pdf pic

 

 

บทที่ 12

 

 ch1 1

 

ความสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า

วิวรณ์ 3:20

มอนทรีออล, มกราคม 6, 1985

การสูญเสียการทรงสถิตของพระเจ้า

      รั้งหนึ่งผมเคยตื่นขึ้นกลางดึก และทันใดนั้นก็รู้สึกเหมือนว่าการสถิตอยู่ของพระเจ้าได้หายไปชั่วครู่  มันเหมือนกับการปิดไฟในฝ่ายวิญญาณที่ได้ปิดสวิทช์ลง  ในช่วงเวลาแห่งความมืดมนและความสิ้นหวังนั้น มันมีความรู้สึกถึงความว่างเปล่าที่น่ากลัวและการถูกพระเจ้าทอดทิ้ง

      มันเป็นประสบการณ์ใหม่ทั้งหมดสำหรับผม  มันกินเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่มันก็ทำให้เข้าใจชัดเจนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในข้อเท็จจริงที่ว่า หากพระเจ้าจะถอนการสถิตของพระองค์ไปจากเรา หรือเราสูญเสียการสามัคคีธรรมกับพระองค์ไป ชีวิตก็จะสูญเสียความหมายทั้งหมด

      แน่นอนว่า ถ้าผมไม่เคยมีประสบการณ์ตั้งแต่แรกในการสถิตอยู่อย่างน่าชื่นใจของพระเจ้า ผมก็คงไม่ได้สังเกตเห็นความแตกต่าง  แต่ในช่วงเวลาสั้นๆที่ดูเหมือนว่าการสถิตอยู่ของพระองค์หายไปจากผม ผมก็ตื่นขึ้นและอุทานว่า “พระเจ้าอยู่ที่ไหน?  เกิดอะไรขึ้นกับสายสื่อสารของผม?”  ความว่างเปล่าและการไร้ความหมายได้เข้าเกาะกุมใจของผม

      พระเจ้าทรงให้ประสบการณ์นี้กับผมอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนหนึ่งก็เพราะเห็นแก่พวกคุณ เพราะผมได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับหัวข้อของวันนี้มาระยะหนึ่งแล้ว  ถ้าหากไม่ได้มีประสบการณ์นี้ ผมก็คงไม่สามารถสอนด้วยความเชื่อมั่นเหมือนที่ผมมีในตอนนี้ได้

      ผมนึกถึงเหตุการณ์ในวัยเด็กเมื่อผมอายุสี่ขวบ คุณพ่อของผมเล่นซ่อนหากับผม  คุณพ่อซ่อนตัวดีมากจนผมหาท่านไม่เจอและเริ่มรู้สึกถูกทอดทิ้ง  แต่ตลอดเวลาคุณพ่อก็อยู่ข้างหลังผมนั่นเอง  แต่ทว่าการเคลื่อนไหวของคุณพ่อนั้นรวดเร็วและไวมาก เพราะผมเป็นเด็กเล็กๆ ผมจึงไม่สามารถหันหลังได้เร็วพอที่จะทันเห็นท่านได้  เมื่อท่านเห็นว่าผมกำลังท้อแท้ ท่านก็เข้ามาหาผมด้วยรอยยิ้มและพูดว่า “ดูนี่สิ พ่ออยู่กับลูกตลอดเวลา”

      ประสบการณ์เหมือนฝันร้ายที่ถูกพระเจ้าทอดทิ้งนั้น (เปรียบเทียบสดุดี 22:1) ทำให้ผมซาบซึ้งอย่างมากกับความเอาพระทัยใส่และการสถิตอยู่ของพระเจ้า  พระองค์ทรงสำแดงให้ผมเห็นว่าการสถิตอยู่ของพระองค์มีความสำคัญต่อชีวิตผม  นี่เป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามได้ง่ายจนเมื่อคุณสูญเสียมันไป

พระเจ้าทรงสื่อสารกับเรา

      พี่น้องทั้งหลาย ไม่มีอะไรที่สำคัญต่อชีวิตคริสเตียนของเราเท่ากับการที่มีความสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า  มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ใครจะสามารถดำเนินชีวิตคริสเตียนอย่างมีความหมายได้โดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์สนิทกับพระองค์

      ความสัมพันธ์สนิทของคุณกับพระเจ้าเป็นอย่างไร?  มันจะมีความแตกต่างอะไรไหมกับชีวิตของคุณ ถ้าคุณเข้าไม่ถึงพระองค์?

      เมื่อผมเล่าประสบการณ์ของผมเกี่ยวกับพระเจ้าโดยบอกคนอื่นๆว่า พระเจ้าตรัสกับผมหรือทำสิ่งอัศจรรย์ผ่านตัวผมอย่างไร ปฏิกิริยาที่เห็นเป็นปกติก็คือ ความประหลาดใจที่เหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอีกแล้วในปัจจุบัน  คริสเตียนหลายคนประหลาดใจที่การอัศจรรย์ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่พระเจ้ายังคงตรัสกับผู้คนอยู่

      มันทำให้ผมสงสัยว่าผมเป็นคนประหลาดฝ่ายวิญญาณไหม ที่พูดถึงสิ่งโบราณหรือสิ่งที่เกิดขึ้นย้อนอดีตไปยาวไกล  แต่ประสบการณ์เหล่านี้ควรเป็นบรรทัดฐานในชีวิตคริสเตียนไม่ใช่หรือ?  ทำไมเราจึงคิดว่าการอัศจรรย์และการสื่อสารกับพระเจ้าจะไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้  มีไม่กี่คนที่เห็นด้วยกับผมเมื่อผมแบ่งปันถึงประสบการณ์ของผมเกี่ยวกับพระเจ้า

      เมื่อผมเป็นคริสเตียนไม่นาน ผมแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของผม  พระองค์ทรงต้องการให้ผมทำอะไรหรือ?  พระองค์ทรงต้องการให้ผมไปที่ไหนหรือ?  มีครั้งหนึ่งขณะที่ผมคุกเข่าอธิษฐานต่อพระเจ้า พระองค์ก็ตรัสกับผมด้วยเสียงที่ชัดเจนและเด่นชัดว่า “เราจะพาเจ้าออกจากประเทศจีน”  เสียงนั้นชัดเจนมากจนผมตกใจ  เสียงมาจากข้างหลังผม ผมจึงหันไปดูว่าใครกำลังพูดอยู่  แต่ผมก็อยู่คนเดียวในห้องนั้น  ตอนนั้นผมยังเป็นผู้เชื่อได้ไม่นาน และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่พระองค์ตรัสกับผมด้วยเสียงที่สามารถได้ยินได้

      อิสยาห์ 30:21 กล่าวไว้ว่า “และหูของท่านจะได้ยินคำพูดจากข้างหลังท่านว่า นี่เป็นหนทาง จงเดินในทางนี้’”  หากธรรมิกชนในพระคัมภีร์เดิมสามารถสื่อสารโดยตรงกับพระเจ้าได้ ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด เราที่อยู่ในยุคพระคัมภีร์ใหม่ก็จะยิ่งสามารถสื่อสารกับพระเจ้าได้ไม่ใช่หรือ?  นี่เป็นยุคที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ถูกเทลงมาเหนือมนุษย์ทุกคน พร้อมด้วยคำเผยพระวจนะ นิมิต ความฝัน และการสื่อสารกับพระเจ้า (กิจการ 2:16-18)[1]

      ในการเดินของผมกับพระเจ้า พระองค์ตรัสกับผมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  พระองค์ไม่ค่อยตรัสด้วยเสียงที่ได้ยิน แต่จะตรัสทางการสื่อสารภายในบ่อยกว่า  การสื่อสารแบบนี้เป็นเรื่องปกติในพระคัมภีร์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ไหมว่า เราที่เป็นคริสเตียนเราไม่ได้ดำเนินชีวิตตามที่ควรจะเป็น?  ในการอ่านพระคัมภีร์ของผม ผมไม่เห็นอะไรที่พิเศษหรือเจาะจงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผมกับพระเจ้า  สิ่งที่คล้ายกันนี้มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ เริ่มจากอาดัมในหนังสือปฐมกาลไปจนถึงยอห์นในวิวรณ์  หากไม่มีการสื่อสารที่เชื่อมต่อกับพระเจ้าแล้ว ผมก็ไม่เห็นว่าคุณจะไปได้ตลอดรอดฝั่งในการเป็นคริสเตียนหรือมีประสบการณ์กับความสุขยินดีในชีวิตคริสเตียนได้อย่างไร

      เพื่อให้เรื่องนี้ชัดเจน ให้เราถามคำถามพื้นฐานว่า ทำไมพระเจ้าทรงสร้างเราตั้งแต่แรก? ตั้งแต่เริ่มต้นในปฐมกาลบทที่ 3 พระเจ้าก็ตรัสกับมนุษย์แล้ว  ทำไมพระเจ้าจึงทรงดำเนินอยู่ในสวนเอเดนถ้าไม่ใช่เพื่อจะสามัคคีธรรมกับอาดัมและเอวา?  ทำไมพระองค์จึงทรงสร้างมนุษย์ถ้าไม่ใช่เพื่อจะทรงสื่อสารกับเขา?

      เราถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้าเพื่อที่พระเจ้าจะได้สื่อสารกับเรา  การมีความสัมพันธ์สนิทอย่างลึกซึ้งกับพระเจ้านั้นเป็นไปได้ เพราะเรามีพระฉายาร่วมกับพระองค์  เราไม่สามารถจะสื่อสารอย่างลึกซึ้งกับสุนัขได้ เพราะสุนัขไม่ได้ถูกสร้างตามฉายาของมนุษย์  แต่พระเจ้าทรงสร้างเราตามพระฉายาของพระองค์ เพื่อพระองค์จะได้ทรงสื่อสารกับเราในระดับที่ลึกที่สุด  พระคัมภีร์แสดงให้เห็นพระเจ้าผู้ทรงต้องการจะสื่อสารกับเรา มากกว่าที่เราต้องการจะสื่อสารกับพระองค์  มีน้อยคนนักที่จะรู้ถึงพระทัยปรารถนาของพระองค์ที่จะสามัคคีธรรมกับเรา

      อันที่จริง เราสามารถจะรู้จักพระเจ้าได้ดีกว่าที่เรารู้จักใครๆในโลกนี้ เพราะพระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์เองอยู่ในทุกหน้าของพระคัมภีร์  พระคัมภีร์ทั่วไปจะมีมากกว่าหนึ่งพันหน้า ซึ่งแต่ละหน้านั้นได้เปิดเผยบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับพระองค์  คุณสามารถจะเขียนเกี่ยวกับพระเจ้าได้มากกว่าเขียนเกี่ยวกับภรรยาของคุณในแง่ของรายละเอียดชีวประวัติของเธอ

      ในตลอดทั่วพระคัมภีร์ เราจะเห็นพระเจ้าทรงสื่อสารกับมนุษย์  จากปฐมกาล 3:9 เป็นต้นไปทำให้เราเห็นบันทึกการสนทนาครั้งแรกระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ (ไม่นับปฐมกาล 2:16-17 ซึ่งพระเจ้าตรัสกับอาดัมในลักษณะทางเดียวมากกว่าการสนทนาสองทาง)  จากนั้น มนุษย์ได้ทำบาปและสูญเสียสิทธิพิเศษในการมีความสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า  แต่คำว่า “สูญเสีย” จะต้องมีเงื่อนไข เพราะการสื่อสารที่สูญเสียไปนั้นสามารถกู้กลับคืนได้โดยการกลับใจ  ในพระคัมภีร์เดิมนั้น พระเจ้ายังคงสื่อสารกับประชากรมากมายของพระองค์  ถ้าพระองค์ได้ทรงสื่อสารกับผู้คนในพระคัมภีร์เดิม ฉะนั้นการสื่อสารของพระองค์กับผู้คนในพระคัมภีร์ใหม่จะยิ่งมากขนาดไหน?

พระเจ้าต้องการให้เราอยู่กับพระองค์

      พระเจ้าได้ทรงสำแดงพระองค์เองแก่เราทางพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ ผู้เป็นผู้แทนที่มองเห็นได้ของพระองค์ ดังนั้นเปาโลจึงพูดถึง “พระสิริของพระเจ้าที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6)[2] และ เรามีสามัคคีธรรมกับพระบิดาและกับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์” (1 ยอห์น 1:3)[3]

      เปาโลให้เรามองเห็นพระทัยของพระเยซูที่ “พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา เพื่อว่าไม่ว่าเราจะตื่นอยู่หรือจะหลับ เราจะได้มีชีวิตกับพระองค์” (1 เธสะโลนิกา 5:10)  แต่ว่าเราจะมีชีวิตกับพระองค์โดยไม่มีการสื่อสารกับพระองค์ได้อย่างไร?

      พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา เพื่อว่าเราจะมีชีวิต “กับพระองค์” และไม่ใช่แค่เพื่อพระองค์เท่านั้น  พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ไม่เพียงแต่เพื่อให้เราได้รับการอภัยบาปเท่านั้น แต่ยังช่วยทำลายกำแพงระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ด้วย  แท้จริงแล้ว “พระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์” ทรงเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ (1 ทิโมธี 2:5)[4]

      คำว่า “มีชีวิตกับพระองค์” นั้นมีความสำคัญ  พระเยซูทรงเลือกสาวกของพระองค์ “เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่กับพระองค์” (มาระโก 3:14)  แต่ดังที่เราเห็นใน 1 เธสะโลนิกา 5:10 นั้น (“เราจะได้มีชีวิตกับพระองค์”) ความสัมพันธ์สนิทแบบนี้ก็ใช้ได้กับเราเช่นกัน  พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเราโดยที่เราจะได้มีชีวิตกับพระองค์

      มีความแตกต่างในภาษากรีกระหว่างสองข้อที่เพิ่งอ้างถึง  ในมาระโก 3:14 พวกสาวกสิบสองคนได้รับเลือกให้ “อยู่กับ” (meta) พระเยซูอย่างน้อยก็ในแง่ของการอยู่ด้วยทางกาย  ในอีกกรณีหนึ่ง 1 เธสะโลนิกา 5:10 มีคำเล็กๆแต่มีพลังว่า syn (“ร่วมกับ”) ซึ่งแสดงถึงการรวมเป็นหนึ่งและความ สัมพันธ์สนิท  สาวกสิบสองคนนั้นอยู่กับพระเยซูทางกาย แต่ยูดาสหนึ่งในนั้นไม่ได้อยู่กับพระองค์ทางจิตวิญญาณ  เริ่มแรกสาวกคนอื่นๆไม่ได้อยู่กับพระเยซูในทางจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง และสิ่งนี้ได้ดำเนินต่อไปจนถึงวันเพ็นเทคอสต์

      ตรงนี้ syn แสดงถึงการร่วมกันทางจิตวิญญาณ ความสัมพันธ์สนิทที่ลึกซึ้งกว่าการอยู่ทางกาย  พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้ทุกคน “จงมาหาเรา” (มัทธิว 11:28)[5]  ในการเชื้อเชิญนี้ เรารู้สึกถึงความปรารถนาของพระองค์ที่จะอยู่กับเรา  พระองค์ได้ทรงคร่ำครวญที่คนทั้งหลายไม่เต็มใจที่จะอยู่กับพระองค์ว่า “บ่อยครั้งแค่ไหนที่เราปรารถนาจะรวบรวมลูกๆ ของเจ้าไว้ เหมือนแม่ไก่รวบรวมลูกไว้ใต้ปีกของมัน แต่เจ้าไม่ยอม” (มัทธิว 23:37)  เรารู้สึกถึงพระทัยปรารถนาของพระองค์ที่จะสามัคคีธรรมกับเราไหม?

ความอุ่นๆ เป็นกำแพงในการมีความสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า

      พระเยซูตรัสว่า “ดูเถิด เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาเขาและรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา” (วิวรณ์ 3:20, ฉบับ RSV)

      ข้อนี้มักถูกยกอ้างในการประชุมประกาศข่าวประเสริฐเหมือนว่ากำลังพูดกับผู้ที่ไม่เป็นคริสเตียน  อันที่จริงเป็นการพูดกับคริสเตียนและโดยเฉพาะกับคริสตจักรที่เลาดีเซียซึ่งกำลังอ่อนแรงอยู่ในความอุ่นๆที่เป็นอันตราย  ความอุ่นๆเป็นสาเหตุที่ทำให้คริสเตียนจำนวนน้อยมีความสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า  เราต้องการได้รับชีวิตนิรันดร์แต่ไม่ยอมรับราคาที่ต้องจ่ายในการติดตามพระองค์  เราสื่อสารกับพระองค์ตามความสะดวกของเราหรือเมื่อเราต้องการพระองค์เท่านั้น แต่เมื่อเราไม่ต้องการพระองค์ เราก็จะไม่คุยกับพระองค์  แต่พระเจ้าไม่ได้ทำตามเงื่อนไขเหล่านั้น และไม่ได้อยู่ตรงนั้นเพื่อจะถูกเอาเปรียบ  พระองค์ทรงสื่อสารกับบรรดาผู้ที่แสวงหาพระองค์ด้วยสุดใจของพวกเขาดังที่ตรัสว่า “เจ้าจะแสวงหาเราและพบเรา  เมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสุดใจของเจ้า” (เยเรมีย์ 29:13)

      ไม่มีคนที่อุ่นๆคนใดจะสามารถสื่อสารกับพระเจ้าได้  ถ้าในด้านหนึ่งเราไม่จริงจังกับศาสนาและกับพระเจ้าในอีกด้านหนึ่งขณะที่ไล่ตามโลก เราก็ไม่สามารถหวังที่จะเข้าถึงพระองค์ได้  ผมสงสัยว่าโรคร้ายของคริสตจักรในทุกวันนี้ก็คือการไม่จริงจังกับสิ่งที่นิรันดร์

      คริสเตียนที่อ้างตัวว่ามุ่งมั่นกับพระเจ้าอาจค้นพบว่า พวกเขาไม่ได้มุ่งมั่นเลยเมื่อเผชิญกับการทดลองหรือความยากลำบาก  ในใจพวกเขานั้นมีพื้นที่อยู่มากที่ให้กับโลก เนื้อหนัง เงินทอง ตำแหน่ง และวิทยฐานะ  หากมีสิ่งใดที่คุณรักมากกว่าพระเจ้า สิ่งนั้นจะหยุดคุณจากการสื่อสารกับพระองค์

ได้ยินพระสุรเสียงขององค์ผู้เป็นเจ้า

      วิวรณ์ 3:20 เปิดเผยให้เห็นความปรารถนาอย่างมากของพระเยซูที่จะสื่อสารกับเรา เป็นความปรารถนาที่สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของพระเจ้าเอง เพราะพระเจ้าสถิตอยู่ “ในพระคริสต์” (2 โครินธ์ 5:19)[6]  พระเยซูจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา และเราจะรับประทานอาหารร่วมกับพระองค์  การสื่อสารนี้เป็นแบบสองฝ่ายและแบบสองทาง ไม่ใช่ทางเดียว

      สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับสองขั้นตอน ขั้นตอนแรก เราได้ยินเสียงของพระองค์เรียกเราอยู่นอกประตู นี่เป็นขั้นตอนแรกและเบื้องต้น และไม่ใช่ขั้นตอนสูงสุดอย่างที่เราคิด การได้ยินเสียงของพระองค์เป็นเพียงการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประตู

      ขั้นตอนต่อไป หลังจากที่คุณได้ยินเสียงของพระองค์และเชิญพระองค์เข้ามา ก็คือการสามัคคีธรรมอาหารมื้อเย็นที่เป็นพระพร  อาหารมื้อเย็นเป็นการสามัคคีธรรมที่ผ่อนคลายและสนิทสนมกับองค์ผู้เป็นเจ้า และบำรุงเลี้ยงชีวิตภายในของเรา ก็เหมือนกับมื้ออาหารดีที่ให้การบำรุงเลี้ยงร่างกายและให้ความอิ่มเอมใจ

