pdf pic

 

 

บทที่ 13

ch2 1 

พระเยซู

มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพียงผู้เดียว

 

 

“พระเยซู มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพียงผู้เดียว” ชื่อบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ใช้เหมือนกับชื่อของหนังสือโดยมีคำ “พระเยซู” เพิ่มเข้ามา เนื้อหาของเรื่องนี้กินความในบทก่อนและมีปะปนอยู่ในการพิจารณาของเรามาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของพระเยซู การยกย่องพระเยซู และงานของพระเจ้าในพระเยซู บทสุดท้ายนี้เป็นความต่อเนื่องของสิ่งที่เราได้พูดไปแล้วถึงพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพียงผู้เดียว มันเป็นส่วนต่อเนื่อง เป็นส่วนใจความสรุป และเป็นส่วนสุดท้ายของหัวข้อเรื่อง “พระเยซู มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพียงผู้เดียว” ที่ทำให้หัวข้อเรื่อง “พระยาห์เวห์ พระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว” มีความครบถ้วนสมบูรณ์

 

      นับตั้งแต่การสร้างในปฐมกาลและการล้มลงในบาปของอาดัมและเอวาก็ “ไม่มีผู้ใดเลยเป็นคนชอบธรรม แม้สักคนเดียว” ในบรรดามนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่บนพื้นแผ่นดินโลก (โรม 3:10) เอลีฟัสกล่าวถึงความจริงนี้เพื่อปฏิเสธคำยืนยันไม่ได้ทำผิดของโยบว่า “มนุษย์เป็นอะไรเล่า เขาจึงจะสะอาดได้? ผู้เกิดมาโดยผู้หญิงเป็นอะไรเล่า เขาจึงจะชอบธรรมได้?” (โยบ 15:14) แน่นอนว่าพระเยซูทรงเป็นข้อยกเว้นแต่ผู้เดียวจากคำกล่าวโดยรวมนี้

      ในพระคัมภีร์เดิมของพระคัมภีร์บางฉบับ จะมีไม่กี่คนที่ถูกพูดถึงว่าสมบูรณ์แบบ แต่ในกรณีเหล่านี้ คำฮีบรูที่แปลว่า “สมบูรณ์แบบ” นั้นเข้าใจได้เหมาะสมกว่าว่า “ปราศจากตำหนิ” ดังที่เห็นในพระคัมภีร์บางฉบับ ในพระคัมภีร์เดิม คำว่า “สมบูรณ์แบบ”[1] หรือ “ปราศจากตำหนิ” หรือ “ภักดีแน่วแน่”[2] ถูกใช้กับไม่กี่บุคคล (เช่น โนอาห์ในปฐมกาล 6:9 หรือกษัตริย์อาสา ใน 1 พงศ์กษัตริย์ 15:14) แต่ความสมบูรณ์แบบที่พวกเขาบรรลุนั้นไม่ถึงมาตรฐานที่แท้จริงของพระเจ้า ไม่มีมนุษย์คนใดนอกจากพระเยซูที่เคยบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่แท้จริง แต่เรายังคงพูดได้ว่า บรรดาชายและหญิงที่ปราศจากตำหนิเหล่านี้ได้เข้ามาใกล้ความสมบูรณ์แบบ หรือเข้ามาใกล้ความปราศจากตำหนิเมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ทั่วไป

      แต่เมื่อเราพูดถึงพระเยซูว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบแต่เพียงผู้เดียวนั้น เรากำลังพูดถึงความปราศจากบาปอย่างแท้จริง ความรักอย่างแท้จริง ความชอบธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงแบบไม่มีข้อท้วงติง การบรรลุผลสำเร็จอันน่ามหัศจรรย์นี้เป็นการอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระยาห์เวห์พระเจ้าเคยกระทำ เพราะไม่มีใครสามารถจะบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงได้ เว้นแต่พระยาห์เวห์จะทรงเสริมกำลังคนนั้นทุกช่วงขณะในชีวิตของเขา ในอีกด้านหนี่งนั้นพระเยซูทรงดำเนินชีวิตทุกช่วงขณะของชีวิตพระองค์บนโลก ด้วยการเชื่อฟังพระบิดาของพระองค์อย่างทั้งหมด

      พระคัมภีร์กล่าวถึงคนของพระเจ้าบางคนที่โดดเด่น โมเสสเข้ามาใกล้ความสมบูรณ์แบบมาก กว่าคนของพระเจ้าส่วนใหญ่ในพระคัมภีร์เดิม แต่เขาก็ยังล้มเหลวอย่างร้ายแรงในครั้งหนึ่ง (กันดารวิถี 20:7-12) อิสยาห์ผู้เผยพระวจนะคนสำคัญเมื่อได้รับนิมิตของพระยาห์เวห์ เขาสารภาพว่าเขาเป็นคนที่ “ริมฝีปากไม่สะอาด” (อิสยาห์ 6:5)

      “ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรมเลย แม้สักคนเดียว” (โรม 3:10) แต่การเป็นคนไม่ชอบธรรมนั้นไม่เหมือนกับการเป็นคนชั่วร้าย ดังนั้นเปาโลจึงไม่ได้บอกว่ามนุษย์ทุกคนชั่วร้ายตามที่เราเข้าใจคำนั้น แต่ไม่มีใครเคยบรรลุถึงความชอบธรรมอย่างแท้จริงและเชื่อฟังพระเจ้าอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

      มนุษย์จะสามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบด้วยกำลังและความตั้งใจจริงของตนเองได้ไหม? บันทึกที่น่ากลัวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มนุษย์ของพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเป็นคนที่สมบูรณ์แบบพระเยซูจึงเป็นการอัศจรรย์ที่น่าประหลาดใจและคาดไม่ถึงที่สุด แต่เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น เราไม่ได้สนใจเรื่องความเป็นมนุษย์หรือความสมบูรณ์แบบของพระองค์มากนัก เพราะความสนใจเกี่ยวกับความเชื่อของเรามุ่งเน้นอยู่กับการพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ในทางทฤษฎีแล้ว เรายอมรับความคิดเรื่องความสมบูรณ์แบบของพระเยซู แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เราไม่ได้คิดอะไรมากนัก เพราะเราสันนิษฐานว่าพระเยซูทรงสมบูรณ์แบบด้วยความเป็นพระเจ้าของพระองค์ โดยไม่ได้ตระหนักว่าพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ที่เหนือมนุษย์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นไม่ใช่มนุษย์ในแบบที่มนุษย์ทุกคนเป็น

 

การเชื่อฟังพระเจ้า: สวนเอเดน

      ให้เราเริ่มต้นด้วยปฐมกาล พระเจ้าทรงต้องการอะไรจากอาดัมในเรื่องของการเชื่อฟังหรือ? ทำไมถึงจำเป็นต้องกำหนดข้อกำหนดตั้งแต่แรก? และก็ไม่ได้มีเพียงข้อกำหนดเดียวสำหรับอาดัมและเอวาหรอกหรือว่าพวกเขาจะต้องไม่กินผลจากต้นที่เรียกว่าต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่วซึ่งปลูกอยู่กลางสวนเอเดน? (ปฐมกาล 2:8,9,17)[3]

      พระคัมภีร์ไม่ได้บอกเราว่าสวนนี้ใหญ่ขนาดไหน แต่เราก็สามารถคาดคะเนได้ว่า มันไม่เหมือนสวนทั่วๆไปตามบ้านที่เราเห็นในที่ต่างๆ เช่น ในทวีปอเมริกาเหนือ เห็นได้ชัดว่ามันต้องเป็นสวนที่กว้างใหญ่มาก เพราะพระคัมภีร์กล่าวว่ามันตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสกับยูเฟรติส

      ทำไมเราจึงพูดถึงขนาดของสวนหรือ? ที่พูดถึงก็เพราะถ้าเป็นสวนขนาดเล็กที่มีต้นไม้ไม่มากหรือไม่กี่ร้อยต้น ต้นไม้ต้องห้ามนี้ก็จะอยู่ในระยะสายตาของผู้ที่เดินเที่ยวอยู่ในสวนจะมองเห็นได้ แต่จะไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าสวนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งมีต้นไม้เป็นล้านๆต้นและมีสัตว์ทุกชนิดที่พระเจ้าได้ทรงสร้างและนำมาให้อาดัมตั้งชื่อ

      ในพื้นที่ป่าที่กว้างใหญ่ไพศาลซึ่งมีต้นไม้และสัตว์นับล้านนี้ เราอาจคิดว่า ด้วยสัดส่วนที่กว้างใหญ่ไพศาลของสวนนี้น่าจะทำให้อิทธิพลที่จะเกิดการถูกทดลองจากต้นไม้ต้องห้ามเพียงต้นเดียวนี้ลดลงได้ ประเด็นก็คือว่า ในการทดสอบการเชื่อฟังนี้ พระเจ้าทรงทำให้ชีวิตของอาดัมกับเอวาง่ายขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ที่จะอยู่ห่างจากการทดลอง แต่ถึงกระนั้นก็ยังจำเป็นเช่นกันที่จะต้องทดสอบการเชื่อฟังของมนุษย์เพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังพระเจ้า การให้อาดัมมาอยู่ในสวนนี้ พระยาห์เวห์ได้ทรงทำในสิ่งที่พระองค์ต้องทำเพื่อจะสอนเรื่องการเชื่อฟังและความผิดชอบชั่วดีกับเขาด้วยพระเมตตาของพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงทำให้ง่ายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับเขา สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพระปัญญาและพระกรุณาของพระยาห์เวห์ในการจัดเตรียมอย่างรอบคอบ

      แต่ปัญหาของความบาปและความชั่วร้ายนั้นมีมานานแล้วก่อนอาดัม ดังที่เห็นได้จากข้อเท็จจริงว่างูดึกดำบรรพ์ (มาร, วิวรณ์ 12:9; 20:2) มีอยู่ในสวนแล้ว (ปฐมกาล 3:1,2,3) เปาโลพูดถึงอำนาจของความเสื่อมสลาย (การเปื่อยเน่า) ของสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง แต่ก็ยังมีความหวังอันรุ่งโรจน์ที่จะมีการปลดปล่อยให้เป็นอิสระในอนาคต สรรพสิ่งที่ถูกสร้างจะได้หลุดพ้นจากอำนาจของความเสื่อมสลาย และจะได้รับอิสรภาพแห่งศักดิ์ศรีของบรรดาบุตรของพระเจ้า” (โรม 8:21 ฉบับ ESV)

 

การเชื่อฟังพระเจ้า: บทบัญญัติที่ให้กับอิสราเอล

      สิ่งต่อมาในพระคัมภีร์ที่เราเห็นพระยาห์เวห์ทรงกำหนดบทบัญญัตินั้นเกี่ยวข้องกับชนชาติหนึ่งที่เป็นทาสซึ่งได้ตกเป็นเชลยอยู่ในอียิปต์เป็นเวลาสี่ศตวรรษ พวกเขามีชีวิตที่ถูกกดขี่อย่างต่อเนื่องและกำลังคร่ำครวญหาอิสรภาพ แต่ด้วยพระคุณ พระยาห์เวห์จึงทรงเลือกประชากรของชนชาติที่เป็นทาสนี้ ซึ่งตอนนั้นเจอความทุกข์ยากลำบากอย่างมาก เพื่อจะทำให้พวกเขามาเป็นประชากรและเป็น “กรรมสิทธิ์พิเศษของพระองค์เอง” (อพยพ 19:5; เฉลยธรรมบัญญัติ 7:6)[4]

      ในอียิปต์และอารยธรรมโบราณอื่นๆจะถือว่าทาสเป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคม พวกเขาไม่มีสถานะทางสังคมและไม่มีสิทธิหรือการคุ้มครองพิเศษ พวกเขาอาจถูกซื้อขายเหมือนการค้าขายปศุสัตว์ แต่กระนั้นชนชาติที่เป็นทาสซึ่ง “ไม่มีตัวตน” ของสังคมนี้ พระยาห์เวห์ก็ทรงเลือกพวกเขาจากชนชาติทั้งหลายในโลกให้มาเป็นประชากรของพระองค์เอง พระองค์ได้ทรงทำพันธสัญญากับพวกเขาและประทานบัญญัติสิบประการแก่พวกเขาเพื่อเป็นรากฐานทางคุณธรรมแห่งพันธสัญญา

      ในขณะที่อาดัมมีเพียงบัญญัติข้อเดียวที่จะต้องเชื่อฟัง มาตรฐานนี้ถูกยกขึ้นเป็นสิบข้อสำหรับคนอิสราเอล แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูว่าข้อบัญญัติเหล่านี้มีอะไรที่เหมือนกัน คือนอกจากข้อยกเว้นเพียงหนึ่งหรือสองข้อแล้ว ข้อบัญญัตินอกนั้นทั้งหมดมีลักษณะเป็นข้อห้ามและเริ่มต้นด้วยคำว่า “อย่า” ข้อยกเว้นหนึ่งในนี้คือบัญญัติข้อที่ห้าที่ว่า “จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า” ซึ่งไม่ได้มีข้อห้าม แม้พระบัญญัติข้อที่สี่ที่ว่า “จงระลึกถึงวันสะบาโต” จะไม่ได้อยู่ในรูปของข้อห้ามเหมือนกับข้อบัญญัติอื่นๆ แต่โดยพื้นฐานแล้วมันก็ยังคงเป็นข้อห้ามอยู่ เพราะเป็นการห้ามการทำงานตามปกติทั้งสิ้นในวันหยุดพักนี้ วันสะบาโตเป็นวันหยุดที่กำหนดให้ประชาชนหยุดพักจากการประกอบอาชีพประจำของพวกเขา

      ในบัญญัติเกี่ยวกับวันสะบาโตนี้มีคำว่า “บริสุทธิ์” ปรากฏเป็นครั้งแรกในพระบัญญัติสิบประการ แต่คนเราจะบริสุทธิ์โดยไม่ทำงานใดๆเลยได้อย่างไร? แน่นอนว่าประเด็นก็คือ ในวันหยุดพักนั้นทุกคนจะต้องหันความสนใจของตนทั้งหมดไปที่พระยาห์เวห์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกให้ “รักษาตนเองให้บริสุทธิ์ เพราะเราบริสุทธิ์” (เลวีนิติ 11:44)[5]

      ชนชาตินี้แต่ก่อนเป็นชนชาติที่เป็นทาสซึ่งพระเจ้าได้ทรงเรียกออกมาจากการเป็นทาส เป็นพวกที่ไม่มีแผ่นดินบนผืนโลกที่เป็นของพวกเขาเอง พวกที่พระเจ้าทรงเรียกให้เป็นคนบริสุทธิ์ที่อุทิศตนทั้งหมดแด่พระองค์เอง พระยาห์เวห์ทรงเรียกประชากรที่ไม่สำคัญของโลกนี้มาเป็นประชากรพิเศษของพระองค์

      ในแง่ของบทบัญญัติที่พระยาห์เวห์ได้ประทานแก่ประชากรอิสราเอล อีกทั้งในแง่ของรูปแบบที่เป็นข้อห้ามส่วนใหญ่ของข้อบัญญัติเหล่านี้ มันดูเหมือนดังในกรณีของอาดัม พระยาห์เวห์ได้ทรงทำให้ง่ายเท่าที่จะเป็นไปได้ที่คนอิสราเอลจะบริสุทธิ์ เพราะสิ่งที่เรียกร้องจากพวกเขาไม่ใช่การบรรลุเป้าหมายทางคุณธรรมอันสูงและสูงส่ง แต่เป็นการงดเว้นจากการทำบางสิ่งเท่านั้น แม้กระนั้นพวกเขาก็ล้มเหลวเช่นเดียวกับอาดัม พวกเขาไม่สามารถแม้จะรักษาบทบัญญัติที่เป็นข้อห้ามต่างๆได้ นั่นก็คือ พวกเขาไม่สามารถจะงดเว้นจากการทำสิ่งที่พวกเขาถูกห้ามไม่ให้ทำ ดูเหมือนว่าสิ่งที่พระเจ้าตรัสห้ามหรือไม่อนุญาตให้ทำนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์อยากจะทำ

      เราไม่สามารถจะคาดเดาเอาง่ายๆว่าบัญญัติที่ให้ไว้ในรูปของการห้าม เช่น ข้อที่ห้ามอาดัม หรือบัญญัติสิบประการส่วนใหญ่ที่ห้ามคนอิสราเอลนั้นจะเชื่อฟังได้ง่ายกว่าบัญญัติที่สั่งให้ทำ บัญญัติที่ห้ามคนๆหนึ่งไม่ให้ทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำนั้น ไม่ได้ง่ายกว่าคำสั่งให้ทำในสิ่งที่คนนั้นไม่อยากจะทำเลย เอวามองดูผลไม้ต้องห้ามและเห็นว่ามันน่าดึงดูดใจอย่างยับยั้งชั่งใจไม่ได้ และสิ่งนี้นำไปสู่การกระทำที่ไม่เชื่อฟังซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับเธอ สำหรับอาดัม และสำหรับมวลมนุษย์

      ข้อบัญญัติที่ว่า “ท่านจงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ด้วยสุดจิตสุดใจและสุดกำลังของท่าน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5, มาระโก 12:30) จะรักษาได้ง่ายกว่าไหม? เมื่อเราไตร่ตรองเรื่องนี้ เราจะเห็นว่าในทางปฏิบัติแล้ว บัญญัติข้อนี้รักษาได้ไม่ง่ายไปกว่าข้ออื่นๆ ดังที่เห็นในข้อเท็จจริงอันน่าเศร้า ที่คนอิสราเอลและมนุษย์โดยทั่วไปพบว่าตัวเองไม่สามารถจะรักษาบัญญัติทั้งที่สั่งให้ทำและที่สั่งห้ามไม่ให้ทำได้ เมื่อพิจารณาถึงข้อห้ามส่วนใหญ่ของบัญญัติสิบประการ มันดูเหมือนว่าการเป็นคนปราศจากตำหนินั้นไม่น่าจะยากมาก แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะสมบูรณ์แบบ และนี่เป็นเพราะธรรมชาติมนุษย์ของเขา

 

ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่พระเยซูทรงเผชิญ

      ฉากหลังของประวัติศาสตร์อันยาวนานของความล้มเหลวในฝ่ายวิญญาณของอิสราเอลและมวลมนุษย์นี้ ดูขัดกับสิ่งที่เราพยายามจะทำความเข้าใจถึงความท้าทายที่พระเยซูทรงเผชิญเมื่อพระยาห์เวห์ทรงส่งพระองค์เข้ามาในโลก เพื่อมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบและเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบเพื่อความรอดของมวลมนุษย์ และยิ่งเราคิดถึงพันธกิจของพระองค์ในบริบทของความล้มเหลวทางคุณธรรมของมวลมนุษย์มากเท่าไร ดังที่สะท้อนให้เห็นในถ้อยคำว่า “ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรมเลย แม้สักคนเดียว” (สดุดี 14:3, โรม 3:10) เราก็ยิ่งสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรที่พระเยซูจะสามารถมีชัยชนะได้ในเมื่อไม่มีใครสามารถทำได้

      แม้แต่ผู้เผยพระวจนะคนสำคัญๆ ในสมัยก่อนก็ไม่สามารถกล่าวอ้างความเป็นคนสมบูรณ์แบบได้ คงไม่มีผู้เผยพระวจนะคนใดในพระคัมภีร์เดิมที่เป็นที่ยกย่องนับถือมากไปกว่าอิสยาห์ แต่เมื่อเขาได้รับนิมิตเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ เขาก็สารภาพด้วยความเสียใจว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้า เพราะว่าข้าพเจ้าพินาศแล้ว เพราะข้าพเจ้าเป็นคนริมฝีปากไม่สะอาด” (อิสยาห์ 6:5) คำสารภาพว่า “ริมฝีปากไม่สะอาด” ที่อิสยาห์หมายถึงนั้นไม่มีคำอธิบายไว้ แต่ทุกคนที่เคยพยายามมีชีวิตที่บริสุทธิ์ก็จะพอเข้าใจว่าเขาหมายถึงอะไร การพูดผิดทางวาจาหรือคำที่ไม่เหมาะสมคำเดียวจะทำให้เราไม่สะอาดและลบล้างความสมบูรณ์แบบ ถ้าเรานึกภาพว่าความสมบูรณ์แบบเป็นเหมือนผ้าขาวที่ไม่มีรอยเปื้อน ผ้าขาวผืนนั้นจะกลายเป็นผ้าที่ไม่สมบูรณ์แบบทันทีเมื่อมีจุดเล็กมากอยู่บนผ้าผืนนั้น

