พิมพ์
หมวด: The Only True God
ฮิต: 2371

pdf pic

บทที่ 12

 

ch1 1

 

พระเยซูกับพระยาห์เวห์ในประสบการณ์ของเรา

 

 

การไหว้รูปเคารพของชนอิสราเอล

     ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องหลักของบทนี้  ผมอยากใช้เวลาเพื่อให้คำตอบที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกับคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดชื่อ “พระยาห์เวห์” จึงไม่ได้ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ใหม่

     หลังจากช่วงของโมเสสไม่นานและที่จริงก็ตั้งแต่ในช่วงของโมเสสแล้ว ชนอิสราเอลได้จมดิ่งลงสู่การไหว้รูปเคารพ ซึ่งเรารู้จักกันดีจากเรื่องการกราบไหว้รูปโคทองคำ แม้จะมีความพยายามและการต่อสู้อย่างมากที่จะสอนประชาชนอิสราเอลให้นมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวคือพระยาห์เวห์ มันก็ไม่ได้เป็นบทเรียนให้พวกเขาได้เรียนรู้กันดี  ก่อนที่จะนำแผ่นบัญญัติสิบประการลงมาจากภูเขาซีนายไม่นาน ชนอิสราเอลก็นมัสการลูกโคทองคำกันแล้ว ในโลกยุคโบราณ โคเป็นสัญลักษณ์ของพระต่างๆรวมทั้งพระบาอัล[1]

     จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของการไหว้รูปเคารพในอิสราเอลนั้น ใครก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าการไหว้รูปเคารพนั้นฝังแน่นอยู่ในวิสัยของมนุษย์  ดูเหมือนว่าใจของมนุษย์จะไม่สามารถจดจ่อกับพระเจ้าได้ และมักจะหันเหไปนมัสการสิ่งอื่นเสมอ  นั่นคือมุมมองของความนึกคิดในจิตวิญญาณที่ยากจะเข้าใจ  ทำไมมนุษย์จึงไม่สามารถจดจ่ออยู่กับพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวได้?  ทำไมเราจึงมักจะมองหาพระอื่นเพื่อกราบไหว้เสมอ?

     ในเหตุการณ์ของโคทองคำนั้น โทสะของโมเสสพลุ่งขึ้นต่อชนอิสราเอล (อพยพ32:19)เพราะพวกเขาได้ละทิ้งพระยาห์เวห์พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวที่โมเสสมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีเป็นส่วนตัว  นี่คือพระเจ้าที่ได้เปิดเผยพระองค์เองกับโมเสสว่าเป็นผู้ที่ดำรงอยู่จริง และพระนามของพระองค์คือ “ยาห์เวห์” พระนามที่เผยให้เห็นพระเจ้าผู้ทรงเป็นแหล่งที่มาและแหล่งกำเนิดของสิ่งที่ดำรงอยู่ทั้งสิ้น  พระเจ้าคือผู้ที่เป็นและจะเป็นตลอดไปในพระองค์มีรูปกริยาเป็นอนาคตกาลและไม่ใช่อดีตกาล  แต่มนุษย์ดำเนินอยู่ในกาลเวลา  ทุกวินาทีใหม่จะนำเราก้าวเข้าไปในอนาคต  ชีวิตยังคงต้องไล่ตามอนาคตเสมอ  เมื่อผมพูดประโยคนี้จบผมก็จะก้าวเข้าไปในอนาคตในอีกไม่กี่วินาที  แต่อนาคตอยู่ในการควบคุมของพระเจ้าผู้ที่ “เราจะเป็นผู้ที่เราจะเป็น”

     โมเสสพบกับพระเจ้าที่พุ่มไม้มีไฟลุกโชนและได้มีประสบการณ์อย่างลึกซึ้งกับพระองค์  แต่ชาวอิสราเอลไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับพระเจ้า และภายในระยะเวลาสั้นๆพวกเขาก็หล่อรูปเคารพเป็นรูปโคหนุ่มขึ้น (อพยพ32:4)  เมื่อลงมาจากภูเขา โมเสสจึงเกิดโทสะและบดรูปเคารพเป็นผงเพื่อไม่ให้เหลือร่องรอย (ข้อ 19-20) แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อิสราเอลเลิกกลับไปไหว้รูปเคารพได้

     แก่นแท้ของการไหว้รูปเคารพคือการนมัสการวัตถุหนึ่งหรือบุคคลหนึ่งที่ไม่ใช่พระเจ้าที่แท้จริง  ในประวัติศาสตร์ของอารยธรรมต่างๆนั้น ผู้ครองบางคนได้ตั้งตนเองให้คนกราบไหว้นมัสการ  ในจักรวรรดิโรมันก็มีการกราบไหว้นมัสการซีซาร์เป็นพระเจ้า  มีการเผาเครื่องเซ่นไหว้ต่อหน้ารูปของซีซาร์เพื่อเป็นการกราบไหว้นมัสการ  คริสเตียนมากมายถูกลงโทษถึงตายเพราะไม่ยอมเผาเครื่องเซ่นไหว้แก่ซีซาร์  พวกเขาแน่วแน่ในความจงรักภักดีต่อพระเจ้า แม้ว่าจะต้องตายอย่างเจ็บปวดทรมานเพราะไม่ยอมกราบไหว้ซีซาร์ ผู้ที่คล้ายกับฮ่องเต้ของจีน (ผู้เป็น “บุตรจากสวรรค์”)[2]

     ชาวอิสราเอลมีใจที่จะกลับไปไหว้รูปเคารพเสมอ  การปฏิรูปของกษัตริย์เฮเซคียาห์และการรณรงค์ต่อต้านการไหว้รูปเคารพของพระองค์ประสบความสำเร็จแค่พอประมาณ  โยสิยาห์ไปไกลกว่าเฮเซคียาห์ในการกำจัดรูปเคารพให้สิ้นซากแต่ก็เป็นความสำเร็จในช่วงสั้นๆ  ทันทีที่โยสิยาห์สิ้นชีวิต ทั้งชาติก็หันกลับไปไหว้รูปเคารพอีก  และภายในเวลาไม่กี่ศตวรรษเอง ยูดาห์ซึ่งเป็นอาณาจักรใต้ก็ถูกชาวบาบิโลนกวาดล้าง เหมือนที่พระเจ้าได้ทรงเตือนผ่านบรรดาผู้เผยพระวจนะ  ชาติอิสราเอลก็ไม่มีอีกต่อไปเพราะก่อนหน้านี้มาก อาณาจักรเหนือของอิสราเอลก็ได้ถูกอัสซีเรียกวาดล้างไปแล้ว

     ชนอิสราเอลมีใจที่จะไหว้รูปเคารพมาก  ทุกครั้งที่เก็บเกี่ยวเป็นผลสำเร็จ พวกเขาก็จะกราบไหว้นมัสการพระแม่แห่งการเก็บเกี่ยว[3] และขอบคุณเธอหรือพระบาอัล ผู้เป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์สำหรับการเก็บเกี่ยว  ใครๆอาจจะคิดว่าผู้ที่ได้เห็นการเลี้ยงดูและการอัศจรรย์ของพระเจ้าในถิ่นทุรกันดารจะฉลาดพอที่จะไม่ไปนมัสการพระอื่นๆ  แต่เกือบจะทันทีที่ชนอิสราเอลข้ามไปยังคานาอัน พวกเขาก็เริ่มกราบไหว้นมัสการพระต่างๆของชาวคานาอัน  หลังจากหลายศตวรรษที่ไหว้รูปเคารพแบบกู่ไม่กลับ ชาติอิสราเอลก็ถูกลบออกจากแผนที่ในศตวรรษที่หกก่อนคริสตกาล และประชากรก็ถูกเนรเทศไปยังดินแดนต่างชาติ

ความกลัวที่จะออกเสียงพระนามของพระเจ้า

     ชนอิสราเอลถูกเนรเทศเป็นเวลา70ปีก็เป็นไปตามที่ผู้เผยพระวจนะเตือนเอาไว้ (2พงศาวดาร 36:21, เยเรมีย์ 29:10)[4]  ช่วงเวลาที่ถูกเนรเทศเป็นช่วงเวลาแห่งการชำระล้างและการทำให้บริสุทธิ์  การที่จะทำให้ชนอิสราเอลรู้สึกตัวได้ก็ต้องใช้ชาติมหาอำนาจโบราณอย่างอัสซีเรีย บาบิโลน และอียิปต์มาทำลายชาติอิสราเอลรวมทั้งถูกเนรเทศในต่างแดน  ในที่สุดเมื่อพวกเขากลับมาอิสราเอลจากการถูกเนรเทศ พวกเขาจึงมองย้อนดูความทุกข์ยากทั้งหมดของพวกเขา มองดูความหายนะ ความอัปยศอดสู การเข่นฆ่า และการที่พวกเขาถูกเนรเทศไปยังต่างแดน พวกเขาจึงตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะพวกเขาได้หันเหไปจากพระยาห์เวห์

     หลังจากอิสราเอลกลับมาจากการถูกเนรเทศ พวกเขาได้เข้าสู่ช่วงใหม่ในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลในช่วงที่ชนอิสราเอลปฏิเสธอย่างแน่วแน่ที่จะไม่นมัสการพระอื่นใดนอกจากพระยาห์เวห์  ตั้งแต่นั้นเรื่อยมาอิสราเอลก็คงความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวอย่างเคร่งครัด และไม่ได้นับถือรูปเคารพหรือเชื่อในพระเจ้าหลายองค์อีกต่อไป  แล้วชาวอิสราเอลก็เริ่มท่อง “ชามา” ทุกวัน  “ชามา” (Shema คือคำฮีบรูของ “จงฟัง”) เป็นคำแรกของเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4จงฟังเถิด โอคนอิสราเอลพระยาห์เวห์พระเจ้าของเรา พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่งเดียว” (“Hear O Israel, the Lord our God, the Lord is one  คำว่า “Lord” ตรงนี้ในภาษาฮีบรูคือคำ “ยาห์เวห์” ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของพระเจ้า)[5]  แม้ในทุกวันนี้ชาวยิวทุกคนที่เคร่งศาสนาก็ยังท่อง “ชามา” นี้ทุกวัน

     หลังจากการที่ถูกเนรเทศ ความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวก็ตั้งมั่นอยู่ในอิสราเอล  ผู้คนก็เริ่มเกรงกลัวและยำเกรงพระเจ้าจนถึงขนาดไม่ออกเสียงพระนามว่า “ยาห์เวห์”  แต่ก็ไม่มีหลักฐานทางพระคัมภีร์ที่ห้ามออกเสียงพระนามของพระเจ้า เพราะพระเจ้าได้ตรัสกับโมเสสว่า “นี่เป็นนามของเราชั่วนิรันดร์ เป็นนามที่พวกเจ้าจะเรียกเราตลอดทุกชั่วอายุ (อพยพ3:15)  พระเจ้ายังตรัสอีกว่า “เราได้ไว้ชีวิตเจ้าก็เพื่อจุดประสงค์ข้อนี้เอง คือเพื่อเราจะได้สำแดงฤทธิ์อำนาจของเราแก่เจ้า และเพื่อนามของเราจะประกาศไปทั่วโลก(อพยพ9:16)  โมเสสกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะประกาศพระนามของพระยาห์เวห์  ขอสดุดีความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าของเรา!(เฉลยธรรมบัญญัติ32:3)  พระเจ้าบอกชนอิสราเอลว่า เมื่อพวกเขาสาบานโดยออกพระนามของพระเจ้า พวกเขาจะต้องไม่สาบานเท็จ (เลวีนิติ 19:12)[6]  ผู้เขียนสดุดีเขียนไว้ว่า “จงขอบพระคุณพระยาห์เวห์จงร้องออกพระนามของพระองค์ จงให้ประชาชาติทั้งหลายรู้ถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำ” (สดุดี105:1)

     ธรรมบัญญัติสั่งให้คนอิสราเอลประกาศพระนามของพระเจ้า  แต่หลังจากที่ถูกเนรเทศ พวกเขาก็ไม่กล้าเอ่ยพระนามของพระเจ้าอีกต่อไป  ไม่มีตัวอย่างพระคัมภีร์หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้มาก่อน  ก่อนการถูกเนรเทศ ชาวอิสราเอลจะอ่านออกเสียงพระนามของพระยาห์เวห์ซึ่งจะพบในเกือบทุกหน้าของพระคัมภีร์ของพวกเขาไปจนถึงข้อสุดท้ายของมาลาคี  แต่หลังจากการถูกเนรเทศ พวกเขาก็ไม่ออกเสียงพระนามของพระองค์อีกต่อไป  ด้วยความกลัวและความยำเกรงพระยาห์เวห์ ครั้งใหม่นี้พวกเขาตระหนักดีว่า ถ้าพวกเขาทำบาปต่อพระองค์อีก พวกเขาก็จะถูกทำลายชาติอีกครั้ง  พวกเขาไม่อยากจะถูกเนรเทศอีก  พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะไม่เอ่ยพระนามของพระเจ้าอีก  แทนที่จะเรียกพระองค์ว่า “พระยาห์เวห์” พวกเขาก็เรียกพระองค์ว่า “อาโดนาย” (Adonaiองค์ผู้เป็นเจ้า)[7]

     นั่นคือเหตุที่พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับเซปทัวจินต์[8]ฉบับแปลภาษากรีกที่สำคัญสุดซึ่งแปลจากพระคัมภีร์ฮีบรูในศตวรรษที่หนึ่งและสองก่อนคริสตกาลนั้นไม่ได้ทับศัพท์ชื่อ “ยาห์เวห์” แต่ได้แปลทั้งคำ “ยาห์เวห์” และ “อาโดนาย” เป็น “คูริออส” (“kurios หรือ “Lord)  พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์ได้ทำตามวิธีปฏิบัติของสมัยนั้น ซึ่งมีขึ้นสองสามศตวรรษก่อนหน้านี้

