พิมพ์
หมวด: Theological Metamorphosis
ฮิต: 881

pdf pic 

 

 

บทที่ 12

 

 

 ch1 1

 

 

ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ

ทำให้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1 ไม่ใช่บุคคล

 

      นบทนี้ผมจะพูดถึงสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ นั่นก็คือการทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคล แต่ก่อนอื่นผมอยากจะพูดสองสามสิ่งเกี่ยวกับการที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ “ธรรมดาๆ” (ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ) เข้าใจตรีเอกานุภาพอันเป็นผลมาจากการทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคล

 

มีผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจำนวนน้อยที่เข้าใจความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      คริสเตียนส่วนใหญ่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเพียงแต่ชื่อ แต่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ยกตัวอย่างเช่น บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนใหญ่คิดว่าความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์เป็นแก่นแท้ ซึ่งที่จริงเป็นทั้งหมดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ โดยไม่ได้ตระหนักว่าถ้าพวกเขาหยุดอยู่แค่นั้น พวกเขาก็จะตกอยู่ในข่ายของความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน[1] ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เกี่ยวกับพระเจ้าสามองค์ ความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์เป็นเพียง “เป็นหน้าตา” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ไม่ใช่ตัวแทนเต็มรูปแบบของความเป็นพระเจ้า

      อันที่จริง บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ “ธรรมดาๆ” (ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ) บางคนก็รู้สึกงงงันเมื่อพวกเขาพบว่าในความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น พระเจ้ามีเพียงตัวตนเดียว ไม่ใช่สามตัวตน พวกเขาไม่ทราบว่าในความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น พระเจ้าได้ทรงถูกทำให้ไม่เป็นบุคคล และไม่ได้เป็นบุคคลๆหนึ่งอีกต่อไป คริสเตียนเหล่านี้ที่แม้จะได้รับรู้ถึงการใช้คำศัพท์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับแนวคิดที่คลุมเครือว่า พระเจ้าเป็นผู้มีสามตัวตน (เนื่องจากพระเจ้าเป็นสามองค์บุคคล) แทนที่จะมีตัวตนเดียว ความสับสนนี้ส่วนหนึ่งก็อาจโทษภาษาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ซึ่งใช้คำเช่น “ตัวตน” และ “องค์บุคคล” ซึ่งถูกปนรวมเข้าในความคิดของคนส่วนใหญ่ได้ง่าย แม้แต่คนที่สามารถคิดด้วยเหตุผล เมื่อมีคนเห็นคำว่า “ตัวตน” พวกเขาก็จะนึกถึงทั้งตัวบุคคลทันที (เช่นเดียวกับใน “มนุษย์ผู้มีตัวตน”)[2] ดังนั้นจึงเป็นเพียงเรื่องธรรมดาที่พวกเขาจะคิดถึงพระเจ้าที่ดำรงอยู่ในสามองค์บุคคลว่าเป็นสามผู้มีตัวตน

  ความเชื่อในตรีเอกานุภาพประสบความสำเร็จกับภาษาที่ปนรวมกันเพื่อทำให้หลักคำสอนที่ไม่สอดคล้องกันและไม่ตรงตามพระคัมภีร์นี้ฟังดูเป็นไปได้สำหรับคริสเตียนทั้งหลาย ในกรณีนี้จะเห็นได้ในแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าว่า “มีเพียงตัวตนเดียว” ซึ่งเป็นแนวคิดที่คิดขึ้นเพื่อให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีลักษณะคล้ายคลึงกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวเนื่องจากคำว่า “เดียว” อีกทั้งยังเนื่องจากคำว่า “ตัวตน” ซึ่งคนส่วนใหญ่หมายถึงตัวบุคคล ดังนั้นจึงทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพมีลักษณะภายนอกที่มองว่าเป็นความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ซึ่งเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เดียว

  ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ไปคริสตจักรจำนวนมาก “ที่เชื่อในตรีเอกานุภาพ” เป็นผู้เชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน ดังที่ระบุไว้โดยทอม ฮาร์เปอร์[3] อดีตศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต้ และยังเป็นนักสังเกตการณ์ผู้มีชื่อเสียงว่าปราดเปรื่องของคริสต์ศาสนาดังนี้ว่า

 

คุณไม่สามารถจะพบหลักคำสอนเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ ที่อ้างไว้ที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ นักบุญเปาโลมีมุมมองสูงสุดเกี่ยวกับบทบาทและความเป็นบุคคลของพระเยซู แต่ไม่มีที่ไหนเลยที่เขาเรียกพระองค์ว่าพระเจ้า พระเยซูเองก็ไม่ได้อ้างอย่างชัดเจนในที่ไหนว่าทรงเป็นพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพ… งานค้นคว้านี้ทำให้ผมเชื่อว่า ผู้ที่ไปคริสตจักรเป็นประจำส่วนใหญ่นั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นผู้เชื่อว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน (เพราะเห็นแก่พระคริสต์, หน้า 11)[4]

 

      บางครั้งผมจะพบศิษยาภิบาลหรือผู้นำคริสตจักร ที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแต่ในนาม แต่ไม่ได้เข้าใจหลักคำสอนกี่ยวกับตรีเอกานุภาพอย่างครบถ้วน บางคนก็มีทัศนะเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพใกล้เคียงกับคำสอนที่ว่า พระเจ้าเป็นสามบุคคลที่แตกต่างกัน (หลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าสามองค์) หรือความเชื่อแบบโมดาลิสซึ่ม[5] (หลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เดียว ที่สำแดงพระองค์ในสามรูปแบบ คือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ)

      ในขณะที่ผู้นำคริสตจักรเหล่านี้บางคนอาจสับสนจริงๆ เกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ ผมรู้สึกว่าพวกเขาส่วนใหญ่เป็นนักคิดในเชิงลึกซึ้งที่ไม่ยอมรับอยู่เงียบๆกับแนวคิดที่ว่าพระเจ้าเป็นสามบุคคลในตัวตนเดียว

