถูกต้องตามพระคัมภีร์ แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่สามารถจะยอมรับได้ ในขณะที่อย่างหลังเป็นการหมิ่นประมาท
ยิ่งกว่านั้น ในวิธีที่กรูเด็มแสดงให้เห็นภาพสองสภาวะของพระเยซู คือมนุษย์และพระเจ้านั้น ทั้งสองทำหน้าที่เป็นสองบุคคลที่แยกกันแม้แต่สองวิญญาณที่แยกกัน ภายในพระคริสต์องค์เดียว แม้ว่ากรูเด็มจะพูดถึงสองสภาวะ แต่คำที่ถูกต้องมากกว่าในการอธิบายของเขาถึงพระคริสต์ก็คือ “สององค์บุคคล” วิธีการที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพสลับไปมาได้อย่างคล่องแคล่วมาก ระหว่างสภาวะมนุษย์ของพระเยซู (ซึ่งสามารถถูกทดลองได้และไม่รู้ถึงเวลานั้น) กับสภาวะพระเจ้าของพระองค์ (ซึ่งไม่สามารถจะถูกทดลองได้และรู้ถึงเวลานั้น) จึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า พระเยซูไม่สามารถจะเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ในเวลาเดียวกันได้ แต่ในความเชื่อตรีเอกานุภาพแล้ว ทั้งสองสภาวะมีอยู่ร่วมกันในพระเยซูอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก
ถ้าพระบิดาทรงรู้ถึงเวลานั้น แล้วทำไมพระบุตรจะไม่ควรรู้ด้วย? มันไม่ใช่แค่คำถามว่าทำไมโดยหน้าที่แล้วพระเยซูจึงไม่รู้ แต่มีคำถามว่าทำไมพระองค์จึงไม่ควรรู้ แต่ภาพในพระคัมภีร์ทำให้ทุกอย่างชัดเจน เหมือนอย่างที่พระบิดาทรงกำหนดเวลาที่พระเยซูจะบังเกิดมาในโลก “เมื่อถึงกำหนด” (กาลาเทีย 4:4) และตามพระสัญญาของพระเจ้า (ข้อ 23)[85] ดังนั้นการเสด็จกลับมาของพระเยซูจะเป็นช่วงเวลาที่พระบิดาทรงกำหนดตามพระประสงค์นิรันดร์ของพระองค์เอง ไม่ใช่ที่พระบุตรจะเสด็จมาในโลกเมื่อใดก็ได้ที่พระองค์ทรงเลือก
การร่วมคุณสมบัติของพระเจ้าและมนุษย์ในองค์พระเยซูคริสต์ เป็นความพยายามที่จะอธิบายพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์
เพื่อให้เข้าใจถึงความคิดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในการจุติลงมาเกิดของพระองค์ที่สองซึ่งกลายเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์นั้น เราจำเป็นต้องอธิบายคร่าวๆถึงความพยายามของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่จะอธิบายว่าบุคคลที่เป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ในเวลาเดียวกันนั้นจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างไร คำถามนี้ทำให้มีการโต้แย้งและถกเถียงกันอย่างมาก แม้กระทั่งเกิดความรุนแรงในช่วง แรกๆของคริสตจักร ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งนี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพิจารณาของเรา เราบอกได้เพียงว่าสุดท้ายแล้วฝ่ายหนึ่งได้เอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง แต่นำมาซึ่งความขัดแย้งค่อนข้างมาก[86]
ตอนนี้เรากำลังตรวจสอบอย่างคร่าวๆเกี่ยวกับแนวคิดของการร่วมคุณสมบัติ[87] ที่ผู้นำคริสตจักรยุคแรกๆบางคนเสนอไว้เกี่ยวกับ communicatio idiomatum ซึ่งเป็นคำละตินที่หมายถึง “การร่วมคุณสมบัติ” โดยที่ “คุณสมบัติ” หมายถึงลักษณะเฉพาะที่มีอยู่อย่างถาวรหรือเป็นธรรมชาติของบุคคลๆหนึ่ง[88] จี เอ็น ดี เคลลี่กล่าวว่าการร่วมคุณสมบัติเป็นวิธีการซึ่ง “คุณสมบัติและประสบการณ์ของมนุษย์และพระเจ้า ฯลฯ อาจถูกสับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม” (หลักคำสอนของคริสเตียนในยุคแรก, หน้า 143)
พระเจ้าและมนุษย์จะสัมพันธ์ต่อกันอย่างไรภายในพระเยซูคริสต์ผู้เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์? ทั้งสองจะแยกตัวตนกันอย่างไร หากทั้งสองมีความแตกต่างกันในแก่นแท้ หรือเนื้อแท้ หรือธรรมชาติ เนื่องจากฝ่ายหนึ่งเป็นพระเจ้าและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นมนุษย์ที่ทั้งสองรวมกันเป็นบุคคลเดียว? แนวคิดนี้ได้เสนอไว้ว่าลักษณะพิเศษของสภาวะหนึ่งจะถูกถ่ายโอนหรือ “ส่งต่อ” ต่อกันกับอีกสภาวะในการรวมกันเป็นหนึ่งของทั้งสองฝ่ายนี้
เป็นเรื่องยากที่จะให้คำนิยามที่ชัดเจนของ communicatio idiomatum เพราะงานเขียนโบราณที่นำเสนอแนวคิดนี้แต่แรกนั้นให้คำอธิบายเพียงเล็กน้อยนอกเหนือจากคำกล่าวซึ่งมีเพียงว่า คุณสมบัติพระเจ้าของพระเจ้าพระบุตรได้สื่อสารกับพระเยซูที่เป็นมนุษย์ซึ่งพระองค์มาจุติอยู่ภายใน และในทิศทางที่กลับกันก็จากพระเยซูที่เป็นมนุษย์กับพระคริสต์ที่เป็นพระเจ้า หากมีใครขอให้เจาะจงถึงคุณสมบัติของการสื่อสาร คนนั้นจะสามารถพูดได้อย่างมากที่สุดว่า คุณสมบัติ (“idioms”) ของพระองค์ที่สองในตรีเอกานุภาพถูกโอนไปยังพระเยซูที่เป็นมนุษย์ ซึ่งรวมถึงคุณสมบัติ เช่น ฤทธา นุภาพ พระปัญญา ความเที่ยงธรรมของพระเจ้า เป็นต้น
แต่หนึ่งในคุณสมบัติเกี่ยวกับแก่นแท้ของพระเจ้าที่ไม่สามารถจะถ่ายโอนกันได้ก็คือความเป็นอมตะ คุณสมบัติพื้นฐานนี้จะต้องถูกถ่ายโอนไปยังพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ เพราะเป็นไปได้ไหมที่จะร่วมเฉพาะคุณสมบัติบางอย่างของพระเจ้าและไม่ได้ร่วมคุณสมบัติอื่นๆ? จากการร่วมคุณสมบัติที่รู้กันนั้น ไม่ได้มีข้อเสนอแนะว่าจะถ่ายโอนเฉพาะคุณสมบัติบางอย่างเท่านั้น ในขณะที่คุณสมบัติอื่นๆไม่ได้ถูกถ่ายโอน ถ้าสิ่งนี้ยังเป็นไปได้แม้รวมตัวกันในบุคคลเดียว
เราเห็นปัญหาของความคิดเรื่องการร่วมคุณสมบัติชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้ามนุษย์ผู้นี้ที่พระเจ้าพระองค์ที่สองมาจุติอยู่ภายในจึงทำให้เป็นอมตะโดยการรวมกันเป็นหนึ่งนั้น ก็เห็นได้ชัดว่าผู้นี้จะไม่สามารถตายเพื่อความผิดบาปของเราได้ ซึ่งในกรณีนี้ แผนการแห่งความรอดของพระเจ้าจะถูกล้มล้างไป ในความพยายามที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างความตายกับความเป็นอมตะที่ อยู่ในบุคคลเดียวกันนั้น บรรดาผู้นำคริสตจักรต่างชาติไปไกลจนถึงขนาดพูดว่า จะอย่างไรก็ตาม พระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพผู้ที่เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อความบาปของเรา มันกลับเป็นว่าสำหรับคริสเตียนเหล่านี้ พระเจ้าผู้ทรงอมตะไม่ได้เป็นอมตะเลย!
มีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในเมื่อพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดทรงมีอำนาจทุกอย่าง แล้วจะไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือที่จะพูดถึงพระองค์ว่าทรงอ่อนแอ? ในทางกลับกัน ถ้าพระเจ้าพระบุตรทรงมีแก่นแท้เดียวกันกับพระเจ้าพระบิดา พระองค์ก็จะทรงมีอำนาจทุกอย่างด้วย และจะไม่สามารถพูดได้ว่าทรงอ่อนแอแต่อย่างใด ประเด็นนี้เป็นเรื่องง่ายๆ คือถ้าพระเยซูทรงอ่อนแอ พระองค์ก็ไม่ใช่ พระเจ้า ถ้าพระเยซูทรงเป็นผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด พระองค์ก็ไม่ใช่มนุษย์ ถ้าพระองค์ทรงตายได้ พระองค์ก็ไม่ใช่พระเจ้า ถ้าพระองค์ทรงเป็นอมตะ พระองค์ก็ไม่ใช่มนุษย์
ในหลักเหตุผลที่บิดเบือนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น พระเจ้าพระบุตรทรงเป็นสองฝ่ายที่ตรงกันข้ามกันซึ่งไม่สามารถจะเป็นพร้อมกันได้จริงๆ มารวมตัวกันเป็นสองขั้วในพระเยซู คือเป็นทั้งผู้ที่ต้องตายและผู้ที่เป็นอมตะ เป็นทั้งมนุษย์และพระเจ้า และเพราะฉะนั้นจึงเป็นทั้งมนุษย์ที่ต้องตายและเป็นพระเจ้าผู้เป็นอมตะ ใครก็ตามที่สามารถเชื่อหลักคำสอนที่บิดเบือนและขัดแย้งกันนี้ ก็จะเชื่อข้อผิดพลาดใดๆก็ได้ที่ตามมาได้ไม่ยาก นี่จะต้องใช้พลังในการโน้มน้าวอย่างแรงที่จะขจัดการหลอกลวงนี้ออกไปได้ ไม่ใช่แค่กับคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่กับคนจำนวนมากตลอดประวัติศาสตร์ของคริสตจักร สิ่งนี้ทำให้คนสงสัยว่าการโน้มน้าวของการหลอกลวงนี้มาจากพลังบางอย่างที่เหนือธรรมชาติหรือไม่ เรานึกถึงคำกล่าวในวิวรณ์ว่า “คืองูดึกดำบรรพ์ ที่เขาเรียกกันว่ามารและซาตานผู้ล่อลวงมนุษย์ทั้งโลก” (วิวรณ์ 12:9) ความหมายก็คือ ไม่มีใครที่ไม่ว่าจะฉลาดหรือมีการศึกษาขนาดไหน จะสามารถหลีกหนีจากเงื้อมมือของการหลอกลวงทางจิตวิญญาณไปได้ ในอีกด้านหนึ่ง การมองเห็นในฝ่ายวิญญาณเกี่ยวข้องกับ “การมีตาใจสว่างขึ้น” โดยพระเจ้า (เอเฟซัส 1:18) ทำให้ใจมองเห็นแสงแห่งการปลดปล่อยจากความจริงของพระองค์
พระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ ตามที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าสิ้นพระชนม์บนกางเขนนั้นชัดเจนว่า ไม่สามารถจะเป็นพระเจ้าผู้ซึ่งตามคัมภีร์แล้วทรงเป็นอมตะอย่างแน่แท้ที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ใครล่ะที่เป็นพระเจ้าองค์นี้ที่เรียกว่าพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ? และใครเป็นผู้ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้นมัสการมาตั้งแต่หลักความเชื่อของพวกเขากลายเป็นหลักคำสอนอย่างเป็นทางการของคริสตจักรในศตวรรษที่สี่? คำถามนี้น่ากลัวขึ้นกว่าเดิม
มีคริสเตียนไม่มากที่รู้เกี่ยวกับศาสนศาสตร์ที่น่ากลัวนี้ซึ่งสนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพ มีแง่มุมอื่นๆของศาสนศาสตร์นี้ที่มีความสมเหตุสมผลน้อยมากหรือไม่มีเหตุผลเลย แต่ผมจะไม่พูดถึงในเวลานี้นอกจากจะถามว่า ในการสับเปลี่ยนหรือการแลกเปลี่ยนภายในของคุณสมบัติเหล่านี้ มีคุณสมบัติใดของมนุษย์หรือที่จะสามารถถ่ายโอนจากมนุษย์และไปเพิ่มให้กับพระเจ้าได้? มนุษย์มีคุณสมบัติอะไรในแก่นแท้และสภาวะของเขาที่จะแลกเปลี่ยนกับแก่นแท้และสภาวะของพระเจ้าไหม? มีสิ่งใดที่จะสามารถเพิ่มให้กับพระเจ้าในทางใดทางหนึ่งได้หรือไม่? ตัวอย่างเช่น เป็นไปได้อย่างไรที่ความอ่อนแอของมนุษย์จะสามารถถ่ายโอนไปยังพระเจ้าผู้ทรงมีอำนาจทุกอย่าง โดยที่ความมีอำนาจทุกอย่างของพระองค์นั้นจะลบล้างความอ่อนแอได้ไม่ว่ากรณีใดๆ? นี่คือตัวอย่างที่ผมหมายถึงลักษณะที่เหลวไหลของหลักคำสอนเกี่ยวกับการร่วมคุณสมบัติ
ความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนแม้กับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่เสนอความคิดนี้ และพยายามจะอธิบายถึงความสัมพันธ์ของสองสภาวะของพระเยซูด้วยแนวความคิด เช่น การเป็นพระเจ้าและเป็นมนุษย์รวมอยู่ในบุคคลเดียวกัน[89] และการร่วมคุณสมบัติที่ทำให้ความขัดแย้งกันนั้นดูมีเหตุผล นี่คือสิ่งที่เราเมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้ใช้เวลาอย่างมากและใช้ความพยายามอย่างไร้ผล
แต่สภาวะของพระเยซูตามพระคัมภีร์นั้นมีความสมเหตุสมผลที่สุด พระองค์ทรงเป็นผู้ที่เรา คิดว่าสามารถเป็นเหมือนได้ และมองว่าเป็นตัวอย่างของชัยชนะของเราที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา แม้ว่าเราจะอ่อนแอ แต่พระเจ้าจะทรงเสริมกำลังภายในให้เราและให้กำลังเรามีชัยชนะอุปสรรคทั้งสิ้นทางพระเยซูคริสต์ถึงแม้ว่าเราจะมีความอ่อนแอมากมาย แต่เราจะไม่บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบในชีวิตนี้เหมือนที่พระเยซูได้ทรงบรรลุ แม้แต่เปาโลอัครทูตคนสำคัญก็ยอมรับว่า “ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าได้รับแล้ว หรือสมบูรณ์แบบแล้ว[90]... แต่ข้าพเจ้าบากบั่นมุ่งไปสู่หลักชัย เพื่อจะได้รับรางวัลคือการทรงเรียกจากพระเจ้าในพระเยซูคริสต์” (ฟีลิปปี 3:12,14)
จากทั้งหมดนี้ เราได้แต่เกรงขามในชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระยาห์เวห์ในพระคริสต์ ผู้ทรงบรรลุในสิ่งที่มนุษย์คนใดทำได้มาก่อนจนกระทั่งบัดนี้ ขณะที่บรรดาผู้เชื่อทุกคนได้รับสิทธิพิเศษในพระคริสต์โดยพระเมตตาของพระเจ้าในการมาเป็นบุตรชายและหญิงของพระเจ้านั้น มีเพียงพระเยซูเท่านั้นที่สามารถเรียกได้อย่างถูกต้องว่า “พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า”
ใจปรารถนาที่แตกต่างกันภายในตรีเอกานุภาพ
ในขณะที่ความรักที่ให้ตนเองของพระเยซูของพระคัมภีร์นั้นตรงไปตรงมา และเข้าใจได้ง่ายในแง่ของการกระทำด้วยความสมัครพระทัยตามพระทัยปรารถนาของพระองค์ แต่เราไม่สามารถพูดได้แบบเดียวกันกับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ ตัวอย่างเช่น มันจะเป็นปัญหาถ้าหากเป็นพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ผู้ที่ตรัสในสวนเกทเสมนีว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” ใครเป็นคนพูดถ้อยคำนี้? เป็นพระเจ้าพระบุตรไหมที่กำลังพูดกับพระเจ้าพระบิดา? ถ้าเป็นเช่นนั้น สิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาของใจปรารถนาที่แตกต่างกันภายในตรีเอกานุภาพ โดยที่พระองค์ที่สองทรงยอมอยู่ใต้พระประสงค์ของพระองค์แรกหลังจากมีการต่อสู้อย่างมาก ด้วยใจปรารถนาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนภายในตรีเอกานุภาพนี้ เราจะยังสามารถพูดถึงสามพระองค์ว่ามีแก่นแท้เดียวกันได้อย่างไร ในเมื่อมีสามใจปรารถนาที่แตกต่างกันที่ไม่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์จนกว่าการต่อสู้ภายในจะรวมใจปรารถนาของทั้งสามพระองค์ให้เป็นหนึ่งเดียวเหมือนกรณีที่สวนเกทเสมนี? คำกล่าวที่ตรงกันข้ามว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” จะเข้าใจได้ง่ายถ้ามันมาจากพระเยซูคริสต์ผู้ที่ไม่ใช่พระเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์ที่พูดกับพระบิดาของพระองค์ผู้ที่ส่งพระองค์มาทำให้ความรอดของมวลมนุษย์บรรลุผล
ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว การเชื่อฟังของ “พระเจ้าพระบุตร” ต่อพระเจ้าพระบิดานั้นเป็นการเชื่อฟังภายในอย่างสมบูรณ์ต่อพระเจ้าที่มีแก่นแท้เดียวกัน และไม่สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้องว่าเป็น “การเชื่อฟังพระเจ้า” การเชื่อฟังภายในนี้ไม่มีผลกับคำกล่าวที่สำคัญในโรม 5:18-19[91]ว่า สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับความรอดของมนุษย์ก็คือการเชื่อฟังในความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า มากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์ภายในตรีเอกานุภาพ
ถ้าบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่า ผู้ที่พูดในสวนเกทเสมนีคือพระเยซูที่เป็นมนุษย์ผู้ที่ “พระเจ้าพระบุตร” มาจุติอยู่ภายใน ผลที่ได้จะเป็นความร้ายแรงพอๆกัน เพราะเมื่อพระเยซูตรัสว่า “ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” พระเยซูกำลังตรัสกับใครหรือ กับพระเจ้าพระบุตรหรือว่า พระเจ้าพระบิดา? ในทั้งสองกรณีจะมีใจปรารถนาสองอย่างที่แตกต่างกันอยู่ภายในพระเยซู คือใจปรารถนาของมนุษย์ที่กล่าวว่า “ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” และพระทัยปรารถนาของพระเจ้าแสดงให้เห็นถึงสภาวะพระเจ้าของพระเยซูที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ของการมีสองใจปรารถนาอยู่ภายในพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ และเนื่องจากว่าใจปรารถนาไม่สามารถดำรงอยู่เองได้โดยปราศจากตัวบุคคล นี่จะหมายความว่า พระเยซูไม่ได้เป็นบุคคลคนเดียว แต่เป็นสองบุคคล[92]