      คนที่ควบคุมลิ้นของเขาได้ก็เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ (หรือดีพร้อม ยากอบ 3:2)[6] และมีน้อยคนที่สามารถควบคุมลิ้นของตนเองได้แม้ภายในวันเดียว ที่จะยับยั้งการพูดผิดทางวาจาภายในเวลา 24 ชั่วโมงได้ นั่นก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการยืดเวลาไปจนถึง 30 ปีเหมือนในกรณีของพระเยซูเลย ข้อเท็จจริงอันน่าอัศจรรย์ที่พระเยซูทรงบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ แม้กระทั่งยอมให้ฤทธิ์อำนาจที่ช่วยเหลือของพระยาห์เวห์ดำรงอยู่ในพระองค์ (ซึ่งก็มีให้กับผู้เชื่อทุกคนโดยการที่พระเจ้าสถิตอยู่ภายใน) นี้ อยู่เหนือขีดความสามารถในการจินตนาการของเราที่จะคาดคิดได้

      การทำให้พระเยซูสมบูรณ์แบบเป็นการอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระยาห์เวห์ ที่เหนือกว่าความงดงามของการสร้างจักรวาล  เมื่อพูดถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น อนุภาคควาร์กที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอม และอนุภาคนิวตริโน[7]ที่มีมวลเล็กกว่าอิเล็กตรอนนั้น ไม่สามารถจะเปรียบเทียบได้กับสิ่งมีชีวิตที่มีใจปรารถนาและเสรีภาพในการเลือก

      ความสมบูรณ์แบบของพระเยซูบรรลุผลหลังจากการไม่เชื่อฟังของอาดัมกับอาวาที่ได้นำความบาปและความตายมาสู่โลก ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางจิตวิญญาณที่ไม่เป็นมิตรกับความชอบธรรมและความสมบูรณ์แบบ สิ่งที่อาดัมและเอวาล้มเหลวที่จะบรรลุผลในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยนั้น พระเยซูทรงบรรลุผลในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร มันจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ตั้งแต่สมัยของอาดัมมาจนถึงสมัยของพระเยซูจึงไม่มีใครเคยบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ ข้อเท็จจริงอันน่ามหัศจรรย์ที่พระเยซูทรงมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพื่อความรอดของโลก ทำให้พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพผู้เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์นั้นด้อยไปเลยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว

      นอกเหนือจากพระเยซูแล้ว ยังไม่มีใครอื่นที่สมบูรณ์แบบในบรรดาหลายพันล้านคนที่ผ่านเข้ามาในโลกนี้ ไม่มีแม้แต่ในหมู่ผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า แม้อับราฮัมจะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายอย่างและอยู่ในฐานะ “สหายของพระเจ้า” (2 พงศาวดาร 20:7, อิสยาห์ 41:8, ยากอบ 2:23) ก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น (เปรียบเทียบความขัดแย้งที่รายล้อมซาราห์และฮาการ์) โมเสสซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้า ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในแผ่นดินแห่งพันธสัญญาเพราะโทสะในครั้งนั้น (กันดารวิถี 20:7-12)

      การที่จะถึงความสมบูรณ์แบบนั้นยากแค่ไหน? นั่นไม่ใช่การถามที่ถูกต้องด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบในชีวิตนี้ได้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่พระเยซูทรงทำสำเร็จโดยการอยู่ในกันและกันกับพระบิดาดังคำกล่าว “เราอยู่ในพระบิดาและพระบิดาทรงอยู่ในเรา” (ยอห์น 14:10) ความสัมพันธ์กับพระบิดานี้มีจุดมุ่งหมายที่จะรวมคนอื่นด้วย ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะกับคนๆเดียว เพราะเราต้องมีชีวิตอยู่ในโลกอย่างที่พระเยซูทรงดำรงชีวิตอยู่ (“เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นเช่นไร เราในโลกนี้ก็เป็นเช่นนั้น1 ยอห์น 4:17)

 

ความสมบูรณ์แบบของพระเยซู: แบบอย่างสำหรับประชากรของพระเจ้า

      ภาพของกระบวนการที่ยากลำบากและเป็นกระบวนการตลอดชีวิตที่จะบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ ที่ผู้เชื่อทุกคนซึ่งเกิดจากพระวิญญาณได้ถูกเรียกให้บรรลุถึงนั้นมีรายละเอียดอยู่มากในพระคัมภีร์ใหม่ แต่ในทางกลับกัน พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ผู้ที่สมบูรณ์แบบโดยเนื้อแท้เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้านั้น ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่เราจะสามารถทำตามได้ด้วยความบากบั่นของเราเพื่อจะบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่เราถูกเรียกให้ “จงเป็นคนสมบูรณ์แบบ เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงสมบูรณ์แบบ[8] (มัทธิว 5:48)

      คำว่า “จงเป็นคนสมบูรณ์แบบ” หรือ “จงดีพร้อม” นั้นพระเยซูทรงหมายความว่าอย่างไร? สิ่งนี้มีอธิบายไว้ในคำเทศนาบนภูเขาและยกตัวอย่างไว้ในคำสอนของพระองค์ พระเยซูทรงเป็นตัวอย่างและแบบอย่างของความสมบูรณ์แบบที่พระองค์ตรัสถึง และพระองค์เคยบอกเราไหมว่าพระองค์ทรงบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบได้อย่างไร? ใช่แล้ว พระองค์ทรงบอกเราและบอกในรายละเอียด! แต่คำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพทำให้เราตาบอด เราจึงมองไม่เห็นพลังขับเคลื่อนในฝ่ายวิญญาณว่าพระเยซูทรงทำหน้าที่อย่างไรในความเกี่ยวข้องกับพระบิดาตลอดชีวิตของพระองค์ในการบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ ข้อเท็จจริงก็คือ พระเยซูได้บอกเราแล้วถึงวิธีที่พระองค์ทรงดำเนินชีวิตในความเกี่ยวข้องกับพระบิดา และในแบบที่เราสามารถปฏิบัติตามรอยทางของพระองค์และดำเนินชีวิตเหมือนที่พระองค์ทรงดำเนินได้

      พระเยซูได้ทรงกล่าวคำตรัสหลายครั้งที่ให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นจริงกับพระองค์ก็เป็นจริงกับบรรดาผู้ติดตามพระองค์ด้วย ก็เหมือนกับที่พระองค์ทรงบังเกิดจากพระวิญญาณของพระเจ้า (ลูกา 1:35 กิจการ 10:38)[9] ดังนั้นทุกคนก็ต้องเกิดจากพระวิญญาณ (ยอห์น 3:5,6,8)[10] และเกิดจากพระเจ้า (1 ยอห์น 3:9; 4:7; 5:1,4,18)[11] ด้วยเหตุนี้เปาโลจึงเน้นย้ำชีวิตในพระวิญญาณอย่างต่อเนื่อง (โรม 8:9, เอเฟซัส 6:18, ฟีลิปปี 2:1, โคโลสี 1:8)

      พระเยซูไม่ได้ทรงทำตามใจชอบของพระองค์เองอย่างไร (ยอห์น 4:34, 5:30, 6:38, 8:28) ผู้เชื่อทุกคนก็ต้องทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างนั้นเช่นกัน (มัทธิว 7:21, ยอห์น 8:51, 14:21, 1 ยอห์น 5:3) ผู้เชื่อทั้งหลายต้องอยู่ในพระเยซูและในพระบิดาในแบบที่พระเยซูทรงอยู่ในพระบิดาและทรงอยู่ในผู้เชื่อทั้งหลาย (ยอห์น 15:1-10, 1 ยอห์น 2:24, 27; 4:13) โลกเกลียดชังและปฏิเสธพระเยซูอย่างไร โลกก็จะเกลียดชังและปฏิเสธเราที่เป็นสาวกของพระองค์อย่างนั้นเช่นกัน (ยอห์น 15:18-19) พระเยซูทรงได้รับเกียรติอย่างไร ผู้ที่อยู่ในพระคริสต์ก็จะได้รับเกียรติร่วมกับพระองค์อย่างนั้นเช่นกัน (ยอห์น 17:1,5,10, โรม 8:17)

      พลังขับเคลื่อนเหล่านี้ในฝ่ายวิญญาณมาจากการรวมเป็นหนึ่งทางจิตวิญญาณที่พระเยซูตรัสซ้ำๆว่า พระบิดาทรงอยู่ “ในเรา” (ยอห์น 10:38, 14:10,11, 17:21) นั่นก็คือ พระบิดาทรงดำรงอยู่ในพระเยซูและทรงทำงานของพระองค์ผ่านพระเยซู (ยอห์น 14:10) พระเยซูทรงเป็นพระวิหารของพระยาห์เวห์ (ยอห์น 2:19) เช่นเดียวกับบรรดาผู้เชื่อของพระองค์ (1 โครินธ์ 3:16-17, 6:19) วิธีที่พระเยซูทรงดำเนินชีวิตในความเกี่ยวข้องกับพระบิดาก็เหมือนกับวิธีที่ผู้เชื่อจะต้องดำเนินชีวิต

 

การฝึกทางความคิด: สังคมที่ปราศบาปและสมบูรณ์แบบ

      เนื่องจากไม่เคยมีใครในมวลมนุษย์ที่ปราศจากบาปนอกจากพระเยซู มันจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าใจว่าอะไรคือความปราศจากบาป เรารู้จากคำนิยามว่าคือการไม่มีบาป แต่นั่นเป็นคำนิยามในทางลบ แล้วอะไรคือคุณสมบัติในทางบวกของลักษณะที่ปราศจากบาป? แน่นอนว่ามันต้องรวมถึงความบริสุทธิ์และความสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรมสำหรับเรา

      มันอาจช่วยให้เข้าใจ ถ้าเราจะคิดถึงประเทศที่ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีความขัดแย้ง และไม่มีการทุจริต มันคงจะเป็นประเทศในอุดมคติและเป็นรัฐในฝัน แต่ประเทศดังกล่าวนี้จะจัดตั้งขึ้นและปกครองอย่างไร? ประเทศที่ปราศจากอาชญากรรมน่าจะมีระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนมีความเท่าเทียมในความมั่งคั่งใกล้เคียงกัน จึงไม่มีใครที่จะต้องขโมยเพราะความทุกข์ยากและความยากจน แต่การลักขโมยและการโจรกรรมก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงจูงใจด้วยเหตุของความยากจนเสมอไป แต่ว่าบ่อยครั้งความอยากที่จะครอบครองบางอย่างก็ได้มาโดยวิธีโจรกรรมเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นงานศิลปะที่ไม่ได้มีไว้ขาย รากของปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ความยากจนแต่อยู่ที่ความโลภและความเห็นแก่ตัว

      ประเทศที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่สามารถจะจัดตั้งขึ้นได้ด้วยระบบเศรษฐกิจที่ดีที่มีการกระจายความมั่งคั่งให้พอๆกันเท่านั้น เพราะสังคมดังกล่าวจะต้องมีพลเมืองที่แต่ละคนมีอุปนิสัยที่ดีเลิศจึงจะช่วยขจัดความเห็นแก่ตัว ความโลภ และตัณหา สรุปก็คือพลเมืองแต่ละคนจะต้องมีคุณธรรมอยู่ภายใน ประเทศที่ปลอดอาชญากรรมอย่างสมบูรณ์แบบจะต้องให้พลเมืองแต่ละคนปราศจากบาป ดังนั้นมันจึงกลับมาที่จุดเริ่มต้นจากสภาพภายนอกของประชาชาติมาสู่สภาวะทางคุณธรรมของแต่ละบุคคล

      การฝึกทางความคิดแบบนี้แสดงให้เห็นว่า การสร้างสังคมที่ปราศจากบาปจะต้องมีอะไรที่มาก กว่าการยับยั้งหรือการขจัดสิ่งที่เป็นทางลบ ซึ่งต้องใช้คุณสมบัติในทางบวกที่จำเป็นในการแสดงให้เห็นความปราศจากบาป ได้แก่ สติปัญญาในการแยกแยะสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด มีความกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องถึงแม้ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ผิด และยึดมั่นความชอบธรรมเมื่อแรงดึงหรือแรงดึงดูดที่มีพลังของความไม่ชอบธรรม

      คุณสมบัติทั้งหมดนี้มีอยู่ในพระยาห์เวห์และมีอยู่ในพระองค์แต่ผู้เดียว แต่กระนั้นพระองค์ก็มีพระทัยกว้างที่จะให้คุณสมบัติทั้งหมดนี้กับทุกคนที่เชื่อฟังและทำตามพระองค์ สิ่งนี้เห็นได้อย่างครบถ้วนในพระเยซูคริสต์และในพระองค์แต่ผู้เดียวจนถึงบัดนี้ เมื่อมีการกล่าวว่าพระเยซูทรงปราศ จากบาปนั้น การไม่มีบาปไม่ใช่สิ่งที่กล่าวในรูปเชิงลบ แต่บ่งชี้ว่าทุกคุณสมบัติเชิงบวกในฝ่ายวิญญาณมีอยู่ในพระองค์อย่างครบถ้วนบริบูรณ์

      ในพระคัมภีร์ใหม่นั้น ความหวังเรื่องประเทศที่สมบูรณ์แบบซึ่งปลอดอาชญากรรมนั้นไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่เป็นความจริงที่พระเยซูประกาศว่าเป็นอาณาจักรของพระเจ้า เรื่องราชอาณาจักรนี้เป็นหัวใจสำคัญของคำสอนของพระเยซูในพระกิตติคุณสามเล่มแรก คำประกาศของพระเยซูและยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็คือ “ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว” (มัทธิว 3:2, 4:17) นั่นก็คือราช อาณาจักรของพระเจ้าที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น นี่เป็นเป้าหมายสำคัญที่พระเยซูทรงคำนึงถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียกให้ “จงเป็นคนสมบูรณ์แบบ เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์ทรงสมบูรณ์แบบ” (มัทธิว 5:48) ราชอาณาจักรที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งก็คือราชอาณาจักรที่ดีเลิศของ พระเจ้าจะสามารถตั้งขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพลเมืองทุกคนของราชอาณาจักรเป็นคนสมบูรณ์แบบ

      ในแผนการของพระเจ้าแล้ว การที่พระเยซูทรงมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่ใช่จุดจบของเรื่อง แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพื่อที่ “พระองค์จะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก” (โรม 8:29) พี่น้องที่มาภายหลังพระองค์จะต้องเป็นคนสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงเป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบ ในข้อเดียวกันนี้ยังกล่าวว่าผู้เชื่อทุกคนจะต้อง “เป็นเหมือนพระฉายาแห่งพระบุตรของพระองค์” นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะบอกว่าพวกเขาจะต้องบรรลุถึงการ “เต็มขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:13) เพื่อให้สิ่งนี้เป็นจริง พระยาห์เวห์จึงทรงตั้งให้พระเยซูคริสต์พระเมสสิยาห์ เป็นกษัตริย์ของราชอาณาจักรของพระองค์ เราจะเห็นพระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ในราชอาณาจักรของพระเจ้าได้จากตัวอย่างในมัทธิว 25:34 ว่า “แล้วพระมหากษัตริย์จะตรัสกับพวกผู้ที่อยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ว่า ‘ท่านทั้งหลายที่ได้รับพรจากพระบิดาของเรา จงมารับเอาราชอาณาจักรซึ่งเตรียมไว้สำหรับท่านทั้งหลายตั้งแต่แรกสร้างโลก’”

 

การล่อลวงของบาป

      เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการบรรลุถึงการปราศจากบาปของพระเยซูคริสต์ เราจะสังเกตว่าแม้แต่พวกทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ก็ไม่สามารถต้านทานความบาปได้ ยูดา 1:6 พูดถึงพวกทูตสวรรค์ที่ได้ละทิ้งถิ่นฐานของตน และตอนนี้ถูกจองจำไว้ด้วยโซ่ตรวนอันนิรันดร์เพื่อรอการพิพากษา ความหมายของ “ละทิ้งถิ่นฐานของตน” ไม่ได้อธิบายไว้ แต่เป็นที่แน่ชัดว่าพวกทูตสวรรค์ได้ล่วงล้ำหรือพยายามที่จะครอบครองสิ่งที่พวกตนไม่มีสิทธิ

      การเปิดเผยที่น่าตกใจที่สุดของเรื่องนี้เห็นได้ในวิวรณ์ 12 ที่บอกว่าจำนวนถึงหนึ่งในสามของทูตสวรรค์ในสวรรค์จะถูกล่อลวงโดยศัตรูเก่าแก่ของพระเจ้านั่นก็คือพญานาคหรือซาตาน ซึ่งเป็น “ผู้ล่อลวงมนุษย์ทั้งโลก” (ข้อ 9) มาต่อสู้กับพระยาห์เวห์ผู้สูงสุด (วิวรณ์ 12:4,7-9) ผลของความบ้าคลั่งของทูตสวรรค์เหล่านี้ก็ได้แต่เพียงจินตนาการเอาหรืออาจจะจินตนาการไม่ได้

      มันทำให้งุนงงว่าจะมีใครเลือกทำบาปในเมื่อเขารู้ถึงผลที่น่ากลัวตามมา เขาทำไปทำไมหรือ? มันเป็นเพราะมีความไม่ยั้งคิดบางอย่างอยู่ในจิตใจของทุกคนหรือ? หรือเป็นเพราะความเชื่อที่ถูกนำไปในทางที่ผิด เลยทำให้ไม่เชื่อหรือ? เหล่าทูตสวรรค์ที่กบฏต่อพระเจ้าเชื่อว่า พวกตนสามารถจะเอาชนะพระองค์ได้เพราะกองกำลังของพวกตนมีจำนวนมากอย่างนั้นหรือ? หรือว่าพวกทูตสวรรค์เหล่านั้นถูกอำนาจของซาตานสะกดจิตเหมือนกับในกรณีของชาวกาลาเทียหรือ? (กาลาเทีย 3:1) คำถามเหล่านี้จะเกิดขึ้นในใจ เมื่อเราอ่านรายงานข่าวการกระทำด้วยความรุนแรงที่ไร้สติ โดยไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล

      เรารู้สึกงุนงงว่าคนที่มีวัฒนธรรมและโดยทั่วไปแล้วมีเจตนาดีอย่างชาวเยอรมันจะสามารถถูกอดอล์ฟ ฮิตเลอร์[12] คนวิกลจริตผู้มีความสามารถพิเศษ มาหลอกลวงให้ร่วมกระทำการที่สร้างความหายนะให้กับตัวเองและผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างนับไม่ถ้วนจากการกระทำที่น่าสยดสยองของพวกเขา ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เรารู้ดีว่าการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่แต่เฉพาะชาวเยอรมัน

