บทที่ 1

 chapter symbol

 

 

ความหมายของการมอบ

ในพระคัมภีร์

 

     ชีวิตคริสเตียนไม่ได้มีไว้สำหรับคนที่ใจไม่สู้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับคำถามที่ยากซึ่งต้องการคำตอบที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำตอบเพียงผิวเผิน เราจะรับชีวิตนิรันดร์ได้อย่างไรหรือ? หรือรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้ามีจริง? หรือจะดำเนินชีวิตอย่างคริสเตียนแท้ได้อย่างไร? หรือจะตายต่อบาปอย่างไร?

     เราจะเห็นว่าในพระคัมภีร์นั้น คำตอบคำถามเหล่านี้เชื่อมโยงกับการมอบของเราต่อพระเจ้า

     ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วในคำนำว่า คริสเตียนที่ไม่ยอมมอบต่อพระเจ้าก็เหมือนกับทหารที่ไม่จงรักภักดีต่อประเทศของตน หรือสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ใส่ใจครอบครัวของตนเอง ชีวิตคริสเตียนที่ไม่มีการมอบนั้นก็ดำเนินไปต่อไม่ได้

     การมอบไม่ใช่สิ่งที่ทำอย่างไม่เต็มใจ แต่เป็นการตอบสนองอย่างทั้งหมดต่อพระเจ้า เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดถึงการมอบ ถ้าคนนั้นไม่มีความตั้งใจจะมอบต่อพระเจ้าแมแต่น้อย จุดมุ่งหมายของเราในหนังสือเล่มนี้ก็เพื่อให้มีการตอบสนองอย่างกระตือรือร้นต่อพระเจ้า มากกว่าจะเพิ่มพูนความรู้ของเราเกี่ยวกับพระองค์ เรามุ่งหมายที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงชีวิตในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า และสำหรับพวกคุณที่ได้มีการมอบไปแล้ว ผมหวังว่าอุปสรรคใดๆที่ยังเหลืออยู่ระหว่างคุณกับพระเจ้าจะถูกขจัดออกไป ผมจะให้หนังสือเล่มนี้อยู่บนรากฐานของพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระวจนะของพระเจ้า ไม่ใช่ตามความคิดเห็นของมนุษย์

 

การมอบเพียงบางส่วนนั้นแย่กว่าการไม่ได้มอบ

     คริสเตียนจำนวนมากต้องดิ้นรนในชีวิตคริสเตียนปีแล้วปีเล่า เพราะเจออุปสรรคด้วยการมอบต่อพระเจ้าเพียงบางส่วน ในกรณีส่วนใหญ่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไม่มีการมอบ แต่อยู่ที่การมอบเพียงบางส่วน แต่ตามพระคัมภีร์แล้ว การมอบเพียงบางส่วนนั้นแย่ยิ่งกว่าการไม่ได้มอบ พระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้าตรัสว่า

เรา​รู้​​ความ​ประ​พฤติ​ของ​เจ้า ​เจ้า​ไม่​เย็น​หรือ​ไม่​ร้อน เรา​อยาก​ให้​เจ้า​เย็น​หรือ​ร้อน! เพราะ​ว่า​เจ้า​เป็น​แต่​อุ่นๆ ไม่​ร้อนหรือไม่​เย็น เรา​จะ​บ้วน​เจ้า​ออก​จาก​ปาก​ของ​เรา (วิวรณ์ 3:15-16 ฉบับ ESV)

    “เย็น” หมายถึงว่า คุณหันหลังให้พระเจ้าไปเลย แต่ในความคิดของพระเยซูนั้น นั่นไม่ได้แย่เท่ากับการที่ “อุ่นๆ” ซึ่งไม่เอาทางใดทางหนึ่ง คุณอาจให้กับพระเจ้า 80 เปอร์เซ็นต์ และให้กับโลก 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ความจริงอยู่ที่ว่าแม้จะให้กับพระเจ้าตั้ง 95 เปอร์เซนต์ก็ยังดีไม่พอสำหรับพระเจ้า พระองค์ทรงเรียกร้องที่เราจะต้องมอบทั้งหมด

     คริสเตียนจำนวนมากไม่ได้ก้าวหน้าในชีวิตคริสเตียนเลย นั่นก็เพราะการมอบที่ไม่หมดใจ พวกเขาไม่มีประสบการณ์กับความชื่นชมยินดีและสันติสุขในชีวิตคริสเตียน และพวกเขาไม่สามารถจะสื่อสารกับพระเจ้าได้ เพราะพระองค์ไม่ทรงฟังคำอธิษฐานของพวกเขา ปัญหาก็คือว่าพวกเขายังไม่ได้มีการมอบ พวกเขาไม่ได้มอบทั้งหมดกับพระเจ้า

     เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจอย่างแท้จริงบนพื้นฐานของพระวจนะของพระเจ้าว่า ถ้าไม่มีการมอบทั้งหมด ก็เป็นไม่ได้ที่จะดำเนินชีวิตคริสเตียนได้เลย นี่ไม่ใช่เรื่องของทฤษฎี แต่เป็นเรื่องของความเป็นจริง ถ้าคุณไม่ได้ยอมมอบกับพระเจ้า คุณจะพบว่าชีวิตคริสเตียนของคุณก็จะดำเนินไปต่อไม่ได้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงตอบคำอธิษฐานของคุณ ก็แสดงว่ามีบางสิ่งที่ต้องจัดการกับการมอบของคุณ แม้แต่ในหมู่ของผู้ทำงานรับใช้เต็มเวลา ก็ยังมีบางคนที่มีปัญหาเรื่องการมอบ และนี่มักจะเป็นสิ่งที่พวกเขารู้ตัวหลังจากเข้ามาอยู่ในงานรับใช้เต็มเวลาแล้ว มันเป็นสถานการณ์ที่น่าสลดใจที่เป็นอย่างนั้น เพราะคุณอาจทิ้งทุกสิ่งในโลกออกมารับใช้พระเจ้า แต่พบว่าตัวเองขาดความชื่นชมยินดี ขาดพลังฝ่ายวิญญาณ และขาดสามัคคีธรรมกับพระเจ้า

 

เราจะพบการมอบได้ที่ไหนในทุกวันนี้?

     เรื่องของการมอบนี้มีสอนอยู่ทุกที่ในพระคัมภีร์ ไม่ว่าจะแบบอ้อมๆหรือแบบตรงๆ ถ้าเราเอาเรื่องของการมอบออกไปจากพระคัมภีร์ ก็จะไม่เหลือพระคัมภีร์ให้เราอ่าน เพราะการมอบเป็นหัวใจสำคัญของความ สัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า

     เมื่อผมยังเป็นคริสเตียนใหม่ๆ ในประเทศจีนนั้น ไม่เคยมีใครบอกเรื่องการมอบกับผมเลย อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อได้เปรียบที่ช่วงเวลาที่การมาเป็นคริสเตียนเป็นเรื่องที่อันตราย และเมื่อบรรดาศิษยาภิบาลของเราได้ถูกส่งไปอยู่ในค่ายแรงงาน เรารู้ดีว่าถ้าไม่มีการมอบ ชีวิตคริสเตียนของเราก็จะไปไม่รอด ดังนั้นการมอบต่อพระเจ้าจึงไม่ใช่สิ่งที่คริสตจักรต้องอธิบายอย่างชัดเจน

