pdf pic

 

 

บทที่8

 

ch1 1

 

การนมัสการและการอธิษฐาน

 

มุ่งไปที่พระเยซูหรือไม่?

 

 

เมื่อใช้คำ Proskyneō กับพระเยซู

 

มันหมายความว่านมัสการพระเจ้าหรือไม่?

 

 

 

นมัสการพระเยซูหรือว่ากราบบังคมพระเยซูกันแน่?

      นมัทธิว 2:11 เมื่อพวกนักปราชญ์เข้ามาพบพระกุมารเยซู พวกเขา “นมัสการพระเยซู” (ฉบับ ESV) หรือว่าพวกเขา “กราบบังคม” พระองค์ (ฉบับ NJB) กันแน่?  ตรงนี้เราจะเห็นการแปลคำภาษากรีก proskyneō สองแบบที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน

      เราจะเห็นพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษให้สองคำนิยามหลักของคำว่า proskyneō  คำนิยามหนึ่งเป็นคำนิยามอันดับแรกและอีกคำนิยามหนึ่งเป็นคำนิยามรองและแตกแขนงมาจากรากศัพท์  ความหมายพื้นฐานของคำนี้คือ “คุกเข่าต่อหน้าใครบางคน” หรือ “หมอบราบตรงหน้าใครบางคน” เป็นการแสดงออกทางกายในการ “กราบไหว้ใครบางคน” โดยไม่จำเป็นต้องอ้างว่าคนที่ได้รับการกราบไหว้จะต้องเป็นพระเจ้า (เช่น การกราบลงตรงหน้าผู้บัญชาการทหารโรมัน)  แต่ในบางบริบท proskyneō อาจมีความหมายที่แตกแขนงมาของการนมัสการ  ในขณะที่ความหมายแรกและเป็นความหมายพื้นฐานไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการบ่งชี้ถึงพระเจ้า ความหมายรองอาจเกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเจ้า

      เมื่อเราเจอคำ proskyneō ในพระคัมภีร์ใหม่  ข้อสงสัยว่าอันไหนเป็นความหมายที่มุ่งหมายไว้นั้น มักจะตัดสินจากการดูว่าใครเป็นเป้าหมายของ proskyneō นั้น  ถ้าพระเจ้าทรงเป็นเป้าหมาย คำนิยามของ proskyneō ก็จะหมายถึงการนมัสการพระเจ้า (เช่น ในมัทธิว 4:10จงกราบนมัสการองค์    ผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นพระเจ้าของท่าน”)  แต่ถ้าเป้าหมายของ proskyneō เป็นมนุษย์ซึ่งมีตำแหน่งสูง proskyneō ก็จะหมายถึงการคุกเข่าหรือการกราบเคารพโดยไม่ได้บ่งชี้ถึงพระเจ้า

      ดังนั้นความหมายที่มุ่งหมายไว้ของ proskyneō มักจะขึ้นกับว่าใครเป็นเป้าหมายของ proskyneō และคนนั้นถูกมองว่าเป็นพระเจ้าหรือไม่  การใช้ proskyneō เฉยๆนั้น ไม่ได้ทำให้คนนั้นเป็นพระเจ้า เพราะการที่คุกเข่านั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเจ้า

      ในสมัยโบราณแถบตะวันออกใกล้นั้น การคุกเข่าหรือก้มกราบเป็นอากัปกริยาทั่วไปของความเคารพนับถือและความนอบน้อม และไม่ได้เข้าใจกันว่าเป็นการนมัสการพระเจ้า  เราจะเห็นสิ่งนี้ไม่เฉพาะแต่ในพระคัมภีร์ใหม่เท่านั้น แต่ยังเห็นในพระคัมภีร์เดิมภาษากรีกฉบับ LXX อีกด้วย (แปลจากพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู)  เราจะให้เพียงแค่สองตัวอย่างที่อับราฮัมโน้มตัวลงคำนับต่อหน้าคนฮิตไทต์ (ปฐมกาล 23:12) และดาวิดก็ก้มลงถึงดินกราบไหว้ซาอูล (1 ซามูเอล 24:8; ข้อ 9  LXX)  ในฉบับ LXX ของทั้งสองข้อนี้ใช้ proskyneō  ดังนั้นมันจึงเป็นความผิดพลาดที่จะสรุปว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าเพียงเพราะการใช้ proskyneō กับพระองค์

 

Proskyneō มีความหมายว่าอย่างไรเมื่อใช้กับพระเยซู?

      มีคำ proskyneō ปรากฏ 60 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ซึ่งมี 17 ครั้งถูกใช้กับพระเยซู (ที่เป็นกรรมของกริยา[1] proskyneō ในทั้ง 17 ตัวอย่าง)  รายการทั้ง 60 ตัวอย่างจะมีให้ในภายหลัง

      เมื่อมีการใช้ proskyneō กับพระเยซูที่ไหน พระคัมภีร์ฉบับ ESV มักจะแปลคำนี้ว่า “นมัสการ” (เช่น เหล่าสาวก “นมัสการ” พระเยซู หลังจากที่พระองค์ได้ทรงทำให้พายุสงบลง, มัทธิว 14:33) แต่บางครั้งก็แปลว่า “คุกเข่า” (เช่น มารดาของบุตรเศเบดีก็คุกเข่าต่อพระเยซู, มัทธิว 20:20)  ฉบับ ESV, NIV, NASB มีแนวโน้มที่จะแปล proskyneō ว่า “นมัสการ” เมื่อใช้กับพระเยซูโดยสันนิษฐานความเป็นพระเจ้าของพระองค์

      แต่พระคัมภีร์อีกหลายเล่มก็แปล proskyneō แตกต่างจากที่ฉบับ ESV มักจะแปล เมื่อมีการใช้กับพระเยซู  ในขณะที่ฉบับ ESV กล่าวในมัทธิว 2:11 ว่าเหล่านักปราชญ์นมัสการพระกุมารเยซู  ฉบับแปลอื่นๆไม่ได้บ่งชี้ถึงการนมัสการ เช่นว่า “กราบถวายบังคมพระองค์” (ฉบับ NJB, NAB, NRSV, Darby) หรือ “ถวายเกียรติพระองค์” (ฉบับ CEB) หรือ “เคารพบูชาพระองค์” (ฉบับ Douay- Rheims) หรือ “น้อมตัวลงเพื่อถวายบังคมพระองค์” (ฉบับ REB) หรือ “หมอบกราบด้วยความนับถือพระองค์” (ฉบับ ITNT)  ทั้งนี้แม้จะมีข้อเท็จจริงว่าพระคัมภีร์เหล่านี้บางฉบับมีหนังสือรับรองของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ว่าจะโดยชื่อเสียง หรือโดยใบอนุญาตของคาทอลิก ซึ่งเป็นตรารับรองของคริสตจักรคาทอลิก (สำหรับฉบับ NJB, NAB, Douay-Rheims)

      ในขณะที่ฉบับ ESV แปลมัทธิว 2:11 ให้หมายถึงการนมัสการพระกุมารเยซู การแปลแบบนี้ไม่ได้รับการยอมรับแม้แต่จากคู่มืออธิบายพระคัมภีร์หลายฉบับของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ในการวิเคราะห์มัทธิว 2:11 ของพวกเขา ตัวอย่างเช่น คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับทินดัล[2] ได้กล่าวไว้ว่า “คำกริยา นมัสการ (proskyneō) มีความหมายเพียงว่า การแสดงความเคารพมนุษย์ที่มีตำแหน่งสูง” จอห์น คาลวินกล่าวอย่างเน้นย้ำว่าพวกนักปราชญ์ไม่ได้ “มานมัสการพระคริสต์อย่างศรัทธาแก่กล้าเนื่องจากเป็นพระบุตรของพระเจ้า” แต่พวกเขาตั้งใจจะแสดงความเคารพพระองค์ว่าเป็น “กษัตริย์ผู้มีความสำคัญยิ่ง”  หนังสืออธิบายของคอนสเตเบิล[3] กล่าวว่า คำกล่าวของพวกนักปราชญ์ “ไม่จำเป็น ต้องหมายความว่า พวกเขาเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า” แต่ “อาจหมายความว่าพวกเขาต้องการจะกราบบังคมพระองค์”  คู่มือพระคัมภีร์ของผู้อธิบาย[4] กล่าวว่า คำกล่าวของพวกนักปราชญ์ “แสดงให้เห็นว่าเป็นการถวายบังคมกษัตริย์มากกว่าเป็นการนมัสการพระเจ้า”

      ความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ขยายไปยังข้อพระคัมภีร์อื่นๆ  ขณะที่ฉบับ ESV กล่าวว่าเหล่าสาวก “นมัสการ” พระเยซูหลังจากที่พระองค์ทรงทำให้พายุสงบลง (มัทธิว 14:33) และผู้หญิงที่อุโมงค์ซึ่งว่างเปล่า “ได้กราบนมัสการ” พระเยซู (มัทธิว 28:9) นั้น  พระคัมภีร์ส่วนใหญ่ที่ได้กล่าวมาก่อนนั้นพูดถึงการน้อมตัวลงต่อพระเยซูหรือการกราบลงต่อพระองค์ ตัวอย่างเช่น มัทธิว 14:33 ฉบับ NJB ได้ “กราบไหว้พระองค์” และฉบับ NEB กับฉบับ REB ได้ “กราบลงที่พระบาทของพระองค์”[5]

 

คำถามที่สำคัญ

      เนื่องจาก proskyneō สามารถหมายถึงทั้งการกราบไหว้หรือการนมัสการ แล้วอันไหนคือความ หมายที่ถูกต้องเมื่อใช้กับพระเยซูหรือ?  เป็นไปได้ไหมที่เราจะได้คำแปลที่ถูกต้องของ proskyneō ที่ไม่ได้ขึ้นกับข้อสันนิษฐานตามหลักคำสอน?  เราสามารถจะผ่าทางตันที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพตีความ proskyneō ให้หมายถึงการนมัสการพระเยซู และผู้ที่ไม่เชื่อในตรีเอกานุภาพให้หมายถึงการคุกเข่าลงต่อพระเยซูได้ไหม?

      การทำให้ปัญหาเลวร้ายลงก็คือว่า มัทธิว 2:11 (ซึ่งพวกนักปราชญ์ “นมัสการ” พระกุมารเยซู) ไม่มีหลักฐานภายใน[6]ที่ชัดเจนในการสนับสนุนการตีความแบบหนึ่งมากกว่าอีกแบบหนึ่ง  ถ้าคุณสันนิษฐานว่าพวกนักปราชญ์นมัสการพระเยซู proskyneō ก็จะหมายถึง “นมัสการ” กับคุณ  แต่ถ้าคุณเชื่อว่าพวกนักปราชญ์กราบไหว้พระเยซู proskyneō ก็จะหมายถึง “กราบไหว้” กับคุณ  ดังนั้นจะมีปัจจัยภายนอกและปัจจัยที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงอะไรไหมที่จะสามารถผ่าทางตันนี้ได้?

      ดีที่เรามีวิธีผ่าทางตัน เพราะมีข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้สี่ข้อ ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับสมมติฐานตามหลักคำสอน  ไม่มีข้อไหนที่เป็นข้อสรุปโดยตัวมันเอง แต่เมื่อนำเอาทั้งสี่ข้อมารวมกัน ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะชี้นำเราไปยังความหมายที่ถูกต้องของ proskyneō เมื่อใช้กับพระเยซู

 

ข้อเท็จจริงที่ 1: การนมัสการไม่ใช่ความหมายพื้นฐานของคำว่า proskyneō แต่เป็นความหมายที่แตกแขนงจากรากศัพท์

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษที่ได้มาตรฐานสองฉบับ คือฉบับ BDAG และ Thayer บ่งชี้ว่าการนมัสการเป็นเพียงความหมายรอง หรือความหมายที่แตกแขนงมาจากรากศัพท์ของ proskyneō  ฉบับ BDAG ให้หมายเหตุภาคคำแปลศัพท์ดังต่อไปนี้ (คำนิยามโดยสรุป) การอ้างอิงตรงนี้เป็นแบบคำต่อคำและในลำดับเหมือนในฉบับ BDAG (คำตัวหนาในที่เดียวเป็นของผม)

 

  • การแสดงท่าทีหรืออากัปกิริยาการพึ่งพาอย่างสิ้นเชิงของคนๆหนึ่ง หรือการยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้มีอำนาจระดับสูง
  • (หมอบลง และ) นมัสการ
  • ก้มคำนับต่อ
  • หมอบกราบตรงหน้า
  • ให้ความเคารพนับถือต่อ
  • ต้อนรับด้วยความเคารพ

 

      พจนานุกรมฉบับอื่น เช่น ของ Thayer ให้คำนิยาม proskyneō ดังต่อไปนี้ การอ้างอิงตรงนี้เป็นแบบคำต่อคำและในลำดับเหมือนในพจนานุกรม (ข้อมูลอ้างอิงถูกเว้นไว้, คำตัวหนาในที่เดียวเป็นของผม)

 

  • การจูบมือใครสักคน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือ
  • การคุกเข่าและหมอบลงโดยหน้าผากแตะพื้น เพื่อแสดงความเคารพนับถืออย่างสุดซึ้ง
  • การคุกเข่าหรือหมอบกราบเพื่อแสดงความเคารพ (กับใครสักคน) หรือการก้มคำนับ ไม่ว่าจะเพื่อแสดงความนับถือหรือเพื่อวิงวอน
  • เป็นการใช้ ก. แสดงความเคารพต่อมนุษย์ที่มีตำแหน่งที่สูง
  • ข. การถวายบังคมต่อพระเจ้าและพระคริสต์ที่เสด็จสู่สวรรค์ ต่อทูตสวรรค์ และต่อพวกผี: อย่างแท้จริง (หรือการ นมัสการ)

 

      ข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจก็คือว่า คำเล็กๆสองคำในพจนานุกรมฉบับ BDAG และ Thayer ซึ่งเป็นตัวหนานั้นเป็นเพียงคำนิยามเดียวของ proskyneō ที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการ  ในทั้งสองพจนา นุกรมนี้ได้ให้ความสำคัญกับความคิดเกี่ยวกับการนมัสการน้อยกว่าความคิดเกี่ยวกับการคุกเข่าหรือการกราบไหว้มาก  ความจริงแล้ว หนึ่งในสี่ของการอ้างอิงในพจนานุกรมฉบับ BDAG ระบุว่าเป็นการ “นมัสการ” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความหมายที่สำคัญกว่าของ proskyneō ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นไม่ใช่การนมัสการ แต่เป็นการคุกเข่าหรือการกราบไหว้  ความหมายของ “การนมัสการ” เป็นคำที่แยกออกมาแม้ว่าจะเป็นไปได้ในบางบริบท  นี่หมายความว่า เราไม่สามารถสรุปง่ายๆ ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าเพียงเพราะข้อเท็จจริงที่มีการใช้ proskyneō กับพระองค์  เราต้องการหลักฐานมากขึ้นที่นอก เหนือจากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่แทบไม่พอ

 

ข้อเท็จจริงที่ 2: แทบจะไม่มีการใช้ Proskyneō กับพระเยซูอีกต่อไป หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ แม้จะยังมีการใช้คำนี้อย่างต่อเนื่องในพระคัมภีร์ใหม่!