      พระคัมภีร์พูดถึง “การล่อลวงของบาป” (ฮีบรู 3:13) ซึ่งสามารถดักจับใครก็ตามที่ไม่เตรียม พร้อม แม้แต่เหล่าทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ มีความรอบรู้และฤทธิ์เดช ก็ไม่สามารถต้านทานการล่อลวงของบาปได้ เปาโลมีมุมมองที่น่ากลัวนี้ของบาปอยู่ในความคิดเมื่อเขาเขียนไว้ว่า “ท่านจงอุตส่าห์ประพฤติอย่างสมกับความรอดของท่านทั้งหลาย ด้วยความเกรงกลัวและตัวสั่น” (ฟีลิปปี 2:12) แต่คำสอนที่นิยมสอนกันในคริสตจักรเกี่ยวกับ “ความรอดที่มั่นคงตลอดไป” จะมีแต่สนับสนุนให้บรรดาผู้เชื่อไม่ต้องกังวลกับความรอด โดยเชื่อว่าเมื่อพวกเขามาเป็นคริสเตียนแล้ว ความรอดของพวกเขาจะมั่นคงไปตลอด ไม่ว่าพวกเขาจะดำเนินชีวิตอย่างไร

      การบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่ปราศจากบาปนั้น พระเยซูต้องต่อสู้กับความบาปในหลายลักษณะที่น่ากลัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่อลวงในหลายลักษณะที่ทำให้คริสเตียนมากมายล้มลง และเพราะการล่อลวงของบาปนี่เอง ความบาปจึงมีโอกาสดักจับเหยื่อของมันได้สบายๆ นานก่อนที่จะรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ตอนนี้เราเห็นชัดยิ่งขึ้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสติปัญญาและความฉลาดในการต่อสู้กับบาป ความงดงามในชัยชนะของพระเยซูเหนือศัตรูที่มีหลายลักษณะนี้ ตอนนี้เห็นชัดว่านำความรอดมาสู่มวลมนุษย์

      ความบาปไม่ได้ทำงานเฉพาะในมนุษยชาติ แต่เป็นสิ่งที่ทำงานอยู่ในทั้งจักรวาลของสิ่งมีชีวิตซึ่งก็คือมนุษย์และทูตสวรรค์ ชัยชนะของพระเยซูเหนือความบาปมีผลอันยิ่งใหญ่ไม่เฉพาะกับมวลมนุษย์เท่านั้นแต่กับจักรวาลทั้งหมดด้วย สรรพสิ่งที่ทรงสร้างทั้งหมดรอคอยความรอดที่จะมาถึงด้วยความคาดหวังและการคร่ำครวญ (โรม 8:22)

      ต้นเหตุของความบาปที่เปาโลชี้ให้เห็นนั้น ไม่ได้อยู่ที่พระบัญญัติของพระเจ้า แต่อยู่ที่ตัวของมนุษย์เอง มนุษย์ยอมรับว่าพระบัญญัติของพระเจ้านั้นดี แต่ปัญหาที่แท้จริงของเราจะเห็นได้จากคำพูดที่เจ็บปวดของเปาโลว่า “การดีนั้นซึ่งข้าพเจ้าปรารถนาทำ ก็ไม่ได้ทำ แต่การชั่วซึ่งข้าพเจ้าไม่ปรารถนาทำ ก็ยังทำอยู่” (โรม 7:19) เปาโลสอนว่ารากของบาปอยู่ใน “เนื้อหนัง” ของมนุษย์ นี่ไม่ ได้หมายความว่าความบาปชั่วอยู่ในกายเนื้อหนังของเรา แต่อยู่ที่ความคิดของเราที่ถูกความปรารถนาชักนำซึ่งถูกควบคุมโดย “ตัณหาทางกาย” ตัณหาเหล่านี้ครอบคลุมหลายองค์ประกอบของจิตใจมนุษย์ เริ่มจากความต้องการและความอยาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือความพึงพอใจในทางเพศ แล้ว จากนั้นก็ไปสู่ความโลภในอำนาจเพื่อเป็นหนทางให้สมปรารถนาในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมักจะเริ่มต้นอย่างถูกทำนองคลองธรรมแต่ถูกผลักไปทางชั่วช้าอย่างเต็มพิกัด เมื่อความปรารถนามาถึงขั้นนี้ มันจะสามารถเติบโตเป็นความโลภ หรือความละโมบที่ผลักดันมนุษย์ให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการด้วยการโจรกรรมหรือฆาตกรรม และทำสงครามและการรุกรานในระดับสังคมที่กว้างขึ้น ซึ่งเห็นอยู่มากมายเต็มหน้าของประวัติศาสตร์

      ถ้ามนุษย์ตกเป็นทาสของเนื้อหนังของเขา เขาจะบรรลุถึงความดีได้อย่างไร แล้วนับประสาอะไรที่จะบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบได้? แต่ก็มีความหวัง

 

พระยาห์เวห์ องค์บริสุทธิ์ของอิสราเอล

      แนวความคิดเกี่ยวกับความบริสุทธิ์มีกระจายอยู่ทั่วพระคัมภีร์เดิมและใหม่ และเห็นได้จากการยืนยันซ้ำๆว่า พระยาห์เวห์ทรงบริสุทธิ์ พระองค์ทรงถูกเรียกว่า “องค์บริสุทธิ์ของอิสราเอล” 25 ครั้งในอิสยาห์เพียงเล่มเดียว คำเรียกในรูปที่สั้นกว่าว่า “องค์บริสุทธิ์” ถูกใช้กับพระยาห์เวห์ในข้อต่างๆ เช่น อิสยาห์ 40:25, ฮาบากุก 1:12, 3:3, สุภาษิต 9:10 (เปรียบเทียบ 1 ยอห์น 2:20) แท้จริงแล้ว มีเพียงพระยาห์เวห์เท่านั้นที่บริสุทธิ์ในความหมายที่จริงแน่นอนดังที่ว่า “เพราะพระองค์ผู้เดียวทรงเป็นผู้บริสุทธิ์” (วิวรณ์ 15:4)

      ความบริสุทธิ์ของพระยาห์เวห์มาจากพระลักษณะเฉพาะของพระองค์ที่เป็นพระเจ้า “ไม่มีใครบริสุทธิ์ดังพระยาห์เวห์ ไม่มีใครเปรียบเหมือนพระองค์ ไม่มีใครปกป้องเหมือนพระเจ้าของพวกเรา” (1 ซามูเอล 2:2, เปรียบเทียบอิสยาห์ 40:25) ในทำนองเดียวกัน ข้อต่างๆ เช่น เฉลยธรรมบัญญัติ 4:35 และอิสยาห์ 45:21-22, 46:9 ก็ทำให้เห็นพระลักษณะเฉพาะของพระยาห์เวห์ที่ทำให้พระองค์แตกต่างจากพระเทียมเท็จทั้งหลาย

      พระเยซูทรงถูกเรียกว่า “องค์บริสุทธิ์ของพระเจ้า” (มาระโก 1:24, ลูกา 4:34, ยอห์น 6:69) และ “องค์บริสุทธิ์และชอบธรรม” (กิจการ 3:14)

 

ความสมบูรณ์แบบและความปราศจากบาปของพระเยซู

ฮีบรู 4:15 เพราะว่าเราไม่ได้มีมหาปุโรหิตที่ไม่สามารถจะเห็นใจในความอ่อนแอของเรา แต่ทรงเคยถูกทดลองใจเหมือนเราทุกอย่าง ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังปราศจากบาป

      ความเป็นจริงเกี่ยวกับบาปและการทดลองที่เราเผชิญอยู่ทุกวัน ถูกเผยให้เห็นในหนังสือฮีบรูในคำกล่าวที่เด่นชัดว่าพระเยซูทรงเป็นมหาปุโรหิต ผู้ที่สามารถจะเห็นใจในความอ่อนแอของเรา เพราะพระองค์เองก็เคยถูกทดลองใจเหมือนเราทุกอย่าง แต่กระนั้นก็ไม่เคยทำบาป ความเข้าใจอย่างเห็นอกเห็นใจของพระองค์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับทัศนคติที่มีแต่กล่าวโทษของบรรดาผู้นำทางศาสนาต่อหญิงที่ล่วงประเวณี และถูกสรุปไว้ในคำกล่าวถึงการพบได้ทั่วไปของบาปว่า “ใครในพวกท่านไม่มีบาป ให้เอาหินขว้างนางก่อนเป็นคนแรก” (ยอห์น 8:7)

      ความเข้าใจอย่างเห็นอกเห็นใจของพระเยซูยิ่งน่าชื่นชมมากขึ้นเมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างความปราศจากบาปของพระองค์กับความบาปหนาของเรา ซึ่งอันหลังเผยให้เห็นในโรม 3:10 ข้อที่มาจากสดุดี 14:1-3

 

โรม 3:10 ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรมเลย แม้สักคนเดียว

สดุดี 14:1-3 พวกเขาเลวทราม พวกเขากระทำสิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง ไม่มีใครสักคนที่ทำดี พระเจ้าทอดพระเนตรลงมาจากฟ้าสวรรค์ดูบรรดาบุตรมนุษย์ว่ามีใครบ้างที่เข้าใจ มีใครไหมที่แสวงหาพระเจ้า พวกเขาหันหนีไปหมด พวกเขาเสื่อมทรามเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่ทำดี ไม่มีแม้แต่คนเดียว

 

      สิ่งที่ตรงข้ามกับความบาปหนาของเราก็คือ ความปราศจากบาป ความชอบธรรมและความไร้มลทินของพระเยซู ดังที่เห็นในข้อต่อไปนี้ (ทุกข้อมาจากฉบับ ESV)

 

ยอห์น 8:46 มี​ใคร​ใน​พวก​ท่านหรือ​ที่​ตัดสินว่า​​เรา​มี​บาป?

ยอห์น 14:30 เพราะผู้ครองโลกกำลังจะมา ผู้นั้นไม่มีสิทธิอำนาจอะไรเหนือเรา

2 โครินธ์ 5:21 พระ​เจ้า​ทรง​ทำให้​พระ​องค์​ผู้​​ไม่​มี​บาป​ให้​บาป

ฮีบรู 4:15 (อ้างอิงไว้แล้ว)

ฮีบรู 7:26 ...มหา​ปุโร​หิต ​ผู้ที่​บริ​สุทธิ์ ปราศ​จาก​ความผิด ไร้​มล​ทิน แยก​จาก​พวกคน​บาป​ และ​ถูก     ยกย่องเหนือ​ฟ้า​สวรรค์

ฮีบรู 9:14 …พระ​โล​หิต​ของ​พระ​คริสต์ ผู้​​ถวาย​พระ​องค์​เอง​อย่างปราศ​จาก​ตำ​หนิ​แด่​พระ​เจ้า​โดยทางพระ​วิญ​ญาณ​นิรันดร์

1 เปโตร 1:19 …​ด้วย​พระ​โลหิตอันสูง​ค่า​ของ​พระ​คริสต์ ดั่ง​ลูก​แกะ​ที่​ปราศจากตำ​หนิ​หรือ​จุด​ด่างพร้อย

1 เปโตร 2:22 พระ​องค์ไม่​ได้​ทรง​ทำ​บาป​ และ​​​ไม่มีคำหลอกลวงออกมาจากพระ​โอษฐ์​ของ​พระ​องค์เลย

 

      พระเยซูถูกเรียกว่า “บริสุทธิ์” หรือ “องค์บริสุทธิ์” ในกิจการ 2:27 และ 13:35 ทั้งสองข้อนี้เป็นคำอ้างอิงจากสดุดี 16:10

 

กิจการ 2:27 เพราะ​พระ​องค์​จะ​ไม่​ทรงทิ้งจิตวิญญาณของ​ข้า​พระ​องค์ไว้​ใน​แดน​คน​ตาย หรือ​ให้​องค์​ บริ​สุทธิ์​ของ​พระ​องค์เห็นความ​เปื่อย​เน่า

กิจการ 13:35 ฉะนั้น​พระ​องค์จึง​ตรัส​ไว้​ในที่​อื่น​อีก​ว่า ‘พระ​องค์​จะ​ไม่​ให้​องค์​บริ​สุทธิ์​ของ​พระ​องค์เห็น​ความ​เปื่อย​เน่า’

สดุดี 16:10 เพราะพระองค์จะไม่ทรงทิ้งจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในแดนคนตาย หรือให้องค์บริสุทธิ์ของพระองค์เห็นความเปื่อยเน่า

 

      พระเยซูผู้ที่สมบูรณ์แบบและปราศจากบาป จะทรงแบกบาปของคนเป็นอันมากและทำให้พวกเขาชอบธรรม

 

อิสยาห์ 53:9-12 ...ท่านไม่ได้ทำการประทุษร้ายใดๆ และไม่มีการหลอกลวงใดๆ ในปากของท่าน แต่พระยาห์เวห์ก็ทรงประสงค์ให้ท่านบอบช้ำ พระองค์ได้ทรงทำให้ท่านเป็นทุกข์.... หลังจากทรงทุกข์ทรมานในจิตวิญญาณของท่าน ท่านจะเห็นและจะพึงพอใจ โดยความรู้ของท่าน ผู้รับใช้ที่ชอบธรรมของเรา จะทำให้คนเป็นอันมากเป็นคนชอบธรรม และท่านจะแบกความบาปผิดทั้งหลายของพวกเขา.... ท่านเทชีวิตของท่านจนถึงความตาย และถูกนับรวมกับผู้ล่วงละเมิด กระนั้นท่านได้แบกบาปของคนเป็นอันมาก และทูลวิงวอนเพื่อ​​คนที่ล่วงละเมิด (ฉบับESV, โดยใช้ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู)

 

      การบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบของพระเยซูโดยการทนทุกข์ทรมานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความรอดของเรา เพราะในการชดใช้นี้พระองค์จะต้องเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบ และเป็นมหาปุโรหิตที่สมบูรณ์แบบ ตามบทบัญญัติแล้ว ไม่มีเครื่องบูชาใดที่พระเจ้าจะทรงยอมรับ เว้นแต่ว่าจะเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์และไม่มีตำหนิหรือด่างพร้อย

 

อย่าถวายสิ่งใดที่มีตำหนิ เพราะสิ่งนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับแทนตัวเจ้า และเมื่อคนใดถวายเครื่องสันติบูชาแด่พระยาห์เวห์... สัตว์นั้นต้องสมบูรณ์จึงจะเป็นที่ยอมรับ สัตว์นั้นจะต้องไม่มีตำหนิเลย (เลวีนิติ 22:20-21 เปรียบเทียบเฉลยธรรมบัญญัติ 15:19, 21; 17:1)

 

      พระคริสต์ทรงเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบและปราศจากบาป “พวกท่านได้รับการไถ่...ด้วยพระโลหิตอันสูงค่าของพระคริสต์ ลูกแกะที่ไร้ตำหนิและจุดด่างพร้อย” (1 เปโตร 1:18-19) พระองค์ไม่ได้แค่เป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ “เป็นมหาปุโรหิตตามแบบอย่างของเมลคีเซเดค (ฮีบรู 5:10) ในบทบัญญัตินั้น มหาปุโรหิตจะต้องสมบูรณ์แบบด้วยดังที่ว่า “ไม่ให้ผู้ใดจากพงศ์พันธุ์ของอาโรนปุโรหิต ที่มีตำหนิ เข้ามาใกล้เพื่อถวายอาหารเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้า” (เลวีนิติ 21:21 ฉบับ ESV)

 

ความสมบูรณ์แบบในความเป็นจริง

      คนบาปอย่างเราแทบจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการไม่มีบาปเป็นอย่างไร ถ้าเราลองไม่ทำบาปสักวันหนึ่ง ก็อาจช่วยได้! จากนั้นลองนึกดูว่าการไม่มีบาปสัก 20 ปีในวัยที่เป็นผู้ใหญ่จะเป็นอย่างไร (ในกรณีของพระเยซูเริ่มตั้งแต่อายุ 13 ถึง 33) เป็นเรื่องแปลกสักหน่อย คือเมื่อพระเยซูมีอายุสามสิบปีนั้น พระองค์ทรงเหมือนชายที่กำลังใกล้ห้าสิบ (ยอห์น 8:57)[13] แม้ว่าพระองค์จะรักษาความสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้าทุกช่วงเวลาในทุกๆวัน แต่แค่คิดถึงความรอดของโลกที่อาจสูญไปได้ในชั่ววินาทีเดียวถ้าไม่ระวังนั้นคงเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส ความทุกข์ทรมานเหนือสิ่งอื่นใดนี้ แม้แต่ความทุกข์ทรมานที่ค่อนข้างสั้นๆบนกางเขน ซึ่งถือว่าเป็นความทุกข์ทรมานที่แท้จริงที่พระองค์ทรงแบกรับไว้เพื่อความรอดของเรา

      ความสมบูรณ์แบบของพระเยซูคือการอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระยาห์เวห์ได้ทรงกระทำ พระเยซูคริสต์เป็นการทรงสร้างใหม่ของพระยาห์เวห์ เป็นจุดสุดยอดของผลงานที่งดงามของพระเจ้าตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นของกาลเวลา ซึ่งไม่เคยมีใครเคยเห็นคนแบบนี้และจะไม่เคยเห็นคนที่เหนือกว่านี้ตลอดไปเป็นนิตย์ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงทรงยกย่องพระเยซู “เหนือฟ้าสวรรค์” (ฮีบรู 7:26) ให้อยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์

      เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เรื่องที่สมมุติขึ้นของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับพระเยซูผู้เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ใจ พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ในขณะที่พระเยซูของพระคัมภีร์ใหม่ไม่มีสิ่งใดที่มาจากพระองค์เอง แม้แต่ชื่อของพระองค์ว่า “เยซู” พระยาห์เวห์ก็ประทานให้ ถ้าคำสำคัญสำหรับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพคือแก่นแท้เดียวกัน คำสำคัญสำหรับพระเยซูของพระคัมภีร์ก็คือการเชื่อฟัง

      พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่ถือว่าพระองค์ทรงมีความเท่าเทียมกันกับพระเจ้านั้น ไม่สามารถจะรับประกันความรอดของมวลมนุษย์ได้ มีแต่การเชื่อฟังของพระเยซูตามพระคัมภีร์ ผู้เป็นพระเมษโปดกของพระเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถรับประกันความรอดได้ นั่นเป็นเพราะ “การเชื่อฟังของมนุษย์คนเดียว” ทำให้คนเป็นอันมากเป็นผู้ชอบธรรม (โรม 5:19)[14]

      การเชื่อฟังนั้นจะต้องสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แค่บางส่วน ยากอบอธิบายถึงเรื่องนี้จากอีกมุมมองหนึ่งว่า “เพราะว่าใครที่รักษาธรรมบัญญัติทั้งหมด แต่ผิดอยู่ข้อเดียว คนนั้นก็ทำผิดธรรมบัญญัติทั้งหมด” (ยากอบ 2:10) คนที่ทำผิดธรรมบัญญัติข้อเดียวก็ทำผิดทั้งสิบข้อ

      พระเยซูมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้ทำตามบทบัญญัติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความรัก เพราะ “ความรัก​​เป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างครบถ้วนแล้ว” (โรม 13:10) พระองค์ไม่ได้ทรงล้มล้างบทบัญญัติหรือสอนให้ทุกคนทำเช่นนั้น แต่แท้จริงแล้วตรัสว่า “แม้อักษรที่เล็กที่สุดสักตัวหนึ่ง หรือขีดๆหนึ่ง ก็จะไม่มีทางสูญหายไปจากหนังสือบทบัญญัติ จนกว่าทุกสิ่งจะสำเร็จครบถ้วน” (มัทธิว 5:18) พระองค์มาทำให้บทบัญญัติสำเร็จครบถ้วน และในฐานะมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่ “ให้ชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก” (มาระโก 10:45)

