พิมพ์
หมวด: Theological Metamorphosis
ฮิต: 736

 pdf pic

 

 

บทที่ 13

 

 

ปัญหาตามหลักเหตุผลของตรีเอกานุภาพ

 

TM 13 

 

 

คำนิยามพื้นฐานของตรีเอกานุภาพ

      นบรรดาผู้ที่ยึดกับหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพ มีไม่กี่คนที่รู้หลักคำสอนเกินจากสูตร “พระเจ้าในสามองค์บุคคล” คริสตจักรส่วนใหญ่ในแคนาดาถือว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นรากฐานความเชื่อของพวกเขา แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่สอนเรื่องตรีเอกานุภาพในเชิงลึกให้แก่สมาชิกทั่วไป นั่นอาจเป็นเพราะการเปิดเผยความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างเป็นทางการ จะทำให้เกิดการคัดค้านหลักคำสอน สิ่งแรกที่ผู้คนจะสังเกตเห็นก็คือ การใช้คำศัพท์ที่ไม่ตามพระคัมภีร์ (รวมถึงคำ “ตรีเอกานุภาพ” เอง) ความอ่อนน้ำหนักจากการสนับสนุนของพระคัมภีร์ และการขาดการเชื่อมโยงกันตามหลักเหตุผล ความสนใจต่อไปกับคำสอนสืบทอดและหลักความเชื่อต่างๆของคริสตจักรกำลังกลายเป็นเรื่องหมดสมัยในยุคของข้อมูลที่เปิดกว้างนี้

      แล้วความเชื่อตรีเอกานุภาพคืออะไรหรือ? คำนิยามเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพทีละข้อต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอธิบายไว้ และยึดตามภาษาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ใช้โดยบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ

      สำหรับความหมายของคำภาษาอังกฤษ เราจะพิจารณาดูพจนานุกรมสองฉบับ คือพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับอเมริกันเฮริเทจ (พิมพ์ครั้งที่ 5)[1] กับพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับอ๊อกซ์ฟอร์ด (พิมพ์ครั้งที่ 3)[2] โดยใช้ชื่อย่อว่า AHD และ Oxford ตามลำดับ

      คำนิยามของตรีเอกานุภาพต่อไปนี้รวมหมายเหตุชี้แจงสั้นๆของผมอยู่ด้วย ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้วนั้น

 

มีพระเจ้าพระองค์เดียวและเพียงผู้เดียวเท่านั้น

พระเจ้าทรงดำรงอยู่ในสามองค์บุคคล

  • หมายเหตุ: คำว่า “ดำรงอยู่” คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย แต่มักจะใช้ในการเขียนของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เพื่อหมายถึง “คงอยู่ เป็นอยู่”

   • สามองค์บุคคลนี้ก็คือ พระเจ้าพระบิดา พระเจ้าพระบุตร และพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์

• แต่ละพระองค์เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์.

ทั้งสามพระองค์มีความเท่าเทียมกัน และดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน

   • ทั้งสามพระองค์แตกต่างกัน แต่กระนั้นก็ไม่ได้เป็นพระเจ้าสามพระองค์

   • พระเจ้าจะไม่ใช่พระเจ้า เว้นแต่ว่าจะมี พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ อยู่ด้วยกันทั้งสามพระองค์

 • หมายเหตุ: ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจำนวนมากใช้คำ “ความเป็นพระเจ้า”[3] ในการอ้างถึงพระเจ้าในตรีเอกภาพ[4] ในพจนานุกรมฉบับอเมริกันเฮริเทจ (AHD) นิยาม “ความเป็นพระเจ้า” ว่า “พระเจ้าของคริสเตียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งของตรีเอกานุภาพ” เหตุผลหนึ่งที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้ “ความเป็นพระเจ้า” มากกว่า “พระเจ้า” ก็คือในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น พระเจ้าไม่ใช่บุคคล

   • พระเจ้าทรงเป็นสามบุคคล แต่มี “ตัวตน” หรือ “เนื้อแท้” เดียวเท่านั้น

   • หมายเหตุ: แม้คำว่า “ตัวตน” มักจะหมายถึงทั้งตัวบุคคลและบุคคลอย่างสมบูรณ์ (เช่น “มนุษย์”) บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ใช้คำนี้ในความหมายของสภาวะที่เป็น “แก่นแท้หรือเนื้อแท้” ของคนๆหนึ่ง (พจนานุกรมฉบับ AHD, เช่นเดียวกับ Oxford)

  • หมายเหตุ: ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้คำภาษากรีกว่า hypostasis (หรือคำภาษาละตินว่า persona) ให้เทียบเท่ากับ “บุคคล” (มีประวัติศาสตร์อันยาว นานกับเบื้องหลังนี้ที่เราจะไม่ลงลึก) ดังนั้นพระเจ้าจึงเป็นสาม hypostases (สามบุคคล)

  • หมายเหตุ: สาม hypostases (องค์บุคคล) ก็คือพระบิดา พระบุตร พระวิญญาณ ที่มี ousia (เนื้อแท้หรือแก่นแท้) เดียวกัน ดังนั้นบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจึงพูดถึง “สาม hypostases ใน ousia เดียวกัน” (สามบุคคลในแก่นแท้เดียวกัน)

 • หมายเหตุ: จาก ousia ก็มาเป็นคำ homoousios (“จากเนื้อแท้เดียวกัน” หรือ “จากแก่นแท้เดียวกัน”) ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นคำสำคัญในความเชื่อตรีเอกานุภาพ เพราะคำนี้หรือแนวคิดนี้เองที่ทำให้ความเชื่อตรีเอกานุภาพถือว่าเป็น “ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว”

   • หมายเหตุ: เนื่องจากสามองค์บุคคลมาจากแก่นแท้เดียวกัน ทั้งสามพระองค์จึงถูกกล่าวว่า “มีสภาวะเดียวกัน”

  • โดยการจุติลงมาเกิดของพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ คือว่าพระเจ้าพระบุตรผู้ทรงดำรงอยู่ก่อนในนิรันดร์กาล รับสภาพของมนุษย์และรับสภาพของพระเจ้าที่เป็นมนุษย์มาเป็นพระเยซูคริสต์ ผู้ที่ตอนนี้มีทั้งสภาวะที่เป็นพระเจ้าและสภาวะที่เป็นมนุษย์อยู่ในคนๆเดียวตลอดเป็นนิตย์ และเป็นทั้งพระเจ้าที่สมบูรณ์และมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยที่ มีสองสภาวะอยู่ในบุคคลเดียวกัน[5] (ของทั้งสองสภาวะของพระคริสต์ ที่ทรงเป็นพระเจ้าและเป็นมนุษย์ในคนๆเดียว หรือ hypostasis)

 

      คำนิยามพื้นฐานเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ จะยึดตามหลายสิบคำนิยามซึ่งกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่เชื่อในตรีเอกานุภาพที่เป็นโปรแตสแตนท์และคาทอลิก มันสมบูรณ์ในแง่ว่า การถกเถียงเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ จะเป็นรายละเอียดในประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ เช่น ทั้งสามพระองค์เกี่ยวข้องกันอย่างไร หรือบทบาทของทั้งสามพระองค์แตกต่างกันอย่างไรในประวัติศาสตร์ของความรอด (ความสัมพันธ์พิเศษของสามพระองค์ในตรีเอกานุภาพ) หรือสภาวะที่เป็นพระเจ้าของพระคริสต์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่เป็นมนุษย์ของพระองค์ภายในคนๆเดียวกันอย่างไร (การโต้แย้งในคำถามสุดท้ายส่งผลให้เกิดความรุนแรงอยู่หลายปีภายในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ)

      ใครก็ตามที่อ่านงานเขียนที่เป็นทางการหรือทางวิชาการเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ ก็จะทราบดีว่ามีแนวโน้มที่จะใช้คำศัพท์ภาษากรีกและภาษาละติน (หรือคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เทียบกัน) และซึมซับด้วยแนวคิดปรัชญาศาสนาของเพลโต[6]และแนวคิดที่ยึดหลักปรัชญาอื่นๆ สิ่งเหล่านี้สร้างความสับสนมากกว่าจะให้ความกระจ่างว่าสามองค์บุคคลนี้จะเป็นพระเจ้าองค์เดียวได้อย่างไร

 

