พิมพ์
หมวด: Theological Metamorphosis
ฮิต: 637

pdf pic 

 

 

บทที่ 9

 

 

ch1 1

 

 

ความหมายของ “มาเป็น”

ใน “พระวาทะมาเป็นเนื้อหนัง”

 

      ราเข้าใจคำประกาศของยอห์นที่ว่า “พระวาทะกลายเป็นเนื้อหนัง” (ยอห์น 1:14a) อย่างไร? เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “เนื้อหนัง” หมายถึงมนุษย์โลก แต่อะไรคือความหมายของ “มาเป็น”? บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่าพระวาทะที่พวกเขาเทียบให้เท่ากับพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพได้ “มาเป็นเนื้อหนัง” ในแง่ที่ว่า พระเจ้าได้กลายมาเป็นมนุษย์โดยการจุติลงมาเกิด แต่ก็ไม่หยุดที่จะเป็นพระเจ้า[1] ดังนั้นพระเยซูจึงทรงเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ผู้ที่เป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์และมนุษย์อย่างสมบูรณ์ตลอดไป

      ในบทที่ผ่านมา เราได้เห็นว่ามุมมองของการจุติลงมาเกิดนี้อ่อนลงไปเลย ด้วยข้อเท็จจริงในข้อความภาษากรีกที่ว่า “ประทับอยู่ท่ามกลางเรา” นั้นคำตรงตัวก็คือ “ปักเต็นท์อยู่ในเรา” ยอห์นกำลังพูดว่าพระวาทะที่เป็นพระเจ้าได้ “มาเป็นเนื้อหนัง” ในแง่ของการปักเต็นท์อยู่ “ในเรา” นั่นก็คือในคนของพระเจ้าซึ่งเป็นวิหารของพระเจ้า โดยมีพระคริสต์เป็นศิลามุมเอก

      เปาโลก็เช่นเดียวกัน ที่ไม่ได้สนับสนุนมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า พระเจ้าทรงมาเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ เปาโลกล่าวตรงกันข้ามว่า “เพราะความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในรูปกายของพระองค์” (โคโลสี 2:9) เปาโลทำให้เข้าใจถึงพระเจ้าและพระเยซูว่าเป็นสองบุคคลที่แตกต่างกัน (เปรียบเทียบ 1 โครินธ์ 11:3, “พระเจ้าทรงเป็นพระเศียร[2]ของพระคริสต์”) พระเจ้าทรงอยู่ใน “พระกาย” ของพระเยซูที่กล่าวถึงในที่อื่นว่าเป็นวิหารของพระเจ้า ซึ่งเตือนเราถึงถ้อยคำว่า “​พระสิริ​ของ​พระ​ยาห์​เวห์ก็​ปรา​กฏ​อยู่​เต็ม​พลับ​พลา​นั้น” (อพยพ 40:34)

      เราเองก็เป็นวิหารของพระเจ้าที่มีพระคริสต์เป็นศิลามุมเอก ด้วยเหตุนี้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าจึงไม่เพียงแต่อยู่ในพระคริสต์เท่านั้น แต่ยังอยู่ในประชากรของพระเจ้าด้วย ดังที่ว่า “เพื่อพวกท่านจะเต็มเปี่ยมด้วยความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า” (เอเฟซัส 3:19)

 

คำนิยาม ginomai ของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG

      คำถามที่สำคัญของเราก็คือ อะไรคือความหมายของ “มาเป็น” ใน “พระวาทะมาเป็นเนื้อหนัง” (ยอห์น 1:14)? คำว่า “มาเป็น” ในภาษากรีกก็คือ egeneto ซึ่งเป็นรูปแบบทางไวยากรณ์ของคำกริยา ginomai ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ได้ให้คำนิยามสิบประการของ ginomai ที่แสดงไว้ในที่นี้โดยเว้นการอ้างอิง ผมได้ทำตัวเน้นคำนิยามที่ 5 และ 6 เพราะมันเกี่ยวข้องกับการตีความที่แตกต่างกันของยอห์น 1:14 หากคุณต้องการจะข้ามรายละเอียดเหล่านี้ ก็ให้อ่านแค่คำนิยามที่ 5 และ 6

      1. การเกิดขึ้นผ่านกระบวนการของการเกิด หรือการผลิตตามธรรมชาติ, การเกิด, การผลิตขึ้น

      2. ทำให้เกิดขึ้น, ทำขึ้น, สร้างขึ้น, ประดิษฐ์ขึ้น, และประกอบขึ้น

      3. การเกิดขึ้นที่เป็นเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์จากจุดเริ่มต้น, การเกิดขึ้น, ปรากฏขึ้น, พัฒนาขึ้น

      4. การปรากฏขึ้นเป็นกระบวนการหรือผลที่เกิดขึ้น, เกิดขึ้น, กลายเป็น, เริ่มขึ้น

      5. การมีประสบการณ์การเปลี่ยนสภาวะ และจึงบอกถึงการเข้าสู่สภาพใหม่, กลายเป็นบางสิ่งบางอย่าง

