พิมพ์
หมวด: Theological Metamorphosis
ฮิต: 960

 pdf pic

 

บทที่ 7

 

 

ch1 1

 

 

เมื่อ Proskyneō ใช้กับพระเยซู

นั่นหมายถึงการนมัสการพระเจ้าหรือไม่?

 

กำลังนมัสการพระเยซู หรือว่ากำลังกราบเคารพพระเยซู?

      มื่อพวกนักปราชญ์ไปพบพระกุมารเยซูนั้น (มัทธิว 2:11)[1] พวกเขาได้ “กราบนมัสการ” พระเยซู (ฉบับ ESV) หรือว่าพวกเขาได้ “กราบแสดงความเคารพ” พระองค์กันแน่ (ฉบับ NJB)? ตรงนี้เราจะเห็นการแปลคำกรีก proskyneō ในสองแบบที่แตกต่างกันจากพระคัมภีร์หลักสองฉบับ

      เราจะเห็นว่า พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษให้คำนิยามพื้นฐานสองอย่างเกี่ยว กับ proskyneō อย่างหนึ่งเป็นความหมายอันดับแรกและสำคัญที่สุด และอีกอย่างเป็นความหมายรองและความหมายที่แตกออกมา ความหมายอันดับแรกคือ “การคุกเข่าต่อหน้าใครบางคน” หรือ “การหมอบกราบต่อหน้าใครบางคน” นี่เป็นการแสดงออกทางกายในการแสดงความเคารพต่อใครบางคนโดยไม่จำเป็นต้องถือว่าคนนั้นเป็นพระเจ้าสำหรับเขา (ตัวอย่างเช่น หมอบกราบต่อหน้านายร้อยชาวโรมัน) แต่ในบางบริบท proskyneō อาจมีความหมายที่แตกออกมาของการนมัสการ ในขณะที่ความหมายอันดับแรกไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวข้องกับการบ่งชี้ถึงพระเจ้า ส่วนความ หมายรอง อาจเกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเจ้า

      เมื่อเราพบคำ proskyneō ในพระคัมภีร์ใหม่ คำถามว่าอันไหนเป็นความหมายที่มุ่งหมายไว้นั้น ก็มักจะแก้ปัญหาได้โดยดูว่า เป้าหมายของ proskyneō คือใคร ถ้าเป้าหมายคือพระเจ้า proskyneō ก็จะหมายถึงการนมัสการพระเจ้า (เช่น มัทธิว 4:10 “จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน”) แต่ถ้าเป้าหมายคือมนุษย์ที่มีตำแหน่งสูง อย่างเช่น ผู้บังคับกองพันทหารโรมัน ดังนั้น proskyneō ก็จะหมายถึงการคุกเข่าหรือการแสดงความเคารพ โดยไม่ได้บ่งชี้ถึงพระเจ้า

  ด้วยเหตุนี้ความหมายที่มุ่งหมายไว้ของ proskyneō จึงมักจะขึ้นอยู่กับผู้ที่เป็นเป้าหมายของ proskyneō ว่าเขาถูกมองว่าเป็นพระเจ้าหรือไม่ การใช้คำ proskyneō เฉยๆในตัวของมันเองแล้ว ไม่ได้ทำให้บุคคลนั้นเป็นพระเจ้า เพราะการที่คุกเข่าต่อใครสักคนนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเจ้า

      ในสมัยโบราณแถบตะวันออกใกล้นั้น การคุกเข่าหรือการหมอบกราบจะเป็นอากัปกิริยาที่คุ้นชินในการแสดงความคารวะหรือความนอบน้อม และไม่ได้ถือว่าเป็นการนมัสการพระเจ้า เราจะเห็นสิ่งนี้ไม่เฉพาะแต่ในพระคัมภีร์ใหม่เท่านนั้น แต่จะเห็นในพระคัมภีร์เดิมภาษากรีกฉบับเซปทัวจินต์[2] ซึ่งแปลมาจากพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูอีกด้วย เราจะให้สองตัวอย่าง คือที่อับราฮัมน้อมตัวคำนับตรงหน้าคนฮิตไทต์ (ปฐมกาล 23:12)[3] และดาวิดก้มลงถึงดินกราบไหว้ซาอูล (1 ซามูเอล 24:8;[4] ข้อ 9 ในฉบับเซปทัวจินต์) คำที่ใช้ในฉบับเซปทัวจินต์ของทั้งสองข้อนี้ก็คือ proskyneō ดังนั้นจึงเป็นข้อผิดพลาดที่จะสรุปว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า เพียงเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าใช้ proskyneō กับพระองค์

 

proskyneō หมายถึงอะไรเมื่อใช้กับพระเยซู?

