พิมพ์
หมวด: The Only Perfect Man
ฮิต: 12067

pdf pic

 

 

 

 

 

บทที่ 1

 

ch1 1

 

พระยาห์เวห์

พระเจ้าองค์เดียวและเพียงผู้เดียว

 

 

ยาห์เวห์: ชื่อเฉพาะของพระเจ้า

      พระเจ้าเป็นใครและพระองค์ทรงมีพระนามหรือไม่? ทำไมนักวิชาการพระคัมภีร์มากมาย ทั้งพจนานุกรมและสารานุกรมพระคัมภีร์จำนวนมาก จึงเรียกพระองค์ด้วยพระนามว่า “ยาห์เวห์”?   เมื่อคำว่า “Lord ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษพิมพ์เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดเล็กว่า “Lord” ก็แสดงว่าคำดั้งเดิมในต้นฉบับภาษาฮีบรูคือ YHWH (ยฮวฮ) หรือ Yahweh (ยาห์เวห์) ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของพระเจ้า ตัวอย่างเช่น วลีที่คุ้นเคย “the word of the LORD” นั้นคำตรงตัวในต้นฉบับภาษาฮีบรูก็คือ “the word of Yahweh” (“พระวจนะของพระยาห์เวห์” เช่น 1 พงศ์กษัตริย์ 18:1 พระวจนะของพระยาห์เวห์มาถึงเอลียาห์​​ว่า”)[1] คำกล่าวว่า “The Lord is my shep­herd” ในสดุดี 23:1 คำตรงตัวก็คือ “Yahweh is my shepherd” (“พระยาห์เวห์ทรงเป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้า”)[2] คำที่คุ้นเคยว่า “the Spirit of the Lord” คำตรงตัวก็คือ “the Spirit of Yah­weh” (“พระวิญญาณของพระยาห์เวห์” เช่น เอเสเคียล 11: 5พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ลงมาบนข้าพเจ้า”)[3]

      แบบแผนของตัวพิมพ์ในการทำให้ “Lord ตัวพิมพ์เล็กเป็น LORD” อักษรตัวใหญ่ที่พิมพ์ขนาดเล็กมีอธิบายไว้ในบทนำของพระคัมภีร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ ฉบับอีเอสวี (ESV) กล่าวว่า “ฉบับอีเอสวีมักจะแปลพระนามเฉพาะของพระเจ้า (YHWH) ด้วยคำว่า LORD (พิมพ์เป็นอักษรตัวใหญ่ขนาดเล็ก)” จงสังเกตการอ้างอิงที่เป็นประโยชน์ของฉบับ ESV เกี่ยวกับ “พระนามเฉพาะของ   พระเจ้า” ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า “ยาห์เวห์” หรือ “ยฮวฮ” (YHWH) เป็นพระนามเฉพาะของพระเจ้า สิ่งนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ตัวอย่างเช่น ในพระบัญญัติสิบประการว่าห้ามใช้พระนามของพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าไปในทางที่ผิด” (อพยพ 20:7, แปลตรงตัว) นอกจากนี้ยังเห็นได้ในอพยพ 3:15 ที่พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า

 

“จงบอกอย่างนี้กับชนชาติอิสราเอลว่า พระยาห์เวห์ พระเจ้าของบรรพบุรุษของท่าน คือพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ ได้ใช้ข้าพเจ้ามาหาพวกท่าน นี่เป็นนามของเราตลอดไปเป็นนิตย์ เราจะเป็นที่จดจำตลอดทุกชั่วอายุ (อพยพ 3:15 ฉบับ HCSB)

 

      การกล่าวว่า “นี่เป็นนามของเราตลอดไปเป็นนิตย์” พระเจ้ากำลังหมายถึงพระนามยาห์เวห์ ของพระองค์เองซึ่งปรากฏในข้อเดียวกัน คำว่า “เป็นนิตย์” ชี้ให้เห็นว่าพระยาห์เวห์จะต้องเป็น พระนามของพระเจ้าไม่เฉพาะชั่วอายุเดียวแต่ตลอดไปเป็นนิตย์ แท้จริงแล้วก็คือ “เป็นที่จดจำตลอดทุกชั่วอายุ

      เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในหมู่นักวิชาการพระคัมภีร์ทั้งเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมว่า “ยาห์เวห์” เป็นพระนามเฉพาะของพระเจ้าดังที่เห็นในสารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับต่างๆ เช่น ในฉบับ ISBE[4] (“ยาห์เวห์ เป็นพระนามเฉพาะเพียงพระนามเดียวอย่างแท้จริงของพระเจ้าในความเชื่อของชาวอิสราเอล”) ในพจนานุกรมฮีบรู เช่น TWOT[5] (“ยาห์เวห์, พระนามเฉพาะของพระเจ้า”) และในคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ เช่น UBC[6] (ความรู้เกี่ยวกับพระนามเฉพาะของพระเจ้า “ยาห์เวห์” ว่ากันว่าเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้าที่มอบให้ชาวอิสราเอล)[7]

      ในความเป็นจริงแล้วการแปลโดยทั่วไปของอิสยาห์ 42:8 ว่า “เราคือ Lord นั่นเป็นนามของเรา” (“I am the Lord, that is my name”)[8] นั้นไม่ได้ความหมาย เว้นแต่จะให้พระนามของพระยาห์เวห์กลับมาใช้ดังเดิมเหมือนในพระคัมภีร์ยิวฉบับนิวเยรูซาเล็ม (NJB) และพระคัมภีร์ฉบับโฮลแมน คริสเตียนแสตนดาร์ด (HCSB) ว่า “เราคือยาห์เวห์ นั่นเป็นนามของเรา” (“I am Yahweh, that is my name”)

 

ความสำคัญยิ่งของนาม “ยาห์เวห์”

      คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพระเจ้าทรงมีชื่อว่า ยาห์เวห์ (YHWH) หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระองค์ทรงมีชื่อด้วย การไม่รู้เรื่องชื่อของพระเจ้านั้นฟังดูไม่ขึ้นเพราะคำ “ยฮวฮ” (YHWH) มีปรากฏถึง 6,828 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู การบอกว่าไม่รู้นี้ทำให้งง เพราะในงานเขียนมากมายทางวิชาการก็ใช้ชื่อ “ยาห์เวห์” (Yahweh) หรือ “ยฮวฮ” (YHWH) เสมอในการศึกษาเกี่ยวกับพระคัมภีร์ และศาสนศาสตร์ของพวกเขา ตัวอย่างเช่น คำ “ยาห์เวห์” (Yahweh) ที่เหมือนกันเลย ก็มีปรากฏ 2,287 ครั้งในสารานุกรมพระคัมภีร์อินเตอร์เนชันแนลสตนดาร์ด ฉบับแก้ไข มีปรากฏ 2,090 ครั้งในคู่มือการใช้พระคัมภีร์เดิมของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล[9] และมีปรากฏ 4,023 ครั้งในส่วนของพระคัมภีร์เดิมของคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ฉบับนิวอเมริกัน

      เราสังเกตว่า หนังสือเหล่านี้เป็นคู่มืออ้างอิงพระคัมภีร์แบบอนุรักษ์นิยมที่เกรงว่าเราจะยกเลิกคำ “ยาห์เวห์” อย่างคล่องปาก ว่าเป็นการคิดค้นของนักวิชาการเสรีนิยม หรือพวกนิกายของคริสเตียน บางครั้งพจนานุกรมพระคัมภีร์เสรีนิยมฉบับแองเคอร์[10] ซึ่งได้รับความเชื่อถือจากคนส่วนมากว่าเป็นพจนานุกรมหรือสารานุกรมพระคัมภีร์ทางวิชาการมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็มีตัวอย่างของ “ยาห์เวห์” 3,280 ครั้ง

      แล้ว “เอโลฮิม” (אְֶלֹהִים, Elohim) ซึ่งเป็นคำภาษาฮีบรูที่รู้จักกันดีสำหรับ “พระเจ้า” (God) หรือ “พระ” (god) ล่ะ? ในขณะที่ “ยาห์เวห์” (Yahweh) มีปรากฏ 6,828 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู แต่ “เอโลฮิม” มีปรากฏ 2,602 ครั้ง ดังนั้นคำดั้งเดิมสำหรับพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู (พระคัมภีร์เดิม) จึงไม่ใช่ “พระเจ้า” แต่เป็น “ยาห์เวห์”

      นอกจากนี้ประมาณ 10% จาก 2,602 ตัวอย่างของ “เอโลฮิม” จะหมายถึงพระเจ้าเทียมเท็จเช่น บรรดาพระของอียิปต์ (อพยพ 12:12)[11] วัวทองคำ (อพยพ 32:4)[12] และเจ้าแม่อัชโทเรท (1 พงศ์กษัตริย์ 11:33)[13] นานๆจะมีตัวอย่างที่ “เอโลฮิม” ใช้กับมนุษย์ เช่น โมเสส (อพยพ 4:16; 7:1)[14] ผู้พิพากษาอยุติธรรม (สดุดี 82:6)[15] และอาจจะเป็นวิญญาณของซามูเอล (1 ซามูเอล 28:13) ส่วนอีก 90% จากตัวอย่างของ “เอโลฮิม” จะหมายถึงพระเจ้าของอิสราเอล การรวมคำ “ยาห์เวห์เอโลฮิม” (“Yahweh Elohim” หรือ “LORD God[16] ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่มีปรากฏ 891 ครั้ง

      สิ่งนี้บอกเราว่า พระคัมภีร์ได้ระบุตั้งแต่แรกถึงพระเจ้าของอิสราเอลว่า “ยาห์เวห์” มากกว่า      “พระเจ้า” ไม่เพียงแต่ในแง่ของตัวเลขที่มีมากกว่ามาก (6,828 เทียบกับ 2,602 ตัวอย่าง) แต่ยังในแง่ของการอ้างอิงที่แน่นอนอีกด้วย (6,828 ตัวอย่างของคำ “ยาห์เวห์” ทั้งหมดอ้างถึงพระเจ้าของอิสราเอลและไม่เคยใช้อ้างถึงพระเจ้าเทียมเท็จ โดยไม่มีข้อยกเว้น) ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่ “ยาห์เวห์” ชื่อที่เฉพาะและมีชื่อเดียวของพระเจ้า จะถูกแปลในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ว่า “LORD” ซึ่งเป็นคำเรียกอันมีเกียรติที่บางครั้งก็ใช้กับมนุษย์

      อันที่จริง นักวิชาการพระคัมภีร์บางคนกำลังเรียกร้องให้กลับมาใช้พระนามดั้งเดิมของพระยาห์เวห์ พจนานุกรมศาสนศาสตร์พระคัมภีร์เดิมฉบับมาตรฐานห้าเล่มของ NIDOTT[17] กล่าวว่า:

 

“การแปล” LORD เป็นปัญหาจากมุมมองที่หลากหลาย การใช้ LORD เป็นการปิดบังความจริงที่ว่า “ยาห์เวห์” เป็นชื่อ ไม่ใช่คำเรียก... เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงนี้ เราอาจโต้แย้งเหมือนกับชื่อเฉพาะอื่นๆว่า เราแค่ทับศัพท์สิ่งที่คำภาษาฮีบรูดั้งเดิมคิดว่าเป็น “ยาห์เวห์” (พจนานุกรมศาสนศาสตร์พระคัมภีร์เดิมฉบับนิวอินเตอร์เนชันแนล เล่ม 5, “ยาห์เวห์”)

 

เอกลักษณ์ของพระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์คือใครกันแน่?

      คำกล่าวถึงคนๆหนึ่งโดยสังเขปมักจะเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าคนนั้นเป็นมนุษย์หรือเป็นพระเจ้า สิ่งนี้มีประโยชน์ในการแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ที่แน่นอนของพระยาห์เวห์

 

“ยาห์เวห์” ในพระคัมภีร์

      ในพระคัมภีร์มีพระเจ้าเดียวและเพียงผู้เดียวและ​ไม่​มี​ผู้​อื่น​อีกนอก​จาก​พระองค์ พระองค์ได้ทรงเปิดเผยชื่อของพระองค์ว่า “ยาห์เวห์” ซึ่งในภาษาฮีบรูคือ hwhy ที่ถอดตัวอักษรเป็นภาษาอังกฤษว่า YHWH เพราะเหตุว่าคำนี้ประกอบด้วยตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะสี่ตัว จึงเรียกว่า “พยัญชนะสี่ตัว” (อักษรสี่ตัว) เนื่องจากภาษาฮีบรูจะเขียนจากขวาไปซ้าย อักษรตัวแรกก็คือ Yod (y) จึงตรงกับ Y ใน YHWH ซึ่งเป็นอักษรโค้งเล็กๆอยู่มุมบนขวา

 

hwhy

                            

 

      พระนาม “ยาห์เวห์” มีให้เห็นในแทบทุกหน้าของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู (พระคัมภีร์เดิม) ที่มักจะเห็นหลายครั้งในหนึ่งหน้า ระบุให้ชัดก็คือ YHWH (ยฮวฮ) มีปรากฏ 6,828 ครั้งในพระคัมภีร์เดิม หรือโดยเฉลี่ยเกือบเจ็ดครั้งต่อหนึ่งหน้า โดยประมาณว่าส่วนของพระคัมภีร์เดิมของพระคัมภีร์ทั่วไปมี 1,000 หน้า[18] พระนามนี้มีปรากฏ 34 ครั้งในเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 28 เพียงบทเดียว

      คำย่อของ “ยาห์เวห์” คือ “ยา” หรือ “ยาห์” ซึ่งมีปรากฏ 49 ครั้งในพระคัมภีร์เดิม โดยจะพบ 40 ครั้งในสดุดี รวมสามครั้งในตอนต่อไปนี้

 

I shall live to recount the great deeds of Yah. Though Yah punished me sternly, he has not abandoned me to death. Open for me the gates of saving justice, I shall go in and thank Yah (Psalm 118:17-19, NJB, with “Yahweh” changed to “Yah” to conform to the original Hebrew text).