พระนามของพระเจ้าในยุคของพระคัมภีร์ใหม่

     ในยุคของพระคัมภีร์ใหม่ เซปทัวจินต์ได้กลายเป็นพระคัมภีร์ที่มีอิทธิพลในหมู่ชาวยิว (แม้จะมีพระคัมภีร์ภาษากรีกอีกสองสามฉบับที่นิยมน้อยกว่า)  การที่ “Yahweh” (ยาห์เวห์) และ “Adonai” (อาโดนาย) ถูกแปลมาเป็น “Lord” (องค์ผู้เป็นเจ้า) ในฉบับเซปทัวจินต์จึงทำให้ชื่อ “Yahweh” (ยาห์เวห์) หายไปจากพระคัมภีร์  แต่พวกยิวรู้มาโดยตลอดว่าพระยาห์เวห์เป็นใคร  เมื่อคนยิวพูดถึง “พระเจ้า” หรือ “พระบิดา” เขาจะหมายถึงพระยาห์เวห์เสมอ  ทุกคนต่างก็รู้ว่าพระเจ้าถูกเรียกว่าพระยาห์เวห์แม้จะไม่ได้ใช้คำว่า “ยาห์เวห์” ในพระคัมภีร์ก็ตาม

     นั่นคือเหตุผลที่พระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้เอ่ยถึงพระนาม “ยาห์เวห์”  การไม่มีพระนาม “ยาห์เวห์” ปรากฏอยู่นั้น ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวยิวเพราะเขารู้ว่าพระเจ้าคือพระยาห์เวห์  เมื่อไรก็ตามที่เปาโลพูดถึง “พระเจ้า” หรือ “พระบิดา” หรือ “องค์ผู้เป็นเจ้า” (เมื่อกล่าวถึงพระเจ้า) เขาจะหมายถึงพระยาห์เวห์เสมอ  เขายังได้บอกชาวต่างชาติในโครินธ์ว่า พระเจ้าคือ “พระเจ้าพระบิดาของเรา” (1 โครินธ์ 1:3)[9] เพราะคนต่างชาติไม่เข้าใจว่าความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระยาห์เวห์นั้นเป็นเหมือนบุตรกับบิดา  แต่ในหมู่ชาวยิวในศตวรรษแรกนั้นไม่มีความจำเป็นต้องสะกดพระนาม “พระยาห์เวห์” ไว้ในพระคัมภีร์ใหม่

     แต่พอมาถึงศตวรรษที่สาม การไม่มีพระนามของ “พระยาห์เวห์” ปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่ได้กลายเป็นปัญหาร้ายแรง เพราะพระเยซูกำลังถูกยกให้อยู่ในระดับเดียวกับพระยาห์เวห์ ที่เพิ่มความสับสนก็คือคำ “องค์ผู้เป็นเจ้า” ที่ใช้กับทั้งพระยาห์เวห์และพระเยซู แม้ว่าเดิมทีนั้นจะมีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  แต่ความคิดของคนต่างชาติไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างสองความหมายของคำว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” ซึ่งต่างจากชาวยิวที่รู้ความแตกต่างระหว่าง “องค์ผู้เป็นเจ้า”(Lord) ที่หมายถึงพระยาห์เวห์ และ “องค์ผู้เป็นเจ้า”(Lord) ที่หมายถึงพระเยซู และแม้แต่ “ท่าน”[10](Lord) ที่หมายถึงอาจารย์หรือบุคคลที่น่านับถือ  ยิ่งกว่านั้นผู้หญิงก็ยังเรียกสามีของเธอว่า “นาย”[11] (lord)  คำเรียกว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ที่มีความหมายต่างๆนี้กำลังเริ่มสร้างความสับสนให้กับความคิดของชาวต่างชาติ แม้ว่ามันจะไม่ได้มีปัญหากับความคิดของชาวยิวก็ตาม

     รูปที่ แสดงให้เห็นความหมายต่างๆของคำว่า “Lord” (องค์ผู้เป็นเจ้า) ในวงกลมด้านล่างคือ “มนุษย์” (ตัวอักษรจีนคือ “”)

 

 

TG12 1

รูปที่ 1

 

 

     ดังที่เห็นในรูปที่1พระยาห์เวห์ถูกเรียกว่า “Lord” (องค์ผู้เป็นเจ้า หรือองค์เจ้านาย) พระคริสต์ก็ถูกเรียกว่า “Lord” และสามีหรือผู้นำก็ถูกเรียกว่า Lord” (เจ้านาย) 1 เปโตร 3:6[12](เปรียบเทียบปฐมกาล 18:12บอกเราว่าซาราห์เรียกอับราฮัมสามีของเธอว่า “นาย” (κύριοςkurios) ซึ่งเป็นคำกรีกคำเดียวกับ “Lordเหมือนคำเรียกพระเยซูและคำเรียกพระยาห์เวห์  พระคัมภีร์ใหม่มีตัวอย่างของหลายคนที่เรียกพระเยซูว่า “Lord” ในความหมายว่าอาจารย์หรือบุคคลที่เคารพนับถือ  บางครั้งในพระกิตติคุณยอห์นเมื่อใช้คำภาษากรีกว่า “Lord” กับพระเยซู พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษจะแปลว่า “ท่าน” (“Sir” เช่น ยอห์น 4:11,15, 19,49)[13]

     การไม่แยกแยะให้เห็นความหมายต่างๆของคำ “Lord” ทำให้เกิดความสับสนอย่างมากในคริสตจักรของคนต่างชาติ  ความสับสนไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ซึ่งสอนไว้อย่างชัดเจนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระยาห์เวห์ (เช่น “นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใด” อิสยาห์ 44:6,8)[14]

ลูกโซ่ของอำนาจ

     คำเรียกว่า Lord” ระบุระดับของอำนาจที่อยู่ในลูกโซ่ของอำนาจที่ทำงานภายในครอบครัว (ซึ่งรวมถึงพระกายของพระคริสต์)  เราจะเห็นสิ่งที่คล้ายกันใน 1โครินธ์ 11:3 “บัดนี้ขอให้ท่านตระหนักว่า พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของชายทุกคน และชายเป็นศีรษะของหญิง และพระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสต์” (ฉบับ NIV)  ลูกโซ่ของอำนาจนี้แสดงไว้ในรูปที่ 1

      รูปที่2แสดงให้เห็นลูกโซ่ของอำนาจในพันธกิจรับใช้ต่างๆของคริสตจักรตาม 1 โครินธ์ 12:28

และในคริสตจักร พระเจ้าได้ทรงตั้งบรรดา​​อัครทูตเป็นอันดับแรก สองคือบรรดาผู้เผยพระวจนะ สามคือบรรดาผู้สอน จากนั้นคือผู้ทำการอัศจรรย์​ แล้วก็ผู้มีของประทานในการรักษาโรค พวกที่ให้ช่วยเหลือผู้อื่น พวกผู้มีของประทานในการบริหารจัดการ และพวกที่พูดภาษาต่างๆ (ฉบับNIV)

 

TG12 2

รูปรูปที่ 2

 

รูปที่3 รวมรูปที่กับรูปที่ 2

TG12 3 1

รูปที่ 3

 

 

รูปที่4  แสดงให้เห็นโครงสร้างของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

TG12 4

รูปที่4

 

     ด้านล่างสุดของโครงสร้างความเชื่อในตรีเอกานุภาพคือมนุษย์()[15]  วงกลมสามวงด้านบนนั้นแทนพระเจ้าพระบิดา พระเจ้าพระบุตร (พระคริสต์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) และพระเจ้าพระวิญญาณ  ในความเชื่อตรีเอกานุภาพ วงกลมทั้งสามวงจะวางเรียงอยู่ในระดับเดียวกันจากซ้ายไปขวา  มีเส้นสามเส้นเชื่อมต่อทั้งสามพระองค์กับมนุษย์ แต่มีเพียงเส้นตรงกลางเท่านั้นที่เป็นเส้นทึบ  นั่นก็เป็นเพราะผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับพระคริสต์มากกว่ากับพระบิดาหรือกับพระวิญญาณ  นี่ตรงกันข้ามกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวที่จะมีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้น (พระเจ้า) ที่อยู่ด้านบนสุด แต่ในความเชื่อตรีเอกานุภาพจะมีสามบุคคล

     รูปที่5แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์  ความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ได้ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในโลกของคนต่างชาติ และแม้แต่ในอิสราเอลก็ได้ปฏิบัติกันช่วงหนึ่งเต็มๆของประวัติศาสตร์  เฮเซคียาห์ (2พงศ์กษัตริย์ 18) และโดยเฉพาะโยสิยาห์ (2พงศ์กษัตริย์ 23) ได้ใช้มาตรการอย่างหนักในการกวาดล้างการไหว้รูปเคารพและความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ในอิสราเอล แม้ว่าจะมีผลเพียงช่วงระยะสั้นๆ

 TG12 5

รูปที่ 5

     ในรูปที่ 5มนุษย์จะอยู่ด้านล่างสุดโดยมีพระเจ้าหลายอยู่เหนือเขา  มีความแตกต่างในโครงสร้างเพียงเล็กน้อยระหว่างความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ (รูปที่ 5) กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (รูปที่ 4)  ถ้าเราเอาวงกลมในรูปที่5 มาเรียงในแนวเดียวกัน ก็จะเห็นความคล้ายคลึงกันกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพชัดยิ่งขึ้น  ในความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ก็มีพระเจ้าหลายระดับ ดังนั้นวงกลมในรูปที่5 จึงไม่ได้จัดเรียงไว้ในแนวเดียวกัน  แต่ในทางปฏิบัติจริงของการเชื่อพระเจ้าหลายองค์นั้นจะมีพระเจ้าหนึ่งหรือสององค์ที่ได้รับความนับถือจากผู้คนมากกว่าองค์อื่นๆ  พระเจ้าบางองค์ก็สำคัญมากกว่าและบางองค์ก็สำคัญน้อยกว่า และมนุษย์จะสัมพันธ์กับองค์ที่เขาเลือก  ในรูปที่5 เราจะเห็นพระเจ้าสี่องค์ แต่จริงๆแล้วเราสามารถจะมีห้า หก หรือเจ็ด หรือแปดองค์ก็ได้ หรือจะมีถึงพันล้านองค์ด้วยซ้ำ เหมือนในประเทศอินเดีย

       ในรูปที่5 เส้นที่เชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าเหล่านี้ไม่ใช่เส้นทึบแต่เป็นเส้นประ เพราะในทางปฏิบัติแล้วผู้เชื่อในพระเจ้าหลายองค์มักจะนมัสการพระเจ้าที่พวกเขาเลือกเพียงองค์เดียว เช่น เทพเจ้าจูปีเตอร์ในอาณาจักรโรมัน หรือ “เจ้าแม่กวนอิม” (เทพีแห่งความเมตตา) และ “เทพเจ้ากวนอู”[16] ในประเทศจีน

TG12 6

รูปที่ 6

 

 

ความเชื่อในตรีเอกานุภาพและความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์

     รูปที่ 6 ซึ่งเป็นการรวมรูปที่4 กับรูปที่5 มีโครงสร้างเพิ่มที่เรียกว่า “ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย” ตามมัทธิว6:24(มีข้อที่เหมือนกันในลูกา 6:13)

ไม่มีใครรับใช้สองนายได้ เพราะเขาย่อมเกลียดนายคนหนึ่งและรักนายอีกคนหนึ่ง หรือเขาจะภักดีต่อนายคนหนึ่งและชังนายอีกคนหนึ่ง  ท่านจะรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้”  (มัทธิว6:24ฉบับ NASB)

     ไม่มีใครสามารถรับใช้ “สองนาย” (คำภาษากรีกคือ “κύριος,kurios” หรือ “lord) ได้  ข้อนี้แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุใดเราจึงต้องเป็นผู้ที่เชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว  เราไม่สามารถจะมีสองนายหรือสององค์ผู้เป็นเจ้าที่มีสถานะเท่ากันได้  เพราะในทางปฏิบัติจริงแล้ว เราจะภักดีกับคนหนึ่งและจะชังอีกคนหนึ่ง  แล้วยิ่งกว่านั้นเราจะสามารถปรนนิบัติพระเจ้าทั้งสามพระองค์ในความเชื่อตรีเอกานุภาพที่มีสถานะเท่าๆกัน ซึ่งเป็นกรณีพิเศษของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ได้อย่างไร  สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ  ด้วยเหตุนี้ในรูปที่4 (ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) จึงมีเส้นทึบไปที่พระเยซูและเส้นประไปที่พระบิดาและพระวิญญาณ  ในเมื่อคุณไม่สามารถจะปรนนิบัติสองนายได้ นี่จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงการปรนนิบัติถึงสามพระองค์  ถ้าเรามีองค์ผู้เป็นเจ้าอยู่ตรงหน้าเราถึงสามพระองค์ เราจะปรนนิบัติรับใช้พระองค์ไหน?  คุณจะไม่สามารถจะภักดีกับทั้งสามพระองค์ได้  นั่นคือเหตุผลที่ในทางปฏิบัติแล้ว คนทั้งหลายจึงอธิษฐานกับหนึ่งในสามพระองค์เท่านั้น ซึ่งมักจะเป็นพระเยซูเสมอ  ดังนั้นเส้นทึบที่เชื่อมกับวงกลมจึงแทนพระเจ้าพระบุตร

     ความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์มีพระเจ้ามากกว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพเสียอีก  แต่ปัญหาของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ไม่ได้เลวร้ายในเชิงคุณลักษณะไปกว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  นั่นก็เป็นเพราะในทางปฏิบัติแล้ว พวกเขายังเลือกพระเจ้าหนึ่งองค์และจดจ่อกับการนมัสการพระเจ้าองค์นั้น  การนมัสการพระเจ้าหนึ่งองค์ในความเชื่อพระเจ้าหลายองค์ที่เรียกกันว่า“ความเชื่อพระเจ้าหลายองค์แต่บูชาเพียงหนึ่งองค์”[17]นั่นหมายถึงการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์แต่จะนมัสการเพียงแค่องค์เดียวจากทั้งหมด  ความเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวก็นมัสการพระเจ้าองค์เดียวเช่นกันแต่ข้อแตกต่างที่สำคัญคือไม่ยอมรับพระเจ้าอื่นใดอีก

     หลังจากที่อิสราเอลกลับมาจากการถูกเนรเทศ พวกเขาก็ทิ้งพระเทียมเท็จทั้งหมดและนมัสการพระยาห์เวห์พระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว  พวกเขาได้รับบทเรียนแล้ว  อันตรายจากการพยายามปรนนิบัติสองนายหรือสองเจ้าได้พิสูจน์ให้เห็นจริงในกรณีของชาวอิสราเอลและต่อมาก็กับคริสตจักรที่เชื่อในตรีเอกานุภาพ  มนุษย์ไม่สามารถจะจับจ้องอยู่กับวัตถุสองสิ่งในเวลาเดียวกันได้  หากตาของคุณพยายามจ้องไปที่วัตถุสองสิ่งที่ต่างกัน ท้ายที่สุดแล้วตาของคุณจะเหล่  ถ้าคุณมองไปไกลๆและผ่อนสายตา ภาพทั้งสองจะแยกออกจากกัน เป็นภาพที่ไม่ชัดจนคุณจะมองภาพไหนก็ไม่ชัดทั้งคู่ และในทำนองเดียวกัน คุณจะไม่สามารถจะปรนนิบัติสองนายหรือสองเจ้าได้  นั่นคือเหตุผลที่พระเยซูทรงยืนยันว่ามีพระเจ้าเดียวเท่านั้น

     ในความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวดังที่แสดงให้เห็นในรูปที่3นั้น เส้นที่เชื่อมต่อกันจะเป็นแนวตั้ง  เส้นเหล่านั้นไม่ได้แผ่ออกเหมือนของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์หรือความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  มีโครงสร้างคำสั่งอย่างชัดเจนและลูกโซ่ของอำนาจที่ขึ้นไปและลงมาโดยไม่มีความคลุมเครือ

การยกพระคริสต์ให้สูงขึ้น

     เมื่อได้เห็นลักษณะพื้นฐานของความเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายองค์ กับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว เราจึงกลับมาที่คำถามที่ว่าทำไมพระนาม “ยาห์เวห์” จึงไม่ได้ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ใหม่  เมื่อยอห์น หรือเปาโล หรือเปโตรเขียนส่วนของพวกเขาในพระคัมภีร์ใหม่นั้น และเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาพูดถึงพระเจ้า พวกเขาก็จะหมายถึงพระยาห์เวห์เสมอ  พวกเขาจึงไม่จำเป็นจะต้องระบุว่าพวกเขากำลังพูดถึงพระเจ้าองค์ไหนอยู่ เพราะสำหรับพวกเขาและผู้อ่านของพวกเขาที่เป็นชาวยิวต่างก็รู้ว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น

     เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาในแค่ช่วงสองหรือสามร้อยปีต่อมา เมื่อคริสตจักรของคนต่างชาติได้ทิ้งพระคริสต์ตามพระคัมภีร์ไปหาพระคริสต์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแทน  ในรูปที่1 คุณลองนึกภาพการดึงวงกลมที่สอง (พระคริสต์ตามพระคัมภีร์) ออกมาจากลูกโซ่ของอำนาจ แล้วเอามาวางในระดับเดียวกันกับวงกลมแรก (พระยาห์เวห์)  เมื่อวงกลมสองวงมาอยู่ในตำแหน่งที่เท่ากัน คุณคิดว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือ?  ในทางปฏิบัติแล้ว วงกลมทั้งสองไม่สามารถจะอยู่ในตำแหน่งที่เท่ากันด้วยซ้ำ เพราะว่าวงกลมที่เป็นตัวแทนของพระคริสต์จะผลักวงกลมที่เป็นตัวแทนของพระยาห์เวห์ออกไป  นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์กับความเชื่อตรีในเอกานุภาพ  ดังนั้นโครงสร้างของผู้ที่มีอำนาจเหนือใน 1โครินธ์ 11:3[18] จึงไม่มีอีกต่อไป และสิ่งที่เรามีก็คือโครงสร้างใหม่ที่ไม่ต่างอะไรจากความวิบัติเพราะมันหมายความว่าตอนนี้พระยาห์เวห์พระบิดาได้ถูกผลักออกไปและพระเยซูก็เข้ามาครองแทนที่พระองค์ในลูกโซ่ของอำนาจ

     พระนาม “ยาห์เวห์” ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ใหม่ก็เพราะไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น  โอกาสที่จะสับสนนั้นไม่มีเลยจนเมื่อต่อมาภายหลังในประวัติศาสตร์ของคริสตจักร  ราวศตวรรษที่สามเมื่อความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ปรากฏให้เห็นโดยใช้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมาบังหน้า ความสับสนอย่างมากจึงเกิดขึ้นเมื่อคนอ่านพระคัมภีร์ใหม่  คำว่า “พระเจ้า” นี้ใช้อ้างถึงพระบิดา หรืออ้างถึงพระคริสต์ หรืออ้างถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์กันแน่?  ในทางปฏิบัติแล้ว คริสเตียนในสมัยนั้นก็เหมือนกับ คริสเตียนในสมัยนี้ที่อ่านคำว่า “พระเจ้า” เป็นพระคริสต์ ซึ่งเป็นการตีความที่ผิดไปจากพระคัมภีร์อย่างสิ้นเชิง

     เพื่อหลีกเลี่ยงจากความสับสนนี้ คุณควรเรียนรู้ที่จะคิดอย่างผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว  คือทุกครั้งที่คุณเห็นคำ “พระเจ้า” หรือ “พระบิดา” ก็ให้อ่านว่า “พระยาห์เวห์” เพื่อที่คุณจะได้ปรับความคิดของคุณให้เข้ากับรูปแบบของพระคัมภีร์ใหม่  ผู้เขียนพระคัมภีร์ใหม่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยพระนาม “พระยาห์เวห์” แต่ในวันนี้เราต้องทำให้พระนามของพระองค์กระจ่างและชัดเจน

     คุณอาจจะคุ้นกับการเปรียบเทียบของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่พระเจ้าเป็นเหมือนกับใบโคลเวอร์[19]  โคลเวอร์เป็นพืชที่มีใบสามแฉก  ถ้าเจอใบที่มีสี่แฉกก็ถือว่าโชคดี  ใบโคลเวอร์ที่มีสามแฉกได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไอร์แลนด์เพราะนักบุญแพทริก[20]นักบุญอุปการีของไอร์แลนด์ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ใช้ตัวอย่างนี้สอนความเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพให้กับคนไอริช

     รูปที่4 เข้ากันพอดีกับการเปรียบเทียบใบโคลเวอร์  โครงสร้างในแผ่นภาพนี้แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนในการเชื่อพระเจ้าหลายองค์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  ความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ใช่ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว  ก่อนหน้านี้ผมได้แบ่งปันกับคุณเกี่ยวกับหนังสือความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ที่เขียนโดยผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพหลายคน  หนังสือเล่มนี้สนับสนุนความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวแต่ชื่อ แต่ต่อต้านความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวที่แท้จริง  ผู้เขียนต่างก็ยอมรับอย่างถูกต้องว่า ความเชื่อที่แท้ในพระเจ้าเพียงองค์เดียวนั้นขัดแย้งกับสูตรพระเจ้าพระบิดา พระเจ้าพระบุตร และพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  ไม่ว่าคุณจะโต้แย้งในทางใดก็ยังเป็นพระเจ้าสามพระองค์อยู่ดี

     ผมหวังว่าคำถามที่ว่าทำไมพระนาม “ยาห์เวห์” จึงไม่ได้ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ใหม่จะได้รับความกระจ่าง  คำตอบง่ายๆก็คือว่า ไม่จำเป็นที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ใหม่จะต้องเอ่ยพระนาม “ยาห์เวห์” เพราะทุกคนรวมถึงผู้อ่านของพวกเขาที่เป็นชาวยิวต่างรู้กันดีว่า ทุกครั้งที่เอ่ยถึงพระเจ้าก็คือการเอ่ยถึงพระยาห์เวห์  พระคัมภีร์ใหม่เขียนโดยชาวยิวและชาวยิวเหล่านี้ไม่ได้ออกเสียงพระนามของพระเจ้า  เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในศตวรรษที่สอง ที่สามที่สี่และต่อๆมา  สถานการณ์ไม่ได้ร้ายแรงมากนักในศตวรรษที่สอง แต่มาเป็นเรื่องร้ายแรงมากในศตวรรษที่สามและสี่ ซึ่งในเวลานั้นความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้กลายเป็นคำสอนมาตรฐาน เมื่อมาถึงศตวรรษที่สี่ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ได้กำจัดทุกเสียงที่ไม่เห็นด้วยไปจนหมดสิ้น

การขยายความการตีความ และการมีประสบการณ์

     เมื่อย้อนดูบทก่อนๆจะเห็นว่าสองสามบทแรกเป็นการขยายความในขณะที่สองสามบทก่อนหน้านี้เป็นการตีความ[21] การตีความมีความสำคัญยิ่งเพราะมันเป็นรากฐานของการขยายความพระคัมภีร์  เมื่อเราตีความพระคัมภีร์ข้อหนึ่ง เราจะนำเอาสิ่งที่อยู่ในข้อนั้นออกมาให้เห็นตามจริง  ขณะเดียวกันก็ไม่ตีความโดยใส่ความคิดของเราเองเข้าไปในตัวบท  ในทางกลับกัน การต่อเติมความ[22]ก็คือการใส่ความคิดของตนเองเข้าไปในตัวบท  ดังนั้นเมื่อเราทำการตีความอย่างถูกต้อง เราก็จะไม่ยอมใส่สิ่งใดซึ่งไม่ได้มีอยู่ในตัวบทเข้าไปในตัวบทนั้น

     นอกจากการขยายความและการตีความแล้ว ยังมีประสบการณ์ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญด้วย  ผมให้การมีประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญสุดท้ายและในลำดับที่เหมาะสม ถ้าผมได้เล่าประสบการณ์ของผมให้คุณฟังตั้งแต่ต้น แล้วคุณควรจะทำอะไร?  คุณจะมาเชื่อเพราะประสบการณ์ของผมหรือ?  คุณจะทำเช่นนั้นไม่ได้  เพราะไม่ว่าประสบการณ์ของผมจะดีสักแค่ไหนและน่าเชื่อถือสักแค่ไหน คุณก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อ เพราะนั่นเป็นประสบการณ์ของผมเอง มันไม่ใช่ประสบการณ์ของคุณ  ประสบการณ์ของผมอาจเป็นสะพานให้คุณก้าวไปสู่ความเชื่อ แต่ต้องไม่เป็นรากฐานความเชื่อของคุณ

     เปาโลกล่าวว่า “ความเชื่อที่ท่านมีนั้น ก็ให้เป็นความเชื่อของท่านเองต่อพระพักตร์พระเจ้าเถิด” (โรม14:22)  ความเชื่อของเปาโลก็เป็นของเปาโล และประสบการณ์ของผมก็เป็นของผม  เปาโลอาจบอกประสบการณ์ของเขากับคุณ แต่คุณจะพูดไม่ได้ว่า “เปาโลเห็นนิมิตเกี่ยวกับพระเยซู ดังนั้นผมจึงเชื่อในพระเจ้า”  ถ้าตัวของผมเองยังไม่เคยเห็นพระเยซู แล้วทำไมผมจึงควรเชื่อเพราะสิ่งที่เปาโลเห็น?  แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าประสบการณ์ของเขาเป็นของจริง?  ประสบการณ์จะต้องถูกตรวจสอบด้วยพระคำของพระเจ้า  แต่แม้หากจะตรงกับพระคำของพระเจ้า ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะให้ความเชื่อของคุณขึ้นกับประสบการณ์ของคนอื่น  นิมิตที่เปาโลเห็นพระเยซูบนถนนไปดามัสกัสนั้นไม่ใช่ประเด็นของการตีความหรือของพระคัมภีร์ เพราะพวกผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิมก็มีนิมิตเช่นกัน  จะจริงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

     โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่มีปัญหากับเรื่องประสบการณ์ของเปาโล เพราะผมก็เคยมีประสบการณ์ที่คล้ายกันแม้จะไม่เหมือนเสียทีเดียว  และเมื่อคุณได้ยินเรื่องประสบการณ์ของผม คุณก็ต้องเช็คดูว่ามันสอดคล้องกับพระคัมภีร์หรือไม่  ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ที่คล้ายกัน คุณก็จะไม่มีหลักฐานของตัวคุณเองในการยืนยัน  แต่ถ้าคุณมีประสบการณ์ที่คล้ายกัน คุณก็จะพูดได้เต็มปากว่า “ผมรู้ว่าเป็นประสบการณ์จริงของเขา เพราะผมก็เคยมีประสบการณ์แบบนั้นเหมือนกัน”

