pdf pic

 

 

 

บทที่ 1

 

ch1 1

 

 

บัพติศมากับการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์

1 โครินธ์ 6:17

ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ปี 1975

 

 

      นคำสอนของวันนี้และตลอดหนังสือเล่มนี้ เรามุ่งหวังที่จะทำความเข้าใจตามความเป็นจริงเกี่ยวกับความหมายของบัพติศมา วันนี้เราจะเริ่มต้นด้วยการดูลักษณะพื้นฐานบางประการของการรับบัพติศมาตามที่มีสอนไว้ในพระคัมภีร์ เหตุผลประการหนึ่งในการทำแบบนี้ก็คือ มีบางคนในที่นี้กำลังชั่งใจถึงการบัพติศมา ฉะนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องรู้ว่า การก้าวเข้าสู่บัพติศมานั้นหมายถึงอะไร แล้วก็ยังมีคริสเตียนที่ไม่เข้าใจความหมายของการบัพติศมาแม้ว่าจะรับบัพติศมาแล้วก็ตาม และประการสุดท้ายก็คือ มีผู้ไม่เป็นคริสเตียนที่ยังไม่ได้รับบัพติศมา แต่ต้องการทราบข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้

      ผมจะหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาเชิงวิชาการในหนังสือเล่มนี้ และจะอธิบายถึงการบัพติศมาในแบบที่ไม่ซับซ้อนและเห็นได้ชัด เพื่อให้ทุกคนเข้าใจความหมายตามความเป็นจริง มีหลายคนได้พยายามอ่านหนังสือเกี่ยวกับบัพติศมา แต่ไม่นานก็เลิกอ่านหนังสือเหล่านี้หลังจากที่พบว่ามันเป็นทฤษฎีและหลักการจนเกินไป

      สำหรับพวกคุณที่ได้รับบัพติศมาแล้ว เป็นสิ่งที่ดีที่จะทบทวนคำถามที่สำคัญบางอย่าง เช่น ตอนที่คุณรับบัพติศมานั้น มันเกิดอะไรขึ้นจริงๆระหว่างคุณกับพระเจ้า? ในวันนั้นที่คุณรับบัพติศมานั้น มีสิ่งไหนในคุณที่รับการเปลี่ยนแปลงไหม? การรับบัพติศมาของคุณเป็นเรื่องที่จบไปแล้ว หรือมันยังคงมีความหมายกับคุณในปัจจุบัน?

      คำถามที่ทั่วไปยิ่งขึ้นก็คือ ถ้าคนนั้นยังไม่เคยรับบัพติศมา จะถือว่าเขาหรือเธอเป็นคริสเตียนหรือไม่? ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่วิทยาลัยพระคัมภีร์นั้น เพื่อนคนหนึ่งถามผมว่า “ผมไม่เคยรับบัพติศมา บัพติศมาหมายถึงอะไรหรือ? ทำไมผมจึงต้องรับบัพติศมาด้วย?” เขาเป็นคริสเตียนมาหลายปีแล้วและยังอุทิศตัวให้กับงานของพระเจ้า แต่เขาไม่รู้ความหมายของบัพติศมาซึ่งเป็นสาเหตุที่เขาไม่ได้รับบัพติศมา จากนั้นผมกับเขาก็คุยกันว่าพระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับการบัพติศมาและในที่สุดเขาก็ได้รับบัพติศมา

บัพติศมาเป็นพันธสัญญาของการรวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์

      เราจะเริ่มคำสอนของวันนี้ด้วยคำนิยามสั้นๆ เพียงประโยคเดียวของการบัพติศมาว่า บัพติศมาคือพิธีศักดิ์สิทธิ์ของการรวมเป็นหนึ่ง คุณอาจพูดกับตัวเองว่า “คำนิยามนั้นอาจกระชับ แต่ฉันไม่เข้าใจ” นั่นไม่เป็นไร เราก็แค่ต้องเน้นที่คำว่า “การรวมเป็นหนึ่ง” ซึ่งมีความหมายที่คุ้นกับเรามากพอ แน่นอนว่าบัพติศมาเป็นมากกว่าการรวมเป็นหนึ่ง แต่แนวคิดเรื่องการรวมเป็นหนึ่งนั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการบัพติศมา

