pdf pic

 

 

บทที่ 3

 

 ch1 1

 

บัพติศมา: การปฏิญาณด้วยใจภักดีต่อพระเจ้าจากจิตสำนึกที่ดี

1 เปโตร 3:21

มอนทรีออล, 20 กันยายน 1981

      ปัญหาร้ายแรงสำหรับคริสเตียนจำนวนมากหลังจากที่พวกเขาได้รับบัพติศมาก็คือ พวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไรในชีวิตฝ่ายวิญญาณ  มีบางกรณีในคริสตจักรนี้ที่ผมสังเกตว่าปัญหาต่างๆเกิดจากที่อื่น นั่นก็คือพวกเขาได้รับบัพติศมาจากที่อื่นโดยไม่ได้ให้ความเข้าใจว่าพวกเขากำลังทำอะไรในการบัพติศมา   บางทีพวกเขาอาจจะคิดถึงการบัพติศมาว่าเป็นพิธีเพื่อเริ่มต้นเข้าสู่ “วงสังคม”  ผลที่ตามมาก็คือพวกเขาแบกปัญหาฝ่ายวิญญาณของพวกเขามากับพวกเขาเป็นเวลาหลายปี  ผมจะให้คำปรึกษาบ่อยๆกับคริสเตียนที่มีปัญหาฝ่ายวิญญาณและดำเนินชีวิตคริสเตียนอย่างไม่มีความสุข  คริสตจักรในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยคริสเตียนแต่ในนาม คริสเตียนจอมปลอม คริสเตียนแบบครึ่งๆกลางๆ คริสเตียนแบบเสี้ยวเดียว ดำเนินชีวิตคริสเตียนอย่างพ่ายแพ้และไม่มีความสุข

      วันนี้ผมจะอธิบายบางอย่างเกี่ยวกับบัพติศมาในพระคัมภีร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจความหมายของการบัพติศมาได้ชัดเจน  ผมจะขออธิบายสิ่งนี้ในสี่หัวข้อ

ประเด็นแรก: การรับบัพติศมาคือการปฏิญาณด้วยใจภักดีต่อพระเจ้าจากจิตสำนึกที่ดี

      ให้เราอ่าน 1 เปโตร 3:21-22 จากฉบับรีไวส์แสตนดาร์ด (RSV) แม้ว่าข้อ 21 จะแปลได้ไม่ดีดังที่ผมจะอธิบายต่อไป

      21บัพติศมาซึ่งเหมือนกับสิ่งนี้ ตอนนี้ช่วยพวกท่านให้รอด ไม่ใช่เป็นการชำระมลทินทางกาย แต่เป็นการวิงวอนต่อพระเจ้าเพื่อจะมีจิตสำนึกที่บริสุทธิ์ โดยทางการเป็นขึ้นจากตายของพระเยซูคริสต์ 22ผู้ได้เสด็จสู่สวรรค์และประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า โดยมีบรรดาทูตสวรรค์ ศักดิเทพและอิทธิเทพอยู่ใต้อำนาจพระองค์ (1 เปโตร 3:21-22 ฉบับ RSV)

      คำว่า “สิ่งนี้” ในข้อ 21 กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมแผ่นดินในสมัยของโนอาห์ โดยเฉพาะการอ้างถึงเรือใหญ่ที่มีแปดคนรอดชีวิตผ่านน้ำ (ข้อ 20) มีเพียงแปดคนจากคนชั่วอายุนั้นที่รอดชีวิตจากน้ำท่วม ความรอดของพวกเขาสำเร็จผลโดยเรือใหญ่

      เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจสิ่งที่เปโตรกำลังพูด  ฉบับ RSV กล่าวว่าบัพติศมานั้นเป็น “การวิงวอนต่อพระเจ้าเพื่อจะมีจิตสำนึกที่บริสุทธิ์”  การแปลนี้มีปัญหา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่เรามี คำแปลที่ดีและถูกต้องในฉบับนิวอินเตอร์เนชันแนล (NIV)[1] ซึ่งกล่าวว่าการบัพติศมาคือ “การปฏิญาณต่อพระเจ้าด้วยจิตสำนึกที่ดี”  พระคัมภีร์ NIV ฉบับ 1984 แปลว่า “จิตสำนึกที่ดี” และฉบับ 2011 แปลว่า “จิตสำนึกที่บริสุทธิ์” แต่ทั้งสองฉบับแปลถูกต้องที่บอกว่าการบัพติศมาเป็นการปฏิญาณต่อพระเจ้าด้วยจิตสำนึกที่ดี (หรือบริสุทธิ์)

      คำว่า “วิงวอน” (ฉบับ RSV) หรือ “ปฏิญาณ” (ฉบับ NIV) ในข้อ 21 แปลจากคำภาษากรีกว่า  eperōtēma ซึ่งลิดเดล-สก็อต[2]ได้ให้สามคำนิยามในพจนานุกรมกรีก-อังกฤษแบบไม่ตัดทอน

      ความหมายแรกของ eperōtēma คือคำถาม

      ความหมายที่สองคือคำตอบของคำถาม ซึ่งมักจะเป็นการตอบที่ยืนยัน ดังนั้นจึงหมายถึงการสนับสนุน หรือการเห็นชอบ

      ความหมายที่สามเทียบเท่ากับคำละตินว่า stipulatio ซึ่งหมายถึงสัญญาผูกมัด สัญญา คำมั่นสัญญา หรือคำปฏิญาณ  ความหมายนี้ยังสนับสนุนโดยคำศัพท์พระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกของโมลตันและมิลลิแกน[3]

      ที่สำคัญ ลิดเดล-สก็อต ไม่เคยให้คำนิยาม eperōtēma ว่า “วิงวอน”  การวิงวอนไม่เหมือนกันกับการถาม ทั้งสองแตกต่างกันมาก  แม้แต่ความหมายว่า “การถาม” ก็มีน้อยสำหรับ eperōtēma ซึ่งเป็นคำที่มักจะหมายถึงการตอบคำถาม ที่มีความหมายมากขึ้นว่า สัญญา การปฏิญาณ คำมั่นสัญญา  ผู้ที่ต้องการจะศึกษารายละเอียดเชิงวิชาการก็ขอแนะให้ไปดูสิ่งที่ อี จี เซลวิน[4] หยิบยกขึ้นมาอย่างละเอียดในคู่มืออธิบายที่ได้มาตรฐานของเขาเกี่ยวกับ 1 เปโตร

      ผมจะไม่ลงรายละเอียดทางภาษา  พอจะกล่าวได้ว่า ผมไม่พบหลักฐานทางภาษากับความหมายของคำว่า “วิงวอน” ใน 1 เปโตร 3:21  พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษของพระคัมภีร์ใหม่และวรรณกรรมคริสเตียนอื่นๆในสมัยแรกๆ ของอาร์นท์และกิงกริช ให้ “วิงวอน” เป็นคำนิยามที่เป็นไปได้ของ eperōtēma แต่ไม่มีหลักฐานอ้างอิงกับความหมายนี้เลย ซึ่งตรงกันข้ามกับการปฏิบัติตามปกติของพวกเขา พวกเขาไม่ได้อ้างถึง 1 เปโตร 3:21 กับความหมายนี้ด้วยซ้ำ  พวกเขาไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า ไม่มีหลักฐานทางภาษากับความหมายนี้ของ eperōtēma   ดังนั้น eperōtēma จึงแปลอย่างถูกต้องว่า “ปฏิญาณ” ในฉบับ NIV  การบัพติศมาเป็นการปฏิญาณ เป็นคำมั่นสัญญาต่อพระเจ้า