เรื่องการมีแก่นแท้เดียวกัน (Homo­ousios) ไม่มีการสนับสนุนจากพระคัมภีร์ และถูกมาร์ติน ลูเธอร์ ปฏิเสธอย่างรุนแรง

      คำว่า homo­ousios (“จากแก่นแท้เดียวกัน”)[7] เป็นคำสำคัญทางประวัติศาสตร์ในความเชื่อตรีเอกานุภาพ เพราะว่าคำนี้หรือแนวคิดของคำนี้เอง ที่เนื่องจากคำว่า “เดียวกัน” จึงทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพดูคล้ายคลึงกับความเชื่อว่า พระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ความเห็นของความเชื่อตรีเอกานุภาพในยุคแรกๆที่ว่า homo­ousios เป็น “รากฐานของความเชื่อที่มีมาแต่เดิม” (วิคโตรินัส)[8] บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพสมัยปัจจุบันก็คิดเห็นอย่างเดียวกัน แต่กระนั้นก็ไม่พบคำว่า homo­ousios ที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ เพราะว่าคำนี้ไม่ได้มีพื้นฐานจากพระคัมภีร์ ตามการตั้งข้อสังเกตโดยผู้เชี่ยวชาญด้านคำศัพท์จากพจนานุกรมศาสนศาสตร์พระคัมภีร์ใหม่ฉบับนิวอินเตอร์เนชันแนล (NIDNTT ฉบับโคลิน บราวน์, หัวข้อ พระเจ้า> ตรีเอกานุภาพ> พระคัมภีร์ใหม่)[9]

      ต่อไปนี้เป็นข้อความที่ตัดตอนมาจากบทความนี้ซึ่งอ้างอิงคาร์ล บาร์ธ ที่แม้จะเป็นผู้แก้ต่างให้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพมาตลอดชีวิต ที่ยอมรับว่าหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพนั้นหาไม่พบในพระคัมภีร์ ข้อความที่ตัดตอนมานี้มีคำอ้างอิงสองชั้น เพื่อความสะดวกของผู้อ่าน ผมจึงให้ถ้อยคำของบาร์ธเป็นตัวหนา เพื่อแยกออกจากถ้อยคำของพจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับ NIDNTT ที่อยู่ล้อมรอบดังนี้

 

พระคัมภีร์ใหม่ไม่มีหลักคำสอนที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ [บาร์ธกล่าวว่า] “พระคัมภีร์ไม่มีคำประกาศที่ชัดเจนว่า พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์มีแก่นแท้ที่เท่าเทียมกัน และเพราะฉะนั้นในความหมายที่เท่าเทียมกันของพระเจ้าเอง และไม่มีคำประกาศที่ชัดเจนอย่างอื่นด้วยว่า พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าด้วยเหตุนี้และด้วยเหตุนี้เท่านั้น กล่าวคือ เป็นพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ คำประกาศที่ชัดเจนทั้งสองซึ่งเกินจากหลักฐานของพระคัมภีร์นี้ มีเนื้อหาสองเท่าของหลักคำสอนของคริสตจักรเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ” (คาร์ล บาร์ธ, การศึกษาหลักคำสอนของคริสตจักร, I, 1, 437)[10] นอกจากนี้ก็ยังไม่มีคำเช่น ตรีเอกานุภาพ... และจากแก่นแท้เดียวกัน (homoousios) ซึ่งเป็นจุดเด่นในหลักข้อเชื่อไนเซีย (325)

 

      ในคำยอมรับที่น่าประหลาดใจนี้ บาร์ธยอมรับว่าหลักการสำคัญสองประการของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (แนวคิดเกี่ยวกับแก่นแท้เดียวกันและแนวคิดเกี่ยวกับสามองค์บุคคลในพระเจ้าองค์เดียว) เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีในพระคัมภีร์

      เนื่องจากว่า homoousios ไม่ใช่คำในพระคัมภีร์ตามที่พจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับ NIDNTT และบาร์ธระบุไว้ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การคัดค้านคำนี้อย่างรุนแรงจึงมาจากเหล่าผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแถวหน้า ที่แน่ๆนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ ซึ่งเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ปฏิเสธ homo­ousios อย่างรุนแรงเพราะไม่ได้เป็นคำที่มาจากพระคัมภีร์จนถึงกับว่า “เกลียด” การใช้คำนี้ด้วยซ้ำ คู่มือทำความเข้าใจความเชื่อในตรีเอกานุภาพของเคมบริดจ์[11] (หน้า 151) ได้อ้างอิงคำพูดของลูเธอร์ว่า “ศัตรูของเรา...คลั่งไคล้คำเหล่านี้ เพราะพวกเขาต้องการให้เราแสดงความจริงของข้อความที่เกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ... โดยขอให้เรายอมรับคำ homo­ousiosคู่มือของเคมบริดจ์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “คำศัพท์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ อย่างเช่น homo­ousios มีไว้ให้ลูเธอร์ต้อง ‘พูดอึกอัก’ และ พูดพล่าม

      ลูเธอร์ปฏิเสธคำ homo­ousios อย่างร้อนแรงยิ่งขึ้นในคำกล่าวที่อ้างอิงในหนังสือประวัติศาสตร์ของข้อเชื่อ เล่มเจ็ดของอดอล์ฟ ฮาร์นัค ดังนี้

 

[ลูเธอร์] ได้ประกาศว่าคำ homoousios ไม่สามารถจะยอมให้ได้ว่าเป็นความหมายที่ถูกต้อง เพราะว่ามันแสดงถึงสภาวะที่เลวร้ายเมื่อคำเช่นนี้ถูกคิดค้นขึ้นในระบบความเชื่อของคริสเตียน “...แต่ถ้าวิญญาณจิตของผมเกลียดคำ homoousios และผมไม่ชอบที่จะใช้มันได้ ผมก็ไม่ใช่คนนอกศาสนา เพราะใครเล่าจะมาบังคับให้ผมใช้มันได้... แม้ว่าผู้เชื่อตามแบบเอเรียส[12]จะมีมุมมองที่ผิดในเรื่องความเชื่อนี้ แต่พวกเขาก็ทำถูกต้องมากในเรื่องนี้...คือที่พวกเขาเรียกร้องว่า ไม่ควรยอมให้นำเอาคำในทางโลก หรือคำแปลกใหม่เข้ามาในหลักของความเชื่อ” (ประวัติศาสตร์ของข้อเชื่อ[13] เล่ม 7, บท 4, หน้า 225)

 

คำคัดค้านของลูเธอร์ที่มีต่อ homoousios เนื่องจากมีที่มาที่ไม่ตรงตามพระคัมภีร์นั้นรุนแรงมาก จนเขาถึงกับเต็มใจยอมรับว่า ผู้เชื่อแบบเอเรียสซึ่งถูกกล่าวว่านอกศาสนาจากคนทั้งหมด! นั้นทำ “ถูกต้องทีเดียว” ที่ปฏิเสธ “คำทางโลก” ลูเธอร์รู้ดีว่าการวิจารณ์อย่างเปิดเผยของเขาเกี่ยวกับ homoousios อาจเปิดช่องให้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็น “คนนอกศาสนา” เพราะ homoousios เป็นหลักสำคัญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ในการกล่าวอ้างที่น่าแคลงใจว่าเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว และเมื่อไม่มีคำนี้ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็จะตกไปเป็นความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าสามองค์ อย่างชัดเจนทันที

 

คำยอมรับของนักวิชาการคอทอลิกเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ

      ลูเธอร์มาจากกลุ่มนิกายโปรแตสแตนท์ชั้นแนวหน้า แต่ว่าจะมีความขัดแย้งที่คล้ายกันจากกลุ่มนิกายโรมันคาทอลิกชั้นแนวหน้าไหม?  ฮานส์ คูง นักศาสนศาสตร์นิกายโรมันคาทอลิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่20ได้เขียนตอนหนึ่งในหัวข้อ “ไม่มีหลักคำสอนเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพในพระคัมภีร์ใหม่” ในงานเขียนที่คลาสสิคของเขาที่ชื่อว่าศาสนาคริสต์:แก่นแท้, ประวัติศาสตร์, และอนาคตซึ่งเขาปฏิเสธความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างหนักแน่น  นี่เป็นคำกล่าวบางส่วนจากหนังสือของเขาเริ่มจากหน้า95