      คำ proskyneō มีปรากฏทั้งหมด 60 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งใช้กับพระเยซู 17 ครั้ง (ทรงเป็นเป้าหมายของ proskyneō ในทั้งหมด 17 ครั้ง) รายการทั้งหมดของ 60 ตัวอย่างจะให้ไว้ด้านล่าง

      เมื่อใช้ proskyneō กับพระเยซู ฉบับอิงลิชแสตนดาร์ด[5]มักจะแปลว่า “นมัสการ” (เช่น พวกสาวก “กราบนมัสการ” พระเยซู หลังจากที่พระองค์ทรงทำให้พายุสงบลง, มัทธิว 14:33)[6] แต่บางครั้งก็แปลว่า “คุกเข่า” (มัทธิว 20:20)[7] ฉบับอิงลิชแสตนดาร์ด, ฉบับนิวอินเตอร์เนชันแนล, และฉบับนิวอเมริกันแสตนดาร์ด[8] มีแนวโน้มที่จะแปล proskyneō ว่า “นมัสการ” เมื่อใช้กับพระเยซู โดยสันนิษฐานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์

      แต่พระคัมภีร์อีกหลายฉบับที่แปล proskyneō เมื่อใช้กับพระเยซูในลักษณะที่แตกต่างจากฉบับอิงลิชแสตนดาร์ด คือแทนที่จะบอกว่าพวกนักปราชญ์ “กราบนมัสการ” พระกุมารเยซู (มัทธิว 2:11) แต่คำแปลของฉบับเหล่านี้ไม่ได้บอกถึงการนมัสการเลย ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วน เช่นแปลว่า “กราบถวายบังคมพระองค์” (ฉบับนิวเยรูซาเล็ม, ฉบับนิวรีไวส์แสตนดาร์ด, ฉบับนิวอเมริกัน, และฉบับดาร์บี้);[9] “ถวายเกียรติพระองค์” (ฉบับคอมม่อนอิงลิช); “ยกย่องพระองค์” (ฉบับดูเอ-รีมส์); “น้อมตัวลงเพื่อถวายบังคมพระองค์” (ฉบับรีไวส์อิงลิช);[10] และ “หมอบกราบด้วยความนับถือพระองค์” (ฉบับไอทีเอ็นที)[11] ทั้งนี้แม้จะมีข้อเท็จจริงว่า พระคัมภีร์เหล่านี้บางฉบับมีหลักฐานรับรองของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ไม่ว่าจะด้วยชื่อเสียงหรือด้วยใบอนุญาตของคาทอลิก ซึ่งเป็น “ตรารับรอง” ของคริสตจักรคาทอลิกสำหรับฉบับนิวเยรูซาเล็ม, ฉบับนิวอเมริกัน, และฉบับดูเอ-รีมส์

       ฉบับอิงลิชแสตนดาร์ดแปลมัทธิว 2:11 ให้หมายถึง “การนมัสการ” พระกุมารเยซู แต่การแปลนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากคู่มืออธิบายพระคัมภีร์หลายๆฉบับของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในการค้นคว้าข้อนี้ของพวกเขา ตัวอย่างเช่น คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับทินดัล[12] กล่าวว่า “คำกริยาว่า นมัสการ (proskyneō) มีความหมายเพียงว่า กราบแสดงความเคารพมนุษย์ที่มีตำแหน่งสูง” จอห์น คาลวิน กล่าวอย่างหนักแน่นในคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ของเขาว่า พวกนักปราชญ์ไม่ได้มาเพื่อนมัสการพระเยซู แต่มาเพื่อคารวะพระองค์ว่าเป็น “กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่มาก” หนังสืออธิบายพระคัมภีร์ของ ดร.คอนสเตเบิล[13] กล่าวไว้ว่า คำกล่าวของพวกนักปราชญ์นั้น “ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า พวกเขาเห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้า” แต่ “เพราะพวกเขาต้องการจะกราบถวายบังคมพระองค์” คู่มือพระคัมภีร์ของผู้อธิบาย[14]กล่าวว่า “คำกล่าวของพวกนักปราชญ์แสดงให้เห็นว่า เป็นการถวายบังคมกษัตริย์มากกว่าเป็นการนมัสการพระเจ้า”

      ความแตกต่างในการแปลยังมีให้เห็นในข้ออื่นๆ เช่น มัทธิว 14:33 ที่ฉบับอิงลิช แสตนดาร์ด กล่าวว่าพวกสาวก “กราบนมัสการ” พระเยซูหลังจากที่พระองค์ทรงทำให้พายุสงบลง แต่พระคัมภีร์ส่วนใหญ่ที่ได้กล่าวมาก่อนแล้ว พูดถึงการน้อมตัวลงต่อพระเยซูหรือการกราบแสดงความเคารพพระองค์ ตัวอย่างเช่น ฉบับนิวเยรูซาเล็มใช้คำว่า “กราบลงตรงหน้าพระองค์” และฉบับนิวอิงลิช[15]กับฉบับรีไวส์อิงลิชใช้คำว่า “คุกกราบลงแทบพระบาทของพระองค์”

 

คำถามที่สำคัญสำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ

      เนื่องจาก proskyneō สามารถหมายถึง “กราบแสดงความเคารพ” หรือความ หมายที่น้อยกว่าปกติว่า “นมัสการ” อันไหนคือความหมายที่มุ่งหมายไว้เมื่อใช้กับพระเยซูหรือ? เป็นไปได้ไหมที่เราจะได้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ proskyneō ที่ไม่ขึ้นอยู่กับข้อสันนิษฐานตามหลักคำสอน? และเราสามารถจะผ่าทางตันนี้ได้ไหม ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้ proskyneō ให้หมายถึงการนมัสการพระเยซู และบรรดาผู้ที่ไม่เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้ให้หมายถึงการคุกเข่าลงต่อหน้าพระพักตร์พระเยซู?