      นอกจากนี้ ไวยากรณ์สัมพันธการกในข้อความภาษากรีกของ 1 เปโตร 3:21 ยังได้แปลอย่างถูกต้องว่าเป็นการปฏิญาณจากจิตสำนึกที่ดี ไม่ใช่เพื่อจิตสำนึกที่ดี  ดังนั้นการบัพติศมาจึงเป็นการปฏิญาณ ต่อพระเจ้าจากจิตสำนึกที่ดี  สิ่งนี้มาจากการกลับใจใหม่และการให้คำปฏิญาณอย่างจริงใจต่อพระเจ้าโดยไม่สองจิตสองใจและเสแสร้ง  คุณจะมีจิตสำนึกที่ดีไม่ได้ หากคุณเป็นคนไม่จริงใจหรือพูดจริงครึ่งเดียว  การบัพติศมาเป็นการปฏิญาณต่อพระเจ้าจากจิตสำนึกที่ดี จากใจที่แท้จริง และจากท่าทีที่ถูกต้อง

        Eperōtēma มีความน่าสนใจเป็นพิเศษเพราะมีความหมายถึงการถามและการตอบสนอง  ในการบัพติศมานั้น คุณจะให้คำปฏิญาณในการตอบคำถาม  คำตอบสนองของคุณถือเป็นคำปฏิญาณหรือคำมั่นสัญญาของคุณ  เมื่อคุณพูดว่า “ฉันให้คำมั่นสัญญา” ตอนบัพติศมา นั่นคือคำปฏิญาณและคำมั่นสัญญาในการตอบสนองกับคำถามที่ถามคุณ  นี่เป็นแนวปฏิบัติของคริสตจักรในยุคแรกที่จะถามผู้ขอรับบัพติศมาบางคำถามอย่างเจาะจงซึ่งพวกเขาจะต้องตอบด้วยการยืนยันก่อนที่พวกเขาจะสามารถรับบัพติศมาได้  เนื่องจาก eperōtēma หมายถึงการตอบด้วยการยืนยัน เหตุผลที่เปโตรใช้คำนี้จึงชัดเจน

บัพติศมาเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์

      ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกบัพติศมาและยังคงเรียกว่าพิธีศักดิ์สิทธิ์ในคริสตจักร  ในคริสตจักรเรามีพิธีศักดิ์สิทธิ์สองพิธี คือพิธีศักดิ์สิทธิ์ของการบัพติศมา และพิธีศักดิ์สิทธิ์ของการร่วมมหาสนิท หรือที่รู้จักกันว่าพิธีศีลมหาสนิท หรือการหักขนมปังเพื่อระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า  คำภาษาอังกฤษว่า  sacrament ที่หมายถึงพิธีศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นคำทับศัพท์จากภาษาละตินว่า sacramentum ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากพจนานุกรมภาษาละติน  ความหมายพื้นฐานของพิธีศักดิ์สิทธิ์ก็คือคำสัตย์ สัญญาผูกมัด ให้คำมั่น  ในคำศัพท์ทางกฎหมายมันก็คือปฏิญาณ นอกจากนี้ยังสามารถหมายถึงเงินที่สองฝ่ายฝากไว้ก่อนการฟ้องร้องคดี  เป็นการปฎิญาณในรูปของเงินที่จ่ายไว้ก่อนจะเริ่มคดีทางกฎหมาย

      แต่คำว่า sacra­mentum นี้มีความหมายเฉพาะว่า คำถวายสัตย์ปฏิญาณของทหารด้วยใจภักดี   พวกทหารโรมันจะถวายสัตย์ปฏิญาณต่อกองทัพด้วยใจภักดีที่เรียกว่า sacra­mentum ต่อประเทศและจักรพรรดิของพวกเขา  บางครั้งพวกเขาจะทำการถวายสัตย์นี้โดยการยกมือขวาขึ้น ดังในปัจจุบันที่เราเห็นประธานาธิบดีหรือประชาชนธรรมดาปฏิญาณตนในศาล ซึ่งแสดงว่าเขาหรือเธอจะดำเนินการตามความจริงด้วยจิตสำนึกที่บริสุทธิ์   บางครั้งพวกเขาจะประกาศว่า “ข้าพเจ้าจะพูดแต่ความจริง ความจริงทั้งสิ้น และไม่มีอะไรนอกจากความจริง”

      ในสถานการณ์อื่นๆ การถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยใจภักดี จะเป็นการกำมือไว้ตรงหัวใจ เป็นการแสดงถึงจิตสำนึกดีและใจที่บริสุทธิ์  หรือจะใช้ดาบที่ทหารจะมอบดาบและชีวิตของพวกเขาเพื่อชาติและจักรพรรดิของพวกเขา

      นาซีเยอรมนีได้ใช้ประโยชน์อย่างมากจากพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยกำหนดให้ทหารทุกคนต้องทำพิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยใจภักดี  ดังที่ได้เห็นในสารคดีเกี่ยวกับพวกนาซี  พวกทหารจะยืนตรง ยกแขนของพวกเขาขึ้นและพูดว่า ich schwöre เพื่อประกาศว่า “ข้าพเจ้าขอให้คำปฏิญาณต่อประเทศและความต้องการของประเทศและต่อผู้นำ (Führer)”

      ทำไมการบัพติศมาจึงถูกเรียกว่า “พิธีศักดิ์สิทธิ์”?  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการปฏิญาณในการบัพติศมา เป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยใจภักดีของเราต่อพระเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์ของชีวิตเรา  เมื่อบัพติศมานั้น เราถวายความภักดีของเราต่อพระองค์อย่างถาวร  นี่เป็นการให้คำปฏิญาณต่อพระเจ้าจากจิตสำนึกที่ดี  เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีจิตสำนึกดี  คุณต้องตัดใจภักดีของคุณต่อชีวิตเก่า  เพราะคุณจะรับใช้พระเจ้าและรับใช้โลกไปพร้อมๆกันได้อย่างไร?  คุณจะรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันได้อย่างไร?  ใจของคุณจะถูกแบ่งออกถ้าหากการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยใจภักดีต่อพระเจ้า ไม่ได้เกิดจากใจที่บริสุทธิ์และมีจิตสำนึกที่ดีเมื่อรับบัพติศมา

      ผมได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าการหักขนมปังเพื่อระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า[5]ก็เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน  ประมาณปีคริสตศักราช 112 ผู้ปกครองชาวโรมันชื่อพลินนี่ เดอะ ยังเกอร์[6]ได้เขียนจดหมายถึงจักรพรรดิทราจัน[7] เพื่อแจ้งให้พระองค์ทราบว่า ในการซักถามคริสเตียนบางคนที่เขาได้จับกุมมานั้น เขาได้รับข้อมูลจากพวกเขาว่า เมื่อร่วมพิธีมหาสนิทนั้น พวกคริสเตียนได้ให้คำมั่นของพวกเขาใหม่ต่อพระเจ้า ที่จะรักพระองค์และดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์  พวกเขายังได้ให้คำมั่นของพวกเขาใหม่ต่อกันและกัน โดยปฏิญาณว่าจะรักกันและกัน  ดังนั้นพิธีศีลมหาสนิทซึ่งเป็นการหักขนมปังเพื่อระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าจึงมีองค์ประกอบของคำมั่นสัญญาต่อพระเจ้าด้วย  ทุกครั้งที่เราร่วมพิธีมหาสนิทนั้น เราก็กำลังให้คำมั่นสัญญาของเราใหม่  ดูเหมือนในปัจจุบันเราจะลืมมุมมองนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราแทบไม่รู้ว่าการร่วมพิธีมหาสนิทนั้นเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์

คำสารภาพจากจิตสำนึกที่ดีมีรากฐานมาจากความเชื่อ

      คริสตจักรยุคแรกให้ความสำคัญอย่างมากกับการบัพติศมา และเราก็ต้องเข้าใจถึงความสำคัญที่สำคัญมากเช่นกัน  การบัพติศมาไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถจะรับหรือไม่รับก็ได้  หลายคนจะคิดถึงการบัพติศมาในแบบนี้เนื่องจากพวกเขาไม่เข้าใจคำสอนของพระคัมภีร์เกี่ยวกับการบัพติศมาหรือมุมมองเกี่ยวกับพิธีทางศาสนาของคริสตจักรในยุคแรกกับความสำคัญของมัน  ให้เราดูคำที่เปโตรพูดอีกครั้งว่า “ตอนนี้บัพติศมาช่วยพวกท่านให้รอด” (1 เปโตร 3:21)  นี่เป็นถ้อยคำที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง  เราเกิดจากน้ำและพระวิญญาณ (ยอห์น 3:5)  ไม่เพียงแต่เกิดจากน้ำเท่านั้น แต่จากพระวิญญาณด้วย ไม่เพียงแต่เกิดจากพระวิญญาณเท่านั้น แต่จากน้ำด้วย เพราะการปฏิญาณนั้นทำในน้ำ