 

...ในขณะที่ [ในพระคัมภีร์ใหม่] มีความเชื่อในพระเจ้าพระบิดา ในพระเยซูพระบุตร และในพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า  จึงไม่ได้มีหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เดียวในสามองค์บุคคล (สถานะของการดำรงอยู่)  และไม่ได้มีหลักคำสอนเกี่ยวกับ ‘พระเจ้าที่ประกอบด้วยสามองค์’ หรือ ‘ตรีเอกานุภาพ’

 

...ตามพระคัมภีร์ใหม่แล้ว หลักการของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ชัดเจนว่าไม่ได้เป็น ‘สภาวะ’ ของความเป็นพระเจ้า (ธรรมชาติ) ที่รู้จักกันว่าเป็นหลายบุคคล เหมือนที่ผู้คนคิดตามศาสนศาสตร์นีโอ-ไนเซียของศตวรรษที่สี่  เพราะพระคัมภีร์ใหม่และในส่วนพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูนั้น หลักการของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ชัดเจนว่าเป็นพระเจ้าองค์เดียว (ho theos: พระเจ้าองค์นั้น = พระบิดา)[14] ทุกสิ่งเกิดจากพระองค์ และทุกสิ่งเพื่อพระองค์

 

...หลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพนี้จริงๆมาจากไหนกันแน่?  คำตอบก็คือว่า มันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ จากกระบวนทัศน์แบบบันทึกของคริสเตียนในยุคแรกไปสู่กระบวนทัศน์แบบกรีกโบราณของคริสตจักรในยุคแรก

 

      เราจะให้อีกตัวอย่างจากกลุ่มนิกายโรมันคาทอลิกชั้นแนวหน้า พจนานุกรมพระคัมภีร์ที่ได้รับการยกย่อง เป็นเล่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสองศตวรรษที่ผ่านมา และเป็นชุดพจนานุกรมพระคัมภีร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดเท่าที่เคยมีในสมัยนั้นคือ พจนานุกรมพระคัมภีร์เชิงวิชาการ ที่เขียนโดยบาทหลวงจอห์น แอล แม็คเคนซี่[15] ซึ่งแม้ว่าจะเขียนโดยบาทหลวงคาทอลิก แต่ชาวโปรแตสแตนท์ก็ยังใช้กัน เนื่องจากให้ความรู้ลึกขึ้นและการเขียนที่เข้าใจได้ง่าย

 

 

 TM 13 1

 

 

      หัวข้อ “ตรีเอกานุภาพ” ในพจนานุกรมนี้ แม็คเคนซี่ที่ตัวเขาเองเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนหนึ่ง ได้ให้ข้อสังเกตบางอย่างที่ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อในตรีเอกานุภาพซึ่งรวมถึง (i) หลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพเพิ่งมีขึ้นเมื่อศตวรรษ 4 และ 5 และไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อตามพระคัมภีร์ (ii) คำของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ใช้อธิบายเกี่ยวกับพระเจ้าเป็นคำตามปรัชญากรีก มากกว่าคำตามพระคัมภีร์ (iii) คำที่ไม่ตรงตามพระคัมภ์อย่างเช่น “เนื้อแท้” และ “แก่นแท้” ถูกบรรดานักศาสนศาสตร์ยุคแรกๆนำไปใช้ “อย่างผิดๆ” กับพระเจ้า (iv) ความเป็นจริงส่วนบุคคลของพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นคลุมเครือและภายหลังได้มีการพัฒนาขึ้นในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (v) ตรีเอกานุภาพเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ซึ่งเกือบเป็นไม่ได้ที่จะเข้าใจ (vi) ตรีเอกานุภาพไม่ได้ถูกกล่าวถึงหรือบอกไว้ในพระคัมภีร์เดิม

      เราต้องจำไว้ว่าบาทหลวงแม็คเคนซี่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนหนึ่ง ต่อไปนี้เป็นข้อความตัดตอนที่เกี่ยวข้องกันจากบทความของเขา

 

ตรีเอกานุภาพ ตรีเอกานุภาพของพระเจ้าถูกกำหนดโดยคริสตจักรตามความเชื่อที่ว่าในพระเจ้ามีสามองค์บุคคลผู้ทรงดำรงอยู่ในสภาวะเดียวกัน ความเชื่อที่กำหนดเช่นนี้เพิ่งจะมีขึ้นในศตวรรษที่ 4 และ 5 และด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้เป็นความเชื่อตามพระคัมภีร์อย่างชัดเจนและอย่างเป็นทางการ ตรีเอกานุภาพของหลายองค์บุคคลภายในสภาวะที่รวมเป็นหนึ่งนั้น ถูกกำหนดไว้ในแง่ของ “บุคคล” และ “สภาวะ” ซึ่งเป็นคำศัพท์ทางปรัชญากรีกนั้น ที่จริงแล้วคำศัพท์เหล่านี้ไม่มีปรากฏในพระคัมภีร์ คำนิยามของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการถกเถียงกันอย่างยาวนาน ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้และคำศัพท์อื่นๆ เช่น “เนื้อแท้” และ “แก่นแท้” ถูกนักศาสนศาสตร์บางคนนำมาใช้อย่างผิดๆกับพระเจ้า

. . . . .

 

ความเป็นจริงส่วนบุคคลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เกิดขึ้นทีหลังกว่าความเป็นจริงส่วนบุคคลของพระบิดาและพระบุตร ซึ่งเป็นคำศัพท์ส่วนบุคคล... สิ่งที่แทบจะไม่ชัดเจนเกี่ยวกับพระวิญญาณ คือความเป็นจริงส่วนบุคคลของพระองค์ ที่พระองค์มักจะถูกกล่าวถึงด้วยภาษาที่ความเป็นจริงส่วนบุคคลของพระองค์ไม่ชัดเจน

. . . . .

 

...ในความเชื่อของคาทอลิกแล้ว ตรีเอกานุภาพของหลายองค์บุคคลภายในสภาวะที่รวมเป็นหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ในที่สุด และไม่ต้องพูดถึงส่วนที่ไม่สามารถอธิบายได้ยิ่งกว่าก็คือ ความสัมพันธ์ของหลายองค์บุคคลที่มีต่อกันและกัน

. . . . .

 

พระคัมภีร์เดิมไม่มีข้อเสนอแนะหรือมีวี่แววให้เห็นถึงตรีเอกานุภาพของหลายองค์บุคคล ที่จะมีก็คือคำต่างๆซึ่งพระคัมภีร์ใหม่ใช้นั้น จะแสดงถึงตรีเอกานุภาพของหลายองค์บุคคลได้ เช่น พระบิดา พระบุตร พระวาทะ พระวิญญาณ เป็นต้น

 

การคัดค้านจากผู้เชื่อกลุ่มอีแวนเจลิคอลแถวหน้า

       ตอนนี้ผมจะยกตัวอย่างจากผู้เชื่อกลุ่มอีแวนเจลิคอลแถวหน้า  มาร์แชล เดวิสเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและอยู่ในกลุ่มอีแวนเจลิคอล แม้จะไม่ใช่ผู้เชื่อกลุ่มอีแวนเจลิคอลแบบหัวโบราณที่เขาเคยเป็นอีกต่อไปก็ตาม  เขาทำหน้าที่เป็นศิษยาภิบาลคณะแบ็บติสต์เป็นเวลา 40 ปี และได้ปริญญาเอกจากวิทยาลัยศาสนศาสตร์เซ้าเทิร์น แบ็บติสต์[16] หนึ่งในหนังสือหลายเล่มที่เขาเขียนก็คือ สิ่งที่ศิษยาภิบาลจะไม่บอกคุณ: แต่ผมบอกคุณได้เพราะผมเกษียณแล้ว[17]  ชื่อเรื่องอาจฟังดูเบาสมองหรือดูเล่นๆด้วยซ้ำ แต่จริงๆแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นการโต้ตอบที่น่าเศร้าและค่อนข้างน่าเจ็บปวดเกี่ยวกับสิ่งที่ศิษยาภิบาลกลุ่มอีแวนเจลิคอลหลายคนก็รู้อยู่ในใจของพวกเขาว่าเป็นความจริง แต่จะไม่บอกคนอื่นเพราะกลัวว่าจะถูกไล่ออกหรือตกงาน