     เมื่อผมมาถึงฮ่องกงในเวลาต่อมา ผมคิดในใจว่า “ดีเหลือเกิน ที่ได้อยู่ในสังคมที่มีเสรีภาพ ที่ผมสามารถนมัสการพระเจ้าในโบสถ์ได้ และหาซื้อพระคัมภีร์ที่ร้านหนังสือได้” แต่เมื่อผมเริ่มไปโบสถ์ในฮ่องกง ผมได้แต่เห็นว่าชีวิตจิตวิญญาณพวกคริสเตียนได้ตายแล้ว ผมใจหาย ผมพูดกับตัวเองว่า “นี่หรือเสรีภาพ? คริสเตียนเหล่านี้ ไม่มีชีวิตในพวกเขาเลย! ผมไม่สามารถจะพูดคุยเรื่องลึกๆที่เกี่ยวกับพระเจ้ากับพวกเขาได้ หรือแม้แต่เรื่องพื้นๆ เมื่อผมพูดเรื่องพระเจ้า พวกเขาก็มองผมอย่างงงๆยังกับว่าผมมาจากนอกโลกอย่างนั้นแหละ หลังจากได้ยินประสบการณ์ของผมเกี่ยวกับการอัศจรรย์ของพระเจ้า พวกเขาจะพูดกับผมว่า “เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในหนังสือกิจการ คุณเพิ่งออกมาจากศตวรรษแรกหรือ?” ผมคิดในใจว่า “เกิดอะไรขึ้นที่นี่หรือ? ผมไม่สามารถแม้แต่จะสามัคคีธรรมกับพี่น้องคริสเตียนของผมได้”

     เมื่อเวลาผ่านไป ขณะที่ผมฟังคำเทศนาที่โบสถ์ ผมก็เริ่มมองเห็นความเฉยเมยกับเรื่องสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า เมื่อผมพูดคุยกับศิษยาภิบาลบางคน ผมรู้สึกว่าผมกำลังพูดอยู่กับนักธุรกิจที่สนใจรายได้ของคริสตจักรหรือทรัพย์สินของคริสตจักรมากกว่าความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับพระเจ้า พวกเขาคิดแต่หาวิธีเพิ่มความสะดวกสบายของคริสตจักรและหาทุนเพื่อขยายองค์กรตลอดเวลา เหมือนกับบริษัทธุรกิจที่พยายามขยายแผนการตลาด ผมรู้สึกไม่สบายใจและสงสัยว่าอะไรคือปัญหา

     ผมไม่สามารถระบุได้อยู่สักพักว่าอะไรคือปัญหา แต่เมื่อผมเริ่มรอคอยคำตอบจากพระเจ้าและตรวจสอบว่าพระคัมภีร์พูดถึงเรื่องนี้อย่างไร ผมจึงเริ่มเห็นว่าต้นตอของปัญหาก็คือการขาดการมอบ ผู้คนในสังคมที่เสรีนั้นไม่สนใจที่จะยอมมอบกับพระเจ้า ผลของการที่ในคริสตจักรไม่ได้สอนเรื่องการมอบ เราจึงมีแต่คริสตจักรที่ตายแล้วอยู่รอบตัวเรา เมื่อใดที่ผมพูดเรื่องของการมอบนี้ มีหลายคนจะพูดกับผมว่า “ราคาของการมอบนั้นสูงเกินไป ถ้าคุณสอนเรื่องนี้ ก็จะไม่มีใครมาโบสถ์ หรือมาเป็นคริสเตียนกันหรอก” ผมจะพูดว่า “แต่เรื่องการมอบนั้นมีสอนอยู่ทุกที่ในพระคัมภีร์”

     ตอนนี้ให้เรามาพิจารณาพระคัมภีร์เพื่อดูว่าพระคัมภีร์พูดอะไรเกี่ยวกับการมอบ อย่ารับสิ่งที่ผมพูดจากความคิดเห็นใดๆของมนุษย์ แต่จงดูด้วยตัวคุณเองว่าพระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับการมอบ

 

พระเจ้าที่เรายอมมอบนั้นคือใคร?

     พระคัมภีร์ไม่ได้สอนแค่การมอบ แต่เป็นการมอบทั้งหมด การมอบเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า บางครั้งมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์ และบางครั้งก็ระบุอ้อมๆในข้อต่างๆที่จะเข้าใจได้ก็เมื่อเกี่ยวข้องกับการมอบเท่านั้น

     เราจะเริ่มต้นด้วยข้อความที่สำคัญจากพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู นั่นก็คือ เช-มา[1] จากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-5

4Hear, O Israel: The Lord our God, the Lord is one. 5You shall love the Lord your God with all your heart, with all your soul, and with all your strength

4จงฟังเถิด คนอิสราเอลเอ๋ย องค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา องค์ผู้เป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่ง 5ท่าน​จง​รัก​องค์ผู้เป็นเจ้าพระ​เจ้า​ของ​ท่าน​ด้วย​สุด​จิต ​สุด​ใจ ​และ​สุดกำลังของท่าน

     การมอบต่อพระเจ้าอย่างทั้งหมดตรงนี้ เห็นได้จากความรักที่มีต่อพระเจ้าอย่างทั้งหมด เราต้องรักองค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา ด้วยใจทั้งหมดของเรา จิตวิญญาณทั้งหมดของเรา กำลังทั้งหมดของเรา คำ “ทั้งหมด” สามครั้งครอบคลุมความทุ่มเททั้งหมด (ทั้งหมดหัวใจของคุณ) ตัวทั้งหมด (จิตวิญญาณทั้งหมดของคุณ) การกระทำทั้งหมด (กำลังทั้งหมดของคุณ)

     แล้วใครคือองค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา ที่เราจะต้องรักด้วยใจทั้งหมดของเรา? ตรงนี้คำว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ภาษาอังกฤษพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เล็ก ซึ่งเป็นแบบแผนในการพิมพ์ที่ใช้ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษเพื่อบ่งชี้ว่าคำภาษาฮีบรูดั้งเดิมคือ YHWH (ยหวห) หรือ Yahweh (ยาห์เวห์)

     ดังนั้นเราจะต้องมอบต่อพระยาห์เวห์! เราจะต้องรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของเราด้วยสุดใจของเรา สุดจิตของเรา สุดกำลังของเรา จงสังเกตการแปลเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-5 ต่อไปนี้ในพระคัมภีร์ฉบับนิวเยรูซาเล็ม[2] และการคงพระนาม “ยาห์เวห์” ไว้

จงฟังเถิด คนอิสราเอล พระ​ยาห์​เวห์พระเจ้าของเราทรงเป็นหนึ่ง พระ​ยาห์​เวห์เท่านั้น ท่านจะต้องรักพระ​ยาห์​เวห์พระ​เจ้า​ของ​ท่าน​ด้วย​​จิตทั้งหมดของท่าน ด้วยใจทั้งหมดของท่าน ​และ​ด้วย​กำลังทั้งหมดของท่าน (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-5 ฉบับนิวเยรูซาเล็ม)

พระยาห์เวห์คือใครกันแน่?