      ความสัมพันธ์สนิทที่น่าชื่นใจกับพระเยซูแสดงให้เห็นในการเป็นสาวก ในการแบกกางเขนของเราทุกวันและติดตามพระเยซู  การเป็นสาวกทำให้ใจประสงค์ของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระประสงค์ขององค์ผู้เป็นเจ้าโดยการเดินในทางเดียวกัน และช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่พระเยซูทรงหมายถึงเมื่อตรัสว่า “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามาและทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ” (ยอห์น 4:34)  พระประสงค์ของพระบิดาก็เป็นอาหารของเราด้วยเช่นกันถ้าเราสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า

      คำว่า “เสียง” ในวิวรณ์ 3:20 ปรากฏบ่อยครั้งในยอห์นและเป็นคำสำคัญในวิวรณ์  คำภาษากรีก ว่า phōnē (“เสียง ส่งเสียง เปล่งเสียง”) มีปรากฏ 139 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ และ 55 ครั้งในวิวรณ์เพียงเล่มเดียว ซึ่งนับเป็น 40% ของการปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่  หนังสือกิจการตามมาเป็นอันดับสองที่ยังห่างด้วยการปรากฏ 27 ครั้ง

      วิวรณ์เริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงอันดัง  ในบทที่หนึ่ง ยอห์นกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ยินเสียงอันดังคล้ายเสียงแตรมาจากด้านหลังข้าพเจ้า” (1:10)  เขากล่าวในตอนท้ายๆของวิวรณ์ว่า “ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังมาจากพระที่นั่ง” (21:3)

      ในทั้งสองกรณีนี้ เสียงส่งข้อความที่สำคัญอย่างยิ่ง  ในกรณีแรก องค์ผู้เป็นเจ้าทรงสั่งให้ยอห์นเขียนถึงคริสตจักรทั้งเจ็ด  ในกรณีหลัง องค์ผู้เป็นเจ้าประทานการสำแดงอันยิ่งใหญ่กับยอห์นเกี่ยวกับนครเยรูซาเล็มใหม่  ดังนั้นวิวรณ์จึงเริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงอันดังที่พูดสิ่งที่ยิ่งใหญ่

     พระสุรเสียงขององค์ผู้เป็นเจ้าได้ถูกกล่าวถึงสี่ครั้งในยอห์นบทที่ 10 เช่น “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา และเรารู้จักแกะเหล่านั้น และแกะนั้นก็ตามเรา” (ข้อ 27)  ท้ายที่สุดแล้ว พระบิดาก็คือผู้ตรัสผ่านพระเยซูดังที่กล่าวไว้ว่า “เพราะเราไม่ได้พูดตามใจของเราเอง แต่พระบิดาผู้ทรงส่งเรามาได้ทรงบัญชาเราว่าจะพูดอะไรและพูดอย่างไร” (ยอห์น 12:49)

เสียงของพระเจ้าช่วยผมให้รอดจากความตาย

      พระเจ้าตรัสกับผมเมื่อผมยังเป็นคริสเตียนใหม่ๆ และยังคงตรัสกับผมมาจนถึงทุกวันนี้ เหมือนเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นที่สี่แยกใกล้บ้านของผม  ในประเทศแคนาดานั้น เมื่อรถมาถึงป้ายหยุดสี่ทางก็จะต้องหยุดสนิท  ใครที่หยุดก่อนก็มีสิทธิ์ข้ามแยกไปก่อน  ผมหยุดที่สี่แยกก่อนและกำลังจะเหยียบคันเร่งเมื่อพระเจ้าตรัสกับผมอย่างชัดเจนว่า “หยุด อย่าเหยียบคันเร่ง!”  ผมก็เลยหยุด  แล้วรถเมล์ก็แล่นตะบึงข้ามแยกมา  นอกจากคนขับรถเมล์จะไม่ได้หยุดที่ป้ายหยุดแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้หยุดที่ป้ายรถเมล์ก่อนถึงสี่แยกอีกด้วย

      ถ้าผมขับรถออกไป รถเมล์ก็คงจะพุ่งชนทางด้านขวาของรถผม  นึกภาพได้ไม่ยากที่จะเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ารถของผมถูกรถเมล์คันใหญ่วิ่งเข้าชนด้วยความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  หลังจากที่รถเมล์ตะบึงขับข้ามทางแยกมา คนขับก็รีบเหยียบเบรก  ผมนั่งอยู่ในรถของผมและมองดูเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยความอัศจรรย์ใจ

      ดังนั้นการได้ยินเสียงของพระเจ้าจึงอาจเป็นเรื่องของชีวิตและความตาย  ในพระคัมภีร์ไม่มีอะไรที่ผิดปกติเกี่ยวกับประสบการณ์แบบนี้  เสียงขององค์ผู้เป็นเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคริสเตียนปกติ

ทางแรกที่พระเจ้าตรัสคือ ต่อฝูงชน

      คริสเตียนจำนวนมากคิดว่าพระเจ้าชอบที่จะอยู่นิ่งๆ แต่ความจริงก็คือพระองค์ทรงกระตือรือร้นที่จะตรัสกับเรามากกว่าที่เราจะกระตือรือร้นที่จะฟังพระองค์

      พระเจ้าตรัสกับผู้คนในทางต่างๆ  ที่จริงมีห้าทางที่พระเจ้าตรัสเพื่อเราจะได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์  พระองค์ไม่ได้ตรัสเฉพาะกับคริสเตียนที่เรียกว่า “คนชั้นสูง” เท่านั้น แต่ยังพูดกับกลุ่มคน “ธรรมดา” ด้วย

      ทางแรกที่พระเจ้าตรัสก็คือ ต่อฝูงชน  พระกิตติคุณมีบันทึกไว้สามโอกาสที่พระองค์ตรัสต่อคนทั้งหลาย

      โอกาสแรก เกิดขึ้นในการรับบัพติศมาของพระเยซู เมื่อพระเจ้าตรัสเป็นเสียงให้ได้ยินจากฟ้าสวรรค์กับฝูงชนว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก” (มัทธิว 3:17)

      กรณีที่สอง เกิดขึ้นในการจำแลงพระกายของพระเยซู เมื่อพระสุรเสียงของพระเจ้าตรัสจากเมฆที่สุกใสว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก จงเชื่อฟังท่านเถิด” (มัทธิว 17:5)  ครั้งนี้พระเจ้าตรัสกับผู้ฟังกลุ่มเล็กๆ คือ กับสาวกสามคนของพระเยซู

      ใกล้ช่วงท้ายพันธกิจของพระเยซู พระเจ้าก็ตรัสอีกครั้งกับฝูงชนที่ชุมนุมกัน  พระเยซูกำลังเผชิญกับความเป็นจริงของการตรึงกางเขนที่กำลังจะมาถึง และกำลังจะสละพระชนม์ชีพของพระองค์  ในชั่วโมงของการตัดสินใจนี้ พระเยซูได้ตรัสกับพระบิดาของพระองค์ว่า “ให้พระนามของพระองค์ได้รับเกียรติ” (ยอห์น 12:28)  แล้วก็มีพระสุรเสียงของพระเจ้าตรัสตอบจากสวรรค์ว่า “เราให้รับเกียรติแล้ว และเราจะให้รับเกียรติอีก”  ฝูงชนได้ยินเสียงนั้นและถึงกับโต้เถียงกันถึงเรื่องนี้โดยสรุปว่า “ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้พูดกับพระองค์” (ข้อ 29)  แล้วพระเยซูก็ตรัสกับพวกเขาว่า “เสียงนี้เกิดขึ้นเพื่อพวกท่าน ไม่ใช่เพื่อเรา” (ข้อ 30)

      เราเห็นรูปแบบหนึ่งก็คือ พระเจ้าตรัสอย่างเปิดเผยกับชนชาติอิสราเอลในช่วงต้นพันธกิจของพระเยซู จากนั้นก็ตรัสกับสาวกสามคนในช่วงกลางพันธกิจของพระองค์ จากนั้นก็ตรัสกับชนอิสราเอลอีกครั้งในช่วงท้ายพันธกิจของพระองค์

      เมื่อประทานบัญญัติสิบประการในพระคัมภีร์เดิมนั้น พระสุรเสียงของพระเจ้าได้ตรัสโดยตรงกับชาวอิสราเอลที่ชุมนุมกันที่ซีนาย (อพยพ 20)  พวกเขาตกใจกลัวมากจึงพูดกับโมเสสว่า “ขอให้ท่านแจ้งสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับเราเองเถิด และเราจะฟัง แต่อย่าให้พระเจ้าตรัสกับเราเองเลย ไม่เช่นนั้นเราคงต้องตาย” (ข้อ 19)

      การที่พระเจ้าตรัสกับประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก  เมื่อโอกาสจำเป็น พระเจ้าจะตรัสโดยตรงจากฟ้าสวรรค์กับฝูงชน

ทางที่สอง: พระเจ้าตรัสทางพระวจนะของพระองค์

      แต่โดยปกติแล้วพระเจ้าจะไม่ตรัสกับฝูงชนแบบให้ได้ยิน ยกเว้นแต่ในเหตุการณ์พิเศษหรือเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์  ทางที่สองที่พระเจ้าตรัสกับเรานั้นเป็นเรื่องปกติมาก คือเราจะได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ทางพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งก็คือพระคัมภีร์ที่มอบให้กับเรา  เพื่อให้เข้าใจสิ่งนี้ ก่อนอื่นเราต้องสังเกตความเชื่อมโยงอย่างใกล้เคียงกันระหว่าง “เสียง” กับ “ถ้อยคำ”

      เมื่อโมเสสกำลังกล่าวกับชนชาติอิสราเอล โมเสสได้ให้พวกเขานึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวอิสราเอลตกใจกลัวพระสุรเสียงของพระเจ้า

แล้วพระยาห์เวห์ตรัสกับท่านทั้งหลายออกมาจากท่ามกลางไฟ ท่านได้ยินเสียงพระดำรัสแต่ไม่เห็นรูปพรรณสัณฐาน มีแต่พระสุรเสียงเท่านั้น  พระองค์จึงทรงประกาศพันธสัญญาของพระองค์ต่อท่าน ซึ่งทรงบัญชาท่านทั้งหลายให้ปฏิบัติตาม คือพระบัญญัติสิบประการ ซึ่งพระองค์ทรงจารึกลงบนศิลาสองแผ่น (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:12-13)

