พิมพ์
หมวด: The Only Perfect Man
ฮิต: 2181

 pdf pic

 

 

 

บทที่ 12

 

ch2 1

 

พระยาห์เวห์

และความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระเยซู

 

 

ความงดงามของพระยาห์เวห์: การใคร่ครวญ

      ส่วนแรกของบทนี้เป็นการใคร่ครวญ ให้เราเริ่มต้นด้วยความงดงามและความสง่างามของพระยาห์เวห์พระเจ้าของเรา

 

ข้าพเจ้าทูลขอสิ่งหนึ่งจากพระยาห์เวห์ ข้าพเจ้า​​เสาะแสวงหาสิ่งหนึ่ง

คือที่จะได้อยู่ในพระนิเวศของพระยาห์เวห์ ตลอดวันคืนแห่งชีวิตของข้าพเจ้า

เพื่อจะชื่นชมความอ่อนหวานของพระยาห์เวห์ เพื่อจะเสาะหาพระวิหารของพระองค์

(สดุดี 27:4 ฉบับนิวเยรูซาเล็ม)

 

      ผู้เขียนสดุดีพูดถึง “ความอ่อนหวานของพระยาห์เวห์” (ฉบับ NJB) หรือ “ความงดงามของ พระเจ้า” (ฉบับ ESV) และจะเห็นความงามของพระองค์ได้ที่ไหนหรือ? สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งในความรักและความห่วงใยที่พระองค์มีต่อประชากรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ทุกข์ยากและแร้นแค้น ดังที่เห็นจากการเอาใจใส่ดูแลของพระองค์ในความต้องการทางกายและจิตวิญญาณของพวกเขา

 

อิสยาห์ 63:9 ใน​ความ​ทุกข์​ทั้ง​หมด​ของ​เขานั้น พระ​องค์​ทรงทุกข์​พระ​ทัย (ฉบับ ESV)

อพยพ 3:7-8 พระยาห์เวห์ตรัสว่า “เราเห็นความทุกข์ของประชากรของเราที่อยู่ในอียิปต์แล้ว และได้ยินเสียงร้องของพวกเขาเพราะการกดขี่ของพวกนายทาส เรารู้ถึงความทุกข์โศกของพวกเขา เราลงมาเพื่อจะปลดปล่อยพวกเขา” (ฉบับKJV,โดยใช้ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู)

ทิตัส 3:4-6 แต่เมื่อความดีและความรักเมตตาของพระเจ้าผู้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรามาปรากฏ พระองค์พระองค์ทรงช่วยเราให้รอด ไม่ใช่เพราะความชอบธรรมที่เราได้ทำ แต่ด้วยพระเมตตาของพระองค์โดยการชำระให้บังเกิดใหม่และสร้างใหม่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่พระองค์ทรงเทให้กับเราอย่างเหลือล้นทางพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา (ฉบับ ESV)

1 ยอห์น 4:9-10 นี่คือวิธีที่​พระ​เจ้าทรงสำแดงความรักของพระองค์​ในท่ามกลางพวกเรา คือพระองค์​ทรง​ส่ง​พระ​บุตร​องค์​เดียว​ของ​พระ​องค์​เข้า​มา​ใน​โลกเพื่อ​เรา​จะดำ​รง​ชีวิต​โดยทาง​พระ​บุตร นี่คือความ​รัก ​ที่​ไม่​ใช่ว่า​เรา​รัก​พระ​เจ้า แต่​ที่​พระ​องค์​ทรง​รัก​เรา และ​ทรง​ส่ง​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์​มา​เป็น​เครื่อง​บูชา​ลบ​บาปของ​เรา (ฉบับ ESV)

 

      พระคัมภีร์เดิมแสดงให้เราเห็นว่า พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์รวมที่สมบูรณ์ของความดี ความรักเมตตา และความสงสาร ภาพนี้ยังเห็นได้ในพระคัมภีร์ใหม่ที่มีการกล่าวถึงพระองค์ว่า “เพราะว่า พระเจ้าทรงรักโลก จึงได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์” (ยอห์น 3:16)

      ความรักเมตตาของพระยาห์เวห์เป็นตัวอย่างให้เห็นในพระเยซูเมื่อพบหญิงสะมาเรียที่บ่อน้ำของยาโคบ (ยอห์น 4:7 เป็นต้นไป) พระเยซูเป็นคนแปลกหน้าจริงๆสำหรับเธอ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอกลัว พระองค์ทรงเผชิญหน้ากับเธอในเรื่องความบาปของเธอ โดยไม่ได้ทำให้เธออับอายหรือผลักไสเธอไป แต่ปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระจากความผิดบาปของเธอ นั่นเป็นลักษณะการช่วยเหลือในฝ่ายวิญญาณที่คนบาปอย่างเธอยินดีรับ

      1 ยอห์น 4:9-10 หนึ่งในหลายข้อที่เราเพิ่งอ้างอิง เผยให้เห็นถึงความรักที่มากมายไพศาลของพระเจ้าที่มีต่อเราในแผนการความรอดทางพระเยซูคริสต์ แต่แค่ไม่กี่ข้อต่อมา ยอห์นก็เปลี่ยนไปพูดถึงความรักของเราต่อพระเจ้าและต่อประชากรของพระองค์

 

ถ้าใครจะกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารักพระเจ้า” และยังเกลียดชังพี่น้องของตน เขาก็เป็นคนพูดมุสา เพราะผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่มองเห็นได้ จะรักพระเจ้าที่มองไม่เห็นได้อย่างไร (1 ยอห์น 4:20)

 

      คนที่พระเจ้าทรงรัก จะต้องรักบรรดาลูกของพระองค์ แต่เราจะนำคำสอนนี้มาใช้อย่างไร? มันเป็นเรื่องที่เราคุ้นกันดีแต่หลายคนก็ยังหนักใจ เพราะความผิดพลาดและความล้มเหลวของพี่น้องชายหญิงบางคนนั้นเด่นชัดเหลือเกิน พวกเขาเป็นพวกที่รักได้ยาก แต่พระเจ้าก็ไม่มีปัญหาที่จะรักพวกเขา พระองค์สถิตอยู่ในผู้เชื่อทั้งหลายซึ่งเป็นวิหารของพระเจ้า (1 โครินธ์ 3:16) และนั่นจะรวมถึงพี่น้องชายหรือหญิงที่เราจะรักได้ยาก เรายินดีที่จะรักพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น และยินดีที่จะรักพระเยซูคริสต์ที่เราก็มองไม่เห็นเช่นกัน เพราะพระองค์ประทับที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า

      แต่ผู้เชื่อหลายคนก็รักพระเจ้าและรักพระคริสต์มากกว่าตัวของพวกเขาเองและคนที่พวกเขารักเสียอีก แม้ว่าพวกเขาจะมองไม่เห็นพระเจ้าก็ตาม แม้ว่าผู้ที่ไม่เชื่อส่วนใหญ่จะเมินเฉยกับพระเจ้าเพราะพวกเขามองไม่เห็นพระองค์ แต่ผู้เชื่อทุกคนต่างก็เคยเป็นผู้ไม่เชื่อเช่นกัน อะไรหรือที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจมาหาพระเจ้าที่พวกเขาไม่สามารถมองเห็น? พระเจ้าที่ไม่เป็นจริงกับพวกเขา แล้วจู่ๆจะกลายมาเป็นจริงได้อย่างไร? นี่เป็นการเปลี่ยนความเชื่อในทางปัญญาไหม หรือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางจิตวิญญาณ ที่ทำให้พวกเขาพูดเหมือนกับเปาโลว่า “เพราะว่าข้าพเจ้ารู้จัก     พระองค์ที่ข้าพเจ้าเชื่อ” (2 ทิโมธี 1:12)?

      ผู้เชื่อที่แท้จริงจะมีประสบการณ์กับการทำงานของพระเจ้า ในการเปลี่ยนแปลงจิตใจและความ คิดของพวกเขา เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงที่แสดงให้เห็นในคำกล่าวว่า “เพราะเมื่อก่อนท่านทั้งหลายเป็นความมืด แต่บัดนี้ท่านเป็นความสว่างในองค์​​ผู้เป็นเจ้า” (เอเฟซัส 5:8) ฤทธิ์อำนาจในการทำการเปลี่ยนแปลงของพระองค์ให้ชีวิตกับเราและเปลี่ยนแปลงโลกรอบตัวเรา

 

ความรอดมาจากพระยาห์เวห์ พระศิลาแห่งความรอดของข้าพเจ้า

      ศิลารากฐานที่จะสร้างความเข้าใจอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับความรอดคือความจริงที่ว่า ความรอดมาจากพระยาห์เวห์ ความจริงนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วพระคัมภีร์และจะเห็นได้จากคำกล่าวในพระคัมภีร์เดิมต่อไปนี้ (ข้อทั้งหมดมาจากฉบับ NJB)

 

สดุดี 27:1 พระยาห์เวห์ทรงเป็นความสว่างและความรอดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะกลัวผู้ใดเล่า?

 

สดุดี 68:20 พระเจ้าของเราองค์นี้เป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอด การหลุดพ้นจากความตายนั้นก็อยู่ที่พระยาห์เวห์องค์เจ้านาย

 

โยนาห์ 2:9 ความรอดมาจากพระยาห์เวห์!

 

      ความรอดก็เหมือนกับความจริงและความสว่างที่รวมอยู่ในพระยาห์เวห์ พระองค์ทรงช่วยเราให้รอดเพราะพระองค์ทรงเป็นความรอดและพระองค์ทรงเป็นความรัก พระองค์ผู้เดียวคือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา เพราะว่า “นอกจากเรา ไม่มีพระเจ้าอื่นอีก ไม่มีพระเจ้าที่ช่วยให้รอด นอกจากเราไม่มีผู้ช่วยให้รอด!” (อิสยาห์ 45:21 ฉบับ NJB) “เจ้าทั้งหลายไม่รู้จักพระเจ้าอื่นนอกจากเรา และนอกจากเราก็ไม่มีผู้ช่วยอื่นใด” (โฮเชยา 13:4)

      คำกล่าวนี้มีความหมายเมื่อพิจารณาถึงความสมบูรณ์แบบที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระบิดา ความสมบูรณ์แบบของพระเจ้านั้นคงที่ เพราะพระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งบรรดาดวงสว่าง ในพระองค์ไม่มีการแปรปรวนหรือเงาของการเปลี่ยนแปลง (ยากอบ 1:17) ดังที่เห็นในพระคัมภีร์เดิมด้วยว่า “เรา​ ​ยาห์เวห์ผู้ไม่​​ผันแปร” (มาลาคี 3:6)

      ความหมายของ “ยาห์เวห์” เป็นหัวข้อถกเถียงกันมากเชิงวิชาการ (ดูภาคผนวก 3) และสื่อความหมายได้ดีในคำอธิบายว่า “พระองค์ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา” (วิวรณ์ 1:4,8; 11:17; 16:5) และ “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าตั้งแต่นิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล” (สดุดี 90:2) และ “พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์” (โยชูวา 3:10; สดุดี 42:2; เยเรมีย์ 10:10; มัทธิว 16:16; โรม 9:26; 1 ทิโมธี 4:10)

      พระเจ้าที่นิรันดร์ ไม่มีทั้งอดีตหรืออนาคต พระองค์ทรงเป็นอยู่เสมอ ในทางตรงกันข้าม มนุษย์ที่มีความจำกัดอย่างเรารับรู้เวลาว่าเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพียงพริบตาเดียว หนึ่งวินาทีในอนาคตก็จะเป็นหนึ่งวินาทีในอดีต ปัจจุบันคือการเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องของอนาคตที่เคลื่อนไปหาอดีต และเราก็เป็นเหมือนปลาที่กำลังว่ายอยู่ในสายน้ำ เรามีชีวิตอยู่ในกระแสของเวลาและมุ่งที่จะใช้มันให้มากที่สุด

      เนื่องจากศิลาเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงและความไม่เปลี่ยนแปลง พระเจ้าจึงถูกกล่าวถึงว่า ทรงเป็นพระศิลาของเราและพระผู้ช่วยให้รอดของเราดังนี้

 

2 ซามูเอล 22:2-4 พระยาห์เวห์ทรงเป็นศิลา และป้อมปราการ และผู้ช่วยกู้ของข้าพเจ้า​ ​​​​พระเจ้าของข้าพเจ้า พระศิลาของข้าพเจ้า ผู้ที่ข้าพเจ้าเข้าลี้ภัยอยู่ในพระองค์ พระองค์ทรงเป็นโล่ เป็นพลังแห่งความรอดของข้าพเจ้า ทรงเป็นที่กำบังอันแข็งแกร่งและที่ลี้ภัยของข้าพเจ้า พระผู้ช่วยของข้าพเจ้า  พระองค์ทรงช่วยข้าพระองค์​​จากความทารุณ ข้าพเจ้าร้องทูลพระยาห์เวห์ ผู้ทรงสมควรได้รับการสรรเสริญ และข้าพเจ้าได้รับการช่วยให้พ้นจากบรรดาศัตรูของข้าพเจ้า (ฉบับ ESV, โดยใช้ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู)

 

ข้อ 47 “พระยาห์เวห์ทรงพระชนม์อยู่ ขอสรรเสริญพระศิลาของข้าพระองค์และขอยกย่องพระเจ้าของข้าพระองค์ พระศิลาแห่งความรอดของข้าพระองค์

 

      พระยาห์เวห์ถูกเรียกว่าพระศิลา 30 ครั้งในสดุดี การพักพิงอยู่กับพระศิลาก็คือการหลบภัยอยู่ในนั้น พระยาห์เวห์ทรงช่วยบรรดาผู้ที่วางใจในพระองค์ให้รอด ทรงเป็น “ศิลาแห่งความรอดของข้าพระองค์” (สดุดี 89:26; 95:1) พระศิลานี้ไม่ใช่วัตถุที่ไม่เคลื่อนไหว แต่เป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ “พระยาห์เวห์ทรงพระชนม์อยู่ ขอสรรเสริญพระศิลาของข้าพระองค์ และขอยกย่องพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพระองค์” (สดุดี 18:46; 2 ซามูเอล 22:47) นี่คือรากฐานของคำปฏิญาณว่า “พระยาห์เวห์ทรงพระชนม์อยู่ฉันใด” ซึ่งมีปรากฏราวๆ 28 ครั้งในพระคัมภีร์เดิม พระยาห์เวห์มักจะปฏิญาณหรือประกาศบนพื้นฐานของการทรงพระชนม์อยู่ของพระองค์ดังที่ “พระยาห์เวห์ทรงประกาศว่า เรามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด” ซึ่งเป็นคำประกาศที่ปรากฏ 14 ครั้งในเอเสเคียลเล่มเดียว