      นักศาสนศาสตร์ในปัจจุบันเห็นความสำคัญอย่างมากของการบัพติศมาในคำสอนของพระคัมภีร์และในคริสตจักรยุคแรก  โรเบิร์ต แบงส์[8]เพื่อนของผมซึ่งสอนที่มหาวิทยาลัยแม็คกัวรี่[9]ในซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียได้เขียนหนังสือชื่อความคิดของเปาโลเกี่ยวกับชุมชน[10] (1979) ซึ่งกล่าวดังนี้ว่า

      การเชื่อมโยงความเชื่อกับการบัพติศมาของเปาโลชี้ให้เห็นว่า โดยการบัพติศมานั้น แต่ละคนได้มอบตัวเองให้กับพระเจ้าอย่างแท้จริง (หน้า 82)

      คำกล่าวของแบงส์ค่อนข้างถูกต้องและใกล้เคียงกับคำสอนของพระคัมภีร์ ที่โดยการบัพติศมา คนนั้นก็มอบตัวของเขาเองต่อพระเจ้า  ผมไม่ได้หมายความว่าในการอ้างถึงหนังสือของเพื่อนผม แล้วผมจะเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่เขาพูดในนั้น  แต่ในประเด็นนี้ เขาพูดในทิศทางเดียวกับพระคัมภีร์อย่างแน่นอน

      ในโรม 10:10 เปาโลกล่าวถึงสิ่งสำคัญสองประการซึ่งทั้งสองอย่างสำคัญต่อความรอด และอธิบายถึงสาเหตุที่เปโตรจึงกล่าวว่าบัพติศมาช่วยให้รอด

      เพราะการเชื่อด้วยใจก็นำไปสู่ความชอบธรรม และการยอมรับด้วยปากก็นำไปสู่ความรอด (โรม 10:10)

      มีสองสิ่งที่ควรทราบในที่นี้ก็คือ เขาเชื่อด้วยใจของเขา เขาจึงเป็นคนชอบธรรม  เขายอมรับด้วยปากของเขา เขาจึงรอด  แต่ว่าเขาได้ยอมรับเมื่อไหร่หรือ?  ในคริสตจักรยุคแรก จะทำการยอมรับเมื่อตอนบัพติศมาในการตอบคำถามที่ถามต่อหน้าเขาซึ่งเขาจะตอบว่า “ฉันยอมรับพระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า”  เขายอมรับด้วยปากเขาและโดยการยอมรับนี้เขาจึงรอด  จะต้องมีความเชื่อในใจรวมถึงการยอมรับด้วย  นี่ไม่ใช่การยอมรับแบบธรรมดา แต่เป็นคำปฏิญาณที่ได้ทำตอนบัพติศมา เป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยใจภักดีแบบของทหารที่ทำต่อพระเจ้าและพระเยซูคริสต์

      การรับบัพติศมาในตัวของมันเองนั้นไม่ได้ช่วยให้รอด ขอให้เรามีความชัดเจนในเรื่องนี้  จะต้องมีความเชื่อและการยอมรับจากจิตสำนึกที่ดีซึ่งมาจากใจ  การยอมรับที่ถูกต้องนั้นไม่ได้เป็นเพียงคำพูดเท่านั้น แต่จะต้องมีจิตสำนึกที่ดีที่มีรากฐานมาจากความเชื่อด้วย

คำปฏิญาณต่อพระเจ้าเมื่อรับบัพติศมาเป็นการผูกมัดโดยนิตินัย

      คุณอาจจะถามว่า “ฉันยอมรับพระเยซูแล้วก่อนรับบัพติศมาไม่ใช่หรือ?”  คุณได้ทำอย่างนั้นแน่นอน แต่นั่นก็ไม่เหมือนกับการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยใจภักดี  เพราะสำหรับทหารโรมันที่ได้ทำการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยใจภักดีของเขานั้น เขาไม่ได้จงรักภักดีต่อประเทศและจักรพรรดิของเขาแล้วหรอกหรือ ก่อนที่เขาจะให้คำปฏิญาณ?  เขาจงรักภักดีอย่างแน่นอน  แต่ในการสาบานตนอย่างเป็นทางการนั้นที่ทำให้คำมั่นสัญญามีลักษณะทางนิตินัยและกลายเป็นคำมั่นที่ผูกมัด  เขาทำการสาบาน ทำการถวายสัตย์ (sacramentum)  ถึงจุดนี้ เขาได้รักจักรพรรดิและประเทศของเขา แต่เขายังไม่ได้ให้คำมั่น หรือคำปฏิญาณ หรือคำมั่นสัญญาใดๆ

      ในการบัพติศมานั้น คริสเตียนสาบานตนด้วยใจภักดีต่อพระเจ้าและกษัตริย์ของเขา  ผมหวังว่าคุณจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน  มันคล้ายกับกรณีของคนสองคนที่รักกันก่อนที่จะแต่งงาน แต่ยังไม่มีคำมั่นสัญญาในแง่นิตินัยจนกว่าพวกเขาจะประกาศคำมั่นหรือคำปฏิญาณของการแต่งงาน  แน่นอนว่าก่อนหน้านั้นพวกเขาได้รักกันและมีคำมั่นสัญญาอยู่บ้าง แต่คำมั่นสัญญานั้นจะเป็นแบบนิตินัยก็เมื่อในงานแต่งงานของพวกเขาเท่านั้น

      ในทำนองเดียวกัน พูดได้ว่าโดยนิตินัยในสายพระเนตรของพระเจ้าแล้ว เมื่อคุณรับบัพติศมา คำมั่นสัญญาของคุณก็จะตั้งมั่นคงตลอดไปในสวรรค์  คุณได้ปฏิญาณคำถวายสัตย์ด้วยใจภักดีของคุณ และมอบตัวคุณเองทั้งหมดกับพระเจ้าที่เป็นกษัตริย์ของคุณ

      นี่เป็นประเด็นแรกที่ผมอยากจะพูดให้ชัดเจน เพื่อคุณจะได้เข้าใจสิ่งที่คุณกำลังทำในตอนบัพติศมา  ใครก็ตามที่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ควรถอนตัวจากการรับบัพติศมาไปก่อน

      ดังนั้นความหมายแรกของการบัพติศมาก็คือการปฏิญาณ  มันเป็นการผูกมัดเช่นเดียวกับคำมั่นที่ให้ในงานแต่งงาน  เช่นเดียวกับการถวายสัตย์ด้วยใจภักดีของทหาร  ทหารที่กลับคำถวายสัตย์ของเขาจะเข้าใจและยอมรับโทษที่จักรพรรดิและประเทศของเขาจะกำหนดให้เขาที่ทำผิดกับความภักดี ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้เขาเป็นคนทรยศต่อประเทศและประชาชนของเขา

      ทหารสมัครใจทำการถวายสัตย์ปฏิญญาณด้วยใจภักดีไม่ใช่เพราะเขาถูกบังคับให้ทำ  แต่เมื่อเขาถวายสัตย์ปฏิญาณ เขาจะยึดมั่นกับคำถวายสัตย์จนกว่าจะตาย เช่นเดียวกับในงานแต่งงานที่ทั้งคู่บ่าวสาวจะพูดว่า “จนกว่าความตายจะแยกเราจากกัน”

ประเด็นที่สอง: ในการบัพติศมาเราถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์

      ประเด็นที่สองชี้ให้เห็นความหมายของการบัพติศมาว่า เราถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์เมื่อรับบัพติศมา:

      เพราะฉะนั้น เราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้ว โดยการรับบัพติศมาเข้าในการตายนั้น เพื่อว่าเมื่อพระบิดาทรงให้พระคริสต์เป็นขึ้นมาจากตายโดยพระสิริของพระองค์แล้ว เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยเหมือนกัน (โรม 6:4)

      ตอนนี้เราจะดูส่วนแรกของข้อนี้ แล้วค่อยพิจารณาส่วนที่สองทีหลัง  ส่วนแรกกล่าวว่าเราถูกฝังไว้กับพระคริสต์โดยการบัพติศมา  จงสังเกตที่เปาโลพูดว่า “กับพระคริสต์” ไม่ใช่ “เพื่อพระคริสต์”  ในคำเทศนาที่ผ่านมากับคำกล่าวที่ว่า “ใครไม่อยู่ฝ่ายเราก็ต่อต้านเรา”  ผมได้อธิบายว่ามีโลกของความแตกต่างระหว่างสองมุมมองนี้ คือ “เพื่อพระคริสต์” กับ “กับพระคริสต์”

      คนจำนวนมากอยู่ “เพื่อพระคริสต์” แต่มีน้อยคนที่อยู่ “กับพระคริสต์”  กรณีแรกมุ่งให้กำลังใจ(เชียร์)พระองค์ มันก็เหมือนกับการเชียร์ทีมฟุตบอลของคุณว่า “สู้ๆ! คุณจะชนะ!”  นี่สามารถอธิบายถึงการทำ “เพื่อ” ของพวกเขา  หรือเมื่อคุณเห็นนักมวยสองคนบนเวทีและคุณก็เชียร์คนหนึ่งในนั้นว่า “ลุยเลย! น็อกเลย! เอาให้เห็นกันไปเลย!”  คุณทำเพื่อเขา แต่ไม่ได้อยู่กับเขา  ถ้าคุณอยู่กับเขา คุณก็จะอยู่ในสังเวียน คอยหลบหลีกหมัดและต่อสู้เพื่อชีวิตของคุณ  คุณกำลังต่อสู้ด้วยกัน “กับ” เขาแบบเคียงข้างกัน  นี่ต่างจากกรณีที่มีสองทีมแข่งขันกันในสนามฟุตบอล โดยมีฝูงชนส่งเสียงเชียร์ทีมโปรดของพวกเขาและเชียร์จากที่นั่งในสนามที่ปลอดภัยไร้กังวล ที่ไม่มีใครจะสามารถน็อกคุณลงได้

      มีคนจำนวนมากอยู่เพื่อพระคริสต์ แต่ว่าพวกเขาอยู่กับพระองค์หรือไม่?  คุณเพียงแต่พูดว่า “ในโลกที่เสื่อมทรามนี้ เราต้องการศาสนาคริสต์และความมีศีลธรรม การจะนับถือศาสนาสักนิดก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคุณ แต่อย่ามาให้ฉันเข้าไปร่วมด้วยเลย!”

      พ่อแม่หลายคนส่งลูกไปชั้นเรียนพระคัมภีร์วันอาทิตย์ที่คริสตจักรเพื่อปลูกฝังศีลธรรมอันดีให้กับพวกเขา โดยบอกว่า “ศาสนาเป็นเรื่องดีสำหรับเด็กๆ”  แต่เมื่อถูกถามว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ไปร่วมคริสตจักรบ้างล่ะ พวกเขาจะตอบว่า “คริสตจักรมีไว้เพื่อเด็กๆ ไม่ได้มีไว้เพื่อฉันหรอก”

      คริสตจักรของเราในลิเวอร์พูลมีรถบัสและเราจะขับเวียนไปรับเด็กๆ  พ่อแม่จะไม่มาคริสตจักร แต่ยินดีที่จะส่งลูกๆพวกเขาไปคริสตจักร  พวกเขาอยู่ “เพื่อ” คริสตจักร และคิดว่าศาสนาคริสต์เป็นสิ่งที่ดี  แล้วตัวของพวกเขาเองล่ะ?  คริสตจักรเป็นที่ที่ดีสำหรับคนอื่นๆ แต่ไม่ใช่สำหรับพวกเขา  พวกเขาอยู่ “เพื่อ” พระคริสต์

      แต่การอยู่ “กับ” พระคริสต์คือการอยู่ด้วยกับพระองค์ในสนามรบ ไม่ใช่แค่เชียร์พระองค์ แต่ยืนเคียงข้างพระองค์ ต่อสู้กับพระองค์เพื่อชัยชนะ และได้รับบาดเจ็บในระหว่างทาง  แต่ผู้ชมจะไม่ได้รับบาดเจ็บยกเว้นจากอุบัติเหตุ เช่น เมื่อลูกเบสบอลลอยข้ามไปทางแถวที่นั่ง โดนคนที่กำลังกินแซนวิชของเขาอยู่  นั่นเป็นเพียงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้อยู่ในสนาม

      แต่เปาโลพูดถึงสิ่งที่เราทำด้วยกันกับพระคริสต์  “เพราะถ้าเรารวมเป็นหนึ่งกับพระองค์ในความตายเหมือนพระองค์ เราก็จะถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระองค์อย่างแน่นอนในการเป็นขึ้นมาเหมือนพระองค์” (โรม 6:5)[11] เมื่อบัพติศมา เราถูกฝังไว้กับพระคริสต์โดยการปฏิญาณคำมั่นสัญญาของเรา  เราไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ชมที่เชียร์พระคริสต์ แต่ถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระองค์และกับพระเจ้าในที่สุดโดยได้แสดงตนกับพระคริสต์ต่อคนทั้งหลาย

การตายกับพระคริสต์และการถูกฝังไว้กับพระองค์

      เพื่อนของคุณอาจหัวเราะเยาะคุณที่มาเป็นคริสเตียนว่า “เกิดอะไรขึ้นกับคุณที่คุณกลายมาเป็นคนเคร่งศาสนา?  ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมารบกวนคุณหรือ?  บางทีนักจิตวิทยาอาจช่วยคุณได้นะ  แต่แทนที่จะเห็นอย่างนั้น คุณก็มาเคร่งศาสนาเต็มที่!”  เมื่อคุณได้ยินเสียงหัวเราะเยาะ คุณอาจรู้สึกขวัญเสียและความเชื่อของคุณอาจสั่นคลอนไปบ้าง  แต่ถ้าคุณเอาแต่เชียร์พระคริสต์ ก็คงจะไม่มีใครจับจ้องคุณ  แต่ตอนนี้คุณได้ยืนหยัดร่วมกับพระคริสต์ ตายกับพระองค์และถูกฝังกับพระองค์ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป  คุณกลายเป็นเป้าของการหัวเราะเยาะหรืออย่างน้อยก็ความแปลกใจ

      ผมเป็นคนช่ำชองทางโลกในสมัยของผม  เพื่อนของผมหลายคนก็ช่ำชองทางโลกเช่นกัน และจะใช้เวลาส่วนใหญ่บนฟลอร์เต้นรำกับสาวสวยๆ  ฉะนั้นเมื่อผมมาเป็นคริสเตียนพวกเขาจึงเกาหัวและคิดว่า “เกิดอะไรขึ้นกับเขาหรือ?  เขาทิ้งเราไปได้อย่างไร?  ทำไมเขาถึงมาเป็นคริสเตียน?”  ที่จริงไม่มีใครหัวเราะเยาะผมเลยสักคน  ผมคิดว่าพวกเขาตกใจมากกว่าขบขันที่ผมกลายมาเป็นคริสเตียน  พวกเขาจะมองผมแปลกๆ สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับผม

      เพื่อนของผมนึกภาพไม่ออกที่เห็นผมอยู่ในโบสถ์ หรือที่อีริค ชาง จะมาเป็นคริสเตียน  วันนี้มันตรงกันข้ามกัน คุณสามารถนึกภาพผมอยู่ในคริสตจักร แต่มันอาจจะยากสำหรับคุณที่จะนึกภาพว่าคนอย่างผมจะช่ำชองทางโลก  คุณเห็นว่าผมเป็นศิษยาภิบาล เป็นคนที่ “เคร่งศาสนา” แม้ว่าผมจะไม่ใส่และไม่ชอบใส่เสื้อคลุมหรือปลอกคอทางศาสนาหรือเครื่องแต่งกายในพิธีใดๆก็ตาม  ผมไม่เคยเปลี่ยนมาเชื่อ “ศาสนา”

      เมื่อผมมาเป็นคริสเตียน ผมได้พูดคุยกันยาวกับเพื่อนสนิทของผม  เพื่อนที่หล่อเหลาคนนี้ที่สาวๆชื่นชอบได้ถามผมว่า “เกิดอะไรขึ้นกับคุณ? ทำไมคุณถึงกลายมาเป็นคริสเตียน?”  เขานั่งจับเข่าคุย พยายามหาสาเหตุว่าทำไมผมถึงได้มาเป็นคริสเตียน  เขาครุ่นคิดและจะยิงคำถามเป็นชุดที่ผมไม่สามารถตอบได้เพราะผมเพิ่งมาเป็นคริสเตียน  เขาเอาแต่พูดว่า “ทำไมคุณถึงมาเป็นคริสเตียน? ผมไม่เข้าใจเลย!”