      คำที่ไม่ค่อยคุ้นในที่นี้คือ “พิธีศักดิ์สิทธิ์” คำซึ่งหมายถึงการแสดงออกภายนอกของบางสิ่งที่เกิดขึ้นในคุณ ในคริสตจักรจะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์สองอย่างคือ พิธีศักดิ์สิทธิ์ของการรวมเป็นหนึ่งคือบัพติศมาและพิธีศักดิ์สิทธิ์ของการร่วมมหาสนิท (เราจะดูพิธีศักดิ์สิทธิ์ในรายละเอียดมากขึ้นในบทที่ 3)

      นอกจากนี้เรายังสามารถอธิบายถึงบัพติศมาว่าเป็นพันธสัญญาได้เช่นกัน คือบัพติศมาเป็นพันธสัญญาของการรวมเป็นหนึ่ง เราจะเห็นคำ “การรวมเป็นหนึ่ง” อีกแล้ว รวมเป็นหนึ่งกับใครหรือ? ก็รวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์นั่นเอง

      การใช้ภาพตัวอย่างของการแต่งงานก็คงเป็นประโยชน์เพื่อจะให้เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งการแต่งงานก็เป็นพันธสัญญาของการรวมเป็นหนึ่งระหว่างบุคคลสองคน เช่นเดียวกันกับที่การบัพติศมาก็เป็นพันธสัญญาของการรวมเป็นหนึ่งระหว่างเรากับพระคริสต์

      อะไรคือพื้นฐานตามพระคัมภีร์ในการเปรียบเทียบการบัพติศมากับการแต่งงาน? ในพระคัมภีร์มีหลักฐานมากมายสำหรับเรื่องนี้ แต่ผมจะพูดถึงเพียงหนึ่งหรือสองข้อเท่านั้น เราขอเริ่มต้นด้วย 1 โครินธ์ 6:17 “แต่คนที่รวมตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในจิตวิญญาณ)[1]

      จงใคร่ครวญคำพูดที่สำคัญนี้โดยเฉพาะกับ “รวมตัวเองเป็นหนึ่ง” หากคุณได้รวมตัวเองเป็นหนึ่งกับพระคริสต์ แล้วการรวมเป็นหนึ่งนี้เกิดขึ้นที่ไหนและเกิดขึ้นเมื่อไรหรือ? คำตอบของพระคัมภีร์ก็คือว่า คุณได้รวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์เมื่อคุณรับบัพติศมา โรม 6:3-5[2] กล่าวว่าเป็นการรับบัพติศมาที่เรา “รวมเป็นหนึ่ง”[3] กับพระคริสต์

      ในข้อที่เราเพิ่งอ่านไปนั้น (1 โครินธ์ 6:17) คำภาษากรีกสำหรับ “รวมตัวเองเป็นหนึ่ง” (kollaō) เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในมัทธิว 19:5 เพื่อพูดถึงสามีและภรรยาที่ “รวมเป็นหนึ่ง” ในชีวิตแต่งงาน

     นอกจากนี้ก็ยังมีเอเฟซัส 5:22-33 ซึ่งเป็นข้อความเกี่ยวกับการแต่งงานซึ่งมักจะใช้อ่านในงานแต่งงาน มันน่าสนใจที่ตรงกลางของพระคัมภีร์ตอนนี้ในข้อ 25 และ 26 นั้นเป็นการอ้างอิงถึงการบัพติศมาว่า “เหมือนพระคริสต์ทรงรักคริสตจักรและยอมสละพระองค์เองเพื่อคริสตจักร เพื่อพระองค์จะทรงทำให้คริสตจักรบริสุทธิ์ โดยการชำระให้สะอาดด้วยน้ำและพระวจนะ” (ฉบับอีเอสวี)[4] สองสามข้อต่อมาเปาโลกล่าวซ้ำสิ่งที่เราเพิ่งอ่านในมัทธิว 19:5 ว่า “เพราะเหตุนี้ผู้ชายจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับภรรยา และ​​ทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน(เอเฟซัส 5:31)[5]