      ด้วยเหตุที่พระเจ้าทรงเป็นเหมือนศิลา ที่ไม่เปลี่ยนคุณลักษณะ พระองค์จึงไม่ทรงเปลี่ยนพระทัยของพระองค์เกี่ยวกับพระสัญญาที่พระองค์ทรงให้ไว้

 

กันดารวิถี 23:19 พระ​เจ้า​ทรง​ไม่​ใช่​มนุษย์​ที่พระองค์​จะ​มุสา หรือไม่ใช่บุตร​ของ​มนุษย์ที่​​จะ​ต้องเปลี่ยน​ใจ สิ่งที่พระ​องค์​ตรัส​ไว้ แล้วพระองค์​จะ​ไม่​ทรง​ทำ​ตาม​​หรือ? หรือที่พระ​องค์​ทรง​ลั่น​วา​จา​ไว้​แล้ว พระองค์จะ​ไม่​ทรง​ทำ​ให้​สำเร็จ​​หรือ? (ฉบับ ESV)

สดุดี 110:4 พระยาห์เวห์ทรงปฏิญาณแล้ว และจะไม่ทรงเปลี่ยนพระทัยของพระองค์ (เปรียบเทียบฮีบรู 7:21)

 

ข่าวประเสริฐของพระเจ้า

      พระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ ดังนั้นเปาโลจึงพูดถึงข่าวประเสริฐว่าเป็น “ข่าวประเสริฐของพระเจ้า” (โรม 1:1; 15:16; 2 โครินธ์ 11:7; 1 เธสะโลนิกา 2:2, 8, 9)[1] หรือ “ข่าวประเสริฐที่สำแดงพระคุณของพระเจ้า” (กิจการ 20:24)[2] พระเยซูก็ทรงสั่งสอน “ข่าวประเสริฐของพระเจ้า” เช่นเดียวกัน (มาระโก 1:14)[3] ซึ่งก็คือ ข่าวประเสริฐของพระยาห์เวห์

      แต่ข่าวประเสริฐของพระยาห์เวห์มุ่งเน้นที่พระเยซูผู้เป็นพระเมสสิยาห์ (พระคริสต์) เพราะพระเจ้าผู้สถิตในพระคริสต์ ทรงให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์เอง (2 โครินธ์ 5:19 ฉบับไทยคิงเจมส์) ด้วยเหตุนี้พระคัมภีร์ใหม่จึงประกาศข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เพราะโดยมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบผู้นี้ พระเจ้าได้ทรงทำให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์เอง ในการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบนี่เองที่พระเยซูคริสต์จึงทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก        

      มาระโกพูดถึง “ข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์” (มาระโก 1:1)[4] เปาโลพูดถึง “ข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์ องค์ผู้เป็นเจ้าของเรา” (2 เธสะโลนิกา 1:8) ซึ่งในบทถัดไปเปาโลกล่าวว่าพระเจ้า “ทรงเรียกพวกท่านเพื่อการนี้โดยทางข่าวประเสริฐของเรา เพื่อท่านจะได้ร่วมในศักดิ์ศรีของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (2 เธสะโลนิกา 2:14) ความตั้งพระทัยของพระเจ้าก็คือที่ผู้เชื่อจะมีส่วนร่วมในศักดิ์ศรีของพระเยซูโดยทางข่าวประเสริฐ พระเจ้าไม่ได้ทรงให้ศักดิ์ศรีกับพระเยซูเพราะเห็นแก่พระเยซูเท่านั้นแต่เพราะเห็นแก่พวกเราด้วยเช่นกัน

 

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในจิตวิญญาณของพระยาห์เวห์กับพระเยซู

      นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา ที่จะทำความเข้าใจลักษณะของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในจิตวิญญาณของพระยาห์เวห์กับพระเยซู ผู้เป็นพระบุตรหนึ่งเดียวและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ พระเยซูทรงกล่าวถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่น พระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย” (ยอห์น 17:21) วรรคสุดท้ายกล่าวว่า “เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย” แสดงให้เห็นว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้หมายรวมบรรดาผู้เชื่อด้วย สิ่งนี้จะเห็นได้ในคำกล่าวของเปาโลว่า “คนที่ผูกพันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นจิตวิญญาณเดียวกับพระองค์” (1 โครินธ์ 6:17)

      แต่ในความเป็นจริงแล้ว เนื่องจากความไม่สมบูรณ์แบบของเรา ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเรากับพระเจ้าจึงสนิทแน่นน้อยกว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระเจ้ากับพระเยซูดังคำกล่าวว่า “พระองค์ในข้าพระองค์และข้าพระองค์ในพระองค์” คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ไม่ได้เข้าใจกันในแง่ของแก่นแท้ร่วมกันภายในตรีเอกานุภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดกึ่งสสารที่คิดค้นขึ้น โดยคริสตจักรชาวต่างชาติ แต่จะไม่พบที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในจิตวิญญาณของพระยาห์เวห์กับพระเยซูมีความหมายว่า ทั้งสองไม่สามารถจะแยกจากกันได้ในแผนแห่งความรอดของพระเจ้า ในงานของการช่วยให้รอดนั้น บทบาทของพระเยซูในฐานะพระเมษโปดกของพระเจ้ามีความสำคัญมาก เพราะด้วยบทบาทนี้พระองค์จึงมาเป็นเครื่องบูชาลบล้างความผิดบาปของมนุษย์[5]

      พระเจ้าทรงทำให้มนุษย์คืนดีกับพระองค์เองโดยการลบล้างบาปในพระคริสต์ และประทานของประทานล้ำค่าคือชีวิตนิรันดร์โดยให้ผู้ที่รับการไถ่ มาเป็นคนที่ถูกสร้างใหม่ในพระคริสต์ การเป็นเครื่องบูชาของพระเยซูลบล้างผลของความบาปที่ทำให้ต้องตายและให้ชีวิตแก่ทุกคนที่เชื่อ พระคริสต์ทรงเป็นวิญญาณผู้ให้ชีวิต (1 โครินธ์ 15:45) ต่อผู้ที่มีความเชื่อและมาเป็นอวัยวะในพระกายของพระองค์ ซึ่งก็คือคริสตจักรที่พระองค์ทรงเป็นศีรษะ พวกเขาจะมีส่วนในลักษณะของพระเจ้า (2 เปโตร 1:4) และมาเป็นประชากรของพระองค์และเป็นผู้ที่พระองค์ทรงครอบครองเป็นพิเศษ นี่คือพระพรอันอุดมที่พระยาห์เวห์ประทานแก่บรรดาผู้เชื่อทางพระคริสต์

 

พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระบิดา

      พระยาห์เวห์ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ใหม่ว่าเป็น “พระบิดา” นี่เองพระเยซูจึงทรงกล่าวกับพระเจ้าเมื่ออธิษฐานว่า “พระบิดา” ซึ่งเป็นภาษาอาราเมคว่า “อับบา” ที่เหมือนกับ “อาปา” หรือ “พ่อ”

      คำกรีกของ “บิดา” (patēr) มีปรากฏ 413 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ ประมาณ 60% ของจำนวนครั้งที่ปรากฏจะกล่าวถึงพระเจ้าว่าเป็นพระบิดา โดยที่ 136 ครั้งจะพบในพระกิตติคุณยอห์น

      ในพระคัมภีร์เดิม ชาวอิสราเอลเรียกพระยาห์เวห์ว่าพระบิดา (“ข้าแต่พระยาห์เวห์ พระองค์เป็น พระบิดาของพวกข้าพระองค์” อิสยาห์ 63:16) แต่ในลักษณะที่เป็นทางการบ่อยครั้ง เช่น การกล่าวว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระบิดาของเราเพราะพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างของเรา ดังคำกล่าวไว้ว่า “พระองค์ไม่ใช่พระบิดา ผู้ทรงสร้างท่าน ผู้ทรงสรรค์ท่าน และสถาปนาท่านไว้หรือ?” (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:6); “เราทั้งหลายมีพระบิดาองค์เดียวไม่ใช่หรือ? พระเจ้าองค์เดียวได้ทรงสร้างเรามิใช่หรือ?” (มาลาคี 2:10) ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ถูกเชื่อมต่อกันในพระคัมภีร์ใหม่ แต่ก็ไม่ได้ลดความยำเกรงของเราที่มีต่อพระเจ้า หัวใจสำคัญของการมีชีวิตในฝ่ายวิญญาณตามพระคัมภีร์ใหม่นั้นอยู่ที่ความ สัมพันธ์กับพระยาห์เวห์ในแบบใหม่ในฐานะที่เป็นพระบิดาของเรา ผู้ทรงรักและทรงห่วงใยประชากรของพระองค์

      ความสนิทสนมกับพระเจ้าพระบิดาของเรา เป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตของผู้เชื่อในพระคริสต์และจะทำได้โดยการอยู่ในกันและกันทั้งสองฝ่าย คือ “เราอยู่ในพระบิดาและพวกท่านอยู่ในเราและเราอยู่ในท่าน” (ยอห์น 14:20) เมื่อเราอยู่ในพระคริสต์และพระคริสต์ทรงอยู่ในพระบิดา เราจึงอยู่ในพระบิดา (“เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย” ยอห์น 17:21) สิ่งนี้จะเป็นจริงได้ เราจะต้องมีประสบการณ์จริงที่ไม่ใช่แค่วิเคราะห์ด้วยสติปัญญาเท่านั้น ความสนิทสนมนี้เป็นไปได้โดยการสถิตอยู่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่เร้าใจประชากรของพระเจ้าให้ร้องว่า “อับบา” (โรม 8:15, กาลาเทีย 4:6) ถ้าใครไม่ได้สัมพันธ์กับพระเจ้าว่าเป็น “อับบา” เขาก็ไม่ใช่หนึ่งในประชากรของพระเจ้า

      ความสัมพันธ์ของเรากับพระยาห์เวห์พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์นี่เองที่ทำให้ข่าวประเสริฐเป็นข่าวดีจริงๆ ทั้งศาสนายิวและอิสลามไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์กับพระเจ้าในแบบที่ใกล้ชิดสนิทสนม แต่ความจริงที่น่าเศร้าก็คือว่าแม้แต่ในหมู่คริสเตียน ก็มีส่วนน้อยที่มีประสบการณ์ในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนมแบบนี้ เพราะสำหรับคริสเตียนส่วนใหญ่แล้ว ศาสนาที่เรียกว่าศาสนาคริสต์นี้ก็มีความเป็นทางการและเป็นการปฏิบัติแต่ภายนอกเช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ ซึ่งบางครั้งก็มากกว่า แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ความเชื่อในทางที่ผิดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ได้กำจัดพระยาห์เวห์ผู้ที่พระเยซูทรงเรียกว่าพระเจ้าผู้เที่ยงแท้องค์เดียว ออกไปจากความสนใจและออกไปจากสายตาของเรา

      แต่ถ้าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า สิ่งที่น่าอัศจรรย์แล้วยังดีเลิศอีกก็คือ การรวมพระนามอันน่าเกรงขามของพระยาห์เวห์กับความยำเกรงด้วยความรักที่เราแสดงกับพระองค์โดยการเรียกพระองค์ว่า “อับบา” หรือ “พ่อ” มันเป็นความตรงกันข้ามที่น่าทึ่งเมื่อวางเทียบเคียงกัน เช่น พระเจ้าผู้ทรงเต็มด้วยอำนาจทุกอย่างกับเด็กที่ไร้อำนาจและช่วยตัวเองไม่ได้ ผู้ทรงอำนาจกับคนอ่อนแอ ผู้สูงสุดกับผู้ต่ำต้อยสุด ผู้ไม่มีขีดจำกัดกับคนที่มีขีดจำกัด พระเจ้านิรันดร์กับผู้ที่ “วันเวลาของเขาก็เหมือนต้นหญ้า เขาเจริญขึ้นเหมือนดอกไม้ในทุ่งนา” (สดุดี 103:15)

      สิ่งนี้ให้มุมมองใหม่กับคำกล่าวว่า “ถ้าท่านไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย” (มัทธิว 18:3) เด็กเล็กๆเท่านั้นที่จะเรียกบิดาของพวกเขาว่า “อาปา” หรือ “พ่อ” หรือ “อับบา” ในภาษาอาราเมค ใครที่คิดว่าเป็นคริสเตียนมานานจนโตเกินกว่าจะเรียกพระยาห์เวห์ว่า “อาปา” นั้น แสดงว่าเขายังไม่ได้เข้าใจการดำเนินชีวิตที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมนี้ ในช่วงสุดท้ายของพระเยซู เมื่อพระองค์ทรงอยู่ในวิกฤติ พระเยซูก็ยังเรียกพระยาห์เวห์ว่า “อับบา พระบิดา” (มาระโก 14:36) เราก็เรียกพระเจ้าว่า “อับบา” เช่นเดียวกัน เพราะการทำงานอย่างลึกๆภายในเราของพระวิญญาณ

 

โรม 8:15ท่านได้รับพระ​วิญ​ญาณ​ที่ให้​ท่าน​มี​ฐานะ​เป็น​บุตร​ของ​พระ​เจ้า โดย​พระ​วิญ​ญาณ​นั้น​เรา​จึงร้อง​​ว่า “อับ​บา! พระบิดา!” (ฉบับ ESV)

กาลาเทีย 4:6 ​เพราะ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​บุตร ​พระ​เจ้าจึง​ทรง​ให้พระ​วิญ​ญาณ​ของ​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์เข้า​มา​ใน​ใจ​ของ​เรา พระ​วิญ​ญาณผู้ทรงร้องว่า “อับ​บา พระบิดา” (ฉบับ NIV)

 

      พระเจ้าต้องการให้เราเรียกพระองค์ว่า “อับบา” และดำเนินชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับพระองค์ สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อพระยาห์เวห์ทรงเข้ามาหาเราด้วยความรัก และเราก็ตอบสนองพระองค์ด้วยสิ้นสุดใจ สุดจิตและสุดกำลังของเรา (ฉลยธรรมบัญญัติ 6:5; มัทธิว 22:37)[6]