      6. การเปลี่ยนสถานที่ตั้งในพื้นที่ว่าง, การย้าย

      7. มาอยู่ในสภาวะหรือมีลักษณะบางอย่าง, เป็น, พิสูจน์ว่าเป็น, กลายเป็น

      8. การปรากฏในเวลาที่กำหนด, อยู่ที่นั่น

      9. มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับบางคนหรือบางสิ่ง, เป็นของ

      10. การอยู่ใน หรืออยู่ในที่หนึ่ง, อยู่ใน, อยู่ที่นั่น

 

      เนื่องจาก ginomai มีคำนิยามที่หลากหลายมาก ซึ่งยอห์น 1:14 ก็เป็นหนึ่งในข้อเหล่านั้นในพระคัมภีร์ (อันที่จริงเป็นหนึ่งในหลายๆ ข้อในพระคัมภีร์) ที่ความหมายของคำในพจนานุกรม (ในกรณีนี้คือ ginomai) ไม่ได้เป็นตัวชี้แนวความหมายของทั้งข้อ มันค่อนข้างจะกลับกัน คือมันเป็นความเข้าใจของเราจากทั้งข้อว่าเป็นตัวชี้แนวความหมายของคำเฉพาะในข้อนี้

      ผมได้ให้คุณดูคำนิยามที่ 5 และ 6 คำนิยามที่ 5 (“การมีประสบการณ์กับการเปลี่ยนสภาวะ”) นี้สอดคล้องกับมุมมองของความเชื่อตรีเอกานุภาพว่า พระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพได้เปลี่ยนสภาวะมาเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์โดยการจุติลงมาเกิด ความจริงแล้วคำนิยามที่ 5a เป็นคำนิยามที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กำหนดให้ยอห์น 1:14 มันเป็นไปได้ว่าพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG อาจกำลังสันนิษฐานมุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่ไม่ได้ระบุสิ่งนี้ไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จึงหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปในขอบข่ายของศาสนศาสตร์ที่ไม่ได้ตามพระคัมภีร์

      เป็นสิ่งสำคัญที่พึงสังเกตว่า แทบจะไม่มีการอ้างอิงพระคัมภีร์ของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ที่ให้การสนับสนุน “การเปลี่ยนสภาวะ” ว่าพูดถึงการเปลี่ยนสภาวะจริงๆ ตามที่เราอาจเข้าใจถ้อยคำนั้น การอ้างอิงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของบุคคลหนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่งมากกว่า (เช่น เฮโรดกับปีลาต “มาเป็นมิตรกัน” ในลูกา 23:12 ซึ่งบอกถึงสถานภาพใหม่ในความสัมพันธ์ของพวกเขา)[3]

      คำนิยามที่ 6 (“การเปลี่ยนสถานที่ตั้งในพื้นที่ว่าง”) มีประโยชน์ในการเผยให้เห็นความหมายตามพระคัมภีร์ของยอห์น 1:14 ที่พระเจ้าทรงเปลี่ยนสถานที่ตั้งในแง่ของการพำนักในพลับพลา (“ปักเต็นท์อยู่ในเรา”) ความหมายของ “การเปลี่ยนสถานที่ตั้ง” นี้ยังเห็นได้ในข้อ 6 ของคำขึ้นต้นของยอห์นที่ ginomai ให้ความ หมายนี้กับยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่า “มานั่นแล้ว (ginomai) ชายผู้หนึ่งที่พระเจ้าทรงส่งมา”[4]

      ดังนั้นคำนิยามที่ 5 (“การเปลี่ยนสภาวะ”) จึงยังคงมีความเกี่ยวข้องกับยอห์น 1:14 ในการแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ในรูปแบบใหม่ของพระเจ้าในมนุษย์ (ตอนนี้พระเจ้าสถิตอยู่ “ในเรา”)

      แต่การตรวจสอบการอ้างอิงที่สนับสนุนคำนิยามที่ 5a ที่นอกจากยอห์น 1:14 ของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันนั้น แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ให้ความหมายใดๆที่คล้ายคลึงกับการจุติลงมาเกิดตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      นี่คือตัวอย่างบางส่วน เช่น สาวกจะ “มาเป็นผู้หาคนเหมือนหาปลา” (มาระโก 1:17), ยูดาส “มาเป็นผู้ทรยศ” (ลูกา 6:16), เฮโรดและปีลาต “มาเป็นมิตรกัน” (ลูกา 23:12), อับราฮัมจะ “มาเป็นบิดาของประชาชาติ” (โรม 4:18), พระคริสต์ “มาเป็นมหาปุโรหิต” (ฮีบรู 5:5) แม้แต่ยอห์น 1:12 (“สิทธิในการมาเป็นบุตรของพระเจ้า”) หรือมัทธิว 5:45 (“เพื่อว่าพวกท่านจะมาเป็นบุตรของพระบิดาของท่าน”) ก็ไม่มีความหมายใดๆที่คล้ายคลึงกับการจุติลงมาเกิดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      ในทุกกรณีเหล่านี้ คนก็ยังคงเป็นคน พวกเขาไม่ได้ถูกเปลี่ยนจากมนุษย์มาเป็นพระเจ้า หรือเปลี่ยนจากพระเจ้ามาเป็นมนุษย์ หรือเปลี่ยนจากพระเจ้ามาเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ แต่จะมีสถานภาพใหม่ในความสัมพันธ์ของพวกเขากับเพื่อนมนุษย์หรือกับพระเจ้าของพวกเขา