     และสุดท้าย พระคัมภีร์ก็กล่าวถึงพระเยซูคริสต์ว่าเป็นเจ้าบ่าวของคริสตจักร เปาโลกล่าวกับชาวโครินธ์ว่า “ข้าพเจ้าหมั้นท่านไว้กับสามีคนเดียว เพื่อถวายพวกท่านให้เป็นหญิงพรหมจารีบริสุทธิ์แด่พระคริสต์” (2 โครินธ์ 11:2) นี่คือภาพของการแต่งงานที่ปรากฏหลายครั้งในพระคัมภีร์เพื่อแสดงให้เห็นถึงการรวมเป็นหนึ่งของคนของพระเจ้ากับพระคริสต์

บัพติศมาก็เหมือนกับงานแต่งงานที่ปัดทิ้งไม่ได้

      การที่ชายกับหญิงจะรวมเป็นหนึ่งในฐานะสามีภรรยากันนั้น พวกเขาต้องผ่านงานแต่งงานหรือไม่? พวกเขาสามารถเป็นสามีภรรยาโดยไม่แต่งงานได้ไหม? คำตอบทั่วไปสำหรับเรื่องนี้ก็คือ “ไม่ได้” [ผู้เรียบเรียง: โดยทั่วไปแล้วคำกล่าวนี้เป็นจริงในปี 1975 ซึ่งเป็นปีที่ได้ให้คำเทศนานี้] คุณจะไม่เป็นสามีและภรรยาเว้นเสียแต่ว่าจะแต่งงาน และโดยทั่วไปแล้วนี่เป็นความจริงในสังคมของโลก ไม่ว่าจะเป็นสังคมโบราณหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่มีสังคมไหนที่จะยอมรับคนสองคนว่าเป็นสามีภรรยาโดยที่ไม่ได้แต่งงานกัน

      แต่เหตุใดเราจึงไม่สามารถปัดการแต่งงานทิ้งได้? เหตุผลก็คืองานแต่งงานไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธีแต่เป็นพันธสัญญา พันธสัญญาคือคำมั่นสัญญาระหว่างสองฝ่าย เป็นการผูกมัดหรือมีพันธะผูกพันต่อกัน ในกรณีที่ไม่มีพันธสัญญาหรือคำมั่นสัญญาระหว่างคนสองคน ความรักของทั้งสองที่มีต่อกันก็ยังไม่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เพราะยังไม่ได้ปรากฏให้เห็นในการดำเนินการที่แน่นอน ไม่ว่าเขาทั้งสองอาจรักกันเต็มหัวใจของพวกเขามากแค่ไหน เขาทั้งสองก็ไม่ใช่สามีภรรยากัน

      การพูดถึงพันธะผูกพันหรือคำมั่นสัญญานั้น เราไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องไปแต่งงานที่โบสถ์ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ไปแต่งงานในโบสถ์ แต่พวกเขาก็ยังคงต้องไปที่ทำการจดทะเบียนสมรสหรือลงนามในคำประกาศ เช่น “ในวันนี้ เราเป็นสามีและภรรยากัน” ผู้ที่ไม่ใช่คริสเตียนต่างก็รู้ดีเช่นเดียวกับคริสเตียนว่า ถ้าไม่มีพันธะผูกพันหรือคำมั่นสัญญาระหว่างชายกับหญิง พวกเขาก็ไม่ได้เป็นสามีกับภรรยากัน

      ในการจดทะเบียนสมรสนั้น พวกเขาจะมีพยานสองหรือสามคนที่ลงชื่อในทะเบียนสมรสด้วย ทำไมจึงต้องมีพยานหรือ? พวกเขาอยู่ที่นั่นด้วยเพื่อจะเป็นพยานว่ามีการให้คำมั่นสัญญาและให้สัตยาบันต่อหน้าพวกเขา สิ่งนี้ยึดจากข้อสนับสนุนที่ว่า การรวมเป็นหนึ่งของชายและหญิงไม่ได้มีขึ้นอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะมีพันธสัญญาของการรวมเป็นหนึ่ง