หนึ่งในปัญหากวนใจที่มาร์แชล เดวิส กล่าวถึง คือเรื่องตรีเอกานุภาพซึ่งเขาพูดถึงในบทที่ภายใต้หัวข้อ “ไม่มีใครเข้าใจตรีเอกานุภาพ” เดวิสเองซึ่งเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้เริ่มต้นด้วยคำพูดต่อไปนี้

 

สำหรับคริสเตียนแล้ว แนวคิดเรื่องพระเจ้าองค์เดียวในสามบุคคลนั้นมีความสำคัญมาก แต่มันก็สับสนมากด้วยเช่นกัน  เมื่อคุณคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะเห็นว่าเรื่องตรีเอกานุภาพนั้นฟังดูไม่สมเหตุสมผล  ไม่มีใครที่เข้าใจ แม้แต่ศิษยาภิบาลของคุณ

 

หลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการเชื่อว่าพระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้า  บรรดาคริสเตียนเชื่อว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าในแบบเดียวกับที่พระเจ้าพระบิดาทรงเป็นพระเจ้า  ถึงอย่างนั้นคริสเตียนก็ไม่เต็มใจที่จะนมัสการพระเจ้าสององค์ มันเป็นสัญญาณของความเชื่อว่าพระเจ้ามีหลายๆองค์ ยังไม่ต้องพูดถึงพวกนอกรีตที่เชื่อตามคำสอนของมาร์กิโอน  การที่เพิ่มพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาผสมโรง แล้วคริสต์ศาสนาก็ดูเหมือนว่าจะนมัสการพระเจ้าสามองค์ นั่นก็คือความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน

 

จากนั้นเดวิสก็อธิบายภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของความเชื่อในตรีเอกานุภาพดังนี้

 

แต่ถึงกระนั้น ก็เป็นได้ที่มีพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นตามพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูที่กล่าวว่า “จงฟังเถิด คนอิสราเอลเอ๋ย องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของท่าน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่ง”[18] (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4)  ดังนั้นพวกเขาจึงถูกบีบให้อยู่ในสถานะที่ฟังไม่ขึ้นโดยกล่าวว่า พระเจ้าทรงเป็น ทั้งเป็นสามและเป็นหนึ่ง แม้ว่าคำกล่าวนั้นจะขัดแย้งในตัวเองตามหลักเหตุผลก็ตาม  พระบิดา พระคริสต์ และพระวิญญาณ ทั้งหมดเป็นพระเจ้าและพระองค์ทั้งหมดก็เป็นพระเจ้าองค์เดียวด้วย

 

บรรดาคริสเตียนได้พาตัวเองไปจนมุมทางศาสนศาสตร์  หลังจากที่นักศาสนศาสตร์พยายามแก้ไขปัญหานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า(ทั้งหมดถูกประกาศว่านอกรีต) พวกเขาก็ยอมแพ้และประกาศว่าตรีเอกานุภาพเป็นความจริง ทั้งๆที่มันไม่สมเหตุสมผล  มันลึกลับซับซ้อนไม่สามารถอธิบายได้!  มันขัดแย้งกันเอง!  ตามจริงแล้ว มันเป็นแค่ปัญหาที่พวกเขาไม่สามารถแก้ได้  แทนที่จะทิ้งหลักคำสอนที่ฟังไม่ขึ้น พวกเขากลับประกาศว่าเป็นความจริงโดยคำสั่ง

 

เดวิสกล่าวว่าตรีเอกานุภาพไม่มีพื้นฐานตามพระคัมภีร์

 

มีอีกอย่างที่ศิษยาภิบาลของคุณจะไม่บอกคุณก็คือ ตรีเอกานุภาพไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์  คำว่า พระบิดาพระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นมีอยู่ในพระคัมภีร์ ยังมีบางที่ที่จะพบทั้งสามคำนี้ (หรือคำที่คล้ายกัน) อยู่ด้วยกัน ตัวอย่างที่รู้จักกันดีที่สุดคือพระมหาบัญชาจากมัทธิว 28:19 ซึ่งพระเยซูทรงสั่งให้พวกอัครทูตของพระองค์ให้บัพติศมาแก่ชนทุกชาติ “ในพระนามของพระบิดา และพระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์”  แต่ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่มีความพยายามจะกำหนดให้พระนามเหล่านี้ เป็นสามองค์บุคคลที่เป็นพระเจ้าอย่างเท่าเทียมกันในความเป็นพระเจ้าที่รวมกันเป็นหนึ่ง

 

หลักคำสอนของตรีเอกานุภาพ ดังที่เราทราบกันดีในปัจจุบันถึงความสับสนอย่างมากนั้น เกิดขึ้นในศตวรรษที่สามโดยเทอร์ทูลเลียน  เขาเป็นนักศาสนศาสตร์คนแรกที่ใช้คำว่า “ตรีเอกานุภาพ”  และเขาก็ยังเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “องค์บุคคล” และ “แก่นแท้” เพื่ออธิบายถึงพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์  ตั้งแต่นั้นมาหลักคำสอนนี้ก็ตกต่ำลงมาตลอด  คริสต์ศาสนาน่าจะดีกว่านี้ถ้า [เทอร์ทูลเลียน]ได้ทิ้งไว้ว่าเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับประสบการณ์ของคริสเตียน แทนที่จะพยายามให้เรื่องนี้เป็นแนวคิดทางศาสนศาสตร์

 

การใช้ homoousios ของความเชื่อแบบนอสติก

      ความเชื่อแบบนอสติกได้ถูกมองในวงกว้าง ว่าเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของคริสตจักรในสองศตวรรษแรก เราจะไม่อธิบายว่าความเชื่อแบบนอสติกคืออะไร[19] เนื่องจากมันเป็นหัวข้อโดยทั่วไปในประวัติศาสตร์คริสตจักร เว้นแต่จะพูดว่า มันเป็นขบวนการที่เป็นเนื้อร้ายซึ่งได้ฝังรากลึกในคริสตจักร และก็เกือบจะทำลายคริสตจักร นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชื่อจัสโต แอล กอนซาเลซ กล่าวว่า “จากการตีความที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความเชื่อของคริสเตียนทั้งหมดนี้ ไม่มีการตีความอันไหนจะเป็นอันตรายเท่า หรือจะเฉียดชัยชนะได้เท่าความเชื่อแบบนอสติก[20]

      ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะต้องตกใจที่รู้ว่า ผู้เชื่อแบบนอสติกเป็นพวกแรกที่ใช้คำ homoousios คนแรกที่รู้กันว่าใช้คำนี้คือบาสิลิดิส นักศาสนศาสตร์ผู้เชื่อแบบนอสติก (คริสต์ศตวรรษที่ 2) ที่ใช้ homoousios อธิบายแนวคิดของเขาเกี่ยวกับ “สามสภาวะของการเป็นบุตรที่มีเนื้อแท้เดียวกับพระเจ้าผู้ไม่ได้เป็น”[21]

  เมื่อความเชื่อแบบนอสติกมาถึงจุดสูงสุด คำ homoousios จึงมีความโด่งดังในคริสตจักรว่าเป็นคำของความเชื่อแบบนอสติก แต่ก่อนหน้าการสังคายนาแห่งไนเซียในปี ค.ศ. 325 บาทหลวงจำนวนมากของคริสตจักรก็รู้อยู่แก่ใจแล้วถึงการใช้ homoousios ของความเชื่อแบบนอสติก ในงานเขียนที่เชื่อถือได้ของอาร์ พี ซี แฮนสัน ที่ชื่อการค้นหาหลักคำสอนของคริสเตียนเกี่ยวกับพระเจ้า[22] กล่าวในหน้า 191 ว่า “ฮิปโปลิทัสอ้างอิงว่าบรรดาผู้เชื่อแบบนอสติกใช้คำ homoousios และเคลเมนท์ แห่งอเล็กซานเดรียก็ยังใช้คำนี้ในคำอ้างอิงของเหล่าผู้เขียนที่เชื่อแบบนอสติก เช่นเดียวกับไอเรเนียส ... ออริเกน[23] ก็ใช้คำนี้เช่นเดียวกันเมื่อเขากำลังอ้างถึงคนนอกศาสนาที่เชื่อแบบนอสติกโดยเฉพาะ” งานเขียนที่เชื่อถือได้ทางวิชาการของแฮนสันนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักประวัติศาสตร์คริสตจักรทุกคน และนักวิชาการทั้งหลายที่เป็นผู้นำศาสนาคริสต์สมัยแรกเริ่มในโลกที่พูดภาษาอังกฤษ