     ส่วนคนที่ไม่มีประสบการณ์เหมือนเปาโลที่ได้เห็นและพูดคุยกับพระเยซู ก็อาจเห็นว่าการบอกเล่าประสบการณ์ของเปาโลเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นหรือไม่ก็คิดฟุ้งซ่าน  ถ้าหากคุณไม่เคยขับผีแล้วคุณจะตีความเรื่องการขับผีในพระคัมภีร์ใหม่ได้อย่างไร?  แต่ถ้าคุณเคยขับผี (เหมือนที่ผมเคย) คุณก็จะพูดได้ว่า “ผมรู้ว่าเรื่องนี้เป็นความจริง เพราะผมเองก็ขับผีด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าเช่นกัน”  คุณเชื่อเรื่องการขับผีตามสิ่งที่คุณได้อ่านในพระคัมภีร์ แต่เพราะคุณยังรู้เรื่องนี้จากประสบการณ์ของคุณเองด้วย  การมีประสบการณ์เป็นเครื่องยืนยัน  แต่ประสบการณ์ของผมนั้นไม่ใช่ประสบการณ์ของคุณ  ผมสามารถบอกเล่าประสบการณ์ของผมได้ แต่คุณจะต้องประเมินสิ่งนั้นด้วย  ผมไม่ได้ขอให้คุณมาเชื่อตามประสบการณ์ของผม  คุณต้องเชื่อวางใจในพระคำของพระเจ้า

      การขยายความ การตีความและการมีประสบการณ์เป็นสาม “การ” ของการสอนพระคัมภีร์ และไม่มีส่วนไหนที่ไม่สำคัญ  มันน่าสนใจที่ทั้งสามคำเริ่มด้วยคำว่า “การ”[23] ทั้งสามเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการสอนพระคัมภีร์  ครูสอนพระคัมภีร์บางคนเก่งในการขยายความ แต่ไม่เก่งในการตีความ หรือไม่มีประสบการณ์กับพระเจ้า คุณคงนึกภาพออกถึงสิ่งที่ยังครอบคลุมไม่หมดจากคำสอนของพวกเขา

     ยิ่งคุณรู้วิธีขยายความพระคำของพระเจ้ามากเท่าไร คุณก็จะเข้าใจการตีความได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น  และเมื่อคุณมีประสบการณ์กับองค์ผู้เป็นเจ้า นั่นก็จะทำให้คำสอนของคุณมีพลัง  ถ้าไม่มีประสบการณ์การสอนของคุณก็เป็นแค่วิชาความรู้ และคุณก็แค่อธิบายพระคัมภีร์จากสมองของคุณ  ประสบการณ์ทำให้คำสอนเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจ  ประสบการณ์จะให้ความมีชีวิตชีวาในคำเทศนาของคุณได้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด  เปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์ที่ข้าพเจ้าเชื่อ” (2ทิโมธี 1:12)  คุณจะพูดอย่างนั้นด้วยความมั่นใจไหม?  มันขึ้นอยู่กับว่าคุณมีประสบการณ์มากแค่ไหน และขึ้นกับระดับการสื่อสารของคุณกับองค์ผู้เป็นเจ้า

ประสบการณ์ของผมกับพระเจ้าที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว

       ผมจะเล่าถึงประสบการณ์สักเล็กน้อย  เมื่อมองย้อนกลับไปในชีวิตคริสเตียนของผม ผมเชื่อในตรีเอกานุภาพมาเป็นเวลานานเพราะเป็นหลักคำสอนที่ผมถูกสอนมา  ผมไม่เคยสงสัยเลยว่าบรรดาอาจารย์ของผมกำลังพยายามหลอกลวงผม  ดังนั้นผมจึงรับเอาความเชื่อในตรีเอกานุภาพด้วยความจริงใจโดยไม่สงสัยความตั้งใจดีของคนอื่น  เนื่องจากไม่มีเหตุผลส่วนตัวที่จะสงสัยความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ผมจึงไม่ได้ใช้ดาบคมๆในการตีความกับความเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพ  แต่ผมได้ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ใช้ดาบนั้นปกป้องเหตุผลของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

     แต่โดยพระเมตตาของพระเจ้าที่ได้เข้าใจในที่สุด ผมจึงทบทวนประสบการณ์ของผมใหม่อีกครั้ง  เมื่อดูความเป็นมาในความสัมพันธ์สนิทอันยาวนานของผมกับองค์ผู้เป็นเจ้า ผมจึงพยายามดูว่าผมเคยมีประสบการณ์ที่มีความสนิทสนมกับทั้งสามพระองค์อย่างเท่าๆกันหรือไม่แต่หลังจากที่ผมได้ทบทวนประสบการณ์ของผมแล้ว ผมก็ต้องตะลึงว่าในประสบการณ์ของผมนั้นผมได้รู้จักพระเจ้าเพียงองค์เดียวตลอดมา  ผมไม่เคยรู้จักอีกสองพระองค์หรือแม้แต่อีกหนึ่งพระองค์เลย

     เมื่อย้อนดูประสบการณ์ของคุณเอง  คุณเคยเข้าเฝ้าทีเดียวกันสองหรือสามพระองค์ไหม?  พูดอีกอย่างก็คือประสบการณ์ของคุณยืนยันความเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวหรือความเชื่อว่ามีหลายพระองค์?  เมื่อผมทบทวนจากประสบการณ์ของผม ผมไม่พบกับพระองค์อื่นเลย  ตลอดมาผมได้พูดคุยสนิทสนมกับพระเจ้าเพียงองค์เดียว  แล้วอีกสองพระองค์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไปอยู่เสียที่ไหนล่ะ?  พระเยซูดูเป็นจริงกับผมจนผมคิดว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ผมไม่เคยมีประสบการณ์กับพระเจ้าองค์อื่นเลย  ผมรู้สึกว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าที่ผมพูดคุยด้วยตลอดเวลา แม้ว่าบางครั้งบางคราวผมจะรับรู้ถึงพระบิดาแม้ว่าผมจะไม่มีประสบการณ์กับพระองค์ก็ตาม

     ผมพูดคุยกับพระองค์เดียวเท่านั้นคือพระเยซูและพระองค์ทรงเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการนี้  ประสบการณ์กับพระเจ้าของผมเป็นประสบการณ์กับพระเจ้าเพียงองค์เดียวเสมอ  ประสบการณ์ของคุณแตกต่างจากของผมไหม?  คุณเคยพูดคุยกันสามพระองค์ไหม?  ผมหมายถึงประสบการณ์จริง ไม่ใช่การฝึกจิตที่คุณกำลังพูดคุยกับสามพระองค์เหมือนพูดกับกำแพง  ในการดำเนินชีวิตคริสเตียนของคุณ คุณเคยพูดคุยกับสามพระองค์ที่แตกต่างกันไหม?  ถ้าคุณเคย แล้วคุณสัมพันธ์กับทั้งสามพระองค์อย่างเท่าๆกันหรือไม่?

     ผมเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพด้วยการชักนำให้เชื่อ แต่ก็ทำเหมือนกับผู้เชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวเพราะผมพูดคุยกับผู้เดียวเท่านั้น  เป็นการพูดคุยที่ลึกซึ้งและหวานชื่น  มีบางครั้งที่ผมรู้สึกว่ากำลังเดินอยู่ในสวรรค์บนดิน โดยไม่แน่ใจว่าผมอยู่ในสวรรค์หรืออยู่บนดินกันแน่

     ตัวอย่างเช่น เช้าวันหนึ่งในลอนดอนทางเหนือ ผมกำลังคุกเข่าอธิษฐานอยู่ แล้วในทันใดนั้นผมก็มีประสบการณ์เหมือนถูกพาขึ้นไปในสวรรค์  ผมยังรู้สึกตัวและเห็นทุกสิ่งรอบๆตัวผมได้อย่างชัดเจน แต่ผมก็อยู่ในอีกมิติหนึ่ง  ประสบการณ์นั้นยากที่จะอธิบายได้  คุณอยู่บนโลกแต่จิตวิญญาณก็อยู่ในอีกมิติหนึ่งซึ่งผมกำลังมีความสัมพันธ์สนิทที่ยอดเยี่ยมนี้กับพระเจ้า  ผมมีสติสัปชัญญะดีกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวผม เนื่องจากผมมีนัดตอนเที่ยงกับพี่น้องที่จะมาประชุมกันที่คริสตจักร  ผมดูนาฬิกาของผมแล้วพูดว่า “ได้เวลาไปแล้ว”  แต่ผมไม่อยากจะจากไป  ผมอยากจะอยู่พูดคุยอย่างสนิทสนมในสวรรค์กับองค์ผู้เป็นเจ้าต่อไปอีก

     สุดท้ายผมจึงลุกขึ้นอย่างไม่สู้เต็มใจและเดินออกไปที่ถนน  ผมต้องมองซ้ายมองขวาให้ดีเพราะคุณอาจเสียชีวิตบนถนนที่พลุกพล่านในกรุงลอนดอนนี้ได้ง่ายๆถ้าคุณไม่คอยระวังเวลาไปไหนมาไหน  ผมเดินไปจนถึงสถานที่ประชุม และยังอิ่มเอิบกับบรรยากาศในสวรรค์ที่ได้พูดคุยสนิทสนมกับองค์ผู้เป็นเจ้า  เมื่อเดินมาถึงประตู องค์ผู้เป็นเจ้าก็ตรัสว่า “เราพูดคุยกับเจ้าแค่ตรงนี้ จงเข้าไปประชุมเถอะ”  ผมจึงเดินเข้าไปในบ้านนั้นและกลับสู่สภาพปกติดังเดิม

     คุณมองเรื่องนี้อย่างไร?  มีเพียงผู้เดียวเท่านั้นไม่ใช่สองหรือสาม  พระเยซูได้ทรงเป็นศูนย์กลางของทั้งหมดนี้ ทรงเป็นผู้ที่ “โดยพระองค์” และ “ในพระองค์” สิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้น  คำเหล่านี้เป็นคำในพระคัมภีร์ที่เปาโลใช้เป็นประจำ และผมก็สามารถยืนยันได้จากประสบการณ์ในการใช้คำเหล่านั้นของเขา  ผมได้มีประสบการณ์จริงกับพระเจ้า “ในพระคริสต์” และ “โดยพระคริสต์”  คำวลีบุพบทดังกล่าวนี้เห็นได้ทั่วไปที่เปาโลใช้เกี่ยวกับพระคริสต์  นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมเชื่ออยู่เสมอว่าพระเยซูคือพระเจ้า แม้ว่าพระคัมภีร์จะสอนว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวก็ตาม

     ผมสนใจอยากรู้ว่าประสบการณ์ของคุณแตกต่างจากของผมหรือไม่ และที่จริงคุณได้พูดคุยกับพระองค์อื่นๆหรือไม่  และผมหวังว่าคุณกำลังพูดอยู่กับพระยาห์เวห์ และไม่ใช่ผู้อื่นที่คุณไม่ควรจะพูดด้วย  ผมรู้สึกขอบคุณที่องค์ผู้เป็นเจ้าไม่ได้ปล่อยให้ผมหันเหไปจากพระเจ้าองค์เดียวนี้  เมื่อผมได้อ่านพระคัมภีร์อีกครั้ง ผมก็พูดกับตัวเองว่า “นี่เป็นความจริง ผมมีประสบการณ์กับพระเจ้าเพียงองค์เดียวเสมอมา!