      คำว่า proskyneō มีปรากฏ 60 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยมีปรากฏ 29 ครั้งในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม และมีปรากฏ 31 ครั้งหลังพระกิตติคุณ  ดังนั้นการใช้ proskyneō จึงถูกแบ่งออกอย่างเท่าๆกันระหว่างพระกิตติคุณและส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่  เพื่อแสดงให้เห็นสิ่งนี้ เราได้รวมตารางสองตารางไว้ด้านล่าง มีตารางที่สั้นกว่าและตารางที่ยาวกว่า

      การแบ่งที่สมดุล (29 กับ 31 ครั้ง) มีความสำคัญเนื่องจากข้อเท็จจริงที่น่าแปลกใจว่า  หลังจากพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มแล้ว ก็ไม่มีการใช้ proskyneō กับพระเยซูอีกต่อไป (โดยยกเว้นสองครั้ง) แม้จะมีการใช้ proskyneō อย่างต่อเนื่องในพระคัมภีร์ใหม่!  พูดให้ชัดก็คือ proskyneō ใช้กับพระเยซู 17 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยใช้ 15 ครั้งในพระกิตติคุณทั้งสี่ แต่ใช้เพียงสองครั้งหลังจากพระกิตติคุณ  เราจะเห็นได้ในตารางต่อไปนี้ (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าตารามที่ “สั้นกว่า”)

 

การปรากฏ 17 ครั้งของ proskyneō ที่ใช้กับพระเยซูคริสต์

พระกิตติคุณทั้งสี่ (15 ครั้ง) หลังจากพระกิตติคุณ (2 ครั้ง)

มัทธิว 2:2

มัทธิว 2:8

มัทธิว 2:11

มัทธิว 4:9

มัทธิว 8:2

มัทธิว 9:18

มัทธิว 14:33

มัทธิว 15:25

มัทธิว 20:20

มัทธิว 28:9

มัทธิว 28:17

มาระโก 5:6

มาระโก 15:19

ลูกา 24:52

ยอห์น 9:38

ฮีบรู 1:6

วิวรณ์ 5:14

 

      ตารางถัดไปที่ยาวกว่า จะแสดงให้เห็นการปรากฏทั้งหมด 60 ครั้งของ proskyneō ในพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกฉบับ NA28  ตารางแบ่งออกเป็นสองส่วน คือพระกิตติคุณทั้งสี่ (มีปรากฏ 29 ครั้ง) และหลังพระกิตติคุณ (มีปรากฏ 31 ครั้ง)  ส่วน 17 ครั้งที่เน้นเป็นตัวหนาก็คือ 17 ครั้งที่อ้างถึงพระเยซู และเหมือนกับ 17 ข้อที่ระบุไว้ในตารางที่สั้นกว่า

 

การปรากฏทั้งหมด 60 ครั้งของ proskyneō ในพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก 

มัทธิว        2:2         2:8       2:11      4:9       4:10  8:2      9:18     14:33     15:25  18:26   

                   20:20    28:9     28:17      

มาระโก    5:6        15:19 

ลูกา            4:7        4:8        24:52   

ยอห์น       4:20      4:21      4:22      4:22      4:23     4:23     4:23   4:24      4:24    9:38    12:20

กิจการ            7:43     8:27      10:25     24:11

1 โครินธ์        14:25

ฮีบรู                 1:6      11:21

วิวรณ์             3:9      4:10        5:14       7:11       9:20     11:1    11:16    13:4   13:4    13:8      

               13:12   13:15  14:7   14:9   14:11   15 :4     16:2 19:4    19:10    19:10   

              19:20      20:    22:8      22:9

 

      จากทั้งสองตารางนี้ เราจะเห็นว่าไม่มีการใช้ proskyneō กับพระเยซูอีกต่อไปหลังจากพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม โดยยกเว้นสองข้อคือ ฮีบรู 1:6 และวิวรณ์ 5:14  แต่ฮีบรู 1:6 ไม่นับเป็นหลังพระกิตติคุณ เพราะเป็นการอ้างอิงถึงการกำเนิดทางกายภาพของพระเยซู

และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงนำพระบุตรหัวปีเข้ามาในโลก พระองค์ตรัสว่า “ให้ทูตสวรรค์ทั้งหมดของพระเจ้ากราบนมัสการพระองค์ (ฮีบรู 1:6, อ้างสดุดี 97:7, ฉบับ LXX 96:7)[7]

      ข้อนี้อยู่ในตอนหนึ่งในฮีบรูซึ่งประกาศว่าพระเยซูทรงอยู่เหนือกว่าทูตสวรรค์  แต่ในข้อนี้ไม่ได้ยึดความคิดเรื่องการนมัสการ  พระคัมภีร์ฉบับ NJB หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “นมัสการ” เมื่อแปลฮีบรู 1:6 ว่า “ให้ทูตสวรรค์ทั้งหมดของพระเจ้ากราบไหว้พระองค์”  ฉบับ ITNT ใช้คำว่า “ทูตสวรรค์ทั้งหมดของพระเจ้าจะต้องเคารพนับถือพระองค์”  และฉบับ REB ใช้คำว่า “ให้ทูตสวรรค์ทั้งหมดของ  พระเจ้ากราบไหว้พระองค์”

      แต่ข้อที่สำคัญกว่าสำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือวิวรณ์ 5:14 เพราะมันเป็นข้อเดียวในพระคัมภีร์ใหม่ที่ใกล้เคียงกับการนมัสการพระเยซูอย่างชัดเจนด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า proskyneō ได้ใช้กับพระเยซูพร้อมกันกับพระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์  เดี๋ยวต่อไปเราจะพูดถึงข้อนี้

 

ทำไมจู่ๆการใช้คำนี้ก็ลดลง?

      อะไรอาจเป็นเหตุผลของการลดการใช้คำนี้อย่างทันทีทันใด ซึ่งใกล้เคียงกับการหายไปในการใช้ proskyneō กับพระเยซูหลังจากพระกิตติคุณ (มีเพียงสองกรณีซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีเพียงกรณีเดียวเท่านั้น เมื่อเทียบกับ 15 กรณีในพระกิตติคุณ) แม้จะมีการใช้ proskyneō อย่างต่อเนื่องในพระคัมภีร์ใหม่?

      ปมประเด็นอยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่า จุดแบ่งระหว่างพระกิตติคุณกับส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่ ก็เป็นจุดแบ่งระหว่างพระเยซูที่อยู่ในโลกกับพระเยซูที่เสด็จสู่สวรรค์ด้วย  สิ่งนี้อธิบายได้ว่าทำไมจึงใช้ proskyneō กับพระเยซูเมื่อพระองค์ทรงปรากฏตัวตนอยู่ในโลก แต่ไม่ใช้เมื่อพระองค์ไม่มีตัวตนอยู่ในสวรรค์[8]

      ความจริงที่น่าประหลาดใจนี้บอกเราว่า เมื่อใดที่ proskyneō ใช้กับพระเยซูนั้น ควรจะเข้าใจว่าเป็นการกราบไหว้พระเยซูมากกว่าเป็นการนมัสการพระเยซู  หลังจากที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์แล้ว พระกายของพระองค์ไม่ได้อยู่บนโลกอีกต่อไป สิ่งนี้จะอธิบายได้ว่าทำไมผู้คนบนโลกจึงไม่ได้คุกเข่าต่อพระองค์อีกต่อไป

      แต่ถ้าเรารับเอามุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า proskyneō หมายถึงการนมัสการพระเยซูเป็นพระเจ้า มันก็ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนที่การนมัสการจะหยุดลงหลังจากที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์  เพราะถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าจริงๆดังที่พระองค์ทรงเป็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพละก็ การนมัสการพระเจ้าก็ควรจะดำเนินต่อไปเมื่อพระเยซูไม่ได้ทรงอยู่ เพราะว่าพระเจ้าผู้สถิตอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งได้ทุกที่ในจักรวาลทรงสามารถรับการนมัสการได้ทุกที่ในจักรวาลนี้  อันที่จริง ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า เราก็ควรคาดหวังว่าจะมีการใช้ proskyneō กับพระเยซูเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลงหลังจากที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ เพราะพระเยซูผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ ตอนนี้ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าที่ได้รับการยกย่องสูงสุด ผู้ที่ได้รับพระนามที่เหนือนามทั้งปวง

      ตามลำดับเหตุการณ์แล้ว การใช้ prosky­neō กับพระเยซูครั้งสุดท้ายก่อนวิวรณ์ 5:14 ก็คือลูกา 24:52 ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์!  นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลย  ลูกา 24:52 มีความสำคัญที่สุดในการกำหนดจุดตัดอย่างพอดีที่เส้นแบ่งระหว่างพระเยซูที่อยู่บนโลกกับพระเยซูที่เสด็จสู่สวรรค์

 

ข้อเท็จจริงที่ 3: Proskyneō ใช้โดยยอห์นเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาแทบไม่เคยใช้คำนี้กับพระเยซูเลย!

      จากการปรากฏของ proskyneō 60 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ จะพบ 35 ครั้งในการเขียนของยอห์นกับอีก 25 ครั้งในส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งทำให้ proskyneō เป็นคำที่ยอห์นใช้มากกว่าใคร  แต่ยอห์นใช้ proskyneō กับพระเยซูเพียงสองครั้งในการเขียนทั้งหมดของเขา! (ดูตารางที่ยาวกว่าด้านบน)  สองครั้งที่กล่าวถึงนี้คือ ยอห์น 9:38 (ชายที่เคยตาบอดมาก่อนได้กราบลงตรงหน้าพระเยซู) และวิวรณ์ 5:14 (ข้อที่เราได้อ้างอิงและเดี๋ยวจะกล่าวถึง)

      ในทางกลับกัน ยอห์นใช้ proskyneō สิบครั้งในความหมายที่สมบูรณ์ของการนมัสการกับการนมัสการซาตาน หรือสัตว์ร้าย หรือรูปจำลองของสัตว์ร้าย![9]

      แม้ proskyneō จะเป็นคำที่ยอห์นใช้มากกว่าใคร แต่ยอห์นก็แทบจะไม่เคยใช้คำนี้กับพระเยซูเลย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่น่าแปลกใจเมื่อบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมองการเขียนของยอห์นว่าสนับสนุนศาสนศาสตร์เกี่ยวกับองค์พระคริสต์อย่างเต็มที่  แต่จริงๆแล้วไม่มีอะไรที่น่าตกใจในเรื่องนี้เลย เพราะพระเยซูก็ทรงประกาศในพระกิตติคุณยอห์นว่า พระบิดาของพระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว (ยอห์น 17:3)[10]  ในพระกิตติคุณเดียวกันนี้ เราเห็นความตั้งพระทัยของพระเยซู เมื่อพระองค์เตือนเราให้นมัสการพระบิดาของพระองค์ว่า “นมัสการพระบิดา” (ยอห์น 4:21)[11]  และ     “คนที่นมัสการอย่างแท้จริง จะนมัสการพระบิดาด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้นมานมัสการพระองค์” (ข้อ 23)

 

ข้อเท็จจริงที่ 4:  กลุ่มคำ latreuein ไม่เคยนำมาใช้กับพระเยซู

      เราจะแบ่งออกเป็นข้อย่อยเพื่อช่วยในการอธิบายประเด็นที่สี่ ดังนี้

 

      • โดย “กลุ่มคำ” เราหมายถึงกลุ่มของคำที่มีรากศัพท์คำกรีกเดียวกัน ในกรณีนี้เรากำลังพูดถึง

          กลุ่มคำซึ่งประกอบด้วยคำที่เกี่ยวข้องสามคำคือ latreuein, latreia, leitourgein

  • สามคำนี้มีความหมายตามลำดับคือ (i) การรับใช้หรือการปฏิบัติศาสนกิจ เป็นกิจกรรมทางศาสนา (ii) การอุทิศตัวทางศาสนา (iii) การทำการปรนนิบัติรับใช้ทางศาสนา  คำว่า “ทางศาสนา” เกี่ยวข้องกับการอุทิศตัวทางศาสนาแด่พระเจ้า
  • ข้อสังเกตที่สำคัญคือ กลุ่มคำ latreuein แสดงถึงการนมัสการพระเจ้ามากยิ่งกว่ากลุ่มคำอื่นในพระคัมภีร์ใหม่ แต่ก็ไม่เคยใช้กับพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่!

 

      เรื่องนี้ได้อธิบายไว้ในข้อ 1.2 ของหนังสือ “คริสเตียนเริ่มแรกนมัสการพระเยซูหรือไม่?” ของเจมส์ ดี จี ดันน์[12]  ข้อความที่ตัดตอนมาต่อไปนี้เอามาจากหน้า 13-15 ของหนังสือเล่มนี้ (โดยเว้นเชิงอรรถ จงสังเกตคำตัวหนาที่ผมได้เพิ่มไว้)

 

คำพ้องความหมายที่ใกล้เคียงอีกคำที่พบมากที่สุด คือ latreuein ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึง “การรับใช้”  แต่ในวรรณกรรมเกี่ยวกับพระคัมภีร์นั้น การอ้างอิงมักจะเป็นการปรนนิบัติรับใช้ทางศาสนาเสมอ  เป็นการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา  เป็น ‘การให้การปรนนิบัติรับใช้ทางศาสนา’

. . . . .

และในพระคัมภีร์หลายตอนแปล latreuein ว่า ‘นมัสการ’ ในฉบับแปลภาษาอังกฤษฉบับต่างๆ  เป็นที่สังเกตได้ว่า กรรมของคำกริยาในแต่ละกรณี ผู้ที่ (รับ) การปรนนิบัติรับใช้/การนมัสการ ก็คือพระเจ้า  นอกเหนือจากการอ้างอิงครั้งหรือสองครั้งถึงการนมัสการที่เทียมเท็จแล้ว การอ้างอิงก็มักจะเป็นการปรนนิบัติรับใช้ทางศาสนา/การนมัสการพระเจ้าเสมอ  ไม่มีในกรณีใดเลยในพระคัมภีร์ใหม่ที่พูดถึงการถวายนมัสการทางศาสนา (latreuein) กับพระเยซู

. . . . .

เช่นเดียวกับ  latreuein  กับคำนามที่เข้าคู่กันคือ latreia, ‘การปรนนิบัติรับใช้ การนมัสการ (ทางศาสนา)’  มันหมายถึงการนมัสการพระเจ้าเสมอ ... ในที่นี้เราจะต้องสังเกตว่า จำนวนการอ้างอิงของ latreia มีจำกัดมาก และ ‘การปรนนิบัติรับใช้/การนมัสการ’ ตรงนี้ก็เช่นกันที่ไม่เคยมีแนวคิดว่าเป็นการถวายแด่พระเยซู

. . . . .