แม้ว่าความเชื่อแบบนอสติกจะเสื่อมถอยลงในช่วงศตวรรษที่สามหรือสี่ แต่ก็ยังทิ้งรากฐานไว้ในคริสตจักร ดังที่เห็นได้จากการรับเอา homoousios ที่สภาสังคายนาแห่งไนเซียในปี ค.ศ. 325 แนวคิดสำคัญของความเชื่อแบบนอสติกก็คือบ่อเกิดของสิ่งที่ดำรงอยู่ สิ่งที่เล็กกว่าย่อมมาจากสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ดังนั้นมันจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การสังคายนาแห่งไนเซียจึงมีข้อกำหนดว่า ถ้าไม่เชื่อจะถูกแช่งสาป ที่พระเจ้าพระองค์ที่สองเกิดมาจากพระเจ้าพระองค์แรก เหมือนที่ความสว่างเกิดมาจากแหล่งของความสว่าง สูตรของข้อเชื่อแห่งไนเซียเกี่ยวกับพระเยซูว่าเป็น “พระเจ้าจากพระเจ้า ความสว่างจากความสว่าง” และคำอธิบายอื่นๆที่เลิศลอยนั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสะท้อนตรงๆถึงศาสนาและปรัชญากรีก

 

ความยุ่งยากอย่างมากตามหลักเหตุผลที่ว่า ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

เป็นความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันหรือไม่?

      วามเชื่อในตรีเอกานุภาพ เป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เดียวในสามบุคคล ในขณะที่ความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน[24] เป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าสามพระองค์ที่ต่างบุคคลกัน ความเชื่ออย่างหลังเป็นกรณีเฉพาะของความเชื่อในพระเจ้าหลายๆองค์[25] ซึ่งเป็นความเชื่อในพระเจ้ามากมาย (เช่น ศาสนาฮินดู)

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพปฏิเสธอย่างแข็งขันที่ว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพเป็นความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็มีความคล้ายคลึงกันโดยเนื้อแท้ ดังที่เราจะได้เห็น พูดให้ชัดๆก็คือ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน ที่อ้างว่าเป็นความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว

  ในความพยายามที่จะให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพสามารถเข้าใจได้นั้น ปัญหาโดยตรงที่เราเจอก็คือ การใช้คำพูดกำกวมที่ให้ความหมายสองด้านทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิด คือที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพกำหนดความหมายคำ “พระเจ้า” ให้เป็นสองความหมายที่แตกต่างกัน แล้วใช้สลับไปมาระหว่างสองความหมายนี้ ซึ่งส่วนมากก็เพื่อจะหลีกเลี่ยงภาวะลำบากตามหลักเหตุผล

  มีความหมายแรกของคำ “พระเจ้า” ที่พระเจ้าจะไม่ใช่พระเจ้า เว้นแต่ว่าจะมีพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ อยู่ด้วยกันทั้งสามพระองค์ สูตรนี้ถูกกำหนดไว้เพื่อเป็นวิธีหลีกเลี่ยงความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และเป็นหนึ่งในสองหลักการสำคัญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพตามคาร์ล บาร์ธ[26] (ที่เราอ้างถึงย้อนกลับไปสองสามหน้า)

  นการใช้คำพูดกำกวมที่ให้ความหมายสองด้านของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น ยังมีความหมายที่สองและขัดแย้งกันของ “พระเจ้า” ซึ่งแต่ละพระองค์ในตรีเอกานุภาพต่างก็เป็นพระเจ้าอย่างเอกเทศและอย่างสมบูรณ์ “ดังนั้นพระบิดาก็คือพระเจ้า พระบุตรก็คือพระเจ้า และพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็คือพระเจ้า” (หลักข้อเชื่ออธานาเซีย) [27] บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวอีกว่า แต่ละพระองค์เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์” (ไวท์, กรูเดม, โบว์แมน)[28] หรือเป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างบริบูรณ์” (พระคัมภีร์ฉบับศึกษาของอีเอสวี หน้า 2513)[29]

  การสังคายนาของสภาลาเตรันครั้งที่สี่ (1215, กรุงโรม)[30] ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นั้นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “แต่ละพระองค์เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง” พูดอีกอย่างก็คือ พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง พระบุตรทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง และพระวิญญาณทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง แต่กระนั้นทั้งสามพระองค์ก็รวมกันเป็นพระเจ้าเดียวอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง

      ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น แต่ละพระองค์ที่รวมอยู่ในพระเจ้าตรีเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นพระบิดา หรือพระบุตร หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ต่างก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ เป็นพระเจ้าที่ดำรงอยู่ด้วยกันตลอดนิรันดร์ และเป็นพระเจ้าที่เท่าเทียมกันจนถึงกับว่าบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพสามารถพูดถึง “พระเจ้าพระบิดา พระเจ้าพระบุตร และพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์” ในภาษาที่อธิบายความเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ของแต่ละพระองค์ ความเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ของแต่ละพระองค์จะยังคงอยู่ แม้เราจะอ่านกลับลำดับกันในแต่ละถ้อยคำของสามประโยคย่อยที่ว่า “พระบิดาคือพระเจ้า พระบุตรคือพระเจ้า พระวิญญาณบริสุทธิ์คือพระเจ้า” (หลักข้อเชื่อ อธานาเซีย)

      ความเชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่า แต่ละพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระบิดา หรือพระบุตร หรือพระวิญญาณ ต่างก็เป็นพระเจ้า “อย่างสมบูรณ์” (“แต่ละพระองค์เป็นพระเจ้า อย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง”, การสังคายนาของสภาลาเตรันครั้งที่สี่) นอกจากนั้น ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ยังกำหนดความแตกต่างกันมากระหว่างพระองค์เหล่านี้ เพื่อไม่ให้พระบิดาสับสนกับพระบุตร หรือให้พระบุตรสับสนกับพระวิญญาณ หรือให้พระบิดาสับสนกับพระวิญญาณ หลักข้อเชื่ออธานาเซียกล่าวว่า “เพราะว่ามีพระบิดาองค์หนึ่ง พระบุตรอีกองค์หนึ่ง และพระวิญญาณบริสุทธิ์อีกองค์หนึ่ง” ที่จะกล่าวให้ชัดเจนก็คือ ความแตกต่างขององค์บุคคลนั้นเห็นกันแล้วในข้อเท็จจริงพื้นฐานว่า บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพพูดถึง “สามองค์บุคคล” ในพระเจ้าเดียว

เนื่องจากแต่ละพระองค์ทั้งสามต่างก็เป็นพระเจ้า “อย่างสมบูรณ์” แต่กระนั้นก็เป็นสามพระองค์ที่ต่างบุคคลกัน มันจึงถูกต้องตามความหมายของคำที่จะบอกว่า พระองค์ทั้งสามก็คือพระเจ้าสามพระองค์ (คือความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน) ความฉะฉาน ความชัดเจน และความแจ่มแจ้งของข้อสรุปนี้สังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด แต่หลักข้อเชื่ออธานาเซียก็ปฏิเสธความถูกต้องนี้โดยกล่าวว่า “และกระนั้นพระองค์ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นพระเจ้าสามพระองค์ แต่เป็นพระเจ้าองค์เดียว”

  การฝ่าฝืนความหมายของคำอย่างชัดเจนนี้ ซึ่งหลักข้อเชื่ออธานาเซียไม่ได้ให้คำอธิบายใดๆนอกจากการไม่ยอมรับโดยคำสั่งนั้น จะต้องถูกปฏิเสธ เว้นแต่ว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ฟังขึ้น เช่น การสนับสนุนอย่างชัดเจนจากพระคัมภีร์ แต่พระคัมภีร์ได้สอนสูตรที่สามรวมเป็นหนึ่งของความเชื่อในตรีเอกานุภาพจริงหรือ? ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพหลายคน (บาร์ธ, คูง, เดวิส) ยอมรับว่าไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์ หนึ่งในผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นก็คือ ดร. ชาร์ล ซี ไรรี่ ผู้เขียนพระคัมภีร์ฉบับศึกษาของไรรี่[31] และเป็นศาสตราจารย์วิชาศาสนศาสตร์ระบบที่สถาบันศาสนศาสตร์ดัลลาส[32] ก็ยอมรับอย่างน่าประหลาดใจเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า