     ในการ​พิจารณาดูว่า​พระ​ยาห์​เวห์​คือ​ใคร โปรด​ดู​หมายเหตุ​เพิ่มเติมใน​ท้าย​บท​นี้ ต่อไปนี้คือข้อสรุปในเจ็ดประเด็น

  • “ยาห์เวห์” คือพระนามส่วนตัวของพระเจ้า
  • “ยาห์เวห์” เป็นชื่อเรียกดั้งเดิมของพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู
  • “ยาห์เวห์” เป็น​ชื่อ​เฉพาะ​ซึ่ง​ไม่​เคย​หมาย​ถึง​พระเทียม​เท็จ
  • พระยาห์เวห์ เป็นพระเจ้าองค์เดียวและเพียงผู้เดียว
  • พระยาห์เวห์ เป็นผู้สร้างจักรวาลแต่เพียงผู้เดียว
  • พระยาห์เวห์ เป็นพระเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ
  • พระยาห์เวห์ เป็นพระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์

 

 

การรักด้วยทั้งหมดของตัวเรา

     เมื่อได้ดูเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-5 แล้ว ตอนนี้เราได้ขยายความให้รวมถึงข้อ 6 และ 7 ด้วย เพื่อให้เห็นระดับของการมอบของเราต่อพระเจ้า

จงฟังเถิด คนอิสราเอล องค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา องค์ผู้เป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่ง ท่าน​จง​รัก​องค์ผู้เป็นเจ้าพระ​เจ้า​ของ​ท่าน​ด้วย​สุดใจของท่าน​และด้วยสุดจิตของท่าน ​และ​ด้วยสุดกำลังของท่าน และจงให้ถ้อยคำที่ข้าพเจ้าบัญชาท่านในวันนี้อยู่ในใจของท่าน ท่านจงหมั่นสั่งสอนถ้อยคำเหล่านั้นแก่บุตรหลานของท่าน และจงพูดถึงถ้อยคำเหล่านั้นเมื่อท่านนั่งอยู่ในบ้านของท่าน เมื่อท่านเดินไปตามทาง และเมื่อท่านนอนลง และเมื่อท่านลุกขึ้น (เฉลยธรรมบัญญัติ 6: 4-7 ฉบับ ESV)

     ไม่ว่าคุณจะหลับหรือตื่น จะนั่งหรือเดิน จะอยู่ในหรือนอกบ้าน คุณจะต้องรักองค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของคุณด้วยสุดใจของคุณ ด้วยสุดจิตของคุณ ด้วยสุดกำลังของคุณ นี่คือความรักทั้งหมดและการมอบทั้งหมด และได้กล่าวซ้ำในเฉลยธรรมบัญญัติ 11:13

ถ้าท่าน​​เชื่อฟังพระบัญชา​​ซึ่งข้าพเจ้าแจ้งท่านไว้ในวันนี้อย่างซื่อสัตย์ ให้รักองค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์ด้วยสุดใจของท่านและด้วยสุดจิต​​ของท่าน (ฉบับ NIV)

     สิ่งนี้ยืนยันอีกครั้งโดยพระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้าในมัทธิว 22:37 ว่า

และพระเยซูตรัสกับเขาว่า “ท่านจงรักองค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านและด้วยสุดจิต ของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน”

     ด้วยเหตุนี้ ทั้งในพระคัมภีร์เดิมและในพระคัมภีร์ใหม่ การมอบทั้งหมดจึงเห็นได้จากการรักองค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา (พระยาห์เวห์) ด้วยทั้งหมดของเรา

 

คำว่า “มอบ” มีอยู่ในพระคัมภีร์จริงหรือ?

     คำว่า “มอบ” หรือ “การมอบ” นี้พบได้ในพระคัมภีร์ไหมหรือว่าเราแค่คิดขึ้นมาเอง? ก่อนตอบคำถามนี้ เราก็ทราบว่าการไม่ปรากฏคำในพระคัมภีร์ก็ไม่ได้หมายความว่าคำนั้นไม่ถูกต้องตามพระคัมภีร์ ความคิดบางอย่างในพระคัมภีร์จะถูกสื่อด้วยถ้อยคำที่ไม่มีปรากฏในพระคัมภีร์ ตัวอย่างคือคำว่า พิธีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหมายถึงการบัพติศมาและอาหารมื้อสุดท้ายขององค์ผู้เป็นเจ้าที่รู้จักกันว่าพิธีมหาสนิท

     อีกตัวอย่างหนึ่งคือคำว่า “การชดใช้” คำที่หมายถึงสิ่งที่ทำสำเร็จโดยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ที่พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อชดใช้ หรือจ่ายชดใช้ให้กับความผิดบาปของเราเพื่อให้เราคืนดีกับพระเจ้า คำนี้มีปรากฏเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในพระคัมภีร์ใหม่ในโรม 5:11 ของฉบับคิงเจมส์[3] ข้อซึ่งพระคัมภีร์สมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะใช้คำว่า “การคืนดี” แต่ไม่ว่าจะใช้คำว่า “การชดใช้” หรือไม่ก็ตาม มันก็ยังแสดงให้เห็นความจริงถึงสิ่งที่ได้กระทำสำเร็จเพื่อเราบนกางเขน

     แต่การมอบไม่ได้จัดอยู่ในประเภทเดียวกับ พิธีศักดิ์สิทธิ์ หรือ การชดใช้ เพราะที่จริงคำว่า การมอบ เป็นคำที่ใช้หลายครั้งในพระคัมภีร์ที่เกี่ยวกับพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ในสดุดี 31:5 ของพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ที่กล่าวว่า “ข้าพระองค์มอบจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ ข้าแต่พระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งความจริง พระองค์ทรงไถ่ข้าพระองค์แล้ว”[4] เมื่อพระเยซูกำลังจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์ได้ตรัสว่า ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์มอบจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”[5] (ลูกา 23:46) การมอบจิตวิญญาณของคนๆหนึ่งต่อพระเจ้า ก็คือการมอบตัวคุณเองทั้งหมดกับพระองค์

     สุภาษิต 16:3 กล่าวว่า จงมอบงานของเจ้าไว้กับพระเจ้า แล้วแผนงานของเจ้าจะได้รับการสถาปนา” จงมอบงานของคุณและความเพียรพยายามของคุณไว้กับพระเจ้า เพื่อว่าพระองค์จะทรงทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์

     ด้วยเหตุนี้ คำว่า “มอบ” ไม่ได้อยู่ในจำพวกคำเช่น พิธีศักดิ์สิทธิ์ หรือ การชดใช้ ในแง่ของการมีหรือไม่มีในพระคัมภีร์ ในทางตรงกันข้าม มีการใช้คำว่า “มอบ” หลายครั้งในพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเจ้า

     “ดังนั้น ขอให้คนทั้งหลายที่ทนทุกข์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า มอบวิญญาณจิตของตนไว้กับพระองค์ในการทำความดี เหมือนทำถวายแด่พระผู้สร้างที่สัตย์ซื่อ” (1 เปโตร 4:19 ฉบับนิวคิงเจมส์[6]) คำภาษากรีกสำหรับจิตวิญญาณ ยังหมายถึงชีวิตอีกด้วย การรักษาจิตวิญญาณของคุณก็คือการรักษาชีวิตของคุณ การสูญเสียจิตวิญญาณของคุณก็คือการสูญเสียชีวิตของคุณ การมอบจิตวิญญาณของคุณต่อพระเจ้าก็คือการมอบชีวิตของคุณต่อพระเจ้า

     ที่จริงนี่คือหลักการของความเชื่อตามพระคัมภีร์ ในการมอบตัวของเราต่อพระเจ้า ความเชื่อไม่ใช่แค่การเชื่อในหลักคำสอนบางอย่างเท่านั้น แต่เป็นการมอบตัวของคุณต่อพระเจ้าด้วย การเชื่ออย่างสุดใจของคุณว่าลิฟต์จะสามารถพาคุณขึ้นไปได้นั้น แตกต่างจากการที่คุณก้าวเข้าไปในลิฟต์จริงๆ ถ้าคุณไม่ก้าวเข้าไปในลิฟต์คุณก็จะไม่ได้ขึ้นไปแม้คุณจะเชื่ออย่างสุดใจของคุณว่ามันจะพาคุณขึ้นไปได้ คุณจะต้องเดินเข้าไปในลิฟต์และฝากตัวคุณเองไว้ในลิฟต์ ในพระคัมภีร์นั้น การฝากก็คือการไว้วางใจ “เข้าไปใน” สิ่งนั้น เมื่อคุณฝากตัวคุณเองกับลิฟต์ คุณจะก้าวเข้าไปในลิฟต์และให้ลิฟต์พาคุณขึ้นไป