      ในทำนองเดียวกัน เราอาจประกาศว่าเขาเชื่อในพระเจ้าและเชื่อในพระเยซูคริสต์ เขารักพระเจ้าและต้องการจะติดตามพระเยซู แต่ตราบใดที่เขายังไม่ได้เข้าในพันธสัญญากับพระเจ้าทางพระคริสต์ เขาก็ยังไม่ได้เป็นคริสเตียน เพราะเราจะยึดมั่นต่อกันก็โดยทางพันธสัญญา ก่อนหน้านี้ไม่มีการผูกมัดอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะมีความผูกมัดอยู่ในหัวใจ แต่ก็ยังไม่ได้มีขึ้นและทำให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ต่อหน้าพยานหลายคน บัพติศมาไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธี แต่เป็นพันธสัญญา

      คำว่า “พันธสัญญา” ถูกใช้หลายครั้งในพระคัมภีร์ เหตุนี้เองเราจึงมีพันธสัญญาเดิมหรือหนังสือพระคัมภีร์เดิม[6] และก็ยังมีพันธสัญญาใหม่หรือหนังสือพระคัมภีร์ใหม่[7] คำว่า “หนังสือ” ในที่นี้คำภาษาอังกฤษว่า testament” เทียบเท่ากับคำ “พันธสัญญา” (covenant) ในภาษากรีกว่า diathēkē

      สรุปก็คือ เราถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์เมื่อเรารับบัพติศมา การรวมเป็นหนึ่งนั้น ไม่ใช่แค่ความรู้สึกว่ารัก แต่เป็นคำมั่นสัญญาที่แน่นอน ซึ่งเป็นพันธสัญญา

การเปรียบเทียบเจ็ดประการระหว่างบัพติศมากับการแต่งงาน ทั้งสองเป็นพันธสัญญาของการรวมเป็นหนึ่ง

      ตอนนี้เราจะมองเรื่องนี้ลึกขึ้นโดยเปรียบเทียบการรวมเป็นหนึ่งของชายกับหญิงในการแต่งงาน และการรวมเป็นหนึ่งของเรากับพระคริสต์ในการบัพติศมา

      ประการแรก เมื่อคนสองคนผูกมัดกันและกันในงานแต่งงานนั้น ก็เป็นเพราะความรักที่มีต่อกัน เช่นเดียวกันกับการรับบัพติศมา ที่เราผูกมัดตัวเราเองกับพระคริสต์เพื่อแสดงความรักของเราต่อพระองค์ คุณคงไม่แต่งงานกับใครสักคนเพียงเพราะคุณ ชอบ เขาหรือเธอในแบบที่คลุมเครือ ชีวิตแต่งงานเช่นนี้อาจล้มเหลวได้ง่ายๆ ในทางตรงกันข้าม คุณจะต้องรักอีกฝ่ายอย่างแท้จริงจนถึงขนาดที่จะร่วมชีวิตของคุณกับเขาหรือเธอด้วยพันธะผูกพันอย่างทั้งหมด ความเกี่ยวข้องของคริสเตียนกับพระคริสต์ก็เป็นเช่นนั้นด้วย เราคงจะไม่เข้าร่วมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์เพียงเพราะว่าเราชอบหรือชื่นชมพระองค์อยู่บ้าง แต่เป็นเพราะเราต้องการจะผูกพันตัวเราเองกับพระองค์และกับพระเจ้าอย่างทั้งหมดและอย่างไม่มีเงื่อนไข เราต้องการจะร่วมชีวิตของเรากับพระคริสต์

      ประการที่สอง การบัพติศมาก็เหมือนกับงานแต่งงาน ที่เป็นการประกาศความรักต่ออีกฝ่ายอย่างเปิดเผย เมื่อรับบัพติศมา ผมจะประกาศต่อหน้าพยานทุกคน ต่อหน้าทุกคน และต่อหน้าเหล่าเทพที่มีฤทธิ์ทั้งในสวรรค์และบนโลก ว่าผมรักพระเยซูคริสต์องค์ผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าพระบิดาที่สุด