      ปัญหารวมๆก็คือ แนวคิดเรื่อง “มีตัวตนเดียว” มักจะแสดงความหมายว่าเป็น “แก่นแท้เดียว” หรือ “แก่นสารเดียว” ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ไม่เป็นตรงตามพระคัมภีร์ ที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้เป็นภาษาที่แฝงของการเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวกับหลักคำสอนที่เชื่อว่าพระเจ้ามีสามองค์ที่แตกต่างกันอย่างแท้จริง

 

การทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคลของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

ในตอนต้นๆของบทนี้ ผมได้พูดว่า การทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคลเป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ สิ่งนี้เห็นได้จากข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า พระเจ้าไม่ใช่บุคคลในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ซีเอส ลูอิส[6] ผู้มีชื่อเสียงซึ่งเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างเต็มเปี่ยม กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า

 

ศาสนศาสตร์ของคริสเตียนไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรงเป็นบุคคล แต่เชื่อว่าในพระองค์นั้น ตรีเอกานุภาพของหลายบุคคลสอดคล้องกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระเจ้า ในแง่นั้นศาสนศาสตร์ของคริสเตียนเชื่อว่า พระองค์เป็นสิ่งที่แตกต่างจากบุคคลมาก (ทัศนะของคริสเตียน[7] หน้า 79)

 

      คำกล่าวที่น่าตกใจของลูอิสว่า ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ “ไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรงเป็นบุคคล” นั้น แท้จริงแล้วเป็นความเชื่อแบบตรีเอกานุภาพตามปกติ และยังกล่าวย้ำโดยแหล่งข้อมูนอื่นๆที่เชื่อในตรีเอกานุภาพ ดังเช่น จากพระคัมภีร์ฉบับนิว อิงลิช ซึ่งในหน้า 2017 ปฏิเสธแนวคิดเรื่อง “ตัวบุคคลของพระเจ้า” และเจมส์ อาร์ ไวท์ ก็กล่าวทำนองเดียวกันในหนังสือ ตรีเอกานุภาพที่ลืมเอ่ยถึง[8] (หน้า 27) ว่าพระเจ้าทรงเป็น “อะไร” (what) ไม่ใช่ว่าเป็น “ใคร” (who) สิ่งนี้อธิบายให้เห็นว่า ทำไมบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคน จึงชอบใช้คำที่แปลกประหลาดว่า “ความเป็นพระเจ้า”[9] (“Godhead”) กับ “พระเจ้า” (“God”)

      ส่วนที่เหลือของบทนี้ ผมจะพูดถึงการทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคลตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ส่วนหนึ่งนั้นจะเกี่ยวข้องกับ pros คำบุพบทภาษากรีกที่ถูกแปลแต่ดั้งเดิมว่า “กับ” ในประโยค “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” ซึ่งหมายความถึงบุคคลที่สองที่อยู่ “กับ” พระเจ้า

  ก่อนหน้านี้เราได้เห็นว่า ทำไมบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจึงแปล pros ในยอห์น 1:1 ตามความหมายที่มีน้อยมาก (“กับ”) กว่าความหมายปกติ (“ไปที่” หรือ “มายัง”) นี่เป็นการปกป้องความเชื่อในตรีเอกานุภาพเอาไว้โดยบอกเป็นนัยว่า พระวาทะเป็นบุคคลที่สองที่อยู่ “กับ” พระเจ้าในปฐมกาล เราไม่ได้ปฏิเสธ “กับพระเจ้า” เลยทีเดียวว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้องของยอห์น 1:1b แต่การอ่านแบบนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ ดังที่เราจะได้เห็น เพราะมันสร้างสภาวะลำบากอย่างมหันต์ให้กับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ และสภาวะลำบากนี้เองที่บังคับให้บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคล หลังจากการอ่านส่วนที่เหลือของบทนี้แล้ว คุณก็จะรู้ถึงโฉมหน้าที่แท้จริงของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

 

บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยอมรับว่า ความเข้าใจของพวกเขาเกี่ยวกับ “pros” สร้างความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c

      มันอาจเป็นเรื่องน่าแปลกใจกับคนส่วนใหญ่ที่คำสำคัญในยอห์น 1:1 ไม่ใช่คำว่า logos (พระวาทะ)[10] หรือแม้แต่คำว่า theos (พระเจ้า) ซึ่งสองคำนี้แทบไม่ได้ขัดแย้งกันเอง แต่เป็นคำว่า pros นั่นก็เป็นเพราะวิธีที่เราเข้าใจ pros ในยอห์น 1:1b จะครอบงำวิธีที่เราตีความทั้งข้อ

      ความจริงที่เห็นได้ชัดก็คือ pros ไม่ใช่คำที่คลุมเครือหรือลึกลับ แต่เป็นคำทั่วไปที่ไม่ได้สร้างความยุ่งยากให้กับยอห์น 1:1 นอกจากว่าเราจะเอาความหมายทั่วไปของ pros ออกไปเสีย ดังที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้ทำ ในบทที่แล้ว เราเห็นจากพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG และฉบับ Liddell-Scott-Jones ว่า pros มีความหมายหลายอย่าง แต่ความหมายหลักก็คือ “ไปที่” หรือ “ไปยัง” ในขณะที่ “กับ” เป็นความหมายที่เป็นไปได้แต่มีน้อย

      หากเราไม่มีเหตุผลที่ดีในการปฏิเสธความหมายทั่วไปของ pros ในยอห์น 1:1 การเลือกความหมายที่มีน้อยก็จะเป็นการใช้แบบตามใจชอบ แต่เรามีเหตุผลที่ดีในการเลือกความหมายหลักของ pros นั่นก็คือความสอดคล้องในการอ้างอิง และเรามีเหตุผลที่ดีในการปฏิเสธความหมายที่มีน้อยของ pros นั่นก็คือความไม่สอดคล้องในการอ้างอิง หากจะดูว่าผมหมายถึงอะไร ก็ให้เราเปรียบเทียบการแปลที่เป็นไปได้สองแบบของยอห์น 1:1 ดังต่อไปนี้