      ปัญหาที่เพิ่มขึ้นก็คือ มัทธิว 2:11 (เรื่องพระกุมารเยซูกับพวกนักปราชญ์) ไม่มีหลักฐานภายใน[16]ที่ชัดเจน ที่จะสนับสนุนการตีความอันหนึ่งมากกว่าอีกอันหนึ่ง ดังนั้นหากคุณเชื่อว่าพวกนักปราชญ์นมัสการพระเยซูว่าเป็นพระเจ้า proskyneō ก็จะหมายถึง “นมัสการ” สำหรับคุณ แต่ถ้าคุณเชื่อว่าพวกนักปราชญ์กราบบังคมพระเยซู proskyneō ก็จะหมายถึง “กราบแสดงความเคารพ” สำหรับคุณ ดังนั้นจะมีปัจจัยภายนอกและปัจจัยที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงอะไรไหม ที่จะสามารถผ่าทางตันนี้ได้?

      ดีที่เรามีวิธีผ่าทางตัน เพราะมีข้อเท็จจริงสี่ข้อที่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงโดยไม่ขึ้นกับข้อสันนิษฐานตามหลักคำสอน ไม่มีข้อไหนที่เป็นข้อสรุปโดยตัวมันเอง แต่เมื่อเอาข้อเท็จจริงทั้งสี่ข้อมารวมกัน ข้อเท็จจริงเหล่านั้นจะชี้นำเราไปยังความหมายที่ถูกต้องของ proskyneō เมื่อมีการใช้กับพระเยซู

ข้อเท็จจริง # 1 การนมัสการไม่ใช่ความหมายพื้นฐานของ proskyneō แต่เป็นเพียงความหมายที่แตกแขนงมาจากรากศัพท์

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษที่ได้มาตรฐานสองฉบับ คือฉบับของ BDAG[17] และฉบับของ Thayer[18] ระบุว่า “การนมัสการ” เป็นเพียงความหมายรองหรือเป็นความหมายที่แตกออกมาของ proskyneō ต่อไปนี้เป็นการให้คำนิยาม proskyneō ของฉบับ BDAG โดยยกมาตรงนี้แบบคำต่อคำที่เว้นการอ้างอิง (ตัวหนาในที่เดียวเป็นของผม)

 

• (หมอบกราบ และ) นมัสการ

 

      พจนานุกรมฉบับ Thayer ให้คำนิยาม proskyneō ในแบบเดียวกันดังต่อไปนี้, การยกอ้างเป็นแบบคำต่อคำ โดยเว้นการอ้างอิง (และตัวหนาในที่เดียวเป็นของผม)

 

 

      ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG และฉบับ Thayer คำเล็กๆสองคำที่เป็นตัวหนา เป็นคำนิยามเดียวเท่านั้นของ proskyneō ที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเจ้า! ในพจนานุกรมทั้งสองฉบับนี้ ให้ความคิดเกี่ยวกับการนมัสการน้อยกว่าความคิดเกี่ยวกับการคุกเข่าหรือการกราบไหว้กว่ามาก ความจริงแล้ว มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นของการอ้างอิงของฉบับ BDAG ที่เกี่ยวข้องกับ “การนมัสการ” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในพระคัมภีร์ใหม่นั้น ความหมายพื้นฐานของ proskyneō ไม่ใช่การนมัสการ แต่เป็นการคุกเข่าหรือการกราบไหว้ ความหมายของ “การนมัสการ” นั้นเป็นไปได้ในบางบริบท แต่เป็นความหมายที่แตกออกมา

      นั่นก็หมายความว่า เราจะไม่สามารถสรุปได้ว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าเพียงเพราะข้อเท็จจริงที่ว่า proskyneō ถูกนำไปใช้กับพระองค์ เราต้องการหลักฐานมากขึ้นนอกเหนือจากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่แทบไม่พอ

 

ข้อเท็จจริง # 2 แม้จะมีการใช้ Proskyneō อย่างต่อเนื่องในพระคัมภีร์ ใหม่ แต่ก็แทบไม่ได้ใช้กับพระเยซูอีก หลังจากที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์!

      คำว่า proskyneō มีปรากฏ 60 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยมีปรากฏ 29 ครั้งในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม และปรากฏ 31 ครั้งหลังพระกิตติคุณ ดังนั้นการปรากฏของ proskyneō จึงเกือบจะสมดุลเท่าๆกัน (29 ต่อ 31) ระหว่างพระกิตติคุณกับส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่

      ความสมดุลของ 29 ต่อ 31 นี้ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับความไม่สมดุลของ 15 ต่อ 2 ต่อไปนี้โดยที่proskyneō ถูกใช้ 15 ครั้งกับพระเยซูในพระกิตติคุณสี่เล่ม มีเพียงสองครั้งที่ใช้กับพระเยซูหลังจากพระกิตติคุณ! ความไม่สมดุลของ 15 ต่อ 2 นี้ จะเห็นได้ในตารางต่อไปนี้ซึ่งเราจะเรียกว่าตารางที่ “สั้นกว่า”