      ในที่นี้โมเสสกล่าวถึง “เสียง” และ “ถ้อยคำ” ซึ่งบ่งชี้ถึงความเชื่อมโยงอย่างใกล้เคียงระหว่างกัน  ในทำนองเดียวกัน พระสุรเสียงของพระเยซูก็ตรัสกับเราทางถ้อยคำของพระองค์ที่บันทึกไว้ในพระกิตติคุณ  ใครมีหูที่ได้ยินก็จะรับรู้ถึงเสียงและถ้อยคำของพระองค์

      แต่ยังมีความแตกต่างระหว่างเสียงและถ้อยคำ  เสียงส่งถ้อยคำแต่มากกว่าถ้อยคำ ด้วยลักษณะต่างๆ เช่น ความเร็ว ระดับเสียง และเสียงสูงต่ำ ที่เสียงสื่อถึงสิ่งที่ถ้อยคำเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้  เสียงสื่อความหมายมากกว่าถ้อยคำตามตัวอักษร เพราะลักษณะการพูดและความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนั้นสามารถส่งผลต่อผู้ฟังด้วยการสื่อสารแบบบอกเป็นนัยไม่ใช่คำพูด

      คำพูดและคำที่พิมพ์มีผลต่างกันต่อบุคคลแม้ว่าถ้อยคำจะเหมือนกันก็ตาม  สิ่งนี้อธิบายให้เห็นปฏิกิริยาที่หวาดกลัวของชาวอิสราเอลที่มีต่อพระสุรเสียงของพระเจ้าเมื่อพวกเขาได้ยินถ้อยคำของพระองค์พร้อมกับฟ้าร้อง ฟ้าแลบและแตร ที่ภูเขาที่ลุกโชนด้วยไฟและควัน (อพยพ 20:18; เฉลยธรรมบัญญัติ 5:23-27; ฮีบรู 12:18-21)  แต่เมื่อเราอ่านข้อเหล่านี้ในพระคัมภีร์ฉบับพิมพ์ ถ้อยคำเหล่านั้นขาดการออกฤทธิ์ที่น่าเกรงขามแบบเดียวกับที่ถ้อยคำเหล่านี้มีผลต่อชาวอิสราเอลเมื่อพวกเขาได้ยินถ้อยคำนั้นด้วยหูของพวกเขาเอง

      แม้ว่าเสียงและคำพูดจะมีความเหมือนกันมาก แต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน  ถึงอย่างไรมันก็เป็นเสียงที่ส่งถ้อยคำและเป็นถ้อยคำที่มีเนื้อหา

      หลายคนต้องการจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า แต่เพิกเฉยต่อสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสไว้แล้วในพระคำของพระองค์  เราต้องทำตามแบบอย่างของผู้เขียนสดุดีและใคร่ครวญพระคำของพระเจ้าทั้งกลางวันและกลางคืน (สดดี 1:2; โยชูวา 1:8) กินพระคำเป็นอาหารจนหูของเราปรับให้เข้ากับเสียงของพระองค์  อีกไม่นานคุณก็จะคุ้นเคยกับรูปแบบการตรัสของพระองค์และเนื้อหาในถ้อยคำของพระองค์ จนกระทั่งว่าหากวันหนึ่งพระองค์จะตรัสเป็นเสียงให้คุณได้ยิน คุณก็สามารถจะรับรู้ได้ด้วยเนื้อหาของถ้อยคำนั้น

      สิ่งนี้เป็นจริงในระดับมนุษย์เช่นกัน ถ้าคุณคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมพูดและสอน และถ้ามีคนมาบอกว่าผมพูดแบบนี้และแบบนั้น คุณก็พูดได้ว่า “ผมรู้สิ่งที่เขาสอน และเขาจะไม่มีวันพูดแบบนั้นแน่”   ถ้ามีคนบอกคุณว่าเพื่อนคนหนึ่งของคุณพูดแบบนั้น คุณก็พูดได้ว่า “นั่นเป็นไปไม่ได้ เพื่อนของผมจะไม่พูดอะไรแบบนั้นแน่”  คุณสามารถจะรับรู้เสียงได้โดยเนื้อหาของถ้อยคำนั้น

      ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคุ้นชินกับถ้อยคำของพระเจ้าเพื่อว่าเมื่อพระองค์ตรัสกับเราโดยตรง เราก็สามารถรับรู้ว่าเป็นพระสุรเสียงของพระองค์  ก็เช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า  ถ้าเรารู้จักพระสุรเสียงของพระเยซู เราก็จะไม่ถูกหลอกโดยเสียงของผู้ที่แอบอ้าง แม้ว่าจะฟังดูเป็นของจริงกับบางคนก็ตาม  พระเยซูตรัสว่าแกะของพระองค์ “จะรู้จักเสียงของพระองค์” (ยอห์น 10:4) “พวกแกะจะไม่มีวันตามคนแปลกหน้า แต่จะวิ่งหนีจากเขาเพราะพวกมันไม่รู้จักเสียงของคนแปลกหน้า” (ข้อ 5) “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักแกะเหล่านั้น และแกะเหล่านั้นก็ตามเรา” (ข้อ 27)

ทางที่สาม: พระเจ้าตรัสกับเราทางผู้รับใช้ของพระองค์

      ทางที่สามที่เราจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าก็คือผ่านทางผู้รับใช้ของพระองค์  ใน 1 ซามูเอล 15:19 ซามูเอลตำหนิซาอูลที่ไม่เชื่อฟังพระเจ้าว่า “ทำไมท่านจึงไม่เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระยาห์เวห์?”  ที่น่าสนใจก็คือ ซามูเอลพูดถึง “เสียง” ของพระเจ้า แม้ว่าคำสั่งของพระเจ้ากับซาอูลจะเป็นโดยทางอ้อมที่ตรัสกับซามูเอลไม่ใช่กับซาอูลเอง (ข้อ 1-3)  นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวอย่างในพระคัมภีร์ที่พระสุรเสียงของพระเจ้าตรัสทางผู้รับใช้ของพระองค์

      ในทำนองเดียวกัน ชนชาติอิสราเอลก็ได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าผ่านทางโมเสส  มีตัวอย่างอีกมากมายที่จะอ้างถึงได้ แต่นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งโมเสสกล่าวกับอิสราเอลว่า “ถ้าท่านเชื่อฟังพระ   สุรเสียงของพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน โดยรักษาบัญญัติทั้งสิ้นของพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าสั่งท่านในวันนี้…” (เฉลยธรรมบัญญัติ 13:18)  มีการกล่าวกันว่าโมเสส “สั่ง” ชาวอิสราเอลแม้ว่าสุดท้ายแล้วพระบัญญัตินี้จะเป็นพระบัญญัติของพระเจ้า

      โมเสสเป็นเสียงให้พระเจ้าไม่เฉพาะกับชาวอิสราเอลเท่านั้น แต่กับฟาโรห์ด้วย

พระยาห์เวห์จึงตรัสกับโมเสสว่าดูสิ เราได้ตั้งเจ้าไว้เป็นดังพระเจ้าต่อฟาโรห์ และอาโรนพี่ชายของเจ้าจะเป็นผู้เผยพระวจนะของเจ้า  เจ้าจงบอกข้อความทั้งหมดที่เราสั่งเจ้า แล้วอาโรนพี่ชายของเจ้าจะบอกฟาโรห์ให้ปล่อยชนชาติอิสราเอลออกไปจากแผ่นดินของเขา (อพยพ 7:1-2)

      เมื่อฟาโรห์ได้ยินโมเสสหรืออาโรนพูด เขาก็ได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า  ถ้าฟาโรห์ปฏิเสธคำของโมเสส ก็แสดงว่าเขากำลังปฏิเสธพระสุรเสียงของพระเจ้า เพราะพระยาห์เวห์ได้ตั้งโมเสส “เป็นดั่งพระเจ้าต่อฟาโรห์”

      ผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิม เป็นพระสุรเสียงของพระเจ้าต่อชาวอิสราเอลและสุดท้ายก็  ต่อโลก  พวกเขาดำเนินชีวิตภายใต้การควบคุมของพระเจ้าอย่างเต็มที่และมีความสัมพันธ์สนิทกับพระองค์อย่างลึกซึ้งจนพวกเขาสามารถจะประกาศว่า “พระเจ้าตรัสดังนี้” (คำตรงตัวอักษรคือ “พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้”)  ถ้อยคำนี้มีปรากฏประมาณ 418 ครั้งในพระคัมภีร์เดิม

      หลักการที่คล้ายกันนี้จะพบในพระคัมภีร์ใหม่  ในเรื่องการประกาศข่าวประเสริฐ พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา” (มัทธิว 10:40) ผู้ที่ยอมฟังพวกท่านก็ฟังเรา ผู้ที่ไม่ยอม รับพวกท่านก็ไม่ยอมรับเรา และผู้ที่ปฏิเสธเราย่อมปฏิเสธพระองค์ ผู้ทรงส่งเรามา” (ลูกา 10:16)       มีเพียงเสียงของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถเป็นตัวแทนเสียงของพระเจ้าได้

ทางที่สี่: การได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าทางนิมิต

      พระคัมภีร์กล่าวถึงทางที่สี่ที่เราจะได้ยินเสียงของพระเจ้าทางนิมิต  มีคริสเตียนมากมายที่ถือว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องไม่ธรรมดา แต่มันเป็นเรื่องปกติในหนังสือกิจการ หนังสือวิวรณ์ และพระคัมภีร์เดิม  ตัว​อย่าง​เช่น เอเสเคียล 1:25-28 พูดถึง​นิมิต​ที่งดงามซึ่ง​พระ​สุรเสียง​ของ​พระ​ยาห์เวห์ได้ตรัสออกไป​และ​ได้​ยินกัน

      องค์ผู้เป็นเจ้าตรัสกับอานาเนียทางนิมิต (กิจการ 9:10) โดยสั่งเขาให้ช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณแก่เซาโล ซึ่งต่อมาเรียกว่าเปาโล  เขาได้รับคำสั่งให้วางมือกับเซาโลเพื่อให้ตาของเซาโลมองเห็นได้อีกครั้ง และที่เซาโลจะเต็มด้วยพระวิญญาณ (ข้อ 17)