      ประการที่สาม ในการประกาศพันธะผูกพันของผมกับพระคริสต์นั้น ผมจึงเลิกวิถีชีวิตแบบเดิม นั่นก็เป็นความจริงเช่นกันในชีวิตแต่งงาน หลังจากที่คุณแต่งงาน ชีวิตของคุณจะไม่เป็นอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป เพราะตอนนี้คุณได้เข้าสู่ชีวิตใหม่ที่เป็นหุ้นส่วนชีวิตกับคนอื่นแล้ว ไม่ใช่ชีวิตที่ผมคิดถึงแต่ตัวเองที่ผมจะทำอะไรตามใจชอบของตัวเอง เพราะตอนนี้ผมมีคนที่ผมจะแสดงความรักและความห่วงใยด้วย ชีวิตของผมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในการบัพติศมานั้น ผมตายต่อวิถีชีวิตแบบเก่า คือตายต่อชีวิตบาปและชีวิตที่มีแต่ตัวเอง และได้รวมเป็นหนึ่งกับพระคริสต์ในการตายเหมือนอย่างพระองค์ ตอนนี้ผมเข้าสู่ชีวิตใหม่และชีวิตที่ชอบธรรมในความสัมพันธ์สนิทกับพระคริสต์ โดยถูกรวมเป็นหนึ่งกับพระองค์ในการเป็นขึ้นจากตายอย่างพระองค์ )โรม 6:5,11)[8]

      ประการที่สี่ ที่ใดมีความรักที่แท้จริงระหว่างคนสองคน แต่ละคนจะให้ความสนใจกับอีกฝ่ายมากกว่าตนเอง แต่ละคนจะนึกถึงอีกฝ่ายโดยไม่คิดถึงตัวเอง บางคนได้อุทิศตัวของเขาโดยทิ้งความสนใจของตัวเองแม้กระทั่งอาชีพการงานที่ดี เพื่อติดตามสามีของพวกเธอไปในที่ที่เขาไป เช่นเดียวกับเมื่อบัพติศมาที่เราจะพูดว่า “จากนี้เป็นต้นไป ความสนใจของพระคริสต์จะมาก่อนความสนใจของฉัน ความสนใจของพระองค์ซึ่งสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระบิดาเสมอนั้น ตอนนี้มีความสำคัญมากกว่าความผูกพันทางสังคมและความก้าวหน้าในอาชีพของฉัน ความสนใจของพระองค์เป็นสิ่งสำคัญมากกับใจของฉัน” ผมหวังว่าคริสเตียนทุกคนจะค้นใจของตัวเองแล้วถามว่า “ฉันจริงใจต่อพันธะผูกพันของการบัพติศมาหรือไม่?

      ประการที่ห้า เมื่อสามีกับภรรยาได้รวมกันเป็นหนึ่งในชีวิตแต่งงาน พวกเขาก็จะไม่ไปคนละทิศคนละทางกัน เพราะฝ่ายหนึ่งอยู่ที่ไหน อีกฝ่ายหนึ่งก็อยู่ด้วย พวกเขาเดินไปด้วยกันและมีความสนใจที่เหมือนกัน การแต่งงานจะเป็นแบบไหนหรือ ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างก็ไปทำอะไรของตนเองและหนีหน้ากันและกัน? ในชีวิตแต่งงานนั้น คุณก็อยากจะอยู่ด้วยกันและมีความสัมพันธ์สนิทต่อกัน ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนที่แท้จริงก็ดำเนินชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระคริสต์ในความตายของพระองค์และในการเป็นขึ้นมาจากตายของพระองค์และเข้าสู่ชีวิตใหม่ แล้วคริสเตียนจึงจะได้คืนดีกับพระเจ้าพระบิดาและมีความสัมพันธ์สนิทกับพระองค์ตลอดไป คนที่ไม่อธิษฐานหรือชื่นชมยินดีที่จะสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า ก็จะไม่รู้ว่าการเป็นคริสเตียนนั้นหมายความว่าอย่างไร