 

      ความหมายอันดับแรกของ pros

            a. ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่

          b. และพระวาทะได้อ้างอิงถึงพระเจ้า

           c. และพระวาทะเป็นพระเจ้า

      ความหมายอันดับรองของ pros

                a. ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่

           b. และพระวาทะอยู่กับพระเจ้า

          c. และพระวาทะเป็นพระเจ้า

 

      การแปลทั้งสองแบบนี้เหมือนกัน ยกเว้นคำที่ขีดเส้นใต้ การแปลแบบแรกมีข้อ เด่นของความสอดคล้องในการอ้างอิงที่คำว่า “พระเจ้า” ในบรรทัด b มีความหมายเหมือนกันในบรรทัด c ในทั้งสองบรรทัด “พระเจ้า” หมายถึง พระเจ้าที่ชี้เฉพาะ[11] หรือตัวบุคคลของพระเจ้าพระองค์นั้น นี่ทำให้ทั้งข้อลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติและต่อเนื่องเป็นลำดับ จากบรรทัด b นำไปสู่บรรทัด c อย่างเป็นธรรมชาติ

      แต่การอ่านแบบที่สอง (แบบเชื่อในตรีเอกานุภาพ) ไม่มีความสอดคล้องในการอ้างอิงเพราะคำว่า “พระเจ้า” ในบรรทัด c ถูกบังคับให้มีความหมายที่แตกต่างจาก “พระเจ้า” ในบรรทัด b บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่า “พระเจ้า” หมายถึงพระบิดาในบรรทัด b และหมายถึงแก่นแท้ของความเป็นพระเจ้าในบรรทัด c

      ความไม่สอดคล้องกันระหว่างบรรทัด b กับบรรทัด c ทำให้งง แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการเช่นนั้น เพื่อจะบอกเป็นนัยถึงพระองค์ที่สองที่อยู่ “กับ” พระเจ้าในปฐมกาล นักวิชาการหลายคนที่เชื่อในตรีเอกานุภาพตระหนักถึงความไม่สอดคล้องกันนี้ เพราะใครที่อ่านงานเขียนของพวกเขาเกี่ยวกับยอห์น 1:1 ก็จะทราบ

ต้นตอของปัญหา

      แต่ต้นตอของปัญหาก็คือการพูดว่า “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” และ “พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า” ด้วยนั้นฟังแล้วไม่สอดคล้องกัน! นี่เป็นภาวะลำบากอย่างแท้จริงสำหรับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่มีชื่อเสียงบางคน ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป เมื่อยอห์น 1:1 ถูกแปลตามแบบดั้งเดิมเหมือนในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ ก็จะมีความขัดแย้งเชิงเหตุผลเกิดขึ้นระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ยอห์น 1:1c (“และพระวาทะเป็นพระเจ้า” ซึ่งเป็นคำแปลที่ถูกต้องแม้ว่าจะไม่ใช่เพียงคำแปลเดียว) แต่อยู่ที่ยอห์น 1:1b (“และพระวาทะอยู่กับพระเจ้า” ซึ่งเป็นการแปลที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่กระนั้นบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ต้องการเช่นนั้น เพื่อจะปกป้องความเชื่อในตรีเอกานุภาพ) แต่ความขัดแย้งนั้นเป็นของความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างแน่นอน เพราะมันไม่ได้มีอยู่ในยอห์น 1:1 เมื่ออ่านอย่างถูกต้อง

      ความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับ 1:1c ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น ไม่ใช่ความขัดแย้งเล็กน้อยและถูกตั้งข้อสังเกตโดยผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจำนวนมาก เราจะให้ห้าตัวอย่างของความขัดแย้งนี้ สี่ตัวอย่างแรกจะสั้นและไม่ซับซ้อน ตัวอย่างที่ห้าจะยาวกว่าและยังพูดคร่าวๆถึงการตีความยอห์น 1:1 ของพวกพยานพระยะโฮวาที่มีข้อบกพร่องคล้ายๆกัน และพร้อมๆกันนั้น เราจะพบการทำให้พระเจ้าของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ใช่บุคคล โดยที่ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c ไม่ใช่บุคคลอีกต่อไป แต่เป็นแก่นแท้ของความเป็นพระเจ้า อย่างไรก็ตาม การทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคลนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกับยอห์น 1:1c แต่ยังแผ่ไปทั่วข้อเชื่อของความเชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหมด

 

ห้าตัวอย่างที่เป็นความพยายามของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c

ตัวอย่างที่ 1 เอฟ เอฟ บรูซ[12] ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและนักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่ที่มีชื่อเสียง ตระหนักถึงความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c เมื่อถูกแปลตามแบบทั่วไป เขาพูดถึงยอห์น 1:1c ว่า “ความหมายน่าจะเป็นว่า พระวาทะนั้นเหมือนกับพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยถ้าพระวาทะก็อยู่ กับพระเจ้า” ด้วย (พระกิตติคุณยอห์น, หน้า 31) จงสังเกตคำที่หนักแน่นว่า “เป็นไปไม่ได้เลย” ที่เอฟ เอฟ บรูซใช้เพื่ออธิบายถึงความขัดแย้งนี้ ปัญหาที่แก้ไม่ตกได้บีบให้เขาค้นหาการแปลยอห์น 1:1c ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ แต่ไม่ทำให้หลักคำสอนเกี่ยวกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพต้องจำนนกับเหตุผล ตัวอย่างเช่น เขาพูดอย่างมั่นอกมั่นใจถึงการแปลในพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชว่า “สิ่งที่พระเจ้าเป็น คือสิ่งที่พระวาทะเป็น”[13] แต่ก็ยอมรับว่ามันเป็นเพียงการถอดความอย่างหนึ่ง ในตอนท้ายดูเหมือน เอฟ เอฟ บรูซ จะไม่พบคำตอบที่ตัวเองพอใจ นอกจากจะให้ยอห์น 1:1c หมายถึง “พระวาทะมีสภาวะและการดำรงอยู่ของพระเจ้า”