 

การปรากฏ 17 ครั้งของ proskyneō ที่ใช้กับพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์ใหม่
พระกิตติคุณทั้งสี่ (15 ครั้ง) หลังพระกิตติคุณ (2 ครั้ง)

มัทธิว 2:2

มัทธิว 2:8

มัทธิว 2:11

มัทธิว 4:9

มัทธิว 8:2

มัทธิว 9:18

มัทธิว 14:33

มัทธิว 15:25

มัทธิว 20:20

มัทธิว 28:9

มัทธิว 28:17

มาระโก 5:6

มาระโก 15:19

ลูกา 24:52

ยอห์น 9:38

ฮีบรู 1:6

วิวรณ์ 5:14

 

จงสังเกตความไม่สมดุลระหว่างสองคอลัมน์

 

      ตารางถัดไปที่ยาวกว่า จะแสดงรายการของการปรากฏทั้งหมด 60 ครั้งของ proskyneō ที่พบในพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกฉบับ NA28 ตารางแบ่งออกเป็นสองส่วนที่เหมือนกันคือ พระกิตติคุณทั้งสี่ที่มีการปรากฏ 29 ครั้ง และปรากฏหลังพระกิตติคุณ 31 ครั้ง ในตารางที่ยาวกว่านี้มีการปรากฏ 17 ครั้ง ที่กล่าวถึงพระเยซูซึ่งเน้นเป็นตัวหนาและตรงกับ 17 ข้อที่แสดงรายการในตารางที่สั้นกว่า

 

การปรากฏทั้งหมด 60 ครั้งของ proskyneō ในพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก

มัทธิว        2:2,        2:8,      2:11,      4:9,      4:10,     8:2,       9:18,    

                 14:33,    15:25,  18:26,    20:20,    28:9,      28:17

มาระโก          5:6,       15:19

ลูกา            4:7,      4:8,        24:52

ยอห์น        4:20,      4:21,    4:22,      4:22,   4:23,      4:23,    4:23,

                 4:24,      4:24,      9:38,      12:20

กิจการ        7:43,      8:27,    10:25,    24:11

1 โครินธ์    14:25

ฮีบรู             1:6,      11:21

วิวรณ์          3:9,      4:10,      5:14,      7:11,      9:20,      11:1,    11:16,

                   13:4,    13:4,    13:8,      13:12,    13:15,    14:7,    14:9,

                   14:11,  15:4,    16:2,   19:4,      19:10,    19:10,  19:20,

                   20:4,    22:8,    22:9

     

 

 

 

      จากทั้งสองตารางนี้ เราจะเห็นว่าไม่มีการใช้ proskyneō กับพระเยซูอีกต่อไปหลังจากพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม โดยยกเว้นเพียงสองข้อคือ ฮีบรู 1:6 และวิวรณ์ 5:14 แต่ฮีบรู 1:6 ไม่นับเป็นข้อยกเว้น เพราะไม่ใช่อยู่หลังจากพระกิตติคุณ แต่เป็นการอ้างอิงถึงการประสูติของพระเยซู

และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงนำพระบุตรหัวปีนั้นเข้ามาในโลก พระองค์ตรัสว่า “ให้ทูตสวรรค์ทั้งหมดของพระเจ้ากราบนมัสการพระบุตร” (ฮีบรู 1:6, อ้างถึงสดุดี 97:7, ฉบับ LXX 96:7)[19]

      ข้อนี้มาจากตอนหนึ่งในฮีบรูที่ประกาศว่า พระเยซูทรงอยู่เหนือกว่าบรรดาทูตสวรรค์ แต่ในข้อนี้ไม่ได้ยึดความคิดเรื่องการนมัสการ พระคัมภีร์ฉบับนิวเยรูซาเล็มหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “นมัสการ” ในฮีบรู 1:6 เมื่อกล่าวว่า “ให้ทูตสวรรค์ทั้งหมดของพระเจ้ากราบไหว้พระองค์” ฉบับไอทีเอ็นที[20]ใช้คำว่า “ทูตสวรรค์ทั้งหมดของพระเจ้าจะต้องเคารพนับถือพระองค์” ฉบับรีไวส์อิงลิชใช้คำว่า “ให้ทูตสวรรค์ทั้งหมดของพระเจ้ากราบไหว้พระองค์”

      แต่ข้อที่สำคัญมากกว่าสำหรับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือวิวรณ์ 5:14 เพราะเป็นข้อเดียวในพระคัมภีร์ใหม่ที่ใกล้เคียงกับการนมัสการอย่างชัดเจนกับพระเยซู จากข้อเท็จจริงที่ว่า proskyneō ใช้กับพระเยซูพร้อมกันกับพระเจ้า เดี๋ยวเราจะพิจารณาข้อนี้กัน

 

ทำไมจู่ๆ การใช้คำนี้ก็ลดลง?