ความรักของผมที่มีต่อพระเยซูไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นพระเจ้าของพระองค์

     เมื่อผมเริ่มที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆดีขึ้น ผมก็ต่อสู้กับคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับพระเจ้า  ถ้าพระเยซูไม่ใช่พระเจ้า แล้วพระองค์เป็นใคร?  คำถามนั้นทำให้ผมงงมากขึ้นเพราะผมเคยคิดมาตลอดว่าพระเยซูคือบุคคลสำคัญในชีวิตของผม  แต่เมื่อผมคิดถึงเรื่องนี้ ผมก็ตระหนักว่าแม้หากพระเยซูไม่ใช่พระเจ้า ก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของผมกับพระองค์แตกต่างแต่อย่างใด หรือว่าความรักของผมที่มีต่อพระองค์จะลดน้อยลง

     มีใครคิดจริงๆไหมว่าผมจะพูดกับพระเยซูว่า “พระเยซูเจ้าข้า ข้าพระองค์คิดว่าข้าพระองค์กำลังสัมพันธ์กับพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้า แต่ปรากฏว่าพระองค์ไม่ใช่พระเจ้า พระองค์ไม่สำคัญสักหน่อย?”  ผมจะไม่พูดอย่างนั้นกับพระองค์แน่  มิตรภาพของผมกับพระองค์จะลดน้อยลงอย่างงั้นหรือ?  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่า มิตรภาพของผมกับพระองค์ก็ผิวเผินอย่างมากมาตั้งแต่ต้นเพราะขึ้นอยู่กับสถานะของพระองค์  ความจริงแล้วมันไม่สำคัญสำหรับผมเลยว่าพระเยซูจะทรงเป็นพระเจ้าหรือไม่เป็น  พระองค์ทรงเป็นสหายที่ผมได้รู้จักมาทั้งชีวิตของผม ฉะนั้นพระองค์ก็จะเป็นสหายของผมตลอดไป

     เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนที่ดีของผมในเซี่ยงไฮ้  พ่อของเขาเป็นคนกวาดถนนในซอยของเรา ทั้งพ่อและแม่ของเขาก็เป็นคนรับใช้ที่ทำงานให้เพื่อนบ้านคนหนึ่ง  ในช่วงตึกจะมีห้องบนหลังคาตึกที่ให้เป็นที่พักอาศัยสำหรับคนรับใช้  คนรับใช้ของเพื่อนบ้านและคนรับใช้ของเราก็พักอาศัยอยู่ที่นั่น รวมทั้งคนรับใช้ของคนอื่นๆด้วย

     อยู่มาวันหนึ่งผมพบชายคนนี้ในซอยและเราก็มาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน  ผมมารู้ว่าเขาเป็นลูกของคนกวาดถนนก็เมื่อผมถามเขาว่า “คุณพักอยู่ที่ไหน?”  เขาตอบว่า “ผมอยู่ตรงโน้นและพ่อแม่ของผมทำงานให้ครอบครัวโน้น”  มันไม่สำคัญสำหรับผมเลยว่าเขาจะเป็นลูกของคนรับใช้  เขาเป็นคนน่ารักที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมและเราก็เข้ากันได้ดี

     วันหนึ่งคุณพ่อของผมถามเรื่องเพื่อนของผมคนนี้และครอบครัวของเขา  ผมพูดว่า “พ่อแม่ของเขาเป็นคนรับใช้ของเพื่อนบ้านคนนั้น”  คุณพ่อของผมพูดว่า “อะไรนะ ลูกของคนใช้หรือ?”  เพื่อให้ความเป็นธรรมกับคุณพ่อของผม ท่านไม่ได้เป็นคนที่แบ่งชนชั้น แต่ในตอนนั้นท่านอาจคิดว่ามันคงไม่ค่อยดีต่อชื่อเสียงของเรา หากผมมีเพื่อนจากชนชั้นคนรับใช้  อย่างไรก็ดีคุณพ่อของผมก็หยุดพูดเรื่องนี้และไม่ได้เอ่ยถึงอีกเลย

     การที่ชายคนนี้เป็นลูกของคนรับใช้นั้นจะทำให้ความเป็นเพื่อนของเขากับผมลดน้อยลงไปไหม?  มันไม่มีผลอะไรกับผมเลย  อาจมีคนพูดว่าความรักและมิตรภาพทำให้คนตาบอด คุณจึงไม่สนใจฐานะทางสังคมของคนนั้น  เรื่องทำนองนี้ก็เกิดขึ้นกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8ที่ทรงสละราชบัลลังก์เพื่อสมรสกับหญิงสามัญชน

     ผมได้เดินกับพระเยซูมาตลอดชีวิตของผม  แล้วผมจะรักพระองค์น้อยลง ถ้าพระองค์ไม่ใช่พระเจ้าหรือไม่ได้เท่าเทียมกับพระบิดาอย่างงั้นหรือ?  มันก็ไม่ต่างกันเลยสำหรับผม  ผมไม่สนใจสถานะของพระองค์เพราะผมรู้จักพระองค์และมีประสบการณ์กับพระองค์  เปโตรกล่าวว่าพระเยซูทรงมีค่า​​อันประเสริฐสำหรับท่านทั้งหลายที่เชื่อ (1เปโตร2:7)  มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

พระเยซูหรือพระยาห์เวห์?

     ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า พระเยซูได้ทรงสอนความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวอย่างแจ่มแจ้งและชัดเจนที่สุด (ยอห์น17:3)  ความคิดของพระองค์ที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวนั้นบางครั้งก็เผยให้เห็นในการสนทนาที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว อย่างเช่น “ท่านจะเชื่อได้อย่างไร ถ้าท่านยอมรับคำสรรเสริญจากกันเอง แต่ไม่ขวนขวายที่จะหาคำสรรเสริญที่มา​​จากผู้ทรงเป็นพระเจ้า​​แต่องค์เดียว” (ยอห์น 5:44ฉบับ NIV)  ในภาษากรีก “ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว” ก็คือ “τοῦ μόνου θεοῦ” (tou monou theouซึ่งเราก็รู้จักคำว่าmonotheism”  พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษบางฉบับยกเลิกคำนี้โดยแปลเป็นคำว่า “คำสรรเสริญซึ่งมาจาก​​พระเจ้าเท่านั้น[24]

     ในที่สุด เมื่อผมได้เห็นความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวอย่างชัดเจนของพระเยซูในพระคัมภีร์ตอนต่างๆ อย่างเช่น มาระโก12:28-34ที่พระองค์ทรงยก “ชามา” (จากเฉลยธรรมบัญญัติ6:4) ผมจึงได้ตระหนักว่าผมไม่ได้ซื่อตรงต่อคำสอนของพระองค์  ผมต้องการทำให้พระองค์เป็นพระเจ้าจากความรักที่ไปผิดทางของผมต่อพระองค์  แม้ว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้ทำให้พระองค์เป็นพระเจ้า ผมก็คงจะทำ  เมื่อคุณรักใครสักคน คุณจะเทิดทูนคนนั้นอย่างหลับหูหลับตา  อันตรายอย่างร้ายแรงของความรักก็คือ คุณจะเทิดทูนคนที่คุณรักอย่างหลับหูหลับตา และให้ผู้นั้นเข้ามาแทนที่พระเจ้า

     เมื่อผมได้รู้ความจริงเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ผมจะเปลี่ยนความคิดของผมและคิดว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ได้หรือไม่?  ในความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวมีเพียงสองทางเลือกเท่านั้นที่อยู่ตรงหน้าคุณ คือพระเยซูเป็นพระยาห์เวห์หรือว่าพระองค์ไม่ได้เป็น  ถ้าพระองค์ไม่ใช่พระยาห์เวห์ พระองค์ก็ต้องเป็นมนุษย์  ถ้าพระองค์เป็นพระยาห์เวห์พระองค์ก็ไม่ใช่มนุษย์

     ประสบการณ์ของผมที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นผิดธรรมดา เพราะผมสามารถจะเปลี่ยนไปมาระหว่างการพูดคุยกับพระเยซูและพูดคุยกับพระยาห์เวห์ได้อย่างลงตัวเหมือนว่าผมกำลังพูดคุยกับคนคนเดียวกัน  นั่นทำให้ผมสงสัย  แล้วพระเยซูเป็นพระยาห์เวห์หรือ?  ถ้าพระองค์เป็นพระยาห์เวห์ พระองค์ก็ไม่ใช่มนุษย์  ถ้าอย่างนั้นเหตุไรจึงพูดถึงพระองค์ว่า พระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์[25]หรืออาดัมคนหลัง[26] และพระองค์จะสามารถตายเพื่อคุณและผมได้อย่างไร?  พระโลหิตของพระองค์จะช่วยผมได้อย่างไร?  มีบางอย่างตรงนี้ที่ไม่สอดคล้องกัน

     ในฐานะที่เคยเป็นผู้ที่ได้พูดคุยและสามัคคีธรรมกับพระเยซู เมื่อผมได้ตระหนักว่าผมกำลังทำสิ่งผิดที่มุ่งสนใจอยู่กับพระองค์มากกว่าพระยาห์เวห์ ผมจึงเริ่มพูดคุยกับพระยาห์เวห์  ที่น่าสนใจคือการสลับนั้นลงตัวเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนอกจากชื่อของผู้ที่ผมกำลังพูดคุยด้วย  ผมยังคงกำลังพูดคุยกับพระเจ้าองค์เดิมที่ผมได้นมัสการมาตลอด  ผมเกาหัวเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะผมคาดไว้ว่าจะปรับตัวได้ยาก  ผมนึกภาพตัวเองกำลังพูดว่า “ขอโทษด้วย พระเยซูเจ้าข้า ตอนนี้ข้าพระองค์จะคุยกับพระบิดา”  แล้วผมก็ทูลพระยาห์เวห์ว่า “ข้าพระองค์ไม่รู้จักพระองค์ดีสักเท่าไหร่  ข้าพระองค์ได้พูดคุยกับพระเยซูมาตลอดห้าสิบปี และคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะรู้จักพระองค์”  ที่แปลกที่สุดก็คือผมกำลังพูดคุยกับคนคนเดียวกัน  จะเห็นได้ชัดว่าผมได้พูดคุยกับพระยาห์เวห์มาตลอด  นี่คือความล้ำลึก  มันเป็นได้อย่างไรที่ผมกำลังพูดอยู่กับพระยาห์เวห์เหมือนว่าผมกำลังพูดคุยอยู่กับพระเยซู?  พระเยซูจะเป็นพระยาห์เวห์ได้ไหม?  แต่ในเมื่อพระองค์ไม่ใช่พระยาห์เวห์ แล้วทำไมการย้ายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งจึงได้ลงตัวเช่นนี้?

     ผมคิดว่าคำตอบนั้นอยู่ในยอห์น20:28 (“องค์พระผู้เป็นของข้าพระองค์ และพระเจ้าของข้าพระองค์”)  คำกล่าวของโธมัสนี้ดูเหมือนจะยืนยันประสบการณ์ของผมเองในการย้ายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้อย่างลงตัว  ผมได้พูดคุยกับพระเยซูและก็พบว่าตัวเองกำลังพูดคุยกับพระยาห์เวห์  ผมทราบว่าในภาษาฮีบรูนั้น พระนาม “เยซู” มีพระนาม “ยาห์เวห์” รวมอยู่ด้วย  ที่จริงแล้ว “เยซู” หรือ “เยชูวา” จะมีความหมายว่า “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอด” หรือ “พระยาห์เวห์ทรงเป็นความรอด” หรือ “พระยาห์เวห์ทรงเป็นผู้ช่วยให้รอด”  เมื่อใดก็ตามที่คุณร้องออกพระนามของพระเยซู คุณก็กำลังร้องออกพระนามของพระยาห์เวห์  เหตุนี้เองการร้องออกพระนามของพระเยซูจึงไม่เป็นปัญหา เพราะในที่สุดแล้ว คุณก็กำลังร้องออกพระนามของพระยาห์เวห์นั่นเอง

     ในยอห์นบท20ยอห์นไม่มีจุดประสงค์ที่จะพิสูจน์ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า  ยอห์นไม่เคยทำเช่นนั้นและพระเยซูก็ไม่เคยเอ่ยอ้างว่าเป็นพระเจ้า  ยอห์นแจ้งจุดประสงค์ของเขาในการเขียนพระกิตติคุณนี้ในสามข้อต่อมาว่า (ข้อ 31แต่เรื่องเหล่านี้บันทึกไว้ก็เพื่อ​​พวกท่านจะได้เชื่อว่า พระเยซูเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และโดยความเชื่อ ​​พวกท่านจะมีชีวิตในพระนามของพระองค์” (ฉบับNIV)  จุดประสงค์ของยอห์นไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า แต่เพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นพระคริสต์ (พระเมสสิยาห์) พระบุตรของพระเจ้า  เบื้องหลังจากพระคัมภีร์เดิมของข้อนี้คือสดุดีบทที่ 2 ซึ่งเป็นสดุดีเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ที่สำคัญบทหนึ่ง

     ในยอห์น 20:28 นั้นโธมัสกล่าวว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ และพระเจ้าของข้าพระองค์!”  คำพูดนี้ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ของโธมัสยังยืนยันประสบการณ์ของผมเองด้วย  ถ้อยคำว่า “พระเจ้าและองค์ผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์”[27] และถ้อยคำที่คล้ายคลึงกันเช่น “องค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้า”[28] จะพบอยู่ดาษดื่นในพระคัมภีร์เดิม และถ้อยคำเหล่านี้จะกล่าวถึงพระยาห์เวห์เสมอและไม่เคยกล่าวถึงผู้อื่น

     ในพระคัมภีร์เดิมภาษากรีกและพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกรวมกันจะมีคำ “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน”[29] มีปรากฏ450ครั้งและครึ่งหนึ่งมีอยู่ในเฉลยธรรมบัญญัติ  “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา”[30]มีปรากฏ100ครั้งโดยครั้งสุดท้ายมีปรากฏอยู่ในวิวรณ์19:6(“ฮาเลลูยา! เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ของเราทรงครอบครองอยู่”  และสุดท้ายคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้า” (Lord God) เป็นคำที่รวมกันว่า “κύρις θες” (kuriostheos) มีปรากฏมากกว่า 550ครั้ง และมี9ครั้งในวิวรณ์

     คำเหล่านี้นี้มีปรากฏรวมกันมากกว่า1,100ครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการอ้างถึงพระยาห์เวห์  ดังนั้นในยอห์น 20:28 โธมัสจึงกำลังใช้คำพูดที่ปกติมาก  การใช้ข้อนี้มาพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซูนั้นเป็นเรื่องน่าขบขัน เพราะทางเดียวเท่านั้นที่จะพิสูจน์ได้คือ พิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระยาห์เวห์  ไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นพระองค์ที่สองในตรีเอกภาพ  ถ้าโธมัสพูดแต่เพียงว่า “พระเจ้าของข้าพระองค์” แทนที่จะพูดว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ และพระเจ้าของข้าพระองค์” ก็อาจเป็นหลักฐานที่จะสรุปว่า โธมัสกำลังประกาศความเป็นพระเจ้าของพระเยซู

     ประสบการณ์ที่โธมัสมีก็เป็นประสบการณ์ของผมด้วย  ไม่ว่าผมจะกำลังพูดคุยกับพระเยซูหรือกับพระยาห์เวห์ ผมก็กำลังพูดคุยกับคนคนเดียวกัน  ผมได้พูดคุยกับพระยาห์เวห์ตลอดมาโดยไม่รู้ตัว  เกิดอะไรขึ้นตรงนี้หรือ?  โธมัสมองที่พระเยซูและกล่าวกับพระยาห์เวห์ว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ และพระเจ้าของข้าพระองค์!  คุณเคยมีประสบการณ์แบบนั้นไหม?  นั่นเป็นได้อย่างไรที่การพูดกับพระเยซูก็เหมือนกับการพูดกับพระยาห์เวห์?  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราสามารถมองทะลุผ่านพระเยซูได้อย่าง “โปร่งใส” ในแง่ที่ว่าเมื่อคุณมองที่พระองค์ คุณก็กำลังมองผ่านพระองค์ไปถึงพระยาห์เวห์

     หลังจากการฟื้นคืนพระชนม์แล้ว พระเยซูทรงได้รับกายวิญญาณและกายที่ได้รับเกียรติ เมื่อเหล่าสาวกอยู่ในห้องที่ประตูปิดมิดชิดนั้น พระเยซูทรงปรากฏกับพวกเขาโดยไม่ผ่านทางประตู  โธมัสไม่ได้อยู่ที่นั่นในเวลานั้น  ต่อมาเมื่อรู้ว่าโธมัสมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ พระเยซูจึงทรงบอกให้เขาเอานิ้วของเขาแยงรอยแผลในพระหัตถ์ของพระองค์และที่สีข้างของพระองค์  นั่นคือตอนที่โธมัสอุทานว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ และพระเจ้าของข้าพระองค์!