      นิมิตสามารถมาในรูปของความฝัน  อันที่จริง ความฝันนั้นเรียกอีกอย่างว่า “นิมิตยามค่ำคืน” (โยบ 20:8; 33:15; อิสยาห์ 29:7)  ในนิมิตยามค่ำคืนนั้น องค์ผู้เป็นเจ้าตรัสกับเปาโลว่า “อย่ากลัวเลย แต่จงกล่าวต่อไปและอย่าเงียบเลย” (กิจการ 18:9)  ในนิมิตนั้น องค์ผู้เป็นเจ้าได้สื่อสารกับเปาโลโดยใช้ “ภวังค์” หรือ “ความเคลิบเคลิ้ม” (คำกรีกคือ ekstasis, กิจการ 22:17 เป็นต้นไป, ใช้กับเปโตรในกิจการ 10:10) ซึ่งเป็นสภาวะที่คนๆหนึ่งไม่รับรู้กับสิ่งรอบตัวในเวลานั้น

ทางที่ห้า: การได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าทางพระวิญญาณ

      ทางที่ห้าในการได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้านั้นเป็นเรื่องธรรมดามาก การได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ (นั่นก็คือ พระวิญญาณของพระเจ้า หรือพระวิญญาณของพระยาห์เวห์)  พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสที่อันทิโอกว่า “จงตั้งบารนาบัสกับเซาโลไว้สำหรับงานที่เราเรียกให้พวกเขาทำนั้น” (กิจการ 13:2)  พระสุรเสียงของพระเจ้าตรัสทางพระวิญญาณของพระองค์กับผู้ที่มารวมตัวกันเพื่ออธิษฐานและอดอาหาร

      พระเจ้าตรัสกับเราทางพระวิญญาณแม้ในเรื่องของความมั่นใจว่า “พระวิญญาณเองก็เป็นพยานกับจิตวิญญาณของเราว่า เราเป็นลูกของพระเจ้า” (โรม 8:16)  เราจะไม่มีความมั่นใจอย่างแท้จริงเว้นเสียแต่พระวิญญาณของพระเจ้าจะบอกเราว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้า

      มีคริสเตียนมากมายที่ขาดการติดต่อกับพระเจ้า จนพวกเขาต้องยึดความมั่นใจในความรอดไว้กับหลักคำสอนหรือหลักความเชื่อ มากกว่าจะยึดกับการมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า  ในสภาพฝ่ายวิญญาณที่อ่อนแอของพวกเขา พวกเขาไม่กล้าจะยึดความมั่นใจอยู่กับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือ นั่นก็คือ การสื่อสารกับพระเจ้า  ดังนั้นพวกเขาจึงยึดความมั่นใจอยู่กับหลักความเชื่อที่พวกเขาคิดว่าไม่ได้ขึ้นกับการมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า  น่าเสียดายที่สำหรับพวกเขาแล้ว พระคัมภีร์ไม่ได้ให้หลักพื้นฐานสำหรับความมั่นใจที่แท้จริงนอกเหนือจากการเป็นพยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่กล่าวไว้ในโรม 8:16 ด้วยความชัดเจนอย่างแท้จริง

      หากเราไม่มีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าที่พระองค์ตรัสกับเรา และให้ความมั่นใจกับเราทางพระวิญญาณของพระองค์ เราก็จะไม่มีความมั่นใจเลย  หากไม่มีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ก็ไม่มีหลักคำสอนใดที่จะให้ความมั่นใจที่แท้จริงได้  ไม่มีอะไรจะอันตรายเท่ากับความมั่นใจจอมปลอมที่หลอกให้คุณรู้สึกมั่นคงปลอดภัย  คุณได้ยินคำว่า “สันติสุข สันติสุข” เมื่อไม่มีสันติสุข เพราะสันติสุขที่แท้จริงเป็นผลของพระวิญญาณที่มาจากการมีชีวิตที่สัมพันธ์กับพระเจ้า  การยึดความมั่นใจของเรากับสิ่งอื่นก็คือการตามการนำทางของคนตาบอดที่ตกลงไปในบ่อ

      มีคริสเตียนจำนวนมากรู้สึกไม่มั่นคงที่จะยึดความมั่นใจอยู่กับการมีชีวิตในความสัมพันธ์กับพระเจ้า แต่ไม่มั่นคงในเรื่องอะไรหรือ? เรากลัวว่าเราอาจจะมีความสัมพันธ์กับพระองค์ในวันนี้ แต่จะไม่มีในวันพรุ่งนี้หรือ? และนั่นจะเป็นความผิดของพระเจ้าตั้งแต่แรกไหม? พระเจ้าทรงไม่แน่ไม่นอนที่ทรงตรัสในวันนี้และจะซ่อนพระองค์ในวันพรุ่งนี้หรือ?

      จงระวังที่จะยึดความมั่นใจของเราอยู่กับรากฐานที่จอมปลอม  เราจะต้องเดินกับองค์ผู้เป็นเจ้าและคงอยู่กับพระองค์ “จงคงอยู่ในเราและเราจะคงอยู่ในพวกท่าน”[7] (ยอห์น 15:4)  ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็จะเกิดผลมาก ซึ่งเป็นผลของพระวิญญาณและจะมีความมั่นใจอย่างแท้จริง  แต่ถ้าเราไม่คงอยู่ในพระคริสต์ แล้วเราจะมีความมั่นใจที่มาจากพระวิญญาณของพระเจ้าได้อย่างไร?  ผู้ที่วางใจในความมั่นคงที่จอมปลอมก็จะจบลงในความหายนะ

      พระเจ้าประทานพระวิญญาณของพระองค์แก่เราซึ่งก็คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อว่าเราจะได้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและมั่นคงกับพระองค์  เมื่อใดที่ความสัมพันธ์สนิทของเรากับพระเจ้ากำลังอ่อนแรงลง ทำไมเราจึงไม่กลับใจเสียทันที? ที่จำเป็นต้องทำก็คือการกลับใจใหม่เพื่อฟื้นฟูสามัคคีธรรม  หรือว่าเรากำลังเดิมพันความมั่งคงของเราไว้กับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การกลับใจ?

      นี่เป็นอีกตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเสียงของพระเจ้า

แต่เมื่อพระวิญญาณแห่งความจริงเสด็จมาพระองค์จะทรงนำพวกท่านไปสู่ความจริงทั้งมวล  พระองค์จะไม่ตรัสโดยพลการพระองค์จะตรัสเฉพาะสิ่งที่พระองค์ทรงได้ยิน และพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกท่านถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น (ยอห์น 16:13, ฉบับ NIV)

      จงสังเกตคำที่ขีดเส้นใต้คำว่า “ตรัส” พระวิญญาณไม่ได้ตรัสด้วยอำนาจของพระองค์เอง แต่ตรัสสิ่งที่ได้ยิน และทรงเปิดเผยความจริงกับเรา รวมทั้งสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นด้วย  สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเหตุการณ์ของการสิ้นยุค แต่เป็นเหตุการณ์ที่มีลักษณะส่วนบุคคลที่ชี้นำเราในการเดินกับพระเจ้า

      พระเยซูทรงอธิบายเพิ่มเติมว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับเราอย่างไร

แต่องค์ผู้ช่วยคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งพระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้น จะทรงสอนพวกท่านทุกสิ่ง และจะให้พวกท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราได้กล่าวกับพวกท่าน (ยอห์น 14:26, ฉบับ ESV)

      พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทำให้เราระลึกถึงสิ่งที่พระเยซูได้ทรงสอน  นี่สอดคล้องกับยอห์น 16:13 ที่เราอ้างถึงเกี่ยวกับพระวิญญาณแห่งความจริง แต่ตอนนี้กล่าวเจาะจงมากขึ้นว่า พระวิญญาณตรัสกับเราโดยให้เราระลึกถึงคำตรัสของพระเยซู  พระวิญญาณทำทรงให้เราระลึกถึงข้อพระคัมภีร์เฉพาะที่ตรัสกับเราอย่างมีพลังจนทำให้เราขีดเส้นใต้ข้อนั้นในพระคัมภีร์ของเราหรือจดไว้ในกระดาษ  ผมมีประสบการณ์แบบนี้บ่อยๆ  มีข้อๆหนึ่งพูดกับผมอย่างทรงพลังและคงอยู่กับผมจนเรื่องนั้นได้รับการแก้ไข  จากนั้นพระวิญญาณก็ให้ผมจำพระคัมภีร์อีกข้อหนึ่งที่มาเป็นแสงนำทางในการเดินก้าวต่อไปของผมกับพระเจ้า “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมให้กับย่างเท้าของข้าพระองค์ และเป็นแสงส่องทางของข้าพระองค์” (สดุดี 119:105)

การได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า: ตัวอย่าง

      เมื่อสองศตวรรษก่อน ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังนำกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ของสตรีอย่างเกิดผลและประสบความสำเร็จมากโดยพระคุณของพระเจ้า  แต่แทนที่บรรดาผู้นำคริสตจักรจะชื่นชมยินดีในเรื่องนี้ กลับไม่พอใจที่ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังนำศึกษาพระคัมภีร์ซึ่งพวกเขารู้สึกว่าเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สอนศาสนา  เมื่อเผชิญกับเรื่องนี้ เธอบอกว่าเธอมักจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าเมื่อสามัคคีธรรมอย่างลึกซึ้งกับพระองค์ และพระสุรเสียงนั้นจะชี้นำเธอให้นำการศึกษาพระคัมภีร์  พวกเขาถามเธอว่าเธอรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระสุรเสียงของพระเจ้า  เธอตอบคณะผู้สอนศาสนาด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและสุภาพว่า “พวกท่านบอกดิฉันได้ไหมว่าอับราฮัมรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระสุรเสียงของพระเจ้าที่บอกให้เขาถวายอิสอัค?”

