พิมพ์
หมวด: Theological Metamorphosis
ฮิต: 892

 pdf pic

 

 

บทที่ 11

 

 

 ch1 1

 

 

ยอห์น 1:1

“และพระวาทะอยู่กับพระเจ้า”

 

 

คำว่า pros ในยอห์น 1:1 หมายถึง “กับ” หรือไม่?

      บทนี้เป็นบทนำของบทต่อไป ที่เราจะพูดถึงการทำให้พระเจ้าของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เราจะเริ่มต้นด้วยการดูข้อความ “และพระวาทะอยู่กับพระเจ้า” ในยอห์น 1:1 เพื่อความสะดวก เราจะแสดงให้เห็นสามข้อความในยอห์น 1:1 ด้วยคำต่อท้าย a, b, c[1]

ยอห์น 1:1a    ในปฐมกาลพระวาทะ​​ดำรงอยู่

ยอห์น 1:1b    และพระวาทะอยู่กับพระเจ้า

ยอห์น 1:1c         และพระวาทะ​​เป็นพระเจ้า

 

      คำที่สำคัญในข้อนี้คือ “กับ” (“with”) ซึ่งแปลมาจากคำบุพบทภาษากรีกว่า “pros” ที่ความหมายหลักก็คือ “ไปที่” หรือ “มายัง”[2] มากกว่า “กับ” บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะแปลยอห์น 1:1b ว่า “และพระวาทะ​​ทรงอยู่กับพระเจ้า” แต่ควรจะสังเกตว่า “กับ” ไม่ใช่ความหมายปกติของ pros มีคำบุพบทอื่นๆที่ใช้สื่อความคิดว่า “กับ” บ่อยกว่าก็คือ (ก) syn หมายถึงด้วยกัน “กับ” ใครบางคน (เปรียบเทียบ synchron­ize, sympathy) (ข) meta หมายถึง “กับ” ใครบางคน หรือ “หลังจาก” ใครบางคน (เปรียบเทียบ metaphor) (ค) para หมายถึง “ข้างๆกับ” ใครบางคนหรือบางสิ่ง (เปรียบเทียบ parallel)

      แต่ prosไม่ได้เป็นหนึ่งในคำบุพบทเหล่านี้ ถ้ายอห์นตั้งใจจะแสดงแนวคิด “กับพระเจ้า” ในยอห์น 1:1b เขาก็น่าจะใช้คำจากหนึ่งในสามคำบุพบทนี้แทน

      นี่เป็นข้อเสนอแนะโดยข้อมูลที่รวบรวมในศัพท์สัมพันธ์พระคัมภีร์ใหม่ฉบับสมัยนิยม[3] ซึ่งเป็นเครื่องมือศึกษาที่มีประโยชน์อย่างมากในการจัดหมวดหมู่ความหมายตามขอบเขตของความหมายในภาษากรีก แม้จะไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางแต่การอ้างอิงนี้ก็ได้รับความนิยมจากนักวิชาการทั้งโปรแตสแตนท์และคาทอลิก[4] และมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการค้นหาว่า จริงๆแล้วคำภาษากรีกหมายถึงอะไรในการเขียนจริง

      ในหน้า 679-681 ภายใต้หัวข้อ “With” (“กับ”) ศัพท์สัมพันธ์สมัยนิยมได้ให้ 164 ตัวอย่างของ meta, 66 ตัวอย่างของ syn, 34 ตัวอย่างของ para แต่มีเพียง 16 ตัวอย่างของ pros ดังนั้น pros จึงไม่ค่อยมีความหมายว่า “with” แม้ว่าคำนี้จะมีปรากฏถึง 700 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งปรากฏบ่อยครั้งยิ่งกว่าคำบุพบทอีกสามคำ คือ syn (128 ครั้ง), para (194 ครั้ง), meta (469 ครั้ง) ที่จริงมีสองสามตัวอย่างจาก 16 ตัวอย่างของ pros ที่ไม่ได้มีความหมายชัดเจนว่า “with” ตามที่เราเข้าใจ “with” กันโดยทั่วไปในภาษาอังกฤษ