      อะไรที่อาจเป็นเหตุในการลดการใช้คำนี้อย่างทันทีทันใด ซึ่งที่จริงแล้วใกล้เคียงกับการหายไป ในการใช้ proskyneō กับพระเยซูหลังจากพระกิตติคุณ (มีเพียงสองครั้งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ความไม่สมดุลของ 16 ต่อ 1) แม้จะมีการใช้ proskyneō อย่างต่อเนื่องในพระคัมภีร์ใหม่?

      ปมประเด็นที่พบในข้อเท็จจริงสำคัญคือ เส้นแบ่งระหว่างพระกิตติคุณกับส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่ ยังเป็นเส้นแบ่งระหว่างพระเยซูที่อยู่ในโลกกับพระเยซูที่เสด็จสู่สวรรค์ด้วย ในขณะที่พระเยซูยังทรงอยู่บนโลก คนทั้งหลายได้กราบลงต่อพระองค์ แต่หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว พระองค์ก็ไม่ได้อยู่ให้คนทั้งหลายมากราบพระองค์อีกต่อไป

      ดังนั้นเมื่อ proskyneō ใช้กับพระเยซูนั้น มันก็ควรจะเข้าใจว่าเป็นการกราบไหว้พระองค์หรือการคุกเข่าต่อพระองค์ มากกว่าเป็นการนมัสการพระองค์ว่าเป็นพระเจ้า หลังจากที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ พระกายของพระองค์ไม่ได้อยู่บนโลกอีกต่อไปที่จะให้คนทั้งหลายคุกเข่าหรือกราบลงต่อพระองค์ นั่นเป็นเหตุผลที่พระคัมภีร์ใหม่จึงหยุดใช้ proskyneō กับพระเยซูหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์

      แต่ถ้าเรารับเอามุมมองของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า proskyneō หมายถึงการนมัสการพระเยซูเป็นพระเจ้า มันก็ไม่มีเหตุผลชัดเจนที่การนมัสการจะหยุดลงหลังจากพระองค์เสด็จสู่สวรรค์ เพราะถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอย่างที่พระองค์ทรงเป็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้วละก็ การนมัสการพระเจ้าก็ควรดำเนินต่อไปแม้ว่าพระเยซูจะไม่ได้ทรงอยู่แล้ว เพราะว่าพระเจ้าผู้สถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง จะทรงสามารถรับการนมัสการได้ในทุกที่ทุกแห่งในจักรวาลนี้ อันที่จริง ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าจริงๆ เราก็ควรคาดหวังว่าจะมีการนมัสการเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ลดน้อยลงในการใช้ proskyneō กับพระเยซูหลังจากที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ เพราะพระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ตอนนี้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้รับการยกย่องสูงสุด ผู้ที่ได้รับพระนามเหนือนามทั้งปวง

      ตามลำดับเวลาแล้ว ครั้งสุดท้ายที่มีการใช้ prosky­neō กับพระเยซูก่อนวิวรณ์ 5:14 ก็คือในลูกา 24:52 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์พอดี! นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ลูกา 24:52 มีความสำคัญที่สุดในการกำหนดจุดตัดอย่างชัดเจนที่เส้นแบ่งระหว่างพระเยซูที่อยู่ในโลกกับพระเยซูที่เสด็จสู่สวรรค์

 

ข้อเท็จจริง # 3 Proskyneō ใช้โดยยอห์นเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาแทบไม่เคยใช้กับพระเยซูเลย!

      จากการปรากฏของ proskyneō 60 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ เราจะพบ 35 ครั้งในการเขียนของยอห์น เทียบกับอีก 25 ครั้งในส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งทำให้ proskyneō เป็นคำที่ยอห์นใช้มากกว่าใคร แต่ยอห์นใช้คำนี้กับพระเยซูเพียงสองครั้งในการเขียนทั้งหมดของเขา! (ดูตารางที่ยาวกว่าด้านบน) สองครั้งที่กล่าวถึงนี้อยู่ในยอห์น 9:38 (ชายคนหนึ่งที่หายจากตาบอด แล้วมากราบลงตรงหน้าพระเยซู)[21] และวิวรณ์ 5:14 (ข้อที่เราได้สังเกตและจะกล่าวถึงต่อไป)

      ในทางกลับกันนั้น ยอห์นใช้ proskyneō สิบครั้งในความหมายที่สมบูรณ์ของการนมัสการกับซาตาน หรือสัตว์ร้าย หรือรูปจำลองของมัน![22]

      แม้ proskyneō จะเป็นคำที่ยอห์นใช้มากกว่าใคร แต่ยอห์นก็แทบจะไม่เคยใช้กับพระเยซู ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่น่าแปลกใจว่า บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมองการเขียนของยอห์นว่าสนับสนุนศาสนศาสตร์เกี่ยวกับพระคริสต์อย่างเต็มที่ แต่จริงๆแล้วไม่มีอะไรที่น่าแปลกใจในเรื่องนี้เลย เพราะในพระกิตติคุณยอห์นนี่เองที่พระเยซูทรงประกาศว่า พระบิดาของพระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว (ยอห์น 17:3)[23] ในพระกิตติคุณเดียวกันนี้ (ยอห์น) เราจะเห็นความมุ่งหมายในพระทัยของพระเยซู เมื่อพระองค์ทรงเตือนให้เรานมัสการพระบิดาของพระองค์ที่ว่า “นมัสการพระบิดา” (ยอห์น 4:21)[24] และ “คนที่นมัสการอย่างแท้จริง จะนมัสการพระบิดาด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้นมานมัสการพระองค์” (ข้อ 23)