      ในสมัยที่เราเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราคิดว่าความสมบูรณ์แบบของพระเยซูเป็นผลพลอยได้จากความเป็นพระเจ้าของพระองค์ แต่แนวคิดที่ว่าคนๆหนึ่งจะสามารถสมบูรณ์แบบหรือปราศ จากบาปได้โดยการเป็นพระเจ้าและมนุษย์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่พบได้ในบางรูปแบบของความเชื่อทางไสยศาสตร์นั้น เป็นตำนานที่แม้แต่ผู้ใช้เวทมนตร์น้อยคนจะเชื่อ  ในชีวิตจริงจะไม่มีทางลัดไปสู่ความสมบูรณ์แบบ  เหมือนที่พระเยซูได้ทรงถูกทำให้สมบูรณ์แบบโดยผ่านความทุกข์ยากมาตลอดชีวิตของพระองค์ ไม่ใช่แค่เฉพาะในสัปดาห์สุดท้ายอย่างไร ความสมบูรณ์แบบสำหรับผู้เชื่อจึงเป็นกระบวนการที่ยาวนานตลอดชีวิตอย่างนั้นเช่นกัน  แม้แต่เปาโลก็ยังไม่เห็นว่าตัวเองบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบแล้ว (ฟีลิปปี 3:12)  เขาปล้ำสู้กับความเย่อหยิ่งจนถึงขนาดที่พระเจ้าต้องให้มี “หนามในเนื้อหนัง” เพื่อไม่ให้เขายกตัวเอง (2 โครินธ์ 12:7)[15]

      ตอนนี้เราซาบซึ้งในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ช่วงสามปีสุดท้ายของพระองค์นั้นเป็นช่วงยากที่สุด การทดลอง 40 วันในถิ่นทุรกันดารโดยไม่ได้กินอาหาร ถูกซาตานโจมตีอย่างไม่รามือนั้นจะเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะสามารถทนได้ในหนึ่งวัน นี่ยังมีการพูดให้ร้ายสองหรือสามปีตามมาอีก จากบรรดาผู้นำทางศาสนาที่กล่าวหาพระองค์ในทุกเรื่อง พวกเขาตราหน้าพระองค์ว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นว่าย เป็นพระเมสสิยาห์เทียมเท็จ เป็นผู้พูดหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นผู้ใช้อำนาจของนายผี ดูเหมือนว่าไม่มีใครจะเชี่ยวชาญในการใส่ร้ายและลอบฆ่าคนได้เท่าคนในศาสนา โดยเฉพาะบรรดาผู้นำทางศาสนาที่มีคนเอาอย่างพวกเขา เป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อยที่หลายคนหันหลังให้ศาสนา เราแค่เข้าอินเทอร์เน็ตดูก็จะเห็นการใส่ร้ายป้ายสีที่คนในศาสนาบางคนทำได้เก่งมาก พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกของพระองค์ถึงพวกที่ร้อนรนเช่นนั้น ที่จะฆ่าคุณเพราะพวกเขาคิดว่าจะถวายเกียรติแด่พระเจ้า

      การบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบของพระเยซูเป็นสิ่งที่เหนือจินตนาการแม้เพราะว่าพระเจ้าสถิตอยู่ในพระองค์ และพระเจ้าได้ทรงให้การสถิตอยู่ของพระองค์เช่นนั้นมีอยู่กับผู้เชื่อทุกคน! ผู้ที่พยายามอย่างสุดใจที่จะดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ที่เข้าใจการบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบของพระเยซูว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เพียงใด คนเช่นนั้นจะเติบโตขึ้นในความรักและการอุทิศตัวของพวกเขากับพระองค์ จะยอมรับว่าพระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา

 

      วามผิดร้ายแรงของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ การปิดบังความน่ามหัศจรรย์ของพระเยซูที่ปราศจากบาปและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ โดยลดความจริงอันน่าอัศจรรย์นี้ให้เป็นความคิดที่ตื้นๆและคร่ำครึว่าในเมื่อพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ก็ไม่มีบาปโดยอัตโนมัติ ความสมบูรณ์แบบของพระองค์เป็นผลจากความเป็นพระเจ้าของพระองค์

      แทนที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะอัศจรรย์ใจกับความมหัศจรรย์อันน่าทึ่งของมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ พวกเขากลับเบนประเด็นมาถกเถียงกันยืดยาวว่า พระเยซูผู้เป็นพระเจ้าทรงสามารถทำบาปได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากว่าทำไมจึงตั้งคำถามนี้ขึ้นมา เพราะถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า มันก็ชัดเจนว่าพระองค์ไม่สามารถทำบาปได้ อันที่จริงพระองค์ไม่สามารถแม้แต่จะถูกล่อลวง (“ความชั่วไม่อาจล่อลวงพระเจ้าให้ทำบาป” ยากอบ 1:13)[16] เหตุผลที่แท้จริงจากคำถามของพวกเขาก็คือ พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพระเยซูทรงต่อสู้กับบาปจนถึงจุดที่เหงื่อหยดออกมาเป็นเลือด (ลูกา 22:44) เรื่องนี้ทำให้ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนถอนตัวที่จะสรุปว่าพระเยซูไม่สามารถทำบาปได้ แต่นี่เป็นสภาวะที่ขัดแย้งกันที่จะรับได้ เพราะว่าพระเจ้าที่สามารถถูกล่อลวงให้ทำบาปได้นั้นไม่ใช่พระเจ้าของพระคัมภีร์

      ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น ความสมบูรณ์แบบของพระเยซูมาพร้อมกับความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ในเมื่อพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าและพระเจ้าก็ทรงสมบูรณ์แบบ ดังนั้นธรรมชาติมนุษย์ของพระเยซูจึงสมบูรณ์แบบโดยธรรมชาติพระเจ้าของพระองค์ที่มีในบุคคลเดียวกัน[17] แต่คุณลักษณะของความเป็นพระเจ้า เช่น ความบริสุทธิ์และพระปัญญาสามารถจะถ่ายโอนได้หรือไม่? มีใครไหมที่จะถูกทำให้สมบูรณ์แบบได้ในชั่วพริบตาโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานและยากลำบากในการเติบโตและการเรียนรู้ในฝ่ายวิญญาณ?

      ไม่มีใครแม้แต่พระเยซูที่เกิดมาหรือถูกสร้างให้สมบูรณ์แบบ เพราะเรากำลังพูดถึงความสมบูรณ์แบบในทางคุณธรรม หนังสือฮีบรูกล่าวว่าพระเยซูทรงมาเป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบโดยความทุกข์ทรมานต่างๆ (2:10) ทรงเรียนรู้การเชื่อฟังโดยการทนทุกข์ต่างๆ (5:8)[18] และทรงถูกทำให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ (5:9)[19] เมื่อพระเจ้าทรงสร้างอาดัมนั้น เขาสมบูรณ์แบบในทุกแง่ทั้งร่างกายและจิตใจ เขาไม่มีบาปในแง่ที่ว่าเขายังไม่ได้มีโอกาสทำบาปเหมือนเช่นเด็กทารก แต่ความจริงที่ต่อมาอาดัมล้มเหลวนั้นก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่าเขาไม่ได้ถูกสร้างให้สมบูรณ์แบบในทางคุณธรรม

 

พระเยซูทรงเริ่มเส้นทางไปสู่ความสมบูรณ์แบบเมื่อไร?

      พระเยซูทรงเริ่มดำเนินชีวิตที่เชื่อฟังพระบิดาเมื่อไรหรือ? เราไม่มีคำตอบที่แน่ชัดกับคำถามนี้เพราะนอกจากเหตุการณ์ๆเดียวแล้ว พระคัมภีร์ก็ไม่ได้มีบันทึกเกี่ยวกับพระองค์ในช่วง “หลายปีที่ยังไม่มีใครรู้จัก” นั่นคือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงที่เป็นที่รู้จักทั่วไปในอิสราเอลตอนอายุราวสามสิบปี

      มีข้อยกเว้นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งกับความเงียบของช่วงหลายปีนั้น นั่นก็คือเรื่องราวในลูกา 2:41-50 เมื่อพระเยซูมีอายุ 12 ปีได้เสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มกับครอบครัวของพระองค์เพื่อร่วมเทศกาล ปัสกา เมื่องานฉลองสิ้นสุดลง ครอบครัวของพระองค์ก็เริ่มเดินทางกลับ หลังจากเดินทางไปไกลพอควรจึงพบว่าพระเยซูไม่ได้อยู่กับพวกเขา พวกเขาจึงกลับไปยังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อตามหาพระองค์ และในที่สุดก็พบพระองค์ในพระวิหารขณะกำลังร่วมสนทนาอย่างจดจ่อกับพวกอาจารย์ที่นั่น

      เมื่อถามถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำ พระเยซูก็ตรัสตอบว่า “ท่านไม่รู้หรือว่า เราต้องกระทำพระราชกิจของพระบิดาของเรา” (ลูกา 2:49) พระคัมภีร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ (ฉบับ ESV, NASB, NIV) ใช้คำว่า “พระนิเวศของพระบิดา” แทนคำว่า “ทำพระราชกิจของพระบิดา” (ฉบับ KJV, NKJV) แต่นี่จะทำให้คำตรัสของพระองค์เกินความจำเป็นไหม เพราะมันไม่ใช่พระวิหาร (“พระนิเวศของบิดา”) ที่พ่อแม่ของพระองค์กลับมาตามหาพระองค์? ข้อความที่ปรากฏในต้นฉบับภาษากรีกนั้นไม่มีทั้ง “พระนิเวศ” หรือ “พระราชกิจ” คำที่แปลตรงตัวมากกว่าก็คือ “ท่านไม่รู้หรือว่า เราจะต้องอยู่ในสิ่งเหล่านั้น (สิ่งต่างๆ) ของพระบิดาของเรา?”

      หลังจากเหตุการณ์นี้ พระคัมภีร์ก็เงียบไปอีก 18 ปีกับชีวิตของพระเยซู แล้วเหตุใดเหตุการณ์เดียวนี้จึงถูกบันทึกไว้ในพระกิตติคุณลูกาหรือ? นั่นเป็นเพราะมันไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความโตเกินวัยของพระเยซูในความเข้าใจพระคัมภีร์ของพระองค์ตั้งแต่อายุยังน้อยเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้ทรงเห็นว่าพระองค์เองมีส่วนเกี่ยวข้องและมุ่งมั่นที่จะทำงานของพระบิดาของพระองค์ด้วย นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดของการเป็นคนที่สมบูรณ์แบบของพระองค์อย่างแน่นอน

      ในศาสนายิวนั้น เด็กผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบต่อบทบัญญัติจนกว่าจะเป็นบาร์ มิทซ์วาห์ (“ลูกของพระบัญญัติ”) ในวันเกิดปีที่ 13 บวกกับอีกหนึ่งวันของเขา ตั้งแต่นั้นมาเขาจะต้องรับผิดชอบทางคุณธรรมในการรักษาพระบัญญัติ[20]

      เมื่อเราเข้าใจถึงความสำคัญในการเสด็จเยือนกรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเมื่ออายุ 12 ปี เราก็สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกับคำถามที่ว่า พระเยซูทรงเริ่มชีวิตที่เชื่อฟังพระบิดาของพระองค์เมื่อไร? ก่อนที่อายุของพระองค์จะถึง 13 ปี พระองค์ก็ทรงมีส่วนร่วมใน “พระราชกิจของพระบิดา” ของพระองค์แล้ว พระองค์ได้ทรงกระทำพระราชกิจมาก่อนหน้านี้นานแค่ไหนนั้นไม่ได้มีบันทึกไว้ให้เรา พระองค์อาจเริ่มต้นก่อนหน้านี้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ นับตั้งแต่ช่วงที่พระเยซูทรงสามารถรับผิดชอบที่จะเชื่อฟังพระบิดาได้ พระองค์ก็ได้ทรงดำเนินชีวิตที่พระบิดาทรงพอพระทัยเสมอมา พระองค์ทรงเชื่อฟังไปจนถึงช่วงสุดท้ายเมื่อพระองค์ทรงถูกตรึงบนกางเขนและตรัสด้วยลมหายใจเฮือกสุดท้ายของพระองค์ว่า “สำเร็จแล้ว” (เสร็จสมบูรณ์แล้ว)

 

พระเยซูทรงถูกทำให้สมบูรณ์แบบ

      ความสมบูรณ์แบบของพระเยซูไม่ได้มาจากความเป็นพระเจ้าของพระองค์ตามที่เชื่อกัน แต่เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงเรียนรู้ผ่านความทุกข์ยาก

 

7ในระหว่างที่พระเยซูทรงอยู่ในโลก พระองค์ได้ถวายคำอธิษฐานและคำวิงวอนด้วยเสียงอันดังและน้ำพระเนตรไหล ต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์ให้พ้น​​จากความตายได้ และพระเจ้าได้ทรงสดับเพราะความยำเกรงของพระองค์ 8แม้พระองค์ทรงเป็นพระบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังผ่านสิ่งที่พระองค์ทรงทนทุกข์9และเมื่อพระเยซูทรงถูกทำให้​​เพียบพร้อมสมบูรณ์แล้ว พระองค์จึงทรงเป็นแหล่งความรอดนิรันดร์แก่ทุกคนที่เชื่อฟังพระองค์ 10พระเจ้าจึงทรงแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นมหาปุโรหิตตามแบบ​​ของเมลคีเซเดค (ฮีบรู 5:7-10 ฉบับ ESV)

 

      พระเยซูทรงบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบโดยการสถิตอยู่ของพระยาห์เวห์ แต่ด้วยคำร้องวิงวอน “ด้วยเสียงอันดังและด้วยน้ำพระเนตรไหล” (ข้อ 7) พระคัมภีร์ไม่ได้สอนถึงความสมบูรณ์แบบโดยกำเนิดหรือโดยอัตโนมัติ หรือว่าพระเยซูทรงบังเกิดมาพร้อมกับความสมบูรณ์แบบ พระองค์ทรงอธิษฐานและร้องวิงวอนต่อพระเจ้าด้วยด้วยเสียงอันดังและด้วยน้ำพระเนตรไหล ความเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอของพระองค์ได้แสดงให้พวกเราทุกคนเห็น เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น เราได้มองข้ามข้อนี้ไปเพราะเราพบว่าข้อนี้เป็นปัญหา แต่ก็ไม่สามารถจะกลบเกลื่อนปัญหาได้ง่ายๆ เพราะมันถูกนำขึ้น มาพูดกลางเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูเป็นมหาปุโรหิต

      พระเยซูทรงมาจากเผ่ายูดาห์ ไม่ใช่จากเผ่าเลวีที่เป็นปุโรหิต แล้วพระองค์จะถูกแต่งตั้งให้เป็นมหาปุโรหิตได้อย่างไร? เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสังเกตว่า หลังจากที่พระเยซูทรง “เรียนรู้ที่จะเชื่อฟังผ่านสิ่งที่พระองค์ทรงทนทุกข์” (ข้อ 8) และหลังจากที่พระองค์ทรง “ถูกทำให้เพียบพร้อมสมบูรณ์” (ข้อ 9) แล้วเท่านั้น “พระเจ้าจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นมหาปุโรหิตตามแบบ​​ของเมลคีเซเดค” (ข้อ 10) เรารู้เรื่องของเมลคีเซเดคแค่ว่าเป็น “กษัตริย์เมืองซาเลม เป็นปุโรหิตของพระเจ้าผู้สูงสุด” (ฮีบรู 7:1, ปฐมกาล 14:18) เพราะการเป็นปุโรหิตของเมลคีเซเดคจะตอบสนองโดยตรงต่อพระยาห์เวห์พระเจ้าสูงสุดว่าเป็นปุโรหิตในฝ่ายวิญญาณ ในทำนองเดียวกัน พระเยซูได้ทรง “เป็นปุโรหิต​​ไม่ใช่เพราะการแต่งตั้งตามธรรมบัญญัติเรื่องเชื้อสาย แต่โดยพลังแห่งชีวิต (ที่สมบูรณ์แบบ) ซึ่งไม่สามารถจะทำลายได้” (ฮีบรู 7:16)

      พระเยซูทรงอธิษฐานต่อพระเจ้าด้วยเสียงร้องอันดังและน้ำพระเนตรไหล เพื่อช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตาย ความตายทางร่างกายนี้ไม่ใช่สิ่งที่พระองค์กลัว เพราะเป้าหมายของพระองค์คือ “ให้ชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก” (มัทธิว 20:28) เราสามารถมั่นใจได้เลยว่า พระองค์จะไม่มีวันอธิษฐานวิงวอนให้ยกเลิกภารกิจที่ประเสริฐนี้ สิ่งที่พระองค์กลัวอย่างแท้จริงก็คือความตายที่มาจากการไม่เชื่อฟัง เพราะนั่นจะทำลายและทำให้แผนการความรอดของพระเจ้าสำหรับมวลมนุษย์เป็นโมฆะ ดังนั้นพระองค์จึงทรงอธิษฐานต่อพระเจ้าด้วยความรู้สึกที่หนักหน่วงแบบนั้น จนเปล่งเสียงร้องอันดังและด้วยน้ำพระเนตรไหล

      การเชื่อฟังพระเจ้าต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ เพราะสิ่งใดที่ถูกบีบบังคับและฝืนใจนั้นไม่ใช่การเชื่อฟัง การเชื่อฟังที่แท้จริงมาจากการตัดสินใจทางคุณธรรมที่เกิดมาจากใจสมัครของคนนั้นเอง เช่นเดียวกับกรณีของพระเยซูเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราสละชีวิตตามที่เราตั้งใจเอง ไม่มีใครชิงชีวิตไปจากเราได้” (ยอห์น 10:18) ความมุ่งมั่นของพระองค์แสดงให้เห็นอย่างมากที่เกทเสมนี เมื่อพระองค์กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานและความตาย พระองค์ยังตรัสกับพระบิดาของพระองค์ว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (ลูกา 22:42) แม้ในขณะที่พระองค์กำลังครุ่นคิดถึงสิ่งที่น่ากลัวที่รออยู่ข้างหน้าพระองค์ และพระทัยของพระองค์ก็สั่นสะท้านกับสิ่งที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็น แต่พระองค์สมัครพระทัยถวายตัวพระองค์เองเป็นแกะถวายบูชาของพระเจ้าเพื่อเป็นการลบมลทินด้วยเลือด ที่รับประกันความรอดของมวลมนุษย์ ดังนั้นจึงสามารถพูดได้จริงๆว่าสิ่งนี้ได้กระทำด้วยความรักดังที่กล่าวไว้ว่า “พระบุตรของพระเจ้าผู้ได้ทรงรักข้าพเจ้า และได้ทรงสละพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า” (กาลาเทีย 2:20)

      พระเยซูทรงถูกทำให้ “เพียบพร้อมสมบูรณ์” (ฮีบรู 5:9) นั้นชี้ให้เห็นว่าความสมบูรณ์แบบของพระองค์เป็นสิ่งที่ได้มา สิ่งนี้ไม่สามารถจะเป็นจริงได้กับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ผู้เป็นพระเจ้าพระบุตร ผู้ที่สมบูรณ์แบบโดยกำเนิดและไม่จำเป็นจะต้อง “ถูกทำให้สมบูรณ์แบบ” หรือ “มาเป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบ” (ทั้งสองความหมายถูกต้องในข้อความภาษากรีกของข้อ 9)

      คำอธิษฐานและคำวิงวอนของพระเยซู “พระเจ้าได้ทรงสดับเพราะความยำเกรงของพระองค์” (ข้อ 7) คำกรีกสำหรับ “ความยำเกรง” ในที่นี้คือ eulabeia ที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG นิยามว่าเป็น “ความเกรงกลัวที่ยำเกรงต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า ความเกรงขาม ความเกรงกลัวพระเจ้า[21]เนื่องจากความยำเกรงเป็นสิ่งที่แสดงออกต่อพระเจ้า นั่นจึงเป็นคุณลักษณะของมนุษย์ มากกว่าจะเป็นคุณลักษณะของพระเจ้า พระคัมภีร์ฉบับ KJV ให้ทางเลือกในการแปลคำ eulabeia ในฮีบรู 5:7

 

ขณะเมื่อพระเยซูดำรงอยู่ในเนื้อหนังนั้น พระองค์ได้ถวายคำอธิษฐานและคำวิงวอนด้วยเสียงร้องอันดังและน้ำพระเนตรไหล ต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตายได้ และพระเจ้าได้ทรงสดับเพราะความเกรงกลัวของพระองค์ (ฮีบรู 5:7)