     สิ่งนี้ไม่สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้องโดยการขยายความหรือการตีความเพียงอย่างเดียวแต่โดยประสบการณ์  ผมรู้ว่าโธมัสกำลังหมายถึงอะไร เพราะนั่นก็เป็นประสบการณ์ของผมด้วย  ผมหวังว่านั่นจะเป็นประสบการณ์ของคุณด้วยเช่นกัน เพราะนั่นจะหมายความว่าคุณกำลังสัมพันธ์กับคนที่ถูกต้องและกำลังพูดคุยกับพระยาห์เวห์  นั่นเป็นประสบการณ์ของผมที่กลับไปค้นดูพระคัมภีร์เพื่อหาหลักฐานในพระคัมภีร์เดิม  เมื่อผมอ่านพบว่าพระยาห์เวห์ทรงพูดคุยกับอาดัม ผมก็พูดกับตัวเองว่า “นั่นก็เป็นประสบการณ์ของผมเหมือนกัน!  พระเจ้าทรงพูดคุยกับผมและสัมพันธ์กับผมในแบบเดียวกัน และไม่ใช่แค่ช่วงเวลาเย็น (“เวลาเย็นวันนั้น”) แต่ตลอดวัน  ผมคิดว่าผมกำลังพูดคุยกับพระเยซูในขณะที่เป็นพระยาห์เวห์ตลอดเวลา

     ผมครุ่นคิดถึงสิ่งต่างๆที่พระเจ้าทรงกระทำในปฐมกาล แม้แต่เรื่องที่พระองค์ทรงปิดประตูเรือให้โนอาห์ แล้วผมก็ได้พูดกับตัวเองว่าพระเจ้าทรงเป็นเช่นนั้นจริงๆ  จากประสบการณ์ของผมแล้ว พระองค์ทรงกระทำสิ่งทั้งหมดนี้เพื่อคุณ  เมื่อผมค้นดูพระคัมภีร์ใหม่ ผมก็เห็นสิ่งคล้ายกับที่พระเจ้าได้ทรงกระทำในพระคัมภีร์เดิม  พระยาห์เวห์จะทรงก้มลงล้างเท้าของคุณไหม?  และคำตอบที่ต้องประหลาดใจก็คือ “พระองค์จะทำแน่”  นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ  ถ้ามนุษย์จะล้างเท้าของผม หรือถ้าครูของผมจะล้างเท้าให้ผม นั่นก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่แล้ว  แต่เราจะนึกไหมว่าพระยาห์เวห์จะทรงทำอย่างนี้ให้เรา?  ความจริงก็คือ พระองค์ทรงก้มลงขุดหลุมบนพื้นดินเพื่อฝังร่าง[31]ของโมเสส

     คุณจะเห็นพระองค์ในพระคัมภีร์เดิมผู้ประทับอยู่ในพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่  คำอธิบายตามการตีความสำหรับเรื่องนี้ก็คือ พระยาห์เวห์ได้เสด็จมาในองค์พระเยซู ทรงแฝงอยู่ในพระกายของพระเยซู ดังนั้นสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำก็คือสิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำ  ใครคือผู้ที่รักษาคนเจ็บป่วยและชุบคนตายให้ฟื้นหรือ?  ตามในกิจการ2:22ทุกสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำนั้น พระเจ้าทรงกระทำผ่านทางพระองค์ “คือพระเยซูชาวนาซาเร็ธผู้ที่พระเจ้าทรงรับรองต่อท่านทั้งหลาย โดยการอิทธิฤทธิ์ การอัศจรรย์และหมายสำคัญต่างๆซึ่งพระเจ้าได้ทรงกระทำ​​ในหมู่พวกท่านผ่านทางพระองค์  ที่ผ่านมาผมมัวไปอยู่เสียที่ไหน?  ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้กันผมไม่ให้อ่านพระคัมภีร์ของผมอย่างถูกต้อง  สิ่งที่พระเยซูทรงกระทำ ไม่ว่าจะเป็นหมายสำคัญต่างๆ การอิทธิฤทธิ์ และการอัศจรรย์นั้น พระยาห์เวห์ทรงกระทำผ่านพระองค์  ใครเป็นผู้เลี้ยงคน5,000คน หรือเลี้ยงคน 4,000คนหรือ?  เป็นพระเยซูหรือว่าพระยาห์เวห์?  ในพระคัมภีร์เดิมพระยาห์เวห์ทรงกระทำสิ่งที่คล้ายกันนี้แต่ในขนาดที่ใหญ่กว่ามาก  การทำการอัศจรรย์ของพระเยซูมีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบกับการอัศจรรย์ขนาดใหญ่มากในถิ่นทุรกันดาร  ในการเลี้ยงคน5,000หรือ 4,000คนนั้นไม่เหมือนกับการเลี้ยงคนสองล้านคนในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี  ความมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อจะเปรียบเทียบขีดขนาดกัน แต่เพื่อแสดงให้เห็นเหมือนในกิจการ2:22ว่า ผู้ที่ทำการอัศจรรย์ในพระคัมภีร์ใหม่ก็คือผู้ที่ทำการอัศจรรย์คล้ายกันนั้นในพระคัมภีร์เดิม แต่ในขนาดที่ใหญ่กว่า

     กลับไปที่ประเด็นการมองทะลุผ่านได้  โธมัสมองที่พระเยซูและสิ่งที่เขาเห็นและมีประสบการณ์คือพระยาห์เวห์  เขาอุทานว่า “องค์​​ผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์และพระเจ้าของข้าพระองค์!  นี่สำเร็จตามยอห์น14:9 ที่ว่า คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา[32]  เมื่อคุณมองที่พระเยซูคุณก็เห็นพระบิดา  สิ่งนี้เป็นไปได้ถ้าสามารถมองทะลุผ่านพระเยซูได้ในแง่ที่ว่า เมื่อคุณมองไปที่พระองค์ คุณก็มองทะลุผ่านพระองค์ไปที่พระบิดาผู้ประทับอยู่ข้างในพระองค์  ถ้าเราจะเปรียบให้ทันสมัย พระเยซูก็เป็นเหมือนกับโทรศัพท์  เมื่อคุณพูดกับโทรศัพท์ คุณก็กำลังพูดกับพระยาห์เวห์ผ่านทางโทรศัพท์  คุณไม่ได้กำลังพูดกับตัวโทรศัพท์แต่กำลังพูดกับใครบางคนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง  และคุณก็ยังสามารถมีการประชุมทางโทรศัพท์ที่มีสองหรือสามคน ซึ่งทำให้เรานึกถึงที่พระเยซูตรัสว่า “เพราะที่ไหนที่มีสองสามคนประชุมกันในนามของเราเราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขาที่นั่น” (มัทธิว18:20ฉบับESV)  ถ้าโทรศัพท์ของคุณเป็นโทรศัพท์ที่มีลำโพง คุณก็จะพูดกับอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนว่าคุณกำลังพูดกับโทรศัพท์  และถ้าโทรศัพท์ของคุณเป็นแบบวีดีโอ ตาของคุณก็จะมองที่โทรศัพท์เพื่อคุณจะได้ยินเสียงของคนอีกฟากหนึ่งและเห็นใบหน้าของเขาด้วย

     ผมไม่คิดว่าจะเป็นการดูหมิ่นที่จะเปรียบพระเยซูกับโทรศัพท์แบบวีดีโอ ถ้าหากมีความมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นหลักการทางฝ่ายวิญญาณว่าคุณสามารถจะพูดคุยกับพระเยซู และสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการพูดคุยกับพระบิดา และในทำนองเดียวกันเมื่อพระบิดาตรัสกับคุณก็เป็นทางพระเยซู  ผมไม่สามารถอธิบายถึงประสบการณ์ของผมได้ และโธมัสก็คงไม่สามารถอธิบายถึงประสบการณ์ของเขาได้เช่นกันหากไม่ใช้การเปรียบแบบนี้  อัครทูตยอห์นซึ่งเป็นชาวยิวก็เป็นผู้เชื่ออย่างแท้จริงว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวอย่างไม่มีข้อสงสัย และเขาก็คงจะไม่พอใจอย่างแรงหากโธมัสได้นมัสการพระเยซูเป็นพระเจ้า  ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ยอห์นจึงได้ใช้เวลาที่จะคงคำสอนของพระเยซูเองในเรื่องความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวไว้ให้เรา (ตัวอย่างเช่น ยอห์น17:3)[33]

     เมื่อผมตรึกตรองฟีลิปปีบทที่2 อีกครั้ง คราวนี้จากมุมมองของประสบการณ์มากกว่าการตีความ  ผมจึงเริ่มเข้าใจว่าพระเยซูไม่ใช่พระยาห์เวห์  นั่นคือเหตุที่ผมพูดว่าการสอนพระคัมภีร์มีสาม “การ” การขยายความ การตีความ และการมีประสบการณ์  คุณอาจศึกษาพระคัมภีร์ว่าเป็นสิ่งที่คุณขยายความ หรือเป็นสิ่งที่คุณตีความ หรือเป็นสิ่งที่คุณเข้าใจผ่านสิ่งที่คุณมีประสบการณ์

     เมื่อผมดูฟีลิปปีบทที่2 อีกครั้งโดยเฉพาะข้อที่6(ผู้ที่แม้จะอยู่ในรูปเหมือนของพระเจ้า แต่ก็ไม่ได้ทรงถือว่าความเท่าเทียมกับพระเจ้า​​เป็นสิ่งที่จะต้องฉกฉวยเอาไว้ ฉบับ ESV)  ผมคิดว่าผมสามารถจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระเยซูโดยใช้ชื่อว่า “ชายผู้ไม่ได้ต้องการเป็นพระเจ้า”  ชื่อนี้เป็นยังไงบ้าง?  ประเด็นทั้งหมดของข้อนี้ก็คือ พระเยซูทรงไม่เคยต้องการจะเป็นพระเจ้าหรือต้องการจะเท่าเทียมกับพระเจ้า  เราจะเข้าใจฟีลิปปี2:6ได้ก็เมื่อพระเยซูเป็นมนุษย์ แต่จะไม่สามารถเข้าใจได้มากนักหากพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอยู่แล้ว  เพราะมันคงเป็นเรื่องแปลกที่จะบอกว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่ไม่ต้องการจะเป็นพระเจ้า  แต่นี่ก็คือสิ่งที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพกำลังบอก  ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนเชื่อว่า พระเยซูพยายามจะหยุดความเป็นพระเจ้าชั่วคราวโดยการทิ้งพระเกียรติของพระองค์ แม้ผมจะไม่รู้ว่าเป็นไปได้อย่างไร  นั่นไม่ใช่ประเด็นของพระคัมภีร์ตอนนี้  พระคัมภีร์ตอนนี้จะเข้าใจได้ก็เมื่อเราเข้าใจว่า พระเยซูผู้เป็นมนุษย์นี้ไม่ได้ต้องการจะเป็นพระเจ้า

     ผมรู้เรื่องนี้จากประสบการณ์ของผมเอง แม้ว่ามันจะเข้าใจได้ยากด้วยสติปัญญาก็ตาม  บางครั้งประสบการณ์ก็สามารถมองเห็นสิ่งที่สติปัญญาไม่สามารถมองเห็น  เราอาจมีประสบการณ์บางอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยปัญญาของเรา เมื่อผมดูฟีลิปปี2:6 จากมุมมองของประสบการณ์ ผมก็เริ่มเข้าใจว่าไม่ว่าพระเยซูจะเป็นพระเจ้าหรือเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ไม่เคยกังวลเกี่ยวกับการเป็นพระเจ้า  มันเป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าใจเรื่องนี้ด้วยสติปัญญา แต่เราสามารถรู้ความจริงในเรื่องนี้จากประสบการณ์ของเรา

     ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะใช้ข้อเช่น ยอห์น20:28และสรุปจากข้อนี้ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าแม้ว่าข้อนี้จะไม่ได้พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระองค์เลยก็ตาม  ถ้าจะมีการพิสูจน์ใดๆถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ก็จะพิสูจน์ได้แต่เพียงว่าพระเยซูเป็นพระยาห์เวห์  ไม่มีอะไรในข้อนี้ที่ช่วยสนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะว่าหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพสอนว่า พระเยซูเป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองและพระองค์ไม่ใช่พระยาห์เวห์