 

ตัวอย่างที่ 2 คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ใหม่ฉบับไอวีพี[14] ที่มักจะแสดงความเห็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ก็กล่าวถึงปัญหาตามหลักเหตุผลเดียวกันนี้ที่ เอฟ เอฟ บรูซ กล่าวถึงและสรุปว่า “ความจริงทั้งสองข้อนี้ดูเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เชื่อมกันตามหลักเหตุผล แต่ถึงกระนั้น ความจริงทั้งสองข้อก็ต้องถูกยอมรับอย่างหนักแน่นพอๆกัน” (“ความจริงทั้งสองข้อนี้” เป็นสองข้อความซึ่งขัดแย้งกันที่ เอฟ เอฟ บรูซ ชี้ให้เห็น) แต่หลังจากยอมรับว่าสองข้อความนี้ “ดูเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เชื่อมกันตามหลักเหตุผล” (คำพูดที่หนักแน่น) คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ใหม่ฉบับนี้ก็ไม่ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาใดๆนอกเหนือจากข้อสนอแนะที่น้อยนิดว่า เราก็แค่ยอมรับสองมุมมองนี้ “ด้วยความหนักแน่นพอๆกัน” นั่นคือ เราก็แค่ยอมรับความขัดแย้งอย่างที่เป็นอยู่ โดยไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไป

 

ตัวอย่างที่ 3 ในคู่มือวิเคราะห์และตีความพระกิตติคุณยอห์น[15] (หน้า 48) เอช เอ ดับบลิว มายเออร์[16] ก็ตระหนักว่าสามารถจะอ่านยอห์น 1:1b ในความหมายของการอ้างอิง (พระวาทะได้อ้างอิงถึงพระเจ้า) และเห็นอย่างถูกต้องว่านี่จะทำให้พระวาทะเป็น “คำพูดอ้อมๆ” เกี่ยวกับตัวบุคคลของพระเจ้าเอง แต่คำพูดอ้อมๆนี้จะทำลายการยืนกรานของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า พระวาทะเป็นบุคคลที่สองที่แตกต่างกันซึ่งอยู่ “กับ” พระเจ้าพระบิดาในปฐมกาล ดังนั้นมายเออร์จึงลดความสำคัญของคำพูดอ้อมๆนี้ แล้วถอยกลับมาอ่านตามแบบทั่วไปว่า “และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” แต่เขาเห็นได้ทันทีถึงความขัดแย้งเดียวกับที่ เอฟ เอฟ บรูซเห็น ดังนั้นมายเออร์จึงยืนยันว่า “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c “สามารถเป็นได้แค่ส่วนของคำกริยา ไม่ใช่ประธาน” และเสนอการอ่านว่า “พระองค์ทรงอยู่กับพระเจ้า และมีสภาวะที่เป็นพระเจ้า” (คำตัวเอนเป็นของมายเออร์) นี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่น่าพอใจจริงๆ เพราะว่าการแปลเช่นนี้เป็นเพียงแค่การซ่อนคำว่า “พระเจ้า” ในยอห์น1:1c การถอดความของมายเออร์อาจดูฝืดๆ แต่ก็สอดคล้องกับข้อเชื่อของความเชื่อในตรีเอกานุภาพตามแบบฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิธีการที่ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c ได้ถูกทำให้ไม่ใช่บุคคล แต่กลายเป็น “สภาวะที่เป็นพระเจ้า”

 

ตัวอย่างที่ 4 (การทำให้ “พระเจ้า” ไม่ใช่บุคคลอย่างชัดเจน) พระคัมภีร์ฉบับนิว อิงลิช (ซึ่งเชิงอรรถส่วนขยาย มักแสดงความคิดเห็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพในพระคัมภีร์ใหม่ แต่น้อยกว่าในพระคัมภีร์เดิม) ก็ตระหนักถึงความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c ในลักษณะที่พวกเขามักจะแปลในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ เพื่อแก้ความขัดแย้งนี้ พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชจึงใช้หลักการที่ว่าการอ่านยอห์น 1:1c ใดๆที่ขัดแย้งกันกับยอห์น 1:1b จะต้องถูก “ตัดออก” คำกล่าวนี้น่าตกใจมากกว่าที่ผู้อ่านส่วนใหญ่จะตระหนัก พูดอีกอย่างก็คือ ความเข้าใจยอห์น 1:1b ของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ มีความสำคัญกว่าที่จะแทนที่การแปลใดๆที่เป็นไปได้ของยอห์น 1:1c แม้ว่ามันจะถูกต้องก็ตาม วิธีการนี้ซึ่งขัดกับหลักการของการตีความด้วยการฝืนให้ข้อสมมติฐานกับข้อหนึ่งๆ จะเห็นได้ในคำกล่าวต่อไปนี้ในพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช ถ้อยคำสำคัญในวงเล็บเป็นของฉบับนิวอิงลิช ไม่ใช่ของผม

 

การผูกประโยคในยอห์น 1:1c ไม่ได้เทียบให้พระวาทะเท่ากับตัวบุคคลของพระเจ้า (สิ่งนี้ถูกชี้ขาดโดยยอห์น 1:1b ว่า “พระวาทะอยู่กับพระเจ้า”) มากกว่าเป็นการยืนยันว่าพระวาทะกับพระเจ้ามีแก่นแท้เดียวกัน

 