 

      คำว่า “เกรงกลัว” (eulabeia) ตรงนี้หมายถึงความเกรงกลัวที่ยำเกรงและเกรงขามต่อพระพักตร์ของพระเจ้า พจนานุกรมตีความพระคัมภีร์ใหม่[22]อธิบายความหมายของคำนี้ในฮีบรู 5:7 (ทับศัพท์คำกรีก) ดังนี้

 

ดังนั้น eulabeia (ความกลัว) ในข้อ 7 จึงเกี่ยวข้องกับความจงรักภักดีต่อพระเจ้าหรือความยำเกรง “ครั้งเดียวตลอดไป” (เปรียบเทียบ 4:15) ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงทรงสดับฟังพระองค์และทำให้พระ องค์สมบูรณ์แบบ (teleiōtheis) จึงทรงเป็นจุดเริ่มต้นของความรอด และเป็นมหาปุโรหิตที่แท้จริงสำหรับทุกคนที่เชื่อฟัง (ข้อ 9 เป็นต้นไป)

 

      พจนานุกรมตีความพระคัมภีร์ใหม่กำลังบอกว่าพระเยซูถูกทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของความรอด ด้วยความสมบูรณ์แบบที่มาจากความยำเกรงและความเกรงกลัวพระเจ้า

      ในขณะที่ความสมบูรณ์แบบของพระเยซูรวมถึงความเกรงกลัวหรือความยำเกรงพระยาห์เวห์นั้น ท่าทีแบบนี้ช่างหาได้ยากในสังคมทวีปอเมริกาเหนือในปัจจุบัน เรามักจะได้ยินคำอุทานว่า “พระเจ้า!” หรือ “โอ้พระเจ้า!” หรือคำอุทานแย่ๆและคำสบถเหล่านี้ในร้านอาหาร ในโรงเรียน และในรายการโทรทัศน์ เราจะเห็นผลเสียอันเกิดกับเด็กที่โตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่อยู่ในทางของพระเจ้าได้ไม่ยาก “ในแววตาของเขาไม่มีความเกรงกลัวพระเจ้า” (โรม 3:18, สดุดี 36:1)[23]

      อะไรคือความเกรงกลัวพระเจ้าหรือ? ความยำเกรงพระยาห์เวห์คือการเกลียดชังความชั่วร้าย” (สุภาษิต 8:13) นั่นไม่ได้หมายความว่าเราเกลียดชังคนชั่วร้าย พระเยซูทรงเกลียดชังความชั่วร้ายแต่ยังให้ชีวิตของพระองค์เพื่อจะช่วยผู้ทำชั่วทุกคนที่กลับใจและวางใจในพระองค์เพื่อจะได้ความรอด

      คำอธิษฐานของพระเยซู พระเจ้าทรงสดับเพราะความเกรงกลัวและความยำเกรงของพระองค์ ถ้าคำอธิษฐานของเราพระเจ้าไม่ทรงสดับ ก็ให้เราถามตัวเองว่า เรามีท่าทีที่ยำเกรงพระเจ้าหรือไม่ ผมเคยได้ยิน “คำอธิษฐาน” มากมายที่ทำให้ผมสะดุ้ง ไม่นานมานี้ผมได้ยินศิษยาภิบาลท่านหนึ่ง “อธิษฐาน” เสียงดังเรียกร้องให้พระเจ้าทำสิ่งนี้สิ่งนั้น ปฏิบัติกับพระเจ้าเหมือนพระองค์ไม่ใช่องค์เจ้านายของเขา แต่เป็นคนรับใช้ของเขา!

 

ความสมบูรณ์แบบถูกเน้นในพระคัมภีร์

      ความสมบูรณ์แบบเป็นความครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่เหลืออะไรให้บรรลุอีกต่อไปเพราะไม่ขาดอะไรอีก มันเป็นจุดสิ้นสุด (telos) ของการบรรลุ คือจุดสุดยอดของการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งไม่สามารถไปไกลเกินกว่านี้ได้เพราะไม่มีอะไรนอกเหนือจากนี้

      1 โครินธ์ 13:10 ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างความสมบูรณ์แบบกับความสมบูรณ์เพียงบางส่วนว่า “เมื่อความสมบูรณ์ (teleios) เข้ามา ที่เป็นเพียงบางส่วน (meros) นั้นจะสูญไป ข้อ 9 กล่าวว่า “เพราะว่าเรารู้เพียงบางส่วน (meros)” นั่นก็คือ ความรู้ของเราในเวลานี้ไม่สมบูรณ์

      ในบรรดาผู้เชื่อจะมีทารกในฝ่ายวิญญาณซึ่งยังไม่เป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายวิญญาณที่ต้องเติบโตขึ้นจนถึงความเป็นผู้ใหญ่และจนถึงความสมบูรณ์แบบของพระคริสต์

 

... จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า บรรลุถึงความเป็นคนสมบูรณ์แบบ คือจนถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์ (เอเฟซัส 4:13 ฉบับ KJV)

 

      คำว่า “คนสมบูรณ์แบบ” (andra teleion, perfect man หรือ “ผู้ชายสมบูรณ์แบบ”) ตรงนี้หมาย ถึงพระคริสต์เพราะการอ้างถึง “พระบุตรของพระเจ้า” และ “พระคริสต์” ในประโยคเดียวกัน คำตรงนี้ไม่ใช่ anthrōpos ซึ่งเป็นคำโดยทั่วไปสำหรับมนุษย์ แต่ anēr[24]เป็นคำสำหรับมนุษย์ที่เป็นผู้ชาย ดังนั้นจึงไม่ถูกต้องที่จะแปล “ผู้ชายสมบูรณ์แบบ” (perfect man”) ในลักษณะทั่วไปว่า “ความเป็นชายที่เป็นผู้ใหญ่” (mature man­hood”)[25] ดังที่แปลในฉบับ ESV และ RSV (แต่ไม่ใช่ฉบับ HCSB, NASB, NIV) มันใช้ไม่ได้ตามคำที่จะลด anēr ให้เป็นแนวคิดเชิงนามธรรมว่า “ความเป็นผู้ชาย” (man­hood”) ซึ่งเป็นการแปลที่ไม่มีการสนับสนุนตามคำจากพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับที่ได้มาตรฐานทั้งหลาย บรรดาผู้เชื่อไม่ได้ถูกเรียกให้มีความเป็นคนที่เป็นนามธรรม แต่เจาะจงกับ “ผู้ชายสมบูรณ์แบบ” ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ สิ่งนี้กล่าวไว้ในสองข้อต่อมาว่า “เราจะเติบโตขึ้นในทุกสิ่งสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะคือพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:15) เปาโลย้ำถึงความจริงที่สำคัญยิ่งนี้ในโคโลสี 1:28 ว่า “เราประกาศพระองค์ เราตักเตือนและ​​สั่งสอนทุกคนด้วยสติปัญญาทั้งสิ้น เพื่อเรา​​จะถวายทุกคนให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบ[26]ในพระคริสต์” (ฉบับ NIV)

      ความสมบูรณ์แบบของผู้เชื่อเป็นแนวคิดที่คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย นี่อาจเป็นผลมาจากการเน้นที่พระคุณอย่างไม่สมดุลของคริสตจักรหรือไม่? ผู้รับใช้คริสตจักรโดยทั่วไปไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาต้องทำคือ “ถวายทุกคนให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบในพระคริสต์” แต่นี่เป็นเป้าหมายสูงสุดในพันธกิจของเปาโลดังที่เห็นในข้อต่อมาว่า “เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงตรากตรำต่อสู้ตามกำลังที่พระองค์ทรงทำกิจในตัวข้าพเจ้าอย่างมากมาย” (โคโลสี 1:29)

      คริสตจักรไม่ได้อยู่ในแนวคิดเดียวกันกับเปาโล เราเคยได้ยินคำเทศนาเรื่องความสมบูรณ์แบบในพระคริสต์ไหม? การเน้นที่ไม่สมดุลเกี่ยวกับการได้รับความรอดโดยความตายของพระคริสต์ได้ทำให้ความสมบูรณ์แบบของเราในพระเยซูคริสต์ซ้ำซ้อน แต่การเน้นในคำสอนของเปาโลและในพระคัมภีร์ใหม่นั้นต่างกัน คือความตายของพระคริสต์ก็เพื่อชำระเราจากบาปและ “ซื้อ” (ไถ่) เราให้กับพระเจ้า เพื่อว่าเราจะบริสุทธิ์ “เพราะถ้าปราศจากความบริสุทธิ์แล้ว ก็จะไม่มีใครได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเลย” (ฮีบรู 12:14) แต่เราถูกสอนไว้มากตามแบบความเชื่อของโปรแตสแตนท์ที่เราต้องการเพียงแค่เชื่อว่าพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา แล้วเราจะรอด และเมื่อเรารอดแล้วเราก็จะรอดเสมอไป เมื่อสอนแบบนี้แล้วจะมีใครต้องการความสมบูรณ์แบบหรือความบริสุทธิ์หรือ?

      ความเป็นห่วงอย่างมากของเปาโลที่ความสมบูรณ์แบบของพระคริสต์ควรจะเกิดขึ้นในชีวิตของผู้เชื่อนั้นแสดงให้เห็นจากภาพของความเจ็บปวดของการคลอดบุตรที่ว่า “ลูกที่รักเอ๋ย ข้าพเจ้ายังต้องเจ็บปวดราวกับคลอดบุตรเพื่อท่าน​​อีก จนกว่าพระคริสต์จะ​​ทรงก่อร่างขึ้นในท่าน!” (กาลาเทีย 4:19) ความคล้ายคลึงระหว่างข้อนี้กับโคโลสี 1:28-29 จะเห็นในความสอดคล้องกันระหว่าง “พระคริสต์ในท่าน” และ “พระคริสต์จะ​​ทรงก่อร่างขึ้นในท่าน

 

“เป็นคนสมบูรณ์แบบ” ในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่

 

ปฐมกาล 17:1 เมื่อ​​อับรามอายุได้เก้าสิบเก้าปี พระยาห์เวห์ทรงปรากฏกับเขาและตรัส​​ว่า “เราเป็น เอล ชัดได (พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์) จงดำเนินต่อหน้าเราจงเป็นคนสมบูรณ์แบบ” (ฉบับ NJB)

เฉลยธรรมบัญญัติ 18:13 ท่านจงเป็นคนสมบูรณ์แบบต่อ​​พระเจ้าของท่าน (ฉบับ KJV)

 

      ในข้อหลัง ฉบับ KJV คงคำว่า “สมบูรณ์แบบ” ไว้ในขณะที่พระคัมภีร์ฉบับอื่นๆส่วนใหญ่ใช้คำอ่อนลงว่า “ปราศจากตำหนิ”[27] ซึ่งเผยให้เห็นความไม่เต็มใจในพระคัมภีร์สมัยใหม่ที่จะใช้คำว่า “สมบูรณ์แบบ” สิ่งนี้ทำให้ยากขึ้นสำหรับผู้อ่านที่จะรู้ว่าตัวบทกำลังพูดอะไร มีคำ “สมบูรณ์แบบ” ปรากฏ 99 ครั้งในฉบับ KJV และมีเพียง 41 ครั้งในฉบับ ESV  ยังมี 36 ครั้งในฉบับ NIV ซึ่งเป็นจำนวนหนึ่งในสามของฉบับ KJV และจาก 36 ครั้งนี้มีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่อ้างถึงความสมบูรณ์แบบของคน แต่กรณีเพียงไม่กี่ครั้งนี้ก็มีความสำคัญ (ข้อต่อไปนี้มาจากฉบับ NIV 1984)

 

โคโลสี 1:28 เพื่อ​​เราจะถวายทุกคนให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบ[28]ในพระคริสต์

ฮีบรู 2:10 ....เป็น​การ​เหมาะ​สม​แล้วที่​พระ​เจ้า​ผู้​ซึ่ง​ทุก​สิ่ง​มีอยู่​เพื่อ​พระ​องค์​และ​โดย​พระ​องค์ จะ​ทรง​ทำ​ให้​ผู้เบิกทางความ​รอด​ของ​​พวกเขา​สม​บูรณ์​พร้อมโดยการทน​ทุกข์

ฮีบรู 5:9 และเมื่อพระเจ้าทรงทำให้พระเยซูเพียบพร้อมสมบูรณ์แล้ว พระองค์จึงทรงเป็นแหล่งความรอดนิรันดร์สำหรับคนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์

ฮีบรู 7:28 ...พระบุตรผู้ซึ่งทรงทำให้สมบูรณ์แล้วเป็นนิตย์

ฮีบรู 10:14 เพราะโดย​การ​ถวาย​บูชา​​ครั้ง​เดียว พระ​องค์​ได้ทรง​ทำ​ให้​บรรดาผู้​ที่​กำลัง​รับ​การ​ชำระ​ให้​บริ​สุทธิ์​​นั้น บรรลุ​ถึงความ​สม​บูรณ์​พร้อมเป็นนิตย์

 

      คำสั่งที่คุ้นกันว่า “จงเป็นคนสมบูรณ์แบบ เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์ทรงสมบูรณ์แบบ” (มัทธิว 5:48) จะไม่พบในพระคัมภีร์เดิม แต่มีคำสั่งที่คล้ายกันว่า “จงบริสุทธิ์ เพราะเราบริสุทธิ์” มาแทน

 

เลวีนิติ 11:44-45 เราคือพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า จงแยกออกมาเพื่อเราและรักษาตนเองให้บริสุทธิ์.... เราคือพระยาห์เวห์ผู้ที่นำเจ้าออกมาจากแผ่นดิน​​อียิปต์ เพื่อเป็นพระเจ้าของเจ้า ดังนั้นเจ้า​​จงบริสุทธิ์ เพราะเราบริสุทธิ์ (ฉบับESV, โดยใช้ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู; อีกทั้งเลวีนิติ 20:26)[29]

 

      ในทำนองเดียวกัน พระคัมภีร์ใหม่ก็เรียกร้องให้เราบริสุทธิ์และปราศจากตำหนิ (ทุกข้อมาจากฉบับ ESV)

 

เอเฟซัส 1:4 ...เพื่อเราจะบริสุทธิ์และปราศจากตำหนิ

เอเฟซัส 5:27 เพื่อที่พระองค์จะมีคริสตจักรที่มีสง่าราศี ไม่มีตำหนิ ริ้วรอย หรือมลทินใดๆเลย ที่คริสตจักรจะบริสุทธิ์และปราศจากตำหนิ

1 เปโตร 1:15-16 แต่เมื่อพระ​องค์​ผู้​ทรง​เรียก​พวก​ท่าน​นั้น​บริ​สุทธิ์​ ​ท่าน​เอง​ก็​จง​​บริ​สุทธิ์​ใน​การประพฤติทุก​อย่าง​ เพราะ​มี​คำ​เขียน​ไว้​แล้ว​ว่า “พวก​ท่าน​จง​​บริ​สุทธิ์ เพราะ​เรา​​บริ​สุทธิ์”

 

      ข้อเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของฮีบรู 10:14 นั้นแสดงให้เห็นว่า “สมบูรณ์แบบ” และ “บริสุทธิ์” มีความหมายเหมือนกัน

     ความคล้ายกันระหว่าง “จงสมบูรณ์แบบ เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงสมบูรณ์แบบ” และ “จงมีใจเมตตากรุณา เหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา” (มัทธิว 5:48, ลูกา 6:36) แสดงให้เห็นว่าความสมบูรณ์แบบนั้นรวมถึงความเมตตาและความกรุณา (เปรียบเทียบอพยพ 34:6, พระยาห์เวห์ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณาและพระคุณ) สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของความรัก และพระลักษณะของพระเจ้าเป็นความรัก (1 ยอห์น 4:8, 2 โครินธ์ 13:11, เอเฟซัส 2:4)[30]

      ข้อต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่าความสมบูรณ์แบบเป็นอย่างไร และฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงเป็นอย่างไร

 

ความสมบูรณ์แบบเป็นความอดทน: “และจงให้ความทรหดอดทนนั้นมีผลอย่างสมบูรณ์ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนที่สมบูรณ์และดีพร้อม โดยไม่ขาดสิ่งใดเลย” (ยากอบ 1:4)

ความสมบูรณ์แบบเป็นการหยั่งรู้ในฝ่ายวิญญาณ: อาหารแข็งนั้นสำหรับผู้ใหญ่ (ผู้ที่สมบูรณ์แบบ) สำหรับคนที่ฝึกฝนจนมีความสามารถแยกแยะดีชั่วได้แล้ว (ฮีบรู 5:14)

ความสมบูรณ์แบบเป็นการควบคุมตนเองและควบคุมลิ้น: “เพราะว่าเราทำผิดพลาดมากมายกันทุกคน ถ้าใครไม่เคยทำผิดทางคำพูด คนนั้นก็เป็นคนดีพร้อมสมบูรณ์และสามารถบังคับทั้งตัวได้ด้วย” (ยากอบ 3:2)

ความสมบูรณ์แบบเป็นความสุภาพอ่อนโยนและใจถ่อม:จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเราเพราะว่าเรามีใจอ่อนสุภาพและถ่อมลง แล้วจิตวิญญาณของท่านทั้งหลายจะพักสงบสุข” (มัทธิว 11:29)

 

ความอ่อนแอของพระเยซูเผยให้เห็นความเท็จของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      พระคัมภีร์อธิบายลักษณะของมนุษย์ว่าอ่อนแอ เปาโลกล่าวถึง “ความอ่อนแอของเนื้อหนัง” (โรม 6:19)[31] ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ “แสดงถึงความอ่อนแอของธรรมชาติมนุษย์” (พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ Thayer, astheneia) และ “ความอ่อนแอที่เนื้อหนังของมนุษย์ทั้งหมดสืบทอด” (พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG, astheneia 2b)

     พระเยซูเอง “ทรงถูกตรึงในความอ่อนแอ” (2 โครินธ์ 13:4)[32] ในเรื่องคำกล่าวนี้ พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กล่าวว่า “พระองค์ทรงถูกตรึงเนื่องจากความอ่อนแอของพระองค์ (ความอ่อนแอของพระองค์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง)” พระเยซูก็เหมือนกับมนุษย์ทุกคนที่ไม่มีพลังอำนาจของชีวิตโดยกำเนิด แต่การดำรงอยู่ของพระองค์ขึ้นอยู่กับพระบิดาของพระองค์ดังที่ว่า “เรามีชีวิตเพราะพระบิดา” (ยอห์น 6:57) และ “เพราะพระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เองอย่างไร พระองค์ก็ทรงให้พระบุตรมีชีวิตในพระองค์เองอย่างนั้น” (ยอห์น 5:26) ซี เค แบร์ริทต์ ผู้เขียนพระกิตติคุณตามคำของเซนต์ยอห์[33] ได้กล่าวเกี่ยวกับยอห์น 6:57 ว่า “พระองค์ไม่ได้มีชีวิตโดยที่ไม่ขึ้นกับใคร”

      เนื่องจากพระคัมภีร์ให้ภาพมนุษย์ว่าอ่อนแอโดยกำเนิด ฉะนั้นการยกระดับพระเยซูให้เป็น   พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดจึงเป็นการปฏิเสธคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ของพระองค์ ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า แล้วเราจะให้เหตุผลกับความอ่อนแอของพระองค์อย่างไร?