      แล้วสองหรือสามเดือนต่อมา เขาได้มาเป็นคริสเตียน!  ในที่สุดเขาก็คิดออก  คราวนี้ถึงคราวที่เขาจะถูกเพื่อนๆถามบ้างว่า “เกิดอะไรขึ้นกับคุณ?”  ตอนแรกเขาไม่ได้อยู่ในระดับ “เพื่อพระคริสต์” ด้วยซ้ำ แต่เขาค่อยๆมาเป็น “เพื่อพระคริสต์” หลังจากการต่อสู้กับบางอย่าง  แล้ววันนั้นก็มาถึงเมื่อเขายืนหยัดอยู่ “กับพระคริสต์”  มันเป็นความสุขอย่างยิ่งที่ได้เห็นเพื่อนรักของผมคนนี้ที่ผมรักมาก ที่เขายืนหยัดอยู่กับพระคริสต์!

      การตายและการฝังศพของเรากับพระคริสต์ตอนบัพติศมา เป็นขั้นตอนแรกของเราในการรวมเป็นหนึ่งกับพระองค์ ดังที่เปาโลกล่าวไว้ชัดเจนว่า “เพราะถ้าเรารวมเป็นหนึ่งกับพระองค์ในความตายเหมือนพระองค์ เราก็จะถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระองค์อย่างแน่นอนในการเป็นขึ้นมาเหมือนพระองค์” (โรม 6:5)

      โรมบทที่ 6 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบัพติศมา  มีทางเดียวที่คุณจะรวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์ในการเป็นขึ้นมาเหมือนพระองค์ ก็คือการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในความตายเหมือนพระองค์  เปาโลอธิบายประเด็นนี้ชัดเจนมาก  ถ้อยคำ “รวมเป็นหนึ่งกับพระองค์” ปรากฏสองครั้งในข้อ 5 ที่ยกมา  ตรงนี้ไม่ใช่เพื่อพระองค์ แต่กับพระองค์

      เราตายกับพระคริสต์ด้วยการเลือกตามใจชอบของเราเอง  ไม่มีใครบังคับเราและไม่มีอะไรมาบังคับเรา  ผมไม่ได้เป็นคริสเตียนเพราะผมกลัวตาย  ผมไม่เคยกลัวตาย  ความกลัวตายไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในลักษณะทางอารมณ์ของผม  ผมไม่รู้ว่าทำไมคนบางคนถึงกลัวความตายอย่างสุดขีด  ไม่มีใครสามารถทำให้ผมกลัวที่จะเข้าในอาณาจักรของพระเจ้าโดยพูดถึงความตายหรือพูดถึงผี  ผมไม่เคยกลัวความตายหรือกลัวผี  ผมมาเป็นคริสเตียนก็เพราะผมได้มารู้ความจริง และเพราะผมเลือกของผมเองที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับความจริงเพื่อที่จะได้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของบาป  เมื่อเราทำเช่นนี้พระเจ้าก็จะให้เรามีชีวิตใหม่ในพระคริสต์

รวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์: มีชีวิตที่พระเจ้าทรงทำให้เป็นขึ้นมาใหม่ในคุณ

      ผมอยากจะเน้นอีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการรวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์  เมื่อคุณถูกรวมเป็นหนึ่ง “กับ” พระคริสต์ ไม่ใช่แค่เชียร์พระองค์ ไม่ใช่แค่ “เพื่อ” พระองค์เท่านั้น  ชีวิตของพระเจ้าในพระคริสต์จึงจะเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในคุณ  หากคุณเคยประสบกับอย่างนี้ คุณก็จะเข้าใจคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “จงคงอยู่ในเราและเราจะคงอยู่ในตัวท่าน”[12] ในยอห์น 15:4  ชีวิตของพระเจ้าในพระคริสต์ก็จะหลั่งไหลเข้าในคุณและคุณจะเกิดผลมาก

      มันเป็นไปได้ในทางทฤษฎีที่คุณจะอ่านยอห์น 15:4 โดยไม่ต้องมีประสบการณ์กับมัน  คุณเคยมีประสบการณ์ที่ชีวิตของพระเจ้าหลั่งไหลเข้ามาในตัวคุณไหม? มันอาจจะหลั่งไหลอย่างเงียบๆและอ่อนโยน แต่ว่ามันเปลี่ยนคุณอย่างมีพลัง และเปลี่ยนคนอื่นๆผ่านทางคุณ  เมื่อผมกำลังคุยกับเพื่อนที่เจนจัดกับโลกคนนี้ ผมยังไม่รู้เรื่องพระคัมภีร์มากเท่าไร  แต่คำพูดที่สะดุดหูของผมก็พูดกับเขา  มีบางอย่างในชีวิตใหม่นี้หลั่งไหลผ่านผมและไปถึงเขา และชายที่เจนจัดกับทางโลกคนนี้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนฟลอร์เต้นรำก็เปลี่ยนไป  ชีวิตของพระเจ้าในพระคริสต์ไหลไปถึงเขาผ่านทางผม  ผมไม่รู้ว่าคำตอบของผมแตะใจของเขาอย่างไรเพราะผมตอบคำถามของเขาไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมก็ยังใหม่กับความเชื่อของคริสเตียน  แต่สิ่งที่สำคัญก็คือชีวิตของพระเจ้ากำลังหลั่งไหลผ่านผม  ในที่สุดไม่ใช่แต่เฉพาะเขาเท่านั้น แต่ยังมีเพื่อนของผมอีกหลายคนที่เปลี่ยนไป ทีละคนๆ

      เพื่อนรักของผมอีกคนหนึ่งเต็มใจที่จะเลิกงานอาชีพที่มหาวิทยาลัย  เขามาเป็นคริสเตียนภายใต้คอมมิวนิสต์และถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ามหาวิทยาลัย  เขายอมรับกับการที่ต้องสละสิ่งนี้เพราะเขาได้มีประสบการณ์กับสิ่งที่มีค่าที่ยิ่งใหญ่กว่า  นั่นก็คือพลังของชีวิตใหม่ในตัวเขาซึ่งมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์พระเจ้าที่สถิตอยู่ภายใน

      พระเจ้าประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เราเป็นเครื่องมัดจำ เป็นประกัน เป็นการวางมัดจำ (เราจะพูดถึงเรื่องนี้ในบทถัดไป)  เมื่อเราให้คำมั่นสัญญาต่อพระเจ้าในการบัพติศมา  พระองค์จะให้คำมั่นสัญญากับเราโดยให้ชีวิตของพระองค์และพระวิญญาณของพระองค์  มันไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดในเชิงปรัชญา แต่เป็นสิ่งที่คุณมีประสบการณ์  มันไม่ใช่เรื่องของปรัชญา แต่เป็นความจริงของชีวิต  ถ้าผมไม่ได้มีประสบการณ์กับชีวิตใหม่นี้ผมก็ได้แค่พูดถึงปรัชญา แล้วผมก็ไม่สนใจในเรื่องนั้น