     ในทำนองเดียวกัน คุณจะไม่ได้รอดเพียงเพราะเชื่อว่าพระเจ้าทรงสามารถช่วยคุณให้รอดได้ ซาตานก็ยังเชื่อด้วยว่าพระเจ้าทรงมีแผนการในการช่วยให้รอด แต่นั่นไม่ได้ทำให้มันรอดได้ พวกผีเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว แต่พวกมันก็กลัวจนตัวสั่น (ยากอบ 2:19)[7] การที่จะได้รับความรอดนั้นคุณจะต้องเชื่อในพระเจ้าในลักษณะที่มอบตัวหรือมอบฝากตัวคุณเองกับพระองค์

     ในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ “มอบฝาก” คือคำที่ใช้ใน 1 เปโตร 4:19 (ได้อ้างอิงแล้ว) และใช้ในข้ออื่นๆ เช่น 1 ทิโมธี 1:18 และ 2 ทิโมธี 1:12 และ 2 ทิโมธี 2:2 พระเยซูได้ทรงมอบตัวพระองค์เองต่อพระเจ้าพระบิดาของพระองค์ ทรงมอบฝากจิตวิญญาณของพระองค์ไว้กับพระบิดา เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานและทรงสิ้น พระชนม์เพื่อเรา

เมื่อเขากล่าวคำสบประมาทอย่างหยาบคายต่อพระองค์ พระองค์ก็ไม่ได้ทรง​​ตอบโต้ เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ พระองค์ก็ไม่ได้ทรงขู่อาฆาต แต่ทรงมอบฝากพระองค์เองไว้กับพระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม (1 เปโตร 2:23 ฉบับ NIV)

 

 

เรื่องราวของอดีตอันธพาล

     ตอนนี้เราจะขยับจากการใช้อย่างชัดเจนมาเป็นการใช้คำ “มอบ” อย่างเป็นนัย คำตรัสแรกที่พระเยซูได้ทรงสั่งสอนเมื่อเริ่มพันธกิจของพระองค์หลังจากทรงรับบัพติศมาคือ “จงกลับใจใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว 4:17)

     คำภาษากรีกสำหรับ “กลับใจใหม่” ในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนใจ การเปลี่ยนความคิด การเปลี่ยนท่าที การกลับใจใหม่คือการหันกลับชีวิตของคุณ คุณกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางหนึ่ง ตอนนี้คุณหันกลับ

     แต่ว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะกลับใจใหม่โดยไม่ต้องมีการมอบ? นี่คือสิ่งที่ผมหมายถึงการมอบที่ “บอกเป็นนัย” คำว่า “การมอบ” อาจไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน แต่ถ้าไม่มีการมอบ ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือกลับใจใหม่ได้ เราไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนเพียงผิวเผิน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลอย่างมากจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง

     ผมได้ยินคำพยานของอดีตอันธพาลในชิคาโกที่บอกเล่าว่า การกลับใจใหม่และการมาเป็นคริสเตียนมีความหมายกับเขาอย่างไร การทิ้งชีวิตอันธพาลของเขาจะทำให้เขาตกอยู่ในอันตรายเป็นอย่างแรกจากการถูกตามฆ่า แก๊งเก่าของเขาต้องการให้เขาตายเพราะเขารู้ความลับของแก๊งมากเกินไป เขาสามารถจะเดินเข้าไปในสถานีตำรวจแห่งใดก็ได้และแจ้งชื่อของกลุ่มอันธพาลตั้งแต่พวกลิ่วล้อไปจนถึงหัวหน้าแก๊ง

     ประการที่สอง เนื่องจากเขาได้เงินและทรัพย์สินมาจากอาชญากรรม การกลับใจใหม่จึงหมายถึงการคืนทุกสิ่งให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

     สุดท้ายแล้ว การกลับใจใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย อดีตอันธพาลคนนี้ได้กลับใจใหม่อย่างที่เขาทำโดยไม่ได้มีการมอบได้หรือ? เขาเอาชีวิตของเขามาแขวนไว้บนเส้นด้าย เขาขายทุกสิ่งที่เขามีและพยายามคืนทุกบาททุกสตางค์จนไม่เหลืออะไรเลย

     สำหรับพวกเราส่วนใหญ่แล้ว การมาเป็นคริสเตียนไม่ใช่เรื่องที่ตื่นเต้นน่าเร้าใจนัก แต่ไม่ว่าสถานการณ์ของเราจะเป็นอย่างไร เราก็ยังคงต้องเปลี่ยนแปลงวิถีทางของเราเอง ในทุกกรณีของการกลับใจใหม่นั้น จำเป็นต้องมีการมอบเพราะถ้าไม่มีการมอบ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง

     ถ้าหากเราไม่เต็มใจที่จะมอบต่อพระเจ้า เราก็ไม่ควรพูดถึงการกลับใจใหม่ ไม่เช่นนั้น เราจะทำให้มันเป็นคำเปล่าๆที่ไร้ความหมาย เรามักจะนึกถึงการกลับใจใหม่ในแง่ของความรู้สึกเสียใจต่อบาปของตนเอง แต่นั่นไม่ใช่ความหมายตามพระคัมภีร์ของการกลับใจใหม่ การกลับใจใหม่ที่แท้จริงเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในใจและความคิดอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเสียใจ อดีตอันธพาลรู้สึกมากกว่าเสียใจเมื่อเขาเอาชีวิตของเขามาแขวนไว้บนเส้นด้าย อันที่จริงครั้งหนึ่งแก๊งนั้นก็พยายามจะฆ่าเขา เขาขายทุกสิ่งที่เขามีและหมดเนื้อหมดตัว การมาเป็นคริสเตียนทำให้เขาต้องสูญเสียทุกสิ่ง มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้การมอบอย่างทั้งหมด

 

การมอบและอาณาจักรของพระเจ้า

     ตอนนี้เราจะพูดถึงเรื่องอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระคัมภีร์ใหม่และคำสอนของพระเยซู คุณสามารถจะประกาศเรื่องอาณาจักรของพระเจ้าได้ไหมโดยที่ไม่ต้องพูด หรืออย่างน้อยก็พูดเป็นนัยถึงการมอบได้ไหม? คุณไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เว้นเสียแต่จะเพิกเฉยต่อความหมายตามพระคัมภีร์ของคำว่า “อาณาจักร” แต่ถ้าคุณเข้าใจว่าการมอบคืออะไร คุณก็จะรู้ว่าอาณาจักรของพระเจ้าคืออะไร ถ้าคุณเอาการมอบออกไปจากอาณาจักร คุณก็จะเหลือแต่คำเปล่าๆที่ไร้ความหมาย