นี่เป็นหนึ่งในปัญหาที่ยากจะรับมือ ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพในยุคแรกๆเข้าไปพัวพัน และพยายามที่จะออกมา เพื่อหลีกเลี่ยงความคิดที่ยอมรับไม่ได้เกี่ยวกับการมีสองใจปรารถนาที่เป็นอิสระ (โดยที่ใจปรารถนาของมนุษย์ไม่อยู่ภายใต้พระทัยปรารถนาของพระเจ้า) และดังนั้นจึงมีสองบุคคลในพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ซึ่งจะสร้างพระเยซูที่เป็นผู้ป่วยจิตเภท จึงได้กำหนดไว้ว่าเป็นพระเจ้าพระบุตรที่เป็นพระเจ้า แทนที่จะเป็นพระเยซูที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการประกอบขึ้นเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ผู้ที่ใจปรารถนาของพระอง์มีอำนาจเหนือพระเยซูที่เกทเสมนี แต่สิ่งนี้ไม่ได้ แก้ไขภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะมันจะหมายความว่าสภาวะมนุษย์ของพระเยซูจะไม่มีใจปรารถนาที่จะทำการใดๆ ซึ่งในกรณีนี้พระองค์ (หรือสภาวะมนุษย์ของพระองค์) จะไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์เพราะมนุษย์ทุกคนมีใจปรารถนาของมนุษย์ที่เป็นอิสระ (บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการยืนยันที่กำหนดให้พระองค์มีร่างกายของมนุษย์ มีวิญญาณของมนุษย์ และมีใจปรารถนาของมนุษย์ที่เป็นอิสระ) สิ่งนี้แสดงให้เห็นสิ่งที่เราได้พูดมาตลอดว่า พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ใช่มนุษย์ อย่างที่เรารู้ว่ามนุษย์เป็นอย่างไร สิ่งนี้ทำให้เราย้อนกลับไปที่ข้อสังเกตของเราว่า การเชื่อฟังของ “พระเจ้าพระบุตร” ต่อพระเจ้าพระบิดานั้นเป็นการเชื่อฟังภายในตรีเอกานุภาพ และไม่มีผลกับเรื่องสำคัญยิ่งของความรอดของมนุษย์ที่กล่าวไว้ในโรม 5:18-19 ว่าขึ้นอยู่กับการเชื่อฟังของมนุษย์ต่อพระเจ้า
ตามศาสนศาสตร์แบบอเล็กซานเดรียที่มีชัยชนะเหนือศาสนศาสตร์แบบอันติโอคีน[93]ในคริสต จักรยุคแรกๆนั้น ไม่มีการแยกภายในพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ระหว่างพระเจ้าที่เป็นพระเจ้าพระบุตรกับพระเยซูที่เป็นมนุษย์[94] แต่ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น เป็นพระเจ้าพระบุตรที่เป็นบุคคลจริงในพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงใจปรารถนาของพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ดังที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่ร้อนรนคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “พระองค์ทรงมีรูปร่างหน้าตาและเนื้อหนังมังสาของมนุษย์คนหนึ่ง แต่ทรงมีลักษณะเฉพาะ มีฤทธานุภาพ และมีสภาวะของพระเจ้า”[95]
ความเชื่อในตรีเอกานุภาพต้องเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกซึ่งแก้ไม่ตกอีกครั้ง ดังนั้นจึงเผยให้เห็นความเท็จของหลักคำสอน เพราะความเท็จทุกอย่างจะมีความขัดแย้งในตัวเองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่จะทำลายตนเองเมื่อถูกตรวจสอบและถูกตีแผ่
สิ่งที่น่าเศร้าก็คือคริสเตียนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ผู้เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์นั้น เป็นผู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นจากส่วนเสี้ยวของพระคัมภีร์ใหม่ โดยสร้างบุคคลหนึ่งให้เป็นพระเจ้าโดยที่ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์นั่นก็คือ พระเจ้าพระบุตร ซึ่งที่จริงคือ “พระบุตรของพระเจ้า” ที่กลับตาลปัตรกันอย่างแรงหรือไปผิดทาง กล่าวโดยสรุปก็คือ บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้สร้างรูปเคารพทางศาสนศาสตร์ที่พวกเขากราบนมัสการและต้องการให้คนอื่นๆทำในแบบเดียวกัน
ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่รักทั้งหลาย ถ้าพระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าตามที่พวกคุณบอกว่าพระองค์ทรงเป็น ก็แสดงว่าพวกคุณและผมยังคงอยู่ในความบาปของเรา โดยที่ไม่มีความหวังในความรอด เพราะลักษณะที่สำคัญยิ่งของพระเจ้าก็คือทรงเป็นอมตะ ซึ่งหมายความว่าพระองค์จะไม่สามารถตายเพื่อความผิดบาปของเราได้ แต่ถ้าพระเจ้าสามารถตายได้ พระองค์ก็จะไม่ใช่พระเจ้า แต่พระองค์ ก็ไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่แท้จริงได้เพราะคุณบอกว่าพระองค์ก็เป็นพระเจ้าด้วย ในกรณีเช่นนี้ ความตายของพระเยซูไม่สามารถจะลบล้างความบาปของคุณหรือของผมได้
เหตุใดจึงมีคนจำนวนน้อยที่รอด?
หลังจากที่ได้สอนพระคัมภีร์มาหลายสิบปี อยู่มาวันหนึ่งผมรู้สึกตกใจเมื่อตระหนักว่าทั้งผมหรือผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนไหนๆก็ไม่สามารถจะอ้างอิงพระคัมภีร์สักข้อจากพระคัมภีร์ใหม่หรือพระคัมภีร์โดยรวม ที่เป็นคำเรียกสำคัญของพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า “พระเจ้าพระบุตร” ไม่พบเลยสักข้อ! เช่นเดียวกับอีกคำเรียกสำคัญของพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า พระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ การที่ไม่พบคำเรียกนี้ในพระคัมภีร์ก็คาดหมายได้ว่า เป็นเพราะคำว่า “ตรีเอกานุภาพ” เองก็ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์ สรุปก็คือ ในทุกหน้าของพระคัมภีร์นั้น เราไม่สามารถจะแสดงให้เห็นการมีอยู่จริงของ “พระเจ้าพระบุตร” ได้ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ เราสามารถที่จะพูด ที่จะเทศนา ที่จะสอน ที่จะคิด และเขียนหนังสือได้หลายๆเล่มถึงบุคคลที่เราไม่สามารถแสดงให้เห็นได้จริงว่ามีอยู่ในพระคัมภีร์หน้าต่างๆ!
สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือ? ผมสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อผมมองย้อนกลับไปในงานเทศนา งานสอน และงานเขียนหนังสือมายาวนาน กล่าวกันว่ากว่าจะเข้าใจถึงปัญหาต่างๆได้ชัดขึ้น ก็หลังจากที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นไปแล้ว และการเข้าใจถึงปัญหาในอดีตจากกรณีเฉพาะนี้จะทำให้คนที่ย้อนดูประวัติศาสตร์ในหน้าต่างๆ ต้องเย็นสันหลังวาบ เมื่อมองดูจากศตวรรษแรกๆของคริสตจักร เราจะเห็นความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นบนพระเยซูที่ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์ และเป็นผู้ที่ถูกปั้นแต่งขึ้นอย่างเฉียบแหลมในลักษณะที่ปลดพระองค์ออกอย่างถาวรจากรากเหง้าของชาวยิวของพระองค์ที่เชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว สิ่งนี้เตือนเราถึงสิ่งที่พระเยซูได้ตรัสถึงยุคสุดท้ายว่า บรรดาผู้เชื่อจะต้องเฝ้าระวัง เพราะแม้แต่ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกก็ถูกล่อลวงได้ (มัทธิว 24:24)[96]
ปัจจุบันมีคริสเตียนประมาณสองพันล้านคนทั่วโลกและคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก[97] เมื่อพิจารณาถึงชัยชนะของศาสนาคริสต์ในโลกนี้อย่างน้อยก็ในแง่ของจำนวนผู้ติดตาม แล้วทำไมพระเยซูจึงตรัสว่ามี “คนจำนวนน้อย” ที่จะรอด (ลูกา 13:23-24)? เราเข้าใจคำกล่าวของพระองค์อย่างไร? เรื่องที่พูดถึงจำนวนที่มีมากของคริสต์ศาสนิกชนที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น ผมไม่เคยได้ยินผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนไหนจะถามคำถามที่ทำให้เย็นสันหลังวาบเช่นนี้เลยว่า เหตุใดคนทั้งหมดจากจำนวนเป็นพันล้าน จึงมีคนที่จะรอดเพียง “จำนวนน้อย” เท่านั้น?
คำถามนี้ตอบได้ไม่ยาก คือถ้าเราเข้าใจข้อเท็จจริงที่น่าตกใจว่า ผู้เชื่อส่วนใหญ่ในโลกทุกวันนี้ถูกหลอกอย่างน่าสลดใจที่สุด มีคำตอบอื่นให้กับคำถามที่น่าสะพรึงกลัวนี้ไหม ที่สอดคล้องกับคำกล่าวของพระเยซูว่า มีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะรอด? ผู้คนมากมายจะรอดหรือเข้าไปประตูแคบแห่งชีวิตได้อย่างไร ถ้าพวกเขาฝากความเชื่อ ความไว้วางใจ ความหวังของพวกเขาไว้กับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ผู้เป็นพระเจ้าพระบุตรซึ่งไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์แห่งชีวิต?