      ตารางต่อไปนี้แสดงการใช้สามคำบุพบท (meta, syn, para) ที่หมายถึง “กับ” ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคำบุพบท pros อย่างมาก โดยอิงกับฐานข้อมูลที่ครอบคลุมในศัพท์สัมพันธ์สมัยนิยม ตารางช่องล่างมีรายการน้อยที่สุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีน้อยครั้งมากที่ pros จะหมายถึง “กับ” ทั้งๆที่คำนี้มีปรากฏถึง 700 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ แต่คุณไม่จำเป็นต้องดูข้อทั้งหมดในตาราง ตารางนี้มีไว้เพื่อให้คุณเห็นภาพคร่าวๆว่าpros มีความหมายว่า “กับ” น้อยครั้งมาก

ข้อต่างๆที่ระบุในศัพท์สัมพันธ์ฉบับสมัยนิยม

ที่คำบุพบท meta, syn, para และ pros มีความหมายว่า “กับ”

Meta: มี 164 ครั้งจากการปรากฏ 469 ครั้ง (35%)

มัทธิว 1:23; 2:11; 9:11; 9:15; 16:27; 17:17; 26:18; 26:20; 26:29; 26:36; 28:20; มาระโก 1:13; 1:29; 2:16; 2:19; 3:7; 5:24; 8:10; 8:38; 11:11; 14:14; 14:17; ลูกา 1:28; 1:58; 1:66; 1:72; 2:51; 5:30; 5:34; 6:17; 7:36; 22:11; 22:15; 22:53; 24:29; 24:30; ยอห์น 3:2; 3:22; 3:26; 4:27; 6:3; 7:33; 8:29; 9:37; 11:54; 13:33; 14:9; 14:16; 14:30; 16:4; 16:32; 17:12; 18:2; กิจการ 7:9; 10:38; 11:21; 14:27; 15:4; 18:10; โรม 15:33; 16:20; 16:24; 1โครินธ์ 16:23; 2โครินธ์ 13:11; 13:13; กาลาเทีย 6:18; เอเฟซัส 6:24; ฟีลิปปี 4:9; 4:23; โคโลสี 4:18; 1เธสะโลนิกา 3:13; 5:28; 2เธสะโลนิกา 1:7; 3:16; 3:18; 1ทิโมธี 6:21; 2ทิโมธี 4:22; ทิตัส 3:15; ฟีเลโมน 1:25; ฮีบรู 13:25; 1ยอห์น 4:17; 2ยอห์น 1:2; 1:3; วิวรณ์ 1:12; 2:16; 3:20; 4:1; 10:8; 21:3; 22:21; มัทธิว 12:30; 17:3; 25:31; 26:23; 26:38; 26:40; 26:51; 26:69; 26:71; มาระโก 3:14; 4:36; 5:18; 5:37; 14:18; 14:20; 14:33; 14:67; 16:10; ลูกา 5:29; 11:23; 22:21; 22:28; 22:33; 22:59; ยอห์น 6:66; 9:40; 11:16; 12:17; 13:8; 13:18; 15:27; 17:24; 18:26; 19:18; กิจการ 2:28; 7:38; 1ยอห์น 1:3; 1:6; วิวรณ์ 3:4; 3:20; 3:21; 14:1; 17:14; 20:4; 20:6; 22:12; มัทธิว 5:25; 12:3; 12:4; 27:54; มาระโก 1:36; 2:25; 5:40; ลูกา 6:3; 6:4; ยอห์น 11:31; 20:24; 20:26; กิจการ 9:19; 9:39; 20:34; ทิตัส 3:15

Syn: มี 66 ครั้งจากการปรากฏ 128 ครั้ง (52%)

ลูกา 7:6; 24:29; 24:44; ยอห์น 18:1; 1โครินธ์ 15:10; มัทธิว 26:35; 27:38; 27:44; มาระโก 15:27; 15:32; ลูกา 8:1; 8:38; 8:51; 9:18; 22:14; 22:56; 23:32; ยอห์น 12:2; กิจการ 4:13; โรม 6:8; 8:32; 2โครินธ์ 4:14; 13:4; ฟีลิปปี 1:23; โคโลสี 2:13; 2:20; 3:3; 3:4; 1เธสะโลนิกา 4:14; 4:17; 5:10; 2เปโตร 1:18; มาระโก 2:26; ลูกา 2:13; 5:9; 7:12; 8:45; 9:32; 24:10; 24:24; 24:33; กิจการ 5:17; 5:21; 13:7; 14:4; 22:9; 22:11; 27:2; โรม 16:14; 16:15; กาลาเทีย 2:3; โคโลสี 2:5