     อาณาจักรของพระเจ้าโดยพื้นฐานแล้วหมายถึงการเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า เป็นการประกาศว่าพระเจ้าเป็นกษัตริย์ คำว่าอาณาจักร ในแบบดั้งเดิมซึ่งกลายเป็นมาตรฐานในพระคัมภีร์ของเรานั้น อาจทำให้เราในยุคสมัยใหม่นี้สับสน เพราะเราจะเข้าใจคำนี้ในแง่ของดินแดนปกครอง เช่นเดียวกับ “สหราชอาณาจักรอังกฤษ” แต่นั่นไม่ใช่ความหมายพื้นฐานของอาณาจักรในพระคัมภีร์ใหม่ อาณาจักรของพระเจ้านั้น โดยพื้นฐานแล้วหมายถึงการเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า การครองราชย์ของพระองค์ การปกครองของพระองค์ การดูแลปกครองของพระองค์ และไม่เกี่ยวข้องกับดินแดนเป็นหลัก (ดูบทที่ 11 ของหนังสือเล่มนี้, เชิงอรรถที่ 2, เกี่ยวกับความหมายของคำภาษากรีกว่า basileia”) แต่เนื่องจากมีการใช้คำว่าอาณาจักรในพระคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์ คำนี้จึงกลายมาเป็นคำศัพท์มาตรฐาน แม้ว่าจะมีฉบับแปลสมัยใหม่บางฉบับกำลังเริ่มใช้การเป็นกษัตริย์

     การเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าหมายถึงว่า พระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ในชีวิตของคุณ ถ้าคุณคิดถึงความหมายของมันในทางปฏิบัติ คุณจะเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับการมอบอย่างทั้งหมด ถ้าปราศจากการมอบ คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนจากวิถีชีวิตที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง มาเป็นชีวิตที่มีพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ได้ ในวิถีชีวิตเก่า คุณทำอย่างที่คุณอยากทำ คุณทำบาปอย่างที่คุณอยากทำ คุณทำสิ่งที่เห็นแก่ตัวและอารมณ์เสียอย่างที่คุณอยากทำ แต่ตอนนี้คุณมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองที่มีพระเจ้าเป็นกษัตริย์ คุณก็จะไม่ทำสิ่งที่คุณเคยทำอีกต่อไป คุณจะต้องขออนุญาตจากพระเจ้าที่จะโกรธด้วยซ้ำ!

     “ข้าพระองค์รู้สึกโกรธ ขอให้ข้าพระองค์อารมณ์เสียได้ไหม”

     “ไม่ได้!”

     “ข้าพระองค์จะทำยังไงดี? ข้าพระองค์จะระเบิดอยู่แล้ว”

     คุณก็จงสงบลง และพึ่งพาความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อระงับความโกรธของคุณ นี่ไม่ได้หมายความว่า คริสเตียนจะโกรธไม่ได้เลย แต่มันหมายความว่าคุณจะไม่อารมณ์เสียและควบคุมตัวเองไม่ได้ คุณทุบโต๊ะ และขว้างจาน คุณอาจจะโกรธ แต่คุณจะประพฤติตัวแบบที่ทำให้พระเจ้าเสียพระเกียรติไม่ได้

     ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วจะผิดเสมอไป เปาโลกล่าวว่า “โกรธได้ แต่อย่าทำบาป” (เอเฟซัส 4:26) การโกรธอาจเป็นการสมควรเมื่อเราเห็นความชั่วร้ายหรือความอยุติธรรม แต่เราจะต้องไม่ประพฤติตัวแบบที่ทำให้พระเจ้าเสียพระเกียรติ นี่ต้องมีการบังคับตัวเองอย่างมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เกิดจากผลของพระวิญญาณ (กาลาเทีย 5:22-23)

     เป็นไปได้ไหมที่จะยอมอยู่ใต้การปกครองที่มีพระเจ้าเป็นกษัตริย์โดยไม่มีการมอบ? มันเป็นไปไม่ได้เลยแม้แต่นิด การมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองที่มีพระเจ้าเป็นกษัตริย์จะต้องมีการมอบ โดยที่ “ข้าพระองค์ขอมอบฝากตัวข้าพระองค์เองกับพระองค์ และยอมอยู่ใต้การปกครองที่มีพระองค์เป็นกษัตริย์ เพื่อตอบสนองต่อความรักที่พระองค์มีต่อข้าพระองค์” แต่พระเจ้าจะไม่ทรงบีบบังคับคุณให้อยู่ใต้การปกครองที่มีพระองค์เป็นกษัตริย์ เพราะเป็นสิ่งที่คุณสามารถเลือกได้เองโดยเสรี

 

เรากำลังทำให้พระเจ้าเป็นกษัตริย์แบบตามรัฐธรรมนูญไหม?

     สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว การเป็นกษัตริย์ของพระเจ้านั้นเป็นแนวคิดที่คลุมเครือ พระเจ้าทรงได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญในแบบที่สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษเป็นกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ คือเป็นกษัตริย์แต่ในนาม พระองค์ทรงได้รับการเทิดพระเกียรติในฐานะราชินี และจะต้องเรียกพระองค์ว่า “ฝ่าบาท” แต่พระองค์ไม่มีอำนาจในการปกครองที่แท้จริง นายกรัฐมนตรีคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง เดิมทีคำว่า “ฝ่าบาท” หมายถึง อำนาจสูงสุด แต่ในการเป็นกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนั้น “ฝ่าบาท” นั้นไม่มีอำนาจที่แท้จริง

     เราจะเห็นสถานการณ์ที่คล้ายๆกันนี้ได้ในชีวิตของคริสเตียนจำนวนมาก คุณอาจเรียกพระเจ้าว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าหรือกษัตริย์” แต่คุณทำอะไรตามใจคุณเอง คุณเป็นนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจที่แท้จริงในชีวิตของคุณในขณะที่พระเจ้าเป็นเพียงกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้มีอำนาจเหนือชีวิตของคุณ ถ้าไม่มีการมอบอย่างแท้จริง คุณก็เป็นคริสเตียนแต่ในนาม         

     อังกฤษเป็นประเทศราชาธิปไตยแต่ในนาม แต่ก็ยังเป็นประเทศประชาธิปไตยด้วย โดยหลักการแล้ว ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถจะเป็นราชาธิปไตยได้ เพราะนั่นจะเป็นคำที่ขัดแย้งกัน เพราะถ้าไม่ใช่กษัตริย์ปกครอง ก็ต้องเป็นประชาชนปกครอง แต่ปัจจุบันนี้เราได้ทำข้อตกลงที่จะให้กษัตริย์หรือพระราชินียังคงรักษาตำแหน่งกษัตริย์ไว้แต่ไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริง นายกรัฐมนตรีผู้แทนประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งต่างหากที่มีอำนาจปกครองที่แท้จริง นายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลของเขาเป็นผู้กำหนดแผนงานให้รัฐสภา และพระราชินีเป็นผู้ให้พระบรมราชานุมัติเห็นชอบตามความเหมาะสม

     ในทำนองเดียวกันกับชีวิตคริสเตียน เราก็เป็นคนตัดสินใจในสิ่งที่เราจะทำ เราเสนอแผนการของเราต่อพระเจ้าที่เราเรียกว่าองค์ผู้เป็นเจ้าและกษัตริย์ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเรากำลังทูลพระองค์ว่า “ขอทรงลงพระปรมาภิไธยตรงที่เว้นว่างไว้และขอทรงอวยพรข้าพระองค์ด้วย” เราอาจมีมารยาทที่จะพูดว่า “ขอโปรด” แต่ถ้าพระเจ้าไม่ทรงอวยพรเรา การถวายในสัปดาห์หน้าก็จะลดลง เราตั้งใจไว้ว่าจะถวาย 50 ดอลลาร์ แต่ตอนนี้เราจะถวาย 5 ดอลลาร์เพราะพระเจ้าไม่ได้อวยพรเราอย่างที่เราต้องการ