      ความเคร่งของชาวยิวได้ก้าวไปสู่ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับพระเจ้า โดยเลือกที่จะเกี่ยวข้องกับพระองค์ในขั้นที่เป็นทางการ จนถึงขนาดไม่ออกเสียงพระนามของพระยาห์เวห์ ชื่อนี้ถูกแทนที่ด้วยคำ “อาโดนาย” (Adonai) ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียกที่เป็นทางการพอๆกับคำว่า “นายท่าน” หรือ “ท่าน” (“Lord” หรือ “Sir”) มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะลังเลในการเรียก “นายท่าน” และ “เจ้านาย” ของคนนั้นด้วยชื่อเฉพาะของเขา ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปจึงมีการสอนว่า จะต้องไม่ออกเสียงพระนามของพระยาห์เวห์ ถึงแม้ว่าพระคัมภีร์จะสนับสนุนให้คนของพระเจ้าประกาศพระนามและปฏิญาณด้วยนามนั้น (ฉลยธรรมบัญญัติ 10:20, เยเรมีย์ 12:16) การห้ามออกเสียงพระนามของพระยาห์เวห์พัฒนาขึ้นในศาสนายิวภายหลังการถูกเนรเทศ ในประวัติศาสตร์ช่วงแรกๆของชาวยิวนั้น พระนามของพระยาห์เวห์ (Yah­weh) จะ “เปล่งเสียงปกติด้วยสระเฉพาะ” ตามงานเขียนของชาวยิวในสารานุกรมยูเดคา[7] (ดูภาคผนวก 1 ของหนังสือเล่มนี้) แต่ไม่ว่าเราได้กระทำอะไรไปต่อพระนามของพระเจ้า ความจริงก็ยังคงมีอยู่ว่า พระเยซูทรงสอนวิธีใหม่กับเหล่าสาวกของพระองค์ถึงวิธีที่จะสัมพันธ์กับพระเจ้า นั่นก็คือการพูดกับพระองค์ว่า “อับบา” หรือ “พ่อ”

 

เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต

พระเยซูตรัสกับเขาว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” (ยอห์น 14:6)

 

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้ข้อยอห์น 14:6 นี้เป็นหลักฐานถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซู แต่ความหมายของถ้อยคำเหล่านี้พระเยซูเองได้ทรงอธิบายไว้แล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องทำให้มันมีความหมายในสิ่งที่มันไม่ได้หมายถึง ไม่มีอะไรในข้อนี้ที่บอกว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า แต่สิ่งที่พระเยซูทรงทำก็คือการประกาศว่า การทำหน้าที่สามอย่างในงานของพระองค์คือ ทรงเป็นทางนั้น ทรงเป็นความจริง และทรงเป็นชีวิตนั้น ถูกสรุปรวมด้วยคำกล่าวว่า “ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” จุดหมายปลายทางและเป้าหมายสุดท้ายของเราไม่ใช่พระเยซูคริสต์ แต่เป็นพระเจ้าพระบิดา และเรามาหาพระองค์โดยทางพระเยซูผู้ทรงเป็น “ทางนั้น” ดังนั้นจึงตัดโอกาสทางอื่นๆ

      ความจริงและชีวิตก็ถูกกล่าวถึงด้วย เพราะทั้งสองมีความเชื่อมโยงกับทางนั้น คือพระเยซูทรงเป็นทางที่แท้จริงและเป็นทางที่มีชีวิต คำว่า “ความจริง” และ “ชีวิต” นี้ไม่สามารถจะเอาออกไปจากบริบทเพื่อใช้อ้างว่า ในเมื่อพระเยซูทรงเป็นความจริงและเป็นชีวิต พระองค์จึงเป็นพระเจ้า

      ข้อเท็จจริงว่า “ความจริง” และ “ชีวิต” เป็นแนวคิดที่สำคัญในพระกิตติคุณยอห์นนั้น สามารถดูได้ในสถิติต่อไปนี้ พระกิตติคุณยอห์นมีตัวอย่างของคำกรีก alētheia (“ความจริง”) 20 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในพระคัมภีร์ใหม่ จำนวนสูงสุดรองลงมาคือในโรมและ 1 ยอห์น (8 ครั้งในแต่ละเล่ม) คำว่า zōē (“ชีวิต”) มีจำนวนปรากฏลดลงตามลำดับคือ 32 ครั้งในพระกิตติคุณยอห์น, 17 ครั้งในวิวรณ์, 14 ครั้งในโรม, 10 ครั้งใน 1 ยอห์น ทั้งหมดนี้มาจากงานเขียนของยอห์นยกเว้นในโรม

      สถิติเหล่านี้ยืนยันสิ่งที่เราเพิ่งกล่าวไปว่า ความจริงและชีวิตนั้น เป็นแนวคิดพื้นฐานในพระกิตติคุณยอห์น ดังนั้นการปรากฏของคำเหล่านี้ในยอห์น 14:6 จึงไม่สามารถจะดึงออกจากบริบทที่กว้างขึ้นและเอามาใช้พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู การดูตัวอย่างอื่นๆของ “ความจริง” และ “ชีวิต” ในพระคัมภีร์จะลบล้างการใช้สองคำที่สำคัญและแพร่หลายนี้ในทางที่ผิด ความจริงและชีวิตของพระยาห์เวห์ซึ่งปรากฏอยู่ในพระเยซู จะนำผู้ที่เชื่อในพระเยซูให้มีความเชื่อที่มีพลังซึ่งรวมถึงความจริงและชีวิต ผู้เชื่อมีส่วนร่วมในความเป็นจริงเหล่านี้ในฝ่ายวิญญาณ ซึ่งในที่สุดจะพบได้ในพระยาห์เวห์ “พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่และเที่ยงแท้” (1 เธสะโลนิกา 1:9)[8]

      คำประกาศของยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่า “จงทำทางสำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า” ในยอห์น 1:23 นำมาจากอิสยาห์ 40:3 (“จงเตรียมมรรคาของพระยาห์เวห์”)[9] ภายหลังพระเยซูตรัสถึง “ทางนั้น” กับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “และท่านรู้จักทางที่เราจะไปนั้น” (ยอห์น 14:4) โธมัสจึงทูลว่า “พวกข้าพระองค์ไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ไหน” และคำถามนี้นำไปสู่ยอห์น 14:6 ที่ว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” การรู้จักพระเยซูคือการรู้จักพระองค์ผู้ทรงเป็นทางนั้น “ทาง” ไม่ใช่คำสอนที่มาจากนิกายต่างๆในสมัยของพระเยซู แต่เป็นสิ่งที่รวมอยู่ในองค์พระเยซูผู้ที่เป็นทางนั้น และในผู้ที่ความจริงและชีวิตจะให้กำลังด้วยชีวิตใหม่กับผู้ที่เชื่อในพระองค์

      สามหลักการนี้คือ ทางนั้น ความจริง และชีวิต มีความเชื่อมโยงกันที่แยกจากกันไม่ได้ สามสิ่งที่รวมกันนี้จะนำเราไปถึงพระบิดาผู้ทรงเป็นแหล่งที่มาของทั้งสามสิ่ง ความจริงและชีวิตไม่ได้แยกจากกัน แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของทางนั้น แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ดึงข้อนี้ออกจากบริบทและทำให้ “เราเป็นความจริงและชีวิต” มีความหมายของความเป็นพระเจ้าอยู่จริง

      แต่พระเยซูไม่สามารถจะเป็น “ชีวิต” ในความหมายนั้นได้จริง เพราะชีวิตของพระองค์เองขึ้นอยู่กับพระบิดาดังคำกล่าวว่า “และเรามีชีวิตเพราะพระบิดา” (ยอห์น 6:57) “เพราะว่าพระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เองอย่างไร พระองค์ก็ทรงให้พระบุตรมีชีวิตในพระองค์เองอย่างนั้น” (ยอห์น 5:26)

      เมื่อเราเห็นว่าคำสอนของยอห์น 14:6 เป็นเรื่องการที่เราจะมาถึงพระบิดา เราจึงสงสัยว่าเหตุใดข้อนี้จึงถูกนำมาใช้เป็นข้อความพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู เพราะว่าพระเยซูไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นทางไปสู่จุดหมายปลายทางนั้น

      แต่สำหรับเราที่จะไปหาพระบิดา การรู้จุดหมายปลายทางของเรานั้นยังไม่พอ เราจะต้องจัดการกับบาปที่ขัดขวางการก้าวไปข้างหน้าของเราก่อน บาปเป็นความจริงที่น่ากลัวทั้งในโลกรอบตัวเราและภายในใจเรา ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเราล้วนขาดแคลนความจริงฝ่ายวิญญาณและภายในตัวเราก็ขาดชีวิต เพราะมนุษย์ “ตายโดยการละเมิดและการบาป” (เอเฟซัส 2:1) แต่พระเยซูทรงนำเราเข้าสู่ความจริงและชีวิตของพระเจ้า เพราะพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ทรงมีคุณสมบัติเหล่านี้รวมอยู่ในตัวพระองค์เอง ถึงแม้ว่าชีวิตของพระองค์เองจะมาจากพระบิดา (“และเรามีชีวิตเพราะพระบิดา” ยอห์น 6:57) พระเยซูทรงเป็นทางไปสู่พระบิดา เพราะชีวิตของพระองค์จดจ่ออยู่กับพระเจ้าอย่างทั้งหมด และพระองค์ทรงเป็นคนกลางแต่ผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ (1 ทิโมธี 2:5)

      สามองค์ประกอบใน “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” นั้นเป็นจุดเด่นในสดุดีและสุภาษิต ในพระคัมภีร์ฉบับ LXX (พระคัมภีร์เดิมฉบับภาษากรีก) คำว่า “ทาง” (hodos, ὁδός) มีปรากฏ 94 ครั้งในสุภาษิตและ 79 ครั้งในสดุดีที่มากกว่าในเล่มอื่น ส่วนคำว่า “ความจริง” (alētheia, ἀλήθεια) มีปรากฏ 59 ครั้งในสดุดีมากกว่าในเล่มอื่น และคำว่า “ชีวิต” (zōē, ζωή) ปรากฏ 38 ครั้งในสุภาษิต และ 25 ครั้งในสดุดีมากกว่าเล่มอื่นในหนังสือพระคัมภีร์เดิม ดังนั้น “ทาง ความจริง และชีวิต” จึงเป็นแนวคิดสำคัญ 3 ประการของหนังสือหมวดกวี[10]ในสดุดีและสุภาษิตเช่นเดียวกับในพระกิตติคุณยอห์นด้วย หลักการสามอย่างนี้ (ทาง ความจริง ชีวิต) เชื่อมโยงหนังสือสามเล่ม คือสดุดี สุภาษิต และยอห์นเข้าด้วยกัน ทำให้เรามีความเข้าใจใหม่ในคำตรัสของพระเยซูที่พระคัมภีร์เป็นพยานเกี่ยวกับพระองค์ (ยอห์น 5:39)[11] วินเซนต์ เทย์เลอร์[12] ให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับยอห์น 14:6 ดังนี้

 

พลังเต็มๆของชื่อเรียกเหล่านี้จะเข้าใจได้เมื่อนำมารวมกัน เหมือนที่ผู้ประกาศ (ยอห์น) ใช้ชื่อเรียกเหล่านี้... พระเยซูเป็น “ทางนั้น” เป็น “ความจริง” ที่โดยทางพระองค์เราได้รู้เกี่ยวกับพระเจ้า และในพระองค์เป็น “ชีวิต” ที่ตอนนี้เรามีชีวิตนิรันดร์ ถ้อยคำที่ตามหลังสามชื่อเรียกนี้คือ “ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” (14:6b) ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะชื่อเรียกแรกเท่านั้น แต่กล่าวถึงทั้งหมด พระคริสต์ทรงเป็น “ทางนั้น” ที่ไปถึงพระบิดาเพราะพระองค์ทรงเป็น “ความจริง” และ “ชีวิต” ด้วย ...เพราะจะมีใครอื่นอีกที่จะพูดได้ว่าเขาเป็นทางไปถึงพระบิดา เป็นผู้ที่สำแดงพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นผู้ให้ความบริบูรณ์ของชีวิต? (ชื่อเรียกต่างๆของพระเยซู,[13] เริ่มหน้า 145)

 

ไม่มีใครรู้จักพระบุตร​​นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จัก​​พระบิดานอกจากพระบุตร

ไม่มีใครรู้จักพระบุตรนอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดานอกจากพระบุตร และคนที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้” (มัทธิว 11:27 เปรียบเทียบลูกา 10:22)

 

      เมื่อเราพิจารณาถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ใกล้ชิดสนิทสนมของพระบิดากับพระบุตร เราอดไม่ได้ที่จะตรึกตรองสถานการณ์ของเราเอง และยอมรับว่าความบาปได้แยกคนบาปออกจากพระเจ้าอย่างแท้จริง ดังที่กล่าวว่า “แต่ความชั่วช้าของเจ้าต่างหากที่ได้แยกเจ้าออกจากพระเจ้าของเจ้า บาปของเจ้าทำให้พระองค์ทรงซ่อนพระพักตร์จากเจ้า พระองค์จึงไม่สดับฟัง” (อิสยาห์ 59:2 ฉบับ NIV) แต่พระเยซูผู้ทรงปราศจากบาปและเชื่อฟังพระบิดาอย่างสมบูรณ์ สามารถมีสามัคคีธรรมกับพระบิดาได้โดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้นอย่างที่ไม่มีใครสามารถทำได้ พระเยซูทรงเป็นบุคคลเดียวในมนุษยชาติที่ปราศจากบาปอย่างสมบูรณ์และกระทำสิ่งที่พอพระทัยพระเจ้า (ยอห์น 8:29)[14] จึงทรงมีความสัมพันธ์สนิทที่พิเศษนี้กับพระยาห์เวห์

      คำสอนอันน่าอัศจรรย์เรื่องความใกล้ชิดระหว่างพระเจ้าพระบิดากับพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์นี้ ได้สูญหายไปจากผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่คิดว่าความสนิทสนมดังกล่าวเป็นไปได้เฉพาะระหว่าง   พระเจ้าสององค์เท่านั้น และเป็นไปไม่ได้ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น ความสนิทสนมระหว่างพระเจ้าพระบิดากับพระเจ้าพระบุตรถูกมองว่าเป็นของตาย เพราะเป็นความสนิทสนมภายในของพระเจ้าตรีเอกภาพ ความจริงอันน่าอัศจรรย์ที่พระเจ้ากับมนุษย์สามารถมีความ สัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเหมือนที่มีระหว่างพระเจ้ากับพระคริสต์นั้นได้ถูกบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพปฏิเสธ ซึ่งเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในฝ่ายวิญญาณ ความน่าชื่นใจของความสัมพันธ์สนิทระหว่างพระยาห์เวห์กับพระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์นั้นควรสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เชื่อทุกคนเดินใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้น แต่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ปล้นชิงแรงบันดาลใจนั้นไปจากผู้เชื่อด้วยการขจัดความจริงอันน่าอัศจรรย์ที่เราสามารถเข้าไปถึงความสัมพันธ์สนิทแบบเดียวกันนี้กับพระบิดาได้ ถ้าเราเดินรอยตามพระเยซู