      คริสเตียนบางคนเต็มใจสละชีวิตของพวกเขาเพื่อพระเจ้า  โพลีคาร์ป[13]ผู้พลีชีพในยุคแรกคนหนึ่ง เมื่อเขาอายุเกือบ 90 ปี เขาสามารถพูดว่า “ผมได้รู้จักพระเจ้าและได้มีประสบการณ์กับความเมตตากรุณาของพระองค์ตลอด 86 ปีที่ผ่านมา แล้วผมจะปฏิเสธหรือดูหมิ่นพระองค์ได้อย่างไร?”  เจ้าหน้าที่โรมันไม่ต้องการจะประหารชีวิตชายชรา จึงพยายามจะให้เขาปฏิเสธพระคริสต์  แต่โพลีคาร์ปไม่ยอมปฏิเสธและถูกฆ่าตาย

ประเด็นที่สาม: พระวิญญาณรวมเราไว้ในพระกายของพระคริสต์เมื่อบัพติศมา

      ประเด็นแรกของเราก็คือว่า การบัพติศมาเป็นการปฏิญาณ เป็นการมอบตัวของเราต่อพระเจ้า ประเด็นที่สองก็คือว่า ในการบัพติศมานั้นเราถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์  ประเด็นที่สามก็คือว่า ในการบัพติศมานั้นเราถูกรวมอยู่ในพระกายของพระคริสต์

      การเป็นสมาชิกคริสตจักรไม่ได้ทำให้คุณเป็นสมาชิกของพระกายพระคริสต์  คริสตจักรในพันธสัญญาใหม่ไม่ใช่สังคมทางศาสนาของคริสเตียนที่รับบัพติศมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหลายคนไม่ได้เป็นสมาชิกของพระกายของพระคริสต์ และด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่คริสเตียนตามความหมายของพระคัมภีร์

     พระกายของพระคริสต์เป็นความจริงทางฝ่ายวิญญาณ ไม่ใช่องค์กรหรือสมาคม  มีทางเดียวที่จะเป็นอวัยวะในพระกายของพระคริสต์ก็คือ โดยการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของคุณ

      เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นยิวหรือกรีก ทาสหรือเสรีชน เราได้รับบัพติศมาในพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายเดียวกัน และพระวิญญาณองค์เดียวกันเป็นเหมือนน้ำที่ประทานให้เราทุกคนได้ดื่ม (1 โครินธ์ 12:13)

      เปาโลกล่าวว่าพระวิญญาณบัพติศมาเราให้เข้าในพระกายของพระคริสต์  ผมจะไม่ลงลึกในรายละเอียดทางวิชาการและการตีความของข้อนี้  แต่พอจะกล่าวได้ว่าการใช้คำว่า “รับบัพติศมา” ของเปาโลของข้อนี้ผิดจากธรรมดา  ถ้าหากสิ่งที่เขาต้องการจะพูดคือว่า เราถูกวางไว้ในพระกายของพระคริสต์ละก็ คำว่า “รับบัพติศมา” ก็ไม่ได้มีความหมายเช่นนั้นจริงๆ เพราะมันแค่หมายถึงการจุ่มหรือจุ่มลงไป  ถ้าหากเปาโลต้องการจะบอกว่าพระวิญญาณทรงวางเราไว้ในพระกายของพระคริสต์จริงๆ เขาก็น่าจะใช้คำกรีกว่า “วาง” หรือ “ใส่” หรืออาจจะพูดว่าเราถูก “ต่อกิ่ง” เข้าในพระกายของพระคริสต์  การใช้คำว่า “รับบัพติศมา” ของเขาค่อนข้างแปลก เพราะโดยทั่วไปมันหมายถึงการใส่บางสิ่งลงในของเหลว

      สำหรับรายละเอียดทางวิชาการโปรดดูในความหมายและการใช้ Baptizein ของที ซี โคแนนท์: การสืบค้นทางปรัชญาและประวัติศาสตร์[14]  Baptizein เป็นคำภาษากรีกที่มาเป็นคำว่า baptize ในภาษาอังกฤษ และโดยทั่วไปแล้วหมายถึงการใส่บางสิ่งลงในของเหลว ไม่ใช่ของแข็ง  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่เปาโลใช้ baptizein เพื่อบอกว่ามีบางคนถูกวางไว้ในกาย

      บางครั้ง Baptizein ก็ใช้ในการเปรียบเปรยของการทิ่มดาบเข้าร่างกายโดยมีความคิดที่ว่าดาบจะจุ่มลงไปในเลือดของเหยื่อ  นี่อาจไม่ใช่ความหมายที่เปาโลนึกถึง  เขาคงไม่พูดถึงการทิ่มดาบเข้าในโบสถ์หรือพระกายของพระคริสต์  มันไม่เข้ากับบริบทเนื่องจากเป็นการกระทำที่เป็นการทำลายล้างมากกว่าเป็นในทางสร้างสรรค์ต่อกาย  บางครั้ง Baptizein ก็แสดงถึงภัยพิบัติร้ายแรง เช่น น้ำท่วม แต่ความหมายนี้ใช้ตรงนี้ไม่ได้เช่นกัน

      มีเหตุผลเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เปาโลใช้ “รับบัพติศมา” ก็คือการอ้างถึงการบัพติศมาด้วยน้ำ  ตรงตามนั้นเลย  ก็เหมือนกับที่เราถูกวางลงในน้ำเมื่อบัพติศมา พระวิญญาณบริสุทธิ์วางเรา บัพติศมาเรา ในพระกายของพระคริสต์  สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อรับบัพติศมาพร้อมด้วยคำมั่นสัญญาในส่วนของเราและฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าในส่วนของพระองค์  เราไม่ได้แค่รับบัพติศมาด้วยน้ำเท่านั้น เรายังรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้าในกายของพระคริสต์

      จุดไหนหรือที่เรามาเป็นสมาชิกของพระกายของพระคริสต์?  จุดไหนหรือที่พระวิญญาณทรงวางเราในพระกายของพระคริสต์ มาเป็นอวัยวะของกาย เป็นคริสตจักรในพันธสัญญาใหม่?  เปาโลชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อบัพติศมา ซึ่งเราให้คำมั่นสัญญากับพระเจ้าจากจิตสำนึกที่ดี

ประเด็นที่สี่: การตายต่อชีวิตเก่า, การเข้าสู่ชีวิตใหม่

      เรามาถึงประเด็นที่สี่และประเด็นสุดท้ายของเรา  คือในพันธสัญญาใหม่นั้น บัพติศมาเป็นสัญลักษณ์ของความตาย แต่บางครั้งมันก็ไปไกลจากความหมายพื้นฐานของความตายที่เป็นสัญลักษณ์ของการพลีชีพ  เราพบสิ่งนี้ในคำสอนของพระเยซู เช่น ในมาระโก 10:38-39 (“บัพติศมาที่เรารับ”) และลูกา 12:50 (“เราจะต้องรับบัพติศมาอย่างหนึ่ง”)  จากบริบท เราจะรู้ว่าเมื่อพระเยซูตรัสถึงบัพติศมาที่พระองค์จะรับนั้น พระองค์กำลังหมายถึงการสิ้นพระชนม์ที่พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์

      ทำไมจึงเน้นกับความตายหรือ?  ในเมื่อความตายเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับบางคน แล้วทำไมเราถึงพูดถึงเรื่องนี้กัน?  มีเหตุผลระบุไว้ในข้อที่รู้จักกันดีดังนี้

ฉะนั้นถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ เขาก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่สิ่ง​​เก่าๆได้ล่วงไป ดูเถอะ ​​สิ่งใหม่ได้เข้ามา (2 โครินธ์ 5:17 ฉบับ RSV)