     พระเยซูไม่ได้สนพระทัยที่จะเป็นพระเจ้าเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าเราร้อนใจที่จะทำให้พระองค์เป็นพระเจ้าก็ตาม ถ้าคุณค้นดูฟีลิปปีบทที่ 2สิ่งสำคัญที่คุณเห็นก็คือ พระองค์ต้องการจะลงไปให้ต่ำและต่ำสุดเท่าที่จะเป็นได้  นอกจากพระองค์ไม่ปรารถนาจะเป็นพระเจ้าแล้ว พระองค์ยังไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตของพระองค์เองในฐานะของมนุษย์ด้วยซ้ำ  ในการเชื่อฟังพระบิดานั้น พระองค์ทรงจับจ้องไปที่กางเขน ทรงลงไปต่ำลงๆเหมือนน้ำที่ไหลลงสู่จุดต่ำสุด ซึ่งตรงข้ามกับนิสัยมนุษย์เราอย่างสิ้นเชิงที่พยายามจะไต่เต้าให้สูงขึ้นและสูงขึ้นเพื่อจะได้เกียรติและความนับหน้าถือตา

     ถ้าผมเป็นผู้ที่มองทะลุผ่านได้เหมือนพระเยซูละก็ เวลาที่ใครมองมาที่ผม เขาก็จะไม่เห็นตัวผมแต่จะมองผ่านตัวผมไป  คนจีนมีสำนวนว่า “เขาพูดกับผมเหมือนผมไม่มีตัวตน”  มันเป็นการหยามหน้าเมื่อมีใครมองคุณแล้วมองผ่านคุณไปที่คนอื่น  ในความเป็นจริงแล้ว สิทธิพิเศษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือเมื่อมีคนมองผ่านตัวคุณไปและเห็นพระเจ้ากับพระเยซู  ผมอยากให้มีคนพูดกับผมว่า “วันก่อนผมมองคุณแล้วผมเห็นพระเยซู ไม่ได้เห็นคุณ”  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงจะวิเศษมากทีเดียว พระเยซูก็ทรงเป็นแบบนั้น  ผมคิดว่างานรับใช้ของเราจะมีพลังมาก ถ้าคุณจะยืนอยู่บนธรรมาสน์แล้ว “หายตัวไป” โดยที่คนจะเห็นแต่พระเยซู  อาทิตย์ต่อมาพวกเขาจะพูดว่า “ผมลืมไปแล้วว่าใครคือนักเทศน์ แต่ผมจำได้ว่าเป็นพระเยซูที่ตรัสกับผม”

     ลักษณะที่ไม่เหมือนใครของพระเยซูก็คือ ผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับพระองค์จะพบว่าตัวเองสัมพันธ์กับพระเจ้าและพูดคุยกับพระองค์  ผมได้พูดคุยกับพระยาห์เวห์มาตลอดชีวิตของผมและผมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ  ต่อมาเมื่อผมอ่านคำของโธมัสแล้วพูดว่า “นั่นเป็นประสบการณ์ของผมเลย!  ผมคิดว่าผมกำลังพูดคุยกับพระเยซูขณะที่ความเป็นจริงแล้วผมกำลังพูดคุยกับพระยาห์เวห์  “โธมัสทูลพระองค์ว่า องค์​​ผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์(ยอห์น20:28โธมัสกำลังส่งถ้อยคำของเขากับพระเยซู แต่เขากำลังพูดกับพระยาห์เวห์ สรรเสริญพระองค์และรับรู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้า

เกียรติที่ข้าพระองค์มีร่วมกับพระองค์ก่อนที่โลกนี้มีมา

     คราวก่อนเราได้ดูยอห์น17:5 ที่กล่าวว่า “และบัดนี้ข้าแต่พระบิดา ขอ​​ทรงให้ข้าพระองค์ได้รับเกียรติต่อพระพักตร์พระองค์  คือเกียรติที่ข้าพระองค์มีร่วมกับพระองค์ก่อนที่​​โลกเริ่มขึ้น” (ฉบับ NIV)  มีหลายคนสรุปจากข้อนี้ว่าพระเยซูกำลังแสวงหาเกียรติของพระองค์เอง แต่นี่ทำให้ผมตกใจเพราะมันตรงกันข้ามกับพระเยซูที่ผมรู้จัก  ตรงนี้แหละที่ประสบการณ์จะเข้ามาเกี่ยวข้องและช่วยคลี่คลายการตีความของคุณ  เมื่อคุณอ่านยอห์น17:5 คุณรู้สึกไหมว่านี่ไม่ใช่พระเยซูที่เรารู้จัก?  พระเยซูที่เรารู้จักจะไม่แสวงหาเกียรติของพระองค์เอง แต่ข้อนี้ดูเหมือนกำลังบอกว่าที่จริงพระองค์ทรงแสวงหาเกียรติของพระองค์เอง

     เมื่อผมตรวจสอบการใช้คำว่า “เกียรติ” ของยอห์น ผมค้นพบว่ายอห์นไม่ได้กำลังพูดถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเขากำลังพูดเช่นนั้น  คุณเคยมีประสบการณ์ในการอ่านข้อความพระคัมภีร์และรู้สึกว่ามันหมายถึงสิ่งที่ต่างจากการตีความตามแบบแผนของข้อความนั้นไหม?  คนส่วนใหญ่สรุปจากยอห์น 17:5ว่าพระเยซูกำลังแสวงหาเกียรติของพระองค์เอง  นี่เป็นข้อสรุปที่แม้แต่กับในหมู่ผู้ที่รู้ว่าพระเยซูไม่ต้องการจะเป็นพระเจ้า  เรารู้สึกได้ว่ามีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องกับการแปลความของเรา  แต่เราก็ไม่สามารถระบุข้อผิดพลาดได้

     คราวก่อนผมได้พูดถึงคำนามว่า “δξα” (doxa, เกียรติ) แต่ไม่ได้พูดถึงคำกริยาว่า “δοξάζω” (doxazō, ได้รับเกียรติ)  คำกริยานี้ปรากฏในยอห์นบ่อยครั้งกว่าคำนาม  ให้เราดูยอห์น1:14และดูว่าเรามักจะเข้าใจความคิดของยอห์นผิดไปในเรื่องเกียรติอย่างไรที่ว่า “พระวาทะมาเป็นมนุษย์และ​​ประทับอยู่ท่ามกลางเราทั้งหลายและเราได้เห็นพระเกียรติ​​ของพระองค์ ดังพระเกียรติของพระบุตรองค์เดียวจากพระบิดา ซึ่งเปี่ยมด้วยพระคุณและความจริง (ฉบับESV)

     “เราได้เห็นพระกียรติของพระองค์”  แต่เราเห็นพระกียรติของพระเยซูที่ไหนในพระกิตติคุณยอห์นไหม?  พระกิตติคุณยอห์นมี21บท  จากบทที่12เป็นต้นไป เป็นส่วนที่ยาวซึ่งใช้เนื้อที่เกือบครึ่งหนึ่งของพระกิตติคุณนี้ ยอห์นพูดถึงความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์  แล้วเราจะเห็นพระกียรติของพระเยซูได้ที่ไหนในพระกิตติคุณยอห์น?  เมื่อยอห์นกล่าวว่า “เราได้เห็นพระกียรติของพระองค์” เขากำลังกล่าวถึงการจำแลงพระกายไหม?  แต่ไม่มีเรื่องราวของการจำแลงพระกายในพระกิตติคุณยอห์น แม้ว่าจะพบเรื่องนี้ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก

  ยอห์นกำลังหมายถึงการอัศจรรย์ต่างๆของพระองค์ไหม?  แต่ว่าการอัศจรรย์เหล่านั้นพระบิดาเป็นผู้ทรงกระทำผ่านทางพระเยซู  “พระเกียรติ” ในยอห์น 2:11 ถูกใช้ในการอ้างถึงการเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น[34] แต่ที่สุดแล้วพระเกียรติเป็นของพระบิดา  ในยอห์น 11:40 พระเยซูตรัสกับมารธาว่า“เราบอกเจ้าแล้วไม่ใช่หรือว่าถ้าเจ้าเชื่อเจ้าจะ​​เห็นพระเกียรติของพระเจ้า?”  เมื่อทำหมายสำคัญและการอัศจรรย์นั้นเป็นการสำแดงพระเกียรติของพระเยซูหรือว่าพระเกียรติของพระเจ้า?  แง่มุมของการมองทะลุผ่านได้ก็มีขึ้นอีกครั้ง ที่พระเกียรติของพระเยซูเผยให้เห็นพระเกียรติของพระเจ้า 

     ถ้าคุณอ่านพระกิตติคุณยอห์นอย่างละเอียด คุณจะไม่พบสิ่งที่มาอธิบาย “เราได้เห็นพระเกียรติของพระองค์”  คราวก่อนเราได้เห็นว่าพระเกียรติของพระคริสต์ก็คือเกียรติของการสิ้นพระชนม์ของพระองค์และการถูกยกขึ้นบนกางเขน  นั่นไม่ใช่เกียรติแบบที่เราคาดหวัง  ไม่เพียงแต่พระเยซูจะไม่ต้องการเป็นพระเจ้าเท่านั้น พระองค์ก็ไม่ต้องการเกียรติใดๆสำหรับพระองค์เอง เว้นแต่เกียรติของการถูกยกขึ้นบนกางเขน  นั่นคือพระเยซูที่ผมรู้จัก!

     พระเยซูผู้แสวงหาเกียรติของพระองค์เอง ตามที่คนจำนวนมากตีความพระองค์ในยอห์น 17:5นั้นไม่ใช่พระเยซูที่ผมรู้จัก  เมื่อผมได้ตรวจสอบความหมายของ “เกียรติ” ในยอห์น ผมจึงตระหนักว่าเกียรติที่พระเยซูทรงแสวงหาก็คือเกียรติในแผนการนิรันดร์ของพระเจ้าเกี่ยวกับความรอดของมวลมนุษย์  นั่นคือเกียรติของการสิ้นพระชนม์ของพระองค์และการที่พระองค์ถูกยกขึ้นบนกางเขน

     ความสำคัญของการมีประสบการณ์เห็นได้จากการเตือนให้ผมเห็นสิ่งผิดปกติในวิธีที่เราแปลความยอห์น 17:5  ผมจึงทำการตีความเพื่อให้ประสบการณ์อยู่บนรากฐานที่แน่นของพระคัมภีร์  เราเริ่มจากประสบการณ์ไปหาการตีความ ไปหาการขยายความ ที่สาม “การ” ที่ทำหน้าที่กลับลำดับกัน

     ผมตรวจดูคำ “δοξάζω (doxazō, ได้รับเกียรติ) และพบว่ามีปรากฏ 23 ครั้งในพระกิตติคุณยอห์นซึ่งมีบ่อยครั้งกว่าเล่มใดๆในพระคัมภีร์ใหม่  เล่มรองลงมาคือลูกาซึ่งมีปรากฏ9ครั้ง  เล่มต่อมาคือโรมซึ่งมีปรากฏ5ครั้ง  ดังนั้นคำกริยา δοξάζω (ได้รับเกียรติ) จึงเป็นคำศัพท์พิเศษของยอห์นและมีความหมายพิเศษในยอห์น  ทั้ง δξα“ (เกียรติ) และ δοξάζω” (ได้รับเกียรติ) จะพบในยอห์น 17:5

     ความเชื่อมโยงระหว่างเกียรติและความตายจะเห็นในช่วงก่อนหน้านี้ในยอห์น11:4เกี่ยวกับความตายของลาซารัสที่ว่า “ความเจ็บป่วยนี้จะไม่ถึงตาย (เช่นไม่ใช่ขั้นสุดท้าย)แต่เกิดขึ้นเพื่อพระเกียรติของพระเจ้าเพื่อ​​พระบุตรของพระเจ้าจะได้รับเกียรติจากสิ่งนี้” (ฉบับ NASB)  ความคิดของยอห์นเรื่องเกียรติไม่ได้แค่ใช้กับพระเยซูเท่านั้น แต่รวมถึงลาซารัสในกรณีนี้ด้วย  จงสังเกตความเชื่อมโยงที่แยกกันไม่ออก ระหว่างพระเกียรติของพระเจ้าและพระเกียรติของพระบุตรของพระเจ้า  เพราะการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าก็คือการถวายพระเกียรติแด่พระบุตร  และการถวายพระเกียรติแด่พระบุตรก็คือการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

     การปรากฏ 20จาก23 ครั้งของคำว่า “ได้รับเกียรติ” ในยอห์นจะอยู่ในครึ่งหลังของพระกิตติคุณโดยเริ่มต้นจากบทที่ 12 ส่วนทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู ซึ่งเป็นพระเกียรติของพระองค์  ตัวอย่างเช่น ยอห์น 12:16กล่าวว่า “ตอนแรกพวกสาวกไม่เข้าใจเรื่องทั้งหมดนี้  แต่หลังจากที่พระเยซูทรงได้รับพระเกียรติแล้ว พวกเขาจึงตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้มีเขียนไว้เกี่ยวกับ​​พระองค์ และพวกเขาได้กระทำสิ่งเหล่านี้ถวายพระองค์” (ฉบับ NIV)  ข้อนี้พูดถึงพระเกียรติของพระเยซูในแง่ของการทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ในเงื้อมมือศัตรูของพระองค์  เกียรติแบบนี้แตกต่างอย่างมากจากความหมายของ “เกียรติ” ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป  มันไม่ใช่เกียรติที่มนุษย์ยกย่อง เพราะมันรวมถึงการที่พระเยซูทรงถูกยกขึ้นบนกางเขน (ยอห์น 3:14)