     แต่การเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถ้าคุณตั้งให้พระองค์เป็นกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญในชีวิตของคุณ คุณก็จะลงเอยด้วยการเป็นผู้สูญเสีย คุณอาจจะหลอกตัวเอง แต่คุณจะไม่หลอกพระเจ้า ชีวิตของคุณจะเป็นราชวังที่ว่างเปล่าที่คุณทำสิ่งของคุณเอง แต่พระเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ที่นั่น

การมอบและคำเทศนาบนภูเขา

     คำเทศนาบนภูเขา (ในมัทธิวบทที่ 5, 6, 7) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจที่ถูกต้องกับคำสอนของพระเยซู แต่เราไม่สามารถแม้แต่จะเข้าใจตัวคำเทศนาเอง เพราะเราได้เอาความคิดเรื่องการมอบออกไป

     เมื่อคุณดูข้อที่เกี่ยวกับผู้เป็นสุข (คำกล่าวว่า “เป็นสุข” ในมัทธิว 5:3-12) คุณจะบอกไหมว่าผู้ที่ถูกเรียกว่า “เป็นสุข” นั้นถือว่าเป็นสุขตามมาตรฐานของโลก? คนที่ยากจนก็เป็นสุข แต่โลกคิดว่าคนที่ร่ำรวยจะเป็นสุข คนที่โศกเศร้าและร่ำไห้ก็เป็นสุข แต่โลกคาดหวังความสุขและเสียงหัวเราะจากผู้ที่เป็นสุข คนที่อ่อนสุภาพก็เป็นสุข แต่โลกชื่นชมผู้ที่แข็งกร้าวและมั่นใจสูง ข้อผู้เป็นสุขจบลงที่ “ผู้ที่ถูกข่มเหง เพราะเห็นแก่ความชอบธรรมก็เป็นสุข” การถูกข่มเหงนั้นทำให้เป็นสุขตั้งแต่เมื่อไรหรือ? ถ้าคุณถูกข่มเหงเพราะมาเป็นคริสเตียน คุณจะรู้สึกว่านี่เป็นสุขหรือ?

     สิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่าเป็นสุขนั้น โลกไม่ถือว่าเป็นสุข ตรงนี้เราจะเห็นว่าการเห็นคุณค่าของพระเจ้านั้นตรงกันข้ามกับของมนุษย์

เพราะความคิดของเราไม่ใช่ความคิดของเจ้า และทางของพวกเจ้าก็ไม่ใช่ทางของเราพระยาห์เวห์ตรัสดังนี้แหละ เพราะฟ้าสวรรค์สูงกว่าแผ่นดินโลกอย่างไร ทางของเราก็สูงกว่าทางของพวกเจ้า และความคิดของเราก็สูงกว่าความคิดของเจ้าอย่างนั้น (อิสยาห์ 55:8-9)[8]

     ผมเคยพูดเสมอว่า มนุษย์ไม่สามารถคิดค้นพระคัมภีร์ขึ้นมาเองได้ เพราะมันแตกต่างอย่างมากจากวิธีที่เราอาจคิด

 

การมอบและพระคุณ

     การมอบนั้นไม่อาจแยกจากพระคุณได้ เพราะถ้าปราศจากการมอบ เราจะไม่สามารถรับเอาพระคุณและฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าได้ ไม่ว่าจะเป็นฤทธิ์อำนาจที่จะเข้าใจพระวจนะของพระองค์หรือทำตามคำตรัสสั่งของพระองค์ ไม่ช้าก็เร็วคุณจะอยู่ในสถานการณ์ที่คุณจะพูดว่า “พระองค์เจ้าข้า สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิบัติตามได้ แต่เพราะพระองค์ตรัสสั่ง ข้าพระองค์ก็จะทำตามโดยพระคุณของพระองค์” ด้วยการมอบในแบบนี้ คุณก็จะมีประสบการณ์กับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า

    เมื่อเราปฏิบัติตามคำสอนของข้อจากผู้เป็นสุขแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการปฏิบัติตามข้อต่างๆที่ตามมาหลังจากผู้เป็นสุข นั่นคือมัทธิว 5:13 ที่กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายเป็นเกลือของโลก” และข้อ 14 ที่กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก” ถ้อยคำเหล่านี้ฟังดูคุ้นหูสำหรับเรา แต่บ่อยครั้งที่คริสตจักรไม่ได้เป็นเกลือของโลก หรือเป็นความสว่างของโลก เราจะเห็นอีกแล้วว่ารากของปัญหาก็คือไม่มีการมอบ คุณไม่สามารถจะข้ามข้อผู้เป็นสุขแล้วไปข้อ 13 และ 14 ได้ ถ้าคุณพยายามจะข้ามข้อผู้เป็นสุขที่จะมาเป็นเกลือของโลก มันจะไม่ได้ผล คุณจะมาเป็นเกลือของโลกได้ก็เมื่อคุณยอมมอบที่จะปฏิบัติตามข้อผู้เป็นสุข ที่จะเป็นคนยากจนในฝ่ายวิญญาณ เป็นคนโศกเศร้ากับความผิดบาป เป็นคนที่ถูกข่มเหงเพื่อเห็นแก่ความชอบธรรม

     มีคริสเตียนจำนวนมากที่ไม่เคยมีประสบการณ์กับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าในการเปลี่ยนแปลงพวกเขา แต่ถ้าเรายอมให้พระเจ้าเปลี่ยนแปลงเรา เราก็จะมีประสบการณ์กับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า และรู้จักพระองค์ว่าทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงพระชนม์อยู่ จากนั้นเราจะเปลี่ยนจากความมืดมาเป็นความสว่างดังข้อที่ว่า “เมื่อก่อนท่านเป็นความมืด แต่เดี๋ยวนี้ท่านเป็นความสว่างในองค์ผู้เป็นเจ้า จงดำเนินชีวิตอย่างลูกของความสว่าง” (เอเฟซัส 5:8)

 

ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่ทำบาป

     พระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้าตรัสต่อไปในคำเทศนาบนภูเขาว่า

ถ้าตาข้างขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป ก็จงควักทิ้งเสีย เพราะถึงท่านจะเสียอวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกายของท่านไป ก็ยังดีกว่าทั้งตัวของท่านต้องถูกทิ้งลงในนรก และถ้ามือข้างขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป ก็จงตัดทิ้งเสีย เพราะถึงท่านจะเสียอวัยวะส่วนหนึ่งไป ก็ยังดีกว่าทั้งตัวของท่านต้องลงนรก (มัทธิว 5:29-30)

     นี่คือการมอบที่แท้จริง อันที่จริงคำว่า การมอบนั้นยังเบาไปที่จะอธิบายแนวทางปฏิบัติที่เด็ดขาดและน่ากลัวนี้ คุณจะต้องเต็มใจที่จะตัดมือข้างขวาของคุณทิ้งเสียถ้ามันเป็นเหตุให้คุณทำบาป พระองค์ทรงเตือนว่า ถ้าไม่มีการมอบในแบบนี้ คุณก็อาจมีจุดจบในนรก

     แต่พระเยซูไม่ได้ทรงตื้นถึงขนาดที่จะหมายความว่า ให้คุณจัดการกับปัญหาการทำบาปของคุณได้ด้วยการตัดมือของคุณทิ้งเสีย เราอาจตัดศีรษะของเราทิ้งได้เช่นกัน เพราะสมองของเราก็ยังคงทำบาปได้หลังจากที่มือของเราได้ถูกตัดทิ้งไปแล้ว ในข้อก่อนหน้านี้ (มัทธิว 5:28) พระองค์ตรัสว่าปัญหาของความบาปอยู่ที่ “ใจ พระองค์จึงทรงใช้ภาษาที่ชัดเจนเพื่ออธิบายถึงการมอบที่จำเป็นในการต่อสู้กับบาป พระองค์ไม่ได้หมายความว่า ให้คุณไปตัดมือจริงๆ แต่คุณจะต้องตั้งใจแน่วแน่และมีการมอบที่จะทำทุกวิถีทางที่จะไม่ทำบาป การที่จะสูญเสียบางสิ่ง อย่างเช่น เสียมือหรือเสียตาของคุณไปก็ยังดีกว่าที่จะตกนรก