      ความใกล้ชิดระหว่างพระเจ้ากับพระเยซู และระหว่างพระเยซูกับบรรดาสาวกของพระองค์แสดงให้เห็นในคำกรีกว่า kolpos ดังต่อไปนี้

 

ยอห์น 1:18 ไม่​มี​ใคร​เคย​เห็น​พระ​เจ้า​เลย ​พระ​บุตร​องค์​เดียว​ผู้​สถิต​ใน​พระ​ทรวง​ (kolpos) ของ​พระ​บิดา พระองค์ได้ทรง​สำ​แดง​พระ​เจ้า​แล้ว (ฉบับ RSV)

ยอห์น 13:23 สาวกคนหนึ่งของพระเยซูที่พระองค์​​ทรงรัก กำลังเอนกายอยู่ใกล้พระทรวง (kolpos) ของพระเยซู (ฉบับ RSV)

 

      พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กล่าวถึง kolpos ว่า “นอกจากความคิดเรื่องการรับประทานอาหารด้วยกันบนตั่งเดียวกันแล้ว [ยอห์น 13:23] ‘การอยู่ในอ้อมอกของใครบางคน’ นั้นแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุด” (อักษรตัวเอนเป็นของผม)

 

การสื่อสารภายในระหว่างพระบิดากับพระบุตร

      การเห็นคุณค่าที่พระเยซูทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพียงผู้เดียวนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจการสื่อสารภายในของพระองค์กับพระยาห์เวห์พระบิดาของพระองค์ เราจะต้องประหลาดใจที่พระเจ้าทรงตั้งพระทัยให้มีการสื่อสารภายในแบบเดียวกันนี้ระหว่างพระเจ้ากับเรา ซึ่งเป็นไปได้โดยการทำงานของพระเยซูคริสต์ การมองไม่เห็นสิ่งนี้ เราก็จะถูกชิงเอาความบริบูรณ์ของข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์และการที่พระองค์เสด็จมาทำงานนี้ให้สำเร็จเพื่อเรา อะไรคือจุดประสงค์ในการตายของพระเมษโปดกของพระเจ้าหรือ ถ้าไม่ใช่เพื่อเปิดทางใหม่และทางดำเนินชีวิตใหม่ที่จะนำไปถึงพระยาห์เวห์พระบิดาของเรา?

      แต่ปัญหาของนักวิชาการพระคัมภีร์ก็คือว่า การสื่อสารภายในระหว่างพระยาห์เวห์และพระเยซูคริสต์และผู้เชื่อนั้น ไม่เป็นไปตามรูปแบบของการวิเคราะห์ที่ “ศาสนศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์”[15] ต้องการ ถ้าใครพยายามที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสื่อสารภายในนี้โดยค้นดูคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับต่างๆ ในไม่ช้าเขาหรือเธอจะผิดหวัง นั่นเป็นเพราะผู้อธิบายพระคัมภีร์ที่ไม่ได้สื่อสารกับพระเจ้าในชีวิตประจำวัน จะไม่สามารถให้ความกระจ่างในเรื่องที่สำคัญนี้ได้มากนัก การสื่อสารภายในกับพระเจ้านั้นเกี่ยวข้องกับชีวิต ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ ชีวิตนิรันดร์ ชีวิตที่ต้องดำเนินตามนั้น ไม่ใช่แต่พูดถึงหรือทำการวิเคราะห์ ผู้ที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตแบบนี้จะไม่รู้เรื่องนี้มากนัก ยกเว้นจากคำบอกเล่าหรือการวิเคราะห์ทางปัญญา การมีคุณวุฒิทางการศึกษาสูงสุดนั้นไม่ได้ทำให้คนหนึ่งคนใดมีคุณสมบัติที่จะพูดเรื่องการสื่อสารภายในกับ “พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” (ฮีบรู 9:14)[16]

      ในสถาบันศาสนศาสตร์ปัจจุบันนี้ มีนักวิชาการหลายคนที่สอนวิชา “การรู้จักพระเจ้า” ซึ่งในแง่ของประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาแล้ว พวกเขาไม่มีคุณสมบัติที่จะสอน คนนั้นจะสามารถสอนเรื่องพลังขับเคลื่อนชีวิตในฝ่ายวิญญาณของพระเยซูได้อย่างไร หากชีวิตของเขาเองไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยพลังขับเคลื่อนในแบบเดียวกัน? สิ่งเดียวที่บรรดานักวิชาการสามารถพูดถึงได้ก็คือประเด็นผิวเผินของพระกิตติคุณ เช่น วันเวลาที่เขียน ผู้เขียน ประเภท ฯลฯ

      โดยทั่วไปแล้ว วิทยาลัยศาสนศาสตร์ต่างๆจะไม่ถามเกี่ยวกับชีวิตฝ่ายวิญญาณของเจ้าหน้าที่ด้านวิชาการของพวกเขา ฉะนั้นจึงยิ่งไม่ต้องถามว่าพวกเขาได้สื่อสารกับพระเจ้าหรือไม่ ข้อสำคัญที่สุดในการจ้างงานก็คือ ใบรับรองการศึกษาและมุมมองหลักคำสอนของพวกเขา นี่ดูเหมือนทุกคนจะลืมไปว่า พระเยซูหรือบรรดาอัครทูตก็ไม่มีใบรับรองการศึกษาแต่อย่างใด สิ่งที่พระเจ้ามองหาในคนๆหนึ่งนั้นไม่ใช่คุณสมบัติทางการศึกษาของเขา แต่อยู่ที่ว่าเขารู้จักพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่หรือไม่

      ปัญหาเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเรามาดูหัวข้อของหนังสือเล่มนี้ที่ว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพียงผู้เดียว ใครก็ตามที่ไม่ดำเนินชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าจะไม่สามารถเข้าใจหัวข้อนี้ เพราะเขาจะไม่สามารถเข้าใจการที่พระเยซูทรงยึดมั่นการสื่อสารภายในกับพระบิดาอย่างต่อเนื่องดังที่กล่าวไว้ใน “พระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย” (ยอห์น 17:21)

      การอยู่ในกันและกัน ไม่ว่าจะระหว่างพระเจ้ากับพระเยซู หรือระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์นั้น ในที่สุดแล้วก็จะเป็นระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ไม่ใช่ระหว่างพระเจ้ากับพระเจ้า นั่นก็คือไม่ใช่ระหว่าง “พระเจ้าพระบิดา” กับ “พระเจ้าพระบุตร” เหมือนในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ไม่มีที่ไหนเลยในพระคัมภีร์ที่พูดถึงการอยู่ในกันและกันของพระเจ้าในพระเจ้า พระเยซูทรงเป็นวิหารของพระเจ้าอย่างไร (ยอห์น 2:19) ผู้เชื่อก็เป็นวิหารของพระเจ้าอย่างนั้นด้วย (1 โครินธ์ 3:16)

      ความล้มเหลวที่จะเห็นว่าการสื่อสารภายในกับพระบิดานั้นเป็นไปได้ไม่เฉพาะแต่กับพระเยซูเท่านั้น แต่กับเราด้วย เป็นความล้มเหลวที่จะเห็นว่าคำกล่าวมากมายที่เกี่ยวกับพระเยซูในพระคัมภีร์นั้นมีคำกล่าวเกี่ยวกับผู้เชื่อที่คล้ายคลึงกัน เช่น “เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นเช่นไร เรา​​ในโลกนี้ก็เป็นเช่นนั้น” (1 ยอห์น 4:17; ฉบับ NIV 2011 แปลว่า “เพราะในโลกนี้เราเป็นเหมือนพระเยซู”)[17] พระเยซูตรัสซ้ำๆว่าพระบิดาของพระองค์อยู่ในพระองค์ ดังจะเห็นในข้อต่อไปนี้จากพระกิตติคุณยอห์น (ทั้งสองข้อมาจากฉบับ ESV)

 

ยอห์น 14:20 ในวันนั้นท่านจะรู้ว่าเราอยู่ในพระบิดา และ​​ท่านอยู่ในเราและเราอยู่ในท่าน(ในยอห์น 10:38, 14:10-11 ด้วย)[18]

ยอห์น 17:21 เพื่อ​พวก​เขา​จะ​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน เหมือนที่​พระ​องค์​ผู้​เป็น​พระ​บิดา​สถิต​ใน​ข้า​พระ​องค์​และ​ข้า​พระ​องค์​ใน​พระ​องค์ เพื่อ​พวก​เขา​จะ​​อยู่​ในเราด้วย เพื่อ​โลก​จะ​​เชื่อ​ว่า​พระ​องค์ได้​ทรง​ส่ง​ข้า​พระ​องค์​มา

 

      ในยอห์น 17:21 ข้อหลังนี้เผยให้เห็นหลักการเพิ่มเติมคือ เราอยู่ในพระเจ้าและในพระคริสต์ ในทางกลับกันนั้น พระเจ้าทรงอยู่ในเราเพราะว่าร่างกายของผู้เชื่อคือวิหารของพระเจ้า

 

1 โครินธ์ 3:16-17 ท่านไม่รู้​​หรือว่าท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ใน​​ท่าน? ถ้าผู้ใดทำลายวิหารของพระเจ้า พระเจ้าจะทรงทำลายผู้นั้น เพราะ​​วิหารของพระเจ้าเป็นที่บริสุทธิ์ และ​​ท่านเป็นวิหารนั้น (ฉบับ ESV)

1 โครินธ์ 6:19 ท่าน​​ไม่รู้หรือว่าร่างกายของท่านเป็นวิหารของ​​พระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิต​​ใน​​ท่าน ซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า? (ฉบับ ESV)

 

      พระเยซูยังตรัสถึงพระกายของพระองค์ว่าเป็นวิหารของพระเจ้าด้วย

 

ยอห์น2:19-22  19พระเยซูจึงตรัสตอบพวกเขาว่า “ทำลายวิหารนี้เสีย แล้วเราจะยกขึ้นใหม่ในสามวัน” 20พวกยิวจึงทูลว่า “วิหารนี้ต้องใช้เวลาสร้างถึงสี่สิบหกปี และท่านจะยกขึ้นใหม่ในสามวันหรือ?” 21แต่พระองค์กำลังตรัสถึงวิหารที่เป็นพระกายของพระองค์  22ฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงถูกยกขึ้นจากความตายแล้ว พวกสาวกของพระองค์ก็ระลึกได้ว่าพระองค์ตรัสดังนี้...(ฉบับ ESV)  

 

      ตรงนี้พระเยซูตรัสถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ (“ทำลายวิหารนี้” ข้อ 19) และการฟื้นคืนพระชนม์ (“ถูกยกขึ้นจากความตาย” ข้อ 22) ที่กำลังจะมาถึง แต่เรายังเห็นบางอย่างผิดปกติในคำพูดว่า “เราจะยกขึ้นในสามวัน” เพราะดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับคำสอนที่เสมอต้นเสมอปลายของพระคัมภีร์ใหม่ว่า พระเจ้าพระบิดาเป็นผู้ทรงยกพระเยซูขึ้นจากความตาย อันที่จริง นอกจากยอห์น 2:19 แล้ว ทุกข้ออ้างอิงถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่จะพูดถึงพระเจ้าพระบิดาว่าเป็นผู้ที่ยกพระเยซูขึ้นจากความตายโดยไม่มีข้อยกเว้น[19] แต่ในยอห์น 2:19 นี้พระเยซูตรัสว่า “เราจะยกขึ้น” ครั้งนี้ไม่ใช่พระบิดาเป็นผู้ทรงยกพระเยซูเป็นขึ้นจากความตาย แต่เป็นพระเยซูผู้ทรงยกพระองค์เองขึ้นมา

      เราจะทำอย่างไรกับข้อยกเว้นเดียวนี้เมื่อเปรียบกับคำสอนของพระคัมภีร์ใหม่ซึ่งสอนอย่างเสมอต้นเสมอปลายว่าพระบิดาเป็นผู้ทรงให้พระเยซูทรงเป็นขึ้นมา? เราจะกลบเกลื่อนปัญหาโดยปล่อยมันไปอย่างนั้นหรือ? กุญแจสำคัญในการแก้ปัญหานี้มีอยู่ในคำประกาศซ้ำๆของพระเยซูในพระกิตติคุณเดียวกันนี้ (ยอห์น) ว่าพระองค์ทรงกระทำทุกสิ่ง ตรัสทุกสิ่ง และสอนทุกสิ่งตามที่พระบิดาทรงบัญชา เมื่อเราตระหนักว่าพระเยซูตรัสแต่สิ่งที่พระบิดาทรงบัญชาให้พระองค์ตรัสเท่านั้น เราจะเห็นว่าจะต้องเป็นพระบิดาเองที่ตรัสผ่านพระเยซูในยอห์น 2:19 (“เราจะยกขึ้น”) ข้อสรุปนี้ได้แรงสนับสนุนด้วยถ้อยคำที่ปรากฏในสามข้อต่อมาว่า “ฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงถูกยกขึ้นจากความตายแล้ว” คำว่า “พระองค์ทรงถูกยกขึ้น” (หรือ “ถูกทำให้เป็นขึ้นมา”) แปลมาจากคำกรีกว่า ēgerthē ซึ่งเป็นกาลกริยาในไวยากรณ์บอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยผู้อื่นเป็นผู้กระทำให้[20]ของ egeirō เป็นการยืนยันว่าพระเยซูไม่ได้ยกพระองค์เองขึ้นมา (หรือทำให้พระองค์เองเป็นขึ้นมา)

 

พระเจ้าทรงทำงานและตรัสผ่านพระเยซู

      ก่อนที่เราจะสามารถเข้าใจพระเยซูคริสต์องค์ผู้เป็นเจ้าของเรา เราต้องเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นเหมือนกับเราที่เป็นคนของโลกนี้ ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ทำให้เราเริ่มต้นผิดโดยอธิบายว่า พระเยซูเป็น “พระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์” หรือ “พระเจ้าที่จุติลงมาเกิด” ทำให้พระองค์เป็นผู้ที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ อย่าว่าแต่เข้าใจเลย ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ตั้งพระเยซูให้อยู่ต่างระดับจากพวกเราตั้งแต่เมื่อพระองค์ทรงบังเกิดแล้ว เพื่อที่พระองค์จะถูกยกย่องว่าเป็นเป้าหมายของการนมัสการและไม่ใช่มนุษย์อย่างเรา ซึ่งทำให้ความจริงเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของพระองค์มีปัญหา ดังนั้นเราจึงอ่านสิ่งที่เกี่ยวกับพระเยซูในพระกิตติคุณเล่มต่างๆด้วยแว่นตาที่เคลือบสี และมองเห็นสิ่งต่างๆที่พระองค์ทรงกระทำว่าเป็นการกระทำของพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ และไม่ใช่มนุษย์อย่างเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถจะเชื่อมโยงกับเรื่องที่พระกิตติคุณกล่าวเกี่ยวกับพระเยซูในความหมายที่สำคัญของการเลียนแบบชีวิตของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถูกเรียกให้ทำ