      คำสั่งของพระเจ้าที่ให้อับราฮัมถวายอิสอัคบุตรชายของเขาซึ่งเป็นเชื้อสายตามพระสัญญาของพระเจ้านั้นขัดกับความคิดของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง  พระเจ้าทรงเรียกร้องสิ่งที่อับราฮัมรักที่สุด ที่รักมากยิ่งกว่าชีวิตของเขาเอง แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจุดประสงค์ในการอวยพรเขาและมนุษยชาติทั้งหมดผ่านทางเขา  สถานการณ์นี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การฆ่าลูกชายของตัวเองอย่างมิชอบ อับราฮัมมั่นใจอย่างมากว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่ได้ตรัสกับเขา  อับราฮัมจะถวายอิสอัคไหมถ้าเขาเกิดความสงสัยสักนิดว่าเป็นพระเจ้าหรือไม่ที่ตรัสกับเขา?  พระเจ้าตรัสกับคนทุกชั่วอายุที่ “เชื่อฟังตามความเชื่อ” เช่นเดียวกับอับราฮัม (โรม 1:5; 16:26)

เราจะได้ยินเสียงของพระเจ้าได้อย่างไร?  เจ็ดหลักการ

1. ใจที่บริสุทธิ์

      หลักการข้อแรกที่เราต้องเข้าใจก็คือใจที่บริสุทธิ์ ถ้าเราต้องการจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า หากใจของเราไม่บริสุทธิ์ เราก็จะไม่สามารถรับรู้ถึงพระสุรเสียงของพระองค์ได้

      เมื่อผมรับใช้เป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรในเมืองลิเวอร์พูล จะมีผู้หญิงคนหนึ่งในคริสตจักรที่เผยพระวจนะในพระนามขององค์ผู้เป็นเจ้าในภวังค์ ในสภาวะที่เคลิบเคลิ้มชั่วครู่หนึ่ง  เธอเผยพระวจนะด้วยพลังจนทำให้ผู้ที่ฟังเธอต้องตกใจ  ในสภาวะที่เคลิบเคลิ้ม เธอจะพูดว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้…” และจะยกข้อพระคัมภีร์ทั้งตอนซึ่งในสภาวะที่มีสติปกติ เธอจำไม่ได้หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ในพระคัมภีร์  อันที่จริง หญิงที่รักคนนี้แทบจะอ่านหนังสือไม่ออก เพราะเธอไม่เคยมีโอกาสได้เรียนในระดับประถมเลยด้วยซ้ำ  แต่หลังจากตื่นจากภวังค์ เธอก็จำไม่ได้ว่าเธอได้พูดอะไรไป

      สิ่งนี้ดำเนินต่อไปในคริสตจักรอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ดังนั้นผมจึงแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้าเพื่อสังเกตดูว่าคำเผยพระวจนะนี้มาจากพระองค์หรือไม่  ในกรณีนี้ไม่มีใครสามารถบอกได้จากใจความสำคัญของคำเผยพระวจนะของเธอ  คำประกาศของเธอไม่มีสิ่งใดที่บ่งชี้อย่างชัดเจนไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

      วันหนึ่งขณะเมื่อผมรอคอยต่อเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอยู่นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงแก่ผมอย่างชัดเจนว่าคำเผยพระวจนะนั้นไม่ได้มาจากพระองค์  ผมจึงไปหาหญิงคนนี้และพูดกับเธอว่า “พี่สาวครับ คำเผยพระวจนะที่คุณได้ประกาศในพระนามขององค์ผู้เป็นเจ้านั้นไม่ได้มาจากพระองค์”  เมื่อพูดอย่างนี้ เธอ​ก็ทรุดตัว​ลง​จากที่นั่งและ​ซบ​หน้า​ลง​กับ​พื้น  เธอถามทั้งน้ำตาว่า “ถ้าสิ่งนี้ไม่ได้มาจากองค์ผู้เป็นเจ้า แล้วทำไมฉันถึงเผยพระวจนะเช่นนี้ได้?” ผมพูดว่า “พี่สาวที่รัก ซาตานก็สามารถใช้คุณได้เพราะมีความบาปซ่อนอยู่ในใจของคุณ  จงค้นดูในใจของคุณต่อพระพักตร์พระเจ้าและบอกผมว่ามีความบาปอะไรที่คุณได้ทำ”

      เธอครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง แต่ก็นึกอะไรไม่ออก  เธอกล่าวว่า “พูดด้วยความสัตย์จริง ฉันนึกไม่ออกว่ามีความบาปใดๆที่ได้ทำและไม่ได้กลับใจ”  ผมจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าเพื่อสังเกตดูและพระองค์ได้ทรงเปิดเผยความบาปกับผม  ผมบอกเธอว่า “ถ้าอย่างนั้น ผมจะบอกว่ามันคืออะไร  มีความไม่บริสุทธิ์อยู่ในใจของคุณ เพราะลึกๆแล้ว คุณเกลียดสามีของคุณ”

      สิ่งนี้ปลุกเธอให้ตื่นขึ้น และเธอได้สารภาพว่าเธอเกลียดสามีของเธอเพราะเขาทำร้ายเธอและปฏิบัติกับเธอเยี่ยงทาส  ลึกลงไปในใจของเธอแล้ว เธอเกลียดเขาเพราะเขาทำให้เธออับอาย ทำให้เธอเสื่อมเสีย และปฏิบัติต่อเธอเหมือนเป็นวัตถุมากกว่าเป็นมนุษย์  เธอรู้ว่าความเกลียดชังนั้นเป็นสิ่งที่ผิด แต่แทนที่จะจัดการกับมัน เธอกลับฝังมันไว้ลึกๆ ยิ่งลึกลงไปในใจของเธอจนเธอไม่รู้สึกตัวอีกต่อไป  แต่ตลอดมานั้น รากของความเกลียดชังเป็นพิษต่อตัวเธอทั้งหมด  ความขมขื่น ความเกลียดชัง และความบาป เมื่อซ่อนเร้นอยู่ในส่วนลึกของตัวคนๆหนึ่งจนคนนั้นไม่รู้สึกตัว ก็เป็นเหมือนกับพิษที่ทำลายชีวิตของคนนั้น

      เธอได้กลับใจใหม่และรับพระคุณของพระเจ้าเพื่อยกโทษให้สามีของเธอ และดำเนินชีวิตใหม่ในพระคริสต์ ภายในเวลาสองปี สามีของเธอซึ่งเคยเป็นคริสเตียนแต่ในนามก็กลายเป็นคนที่เปลี่ยนไป

      หากเราประสงค์จะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าและไม่สับสนกับเสียงของซาตาน เราก็ต้องมีใจที่บริสุทธิ์  พระโลหิตของพระเยซูจะต้องชำระบาปทุกอย่างของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาปที่ซ่อนอยู่  เราต้องการพระวิญญาณของพระเจ้าที่จะเปิดเผยความบาปของเรากับเรา เพราะว่าความบาปที่รู้หรือไม่รู้นั้นจะตัดความสัมพันธ์สนิทของเรากับพระเจ้าผู้บริสุทธิ์และชอบธรรม

      มีคริสเตียนหลายคนคิดว่าข้อความแห่งการกลับใจมีไว้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่คริสเตียนเท่านั้น แต่นั่นเป็นข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรง  แม้แต่ข้อวิวรณ์ 3:20 ที่เรากำลังดูอยู่ก็มีการเรียกให้กลับใจใหม่อยู่ก่อนหน้าว่า “จงมีความกระตือรือร้นและกลับใจใหม่” (ข้อ 19)  การเรียกนี้ไม่ได้พูดกับผู้ไม่เชื่อ แต่พูดกับคริสเตียนในเมืองเลาดีเซีย  การกลับใจใหม่ไม่ใช่การกระทำเพียงครั้งเดียว  เราไม่ได้เรียนจบจากชีวิตคริสเตียนจนถึงขั้นที่เราไม่ต้องกลับใจใหม่อีกต่อไป  การกลับใจใหม่และการสำนึกผิดเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าหาพระเจ้าที่บริสุทธิ์ผู้ทรงมีความยินดีกับใจที่สำนึกผิด

เพราะพระองค์ผู้สูงเด่นและสูงส่ง ผู้ทรงดำรงอยู่นิรันดร์ ผู้ทรงพระนามว่าบริสุทธิ์ ตรัสดังนี้ว่าเราอาศัยอยู่ในที่สูงส่งและบริสุทธิ์ และอยู่กับผู้สำนึกผิดและ​​ถ่อมใจ เพื่อฟื้นจิตวิญญาณของผู้ที่ถ่อมใจ และฟื้นใจของผู้ที่สำนึกผิด (อิสยาห์ 57:15 ฉบับ ESV)

แต่นี่ต่างหากที่เราจะมอง คือผู้ถ่อมใจและมีใจสำนึกผิดและตัวสั่นเพราะถ้อยคำของเรา (อิสยาห์ 66:2 ฉบับ ESV)

      เราจะต้องไม่ยอมให้ความบาปของเราผลักไสเราให้ออกห่างจากพระเจ้า  ในทางกลับกัน การสำนึกในความบาปของเราควรนำเราให้ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น  เมื่อจิตวิญญาณของเราอยู่ในสภาพที่แร้นแค้นนั้น เราจะหันหน้าไปหาใครได้นอกจากพระองค์ผู้เดียวที่สามารถช่วยกู้เราได้?  เมื่อเราเข้ามายังพระพักตร์ของพระองค์ด้วยใจที่ถ่อมและสำนึกผิด เราจะสามารถอยู่ต่อพระพักตร์ของพระองค์ได้ แม้เราจะรู้สึกว่าตัวเราเองไม่สะอาด

      ถ้าผมกล้าพูดอย่างนั้นและด้วยคุณสมบัติที่ระมัดระวัง ความบาปของเราสามารถจะเป็นพรได้หากมันนำเราให้สำนึกผิดอย่างแท้จริงว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงเมตตาข้าพระองค์ผู้เป็นคนบาป  ขอทรงให้ข้าพระองค์ได้เข้ามาอยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ เพื่อที่พระองค์จะทรงชำระข้าพระองค์จากความบาปของข้าพระองค์ และเปลี่ยนข้าพระองค์เป็นคนใหม่”  ความผิดบาปของเราจึงเป็นเหตุให้เข้ามาหาพระองค์แทนที่จะหนีจากพระองค์  เราจะเข้าใจว่าทำไมพระเยซู พระบุตรของพระเจ้าจึงถูกเรียกว่า “มิตรสหายของคนบาป” (มัทธิว 11:19; ลูกา 7:34)

2. ความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงต่อความจริง

      สิ่งที่สองที่เราจะต้องมี หากจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าก็คือ ความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงต่อความจริง  “ความจริง” ตรงนี้หมายถึงความจริงจากพระวจนะของพระเจ้า ไม่ใช่หลักคำสอนหรือ ศาสนศาสตร์ที่เราชื่นชอบ  มีหลายครั้งในชีวิตของผมที่ผมมีประสบการณ์อันเจ็บปวดเมื่อพบว่าหลักคำสอนที่ผมเชื่อว่าเป็นความจริงนั้นไม่ได้สอดคล้องกับพระคำของพระเจ้า  ผมรู้สึกตกใจที่หลักคำสอนไม่ได้รับการสนับสนุนโดยพระคำของพระเจ้าทั้งหมด แต่มีเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้นที่หยิบยกออกนอกบริบท  เมื่อการศึกษาเพิ่มเติมเปิดเผยให้เห็นลักษณะของหลักคำสอนที่ผิดหลักพระคัมภีร์ ผมจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องทิ้งหลักคำสอนนั้นเพราะความมุ่งมั่นต่อความจริง

3. การมีใจเดียว

      ประการที่สาม เราจะต้องมีใจเดียว  คริสเตียนจำนวนมากไม่สามารถสื่อสารกับพระเจ้าได้เพราะจิตใจของพวกเขาฟุ้งซ่านจากหลายสิ่งหลายอย่างที่เรียกร้องความสนใจของพวกเขา  ดังนั้นพวกเขาจึงติดอยู่กับความวุ่นวาย  เราคงจำสิ่งที่พระเยซูตรัสกับคนที่ใจว้าวุ่นได้ เช่นว่า “มารธา มารธา เจ้าว้าวุ่นและร้อนใจในหลายสิ่งนัก แต่มีสิ่งเดียวที่จำเป็น มารีย์ได้เลือกเอาส่วนที่ดีซึ่งไม่มีใครจะเอาสิ่งนั้นไปจากนางได้” (ลูกา 10:41-42)  สิ่งที่กวนใจมารธาไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่เป็นการงานที่ดีและถูกต้องสมควร  แต่มารีย์น้องสาวของเธอ “นั่งอยู่แทบพระบาทขององค์ผู้เป็นเจ้า และฟังถ้อยคำของพระองค์” (ข้อ 39)

      คริสเตียนจำนวนมากมัวแต่ยุ่งอยู่กับสิ่งดีๆ จนสิ่งดีๆกลายเป็นศัตรูของสิ่งที่ดีที่สุด  พวกเขาไม่สามารถจะได้ยินเสียงของพระเจ้าเพราะหูของพวกเขาหนวกด้วยเสียงอึกทึกของการงาน

      ในทำนองเดียวกัน การขาดความเชื่อ หรือความไม่เชื่ออย่างชัดเจนนั้น ส่งผลให้ใจแบ่งแยกและไม่บริสุทธิ์ และไม่สามารถจะตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวิญญาณได้  นั่นคือสิ่งที่ยากอบอธิบายว่าเป็นคนสองใจ  ในสภาวะนี้เราจะไม่สามารถสื่อสารกับพระเจ้าหรือรับอะไรจากพระองค์ได้

แต่เขาจะต้องทูลขอด้วยความเชื่อและไม่สงสัยเลย เพราะคนที่สงสัยก็เป็นเหมือนคลื่นในทะเลที่ถูกลม​​ซัดไปซัดมา  เพราะคนๆ นั้น​​ไม่ควรคาดหวังว่าเขาจะได้รับสิ่งใดจากองค์​​ผู้เป็นเจ้า เขาเป็นคนสองใจไม่มั่นคงใน​​ทางของตน (ยากอบ 1:6-8 ฉบับ NASB)

จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะเสด็จมาใกล้ท่าน  พวกคนบาปทั้งหลาย จงชำระมือให้สะอาด คนสองใจ จงชำระใจให้บริสุทธิ์  (ยากอบ 4:8)

4. ความสงบเงียบภายใน

      ประการที่สี่ เราต้องมีความสงบเงียบภายใน  ในยุคที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทุกอย่างเร่งด่วนนี้ จึงมีเพียงไม่กี่คนที่รู้วิธีที่จะสงบเงียบ  ความสงบเงียบภายในเป็นสิ่งสำคัญเพราะพระเจ้าจะไม่ตะโกนใส่เรา แต่จะตรัสกับเราด้วยเสียงที่เงียบ และเราต้องเงียบเพื่อได้ยินเสียงที่แผ่วเบานั้น

      พระยาห์เวห์ทรงบอกเอลียาห์ให้ไปยืนอยู่บนภูเขาเพื่อรอให้พระองค์ทรงผ่านไป ลมพายุกล้าพัดปะทะภูเขา แต่พระยาห์เวห์ไม่ได้สถิตในลมนั้น  แผ่นดินไหวรุนแรงเขย่าแผ่นดิน แต่พระยาห์เวห์ไม่ได้สถิตในแผ่นดินไหวนั้น  ไฟได้เผาผลาญสถานที่นั้น แต่พระยาห์เวห์ไม่ได้สถิตในไฟนั้น  ในที่สุดก็มีเสียงอันแผ่วเบา ซึ่งเป็นพระสุรเสียงของพระยาห์เวห์ได้ตรัสว่า “เอลียาห์เอ๋ย เจ้ามาทำอะไรอยู่ที่นี่?” (1 พงศ์กษัตริย์ 19:11-13)

      ถ้าเรานั่งนิ่งๆไม่ได้ หรือถ้าเรายอมให้เสียงและความโกลาหลของโลกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวภายในของเรา เราก็จะไม่สามารถได้ยินพระสุรสียงของพระองค์  สิ่งที่เราต้องการคือความสงบเงียบภายใน  เมื่อเราเข้าใกล้คนของพระเจ้า เราสามารถจะสัมผัสได้ถึงความสงบเงียบภายในเกี่ยวกับเขา  มันเป็นนิสัยของเขา เพราะมันเป็นวิธีที่เขาจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า  เหมือนกับที่เอลียาห์ได้พบว่า พระเจ้าไม่ได้ตรัสในพายุหมุน ในแผ่นดินไหว หรือในไฟ แต่ในพระสุรเสียงที่สงบเงียบของพระวิญญาณ

5. ไม่กลัวความตาย

      ประการที่ห้า เราต้องเป็นอิสระจากความกลัวตายถ้าเราต้องการจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า  ฮีบรู 2:15 กล่าวว่าซาตานทำให้ผู้คนตกเป็นทาสมาตลอดชีวิตเนื่องจากความกลัวตาย  ความกลัวนี้เองที่ทำให้คนยึดกับความมั่นคงของโลก  แต่ผู้ที่ได้ปล่อยจากการยึดของโลกก็ไม่กลัวตาย

      เพราะความกลัวตายนี่เองทำให้ชาวอิสราเอลต้องพูดกับโมเสสว่า “ให้ท่านแจ้งสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับเรา เราจะฟัง แต่อย่าให้พระเจ้าตรัสกับเราเลย เกรงว่าเราจะตาย” (อพยพ 20:19) พระเจ้าตรัสกับชนชาติอิสราเอลจากภูเขาที่เปลวไฟลุกโชน ประชาชนอ้อนวอนโมเสสไม่ให้พระเจ้าตรัสกับพวกเขาเอง เพราะพวกเขากลัวตาย

      คุณกำลังวิ่งหนีจากพระสุรเสียงของพระเจ้า เพราะคุณกลัวว่ามันอาจทำให้คุณเสียชีวิตในโลกนี้หรือไม่? คุณถูกดึงไปในสองทิศทางคือ คุณต้องการจะได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ แต่กลัวว่าพระเจ้าจะเรียกคุณให้ทำอะไรบางอย่างที่จะทำให้คุณสูญเสียหน้าที่การงานในโลกนี้

      อย่าให้พระเจ้าตรัสกับเราเลย เกรงว่าเราจะตาย” ชาวอิสราเอลร้องขอ  แต่ทำไมพวกเขาถึงกลัวความตาย? การได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าเป็นสิทธิพิเศษที่คุ้มค่าที่จะตายมิใช่หรือ?  พระ  สุรเสียงของพระเจ้านำความตายหรือว่านำชีวิตมาให้คนที่ได้รับ? ชาวอิสราเอลกลัวที่จะตาย ดังนั้นพวกเขาจึงหนีจากพระสุรเสียงของพระองค์  ถึงอย่างนั้นพวกเขากลับพูดกับโมเสสในเวลาต่อมาว่า

“นี่แน่ะ พระยาห์เวห์พระเจ้าของเราได้ทรงสำแดงพระสิริและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และเราได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์จากท่ามกลางเพลิง ในวันนี้เราได้เห็นว่าพระเจ้าตรัสกับมนุษย์ และมนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ได้ (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:24)

      มันน่าสนใจที่คราวนี้พวกเขายอมรับว่าพวกเขาไม่ได้ตายหลังจากได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้า!  ถึงอย่างนั้นในข้อถัดไป พวกเขากลับกลัวการได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าอย่างไม่สามารถเข้าใจได้

ดังนั้นทำไมเราจะต้องตาย?  เพราะเพลิงยิ่งใหญ่นี้จะเผาผลาญเรา ถ้าเราได้ยินพระสุรเสียงของพระยาห์เวห์พระเจ้าของเราอีก เราก็จะต้องตาย เพราะในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย ใครเล่าได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ตรัสออกมาจากท่ามกลางเพลิงอย่างที่เราได้ยิน และยังมีชีวิตอยู่ได้? (ข้อ 25-26)

นี่ตามมาด้วยการตอบสนองที่เจ็บปวดของพระยาห์เวห์ต่อความโลเลของพวกเขา

โอ อยากให้พวกเขามีใจเช่นนี้อยู่เสมอ คือใจที่ยำเกรงเราและรักษาบัญญัติทั้งสิ้นของเรา เพื่อจะเป็นการดีต่อพวกเขาตลอดชั่วลูกหลานของเขาเป็นนิตย์ (ข้อ 29)