      ประการที่หก ในการแต่งงานกันนั้น ภรรยาผู้ยึดมั่นจะกล่าวกับสามีของเธอว่า “ฉันอยากให้คุณเป็นหัวหน้าครอบครัวนี้” ในทุกๆการปกครองจะต้องมีหัวหน้า ครอบครัวเป็นหน่วยทางสังคมเช่นเดียวกับการปกครองที่ต้องมีใครสักคนที่นำ จะต้องมีคนที่รับผิดชอบในการเซ็นเอกสารและตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกรรมทางกฎหมายให้กับครอบครัว นั่นไม่ได้หมายถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสามีภรรยา แต่ในความรักของพวกเขาที่มีต่อกันนั้นพวกเขาจะให้เกียรติอีกฝ่ายหนึ่งแม้ว่าจะในวิธีที่ต่างกันก็ตาม ก็เช่นเดียวกันกับเมื่อบัพติศมา ที่คริสเตียนอยากจะให้พระคริสต์ได้รับเกียรติในทุกสิ่ง และต้องการจะถวายเกียรติแด่พระเจ้าพระบิดาของพระเยซูคริสต์ คริสเตียนที่แท้จริงจะประกาศว่า “พระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์และเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตของฉัน และฉันจะติดตามพระคริสต์ของพระองค์ ผู้ที่พระเจ้าได้ทรงยกย่องให้เป็นองค์ผู้เป็นเจ้า (เปรียบเทียบกิจการ 2:36)”[9]

      ประการที่เจ็ด ในงานแต่งงานสามีกับภรรยาจะแลกของให้กันซึ่งโดยปกติจะเป็นแหวน แหวนเป็นเครื่องแสดงถึงอะไรหรือ? มันเป็นคำปฏิญาณว่า “ผมมอบแหวนวงนี้เพื่อเป็นเครื่องหมายของคำมั่นสัญญาของผมที่จะไม่ทิ้งคุณหรือทอดทิ้งคุณ” เช่นเดียวกับเมื่อเรารับบัพติศมา พระเจ้าจะประทานของประทานให้แก่เรา นั่นก็คือพระวิญญาณของพระองค์เอง พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นคำปฏิญาณของพระเจ้ากับเรา (2 โครินธ์ 1:22; 5:5; เอเฟซัส 1:13)[10] โดยที่พระองค์ทรงสัญญาว่า “เราจะไม่ละทิ้งเจ้าหรือทอดทิ้งเจ้า” เราจะพูดถึงหัวข้อสำคัญนี้ในบทที่ 4

      แหวนเป็นเครื่องแสดงเพิ่มเติมว่า “ฉันจะทำตามที่ได้ให้สัญญาไว้” ภรรยารู้ดีว่าสามีจะปกป้องเธอในยามที่ตกอยู่ในอันตราย จะจัดหาสิ่งจำเป็นและให้คำปรึกษาแก่เธอ พระเจ้าทรงสัญญากับเราในทำนองเดียวกันว่า พระองค์จะทำตามทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้กับเรา พระองค์จะทรงเลี้ยงดูเรา จะปกป้องเรา นำทางเรา และให้ชีวิตนิรันดร์แก่เรา

ความแตกต่างสองข้อ

      ในการเปรียบเทียบบัพติศมากับงานแต่งงานนั้น เราไม่ได้กำลังบอกว่า บัพติศมาคืองานแต่งงาน แม้ว่าทั้งสองอย่างนี้จะมีความคล้ายกันอย่างแท้จริง เนื่องจากทั้งสองเป็นพันธสัญญาของการรวมกันเป็นหนึ่ง แต่ก็มีจุดที่แตกต่างกันระหว่างบัพติศมาและงานแต่งงาน

      ข้อแรก ปัญหาของบาปเป็นเรื่องสำคัญในการบัพติศมา เมื่อคุณเห็นใครบางคนถูกจุ่มลงในน้ำแล้วขึ้นมาจากน้ำ คุณอาจสงสัยว่า “เกิดอะไรขึ้นตรงนี้? มันแสดงถึงอะไรหรือ?” เพื่อที่จะเข้าใจความสำคัญของทั้งหมดนี้ เราจะต้องเห็นปัจจัยที่ซับซ้อนของบาป