      มีสิ่งสำคัญที่ต้องจดจำไว้ก็คือ การงานต่างๆที่พระเยซูทรงกระทำนั้น พระบิดาเป็นผู้ทรงกระทำผ่านทางพระองค์ และถ้อยคำที่พระเยซูตรัสก็เป็นถ้อยคำของพระบิดา ผู้ทรงใช้พระองค์มาและสถิตอยู่ในพระองค์ ข้อต่อไปนี้มาจากพระกิตติคุณยอห์น (ฉบับ ESV ยกเว้นระบุไว้อย่างอื่น)

 

ยอห์น 14:10 ถ้อยคำที่เรากล่าวกับพวกท่านนั้น เราไม่ได้กล่าวด้วยสิทธิอำนาจของเราเอง แต่พระบิดาผู้สถิตอยู่ในเราทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์

ยอห์น 3:34 เพราะพระองค์ผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมานั้น​​กล่าวพระดำรัสของพระเจ้า

ยอห์น 7:16 “คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นของผู้ที่ทรงส่งเรามา

ยอห์น 8:28 เราไม่ได้ทำอะไรด้วยสิทธิอำนาจของเราเอง แต่กล่าวตามที่พระบิดาทรงสอนเรา”

ยอห์น 5:19 “พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดโดยพระองค์เอง​​ พระองค์สามารถทำได้แต่สิ่งที่ทรงเห็นพระบิดาทำ เพราะสิ่งใดที่พระบิดาทำ พระบุตรก็ทำสิ่งนั้นด้วย” (ฉบับ NIV)

ยอห์น 12:49-50 “เพราะ​เรา​ไม่​ได้​กล่าว​ตาม​ใจ​เรา​เอง แต่​พระ​บิดา​ผู้​ทรงส่ง​เรา​มา​เป็น​ผู้​ตรัสสั่ง​เรา​ว่า​จะ​กล่าว​อะไร​หรือ​จะกล่าว​อย่างไร เรา​รู้​ว่า​คำตรัสสั่ง​ของ​พระ​องค์​นั้น​นำไปสู่​ชีวิต​นิรันดร์ ​ฉะนั้น​สิ่ง​ที่​เรา​กล่าว​นั้น เรา​​กล่าว​ตาม​ที่​พระ​บิดา​ทรง​บอก​เรา” (ฉบับ NIV 1984)

 

      ในข้อสุดท้ายนี้ พระเยซูตรัสว่าพระบิดา “เป็นผู้ตรัสสั่งเราว่าจะกล่าวอะไรหรือกล่าวอย่างไร”[21] พระเยซูทรงยอมอยู่ใต้บัญชาของพระบิดาอย่างสมบูรณ์ พระองค์ตรัสตามที่พระบิดาของพระองค์ต้องการให้พระองค์ตรัสทุกประการ แม้กระทั่งด้วยน้ำเสียงและอากัปกิริยาที่พระเจ้าทรงมุ่งหมายไว้

      ในพระกิตติคุณยอห์น พระเยซูจะตรัสซ้ำๆว่าพระบิดาของพระองค์ทรงทำงานและตรัสผ่านพระองค์ในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำและตรัส สิ่งนี้เชื่อมโยงกับความจริงที่ว่าพระบิดาได้ประทานงานของพระองค์ให้พระเยซูทำให้สำเร็จและครบถ้วนสมบูรณ์

เพราะ​​งานที่พระบิดาได้ทรงมอบให้เราทำให้สำเร็จ (teleioō สำเร็จ ครบถ้วนสมบูรณ์) ​​เป็นงานที่เรากำลังทำอยู่นั้น เป็นพยานเกี่ยวกับเราว่าพระบิดาได้ทรงส่งเรามา (ยอห์น 5:36 ฉบับ ESV)

      การที่พระเยซูทรงทำงานที่พระบิดาทรงส่งพระองค์มาจนเสร็จสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความรอดของมวลมนุษย์ เพราะงานเหล่านี้รวมถึงคำสอนของพระเจ้าซึ่งเป็นถ้อยคำที่ให้ชีวิต และการที่พระเยซูทรงสละพระองค์เองเป็นเครื่องถวายบูชาบนกางเขนเพื่อเป็น “ค่าไถ่คนเป็นจำนวนมาก” (มัทธิว 20:28; มาระโก 10:45)

      แต่เราจะกระทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพระเยซูอีก! “ใครก็ตามที่วางใจในเรา เขาจะทำงานที่เราทำนั้นด้วย และจะทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นเสียอีก เพราะว่าเรากำลังจะไปหาพระบิดาของเรา” (ยอห์น 14:12 ฉบับ ESV) เรื่องนี้สร้างปัญหายุ่งยากให้กับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เนื่องจากบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพถกเถียงเรื่องความเป็นพระเจ้าของพระเยซูจากเรื่องงานที่พระองค์ทรงทำ แล้วเราจะว่าอย่างไรกับผู้ทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นด้วยฤทธิ์อำนาจเดียวกันของพระเจ้าที่ทำงานผ่านพระเยซูและมีให้ทุกคนที่เชื่อในพระองค์? ความเชื่อในตรีเอกานุภาพเชื่อว่าการอัศจรรย์ต่างๆของพระเยซู เช่น การรักษาคนเจ็บป่วยให้หายและชุบคนตายให้ฟื้นเกิดจากความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมพระเยซูจึงบอกพวกที่ติดตามพระองค์ ซึ่งไม่มีใครเลยเป็นพระเจ้า ว่าพวกเขาจะทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพระองค์อีก หรือทำซ้ำในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำ แต่ด้วยฤทธิ์อำนาจที่มากกว่าอีก?

      พระเยซูทรงกระทำทุกสิ่งในทุกช่วงเวลาโดยการสถิตอยู่ของพระเจ้า และนี่ควรเป็นหลักการชีวิตสำหรับเหล่าสาวกของพระองค์ เหตุผลที่แฝงความเกี่ยวข้องกันนี้ไม่ซับซ้อน แต่ก็มีผลตามมาที่สำคัญในฝ่ายวิญญาณ เพราะถ้าพระบิดาทรงกระทำสิ่งทั้งหมดนี้ผ่านพระเยซู แล้วพระองค์จะไม่ทรงทำอย่างเดียวกันนี้ผ่านผู้ที่ตอบสนองต่อการทรงเรียกของพระเยซูให้ติดตามพระองค์หรอกหรือ? แนวเหตุผลในฝ่ายวิญญาณนี้จะหมดความหมาย หากพระเยซูทรงแตกต่างจากเหล่าสาวกของพระองค์อย่างสิ้นเชิงเหมือนในหลักความเชื่อของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงทำลายหลักการสำคัญที่พระเยซูทรงสอนในพระกิตติคุณยอห์น โดยปิดบังความจริงที่ว่าผู้เชื่อจะทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพระเยซู (ด้วยข้อยกเว้นสำคัญของการลบมลทินบาป) โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าที่มีให้กับผู้ที่มีความเชื่อในพระเยซู

      เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ใหม่โดยไม่มีแนวคิดที่บิดเบือนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในยุคต่อมา เราก็จะมองว่าพระเยซูเป็นผู้ที่เราสามารถจะเลียนแบบและเป็นเหมือนได้ และเป็นผู้ที่เราสามารถเรียนรู้จากพระองค์ที่จะให้พระยาห์เวห์สถิตอยู่ในเราเหมือนที่พระองค์สถิตอยู่ในพระเยซู เมื่อพระยาห์เวห์สถิตอยู่ในเราแต่ละวัน เราจะรู้ความจริงที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับฤทธิ์อำนาจของพระยาห์เวห์ที่ทำงานอยู่ในผู้เชื่อ ไม่ว่าจะในการเทศนาหรือการสอนของเรา หรือในการรักษาโรคและขับผีออก

 

พระเยซูและผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิม

      พระเยซูทรงอธิบายถึงพระองค์เองว่า “เรา (มนุษย์)[22] ผู้บอกความจริงซึ่งเราได้ยินจากพระเจ้าแก่ท่าน” (ยอห์น 8:40)[23] จงสังเกตความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง “มนุษย์” กับ “พระเจ้า” และการที่พระเยซูทรงให้ตัวพระองค์เองอยู่ในฝั่งของมนุษย์อย่างเต็มที่ ข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ผู้ที่ได้รับความจริงจากพระเจ้านั้น ขัดแย้งกับความเข้าใจของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ คำกล่าวว่า “เราได้ยินจากพระเจ้า” สะท้อนถึงสิ่งที่ผู้เผยพระวจนะทุกคนในอิสราเอลช่ำชองในการประกาศว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้” (คำตรงตัวคือ “พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้”

      บรรดาผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิมไม่ได้พูดตามความคิดของพวกเขาเอง แต่จะพูดสิ่งที่พระยาห์เวห์ตรัสสั่งให้พวกเขาพูด ดังนั้นพวกเขาจึงมักจะขึ้นต้นคำประกาศของพวกเขาว่า “พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้” (หรือในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่กล่าวว่า “พระเจ้าตรัสดังนี้”) ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่พระเยซูตรัสก็ไม่ใช่ถ้อยคำของพระองค์เองแต่เป็นถ้อยคำของพระบิดาของพระองค์ (ยอห์น 12:49)[24] พระเยซูไม่ได้ใช้คำขึ้นต้นว่า “พระเจ้าตรัสว่า” เพราะพระยาห์เวห์ที่สถิตอยู่ในพระเยซูจะตรัสผ่านพระเยซูไม่ว่าจะโดยตรง (เช่น “ทำลายวิหารนี้เสีย แล้วเราจะยกขึ้นใหม่ในสามวัน” ยอห์น 2:19) หรือโดยอ้อม (เช่น ที่พระเยซูตรัสถึงพระบิดาในรูปบุคคลที่สาม)

      ผู้เผยพระวจนะเท็จในพระคัมภีร์เดิมก็ยังขึ้นต้นคำประกาศของพวกเขาว่า “พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้” ดังนั้นเราจะระบุได้อย่างไร? พระเยซูตรัสว่า “จงระวังผู้เผยพระวจนะเท็จ... ท่านจะรู้จักพวกเขาโดยผลของพวกเขา” (มัทธิว 7:15-16) เราจะมองเห็นความเทียมเท็จของพวกเขา ถ้าชีวิตของพวกเขาขาดความบริสุทธิ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสมบูรณ์แบบ

      ในสมัยของพระเยซู เป็นที่ยอมรับกันว่าพระองค์ทรงเป็นผู้เผยพระวจนะของอิสราเอลและบางคนก็เปรียบเทียบพระองค์กับเอลียาห์ (มัทธิว 16:14)[25] ผู้เผยพระวจนะไม่เพียงแค่บอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นอาจารย์ของประเทศด้วย พระเยซูเองก็ถูกเรียกว่า “อาจารย์” (ในมัทธิวฉบับเดียว 8:19, 12:38, 19:16; 22:16,24,36) และศัตรูของพระองค์ก็ยังชื่นชมในพระปัญญาของพระองค์ (พวกเขาประหลาดใจกับคำตอบของพระองค์ ที่ตอบคำถามเกี่ยวกับการเสียส่วยให้   ซีซาร์ในมัทธิว 22:17-22) แต่พระเยซูทรงแตกต่างจากผู้เผยพระวจนะสมัยดั้งเดิมตรงที่พระเยซูไม่เพียงแต่พูดความจริงเท่านั้น ชีวิตของพระองค์ยังแสดงให้เห็นความจริงอย่างสมบูรณ์ พระองค์ไม่เพียงแต่ตรัสว่า “เราดำเนินชีวิตตามความจริง” แต่ตรัสว่า “เราเป็นความจริง” นั่นคือความสวยงามและแรงอิทธิพลของพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพียงผู้เดียว

 

พระเยซูคริสต์ผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา

      สิ่งที่สะท้อนให้เห็นในคำศัพท์ของยอห์นก็คือ การสอนที่เน้นย้ำในแง่ของจำนวนครั้งที่มากกว่าและในแง่ของคำกล่าวที่หนักแน่นจากพระเยซูว่าพระเจ้าทรงส่งพระเยซูมา ตัวอย่างเช่น pempō (πέμπω, ส่ง) มีปรากฏ 79 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยปรากฏ 32 ครั้งในพระกิตติคุณยอห์น และ 5 ครั้งในวิวรณ์ เล่มอื่นๆในพระคัมภีร์ใหม่ไม่มีเล่มไหนที่มีคำนี้ปรากฏใกล้เคียงกับยอห์นในแง่ของความบ่อยครั้ง ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก คือมัทธิว มาระโก และลูกามีปรากฏรวมกันเพียง 15 ครั้ง ส่วนในกิจการมีปรากฏ 11 ครั้งเป็นที่สองรองจากยอห์นที่จำนวนห่างกัน

      การศึกษาว่ามีการใช้คำ pempō อย่างไรในพระกิตติคุณยอห์นจะทำให้พบว่าคำนี้มักใช้ในคำกล่าวว่า “ผู้ทรงส่งเรามา” หรือคำกล่าวที่เหมือนกัน เช่น “พระบิดาผู้ทรงส่งเรามา”[26] หรือ “พระองค์ผู้ทรงส่งเรามา” จากการปรากฏ 32 ครั้งของ pempō ในยอห์นนั้น น่าแปลกใจที่จำนวนส่วนใหญ่ 26 ครั้งจะพบในถ้อยคำดังกล่าว[27] นี่ทำให้ “พระบิดาผู้ทรงส่งเรามา” เป็นชื่อเรียกของพระเจ้าในพระกิตติคุณยอห์น

      อีกคำหนึ่งคือ apostellō (ἀποστέλλω, ส่ง) มีปรากฏ 132 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ที่กระจายอยู่ในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มและกิจการ คือปรากฏในมัทธิว 22 ครั้ง ในมาระโก 20 ครั้ง ในลูกา 26 ครั้ง ในยอห์น 28 ครั้ง ในกิจการ 24 ครั้ง และในส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ใหม่ 12 ครั้ง