      ทำไมจึงเน้นกับความตายหรือ?  เพราะถ้าสิ่งเก่าไม่ล่วงไป สิ่งใหม่ก็มาไม่ได้  นั่นเป็นปัญหาของ คริสเตียนจำนวนมาก  ชีวิตที่เป็นขึ้นจากความตายในโรมบทที่ 6 ไม่เป็นจริงในประสบการณ์ของพวกเขา เพราะพวกเขายังอยู่ในชีวิตเก่าของพวกเขา  พวกเขาเข้ามาบัพติศมาโดยไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาจากจิตสำนึกที่ดี  สาเหตุทั่วไปของเรื่องนี้ก็คือ การขาดคำสอนที่ถูกต้องถึงความหมายของบัพติศมา

      ผมขอให้คุณเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคริสเตียนว่า ถ้าสิ่งเก่ายังอยู่ในชีวิตของคุณ หากคุณยังคงยึดแน่นในบาปเก่าและวิธีคิดแบบเก่า สิ่งใหม่ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

      เมื่อผมมาเป็นคริสเตียน ถ้าผมได้ยึดติดกับความคิดแบบเก่า ผมก็คงไม่มีประสบการณ์ของชีวิตคริสเตียนอย่างบริบูรณ์  ถ้าผมได้ยึดมั่นกับความทะเยอทะยานที่จะเอาดีทางทหารโดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ตัวเองเป็นคนยิ่งใหญ่ในโลก เป็นผู้นำกองทัพของตัวเอง ผมก็คงไม่ได้มาเป็นคริสเตียนที่แท้จริง  อันดับแรก ผมต้องทิ้งวิถีชีวิตแบบเก่าของผมและความทะเยอทะยานที่เห็นแก่ตัวของผม  ความทะเยอทะยานในตัวของมันเองนั้นไม่จำเป็นว่าเป็นสิ่งผิด เพราะมีความทะเยอทะยานทางฝ่ายวิญญาณกับความทะเยอทะยานที่เห็นแก่ตัว

      ผมเจ็บปวดกับความทะเยอทะยานของผมนานกว่าสองเดือน  ผมอยากยึดมันไว้แน่นเพราะมันมีความหมายกับผมมาก  ผมมีชีวิตเพื่อความทะเยอทะยานเหล่านั้นอยู่หลายปี  ฝึกฝนตัวเองและตื่นแต่เช้าเพื่อฝึกฝนร่างกาย  ผมมีกล้ามเป็นมัดๆ ในสมัยนั้นซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพของผมที่มีแต่กระดูกในตอนนี้  ผมเป็นเจ้าของเครื่องออกกำลังกาย[15]ที่สร้างกล้ามเนื้อให้ปูดออกมาทุกที่

      ผมยินดีมากที่ได้จับมือกับผู้ชายตัวใหญ่ที่แข็งแรงแล้วดูสีหน้าของพวกเขา ผมจะบีบมืออย่างแรงจนอีกฝ่ายมีอาการสะดุ้ง แต่เขาก็หยิ่งเกินไปที่จะให้ใครเห็นว่าเขารู้สึกเจ็บปวด

      ผมฝึกศิลปะการต่อสู้กับอาจารย์ชาวญี่ปุ่นของผมทุกวัน และได้ฝึกอย่างเข้มงวดแต่เช้า  ผมเรียนอย่างหนักเพื่อฝึกความคิด  ฝึกคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาที่ดีที่สุดของผมและเป็นสิ่งเดียวที่ผมทำได้ดี  ผมใช้มันเป็นวินัยทางใจ  ดังนั้นทั้งชีวิตของผมจึงมุ่งเน้นอยู่ที่ความทะเยอทะยานของผมที่จะเอาดีทางทหาร  ผมไม่ได้แค่ฝันถึงเรื่องนี้ แต่พยายามอย่างต่อเนื่อง อย่างมีแบบแผนและอย่างไม่ลดละ  ผมยังฝึกฝนความคิดของผมที่จะขจัดความกลัวตายทั้งหมด

      แต่เมื่อผมมาหาพระเจ้า ความทะเยอทะยานที่เห็นแก่ตัวทั้งสิ้นต้องออกไป  ช่างเป็นการต่อสู้ที่ยาก!  ผมประหลาดใจที่บางคนสามารถมาหาพระเจ้าได้อย่างง่ายดาย  ผมปล้ำสู้และดิ้นรน และในที่สุดผมก็ยอมจำนนต่อพระเจ้าโดยพูดกับพระองค์ว่า “ผมรู้ว่าผมไม่สามารถจะมีสองชีวิตที่ขัดแย้งกันหรือตัดสินใจไม่ได้ที่จะเลือก   ผมรู้ว่าผมไม่สามารถจะเป็นคริสเตียนได้ ถ้าผมจะนำความคิดแบบเก่าของผมเข้ามาในชีวิตคริสเตียน”

      ทีนี้ปัญหาของคุณอาจไม่เหมือนกับของผม  คุณอาจไม่ต้องการความยิ่งใหญ่ในทางโลก  บางทีปัญหาของคุณคือการรักเงินทอง  ตัวผมเองไม่ได้สนใจเรื่องเงินทองเป็นพิเศษ  ผมไม่คิดว่าทหารที่แท้จริงคนใดจะสนใจเรื่องเงินทอง  หากมีใครสนใจเรื่องเงินทองก็จะไม่มาเป็นทหารกัน  ทหารที่แท้จริงจะมุ่งมั่นกับความทะเยอทะยานของเขาในทางทหาร ฉะนั้นเงินทองจึงไม่สามารถทำให้เขาสนใจได้  แต่มีคริสเตียนจำนวนมากที่รักเงินทอง  ถ้าคุณทิ้งความรักที่มีต่อเงินทองนี้ไม่ได้ คุณก็จะเป็นคริสเตียนที่แท้จริงไม่ได้เพราะพระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจะรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (มัทธิว 6:24) คริสเตียนจำนวนมากพยายามที่จะรับใช้ทั้งสองอย่าง และพวกเขาสร้างความชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้าภายใต้เสื้อคลุมฝ่ายวิญญาณ แต่สุดท้ายคุณก็มีแต่หลอกตัวเอง

      บัพติศมาบ่งชี้ถึงความตาย  คุณจะไม่สามารถมีประสบการณ์กับชีวิตที่เป็นขึ้นจากความตายได้ นอกเสียจากว่าสิ่งเก่าจะล่วงไป “เพราะว่าผู้ที่ตายแล้วก็พ้นจากบาป” (โรม 6:7)  บางทีคุณอาจกลัวที่จะตายเมื่อรับบัพติศมา  ความตายเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทำให้ผมกลัว  ถ้าผมจะต้องตายก็ให้เป็นไปตามนั้น  หากการตายบนเครื่องบินฝ่ายวิญญาณเป็นหนทางที่จะจบชีวิตเก่าก็ให้เป็นไปเถอะ  เหตุผลที่คริสเตียนจำนวนมากไม่มุ่งมั่นอย่างทั้งหมด ก็คือพวกเขาไม่ต้องการจะทิ้งชีวิตเก่า  ความตายจะเกิดขึ้นไม่ได้เว้นแต่ว่าจะมีการมุ่งมั่นทั้งหมดต่อพระเจ้า

      เมื่อเรามาเป็นคริสเตียนในประเทศจีน เรามีคติประจำใจของเราว่า “จะภักดีต่อพระเจ้าจนถึงความตาย” มันเป็นความมุ่งมั่นทั้งหมด  ในทำนองเดียวกันเมื่อทหารโรมันทำพิธีสาบานตนของกองทัพนั้น เขาไม่เพียงแต่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อจักรพรรดิเท่านั้น เขายังเข้าใจการให้คำสัตย์ของเขาว่าเป็นความจงรักภักดีจนถึงความตาย  คริสเตียนทุกคนจะต้องเข้าใจว่าคำปฏิญาณด้วยใจภักดีของเขาเมื่อรับบัพติศมานั้นเป็นการปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าจนถึงความตาย จะซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจนถึงที่สุด จะตามรอยพระบาทของพระคริสต์

      ความตายเป็นการตายแบบสมบูรณ์เสมอ คุณไม่สามารถจะตายแบบครึ่งเป็นครึ่งตายได้  ถ้าคุณตายไปแล้วครึ่งหนึ่ง คุณก็ยังไม่ได้ตายจริงๆ  เนื่องจากคริสเตียนจำนวนมากตายแค่ครึ่งเดียว พวกเขาจึงมีชีวิตแค่ครึ่งเดียว  ชีวิตคริสเตียนแบบนั้นไม่คุ้มค่าที่จะมีชีวิตอยู่  คุณเคยเห็นใครสักคนที่ครึ่งตายและครึ่งมีชีวิตบ้างไหม?  เขากำลังนอนร้องครวญครางอยู่บนพื้นด้วยความเจ็บปวดและอ่อนแอเกินกว่าจะลุกขึ้น นี่คือชีวิตคริสเตียนหรือ?