 

ข้อเท็จจริง # 4 กลุ่มคำ latreuein ไม่เคยใช้กับพระเยซู

      เราจะอธิบายประเด็นที่สี่ ดังต่อไปนี้

   • โดย “กลุ่มคำ” เราหมายถึงกลุ่มของคำภาษากรีก ซึ่งเป็นกลุ่มของคำที่มีรากศัพท์เดียวกัน ตอนนี้เรากำลังดูที่กลุ่มคำ latreuein ซึ่งประกอบด้วยสามคำคือ latreuein, latreia, leitourgein

 

      เจมส์ ดี จี ดันน์ ได้อธิบายว่ากลุ่มคำ latreuein ไม่เคยใช้กับพระเยซู ในข้อ 1.2 ในหนังสือของเขาที่ชื่อ คริสเตียนเริ่มแรกนมัสการพระเยซูหรือไม่? หลักฐานในพระคัมภีร์ใหม่[25]

      ข้อความที่ตัดตอนมาต่อไปนี้นำมาจากหน้า 13-15 ในหนังสือของเขา (โดยได้เว้นเชิงอรรถและเพิ่มตัวหนา) หากคุณต้องการจะข้ามรายละเอียดเหล่านี้ ก็ให้อ่านเฉพาะคำที่เป็นตัวหนา

 

คำพ้องความหมายใกล้เคียงที่พบมากที่สุด คือ latreuein ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึง “รับใช้” แต่ทั้งนี้ในวรรณกรรมเกี่ยวกับพระคัมภีร์นั้น การอ้างอิงมักจะเป็นการรับใช้ในทางศาสนาเสมอ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา เป็น ‘การให้การปรนนิบัติรับใช้ทางศาสนา’ . . . .

และในพระคัมภีร์หลายๆตอน จะแปล latreuein ว่า ‘นมัสการ’ ในฉบับภาษาอังกฤษ จะสังเกตได้ว่าในแต่ละกรณีนั้น กรรมของคำกริยาที่รับการรับใช้ หรือรับการนมัสการก็คือพระเจ้า นอกเหนือจากการอ้างอิงครั้งหรือสองครั้งถึงการนมัสการอย่างไม่ถูกต้องแล้ว การอ้างอิงก็มักจะเป็นการปฏิบัติทางศาสนาหรือการนมัสการพระเจ้าเสมอ ไม่มีกรณีใดในพระคัมภีร์ใหม่ที่มีการพูดถึงการถวายนมัสการทางศาสนา (latreuein) กับพระเยซู . . .

เช่นเดียวกับ latreuein ทั้งคำนามที่เข้าคู่กันคือ latreia, ‘การรับใช้ การนมัสการ (ทางศาสนา)’ มันจะหมายถึงการนมัสการพระเจ้าเสมอ ... ตรงนี้เราจะต้องสังเกตว่าจำนวนการอ้างอิงของ latreia มีจำกัดมาก และ ‘การรับใช้หรือการนมัสการ’ ตรงนี้ก็เช่นกันที่ไม่เคยมีแนวคิดว่าเป็นการถวายแด่พระเยซู . . . .

โปรดจำไว้ว่ากลุ่มคำ latreuein เป็นคำที่ใกล้เคียงที่สุดสำหรับถวายการ ‘นมัสการทางศาสนา’ ความจริงที่ว่าคำนี้ไม่เคยถูกนำมาใช้กับ ‘การอุทิศตนทางศาสนา’ กับพระคริสต์ในพระคัมภีร์ใหม่นั้น ค่อนข้างน่าแปลกใจสำหรับวิทยานิพนธ์หลักของเฮอร์ทาโด[26] และควรจะได้รับความสนใจสักหน่อย

 

สรุปข้อเท็จจริงสี่ข้อ: พระเยซูไม่ได้รับการนมัสการว่าเป็นพระเจ้า

      เราได้เสนอข้อเท็จจริงสี่ข้อที่สามารถตรวจสอบความเป็นจริงได้อย่างไม่ลำเอียง ตามพระคัมภีร์ และอย่างเป็นกลาง ข้อเท็จจริงสี่ประการนี้ไม่มีข้อใดที่สรุปได้โดยตัวของมันเอง แต่เมื่อนำข้อเท็จจริงทั้งสี่นี้มารวมกัน ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะแสดงให้เห็นอย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เมื่อใช้ proskyneō กับพระเยซูก็จะหมายถึงการคุกเข่าลงต่อพระเยซู หรือให้ความเคารพนับถือต่อพระองค์ หรือถวายบังคมต่อพระองค์ แต่ไม่ได้เป็นการนมัสการพระองค์ว่าเป็นพระเจ้า ในทางตรงกันข้าม พระเยซูทรงเตือนเราให้นมัสการผู้ที่พระองค์ทรงเรียกว่า “พระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน” และ “พระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน” (ยอห์น 20:17)[27] การนมัสการที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่การนมัสการพระเยซู แต่เป็นการนมัสการด้วยกันกับพระเยซู หรือโดยทางพระเยซู