โปรดจำไว้ว่า กลุ่มคำ latreuein คือคำที่ใกล้เคียงที่สุดสำหรับการถวายการ ‘นมัสการทางศาสนา’  ข้อเท็จจริงที่ว่า คำนี้ไม่เคยนำมาใช้เพื่อ การอุทิศตนทางศาสนา’ กับพระคริสต์ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นค่อนข้างน่าแปลกใจสำหรับบทความวิจัยหลักของเฮอร์ทาโด[13] และควรให้ความสนใจบ้าง

 

สรุปข้อเท็จจริงสี่ประการ: พระเยซูไม่ได้รับการนมัสการ

      เราได้เสนอข้อเท็จจริงสี่ประการที่สามารถตรวจสอบความเป็นจริงได้อย่างไม่มีอคติ ได้อย่างเด่นชัด และได้อย่างเป็นกลาง  ข้อเท็จจริงสี่ประการนี้ไม่มีข้อสรุปโดยตัวของมันเอง แต่เมื่อนำมารวมกัน ข้อเท็จจริงทั้งสี่นี้แสดงให้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อใช้ proskyneō กับพระเยซูก็จะหมายถึงการคุกเข่าลงต่อพระเยซู หรือให้ความเคารพนับถือต่อพระองค์ หรือแสดงความคารวะต่อพระองค์ และไม่ได้เป็นการนมัสการพระองค์เป็นพระเจ้า  ที่จริงพระเยซูทรงเตือนเราให้นมัสการผู้ที่พระองค์ทรงเรียกว่า “พระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน” และ “พระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน” (ยอห์น 20:17)  การนมัสการที่แท้จริงไม่ใช่การนมัสการพระเยซู แต่เป็นการนมัสการด้วยกันกับพระเยซู

 

กรณีพิเศษของวิวรณ์ 5:14

                                       

ต่อไปนี้มาจากสิ่งที่พูดกันมาก่อนหน้านี้ในบทที่ 6 แต่กระชับในแบบเป็นบทสรุปที่เหมาะกับการพิจารณาของเราในตอนนี้

      คำว่า proskyneō มีปรากฏ 60 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยพบ 24 ครั้ง (40%) ในวิวรณ์  นั่นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงสำหรับหนังสือเล่มเดียว แต่ก็ไม่มีกรณีใดในวิวรณ์ที่ proskyneō ใช้กับพระเยซู นอก จากข้อยกเว้นเดียวของวิวรณ์ 5:14 ที่ผู้อาวุโสทั้ง 24 คน “นมัสการ” พระเจ้าและพระเยซู  ในข้อนี้ การนมัสการ (proskyneō) ไม่ได้มุ่งไปที่พระเยซูเพียงผู้เดียว แต่ยังมุ่งไปที่พระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์ด้วย

      นี่เป็นข้อสังเกตที่สำคัญมากว่า ในหนังสือวิวรณ์ที่นอกจากวิวรณ์ 5:14 แล้ว proskyneō มักจะหมายถึงพระเจ้าเสมอและไม่เคยใช้พระเยซูเลย โดยไม่มีข้อยกเว้น (ไม่นับการนมัสการสัตว์ร้าย หรือรูปจำลองของสัตว์ร้าย)  ดังนั้นจึงเห็นชัดเจนว่า เมื่อมีการใช้ proskyneō กับทั้งพระเจ้าและพระเยซูในวิวรณ์ 5:14 เพียงข้อเดียวนั้น ก็จะเป็นพระเจ้าและไม่ใช่พระเยซู ที่เป็นเหตุผลสำคัญในการใช้ proskyneō  นี่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในบริบทถัดมาของวิวรณ์ 5:14 ที่ผู้เป็นศูนย์กลางคือพระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์

      เรานึกถึงวิธีที่ชาวอิสราเอลกราบลงต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้ากษัตริย์ดาวิด (โปรดสังเกตคำที่เน้น)

 

1 พงศาวดาร 29:20  แล้วดาวิดก็ตรัสกับชุมนุมชนทั้งหมดว่า “บัดนี้ จงสรรเสริญพระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกท่านเถิด!” และชุมนุมชนทั้งหมดก็สรรเสริญพระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของพวกเขา และกราบถวายบังคมต่อพระยาห์เวห์และต่อกษัตริย์” (ฉบับ NJB)[14]

 

      ข้อนี้ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู มีคำ YHWH ปรากฏสามครั้ง  ข้อนี้ในพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ LXX คำว่า “กราบถวายบังคม” ตรงกับคำ proskyneō คำเดียวกับที่ใช้ในวิวรณ์ 5:14

      การใช้ proskyneō ใน 1 พงศาวดาร 29:20 มีความสำคัญเพราะมันบอกเราว่าพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ LXX ไม่ลังเลที่จะใช้ proskyneō กับดาวิดเลย เมื่อคำนี้ก็ใช้กับพระยาห์เวห์ด้วย!  ความคล้ายคลึงระหว่างดาวิดใน 1 พงศาวดาร 29: 20 กับพระเยซูในวิวรณ์ 5:14 ก็เด่นชัดขึ้นด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า พระเยซูคือพระเมสสิยาห์จากเชื้อสายดาวิด  เราสังเกตเห็นอีกว่าใน 1 พงศาวดาร 29:20 ผู้ที่เป็นเป้าหมายหลักให้รับการนมัสการนั้นไม่ใช่ดาวิด แต่เป็นพระยาห์เวห์ จากที่ดาวิดตรัสว่า “บัดนี้ จงสรรเสริญพระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกท่านเถิด”  แต่นั่นก็ไม่ได้ตัดโอกาสดาวิด (หรือพระเยซูในวิวรณ์ 5:14) จากการเป็นผู้รับ proskyneō ร่วมกับพระยาห์เวห์!

 

ในพระคัมภีร์ใหม่

 

 

คำอธิษฐานกล่าวกับพระเจ้า ไม่ใช่กับพระเยซูคริสต์

 

      นบทก่อนหน้านี้ เราได้สำรวจพระคัมภีร์ใหม่เพื่อดูว่า คำสรรเสริญและคำขอบพระคุณที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ใหม่นั้น มุ่งไปที่พระคริสต์ในแบบเดียวกับที่คำสรรเสริญและคำขอบพระคุณมุ่งไปที่พระเจ้าพระบิดาหรือไม่  หลักฐานจากพระคัมภีร์อย่างล้นหลามแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้นแน่นอน

      แล้วคำอธิษฐานล่ะ?  คำอธิษฐานที่กล่าวกับพระเยซูเป็นแบบเดียวกับที่กล่าวกับหรือควรกล่าวกับพระบิดาไหม?  เพื่อตอบคำถามนี้ เราจะมาดูขอบเขตของคำกรีกซึ่งครอบคลุมแง่มุมต่างๆของการอธิษฐาน  โดยเฉพาะการร้องขอต่อพระเจ้าในการอธิษฐาน

 

คำกรีกสำหรับการร้องขอต่อพระเจ้าในการอธิษฐาน

      คำกริยา erōtaō (ρωτάω, ขอ, ร้องขอ) มีปรากฏ 63 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ มีเจ็ดครั้งที่เป็นความหมายของการร้องขอต่อพระเจ้าในการอธิษฐาน  ทั้งเจ็ดครั้งนี้พบในการเขียนของยอห์น ที่หกครั้งอยู่ในพระกิตติคุณยอห์นและอีกหนึ่งครั้งอยู่ใน 1 ยอห์น  ต่อไปนี้เป็นเจ็ดตัวอย่างดังกล่าว (สองตัวอย่างอยู่ในยอห์น 17:9) ข้อทั้งหมดอ้างอิงจากฉบับ ESV  ในแต่ละและในทุกตัวอย่างนั้นเป็นการร้องขอต่อพระเจ้าพระบิดา ไม่ใช่การร้องขอต่อพระเยซูคริสต์

 

ยอห์น 14:16      เราจะทูลขอพระบิดา

ยอห์น 16:26      เราจะทูลขอพระบิดาเพื่อท่าน

ยอห์น 17:9        ข้าพระองค์อธิษฐานเพื่อพวกเขา ข้าพระองค์ไม่ได้อธิษฐานเพื่อโลก แต่เพื่อคน

                      เหล่านั้นที่พระองค์ได้ประทานแก่ข้าพระองค์

ยอห์น 17:15      ข้าพระองค์ไม่ได้ทูลขอให้พระองค์เอาพวกเขาออกไปจากโลก

ยอห์น 17:20      ข้าพระองค์ไม่ได้ทูลขอเพื่อคนเหล่านี้เท่านั้น

1 ยอห์น 5:16     ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่าให้อธิษฐานในเรื่องบาป​​นั้น

 

      คำกริยาอีกคำหนึ่งคือ aiteō (αἰτέω, ขอ) มีปรากฏ 70 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยที่ 29 ครั้งมีความหมายของการร้องขอต่อพระเจ้าในการอธิษฐาน  จาก 29 ครั้งนี้ จะพบแปดครั้งในพระกิตติคุณยอห์น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในบทที่ 14 ถึงบทที่ 16 และห้าครั้งพบใน 1 ยอห์น[15]  นี่ทำให้ที่เหลืออีก 16 ครั้งพบอยู่นอกเหนือจากงานเขียนของยอห์น[16]  จะเห็นอีกครั้งว่า ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการร้องขอในการอธิษฐานต่อพระเจ้า ไม่ใช่ต่อพระเยซูคริสต์

      เราจะพูดถึงอีกสองคำ คำแรกคือ deomai (δέομαι, ขอ, วิงวอน, ร้องขอ, อ้อนวอน) ซึ่งปรากฏ 22 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยส่วนใหญ่จะปรากฏในลูกา-กิจการ (15 ครั้ง)  คำนี้มีปรากฏครั้งเดียวในมัทธิวและไม่เคยปรากฏในงานเขียนของยอห์นเลย  และมีปรากฏหกครั้งในงานเขียนของเปาโล (โรม 1:10; 2 โครินธ์ 5:20; 8:4; 10:2; กาลาเทีย 4:12; 1 เธสะโลนิกา 3:10) แต่มีเฉพาะในโรม 1:10 และ 1 เธสะโลนิกา 3:10 ที่คำนี้หมายถึงการอธิษฐาน

      อีกคำหนึ่งคือคำนาม deēsis (δέησις, การวิงวอน, การอธิษฐาน) ซึ่งเปาโลมักจะใช้ในการอธิษฐาน จากการปรากฏทั้งหมด 18 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่นั้นจะพบ 12 ครั้งในจดหมายของเปาโล

      สิ่งที่เกี่ยวกับคำสองคำนี้ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ deomai หรือ deēsis ใช้กับการอธิษฐานในพระคัมภีร์ใหม่ มันจะหมายถึงการอธิษฐานต่อพระบิดาเสมอโดยไม่มีข้อยกเว้น  ในหลายตัวอย่างที่พระเยซูทรงใช้คำนี้อธิษฐานต่อพระบิดา ตัวอย่างเช่น ในลูกา 22:32 ที่พระเยซูทรงใช้ deomai อธิษฐานต่อพระบิดาเพื่อเปโตร  ในฮีบรู 5:7 คำว่า deēsis  ที่พระเยซูทรงใช้ “ถวายคำอธิษฐาน และคำร้องขอด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหล ต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตายได้

 

 

คำที่ใช้กับการอธิษฐาน

      คำว่า  parakaleō (παρακαλέω, วิงวอน, เตือนสติ, ชูใจ) มีปรากฏ 109 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ แต่มีเพียงสองครั้งในความหมายของการอธิษฐาน  คำนี้ไม่ใช่คำตามปกติสำหรับการอธิษฐาน แต่เป็นคำที่ให้ความหมาย “ร้องขอความช่วยเหลือ” (พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG)  ตัวอย่างแรกของคำนี้ที่มีความหมายของการอธิษฐานคือมัทธิว 26:53[17] ซึ่งพระเยซูตรัสถามอย่างฉะฉานขณะเมื่อพระองค์กำลังถูกจับกุมในเกทเสมนีว่า ถ้าพระองค์จะทูลพระบิดาให้ช่วย แล้วพระบิดาจะไม่ประทานทูตสวรรค์ให้พระองค์มากกว่าสิบสองกองพลในทันทีหรือ

      อีกตัวอย่างเดียวของ parakaleō ในความหมายของการอธิษฐานจะพบได้ใน 2 โครินธ์ 12:8[18] ที่เปาโลกล่าวว่าเขาวิงวอนถึงสามครั้งต่อองค์ผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าพระเยซูหรือพระเจ้า เพื่อให้หนามออกไปจากเนื้อ  แต่เนื่องจาก parakaleō ไม่ใช่คำตามปกติสำหรับการอธิษฐาน (ซึ่งใช้เพียงสองครั้งในความหมายนี้) แม้จะเป็นคำทั่วไปในพระคัมภีร์ใหม่ (109 ครั้ง, ที่มักจะเป็นคำวิงวอนขอความช่วย เหลือ) แต่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการอธิษฐาน  อย่างไรก็ตาม เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ ในการตรวจสอบของเราโดยรวมเกี่ยวกับการอธิษฐานในพระคัมภีร์ใหม่อาจทำให้เราต้องสังเกตว่า 2 โครินธ์ 12:8  ข้อเดียวนี้ ไม่ได้ปฏิเสธรูปแบบของพระคัมภีร์ที่สอดคล้องกันว่า การอธิษฐานเป็นการกล่าวกับพระบิดาแต่เพียงผู้เดียว

      แล้วอะไรคือคำที่ใช้กับการอธิษฐานมากกว่า?  ในพระคัมภีร์ใหม่ คำหลักสำหรับการอธิษฐานคือคำกริยา proseuchomai (προσεύχομαι) และคำนาม proseuchē (προσεύχη)  คำเหล่านี้มีปรากฏ 85 และ 36 ครั้งตามลำดับรวมทั้งหมดแล้ว 121 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่[19]

      เมื่อพิจารณาถึงความมีมากกว่าของสองคำนี้ มันน่าประหลาดใจว่าไม่มีสักตัวอย่าง หรืออย่างมากที่สุดก็หนึ่งหรือสองตัวอย่างที่มีการถกเถียงกันและกล่าวอ้อมๆในพระคัมภีร์ใหม่ เกี่ยวกับคำ proseuchomai หรือ proseuchē ว่าใช้กล่าวกับพระคริสต์  ในทางกลับกันแล้ว ถ้อยคำเหล่านี้มักใช้โดยพระเยซูในการอธิษฐานต่อพระบิดาในช่วงที่ทรงรับใช้อยู่ในโลก  แม้หลังจากที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์แล้ว ก็ไม่ได้มีการหนุนใจให้เรากล่าวคำอธิษฐานของเรากับพระเยซูคริสต์เลย  แต่ในทางตรง กันข้าม พระองค์ยังทรงอธิษฐานหรือทูลขอเพื่อเราอย่างต่อเนื่อง

 