      จากจำนวนปรากฏ 28 ครั้งในพระกิตติคุณยอห์น มี 17 ครั้งกล่าวถึงพระเจ้าพระบิดาว่าเป็นผู้ที่ส่งพระเยซูเข้ามาในโลก[28] เมื่อรวม apostellō 17 ครั้ง และ pempō 26 ครั้งซึ่งมีความหมายนี้ เราจะได้จำนวนคำกล่าวทั้งหมด 43 ครั้งเฉพาะในยอห์นเพียงเล่มเดียวเกี่ยวกับพระเยซูผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา! นี่ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วจะมีคำกล่าวเช่นนี้สองครั้งในหนึ่งบท นอกจากนี้ยังมี apostellō ปรากฏสามครั้งใน 1 ยอห์น (4:9,10,14) ซึ่งกล่าวถึงการที่พระบิดาทรงส่งพระบุตรมา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ฮีบรู 3:1 กล่าวถึงพระเยซูว่าเป็น “อัครทูต (apostolos, ผู้ที่ถูกส่งไป) และมหาปุโรหิตที่เราประกาศว่าเชื่อ”[29]

      ภารกิจหลักของผู้ที่ถูกส่งไปก็คือ ทำตามความประสงค์ของผู้ที่ส่งเขาไป ในกรณีของพระเยซูก็มีกล่าวไว้ในยอห์น 4:34 ว่า “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา” ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่คาดหมายว่า thelēma (θέλημα, ความประสงค์) เป็นคำที่สำคัญในยอห์น การตรวจสอบคร่าวๆ ก็ยืนยันว่า thelēma เมื่อกล่าวถึงพระประสงค์ของพระเจ้านั้น จะมีปรากฏในมัทธิว 5 ครั้ง ในมาระโกครั้งเดียว และในลูกาครั้งเดียว คำนี้มีปรากฏ 8 ครั้งในพระกิตติคุณยอห์นซึ่งสั้นกว่ามัทธิว 20%

      ในฐานะที่พระบิดาเป็นผู้ทรงส่งมา พระเยซูจึงเสด็จมาในพระนามของพระบิดาของพระองค์ (ยอห์น 5:43; 10:25)[30] ทรงทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพระบิดาของพระองค์ และทำทุกสิ่งในนามของพระเจ้าในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการในพระนามของพระองค์ มีแต่เฉพาะผู้ที่ถูกส่งไปโดยอีกคนหนึ่งเท่านั้นที่จะสามารถกระทำการในชื่อของบุคคลนั้นได้ เราจะให้บัพติศมาคนหนึ่งคนใดได้โดยชอบตามมัทธิว 28:19 ก็เมื่อตัวเราเองถูกส่งจากพระเจ้าในฐานะผู้รับใช้ของพระองค์

 

พระเยซูตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ทำให้ทุกพันธกิจที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งนั้นมีความซ้ำซ้อน รวมถึงการเป็นพระเมสสิยาห์ด้วย

      ในพระกิตติคุณยอห์นนั้น การทำหน้าที่ของพระเยซูจะคล้ายกับการทำหน้าที่ของผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิม พวกยิวที่ได้พูดคุยกับพระเยซูก็เห็นได้ทันทีถึงความคล้ายคลึงกันอย่างเด่นชัด ระหว่างพระองค์กับพวกผู้เผยพระวจนะสมัยก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอลียาห์ซึ่งถูกกล่าวถึงหลายครั้งในพระกิตติคุณ (มัทธิว 9 ครั้ง, มาระโก 9 ครั้ง, ลูกา 8 ครั้ง, ยอห์น 2 ครั้ง)

      ไม่มีสิ่งใดที่พระเยซูได้ทรงกระทำในพันธกิจของพระองค์ในโลกนี้ที่ไม่เหมือนกับพวกผู้เผยพระวจนะ โดยมีข้อยกเว้นสำคัญคือการลบมลทินบาป ความแตกต่างหลักๆระหว่างพระเยซูกับพวกผู้เผยพระวจนะอยู่ที่ระดับความสัมพันธ์สนิทที่ไม่มีใครเทียบได้ของพระเยซูกับพระบิดา (พระยาห์เวห์) ซึ่งเป็นไปได้โดยที่พระองค์ทรงปราศจากบาปตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ แม้แต่อิสยาห์ผู้เผยพระวจนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระคัมภีร์เดิมก็ต้องสารภาพความบาปของเขาว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนริมฝีปากไม่สะอาด” (อิสยาห์ 6:5) แทบไม่มีใครเลยที่ไม่เคยทำบาปในลักษณะนี้ (“ผู้ที่ไม่เคยทำผิดทางวาจา ก็เป็นคนดีเพียบพร้อม” ยากอบ 3:2) นี่ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงสื่อสารกับอิสยาห์ ไม่เช่นนั้นเมื่อไม่มีใครที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ในโลกนี้ ก็จะไม่มีใครที่พระเจ้าจะทรงสื่อสารด้วยได้! อันที่จริง นิมิตเกี่ยวกับพระเจ้าที่เต็มด้วยพระสิริ[31]ที่อิสยาห์ได้รับนั้นน่าจะงดงามที่สุดในพระคัมภีร์เดิม

      “พระบุตรจะทำสิ่งใดตามใจไม่ได้นอกจากที่ได้เห็นพระบิดาทำ” (ยอห์น 5:19) คำว่า “ได้เห็นพระบิดา” บ่งบอกว่านิมิตทั้งหลายของพระเจ้าเป็นประสบการณ์ปกติสำหรับพระเยซู พระเยซู “สถิตอยู่ในพระทรวงของพระบิดา” (ยอห์น 1:18) ทรงมีชีวิตที่ใกล้ชิดสนิทสนมที่สุดกับพระเจ้า ในคำกล่าวที่รู้จักกันดีว่า “เป็นคำกล่าวที่ไม่ทันตั้งตัวจากยอห์น” ที่พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาของเราทรงมอบสิ่งสารพัดให้แก่เรา และไม่มีใครรู้จักพระบุตรนอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา   นอกจากพระบุตร และคนที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้” (มัทธิว 11:27 เปรียบเทียบลูกา 10:22) ความสนิทสนมระหว่างพระเยซูกับพระบิดาของพระองค์ลึกซึ้งมาก จนพระเยซูทรงรับมอบทุกสิ่งจากพระบิดา ผู้ซึ่งพระเยซูเรียกว่าเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และโลก” (มัทธิว 11:25)[32]

      แต่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพทำให้เรื่องทั้งหมดนี้เกินความจำเป็น เพราะถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าพระบุตร พระองค์ก็จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุดกับพระเจ้าพระบิดา “โดยอัตโนมัติ” เนื่องจากการมีแก่นแท้ของความเป็นพระเจ้าร่วมกัน ความสวยงามในความสัมพันธ์สนิทระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ที่แสดงถึงจุดสูงสุดของสิ่งที่เป็นได้สำหรับมนุษย์ด้วยความรักของพระเจ้านั้น ถูกลบล้างออกไปโดยคำสอนเกี่ยวกับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ มีอะไรที่น่าประทับใจไหมเกี่ยวกับความสัมพันธ์สนิทระหว่าง “พระเจ้าพระบิดา” กับ “พระเจ้าพระบุตร” สององค์บุคคลที่มีเนื้อแท้เดียวกัน?

      ปัญหามีมากกว่านั้น เพราะหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพทำให้ทุกพันธกิจที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งและหน้าที่ที่มอบให้กับมนุษย์มีความซ้ำซ้อนกัน ดังเช่น หน้าที่ของปุโรหิตหรือกษัตริย์ เนื่องจากจะต้องเป็นพระเจ้า (เหมือนพระเยซู) ที่ทำงานที่พระเจ้าได้ทรงมอบหมายให้มนุษย์ทำ

      ในความเชื่อตรีเอกานุภาพนั้น เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์มากกว่าจะเป็นมนุษย์ที่กล่าวว่า “พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้ เพื่อนำข่าวดีมายังคนยากจน” (ลูกา 4:18) สิ่งนี้ขัดกับหลักการที่ว่าการประกาศสั่งสอนข่าวประเสริฐเป็นงานที่มอบหมายให้กับนักเทศน์และผู้ประกาศข่าวประเสริฐที่เป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นในความเชื่อตรีเอกานุภาพก็คือ พระเจ้าพระบุตรถูกเจิมด้วยกันกับพระเจ้าพระวิญญาณให้เป็นพระเมสสิยาห์ ผู้ที่ถูกเจิมไว้ซึ่งพระเจ้าพระบิดาทรงส่งเข้ามาในโลก ทำไมพระเจ้าพระบิดาจึงต้องส่งผู้ที่เป็นพระเจ้ามาเป็นพระเมสสิยาห์หรือ? นี่เป็นเพราะว่าไม่ยอมให้เป็นพระเมสสิยาห์ที่เป็นมนุษย์หรือ? ทำไมพระเจ้าที่เป็นพระเจ้าพระบุตรจึงทรงทำงานที่พระเจ้าได้ทรงตั้งให้มนุษย์ทำเล่า? เรื่องทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะเข้าใจได้ ตามคำสอนของพระคัมภีร์แล้ว พระเจ้าได้เสด็จเข้ามาในโลกมาสถิตอยู่ในพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ ไม่ใช่พระเยซูผู้เป็นพระเจ้า พระเจ้าทรงเลิกใช้มนุษย์ในพันธกิจแห่งความรอดหรือ? พระเจ้าผู้ทรงอมตะจะตายเพื่อความบาปของมนุษย์ได้หรือ? ถ้าไม่มีอะไรอื่นอีกที่มนุษย์   จะสามารถทำได้ อย่างน้อยที่สุดมนุษย์ก็ตายได้! และการตายบนไม้กางเขนเพื่อความผิดบาปของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่พระเยซูได้ทรงกระทำจริงๆ

 

พันธกิจหลักในโลกนี้ของพระเยซูในขณะนี้

      หลังจากที่พระเยซูได้ทรงถูกรับขึ้นสู่สวรรค์แล้ว พระองค์ก็ประทับที่พระหัตถ์เบื้องขวาของพระบิดา ในเมื่อขณะนี้พระองค์ประทับอยู่ในสวรรค์ แล้วพันธกิจของพระองค์ในโลกนี้ในขณะนี้คืออะไรหรือ? หนึ่งในพันธกิจหลักของพระองค์ก็คือ การทูลขอเพื่อคนของพระเจ้า

 

โรม 8:34 พระ​เยซู​คริสต์ผู้​สิ้น​พระ​ชนม์ และ​ยิ่ง​กว่า​นั้นอีก พระเจ้าทรงทำให้เป็นขึ้นมาจากความตาย พระองค์​สถิต ณ เบื้อง​ขวา​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​เจ้า และทรงอธิษฐาน​ขอ​เพื่อ​เราด้วย

ฮีบรู 7:25 พระ​องค์​จึงทรง​สา​มารถ​ช่วย​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​เข้า​มา​ใกล้​พระ​เจ้าโดย​​ทาง​พระ​องค์นั้นอย่าง​เต็ม​ที่ เพราะ​ว่า​พระ​องค์​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่​ทุก​เวลา เพื่อ​ทูล​ขอ​เผื่อคนเหล่านั้น

ฮีบรู 9:24 เพราะว่า​พระ​คริสต์ไม่​ได้​เสด็จ​เข้า​ไป​ใน​สถาน​ศักดิ์​สิทธิ์​ที่​สร้าง​ขึ้น​ด้วย​มือ​มนุษย์ ซึ่งเป็นแบบ จำลองจาก​ของ​จริง แต่​พระ​องค์​เสด็จ​เข้า​ไป​ใน​สวรรค์​นั้น​ เพื่อ​ทรง​ปรา​กฏ​ตัว​ต่อ​พระ​พักตร์​พระ​เจ้า​เพื่อ​พวก​เรา

1 ยอห์น 2:1 ลูก​ที่รักของ​ข้าพ​เจ้า ข้าพ​เจ้า​เขียน​ข้อ​ความ​นี้​ถึง​ท่าน​​เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​ไม่​ทำ​บาป แต่​ถ้า​ใคร​ทำ​บาป เรา​ก็​มี​ผู้​ที่ช่วย​ทูล​ขอ​ต่อพระ​บิดา​ คือ​พระ​เยซู​คริสต์​ผู้​ทรง​ชอบ​ธรรม​นั้น

 

 

      การทูลขอเพื่อคนของพระเจ้าดูเหมือนจะเป็นพันธกิจหลักของพระคริสต์ หรือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของพระองค์ในขณะนี้ แต่ถ้าพระคริสต์ทรงมีสิทธิอำนาจเหนือคริสตจักรในฐานะที่เป็นศีรษะของพระกาย แล้วทำไมพระองค์จึงต้องทูลวิงวอนต่อพระบิดาแทนคริสตจักรด้วย? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคริสตจักรไม่ใช่คริสตจักรของพระคริสต์ แต่เป็น “คริสตจักรของพระเจ้า” (กิจการ 20:28; 1 โครินธ์ 1:2, 10:32, 11:22, 15:9; 2 โครินธ์ 1:1; กาลาเทีย 1:13; 1 ทิโมธี 3:5,15) พระเจ้าสถิตอยู่ในคริสตจักร ให้อำนาจและนำคริสตจักรโดยพระวิญญาณของพระองค์ เรานึกถึงโมเสสที่ทูลขอเพื่อชนอิสราเอลครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าโมเสสจะได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าให้เป็นผู้นำของอิสราเอล แต่เป็นพระเจ้าเองผู้สถิตอยู่ท่ามกลางชนอิสราเอลในพลับพลาหรือพระวิหาร และเป็นผู้ทรงนำชนอิสราเอลไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา

      ถ้าพระเยซูจะต้องอุทิศพระองค์เองทั้งหมดให้กับงานการทูลขอเพื่อคริสตจักรละก็ สิ่งนี้จะแสดงให้เห็นถึงความอยู่รอดของคริสตจักรในโลกนี้ที่ล่อแหลมและตกอยู่ในอันตราย ข้อเท็จจริงที่แม้พระเยซูจะทรงทูลขอเพื่อคริสตจักร คริสตจักรก็อาจหลงทางไปสู่ความผิดพลาดอย่างร้ายแรงได้ด้วยการเลือกของคริสตจักรเองในช่วง 1,800 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุของความท้อถอย พระยาห์เวห์ทรงอนุญาตให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่างที่เราไม่เข้าใจ ถึงกระนั้นตลอดหลายศตวรรษแห่งความมืดมิดนี้ เพราะการทูลขอของพระเยซูจึงทำให้ยังมีคนที่ยึดมั่นหลงเหลืออยู่ เหมือนที่มีคนที่ยึดมั่นหลงเหลืออยู่ในหมู่ชาวยิว (โรม 9 ถึง 11) แม้ว่าการทูลขอของพระเยซูคริสต์เพื่อคนของพระเจ้าไม่ได้เปล่าประโยชน์ แต่ก็มีคริสเตียนจำนวนน้อยที่ตระหนักถึงความเลวร้ายและความรุนแรงของการต่อสู้ในฝ่ายวิญญาณที่ลุกลามในและรอบๆคริสตจักรของพระเจ้า

      เนื่องจากขณะนี้พระเยซูประทับอยู่ในสวรรค์และไม่ได้อยู่ในโลก จึงมีคำถามตามมาว่าใครจะเป็นผู้ชี้นำคริสตจักรในโลกนี้ และด้วยการสถิตอยู่ของใครที่ค้ำจุนผู้ยึดมั่นที่เหลืออยู่ซึ่งถูกเรียกว่า “จำนวนเล็กน้อย” ในมัทธิว 7:14 (เปรียบเทียบลูกา 13:23) และผู้ที่เข้าสู่ชีวิตโดยพระคุณของพระยาห์เวห์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ที่ค้ำจุนคนของพระเจ้าทุกๆวันในการต่อสู้ฝ่ายวิญญาณกับมารร้ายที่เป็นผู้ครองโลก (ยอห์น 12:31, 14:30, 16:11) แต่คริสเตียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ก็ยังใจจดใจจ่อกับชีวิตของตัวเองและการงานของโลก มันน่าเศร้าที่พวกเขาเป็นผู้ที่รักตัวเองมากกว่าเป็นผู้ที่รักพระเจ้า (2 ทิโมธี 3:2-4) ความสำคัญของการทูลขออย่างไม่หยุดหย่อนของพระเยซูเพื่ออวัยวะในพระกายของพระองค์ซึ่งก็คือคริสตจักรนั้น ตรึงใจและความคิดของเราอีกครั้ง

 

อะไรคือพันธกิจของพระเยซูในโลกนี้เมื่อสองพันปีก่อน?