 

แต่มีหลายหลักคำสอนที่บรรดาผู้เชื่อกลุ่มอีแวนเจลิคอล ยอมรับว่ามีสอนไว้อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์โดยไม่มีข้อความพิสูจน์ หลักคำสอนของตรีเอกานุภาพให้ตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ มันก็เป็นธรรมที่จะบอกว่าพระคัมภีร์ไม่ได้สอนหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพไว้อย่างชัดเจน ที่จริงแล้วไม่มีข้อความพิสูจน์แม้แต่ข้อเดียว ถ้าข้อความพิสูจน์นี้ เราหมายถึงข้อหรือตอนจากพระคัมภีร์ที่กล่าวไว้ ‘อย่างชัดเจน ว่ามีพระเจ้าองค์เดียวที่ดำรงอยู่ในสามองค์บุคคล ... การยกตัวอย่างข้างต้นพิสูจน์ถึงวิธีคิดผิดๆในการสรุปว่า ถ้าสิ่งนั้นไม่มีข้อความจากพระคัมภีร์มาพิสูจน์ เราก็ไม่สามารถจะสอนผลสรุปนั้นได้อย่างแน่ชัด... หากเป็นเช่นนั้น ผมก็ไม่สามารถจะสอนหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพ หรือความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ หรือความเป็นพระเจ้าของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ (ศาสนศาสตร์พื้นฐาน หน้า 89-90)[33]

 

ดร.ไรรี่ยกระดับหลักคำสอนของตรีเอกานุภาพให้อยู่เหนือพยานและสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์ โดยไม่มีวี่แววของความลังเลหรือบอกเป็นนัย

      มีผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอีกคนหนึ่งที่กล่าวว่า จะไม่พบคำว่าตรีเอกานุภาพที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ นั่นก็คือ มิลลาร์ด เอริกสัน ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้เชี่ยวชาญในหลักคำสอนเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ และเป็นผู้เขียนหนังสือศาสนศาสตร์คริสเตียน[34]

 

[ตรีเอกานุภาพ] ไม่ได้มีสอนอย่างชัดเจนหรือแน่ชัดจากที่ไหนในพระคัมภีร์ แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหัวใจของหลักคำสอน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับความเชื่อของคริสเตียน ในเรื่องนี้ มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นความจริงจากหลักคำสอนของพระคัมภีร์อย่างแท้จริง กล่าวคือ มีความเกี่ยวพันกันโดยตรงระหว่างความชัดเจนของหลักคำสอนในพระคัมภีร์ กับความสำคัญของหลักคำสอนต่อความเชื่อและชีวิตของคริสตจักร (พระเจ้าในสามองค์บุคคล:การตีความร่วมสมัยของตรีเอกานุภาพ, หน้า 11)[35]

 

วิธีที่ดีเยี่ยมในการอธิบายแบบให้พ้นตัว ถึงรากฐานความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ โดยการตั้งสมมุติฐานว่า สามบุคคลร่วม “แก่นแท้” (homoousios) เดียวกันนั้นไม่น่าเชื่อถือ นั่นไม่เพียงเพราะคำว่า homoousios ไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะแก่นแท้หรือสภาวะที่มีร่วมกัน จะบอกถึงลักษณะของความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน ซึ่งเหมือนกับลักษณะของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ! ไม่ว่าเราจะพูดถึงการรวมเป็นหนึ่งของพระเจ้าสามพระองค์ (ความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน) หรือการรวมเป็นหนึ่งของสามองค์บุคคลในพระเจ้าองค์เดียว (ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) ทั้งสามพระองค์ก็ร่วมแก่นแท้หรือเนื้อแท้เดียวกันของความเป็นพระเจ้า การนำแนวคิด “แก่นแท้เดียวกัน” มาใช้กับสามองค์บุคคลซึ่งแต่ละองค์ต่างก็เป็นพระเจ้า “อย่างสมบูรณ์” นั้น ไม่ได้ทำให้ทั้งสามพระองค์เป็น “พระเจ้าองค์เดียว” มันแค่ทำให้พระเจ้าอย่างสมบูรณ์ทั้งสามพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง ดังนั้นคำว่า homoousios (ของแก่นแท้เดียวกัน) ซึ่งรู้กันว่าใช้ครั้งแรกโดยบาสิลิดิส[36] นักศาสนศาสตร์ที่เชื่อแบบนอสติก และได้รับการรับรองในการสังคายนาแห่งไนเซียที่มีคำคัดค้านของบาทหลวงบางคนจากทั้งสองฝ่าย แนวคิดนี้จึงไม่ได้ช่วยความเชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่แท้จริงแล้วกลับทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ต้องการที่ว่า ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีความใกล้เคียงกับความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน!

      รากฐานความเชื่อในพระเจ้าสามองค์ที่แตกต่างกันของความเชื่อในตรีเอกานุภาพปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่ม เช่น ตรีเอกานุภาพที่ลืมเอ่ยถึง ของ เจมส์ อาร์ ไวท์[37] ซึ่งเขียนรับรองโดย เจ ไอ แพ็คเกอร์, กลีสัน อาร์เคอร์, นอร์แมน ไกส์เลอร์ และ จอห์น แมคอาร์เธอร์[38] แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในกลุ่มอีแวนเจลิคอล

      ไวท์ให้คำนิยามของตรีเอกานุภาพที่เขาเรียกว่า “สั้น กระชับ และถูกต้อง” ว่า “ภายในตัวตนเดียวซึ่งก็คือพระเจ้านั้น มีสามองค์บุคคลที่เท่าเทียมกัน และดำรงอยู่ นิรันดร์ด้วยกัน คือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” (หน้า 26) ตรงนี้ไวท์แยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “บุคคล” กับ “ตัวตน” โดยที่พระเจ้าเป็นสามองค์บุคคล แต่กระนั้นก็มีตัวตนเดียว ไวท์อธิบายเรื่องนี้ว่า

 

“เมื่อพูดถึงตรีเอกานุภาพ เราต้องตระหนักว่า เรากำลังพูดถึงหนึ่ง “อะไร” และสาม “ใคร” หนึ่ง “อะไร” ก็คือตัวตนหรือแก่นแท้ของพระเจ้า ส่วนสาม “ใคร” ก็คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ

 

  คำกล่าวที่น่าตกใจนี้บอกเราว่า คำกล่าวอ้างของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าเป็นความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวนั้นขึ้นอยู่กับแนวคิดของ “ตัวตนเดียว” หรือ “แก่นแท้เดียว” มากกว่าจะเป็น “บุคคลเดียว”[39] ตรงนี้เราจะเห็นอีกครั้งถึงการทำให้พระเจ้าของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ใช่บุคคล พระองค์ไม่ใช่บุคคลอีกต่อไป ความพยายามที่จะทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีความคล้ายคลึงกับความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวอยู่บ้างนั้น ไวท์จึงถูกบีบที่จะทำให้พระเจ้าเป็น “อะไรอย่างหนึ่ง” ไม่ใช่ “ใครคนหนึ่ง[40] ซึ่งเป็นคำอธิบายที่หมิ่นประมาทพระเจ้า พระเจ้าของความเชื่อในตรีเอกานุภาพตามหลักก็คือ “สิ่ง” (“it หรือ “มัน”) ไม่ใช่ “บุคคล” (“He หรือ “พระองค์”)

  ถ้าคุณใช้สิ่งนี้เพื่อหมายความว่า พระเจ้าในความเชื่อตรีเอกานุภาพไม่ใช่บุคคล คุณก็คิดถูกแล้ว เทอร์ทูลเลียนกล่าวว่า “พระเจ้าเป็นนามสำหรับแก่นสาร” (ดูที่ เจ เอ็น ดี เคลลี่ ในหลักคำสอนของคริสเตียนในยุคแรก หน้า 114) เราได้อ้างคำพูดของซี เอส ลูอิส ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแล้วว่า “ศาสนศาสตร์คริสเตียนไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรงเป็นบุคคล” (ทัศนะของคริสเตียน หน้า 79)[41]

 

ความหมายของคำตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

  ในหลักเหตุผลที่แปลกประหลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่เพียงแค่ใช้ “เดียวกัน” ดังใน “แก่นแท้เดียวกัน” ก็ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว นี่คือสิ่งที่เราอาจเรียกว่า “ความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวโดยคำศัพท์” ที่คุณประกาศว่าหลักคำสอนหนึ่งเป็นความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวเพียงเพราะการยึดคำ เช่น “เดียว” ที่ฟังดูว่าเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และมีความน่าดึงดูดว่าเป็นความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว

  ความยุ่งยากที่คงทนสำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ ทั้งความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันและความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น มีสามพระองค์ที่เป็นพระเจ้า “อย่างสมบูรณ์” นั่นคือ มีสามองค์บุคคลที่แต่ละองค์ก็เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริงสูตรนี้อย่างที่บอกนั้น เป็นความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน มากกว่าจะเป็นความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว ดังนั้นบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะต้องทำอย่างไรหรือ เพื่อจะให้ฟังดูเป็นความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว? พวกเขาก็แค่บอกว่า ทั้งสามพระองค์ร่วมแก่นแท้ “เดียวกัน”!

  ในหลักเหตุผลแปลกประหลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่แนวความคิดเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันของ “สามองค์บุคคลซึ่งแต่ละพระองค์ต่างก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์” (จงสังเกตคำสำคัญว่า “อย่างสมบูรณ์”) ไม่ได้ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพขาดคุณสมบัติจากการเป็นความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว นี่เป็นความพยายามที่จะมีทั้งสองทาง คือมีความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวและก็เชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน มีพระเจ้าที่เป็นองค์เดียวและมีพระเจ้าที่เป็นสามพระองค์ มีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและมีสามพระองค์ที่แต่ละพระองค์ก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในการวิเคราะห์สุดท้ายนี้ หลักเหตุผลที่วกวนมากของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนี้เป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในความพยายามที่จะพิสูจน์ ซึ่งบางครั้งก็ในทางคณิตศาสตร์ว่าสามเท่ากับหนึ่ง หรือ 1/3 เท่ากับหนึ่ง

  เจมส์ ไวท์กล่าวว่า “พระบิดาไม่ใช่ 1/3 ของพระเจ้า, พระบุตรไม่ใช่ 1/3 ของพระเจ้า, พระวิญญาณไม่ใช่ 1/3 ของพระเจ้า แต่ละพระองค์ก็เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ แต่ละพระองค์มีความเท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน” คำกล่าวนี้มีปัญหาเพราะถ้าพระเจ้าเป็นสามองค์บุคคล ดังนั้นองค์หนึ่งองค์ใดก็เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์” นั่นคือ เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และอย่างแท้จริง ก็จะต้องมีทั้งสามพระองค์ในเวลาเดียวกัน มิฉะนั้นพระองค์ก็จะเป็นพระเจ้าที่ไม่สมบูรณ์ (เว้นแต่เราจะเปลี่ยนความหมายของ “พระเจ้า” โดยใช้คำพูดกำกวมที่ให้ความหมายสองด้านทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิด)

  ปัญหายิ่งลึกกว่านั้นอีก เพราะถ้าพระเยซูไม่ได้เป็นทั้งสามองค์ในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็จะไม่ใช่พระเจ้าเลย เพราะว่าพระเจ้าจะต้องดำรงอยู่เป็นสามพระองค์เสมอ ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็กำลังเปลี่ยน “ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ให้ตกอยู่ในข่ายของความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เราต้องจำไว้ว่าหนึ่งในสองหลักการสำคัญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ พระเจ้าจะไม่ใช่พระเจ้าเลย เว้นแต่พระองค์จะทรงเป็นทั้งสามพระองค์ในเวลาเดียวกัน (บาร์ธ)

  ไวท์ปฏิเสธความคิดที่ว่าพระเยซูทรงเป็นหนึ่งในสามของพระเจ้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระเยซูทรงเป็นหนึ่งในสามของตรีเอกานุภาพในความหมายของการเป็นหนึ่งในสามองค์บุคคลของตรีเอกานุภาพ ซึ่งบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพถือว่าเท่าเทียมกับพระเจ้า

  คำกล่าวของไวท์ว่า ทั้งสามองค์ต่างก็เป็น “พระเจ้าอย่างสมบูรณ์” นั้นเป็นการยืนยันที่ไม่มีข้อสนับสนุนของความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันขนานแท้และดั้งเดิม แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ปฏิเสธว่า หลักคำสอนของพวกเขาเป็นความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน และพวกเขาทำเช่นนี้โดยยืนกรานว่า พระเจ้าจะไม่ใช่พระเจ้าโดยมีพระบิดาแต่เพียงลำพัง หรือมีพระบุตรแต่เพียงลำพัง หรือมีพระวิญญาณแต่เพียงลำพัง แต่โดยมีทั้งสามพระองค์รวมกัน นี่เป็นหนึ่งในสองหลักการพื้นฐานของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (บาร์ธ) และระบุไว้ในคำพูดต่อไปนี้ของมิลลาร์ด เอริกสัน[42] ผู้แทนที่มีชื่อเสียงของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า

 

พระเจ้าจะไม่สามารถดำรงอยู่เพียงแค่พระบิดา หรือเพียงแค่พระบุตร หรือเพียงแค่พระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพระองค์จะสามารถดำรงอยู่เพียงแค่พระบิดากับพระบุตร หรือเพียงแค่พระบิดากับพระวิญญาณ หรือเพียงแค่พระบุตรกับพระวิญญาณ โดยไม่มีพระองค์ที่สามของพระองค์เหล่านี้ในกรณีดังกล่าว นอกจากนี้ก็ไม่มีพระองค์ใดจากสามพระองค์ จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้เป็นส่วนของตรีเอกานุภาพ... ไม่มีพระองค์หนึ่งพระองค์ใดจะมีพลังชีวิตภายในตัวเองเพียงลำพัง แต่ละพระองค์จะสามารถดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเป็นส่วนของพระเจ้าที่ประกอบด้วยสามองค์เท่านั้น (พระเจ้าในสามองค์บุคคล, หน้า 264)[43]

 

      เอริกสันเจอกับความยุ่งยากมากมาย ในความพยายามของเขาที่จะปกป้องความไม่สมเหตุสมผลและความไม่สอดคล้องกัน คำกล่าวของเขาที่ว่า “ไม่มีพระองค์หนึ่งพระองค์ใดมีพลังชีวิตภายในตัวเองโดยลำพัง” เป็นวิธีอธิบายที่น่าตกใจที่สุดถึงผู้ที่ควรจะเป็นพระเจ้า ในกรณีของพระบิดานั้น คำกล่าวของเอริกสันยังขัดแย้งกับยอห์น 5:26 ที่พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เอง

      คำกล่าวของเอริกสันก็น่าตกใจพอๆกันว่า “ไม่มีพระองค์ใดจากสามพระองค์นี้จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้เป็นส่วนของตรีเอกานุภาพ” เอริกสันไม่ได้แค่บอกว่าพระเจ้าทรงดำรงอยู่ในสามพระองค์ แต่ว่าแต่ละพระองค์ไม่มีพลังอำนาจในการดำรงอยู่นอกกรอบของตรีเอกานุภาพ! คำกล่าวของเอริกสันอาจจงใจให้เป็นวิธีหลีกเลี่ยงจากการเป็นความเชื่อในพระเจ้าสามบุคคลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