      ถ้าหากคุณตัดสินใจที่จะตายแค่ครึ่งทาง  ลืมสิ่งทั้งหมดและก็เป็นแค่ผู้ที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนแบบสมบูรณ์และดื่มด่ำกับสิ่งที่โลกเสนอให้คุณ  ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเป็นคริสเตียนแบบครึ่งเดียว  มันเป็นสภาพที่น่าอนาถที่จะอยู่แบบนั้น ที่ออกไปกับโลก แช่ตัวเองอยู่ในบาปจนถึงที่สุด ตายไปพร้อมกับมันและยอมรับการลงโทษชั่วนิรันดร์  แต่อย่าใช้ชีวิตแบบครึ่งๆ หรือต้องลากเท้าเข้าไปในคริสตจักรซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อตัวคุณหรือคริสตจักร

      ผมได้วิงวอนหลายต่อหลายครั้งว่า หากนี่เป็นวิธีที่คุณกำลังดำเนินชีวิต สิ่งที่เห็นชัดที่จะทำคือการเลิกจากการเป็นคริสเตียน  จะมีประโยชน์อะไรที่เป็นเช่นนั้น  ในการพยายามต่อสู้เพื่อจะดำเนินชีวิตคริสเตียนและล้มเหลวตลอดเวลา?  คุณจะแปลกใจกับตัวเองว่า “ชัยชนะอยู่ที่ไหนกัน?  ผมคิดว่าผมจะมีประสบการณ์กับอิสรภาพ แต่ผมก็พ่ายแพ้มาตลอด”  และคุณอาจไปเต้นรำและสนุกกับชีวิตแบบสุดๆ  ถ้าคุณเป็นคนชอบดื่ม ก็ดื่มอย่างหนัก  กินและดื่มเพราะพรุ่งนี้คุณก็จะตาย!

      คุณเป็นคริสเตียนแบบไหนหรือ?  หากคุณเป็นเช่นนั้น หรือหากคุณพบว่าชีวิตคริสเตียนนั้นยากลำบากและลำเค็ญ ก็ลืมไปได้เลย!  จงกลับไปทางโลกและสนุกกับเวลาที่เหลืออยู่บนโลก แล้วก็รอรับผลที่ตามมาชั่วนิรันดร์

      หรือที่ดีที่สุดคือ ตายต่อวิถีชีวิตเก่าของคุณ!  ตายต่อความรักโลกอย่างถาวร!  จบสิ้นกับโลกและมีความยินดีกับชีวิตคริสเตียน!  มีคริสเตียนกี่คนหรือที่มีความยินดีอย่างแท้จริงกับชีวิตคริสเตียน? เมื่อผมมองดูคริสเตียนในปัจจุบัน บางครั้งผมก็สงสัย  แต่ความเป็นจริงก็คือว่า ชีวิตคริสเตียนที่แท้จริงนั้นเติมเต็มและเปี่ยมด้วยความชื่นชมยินดี!  มันอาจเป็นชีวิตที่ยากเช่นเดียวกับชีวิตของทหาร  ทหารจะออกไปรบ แล้วก็ได้รอยแผลเป็นและบาดแผล แต่มีเกียรติ  ทำไมทหารทั้งหลายจึงสมัครเข้าในกองทัพ?  นั่นก็เพื่อจะต่อสู้เพื่อสิ่งที่หวงแหนและเพื่อกษัตริย์ที่พวกเขารัก

      ทหารโรมันไม่ยอมจำนนแม้พวกเขาจะมีจำนวนน้อยกว่า ถูกล้อมและบาดเจ็บ พวกเขายืนหยัดด้วยความจงรักภักดีของพวกเขา  พวกเขาปฏิเสธที่จะยอมจำนนไปจนถึงคนสุดท้าย และภาคภูมิใจและยินดีจนถึงความตาย  ก็เหมือนกับทหารคอมมิวนิสต์บางคนได้วิ่งเข้าหาปืนกลที่กำลังยิงและสาดกระสุน พวกเขาจะวิงวอนกับผู้บังคับบัญชาของพวกเขาที่จะขอพลีชีพด้วยซ้ำ

      เราอาจคิดว่าพวกเขาบ้าไปแล้ว แต่ที่จริงแล้วพวกเขามีนิมิตที่น่ายกย่อง ซึ่งพวกเขาเต็มใจจะมีชีวิตและตายเพื่อนิมิตนั้น  แต่พวกเราที่เป็นคริสเตียนได้รับนิมิตที่ยิ่งใหญ่กว่าจากพระเจ้า  ถ้าพวกคอมมิวนิสต์พร้อมที่จะตายเพื่อนิมิต แล้วเราล่ะ?  ผมเตรียมพร้อมที่จะตายเพื่อนิมิตและอุดมคติทางทหาร แต่ตอนนี้ผมเห็นความโง่เขลาของผมหลังจากที่พบความจริงของพระเจ้า  ตอนนี้ผมมีพระเจ้า ไม่ใช่แค่นิมิตหรืออุดมคติ  ผมมีชีวิตใหม่จากพระเจ้าที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ และจะยอมตายเพื่อพระองค์ถ้าพระเจ้าทรงอนุญาต

      บัพติศมาคือคำมั่นสัญญาที่จะตายต่อวิถีชีวิตเก่า เพื่อที่เราจะเป็นอิสระจากบาปและมีพลังในการรับใช้พระเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพ  มีความยินดีกับชีวิตคริสเตียน!  ถ้าคุณไม่ยินดีกับมัน แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะเป็นคริสเตียน?  เราชอบทรมานตัวเราเองอย่างนั้นหรือ?  บางคนอาจชอบนอนบนเตียงที่มีตะปู แต่นั่นไม่ใช่ผม!  ถ้าผมเห็นบางสิ่งที่เป็นความจริงผมก็จะไปจนสุดทาง  แต่ถ้ามันไม่ใช่ความจริง ก็ลืมไปได้เลย!

      ขอสรุปว่า ประการแรก การบัพติศมาคือการปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าจากจิตสำนึกที่ดี  ประการที่สอง เราถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์ในการบัพติศมา  ประการที่สาม เราถูกรวมอยู่ในพระกายของพระคริสต์เมื่อบัพติศมา  ประการที่สี่ เมื่อบัพติศมา เราตายต่อชีวิตเก่าเพื่อที่เราจะมีชีวิตใหม่ที่เป็นขึ้นมากับพระเยซูคริสต์องค์ผู้เป็นเจ้าของเรา


[1] New International Version

[2] Liddell-Scott Greek-English lexicon

[3] Moulton and Milligan’s Vocabulary of the Greek New Testament

[4] E.G. Selwyn

[5] Lord’s Supper

[6] Pliny the Younger

[7] Emperor Trajan

[8] Robert Banks

[9] Macquarie University

[10] Paul’s Idea of ​​Community (1979)

[11] ฉบับ RSV,  ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลโรม 6:5 ว่า เพราะว่าถ้าเราเข้าสนิทกับพระองค์แล้วในการตายอย่างพระองค์ เราก็จะเข้าสนิทกับพระองค์ในการเป็นขึ้นจากตายอย่างพระองค์”

[12] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “จงติดสนิทอยู่กับเราและเราติดสนิทอยู่กับพวกท่าน”

[13] Polycarp

[14] T.C. Conant’s The Meaning and Use of Baptizein: Philologi­cally and Historically Investigated

[15] Bullworker