      มนุษย์ไม่มีทางเลือกว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแกร่ง แม้จะมีความเข้าใจผิดว่าคนๆหนึ่งอาจมีความแข็งแกร่งเมื่อเขาเป็นคนสูงใหญ่ หรือมีสุขภาพดี หรือมีสติปัญญา หรือร่ำรวย หรือได้รับการยกย่องในสังคม ความอ่อนแอและการหมดหนทางของมนุษย์ คือความเป็นจริงในการดำรงอยู่ของมนุษย์ในยุคปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปในยุคที่จะมาถึง เมื่อเราจะ “สวม” กายใหม่ในลักษณะที่ “กายอันต่ำต้อยของเรา” (ฟีลิปปี 3:21, ฉบับ NRSV) จะเปลี่ยนเป็นกายอมตะ

      พระเยซูผู้เป็นพระเจ้าจะอ่อนแอได้อย่างไร? เพราะถ้าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ก็ต้องแข็งแกร่งและมีฤทธิ์อำนาจทุกอย่าง ถ้าพระองค์ทรงอ่อนแอ พระองค์ก็ไม่ใช่พระเจ้า เพราะพระเจ้าไม่สามารถจะลบล้างพระลักษณะของพระองค์ได้ พระลักษณะเหล่านี้มีอยู่อย่างถาวรในตัวของพระองค์ในฐานะที่เป็นพระเจ้า พระลักษณะเหล่านี้อธิบายสิ่งที่พระองค์ทรงเป็น ถ้าพระองค์ขาดพระลักษณะแม้แต่อย่างเดียว พระองค์ก็จะไม่ใช่พระเจ้า ความเท็จของหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระเยซูถูกเปิดเผยอีกครั้ง

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพโต้เถียงว่าพระเยซูผู้เป็นพระเจ้าได้ทรงเลือกที่จะสวมสภาพในกายมนุษย์ที่มีข้อจำกัด การที่พระองค์ทรงมีทางเลือกเช่นนั้นตั้งแต่แรกก็แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ใช่มนุษย์ ในการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้านั้น ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้ให้พระองค์พ้นขอบเขตของความเป็นมนุษย์ ซึ่งทำให้ไม่ใช่ทั้งพระเจ้าหรือมนุษย์

      ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการจำกัดตนเองโดยสมัครพระทัยของพระเยซูนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าพระเจ้าไม่เหมือนกับนักมวยที่ผูกมือข้างหนึ่งไว้ด้านหลังของเขา เหมือนการต่อให้คู่แข่งที่อ่อนแอกว่า ข้อโต้แย้งว่าพระเยซูทรงทิ้งฤทธิ์อำนาจในความเป็นพระเจ้าของพระองค์เองเพื่อจะพึ่งพาฤทธิ์อำนาจของพระเจ้านั้นก็ไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้มีฤทธิ์อำนาจทุกอย่างอยู่ในตัวและมีฤทธานุภาพที่ไม่มีขีดจำกัด แต่หยุดยั้งฤทธิ์อำนาจในความเป็นพระเจ้าของพระองค์เองนั้นจะเรียกว่าอ่อนแอในความหมายที่แท้จริงหรือ? ถ้าผมยับยั้งการใช้พลังอำนาจที่มากมายของผม นั่นจะทำให้ผมอ่อนแอหรือไม่? ก็ไม่เลย ผมยังคงแข็งแกร่งและมีพลังอย่างแท้จริงและอย่างถาวร

      ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว พระเยซูทรงเป็นพระองค์ที่สองในพระเจ้าตรีเอกภาพที่มีฤทธิ์อำนาจทุกอย่างที่เท่าเทียมกับพระบิดา การมีร่างกายมนุษย์ของพระองค์นั้นไม่ได้ลดฤทธานุภาพทั้งสิ้นของพระองค์แม้แต่นิดเดียว เพราะเนื้อหนังจะสามารถหยุดยั้งการมีฤทธิ์อำนาจทุกอย่างได้อย่างไรถ้าหากการมีฤทธิ์อำนาจทุกอย่างมีความหมายว่าเป็นฤทธานุภาพที่ไม่มีขีดจำกัด? ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นพระเยซูไม่ได้ทรงเป็นแค่พระเจ้า แต่ทรงเป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์” แม้ในขณะที่พระองค์ทรงอยู่บนโลก

      พระเยซูของหลักความเชื่อในตรีเอกานุภาพในศตวรรษที่ 4 ไม่ตรงกับเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของพระยาห์เวห์ และเพราะฉะนั้นจึงเป็นเท็จ แต่ในทางกลับกัน พระเยซูตามพระคัมภีร์นั้นอ่อนแอและไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวของพระองค์เอง พระองค์ทรงมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของพระยาห์เวห์ที่ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่พึ่งพาพระเจ้าอย่างทั้งหมด และไม่มีความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ไม่ไดมีอยู่แล้วกับมนุษย์คนอื่นๆ

      พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ที่แตกต่างจากมนุษย์คนอื่นๆ พระองค์บังเกิดมาในครอบครัวชาวยิวธรรมดาๆ มีนักวิชาการบางคนคิดว่าครอบครัวของพระองค์อาจอยู่ในหมู่ชาวยิวที่ยากจนที่สุด เพราะพวกช่างฝีมืออย่างเช่นพวกช่างไม้นั้น ปกติแล้วจะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และมีฐานะการเงินยิ่งแย่กว่าผู้ที่มีที่ดินเสียอีก (โดยทั่วไปแล้วเจ้าของที่ดินจะไม่เอางานของช่างไม้มาทำการค้า แต่พวกเขาจะทำมาหากินด้วยการเกษตรซึ่งมีข้อดีสองอย่าง คือมีความมั่นใจว่าจะมีอาหารของตนเองเพียงพอ และในช่วงฤดูที่บริบูรณ์ก็จะมีผลเก็บเกี่ยวเหลือที่จะขายหรือใช้ค้าขายได้)

      เปาโลกล่าวถึงบรรดาผู้เชื่อว่า ตามมาตรฐานมนุษย์แล้วมีคนไม่มากที่ฉลาด หรือมีอำนาจ หรือเกิดมาสูงศักดิ์ เพราะพระเจ้าได้ทรงเลือกผู้ที่โลกถือว่าโง่ เพื่อทำให้คนมีปัญญาอับอาย และคนที่โลกถือว่าอ่อนแอเพื่อให้คนที่แข็งแรงอับอาย (1 โครินธ์ 1:26-27) คำกล่าวสำคัญที่สุดของเปาโลที่แสดงให้เห็นความจริงนี้ก็คือ 2 โครินธ์ 12:9 ซึ่งบอกถึงสิ่งที่องค์ผู้เป็นเจ้าได้ตรัสกับเขาว่า “ความอ่อนแอมีที่ไหน ฤทธานุภาพของเราก็ปรากฏเต็มที่ที่นั่น”

      คำกล่าวนี้เรียกร้องให้มีการไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง เป็นการกล่าวอย่างชัดเจนว่าตรงกันข้ามกับความคิดของมนุษย์ ที่ความเข้มแข็งใดๆในมนุษย์จะขัดขวางฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าจากการสำแดงตัวออกมาอย่างบริบูรณ์ ในการไตร่ตรองจะบอกเราว่า ถ้าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบตามที่พระคัมภีร์ได้ประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นนั้น ความสมบูรณ์แบบทั้งสิ้นของพระองค์จะบรรลุผลได้อย่างไร เว้นแต่โดยความอ่อนแอทั้งหมด? ตอนนี้เราเข้าใจสิ่งที่พระเยซูทรงหมายถึงเมื่อพระองค์ตรัสว่า “พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดโดยลำพังพระองค์เอง” (ยอห์น 5:19) นี่ไม่ใช่คำกล่าวด้วยความถ่อมตน แต่เป็นการประกาศความจริงอย่างหนักแน่นว่าถ้าปราศจากฤทธิ์อำนาจของพระยาห์เวห์แล้ว พระเยซูจะไม่สามารถกระทำสิ่งใดได้เลย

      เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกทเสมนี[34]ที่การต่อสู้อย่างทุกข์พระทัยของพระเยซูได้เผยให้เห็นความอ่อนแอและความทุกข์ระทมอย่างที่สุดของพระองค์ถึงความตายของพระองค์บนกางเขนที่ใกล้เข้ามาซึ่งกำลังจะเป็นจริง พระองค์ไม่ได้เผชิญหน้ากับกางเขนเหมือนนักรบหาญกล้าที่กำลังวิ่งโล่เข้าประจัญบาน มีวีรบุรุษมากมายในประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิและอารยธรรมต่างๆ แต่พระเยซูไม่ได้ทำด้วยความกล้าหาญของมนุษย์หรือด้วยความปรารถนาที่จะได้รับการยกย่องจากโลก พระองค์ไม่ได้แสวงหาความตาย ฉะนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะทรงกำหนดความตายของพระองค์เองดังที่นักวิชาการบางคนเชื่อ โดยเสนอแนะว่าพระองค์ทรงมีแรงรูงใจจากผู้รับใช้ที่ทนทุกข์จากอิสยาห์ 53 ที่ความตายของเขานำการชดใช้มาสู่ประชากรของพระเจ้า แผนการการไถ่ “คนจำนวนมาก” (มัทธิว 20:28, มาระโก 10:45) แรกเริ่มมาจากพระยาห์เวห์ ไม่ใช่จากพระเยซู ในข้อต่อไปนี้เราจะเห็นความหนักหน่วงของเหตุการณ์ที่เกทเสมนี

 

ลูกา 22:44 และเมื่อ​​ทรง​เป็น​ทุกข์ พระ​องค์​ก็​ทรง​อธิษ​ฐาน​อย่าง​จริง​จังยิ่งขึ้น และเหงื่อ​ของ​พระ​องค์หยด​เป็น​เลือด​เม็ด​ใหญ่​​ลง​ถึง​ดิน (ฉบับ ESV)

ฮีบรู 5:7 ในช่วงเวลาที่​เป็นมนุษย์ ​พระ​เยซูทรง​ถวาย​คำ​อธิษ​ฐานและคำวิงวอน​ด้วย​เสียง​ดัง​และ​น้ำ​พระ​เนตร​ไหล ต่อ​พระ​เจ้า​ผู้​ทรง​สา​มารถ​ช่วย​พระ​องค์​ให้​พ้น​จาก​ความ​ตาย​ได้ และ​พระ​เจ้า​ทรง​สดับ​เพราะ​ความ​ยำ​เกรง​ของ​พระองค์ (ฉบับ ESV)

 

      ความหนักหน่วงในความทุกข์ทรมานของพระเยซูไม่นานก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์เพื่อมวลมนุษย์นั้น แทบจะไม่สามารถแสดงถึงความเจ็บปวดออกมาได้มากกว่านี้ นี่ไม่ใช่วิธีที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นวีรบุรุษเหมือนในหนังสือชีวประวัติบุคคลอย่างแน่นอน วีรบุรุษควรเป็นคนที่ยืนหยัดและยืดอกให้กับความตาย แต่สิ่งที่พระเยซูแสดงให้เราเห็นนั้นเป็นความอ่อนแออย่างที่สุด คำกล่าวที่เข้าใจยากของเปาโลที่ว่าพระเยซู “ทรงถูกตรึงตายบนไม้กางเขนในความอ่อนแอ กระนั้นพระองค์ก็ทรงมีชีวิตอยู่โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า” (2 โครินธ์ 13:4) จะเข้าใจได้ก็เมื่อพิจารณาตามหลักการสำคัญที่องค์ผู้เป็นเจ้าให้ไว้กับเปาโลว่า “ความอ่อนแอมีที่ไหน ฤทธานุภาพของเราก็ปรากฏเต็มที่ที่นั่น” (2 โครินธ์ 12:9) นี่เป็นหลักการที่ผู้เชื่อทุกคนจะต้องดำเนินชีวิต ตัวของเปาโลเองกล่าวว่า “เพราะว่าข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็จะเข้มแข็งมากเมื่อนั้น” (ข้อ 10, เปรียบเทียบ ข้อ 9)

      คำว่า “ความอ่อนแอมีที่ไหน ฤทธานุภาพของเราก็ปรากฏเต็มที่ที่นั่น” ไม่สามารถจะเป็นจริงกับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะในเมื่อพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ก็ไม่สามารถจะอ่อนแอได้ พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดจะอ่อนแอได้อย่างไรหรือ? การอ้างเหตุผลว่าพระเยซูทรงทำให้พระองค์เองอ่อนแอนั้นเป็นกรณีเฉพาะในการแก้ต่าง เรากำลังพูดถึงความอ่อนแออย่างแท้จริงและเกิดขึ้นจริง ที่ไม่ใช่การแสดงถึงความอ่อนแอ ที่เกทเสมนีนี้ พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้แค่แสดงให้เห็นว่าทรงอ่อนแอ ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ไม่มีความจำกัดและทรงเป็นผู้มีฤทธิ์อำนาจทุกอย่างหรือไม่? เรากำลังพูดถึงการกระทำที่เสแสร้งหรือ ไม่? ถ้าไม่ใช่ องค์ประกอบสำคัญในความสมบูรณ์แบบของพระเยซูก็คือความอ่อนแอที่สุดในความเป็นมนุษย์ของพระองค์ ซึ่งฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าทำให้เกิดความเพียบพร้อมสมบูรณ์ในพระองค์

      ความอ่อนแอจริงๆ ของพระเยซูปรากฏให้เห็นในรายละเอียดเช่นว่า “เหงื่อของพระองค์เป็นเหมือนโลหิตเม็ดใหญ่หยดลงถึงดิน” (ลูกา 22:44) และพระองค์ทรงอ่อนกำลังจนทูตสวรรค์ต้องมาช่วยชูกำลังพระองค์ (ข้อ 43)[35] ก็เหมือนที่สามารถเห็นได้ในพระเยซูผู้เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ที่เหงื่อหยดเป็นเลือดและน้ำตาไหล (“ร้อง​​ทูลด้วยเสียงอันดังและน้ำพระเนตรไหล” ฮีบรู 5:7) ความยิ่งใหญ่ของพระเยซูไม่ได้อยู่ที่ความเป็นพระเจ้าของพระองค์ตามที่เชื่อกัน แต่อยู่ในความอ่อนแอและหมดหนทางของพระองค์จนถึงขั้นที่ต้องใช้ฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าช่วยให้พระองค์ไปสู่ชัยชนะในเวลาที่พระองค์ตกอยู่ในอันตรายจากการล้มเหลว

      กล่าวโดยสรุปแล้ว ภาพของพระเยซูที่เกทเสมนีขัดแย้งกับภาพของพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่เป็นพระเจ้าผู้ทรงมีอำนาจทุกอย่างและทรงฤทธานุภาพสูงสุด

      คำกล่าวว่า “พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?” (มัทธิว 27:46, มาระโก 15:34) ก็เป็นอีกหนึ่งคำกล่าวที่ผมปล้ำสู้ขณะเมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่ว่าไม่พบข้อสรุป มันเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะทอดทิ้งพระเจ้า (สำหรับความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว สิ่งนี้สามารถกระทำได้โดยการแยกส่วนเนื้อแท้ในตรีเอกภาพของพระเจ้าเท่านั้น) แล้วทำไมพระเยซูจึงทรงร้องเสียงดังด้วยถ้อยคำอันทุกข์ทรมานอย่างมากที่พบในสดุดี 22:1 หรือ? ในขณะที่ถ้อยคำของสดุดี 22:1 (“พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?”) ไม่สามารถนำมาใช้กับพระเยซูที่เป็นพระเจ้าได้ แต่ถ้อยคำนี้กลับใช้อย่างเด่นชัดกับพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ในความอ่อนแอที่สุดของพระองค์บนกางเขน ที่กางเขนนี้ ฤทธิ์อำนาจของพระยาห์เวห์ประคับประคองจิตวิญญาณของพระเยซูและค้ำชูพระองค์ให้ผ่านพ้นวิกฤติที่อันตรายนี้เพื่อบรรลุชัยชนะ โดยที่พระเยซูทรงสามารถประกาศว่างานของพระองค์ “สำเร็จแล้ว” ซึ่งสำเร็จโดยสมบูรณ์

 

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของพระเจ้า โดยที่งานของพระเจ้าได้รับการยอมรับว่าเป็นงานของพระองค์

      วิธีการที่พระเจ้าทรงกระทำสิ่งต่างๆในโลกมนุษย์มีกล่าวไว้ใน 1 โครินธ์ 1:27 ว่า “แต่พระเจ้าได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าโง่ เพื่อทำให้พวกมีปัญญาอับอาย และได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้พวกที่แข็งแรงอับอาย” หลักการนี้ดำเนินมาตลอดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความรอด[36] ซึ่งครอบคลุมทั้งพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ ตัวอย่างของหลักการนี้มีมากเกินที่จะอ้างถึงได้หมด แต่เราสามารถพูดถึงบางกรณีได้

      ในแผนการความรอดของพระเจ้าผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกนั้น พระองค์ได้ทรงเลือกชนชาติหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อการไถ่มวลมนุษย์ที่ตกลงในความบาปและความตายเพราะความล้มเหลวของอาดัมและเอวา พระยาห์เวห์ไม่ได้ทรงเลือกมหาอำนาจของโลกนี้ เช่น ชนชาติอียิปต์ที่เจริญก้าว หน้าทางวัฒนธรรม โดยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วทำให้อิสราเอลดูเป็นชาติของชนเผ่าพื้นเมือง และพระองค์ไม่ได้ทรงเลือกอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของเมโสโปเตเมีย ศิลปวัตถุของอารายธรรมเก่าแก่เหล่านี้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ในปัจจุบันยังคงน่าตื่นตะลึงและน่าชื่นชม

      พระยาห์เวห์ไม่ได้ทรงเลือกชนชาติใหญ่โตและก้าวหน้าเหล่านี้ แต่พระองค์กลับทรงเลือกชนชาติเล็กๆ ซึ่งมีสิบสองเผ่าที่ขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ เดิมทีประเทศอิสราเอลไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ขั้นสูง เช่น รถรบสงครามจำนวนมากเหมือนชาวอียิปต์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่น่ากลัวทางตะวันตกเฉียงใต้ และอิสราเอลก็ไม่ได้มีความสำเร็จในด้านวัฒนธรรมและการจัดระเบียบได้เหมือนอย่างอียิปต์ นั่นจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเลยที่ชนชาติเล็กๆซึ่งค่อนข้างเป็นชนเผ่าพื้นเมืองนี้ ได้ตกไปเป็นทาสในอียิปต์เป็นเวลา 430 ปี (อพยพ 12:40-41) และสุดท้ายแล้ว พระเจ้าทรงช่วยชาวอิสราเอล ซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลกกดขี่มานานหลายชั่วอายุคนได้อย่างไร?

      เรื่องของโมเสสเป็นที่รู้จักกันดีจึงจะไม่กล่าวซ้ำอีกในที่นี้ ยกเว้นเรื่องย่อๆ โมเสสมีแม่เป็นทาสหญิงชาวอิสราเอล ได้ถูกนำไปไว้ริมแม่น้ำไนล์และราชธิดาคนหนึ่งของฟาโรห์ได้ช่วยรับไปอุปการะไว้ (อพยพ 2:1-10) หลายปีต่อมา โมเสสเห็นคนอิสราเอลคนหนึ่งถูกคนอียิปต์ทุบตี เขาจึงหุนหันฆ่าคนอียิปต์นั้นและต้องหลบหนีฟาโรห์ (2:11-15) เขาไปอาศัยอยู่ในเทือกเขาทะเลทรายในแผ่นดินมีเดียนที่เขาได้แต่งงานกับบุตรสาวของเยโธรซึ่งเป็นปุโรหิตและหัวหน้าเผ่า และเขาก็เป็นผู้ดูแลฝูงแกะ (2:16-21) เขาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารหลายปีและคุ้นเคยกับวิถีชีวิตในทะเลทราย เขาสั่งสมความรู้และประสบการณ์ที่ต่อมาจะเป็นประโยชน์มากในการนำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ ในช่วงเตรียมการอยู่หลายปีในทะเลทรายนั้น พระยาห์เวห์กำลังทรงสร้างคุณสมบัติของเขาและกำลังเตรียมผู้ชายธรรมดาคนนี้ (ซึ่งไม่มีคุณสมบัติพิเศษนอกจากได้รับการศึกษาพอประมาณในอียิปต์) ให้เป็นคนที่พระยาห์เวห์ทรงสามารถจะสื่อสารด้วยได้ โดยเริ่มจากการพบกับพระองค์ที่พุ่มไม้ซึ่งมีไฟลุกโชน (อพยพ 3)

      ตรงนี้เราเห็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของพระเจ้าในการเลือกคนที่ไม่สำคัญและเป็นทาส แล้วก็เลือกโมเสสจากหมู่คนเหล่านั้นมาเป็นผู้นำ ซึ่งนอกจากมีลักษณะที่สุภาพอ่อนโยนและชอบธรรมแล้วก็ไม่เห็นความสามารถหรือลักษณะโดดเด่นอะไร

      เราจะเห็นทั้งในพระคัมภีร์เดิมและใหม่ว่า พระเจ้าทรงเลือกสิ่งที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้คนที่แข็งแรงอับอาย สำหรับโลกแล้ว ความสุภาพอ่อนโยนไม่ถือว่าเป็นคุณสมบัติของคนเข้มแข็งแต่เป็นของคนอ่อนแอ พวกทาสมีทางเลือกอื่นไหมนอกจากต้องสุภาพอ่อนโยนต่อพวกเจ้านายของพวกเขา เพราะการแสดงความก้าวร้าวอาจทำให้พวกเขาเสียชีวิตได้?