(แปลว่า “ข้าพเจ้าจะมีชีวิตอยู่ และประกาศพระราชกิจที่ยิ่งใหญ่ของยาห์ แม้ยาห์ทรงตีสอนข้าพเจ้าอย่างหนัก พระองค์ก็ไม่ได้ทรงมอบข้าพเจ้าไว้กับความตาย ขอเปิดประตูความเที่ยงธรรมที่ช่วยให้รอดแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะเข้าประตูนั้นและจะขอบพระคุณ​​ยาห์ (สดุดี 118:17-19 ฉบับนิวเยรูซาเล็ม ที่คำเต็ม “ยาห์เวห์” เปลี่ยนเป็น “ยาห์” ให้เหมือนกับต้นฉบับภาษาฮีบรู)[19]

 

      สารานุกรมคาทอลิก (“เยโฮวาห์, ยาห์เวห์”) กล่าวว่าชื่อยาห์เวห์แฝงอยู่ในชื่อบุคคล 163 ชื่อ ชื่อเหล่านี้บางชื่อมี “ยาห์เวห์” รวมอยู่ในพยางค์แรก (เช่น เยโฮอาหาส เยฮู เยโฮชาฟัท โยอาบ โยเอล โยนาธาน โยชูวา ยูดาห์)[20] ชื่ออื่นๆจะรวม “ยาห์เวห์” อยู่ในพยางค์ท้าย (เช่น เอลียาห์ เฮเซคียาห์ ฮิลคียาห์ อิสยาห์ เยเรมียาห์ โยสิยาห์ มีคายาห์ เนหะมีย์ อุรียาห์ เศคาริยาห์ เศฟันยาห์)[21]   เนื่องจาก เยเรมีย์”(หรือ “เยเรมียาห์”) ชื่อเดียวก็มีปรากฏประมาณ 130 ครั้งในพระคัมภีร์เดิม และ “โยชูวา” มีประมาณ 200 ครั้งและ “ยูดาห์”[22] มีประมาณ 800 ครั้ง (แค่สามตัวอย่างรวมกันก็มีกว่า 1,000 ครั้งแล้ว) เราอาจประมาณจำนวนรวมอย่างต่ำๆว่าพระคัมภีร์เดิมมีการปรากฏของชื่อ “ยาห์เวห์” อย่างน้อย 6,000 ครั้งที่แฝงรวมอยู่ใน 163 ชื่อบุคคล หรือไม่ก็ถึง 8,000 หรือ 10,000 ครั้ง เมื่อเรารวมการปรากฏของ “ยาห์เวห์” (Yahweh) กับ “ยาห์” (Yah) 6,828 กับ 49 ครั้งตามลำดับ เราก็จะได้จำนวนปรากฏของ “ยาห์เวห์” ในรูปต่างๆอย่างน้อยก็เป็นจำนวนที่มากกว่า 14,000 ครั้ง

      เมื่อ “ยาห์เวห์” แฝงอยู่ในพยางค์แรกของชื่อ ก็มักจะย่อลงเป็น “เย” (Je) อย่างในกรณีของ “เยโฮยาดา” (Jehoiada) หรือ “เยฮู” (Jehu) ชื่อของพระยาห์เวห์ในรูปแบบย่อนี้จะปรากฏในรูป แบบภาษาฮีบรูของชื่อ “เยซู” (Jesus) ในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ “โย” (Jo) ซึ่งจะพบในชื่อ เช่น    “โยอาบ” (Joab) และ “โยเอล” (Joel)

      ผู้ที่ไม่รู้ภาษาฮีบรูอาจไม่รู้ว่า “Y” และ “J” ในชื่อที่ถอดตัวอักษรเหล่านี้แสดงให้เห็นพยัญชนะฮีบรูตัวเดียวกันคือ Yod (y) ที่เป็นพยัญชนะตัวแรกใน YHWH (hwhy) ซึ่งเป็นเหตุที่ YHWH จึงสามารถถอดตัวอักษรว่า “Jahweh” เหมือนในภาษาเยอรมัน พยัญชนะ “J” ในภาษาเยอรมันจะออกเสียงเหมือนกับพยัญชนะฮีบรู “Yod” (ในภาษาเยอรมันไม่ได้ใช้ “y” ยกเว้นเป็นคำที่ยืมมาจากต่างภาษา เช่น “เรือยอชท์” หรือ “โยคะ”)[23] ดังนั้นบางครั้งพระนามของพระยาห์เวห์จึงสะกดด้วย “J” อันที่จริงพยัญชนะ “J” ของภาษาเยอรมันจะออกเสียงใกล้เคียงกับ Yod ในภาษาฮีบรูมากกว่า “J” ในภาษาอังกฤษ

      จากตรงนี้เราจะเห็นว่าอักษรตัวแรกใน “Yahweh คือพยัญชนะ Yod ซึ่งสามารถตามด้วยสระที่เป็นไปได้หลายสระ เช่น “a, e, หรือ o แต่ชื่อ “Yahweh” ก็ยังคงแทนด้วย Yod (ซึ่งน่าสนใจที่เป็นตัวอักษรที่เล็กสุดของพยัญชนะยิว และย่อมมีความสำคัญในฝ่ายวิญญาณอย่างแน่นอน) สิ่งนี้ยืนยันโดยข้อเท็จจริงที่ว่าแม้พยางค์แรก “Yah” จะปรากฏอยู่คำเดียวโดดๆก็ยังคงเป็นการอ้างถึงพระนามพระยาห์เวห์อย่างชัดเจนสมบูรณ์

      ในกรณีของชื่อ “เยซู” (“Jesus” มาจากภาษาฮีบรูว่า “Jehoshua” หรือ “Yehoshua”) เป็นรูปคำย่อของ “ยาห์” (Yah) ที่ใช้กับ “e” ดังนั้นการอ้างถึง “Yahweh” จึงปรากฏในคำ “Ye” หรือ “Je” ของ “Jesus” ในการพูดภาษาอังกฤษเมื่อ 500 ปีที่แล้ว (ดังตัวอย่างจากฉบับคิงเจมส์ 1611) พยัญชนะ “J” จะใกล้เคียงกับ “J” ของภาษาเยอรมันมากกว่า “J” ของภาษาอังกฤษในปัจจุบัน

      ความจริงที่ว่าชื่อ Yahweh สามารถย่อให้สั้นลงว่า “Yah” นั้น แสดงให้เห็นว่าส่วนสำคัญของชื่อ “Yahweh” อยู่ใน “Yah” พยางค์แรก นอกจากนี้ความจริงที่ว่า “Yah” ก็สามารถจะเป็น “Ye” หรือ “Ya” หรือ “Yo” เมื่อแฝงอยู่ในชื่อภาษาฮีบรูซึ่งแสดงให้เห็นว่าส่วนสำคัญของ “Yah” เป็นคำย่อของ Yod ดังนั้น Yod (y) ตัวอักษรเล็กๆคือส่วนสำคัญของ “Yahweh” (hwhy) ซึ่งอักษรตัวอื่นๆสามารถจะละเอาไว้ได้ (เช่น โดยการลด “Yahweh” เป็น “Yah”) หรือเปลี่ยน (เช่น “a” เป็น “e” หรือ “o”) โดยไม่กระทบการที่จะจำชื่อของพระเจ้าได้ แต่เราไม่สามารถจะเอา Y ที่สำคัญอย่างยิ่ง (หรือ J ในบางภาษา) ออกไปได้เลย

 

แต่พระยาห์เวห์ทรงอยู่ที่ไหนในพระคัมภีร์ใหม่หรือ?

      เมื่อเราพลิกสองสามหน้าจากพระคัมภีร์เดิมไปพระคัมภีร์ใหม่ ชื่อ “ยาห์เวห์” ก็ดูเหมือนจะหายไปทันที เหมือนกับว่าพระคัมภีร์ใหม่เป็นหนังสือที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยมีความเกี่ยวข้องกันอย่างเลือนรางเท่านั้นกับพระคัมภีร์เดิม! จนกระทั่งผมได้เห็นความเป็นศูนย์กลางของพระนามและขององค์พระยาห์เวห์ในพระคัมภีร์ใหม่ ผมงงมากที่ชื่อของพระองค์ไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่ (แม้ว่าจะสามารถอธิบายได้ถึงการไม่มีชื่อของ “พระยาห์เวห์” ในพระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์[24]ตามในประวัติศาสตร์) แล้วผมก็นึกขึ้นได้ว่า ความจริงแล้วชื่อของพระองค์ปรากฏในเกือบทุกหน้าของพระคัมภีร์ใหม่ และบางครั้งก็ปรากฏหลายๆครั้งในหน้าเดียวเหมือนในพระคัมภีร์เดิม ผมมองไม่เห็นความจริงนี้ได้อย่างไร? ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่รู้ภาษาฮีบรูอยู่บ้าง จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัยตัวเอง

      แล้วชื่อของพระยาห์เวห์ในพระคัมภีร์ใหม่อยู่ที่ไหนหรือ? ชื่อของพระองค์ปรากฏทุกครั้งในชื่อของ “พระเยซู”! เยซู (Jesus) เป็นรูปแบบของคำภาษากรีกที่มาจากคำภาษาฮีบรูว่า Yeshua (เยชูวา นั่นก็คือ Joshua หรือ โยชูวา) พยางค์แรกของ Yeshua ซึ่งก็คือ Ye เป็นรูปแบบคำย่อปกติของ “Yahweh” เมื่อแฝงอยู่ในชื่อต่างๆ

      นี่คือสิ่งที่น่าประหลาดใจ คือไม่มีทางที่เราจะเรียกพระนามของพระเยซูโดยไม่ได้กล่าวถึง “พระยาห์เวห์” ที่เป็นรากฐานของชื่อนั้น แม้ว่าบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้ผลักพระยาห์เวห์ผู้ทรงสรรพสิริออกไปอย่างที่ให้เป็นตามหลักคำสอนของพวกเขาโดยทั้งๆที่รู้หรือไม่รู้ก็ตาม พวกเขาก็หนีจากพระนามของพระองค์ไปไม่พ้นไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใดก็ตาม! นั่นเป็นพระปัญญาของพระยาห์เวห์ที่ทุกครั้งเมื่อพูดคำ “พระเยซู” ออกมา พระยาห์เวห์ก็ถูกประกาศว่าเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก! พระองค์ทรงทำให้ผู้ที่ไม่รู้พูดความจริงแม้จะมาจากความไม่รู้ของพวกเขา!

      ความเด่นชัดของพระยาห์เวห์ในพระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้มีเฉพาะพระนามของพระองค์แฝงอยู่ในพระนามของพระเยซูเท่านั้น (“เยซู” หมายความว่า “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอด”) แต่ยังเป็นการเปิดเผยที่น่าอัศจรรย์ว่าพระยาห์เวห์เอง พระเจ้าเดียวและเพียงผู้เดียวได้เสด็จเข้ามาในโลก มาสถิตอยู่ในพระเยซูผู้เป็นพระวิหารของพระเจ้า

      ยิ่งกว่านั้นผู้ที่ประทานชื่อให้พระเยซูตั้งแต่แรกก็คือพระยาห์เวห์เอง โดยผ่านทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์ผู้เป็นพระเจ้า (“จงเรียกนามท่านว่า เยซู” มัทธิว 1:21) ตอนนี้เหตุผลของเรื่องนี้ก็ชัดเจน และเราก็สามารถร้องอุทานด้วยกันกับเปาโลได้ว่า “ทางของพระองค์ (ของพระยาห์เวห์) นั้นก็เหลือที่จะหยั่งรู้ได้”[25]

 

เธอจะให้​​กำเนิดบุตรชาย และท่านจงตั้งชื่อพระกุมารนั้นว่า เยซู เพราะ​​พระองค์จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้พ้นจากบาปทั้งสิ้นของพวก​​เขา” (ัทธิว 1:21 ฉบับ NIV)

 

      ข้อนี้เผยให้เห็นถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในการตั้งชื่อให้พระเยซูว่า “เยซู” แต่ “เยซู” เป็นชื่อที่ใช้กันทั่วไปในสมัยพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งสามารถยืนยันได้โดยการค้นดูพจนานุกรมพระคัมภีร์ มีคนอื่นๆอีกมากมายที่ถูกเรียกว่า “เยซู” ก็ไม่มีใครช่วยผู้คนให้รอดจากความบาปของพวกเขา ดังนั้นความนิยมของชื่อนี้ในตัวของมันเองจึงไม่ได้อธิบายว่าทำไมจึงตั้งให้กับพระเยซู แต่กระนั้นก็เป็นพระยาห์เวห์เอง ไม่ใช่โยเซฟหรือมารีย์ที่เลือกชื่อนี้ให้พระองค์ ซึ่งในกรณีนี้ความหมายของชื่อ “เยซู” จะอธิบายความตั้งพระทัยของพระเจ้าสำหรับพระองค์

      “เยซู” ก็เหมือนกันกับ “โยชูวา” ซึ่งเป็นรูปคำย่อของ “เยโฮชูวา” (יְהוֹשׁוּעַ หรือ יְהוֹשֻׁע)[26] ทั้งหมดนี้หมายถึง “พระยาห์เวห์ทรงเป็นความรอด” หรือ “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอด” คำอธิบายที่ให้ในมัทธิว 1:21 มีว่า “เพราะว่าพระองค์จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ ให้พ้นจากบาปทั้งหลายของ​​เขา[27] นั้นตอนนี้สามารถเข้าใจได้แล้ว คือในพระเยซูและทางพระเยซูนั้นพระยาห์เวห์จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอด

      ความคล้ายคลึงกันของคำเหล่านี้กับสดุดี 130:8 (พระองค์เองจะทรงไถ่อิสราเอล จากความชั่วทั้งสิ้นของเขา”) นั้นไม่มีข้อผิดพลาด (และถูกตั้งข้อสังเกตโดยพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG, autos, def.2a) ในฉบับ LXX (หรือฉบับเซปทัวจินต์ จะเป็นข้อ 129:8) ความคล้ายคลึงกันระหว่างสดุดี 130:8 กับมัทธิว 1:21 นั้นเด่นชัดยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสองข้อเริ่มต้นด้วยสรรพนามที่เด่นชัดว่า “พระองค์ (autos)” ดังนั้นมัทธิว 1:21 น่าจะตั้งใจอ้างอิงถึงสดุดี 130:8 เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระสัญญาของพระเจ้าในสดุดี 130:8 นี้เป็นจริงในพระเยซูคริสต์ ความคล้ายคลึงกันระหว่างสองข้อนี้ไม่มีข้อผิดพลาด เมื่อเราเปรียบเทียบมัทธิว 1:21, สดุดี 129:8 (ฉบับ LXX) และสดุดี 130:8 (ฉบับฮีบรู)

 

Mt.1:21: αὐτὸς γὰρ σώσει τὸν λαὸν αὐτοῦ ἀπὸ τῶν ἁμαρτιῶν αὐτῶ

Psalm 129:8 (LXX): αὐτὸς λυτρσεται τν Ισραηλ κ πασν τν νομιν ατο

Psalm 130:8 (Hebrew): וְהוּא יִפְדֶּה אֶת־יִשְׂרָאֵל מִכֹּל עֲוֹנֹתָיו

 

      คำแปลตรงตัวก็คือ

 

ัทธิว 1:21 เพราะว่าท่านจะทรงช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากบาปของพวกเขา”

สดุดี 129:8 (ฉบับ LXX) พระองค์จะทรงไถ่อิสราเอล ออกจากความชั่วช้าทั้งสิ้นของเขา”

สดุดี 130:8 (ฉบับฮีบรู) พระองค์จะทรงไถ่อิสราเอล จากความบาปทั้งสิ้นของเขา”

 

      ในทั้งสามข้อความ[28]จะมีใจความเหมือนกัน ความแตกต่างในความหมายเพียงอย่างเดียวที่เห็นในคำกล่าวของมัทธิวก็คือเว้นคำว่า “ทั้งสิ้น” ถ้าเช่นนั้นเราจะสรุปว่าความรอดในพระเยซูคริสต์เป็นความรอดที่ไม่สมบูรณ์ไหม เพราะไม่ได้ไถ่เราจากความบาป “ทั้งสิ้น” ของเรา? ใครก็ตามที่ได้อ่านพระคัมภีร์ใหม่จะไม่คิดเช่นนั้นเลย ดังนั้นมันจึงชัดเจนว่าบ่งบอกถึง “ทั้งสิ้น” ในความหมาย

      พระนาม “พระยาห์เวห์” จะถูกเอ่ยถึงทุกครั้งเมื่อเราพูดว่า “พระเยซู” แม้คริสตจักรต่างๆมีแนวโน้มที่จะกันพระยาห์เวห์ออกไป แต่เราก็ได้พบพระนาม “ยาห์เวห์” ของพระองค์ที่อยู่ในพระนามของ “พระเยซู” มาตลอด

      พระคัมภีร์ใหม่จะมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง และในหลักปฏิบัติของชาวยิวแล้ว จะมีพระยาห์เวห์เป็นศูนย์กลาง คำว่า “พระเจ้า” มีปรากฏ 1,317 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ในขณะที่คำว่า “เยซู” มีปรากฏ 917 ครั้ง (244 ครั้งในพระกิตติคุณยอห์น)[29]

      เมื่อเราประจักษ์ชัดว่า พระคัมภีร์ใหม่มีพระยาห์เวห์เป็นศูนย์กลาง เราจะเข้าใจได้ดีขึ้นว่าพระเจ้าทรงมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับพระเยซูตามพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น เราจะเห็นว่าพระเจ้าทรงทำงานในพระเยซูและผ่านพระเยซู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนการของความรอดดังที่กล่าวในยอห์น 3:16 ว่า “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์” ความรักที่พระยาห์เวห์ทรงมีต่อมวลมนุษย์นั้นเห็นได้จากการประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ “ขอขอบพระคุณพระเจ้า เพราะของประทานที่เกินความคาดคิดซึ่งพระองค์ประทานนั้น” (2 ครินธ์ 9:15)