ความเชื่อในพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ จะทำให้ความหวังในความรอดต้องเป็นโมฆะ นี่ไม่ใช่คำกล่าวรวมๆที่จะกล่าวว่าผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทุกคนจะถูกกล่าวโทษ และผู้ที่ไม่เชื่อในตรีเอกานุภาพทุกคนจะรอด เพราะมีหลักการอย่างอื่นทางฝ่ายวิญญาณในการพิพากษาของพระเจ้า (เช่น ลูกา 12:48)[98] แต่คงเป็นเรื่องโง่เขลาที่จะเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงในพระคัมภีร์ว่าการไหว้รูปเคารพ รวมถึงการไหว้รูปเคารพของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ จะมีผลทางวิญญาณที่ตามมา
การพิจารณาของเราในเวลานี้ไม่ได้เป็นเพียงการโต้แย้งทางวิชาการเกี่ยวกับหลักคำสอนที่ไม่มีผลต่อสวัสดิภาพนิรันดร์ของเรา เรากำลังพูดถึงเรื่องสำคัญในฝ่ายวิญญาณซึ่งข้อผิดพลาดเล็กน้อยเพียงครั้งเดียวจะมีผลชั่วนิรันดร์ ความจริงที่น่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับข้อผิดพลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพซึ่งเรียกอย่างถูกต้องว่านอกรีต ก็คือว่ามันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากความจริงในพระคัมภีร์
ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า
ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น พระเจ้าพระบุตร ผู้ซึ่งเป็นพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ ได้มาจุติเป็นพระเยซูคริสต์ แต่พระเจ้าพระบุตรเป็นเพียงหนึ่งในสามพระองค์ และดังนั้นจึงไม่สามารถแสดงให้เห็นถึง “ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า” ได้ดังที่กล่าวถึงในโคโลสี 2:9 ว่า “เพราะในพระคริสต์นั้น ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์” (ฉบับ NIV)
มีแต่เพียงพระยาห์เวห์ตามพระคัมภีร์เท่านั้นที่เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวที่มี “ความบริบูรณ์ ทั้งสิ้นของพระเจ้า” และมีเพียงการสถิตอยู่ของพระยาห์เวห์ในพระเยซูคริสต์ที่เป็นมนุษย์เท่านั้น ที่จะอธิบายโคโลสี 2:9 ได้อย่างถูกต้อง ข้อผิดพลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ถูกเปิดเผยอีกครั้ง
คำกล่าวของเปาโลว่าความบริบูรณ์ของพระเจ้า อันที่จริงความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าที่สถิตอยู่ในพระกายของพระคริสต์นั้น ถูกเปรียบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรของพระเจ้าก็เต็มด้วยความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า “เพื่อท่านจะเต็มด้วยความบริบูรณ์ของพระเจ้า” (เอเฟซัส 3:19) การสถิตของพระเจ้าหรือการมาสถิตอยู่ในพระคริสต์เป็นการอยู่ “ในพระกาย” ซึ่งเป็นความจริงอันน่าทึ่งที่ยังเห็นได้ในโคโลสี 1:19 ว่า “เพราะว่าพระเจ้าพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระองค์อยู่ในพระคริสต์”
การมาสถิตของพระเจ้าใน “พระกาย” ของพระคริสต์นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการดำรงอยู่ร่วมกันของสองสภาวะของพระคริสต์ ที่เป็นทั้งพระเจ้าและเป็นมนุษย์ในคนเดียวกัน แนวคิดหลังได้ทำให้เกิดปัญหาว่า พระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างไร เป็นความยุ่งยากที่นำไปสู่หลักคำสอนของการร่วมคุณสมบัติ ซึ่งเป็นแนวคิดทางปรัชญาอย่างมาก ที่พยายามจะอธิบายว่าทั้งสองสภาวะมีความเกี่ยวข้องต่อกันและกันอย่างไร หลักคำสอนนี้ไม่ได้ยึดจากสิ่งใดในพระคัมภีร์ แต่เป็นแนวคิดที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่มนุษย์สร้างขึ้น
พระคัมภีร์ไม่ได้สนับสนุนหลักคำสอนของสองสภาวะ คือพระเจ้าและมนุษย์ซึ่งรวมเป็นหนึ่งอย่างแยกกันไม่ได้อยู่ในพระคริสต์ โดยที่พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริงและเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ในปี ค.ศ. 451 หลักคำสอนที่ไม่ตรงตามหลักพระคัมภีร์นี้ได้ประกาศใช้โดยหลักความเชื่อของสภาสังคายนาแห่งแคลซีดอน (เมืองแคลซีดอนตั้งอยู่ในบิธีเนียในตุรกีในปัจจุบัน) ความพยายามที่จะพิสูจน์ความคิดนี้โดยใช้ยอห์น 1:14 (“และพระวาทะมาเป็นมนุษย์”) นั้นผิดพลาด เพราะบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพสันนิษฐานโดยปราศจากหลักฐานว่าพระวาทะ (logos, โลกอส) หมายถึงพระคริสต์ที่คิดกันว่าทรงดำรงอยู่ก่อน ความจริงก็คือ ไม่เคยมีการระบุว่า โลกอส เป็นพระเยซูไม่ว่าจะในคำขึ้นต้นของยอห์นหรือส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่[99] การให้ โลกอส ที่คิดกันว่าเทียบเท่ากับพระเยซูนั้นเป็นการฝืนพระวจนะของพระเจ้า
แนวความคิดในการรวมกันเป็นหนึ่งของพระเจ้าและมนุษย์อยู่ในบุคคลเดียวกันจากสองสภาวะของพระคริสต์ คือสภาวะพระเจ้าและสภาวะมนุษย์นั้น นอกจากจะไม่ตรงตามพระคัมภีร์แล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าใจได้อีกด้วย ในหัวข้อ “การรวมเป็นหนึ่งของพระเจ้าและมนุษย์อยู่ในบุคคลเดียวกัน” จากวิกิพีเดียพูดไว้อย่างสุภาพว่า “การรวมกันเป็นหนึ่งอยู่ในบุคคลเดียวกันนี้” มีขึ้นเพื่อท้าทายความเข้าใจที่จำกัดของมนุษย์” แต่ความไร้สาระในความหมายอย่างเป็นทางการก็ท้าทายความเข้าใจด้วย เพราะถ้าสิ่งนั้นมีความสมเหตุสมผล มันก็สามารถเข้าใจได้ แต่ความเข้าใจได้ยากของการรวมกันเป็นหนึ่งของพระเจ้าและมนุษย์อยู่ในบุคคลเดียวกันนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญกับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะเขามักจะปัดประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องของ “ความล้ำลึก” แม้จะมีข้อเท็จจริงที่ว่า การที่ไม่สามารถเข้าใจได้นั้นไม่ได้เป็นความหมายของความล้ำลึกตามในพระคัมภีร์ เปาโลใช้คำว่า “ความ ล้ำลึก” เพื่อพูดถึงสิ่งที่ถูกปิดซ่อนไว้ในอดีต แต่ตอนนี้พระเจ้าได้ทรงเปิดเผยอย่างชัดเจนแล้ว
มีการรวมบุคคลเป็นหนึ่งเพียงสองแบบเท่านั้นที่พบในพระคัมภีร์ นั่นก็คือ การรวมกันเป็นหนึ่งในการแต่งงานของชายและหญิง โดยที่ทั้งสองมาเป็นเนื้อเดียวกัน และการรวมกันเป็นหนึ่งของพระเจ้าในจิตวิญญาณกับมนุษย์ โดยที่พระเจ้ากับมนุษย์มาเป็นจิตวิญญาณเดียวกัน (1 โครินธ์ 6:17)[100] พระคัมภีร์ไม่เคยพูดถึงการรวมกันเป็นหนึ่งของพระเจ้าและมนุษย์อยู่ในบุคคลเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคิดขึ้นเองที่สร้างความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในคริสตจักรยุคแรกกับสิ่งที่หมายถึง
ในทางกลับกันนั้น พระคัมภีร์ทำให้เรามองเห็นภาพที่ยอดเยี่ยมที่พระเจ้าสถิตอยู่ในประชากรของพระองค์ ซึ่งร่างกายของพวกเขาทำหน้าที่เป็นพระวิหารของพระองค์ในโลก เราจะพบพระเจ้าในประชากรของพระองค์ เพราะว่าความบริบูรณ์ของพระยาห์เวห์ที่ดำรงอยู่ในพระเยซู ก็ดำรงอยู่ในประชากรของพระองค์ด้วย ที่กล่าวว่า “ให้เข้าใจถึงความรักของพระคริสต์ซึ่งเกินความรู้ เพื่อท่านจะบริบูรณ์ด้วยความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า” (เอเฟซัส 3:19) ดังที่มักจะอยู่ในคำสอนของเปาโลว่า อะไรที่เป็นจริงกับพระเยซู ก็เป็นจริงกับบุตรทั้งหลายของพระเจ้าด้วยเช่นกัน
“เราเป็น”