โรม 8:34 ใครเล่าจะกล่าวโทษอีก?  พระเยซูคริสต์เป็นผู้ที่สิ้นพระชนม์​ ​ยิ่งกว่านั้นทรงถูกทำให้​​เป็นขึ้น​​จากความตาย ผู้ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า ผู้ทรงอธิษฐานวิงวอนเพื่อเราอย่างแท้จริง (ฉบับ ESV)

ฮีบรู 7:25 เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทรงสามารถช่วยคนทั้งปวงที่เข้ามาใกล้พระเจ้าโดยทางพระองค์จนถึงที่สุด เพราะ​​พระองค์ทรงพระชนม์อยู่เสมอเพื่อการวิงวอนเผื่อคนเหล่านั้น (ฉบับ ESV)

 

      ในสองข้อนี้คำว่า “วิงวอน” หรือ “การวิงวอน” ได้แปลมาจากคำกริยา entynchanō (ἐντυγχάνω, วิงวอน, อ้อนวอน)  ในข้อแรก มีการใช้คำนี้ในการทูลอ้อนวอนของพระคริสต์ต่อพระเจ้าแทนเรา  นอกจากนี้ยังใช้ในโรม 8:27 ที่พระวิญญาณทรงวิงวอนเพื่อเรา

      สุดท้ายนี้ คำว่า enteuxis (ἐντευξις, การอ้อนวอน, การวิงวอน) จะพบใน 1 ทิโมธี 2:1 และ 4:5  ใน 1 ทิโมธี 2:1[20] คำนี้ใช้กับอีกสามคำที่เกี่ยวข้องกับการอธิษฐาน (deēsis, proseuchē, eucharistia, ตรวจสอบแล้ว)  ตามที่คาดไว้ ในทั้งสองข้อนี้ enteuxis หมายถึงคำอธิษฐานที่เหล่าสาวกหรือบรรดาผู้เชื่ออธิษฐานกับพระเจ้า

 

บทสรุป

      การสำรวจของเราเกี่ยวกับการอธิษฐานในพระคัมภีร์ใหม่ ไม่ได้แสดงให้เห็นการแนะนำใดๆเป็นพิเศษให้อธิษฐานกับพระคริสต์  แต่ตรงกันข้ามที่ในยุคนี้พระคริสต์ยังคงทรงอธิษฐานและทูลวิงวอนกับพระบิดาเพื่อเราอยู่เสมอ

      หลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ หลังยุคเพ็นเทคอสต์แล้ว มีเพียงตัวอย่างเดียวของการอ้อนวอนที่กล่าวกับพระเยซูคือการที่สเทเฟนมอบจิตวิญญาณของเขาไว้กับพระเยซู (“ข้าแต่พระเยซู องค์​​ผู้เป็นเจ้า ขอทรงรับจิตวิญญาณของข้าพระองค์ด้วย” กิจการ 7:59) ตามด้วยคำวิงวอนให้ยกโทษผู้ที่ข่มเหงเขา (“ข้าแต่องค์ผู้เป็นเจ้า ขอโปรดอย่าถือโทษพวกเขาเพราะบาปนี้” ข้อ 60)  แต่นี่เป็นกรณีของสาวกที่มอบฝากจิตวิญญาณของเขาไว้กับองค์ผู้เป็นเจ้าของเขาเมื่อกำลังจะสิ้นใจ เหมือนที่แกะมอบตัวมันเองกับผู้เลี้ยงของมัน และทำตามอย่างพระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้าผู้ทรงร้องขอให้ยกโทษผู้ที่ข่มเหงพระองค์ในทำนองเดียวกัน (ลูกา 23:34)[21]

      อีกตัวอย่างหนึ่งที่พบในวิวรณ์ 22:20 ซึ่งเราจะเห็นคำอุทานที่เป็นการเชื้อเชิญว่า “อาเมน พระเยซูองค์​​ผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด!” เพื่อตอบกลับคำประกาศที่ว่า “เราจะมาในเร็วๆนี้แน่นอน”  แต่คำกล่าวนี้แทบจะไม่สามารถจัดว่าเป็นคำอธิษฐานตามความหมายปกติของคำได้

      นี่เป็นเพียงสอง “คำอธิษฐาน” ในพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งมุ่งไปที่พระเยซูตามคำนิยามที่กว้างสุดที่เป็นได้ของคำว่า “คำอธิษฐาน”  ที่จริงแล้วสองคำอธิษฐานนี้จะถูกต้องมากกว่าเมื่ออธิบายว่าเป็นคำอุทานกับพระเยซู ไม่ใช่คำอธิษฐานกับพระเยซู

 

ร้องออกพระนามของพระเยซูไหม?

      แล้วการร้องออกพระนามของพระเยซูล่ะ?  ให้เราพิจารณาดังต่อไปนี้

 

เรียน คริสตจักรของพระเจ้าที่อยู่ในโครินธ์ ผู้ที่ได้รับการทรงชำระให้บริสุทธิ์ในพระเยซูคริสต์ ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกให้เป็นธรรมิกชนด้วยกันกับคนทั้งปวงในทุกหนทุกแห่งที่ร้องออกพระนามพระเยซูคริสต์องค์ผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นองค์ผู้เป็นเจ้า​​ของพวกเขาและของเรา (1 โครินธ์ 1:2, ฉบับ ESV)

 

      เราสังเกตเห็นสองอย่าง  อย่างแรกตามที่เห็นในข้อนี้ว่าสำหรับเปาโลแล้ว คริสตจักรไม่ได้เป็น “คริสตจักรของพระเยซูคริสต์” หรือ “คริสตจักรของพระคริสต์” แต่เป็น “คริสตจักรของพระเจ้า” ซึ่งคำที่มีปรากฏหลายครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ (กิจการ 20:28; 1 โครินธ์ 1:2; 10:32; 11:22; 15:9; 2 โครินธ์ 1:1; กาลาเทีย 1:13; 1 ทิโมธี 3:5, 15)[22] ในขณะที่มีคำคล้ายกันเพียงตัวอย่างเดียวที่ใช้เกี่ยวกับพระคริสต์ นั่นคือ “คริสตจักรของพระคริสต์” (โรม 16:16)[23] ซึ่งเป็นการอ้างถึงคริสตจักรบางแห่งในภูมิภาคที่ส่งคำทักทายของพวกเขาไปยังกรุงโรม  แต่เมื่อเปาโลกล่าวถึงคริสตจักรโดยรวมนั้น เขาจะใช้ “คริสตจักรของพระเจ้า” และไม่เคยใช้ “คริสตจักรของพระคริสต์”

      อย่างที่สอง คำเรียก “องค์​​ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ที่ใช้กับพระเยซูคริสต์ใน 1 โครินธ์ 1:2 นั้นแทบจะไม่สามารถใช้กับพระเจ้าผู้ที่ดำรงนิรันดร์ผู้เป็น “พระเจ้าพระบุตร” พระเจ้าพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ เพราะ “องค์​​ผู้เป็นเจ้า” (Lord) เป็นคำเรียกในความหมายของการยกย่องที่ให้เกียรติพระเยซูเท่านั้นหลังจากที่พระองค์ทรงฟื้นจากความตาย  พระเจ้าเป็นผู้ทรงทำให้พระเยซูเป็น “ทั้งองค์ผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์” (กิจการ 2:36; เปรียบเทียบ 5:31; โรม 14:9)[24]  คำเรียกที่ได้รับยกย่องว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) นี้ไม่ควรจะสับสนกับ “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ตามความหมายในชีวิต ประจำวันในพระกิตติคุณ ที่มีผู้คนกล่าวกับพระเยซูว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ในความหมายว่า “พระองค์เจ้าข้า” หรือ “ท่านเจ้าข้า” หรือ “นายเจ้าข้า” หรือ “อาจารย์เจ้าข้า”

      คำกรีกว่า kyrios ( “Lord” หรือ “ลอร์ด”) เป็นคำที่ใช้ปกติในชีวิตประจำวันในรูปแบบคำพูดด้วยความนับถือเหมือนกับคำว่า “ท่าน” หรือ “คุณ” โดยไม่มีสิ่งบ่งชี้ถึงความเป็นพระเจ้า พวกฟาริสีใช้ kyrios กับปอนทิอัสปีลาต (มัทธิว 27:63)[25]  หญิงชาวสะมาเรียใช้คำนี้กับพระเยซูก่อนจะรู้ว่าพระองค์เป็นผู้เผยพระวจนะ (ยอห์น 4:11)[26]  ชาวกรีกบางคนใช้คำนี้กับฟีลิป (ยอห์น 12:21)  นายคุกชาวฟีลิปปีใช้คำนี้กับเปาโลและสิลาส (กิจการ 16:30)  ยอห์นใช้กับคนหนึ่งในพวกผู้อาวุโส 24 คนในนิมิตแห่งสวรรค์ (วิวรณ์ 7:14)

      ในพระคัมภีร์เดิมภาษากรีก (ฉบับ LXX) นางซาราห์ใช้ kyrios กับอับราฮัม (ปฐมกาล 18:12)[27]  เธอไม่ได้พูดภาษากรีกกับสามีของเธอแน่นอน ประเด็นอยู่ที่ว่า ผู้แปลชาวยิวของฉบับ LXX (ซึ่งมีมาก่อนคริสต์ศาสนา) ได้ใช้ kyrios กับมนุษย์โดยไม่ลังเล  ในหนังสือปฐมกาลเพียงเล่มเดียว มีการใช้ kyrios โดยเอโฟรน คนฮิตไทต์ (ใช้กับอับราฮัม, 23:11), โดยเรเบคาห์ (ใช้กับคนใช้ของอับราฮัม, 24:18),[28] โดยราเชล (ใช้กับบิดาของเธอ, 31:35),[29]  โดยยาโคบ (ใช้กับเอซาว, 33:13), โดยพี่น้องของโยเซฟ (ใช้กับโยเซฟ, 42:10),[30] โดยยูดาห์ (ใช้กับโยเซฟ, 44:16) และโยเซฟ (ใช้กับตัวเขาเอง, 45:8)

      เพราะพระเยซูทรงเชื่อฟังพระบิดาของพระองค์จนถึงความตาย  พระเจ้าจึงทรงพอพระทัยที่จะยกย่องพระองค์ขึ้นในระดับสูงสุดจน “ทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์​​ผู้เป็นเจ้า เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าพระบิดา” (ฟีลิปปี 2:11)  การเป็นองค์เจ้านายนี้ไม่ได้เทียบเท่ากับพระเจ้าที่กล่าวถึงแต่อย่างใด  ตรงนี้เปาโลพูดถึงการที่พระเยซูทรงได้รับการยกย่องจากพระเจ้า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า  การยอมรับว่า “พระเยซูทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้า” ก็คือการยอมรับว่า พระยาห์เวห์ทรงยกย่องพระบุตรด้วยคำเรียกนี้ เนื่องจากความจงรักภักดีและการเชื่อฟังอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อพระบิดาของพระองค์ (เรื่องนี้จะกล่าวถึงต่อไปในบทที่ 10)

      เนื่องจากประเด็นเบื้องหลังเหล่านี้ของพระคัมภีร์ใหม่ เราจึงสามารถเข้าใจความหมายของการ “ร้องออกพระนามพระเยซูคริสต์องค์​​ผู้เป็นเจ้าของเรา” (1 โครินธ์ 1:2) ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นถ้อยคำ       ที่ปรากฏเฉพาะในข้อนี้เท่านั้นจากพระคัมภีร์ใหม่ทั้งเล่ม  เมื่อพิจารณาถึงการยกย่องพระคริสต์ใน    ฟีลิปปี 2:9-11 ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าคำกล่าวนี้ไม่ได้ปรากฏบ่อยกว่าที่เป็นอยู่  แม้แต่สิ่งที่คล้ายคลึงกันก็มีน้อยและส่วนใหญ่จะพบในกิจการ (ข้อต่อไปนี้มาจากฉบับ ESV)

 

กิจการ 9:14 และที่นี่ (เซาโล) ​​ได้สิทธิอำนาจจากพวกหัวหน้าปุโรหิตให้มาจับทุกคน ​​ที่ร้องออกพระนามของพระองค์

กิจการ 9:21  และทุกคนที่ได้ยิน (เซาโล)​​​ ก็ประหลาดใจพูดกันว่า “คนนี้ไม่ใช่หรือที่ทำร้ายผู้คนในกรุงเยรูซาเล็มที่ร้องออกพระนามนี้?

กิจการ 22:16 และบัดนี้ท่านรีรออยู่ทำไม? จงลุกขึ้นและรับบัพติศมา และชำระล้างบาปทั้งหลายของท่าน โดยร้อง​​ออกพระนามของพระองค์

 

      พระเยซูทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้า (โคโลสี 1:15) และเป็นผู้มีอำนาจเต็มและตัวแทนของพระยาห์เวห์ เป็นผู้เสด็จมาในพระนามของพระยาห์เวห์  การร้องออกพระนามของพระเยซูผู้ทรงได้รับการยกย่องและการถวายเกียรติก็คือการร้องออกพระนามของพระยาห์เวห์ ผู้ทรงส่งพระองค์มาและสถิตอยู่ในพระองค์  ในทำนองเดียวกันกับการร้องออก “พระนามขององค์ผู้เป็นเจ้า” ในโรม 10:13 (ข้ออ้างอิงจากโยเอล 2:32) อาจหมายถึงการร้องออกพระนามของพระเยซูที่เราก็ร้องออก   พระนามของพระยาห์เวห์โดยทางพระองค์นั้น

 

                  เราสามารถอธิษฐานโดยตรงต่อพระเจ้าพระบิดา

      มื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น เราได้นมัสการและอธิษฐานต่อพระเยซู  บางครั้งเราจะอธิษฐานต่อ “พระบิดา” ที่ไม่ระบุชื่อของตรีเอกานุภาพ แต่จากนั้นก็จะอธิษฐานในพระนามของพระเยซูเสมอด้วยความเชื่อว่าเราไม่สามารถจะอธิษฐานต่อพระบิดาได้เว้นแต่โดยผ่านพระบุตร  การที่เราไม่สนใจพระบิดาไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อนก็เพราะเรามีพระเยซูที่ถือว่าเป็นพระเจ้า เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าเราจะเข้าถึงพระเจ้าไม่ได้  แต่เมื่อพระเจ้าได้ทรงเริ่มเปิดตาของผมด้วยพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ให้มองเห็นจากพระคัมภีร์ในมุมมองที่น่าอัศจรรย์ของความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ผมรู้สึกประหลาดใจที่เมื่อมองพระคัมภีร์ใหม่อีกครั้งแล้วพบว่า คริสตจักรของพระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้นมัสการหรืออธิษฐานต่อพระเยซู เหมือนเราที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้ทำ  ตามการบันทึกของพระคัมภีร์ใหม่นั้นไม่มีคำอธิษฐานต่อพระเยซู แม้บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะถือว่าคำอุทานในกิจการ 7:59 และวิวรณ์ 22:20 เป็นคำอธิษฐานก็ตาม แต่นั่นจะเป็นไปได้ก็โดยขยายคำนิยามของการอธิษฐานให้รวมถึงทุกคำอุทานที่เป็นประโยคเดียวกับพระเยซู

      หลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์และมีการเทของพระวิญญาณลงมายังคริสตจักรในวันเทศกาลเพ็นเทคอสต์นั้น คำอธิษฐานของผู้เชื่อในยุคแรกๆได้ทูลกับพระเจ้า (พระยาห์เวห์) ในขณะที่พระเยซูทรงถูกกล่าวถึงว่าเป็น “ผู้รับใช้” ของพระองค์ (pais, เช่น กิจการ 3:13, 26; 4:27, 30)[31]  ในส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่ก็ไม่ได้ทิ้งการอธิษฐานต่อพระเจ้าเท่านั้น  แม้ว่าจะมีการกล่าวในฟีลิปปี 2:10 (“เพราะพระนามของพระเยซูนั้น ทุกหัวเข่าจะคุกลงกราบพระองค์”) เปาโลก็กล่าวว่า “เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงคุกเข่าต่อพระบิดา” (เอเฟซัส 3:14)

 

ผู้เขียนสดุดีได้อธิษฐานโดยตรงต่อพระยาห์เวห์

      สดุดีคือการรวม 150 เพลงที่เป็นคำอธิษฐานและคำสรรเสริญพระยาห์เวห์  ใครที่อ่านสดุดีก็จะรู้ว่าผู้เขียนสดุดีมักจะยอมรับว่า พระยาห์เวห์ทรงสดับฟังและตอบคำอธิษฐานของพวกเขา และด้วยเหตุนี้จึงมีการสรรเสริญและการขอบพระคุณพระองค์อย่างมากมาย

บรรดาคริสเตียนที่ยืนกรานว่า เราไม่สามารถอธิษฐานกับพระเจ้าได้ ถ้าไม่ได้อธิษฐานในพระนามของพระเยซูนั้น อาจต้องอธิบายให้เราฟังว่า ทำไมสดุดีจึงไม่มีการอ้างอิงถึงพระเยซู หรือมีความจำเป็นต้องผ่านคนกลางที่จะทำให้การสื่อสารกับพระยาห์เวห์เป็นไปได้โดยตรงและอย่างวิเศษ ดังที่พบในสดุดีบทต่างๆ  นี่แทบไม่ใช่เรื่องของข้อเชื่อแม้แต่น้อย แต่เป็นเรื่องของการสร้างอุปสรรคฝ่ายวิญญาณในชีวิตของคนทั้งหลายมากกว่า  จากวิธีที่คริสเตียนบางคนอธิบายถึงการอธิษฐานนั้น มีคนเข้าใจว่าก่อนที่พระเยซูจะเสด็จมา ทุกคนสามารถอธิษฐานโดยตรงกับพระยาห์เวห์ แต่หลังจากที่พระเยซูเสด็จมา การอธิษฐานโดยตรงกับพระยาห์เวห์ก็ถูกตัดไป แม้แต่ประชากรของพระเจ้าก็จำเป็นต้องอธิษฐานในพระนามของพระเยซู

      เหตุใดในพระคัมภีร์เดิม ทุกคนจึงสามารถอธิษฐานได้โดยตรงกับพระยาห์เวห์พระเจ้าผู้สูงสุด แต่สิ่งนี้ตามที่เห็นไม่เป็นที่ยอมรับหลังจากที่พระเยซูเสด็จมา?  ในพระคัมภีร์เดิมนั้น พระยาห์เวห์พระเจ้ายังทรงเต็มพระทัยที่จะตอบคำอธิษฐานของคนต่างชาติที่ไม่ได้เป็นคนของอิสราเอลด้วยซ้ำ

 

เมื่อคนต่างชาติที่ไม่ใช่อิสราเอลประชากรของพระองค์ มาจากแดนไกลเพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์ (เพราะพวกเขาจะได้ยินพระนามยิ่งใหญ่ของพระองค์ และพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระองค์ และพระกรที่เหยียดออกของพระองค์) เมื่อเขามาและอธิษฐานต่อพระนิเวศนี้ ขอทรงสดับฟังจากฟ้าสวรรค์ที่ประทับของพระองค์ และขอทรงทำตามทุกสิ่งที่คนต่างชาติทูลขอพระองค์ (1 พงศ์กษัตริย์ 8:41-43 ฉบับ ESV)

 

      นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยตอนในพระคัมภีร์เดิมที่กล่าวถึงความเมตตาของพระเจ้าต่อผู้ที่อธิษฐานโดยตรงต่อพระองค์โดยไม่มีคนกลาง  ใครก็ตามที่คุ้นเคยอย่างผิวเผินกับพระคัมภีร์จะรู้ว่าคนที่ทุกข์ใจหรือเจออันตรายก็สามารถร้องออกพระนามพระยาห์เวห์ได้โดยตรง  พระยาห์เวห์พระผู้สร้างของเราจะทรงทำหูทวนลมกับผู้ที่พระองค์ทรงสร้างหรือ เมื่อพวกเขาทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างจริงใจ แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ได้รู้จักพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา?  อันที่จริงสดุดี 36:7 พูดถึงความรักที่มากมายของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ทุกคนว่า “บุตรทั้งหลายของมนุษย์เข้าลี้ภัยอยู่ใต้ร่มปีกของพระองค์”

      ความเมตตาสงสารของพระเจ้ายังมีให้เห็นในเรื่องราวชีวิตจริงเป็นพันๆ เรื่องที่ไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์  มีคนจำนวนมากเป็นพยานถึงการที่พระเจ้าทรงช่วยกู้พวกเขาให้รอดพ้นจากภัยอันตรายเมื่อพวกเขาร้องเรียกพระองค์ทั้งๆที่ไม่รู้จักพระองค์  ผมมีหนังสือหลายเล่มบนชั้นหนังสือของผมที่เล่าว่าพระเจ้าได้ทรงช่วยคนที่ร้องทูลพระองค์ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อ้างว่าเป็นคริสเตียนก็ตาม

      ในส่วนท้ายนี้ มีบางข้อในสดุดีที่ผู้เขียนอธิษฐานต่อพระยาห์เวห์โดยตรง โดยไม่ได้เอ่ยพระนามของพระเยซูหรือว่าคนกลาง  และพระยาห์เวห์ก็ทรงสดับฟังคำอธิษฐานของพวกเขาบ่อยครั้ง (ทุกข้อมาจากฉบับ ESV โดยใช้คำ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับภาษาฮีบรูดังเดิม)[32]

 

สดุดี 6:9 พระยาห์เวห์ได้ทรงฟังคำวิงวอนของข้า พระยาห์เวห์ทรงรับคำอธิษฐานของข้า

สดุดี 39:12 ข้าแต่พระยาห์เวห์ ขอทรงฟังคำอธิษฐานของข้าพระองค์ ขอทรงเงี่ยพระกรรณฟังคำร้องทูลของข้าพระองค์ ขออย่าทรงเมินเฉย​​ต่อน้ำตาของข้าพระองค์ (เปรียบเทียบ 17:1; 84:8; 86:6; 102:1; 143:1)

สดุดี 69:13 ข้าแต่พระยาห์เวห์ แต่ส่วนข้าพระองค์ ข้าพระองค์อธิษฐานต่อพระองค์ ข้าแต่พระเจ้า ในเวลาอันเหมาะสม โดยความรักมั่นคงอันเหลือล้นของพระองค์ ขอทรงตอบข้าพระองค์โดยการช่วยกู้อย่างสัตย์ซื่อของพระองค์

สดุดี 88:13  ข้าแต่พระยาห์เวห์ แต่ข้าพระองค์ทูล ต่อพระองค์ ในเวลาเช้า คำอธิษฐานของข้าพระองค์อยู่ต่อพระพักตร์พระองค์

สดุดี 116:4  แล้วข้าพเจ้าก็ร้องทูลออกพระนามพระยาห์เวห์ว่า “ข้าแต่พระยาห์เวห์ ข้าพระองค์อธิษฐาน ขอทรงช่วยจิตวิญญาณของข้าพระองค์เถิด!

สดุดี 118:25  ข้าแต่พระยาห์เวห์! เราอธิษฐาน ขอทรงช่วยข้าพระองค์ทั้งหลายให้รอดเถิด  ข้าแต่พระยาห์เวห์ เราอธิษฐาน ขอประทานความสำเร็จแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด!

 

อธิษฐานโดยตรงต่อพระบิดาของเรา

      พระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้เลิกล้มการสื่อสารโดยตรงแบบตัวต่อตัวระหว่างเรากับพระเจ้า  แม้ “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” (1 ทิโมธี 2:5)[33] ทรงเป็นผู้กลางระหว่างเรากับพระเจ้า แต่งานการเป็นคนกลางของพระองค์เสร็จสิ้นลงเมื่อพระองค์ตรัสว่า “สำเร็จแล้ว” (ยอห์น 19:30)  แล้วม่านในพระวิหารก็ฉีกขาดออกเป็นสองท่อน (มัทธิว 27: 51; มาระโก 15:38; ลูกา 23: 45)  แต่บัดนี้พระเยซู ทรงทำให้เราได้คืนดี (แอริสต์)[34] ​​โดยความตายของพระกาย​​เนื้อหนังของพระองค์” (โคโลสี 1:22), เพราะพระเจ้าผู้สถิตอยู่ในพระคริสต์ทรงทำให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์เอง (2 โครินธ์ 5:19 นั่นคือ คืนดีกับพระเจ้าพระบิดา ดังที่เห็นในข้อ 18)  และเมื่อเราได้คืนดีกับพระบิดาแล้ว ตอนนี้เราจึงสามารถอธิษฐานต่อพระองค์ได้โดยตรง!  หรือเราจะยืนกรานว่า การคืนดีกับพระเจ้าพระบิดาของเรานั้นเป็นเพียงบางส่วนและไม่สมบูรณ์ไหม? หรือมาพร้อมกับเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ขัดขวางการสื่อสารโดยตรงกับพระองค์โดยไม่มีคนกลาง?

      ใครก็ตามที่ใส่ใจเรื่องการอธิษฐานก็จะมีใจเหมือนสาวกคนที่ทูลพระเยซูว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า ขอทรงสอนพวกข้าพระองค์อธิษฐาน เหมือนที่ยอห์นสอนสาวกของเขา” (ลูกา 11:1)  แล้วพระเยซูตรัสว่า “เมื่ออธิษฐาน จงกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ...’”  คำอธิษฐานนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในคริสตจักรจนมักจะเรียกกันว่า “แบบอย่างของการอธิษฐาน” หรือ “คำอธิษฐานตามแบบพระเยซู” และใช้ท่องเป็นประจำในบางคริสตจักร  ต่อไปนี้คือคำอธิบายเกี่ยวกับการอธิษฐานจากมัทธิว

 

จงอธิษฐานดังนี้ว่า “พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ ​​​​ ​ให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ให้น้ำพระทัยของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเหมือนในสวรรค์​ ​ ​​​​ขอประทานอาหารประจำวันแก่พวกข้าพระองค์ในวันนี้ ​​​​และขอทรงยกหนี้ให้ข้าพระองค์ทั้งหลาย เหมือนที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ยกหนี้ให้ผู้ที่เป็นหนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายเช่นกัน[35]​​​​และขออย่า​​นำ​​ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าไปในการทดลอง แต่ขอทรงช่วยข้าพระองค์ทั้งหลายให้พ้นจากความชั่วร้าย” (มัทธิว 6:9-13, ฉบับ ESV)

 

      เราสังเกตเห็นสองสิ่งจากพระคัมภีร์ตอนนี้ และสิ่งนี้แสดงให้เห็นช่องว่างที่กว้างมากระหว่างแนวความคิดแบบดั้งเดิมในการอธิษฐานกับสิ่งที่พระคัมภีร์พูดเกี่ยวกับการอธิษฐาน  ประการแรกกับคำถามที่ว่าเราควรจะอธิษฐานอย่างไรนั้น จะพบคำตอบในถ้อยคำที่มีอานุภาพว่า “พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย  เราอธิษฐานโดยตรงต่อพระบิดา ไม่ใช่ต่อพระเยซู  เรายังเห็นสิ่งนี้ได้ในคำนำคำอธิษฐานของพระเยซูในมัทธิว 6:6 ที่พระเยซูทรงชี้นำเราให้อธิษฐานต่อพระบิดาว่า “แต่เมื่อพวกท่านอธิษฐาน จงเข้าในห้องชั้นในและปิดประตู แล้วจงอธิษฐานต่อพระบิดาของพวกท่านผู้สถิตในที่ลี้ลับ และพระบิดาของพวกท่านผู้ทอดพระเนตรเห็นในที่ลี้ลับจะประทานบำเหน็จแก่ท่าน”

      ไม่มีแม้แต่ตัวอย่างเดียวที่อธิษฐานต่อพระเยซูในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม เว้นแต่ว่าเราจะขยายคำนิยามของคำอธิษฐานให้รวมถึงคำอุทานในกิจการ 7:59-60 และวิวรณ์ 22:20[36] ซึ่งสั้นมากและรวมแล้วมีเพียง 17 คำเท่านั้นในภาษากรีก ที่ยังน้อยกว่าในข้อพระคัมภีร์ทั่วไป (เช่น ยอห์น 3:16 ที่รู้จักกันดีก็ยังมีคำในภาษากรีก 25 คำ)  การที่ไม่มีคำอธิษฐานต่อพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวแทบจะไม่แปลกใจเลย เพราะคำอธิษฐานต่างๆนั้นถูกจำกัดวงว่าเป็นการทูลต่อพระเจ้า ในขณะที่พระเยซูไม่ใช่พระเจ้า[37]

      ประการที่สอง คำอธิษฐานตามแบบพระเยซูไม่ได้จบลงตามแบบฉบบับด้วยคำว่า “เราอธิษฐานทูลขอสิ่งนี้ในพระนามของพระเยซู เอเมน” ซึ่งเป็นสูตรในการอธิษฐานที่คริสเตียนปฏิบัติกันทั่วไป แต่จะไม่พบที่ไหนเลยในพระคัมภีร์!

      การสอนเราให้ทูลต่อพระเจ้าที่ทรงเป็นพระบิดานั้น พระเยซูทรงเมตตาถือว่าเราอยู่ในระดับเดียวกับพระองค์ในแง่ของลำดับเครือญาติ  พระเยซูตรัสถึงพระเจ้าว่าเป็น “พระบิดาของเราและ  พระบิดาของพวกท่าน พระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน” (ยอห์น 20:17)[38] ซึ่งหมายความว่าพระเยซูทรงเป็นพี่น้องของเราและมีพระบิดาองค์เดียวกันกับเรา  ในประโยคเดียวกันนี้ พระเยซูทรงกล่าวอย่างชัดเจนถึงสาวกของพระองค์ว่าเป็น “พี่น้องของเรา”

      พระเยซูทรงอธิษฐานโดยตรงต่อพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์อย่างไร เราก็ต้องอธิษฐานโดยตรงต่อพระเจ้าและพระบิดาของเราอย่างนั้น  ในครอบครัวๆหนึ่งนั้น พวกน้องๆจำเป็นจะต้องได้รับอนุญาตจากพี่ชายคนโตทุกครั้งเพื่อจะเข้าไปหาบิดาของพวกเขาไหม?  พวกเขาจะพูดกับบิดาว่า “ตอนนี้ลูกๆเข้ามาหาคุณพ่อในนามของพี่ชาย” ไหม?  ดูเหมือนเราจะลืมว่าเราได้ “บังเกิดจากพระเจ้า” (1 ยอห์น 3:9; 4:7; 5:1, 4, 18)[39] 1 ยอห์น 5:18[40]กล่าวว่าเรา “เกิดจากพระเจ้า” และพระเยซูก็ทรง “บังเกิดจากพระเจ้า” ในประโยคเดียวกัน!