      ถ้าการทูลขอเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของพระเยซูที่ประทับอยู่เบื้องพระหัตถ์ขวาของพระบิดาในยุคปัจจุบัน แล้วอะไรคือพันธกิจในโลกนี้ของพระองค์เมื่อสองพันปีมาแล้ว และมีความหมายอะไรกับเราในปัจจุบัน? จากภาพของพระเยซูที่เห็นในพระกิตติคุณนั้น พันธกิจของพระองค์ในโลกนี้มีสองส่วนที่สำคัญ

      ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการสอนพระคำของพระเจ้า คือพระคำของพระยาห์เวห์ โดยการเน้นที่อาณาจักรของพระเจ้า (หรืออาณาจักรสวรรค์) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่คริสเตียนน้อยคนจะคุ้นเคย สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว “ราชอาณาจักร” จะหมายถึงดินแดนที่ปกครองโดยกษัตริย์ (อย่างเช่น “ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย” ชื่ออย่างเป็นทางการของซาอุดิอาระเบีย) หรือประเทศที่มีระบอบรัฐธรรมนูญที่มีกษัตริย์เป็นประมุข (เช่น “สหราชอาณาจักรบริเทนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ” ชื่ออย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักร)

      แต่คำภาษากรีกของ “ราชอาณาจักร” (basileia) มีความหมายอันดับแรกเกี่ยวกับการปกครองโดยกษัตริย์ มากกว่าจะหมายถึงดินแดนที่พระองค์ปกครอง ถึงกระนั้นความหมายอย่างหลังก็ไม่ได้ถูกตัดออกไป พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ก็ให้สองคำนิยามหลักของคำนี้ว่า (1) เป็นการปกครอง; ก. การปกครองโดยกษัตริย์, โดยอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน, การปกครองของกษัตริย์; ข. การครองราชย์ของกษัตริย์; (2) ดินแดนที่ปกครองโดยกษัตริย์, ราชอาณาจักร ความ หมายของดินแดนถูกระบุไว้เป็นคำจำกัดความที่สองแทนที่จะเป็นคำจำกัดความแรก แต่ที่บอกได้มากกว่าก็คือ พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ให้การอ้างอิงในพระคัมภีร์และนอกพระคัมภีร์สำหรับคำจำกัดความแรก (การปกครองโดยกษัตริย์, การปกครองของกษัตริย์) มากเป็นสิบเท่าของคำจำกัดความที่สอง (ดินแดนของกษัตริย์) สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุดคืออาณาจักรของพระเจ้าเป็นการปกครองของพระเจ้าในชีวิตของประชากรของพระองค์

      อาณาจักรของพระเจ้ายังเรียกอีกอย่างว่า “อาณาจักรสวรรค์” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในพระกิตติคุณมัทธิวเท่านั้น[33] ความเหมือนกันของอาณาจักรของพระเจ้ากับอาณาจักรสวรรค์นั้นเห็นได้จากข้อ เท็จจริงว่าในมัทธิว 19:23-24[34] พระเยซูทรงใช้ทั้งสองคำเพื่อกล่าวถึงสิ่งเดียวกัน สำหรับชาวยิวแล้ว สวรรค์เป็นคำที่ใช้แทนพระเจ้าในแบบเดียวกับที่ชาวจีนเรียกว่าสวรรค์ () เป็นคำที่ใช้แทนพระเจ้า ( หรือ 上帝)

      อกเหนือจากอาณาจักรแล้ว ส่วนสำคัญอีกอย่างในพันธกิจของพระเยซูในโลกนี้ก็คือ การตายของพระองค์เพื่อลบมลทินบาป ซึ่งถูกกล่าวถึงหลายครั้งในพระกิตติคุณสามเล่มแรกโดยใช้ภาษาคล้ายกับการรายงานข้อเท็จจริงที่เข้าใจได้ง่าย คำกล่าวที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับความตายของพระองค์และจุดประสงค์ของความตายจะพบได้ในมาระโก 10:45 (และมัทธิว 20:28 ข้อที่เหมือนกัน)[35] ที่พระเยซูตรัสว่าพระองค์มา “เพื่อปรนนิบัติ ไม่ใช่เพื่อรับการปรนนิบัติ และให้ชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก” ในคำอุปมาต่างๆ พระเยซูตรัสเป็นนัยกว้างๆถึงการตายของพระองค์ แต่ไม่มีสิ่งใดชัดเจนเหมือนในข้อที่เราเพิ่งอ้างอิงไป

      เราจะเห็นการเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับความตายของพระเยซูในพระกิตติคุณยอห์น โดยเริ่มจากคำประกาศของยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่าพระเยซูทรงเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้า ผู้ทรงรับบาปของโลกไป” (ยอห์น 1:29) ไม่มีคำกล่าวถึงจุดประสงค์ของการตายของพระองค์ได้ชัดเจนไปกว่านี้ ส่วนที่เหลือของพระกิตติคุณยอห์นนั้นให้รายละเอียดของคำประกาศที่สำคัญเกี่ยวกับพระเมษโปดกของพระเจ้า การบอกเล่าถึงการที่พระเยซูคริสต์จะทรงทนทุกข์ทรมานบนกางเขน ซึ่งครอบคลุมช่วงสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตในโลกของพระเยซูนั้น ใช้เนื้อที่ประมาณหนึ่งในสามของพระกิตติคุณยอห์น เมื่อเทียบกับหนึ่งในสี่ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก

      ดังนั้นพระกิตติคุณทั้งสี่จึงพร้อมเพรียงกันอธิบายให้เห็นจุดสำคัญสองอย่างของพันธกิจของพระเยซูในโลกนี้ โดยในพระกิตติคุณสามเล่มแรกมีจุดสำคัญคือพันธกิจในการสอนของพระองค์และเนื้อหาหลักของคำสอน นั่นก็คืออาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งก็เป็นหัวข้อสำคัญในคำเผยพระวจนะของผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิมด้วย อีกจุดสำคัญที่โดดเด่นในพระกิตติคุณทั้งสี่โดยเฉพาะในยอห์นก็คือ งานการไถ่หรือการชดใช้บาปด้วยชีวิตและความตายของพระเยซู

      เราจะพบส่วนสำคัญทั้งสองนี้ในจดหมายต่างๆของพระคัมภีร์ใหม่ หลักการของราชอาณาจักรกำลังดำเนินอยู่ในชีวิตของคริสตจักรในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้คำที่ชัดเจนว่า “ราชอาณาจักร” จึงปรากฏไม่บ่อยนักในจดหมายต่างๆของพระคัมภีร์ใหม่ คำเทศนาบนภูเขาซึ่งเป็นหัวใจในการดำเนินชีวิตในอาณาจักรของพระเจ้านั้น ตอนนี้ได้นำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณของคริสตจักรของพระเจ้า ซึ่งเป็นพระกายของพระคริสต์

      พันธกิจของพระเยซูบนโลกนี้มีความหมายสำคัญสำหรับเราในขณะนี้ การตายของพระองค์เพื่อไถ่บาปและการฟื้นพระชนม์ของพระองค์มีผลอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้เชื่อ

 

โรม 9:26 “และ​ใน​สถาน​ที่​ซึ่ง​ทรง​กล่าว​แก่พวก​เขา​ว่า ‘พวกเจ้า​​ไม่​ใช่​ชน​ชาติ​ของ​เรา’ ใน​ที่​นั้น​เองพวก​เขา​​จะ​ได้​ชื่อ​ว่า บุตร​ของ​พระ​เจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่”

เอเฟซัส 5:8 เพราะเมื่อก่อนท่านทั้งหลายเป็นความมืด แต่บัดนี้ท่านเป็นความสว่างในองค์พระผู้เป็นเจ้า จงดำเนินชีวิตอย่างลูกของความสว่าง

 

      ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่ยิ่งใหญ่หรือน่าตกใจไปกว่าสิ่งที่อธิบายไว้ในคำกล่าวเหล่านี้

 

ลักษณะงานของพระเยซูที่มีเวลาจำกัด

      เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงในความเชื่อตรีเอกานุภาพที่มีพระเยซูเป็นพระเจ้า เราจึงอ่านพระคัมภีร์โดยไม่ได้ตระหนักว่าพันธกิจของพระองค์ในแผนการความรอดของพระเจ้านั้นมีเวลาจำกัด งานของพระเยซูไม่ได้ทำไปเรื่อยๆตลอดกาลและไม่มีที่สิ้นสุด แต่สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ด้วยความสำเร็จและชัยชนะ พระเยซูตรัสว่าคนสุขภาพดีไม่ต้องการหมอ แต่คนป่วยต้องการ ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหมอได้รักษาคนป่วยสำเร็จแล้ว? ตอนนี้คนป่วยคนนั้นก็เป็นคนสุขภาพดีคนหนึ่งที่ไม่ต้องการหมออีกต่อไป พูดอีกอย่างก็คือ หมอที่ดีคือคนที่หมดธุระของตนและหยุดทำหน้าที่หมอ! หมอที่ไม่ดีจะไม่ยอมหยุดเพื่อจะดูดเงินทั้งหมดของผู้ป่วยต่อไปโดยไม่ยอมรักษาเขาให้หายสักที เหมือนอย่างกรณีของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นโรคโลหิตตกมาเป็นเวลาสิบสองปีที่ “เธอทนทุกข์ลำบากมากกับหมอหลายคน และสูญสิ้นทรัพย์ที่เธอมี แต่โรคนั้นก็ไม่ได้บรรเทา กลับยิ่งกำเริบหนักขึ้น” (มาระโก 5:25-26)

      ที่กางเขน พระเยซูทรงทำงานของพระองค์เสร็จสิ้นในฐานะพระเมษโปดกที่เป็นเครื่องถวายบูชาของพระเจ้าเมื่อพระองค์ตรัสว่า “สำเร็จแล้ว” (ยอห์น 19:30) ต่อมาพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์และประทับนั่งเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า ซึ่งการนั่งลงของพระองค์แสดงให้เห็นว่างานการไถ่บาปที่พระองค์รับมอบหมายจากพระบิดานั้นพระองค์ได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว ประเด็นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนในจดหมายถึงชาวฮีบรู (“ครั้งเดียวเป็นพอ” 7:27, 9:12,26; 10:10)[36] การถวายเครื่องบูชาของพระเยซู “เพียงครั้งเดียว” นั้นตรงกันข้ามกับการถวายเครื่องบูชาที่ไม่มีวันสิ้นสุดในพระวิหารในเยรูซาเล็ม ซึ่งไม่สามารถลบล้างความบาปได้เพียงพอ และต้องถวายแล้วถวายอีกตลอดไป แต่การถวายเครื่องบูชาของพระเยซูมีผลถาวรในการอภัยบาปให้กับผู้ที่วางใจในพระองค์ ผู้เป็นพระเมษโปดกของพระเจ้าที่ถูกประหารเพื่อความรอดของพวกเขา

      ภารกิจของพระเยซูก็คือการนำเรามาหาพระเจ้า และเมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ภารกิจของพระองค์ก็บรรลุตามจุดประสงค์นั้น จะเกิดอะไรขึ้นหรือ หลังจากที่พระเยซูได้ทรงนำเรามาถึงพระเจ้า? มันไม่ได้หมายความว่าตอนนี้เราสามารถจะมีสามัคคีธรรมกับพระเจ้าได้โดยตรงหรอกหรือ? เมื่อพระเยซูได้ทรงนำเราเข้ามาในความสัมพันธ์สนิทกับพระยาห์เวห์แล้ว งานของพระองค์ก็เสร็จสิ้นลง และเป็นเหมือนกับหมอที่ดีที่พระองค์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปก้าวก่ายอีกต่อไป เว้นแต่เราจะทำบาปและต้องการผู้ช่วยทูลขอ (1 ยอห์น 1:9; 2:1)[37]

      นี่ไม่เหมือนกับงานการไกล่เกลี่ยของคนกลางหรอกหรือ? บทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยคืออะไร ถ้าไม่ใช่การทำให้สองฝ่ายคืนดีกัน? แล้วเกิดอะไรขึ้นหลังจากมีการคืนดีกันได้แล้ว? หลังจากคืนดีกันแล้ว ผู้ไกล่เกลี่ยก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เปาโลกล่าวว่า “เพราะมีพระเจ้าเพียงองค์เดียว และมีคนกลาง​​ผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์(1 ทิโมธี 2:5) ข้อผิด พลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ แทนที่จะให้ภาพพระเยซูคริสต์ว่าเป็นผู้ทำให้มีการคืนดีกันระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ครั้งเดียวเป็นพอ แต่กลับให้ภาพของผู้ที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมดโดยทำให้มนุษย์คืนดีกับพระองค์เอง ยิ่งกว่านั้นยังยืนคั่นกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์อีกด้วย!