      ตรงนี้พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช ยอมรับความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1 b (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) กับยอห์น 1:1c (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) เมื่อแปลทั้งสองข้อความในแบบทั่วไป พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชปฏิเสธการแปลโดยทั่วไปในยอห์น 1:1c (“พระวาทะทรงเป็นพระเจ้า”) เนื่องจากทำให้ “พระวาทะ” เหมือนกับ “ตัวบุคคลของพระเจ้า” พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชไม่ต้องการให้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c หมายถึง “พระเจ้าที่ชี้เฉพาะ” หรือ “ตัวบุคคลของพระเจ้า” เพราะนั่นจะทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพอ่อนลงไปเลย ซึ่งพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชอ่านยอห์น 1:1b เกินจากตัวบท ในการต่อสู้กับภาวะที่ลำบากนี้ พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชจึงกล้าตัดสินใจที่จะทำให้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c ไม่ใช่บุคคล เพื่อที่ว่า “พระวาทะ” จะไม่ได้หมายถึงสิ่งที่พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชเรียกว่า “ตัวบุคคลของพระเจ้า” อีกต่อไป แต่จะหมายถึงผู้ที่ “มีแก่นแท้เดียวกัน” กับพระบิดา นี่เป็นการเพิ่มเติมสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างมากให้กับคำกล่าวที่ไม่ซับซ้อนของยอห์น

      การทำให้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c ของพระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิช ไม่ใช่บุคคล นั้นอาจดูไม่แยแสและน่าตกใจ แต่มันจะสะท้อนให้เห็นมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างถูกต้องว่า พระเจ้าไม่ใช่บุคคล เราได้อ้างคำกล่าวของ ซี เอส ลูอิส[17]ว้แล้วว่า “ศาสนศาสตร์คริสเตียนไม่เชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นบุคคล”

      ในท้ายที่สุด พระคัมภีร์ฉบับนิวอิงลิชก็แปลยอห์น 1:1c ว่า “พระวาทะทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์” ซึ่งเป็นการถอดความที่ทำให้คำว่า “พระเจ้า” ไม่ใช่บุคคล จนไม่ได้หมายถึงพระเจ้าที่ชี้เฉพาะ หรือตัวบุคคลของพระเจ้าอีกต่อไป ตอนนี้เป็นคำกล่าวถึงแก่นแท้ของความเป็นพระเจ้า มากกว่าอัตลักษณ์ที่เท่าเทียมกันระหว่างพระวาทะกับพระเจ้า ดังที่เห็นใน “พระวาทะเป็นพระเจ้า” นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคน เช่น เจมส์ อาร์ ไวท์ (ในหนังสือ ตรีเอกานุภาพที่ลืมเอ่ยถึง) จึงกล่าวว่าพระเจ้าเป็น อะไร ไม่ใช่เป็น ใคร[18]

 

การตีความยอห์น 1:1 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพนั้นเหมือนกันกับ

การตีความของพยานพระยะโฮวาในแง่ของวิธีการตีความ

 

ตัวอย่างที่ 5 ตัวอย่างนี้อาจเปิดหูเปิดตาได้ดีที่สุดจากในห้าตัวอย่างของเรา แต่บางคนอาจเห็นว่ามันยาวเกินไป ตัวอย่างนี้เขียนในลักษณะที่คุณสามารถจะอ่านข้ามรายละเอียดทางวิชาการและยังเข้าใจประเด็นหลักได้

      จุดมุ่งหมายของเราในตัวอย่างนี้ ไม่ใช่เพื่อจะศึกษาเรื่องความเชื่อในตรีเอกานุภาพหรือความเชื่อของพยานพระยะโฮวา[19]ในเชิงลึก แต่เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าความเชื่อทั้งสองแบบนี้มีความคล้ายคลึงกันในการวิเคราะห์ทางไวยากรณ์ตามลำดับของยอห์น 1:1 ความคล้ายคลึงกันนี้เป็นเรื่องน่าแปลกใจเนื่องจากทั้งคู่ขัดแย้งกันอย่างมากในเรื่องความเป็นพระเจ้าของพระเยซู

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกับผู้เชื่อในพยานพระยะโฮวา เห็นด้วยกันอย่างเหนียวแน่นจนน่าแปลกใจกับการตีความยอห์น 1:1 ของทั้งคู่ ที่จริงแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเห็นด้วยในทุกแง่ของวิธีการตีความที่สำคัญสำหรับการแปลความหมายของยอห์น 1:1

 

พวกเขาเห็นด้วยกับข้อความภาษากรีกของยอห์น 1:1 (คือ ไม่มีปัญหากับข้อความต้นฉบับ)

พวกเขาเห็นด้วยจนคำสุดท้าย กับวิธีที่สองข้อความแรกคือยอห์น 1:1a และยอห์น 1:1b ควรถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ (“ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”)

ทั้งคู่ใช้ “พระวาทะ” ในยอห์น 1:1 ว่ากำลังอ้างถึงพระคริสต์ผู้ทรงดำรงอยู่ก่อน

ทั้งคู่ใช้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1b ว่ากำลังอ้างถึงพระเจ้าพระบิดา

ทั้งคู่ใช้ pros ในยอห์น 1:1b ในความหมายรองว่า “กับ” (พระวาทะทรงอยู่ “กับพระเจ้า”) โดยปฏิเสธความหมายหลักว่า “ไปที่” หรือ “ไปยัง”

ทั้งคู่ใช้ “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” ว่ากำลังอ้างถึงสองบุคคลที่แตกต่างกัน คือพระเจ้าพระบิดากับพระคริสต์ผู้ดำรงอยู่ก่อน

ทั้งคู่ตระหนักถึงความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c ที่เกิดขึ้นเมื่อ pros ถูกแปลด้วยความหมายรองว่า “กับ”

ทั้งคู่พยายามจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยการเปลี่ยนความหมายของ “พระเจ้า” จากยอห์น 1:1b ไปยอห์น 1:1c

ทั้งคู่ใช้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c เป็นภาคแสดง เป็นลักษณะ และไม่ได้ชี้เฉพาะ และทั้งคู่ใช้ข้อโต้แย้งที่เป็นภาคแสดงซึ่งไม่มีคำนำหน้านามที่ชี้เฉพาะของ theos [20]เพื่อจะพิสูจน์ความเข้าใจของพวกเขาในเชิงคุณลักษณะเกี่ยวกับ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c ว่าถูกต้อง