  คำกล่าวของเอริกสันว่า “ไม่มีพระองค์ใดจากสามพระองค์นี้จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้เป็นส่วนของตรีเอกานุภาพ” ได้ทำลายความหมายของการเป็นพระเจ้าอย่างมีผล เพราะถ้าพระเยซู (หรือพระบิดา หรือพระวิญญาณ) เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ละก็ การดำรงอยู่ของพระองค์ก็จะไม่ขึ้นอยู่กับใครหรือสิ่งใด เพราะพระเจ้า “ทรงเป็น” พระเจ้าผู้ทรงดำรงเป็นนิตย์ทรงเป็น “เราเป็นผู้ที่เราเป็น” หรือ “เราจะเป็นผู้ที่เราจะเป็น”[44] ไม่มีสิ่งใดจะสามารถจำกัด หรือกำหนด หรือจำกัดขอบเขตการดำรงอยู่ของพระเจ้าได้ แต่ในความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น ความเป็นจริงในการดำรงอยู่สูงสุดนั้นไม่ใช่พระเจ้าพระบิดา ทั้งๆที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และทั้งๆที่พระองค์ทรงเป็นผู้ให้พระบุตรได้บังเกิดมา และผู้ที่พระวิญญาณได้กระทำการจากพระองค์ ในทางตรงกันข้ามแล้ว ความเป็นจริงในการดำรงอยู่สูงสุดในความเชื่อตรีเอกานุภาพ เป็นกรอบของพระเจ้าสามพระองค์ที่ดำรงนิรันดร์ที่กำหนดการดำรงอยู่ของสามองค์บุคคล ซึ่งไม่มีพระองค์ใดจะสามารถดำรงอยู่นอกตรีเอกานุภาพได้ (เอริกสัน) พูดอีกอย่างก็คือ กรอบของตรีเอกภาพคือสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นพระเจ้าจริง นั่นเป็นเหตุที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่า พระเจ้าไม่ใช่ “บุคคล” หนึ่ง แต่เป็น “สิ่ง” หนึ่ง[45]

  คำกล่าวของเอริกสันที่ว่า “พระเจ้าไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้เพียงแค่เป็นพระบิดา หรือเพียงแค่เป็นพระบุตร หรือเพียงแค่เป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์” นั้นขัดแย้งกับหลักการของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่กล่าวว่า พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ พระบุตรทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์

  ความจริงแล้ว คำสอนที่ไม่ตรงตามพระคัมภีร์ของความเชื่อแบบซาเบลเลียนิส ซึ่มหรือความเชื่อแบบโมดาลิสซึ่ม[46] (ซึ่งกล่าวว่าในประวัติศาสตร์แห่งความรอด พระเจ้าองค์เดียวนี้ถูกสำแดงในสามสถานะคือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ) นั้นมีเหตุผลมากกว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  นั่นเป็นเพราะความเชื่อแบบโมดาลิส ซึ่มนั้นไม่มีความขัดแย้งในตัวเองเช่นเดียวกับความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน  ถ้าความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะมีความสมเหตุสมผลและสอดคล้องในตัวเอง มันจะสามารถเป็นได้ก็เมื่อเป็นเหมือนความเชื่อแบบโมดาลิสซึ่ม หรือความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งทั้งสองความเชื่อนี้ไม่ได้ตรงตามพระคัมภีร์เหมือนกันกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      ความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามพระองค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นกรณีพิเศษของความเชื่อในพระเจ้าหลายๆองค์ที่คาดว่าน่าจะรับเอามาจากภาษาของความเชื่อในพระเจ้าหลายๆองค์เราคงคาดหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นความจริงพอๆกันกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าศาสนาฮินดูที่มีชื่อเสียงในการนับถือพระเจ้าหลายๆองค์บางครั้งจะพูดถึง “เนื้อแท้ของพระเจ้า” หรือ “แก่นแท้ของพระเจ้า”[47]ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เผยต่อไปถึงความเกี่ยวดองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพกับความเชื่อในพระเจ้าหลายๆองค์

      คำ “แก่นแท้ของพระเจ้า” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพยังใช้ในตำนานเทพเจ้ากรีกที่เกี่ยวกับการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์[48]และในความเชื่อแบบนอสติก[49] แต่ก็ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูและภาษากรีก!


[1] The American Heritage Diction­ary of the English Language (5th edition)

[2] Oxford Dictionary of English (3rd edition)

[3] Godhead (แปลตามพจนานุกรมได้อีกว่า “เทวภาพของพระเจ้า พระเจ้า หรือ พระเป็นเจ้า”) มาจากคำกรีกในโคโลสี 2:9 ว่า θεότης (theotes ที่หมายถึง deity) ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “ความเป็นพระเจ้า” ฉบับไทยคิงเจมส์และฉบับ 1971 แปลว่า “สภาพของพระเจ้า” และฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “พระลักษณะของพระเจ้า” (ผู้แปล)

[4] triune God หรือแปลว่า พระเจ้าที่ประกอบด้วยสามองค์ในร่างเดียวกัน (ผู้แปล)

[5] hypostatic union

[6] neo-Platonic หรือเกี่ยวกับลัทธิเพลโตใหม่ (ผู้แปล)

[7]of the same substance หรือแปลว่า “จากสสารเดียวกัน

[8] Victorinus นักศาสนศาสตร์และบรรพบุรุษของคริสตจักรในยุคแรก (ผู้แปล)

[9] New Inter­na­tion­al Dic­tionary of New Testament Theology (NIDNTT, ed. Colin Brown, arti­cle God > The Trinity > NT)

[10] Karl Barth, Church Dogmatics, I, 1, 437

[11] Cam­bridge Compan­ion to the Trinity

[12] ผู้เชื่อตามหลักคำสอนของเอเรียส ไม่ยอมรับว่าพระเยซูมีแก่นแท้เดียวกับพระเจ้า และถือว่าพระองค์เป็นเพียงผู้ที่ถูกสร้างที่สูงสุด ที่ถูกคริสตจักรส่วนใหญ่มองว่านอกรีต (ผู้แปล)

[13] History of Dogma

[14] ho theos: the God = the Father

[15] Diction­ary of the Bible by Father John L. McKenzie

[16] Southern Baptist Theological Seminary

[17] Marshall Davis; What Your Pastor Won’t Tell You: But I Can Because I’m Retired

[18] แปลตรงตัวตามพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูว่า “พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของเรา พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่งเดียว” ฉบับมาตรฐาน2011 แปลว่า “พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา” (ผู้แปล)

[19] Gnosticism คือความเชื่อว่าความรู้เป็นทางไปสู่ความรอดที่หลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุซึ่งมีสิ่งชั่วร้าย (ผู้แปล)

[20] Justo L. González, เรื่องราวของศาสนาคริสต์: คริสตจักรในสมัยแรกจนถึงสมัยปัจจุบัน, เล่ม 1 หน้า 58

[21] Basilides; Hippolytus in Refutatio omnium haeresium 7:22

[22] Hanson; The Search for the Christian Doctrine of God

[23] Hippolytus, Clement of Alexandria, Irenaeus, Origen

[24] Tritheism

[25] poly­theism

[26] Karl Barth

[27] Athanasian Creed

[28] James White, Wayne Grudem, Robert Bowman

[29] ESV Study Bible, p.2513

[30] Fourth Later­an Council (1215, Rome)

[31] Ryrie Study Bible

[32] Dallas Theological Seminary

[33] Basic Theology, pp. 89-90

[34] Millard Erickson; Christian Theology

[35] God in Three Persons: A Contem­porary Interpretation of the Trinity, p.11

[36] Basilides

[37] James R. Whites The Forgotten Trinity

[38] J.I. Packer, Gleason Archer, Norman Geisler and John MacArthur

[39] one Beingor one essencerather than one person

[40] a what, not a who

[41] C. S. Lewis; Christian Reflect­ions, p.79

[42] Erick­son

[43] God in Three Persons, p.264

[44] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

[45] God is not a “person” but a “what”

[46] Sabellianism or modalismมีความเชื่อว่าพระเจ้ามีองค์เดียวและไม่ได้เป็นสามบุคคลที่แตกต่างกันแต่อยู่ในรูปของบทบาทหรือสถานะที่แตกต่างกัน (ผู้แปล)

[47] เคล้าส์ คลอสติเมเออร์สารานุกรมฉบับย่อของศาสนาฮินดู, หน้า 124; สำรวจศาสนาฮินดู, หน้า 487;สตีเว่น โรเซน,  สาระสำคัญของศาสนาฮินดู, หน้า 193;ศรี สวามี ศิวะนันดาเรื่องเกี่ยวกับศาสนาฮินดู, หน้า143

[48] ริชาร์ด คาลด์เวลล์,  บ่อเกิดของพระเจ้าต่างๆ, อ๊อกซ์ฟอร์ด, หน้า 137

[49] ชอง-มาร์ค นาร์บอนน์,โพลตินัสในการโต้กับหลักคำสอนของผู้เชื่อแบบนอสติก, หน้า 39;ฌอน มาร์ตินผู้เชื่อแบบนอสติก, หน้า 38