 

 

หมายเหตุเพิ่มเติม: กรณีพิเศษของวิวรณ์ 5:14

      จากการปรากฏ 60 ครั้งของ proskyneō ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นจะพบในวิวรณ์ 24 ครั้ง นั่นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง (40%) สำหรับหนังสือหนึ่งเล่ม แต่ก็ไม่มีกรณีใดของ 24 กรณีในวิวรณ์ที่ใช้ proskyneō กับพระเยซู นอกจากข้อยกเว้นเดียวของวิวรณ์ 5:14 ที่ผู้อาวุโสในสวรรค์ทั้ง 24 คน “นมัสการ” ทั้งพระเจ้าและพระเยซู การนมัสการตรงนี้ (proskyneō, ที่เห็นเป็นตัวหน้าด้านล่าง) ไม่ได้มุ่งไปที่พระเยซูเพียงผู้เดียว แต่ยังมุ่งไปที่พระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์ด้วย

 

และ​ข้าพ​เจ้าก็​ได้​ยิน​เสียง​สิ่ง​ที่​ทรง​สร้าง​ทั้ง​หมด​ใน​สวรรค์ และบน​แผ่น​ดิน​โลก และใต้​แผ่น​ดิน​โลก และใน​ทะเล และ​ทุก​สิ่ง​ซึ่ง​อยู่​ใน​นั้น ร้อง​ว่า “ขอ​ให้​คำ​สดุดี พระ​เกียรติ พระ​สิริ​และ​อา​นุ​ภาพ จง​มี​แด่​พระ​องค์​ผู้​ประ​ทับ​บน​พระ​ที่​นั่ง​ และ​แด่​พระ​เมษ​โป​ดก ตลอด​ไปและ​เป็น​นิตย์” แล้ว​สิ่งมีชีวิต​ทั้ง​สี่​นั้น​ก็​ร้อง​ว่า “อา​เมน!” และ​บรร​ดา​ผู้​อา​วุโส​ก็​ทรุด​ตัว​ลง​และ​นมัส​การ (วิวรณ์5:13-14ฉบับESV)

 

      นี่เป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ คือในหนังสือวิวรณ์ที่นอกจากวิวรณ์ 5:14 proskyneō มักจะใช้กับพระเจ้าพระบิดาเสมอ และไม่เคยใช้กับพระเยซูโดยไม่มีข้อยกเว้น (เราจะไม่นับการนมัสการสัตว์ร้ายหรือรูปจำลองของมัน) ดังนั้นมันจึงชัดเจนว่า เมื่อใดที่ proskyneō ถูกใช้กับทั้งพระเจ้าและพระเยซูในวิวรณ์ 5:14 เพียงข้อเดียวนั้น จะเป็นพระเจ้าและไม่ใช่พระเยซู ที่เป็นเหตุผลหลักของการใช้ proskyneō นี่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในบริบทที่ถัดมาของวิวรณ์ 5:14 ผู้ที่เป็นศูนย์กลางก็คือพระเจ้า ผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์

      สิ่งนี้เตือนเราถึงวิธีที่ชนอิสราเอลกราบลงต่อพระพักตร์พระเจ้า และต่อหน้ากษัตริย์ดาวิด (โปรดสังเกตถ้อยคำที่เป็นตัวหนา)

 

1 พงศาวดาร 29:20 แล้วดาวิดก็ตรัสกับชุมนุมชนทั้งหมดว่า “จงถวายสาธุการแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกท่านเถิด!” และชุมนุมชนทั้งหมดก็สรรเสริญพระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของพวกเขาและกราบถวายบังคมต่อพระยาห์เวห์และต่อกษัตริย์” (ฉบับ NJB)[28]

 

      คำว่า “กราบถวายบังคม” ตรงนี้สอดคล้องกับ proskyneō ในพระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์ (LXX) การใช้ proskyneō ในข้อ 1 พงศาวดาร 29:20 นี้ มีความสำคัญมากเพราะมันบอกเราว่า พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์ไม่ลังเลที่จะใช้ proskyneō กับดาวิดในขณะที่ก็ใช้กับพระยาห์เวห์ด้วย! ความคล้ายคลึงกันนี้ระหว่างดาวิดใน 1 พงศาวดาร 29:20 กับพระเยซูในวิวรณ์ 5:14 เด่นชัดขึ้นด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า พระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ผู้มาจากเชื้อสายของดาวิด

      เราสังเกตเห็นเพิ่มเติมว่าใน 1 พงศาวดาร 29: 20 นี้ ผู้ที่ถูกมุ่งหมายให้รับการนมัสการโดยหลักๆนั้นไม่ใช่ดาวิดแต่เป็นพระยาห์เวห์ จากข้อเท็จจริงที่ดาวิดกล่าวว่า “บัดนี้ จงถวายสาธุการแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกท่านเถิดแต่นั่นก็ไม่ได้ตัดโอกาสดาวิด (หรือพระเยซูในวิวรณ์ 5:14) จากการเป็นผู้รับ proskyneō ร่วมกับพระยาห์เวห์!