ในสมัยที่เราเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เมื่อเราเห็นคำกล่าวของพระเยซูว่า “เราเป็น” ในพระกิตติคุณยอห์น เราก็คิดทันทีว่าพระเยซูกำลังประกาศพระองค์เองเป็นพระเจ้า ในความคิดของเรานั้นไม่เห็นว่าจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า เพราะพระเยซูได้ทรงประกาศเอง และแน่นอนว่าในพวกเราก็ไม่มีใครคิดว่าชายตาบอดที่พระเยซูทรงรักษาให้หายนั้น กำลังอ้างตัวว่าเป็นพระเจ้าเมื่อเขาพูดว่า “ข้าพเจ้าเป็น” (I am, เราเป็น) กับพวกที่ถามเขาว่า เขาเป็นชายตาบอดคนเดียวกับที่พวกเขารู้จักมาตลอดหรือไม่ (ยอห์น 9:9)[101] คำกล่าวว่า “เราเป็น” ที่ถกเถียงกันมากที่สุดในพระกิตติคุณยอห์นคือคำกล่าวในข้อสุดท้ายของพระคัมภีร์ตอนต่อไปนี้
51เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า ถ้าผู้ใดประพฤติตามคำของเรา ผู้นั้นจะไม่เห็นความตายเลย” 52พวกยิวทูลพระองค์ว่า “ตอนนี้เรารู้แล้วว่าท่านมีผีสิง อับราฮัมตายไปแล้ว พวกผู้เผยพระวจนะก็เหมือนกัน แต่ท่านพูดว่า ‘ถ้าผู้ใดประพฤติตามคำของเรา ผู้นั้นจะไม่ได้ลิ้มความตายเลย’ 53ท่านเป็นใหญ่กว่าอับราฮัมบิดาของเราที่ตายไปแล้วหรือ? และพวกผู้เผยพระวจนะก็ตายไปแล้ว! ท่านเข้าใจว่าท่านเป็นใคร?” 54พระเยซูตรัสตอบว่า “ถ้าเราให้เกียรติตัวเราเอง เกียรติของเราก็ไม่มีความหมาย ผู้ที่ทรงให้เกียรติเราก็คือพระบิดาของเรา ผู้ที่พวกท่านกล่าวว่า ‘พระองค์เป็นพระเจ้าของเรา’ 55แต่พวกท่านไม่รู้จักพระองค์ เรารู้จักพระองค์ ถ้าเรากล่าวว่าเราไม่รู้จักพระองค์ เราก็เป็นคนโกหกเหมือนพวกท่าน แต่เรารู้จักพระองค์ และประพฤติตามคำของพระองค์ 56อับราฮัมบิดาของพวกท่านชื่นชมยินดีที่เขาจะได้เห็นวันของเรา และเขาได้เห็นและมีความยินดี” 57พวกยิวจึงทูลพระองค์ว่า “ท่านอายุยังไม่ถึงห้าสิบปีเลย ท่านได้เห็นอับราฮัมแล้วหรือ?” 58พระเยซูจึงตรัสกับพวกเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็น” (ยอห์น 8:51-58 ฉบับ ESV)
การโต้เถียงกับชาวยิว[102]เริ่มต้นด้วยคำประกาศของพระเยซูคริสต์ว่า “เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า ถ้าผู้ใดประพฤติตามคำของเรา ผู้นั้นจะไม่เห็นความตายเลย” (ข้อ 51) คำกล่าวสำคัญคือ “ถ้าผู้ใดประพฤติตามคำของเรา” ถ้อยคำที่พระเยซูตรัสดังที่พระองค์ชี้ให้เห็นหลายครั้งนั้น ไม่ใช่ถ้อยคำของพระองค์เอง แต่เป็นถ้อยคำของพระบิดา การเชื่อฟังคำของพระเจ้าคือชีวิต การไม่เชื่อฟังคำก็คือความตายดังที่ชาวยิวรู้จากบทบัญญัติของพวกเขาเอง ในคำสนทนาของพระเยซูกับชาวยิวนั้น ใจความสำคัญคือการประพฤติตามคำของพระเจ้า พระเยซูทรงมีสิทธิอำนาจในการประกาศคำของพระเจ้าก็เพราะพระองค์ทรงประพฤติตาม ดังที่ตรัสว่า “แต่เรารู้จักพระองค์ และประพฤติตามคำของพระองค์” (ข้อ 55) พระเยซูทรงประกาศคำของพระเจ้าเช่นเดียวกับโมเสส แต่ในระดับที่สูงกว่าโมเสส อายุของพระเยซูซึ่งชาวยิวประมาณไว้มากไปว่าเกือบจะห้าสิบปีนั้นไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ โมเสสมีอายุประมาณแปดสิบปีเมื่อเขาเผชิญหน้ากับฟาโรห์ (อพยพ 7:7)
สาระสำคัญหลักของเรื่องนี้ก็คือ ถ้อยคำของพระเจ้าได้ไปถึงชาวยิวทางพระเยซู แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกลับสนใจเฉพาะสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นคำสำคัญคือ “ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็น”
การอ่านยอห์น 8:58 ที่ถูกต้องจะต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่า “เราเป็น” ในยอห์น 8:58 ที่อยู่โดดๆ (โดยไม่มีส่วนเติมเต็มประธาน[103]ที่ชัดเจน) นั้นยังพบในข้อ 24 และ 28 ของบทเดียวกันด้วย (ข้อทั้งหมดมาจากฉบับ ESV) คำว่า “ผู้นั้น” ที่ขีดเส้นใต้ไม่ได้มีอยู่ในตัวบทภาษากรีก
ข้อ 24 “เราบอกพวกท่านแล้วว่า พวกท่านจะตายในการบาปของพวกท่าน เพราะถ้าพวกท่านไม่เชื่อว่าเราเป็นผู้นั้น[104] พวกท่านก็จะตายในการบาปของตน”
ข้อ 28 “เมื่อพวกท่านได้ยกบุตรมนุษย์ขึ้น พวกท่านก็จะรู้ว่าเราเป็นผู้นั้น และเราไม่ได้ทำสิ่งใดด้วยอำนาจของเราเอง แต่พูดตามที่พระบิดาได้ทรงสอนเรา”
ข้อ 58 “เราบอกความจริงกับท่านว่า เราเป็น[105]ก่อนอับราฮัมเกิด”
คำว่า “ผู้นั้น” (ดูที่ขีดเส้นใต้) ในข้อ 24 และข้อ 28 ไม่มีในภาษากรีก ดังนั้นทั้งสามข้อจึงมีคำว่า “เราเป็น” อยู่โดดๆในภาษากรีก พระคัมภีร์ส่วนใหญ่ (ฉบับ, ESV, KJV, NET, NIV, NRSV) จะเพิ่มคำว่า “ผู้นั้น” ในข้อ 24 และข้อ 28 ให้ดูเชื่อถือได้และพอฟังขึ้นเพื่อให้คำกล่าวว่า “เราเป็น” (“เราเป็นผู้นั้น”) เป็นตามความหมายที่ตั้งใจไว้ แต่กระนั้นพระคัมภีร์ฉบับเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำอย่างเดียวกันกับข้อ 58
พระเยซูคริสต์กำลังตรัสอะไรถึงตัวพระองค์เองเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นผู้นั้น” ในข้อ 24 และข้อ 28? มีผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนใช้หมายถึง “เราเป็นพระเจ้า” แต่คนอื่นๆต่างรู้ดีว่า การอ่านแบบนี้อาจเป็นปัญหาในข้อ 28 เพราะมันจะทำให้ “เราเป็น” มาอยู่ภายใต้ “อำนาจ” ของบุคคลอื่น ซึ่งไม่อาจเป็นจริงได้กับ “เราเป็น” ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ดังนั้นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนจะอ่าน (พอฟังขึ้น) ข้อ 24 และข้อ 28 ให้หมายความว่า “เราคือพระเมสสิยาห์” ซึ่งจะสอดคล้องกับจุดประสงค์ของพระกิตติคุณยอห์นที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เพื่อพวกท่านจะได้เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์” (ยอห์น 20:31)[106] จอห์น คาลวิน ซึ่งเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่า มันน่าจะเป็น “ความผิดพลาด” ที่จะใช้ “เราเป็น” ในข้อ 24 เป็นการอ้างอิงถึง “แก่นแท้ในความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์” คาลวินยอมรับอย่างหนักแน่นว่าเป็น “เราเป็นพระเมสสิยาห์”
ที่จริงถ้าข้อ 24 และข้อ 28 ประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ แล้วข้อ 58 ล่ะ (“ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็น”)? มันอาจเป็นการประกาศในทำนองเดียวกันไหมว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์? นี่สนับสนุนโดยบริบทถัดมาว่า “อับราฮัมบิดาของพวกท่านชื่นชมยินดีที่เขาจะได้เห็นวันของเรา” (ข้อ 56) คำกล่าวที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนใหญ่เข้าใจว่าอับราฮัมมีนิมิตเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในอนาคต
แต่ถ้าเราใช้ยอห์น 8:58 เป็นการอ้างอิงถึงพระยาห์เวห์ว่าคือผู้เป็น “เราเป็น” ของอพยพ 3:14 มันก็จะมีสองวิธีหลักๆที่จะเข้าใจเรื่องนี้ วิธีหนึ่งก็คือการบอกว่าพระเยซูเป็นคนเดียวกันกับพระยาห์เวห์ผู้เป็น “เราเป็น” แต่นี่จะเป็นปัญหากับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่มองพระยาห์เวห์อย่างถูกต้องว่าเป็นพระเจ้าพระบิดา และไม่ใช่พระเจ้าพระบุตร ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระยาห์เวห์จริงๆ นั่นจะเป็นการกีดกันพระบิดาว่าเป็นพระยาห์เวห์ (เนื่องจากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4[107] ซึ่งกล่าวว่ามีเพียงพระยาห์เวห์เดียว) แล้วยังกีดกันว่าเป็นพระเจ้าอีกด้วย (เนื่องจากอิสยาห์ 45:5 ซึ่งกล่าวว่าไม่มี พระเจ้าอื่นใดนอกจากพระยาห์เวห์)[108]