      ในข้อ 1 ทิโมธี 2:5 ที่เพิ่งอ้างอิงไปนี้ เปาโลยืนหยัดในความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ในคำยืนยันของเขาว่า “มีพระเจ้าเพียงองค์เดียว” ที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับความเป็นมนุษย์ที่กล่าวไว้ในคำพูดว่า “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” คนกลาง​​ผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ไม่ใช่พระเจ้าหรือพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ แต่เป็น “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” (การแปลตรงตัวแบบคำต่อคำจากภาษากรีก) พระคัมภีร์บางฉบับ (NET, HCSB, NAB, NRSV) ให้ความ หมายที่เบาลงว่า “พระเยซูคริสต์ พระองค์เองเป็นมนุษย์” พระคัมภีร์ภาษาจีนฉบับยูเนี่ยนยิ่งพลิกแพลงจาก “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์ โดยแปลผิดเป็น “พระเยซูคริสต์ผู้ที่เสด็จลงมาในโลกเพื่อมาเป็นมนุษย์”![38] ซึ่งก็สับสนเหมือนกันกับหนังสืออธิบายพระคัมภีร์ของ ดร. คอนสเตเบิลที่แทนที่คำว่า “มนุษย์” ด้วยคำว่า “พระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์” ในคำกล่าวที่ว่า “พระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ เป็นผู้กลางเพียงผู้เดียวของพันธสัญญาใหม่ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์”!

      เรื่องนี้ก็เหมือนกับกรณีของหมอผู้ชำนาญการ คือเมื่องานของคนกลางเสร็จสิ้นในครั้งเดียวพอ เขาก็ไม่ต้องทำหน้าที่คนกลางให้สำเร็จอีกต่อไป แล้วเขาจะเสียใจไหมกับการหมดหน้าที่ (หรือหมดธุระกับคนไข้) ที่ไม่ได้ใช้ความสามารถและการรักษาที่ประสบความสำเร็จของเขาอีกต่อไป? ไม่ใช่เช่นนั้นแน่ๆ ทำไมทุกคนจึงคิดว่าพระเยซูต้องทุกข์พระทัยกับการหมดหน้าที่ที่ทำให้เราคืนดีกับ พระเจ้าได้สำเร็จและอย่างมีชัยชนะ โดยที่พระองค์ไม่จำเป็นต้องยืนคั่นกลางระหว่างพระเจ้ากับเราในฐานะคนกลางอีกต่อไป? ฉะนั้นจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงความเป็นไปได้ที่พระเยซูจะทรงใช้สถานการณ์นี้เพื่อทำให้ตัวพระองค์เองเป็นศูนย์กลางของความสนใจและความจงรักภักดี ยกเว้นแต่ในความเชื่อที่ฝังหัวของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      เราอาจกล่าวได้เช่นเดียวกันเกี่ยวกับงานของพระเยซูในการปราบศัตรูของพระเจ้า ในอนาคตซึ่งเป็นวาระสุดท้ายนี้ หลังจากที่งานของพระองค์ได้สำเร็จเสร็จสิ้นอย่างมีชัยชนะ พระเยซูจะทรงมอบฐานะกษัตริย์ของพระองค์คืนให้พระบิดาและจะทรงอยู่ในฐานะที่อยู่ใต้อำนาจของพระบิดาเป็นนิตย์ (1 โครินธ์ 15:24-28)[39]  


[1] โรม 1:1 “เปาโล ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์ ที่ได้รับการทรงเรียกให้เป็นอัครทูต และการตั้งไว้ให้ประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า”

[2] กิจการ 20:24 “ขอให้ข้าพเจ้าได้​​ทำพันธกิจที่ได้รับจากพระเยซู​​ให้สำเร็จ คือ​​เป็นพยานถึงข่าวประเสริฐที่สำแดงพระคุณของพระเจ้า”

[3] มาระโก 1:14 “หลังจากยอห์นถูกจับแล้ว พระเยซูเสด็จมายังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า”

[4] มาระโก 1:1 “ข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูคริสต์​​​พระบุตรของพระเจ้า ​​​เริ่มต้นตรงนี้”

[5] ดังที่เห็นใน “พระเจ้าได้ทรงตั้งพระเยซูไว้ให้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปโดยพระโลหิตของพระองค์” (โรม 3:25); เพื่อจะได้ทรงลบมลทินบาปของปวงประชากร” (ฮีบรู 2:17), “พระองค์ทรงเป็นเครื่องบูชาลบบาปของเรา” (1 ยอห์น 2:2), “พระองค์ทรงรักเรา และทรงใช้พระบุตรของพระองค์มา เพื่อเป็นเครื่องบูชาลบบาปของเรา” (1 ยอห์น 4:10) คำกรีกของ “​​ลบล้าง” (คำที่ถูกต้องกว่าคือ “การชดใช้”) คือ hilastērion ในข้อแรก, hilaskomai ในข้อสอง และ hilasmos ในสองข้อสุดท้าย

[6] ฉลยธรรมบัญญัติ 6:5 “ท่านจงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิต สุดใจ และสุดกำลังของท่าน”

[7] Encyclopedia Judaica

[8] 1 เธสะโลนิกา 1:9 และกล่าวถึงการที่ท่านได้ละทิ้งรูปเคารพและหันมาหาพระเจ้า เพื่อรับใช้พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่และเที่ยงแท้”

[9] อิสยาห์ 40:3 เสียงหนึ่งร้องว่า “จงเตรียมมรรคาของพระยาห์เวห์ในถิ่นทุรกันดาร จงทำทางหลวงในที่ราบแห้งแล้งให้ตรงสำหรับพระเจ้าของเรา”

[10] wisdom books หรือ คำสั่งสอนแห่งปัญญา

[11] ยอห์น 5:39 “พวกท่านค้นดูในพระคัมภีร์เพราะท่านคิดว่าในนั้นมีชีวิตนิรันดร์ และพระคัมภีร์นั้นเองเป็นพยานให้กับเรา”

[12] Vincent Taylor นักศาสนศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของศตวรรษที่ 19

[13] Names of Jesus

[14] ยอห์น 8:29 “พระองค์ผู้ทรงใช้เรามาก็สถิตอยู่กับเรา ไม่ได้ทรงทิ้งเราไว้ตามลำพัง เพราะว่าเราทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ”

[15] scientific theology หรือ ธรรมวิทยาทางวิทยาศาสตร์

[16] ฮีบรู 9:14 “มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระโลหิตของพระคริสต์ ผู้ทรงถวายพระองค์เองที่ปราศจากตำหนิแด่พระเจ้าโดยพระวิญญาณนิรันดร์ ก็จะทรงชำระมโนธรรมของเราจากการประพฤติที่เปล่าประโยชน์ เพื่อเราจะปรนนิบัติพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่

[17] 1 ยอห์น 4:17 “เช่นนี้ความรักจึงเต็มบริบูรณ์ท่ามกลางเราทั้งหลาย เพื่อเราจะมีความมั่นใจในวันพิพากษา เพราะในโลกนี้เราเป็นเหมือนพระเยซู” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[18] ยอห์น 10:38 “จงเชื่อเพราะการนั้น เพื่อท่านทั้งหลายจะรู้และเข้าใจว่าพระบิดาอยู่ในเรา และเราอยู่ในพระบิดา”

[19] กิจการ 2:24,32; 3:15,26; 13:30; โรม 4:24; 6:4; 8:11; 1 โครินธ์ 15:4,12 (พระเจ้าทรงกระทำให้ เช่นในยอห์น 2:22); กาลาเทีย 1:1; เอเฟซัส 1:20; โคโลสี 2:12; 1 เปโตร 1:21

[20] the aorist passive; ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “พระเจ้าทรงให้พระองค์เป็นขึ้นมา(ผู้แปล)

[21] ฉบับ NIV 1984 และ CJB แปลว่า “จะกล่าวอะไรและกล่าวอย่างไร” ในตัวบทภาษากรีกคำว่า “อะไร” และ “อย่างไร” แปลมาจากสรรพนามคำถามคำเดียวกันคือ “tis” (อย่าสับสนระหว่าง τίς กับ τὶς) ความหมายทั่วไปของ “tis” คือการซักถามว่า “อะไร” แม้กระทั่งจะเป็นการอุทานว่า “อย่างไร” ก็เป็นไปได้ (BDAG) ด้วยการแปล “tis” ทั้งสองกรณีแตกต่างกันว่า “อะไร” และ “อย่างไร” การแปลทั้งสองอย่างถูกต้องตามคำ ฉบับ NIV 1984 และ CJB หลีกเลี่ยงการกล่าวซ้ำซากและซ้ำซ้อนว่า “กล่าวอะไรหรือพูดอะไร” ที่พบในการแปลฉบับอื่นๆ

[22] ฉบับภาษาอังกฤษทุกฉบับใช้คำ a man” (“But as it is, you are seeking to kill Me, a man who has told you the truth that I heard from God) ซึ่งเป็นคำ “νθρωπος”(anthropos) ที่หมายถึง “มนุษย์” (ผู้แปล)

[23] ยอห์น 8:40 เราผู้บอกความจริงซึ่งเราได้ยินจากพระเจ้าแก่ท่าน อับราฮัมไม่ทำเช่นนี้” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[24] ยอห์น 12:49 “เพราะเราไม่ได้กล่าวตามใจเราเอง แต่พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาเป็นผู้บัญชาเราว่าจะกล่าวอะไรหรือพูดอะไร”

[25] มัทธิว 16:14 เขาทั้งหลายทูลตอบว่า “บางคนว่าเป็นยอห์นผู้ให้บัพติศมา แต่บางคนว่าเป็นเอลียาห์ ส่วนคนอื่นๆ ว่าเป็นเยเรมีย์ หรือเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้เผยพระวจนะ”

[26] ยอห์น 5:37 “ทั้งพระบิดาผู้ทรงส่งเรามา พระองค์เองได้ทรงเป็นพยานให้เรา ท่านไม่เคยได้ยินพระสุรเสียงหรือเห็นรูปพรรณสัณฐานของพระองค์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[27] pempō อีก 6 ครั้งที่เหลือในพระกิตติคุณยอห์น ถูกใช้ในลักษณะต่อไปนี้คือ ในการส่งพระวิญญาณ (14:26; 15:26; 16:7); พวกยิวส่งพวกปุโรหิตและพวกเลวี (ยอห์น 1:22); พระเยซูทรงส่งสาวก (13:20; 20:21)

[28] ที่ปรากฏ 17 ครั้งคือ ยอห์น 3:17,34; 5:36,38; 6:29,57; 7:29; 8:42; 10:36; 11:42; 17:3,8,18,21,23,25; 20:21

[29] ฮีบรู 3:1เพราะฉะนั้นพี่น้องธรรมิกชนทั้งหลาย ผู้มีส่วนร่วมในการทรงเรียกจากสวรรค์ จงพิจารณาดูพระเยซูผู้ที่พระเจ้าทรงใช้มาและผู้เป็นมหาปุโรหิตที่เราประกาศว่าเชื่อ”

[30] ยอห์น 5:43 “เรามาในพระนามพระบิดาของเราและพวกท่านไม่ยอมรับเรา ถ้าคนอื่นมาในนามของเขาเอง พวกท่านก็จะรับคนนั้น”

[31] อิสยาห์ 6:3 “บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ พระยาห์เวห์จอมทัพ แผ่นดินโลกทั้งสิ้นเต็มด้วยพระสิริของพระองค์”

[32] มัทธิว 11:25 “ข้าแต่พระบิดา ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และโลก ข้าพระองค์สรรเสริญพระองค์ ที่พระองค์ทรงปิดบังสิ่งเหล่านี้ไว้จากคนมีปัญญาและคนฉลาด แต่ทรงสำแดงแก่พวกทารก”

[33] มัทธิวใช้ “อาณาจักรสวรรค์” 32 ครั้งและ “อาณาจักรของพระเจ้า” 4 ครั้ง (หรือ 5 ครั้ง เปรียบเทียบต้นฉบับที่ต่างกันใน 6:33) แต่ตรงข้ามกับส่วนที่เหลือในพระคัมภีร์ใหม่ที่ใช้ “อาณาจักรของพระเจ้า” 62 ครั้ง และไม่เคยใช้ “อาณาจักรสวรรค์” การปรากฏ 62 ครั้งนี้กระจายอยู่ในเล่มต่อไปนี้คือ มาระโก 14 ครั้ง, ลูกา 32 ครั้ง, ยอห์น 2 ครั้ง, กิจการ 6 ครั้ง จดหมายของเปาโล 8 ครั้ง ตัวเลขเหล่านี้ไม่รวมถึงคำ “อาณาจักร” ซึ่งสั้นกว่าที่พบในถ้อยคำ เช่น “ข่าวประเสริฐเรื่องอาณาจักร” (มัทธิว 4:23) หรือ “บรรดาลูกของอาณาจักร” (มัทธิว 8:12)

[34] ในมัทธิว 19:23-24 “เราบอก​​อีกว่าให้อูฐ​​ลอดรูเข็มก็ยังง่ายกว่าที่คนรวยจะเข้าในอาณาจักรของพระเจ้า(ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[35] มาระโก 10:45บุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อจะปรนนิบัติคนอื่นและให้ชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก”

[36] ฮีบรู 10:10 โดยพระประสงค์นั้นเอง เราจึงได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ โดยการถวายพระกายของพระเยซูคริสต์ครั้งเดียวเป็นพอ”

[37] 1 ยอห์น 2:1 “ลูกของข้าพเจ้าเอ๋ย ข้าพเจ้าเขียนข้อความเหล่านี้ถึงท่านทั้งหลายเพื่อท่านจะได้ไม่ทำบาป และถ้าใครทำบาป เราก็มีผู้ช่วยทูลขอพระบิดาเพื่อเรา คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเที่ยงธรรมนั้น”

[38] Chinese Union Bible; 降世为人的基督耶稣

[39] 1 โครินธ์ 15:24-28 แล้วก็จะเป็นเวลาอวสานซึ่งพระคริสต์จะทรงมอบอาณาจักรแด่พระเจ้าพระบิดา และจะทรงทำลายภูตผีที่ครอบครองทั้งหมด ภูตผีที่มีสิทธิอำนาจและที่มีฤทธานุภาพ เพราะ​​พระคริสต์ทรงต้องครอบครองจนกว่าพระเจ้าจะทรงปราบศัตรูทั้งหมดให้อยู่ใต้พระบาทของพระคริสต์ ศัตรูตัวสุดท้ายที่จะถูกทำลายคือความตาย เพราะว่า “พระเจ้าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจภายใต้พระบาทของพระบุตร” แต่เมื่อพระคัมภีร์กล่าวว่าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจนั้น ก็รู้ชัดกันอยู่แล้วว่า ยกเว้นพระเจ้าผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ เมื่อทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์แล้ว เมื่อนั้นพระบุตรพระองค์เองก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า ผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ เพื่อพระเจ้าจะทรงเป็นเอกในทุกสิ่ง