      พระเยซูทรงเป็นผู้กลางของเรา และเป็นทางเดียวเท่านั้นที่ไปถึงพระบิดา (ยอห์น 14:6)  แต่หลังจากงานของพระองค์ในการช่วยให้รอดและการคืนดีได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ในเวลานี้เราจึงเข้าถึงพระบิดาได้โดยตรง  หลังจากที่เราได้คืนดีกับพระเจ้าอย่างสมบูรณ์แล้ว เราจะยังคงถูกบังคับให้กล่าวว่า “ในพระนามของพระเยซู” ทุกๆครั้งที่เราสื่อสารกับพระบิดาของเราไหม?  อันที่จริงแล้ว คำอุทานว่า “อับบา! พระบิดา” (โรม 8:15; กาลาเทีย 4:6)[41] เป็นการพูดโดยตรงกับพระบิดา

      แต่บรรดาคริสเตียนทำเรื่องนี้ให้กลับกัน โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่าเดิมทีพระเจ้าเป็นผู้ทรงส่งพระเยซูมาเพื่อทำให้เราคืนดีกับพระเจ้าเอง  ในท้ายที่สุดแล้ว งานการทำให้คืนดีนั้น ไม่ได้กระทำโดยพระคริสต์ แต่พระเจ้าทรงทำผ่านทางพระคริสต์และทำในพระคริสต์มากกว่า (2 โครินธ์ 5:18-19)[42]

 

การอธิษฐานร้องขอโดยตรง

      การหยุดยั้งการสื่อสารโดยตรงกับพระบิดาด้วยการกำหนดเงื่อนไขที่จะพูดว่า “ในพระนามของพระเยซู” นั้นก็เป็นผลอีกอย่างจากความผิดพลาดของความเชื่อตรีเอกานุภาพในการกีดกันพระบิดาออกไปโดยการทำให้พระคริสต์เป็นจุดศูนย์รวมของความเชื่อที่มี “พระคริสต์เป็นศูนย์กลาง”

      มีหลักฐานจากพระคัมภีร์ที่ไหนบ้างที่บอกว่า เราไม่สามารถจะเข้าถึงพระบิดาได้นอกจากจะเข้ามาในพระนามของพระเยซู?  ทำไมพระเยซูเองจึงทรงสอนเราให้อธิษฐานว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้สถิตในสวรรค์?  ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนที่เพียรพยายามที่จะหาข้อจำกัด มากขึ้น จะชี้ไปที่ยอห์น 15:16 ซึ่งพระเยซูตรัสว่า “เมื่อพวกท่านทูลขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระองค์จะประทานสิ่งนั้นแก่ท่าน”  เมื่อบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยกอ้างข้อนี้ ก็มักจะมีความหมายโดยนัยว่า พระบิดาจะไม่ได้ยินคำร้องขอของเรา เว้นแต่จะรับรองทางวาจาด้วยสิทธิอำนาจของพระเยซู  การตีความนี้ค้านกับสิ่งที่พระเยซูเองตรัสเกี่ยวกับการที่พระบิดาทรงมีความเกี่ยวข้องกับบรรดาบุตรของพระองค์ว่า “ถ้าพวกท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้ของดีแก่ลูกของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดที่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะประทานสิ่งดีแก่ผู้ที่ทูลขอต่อพระองค์?” (มัทธิว 7:11; เปรียบเทียบลูกา 11:13)  จงสังเกตถ้อยคำที่มีอานุภาพว่า “พระบิดาของท่าน” และ “ทูลขอต่อพระองค์” และ “ยิ่งกว่านั้นสักเท่าไร”  พระบิดาของเราในสวรรค์ทรงเต็มพระทัยที่จะประทานสิ่งดีแก่เรามากยิ่งกว่าบิดาของเราในโลกนี้ยิ่งกว่านั้นสักเท่าไร!  แต่ในสถานการณ์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ บุตรมีโอกาสจะเข้าไปหาบิดาของเขาในโลกได้โดยตรงมากกว่าบุตรของพระเจ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบิดาในสวรรค์ของเขา!

      สองข้อที่เป็นการขอต่อพระบิดาโดยตรงนี้ (มัทธิว 7:11; ลูกา 11:13) ปรากฏหลังจากคำอธิษฐานตามแบบพระเยซู (มัทธิว 6:9-13; ลูกา 11:2-4) ซึ่งสังเกตได้ว่ากล่าวกับพระบิดาโดยตรง  (“ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ” หรือในลูกาที่กล่าวธรรมดาๆว่า “ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ”) แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าไม่มีสูตรตามธรรมเนียมว่า “เราอธิษฐานในพระนามของพระเยซู อาเมน”

      พระคัมภีร์สองตอนที่อยู่ล้อมรอบคือมัทธิว 7:7-8 และลูกา 11:9-10 เผยให้เห็นหลักการสามประการของการขอ (เพื่อจะได้รับ) การแสวงหา (เพื่อที่จะพบ) และการเคาะ (เพื่อประตูจะเปิดออก) ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับพระบิดา ไม่ใช่กับพระเยซูคริสต์

      พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาเองก็ทรงรักพวกท่าน” (ยอห์น 16:27) ซึ่งเป็นถ้อยคำสวยงามที่สะท้อนอยู่ในคำตรัสของพระองค์ต่อพระบิดาว่า “พระองค์ทรงรักพวกเขาเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงรักข้าพระองค์” (17:23)  เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่พระเยซูได้ตรัสเกี่ยวกับพระบิดาแล้ว ใครล่ะจะยังยืนกรานว่าผู้เชื่อไม่สามารถจะเข้าถึงพระบิดาได้ หรือจะทูลขอสิ่งใดกับพระองค์ได้ เว้นแต่จะได้รับการรับรองด้วยวาจาโดยพระเยซู?

      ทั้งนี้ทั้งนั้น ใครหรือมีสิทธิ์ที่จะทำการในพระนามของพระเยซู?  คริสเตียนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตภายใต้สิทธิอำนาจของพระองคหรือไม่?  คริสเตียนโดยทั่วไปที่มีความสามารถในฝ่ายวิญญาณเช่นนั้นที่เขาหรือเธอสามารถจะขอสิ่งใดหรือทำสิ่งใด “ในพระนามของพระเยซู” ได้อย่างถูกต้อง หรือไม่?  เมื่อพิจารณาถึงสภาพจิตวิญญาณที่ธรรมดาของคริสเตียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันแล้ว ทำไมพวกเขาจึงเข้าใจเอาว่า พวกเขาสามารถใช้พระนามของพระเยซูเพื่อจะได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการจากพระบิดาโดยอ้างคำกล่าวอย่างไม่ละอายว่า “ไม่ว่าพวกท่านทูลขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา” (ยอห์น 15:16)?[43]

      ประการแรก ผู้ที่ดำเนินชีวิตแบบคริสเตียนธรรมดา แทบจะไม่ได้แสวงหาสิ่งฝ่ายวิญญาณ แต่แสวงหาสิ่งที่ตอบสนองกับประโยชน์ของพวกเขาเองอย่างเต็มที่  เราไม่เคยได้ยินคำอธิษฐานที่เห็นแก่ตัวแบบนี้ตลอดเวลาหรอกหรือ?  “พระเจ้า ขอทรงอวยพรข้าพระองค์ ขอให้ได้คะแนนดีๆและได้งานที่ได้ค่าตอบแทนสูงๆ”  การคิดแบบนี้เป็นการเลี้ยงความเห็นแก่ตัวที่ได้คืบคลานเข้ามาในชีวิตของคริสเตียนจำนวนมาก

      และเหตุใดบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจึงคิดว่า ข้อเดียวในยอห์นนี้จะเป็นเหตุผลที่เพียงพอกับการกล่าวรวมๆของพวกเขาว่า ไม่มีคำอธิษฐานใดที่พระเจ้าจะทรงยอมรับ เว้นแต่จะทำในพระนามของพระเยซู? ถ้าพวกเขาได้ดูบริบทของข้อนี้อย่างละเอียด พวกเขาจะเห็นว่าข้อความทั้งหมดในยอห์นบทที่ 14 ถึง 16 เป็นเรื่องเกี่ยวกับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ยอห์น 14:17, 26; 15:26; 16:13)[44] ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้รับ  พวกสาวกต้องรอถึงวันเพ็นเทคอสต์เพื่อจะได้รับของประทานนั้น  ในวันเทศกาลเพ็นเทคอสต์ คริสตจักรในกรุงเยรูซาเล็มได้ทูลขอของประทานแห่งพระวิญญาณต่อพระบิดาเมื่อพวกเขารวมตัวกันด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและร่วมใจกันอธิษฐานและพวกเขาก็ได้รับพระวิญญาณ (กิจการ 2:1-21)

      ในเรื่องการขอพระวิญญาณนั้น ให้เราคิดถึงคำกล่าวของพระเยซูอย่างจริงจังที่ว่า “ถ้าพวกท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้สิ่งดีแก่บุตรของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด ที่พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่พวกที่ขอต่อพระองค์” (ลูกา 11:13)  ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้โดยเห็นว่าเป็นของตาย เราจะต้องทูล “พระบิดาในสวรรค์” เพื่อขอของประทานอันล้ำค่านี้  คริสตจักรในยุคแรกได้ร่วมกันอธิษฐานขอและรอคอยของประทานนี้  แต่เมื่อคริสตจักรได้รับพระวิญญาณในวันเทศกาลเพ็นเทคอสต์แล้ว คริสตจักรทั้งหมดจะยังคงขอพระวิญญาณอยู่ต่อไปเรื่อยๆตลอดเวลาต่อๆมา เหมือนกับว่าพวกเขาไม่เคยได้รับพระวิญญาณเลยหรือ?  จากข้อมูลพระคัมภีร์แล้ว ไม่ใช่แน่นอน  หากผู้เชื่อได้อธิษฐานขอ แล้วก็ได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณ เขาจะยังต้องคอยขอของประทานแห่งพระวิญญาณ “ในพระนามของพระเยซู” อยู่เรื่อยๆไหม?  เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ แล้วทำไมเรายังคงอธิษฐานขอพระวิญญาณในพระนามของพระเยซู แบบขอแล้วขออีกเล่า เหมือนว่าคำอธิษฐานไม่เคยได้รับคำตอบอย่างนั้นแหละ?  อันที่จริง พระวิญญาณได้ประทานให้ก็เพื่อจะอยู่กับผู้เชื่อตลอดไป (ยอห์น 14:16)[45]

      แต่ก็เป็นไปได้ว่า คำอธิษฐานขอพระวิญญาณของบางคนนั้นพระเจ้าไม่เคยทรงสดับ เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์จะประทานให้แก่ผู้ที่เชื่อฟังพระเจ้า (กิจการ 5:32)[46]  อย่างไรก็ดี คริสเตียนส่วนใหญ่ก็กล่าวคำอธิษฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับของประทานแห่งพระวิญญาณ  คริสเตียนเช่นนั้นควรสนใจสิ่งที่เปาโลกล่าวว่า ถ้าผู้ใดไม่มีพระวิญญาณ ผู้นั้นก็ไม่ได้เป็นของพระคริสต์ (โรม 8:9)[47]  สิ่งที่น่าเศร้าใจกับคริสตจักรในปัจจุบันนี้ก็คือ คริสตจักรเต็มไปด้วยผู้เชื่อที่อธิษฐานในพระนามของพระเยซู แต่พวกเขาไม่ได้เป็นของพระเจ้า แล้วพวกเขาก็สงสัยว่าทำไมพระเจ้าจึงไม่ทรงได้ยินคำอธิษฐานของพวกเขาแม้ว่าจะใช้สูตร “ในพระนามของพระเยซู”

 

เรียนการอธิษฐานจากสดุดี

      เราเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางจิตวิญญาณอย่างมาก เมื่อเราใช้สดุดีเพื่อเป็นแนวทางสอนในการอธิษฐาน  สดุดีเป็นหนังสือของการอธิษฐานของคนของพระเจ้า  สดุดีมีหลายรูปแบบ มีสดุดีแห่งการวิงวอน สดุดีแห่งการขอบพระคุณ และสดุดีแห่งการสรรเสริญ  บางคนตกใจเมื่อพวกเขาอ่านสดุดีที่อธิษฐานขอการพิพากษาของพระเจ้าอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ใส่ร้ายป้ายสี ผู้ที่ชั่วร้าย และผู้ที่ข่มเหง  เชื่อกันว่านี่ตรงกันข้ามกับใจที่ให้อภัยในพระคัมภีร์ใหม่  แต่ความเข้าใจเช่นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะในพระคัมภีร์ใหม่มีความห่วงใยเกี่ยวกับความยุติธรรมไม่น้อยไปกว่าในพระคัมภีร์เดิมดังที่เห็นได้ในวิวรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องของผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมาน (เปรียบเทียบความห่วงใยของเปาโลเกี่ยวกับความยุติธรรมในการลงโทษ, 2 ทิโมธี 4:14-16)[48]

      คุณค่าอย่างยิ่งของสดุดีมีอยู่ในความมั่นใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าพระยาห์เวห์ทรงตอบคำอธิษฐาน นั่นคือความจริงที่เป็นเหตุให้มีการขอบพระคุณอย่างมากมายจากผู้เขียนสดุดี  นี่เป็นการแก้ไขให้ถูกต้องที่จำเป็นอย่างมากกับความคิดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าคำอธิษฐานที่พระเจ้าจะทรงสดับนั้นจำเป็นต้องจบลงในพระนามของพระเยซู  ไม่มีสูตรเช่นนั้นที่เคยกล่าวไว้ในสดุดีเลย แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดพระยาห์เวห์ที่จะทรงสดับฟังคำอธิษฐานของเรา

      หนังสือสุภาษิตก็เป็นพยานถึงความจริงนี้ด้วยว่า “พระยาห์เวห์ทรงอยู่ห่างไกลจากคนอธรรม แต่ทรงได้ยินคำอธิษฐานของคนชอบธรรม” (สุภาษิต 15:29)  กุญแจสำคัญในการตอบคำอธิษฐานไม่ได้เป็นเพราะสูตรของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่เป็นเพราะความชอบธรรม  ความคิดที่ว่าพระเจ้าทรงฟังเราเพราะเราพูด “ในพระนามของพระเยซู” เป็นสูตรในการอธิษฐานนั้น เป็นหนึ่งในหลายข้อผิดพลาดที่เราได้รับมาจากเบื้องหลังความเชื่อในตรีเอกานุภาพของเรา  แต่ในสดุดีและเล่มอื่นๆของพระคัมภีร์นั้น เงื่อนไขที่จำเป็นต้องมีเพื่อจะให้คำอธิษฐานได้รับคำตอบก็คือความชอบธรรม  และโดยพระคุณของพระยาห์เวห์ พระองค์ทรงทำให้เราชอบธรรมในพระคริสต์

 

“ในนามของเรา”

      ในพระคัมภีร์ใหม่ทั้งเล่ม คำว่า “ในนามของเรา” ที่เกี่ยวข้องกับการขอบางสิ่งจากพระเจ้านั้นมีปรากฏเฉพาะในยอห์นบทที่ 14 ถึง 16 เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์  ในสามบทนี้ จะมีคำว่า “ในนามของเรา” ปรากฏ 7 ครั้ง (ยอห์น 14:13, 14, 26; 15:16; 16:23, 24, 26และนี่คือยอห์น 16:23

 

In that day you will ask nothing of me. Truly, truly, I say to you, whatever you ask of the Father in my name, he will give it to you.