“เราเป็น” ไม่ใช่ชื่อทั่วไปของพระเจ้า แต่เป็นชื่อเฉพาะของพระยาห์เวห์ (“พระองค์ผู้ทรงพระนามว่า เราเป็น ทรงใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย” อพยพ 3:14) ถ้าพระเยซูทรงอ้างว่าเป็นผู้ที่ “เราเป็น” พระองค์ก็กำลังอ้างว่าทรงเป็นพระยาห์เวห์พระเจ้า พระเยซูผู้ไม่ได้ทรงยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า (ฟีลิปปี 2:6)[109] ตอนนี้กำลังประกาศตัวพระองค์เองต่อสาธารณชนว่าเป็นพระเจ้าองค์เดียวของอิสราเอล! ความตั้งพระทัยเช่นนี้ในส่วนของพระเยซูสามารถถูกตัดโอกาสด้วยฟีลิปปี 2:6 แต่ก็ถูกตัดโอกาสพอกันด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ามีเพียงพระยาห์เวห์เท่านั้นเป็นพระเจ้า (อิสยาห์ 45:5)
อีกวิธีหนึ่งในการอธิบาย “เราเป็น” จากยอห์น 8:58 ว่าหมายถึงพระยาห์เวห์ก็คือวิธีที่สอดคล้องกับพระกิตติคุณยอห์นทั้งหมด ในยอห์น 8:58 พระยาห์เวห์กำลังตรัสโดยตรงผ่านพระเยซูเพื่อตรัสกับชาวยิวว่า “ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็น” นี่เป็นการอ้างอิงโดยตรงถึงสิ่งที่พระยาห์เวห์ได้ตรัสโมเสสก่อนหน้านี้เกี่ยวกับพระนามของพระองค์
พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า “จงไปบอกประชาชนอิสราเอลอย่างนี้ว่า ‘พระองค์ผู้ทรงพระนามว่า เราเป็น ได้ทรงใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย’” (อพยพ 3:14)
ในยอห์น 8:58 พระยาห์เวห์ตรัสพระนามของพระองค์กับคนอิสราเอล ไม่ใช่จากพุ่มไม้ที่มีไฟลุกโชน แต่ผ่านทางพระเยซูผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา สิ่งนี้ยืนยันโดยข้อ 28 จากบทเดียวกันที่พระเยซูตรัสว่าพระองค์ “พูดตามที่พระบิดาทรงสอนเรา” (ยอห์น 8:58) นี่คล้ายกับกรณีของยอห์น 2:19 ที่พระเจ้าตรัสโดยตรงผ่านพระเยซูว่า “ทำลายวิหารนี้ แล้วเราจะยกขึ้นใหม่ในสามวัน” (กรณีพิเศษนี้จะกล่าวถึงในบทต่อไป)
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับความจริงที่ได้กล่าวซ้ำๆหลายครั้งในพระกิตติคุณยอห์นว่า พระเยซูตรัสถ้อยคำของพระบิดา
ถ้อยคำที่พวกท่านได้ยินนี้ไม่ใช่คำของเรา แต่เป็นถ้อยคำของพระบิดาผู้ทรงใช้เรามา (ยอห์น 14:24 ฉบับ ESV)
“เพราะเราไม่ได้พูดด้วยอำนาจของเราเอง แต่พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาได้บัญชาเราว่าจะกล่าวอะไรหรือพูดอะไร และเรารู้ว่าพระบัญชาของพระองค์นั้นคือชีวิตนิรันดร์ ดังนั้นสิ่งที่เราพูด เราก็พูดตามที่พระบิดาได้ทรงบอกเรา” (ยอห์น 12:49-50 ฉบับ ESV)
ชาวยิวเข้าใจพระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้าผิด เมื่อพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “อับราฮัมบิดาของพวกท่าน ชื่นชมยินดีที่เขาจะได้เห็นวันของเรา และเขาก็เห็นแล้วและมีความยินดี” (ยอห์น 8:56) พวกเขาจึงถามพระองค์ว่า “ท่านอายุยังไม่ถึงห้าสิบปีเลย ท่านได้เห็นอับราฮัมแล้วหรือ?” (ข้อ 57)
แต่พระเยซูไม่เคยตรัสว่าพระองค์เคยเห็นอับราฮัม แต่ตรัสว่า “อับราฮัมบิดาของพวกท่าน ชื่นชมยินดีที่เขาจะได้เห็นวันของเรา” คือวันที่ยกย่องพระเยซูว่าเป็นพระเมสสิยาห์ของพระเจ้า (มุมมองที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพหลายคนยึดถือ) อับราฮัมได้เห็นพระเมสสิยาห์ในอนาคตแวบหนึ่งและชื่นชมยินดีกับสิ่งที่เขาได้เห็น ท้ายที่สุดอับราฮัมเป็นคนที่เฝ้าคอย “นครที่ตั้งอยู่บนรากฐานซึ่งพระเจ้าทรงเป็นสถาปนิกและทรงเป็นผู้สร้าง” (ฮีบรู 11:10) นี่คือนครในสวรรค์ที่พระคริสต์จะทรงปกครองเหนือจักรวาลในฐานะผู้แทนของพระยาห์เวห์
พระเยซูไม่เคยตรัสว่าอับราฮัมได้เห็นพระองค์ด้วยตาเปล่าของเขา แต่ตรัสว่าอับราฮัมเห็น “วันของเรา” ซึ่งบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและผู้ไม่เชื่อในตรีเอกานุภาพยอมรับอย่างเดียวกันโดยไม่มีข้อโต้แย้งว่าหมายถึงว่า โดยความเชื่อ อับราฮัมได้เห็นนิมิตที่ปลื้มปีติยินดีเกี่ยวกับพันธกิจแห่งความรอดของพระเมสสิยาห์ที่จะเสด็จมา[110]
การเปรียบเทียบคำกล่าวว่า “ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็น” กับ “เราเป็น” ที่กล่าวในพระกิตติคุณยอห์น[111]แสดงให้เห็นว่า “เราเป็น” คำกล่าวแรกนั้นแตกต่างอย่างแท้จริงจากคำกล่าวอันหลัง คำว่า “เราเป็น” ที่กล่าวโดยทั่วไปเป็นภาพของพระเยซูที่ทรงเป็นความสว่าง เป็นประตู เป็นผู้เป็นขึ้นจากตาย และอื่นๆ แต่คำกล่าวว่า “เราเป็น” ในยอห์น 8:58 มีลักษณะเฉพาะและอยู่ได้เดี่ยวๆ
ความคิดเห็นเพิ่มเติม (เลือกอ่านได้)
หลายคนใช้คำประกาศว่า “เราเป็น” ของพระเยซูในยอห์น 8:58 เป็นการอ้างถึงความเป็นพระเจ้า เพราะมีความคล้ายคลึงกับคำว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” ที่ตรัสโดยพระยาห์เวห์ในอพยพ 3:14 ถ้าเราจำกัดการวิเคราะห์ของเรากับตัวบทฉบับภาษากรีก (พระคัมภีร์ใหม่และพระคัมภีร์เดิมฉบับเซปทัวจินต์) ไม่ใช่กับฉบับภาษาฮีบรู (ฉบับ MT)[112]แล้วละก็ การเปรียบ “เราเป็น” ของยอห์น 8:58 (“ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็น”) ให้เท่ากับ “เราเป็น” ของอพยพ 3:14 จะไม่สามารถทำต่อไปได้บนพื้นฐานของคำศัพท์ที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น
จากหลายๆตัวอย่างของ “เราเป็น” ในพระกิตติคุณยอห์น ตัวอย่างหนึ่งผู้พูดคือชายตาบอดที่พระเยซูได้ทรงรักษาเขาให้หาย เมื่อคนถามเขาว่า เขาเป็นคนตาบอดที่พวกเขารู้จักมาก่อนหรือไม่ เขาตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็น” (“I am” ยอห์น 9:9) ฉบับแปลภาษาอังกฤษส่วนใหญ่จะขยายส่วนนี้เป็น “ข้าพเจ้าเป็นคนนั้น (I am he)” หรือ “ข้าพเจ้าคือผู้นั้น (I am the one)” หรือ “ข้าพเจ้าเป็นชายคนนั้น (I am the man)” ในภาษากรีกคือคำ egō eimi (ἐγώ εἰμι) ที่ชายคนนั้นพูดก็เหมือนกับคำว่า “เราเป็น” (I am) ที่พระเยซูตรัสในยอห์น 8:58 ในฉบับเซปทัวจินต์ (ฉบับ LXX)[113] เราจะพบการใช้ egō eimi โดดๆที่คล้ายกันใน 2 ซามูเอล 2:20 (อาสาเฮลกล่าวกับอับเนอร์ว่า “I am”, ข้าเอง)[114]
แต่มีโครงสร้างภาษากรีกอีกแบบของ “เราเป็น” คือ ho ōn (ὁ ὤν) ซึ่งแตกต่างจาก egō eimi ที่ตรัสโดยพระเยซู ในอพยพ 3:14 ฉบับ LXX นั้น เมื่อพระยาห์เวห์ตรัสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” โดยที่ “เราเป็น” อันแรกคือ egō eimi ในขณะที่ “เราเป็น” อันที่สองคือ ho ōn พระยาห์เวห์ไม่ได้แค่ตรัสว่า egō eimi (“I am”) พระองค์ตรัสว่า egō eimi ho ōn ที่มักแปลว่า “เราเป็นอย่างที่เราเป็น (I am that I am)” หรือ “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น (I am who I am)” นั่นคือ “ผู้ที่เป็นอยู่ หรือดำรงอยู่” พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คำกล่าวของพระยาห์เวห์ว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” ในอพยพ 3:14 นั้นยาวกว่าคำกล่าวของพระเยซูว่า “เราเป็น” ในยอห์น 8:58 ในคำกล่าวว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” ของอพยพ 3:14 นั้น “เราเป็น” (I am, egō eimi) อันแรก เป็นเพียงการเกริ่นถึง “เราเป็น” (ho ōn) อันที่สองและอันที่กำหนดไว้ จากข้อมูลที่ผ่านมานั้นเป็น “เราเป็น” (ho ōn) อันที่สอง ซึ่งไม่ใช่อันแรก (egō eimi) ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นคำพูดที่พูดกันบ่อยๆถึง “พระเจ้า” ในหมู่ชาวยิวที่พูดภาษากรีก (เช่น ชีวิตโมเสสของไฟโล และคู่มือทำความเข้าใจไฟโลของเคมบริดจ์, หน้า 198)[115]