      แม้ว่าการรับบัพติศมาและงานแต่งงานจะเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ของการรวมเป็นหนึ่งทั้งคู่ แต่การรวมเป็นหนึ่งของเรากับพระคริสต์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าการรวมเป็นหนึ่งของการแต่งงานมาก เนื่องจากความจริงที่ร้ายแรงเกี่ยวกับบาป ความบาปอยู่ระหว่างเรากับพระเจ้า ซึ่งไม่เพียงทำให้การรวมเป็นหนึ่งนี้เป็นไปได้ยาก แต่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย

      ปกติแล้วจะไม่มีปัญหานี้เมื่อคนสองคนแต่งงานกัน อย่างน้อยก็ไม่ใช่ระดับเดียวกัน หากพวกเขารักกันจริงๆในชีวิตแต่งงาน ความรักเพียงอย่างเดียวก็อาจช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนส่วนใหญ่ได้

      ในทางตรงกันข้ามกัน ความซับซ้อนมากมายของบาปในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้านั้น สามารถเปรียบเทียบได้กับสถานการณ์ที่คู่แต่งงานทั้งสองมาจากครอบครัวที่เป็นศัตรูร้ายกาจของกันและกัน ตรงนี้เราจะเห็นปัญหาที่รุนแรงมากของการรวมเป็นหนึ่งดังกล่าว

     ความบาปขวางกั้นการรวมเป็นหนึ่งของเรากับพระเจ้า มันเป็นอุปสรรคร้ายแรงที่จะต้องถูกกำจัดออกไป ดังนั้น พระเจ้าผู้ที่รักเราและต้องการให้เราคืนดีกับพระองค์เองในพระคริสต์ (2 โครินธ์ 5:19)[11] ได้ทรงส่งพระเยซูองค์ผู้เป็นเจ้า มาสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อขจัดอุปสรรคของบาป

      เมื่อคุณจุ่มลงในน้ำตอนบัพติศมา คุณประกาศว่าคุณพร้อมที่จะตายต่อบาป คุณหันหลังให้กับบาปจนกระทั่งว่าวิถีชีวิตแบบเก่าของคุณได้จบสิ้นลงแล้ว และเมื่อคุณขึ้นมาจากน้ำ นั่นเป็นเครื่องแสดงว่าคุณได้เป็นขึ้นสู่ชีวิตใหม่และชอบธรรมที่ได้มอบให้เราในพระคริสต์ การบัพติศมาจะเผชิญกับแง่มุมที่ลึกที่สุดและร้ายแรงที่สุดของบาป มันไม่ใช่พิธีที่เริ่มเข้าร่วมศาสนา อย่างไรก็ดี เราไม่สนใจที่จะเข้าร่วมศาสนา

      ประการที่สอง เมื่อบัพติศมา เราได้ย้ายจากความบาปไปสู่ความชอบธรรม และจากความมืดไปสู่ความสว่าง ตั้งแต่ตอนที่เรารับบัพติศมา เราให้คำมั่นตัวเราเองที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าตลอดเวลา แต่ในการแต่งงานส่วนใหญ่แล้ว สามีและภรรยามักพะวงกับสิ่งทางโลก และอยากจะให้เป็นที่พอใจกันและกัน แม้มันจะขัดต่อหลักการของคนนั้นเอง (1 โครินธ์ 7:33-34)[12]

       ราได้พูดถึงการบัพติศมาอย่างง่ายๆ และผมหวังว่าทุกคนจะเข้าใจความหมายของบัพติศมา ได้ชัดเจนเพียงพอ ผู้ที่คิดจะบัพติศมาจะต้องไตร่ตรองเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน การรับบัพติศมาเป็นก้าวสำคัญเช่นเดียวกับการแต่งงานที่เป็นก้าวสำคัญ พวกเราที่รับบัพติศมาแล้วและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์จะต้องไม่ลืมความหมายของมัน