 

(ในวันนั้นพวกท่านจะไม่ถามอะไรเราอีก เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า ถ้าท่านขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระองค์จะประทานสิ่งนั้นแก่ท่าน)

 

      คำว่า “ask” ที่ปรากฏสองครั้งในข้อนี้แสดงให้เห็นคำภาษากรีกสองคำที่แตกต่างกัน  คำแรกคือ “ถาม” (erōtaō) ซึ่งมักจะเกี่ยวกับการถามคำถาม[49]  คำที่สองคือ “ขอ” (aiteō) ซึ่งมักจะเกี่ยวกับการขอบางสิ่ง

      พวกสาวกอาจถามพระเยซูหลายคำถาม แต่เมื่อเป็นการถามเพื่อขออะไรบางอย่าง พระเยซูก็จะทรงชี้แนะพวกเขาไปที่พระบิดา ไม่ใช่มาที่พระองค์เอง (ด้วยข้อยกเว้นเดียวที่เป็นไปได้ ซึ่งจะกล่าวถึงในภายหลัง) ในทำนองเดียวกัน มัทธิว 7:11 ก็สอนเราให้ทูลคำขอของเราไปยังพระบิดาโดยตรง ดังที่ ว่า “ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ก็จะประทานสิ่งดีแก่พวกที่ขอต่อพระองค์

      เมื่อพระเยซูตรัสว่า “ถ้าท่านขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา” นั้น พระองค์ไม่ได้หมายถึงสิ่งของต่างๆ เช่น รถยนต์และบ้าน เหมือนนักเทศน์ที่สอนเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวยชอบเสนอแนะ  คำว่า “ถ้าท่านขอสิ่งใด” มีเงื่อนไขด้วยคำว่า “ในนามของเรา”  และนามของพระองค์คืออะไรหรือ?  นามของพระองค์ไม่ใช่ “พระเจ้า” ซึ่งไม่ใช่นามแต่อย่างใด แต่เป็นคำที่อธิบาย  นามของพระองค์คือเยซู ซึ่งหมายถึง “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอด” หรือ “พระยาห์เวห์ทรงเป็นความรอด” ในขณะที่ พระคริสต์หมายถึงพระเมสสิยาห์ผู้เป็นกษัตริย์ที่ได้รับการเจิมของพระยาห์เวห์ พระผู้ช่วยให้รอดของโลก  ในที่นี้เราเห็นแนวความคิดเกี่ยวกับความรอด ซึ่งบอกว่า “ถ้าท่านขอสิ่งใด” ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับความรอด

      เนื่องจากส่วนทั้งหมดในยอห์น 14 ถึง 16 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระวิญญาณที่เรียกว่า “ผู้ปลอบประโลมใจ” (ยอห์น 14:16) ดังนั้นคำว่า “ถ้าท่านขอสิ่งใด” จึงเกี่ยวข้องกับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าสำหรับความรอดในยุคหลังจากที่พระเยซูเสด็จจากไปเมื่อพันธกิจบนโลกนี้ของพระองค์เสร็จสิ้นสมบูรณ์ หลังจากนั้นทุกสิ่งก็อยู่ภายใต้การดูแลโดยพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ที่ทำงานอยู่ในคริสตจักร  พระเยซูกำลังทรงบอกเหล่าสาวกของพระองค์ว่า พวกเขาสามารถได้รับสิ่งที่พวกเขาจำเป็นในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณโดยการขอพระวิญญาณจากพระบิดาในพระนามและสิทธิอำนาจของพระองค์  และเมื่อได้รับของประทานนั้นในวันเพ็นเทคอสต์ เหล่าสาวกก็ได้ประกาศเรื่องความรอดแก่บรรดาประชาชาติ

      พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวยิว  แต่ในพระคัมภีร์เดิมนั้น พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ไม่ได้สถิตอยู่ในคนทั้งหลาย แม้แต่ผู้เผยพระวจนะและผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า แต่ถูกอธิบายให้เห็นว่า “เสด็จมาเหนือ” คนทั้งหลาย (เช่น มาเหนือยาฮาซีเอล ผู้ที่เผยพระวจนะต่อหน้ากษัตริย์เยโฮชาฟัท, 2 พงศาวดาร 20:14)[50] ทำให้พวกเขาสามารถปฏิบัติภารกิจที่พระยาห์เวห์ทรงใช้ให้พวกเขาไปทำได้สำเร็จ

      สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อพระเยซูเสด็จมาและตั้งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งพระวิญญาณของพระยาห์เวห์มีบทบาทสำคัญ  เรื่องนี้ได้มีการเผยพระวจนะไว้ในโยเอล 2:8-32 (“เราจะเทวิญญาณของเรามาเหนือมนุษย์ทุกคน” ข้อ 28) และเป็นจริงในกิจการ 2:16-22  พระวิญญาณได้ถูกเทลงมา แต่เรายังคงต้องทูลขอพระวิญญาณกับพระบิดา (ลูกา 11:13)[51]  เราจะไม่ได้รับพระวิญญาณจนกว่าพระเยซูจะทรงได้รับเกียรติในการสิ้นพระชนม์ การฟื้นคืนพระชนม์ และการเสด็จสู่สวรรค์ (ยอห์น 7:39)[52]  ความจริงข้อนี้เมื่อรวมกับลูกา 11:13 ทำให้สิ่งที่พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับพระวิญญาณกระจ่างชัดมาก

      สาระสำคัญในสามบทนี้จากยอห์นบทที่ 14 ถึง 16 คือการอยู่ในกันและกันซึ่งสำคัญมากกับยอห์น 15 และเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินชีวิตภายใต้พันธสัญญาใหม่  การอยู่ในกันและกันจะเห็นได้ในยอห์น 15:4 (“จงติดสนิทอยู่กับเราและเราติดสนิทอยู่กับพวกท่าน”) ในยอห์น 14:20 (“เราอยู่ในพระบิดา และพวกท่านอยู่ในเราและเราอยู่ในท่าน”) ในยอห์น 14:10 (“เราอยู่ในพระบิดาและพระบิดาทรงอยู่ในเรา”) และยังมีในยอห์น 17:21[53]

 

ยอห์น 14:14 เป็นข้อยกเว้นในคำสอนของพระเยซูหรือไม่?

      ในพระกิตติคุณยอห์น คำว่า “ในนามของเรา” มีปรากฏเฉพาะในยอห์นบทที่ 14 ถึง 16 เท่านั้นซึ่งเป็นสามบทที่พระเยซูตรัสถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์  สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการขอ “ในนามของเรา” จะต้องเกี่ยวข้องกับพระวิญญาณ  ในสามบทนี้ คำ “ในนามของเรา” มีปรากฏเจ็ดครั้งและมักจะเกี่ยวข้องกับการอธิษฐาน (หรือการขอ) ต่อพระบิดาเสมอ ด้วยข้อยกเว้นยอห์น 14:14 ที่เป็นไปได้แต่ไม่เด่น ชัดว่า “สิ่งใดที่พวกท่านขอจากเราในนามของเรา เราจะทำสิ่งนั้น

      ข้อแตกต่างที่สำคัญในข้อนี้ก็คือ การขอไม่ได้มุ่งไปที่พระบิดา แต่มุ่งไปที่พระเยซูเอง  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากเกี่ยวกับการแปลที่จะทำให้ยอห์น 14:14 สอดคล้องกับข้ออื่นๆในยอห์นที่ “ในนามของเรา” เกี่ยวข้องกับการขอต่อพระบิดา  การยอมรับตามที่ปรากฏนี้ ยอห์น 14:14 ดูไม่สอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงเพราะว่าข้ออื่นๆที่คล้ายคลึงกันพูดถึงการขอต่อพระบิดา แต่ยังเป็นเพราะว่า ถ้าเรากำลังขอกับพระเยซูโดยตรง แล้วจะมีเหตุอะไรที่จะต้องขอกับพระองค์ในนามของพระองค์เองด้วย?  ส่วนคำว่า “เราจะทำสิ่งนั้น” ในยอห์น 14:14 นั้นควรจำไว้ว่า ในที่สุดแล้วพระบิดาทรงเป็นผู้กระทำผ่านพระเยซู ดังที่เราเห็นในสี่ข้อก่อนหน้านี้ว่า “คำซึ่งเรากล่าวกับพวกท่านนั้น เราไม่ได้กล่าวตามใจชอบ แต่พระบิดาผู้สถิตอยู่ในเราทรงทำพระราชกิจของพระองค์” (ยอห์น 14:10)  ดังนั้นเมื่อพระเยซูตรัสว่า “เราจะทำสิ่งนั้น” ก็เป็นพระบิดาที่ทรงทำงานผ่านพระองค์  พระเยซูไม่ทรงกระทำสิ่งใดตามใจชอบของพระองค์เอง (ยอห์น 5:19)  พระองค์ไม่ทรงสามารถทำสิ่งใดตามใจของพระองค์เองได้ (5:30) และพระองค์ไม่ได้ตรัสสิ่งใดด้วยสิทธิอำนาจของพระองค์เอง (8:28) แต่ทรงทำพระราชกิจของพระบิดาของพระองค์ (14:10)

      เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ยอห์น 14:14 มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับใจความ  มีความไม่แน่ใจว่าคำว่า “เรา” ใน “สิ่งใดที่พวกท่านขอจากเรา” นั้นมีอยู่ในยอห์น 14:14 ในต้นฉบับเดิมภาษากรีกหรือไม่  มันไม่ปรากฏตัวอักษรกรีกที่สำคัญบางตัวอักษรที่ใช้ในต้นฉบับโบราณ[54] เช่น  A D K L Q Ψ (ดูหมายเหตุเกี่ยวกับการวิจารณ์ของฉบับ NA28) ฉบับ UBS3 (หน้า 390) จัดความไม่แน่ใจไว้ที่ระดับ{B} ซึ่งบ่งชี้ว่า “มีข้อสงสัยอยู่”  ระดับความสงสัยยังคงอยู่ที่ {B} ในฉบับ UBS4/UBS5

      ยิ่งกว่านั้นยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทั้งข้อซึ่งบางต้นฉบับเว้นเอาไว้ ดังที่เห็นในเชิงอรรถฉบับ UBS5 ของยอห์น 14:14 (“เว้นข้อ 14 ƒ1 157 565 l 761/2 l 761/2 l 2111/2 l 10741/2 itb vgms syrs,pal arm geo”)  หนังสือคู่มือของ UBS4, คู่มืออธิบายตัวบทพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก[55] กล่าวว่า “ข้อ 14 ถูกเว้นไว้โดยพยานหลักฐานที่กระจัดกระจาย รวมถึงฉบับโบราณที่สำคัญหลายฉบับ” แม้คู่มืออธิบายจะยอมรับข้อนี้ในที่สุดว่าเป็นส่วนของข้อความต้นฉบับ

      ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันนี้ คู่มือพระคัมภีร์ใหม่ของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล[56] (เล่มที่ 4 เกี่ยวกับยอห์น 14:14) จึงมีข้อสรุปว่าการขอมุ่งตรงไปที่พระบิดา

...ข้อนี้ [ยอห์น 14:14] ต้นฉบับภาษากรีกบางฉบับได้เว้นไว้ทั้งหมด แม้ว่าหลักฐานจะสนับสนุนการรวมกัน... ต้นฉบับบางฉบับไม่มีคำว่า “เรา” ในข้อความ สิ่งใดที่พวกท่านขอจากเรา... จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าพระบิดาเป็นผู้ที่คำอธิษฐานมุ่งไปที่พระองค์

      ความไม่แน่ใจของคำว่า “เรา” ใน “สิ่งใดที่พวกท่านขอจากเรา” ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์หลายฉบับ  ฉบับ ESV กล่าวในเชิงอรรถเกี่ยวกับยอห์น 14:14 ว่า “บางต้นฉบับเว้นคำว่า เรา”  ฉบับ HCSB กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “..ต้นฉบับอื่นๆเว้นคำว่า เรา”  ฉบับ KJV, NKJV, RSV, REB เว้นคำว่า “เรา” แม้แต่ในตัวบทหลัก เช่นเดียวกับพระคัมภีร์ภาษาฝรั่งเศสฉบับหลุยส์ เซอกอง[57]

      ยอห์น 14:14 จึงไม่ได้เป็นปัญหา  การแทรกคำว่า “เรา” เข้าไปในตัวบทภาษากรีกน่าจะเป็นผล งานของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ หรือผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเริ่มแรก  บางต้นฉบับต่อมาภายหลังมีคำว่า “พระบิดา” แทนคำว่า “เรา” แต่นี่อาจเป็นการเพิ่มเติมความหมายในทิศทางตรงกันข้าม อาจเป็นเพราะเพื่อให้ข้อนี้เข้ากันกับข้ออื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันในยอห์นบทที่ 14 ถึง 16

      พระคัมภีร์ภาษากรีกของผู้อธิบาย[58] (เล่ม 1, หน้า 824) เว้นคำว่า “เรา” ในตัวบทภาษากรีก  พระคัมภีร์ฉบับนี้กล่าวถึง “ในนามของเรา” ในยอห์น 14:13 ว่า “ชื่อของบุคคล จะสามารถใช้ได้ก็เมื่อเราพยายามที่จะดำเนินการให้เป็นตามความประสงค์และตามความสนใจของบุคคลนั้นต่อไปเท่านั้น”  พระเยซูทรงพยายามที่จะทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเสมอ  เพราะฉะนั้นการอ้างถึงพระนามของพระเยซูจะต้องให้เป็นไปตามประสงค์ของพระบิดาเสมอ ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นการใช้พระนามในทางที่ผิดอย่างร้ายแรง