      ในอีกแง่หนึ่ง ความจริงที่พระเยซูถูกกล่าวถึงกว่า 900 ครั้งบอกเราว่า การพูดถึงพระคัมภีร์ใหม่ว่ามีพระยาห์เวห์ทรงเป็นศูนย์กลางนั้นไม่เป็นธรรมกับข้อเท็จจริงที่พระเยซูทรงเป็นจุดสำคัญของพระคัมภีร์ใหม่ด้วย อันที่จริงพระคัมภีร์ใหม่มีสองจุดสำคัญที่เสริมกันและกัน คือพระเยซูไม่เคยทำงานของพระองค์โดยแยกจากพระยาห์เวห์พระบิดาของพระองค์ และพระยาห์เวห์ทรงทำงานของพระองค์ทางพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์เสมอ นั่นจึงอาจกล่าวได้ว่าในแผนการของพระเจ้าที่จะช่วยมวลมนุษย์ให้รอดนั้น ถ้าจะพูดภาษาทางการค้าก็คือ พระยาห์เวห์และพระเยซูทรง “ร่วมกิจการ” หรือ “ร่วมงาน” กัน แต่โดยที่พระยาห์เวห์ทรงมีอำนาจเหนือกว่าเสมอในฐานะที่เป็นผู้เริ่มกระทำการทุกอย่าง ความมีอำนาจเหนือทุกสิ่งของพระองค์จะเห็นได้จากคำพูดของเปาโลว่า “เพราะสิ่งสารพัดนั้นมาจากพระองค์ โดยพระองค์ และเพื่อพระองค์ ขอพระเกียรติจงมีแด่พระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน” (โรม 11:36)

 

พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวในยอห์น 17:3 คือพระบิดา ไม่ใช่พระเยซูคริสต์

      ผมประหลาดใจแต่ก็เศร้าใจกับความจริงที่เมื่อผมเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น ผมไม่สามารถมองเห็นความหมายที่ชัดเจนจากคำตรัสมากมายของพระเยซู คำว่า “สะกดดวงจิต” ที่เปาโลใช้ในกาลาเทีย 3:1[30] อาจไม่แรงเกินไปที่จะอธิบายความบอดมืดในฝ่ายวิญญาณที่แพร่ไปทั่วความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ให้เรามาพิจารณาสิ่งที่พระเยซูตรัสในยอห์น 17:3 เพื่อให้คุณเข้าใจสิ่งที่ผมหมายถึง

นี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขาจะรู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา (ยอห์น 17:3)

      ตรงนี้พระเยซูไม่ได้ทรงใช้ถ้อยคำทางศาสนศาสตร์ที่ซับซ้อนหรือยากที่จะเข้าใจได้ คำตรัสของพระองค์ชัดเจนและเข้าใจง่าย แม้ว่าความหมายของคำว่า “นิรันดร์” จะคลุมเครือสำหรับบางคน แต่แน่ใจได้ว่าคำศัพท์ของประโยคโดยรวมนั้น ไม่ได้เกินความเข้าใจของนักเรียนระดับประถม แท้จริงแล้ว พระกิตติคุณยอห์นเป็นที่รู้กันว่าใช้คำศัพ์และสำนวนที่เข้าใจง่าย ดังนั้นเหตุใดเราจึงเห็นก็เหมือนไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน หรือเราไม่เข้าใจ (มัทธิว 13:13)?

      พระเยซูกำลังบอกอะไรในยอห์น 17:3? พระเยซูทรงใช้สรรพนาม “พระองค์” (เอกพจน์ในภาษากรีก) ถึงสองครั้งภายในประโยคเดียวเพื่อกล่าวกับผู้ที่พระองค์เองกำลังอธิษฐานด้วย เราจะเห็นได้ชัดจากข้อ 1 (“ข้าแต่พระบิดา ถึงเวลาแล้ว ขอโปรดให้พระบุตรของพระองค์ได้รับเกียรติ”) ว่าพระเยซูกำลังอธิษฐานอย่างเจาะจงกับพระบิดาของพระองค์ และผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนี้ ดังนั้นพระเยซูจึงกำลังกล่าวตรงๆว่า “พระบิดา พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” เป็นคำกล่าวที่ตัดโอกาสคนอื่นๆ รวมทั้งพระเยซูเองที่จะเป็นพระเจ้า แล้วเหตุใดเราจึงไม่เข้าใจคำกล่าวที่สั้นและชัดเจนนี้เลย? แต่เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราก็ไม่ได้เข้าใจเลย

      การกล่าวว่าพระบิดาของพระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวนั้น (the only true God) พระเยซูกำลังตัดโอกาสบุคคลอื่นที่ใครๆจะเรียกกันว่า “พระ” (god) หรือ “พระเจ้า” (God) ว่าเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ และสนับสนุนด้วยการที่พระองค์ใช้ทั้งคำนำหน้านามที่เจาะจงว่า “the” กับคุณศัพท์ “only” โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ทั้งสองคำรวมกันที่บอกถึงการผูกขาดแต่ผู้เดียวอย่างแท้จริง การเน้นสามครั้ง (the + only + true) เป็นการปฏิเสธสามครั้งถึงบุคคลใดๆที่เป็นพระเจ้าควบคู่กับพระบิดาของพระเยซูคริสต์ ในทำนองเดียวกัน ในยอห์น 5:44 พระเยซูก็ทรงเรียกพระบิดาว่า “พระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว[31]

      พระบิดาที่พระเยซูทรงเรียกว่าพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวคือใครหรือ? พระองค์ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระยาห์เวห์เอง ผู้เป็นพระเจ้าของอิสราเอลและพระผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง เพราะใครจะเป็น “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” ได้ (ยอห์น 17:3) มีก็แต่พระยาห์เวห์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว (“เราคือยาห์เวห์ และไม่มีผู้อื่นอีก นอกจากเรา ไม่มีพระเจ้าอื่นอิสยาห์ 45:5)?

      เราตาบอดได้อย่างไรที่คิดว่าพระบิดาไม่ใช่บุคคลผู้เดียวที่อยู่ใน “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” หรือคิดว่าพระเยซูกำลังตรัสกับสามพระองค์ในตรีเอกานุภาพที่รวมพระเยซูเอง? คำว่า “พระองค์” (คำเอกพจน์ในภาษากรีก) ที่กล่าวโดยพระเยซูนั้นรวมถึง “เรา” เป็นพระเยซูเองไหม? พระเยซูกำลังอธิษฐานกับตัวพระองค์เองหรือไม่? และเราแปลความถ้อยคำที่ตามมาว่า “และพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” อย่างไร? ตรงนี้พระเยซูทรงแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง “พระเยซูคริสต์” และ“พระองค์” โดยแยกตัวพระองค์เองจาก “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว

 

ยอห์น 17:3 ลบล้างทุกความพยายามที่จะทำให้เป็นความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวของยอห์น 17:3 นั้นเชื่อถือได้ที่สุดและลบล้างทุกความพยายามที่จะตีความตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ สิ่งนี้อธิบายว่าทำไมคู่มือศึกษาพระคัมภีร์หลายฉบับจึงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงข้อนี้อย่างสิ้นเชิง คู่มือศึกษาพระคัมภีร์ฉบับอื่นๆจะอ้างเพียงถ้อยคำ “พระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว” แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆ ถึงอย่างนั้นฉบับอื่นๆจะอ้างยอห์น 17:3 เฉพาะในส่วนแรกที่มีปัญหาน้อยกว่า (“​นี่​แหละ​คือ​ชีวิต​นิรันดร์ คือ​การ​ที่​พวก​เขาจะ​รู้​จัก​พระ​องค์”) แต่กลับเงียบสนิทในส่วนที่สอง (“ผู้ทรง​เป็น​พระ​เจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว และ​รู้​จัก​พระ​เยซู​คริสต์​ที่​พระ​องค์​ทรง​ใช้​มา”)

      แต่มีผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนก็กล้าที่จะพยายามอธิบายคำกล่าวที่ชัดเจนของพระเยซูในยอห์น 17:3 แบบให้พ้นตัว ถึงกระนั้นแม้ความคิดที่เฉียบแหลมที่สุดในประวัติศาสตร์คริสตจักรก็ไม่สามารถกลับความหมายของยอห์น 17:3 ได้ นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวอย่างแท้จริงและอย่างถูกต้องของยอห์น 17:3 กลวิธีเช่นเคยก็คือการดัดแปลงคำพูดของพระเยซูให้กว้างขึ้นหรือขยายคำนิยามของ “​พระ​เจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว” เพื่อจะรวมถึงพระเยซูคริสต์หรือแม้แต่พระองค์ที่อยู่ในตรีเอกานุภาพทั้งหมดให้อยู่ในคำจำกัดความใหม่ว่า “พระ​เจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว”

      ออกัสติน นักศาสนศาสตร์ที่เฉลียวฉลาดที่สุดคนหนึ่งของคริสตจักรละติน หลังจากอ้างอิงยอห์น 17:3 อย่างถูกต้องและแม่นยำ เขาก็เปลี่ยนลำดับคำตรัสของพระเยซูทันทีเพื่อให้พระเยซูถูกรวมเข้าเป็น “​พระ​เจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว” แล้วเขาก็ทำอย่างเดียวกันกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในคำอ้างอิงต่อไปนี้จากคำอธิบายพระกิตติคุณยอห์นของออกัสติน การเปลี่ยนแปลงที่น่าตกใจของออกัสตินจะแสดงให้เห็นเป็นตัวเน้น

 

“และนี่แหละ” พระเยซูตรัสต่อไปว่า “คือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และ​​พระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” ลำดับถ้อยคำที่ถูกต้องก็คือ “คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์และพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา ว่าเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” ดังนั้นด้วยเหตุนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์จึงถูกเข้าใจด้วยว่าเป็นความรักของทั้งสองพระองค์ที่มีแก่นแท้และสภาวะเดียวกัน เพราะพระองค์เป็นพระวิญญาณของพระบิดาและพระบุตร เพราะว่าพระบิดาและพระบุตรไม่ใช่พระเจ้าสององค์ หรือว่าพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระเจ้าสามองค์ แต่ตรีเอกานุภาพเองนั้นเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว[32]

 

      ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้บังตาเราจนไม่เห็นความหมายที่ชัดเจนตรงๆจากถ้อยคำของพระเยซู บางคนอาจคิดว่าความหมายของยอห์น 17:3 ชัดเจนมากจนไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันต่อไปจึงไม่จำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่ามันไม่สอดคล้องกับพระคริสต์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพของหลักข้อเชื่อไนเซีย แต่ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราไม่ได้สนใจสิ่งที่พระเยซูได้ทรงสอนไว้อย่างชัดเจนมาก ผมพูดว่า “เรา” ก็เพราะตัวของผมเองได้สอนและเทศนาด้วยความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างร้อนรนมาถึงห้าสิบปี ผมเป็น “พวกผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ” (เปรียบเทียบกิจการ 23:6) ผมประกาศหลักคำสอนนี้ด้วยความร้อนรนที่สุด และได้นำคนจำนวนมากมาหาพระคริสต์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกและกล่าวหาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพว่าผิดเหมือนว่าตัวเองดีกว่าพวกเขา ผมเแค่พยายามอย่างจริงใจที่จะเข้าใจว่าผมและคนอื่นๆอีกมากมายเข้าไปเกี่ยวข้องกับความผิดพลาดที่ร้ายแรงโดยไม่รู้ตัวได้อย่างไร มันดูน่าดึงดูดใจ จนกว่าจะมีคำอธิบายที่ดีกว่า

 

      ารค้นหาคำอธิบายเรื่องการมองไม่เห็นนี้ ผมได้อ่านบทความ “ตรีเอกานุภาพ” ในสารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับอินเตอร์เนชันแนลสตนดาร์ด (ISBE เล่ม 5 เริ่มหน้า 3012) เขียนโดย บี บี วอร์ฟิลด์[33] ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า “นักศาสนศาสตร์ที่โดดเด่นคนสุดท้ายของพรินซ์ตัน” เมื่ออ่านบทความของเขาอย่างถี่ถ้วน ผมก็เริ่มจะเห็นกระบวนการอันชาญฉลาดที่ทำให้คำตรัสของพระเยซู ซึ่งทั้งหมดเป็นความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวตามพระคัมภีร์ ได้ถูกเมินเฉยอย่างง่ายดายด้วยการตบตาจากหลักปรัชญาและการโต้แย้งที่โน้มน้าวปัญญาของมนุษย์

      บทความของวอร์ฟิลด์เฉพาะส่วนแรกที่อ้างอิงด้านล่าง เป็นการนำเสนออย่างเชี่ยวชาญ อันดับแรกเขายอมรับสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ว่าภาษาของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ได้ตรงตามพระคัมภีร์และมาจากปรัชญา แต่กระนั้นก็กล้ายืนยันว่ามีสาระสำคัญตามพระคัมภีร์ วอร์ฟิลด์ใช้ภาษาทางเคมีว่า ความจริงของความเชื่อในตรีเอกานุภาพคือ “การตกผลึก” ของสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์ซึ่งเหมือนกับ “สารละลาย” และอยู่ในสภาวะที่ “สามารถละลาย” ในขณะที่ยอมรับว่าตรีเอกานุภาพเป็นหลักคำสอนที่อนุมานจาก “คำพูดเป็นนัยที่ไม่ปะติดปะต่อกัน” วอร์ฟิลด์กล่าวต่อไปอย่างอาจหาญว่า ถึงกระนั้นมันก็เป็น “หลักคำสอนตามพระคัมภีร์อย่างแท้จริง”

      วอร์ฟิลด์กล่าวอาจหาญยิ่งขึ้นในย่อหน้าถัดไปว่า อันที่จริงจะหาตรีเอกานุภาพ “ไม่พบ” ในพระคัมภีร์และจะสามารถเข้าใจได้โดยการเปิดเผยเท่านั้น! ด้วยการตบตาที่ชาญฉลาดนี้ เขาได้เปลี่ยนจุดอ่อนที่เด่นชัดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ (ขาดการสนับสนุนจากพระคัมภีร์) ให้เป็นจุดแข็งที่ทึกทักเอาและเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ให้เป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยการอธิบายโดยผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเท่านั้น!

      เพื่อความกระชับ เราจึงอ้างอิงบทความของเขาเฉพาะย่อหน้าแรก จงสังเกตการโต้แย้งอย่างอาจหาญที่ไม่ตรงตามพระคัมภีร์ (และไม่ใช่พระคัมภีร์อย่างชัดเจน) ที่ออกมาในเกือบทุกประโยคโดยที่ไม่ได้พูดเกินจริงเลย

 

คำว่า “ตรีเอกานุภาพ” ไม่ได้เป็นคำที่มาจากพระคัมภีร์ และเราไม่ได้กำลังใช้ภาษาในพระคัมภีร์เมื่อเราให้คำนิยามสิ่งนั้นว่าเป็นหลักคำสอนที่มีพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว แต่ในความเป็นเอกภาพของความเป็นพระเจ้านั้น มีสามพระองค์ที่เท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน มีแก่นแท้เดียวกันแต่การดำรงอยู่แตกต่างกัน หลักคำสอนที่นิยามเช่นนั้นจะสามารถพูดได้ว่าเป็นหลักคำสอนตามพระคัมภีร์ก็เมื่ออยู่บนหลักการว่าความหมายของพระคัมภีร์คือพระคัมภีร์เท่านั้น และคำนิยามของหลักคำสอนตามพระคัมภีร์ที่ใม่ใช่ภาษาตามพระคัมภีร์จะสามารถพิสูจน์ว่าถูกต้องก็เมื่ออยู่บนหลักการที่ว่า การรักษาความจริงของพระคัมภีร์ก็ดีกว่าการรักษาถ้อยคำของพระคัมภีร์ หลักคำสอนของตรีเอกานุภาพมาในรูปของพระคัมภีร์ในคำอธิบาย เมื่อมันตกผลึกจากสิ่งที่อธิบาย มันไม่ได้หยุดที่จะเป็นไปตามพระคัมภีร์แต่จะมองเห็นได้ชัดขึ้น หรือจะพูดโดยไม่มีเครื่องพิสูจน์ก็คือ หลักคำสอนของตรีเอกานุภาพที่ได้ให้กับเราในพระคัมภีร์นั้น ไม่ใช่ในคำนิยามที่บัญญัติ แต่ในคำกล่าวอ้างที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ซึ่งเมื่อเรารวบรวมส่วนต่างๆที่กระจัดกระจาย[34]ให้มารวมเป็นเรื่องเดียวกันนั้น เราไม่ได้ออกนอกพระคัมภีร์ แต่เป็นการเข้าสู่ความหมายของพระคัมภีร์อย่างละเอียดมากขึ้น เราอาจกำหนดหลักคำสอนนั้นด้วยคำศัพท์เฉพาะที่ได้มาจากความคิดในทางปรัชญา แต่หลักคำสอนดังกล่าวเป็นหลักคำสอนตามพระคัมภีร์อย่างแท้จริง

      ตรงนี้เราจะเห็นว่าผู้เขียนก้าวขยับไปอีกก้าวอย่างใจกล้าจากพระคัมภีร์ไปสู่ที่ไม่ใช่จากพระคัมภีร์ได้ง่ายเพียงใด นี่จะเห็นได้ในเกือบทุกประโยคแม้จากจุดเริ่มต้นของบทความ แต่เราเข้าใจมันไหม?

      สิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตก็คือ วอร์ฟิลด์นิยามความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าเป็น “หลักคำสอนที่มีพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว แต่ในความเป็นเอกภาพของความเป็นพระเจ้านั้น มีสามพระองค์ที่เท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน” (เพิ่มตัวเอน) คำกล่าวที่เป็นตัวอักษรเอนเป็นการอ้างอิงโดยตรงถึงยอห์น 17:3 ที่พระเยซูทรงประกาศว่าพระบิดาคือ “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” แต่ด้วยการไม่อ้างอิงคำตรัสของพระเยซูแบบเต็มๆ วอร์ฟิลด์จึงตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจหลีกเลี่ยงคำสำคัญว่า “พระองค์” (เอกพจน์ในภาษากรีก) ในยอห์น 17:3 พระเยซูไม่ได้ตรัสแค่เพียงว่า “มีพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” พระเยซูตรัสอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “พระองค์ (นั่นก็คือพระบิดา) ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” พระเยซูไม่ได้แค่กล่าวทั่วๆไปเกี่ยวกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว แต่ทรงระบุชัดว่าใครที่เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวนี้

      อย่านกันนี้n One True God"่าวแบบบกานุภาพกบเรา)อามีข้อผิดพลาดสำคัญอย่างเดียวกันในเพลงชีวิตคริสเตียนที่ชื่อ “เราเชื่อในพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” เขียนโดยโทเบียส คลอสนิทเซอร์[35] ในปี 1668 และแปลจากภาษาเยอรมันโดยแคทเธอรีน วิงก์เวิร์ธ[36] ในปี 1863 ในขณะที่พระเยซูตรัสว่า พระบิดาเท่านั้นที่เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ (ยอห์น 17:3) นั้นบรรทัดแรกของเพลงนี่ก็พูดกันคนละเรื่องว่า “เราเชื่อในพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว คือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” นี่ทำให้งง เพราะข้อพระคัมภีร์ที่หนังสือเพลงให้เป็นรากฐานของเพลงนี้ก็คือยอห์น 17:3 นั่นเอง! เราจะเห็นข้อผิดพลาดอย่างเดียวกันนี้ในชื่อหนังสือ “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว: พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” ที่เขียนโดยแคลเรนซ์ เอช เบนสัน[37]

      ความจริงที่สำคัญนี้ ที่พระเยซูตรัสว่าพระบิดาของพระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวซึ่งถูกปิดบังไว้ในความเชื่อตรีเอกานุภาพ ข้อผิดพลาดนี้จึงถลำลึกสู่การบิดเบือนคำ “ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว” ให้หมายถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ซึ่งก็คือ “ในความเป็นเอกภาพของพระเจ้านั้น มีสามพระองค์ที่เท่าเทียมกันและดำรงอยู่นิรันดร์ด้วยกัน มีแก่นแท้เดียวกันแต่การดำรงอยู่แตกต่างกัน” (วอร์ฟิลด์) แต่ว่าหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เดียวที่มีสามบุคคลจะเป็นความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวไปได้อย่างไร จะเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าเดียวและเพียงผู้เดียวได้อย่างไร?

      การที่เริ่มต้นด้วยการอ้างอิงถึงคำตรัสที่ชัดเจนของพระเยซู ที่ตรัสกับพระบิดาในยอห์น 17:3 บทความจากสารานุกรมฉบับอินเตอร์เนชันแนลสตนดาร์ด (ISBE) จึงไม่รีรอที่จะเดินหน้าใช้คำเช่น “เนื้อแท้” และ “การดำรงอยู่” และ “ความเป็นพระเจ้า”[38] ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจได้ยาก และก็ไม่ได้มาจากคำที่มีเขียนในพระคัมภีร์แต่แท้จริงแล้วเป็น “คำศัพท์เฉพาะที่มาจากการคิดทางปรัชญา” เป็นคำ อธิบายที่ฉลาดซึ่ง บี บี วอร์ฟิลด์ให้ไว้เอง!

 

ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวกับการไหว้รูปเคารพ

      ใน 1 โครินธ์ 8 เปาโลยืนหยัดอย่างหนักแน่นกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ดังในคำกล่าวเช่น “พระเจ้ามีเพียงองค์เดียว” และ “มีพระเจ้าองค์เดียวคือพระบิดา” ซึ่งตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวในพระคัมภีร์เดิม การพูดขยายความให้เข้าใจอย่างชัดเจนของเปาโลโดยเฉพาะการโยงความคิดของการเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวกับการไหว้รูปเคารพ สลับไปมาระหว่างสองหัวข้อนี้ได้อย่างง่ายๆ

 

4 การ​กิน​อา​หาร​ที่​บูชา​รูป​เคารพ​นั้น เราก็​รู้​​ว่า “รูป​เคารพ​ใน​โลก​นี้​ไม่มีตัวตนจริง” และ “พระ​เจ้ามี​เพียง​องค์​เดียว ไม่มีอื่น” 5เพราะ​แม้​จะ​มี​หลาย​สิ่ง​ที่​​เรียก​กัน​ว่าพระใน​สวรรค์​หรือ​บน​แผ่น​ดิน​โลก ความจริงแล้ว​มี​ พระ” ​และ​มี​ “เจ้า” ​มาก​มาย 6แต่สำ​หรับ​เรา​นั้น​มี​พระ​เจ้า​องค์​เดียว​คือ​พระ​บิดา ทุก​สิ่ง​เกิดมา​จาก​พระ​องค์​และ​เรา​เป็นอยู่​เพื่อ​พระ​องค์ และ​มี​​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​เพียง​องค์​เดียวคือพระ​เยซู​คริสต์ ที่​ทุก​สิ่ง​เกิด​มา​โดยทาง​พระ​องค์​และ​เรา​เป็น​​อยู่โดย​ทางพระ​องค์ (1 โครินธ์ 8:4-6 ฉบับ ESV)

 

      เปาโลกล่าวว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว (ข้อ 4) และใช้คำกรีกว่า “อูดีส” (oudeis ไม่มีใคร, ไม่มีอะไร) เพื่อบอกว่ารูปเคารพ “ไม่มีความหมายอะไรเลย” (ฉบับ NIV) หรือ “ไม่มีตัวตนจริง” (ฉบับ ESV) การกล่าวว่ารูปเคารพที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่มีความหมายอะไรนั้น เปาโลกำลังตอกย้ำคำกล่าวจากพระคัมภีร์เดิมหลายครั้งที่กระทบกระเทียบความไร้ค่าและไร้ความสามารถของรูปเคารพ (1 ซามูเอล 5:3, อิสยาห์ 40:20; 41:7; 46:6-7)[39]

      หัวข้อที่คู่กันของ 1 โครินธ์ 8 ก็คือ ความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวและการไหว้รูปเคารพ ซึ่งแสดงให้เห็นการเป็นคนละฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้น บอกกับเราว่าถ้าเราทิ้งความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว การไหว้รูปเคารพก็จะมีอยู่ดาษดื่น แต่ถ้าเรายืนหยัดกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว การไหว้รูปเคารพก็จะหมดไป

      แผ่นดินอิสราเอลในสมัยพระคัมภีร์เดิมก็เต็มไปด้วยรูปเคารพที่ชนอิสราเอลได้ตั้งขึ้นในที่บูชาและสถานบูชาบนที่สูง มันจึงไม่น่าแปลกใจที่พระคัมภีร์เดิมใช้คำฮีบรูที่ต่างกันถึง 18 คำในการอ้างอิงถึงรูปเคารพหรือการไหว้รูปเคารพ ชนอิสราเอลกำลังนมัสการพระเทียมเท็จที่ทำจากไม้ หิน เงิน และทอง (เฉลยธรรมบัญญัติ 29:17; อิสยาห์ 31:7; 44:13-17) การไหว้รูปเคารพอย่างถลำลึกและแพร่หลายของพวกเขาในแผ่นดินอิสราเอล จะเห็นได้ในหลายข้อรวมถึงข้อต่อไปนี้

 

เยเรมีย์ 11:13 ยู​ดาห์​เอ๋ย เจ้ามีพระ​มาก​เหมือนที่เจ้ามีเมืองมาก และเจ้า​ได้​ตั้ง​แท่น​บูชา​​สำ​หรับ​เผา​เครื่อง​หอม​ถวาย​แก่​พระ​บา​อัล (“ผู้เป็นเจ้า”) ที่น่าอับอาย ​จำ​นวน​มากเท่ากับถนน​ใน​กรุง​เย​รู​ซา​เล็ม (ฉบับ NIV)

อิสยาห์ 2:8 แผ่นดินของเขาเต็มด้วยรูปเคารพ พวกเขากราบไหว้ผลงานจากน้ำมือของพวกเขา และสิ่งที่นิ้วมือของเขาได้ทำเอง (ฉบับ ESV)

 

      อาฮูวา โฮ ให้คำอธิบายที่ทำให้เข้าใจถึงความชั่วร้ายของการไหว้รูปเคารพในทาร์กัมเศฟันยาห์: ต้นฉบับและคู่มืออธิบาย[40] (หน้า 412-413 อักษรตัวเอนมีอยู่ในต้นฉบับ) ดังนี้

 

“การไหว้รูปเคารพ” เป็นสิ่ง​​สะอิดสะเอียนที่น่าประณามที่สุด เพราะว่าการไหว้รูปเคารพเป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายทั้งมวล มันทำให้เกิดการทำลายพระวิหารและการถูกเนรเทศ “คนชั่ว” ก็อธิบายอยู่ในตัวเองว่าหมายถึงบรรดาคนไหว้รูปเคารพ การไหว้รูปเคารพจะแสดงให้เห็นในรูปของการประสานความเชื่อ การละทิ้งความเชื่อ และการไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า พวกเขานมัสการทั้งพระยาห์เวห์ (YHWH) และบรรดาพระของต่างชาติ พวกเขาสาบานในพระนามของพระยาห์เวห์ (YHWH) แล้วก็สาบานอย่างนั้นอีกในนามของบรรดาพระของพวกเขา(1:4b5) พวกเขานมัสการพระบาอัลและยอมให้ปุโรหิตประกอบพิธี พวกเขานมัสการบริวารทั้งหลายของฟ้าสวรรค์ พวกเขาเร่งรีบไปนมัสการรูปเคารพและเลียนแบบวิธีของคนฟิลิสเตีย (1:45, 89)

 

      มันคงเป็นการเข้าใจผิดที่จะคิดว่า ชนอิสราเอลกำลังนมัสการรูปเคารพของพวกเขาเพียงแค่เป็นพิธีการอย่างพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น การไหว้รูปเคารพของพวกเขานั้นถลำลึกยิ่งขึ้น เพราะพวกผู้นำของอิสราเอลได้ตั้งรูปเคารพไว้ในใจของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนที่ถูกเอ่ยถึงหลายครั้งในเอเสเคียลว่า “คนพวกนี้ (พวกผู้อาวุโสและผู้นำของอิสราเอลในข้อ 1) ได้ตั้งรูปเคารพของพวกเขาไว้ในใจของพวกเขา (เอเสเคียล 14:3 ข้อ 4,7)[41] พวกเขาเชื่อในรูปเคารพของพวกเขาด้วยสุดใจของพวกเขา จิตใจของพวกเขายินดีในสิ่งน่าสะอิดสะเอียน (คือ รูปเคารพ)” (อิสยาห์ 66:3) ความเชื่อในบรรดาพระของพวกเขาที่มีรูปเคารพเป็นตัวแทนนั้นแรงกล้ามากจนถึงขนาดถวายโลหิตลูกของพวกเขา (เอเสเคียล 16:36 ข้อ 20-21) และสร้างสถานบูชาบนที่สูงเพื่อจะ เผาบุตรชายของพวกเขาเสียในไฟ เพื่อเป็นเครื่องบูชาเผาทั้งตัวแด่พระบาอัล” (เยเรมีย์ 19:5)[42]

      คำกล่าวเชิงลบใน 1 โครินธ์ 8:4 ที่ยกมาข้างต้นว่า “รูปเคารพไม่มีความหมายอะไร” หรือ “รูปนั้นไม่มีตัวมีตนเลย” นั้นมีคำยืนยันเชิงบวกว่า “พระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ไม่มีอื่น” ซึ่งตอกย้ำอย่างเด่นชัดจากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ว่า “พระยาห์เวห์เป็นผู้เดียว”[43] (คือ kyrios heis estin ในฉบับ LXX) เปาโลเล่นคำ ไม่มีตัวตน และ ไม่มี (โดยทั่วไปแล้วเป็นคำเดียวกันในภาษากรีก) ที่ไม่สามารถจะแปลออกมาได้ดังเช่น “รูปนั้นไม่มีตัวมีตนเลยในโลก และพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ไม่มีอื่น” (1 โครินธ์ 8:4) นี่ทำให้ความไม่มีตัวตนของบรรดารูปเคารพนั้นแตกต่างอย่างชัดเจนกับการยืนยันว่า “ไม่มี” พระเจ้าองค์อื่น มีแต่พระยาห์เวห์องค์เดียวและเพียงผู้เดียว

      คำกรีกของ “เดียว” (heis หรือ “หนึ่ง”) มีปรากฏอีกสองครั้งในข้อ 6 ว่า “มีพระเจ้าองค์เดียว คือพระบิดา ผู้ทรงเป็นที่มาของทุกสิ่ง และเรามีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ และมีองค์ผู้เป็นเจ้าองค์เดียวคือพระเยซูคริสต์” ดังนั้นจึงทำให้เห็นชัดว่าพระเยซูทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้า แต่ไม่ใช่พระเจ้า

      คำว่า “พระเจ้าองค์เดียว” สำหรับเปาโลแล้วไม่ได้หมายถึงพระองค์แรกของตรีเอกานุภาพที่เรียกว่า “พระเจ้าพระบิดา” ในทำนองเดียวกันคำว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าองค์เดียวคือพระเยซูคริสต์” สำหรับเปาโลแล้วไม่ได้หมายถึงพระองค์ที่สองของตรีเอกานุภาพที่เรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” พระองค์ทั้งสองนี้ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์

      นี่ไม่ได้หมายความว่าคำว่า “พระเจ้าพระบิดา” จะไม่มีอยู่ในพระคัมภีร์ คำนี้พบในหลายข้อ (กาลาเทีย 1:1, เอเฟซัส 6:23, โคโลสี 3:17, 1 เปโตร 1:2, 2 ยอห์น 1:3) แต่ไม่เคยมีความหมายเหมือนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่หมายถึงพระเจ้าพระองค์แรกในสามพระองค์ในตรีเอกานุภาพ แต่ถึงอย่างไรคำเรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” และ “พระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์” ก็ไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์เลย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เป็นปัญหากับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแต่อย่างใด

      คำยืนยันว่า “มีพระเจ้าองค์เดียว” จึงตัดโอกาสการมีสามบุคคลที่รวมเป็นพระเจ้าองค์เดียวในตรีเอกานุภาพซึ่งเป็นผู้ที่ “ไม่ได้มีอยู่จริง” ตามพระคัมภีร์ ผู้ที่ปฏิเสธความจริงว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวก็จะตกอยู่ในสภาวะของความเชื่อที่ผิด และเป็นความหายนะในที่สุดในการไหว้รูปเคารพ เมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เราให้ความเชื่อของเราอยู่ในพระเจ้าที่ไม่ได้มีอยู่จริงเหมือนกับรูปเคารพทั้งหลายในพระคัมภีร์เดิมที่มนุษย์สร้างขึ้น ในกรณีนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยคริสตจักรของคนต่างชาติทางตะวันตก ตัวผมเองก็เชื่ออย่างร้อนร้นและได้สอนความเชื่อที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้มากว่าครึ่งศตวรรษ โดยเชื่ออย่างผิดๆว่าไม่มีทางที่คริสตจักรจะผิดเป็นอันขาด “พวกเขาได้เปลี่ยนความจริงของพระเจ้าให้เป็นความเท็จ และได้นมัสการและปรนนิบัติสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้แทนพระองค์ผู้ทรงสร้าง ผู้ที่ควรจะได้รับความสรรเสริญเป็นนิตย์ เอเมน!” (โรม 1:25)

 

การสำรวจโดยสรุปเกี่ยวกับ “พระเจ้าเพียงองค์เดียว”

(ho monos theos) ในพระคัมภีร์ใหม่

      ในพระกิตติคุณยอห์น พระเยซูตรัสสองครั้งถึงพระบิดาว่า ho monos theos ( μνος θες) นั่นก็คือ “พระเจ้าเพียงองค์เดียว”

 

ยอห์น 5:44 พวกท่านจะเชื่อได้อย่างไรในเมื่อพวกท่านรับเกียรติจากกันและกันเอง และไม่ได้แสวงหาเกียรติที่มาจากพระองค์ผู้ทรงเป็น​​พระเจ้าแต่องค์เดียว?