ทั้งคู่ทำให้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c ไม่ใช่บุคคล จนไม่ได้หมายถึงตัวบุคคลของพระเจ้าที่เจาะจงอีกต่อไป แต่หมายถึงคุณสมบัติ หรือแก่นแท้ หรือสภาวะของความเป็นพระเจ้า พูดอีกอย่างก็คือ ทั้งคู่ไม่ได้ใช้ยอห์น 1:1c เพื่อเป็นสมการของอัตลักษณ์ (ว่าพระวาทะเป็นพระเจ้าโดยนามนัย) แต่เป็นคำกล่าวถึงแก่นแท้ของพระเจ้า หรือความเป็นพระเจ้า (ซึ่งเป็นมุมมองของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เช่น มาร์คัส ด็อดส์, เจ พี แลง, เอช เอ ดับบลิว มายเออร์, ซี เค แบร์เร็ตต์, อาร์ โบว์แมน)[21]

 

      การเห็นด้วยกันอย่างเหนียวแน่นของบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกับพยานพระยะโฮวาในวิธีการตีความของพวกเขานั้นออกมาอย่างน่าประหลาดใจ จากหนึ่งในการวิเคราะห์เชิงไวยากรณ์ที่มีรายละเอียดมากที่สุดเกี่ยวกับยอห์น 1:1 ที่เคยเขียนโดยผู้เชื่อกลุ่มอีแวนเจลิคอล โรเบิร์ต โบว์แมน จูเนียร์ ผู้แก้ต่างที่กระตือรือร้นให้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้เขียนหนังสือที่ชื่อ พยานพระยะโฮวา, พระเยซูคริสต์, และพระกิตติคุณยอห์น ซึ่งเขาขยายความยอห์น 1:1 อย่างละเอียดจากมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ โดยผสมผสานกับบทวิจารณ์การตีความจากข้อเดียวกันนี้ของพยานพระยะโฮวา[22] แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่กล้าเปิดเผยสำหรับโบว์แมนก็คือ การตีความตามลำดับของยอห์น 1:1 ของพวกเขานั้นเหมือนกันโดยพื้นฐาน ในแง่ของวิธี การตีความทางไวยากรณ์

      เพื่อไม่ให้คุณต้องยุ่งยาก ผมจะไม่เข้าไปในรายละเอียดหนังสือของโบว์แมน (ที่ผมได้อ่านสองรอบ) นอกจากจะสรุปแนวโน้มหลักๆสองอย่างจากการขยายความยอห์น 1:1[23] ของเขา กลับกลายเป็นว่าแนวโน้มสองประการนี้ โดยเฉพาะแนวโน้มที่สอง มีผลที่น่าแปลกใจที่การตีความยอห์น 1:1 ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพของโบว์แมนเองอ่อนลง

 

แนวโน้มแรก โบว์แมนก็เหมือนกับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนมาก ที่ตระหนักดีถึงความขัดแย้งระหว่างยอห์น 1:1b กับยอห์น 1:1c เมื่อทั้งสองข้อความถูกแปลในแบบทั่วไปดังที่เห็นในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เขายังอ้างถึงความขัดแย้งอย่างชัดเจนว่า

 

สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างลึกซึ้งก็คือคำถามว่า พระวาทะจะอยู่กับพระเจ้า แล้วก็เป็นพระเจ้าได้อย่างไร...พระวาทะจะอยู่กับ “พระเจ้า” แล้วก็เป็น “พระเจ้า” ไม่ได้อย่างแน่นอน เว้นแต่คำว่า “พระเจ้า” จะเปลี่ยนความสำคัญจากการใช้อย่างแรกมาเป็นการใช้อย่างที่สอง (หน้า 25-26)

 

      ตรงนี้เราก็เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ในที่นี้โบว์แมนอธิบายให้เราเห็นถึงภาวะลำบากอย่างมากที่เผชิญหน้ากับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ คือถ้าคำว่า “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1b มีความหมายเหมือนกับ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c ละก็ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไม่สามารถจะเป็นจริงได้ เพราะเราต้องเลือกระหว่างสองความเป็นไปได้ ซึ่งทั้งสองความเป็นไปได้นั้นเป็นสิ่งที่บรรดาผู้ที่เชื่อในตรีเอกานุภาพรังเกียจ ทางเลือกหนึ่ง ก็คือความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระบิดา ไม่ใช่พระบุตร ที่เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว (ยอห์น 17:3) ทางเลือกอื่นก็คือข้อผิดพลาดของความเชื่อแบบโมดัลลิสซึ่ม (ซึ่งพระเยซู = พระบิดา = พระวิญญาณ เช่นเดียวกับที่ H2O สามารถจะเป็นน้ำ น้ำแข็ง หรือไอน้ำ)

      ไม่มีทางเลือกอย่างไหนที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะยอมรับได้ และสิ่งนี้จะอธิบายถึงความพยายามของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่จะทำให้ “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c มีความหมายที่แตกต่างไปจาก “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1b นั่นคือภาวะลำบากอย่างมากที่โบว์แมนกำลังพยายามจะแก้ไข เมื่อเขาเรียกร้องอย่างน่าประหลาดใจว่า “คำว่า ระเจ้า ได้เปลี่ยนความสำคัญจากการใช้อย่างแรกมาเป็นอย่างที่สอง” โดยเขาหมายความว่าเราเปลี่ยนความหมายของ “พระเจ้า” จาก 1:1b ไป 1:1c