      วิธีที่พระเจ้าทรงเลือกคน จะเห็นได้ครั้งแล้วครั้งเล่าจากช่วงสำคัญๆในประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์ เมื่อพระยาห์เวห์ทรงส่งซามูเอลผู้เผยพระวจนะไปหาเจสซี เพื่อแต่งตั้งบุตรชายคนหนึ่งของเจสซีให้เป็นกษัตริย์ของอิสราเอล พระยาห์เวห์ทรงนึกถึงเด็กหนุ่มชื่อดาวิดซึ่งเป็นตัวเลือกที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ถูกพ่อแม่ของเขาเองมองข้าม (1 ซามูเอล 16:1-13) แต่พระยาห์เวห์ทรงเลือกดาวิดด้วยการเลือกที่สอดคล้องกับวิธีการของพระองค์ในการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งสอดคล้องอย่างแท้จริงกับเอก ลักษณ์ที่โดดเด่นของพระเจ้า

 

ความสมบูรณ์แบบและการทนทุกข์

      พระคัมภีร์ใหม่สอนเกี่ยวกับการทนทุกข์ไว้มากมาย ไม่เฉพาะแต่ของพระคริสต์เท่านั้น แต่ยังของบรรดาผู้เชื่อในพระคริสต์ด้วย และเต็มไปด้วยความหมายในฝ่ายวิญญาณ ดังที่พระเยซูทรงถูกทำให้ “สมบูรณ์แบบโดยการทนทุกข์” (ฮีบรู 2:10) ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพระคริสต์ที่ทนทุกข์ทางกายก็จะ “เลิกข้องเกี่ยวกับบาป”(1 เปโตร 4:1)

      พระกิตติคุณเล่มต่างๆไม่ค่อยกล่าวถึงอายุของพระเยซู แต่เมื่อกล่าวถึง พระกิตติคุณเล่มต่างๆก็ได้ให้ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับชีวิตและแม้กระทั่งการทนทุกข์ของพระองค์ พระเยซูทรงเริ่มต้นพันธกิจของพระองค์เมื่ออายุประมาณสามสิบ (ลูกา 3:23) แต่ชาวยิวบางคนยังกะอายุของพระองค์ว่าใกล้ห้าสิบ (ยอห์น 8:57) ในยุคที่ช่วงชีวิตของผู้ชายอยู่ในราวๆ 35 ปีนั้น ชายที่มีอายุเข้าใกล้ 50 ปีจะถือว่าแก่ เหตุใดชาวยิวจึงคิดว่าพระเยซูทรงมีอายุใกล้ถึง 50 ในเมื่อพระองค์ทรงมีอายุราวๆ 30? จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงดูแก่กว่าอายุของพระองค์ ไม่มีพระกิตติคุณเล่มไหนบอกเลยว่าพระองค์สุขภาพไม่ดี หรือมีโรคที่ทำให้พระองค์ดูแก่กว่าปกติสำหรับวัยของพระองค์

      การดูสูงวัยที่ปรากฏกับพระเยซูอาจเผยถึงบางอย่างกับช่วงหลายปีก่อนที่พระองค์จะทรงทำพันธกิจต่อสาธารณชน เรารู้ว่าการทนทุกข์โดยเฉพาะการทนทุกข์ภายในนั้น สามารถทำให้คนแก่ลงได้อย่างรวดเร็ว การทนทุกข์อันหนักหน่วงของพระองค์ที่เกทเสมนีอยู่ในระดับลึกซึ่งเราเข้าใจได้ยาก แต่นี่ไม่ใช่เพียงโอกาสเดียวที่พระองค์ทรงทนทุกข์อย่างแน่นอน เรื่องของความเป็นความตายที่พระองค์เผชิญที่เกทเสมนีไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคย แต่เป็นจุดสูงสุดของการต่อสู้ตลอดชีวิตของพระองค์ และตอนนี้พระองค์กำลังจะ “ดื่มจากถ้วยนี้” (มัทธิว 20:22, ยอห์น 18:11)

      พระเยซูได้ตรัสไว้ก่อนหน้านี้ว่า “เพื่อจุดประสงค์นี้เอง เราจึงมาถึงช่วงเวลานี้” (ยอห์น 12:27) ภารกิจที่จะเป็นลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้าเพื่อเป็นเครื่องถวายบูชา จะต้องอยู่ในพระทัยของพระองค์ตั้งแต่ยอห์นผู้บัพติศมาประกาศเรื่องนี้ในตอนเริ่มต้นพันธกิจของพระเยซู  พระเยซูคงรู้ถึงบทบาทของพระองค์ก่อนหน้านี้ แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าทรงรู้มาก่อนหน้านี้นานเท่าไร ดังนั้นพระองค์คงต้องต่อสู้กับพระทัยปรารถนาของพระองค์เป็นเวลานานจนสุดท้าย พระองค์ก็ประกาศยอมรับว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” การทนทุกข์อย่างหนักหน่วงภายในใจและความคิดของพระองค์ไม่นานก่อนที่พระองค์จะเป็น “​​ผู้ทรงไม่มีบาป ถูกทำให้มีบาป” (2 โครินธ์ 5:21) นั้นแทบจะจินตนาการไม่ออก มันคงไม่ถูกต้องที่จะคิดเอาว่าการทนทุกข์ของพระองค์เพื่อความรอดของมวลมนุษย์จะจำกัดอยู่เฉพาะช่วงไม่กี่ชั่วโมงบนกางเขน หรือไม่กี่วันก่อนหน้านี้ แต่ตรงกันข้าม พระเยซูทรงผ่านการทนทุกข์มาตลอดชีวิต ไม่นับหลายปีก่อนที่พระองค์จะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุได้ 13 ปี

      ในทำนองเดียวกัน เราก็มีบทบาทในงานของความรอด โดยเดินตามรอยพระบาทของพระองค์และการสู้ทนที่ได้ทนทุกข์เพื่อ “​​​เห็นแก่พระกายของพระองค์คือคริสตจักร ซึ่งยังขาดอยู่นั้น” (โคโลสี 1:24) มิใช่หรือ? นี่ไม่ได้เป็นการเสนอแนะว่า การเป็นเครื่องถวายบูชาในการชดใช้ของพระคริสต์นั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่นั่นก็ไม่ได้ยกเลิกการทนทุกข์สำหรับพระกายของพระคริสต์ซึ่งก็คือคริสตจักรที่จะแบกรับต่อไป ในขณะที่เปาโลกล่าวว่าพระคริสต์ “ผู้ทรงเป็นลูกแกะปัสกาของเราถูกถวายบูชาแล้ว” (1 โครินธ์ 5:7) เขายังพูดถึงตัวของเขาเองว่า เขาถูก “เทดุจเครื่องดื่มบูชาลงบนเครื่องบูชาที่ท่านถวายเพราะความเชื่อ” (ฟีลิปปี 2:17) เปาโลกล่าวในบทก่อนหน้านี้ว่า

 

เพราะพระเจ้าทรงให้พระคุณแก่ท่านเพราะเห็นแก่พระคริสต์ ไม่ใช่ให้ท่านทั้งหลายเชื่อในพระองค์ เท่านั้น แต่ให้ทนทุกข์​​เพราะเห็นแก่พระองค์ด้วย ​​คือต่อสู้เหมือนอย่างที่ท่านได้เห็นข้าพเจ้าฝ่าฟันมาแล้ว และบัดนี้ท่านก็ได้ยินว่าข้าพเจ้ายังต่อสู้อยู่ (ฟีลิปปี 1:29-30)

 

      พระเยซูทรงเรียกให้เราแบกกางเขนของเราและติดตามพระองค์ไป (มัทธิว 16:24, มาระโก 8:34, ลูกา 9:23) เป็นการเรียกให้ทนทุกข์เพื่ออาณาจักรของพระเจ้า

 

พระคัมภีร์ส่วนใหญ่ไม่ได้สื่อไปที่งานของพระเจ้า ในการทำให้สมบูรณ์แบบในลูกา 13:32

 

แล้วพระองค์ก็ตรัสกับพวกเขาว่า “จงไปบอกหมาจิ้งจอกตัวนั้นว่า ‘ดูเถิด เราขับผีและรักษาโรคในวันนี้และวันพรุ่งนี้ แล้วในวันที่สามเราจะถูกทำให้สมบูรณ์’[37] (ลูกา 13:32 ฉบับ NKJV)

 

      ฉบับ KJV และ NKJV แปลคำพูดสุดท้ายของข้อนี้ได้อย่างถูกต้องว่า “เราจะถูกทำให้สมบูรณ์” คำว่า “ทำให้สมบูรณ์” ตรงนี้ (เป็นรูปกรรมวาจก[38]ของ teleioō, ทำให้สมบูรณ์) เป็นการกระทำโดยพระเจ้า โดยแสดงนัยว่า พระเจ้าเป็นผู้ทรงทำให้งานของพระองค์ในการทำให้สมบูรณ์แบบได้เสร็จสมบูรณ์ในพระเยซูที่กางเขน

      พระคัมภีร์สมัยใหม่จะแปล “เราจะถูกทำให้สมบูรณ์” เป็นอย่างอื่น โดยมักจะเปลี่ยนจากการกระทำโดยผู้อื่น มาเป็นผู้กระทำเสียเอง เช่น “เราก็จะเสร็จงาน” (ฉบับ ESV) หรือ “เราจะบรรลุเป้าหมาย” (ฉบับ NASB) หรือ “เราจะทำการให้สำเร็จ” (ฉบับ NJB) คำแปลเหล่านี้ไม่ได้สื่อความหมายการที่พระยาห์เวห์ทรงทำให้พระเยซูสมบูรณ์แบบโดยผ่านการทนทุกข์ (ฮีบรู 2:10) ซึ่งเป็นการละไว้ที่น่าเสียดาย เนื่องจากความตายของพระเยซูบนกางเขนนั้น เป็นจุดสูงสุดและเป็นจุดสมบูรณ์ของการทนทุกข์ของพระองค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ความสมบูรณ์แบบของพระองค์บรรลุผลและสำเร็จแล้ว

 

“ความเชื่อในพระเยซูคริสต์” หรือว่า “ความเชื่อของพระเยซูคริสต์” กันแน่?

      ในการค้นหาความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบของพระเยซูนั้น ไม่ช้าก็เร็ว เราก็ต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงที่เด่นชัดว่าบางครั้งเปาโลจะพูดถึง “ความเชื่อของพระเยซูคริสต์” นั่นก็คือ ความเชื่อที่พระเยซูคริสต์ทรงมี การใช้คำที่ผิดธรรมดานี้ขัดแย้งกับหลักความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่จะให้หมายความว่าพระเยซูทรงมีความเชื่อในพระเจ้า นี่คงเป็นไปไม่ได้ถ้าหากพระเยซูเองทรงเป็นพระเจ้าอย่างที่พระองค์เป็นในความเชื่อตรีเอกานุภาพ สิ่งนี้จะอธิบายได้ว่าทำไมพระคัมภีร์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพฉบับต่างๆ อย่างเช่น ฉบับ ESV จึงเลือกที่จะแปลถ้อยคำนี้เป็น “ความเชื่อในพระเยซูคริสต์”[39] แทนที่จะเป็น “ความเชื่อของพระเยซูคริสต์”

      สมัยที่เป็นนักศึกษา เมื่อผมเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น ผมได้สังเกตเห็นการแปลที่ผิดธรรมดาอยู่หลายข้อในพระคัมภ์ฉบับคิงเจมส์ (KJV) ว่า “ความเชื่อของพระเยซูคริสต์” (โรม 3:22, 3:26; กาลาเทีย 2:16, 3:22) หรือ “ความเชื่อของพระคริสต์” (กาลาเทีย 2:16, ฟีลิปปี 3:9) หรือ “ความเชื่อของพระบุตรของพระเจ้า” (กาลาเทีย 2:20) กาลาเทีย 2:16[40] ถูกระบุไว้สองครั้งตรงนี้เนื่องจากมีการปรากฏดังกล่าวสองครั้ง การแปลที่ผิดธรรมดาของฉบับ KJV นี้เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและคำแปลตรงตามภาษากรีก ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ได้แปลไว้อย่างถูกต้องเช่นกันในพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช (NET) พระคัมภีร์ยิวฉบับสมบูรณ์ (CJB) และพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานสากล (ISV) ต่อไปนี้คือข้อที่เกี่ยวข้องกันจากฉบับ KJV, NET และ CJB

 

      โรม 3:22              โดยความเชื่อของพระเยซูคริสต์ (ฉบับ KJV)

                                 ด้วยความเชื่อวางใจของพระเยซูคริสต์ (ฉบับ NET)

                                 ด้วยความเชื่อวางใจของเยชูวา พระเมสสิยาห์ (ฉบับ CJB)

       โรม 3:26              ผู้ชอบธรรมของพระองค์ที่เชื่อในพระเยซู

                                 คนที่มีชีวิตอยู่เพราะความเชื่อวางใจของพระเยซูคริสต์

                                 ชอบธรรมบนพื้นฐานความเชื่อวางใจของเยชูวา

       กาลาเทีย 2:16       โดยความเชื่อของพระเยซูคริสต์

       (ส่วนแรก)          โดยความเชื่อวางใจของพระเยซูคริสต์

                                 ด้วยความเชื่อวางใจที่วางใจได้ของเยชูวา พระเมสสิยาห์

       กาลาเทีย 2:16      โดยความเชื่อของพระคริสต์

       (ส่วนหลัง)          โดยความเชื่อวางใจของพระคริสต์

                                 บนพื้นฐานของความเชื่อวางใจที่วางใจได้ของพระเมสสิยาห์

       กาลาเทีย 2:20       ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่โดยความเชื่อของพระบุตรของพระเจ้า

                                 ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่เพราะความเชื่อวางใจของพระบุตรของพระเจ้า

                                 ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่โดยความเชื่อวางใจที่วางใจได้แบบเดียวกับพระบุตรของพระเจ้า

       กาลาเทีย 3:22       โดยความเชื่อของพระเยซูคริสต์

                                 เนื่องจากความเชื่อวางใจของพระเยซูคริสต์

                                 ความเชื่อวางใจที่วางใจได้ของเยชูวา พระเมสสิยาห์

       เอเฟซัส 3:12        โดยความเชื่อของพระองค์

                                 เนื่องจากความเชื่อวางใจของพระคริสต์

                                 ด้วยความเชื่อวางใจของพระองค์

       ฟีลิปปี 3:9            ด้วยความเชื่อของพระคริสต์

                                 โดยทางความเชื่อวางใจของพระคริสต์

                                 ด้วยความเชื่อวางใจของพระเมสสิยาห์

 

      การแปลตรงตามคำว่า “ความเชื่อของพระคริสต์” เรียกว่าสัมพันธการกเกี่ยวกับผู้กระทำ (เช่น มีพระคริสต์เป็นประธาน เป็นผู้ที่มีความเชื่อ) ในขณะที่ “ความเชื่อในพระคริสต์” เรียกว่าสัมพันธการกเกี่ยวกับผู้รับการกระทำ (พระคริสต์เป็นกรรมของความเชื่อ เป็นผู้ที่ถูกเชื่อ) ในเชิงอรรถเกี่ยวกับโรม 3:22 ของพระคัมภีร์ฉบับ NET ให้เหตุผลที่หนักแน่นในการเลือก “ความเชื่อของพระเยซูคริสต์” มากกว่า “ความเชื่อในพระเยซูคริสต์” คำอ้างอิงต่อไปนี้อาจอ่านข้ามได้

 

เป็นที่น่าสังเกตจากจำนวนข้อโต้แย้งเรื่องมุมมองสัมพันธการกเกี่ยวกับผู้กระทำก็คือ เมื่อ πίστις (pistis, “ความเชื่อ”) ใช้สัมพันธการกเฉพาะบุคคลนั้น ก็แทบไม่เคยใช้เป็นสัมพันธการกเกี่ยวกับผู้รับการกระทำ (เปรียบเทียบมัทธิว 9:2,22,29; มาระโก 2:5; 5:34; 10:52; ลูกา 5:20; 7:50; 8:25,48; 17:19; 18:42; 22:32; โรม 1:8,12; 3:3; 4:5,12,16; 1 โครินธ์ 2:5; 15:14,17; 2 โครินธ์ 10:15; ฟีลิปปี 2:17; โคโลสี 1:4; 2:5; 1 เธสะโลนิกา 1:8; 3:2,5,10; 2 เธสะโลนิกา 1:3; ทิตัส 1:1,เลโมน 6, 1 เปโตร 1:9,21; 2 เปโตร 1:5)

 

      คำอธิบายนี้อาจดูเหมือนเป็นวิชาการ แต่ประเด็นของมันตรงไปตรงมา ดูกรณีของมัทธิว 9:29 หนึ่งในหลายข้อที่ระบุไว้ตรงนี้ ในมัทธิว 9:29 พระเยซูตรัสกับคนตาบอดที่กำลังจะได้รับการรักษาให้หายว่า “ให้เป็นไปตามความเชื่อของพวกท่านเถิด” (“ความเชื่อของพวกท่าน”, pistin humōn, สัมพันธการกเฉพาะบุคคล) ความเชื่อที่กล่าวถึงนี้คืออะไรหรือ? เห็นได้ชัดว่าเป็นความเชื่อที่คนตาบอดมี (สัมพันธการกเกี่ยวกับผู้กระทำ) ไม่ใช่ความเชื่อที่คนอื่นมีกับคนตาบอดสองคนนี้ (สัมพันธการกเกี่ยวกับผู้รับการกระทำ) พูดอีกอย่างก็คือ คนตาบอดได้รับการรักษาจนหายบอด เพราะพวกเขาวางใจในพระเยซู ไม่ใช่เพราะผู้เห็นเหตุการณ์วางใจในคนตาบอด!