ยอห์น 17:3 นี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ผู้ซึ่งพระองค์ทรงใช้มา

 

      คำที่เป็นตัวหนาจะตรงกับคำกรีกว่า monos เช่นเดียวกับข้อส่วนใหญ่ที่เราจะอ้างอิงในส่วนนี้ การแปลยอห์น 5:44 ในทุกฉบับหลักๆนั้น พระเยซูตรัสถึงพระบิดาของพระองค์ว่า “พระเจ้าแต่องค์เดียว” ในยอห์น 17:3 ก็เช่นกัน พระเยซูทรงเรียกพระบิดาของพระองค์ว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” เราจะพบคำกล่าวที่คล้ายกันนี้ในจดหมายของเปาโลเช่นกัน (ข้อต่อไปนี้มาจากฉบับ ESV)

 

โรม 16:27 ...ขอ​พระ​เกียรติ​จง​มี​แด่​พระ​เจ้า​ผู้​ทรง​สัพ​พัญญู​แต่​องค์​เดียว​​เป็น​นิตย์โดยพระ​เยซู​คริสต์! อา​เมน

1 ทิโมธี 1:17 บัดนี้​พระ​มหา​กษัตริย์​ผู้​ทรง​ดำรง​​นิรันดร์ ผู้​ทรง​อมตะ ผู้​ไม่​อาจมองเห็นได้ ผู้​เป็น​พระ​เจ้า​แต่​เพียง​องค์​เดียว ขอ​พระ​เกียรติ​และ​พระ​สิ​ริ​จง​มี​แด่​พระ​องค์เป็น​นิตย์นิรันดร์ อา​เมน

1 ทิโมธี 6:15-16 ...พระ​องค์​ผู้​ทรง​สม​ควร​แก่​การ​สรร​เสริญ​ และ​ทรง​​อำนาจสูง​สุด​แต่​เพียง​พระ​องค์​เดียว​ พระ​มหา​กษัตริย์​เหนือ​กษัตริย์​ทั้ง​หลาย และ​องค์​เจ้านาย​เหนือ​บรร​ดา​เจ้านาย พระ​องค์​เพียง​ผู้​เดียว​ที่​เป็น​อมตะ ผู้​สถิต​ใน​ความ​สว่าง​ที่​ไม่​มี​ใคร​เข้า​ใกล้​ได้ ​ผู้​ที่​ไม่​เคย​มี​ใคร​ได้​เห็นหรือ​จะ​เห็น​ได้

 

      ต่อไปนี้เป็นข้อสำคัญที่กล่าวว่าพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวทรงบริสุทธิ์

 

วิวรณ์ 15:3-4 “พระ​ราช​กิจ​ของ​พระ​องค์​ยิ่ง​ใหญ่​และ​อัศ​จรรย์ ข้า​แต่​พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ทางทั้งสิ้น​ของ​พระ​องค์เที่ยงตรง​​และ​สัตย์​จริง ข้าแต่พระ​มหา​กษัตริย์​ของ​บรร​ดา​ประ​ชา​ชาติ! ข้า​แต่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ ใคร​เล่าจะ​ไม่​เกรง​กลัว​และ​ไม่​ถวาย​​เกียรติ​​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์ เพราะ​พระ​องค์​ผู้​เดียว​ทรง​​บริ​สุทธิ์” (ฉบับ ESV)

 

พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับหลักๆทุกฉบับจะแปล monos ในข้อนี้ว่า “ผู้เดียว” (alone) ซึ่งเป็นการแปลที่ถูกต้องตามความหมายในบริบท ในพระคัมภีร์ทั้งหกตอนที่อ้างอิงในส่วนนี้ ฉบับภาษาอังกฤษส่วนใหญ่จะแปล monos ว่า only (เพียงผู้เดียว) มากกว่าจะแปลว่า alone (ผู้เดียว) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ลักษณะของภาษาอังกฤษที่ไม่สามารถให้ใช้ the alone God ได้ แต่ถ้าให้ใช้ในภาษาอังกฤษได้ คำ the alone God ก็จะให้ความหมายเช่นเดียวกันว่า “เพียงผู้เดียวที่เป็นพระเจ้า”

      ในขณะที่ภาษาอังกฤษจะต้องใช้สองคำคือ alone และ only เพื่อจะบอกถึงความคิดเกี่ยว กับพระเจ้าองค์เดียวและเพียงผู้เดียวนั้นจะขึ้นกับบริบทของไวยากรณ์ ภาษาต่างๆเช่น ภาษากรีกและภาษาอื่นๆ จะไม่มีปัญหาที่ใช้คำเดียวกันในข้ออ้างอิงทั้งหกข้อ ดังเช่น ภาษาเยอรมันจะใช้คำว่า “allein” ในพระคัมภีร์ฉบับต่างๆของลูเธอร์ หรือภาษาฝรั่งเศสจะใช้คำว่า “seul” ในพระคัมภีร์ของฉบับหลุยส์ เซอกองด์ (1910)[44]

      คำว่า monos มีปรากฏในอีกหลายที่ในยอห์นและในบริบทรูปแบบอื่นๆซึ่งมักจะแปลว่า “เดียว” ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับต่างๆ เช่น ยอห์น 8:29[45], ยอห์น 16:32[46] (สองครั้ง), ยอห์น 12:24 (“ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงดินและตายไป ก็จะคงอยู่เมล็ดเดียว”) ดังนั้นความหมายของคำนี้ในยอห์นจึงชัดเจน

ยอห์น 1:1 เป็นที่เดียวในพระคัมภีร์ใหม่ที่ “พระวาทะ”[47] ถูกระบุว่าเป็น “พระเจ้า” แต่คำอ้าง อิงของพระเยซูสองครั้งถึงพระบิดาของพระองค์ว่าเป็น “พระเจ้าเที่ยงแท้เพียงองค์เดียว” เป็นคำ อธิบายที่ชัดเจนว่ายอห์น 1:1 ไม่สามารถนำมากล่าวว่าพระวาทะคือพระองค์ที่สองที่รวมอยู่ในพระเจ้า แต่มีลักษณะของผู้ที่ส่งพระวาทะออกไป แต่ถ้านอกจากพระบิดาแล้วยังมีผู้อื่นอีกที่เป็นพระเจ้าด้วย  ฉะนั้นพระบิดาก็จะไม่ได้เป็นเพียงผู้เดียวที่เป็นพระเจ้า เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ผู้ที่เป็นพระเจ้าแต่ผู้เดียว

      พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับเซปทัวจินต์ที่แปลจากพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูก็มี ho monos theos (พระเจ้าเพียงองค์เดียว) ดังที่เห็นในสองข้อต่อไปนี้

 

สดุดี 86:10 (85:10 ในฉบับ LXX) เพราะพระองค์ทรงยิ่งใหญ่และกระทำการอัศจรรย์ พระองค์ผู้เดียวเป็นพระเจ้า (ฉบับ NIV)[48]

2 พงศ์กษัตริย์ 19:15, 19 “ข้าแต่พระยาห์เวห์พระเจ้าแห่งอิสราเอล ผู้ประทับอยู่บนพระที่นั่งระหว่าง เครูบ พระองค์ผู้เดียวทรงเป็นพระเจ้าเหนืออาณาจักรทั้งหลายของโลก ... ข้าแต่พระยาห์เวห์พระเจ้าของข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอทรงช่วยข้าพระองค์ทั้งหลายให้พ้นจากเงื้อมมือของเขา เพื่ออาณาจักรทั้งหลายในโลกจะได้รู้ว่าพระยาห์เวห์พระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้นทรงเป็นพระเจ้า” (ฉบับ NIV, ข้อนี้แทบจะเหมือนกันกับอิสยาห์ 37:16, 20)[49]

 

เราจะเห็นว่าเปาโลก็ใช้คำ “พระเจ้าองค์เดียว” (heis theos) เช่นเดียวกัน

 

1 ครินธ์ 8:6 แต่​​สำหรับเรานั้นมีพระเจ้าองค์เดียวคือพระบิดา ทุกสิ่งเกิดมาจากพระองค์และเรามีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ และมีพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว ทุกสิ่งเกิดมาโดยทาง   พระองค์และเราก็มีชีวิตโดยทางพระองค์ (ฉบับ ESV)

เอเฟซัส 4:5-6 มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ความเชื่อเดียว บัพติศมาเดียว พระเจ้าองค์เดียวผู้เป็นพระบิดาของทุกคน พระองค์ทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง ทรงทำการผ่านสรรพสิ่งและทรงอยู่ในทุกคน

 

      ในพระคัมภีร์ทั้งสองตอนที่เมื่อเปาโลพูดถึง “พระเจ้าองค์เดียว” นั้นเขากำลังพูดถึง “พระบิดา” อย่างชัดเจนและไม่ได้พูดถึงพระเยซูคริสต์ นอกจากนี้เขายังแยกความแตกต่างที่สำคัญมากระหว่างพระเยซูว่าเป็น “องค์ผู้เป็นเจ้าองค์เดียว” และพระบิดาว่าเป็น “พระเจ้าองค์เดียว” คำกล่าวอื่นๆในพระคัมภีร์ใหม่เกี่ยวกับ “พระเจ้าองค์เดียว” มีดังนี้

 

โรม 3:30 พราะว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว (heis ho theos)

กาลาเทีย 3:20 “ที่จริงคนกลางไม่ได้เป็นตัวแทนของฝ่ายเดียว แต่พระเจ้าทรงเป็นหนึ่ง[50] (ho theos heis estin)

ยากอบ 2:19 ท่านเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว (heis estin ho theos) นั่นก็ดี แม้พวกผีก็เชื่อและกลัวจนตัวสั่น

มาระโก 12:29 พระบัญญัติข้อสำคัญที่สุดคือ จงฟังเถิด โอ ชนอิสราเอล องค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา ​​องค์ผู้เป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่ง(kurios heis estin)

 

      ในข้อสุดท้าย พระเยซูทรงกำลังอ้างอิงเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4[51] ซึ่งในฉบับเซปทัวจินต์มีถ้อยคำกรีกเดียวกันว่า kurios heis estin (องค์​​ผู้เป็นเจ้าของเราเป็นพระเจ้าองค์เดียว) ถ้อยคำฮีบรูของเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 มีว่า יְהוָה אֶחָד (Yahweh echad, พระยาห์เวห์เดียวและเพียงผู้เดียว) หรือ יהוה אֶחָד ที่มีเครื่องหมายน้อยกว่า คำว่า echad (“เดียว”) อธิบายไว้ในพจนานุกรมของจาสโทรว์[52]ว่า “บุคคลเดียว ไม่ซ้ำใคร” ที่อ้างอิงเอเสเคียล 33:24 และเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4

      ในเอเสเคียล 33:24[53] ที่จาสโทรว์อ้างอิง (“อับราฮัมตัวคนเดียว..แต่เรามีหลายคน”) คำว่า “คนเดียว” (heis, ฉบับ LXX) ตรงกันข้ามกับ “หลายคน” (polus, ฉบับ LXX) พจนานุกรมพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรูและอาราเมค (HALOT)[54] กล่าวถึงคำ “echad” ว่า “เลขหนึ่ง....เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่ง หรือ พระยาห์เวห์เดียว พระยาห์เวห์ผู้เดียว พระยาห์เวห์เท่านั้น

      ดังที่เราคาดไว้ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพพยายามที่จะหลบเลี่ยงข้อเท็จจริงเหล่านี้โดยทำให้ “หนึ่ง” หมายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือความเป็นเอกภาพภายในพระเจ้าเพื่อสนับสนุนความคิดที่ว่าพระเจ้าแบ่งเป็นสามบุคคลหรือสามพระภาค แต่สำหรับผู้เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวที่รู้ว่าไม่มีการแตกตัวภายในพระเจ้า เห็นว่าแนวคิดที่จำเป็นต้องพูดถึงความเป็นเอกภาพภายในพระเจ้านั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด สิ่งที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมักจะพยายามทำก็คือ ทำให้ echad (“หนึ่ง”) หมายถึงการรวมกันเป็นหนึ่งที่เป็นความหมายของคำฮีบรูคำอื่น เช่น yachad ซึ่งหมายถึง “รวมกัน” หรือ “กลุ่มบุคคล” เหมือนที่เรารู้จักกันดีในสดุดี 133:1 (เป็นการดีและน่าชื่นใจมากสักเท่าใด ที่พี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน)

      คำกรีกว่า heis (“เลขหนึ่ง” พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG)[55] มีความหมายพื้นฐานเหมือนกับคำฮีบรู echad (“เลขหนึ่ง” พจนานุกรมพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรูและอาราเมคฉบับ HALOT) คำอ้างอิงใดๆในพระคัมภีร์ใหม่จากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ควรจะตามความหมายในภาษาฮีบรู เพราะทั้งคำฮีบรูและคำกรีกนี้ไม่ได้หมายถึง “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว” หรือ “ความเป็นเอกภาพ” แต่หมายความเพียงว่า “หนึ่ง”

 

การบิดเบือนคำฮีบรู “หนึ่ง” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      คำฮีบรูว่า “จงฟัง” หรือ “จงตั้งใจฟัง” คือ “ชามา” (shema) ด้วยเหตุนี้ “ชามา” จึงเป็นคำที่ชาวยิวใช้เป็นชื่อเรียกคำประกาศที่ล่วงละเมิดไม่ได้ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ซึ่งฉบับภาษาอังกฤษส่วนมาก[56]แปลว่า จงฟังเถิด โอ ชนอิสราเอล องค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา ​​องค์ผู้เป็นเจ้าทรงเป็นหนึ่ง (Hear, O Israel: The Lord our God, the Lord is one) การแปลแบบนี้ที่จริงเป็นการแปลที่ผิด เพราะมันปิดบังความจริงที่ว่าคำ “the Lord ในต้นฉบับภาษาฮีบรูแต่เดิมคือ “YHWH” ข้อนี้กล่าวตรงตัวว่า “จงฟังเถิด ชนอิสราเอลเอ๋ย พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของเรา พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่ง” พระคัมภีร์ฉบับนิวเยรูซาเล็มแปลได้ดีว่า “จงตั้งใจฟังให้ดี ชนอิสราเอล พระยาห์เวห์ พระเจ้าของเรา ทรงเป็นพระยาห์เวห์หนึ่งเดียวและเพียงผู้เดียว[57]

      ในอินเทอร์เน็ตจะมีบทความหนึ่งที่แพร่หลายในวงกว้างโดยนักเขียนคนหนึ่งที่บทความวิจัยงานของเขาขึ้นกับนักเขียนคนที่สอง คนๆนี้คือนิค โนเรลลี[58] ที่โต้แย้งว่า “หนึ่ง” ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 จะต้องแปลความหมายตามแนวของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ พูดให้ชัดก็คือ มีสองบทความ บทความแรกอ้างอิงโนเรลลี และบทความที่สองอ้างอิงโดยโนเรลลีเอง แม้ว่าการพิจารณาของเราจะมุ่งอยู่ที่สองบทความนี้โดยเริ่มจากบทความแรกและต่อไปยังบทความที่สอง เนื้อหาจะครอบคลุมหนังสือและบทความต่างๆในวงกว้างที่นำเสนอข้อโต้แย้งเดียวกันนี้ไม่มากก็น้อย