Para: มี 34 ครั้งจากการปรากฏ 194 ครั้ง (18%)

มัทธิว 6:1; 19:26; มาระโก 10:27; ลูกา 1:30; 2:52; 9:47; 11:37; 18:27; 19:7; ยอห์น 1:39; 4:40; 8:38; 14:17; 14:23; 14:25; 17:5; โรม 2:11; 2:13; 9:14; 1โครินธ์  3:19; 7:24; กาลาเทีย 3:11; เอเฟซัส 6:9; 2เธสะโลนิกา 1:6; ยากอบ 1:17; 1:27; 1เปโตร 2:4; 2:20; 2เปโตร 3:8

Pros: มี 16 ครั้งจากการปรากฏ 700 ครั้ง (2%)

ยอห์น 1:1; 1:2; 12:32; 14:3; โรม 4:2; 5:1; 2โครินธ์ 5:8; 1ยอห์น 1:2; 2:1; มัทธิว 13:56; มาระโก 6:3; 9:19; 14:49; 1เธสะโลนิกา 3:4; 2เธสะโลนิกา 3:10

 

      ช่องสีดำของตารางนี้แสดงถึงเปอร์เซ็นต์ที่ปรากฏของความหมายว่า “กับ” คือ meta 35%, syn 52%, para 18%, pros 2% เปอร์เซ็นต์ที่น้อยของ pros (2%) นั้น หมายความว่า pros แทบจะไม่ได้หมายถึง “กับ” ที่มีเพียง 16 ครั้งในการปรากฏ 700 ครั้ง ดังนั้นในการใช้งานจริงแล้ว “กับ” ไม่ใช่ความหมายตามปกติของ pros แต่เป็นความหมายที่มีน้อยหรือความหมายรอง ถึงกระนั้นมันก็เป็นความหมายที่มีน้อยซึ่งถูกเกณฑ์มาใช้ในยอห์น 1:1 ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

 

ความหมายของ “pros” ในพจนานุกรมฉบับมาตรฐานต่างๆ

      ความหมายในการ “อยู่กับใครสักคน” ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการในยอห์น 1:1b (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) นั้นเป็นไปได้ แต่ไม่ได้ไตร่ตรองความหมายตามปกติของ pros นี่จะเห็นได้ไม่แต่เฉพาะการใช้ pros ตามจริงในพระคัมภีร์ใหม่ (เปรียบเทียบ ศัพท์สัมพันธ์ฉบับสมัยนิยม) แต่ยังเห็นการนิยามคำนี้ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับต่างๆอีกด้วย พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG[5] ให้คำนิยามหลายอย่างของ pros และได้ระบุคำนิยามเหล่านี้ไว้ด้านล่าง ถ้าคุณประสงค์ คุณก็สามารถข้ามคำนิยามเหล่านี้โดยไม่ทำให้ขาดความลื่นไหลในการอ่าน แต่มันอาจเป็นประโยชน์ที่จะดูคำที่เห็นเป็นตัวหนา (คำที่เป็นตัวเอนและตัวหนาทั้งหมดเป็นของฉบับ BDAG)[6]

 

3. กับกรรมการก ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเคลื่อนไปทางหรือมีทิศทางไปทางใครบางคน หรือสิ่งบางสิ่ง

      (ก) ของสถานที่ บุคคล หรือสิ่งที่ชี้ไปยัง, มายัง, ไปที่, หลังคำกริยา

                   α. ของการไป

                   β. ของการส่ง

                   γ. ของการเคลื่อนที่ทั่วๆไป

                   δ. ของการนำ, การนำทาง

                   ε. ของการกล่าว, การพูด

                   ζ. ของการขอ, การอธิษฐาน

          (ข) ของเวลาที่ใกล้จะถึง, ณ เวลา, หรือในระหว่าง (เวลาที่แน่นอน)

                   α. แสดงถึงการเข้าใกล้สู่

                   β. ระยะเวลาชั่วขณะสำหรับ

          (ค) ของเป้าหมาย (การมุ่งเป้า) ไปที่ หรือ (มุ่งมั่น) ไปยัง

                   α. ด้วยจุดประสงค์ที่ตั้งใจเพื่อ, ด้วยจุดประสงค์ของ, ในนามของ

                   β. จุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายทั่วไป

                   γ. ของผลจากสถานการณ์ที่ตามมา (เพื่อว่า)