 

ข้อความส่วนตัว

      ผมจะถวาย proskyneō ด้วยใจจริงเสมอต่อพระเยซูคริสต์ องค์ผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของผม ผู้ที่ทรงรักผมและประทานพระองค์เองเพื่อผม แต่ผมจะไม่ทำสิ่งนี้ในลักษณะของการไหว้รูปเคารพ แต่ตรงกันข้าม ผมจะทำตามตัวอย่างของพระองค์เสมอใน “การนมัสการพระบิดา” (ยอห์น 4:21) แท้จริงแล้ว “คนที่นมัสการอย่างแท้จริง จะนมัสการพระบิดาด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้นมานมัสการพระองค์” (ข้อ 23)

  ผู้อ่านที่รัก ขอให้คุณและผมเป็นผู้นมัสการพระยาห์เวห์ พระเจ้าและพระบิดาของเราผู้เปี่ยมด้วยความรักอย่างแท้จริงตลอดไป พระองค์ผู้ที่พระเยซูทรงเรียกว่า “พระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน พระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน” (ยอห์น 20:17) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะยกย่องและถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าที่เที่ยงแท้องค์เดียว และพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์


[1] มัทธิว 2:11 เมื่อเข้าไปในบ้านก็พบพระกุมารกับนางมารีย์มารดา จึงก้มลงนมัสการพระกุมารนั้น แล้วเปิดหีบสมบัติของพวกเขาและถวายเครื่องบรรณาการแด่พระกุมาร คือ ทองคำ กำยาน และมดยอบ

[2] LXX (Septuagint หมายถึง 70 เป็นจำนวนผู้แปลพระคัมภีร์จากภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีก) ผู้แปล

[3] ปฐมกาล 23:12 “อับราฮัมก็โน้มตัวลงคำนับต่อหน้าชาวแผ่นดินนั้น

[4] 1 ซามูเอล 24:8 ดาวิดก็ร้องทูลซาอูลว่า “ข้าแต่กษัตริย์ เจ้านายของข้าพระองค์ และเมื่อซาอูลทรงเหลียวดู ดาวิดก็ก้มลงถึงดินกราบไหว้” (ฉบับไทยคิงเจมส์)

[5] English Standard Version (ESV)

[6] มัทธิว 14:33 พวกที่อยู่ในเรือจึงมากราบนมัสการพระองค์ ทูลว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า

[7] มัทธิว 20:20 “แล้วภรรยาของเศเบดีพาบุตรชายของนางมาคุกเข่าทูลขอพระเยซู”(ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[8] New International Version (NIV), New American Standard Version (NASB)

[9] New Jerusalem Bible (NJB), New Revised Standard Version (NRSV), New American Bible (NAB), Darby

[10] Common English Bible (CEB), Douay-Rheims Bible, Revised English Bible (REB)

[11] Idiomatic Translation of the New Testament (ITNT)

[12] Tyndale Commentary

[13] Constable’s Expository Notes

[14] Expositor’s Bible Commentary

[15] New English Bible (NEB)

[16] วิธีการประเมินหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นการประเมินเนื้อหาของข้อมูลที่ปรากฏในหลักฐานนั้นๆ เพื่อดูว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ (ผู้แปล)

[17] Bauer-DankerArndtGingrich, Greek Lexicon of the New Testament

[18] Thayer’s Greek-English lexicon

[19] ฉบับ 1971 แปลฮีบรู 1:6 ว่า “และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงนำพระบุตรองค์หัวปีนั้นเข้ามาในโลก ก็ตรัสว่าให้บรรดาพวกทูตสวรรค์ของพระเจ้ากราบไหว้ท่าน” (ผู้แปล)

[20] Idiomatic Translation of the New Testament (ITNT)

[21] ยอห์น 9:38 เขาจึงทูลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์วางใจ” แล้วเขาก็กราบไหว้พระองค์

[22] วิวรณ์ 13:4 (2x); 13:8; 13:12; 13:15; 14:9; 14:11; 16:2; 19:20; 20:4

[23] ยอห์น 17:3 “และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา

[24] ยอห์น 4:21 พระเยซูตรัสกับนางว่า “หญิงเอ๋ย เชื่อเราเถิด คงมีสักวันหนึ่งที่พวกเธอจะไม่ได้นมัสการพระบิดาทั้งที่ภูเขานี้หรือที่เยรูซาเล็ม

[25] James D.G. Dunns Did the First Christ­ians Worship Jesus? The New Testament Evidence

[26] Hurta­do นักวิชาการพระคัมภีร์ใหม่และนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคริสเตียนในยุคแรก (ผู้แปล)

[27] ยอห์น 20:17 พระเยซูตรัสกับนางว่า “จงไปหาพวกพี่น้องของเรา และบอกเขาว่าเรากำลังจะขึ้นไปหาพระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน ไปหาพระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน”

[28] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “แล้วดาวิดตรัสกับชุมนุมประชากรทั้งปวงว่า ‘จงสรรเสริญพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน’ เขาทั้งปวงก็หมอบกราบต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าและกษัตริย์ และสรรเสริญพระยาห์เวห์พระเจ้าของบรรพบุรุษของพวกเขา (ผู้แปล)