แต่ความพยายามของโบว์แมนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้น่าสังเกต ในเรื่องวิธีการธรรมดาๆที่เขาดัดแปลงถ้อยคำของยอห์น 1:1 ในที่ต่างๆอย่างหน้าตาเฉย ซึ่งตรงกันข้ามกับท่าทีที่ระมัดระวังของ เอฟ เอฟ บรูซ ผู้ลังเลที่จะทำเช่นนี้แม้แต่คำเดียว โบว์แมนพูดได้อย่างอิสระถึง “การเปลี่ยน” ในการใช้ถ้อยคำ ในการเปลี่ยน “ความสำคัญ” ของถ้อยคำ และให้มี “การแปลแบบใช้สำนวนใหม่” (ซึ่งเป็นคำที่สละสลวยของเขาสำหรับ “การถอดความ”) ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่หลังจากทำการเปลี่ยนทั้งหมดแล้ว นี่จึงเป็นการอ่านยอห์น 1:1 ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพในที่สุดและอย่างเต็มรูปแบบของเขา

 

       ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่  และพระวาทะทรงดำรงอยู่ในความสัมพันธ์กับบุคคลที่รู้จักกันทั่วไปว่าพระเจ้า นั่นก็คือ พระบิดา และพระวาทะที่โดยพื้นฐานแล้วก็คือพระเจ้าเอง (หน้า26)

 

แนวโน้มที่สอง การวิเคราะห์ยอห์น 1:1 ของโบว์แมนยืนยันให้เห็นข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ ซึ่งผมรับรู้มาก่อนหน้านี้ว่า การตีความยอห์น 1:1 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ มีความเหมือนกันอย่างแท้จริงกับของพยานพระยะโฮวาในแง่ของวิธีการตีความทางไวยากรณ์! บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและพยานพระยะโฮวาเห็นด้วยกันกับ 90% แรกในการตีความยอห์น 1:1 ของพวกเขา และแตกต่างกันใน 10% สุดท้ายเท่านั้น สิ่งนี้อธิบายข้อสมมติฐานทั้งหลายของการตีความทางไวยากรณ์ที่ทั้งสองความเชื่อมีส่วนเหมือนกันในการตีความยอห์น 1:1 (ดูข้อย่อยที่มีเครื่องหมายวงกลมย้อนกลับไปสองสามหน้า)

      โบว์แมนยอมรับการเห็นด้วยกับพยานพระยะโฮวาในมุมมองสำคัญสามประการเกี่ยวกับ theos (พระเจ้า) ในยอห์น 1:1c นั่นคือลักษณะนามที่ไม่ระบุแน่นอนของ theos (หน้า 37) ส่วนของกริยาและกรรมของ theos (หน้า 38) และคำนำหน้านามที่ไม่กำหนดแน่ชัดของ theos (หน้า 41,47) การเห็นด้วยกับพยานพระยะโฮวาในประเด็นเหล่านี้ โบว์แมนก็ต้องเผชิญกับงานที่ค่อนข้างยาก ในการพิสูจน์หักล้างว่า “และพระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (“and the Word was a god”) ซึ่งเป็นการนิยมแปลยอห์น 1:1c ของพยานพระยะโฮวา

  นี่เป็นการย้อนแย้งอย่างมากที่สุด คือหลังจากทำการวิเคราะห์ทางไวยากรณ์ที่ยาวที่สุดของยอห์น 1:1 ในหน้า 62 ที่ผมได้เห็น โบว์แมนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะยอมรับว่าการแปลยอห์น 1:1c ของพยานพระยะโฮวา (และ “พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง”) เป็น “การแปลที่เป็นไปได้” และ “เป็นไปได้ทางไวยากรณ์” (คำพูดของโบว์แมนเอง)! เชื่อหรือไม่ว่า โบว์แมนกำลังยอมรับว่าพยานพระยะโฮวาแปลยอห์น 1:1 ได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ แต่เขาปฏิเสธก็เพียงเพราะมันเป็นหลักคำสอนที่เขายอมรับไม่ได้

      ไม่มีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่ยอมรับว่า “พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (พยานพระยะโฮวาชอบที่จะแปล) นั้นเป็นไปได้ทางไวยากรณ์ ดร. โธมัส คอนสเตเบิล ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจากวิทยาลัยศาสนศาสตร์ดัลลัส ก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่า “พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” เป็นไปได้ทางไวยากรณ์ แต่เขาก็ปฏิเสธเช่นเดียวกับโบว์แมนว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ตามหลักคำสอน

 

พยานพระยะโฮวาใช้ข้อนี้ (ยอห์น 1:1) เพื่อสนับสนุนหลักคำสอนของพวกเขาว่า พระเยซูไม่ได้เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ แต่เป็นผู้ถูกสร้างที่สูงสุด พวกเขาแปลข้อความนี้ว่า “พระวาทะเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง(“the Word was a god”) ถ้าตามไวยากรณ์แล้ว นี่เป็นการแปลที่เป็นไปได้ เนื่องจากมันถูกต้องตามหลักที่จะให้มีคำนำหน้านามที่ไม่ระบุแน่นอน (“a”) เมื่อไม่มีคำนำหน้านามปรากฏในข้อความภาษากรีกเหมือนตรงนี้ อย่างไรก็ตาม การแปลตรงนี้ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน เพราะมันเป็นการลดพระเยซูให้เป็นน้อยกว่าพระเจ้า (หนังสืออธิบายยอห์น 1:1 ของ ดร. คอนสเตเบิล, ฉบับพิมพ์ 2010)[24]

 

      ในการวิเคราะห์สุดท้ายนั้น ความไม่เห็นด้วยระหว่างโบว์แมนกับพยานพระยะโฮวาจริงๆแล้วอยู่ที่หลักคำสอน มากกว่าวิธีการตีความทางไวยากรณ์ หลังจากที่เห็นด้วยใน 90% แรก พวกเขาเห็นต่างใน 10% สุดท้าย โดยเฉพาะกับวิธีที่ถูกต้องในการอธิบายความเป็นพระเจ้าของพระเยซู คือระหว่าง “พระเจ้า” (God) กับ “พระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (a god)    