     พระเจ้าของเราทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่แต่ก็เป็นพระเจ้าที่บริสุทธิ์ด้วย ความบริสุทธิ์เป็นคำสอนหลักในพระคัมภีร์แต่ไม่ค่อยมีใครสอนในคริสตจักรปัจจุบันนี้ การมอบกับพระเจ้าไม่สามารถจะแยกออกจากการมอบกับความบริสุทธิ์ได้

 

การมองเห็นความจริง

     สุดท้ายแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนนั้นเป็นความจริงหรือเท็จ? พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดตั้งใจกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นั้นจะรู้ว่าคำสอนของเรามาจากพระเจ้าหรือว่าเราพูดของเราเอง (ยอห์น 7:17) เราจะเห็นอีกครั้งถึงการเรียกร้องให้มีการมอบ ถ้าคุณยอมมอบที่ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า คุณก็จะรู้ว่าคำสอนนั้นเป็นความจริงหรือเท็จ จะรู้ว่ามาจากพระเจ้าหรือมาจากมนุษย์

     ผมมั่นใจอย่างยิ่งในความจริงของพระเจ้า เพราะตั้งแต่ผมได้มารู้จักพระองค์เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมก็ได้ปฏิบัติตามข้อนี้ ผมจึงเป็นพยานได้ว่ามันเป็นความจริง ผมได้ปักหลักชีวิตของผมกับสิ่งนี้และผมรู้ว่ามันเป็นความจริง ถ้าคุณเต็มใจจะมอบกับพระเจ้า คุณจะมีประสบการณ์ที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงพระชนม์อยู่!

 

 

หมายเหตุเพิ่มเติม

 

พระยาห์เวห์คือใคร?

      ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษ เมื่อคำว่า “Lord” ที่พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดเล็กว่า LORD นั้นบ่งบอกว่าคำเดิมในภาษาฮีบรูคือ YHWH หรือ Yahweh ตัวอย่างเช่น ถ้อยคำที่คุ้นเคยกันว่า “the word of the Lord” (“พระวจนะขององค์ผู้เป็นเจ้า”) นั้นเป็นคำภาษาฮีบรูตามตัวอักษรว่า “the word of Yahweh” (“พระวจนะของพระยาห์เวห์” เช่นใน 1 พงศ์กษัตริย์ 18:1 “พระวจนะของพระยาห์เวห์มาถึงเอลียาห์”[9]) ในสดุดี 23:1The Lord is my shep­herd” (“องค์ผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงของข้าพเจ้า”) นั้นคำตามตัวอักษรคือ “Yahweh is my shepherd” (“พระยาห์เวห์ทรงเป็นผู้เลี้ยงของข้าพเจ้า”) ส่วนคำที่คุ้นเคยว่า “the Spirit of the Lord” (“พระวิญญาณขององค์ผู้เป็นเจ้า”) นั้นคำตามตัวอักษรคือ “the Spirit of Yahweh” (“พระวิญญาณของพระยาห์เวห์” เช่น เอเสเคียล 11:5 “พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ลงมาบนข้าพเจ้า”)

      ที่จริงการแปลอิสยาห์ 42:8 ที่เป็นสากลนั้นไม่สอดคล้องกันที่ว่า “I am the Lord, that is my name” (“เราคือองค์ผู้เป็นเจ้า นั่นคือชื่อของเรา”) เว้นแต่จะกลับมาใช้พระนามพระยาห์เวห์ดังเดิม เช่นในพระคัมภีร์ฉบับ NJB และฉบับ HCSB[10] ที่ว่า “I am Yahweh, that is my name (“เราคือยาห์เวห์ นั่นคือนามของเรา”)

      รูปแบบการพิมพ์คำว่า “Lord” ในรูปแบบ “LORD” ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดเล็กนั้น มีอธิบายไว้ในคำนำของพระคัมภีร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์ฉบับ ESV กล่าวว่า “ฉบับ ESV จะใช้คำว่า LORD (พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดเล็ก) แทนพระนามเฉพาะของพระเจ้า (YHWH) เสมอ

      ตอนนี้เราจะให้ข้อสังเกตย่อๆเจ็ดข้อเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ โดยเน้นที่อัตลักษณ์ของพระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์คือใคร?

 

1. ยาห์เวห์” คือพระนามเฉพาะของพระเจ้า

      เราเพิ่งอ้างอิงฉบับ ESV ว่ากล่าวว่า YHWH เป็น “พระนามเฉพาะของพระเจ้า” ความจริงที่สำคัญนี้ที่ว่า “ยาห์เวห์” เป็นพระนามเฉพาะของพระเจ้า ที่มีให้เห็นอยู่ทั่วพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ตัวอย่างเช่น ในพระบัญญัติสิบประการที่ว่า “อย่าออกพระนามของพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าอย่างไม่สมควร” (อพยพ 20:7) นี่ยังเห็นได้อีกในอพยพ 3:15 ซึ่งพระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า

เจ้าจงกล่าวแก่ชนชาติอิสราเอลดังนี้ว่า “พระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของพวกท่าน คือพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ ได้ทรงส่งข้าพเจ้ามาหาพวกท่าน” นี่เป็นนามของเราตลอดไปเป็นนิตย์ และเป็นที่จดจำถึงเราตลอดทุกชั่วอายุ (ฉบับ ESV โดยที่กลับมาใช้ “พระยาห์เวห์” ดังเดิมตามฉบับภาษาฮีบรู)

      เมื่อพระเจ้าตรัสว่า “นี่เป็นนามของเราตลอดไปเป็นนิตย์” (ดูคำตัวเอน) พระองค์กำลังหมายถึงพระนามของพระองค์เองว่า “ยาห์เวห์” ซึ่งได้กล่าวถึงในข้อเดียวกัน คำว่า “ตลอดไปเป็นนิตย์” นั้นบ่งชี้ว่า “ยาห์เวห์” จะต้องเป็นพระนามของพระเจ้า ไม่เพียงแค่หนึ่งชั่วอายุคนแต่ทุกชั่วอายุคนตลอดไปชั่วนิรันดร์ แท้จริงแล้วเป็น “การจดจำตลอดทุกชั่วอายุ”

      สิ่งนี้เป็นความรู้ที่ยอมรับกันในหมู่นักวิชาการพระคัมภีร์ว่า “ยาห์เวห์” เป็นพระนามเฉพาะของพระเจ้า ดังที่เห็นในสารานุกรมพระคัมภีร์ เช่น ฉบับ ISBE[11] (“ยาห์เวห์” เป็นพระนามเฉพาะอย่างแท้จริงเพียงนามเดียวของพระเจ้าในความเชื่อของชนอิสราเอล”) ในพจนานุกรมภาษาฮีบรู เช่น ฉบับ TWOT[12] (“ยาห์เวห์, พระนามเฉพาะของพระเจ้า”) และในคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ เช่น ฉบับ UBC (“ความรู้เรื่องพระนามเฉพาะของพระเจ้า, ยาห์เวห์, ที่ว่ากันว่าเป็นของประทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระเจ้าทรงมอบให้แก่อิสราเอล”)[13]