     พระเยซูตรัสว่า “ถึงเวลาแล้วที่บุตรมนุษย์จะได้รับ​​เกียรติ  เราบอกความจริงแก่ท่านว่าถ้าเมล็ดข้าวสาลีไม่ได้ตกลงดินและตายไปก็จะคงอยู่เพียงเมล็ดเดียว  แต่ถ้าตาย​​ไปก็จะ​​เกิดเมล็ดอื่นๆอีกมากมาย”(ยอห์น12:23-24ฉบับ NIV)  ตรงนี้เราจะเห็นเกียรติของบุตรมนุษย์ในแง่ของการสิ้น พระชนม์ของพระองค์  เกียรตินี้ยังรวมถึงการเกิดผลมากของพระองค์ทางฝ่ายวิญญาณด้วย  และผลที่ตามมานั้นจะเป็นการถวายเกียรติแด่พระบิดาที่ว่า “ด้วยเหตุนี้ พระบิดาของเราจึงทรงได้รับเกียรติ คือเมื่อท่านทั้งหลายเกิดผลมาก และพิสูจน์ว่าเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น15:8 ฉบับ NIV)

     พระเยซูยังตรัสอีกว่า บัดนี้บุตรมนุษย์ได้รับเกียรติแล้วและพระเจ้าทรงได้รับพระเกียรติในบุตรมนุษย์  ถ้าพระเจ้าทรงได้รับพระเกียรติในบุตรมนุษย์ พระเจ้าจะทรงให้บุตรมนุษย์ได้รับเกียรติในพระองค์เอง  และจะทรงให้บุตรมนุษย์ได้รับเกียรติทันที”(ยอห์น 13:31-32ฉบับ NIV) บุตรมนุษย์ได้รับเกียรติและพระเจ้าทรงได้รับพระเกียรติในบุตรมนุษย์  เกียรติของคนหนึ่งก็คือเกียรติของอีกคนหนึ่ง เพราะพระยาห์เวห์สถิตอยู่ในพระกายของพระเยซูดังนั้นสิ่งที่เกิดกับบุตรมนุษย์ ก็เกิดกับพระยาห์เวห์ด้วย

     ความคิดของยอห์นเรื่องเกียรตินั้นแตกต่างจากของเรา  ถ้าเรานำข้ออย่างเช่นยอห์น 17:5[35]นี้ไปใช้นอกบริบท เราก็จะแปลความให้หมายความว่าพระเยซูกำลังแสวงหาเกียรติของพระองค์เอง  แต่ขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าภาพของพระเยซูนี้ไม่สอดคล้องกันเลยกับความถ่อมพระทัยของพระองค์  พระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงตรัสกับพระบิดาในคำอธิษฐานของมหาปุโรหิตว่า “ถึงเวลาที่ข้าพระองค์จะต้องจากไปแล้ว  นี่เป็นเวลานี้ที่ข้าพระองค์เฝ้ารอคอย ขอทรงให้ข้าพระองค์ได้รับเกียรติตามแผนการที่พระองค์ทรงมีตั้งแต่วางรากสร้างโลก เพราะบุตรมนุษย์ได้ถูกประหารตั้งแต่วางรากสร้างโลก”  พระเยซูไม่สามารถจะตรึงพระองค์เองที่กางเขนได้ พระองค์จึงมอบตัวพระองค์เองกับพระบิดาเป็นเครื่องบูชา ที่ทำให้เรานึกถึงเรื่องราวของอับราฮัมและการถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชา

     มีอีกหลายข้อที่คล้ายกันนี้  การปรากฏ 20ครั้งของคำว่า δοξάζω” (doxazō,ถวายเกียรติ)[36] ในยอห์นบทที่ 12เป็นต้นไปนั้น คุณสามารถอ่านข้อเหล่านี้ด้วยตัวคุณเอง  คำนี้ปรากฏครั้งสุดท้ายในยอห์น21:19 เมื่อใช้กับเปโตรที่ว่า “พระเยซูตรัสเช่นนี้เพื่อบ่งบอกว่าเปโตรจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยการตายอย่างไร แล้วพระองค์​​ตรัสกับเขาว่าจงตามเรามาเถิด!” (ฉบับ NIV)  การตายของเปโตรจะถวายเกียรติพระเจ้า  ถ้าไม่มีการตายก็ไม่มีการถวายเกียรติแด่พระเจ้า  วิธีที่จะถวายเกียรติแด่พระเจ้าก็คือการตายเพื่อพระองค์  พระเยซูจึงบอกเปโตรให้ตามพระองค์ไปในทางที่พระองค์ได้ไปมาก่อนแล้ว

     คุณเห็นความดีงามของพระเยซูไหม?  คุณเข้าใจพระองค์ไหม?  เราแทบจะไม่เข้าใจพระองค์เพราะเราเต็มไปด้วยเนื้อหนัง  แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เราก็จะเข้าใจพระองค์ได้ไม่ยาก  พระองค์ไม่ได้ต้องการจะเป็นพระเจ้า  เกียรติเพียงอย่างเดียวที่พระองค์แสวงหาสำหรับพระองค์เองก็คือ เกียรติในการตายบนกางเขน  แล้วพระองค์ก็ได้สอนเหล่าสาวกของพระองค์ให้เดินตามรอยพระองค์

     เราเข้าใจความสัมพันธ์ของพระเยซูกับพระบิดาไหม?  ในแง่ของหลักคำสอน ผมไม่สามารถจะอธิบายได้  แต่ในแง่ของประสบการณ์ ผมเข้าใจได้อย่างดี  คุณเองก็ต้องยืนยันว่าคำกล่าวของโธมัสเป็นความจริงหรือไม่จากประสบการณ์ของคุณเอง

     เกียรติของพระเยซูไม่ได้มีความหมายอย่างอื่นนอกจากว่าเป็นเกียรติของพระเจ้า(พระยาห์เวห์)ในพระองค์  พระเยซูทรงได้รับเกียรติด้วยพระเกียรติของพระบิดาโดยการสถิตอยู่ของพระบิดา นั่นก็คือโดยการประทับอยู่ของพระยาห์เวห์ในพระกายของพระเยซู  การประทับอยู่ภายในนี้ทำให้เราแยกได้ยากว่าคนไหนเป็นคนไหน  เพราะพระบิดาและพระบุตรนั้นแยกจากกันไม่ได้และแยกไม่ออกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เห็นในคำกล่าวว่า “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยอห์น 10:30)  เพราะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้เอง จึงทำให้เมื่อคุณสัมพันธ์กับคนนี้คุณก็จะสัมพันธ์กับอีกคนหนึ่งด้วย

     นี่เป็นเรื่องของการมีประสบการณ์  ผมคิดว่าหลักคำสอนจะไม่สามารถระบุสิ่งนี้ได้อย่างชัดเจน  การที่พระเยซูไม่ใช่พระยาห์เวห์ (และดังนั้นจึงไม่ใช่พระเจ้า) นั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์ของเรากับพระเยซู  มันไม่ได้ลดคุณค่าของพระองค์ที่มีกับเรา เพราะถ้าไม่มีพระเยซูเราก็ไม่สามารถจะมาถึงพระยาห์เวห์พระบิดาของเราได้  พระยาห์เวห์ตรัสกับเราในและผ่านทางพระเยซู  พระเยซูทรงเป็นตัวเชื่อมต่อที่ขาดไม่ได้ระหว่างเรากับพระยาห์เวห์  จะมีอะไรที่สำคัญไปกว่านั้นอีกไหม?



[1]Baal

[2]天子(Son of Heaven) หรือ “ตามบัญชาจากสวรรค์”

[3]Queen of Heavenหรือ “พระแม่โพสพ”

[4]เรมีย์29:10“พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่าเมื่อครบ70ปีแห่งบาบิโลนแล้วเราจะเยี่ยมเยียนพวกเจ้าและจะให้คำสัญญาของเราสำเร็จเพื่อเจ้าและจะนำเจ้ากลับมาสู่สถานที่นี้

[5]ฉบับมาตรฐาน2011แปลว่า โอคนอิสราเอลจงฟังเถิดพระยาห์เวห์พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา

[6]เลวีนิติ19:12ห้ามสาบานออกนามของเราเป็นความเท็จ ทำให้พระนามพระเจ้าของเจ้าเป็นที่เหยียดหยาม  เราคือยาห์เวห์”

[7]Adonai” หรือ“องค์เจ้านาย” (“Lord”)

[8]Septuagint พระคัมภีร์เดิมภาษากรีกที่แปลมาจากพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรู

[9]1โครินธ์1:3ขอพระคุณและสันติสุขจากพระเจ้าพระบิดาของเราและจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่กับท่าน

[10]ยอห์น8:11  นางทูลว่าท่านเจ้าข้าไม่มีใครเลย” ฉบับมาตรฐาน2011(She saidNo one, Lord.  John 8:11 NAU)

[11]ปฐมกาล 18:12 “นางซาราห์จึงหัวเราะในใจพูดว่า ข้าพเจ้าแก่แล้ว นายของข้าพเจ้าก็แก่ด้วย”ฉบับไทยคิงเจมส์(After I have become old, shall I have pleasure,  my lord being old also?"Genesis 18:12 NAU)

[12]1เปโตร3:6“เช่นนางซาราห์เชื่อฟังอับราฮัมและเรียกท่านว่านาย

[13]ยอห์น4:15นางทูลพระองค์ว่าท่านเจ้าคะ ขอน้ำนั้นให้ดิฉันเถิด (The woman said to HimSir, give me this water)

[14]อิสยาห์44:6 “พระยาห์เวห์ผู้ทรงฤทธิ์ตรัสดังนี้ว่า“เราเป็นปฐมและเราอวสานนอกเหนือจากเราแล้วไม่มีพระเจ้าอื่นใด”

อิสยาห์44:8“มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเราหรือ?ไม่มีเลย ไม่มีพระศิลาอื่นใดอีกเราไม่​​รู้จักสักองค์เดียว” (ฉบับมาตรฐาน2011)

[15]คำภาษาจีนแปลว่า“มนุษย์” อ่านว่า “เหริน”

[16]观音(Guanyim), 关公(Guangongเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์

[17]Henotheism

[18]1 โครินธ์11:3“ขอให้ท่านตระหนักว่าพระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของชายทุกคนและชายเป็นศีรษะของหญิงและพระเจ้าทรงเป็น​​ศีรษะของพระคริสต์

[19]Clover leaf

[20]StPatrick

[21]Exegesis

[22] Eisegesis หรือการตีความเกินจากตัวบท

[23]ต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ “สาม E’s” เพราะทั้งสามคำขึ้นต้นด้วยคำว่าex(exposition, exegesisและ experience)

[24] “the praise that comes from God only” แต่ในฉบับ NIV คือthe praise that comes from only God

[25]1ทิโมธี 2:มีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและมีคนกลางผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์”(NIV)

[26]1โครินธ์ 15:45จึงมีเขียนไว้ว่า “อาดัมมนุษย์คนแรก​ จึงกลายเป็นผู้มีชีวิต” ส่วนอาดัมคนหลังเป็นวิญญาณผู้ให้ชีวิต (NIV)

[27]My Lord and my Godหมายถึง “พระเจ้าของข้าพระองค์และองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์” (เช่นสดุดี35:23)

[28] “Lord God” หรือ “LORD Godหมายถึง “พระยาห์เวห์พระเจ้า” หรือ “พระยาห์เวห์องค์เจ้านาย”(ปฐมกาล14:22,15:8)

[29] “The Lord your God” หมายถึง “พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า” (เช่นฉลยธรรมบัญญัติ5:6)

[30] “The Lord our God” หมายถึง “พระยาห์เวห์พระเจ้าของเรา(เช่นสดุดี99:5)

[31] เฉลยธรรมบัญญัติ34:5-6โมเสสผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ จึงสิ้นชีวิตที่นั่นในแผ่นดินโมอับ และพระองค์ทรงฝังท่านไว้ในหุบเขาในแผ่นดินโมอับตรงข้ามเบธเปโอร์ จนถึงทุกวันนี้ไม่มีใครรู้จักที่ฝังศพของท่าน (ฉบับมาตรฐาน 2011)

[32]ยอห์น14:9พระเยซูตรัสกับเขาว่า“ฟีลิปเราอยู่กับท่านนานถึงขนาดนี้แล้วท่านยังไม่รู้จักเราอีกหรือ?คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดาท่านจะพูดได้อย่างไรอีกว่า ‘ขอสำแดงพระบิดาให้พวกข้าพระองค์เห็น?

[33]ยอห์น17:3“และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา”

[34]ยอห์น2:11 “พระเยซูทรงกระทำสิ่งนี้ซึ่งเป็นหมายสำคัญครั้งแรกของพระองค์ที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลีด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้ทรงสำแดงพระเกียรติสิริของพระองค์ และเหล่าสาวกของพระองค์ก็มีความเชื่อในพระองค์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[35]ยอห์น17:5 “บัดนี้ข้าแต่พระบิดา ขอโปรดให้ข้าพระองค์ได้รับเกียรติต่อพระพักตร์ของพระองค์ คือเกียรติที่ข้าพระองค์มีร่วมกับพระองค์ก่อนที่โลกนี้มีา” (ฉบับมาตรฐาน 2011)

[36]หรือ “ได้รับเกียรติ” เมื่ออยู่ในรูปของกาลกริยาที่ต่างกัน