      คริสเตียนจำนวนมากอ้างถึง “ในพระนามของพระเยซู” แบบเป็นสูตรวิเศษที่ใช้ในการอธิษฐานเพื่อให้พระเจ้าประทานสิ่งที่พวกเขาขอ เป็นการลดความเชื่อตามแบบของคริสเตียน มาเป็นความเชื่อโชคลางที่มีศรัทธามากซึ่งแทบจะไม่เชื่อมโยงกับคำสอนของพระคัมภีร์เลย  หลักการที่ชี้นำว่าพระเยซูทรงตั้งพระทัยให้อ้างถึง “ในนามของเรา” นั้นจะเห็นได้จากข้อก่อนหน้านี้ว่า “สิ่งใดที่พวกท่านขอ [พระบิดา]ในนามของเรา เราจะทำสิ่งนั้น เพื่อว่าพระบิดาจะทรงได้รับเกียรติ​​ทางพระบุตร” (ยอห์น 14:13)  พระทัยปรารถนาของพระเยซูที่จะให้พระบิดาทรงได้รับเกียรติทางพระบุตรนั้น เป็นหลักการที่นำชีวิตและพันธกิจของพระเยซู และก็ควรเป็นหลักการของเราด้วยเช่นกัน


[1] หรือเป็นเป้าหมายของ (ผู้แปล)

[2] Tyndale Commentary

[3] Constable’s Expository Notes

[4] Expositor’s Bible Commentary

[5] พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับแก้ไข (Revised English Bible) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกานั้น เป็นพระคัมภีร์ที่ยอมรับกันในสหราชอาณาจักร โดยเป็นผลมาจากความพยายามร่วมกันของคริสตจักรแห่งอังกฤษ คริสตจักรโรมันคาทอลิกในอังกฤษและเวลส์ คริสตจักรเมโทดิสต์แห่งสหราชอาณาจักรและคริสตจักรอื่นๆ

[6] วิธีการประเมินหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นการประเมินเนื้อหาของข้อมูลที่ปรากฏในหลักฐานนั้นๆ เพื่อดูว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ (ผู้แปล)

[7] ฮีบรู 1:6 “เมื่อพระองค์ทรงนำพระบุตรองค์หัวปีนั้นเข้ามาในโลก ก็ตรัสว่า ให้บรรดาพวกทูตสวรรค์ของพระเจ้ากราบไหว้ท่าน” (ฉบับ 1971)

[8] เมื่อเราพูดถึงการ “ไม่มีตัวตน” ของพระเยซูในสวรรค์นั้น มาจากมุมมองของคนที่อยู่บนโลก เพราะพระเยซูไม่ได้ทรงอยู่บนโลกอีกต่อไป แต่ทรงอยู่ในสวรรค์ แต่เมื่อ proskyneō ได้ใช้กับพระเยซูในสวรรค์ (วิวรณ์ 5:14) มันเป็นการมีตัวตนอยู่ของพระองค์ในสวรรค์

[9] วิวรณ์ 13:4 (2 ครั้ง); 13:8; 13:12; 13:15; 14:9; 14:11; 16:2; 19:20; 20:4

[10] ยอห์น 17:3 “และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา

[11] ยอห์น 4:23 และ​บัด​นี้​ก็​ถึง​แล้ว คือ​เมื่อ​คน​ที่​นมัส​การ​อย่าง​แท้​จริง​จะ​นมัส​การ​พระ​บิดา​ด้วย​จิต​วิญ​ญาณ​และ​ความ​จริง เพราะ​ว่า​พระ​บิดา​ทรง​แสวง​หา​คน​เช่น​นั้น​มา​นมัส​การ​พระ​องค์

[12] James D.G. Dunn’s Did the First Christ­ians Worship Jesus?

[13] Hurta­do นักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่และนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคริสเตียนในยุคแรก (ผู้แปล)

[14] New Jerusalem Bible; ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “เขาทั้งปวงก็หมอบกราบต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าและกษัตริย์ (ผู้แปล)

[15] แปดครั้งในพระกิตติคุณยอห์นคือ 14:13,14; 15:7,16; 16:23; 16:24 สองครั้ง; 16:26   ส่วนห้าครั้งใน 1 ยอห์นคือ 3:22; 5:14; 5:15 สองครั้ง; 5:16

[16] ใน 16 ครั้งนี้กระจายอยู่ในมัทธิว 7 ครั้ง ในลูกา 5 ครั้ง และในจดหมายของเปาโล 3 ครั้ง (เอเฟซัส 3:20, โคโลสี 1:9, ฟีลิปปี 4:6 ที่มีรากคำ aitēma เดียวกัน)

[17] มัทธิว 26:53 เราจะทูลขอพระบิดาของเราไม่ได้หรือ? และพระองค์ก็จะประทานทูตสวรรค์ให้เรามากกว่าสิบสองกองพลในทันที

[18] 2 โครินธ์ 12: 8 เรื่องหนามนั้น ข้าพเจ้าวิงวอนต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าถึงสามครั้ง เพื่อขอให้มันหลุดไปจากข้าพเจ้า”

[19] คำกริยามีปรากฏ 35 ครั้งในลูกา-กิจการ และ 19 ครั้งในจดหมายของเปาโลในขณะที่คำนามมีปรากฏ 9 ครั้งในกิจการและ 14 ครั้งในจดหมายของเปาโล  คำกริยานี้ใช้ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก 19 ครั้ง และเป็นคำนามสองครั้งจากคำอธิษฐานของพระเยซูต่อพระบิดา รวมทั้งหมดมี 21 ครั้งในพระกิตติคุณสามเล่มแรก  ไม่พบคำใดคำหนึ่งในพระกิตติคุณยอห์น

[20] 1 ทิโมธี 2:1 เพราะฉะนั้นก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ข้าพเจ้าขอร้องพวกท่านให้วิงวอน อธิษฐาน ทูลขอ และขอบพระคุณเพื่อทุกคน

[21] ลูกา 23:34 พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษพวกเขาเพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร”

[22] 1 ทิโมธี 3:15 “ท่านก็จะได้รู้ว่าควรประพฤติอย่างไรภายในครอบครัวของพระเจ้า ซึ่งเป็นคริสตจักรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์

[23] โรม 16:16  “จงทักทายกันด้วยธรรมเนียมจูบอันบริสุทธิ์ บรรดาคริสตจักรของพระคริสต์ขอฝากคำทักทายมายังพวกท่านด้วย

[24] กิจการ 2:36 ให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งหมดทราบแน่นอนว่า พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูที่ท่านทั้งหลายตรึงไว้บนกางเขนนั้นให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์”

[25] มัทธิว 27:63 “ท่านเจ้าเมืองขอรับ เราจำได้ว่าเมื่อคนล่อลวงนั้นยังมีชีวิตอยู่ เขาบอกว่า ‘ล่วงไปสามวันแล้วเราจะเป็นขึ้นมาใหม่’”

[26] ยอห์น 4:11 นางทูลพระองค์ว่า “ท่านเจ้าคะ ท่านไม่มีถังตักและบ่อนี้ก็ลึก ท่านจะเอาน้ำดำรงชีวิตนั้นมาจากไหน?

[27] ปฐมกาล 18:12 “ฉะนั้นนางซาราห์จึงหัวเราะในใจพูดว่า ข้าพเจ้าแก่แล้ว นายของข้าพเจ้าก็แก่ด้วย” (ฉบับไทยคิงเจมส์)

[28] ปฐมกาล 24:18 เธอตอบว่า “นายของดิฉัน เชิญดื่มเถิด” แล้วเธอก็รีบลดเหยือกของเธอลงมาถือไว้ และให้เขาดื่ม

[29] ปฐมกาล 31:35 ราเชลก็พูดกับบิดาว่า “ขอนายท่านอย่าโกรธเลย ที่ดิฉันลุกขึ้นต่อหน้าท่านไม่ได้”

[30] ปฐมกาล 42:10  พวกเขาจึงตอบว่า “นายเจ้าข้า ไม่ใช่อย่างนั้น พวกผู้รับใช้ของท่านมาซื้ออาหาร

[31] กิจการ 3:13 “พระเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ซึ่งเป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษของเรา ได้ประทานพระเกียรตินี้แด่พระเยซูผู้รับใช้ของพระองค์ พระเยซูผู้ที่ท่านทั้งหลายมอบไว้และปฏิเสธต่อหน้าปีลาต แม้ว่าปีลาตตั้งใจจะปล่อยพระองค์ไป”

[32] ภาษาไทยมีฉบับมาตรฐาน 2011 และฉบับอมตธรรมร่วมสมัยได้กลับมาใช้คำ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู (ผู้แปล)

[33] 1 ทิโมธี 2:5 “เพราะมีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและมีคนกลางผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[34] คือกาลกริยาในไวยากรณ์กรีก เป็นการกระทำที่เกิดขึ้น ณ จุดๆหนึ่งในอดีตกาล (ผู้แปล)

[35] หรือบางฉบับแปลว่า “ยกบาปผิดของพวกข้าพระองค์ เหมือนพวกข้าพระองค์ยกโทษบรรดาคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์” (ผู้แปล)

[36] กิจการ 7:59 “พระเยซูเจ้า ขอทรงรับจิตวิญญาณของข้าพระองค์ด้วย”; วิวรณ์ 22:20 อาเมน พระเยซู​​เจ้า เชิญเสด็จมาเถิด

[37] หมายเหตุทางประวัติศาสตร์: “นักศาสนศาสตร์ในยุคแรกบางคนคัดค้าน [การอธิษฐานต่อพระเยซู] ออริเกนเป็นคนหนึ่งในนั้น  เขาโต้แย้งว่าแม้จะเป็นเรื่องถูกต้องที่จะร้องขอและขอบคุณต่อธรรมิกชนหรือแม้แต่มนุษย์ธรรมดา การอธิษฐานในความหมายที่ถูกต้องก็คือการร้องขอต่อพระเจ้าในสิ่งที่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถประทานให้ได้ที่รวมกับการสรรเสริญนั้น อาจร้องทูลต่อพระเจ้าพระบิดาเท่านั้น (เรื่องการอธิษฐาน, 14-16) ... พระเยซูไม่สามารถจะเป็นเป้าหมายของการอธิษฐานเช่นนั้นได้ เพราะว่าตัวพระองค์เองก็ได้ทรงถวายคำอธิษฐานในช่วงชีวิตที่พระองค์ทรงอยู่ในโลก... บางทีเนื่องจากผลของการคำวิจารณ์ เช่น ของออริเกน จึงไม่มีหลักฐานมากนักจากศตวรรษต่อๆมาของคริสต์ศาสนาในยุคแรกเกี่ยวกับการอธิษฐาน ที่มุ่งไปที่พระเยซูในพิธีบัพติศมาและพิธีศีลมหาสนิท” (พระเยซูในปัจจุบันและในสมัยพระคัมภีร์, ริชาร์ด เบอร์ริดจ์ และ เกรแฮม กูลด์, หน้า 148)

[38] ยอห์น 20:17 พระเยซูตรัสกับนางว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้ เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปหาพระบิดาของเรา แต่จงไปหาพวกพี่น้องของเราและบอกเขาว่าเรากำลังจะขึ้นไปหาพระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน ไปหาพระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน”

[39] 1 ยอห์น 4:7 เพราะว่าความรักมาจากพระเจ้า ทุกคนที่รักก็เกิดจากพระเจ้าและรู้จักพระเจ้า

[40] 1 ยอห์น 5:18 เรารู้ว่าทุกคนที่เกิดจากพระเจ้าไม่ทำบาป แต่พระองค์ผู้ทรงบังเกิดจากพระเจ้าทรงคุ้มครองรักษาเขา..

[41] โรม 8:15 แต่พระวิญญาณจะทรงให้ท่านมีฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า โดยพระวิญญาณนั้นเราจึงร้องเรียกพระเจ้าว่า “อับบา (พ่อ)”

[42] 2 โครินธ์ 5:18 สิ่งทั้งหมดนี้เกิดจากพระเจ้า ผู้ทรงให้เราคืนดีกับพระองค์โดยทางพระเยซูคริสต์

[43] ยอห์น 15:16สิ่งใดที่พวกท่านทูลขอในนามของเรา พระบิดาจะประทานแก่พวกท่าน”

[44] ยอห์น 16:13 “เมื่อพระวิญญาณแห่งความจริงเสด็จมาแล้ว พระองค์จะนำพวกท่านไปสู่ความจริงทั้งมวล เพราะพระองค์จะไม่ตรัสโดยพลการ แต่พระองค์จะตรัสสิ่งที่พระองค์ทรงได้ยิน และพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกท่านถึงสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้น”

[45] ยอห์น 14:16 “เราจะทูลขอพระบิดา และพระองค์จะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งให้กับพวกท่าน เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป”

[46] กิจการ 5:32 “เราคือพยานของเรื่องเหล่านี้ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระเจ้าประทานกับทุกคนที่เชื่อฟังพระองค์​​ก็เป็นพยานด้วย”

[47] โรม 8:9 “ถ้าพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพวกท่านแล้ว ท่านก็ไม่อยู่ในเนื้อหนัง แต่อยู่ในพระวิญญาณ ใครไม่มีพระวิญญาณของพระคริสต์ คนนั้นก็ไม่เป็นของพระองค์

[48] 2 ทิโมธี 4:14-16 “อเล็กซานเดอร์ช่างทองแดงคนนั้นทำร้ายข้าพเจ้าอย่างมากมาย องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงลงโทษเขาให้สมกับการกระทำของเขา  ท่านจงระวังเขาให้ดีด้วย เพราะเขาคัดค้านคำสอนของเราอย่างรุนแรงในการแก้คดีเบื้องต้นของข้าพเจ้านั้น ไม่มีใครอยู่เคียงข้างข้าพเจ้าสักคนเดียว พวกเขาทิ้งข้าพเจ้าไปหมด ขออย่าให้พวกเขาต้องรับโทษเลย

[49] บางครั้งอาจหมายถึงการขออะไรบางอย่าง เช่น ในยอห์น 14:16; 16:26; 17:9  แต่ในกรณีเหล่านี้ เป็นพระเยซูที่ทูลขอพระบิดา

[50] 2 พงศาวดาร 20:14 และในท่ามกลางที่ประชุมนั้น พระวิญญาณของพระยาห์เวห์เสด็จมาเหนือยาฮาซีเอลบุตรเศคาริยาห์

[51] ลูกา 11:13 เพราะฉะนั้น ถ้าพวกท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้สิ่งดีแก่บุตรของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่พวกที่ขอต่อพระองค์”

[52] ยอห์น 7:39 “สิ่งที่พระเยซูตรัสนั้นหมายถึงพระวิญญาณซึ่งคนที่วางใจพระองค์จะได้รับ เพราะว่าพระวิญญาณยังไม่สถิตด้วย เพราะพระเยซูยังไม่ได้รับพระเกียรติ

[53] ยอห์น 17:21 เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงใช้ข้าพระองค์มา”

[54] ที่ใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 และไม่ค่อยใช้หลังจากศตวรรษที่ 10 (ผู้แปล)

[55] UBS4’s com­panion volume, A Textual Com­mentary on the Greek NT

[56] United Bible Socie­ties NT Hand­books

[57] French Louis Segond Bible

[58] The Expositor’s Greek Testa­ment