ในทำนองเดียวกันกับในอพยพ 3:14 เมื่อพระยาห์เวห์ตรัสสั่งโมเสสให้พูดกับชนอิสราเอลว่า “เราเป็น ได้ทรงใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย” คำว่า “เราเป็น” นี้คือคำที่กำหนดไว้ว่า ho ōn แทนที่จะเป็นคำ egō eimi ที่พระเยซูตรัสในยอห์น 8:58
ในเมื่อความแตกต่างของเราระหว่าง egō eimi และ ho ōn ขึ้นอยู่กับภาษากรีก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาษาฮีบรู ถ้าเช่นนั้นมันมีความเกี่ยวข้องใดๆกับอพยพ 3:14 (“เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น”) หรือไม่? ก็อาจเป็นไปได้และด้วยเหตุผลที่นึกไม่ถึง ในวิวรณ์ 1:4 (“ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา” ซึ่งพระเจ้าเป็นผู้ตรัส ไม่ใช่พระเยซูตรัส) ยอห์นพ่วงคำ ho ōn ในรูปกรรตุการกซึ่งเป็นประธานของประโยคกับคำบุพบท apo แม้ว่า apo จะเรียกร้องสัมพันธการกซึ่งบอกความเป็นเจ้าของ ความผิดปกติทางไวยากรณ์ที่โดดเด่นนี้ อาจเป็นการตั้งใจพาดพิงถึงอพยพ 3:14 ความเป็นไปได้ที่ยอห์นกำลังทำให้เห็นความต่างกันเด่นชัดขึ้นระหว่าง egō eimi โดยทั่วไป กับ ho ōn ที่ (เป็นไปได้ว่า) มีนัยสำคัญทางศาสนศาสตร์ในวิวรณ์ 1:4 นั้นหมายความว่า การใช้ egō eimi ของพระเยซูแทนที่จะเป็น ho ōn ในยอห์น 8:58 นั้นอาจมีนัยสำคัญ และอาจให้การสนับสนุนมุมมองของผู้เชื่อตรีเอกานุภาพในข้อนี้น้อยกว่าที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้เชื่อกันโดยทั่วไป
[1] Bar Kochba
[2] Rabbi Akiba
[3] ดูบทความ “พระซุส” และ “พระเฮอร์เมส” ในวิกิพีเดียสำหรับการโต้ตอบอย่างเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทพเจ้ากรีกสององค์ที่มีชื่อเสียงนี้
[4] ตัวอย่างของการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้าช่วงแรกๆในศตวรรษที่สอง: “แต่กระนั้นก็ตาม พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า โดยที่พระองค์ทรงเป็นผู้บังเกิดก่อน (บุตรหัวปีของ) สรรพสิ่งที่ทรงสร้าง” (จัสตินผู้พลีชีพ, ราว ค.ศ. 160); “พระเจ้าผู้ถูกปลงพระชนม์” (เมลิโต, ราว ค.ศ. 170); “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า เพราะชื่ออิมมานูเอลบ่งชี้สิ่งนี้” (ไอเรเนียส, ราว ค.ศ. 180) พจนานุกรมเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียนยุคแรก, หน้า 94, 95, เดวิด ดับบลิว เบอร์คอท ผู้รวบรวม
[5] Nicene creed of 325
[6] Niceno-Constantinopolitan creed of 381 คือหลักข้อเชื่อไนเซียที่แก้ไขในปี ค.ศ. 381 (ผู้แปล)
[7] Council of Constantinople; Theodosius I
[8] คำฮีบรูที่แปลว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (ผู้แปล)
[9] หรือ “ผู้ไกล่เกลี่ย”; ผู้ที่ไม่ใช่ชาวคาทอลิกส่วนใหญ่จะไม่รู้ถึงสถานะที่สูงของชื่อเรียก “ผู้กลางที่เป็นหญิง” ซึ่งวิกิพีเดียได้อธิบายไว้ดีมากในหัวข้อ “Mediatrix”: “ชื่อเรียกผู้กลางที่เป็นหญิงนี้ถูกใช้ในศาสนศาสตร์คริสเตียนส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระแม่มารีย์ของนิกายโรมันคาทอลิก เพื่ออ้างถึงบทบาทของพระแม่มารีย์ในการทูลวิงวอนในฐานะของคนกลางในการไถ่ที่นำไปสู่ความรอดโดยพระเยซูคริสต์บุตรของเธอ และที่พระองค์ประทานพระคุณผ่านทางเธอ” หัวข้อเดียวกันนี้กล่าวถึงคำกล่าวเรื่อง “ผู้กลางหญิงแห่งความเมตตา” โดยพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สองว่า: “ด้วยเหตุนี้จึงมีคนกลางมาไกล่เกลี่ย: มารีย์เป็นคนกลางระหว่างบุตรของเธอกับมวลมนุษย์ในความเป็นจริงตามความต้องการ ความจำเป็น และความทุกข์ยากของพวกเขา เธอเอาตัวเองมาอยู่ตรงกลาง กล่าวคือ เธอทำตัวเป็นผู้กลางที่ไม่ใช่ในฐานะของคนนอก แต่ในฐานะของเธอที่เป็นแม่”
[10] James D.G. Dunn (The New International Greek Testament Commentary, Col.1:16)
[11] Philo's De Cherubim
[12] วิวรณ์ 16:13 “และข้าพเจ้าเห็นวิญญาณโสโครกสามดวง รูปร่างเหมือนอย่างกบ ออกจากปากพญานาค จากปากสัตว์ร้าย และจากปากผู้เผยพระวจนะเท็จ”
[13] วิวรณ์ 16:14,16 “เพราะว่าวิญญาณเหล่านี้เป็นผีที่ทำหมายสำคัญ พวกมันออกไปหากษัตริย์ทั้งหลายทั่วโลก เพื่อรวบรวมกษัตริย์เหล่านั้นไปทำสงคราม (ยังสถานที่หนึ่งซึ่งเรียกตามภาษาฮีบรูว่า อารมาเกดโดน) ในวันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด”
[14] มาระโก 7:13 “พวกท่านจึงทำให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นโมฆะด้วยคำสอนจากบรรพบุรุษที่พวกท่านรับและสอนต่อๆกันมา”
[15] Father John L. McKenzie
[16] ยอห์น 4:24 “พระเจ้าเป็นพระวิญญาณ และคนที่นมัสการพระองค์จะต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง”
[17] ยอห์น 15:26 “เราจะส่งองค์ที่ปรึกษาจากพระบิดามาหาพวกท่าน คือพระวิญญาณแห่งความจริงซึ่งออกมาจากพระบิดา”
[18] The Complete Jewish Bible
[19] ยอห์น 7:38-39 “ผู้ใดก็ตามที่เชื่อในเรา สายธารซึ่งมีน้ำที่ให้ชีวิตจะไหลออกมาจากภายในผู้นั้น” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)
[20] พจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับอีแวนเจลิคอล (1984), หัวข้อ พระวิญญาณบริสุทธิ์ กล่าวว่า “ในพระคัมภีร์เดิม พระวิญญาณขององค์ผู้เป็นเจ้านั้น (ruach yhwh; LXX, to pneuma kyriou) โดยทั่วไปแล้วเป็นการแสดงถึงฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า เป็นส่วนขยายของพระองค์เอง โดยที่พระองค์ทรงกระทำการที่ยิ่งใหญ่มากมายของพระองค์”
[21] ลูกา 1:35; 4:14; กิจการ 1:8; 10:38; โรม 15:13, 19; 1 โครินธ์ 2:4; เอเฟซัส 3:16; 1 เธสะโลนิกา 1:5
[22] ลูกา 4:14 “พระเยซูเสด็จกลับไปที่แคว้นกาลิลีด้วยฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณ”
[23] Gnosticism คือความเชื่อว่าความรู้เป็นทางไปสู่ความรอด (ผู้แปล)
[24] กาลาเทีย 1:6 “ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจที่พวกท่านด่วนละทิ้งพระองค์ผู้ซึ่งทรงเรียกท่านมาโดยพระคุณของพระคริสต์ และหันไปหาข่าวประเสริฐอื่นเสีย”
[25] “form of God”, “image of God”
[26] 1 ทิโมธี 2:14 “และอาดัมไม่ได้ถูกล่อลวง แต่ผู้หญิงถูกล่อลวงและทำบาป”
[27] ปฐมกาล 3:22 แล้วพระยาห์เวห์พระเจ้าตรัสว่า “ดูสิ มนุษย์กลายเป็นเหมือนผู้หนึ่งในพวกเราแล้ว โดยที่รู้ความดีและความชั่ว”
[28] สารานุกรมพระคัมภีร์ ISBE (The International Standard Bible Encyclopedia), หัวข้อ “บารับบัส” กล่าวว่า: “ออริเกน [นักวิจารณ์ตัวบทที่มีชื่อเสียงที่สุดของคริสตจักรยุคแรกๆ] รู้และไม่ได้คัดค้านการอ่านมัทธิว 27:16,17 ที่มีชื่อ “เยซูบารับบัส” เลย ...นอกจากนี้ก็ยังพบในฉบับคัดลายมือไม่กี่ฉบับและในฉบับภาษาอาราเมค และฉบับเยรูซาเล็มภาษาซีเรียโบราณ”
[29] CJB (Complete Jewish Bible), NIV (New International Version), NET (New English Translation), NRSV (New Revised Standard Version) -ผู้แปล
[30] 2 โครินธ์ 11:5 “เพราะข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าไม่ด้อยกว่าอัครทูตพิเศษเหล่านั้นแม้แต่น้อยเลย”
[31] Walter Schmithals (The Office of Apostle in the Early Church, p.178)
[32] Docetism คือความเชื่อว่าพระคริสต์ไม่ได้มีร่างกายของมนุษย์ แต่เป็นกายวิญญาณที่ทุกข์ทรมานและตายบนกางเขน (ผู้แปล)
[33] สารานุกรมพระคัมภีร์ของซอนเดอร์วาน, “ซีโมนคนเล่นคาถาอาคม” สำหรับซีโมนคนเล่นคาถาอาคมที่เป็นผู้เชื่อแบบนอสติกผู้โด่งดังในคำสอนที่ตกทอดของคริสตจักรยุคแรกนั้นให้ดูหัวข้อ “ซีโมนคนเล่นคาถาอาคม” และ “หลักความเชื่อแบบนอสติกกับพระคัมภีร์ใหม่” ในวิกิพีเดีย