      บทความแรก (บทความที่อ้างอิงโนเรลลี) ที่สะดุดตาจากการสะกดคำฮีบรู “หนึ่ง” ผิดๆว่า “eschad” (การถอดตัวอักษรที่ถูกต้องคือ “echad” หรือ “eḥad”) การสะกดผิดนี้ (ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่รู้เรื่องพยัญชนะของภาษาฮีบรูโดยใส่ “s” ที่ไม่มีอยู่จริง) มีอยู่ต่อเนื่องทั้งบทความยกเว้นเมื่ออ้างอิงแหล่งข้อมูลอื่นๆ เรากล่าวถึงสิ่งนี้เพื่อไม่ให้การสะกดผิดที่ปรากฏในการพิจารณาของเราถูกเข้าใจว่าเป็นการพิมพ์ผิดหรือการอ้างอิงผิดๆ[59]

      บทความแรกจากสองบทความในส่วน “ข้อโต้แย้ง” เริ่มต้นด้วยการอ้างอิงคำกล่าวต่อไปนี้จากรับบีคนหนึ่ง (ที่ไม่ระบุชื่อ) ว่า “คำechadในภาษาฮีบรูทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกันกับคำ one (หนึ่ง) ในภาษาอังกฤษ” บทความนี้กล่าวต่อไปว่าสิ่งที่รับบี “ไม่ได้พูดถึงก็คือว่า มีคำฮีบรูสองคำที่มีความหมายว่า หนึ่ง

      พูดย่อๆก็คือ บทความนี้กำลังกล่าวหารับบีว่าปกปิดหลักฐานสำคัญนี้ต่อกรณีของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ บทความกล่าวต่อว่า “เมื่อสิ่งนี้กระจ่างแล้ว คุณจะเห็นว่าประเด็นทั้งหมดของ Eschad นั้นชัดเจนมาก” พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ รับบีผู้นี้ถูกกล่าวหาว่าทำให้ประเด็นนี้เคลือบแคลงโดยไม่ยอมให้ข้อมูลสำคัญว่ามีคำฮีบรูสองคำที่มีความหมายว่า หนึ่ง นี่คือคำกล่าวหาที่กล้าหาญชาญชัยจากคนที่ไม่สามารถแม้แต่จะถอดตัวอักษรคำฮีบรูของคำว่า “หนึ่ง” ได้

      นี่ตรงกันข้ามกับการกล่าวหารับบี ขอระบุโดยไม่กลัวว่าจะมีการโต้แย้งในข้อเท็จจริง ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่รับบีท่านนั้นพูดไว้ถูกต้องแล้วเมื่อเขากล่าวว่า “คำ echad ในภาษาฮีบรูทำหน้าที่เหมือนคำ “หนึ่ง” ในภาษาอังกฤษ” หรือเหมือนในภาษาหลักอื่นๆ ดังเช่น ภาษาจีน เยอรมัน ฝรั่งเศส และที่ตรงกันข้ามกับคำกล่าวหาซึ่งพุ่งเป้าไปที่รับบีก็คือ เขาไม่ได้เพิกเฉยที่จะกล่าวว่ามีอีกคำหนึ่งในภาษาฮีบรูที่หมายถึง “หนึ่ง” เพราะภาษาฮีบรูไม่มีคำอื่นที่หมายถึง “หนึ่ง” นอกเหนือจาก echad! แต่การวิจารณ์รับบีแบบสุ่มสี่สุ่มห้าตามนิค โนเรลลีที่เราเรียกว่า “บทความที่สอง” ปรากฏให้เห็นว่าเขามีความรู้ไม่มากเกี่ยวกับภาษาฮีบรูพื้นฐานและการตีความตามพระคัมภีร์ในการวิจารณ์เรื่องนี้ แต่กระนั้นก็เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งมี “รูปแบบ” ของความเป็นวิชาการ (นั่นก็คือ เต็มไปด้วยเชิงอรรถ) แต่ขาด “เนื้อหา” สำคัญ

      ในบทความที่สองของโนเรลลีนั้น[60] เป็นที่น่าสังเกตว่าโนเรลลีไม่ได้เข้าใจความหมายของคำฮีบรูอีกคำหนึ่งคือ “yachid” ที่ตัวเขาเองนำขึ้นมาโต้แย้ง เขาพูดถึงคำนี้ไว้อย่างถูกต้องว่า:

 

พระคัมภีร์ฮีบรูฉบับภาษาอังกฤษ 1917 ของสมาคมสิ่งพิมพ์พระคัมภีร์ยิว[61] แปล yachid ว่า “เพียงคนเดียว” 10 ครั้งจาก 12 ครั้งที่ปรากฏในต้นฉบับภาษาฮีบรู อีกสองครั้งแปลว่า “โดดเดี่ยว” และ 8 จาก 10 ครั้งนี้ คำนี้ได้ถูกใช้ในการอ้างอิงถึงการเป็นบุตรเพียงคนเดียว

 

      เราขอชี้แจงสิ่งที่โนเรลลีกำลังพูด คือคำฮีบรู yachid มีปรากฏ 12 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ฉบับแปลภาษาอังกฤษ 1917 (JPS) แปลคำ “yachid” ว่า “เพียง” 10 ครั้ง และแปลว่า “โดดเดี่ยว” 2 ครั้ง นั่นถูกต้อง

      สิ่งที่เห็นได้ชัดทันทีก็คือ แม้แต่คำกล่าวของโนเรลลีเอง ก็ไม่มีตัวอย่างที่ yachid เคยแปลว่า “หนึ่ง” ในพระคัมภีร์ฮีบรูฉบับภาษาอังกฤษ! พูดได้ว่าโนเรลลีเองก็ยอมรับอย่างชัดเจนว่า ไม่มีตัวอย่างที่ yachid เคยทำหน้าที่เหมือนคำฮีบรูคำที่สองของ “หนึ่ง”! เขาไม่รู้ว่าเขากำลังขัดแย้งกับข้อวินิจฉัยของเขาเองอย่างจังเมื่อเขายอมรับ (อย่างถูกต้อง) ว่าความหมายพื้นฐานของ yachid คือ “เพียง” มากกว่าจะหมายถึง “หนึ่ง” คำนี้มักถูกใช้ในความหมายของ “ลูกชายเพียงคนเดียว” แต่ “หนึ่ง” ไม่ได้เป็นหนึ่งในคำจำกัดความนั้น

      นี่เป็นเรื่องน่างวยงง ที่โนเรลลีให้ตัวอย่างต่อไปของ yachid ทั้ง 12 ตัวอย่างในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ผมรวบรวมทั้ง 12 ตัวอย่างนี้จากโปรแกรมไบเบิ้ลเวิกส์ดังต่อไปนี้[62]

 

ปฐมกาล 22:2     จงพาบุตรของเจ้าคืออิสอัค บุตรคนเดียวของเจ้า

ปฐมกาล 22:12    เจ้าไม่ได้หวงบุตรชายคือบุตรชายคนเดียวของเจ้าไว้จากเรา

ปฐมกาล 22:16   ไม่ได้หวงบุตรชายของเจ้า คือบุตรชายคนเดียวของเจ้า

ผู้วินิจฉัย 11:34    นางเป็นลูกคนเดียว

สดุดี 22:20          ขอทรงช่วยข้าพระองค์ให้พ้นจากคมดาบ ขอทรงช่วยชีวิตเดียวของข้าพระองค์

สดุดี 25:16          ข้าพระองค์โดดเดี่ยวและทุกข์ใจ

สดุดี 35:17          ขอทรงช่วยกู้ชีวิตเดียวของข้าพระองค์จากการปองร้ายของพวกเขา

สดุดี 68:6           พระเจ้าทรงให้คนโดดเดี่ยวมีบ้านอยู่

สุภาษิต 4:3          ข้าเป็นลูกชาย...ลูกคนเดียวในสายตาของแม่ข้า

ยเรมีย์ 6:26        จงไว้ทุกข์เหมือนทำเพื่อบุตรชายคนเดียว

อาโมส 8:10        เราจะทำให้เป็นเหมือนคนไว้ทุกข์ให้บุตรชายคนเดียวของเขา

เศคาริยาห์ 12:10 เหมือนคนไว้ทุกข์เพื่อบุตรคนเดียวของตน

 

      โนเรลลีได้เหลือบมองข้อต่างๆนี้ไหม? เขาน่าจะได้เห็นว่าคำ “หนึ่ง” ไม่เคยปรากฏใน 12 ข้อนี้! ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษจะแปล yachid อย่างคงเส้นคงวาว่า “เพียงคนเดียว” (นอกจากสองตัวอย่างของ “โดดเดี่ยว” ซึ่งในภาษาฮีบรูจะอิงกับความคิดว่า “เพียงคนเดียว”) แม้จะมีหลักฐานอยู่ต่อหน้าต่อตาของเขาที่ตัวเขาเองเป็นคนรวบรวม โนเรลลีก็ไม่ได้เห็นว่า yachid หมายถึง “เพียง” ไม่ใช่ “หนึ่ง”! ปัญหาอยู่ที่ไหนหรือ? มันเป็นสิ่งที่ผมได้มีประสบการณ์จากความบอดมืดซึ่งรับอิทธิพลจากความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่ปฏิเสธสิ่งที่เห็นได้ชัดเอาง่ายๆ นี่เป็นเรื่องน่าตกใจ ดังนั้นจึงขอพระเจ้าทรงเมตตาเราด้วยเถิด

      ถ้าคุณเอา 12 ข้อนี้ให้ทุกคนในกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์อ่านจากพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับต่างๆให้มากเท่าที่สามารถจะหาอ่านได้ แล้วลองดูซิว่าพวกเขาจะเจอสักฉบับไหมที่แปล yachid ว่า “หนึ่ง”

      สิ่งที่โนเรลลี “เพิกเฉยที่จะพูดถึง” (ใช้คำพูดอย่างไม่เป็นธรรมต่อรับบี) ก็คือ ในขณะที่โนเรลลีสังเกตเห็นอย่างถูกต้องว่าคำ yachid มีปรากฏ 12 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู เขาพลาดที่ไม่ได้พูดถึงความจริงที่สำคัญมากว่าคำ echad มีปรากฏ 977 ครั้ง! มันเป็นการมองข้ามที่เล็กน้อยไหม? หรือว่านี่เป็นเจตนาจะปกปิดหลักฐานสำคัญในความเข้าใจคำว่า “หนึ่ง” หรือไม่?

      คุณคงจำได้ว่าในบทความแรกนั้น ผู้วิจารณ์รับบีกล่าวอย่างมั่นใจว่ามีคำฮีบรูสองคำที่หมายถึง “หนึ่ง” โดยทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าคำสองคำนี้เป็นคำทั่วไปที่มีความหมายคล้ายกันมาก จะแตกต่างกันก็แค่การใช้ที่เหมือนว่า yachid คือ “หนึ่ง” ที่เป็นเอกพจน์ในขณะที่ echad คือ “หนึ่ง” ที่สามารถจะเป็นเอกพจน์หรือการรวมกันเป็นเอกพจน์ ดังนั้นจึงเป็นการสนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงละก็ ดังนั้นตราบใดที่สองคำนี้มีความหมายเหมือนกันว่า “หนึ่ง” ในภาษาฮีบรู เราก็จะคาดหมายว่าน่าจะมีทั้งสองคำกระจายอยู่ทั่วพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู แต่สถิตินี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น (จำนวน 977 เมื่อเทียบกับ 12)

      จากสองคำนี้ จะมีแต่ echad เท่านั้นที่พบอยู่ทั่วพระคัมภีร์ ในขณะที่ yachid มีน้อยและปรากฏในบริบทที่จำกัด ตัวอย่างเช่น yachid มีปรากฏ 3 ครั้งในปฐมกาล 22 ที่กล่าวถึงอิสอัคบุตรชาย “คนเดียว” ของอับราฮัม แค่ตัวอย่างนี้อย่างเดียวก็เป็นจำนวนหนึ่งในสี่ของตัวอย่างทั้งหมดของ yachid ในพระคัมภีร์แล้ว! จาก 12 ตัวอย่างของ yachid มี 8 ครั้งที่กล่าวถึงลูกคนเดียว แค่เรื่องนี้อย่างเดียวก็เป็นจำนวนสองในสามของข้ออ้างอิงทั้งหมดแล้ว[63]

      เนื่องจากความแตกต่างกันทางสถิติที่เด่นชัดด้วยจำนวน 977 ครั้งเมื่อเทียบกับ 12 ครั้ง แม้แต่ความแตกต่างทางความหมายก็ถูกบดบังด้วยความแตกต่างทางตัวเลขนี้ เราถูกผู้เขียนสองบทความนี้ “ลวง” เราแล้ว  หรือบางทีพวกเขาอาจถูกคนอื่นชักนำให้เข้าใจผิด  บทความที่มีพื้นฐานจากหลัก คำสอนแบบเดียวกันนี้มีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ตและหนังสือบางเล่ม

      ขอระบุว่า echad เป็นคำเดียวเท่านั้นที่หมายถึง “หนึ่ง” ในภาษาฮีบรู และไม่สามารถจะใช้ yachid (“คนเดียว”) มาแทนที่ “หนึ่ง” ใน “ชามา” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4) ได้ คุณลองอ่านเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 โดยเอาคำ “หนึ่ง” มาแทนที่ “เดียว” ดูสิ! ถึงกระนั้นโนเรลลีก็แย้งว่า yachid คือ “หนึ่ง” ที่เป็นเอกพจน์ในขณะที่ echad สามารถเป็นเอกพจน์หรือรวมกันเป็นเอกพจน์เพื่อทำให้ พระเจ้าเป็นตรีเอกภาพ คุณสามารถเริ่มชัยชนะที่ว่างเปล่าด้วยการสร้างกฎเกณฑ์ของคุณเองขึ้น หรือในกรณีนี้ที่สร้างคำนิยามของคุณเองขึ้น แต่คุณจะจบลงด้วยการหลอกลวงตัวคุณเองและคนอื่นๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเลยเพราะมันเกี่ยวข้องกับพระคำของพระเจ้า และท้ายที่สุดผู้ที่เราจะต้องตอบก็คือพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่

      ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวน “หนึ่ง” สามารถมีความหมายเป็นเอกพจน์หรือรวมกันเป็นเอกพจน์ในภาษาฮีบรู ซึ่งก็เหมือนในภาษาหลักๆทั้งหลายไม่ใช่หรือ? เราสามารถจะพูดถึงคนๆหนึ่งหรือครอบครัวๆหนึ่ง ดังนั้นความเข้าใจคำว่า “หนึ่ง” ในภาษาใดก็ตามจะถูกกำหนดจากประโยคโดยรวม ไม่ใช่จากเฉพาะคำ “หนึ่ง” โดยตัวของมันเองแล้ว “หนึ่ง” ไม่สามารถจะใช้พิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงประกอบด้วยสามองค์ในหนึ่งร่าง เนื่องจาก “หนึ่ง” ยังอาจหมายถึงหนึ่งเดียวซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกได้ ความหมายของ “หนึ่ง” ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 จะสามารถกำหนดได้ก็จากทั้งข้อหรือจากบริบทของมันเท่านั้น ซึ่งจากทั้งข้อหรือบริบทนั้นก็ไม่ได้มีการบ่งชี้ถึงพระเจ้าที่ประกอบด้วยสามองค์แม้แต่น้อย หรือจะหมายถึง “พระยาห์เวห์” ที่ประกอบด้วยสามองค์แต่อย่างใด

      เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ผมหมายถึง คำกล่าวที่ว่า “ฝูงตั๊กแตนไปตกในทะเลแดงจนไม่เหลือเลยสักตัวเดียวทั่วเขตแดนอียิปต์ (อพยพ 10:19) ซึ่งหมายถึงจำนวนตั๊กแตนตัวเดียว ไม่ใช่สองหรือสามตัวที่รวมกันเป็นหนึ่ง ในอีกด้านหนึ่ง “คนคนเดียว” (one man) สามารถมีหนึ่งจากสองความหมายที่เป็นไปได้ซึ่งขึ้นกับบริบท มันอาจหมายถึงจำนวนคนคนเดียว (“อับราฮัมเป็นเพียงคนคนเดียว แต่เขายังถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้เอเสเคียล 33:24) หรือ “เหมือนคนคนเดียว” (as one man) ที่หมาย ถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหลายคน (“พวกเขาพากันออกมาเป็นใจเดียวกัน” 1 ซามูเอล 11:7) ดังนั้นความหมายว่า “คนคนเดียว” ไม่ว่าจะเป็นเอกพจน์หรือประกอบขึ้นจากหลายส่วนจะมีบริบทเป็นตัวบังคับ ไม่ว่าจะด้วยเอกพจน์ “เขา” (อับราฮัม) หรือด้วยพหูพจน์ “พวกเขา” (ชนอิสราเอล) (ข้อเหล่านี้ฉบับภาษาอังกฤษอ้างอิงจากฉบับ NASB หรือ ESV ที่ใช้คำ echad)

      ดูเหมือนว่าโนเรลลีกำลังพยายามจะโน้มน้าวทางจิตวิทยากับผู้อ่านของเขาให้ได้ โดยทิ้งเครื่อง หมายคำถามไว้ในใจของพวกเขาว่า “หนึ่ง” (พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าทรงเป็น “หนึ่ง”) อาจจะ หรือแค่อาจจะควรเข้าใจว่าเป็นการรวมเป็น “หนึ่ง” และดังนั้นจึงเป็นการอ้างอิงถึงความเป็นตรีเอกภาพ ถ้าโนเรลลีทิ้งเครื่องหมายคำถามนี้ไว้ในใจของผู้อ่านได้จริง เขาก็ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของเขาแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะรู้อย่างเต็มอกว่าคำโต้แย้งของเขาไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย

      แต่ใครก็ตามที่ยอมให้เครื่องหมายคำถามติดอยู่ในใจ เขาก็จะตกเป็นเหยื่อของความผิดพลาดที่ร้ายแรงของการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวอย่างแน่วแน่ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีนักวิชาการพระคัมภีร์ที่เชื่อถือได้คนใดจะปฏิเสธได้ เนื่องจากชามา (Shema) จากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ถูกนำมาใช้ในสองบทความนี้ จึงขอให้เราดูข้อนี้กันอีกครั้งที่ว่า “จงฟังเถิด ชนอิสราเอลเอ๋ย พระยาห์เวห์พระเจ้าของเรา พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่ง

      ที่จริงแล้วผู้เขียนสองบทความนี้มีความกล้ามากกว่าผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนอื่นๆส่วนใหญ่ที่พวกเขาประยุกต์ใช้การรวมเป็น “หนึ่ง” กับพระยาห์เวห์มากกว่าใช้กับพระเจ้า ในข้อนี้ “หนึ่ง” หมายถึงพระยาห์เวห์อย่างชัดเจน ซึ่งหมายความว่าคำโต้แย้งของพวกเขาหมดความเชื่อถือลงทันที ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เราจะเริ่มต้นด้วยคำ “ยาห์เวห์” ที่มีปรากฏ 6,828 ครั้งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ในทุกตัวอย่างที่พระยาห์เวห์กล่าวถึงพระองค์เองเป็นบุคคลที่หนึ่ง ก็จะใช้สรรพนามเอกพจน์ “I หรือ me หรือ “my” (ภาษาไทยใช้ “เรา” หรือ “ของเรา”)[64] โดยจะไม่ใช้สรรพนามพหูพจน์ว่า “we หรือ us (เรา)” ในทำนองเดียวกันเมื่อพระยาห์เวห์ถูกกล่าวถึงเป็นบุคคลที่สาม ก็จะใช้สรรพนามเอกพจน์ว่า “he หรือ “him หรือ “his” เสมอ (ภาษาไทยใช้คำ “พระองค์” หรือ “ของพระองค์”) โดยจะไม่ใช้สรรพนามพหูพจน์ว่า “they” หรือ “them” (“พวกพระองค์”) ถึงแม้ว่ามีหลักฐานมากมายที่สวนทางกัน แต่โนเรลลีก็พยายามที่จะพิสูจน์ว่า “หนึ่ง” มีความหมายของการรวมกันเป็นหนึ่งในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4

      ถ้าการปรากฏให้เห็นเป็นพันๆครั้งว่าเป็นสรรพนามเอกพจน์ของบุคคลที่หนึ่งและบุคคลที่สาม (“I” และ “me” เป็นต้น) นี้ยังเป็นหลักฐานไม่เพียงพอสำหรับโนเรลลีและคนอื่นๆที่เชื่อเหมือนกันละก็ แล้วข้อต่างๆที่กล่าวว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าและไม่มี “ผู้อื่นอีก” ล่ะ (เช่น อิสยาห์ 45:5เราคือยาห์เวห์ ไม่มีใครอื่น นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใด”) จะเป็นหลักฐานได้ไหม? จงสังเกตสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเอกพจน์ (“I และ me”)

      แต่กับคนที่ปิดหูปิดตาไม่ยอมรับความจริงนี้ แม้จะมีหลักฐานอยู่มากแค่ไหนในพระคัมภีร์ก็จะไม่สามารถโน้มน้าวใจพวกเขาได้เลย เป็นไปได้ไหมว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขาใส่ใจจริงๆนั้นไม่ใช่เรื่องความจริงของพระคัมภีร์ แต่เป็นเรื่องของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ? ไม่น่าแปลกใจเลยที่รับบีอ้างในบทความแรกว่าข้องใจกับคำโต้แย้งของความเชื่อในตรีเอกานุภาพตามคำอธิบายที่หลอกลวงเกี่ยวกับ “หนึ่ง” เขาควรจะพูดว่าคำโต้แย้งนี้เป็นเรื่องไร้สาระ แต่ก็สุภาพพอที่จะไม่พูดอย่างนั้น

      และมันอาจเป็นไปได้ไหมที่ผู้เขียนทั้งสองไม่ทราบว่า “ยาห์เวห์” ไม่ได้เป็นคำทั่วไปที่ใช้กับ พระเจ้า แต่เป็นพระนามเฉพาะของพระเจ้าของอิสราเอล? จะเป็นไปได้อย่างไรที่ชื่อเฉพาะชื่อหนึ่งจะอ้างอิงถึงหลายบุคคล? จะเป็นไปได้อย่างไรหรือที่ชื่อเฉพาะบุคคล เช่น พระยาห์เวห์ พระเยซูคริสต์ หรือวิลเลี่ยม เชคส์เปียร์ เมื่อถูกใช้อ้างอิงแล้วจะอ้างอิงถึงบุคคลนั้นๆได้มากกว่าหนึ่งบุคคล? ในหมู่นักวิชาการพระคัมภีร์ต่างก็รู้กันดีว่า “ยาห์เวห์” ไม่ใช่คำทั่วไปหรือคำคล้องจองเมื่อกล่าวถึงพระเจ้า สารานุกรมพระคัมภีร์ฉบับซอนเดอร์วาน[65] ในหัวข้อ “พระนามของพระเจ้า” กล่าวไว้ว่า

 

หาก El (เอล, god) เป็นคำทั่วไปที่ใช้กับความเป็นพระเจ้าในความคิดของผู้คนในดินแดนพระคัมภีร์และตะวันออกใกล้สมัยโบราณละก็ ชื่อ Yahweh (ยาห์เวห์) จะเป็นชื่อฮีบรูโดยเฉพาะสำหรับพระเจ้า... เป็นเรื่องสำคัญที่การใช้ชื่อนี้ (ยาห์เวห์) กับพระเจ้านั้นเป็นสิ่งพิเศษเฉพาะกับคนอิสราเอล คนอื่นๆที่พูดภาษายิวดูเหมือนจะไม่รู้เรื่องนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ใช้ชื่อนี้อ้างอิงถึงพระเจ้า เว้นแต่ว่าจะได้ใกล้ชิดกับคนฮีบรูจึงทำให้พวกเขาสังเกตเห็น มันเป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของคนในพันธสัญญา

 

      เนื่องจากเป็นพระนามที่เปิดเผยเป็นพิเศษของพระเจ้าของอิสราเอลนั้น (อพยพ 3:14) “ยาห์เวห์” จึงไม่มีการอ้างอิงถึงหลายบุคคล ชื่อนี้อ้างอิงถึงพระองค์เพียงผู้เดียวและพระองค์เองก็ทรงประกาศว่า “นอกจากเราไม่มีพระเจ้าอื่นใด” (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:39 เปรียบเทียบอิสยาห์ 44:8; 45:5) สิ่งนี้ได้ประกาศไว้แล้วในพระบัญญัติข้อแรก “อย่ามีพระเจ้าอื่นใดต่อหน้า (หรือนอกเหนือจาก) เรา” (อพยพ 20:3; เฉลยธรรมบัญญัติ 5:7) ที่ “เรา” หมายถึงพระยาห์เวห์อย่างชัดเจน (อพยพ 20:2, เฉลยธรรมบัญญัติ 5:6) ผู้เขียนสองบทความนี้จะหวังได้ไหมว่า ในวันนั้นพวกเขาจะหนีพ้นจากการถูกกล่าวโทษที่ร้ายแรงว่าละเมิดพระบัญญัติข้อแรก?

      ผมได้โต้กลับผู้เขียนทั้งสองคนนี้แบบไม่ผ่อนปรนที่คำอธิบายของพวกเขาธรรมดามากจนเรียกได้ว่าจะใช้กับการศึกษาพระวจนะของพระเจ้าไม่ได้ เพราะพระวจนะของพระเจ้าเป็น “พระวจนะแห่งชีวิต” ผู้ไม่ระมัดระวังที่จะ “แยก” พระวจนะอย่างถูกต้อง (2 ทิโมธี 2:15) จะต้องตอบกับพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ในการนำคนอื่นให้เชื่อผิด การไขความพระคัมภีร์ไม่ได้เป็นเกมเล่นฆ่าเวลาสำหรับคนที่มีเวลาว่างมากที่อยากจะเล่น เราจะต้องเพียรพยายามเข้าใจความจริงของพระเจ้า ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไร แม้กระทั่งว่าต้องสูญเสียหลักคำสอนที่เรายึดมั่นก็ตาม มีแต่ความจริงของพระเจ้าเท่านั้นที่ต้องมีอำนาจเหนือกว่าถ้าเราจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้ ผมจะรับฟังด้วยความใส่ใจและยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างในการอธิบายพระคำของพระเจ้าใดๆก็ตามที่ยึดมั่นกับความจริงอย่างแท้จริง

 

พระเยซูทรงเข้าใจ “หนึ่ง” ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ว่าเป็นเลขหนึ่ง

      เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 กล่าวว่า จงฟังเถิด ชนอิสราเอลเอ๋ย พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของเราพระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่ง ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนไม่ได้ใช้ “หนึ่ง” ว่าเป็นเลขหนึ่ง (ซึ่งจะทำให้เป็น YHWH เดียวและ YHWH เพียงผู้เดียวที่ไม่รวมกับคนอื่นๆทั้งหลายว่าเป็นพระยาห์เวห์โดยไม่รวมใครอื่นทั้งหมด) แต่เป็นการรวมเป็น “หนึ่ง” เพื่อบอกเป็นนัยว่า พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่งที่รวมหลาย (สาม) บุคคล[66]

      แม้จะมีข้อเท็จจริงว่าชาวยิวทั้งหลายไม่เคยตีความเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ว่าหมายถึง YHWH ที่รวมเป็นหนึ่ง นักวิชาการพระคัมภีร์เดิมทั้งชาวยิวและคริสเตียนโดยทั่วไปใช้ echad ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 เพื่อหมายถึงเลขหนึ่งในลักษณะที่ไม่รวมใครอื่นทั้งหมดเป็นพระยาห์เวห์[67]

      แต่ท่ามกลางการคัดค้านอย่างไม่จบไม่สิ้นของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกับความหมายของ echad ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ก็แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้จากสิ่งที่พระเยซูเองได้ตรัสกับธรรมจารย์คนหนึ่งในคำสนทนาต่อไปนี้ เราจะพิจารณาแบบย่อๆกับสามประโยคที่เป็นคำเน้น

 

28และมี​ธรร​มา​จารย์​คน​หนึ่ง​เข้า​มา​ใกล้ ได้​ยิน​พวก​เขา​​เถียง​กัน และ​เห็น​ว่า​พระ​องค์​ทรง​ตอบ​พวก​เขา​ได้​ดี​จึง​​ถาม​พระ​องค์​ว่า “พระ​บัญ​ญัติ​ข้อ​ไหน​สำ​คัญ​ที่​สุด?” 29พระ​เยซู​ตรัส​ตอบ​​ว่า “พระ​บัญ​ญัติข้อสำคัญที่สุดก็​คือ ‘โอ ชน​อิส​รา​เอล จง​ฟัง​เถิด องค์​ผู้​เป็น​เจ้าพระเจ้าของ​เรา​ องค์ผู้เป็น​​เจ้า​ทรงเป็นหนึ่ง      30และ​ท่าน​จง​รัก​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ผู้​เป็น​พระ​เจ้า​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​ท่าน ด้วย​สุด​จิต​ของ​ท่าน ด้วย​สุด​ความ​คิด​ของ​ท่านและ​ด้วย​สุด​กำ​ลัง​ของ​ท่าน’   31ส่วน​พระ​บัญ​ญัติ​ที่​สำคัญ​ลำ​ดับ​สองก็​คือ ‘จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตนเอง’ ไม่​มี​พระ​บัญ​ญัติ​อื่น​​ที่​สำ​คัญ​ยิ่ง​กว่า​พระ​บัญ​ญัติ​สองข้อ​นี้”  32แล้วธรร​มา​จารย์​คน​นั้น​จึง​ทูลพระองค์​ว่า “​อา​จารย์ ท่าน​พูด​ถูกแล้ว ท่านได้พูดจริงๆ​ว่าพระ​​องค์ทรงเป็นหนึ่ง และไม่​มี​ใครอื่น​อีกนอก​จาก​พระ​องค์​​33 และ​​ที่​จะรัก​พระ​องค์​ด้วย​สุด​ใจ และด้วยสุด​ความ​เข้าใจ และด้วย​สุด​กำ​ลัง และ​ที่จะรัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง ก็​สำ​คัญ​กว่า​เครื่อง​เผา​บูชา​และ​ของ​ถวาย​ทั้ง​สิ้นอย่างมาก”      34และเมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​เห็น​ว่า​เขา​ตอบอย่าง​ไตร่ตรอง พระองค์จึง​ตรัส​กับ​เขา​ว่า “ท่าน​อยู่ไม่​ไกล​จาก​แผ่นดิน​ของ​พระ​เจ้า”  และตั้งแต่​นั้น​มาก็​ไม่​มี​ใคร​กล้า​ถามคำถาม​พระ​องค์​อีกเลย (าระโ12:28-34 ฉบับ ESV)

 

      นั่นเพียงพอที่จะตั้งข้อสังเกตบางประการดังนี้

 

      กล่าวโดยย่อก็คือ พระเยซูและธรรมาจารย์เห็นพ้องกันว่า “ชามา” (Shema, เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4) ไม่ได้พูดถึงพระยาห์เวห์ที่มีเอกภาพรวม แต่พูดถึงพระยาห์เวห์ที่มีจำนวนเป็นเอกพจน์และไม่รวมใครอื่นๆทั้งหมดเป็นพระยาห์เวห์ สิ่งนี้ปิด “ช่องโหว่” ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่เป็นไปได้ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4

      เนื่องจากสิ่งนี้ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพอ่อนลงไปเลย กลวิธีทั่วไปในหมู่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็คือ การปิดบังความหมายที่แท้จริงของ “หนึ่ง” ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 โดยการโยนความ หมายมากมายที่ “เป็นไปได้” ให้กับเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ในสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้จะมีสิบความหมายให้เลือก! โดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝงเล็กน้อยเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้อ่านจากถ้อยความจริงของข้อนี้

 

Echad ที่ชาวยิวอธิบายไว้อย่างถูกต้อง

      ย่อหน้าต่อไปนี้มาจากอีกบทความหนึ่งในอินเทอร์เน็ต[68] คราวนี้เขียนโดยเจสัน ผู้สร้างบล็อกชาวยิวที่เขียนหัวข้อเกี่ยวกับความเชื่อของยิว ความเชื่อของคริสเตียน และภาษาฮีบรู บทความนี้อธิบายความหมายของ echad (“หนึ่ง”) ไว้อย่างถูกต้องและปฏิเสธสิ่งที่โนเรลลีได้อธิบายคำนี้ไว้ดังนี้