      เรื่องการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้จากมุมมองทางไวยากรณ์ ให้ดูหนังสือไวยากรณ์กรีกที่นอกเหนือจากพื้นฐานของดาเนียล วอลเลซ[41] หน้า 115-116 ซึ่งกล่าวว่า “การโต้แย้งทางไวยากรณ์เรื่องสัมพันธการกเกี่ยวกับผู้รับการกระทำนั้น แทบไม่มีคำแนะนำ” และ “การพิจารณาทางไวยากรณ์ดูเหมือนจะสนับสนุนสัมพันธการกเกี่ยวกับผู้กระทำ”

      สมัยที่ผมเป็นนักศึกษานั้น คำที่ผิดธรรมดาว่า “ความเชื่อของพระเยซูคริสต์” ในฉบับ KJV ได้ทิ้งข้อสงสัยไว้ในใจของผม แต่ในช่วงเวลานั้นยุ่งมาก ผมจึงต้องทิ้งไว้ตรวจสอบข้อสงสัยนี้ทีหลัง หลายปีต่อมามีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า ความเชื่อของพระเยซูคริสต์: บรรยายโครงสร้างพื้นฐานของกาลาเทีย 3:1-4:11 โดยริชาร์ด บี เฮส์[42] ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านพระคัมภีร์ใหม่จากวิทยาลัยศาสนศาสตร์ดุ๊ก[43] งานเขียนของเขาซึ่งโต้แย้งเรื่องความเชื่อของพระเยซูคริสต์นั้นดึงความสนใจของผมทันที[44]

      มีการตั้งข้อสังเกตว่าก่อนปี 1970 ประเด็นของ pistis Iēsou Christou เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่าหมายถึง “ความเชื่อในพระเยซูคริสต์” (สัมพันธการกเกี่ยวกับผู้รับการกระทำ) แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ นักวิชาการหลายคนแย้งว่ามันควรจะแปลตรงตามคำว่า “ความเชื่อ หรือ ความเชื่อวางใจของพระเยซูคริสต์” (สัมพันธการกเกี่ยวกับผู้กระทำ)[45] นักวิชาการท่านหนึ่งที่ตัวเขาเองชื่นชอบสัมพันธการกเกี่ยวกับผู้รับการกระทำได้ยอมรับว่า สัมพันธการกเกี่ยวกับผู้กระทำ (ความเชื่อของพระเยซูคริสต์) ได้กลายเป็นมุมมองส่วนใหญ่ในหมู่นักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่[46]

      ประเด็นไม่อยู่ที่ว่า พระเยซูทรงเป็นจุดหมายของความเชื่อที่ช่วยให้รอด (ซึ่งไม่ได้ถูกปฏิเสธ) แต่อยู่ที่ว่าพระเยซูเองทรงมีความเชื่อในพระเจ้าในงานการช่วยให้รอดของพระองค์ด้วยหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ “ใช่” การมีความเชื่อของผู้เชื่อก็จะเป็นการกระทำที่สำคัญที่สุดในการเดินรอยตามพระเยซู ที่ตัวพระองค์เองก็มีความเชื่อด้วย สิ่งสำคัญตรงนี้ก็คือ ความเชื่อไม่ใช่เพียงแค่การเชื่อในพระเยซูเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อร่วมกับพระเยซูด้วย ซึ่งเป็นวิธีการสำคัญที่เหมือนกันกับพระเยซูในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าและการแสวงหาความสมบูรณ์แบบ การมีความเชื่อจะผูกพันเราให้มีสามัคคีธรรมที่ลึกขึ้นกับพระเยซูเมื่อเราตามพระองค์ในฐานะสาวกของพระองค์ ความรอดไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อในพระคริสต์ตามข้อเชื่อ แต่เป็นการมีส่วนร่วมกับพระคริสต์ทั้งในความเชื่อของพระองค์และการทนทุกข์ของพระองค์ เพราะเราไม่เพียงถูกเรียกให้เชื่อในพระคริสต์เท่านั้น แต่ยังถูกเรียกให้ “​​ทนทุกข์​​เพื่อเห็นแก่พระองค์” ด้วย (ฟีลิปปี 1:29) และมีส่วนร่วม “สามัคคีธรรมในการทนทุกข์ของพระองค์” (3:10)

      แต่ปัญหาสำหรับผมเมื่อผมยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ ถ้าหากพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า พระเยซูก็ไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อเพราะตัวของพระองค์เองเป็นจุดหมายของความเชื่อ พระเยซูทรงเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ พระองค์จึงต้องมีความเชื่อไหม? เหตุใดส่วนที่เป็นมนุษย์ของ “พระเจ้าพระบุตร” จึงต้องมีความเชื่อในพระเจ้า ในเมื่อส่วนที่เป็นพระเจ้าของพระองค์ไม่ต้องมีความเชื่อ? มันเป็นความขัดแย้งที่สิ้นหวังเหมือนเช่นเดียวกับกรณีอื่นๆอีกมากมายในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ หลายประเด็นเหล่านี้ได้ถูกกล่าวถึงอย่างละเอียดในงานเขียนของเฮส์ แต่คนที่ไม่มีพื้นฐานการอบรมทางศาสนศาสตร์อาจพบว่าหนังสือของเขาอ่านยาก

      เนื่องจากพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ไม่จำเป็นต้องมีความเชื่ออย่างที่มนุษย์มี พระองค์จึงถูกปฏิเสธองค์ประกอบสำคัญที่สุดของชีวิตฝ่ายวิญญาณ ถ้าเช่นนั้นพระเยซูจะทรงถูกทดสอบเหมือนมนุษย์คนอื่นๆ “ทุกประการ” ได้อย่างไรในเมื่อการทดลองที่หนักหน่วงที่สุดของเราคือการทดสอบความเชื่อของเรา? ถ้าเช่นนั้นการทดสอบที่พระเยซูทรงสู้ทนในสวนเกทเสมนีคืออะไรหรือ หากไม่ใช่การทดสอบความเชื่อและการเชื่อฟัง? และเสียงร้องอันดังที่พระเจ้าทรงสดับฟังเพราะความเกรงกลัวพระเจ้าของพระองค์ล่ะ มันคืออะไร? แล้วความตายที่กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งทำให้พระองค์ยึดพระเจ้าไว้ด้วยความเชื่อ ที่เป็นความเชื่อของพระเยซูคริสต์ล่ะ?

 

      นการพิจารณาเกี่ยวกับความเชื่อ เราจำเป็นต้องมองเห็นความเชื่อมโยงภายในกับการเชื่อฟัง สิ่งนี้เผยให้เห็นจากเรื่องของการไม่เชื่อฟังของอาดัม ถ้าความตายเป็นผลที่ตามมาจากการไม่เชื่อฟังพระยาห์เวห์ แล้วเหตุใดอาดัมกับเอวาจึงไม่เชื่อฟังพระเจ้าทั้งๆที่รู้ถึงผลที่ตามมา (ปฐมกาล 3:3เว้นแต่ผลของต้นไม้ที่อยู่กลางสวนนั้น พระเจ้าตรัสว่า ห้ามพวกเจ้ากินและถูกต้องเลย มิฉะนั้นพวกเจ้าจะตาย”) อะไรที่สามารถอธิบายการกระทำของพวกเขาที่พวกเขาไม่เชื่อฟังคำของพระเจ้า? หากพวกเขาเชื่อพระเจ้า พวกเขาก็คงจะไม่กินผลไม้ที่ถูกห้ามไว้ แต่การที่พวกเขาเพิกเฉยต่อคำเตือนของพระเจ้าก็แสดงให้เห็นถึงการดูหมิ่นพระองค์และถือว่าพระองค์เป็นผู้ที่โกหกและผู้ที่อ่อนแอ พวกเขาจะไม่เชื่อพระเจ้าได้อย่างไร เพราะว่าพวกเขาไม่ได้โง่หรือไม่มีสติ? เห็นได้ชัดว่ามีผู้ที่ฉลาดพอที่จะโน้มน้าวพวกเขาได้ว่าพระเจ้าไม่ได้หมายความอย่างที่พระองค์ตรัส พวกเขาไม่เพียงแต่คิดว่าพวกเขาจะไม่ตาย แต่พวกเขายังจะเป็นเหมือนพระเจ้า คือรู้ความดีและความชั่ว (ปฐมกาล 3:4-5)[47] อาดัมกับเอวาก็ได้เชื่องู (มาร) และไม่ได้เชื่อฟังพระเจ้า

      นี่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อกันหรือความเชื่อมโยงภายในระหว่างการเชื่อฟังกับความเชื่อ และนั่นหมายถึงระหว่างการไม่เชื่อฟังกับความไม่เชื่อ อาดัมไม่เชื่อสิ่งที่พระเจ้าตรัสสั่งเขา แต่ได้เชื่อมาร ดังนั้นจึงมีผลที่ร้ายแรงตามมา ความตายของอาดัมไม่ได้เห็นในทันทีเพราะไม่ใช่การตายในทางร่างกาย

      แต่พระเยซูทรงเชื่อฟังพระเจ้าด้วยการเชื่อฟังอย่างแท้จริงซึ่งมีรากฐานมาจากความเชื่อ ในสมัยที่เราเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เรื่องความเชื่อของพระเยซูไม่ได้อยู่ในความนึกคิดของเราเลย เพราะถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า แล้วเหตุใดพระองค์จึงต้องมีความเชื่อ? หรือพระองค์จะต้องเชื่อฟังใคร? แต่ถ้าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ พระองค์ก็จะต้องเชื่อในพระเจ้าและเชื่อฟังพระองค์อย่างแน่นอน ถ้าหากความไม่เชื่อและการไม่เชื่อฟังของอาดัมทำให้มนุษย์ทุกคนต้องตาย ฉะนั้นความเชื่อและการเชื่อฟังของพระเยซูก็ทำให้ “คนจำนวนมาก​​เป็นคนชอบธรรม” (โรม 5:19)[48] ตรงนี้เราจึงเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของความเชื่อของพระเยซูคริสต์ แต่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ปิดบังความจริงนี้ไว้


[1] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ฉบับมาตรฐาน 2011 และฉบับ 1971 แปลว่า “ดีพร้อม” ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “ดีรอบคอบ” (ผู้แปล)

[2] พงศ์กษัตริย์15:14 แต่พระทัยของอาสาก็ภักดีแน่วแน่ต่อพระยาห์เวห์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[3] ปฐมกาล 2:17 “แต่ผลของต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่วนั้น ห้ามเจ้ากิน เพราะในวันใดที่เจ้ากิน เจ้าจะต้องตายแน่”

[4] อพยพ 19:5 บัดนี้หากเจ้าทั้งหลายเชื่อฟังเราอย่างหมดใจ และรักษาพันธสัญญาของเรา เจ้าก็จะเป็นกรรมสิทธิ์ล้ำค่าของเราจากประชาชาติทั้งปวงทั่วโลก ถึงแม้ทั้งโลกนี้เป็นของเรา (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[5] เลวีนิติ 11:44เราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า จงแยกตัวออกมาเพื่อเราและรักษาตนเองให้บริสุทธิ์ เพราะเราบริสุทธิ์ อย่าทำ​​ให้ตัวเองเป็นมลทินโดยแตะต้องสัตว์ที่เลื้อยคลานใดๆ” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[6] ยากอบ 3:2 “ถ้าใครไม่เคยทำผิดทางคำพูด คนนั้นก็เป็นคนดีพร้อมและสามารถบังคับทั้งตัวได้ด้วย

[7] Quarks คือชื่อเรียกอนุภาคมูลฐานที่เป็นหน่วยเล็กที่สุดของสสารตามทฤษฎีใหม่ขององค์ประกอบของสสาร

Neutrinosคืออนุภาคมูลฐานที่แยกให้เล็กกว่านี้ไม่ได้แล้ว ซึ่งมีอยู่ทั่วจักรวาลและเดินทางทะลุทุกสิ่งโดยไม่มีอะไรขวางกั้นได้  

[8] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “จงเป็นคนดีพร้อม เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม” (ผู้แปล)

[9] ลูกา 1:35 ทูตสวรรค์จึงตอบนางว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาเหนือเธอ และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ เพราะฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่เกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า”

[10] ยอห์น 3:5 พระเยซูตรัสว่า “ถ้าใครไม่ได้เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ คนนั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้”

[11] 1 ยอห์น 5:18 เรารู้ว่าทุกคนที่เกิดจากพระเจ้าไม่ทำบาป แต่พระองค์ผู้ทรงบังเกิดจากพระเจ้าทรงคุ้มครองรักษาเขา...

[12] Adolf Hitler

[13] ยอห์น 8:57 พวกยิวจึงทูลพระองค์ว่า “ท่านอายุยังไม่ถึงห้าสิบปี ท่านเคยเห็นอับราฮัมแล้วหรือ?

[14]รม 5:19 “เพราะการไม่เชื่อฟังของมนุษย์คนเดียว ทำให้คนเป็นอันมากเป็นคนบาปฉันใด การเชื่อฟังของมนุษย์คนเดียว ก็ทำให้คนเป็นอันมากเป็นผู้ชอบธรรมฉันนั้น” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[15] 2 โครินธ์ 12:7 “และเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวเกินไป เนื่องจากการสำแดงอันยิ่งใหญ่ ก็ทรงให้มีหนามในเนื้อของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นทูตของซาตานที่คอยโบยตีข้าพเจ้าเพื่อข้าพเจ้าจะไม่ยกตัวเกินไป

[16] ยากอบ 1:13 เพราะความชั่วไม่อาจล่อลวงพระเจ้าให้ทำบาป และพระองค์เองก็ไม่ล่อลวงผู้ใดเลย (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[17] hypostatic union หมายถึง การมีสองธรรมชาติอยู่ในบุคคลเดียวกันคือเป็นพระเจ้าและเป็นมนุษย์ (ผู้แปล)

[18] ฮีบรู 5:8 “ถึงแม้ว่าพระองค์เป็นพระบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังโดยการทนทุกข์ต่างๆ”

[19] ฮีบรู 5:9 และเมื่อพระเจ้าทรงทำให้พระเยซูเพียบพร้อมสมบูรณ์แล้ว พระเยซูจึงทรงเป็นแหล่งความรอดนิรันดร์สำหรับคนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์ (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[20] หัวข้อ Bar Mitzvah, Bat Mitzvah ในสารานุกรมยูเดคา เล่ม 3 หน้า 164 “คำนี้แสดงถึงทั้งการบรรลุวุฒิภาวะทางศาสนาและทางกฎหมาย รวมทั้งเป็นพิธียอมรับสถานะของเด็กชายชาวยิวอย่างเป็นทางการเมื่ออายุครบ 13 ปีกับอีกหนึ่งวัน... เมื่อถึงวัยนี้ชาวยิว จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหมด.. ตามข้อคิดเห็นของเอลีอาซาร์ บี สิเมโอน (ศตวรรษที่สองของคริสตศักราช) บิดาจะเป็นผู้รับ   ผิดชอบการกระทำของบุตรชายของเขาจนกระทั่งถึงอายุ 13 ปี ตัวอย่างเช่น คำสัตย์สาบานของเด็กชายอายุ 13 ปีบวกกับอีกหนึ่งวันถือเป็นคำสัตย์สาบานที่สมบูรณ์ (Nid.5:6) จากนั้นไปคนนั้นจะสามารถกระทำการที่มีผลทางกฎหมายได้ เช่น การซื้อและขายทรัพย์สิน”

[21] คำนี้ใช้ในฮีบรู 12:28 และสุภาษิต 28:14 เกี่ยวกับความเคารพและความเกรงกลัวของผู้เชื่อ สุภาษิต 9:10 กล่าวว่า “ความยำเกรงพระยาห์เวห์เป็นที่เริ่มต้นของปัญญา”

[22] Exegetical Dictionary of the New Testament

[23] โรม 3:18​​​​เขาไม่เคยคิดจะยำเกรงพระเจ้า

[24] anēr หมายถึง ผู้ชาย หรือสามี หรือผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ รูปกรรมการกของ anēr คือ andra (ผู้แปล)

[25] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่าความเป็นผู้ใหญ่ฉบับไทยคิงเจมส์และฉบับ 1971 แปลว่า “โตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่” (ผู้แปล)

[26] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “ผู้ที่สมบูรณ์แบบ” ฉบับ 1971 และฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว” (ผู้แปล)

[27] ฉลยธรรมบัญญัติ 18:13 “ท่านจงเป็นคนปราศจากตำหนิต่อพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน”

[28] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “ผู้ที่ดีพร้อม” (ผู้แปล)

[29] ฉบับมาตรฐาน 2011 กลับมาใช้ “พระยาห์เวห์” ตามภาษาฮีบรูดังเดิม

[30] 1 ยอห์น 4:8 “ผู้ที่ไม่รักก็ไม่รู้จักพระเจ้า เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก”

[31]รม 6:19 ข้าพเจ้ายกเอาตัวอย่างมนุษย์มาพูด เนื่องจากเนื้อหนังของท่านอ่อนกำลัง เพราะท่านเคยยกอวัยวะของท่านเป็นทาสของการโสโครกและของการบาปซ้อนบาปอย่างไร บัดนี้จงยกอวัยวะของท่านเป็นทาสของความชอบธรรม เพื่อการชำระให้บริสุทธิ์อย่างนั้น

[32] 2 โครินธ์ 13:4 เป็นความจริงที่ว่าพระองค์ทรงถูกตรึงตายบนไม้กางเขนในความอ่อนแอ กระนั้นพระองค์ก็ทรงพระชนม์อยู่โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า เช่นเดียวกัน พวกเราอ่อนแอในพระองค์ แต่โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า พวกเราจะมีชีวิตอยู่กับพระองค์เพื่อรับใช้พวกท่าน (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[33] C.K. Barrett, The Gospel According to St. John

[34] มัทธิว 26:36-45, มาระโก 14:32-41, ลูกา 22:39-44 (เปรียบเทียบยอห์น 18:1-12)

[35] ลูกา 22:43 มีทูตองค์หนึ่งจากฟ้าสวรรค์มาปรากฏต่อพระองค์และช่วยชูกำลังพระองค์

[36] Heilsgeschichte

[37] พระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยต่างๆ แปลว่า “จะเสร็จงาน”, “ทำการให้สำเร็จ” และ “บรรลุเป้าหมาย” (ผู้แปล)

[38] Passsive รูปแบบที่กระทำโดยคนอื่น

[39] พระคัมภีร์ภาษาไทยทุกฉบับแปลว่า “ความเชื่อในพระเยซูคริสต์” (ผู้แปล)

[40] Knowing that a man is not justified by the works of the law, but by the faith of Jesus Christ, even we have believed in Jesus Christ, that we might be justified by the faith of Christ, and not by the works of the law: for by the works of the law shall no flesh be justified.” (Galatians 2:16 KJV)

[41] Daniel Wallace’s Greek Grammar Beyond the Basics

[42] The Faith of Jesus Christ: The Narrative Substructure of Galatians 3:1-4:11, by Richard B. Hays

[43] Duke Divinity School

[44] ดูหนังสือ “ความเชื่อของพระเยซู: ข้อโต้แย้งเรื่อง The Pistis Christou, ไมเคิ้ล เอฟ เบิร์ด และเพรสตัน เอ็ม สปริงเคิล ผู้รวบรวม 17 ข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง และดู “2 โครินธ์ 4:13: พยานหลักฐานในเปาโลที่พระคริสต์ทรงเชื่อ,” ดักลาส เอ แคมป์เบลล์, เจบีแอล, เล่ม 128, ฉบับ 2, 2009 หน้า 337–356

[45] Commentary on the NT Use of the OT, on Galatians 2:16

[46] ความเชื่อของพระเยซู: ข้อโต้แย้งเรื่อง The Pistis Christou, หน้า 34 อีกทั้งไวยากรณ์กรีกที่นอกเหนือจากพื้นฐาน, หน้า 115 “มีนักวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆรับรองตัวบทเหล่านี้ว่าเกี่ยวข้องกับสัมพันธการกเกี่ยวกับผู้กระทำ (ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘ความเชื่อของพระคริสต์’ หรือ ‘ความเชื่อวางใจของพระคริสต์’)”

[47] ปฐมกาล 3:4-5 งูจึงพูดกับหญิงนั้นว่า “พวกเจ้าจะไม่ตายแน่ เพราะพระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า พวกเจ้ากินผลจากต้นไม้นั้นวันใด ตาของพวกเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น แล้วพวกเจ้าจะเป็นเหมือนอย่างพระเจ้า คือรู้ความดีและความชั่ว”

[48] รม 5:19 เพราะว่าคนจำนวนมากเป็นคนบาป เพราะคนคนเดียวที่ไม่เชื่อฟังอย่างไร คนจำนวนมากก็เป็นคนชอบธรรม เพราะพระองค์ผู้เดียวที่ได้ทรงเชื่อฟังอย่างนั้น