      ในความเป็นจริงแล้ว มีนักวิชาการพระคัมภีร์บางคนกำลังเรียกร้องให้กลับมาใช้พระนามยาห์เวห์ตามเดิม พจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับมาตรฐานห้าเล่มกล่าวดังนี้ว่า

“การแปล” LORD นั้นเป็นปัญหาจากมุมมองต่างๆ การใช้คำ LORD นั้นเป็นการปิดบังความจริงที่ว่าพระยาห์เวห์เป็นพระนามและไม่ใช่คำเรียก … เมื่อพิจารณาความจริงข้อนี้ อาจกล่าวได้ว่าก็เช่นเดียวกับนามเฉพาะอื่นๆ เราเพียงแค่ทับศัพท์จากสิ่งที่ว่าเป็นคำเดิมภาษาฮีบรูว่า—ยาห์เวห์[14] (เพิ่มตัวเอน)

 

2. ยาห์เวห์” เป็นคำหลักสำหรับพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู

      ในขณะที่คำว่า “ยาห์เวห์” มีปรากฏ 6,828 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูนั้น คำว่า“เอโลฮิม”[15] (พระเจ้า, พระ) มีปรากฏประมาณ 2,600 ครั้ง ดังนั้น ชื่อหลักสำหรับพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู (พระคัมภีร์เดิม) จึงไม่ใช่ “พระเจ้า” แต่เป็น “พระยาห์เวห์”

 

3. ยาห์เวห์” เป็นชื่อเฉพาะที่ไม่เคยหมายถึงพระเทียมเท็จทั้งหลาย

      ตัวอย่างส่วนใหญ่ของ “เอโลฮิม” (พระเจ้า) ประมาณ 2,600 ตัวอย่างหมายถึงพระเจ้าแห่งอิสราเอล แต่ถึงกระนั้นก็มีกว่า 200 ครั้งที่คำนี้อ้างถึงพระเทียมเท็จ เช่น โคทองคำ (อพยพ 32:4) และเจ้า​แม่​อัช​โท​เรท (1 พงศ์กษัตริย์ 11:33)[16] แต่ตรงกันข้ามกับพระนาม “ยาห์เวห์” ที่จะหมายถึงพระเจ้าของอิสราเอลเสมอและไม่เคยหมายถึงพระเทียมเท็จใดๆโดยไม่มีข้อยกเว้น

 

4. พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียวและเพียงผู้เดียว

      พระยาห์เวห์ตรัสว่า “เราคือยาห์เวห์ และไม่มีผู้อื่นอีก นอกจากเราไม่มีพระเจ้าอื่น” (อิสยาห์ 45:5) และ “นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นอีก” (ข้อ 21)

 

5. พระยาห์เวห์เป็นผู้สร้างจักรวาลแต่เพียงผู้เดียว

      พระยาห์เวห์ตรัสว่า “เราคือยาห์เวห์ ผู้สร้างทุกสิ่ง ผู้ขึงฟ้าสวรรค์เพียงลำพัง ผู้กางแผ่นดินโลกด้วยตัวเราเอง” (อิสยาห์ 44:24)

 

6. พระยาห์เวห์คือพระเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ

      พระยาห์เวห์ตรัสสั่งโมเสสให้บอกชนอิสราเอลว่า “พระยาห์เวห์ พระเจ้าของบรรพบุรุษของพวกท่าน พระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ ได้ทรงส่งข้าพเจ้ามาหาพวกท่าน” (อพยพ 3:15)

 

7. พระยาห์เวห์ คือพระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์

      ก่อนอื่น เราก็ทราบกันว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระบิดาของเรา “ข้าแต่พระยาห์เวห์ พระองค์เป็นพระบิดาของเรา” (อิสยาห์ 63:16; เปรียบเทียบ 64:8; เฉลยธรรมบัญญัติ 32:6; มาลาคี 2:10) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์องค์ผู้เป็นเจ้าของเรา” (โรม 15:6; 2 โครินธ์ 1:3; 11:31; เอเฟซัส 1:3) ซึ่งเป็นความจริงที่พระเยซูทรงกล่าวย้ำเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เรากำลังจะขึ้นไปหาพระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน ไปหาพระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน” (ยอห์น 20:17) ในสามบทก่อนหน้านี้ พระเยซูทรงเรียกพระบิดาของพระองค์ว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” (ยอห์น 17:3) ซึ่งเป็นการระบุที่สอดคล้องกับอิสยาห์ 45:5 ที่ว่า “เราคือยาห์เวห์ และไม่มีผู้อื่นอีก นอกจากเราไม่มีพระเจ้าอื่น” ด้วยเหตุนี้ พระยาห์เวห์จึงเป็นพระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์

 

 


[1] “Shema” (ภาษาฮีบรูแปลว่า “ได้ยิน” หรือ “ฟัง”) เป็นคำแรกของเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 (“จงฟังเถิด อิสราเอลเอ๋ย พระยาห์เวห์พระเจ้าของเรา พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่งเดียว”) Shema เดิมอ้างถึงคำประกาศอันศักดิ์สิทธิ์ของเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 แต่ต่อมาได้ขยายไปจนถึงเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-9 และ 11:13-21 และกันดารวิถี 15:37-41 ความสำคัญยิ่งของ Shema เห็นได้จากการที่ Shema กลายเป็นคำยอมรับตามความเชื่อของชาวยิว และชาวยิวบางคนได้ตายเพราะความจงรักภักดีที่กล้าหาญและไม่เปลี่ยนแปลง

[2] New Jerusalem Bible

[3] King James Version (KJV)

[4] ฉบับมาตรฐาน 2011

[5] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

[6] New King James Version (NKJV)

[7] ยากอบ 2:19 “ท่าน​เชื่อ​ว่า​พระเจ้า​มี​เพียง​องค์​เดียว นั่น​ก็​ดี แม้​พวก​ผี​ก็​เชื่อ​และ​กลัว​จน​ตัว​สั่น”

[8] ฉบับมาตรฐาน 2011

[9] “the word of Yahweh came to Elijah”

[10] New Jerusalem Bible and Holman Christian Standard Bible

[11] ISBE, International Standard Bible Encyclopedia

[12] TWOT, Theological Wordbook of the Old Testament

[13] ISBE (ชื่อของพระเจ้า); TWOT (484a, YHWH); ทำความเข้าใจคำอธิบายในพระคัมภีร์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:11)

[14] New International Dictionary of Old Testament Theology (vol.5, Yahweh)

[15] “Elohim”

[16] อพยพ 32:4 “เมื่ออาโรนได้ทองคำจากพวกเขาแล้ว จึงใช้เครื่องมือหล่อทองคำเป็นรูปโคหนุ่ม แล้วเขาทั้งหลายประกาศว่า ‘โอ อิสราเอล สิ่งเหล่านี้แหละเป็นพระของเจ้า ซึ่งนำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์’” และ 1 พงศ์กษัตริย์ 11:33 “เพราะ​เขา​ทอด​ทิ้ง​เรา ไปนมัส​การ​เจ้า​แม่​อัช​โท​เรท​พระ​ของ​ชาว​ไซ​ดอน เค​โมช​พระ​ของ​โม​อับ และ​มิล​โคม​พระ​ของ​คน​อัม​โมน และ​ไม่​ดำ​เนิน​ใน​ทาง​ของ​เรา​คือ​ทำ​สิ่ง​ที่​ชอบ​ธรรม​ใน​สาย​ตา​ของ​เรา”