[34] ลูกา 22:69 “อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นี้ไปบุตรมนุษย์จะนั่งด้านขวาของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ”
[35] ยอห์น 14:28 “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะชื่นชมยินดีที่เราไปหาพระบิดา เพราะพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา”
[36] eternal generation คำสอนว่าพระบุตรบังเกิดมาจากพระบิดาตั้งแต่นิรันดร์กาล ดังนั้นจึงดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกันกับพระบิดา
[37] สตีเฟ่น ฮอว์คิง, ประวัติโดยย่อของกาลเวลา (หน้า 66) และ จักรวาลโดยย่อ (หน้า 23), ฉบับรวมเล่ม, สำนักพิมพ์แบนตัม, นิวยอร์ก, 2010
[38] 2 เปโตร 3:10 “แต่วันขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้น จะมาถึงเหมือนอย่างขโมย และในวันนั้น ฟ้าจะหายลับไปด้วยเสียงดังกึกก้อง และโลกธาตุจะสลายไปด้วยไฟ และแผ่นดินกับสิ่งสารพัดที่มีอยู่บนนั้นจะถูกเผาจนหมดสิ้น”
[39] สดุดี 95:3 “เพราะพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่ง และทรงเป็นกษัตริย์ใหญ่ยิ่งเหนือพระทั้งหลาย”
[40] “Doulos” คือ “ทาส” หรือ “คนรับใช้” และคำประกาศว่า “ผู้ทรงใช้เรามา” มีปรากฏหลายครั้งในพระกิตติคุณยอห์น รวมถึง 10 ครั้งแค่ในบทที่ 6 ถึง 8 อย่างเดียว: 6:38, 39, 44; 7:16, 28, 33; 8:16, 18, 26, 29
[41] 1 โครินธ์ 11:3 “แต่ขอให้ท่านตระหนักว่าพระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของชายทุกคนและชายเป็นศีรษะของหญิง และพระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสต์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)
[42] เปรียบเทียบยอห์น 6:15 “ทรงทราบว่าพวกเขาจะมาจับพระองค์ไปตั้งให้เป็นกษัตริย์ พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปบนภูเขาอีกตามลำพัง”
[43] โยบ 33:12 “ดูเถิด ในเรื่องนี้ท่านผิด ข้าพเจ้าจะตอบท่าน พระเจ้าใหญ่ยิ่งกว่ามนุษย์”
[44] ESV Study Bible (English Standard Version)
[45] Frédéric Louis Godet
[46] ยอห์น 5:27 “และทรงให้พระบุตรมีสิทธิอำนาจที่จะทำการพิพากษาเพราะพระองค์ทรงเป็นบุตรมนุษย์”
[47] กิจการ 9:29 “ประกาศออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยใจกล้าหาญ ท่านพูดและโต้แย้งกับพวกยิวที่พูดกรีก แต่พวกนั้น พยายามหาทางฆ่าท่านเสีย”
[48] Melito of Sardis; Tertullian
[49] ditheism; binitarianism
[50] อิสยาห์ 45:5 “เราคือพระยาห์เวห์ ไม่มีใครอื่น นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใด” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)
[51] New Jerusalem Bible and Holman Christian Standard Bible
[52] 2 โครินธ์ 11:31 “พระเจ้าคือพระบิดาของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสมควรแก่การสรรเสริญเป็นนิตย์”
[53] เอเฟซัส 4:6 “พระเจ้าองค์เดียวผู้เป็นพระบิดาของทุกคน ทรงมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง ทรงทำการผ่านสรรพสิ่งและทรงอยู่ในทุกคน”
[54] 1 ยอห์น 5:18 “เรารู้ว่าทุกคนที่เกิดจากพระเจ้าไม่ทำบาป แต่พระองค์ผู้ทรงบังเกิดจากพระเจ้าทรงคุ้มครองรักษาเขา”
[55] กิจการ 14:12 “เขาทั้งหลายจึงเรียกบารนาบัสว่า พระซุส และเรียกเปาโลว่า พระเฮอร์เมส”
[56] Ante-Nicene Fathers
[57] The Discourse on the Cross
[58] Bob Theil
[59] Bart Ehrman
[60] หนังสือของเดวิด โรกีห์ เรื่องการต่อต้านชาวยิวตลอดยุคสมัย (หน้า 57) และความเกลียดชังที่น่ากลัว: คริสต์ศาสนา, การต่อต้านชาวยิวและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ของโรเบิร์ต มิเชล (หน้า 19)
[61] Robert Michel’s Holy Hatred: Christianity, Antisemitism, and the Holocaust.
[62] Jerome
[63] John Chrysostom
[64] Ephraem of Syria
[65] De Spectaculis
[66] Ambrose; Theodosius
[67] theologia crucis
[68] Judeo-Christian คือค่านิยมที่เป็นของศาสนายูดาห์และต่อมาได้ปรับใช้ในศาสนาคริสต์ เป็นความเชื่อที่มีรากฐานมาจากพระคัมภีร์เดิมหรือพระคัมภีร์ทานัค (ผู้แปล)
[69] Ante-Nicene Fathers (10 volumes)
[70] Nicene and Post-Nicene Fathers (28 volumes)
[71] David Bercot’s Dictionary of Early Christian Beliefs
[72] Origen
[73] Apostolic Constitutions
[74] ฮีบรู 4:15 “เพราะว่าเราไม่ได้มีมหาปุโรหิตที่ไม่สามารถจะเห็นใจในความอ่อนแอของเรา แต่ทรงเคยถูกทดลองใจเหมือนเราทุกอย่าง ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังปราศจากบาป”
[75] Nestorius
[76] หรือแปลว่า “ดีพร้อม” (ผู้แปล)
[77] 1 โครินธ์ 2:16 “ใครเล่ารู้พระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า? เพื่อจะแนะนำสั่งสอนพระองค์ได้” แต่เราก็มีพระทัยของพระคริสต์
[78] โรม 9:3 “พร้อมที่จะถูกสาป และถูกตัดขาดจากพระคริสต์เพราะเห็นแก่พี่น้องของข้าพเจ้า”
[79] 1 โครินธ์ 15:45 ดังที่เขียนไว้ว่า “มนุษย์คนแรกคืออาดัม จึงเป็นผู้มีชีวิต” แต่อาดัมสุดท้ายนั้นเป็นวิญญาณผู้ประทานชีวิต
[80] Wayne Grudem’s Systematic Theology: An Introduction to Biblical Doctrine
[81] เป็นภาษากลุ่มเซมิติก ที่เกี่ยวดองกับภาษาฮีบรู (ผู้แปล)
[82] Wayne Grudem in Systematic Theology
[83] ลูกา 2: 52 “พระเยซูทรงเติบโตขึ้นทั้งในด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย และทรงเป็นที่ชื่นชมทั้งของพระเจ้าและของคนทั้งหลาย”
[84] ยอห์น 2:25 “พระองค์ทรงรู้จักมนุษย์ทุกคน ไม่จำเป็นที่ใครจะเป็นพยานเรื่องมนุษย์ พระองค์เองทรงทราบว่าอะไรอยู่ในตัวมนุษย์”
[85] กาลาเทีย 4:4 “แต่เมื่อถึงกำหนด พระเจ้าได้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาประสูติจากครรภ์ของผู้หญิง ถือกำเนิดภายใต้บท บัญญัติ” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)
[86] เรื่องราวของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ดูได้ในหนังสือของฟีลิป เจนกิ้น ที่ชื่อสงครามเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์: วิธีการที่สี่พระสังฆราช สามพระราชินีและสองจักรพรรดิตัดสินใจว่าคริสเตียนจะเชื่ออะไรในอีก 1,500 ปีข้างหน้า ชื่อย่อยยาวๆของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อจะให้เป็นเรื่องตลกหรือน่าขบขัน แต่เป็นเรื่องจริง; โดยผู้เขียนมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยถึงสองแห่ง
[87] Communicatio idiomatum เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของพระเจ้าและมนุษย์ในองค์พระเยซูคริสต์ (ผู้แปล)
[88] นักศาสนศาสตร์บางคนนิยามการร่วมคุณสมบัติว่า “การส่งต่อคุณสมบัติหรือภาคแสดงที่บอกคุณสมบัติ” (เช่น พจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับเวสมินเตอร์, รวบรวมโดยจัสโต กอนซาเลซ, หน้า 256) ซึ่งเทียบเท่ากับ “the communication of idioms”
[89] hypostatic union
[90] หรือ “ดีพร้อมแล้ว” (ผู้แปล)
[91] โรม 5:18-19 “ฉะนั้นการลงโทษได้มาถึงทุกคนเพราะการละเมิดครั้งเดียวอย่างไร การกระทำอันชอบธรรมครั้งเดียว ก็นำความชอบธรรมและชีวิตมาถึงทุกคนอย่างนั้น เพราะว่าคนจำนวนมากเป็นคนบาป เพราะคนคน<