          (ง) ของความสัมพันธ์ (เป็นศัตรู หรือ เป็นมิตร) ต่อต้าน, สนับสนุน

                   α. เป็นศัตรูกับ, กับหลังคำกริยาของการโต้แย้ง ฯลฯ

                   β. เป็นมิตรกับ, ต่อ, กับ, ต่อหน้า

          (จ) เพื่อระบุการเชื่อมต่อโดยการอ้างอิง, โดยการอ้างอิงถึง/ในเรื่อง

                   α. โดยการอ้างอิงถึง

                    β. ในเรื่อง..ที่เกี่ยวกับ, ในเรื่อง

                   γ. เกี่ยวกับการละถ้อยคำ ti pros hēmas

                     δ. ตาม, เป็นไปตาม

                    ε. การแสดงวัตถุประสงค์

          (ฉ) ในการใช้คำที่ทำหน้าที่กริยาวิเศษณ์

          (ช) โดย, ที่, ใกล้ pros tina einai อยู่ (พร้อม) กับใครบางคน[7]

 

      จากคำนิยามมากมายที่ระบุไว้ในที่นี้ คำนิยามเดียวที่เข้ากับการอ่านยอห์น 1:1b (“พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”) ของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ คำนิยามข้อสุดท้าย (ช) โดยแท้จริงแล้ว นี่คือความหมายที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กำหนดให้กับยอห์น 1:1 แต่การที่คำนิยามนี้อยู่ในอันดับท้ายสุด (ช) พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จึงไม่ถือว่าเป็นความหมายหลักของ pros แต่เป็นความหมายรอง

      การเลือกตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพจากคำนิยามสุดท้ายให้กับยอห์น 1:1b โดยตัดความหมายอย่างอื่นที่เป็นไปได้พอๆกันออกไปนั้น เป็นดาบสองคมสำหรับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะว่ามันสร้างภาวะที่ลำบากอย่างมากให้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่เราจะพูดถึงในบทต่อไป

      และเมื่อเราตรวจสอบคำนิยามของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ตั้งแต่ (ก) ถึง (ช) ข้อเท็จจริงที่สำคัญจึงปรากฏ นั่นก็คือ ความหมายเด่นของ pros (กับกรรมการก) นั้นไม่ได้ให้คำอธิบายลักษณะโดย “กับ” แต่โดย “ไปที่” หรือ “มายัง”

      เราเห็นสิ่งที่คล้ายกันในอีกผู้เชี่ยวชาญด้านคำศัพท์ คือพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษโดยลิดเดล-สก็อต-โจนส์[8] (pros, C-III, 1-5) ความหมายหลักของ pros กับกรรมการกในพจนานุกรมนี้ก็คือ “อ้างอิงถึง” (ความหมายยังได้รับการสนับสนุนโดย BDAG, pros 3e) ดังนั้น “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” จึงน่าจะหมายถึง “พระวาทะมีการอ้างอิงถึงพระเจ้า” นั่นก็คือ พระวาทะอ้างถึงพระเจ้า หรือชี้ไปที่พระเจ้า นี่จะเข้ากันได้ดีกับข้อความถัดมาของยอห์นว่า “และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า” ด้วยสองข้อความนี้ที่ต่อเนื่องเป็นลำดับอย่างเป็นธรรมชาติ ความจริงแล้วไม่มีอะไรในพจนานุกรมเล่มใหญ่ของฉบับลิดเดล-สก็อต-โจนส์ (LSJ) เกี่ยวกับ pros ที่จะสนับสนุนการอ่านของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพว่า “และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า”   พจนานุกรมภาษากรีกดั้งเดิมฉบับมาตรฐานนี้ ซึ่งต่างจากพจนานุกรมภาษากรีกในพระคัมภีร์ฉบับอื่นๆ ไม่ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการค้นหาข้อสนับสนุนให้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      การใช้ pros ในการอ้างอิงนี้เป็นเรื่องปกติในพระคัมภีร์ และจะเห็นตัวอย่างได้จากในมาระโก 12:12 ว่า “พระองค์ตรัสอุปมานี้กระทบพวกเขา” ซึ่งในภาษากรีกจะแปลตรงตัวว่า “พระองค์ตรัสอุปมานี้โดยการอ้างอิงถึงพวกเขา” สิ่งนี้ได้รับการยืนยันโดยกุญแจภาษาศาสตร์ไขพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก[9] ซึ่งแปล pros autous ในข้อนี้ว่า “โดยการอ้างอิงถึงพวกเขา”