      แม้แต่มัทธิว 4:3 (“จงสั่งให้ก้อนหินเหล่านี้ให้มาเป็นขนมปัง”) ก็ไม่สามารถใช้สนับสนุนมุมมองของการจุติลงมาเกิดของยอห์น 1:14 ได้ ไม่เพียงเพราะมัทธิว 4:3 เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นวัตถุสิ่งของ (ขนมปังกับก้อนหิน ในขณะที่พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ) แต่ยังเป็นเพราะ มันเป็นเพียงข้อเดียวในการอ้างอิงตามพระคัมภีร์ของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กับคำนิยามที่ 5a ที่บอกให้รู้น้อยที่สุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ ดังนั้นมัทธิว 4:3 จึงไม่ได้แสดงถึงความหมายทั่วไปใดๆของ ginomai แต่เป็นเพียงความหมายที่มีน้อยและความหมายเดียว แล้วเหตุใดจึงกำหนดความหมายที่มีน้อยและความหมายเดียวให้ยอห์น 1:14 มากกว่าความหมายอื่นๆอีกมากมายที่เป็นไปได้? เราจะทำเช่นนี้ก็ต่อเมื่อเราเชื่อว่ามุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพของยอห์น 1:14 นั้นเป็นไปได้ การชี้นำข้อสรุปแบบนี้เรียกว่า “การให้เหตุผลที่จะให้หลักฐานตรงกับข้อสรุป” การอ้างเหตุผลที่ผิดในการสันนิษฐานความถูกต้องของข้อสรุป ในขณะที่สร้างข้อโต้แย้งที่โน้มน้าวใจในเรื่องนั้น ไม่ว่าจะในกรณีใด มุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับยอห์น 1:14 ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะข้อนี้กล่าวตรงตัวว่า พระวาทะได้ปักเต็นท์อยู่ “ในเรา” ไม่ใช่ “ท่ามกลางเรา”

      ในที่สุด การอ้างอิงตามพระคัมภีร์เพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ในคำนิยามที่ 5a ของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ที่อาจ “สนับสนุน” มุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับยอห์น 1:14 ก็คือยอห์น 1:14 นั่นเอง! ดังนั้นหากใครจะอ้างคำนิยามที่ 5a ของพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG เพื่อพิสูจน์มุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับยอห์น 1:14 (ซึ่งพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG เองไม่ได้พิสูจน์) ก็จะเป็นการชี้นำข้อสรุป การที่กล่าวว่าความหมายของยอห์น 1:14 นั้นถูกกำหนดโดยความหมายของยอห์น 1:14! นั้นเป็นการใช้คำซ้ำโดยไม่จำเป็นอย่างมาก

      สุดท้ายแล้ว ความหมายของ ginomai ในยอห์น 1:14 ก็ถูกชี้แนวด้วยความหมายของทั้งข้อ คำประกาศว่า “พระวาทะมาเป็นเนื้อหนัง” เผยให้เห็นภาพของพระเจ้าประทับอยู่ในเนื้อหนัง ซึ่งก็คือในมนุษย์ ไม่ว่าจะแง่ใดก็ตาม ตอนนี้พระเจ้าประทับและปักเต็นท์อยู่ “ในเรา” ในคนของพระเจ้าที่ประกอบเป็นพระวิหารของพระเจ้า จนกระทั่งเราและพระเยซูพระเมสสิยาห์ผู้ดีเลิศนั้นจะ “เต็มเปี่ยมด้วยความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า” (เอเฟซัส 3:19)


[1] พจนานุกรมศาสนศาสตร์ฉบับอีแวนเจลิคอล นิยามการจุติลงมาบังเกิดนี้ว่า “การที่พระบุตรผู้ดำรงเป็นนิตย์ของพระเจ้า พระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่หยุดที่จะเป็นในสิ่งที่พระองค์ทรงเป็น คือเป็นพระเจ้าพระบุตร ได้มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวพระองค์เอง ในสิ่งที่พระองค์ไม่ได้มีก่อนหน้านี้ คือสภาวะที่เป็นมนุษย์ และดังนั้นพระองค์จึงได้ทรงเป็นและยังคงเป็นพระเจ้าและมนุษย์ในสองสภาวะที่แตกต่างกัน และเป็นบุคคลเดียวกันเป็นนิตย์”

[2] หรือศีรษะ

[3] กา 23:12 ในวันนั้นเฮโรดกับปีลาตกลายเป็นมิตรกัน ทั้งที่ก่อนหน้าพวกเขานี้พวกเขาเป็นศัตรูกัน (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[4] ยอห์น 1:6 “มีชายผู้หนึ่งที่พระเจ้าทรงใช้มา”