      ในอีกแง่หนึ่ง เรายังคำนึงถึงสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบด้วย ใช่แล้ว ผมยังพูดถึงสิทธิพิเศษด้วย เมื่อคุณเผชิญกับความยากลำบาก ก็ให้จำไว้ว่าพระเจ้าทรงรักคุณและคุณได้รวมเป็นหนึ่งกับพระองค์ในพระคริสต์ จงวางใจในพระเจ้า อย่าได้สงสัยในความรักและความห่วงใยของพระองค์ที่มีต่อคุณ พระองค์ทรงเห็นน้ำตาของคุณ ทรงรับรู้ความเศร้าโศกของคุณ และทรงสนพระทัยในทุกสถานการณ์ของคุณ จงนำความกังวลทั้งหลายของคุณมาหาพระองค์ แล้วคุณจะพบว่าพระองค์ทรงรักคุณมากเพียงใด จงดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมเพื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ เพื่อที่พระองค์จะทรงยินดีในคุณและคุณจะยินดีในพระองค์


[1] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย (ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “แต่คนที่ผูกพันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นจิตวิญญาณเดียวกับพระองค์”)

[2] โรม 6:3-5 ท่านไม่รู้หรือว่าเราทั้งปวงที่รับบัพติศมาเข้าในพระเยซูคริสต์ก็ได้รับบัพติศมาเข้าในความตายของพระองค์?  ฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยการบัพติศมาเข้าในความตาย เพื่อว่าเราเองก็จะได้มีชีวิตใหม่เช่นเดียวกับที่ทรงให้พระคริสต์เป็นขึ้นจากตายโดยพระเกียรติสิริของพระบิดา ถ้าเราได้มีส่วนร่วมกับพระองค์ในการตายเหมือนพระองค์ แน่นอนเราจะมีส่วนร่วมในการเป็นขึ้นจากตายเหมือนพระองค์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[3] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “มีส่วนร่วม” ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “เข้าสนิท” (ผู้แปล)

[4] ESV (English Standard Version)

[5] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

[6] Old Covenant or Old Testament

[7] New Covenant or New Testament

[8] โรม 6:5 ถ้าเราเข้าสนิทกับพระองค์แล้วในการตายอย่างพระองค์ เราก็จะเข้าสนิทกับพระองค์ในการเป็นขึ้นจากตายอย่างพระองค์

โรม 6:11 ในทำนองเดียวกัน พวกท่านจงถือว่าท่านได้ตายต่อบาป และมีชีวิตสนิทกับพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์

[9] กิจการ 2:36 เพราะฉะนั้น ให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งหมดทราบแน่นอนว่า พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูที่ท่านทั้งหลายตรึงไว้บนกางเขนนั้น ให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์

[10] 2 โครินธ์ 1:22 และพระองค์ทรงประทับตราเรา และประทานพระวิญญาณไว้ในใจของเราเป็นมัดจำด้วย

2 โครินธ์ 5:5 แต่พระเจ้าทรงเป็นผู้เตรียมเราไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ และพระองค์ประทานพระวิญญาณเป็นมัดจำแก่เรา

เอเฟซัส 1:13 ในพระคริสต์ ท่านทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้นด้วย คือเมื่อพวกท่านได้ยินสัจวาทะคือข่าวประเสริฐเรื่องความรอดของท่าน และวางใจในพระองค์แล้ว พวกท่านก็ได้รับการประทับตราด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามที่ทรงสัญญาไว้

[11] 2 ครินธ์ 5:19 คือพระเจ้าทรงให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์โดยพระคริสต์ ไม่ทรงถือโทษในความผิดของพวกเขา และทรงมอบเรื่องราวการคืนดีนี้ให้เราประกาศ

[12] 1 โครินธ์ 7:33-34 33แต่คนที่แต่งงานก็พะวงในสิ่งที่เป็นของโลกนี้ เพื่อจะให้เป็นที่พอใจของภรรยา 34เป็นการสองฝักสองฝ่าย หญิงที่ไม่แต่งงาน และหญิงพรหมจารี ก็ห่วงใยในสิ่งที่เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อเธอจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ทั้งกายและจิตวิญญาณ แต่หญิงที่แต่งงานแล้วก็พะวงในสิ่งที่เป็นของโลกนี้ เพื่อจะให้เป็นที่พอใจของสามี