      ข้อสรุป จากข้อมูลคำศัพท์ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG และฉบับลิดเดล-สก็อต-โจนส์ อาจแปลยอห์น 1:1 ได้ว่า “ในปฐมกาลพระวาทะดำรงอยู่ และพระวาทะได้มีการอ้างอิงถึงพระเจ้า (ได้ชี้ไปที่พระเจ้า) และพระวาทะเป็นพระเจ้า” พระคัมภีร์ฉบับคอนคอร์แดนท์แปลยอห์น 1:1b ได้อย่างถูกต้องว่า “และพระวาทะชี้ไปยังพระเจ้า”

pros ton theon ในยอห์น 1:1 หมายถึง “กับพระเจ้า” หรือไม่?

      เราได้ดูคำ pros เดี่ยวๆ แล้วคำทั้งกลุ่มอย่าง pros ton theon ล่ะ? มันหมายถึง “กับพระเจ้า” ในยอห์น 1:1 หรือไม่? ความหมายนี้เป็นไปได้ แต่ยากที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะมันจะสร้างภาวะที่ลำบากให้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ซึ่งเราจะพูดถึงในบทต่อไป และเพราะการอ่านอีกทางหนึ่งนั้นมีปัญหาน้อยกว่า

      เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะเห็นว่า พระคัมภีร์ฉบับอิงลิชแสตนดาร์ด (ESV) เป็นพระคัมภีร์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพมาตลอด โดยทั่วไปจะแปลข้อความ pros ton theon ที่ใช้ในยอห์น 1:1 เอาไว้อย่างไร ถ้อยคำนี้มีปรากฏ 20 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยมีปรากฏสองครั้งในคำขึ้นต้นยอห์น และ 18 ครั้งนอกคำขึ้นต้นยอห์น[10] ใน 18 ตัวอย่างที่อยู่นอกคำขึ้นต้นยอห์นนี้ ฉบับ ESV ไม่เคยแปล pros ton theon ว่า “กับพระเจ้า” ยกเว้นแต่ในโรม 5:1 (“เราจึงมีสันติสุขกับพระเจ้า”[11] ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างจาก “กับพระเจ้า” ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมองหาในยอห์น 1:1b) แต่ฉบับ ESV แปล pros ton theon ว่า “ไปที่พระเจ้า” หรือ “ไปยังพระเจ้า” ใน 14 ข้อจาก 18 ข้อที่อยู่นอกคำขึ้นต้นยอห์น เช่นเดียวกันกับพระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ด (NASB)  

      การอ่านว่า “มายังพระเจ้า” กับยอห์น 1:1b นั้นได้รับการยอมรับแม้แต่จากคู่มืออธิบายพระคัมภีร์บางฉบับของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ดังเช่น คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกันซึ่งกล่าวว่า

 

ผู้แปลส่วนใหญ่จะแปลคำกล่าวนี้ว่า “และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” ที่จริงแล้วเป็นเรื่องยากที่จะแปลวลีภาษากรีกว่า pros ton theon (ทั้งในข้อ 1 และ 2) เป็นภาษาอังกฤษ ความหมายตรงตัวก็คือ “ไปยังพระเจ้า” (คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกัน[12], เกี่ยวกับยอห์น 1:1)

 

      คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกัน ไม่ได้เป็นคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพเพียงฉบับเดียว ที่บอกว่า pros ton theon ในยอห์น 1:1 หมายความตรงตัวว่า “มายังพระเจ้า มีคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับอื่นๆรวมถึงคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวไบเบิ้ล (ความคิดตรงตัวว่า “มายังพระเจ้า”); “พระคัมภีร์พูดในสมัยนี้”[13] (“คำกับ ตรงนี้คำตรงตัวก็คือ ‘มายัง’”); คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ของนักเทศน์ (“การแปลตรงตัวอาจเป็น พระวาทะชี้มายังพระเจ้า[14]

      พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์มี 70 ตัวอย่างของ pros ton theon ซึ่งส่วนใหญ่แปล ว่า “ไปที่พระเจ้า” มากกว่า “กับพระเจ้า” ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษ

      แล้วทำไมบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจึงเลือก “กับ” ที่เป็นความหมายรอง ให้กับคำ pros ในยอห์น 1:1 แต่ไม่ได้เลือกความหมายนี้ให้กับส่วนที่เหลือในพระคัมภีร์ใหม่? เหตุผลหนึ่งก็คือหลักคำสอน การแปลว่า “พระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า” สอดคล้องกับความเชื่อในตรีเอกานุภาพโดยบอกเป็นนัยถึงบุคคลที่สองที่อยู่ “กับ” พระเจ้าในการทรงสร้าง และบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการที่จะบอกเป็นนัยเพิ่มเติมว่า บุคคลผู้นี้ก็คือพระเยซูที่ดำรงอยู่ก่อนแล้ว แต่การที่จะพิสูจน์ข้อสนับสนุนของพวกเขาจากพระคัมภีร์ ก็ต้องมีเงื่อนไขอีกสามข้อ

      ข้อแรก จะต้องแสดงให้เห็นว่า การสร้างในปฐมกาลนั้นมีบุคคลอื่นที่นอกเหนือ จากพระยาห์เวห์ร่วมอยู่ด้วย แต่ใครที่คุ้นกับเรื่องราวในปฐมกาลก็จะรู้ว่า ไม่มีใครที่มีส่วน “กับพระเจ้า” เมื่อพระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่งขึ้น ไม่มีบันทึกถึงคนหรือสิ่งที่มีชีวิต หรือบุคคลใดๆนอกจากพระเจ้าที่มีส่วนกับการสร้างนี้ นอกจากนี้ก็ไม่มีคำว่า “พระเจ้าพระองค์ที่สอง” ซึ่งเป็นคำที่ไฟโลใช้ แต่ได้ถูกบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้ให้หมายความต่างไปจากสิ่งที่ไฟโลหมายถึง ดังนั้นไม่ว่า pros จะหมายถึงอะไรในยอห์น 1:1 มันก็ไม่ได้หมายความว่า “กับ” แต่อย่างใด ที่บอกเป็นนัยถึงอีกบุคคลหนึ่งซึ่งอยู่ข้างๆพระเจ้า

      ข้อที่สอง แม้ว่ามันจะสามารถแสดงให้เห็นว่ามีบุคคลที่อยู่ “กับพระเจ้า” ในการทรงสร้างในปฐมกาล มันก็จะต้องแสดงให้เห็นต่อไปว่าบุคคลนี้เป็นบุคคลจริง และไม่ใช่แค่ทำให้มีอยู่จริง หรือการทำให้มีตัวตนเหมือนกับพระปัญญาในสุภาษิต 8:30[15] ดังนั้นไม่ว่าพระวาทะในยอห์น 1:1 จะเป็นพระเจ้าพระองค์ที่สองที่อยู่ข้างๆพระยาห์เวห์หรือไม่ ก็ยังจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริง ความพยายามเช่นนั้นจะเปล่าประโยชน์ เพราะตามพระคัมภีร์แล้วไม่ได้มีบุคคลดังกล่าวเลย พระยาห์เวห์ได้ทรงประกาศอย่างชัดเจนว่า พระองค์เพียงผู้เดียวเป็นพระเจ้า (อิสยาห์ 45:5)[16] และพระองค์ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกด้วยพระองค์เอง (อิสยาห์ 44:24)[17] ดังนั้นแม้ว่าเราจะยอมรับว่า “กับพระเจ้า” เป็นการอ่าน pros ton theon ในยอห์น 1:1 อย่างถูกต้อง (ซึ่งเป็นไปได้ตามความหมาย) แต่นั่นเพียงอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      ข้อที่สาม จะต้องแสดงให้เห็นว่า คำขึ้นต้นของยอห์นระบุถึง “พระวาทะ” กับพระเยซู ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้ทำ ที่จริงบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้ไปไกลกว่าจุดแรก ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงจุดที่สองและสาม

สิ่งนี้นำเราไปสู่บทต่อไป


[1] John 1:1a – In the beginning was the Word,

John 1:1b – and the Word was with God,

John 1:1c – and the Word was God.