      มันน่าแปลกที่พระเจ้าตรัสว่าชาวอิสราเอลไม่ยำเกรงพระองค์  นี่เป็นคำกล่าวที่น่าแปลก เพราะพวกเขากลัวพระสุรเสียงของพระองค์  แต่ความกลัวของพวกเขาเป็นความกลัวที่ผิดประเภท เป็นความกลัวทางเนื้อหนังและแบบทาส ไม่ใช่ความกลัวที่ชอบธรรมและเชื่อฟังที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากพวกเขา  ดังนั้นพระเจ้าจึงทรงขับไล่พวกเขาไปจากที่ประทับของพระองค์ว่า “พวกเจ้าจงกลับไปยังเต็นท์ของตน” (ข้อ 30)  แต่พระองค์ตรัสกับโมเสสผู้ซื่อสัตย์ว่า “แต่ตัวเจ้า จงยืนอยู่ข้างเราที่นี่ เพื่อเราจะพูดกับเจ้า” (ข้อ 31)

6. มีส่วนร่วมในการรับใช้พระองค์

      ประการที่หก เราจะต้องมีส่วนร่วมในการรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มที่  การมีส่วนร่วมนี้ใช้กับคริสเตียนทุกคน ไม่เฉพาะผู้ที่รับใช้เต็มเวลาเท่านั้น  เราเป็นของพระเจ้าเพราะเราได้รับการไถ่โดยพระโลหิตของพระเยซู ซึ่งเราถูกซื้อด้วยราคาสูงมาก  ตอนนี้เราเป็นทาสของพระเจ้า  ไม่มีใครที่เป็นทาสแบบบางเวลา เพราะทาสทุกคนเป็นทาสแบบเต็มเวลา  เราจึงต้องดำเนินชีวิตเต็มเวลาเพื่อพระองค์โดยไม่คำนึงถึงงานอาชีพของเราในโลก

      ถ้าคุณไม่ได้ดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้า แล้วคุณจะได้ยินพระสรุเสียงของพระองค์ได้อย่างไร? ในตัวอย่างของเราทั้งหมดที่อ้างอิงจากกิจการ พระเจ้าตรัสกับบรรดาผู้รับใช้ของพระองค์ที่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการรับใช้พระองค์  พระองค์ไม่ได้ตรัสเพื่อสนองความอยากรู้ของเรา แต่เพื่อสั่งสอนและหนุนใจเราในงานการเสริมสร้างคริสตจักรของพระองค์

7. สัตย์ซื่อจนถึงความตาย

      ประการที่เจ็ด พระเจ้าตรัสกับผู้ที่เต็มใจจะสัตย์ซื่อจนถึงความตาย คำกล่าวที่ว่า “ผู้ใดที่สู้ทนจนถึงที่สุดจะได้รับการช่วยให้รอด” มีปรากฏสองครั้งในมัทธิว (10:22; 24:13)  พระเจ้าทรงกำลังมองหาคนที่เต็มใจจะติดตามพระองค์จนถึงความตาย  มีคนจำนวนมากอ้างว่าเป็นคริสเตียน แต่มีสักกี่คนที่ยังคงซื่อสัตย์เมื่อเผชิญหน้ากับความตาย?

      แน่นอนว่าแม้ในความตั้งใจที่จริงใจที่สุดของเรา ก็ยังเป็นไปได้ที่จะไม่แน่ใจในนาทีสุดท้าย  แต่พระคุณของพระเจ้าก็มีเพียงพอที่จะช่วยให้เรายืนหยัดได้!  อย่างน้อยที่สุด เราต้องมีความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะสัตย์ซื่อจนถึงความตาย  แต่คนจำนวนมากไม่มีความปรารถนาเช่นนั้นเลย  พระเจ้าทอดพระเนตรเข้าไปในจิตใจของเราและรู้ว่าเรามีความตั้งใจจริงหรือไม่  หากพระองค์ทรงเห็นว่าในใจของคุณมีความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะซื่อสัตย์จนวันตาย พระองค์ก็จะตรัสกับคุณ

      อับราฮัมสัตย์ซื่อไม่เพียงจนถึงความตายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความตายของผู้ที่มีค่ายิ่งสำหรับเขามากกว่าตัวเขาเองเสียอีก นั่นก็คืออิสอัคบุตรชายที่รักของเขา  โมเสสเองก็สัตย์ซื่อจนถึงความตายเมื่อเขาอธิษฐานว่า “ขอพระองค์ทรงโปรดยกโทษบาปของพวกเขา มิฉะนั้น ก็ขอพระองค์ทรงลบชื่อของข้าพระองค์เสียจากหนังสือที่พระองค์ทรงจดไว้” (อพยพ 32:32)

      เอลียาห์ก็สัตย์ซื่อจนถึงความตายเช่นกัน  เขากลัวเมื่อเขาพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย แต่โดยพระคุณของพระเจ้า เขาได้เอาชนะความกลัวของเขาและเผชิญหน้ากับอาหับที่เสี่ยงต่อชีวิตของเขาเอง (1 พงศ์กษัตริย์ 19:3; 21:20f)  เอลียาห์พร้อมที่จะตายเพื่อพระเจ้า แต่ในที่สุดเขาก็ถูกรับขึ้นไปสวรรค์ (2 พงศ์กษัตริย์ 2:11)

      บรรดาผู้เผยพระวจนะที่สัตย์ซื่อจนถึงความตายและได้รับการยอมรับเช่นนั้นจากพระเยซูผู้ตรัสถึงโลหิตของบรรดาผู้เผยพระวจนะ (มัทธิว 23:30; ลูกา 11:50)  ในกิจการ 7:52 สเทเฟนพูดกับชาวยิวว่า “มีผู้เผยพระวจนะคนไหนบ้าง ที่บรรพบุรุษทั้งหลายของพวกท่านไม่ได้ข่มเหง?”  บรรดาผู้เผยพระวจนะรับรองคำพยานของพวกเขาด้วยโลหิต เช่นเดียวกับบรรดาอัครทูต  คนแบบนี้ที่สัตย์ซื่อจนถึงความตายนี่แหละ เป็นคนที่พระเจ้าจะตรัสด้วย

      ในวาระสุดท้ายของสเทเฟน เมื่อฝูงชนกำลังจะเอาหินขว้างเขานั้น เขายังคงสัตย์ซื่อและสัมพันธ์สนิทกับองค์ผู้เป็นเจ้าต่อไป (กิจการ 7:54-60)  ขณะที่ฝูงชนกำลังเดือดดาล สเทเฟนก็เงยหน้าขึ้นสู่ฟ้าและกล่าวว่า “ดูเถิด ข้าพเจ้าเห็นฟ้าสวรรค์เปิดออก และบุตรมนุษย์ทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า” (ข้อ 56)  ขณะที่เขาถูกหินขว้าง เขาร้องทูลว่า “ข้าแต่พระเยซู องค์ผู้เป็นเจ้า ขอทรงรับจิตวิญญาณของข้าพระองค์ด้วย”  ขณะที่กำลังจะสิ้นใจ เขาก็ทูลวิงวอนเพื่อปฏิปักษ์ของเขาว่า “ข้าแต่องค์ผู้เป็นเจ้า ขอโปรดอย่าทรงถือโทษพวกเขาเพราะบาปนี้”  จิตใจของสเทเฟนไม่หวั่นไหวด้วยความกลัวหรือความตายที่เป็นจริง  เขามาถึงจุดสิ้นสุดของการพำนักของเขาในโลกในความสัมพันธ์สนิทกับองค์ผู้เป็นเจ้าของเขา

      “ถ้าใครได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาเขาและจะรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา”  การรับประทานอาหารกับองค์ผู้เป็นเจ้าเป็นความสนิทสนมที่น่าชื่นใจที่ไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ  ความสนิทสนมอย่างสงบแบบไม่ต้องพูดอะไรนี้เป็นระดับสูงสุดของความสัมพันธ์สนิทกับองค์ผู้เป็นเจ้า


[1] กิจการ 2:16-18 แต่​เหตุ​การณ์​นี้​เกิด​ขึ้น​ตาม​คำ​ที่​โย​เอล​ผู้​เผย​พระ​วจนะ​กล่าว​ไว้​ว่า  “พระ​เจ้า​ตรัส​ว่า ใน​วาระ​สุด​ท้าย เรา​จะ​เท​พระ​วิญ​ญาณ​ของ​เรา​บน​มนุษย์​ทั้ง​หมด บุตรา บุตรี​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลายจะ​เผย​พระ​วจนะ บรร​ดา​คน​หนุ่ม​ของ​ท่าน​จะ​เห็น​นิมิต และ​บรร​ดา​คน​แก่​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลายจะ​ฝัน​เห็น แน่​ที​เดียว​เว​ลา​นั้น เรา​จะ​เท​พระ​วิญ​ญาณ​ของ​เรา บน​ทาส​ทาสี​ของ​เรา และ​เขา​ทั้ง​หลาย​จะ​เผย​พระ​วจนะ”

[2] 2 โครินธ์ 4:6 เพราะว่าพระเจ้าผู้ตรัสว่าให้ความสว่างส่องออกมาจากความมืด ทรงส่องสว่างเข้ามาในใจของเรา เพื่อให้เรามีความสว่างแห่งความรู้ถึงพระสิริของพระเจ้า ที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระคริสต์

[3] 1 ยอห์น 1:3 สิ่งที่เราได้เห็นและได้ยินนั้น เราก็ประกาศให้พวกท่านรู้ด้วย เพื่อท่านจะได้มีสามัคคีธรรมกับเรา และเราก็มีสามัคคีธรรมกับพระบิดา และกับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์

[4] 1 ทิโมธี 2:5 เพราะมีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและมีคนกลางผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์(ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[5] มัทธิว 11:28 บรร​ดา​ผู้​เหน็ด​เหนื่อย​และ​แบก​ภาระ​หนัก จง​มา​หา​เรา และ​เรา​จะ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ได้​หยุด​พัก

[6] 2 โครินธ์ 5:19 คือพระเจ้าผู้ทรงสถิตในองค์พระคริสต์ ทรงให้โลกคืนดีกันกับพระองค์เอง มิได้ทรงถือโทษในการละเมิดของเขา และทรงมอบพระวจนะแห่งการคืนดีกันนั้นไว้กับเรา (ฉบับไทยคิงเจมส์)

[7] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย, และฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “จงติดสนิทอยู่กับเราและเราติดสนิทอยู่กับพวกท่าน” (ผู้แปล)