      แม้แต่ตรงนี้ พวกเขาก็เห็นพ้องกันมากกว่าเห็นแย้ง เพราะเมื่อบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพพูดถึง “พระเจ้า” ในยอห์น 1:1c นั้น พวกเขาไม่ได้หมายความจริงๆถึง “พระเจ้าที่เฉพาะเจาะจง” (the God)” หรือ “ตัวบุคคลของพระเจ้า” หรือ “ตัวพระเจ้าเอง” แต่เป็น “พระเจ้า” ในความหมายที่เป็นแก่นแท้ หรือสภาวะของพระเจ้า ทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคล ซึ่งคล้ายคลึงกับที่พยานพระยะโฮวาเข้าใจ “พระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (“a god”) ว่าหมายถึงความเป็นพระเจ้า หรือเหมือนพระเจ้า ความจริงแล้ว โบว์แมน (ในหน้า 63) และพยานพระยะโฮวา (ในเชิงอรรถในพระคัมภีร์ฉบับ NWT) ต่างยอมรับ “และพระวาทะเป็นพระเป็นเจ้า” ว่าเป็นทางเลือกที่ใช้ได้ในการอ่านยอห์น 1:1c นี่เป็นข้อพิสูจน์เพิ่มเติมในการเห็นด้วยอย่างมากระหว่างบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกับพยานพระยะโฮวา ในการวิเคราะห์ทางไวยากรณ์ยอห์น 1:1 ของพวกเขา

      ในการวิเคราะห์สุดท้าย ความไม่เห็นด้วยของโบว์แมนกับพยานพระยะโฮวานั้นเป็นแค่ผิวเผิน โดยหลักๆแล้วอยู่ที่วิธีที่ดีที่สุดในการอธิบายความเป็นพระเจ้าของพระวาทะ นั่นก็คือ “พระเจ้า” (God) กับ “พระเป็นเจ้าองค์หนึ่ง” (a god) ทั้งสองอยู่ในความหมายเชิงคุณลักษณะ เมื่อคุณคิดถึงเรื่องนี้ จริงๆแล้วนี่เป็นเรื่องของการถกเถียงทางศาสนศาสตร์เกี่ยวกับความหมายเชิงคุณลักษณะของ theos ในยอห์น 1:1c ที่น่าสนใจคือโบว์แมนใช้หลายหน้าเพียงเพื่อจะให้เหตุผลว่าความเข้าใจเชิงคุณลักษณะของเขาเกี่ยวกับ theos ดีกว่าความเข้าใจเชิงคุณลักษณะของพยานพระยะโฮวาเกี่ยวกับ theos!

      ข้อบกพร่องในการวิเคราะห์ยอห์น 1:1 ของโบว์แมนและของพยานพระยะโฮวาก็คือว่า พวกเขาไม่เคยพิจารณาความเป็นไปได้ที่มายเออร์ยอมรับว่า pros สามารถใช้เป็นการอ้างอิงถึง ความหมายนี้เป็นธรรมชาติกว่าและจะทำให้ยอห์น 1:1b อ่านว่า “และพระวาทะอ้างอิงถึงพระเจ้า”[25] ซึ่งเข้ากันได้ดีขึ้นกับข้อความถัดไปว่า “และพระวาทะเป็นพระเจ้า” โดยไม่ทำให้ “พระเจ้า” ไม่ใช่บุคคล และไม่ได้เปลี่ยนความหมายของ “พระเจ้า” ในการเริ่มจากยอห์น 1:1b ไป 1:1c เลย

      แต่โบว์แมนปฏิเสธที่จะยอมรับการใช้ pros ในยอห์น 1:1 ว่าเป็นการอ้างอิงถึง แม้ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ตามปกติของ pros ในภาษากรีก นั่นเป็นเพราะการใช้แบบนี้จะทำให้ข้อสันนิษฐานตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพของโบว์แมนอ่อนลงไปเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการจะหลีกเลี่ยงทุกวิถีทาง แม้จะต้องเห็นด้วยกับพยานพระยะโฮวา และจะต้องทำให้พระเจ้าไม่ใช่บุคคลก็ตาม


[1] tritheism

[2] “human being”

[3] Tom Harpur

[4] For Christ’s Sake, p.11

[5] Modalism

[6] C.S. Lewis

[7] Christian Reflections

[8] The Forgotten Trinity

[9] โคโลสี 2:9 เพราะว่าความเป็นพระเจ้าที่ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้นดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์ (Colossians 2:9 For in him dwelleth all the fulness of the Godhead bodily, KJV)

[10] หรือแปลว่า พระดำรัส หรือพระวจนะ (ผู้แปล)

[11] the God

[12] F.F. Bruce

[13] New English Bible, “what God was, the Word was,”

[14] IVP New Testament Comment­ary

[15] Critical and Exegetical Handbook to the Gospel of John

[16] H.A.W. Meyer

[17] C.S. Lewis

[18] James R. White (in The Forgotten Trinity) says that God is a what, not a who

[19] Jehovah’s Witnesses

[20] predicate anarthrous theos

[21] J.P. Lange, Marcus Dods, H.A.W. Meyer, C.K. Barrett, R. Bowman

[22] ต้นฉบับภาษาอังกฤษมีข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ตัวย่อ “JWsเพื่อให้ง่ายขึ้นในการอ้างถึงกลุ่มพยานพระยะโฮวา (Jehovah’s Witnesses) โดยไม่มีความตั้งใจที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใดในการใช้คำนั้น พระคัมภีร์ฉบับของกลุ่มพยานพระยะโฮวาที่ชื่อ พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ฉบับนิวเวิลด์ 2013 จะใช้คำย่อว่า NWT (ผู้แปล)

[23] สำหรับรายละเอียด โปรดดูในหนังสือพยานพระยะโฮวา, พระเยซูคริสต์, และพระกิตติคุณยอห์น (เบเกอร์, แกรนด์แรปปิดส์, 1989) และพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับคิงดอมอินเทอร์ลินเนียร์ของพยานพระยะโฮวา, 1965, หน้า 1158-1160

[24] Dr. Constables Expository Notes, 2010 edition, on John 1:1

[25] the Word referred to God”