[2] หรือแปลว่า “ในเรื่องเกี่ยวกับ” (towards)

[3] Modern Concordance to the New Testament

[4] ศัพท์สัมพันธ์สมัยนิยมได้รับการยกย่องว่าเป็น “ความสำเร็จอันงดงาม” โดยดาวิด โนเอล ฟรีดแมน ผู้เป็นบรรณาธิการทั่วไปของชุดศึกษาพระคัมภีร์ฉบับแองเคอร์ (Anchor Bible series) และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงด้านม้วนหนังสือเดดซี (Dead Sea Scrolls) และได้รับการยกย่องว่าเป็น “ศัพท์สัมพันธ์ภาษาสมัยใหม่ที่ดีที่สุดที่ผมเคยเห็น” โดยเรย์มอนด์ บราวน์ นักวิชาการคาทอลิกที่มีชื่อเสียงด้านพระคัมภีร์

[5] BDAG Greek-English lexicon คือพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษของพระคัมภีร์ใหม่และวรรณกรรมคริสเตียนอื่นๆในสมัยแรกๆ โดย บาวเออร์ แดงเกอร์ อาร์นท์ กิงกริช (Bauer, Danker, Arndt, Gingrich)

[6] เราอ้างอิงเฉพาะส่วนที่สามของคำนิยามของฉบับ BDAG (โดยเว้นการอ้างอิง, การสะกดคำย่อ, การทับศัพท์คำกรีก) เราข้ามสองส่วนแรก เนื่องจากสองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับสัมพันธการกที่แสดงความเป็นเจ้าของและกรรมรอง แต่ส่วนที่สามเกี่ยวข้องกับกรรมการก ซึ่งเป็นกรณีของไวยากรณ์ที่ใช้ในยอห์น 1:1b

[7] เราอ้างอิงเฉพาะส่วนที่สามของคำนิยามpros ของฉบับ BDAG เท่านั้น (โดยเว้นการอ้างอิง, ตัวย่อที่สะกด, ทับศัพท์ภาษากรีก) เราข้ามสองส่วนแรกไปเพราะเกี่ยวข้องกับกรรมการกและสัมพันธการก ในขณะที่ส่วนที่สามเกี่ยวข้องกับกรรมการก ซึ่งเป็นกรณีทางไวยากรณ์ที่ใช้ในยอห์น 1:1b

[8] Liddell-Scott-Jones Greek-English Lexicon (LSJ)

[9] Linguistic Key to the Greek New Testament

[10] 18 ตัวอย่างที่อยู่นอกคำขึ้นต้นยอห์นคือ ยอห์น 13:3; กิจการ 4:24, 12:5, 24:16; โรม 5:1, 10:1, 15:17, 30; 2 โครินธ์ 3:4; 13:7; ฟีลิปปี 4:6; 1เธสะโลนิกา 1:8,9; ฮีบรู 2:17, 5:1; 1 ยอห์น 3:21; วิวรณ์ 12:5, 13:6 สองตัวอย่างในคำขึ้นต้นยอห์นคือ ยอห์น 1:1 และ 1:2

[11] we have peace with God” ฉบับ 1971 แปลว่า “เราจึงมีสันติสุขในพระเจ้า” ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “เราจึงอยู่อย่างสงบสุขเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า” (ผู้แปล)

[12] New American Commentary

[13] New Bible Commentary; The Bible Speaks Today

[14] The Preacher’s Commentary (“the Word was towards God”)

[15] สุภาษิต 8:30 ​ ​​​“ข้าพเจ้าก็อยู่ข้างพระองค์แล้วเหมือนอย่างนายช่าง ข้าพเจ้าเป็นความปีติยินดีประจำวันของพระองค์ เปรมปรีดิ์อยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ทุกเวลา

[16] อิสยาห์ 45:5 เราคือยาห์เวห์ ไม่มีใครอื่น นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใด” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[17] อิสยาห์ 44:24 “พระยาห์เวห์ผู้ไถ่ของเจ้า ผู้ปั้นเจ้าตั้งแต่ในครรภ์ ตรัสดังนี้ว่า “เราคือยาห์เวห์ ผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ผู้ขึงฟ้าสวรรค์แต่ลำพัง ผู้กางแผ่นดินโลกด้วยตัวเอง”