 

ในหนังสือ “การปกป้องจุดสำคัญ: คู่มือของผู้เชื่อเพื่อปกป้องความเชื่อในตรีเอกานุภาพ”[69]ของเขานั้น นิค โนเรลลีหยิบยกข้อโต้แย้งกันในหมู่มิชชันนารีว่า echad (אֶחָד, คำฮีบรูที่ใช้ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 กล่าวว่า HaShem[70] คือ “หนึ่ง”) “เป็นคำที่ยอมให้มีความหมายพหูพจน์ที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งรวมอยู่ภายในหนึ่งและมีความแตกต่างกันภายในความเป็นหนึ่งนั้น” (หน้า 3) นี่เป็นข้อโต้แย้งที่พบบ่อยที่สุดเมื่อประเด็นนี้ของตรีเอกานุภาพออกมาประกาศถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระเจ้า (G-d)[71]ในข้อความของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู

 

จริงหรือไหมที่ echad หมายถึง “การรวมกันเป็นหนึ่ง” ตามที่มิชชันนารีกล่าว? จริงๆแล้วไม่ใช่ มันไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย คำ echad ถูกใช้ในแบบเดียวกับคำว่า “หนึ่ง” ในภาษาอังกฤษ นั่นก็คือมันหมายถึงเอกพจน์ที่ตรงข้ามกับพหูพจน์ ถ้าผมบอกว่าผมมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ผมก็หมายความว่าผมมีหนึ่งเล่มไม่ใช่สองเล่ม ในทำนองเดียวกันเมื่อผมบอกคุณว่าผมอยากได้แฮมเบอร์เกอร์หนึ่งอัน ผมก็หมายถึงแค่หนึ่งอัน–ไม่ใช่สองอัน มันไม่ใช่คำว่า “หนึ่ง” หรือ echad ที่ [ในตัวของมันเอง] จะบอกถึงการรวมกันเป็นหนึ่ง–ไม่มีการรวมกันเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นคำนามที่ [echad] ในตัวของมันเองอาจมีส่วนประกอบรวมอยู่ แฮมเบอร์เกอร์อันหนึ่งประกอบด้วยขนมปังก้อนกลม เนื้อสัตว์ ซอส และสิ่งโรยหน้าต่างๆ ตัวแฮมเบอร์เกอร์เองหนึ่งอันนั้น มีการประกอบรวมอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับพวงองุ่นที่ประกอบรวมอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งพวง ไม่ใช่ว่าคำ “หนึ่ง” ที่ [ในตัวของมันเอง] จะบ่งชี้หรือยอมให้มีความหมายเป็นพหูพจน์... (ที่มีการรวมกันของจำนวนที่มากกว่าหนึ่ง)

 

เมื่อเราพูดว่า “หนึ่ง” เราหมายถึงอะไร? เราก็หมายความตรงๆว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่ใช่สอง (หรือมากกว่านั้น)” มันจึงไม่ใช่ที่คำ “หนึ่ง” ที่ยอมให้มีหรือมีความหมายของการประกอบรวมกัน แต่เป็นสิ่งนั้นเองที่ผมกล่าวถึงซึ่งประกอบกันอยู่และมีความหมายในแง่นี้


[1] 1 พงศ์กษัตริย์ 18:1 และหลายวันต่อมา พระวจนะของพระยาห์เวห์มาถึงเอลียาห์ในปีที่สามว่า “จงไปปรากฏตัวต่ออาหับ และเราจะส่งฝนลงมายังพื้นดิน”

[2] สดุดี 23:1 พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน

[3] เอเสเคียล 11:5 แล้วพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ลงมาบนข้าพเจ้า และพระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า จงกล่าวเถิดว่า พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า “พงศ์พันธุ์อิสราเอลเอ๋ย พวกเจ้าพูดเช่นนี้ และเรารู้สิ่งที่อยู่ในความคิดของพวกเจ้า

[4] International Standard Bible Encyclopedia (ISBE)

[5] Theological Wordbook of the Old Testament (TWOT)

[6] Understanding the Bible Comment­ary (Dt.5:11)

[7] ISBE (God, Names of); TWOT (484a, YHWH); Understanding the Bible Comment­ary (Dt.5:11)

[8] พระคัมภีร์ภาษาไทยทุกฉบับแปลว่าพระยาห์เวห์ (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย และฉบับมาตรฐาน 2011) หรือพระเยโฮวาห์ (ฉบับไทยคิงเจมส์ และฉบับ 1971) ผู้แปล

[9] Internation­al Standard Bible Encyclo­pedia; United Bible Societies Old Testament Hand­books

[10] New American Commentary; Anchor Bible Dictionary

[11] อพยพ 12:12 เพราะในคืนวันนั้น เราจะผ่านไปในแผ่นดินอียิปต์ และเราจะประหารลูกหัวปีทั้งหมดในแผ่นดินอียิปต์ทั้งของมนุษย์และของสัตว์ และเราจะพิพากษาลงโทษพระทั้งหมดของอียิปต์ เราคือพระยาห์เวห์”

[12] อพยพ 32:4 เมื่ออาโรนได้ทองคำจากพวกเขาแล้ว จึงใช้เครื่องมือหล่อทองคำเป็นรูปโคหนุ่ม แล้วเขาทั้งหลายประกาศว่า “โอ อิสราเอล สิ่งเหล่านี้แหละเป็นพระของเจ้า ซึ่งนำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์”

[13] 1 พงศ์กษัตริย์ 11:33 เพราะเขาทอดทิ้งเรา ไปนมัสการเจ้าแม่อัชโทเรทพระของชาวไซดอน เคโมชพระของโมอับ และมิลโคมพรของคนอัมโมนและไม่ดำเนินในทางของเราคือทำสิ่งที่ชอบธรรมในสายตาของเรา อีกทั้งไม่รักษากฎเกณฑ์และกฎหมายของเรา”

[14] อพยพ 4:16 เขาจะเป็นผู้พูดกับประชาชนแทนเจ้า เขาจะเป็นปากแทนเจ้า และเจ้าจะเป็นดังพระเจ้าสำหรับเขา”

[15] สดุดี 82:6 “เราได้กล่าวว่า เจ้าทั้งหลายเป็นพระ เป็นบุตรองค์ผู้สูงสุด เจ้าทุกคนนั่นแหละ

[16] ในฉบับภาษาไทยคือ “พระยาห์เวห์พระเจ้า” เช่น ปฐมกาล 2:4 ลำดับเรื่องการเนรมิตสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินมีดังนี้ ในวันที่พระยาห์เวห์พระเจ้า ทรงเนรมิตสร้างแผ่นดินและฟ้าสวรรค์”

[17] New International Dictionary of Old Testament Theology (NIDOTT)

[18] พระคัมภีร์เดิมภาษาไทยมี 1,269 หน้า (ฉบับมาตรฐาน 2011) ฉบับภาษาอังกฤษทั่วไปมี 1,089 หน้า (ฉบับ NIV) ผู้แปล

[19] พระคัมภีร์ภาษาไทยเป็นชื่อเต็มว่าพระยาห์เวห์(ฉบับมาตรฐาน2011)หรือพระเยโฮวาห์(ฉบับไทยคิงเจมส์)ฉบับ1971ใช้คำว่าพระเจ้าและฉบับอมตธรรมร่วมสมัยใช้คำว่า“องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ผู้แปล)

[20] Jehoahaz, Jehu, Jeho­shaphat, Joab, Joel, Jonathan, Joshua, Judah

[21] Elijah, Hezekiah, Hilkiah, Isaiah, Jeremiah, Josiah, Mic­aiah, Nehemiah, Uriah, Zechariah, Zep­haniah

[22] “เนหะมีห์” ภาษาฮีบรูคือ Nechemyah; “เยเรมีย์” ภาษาฮีบรูคือ Yirmeyah; “โยชูวา” หรือ “เยโฮชูวา” ภาษาฮีบรูคือ Yehoshua; “ยูดาห์” หรือ “เยฮูดาห์” ภาษาฮีบรูคือ Yehudah (ผู้แปล)

[23] yacht หรือ yoga

[24] LXX หรือ Septuagint (เซปทัวจินต์ คือพระคัมภีร์เดิมภาษากรีกที่แปลจากพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรู) ผู้แปล

[25] รม 11:33 โอ พระปัญญาและความรอบรู้ของพระเจ้านั้น ล้ำลึกเท่าใด ข้อตัดสินของพระองค์นั้นเหลือที่จะหยั่งรู้ได้ และทางของพระองค์ก็เหลือที่จะสืบเสาะได้”

[26]Jehoshua หรือ Joshua

[27] ัทธิว 1:21 นางจะให้​​กำเนิดบุตรชาย จงตั้งชื่อพระกุมารนั้นว่า เยซู เพราะว่าพระองค์จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ ให้พ้นจากบาปทั้งหลายของ​​เขา” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[28] Matthew 1:21: For he shall save his people from their sins; Psalm 129:8 (LXX): He shall redeem Israel out of all their lawlessness; Psalm 130:8 (Hebrew): He shall ransom Israel from all their sins

[29] คำ “พระคริสต์” มีปรากฏ 529 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ แต่เมื่อรวมกับ “พระเยซู” เช่นใน “พระเยซูคริสต์” หรือ “พระคริสต์พระเยซู (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลเหมือนกันว่า “พระเยซูคริสต์”) จะมีประมาณ 270 ครั้ง ที่ไม่ได้นับคำรวมกันอย่างอื่น เช่น “พระคริสต์ที่ทรงกำหนดไว้นั้นแก่ท่านทั้งหลายคือพระเยซู” (กิจการ 3:20) ดังนั้นเราจะบวกรวม 917+529 เพื่อจะได้จำนวนอ้างอิงที่เจาะจงถึงพระเยซูไม่ได้ ส่วนGod (“พระเจ้า”) จะมีบางกรณีที่god(“พระ หรือ เจ้า”) ไม่ได้หมายถึงพระยาห์เวห์ เช่น god of this world (“พระของยุคนี้” 2 โครินธ์ 4:4) เช่นเดียวกับที่ไม่ใช่ทุกกรณีของคำ “เยซู” จะหมายถึงพระเยซูคริสต์ (เช่น โคโลสี 4:11 เยซูผู้มีอีกชื่อหนึ่งว่ายุสทัส ก็ฝากคำทักทายมาด้วย) ข้อยกเว้นเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถิติอย่างมีนัยสำคัญ)

[30] กาลาเทีย 3:1 โอ ชาวกาลาเทียคนเขลา ใครสะกดดวงจิตของพวกท่านให้เห็นผิดไปได้? ทั้งๆ ที่ภาพการถูกตรึงของพระเยซูคริสต์ได้ปรากฏอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว

[31] ยอห์น 5:44 “พวกท่านจะเชื่อได้อย่างไรในเมื่อท่านรับเกียรติจากกันและกันเอง และไม่ได้แสวงหาเกียรติที่มาจากพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว?

[32] บรรพชนช่วงการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซียและหลังการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย, ชุดที่ 1, เล่ม 7, เซนต์ออกัสติน: คำบรรยายหรือบทนิพนธ์เกี่ยวกับพระกิตติคุณตามเซนต์จอห์น, บทนิพนธ์ที่ 105, บทที่ 17. 1-5, ย่อหน้าที่ 3, แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ศจ. จอห์น กิบบ์, ดี. ดี.

[33] International Standard Bible Encyclopedia (ISBE, vol.5, p.3012f) written by B.B. War­field

[34] disjecta membra คำลาตินที่หมายถึง “ส่วนที่กระจัดกระจาย”

[35] We believe in One True God” by Tobias Clausnitzer

[36] Catherine Winkworth

[37] Clarence H. Benson: “The One True God: Father, Son, and Holy Spirit”.

[38] God­head หรือ พระเจ้ารวม คือพระเจ้าในความหมายของตรีเอกานุภาพที่รวมเป็นพระเจ้าเดียว (ผู้แปล)

[39] 1 ซามูเอล 5:3 และเมื่อชาวอัชโดดตื่นแต่เช้าในวันรุ่งขึ้น ดูเถิด พระดาโกนได้ล้มหน้าคว่ำมายังพื้นดินตรงหน้าหีบของพระยาห์เวห์ พวกเขาจึงยกพระดาโกนขึ้นตั้งไว้ในที่เดิม”

     อิสยาห์ 40:20 “คนยากจนก็หาเครื่องบูชา เป็นไม้ที่ไม่ผุ เขาเสาะหาช่างที่มีฝีมือ ให้ตั้งมันขึ้นมาเป็นรูปเคารพที่ไม่สั่นคลอน”

[40] The Targum of Zephaniah: Manu­script and Com­mentary by Ahuva Ho

[41] เอเสเคียล 14:3 “บุตรมนุษย์เอ๋ย คนพวกนี้ตั้งรูปเคารพของเขาไว้ในใจ และวางสิ่งสะดุดให้ล้มลงในบาปไว้ข้างหน้าเขา เราควรจะยอมให้พวกเขาถามเราหรือ?

[42] เยเรมีย์ 19:5 และได้สร้างปูชนียสถานสูงสำหรับพระบาอัล เพื่อจะเผาบุตรชายของเขาเสียในไฟ เป็นเครื่องบูชาเผาทั้งตัวแด่พระบาอัล ซึ่งเราไม่ได้บัญชาหรือกล่าวถึง หรือได้นึกในใจของเรา”

[43] ฉบับมาตรฐาน 2011, ฉบับ 1971 แปลว่า “พระเจ้าของเราทั้งหลายเป็นพระเจ้าเดียว” (ผู้แปล)

[44] Louis Segonds Bible (1910)

[45] ยอห์น 8:29 “และพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาก็สถิตอยู่กับเรา พระองค์ไม่ได้ทรงทิ้งเราไว้ตามลำพัง

[46] ยอห์น 16:32 นี่แน่ะ วันนั้นจะมา และเวลานั้นก็มาถึงแล้ว ที่พวกท่านจะต้องกระจัดกระจายไปยังที่อยู่ของท่านแต่ละคนและจะทิ้งเราไว้คนเดียว แต่เราไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะพระบิดาสถิตอยู่กับเรา”

[47] หรือแปลว่า “พระคำ” ที่มาจาก the Word คำเดียวกัน (ผู้แปล)

[48] Psalm 86:10 (85:10 in LXX) For you are great and do mar­velous deeds; you alone are God. (NIV)

[49] แปลภาษาไทยโดยใช้ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยเป็นหลัก และข้อที่คล้ายกันในอิสยาห์ 37:16 “ข้าแต่พระยาห์เวห์ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด พระเจ้าของอิสราเอล ผู้ประทับเหนือเหล่าเครูบ พระองค์เพียงผู้เดียวทรงเป็นพระเจ้าของอาณาจักรทั้งหลายในโลก” (ผู้แปล)

[50] หรือบางฉบับแปลว่า “เนื่องจากคนกลางไม่ได้เป็นตัวแทนคนของคนเดียว แต่พระเจ้านั้นทรงเป็นคนเดียว” (ฉบับ CSB) หรือ “คนกลางไม่ได้เป็นตัวแทนของฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่พระเจ้าทรงเป็นฝ่ายเดียว” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) ผู้แปล

[51] เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 “โอ คนอิสราเอลจงฟังเถิด พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าของเรา พระยาห์เวห์องค์เดียว”

[52] Jastrows diction­ary

[53] เอเสเคียล33:24“อับ​รา​ฮัม​เป็น​เพียง​คน​คน​เดียว แต่​ยัง​ถือ​กรรม​สิทธิ์​ใน​ที่​ดิน​นี้ เรา​มี​จำนวน​คน​มาก แผ่น​ดิน​นั้น​จึง​ย่อม​จะ​ต้อง​มอบ​ให้​เรา​เป็น​กรรม​สิทธิ์

[54] Hebrew and Aramaic Lexicon of the Old Testament

[55] A Greek-English Lexicon of the New Testament (Bauer, Danker, Arndt, Gingrich)

[56] คำว่า Shema เดิมทีอ้างถึงคำประกาศที่ล่วงละเมิดไม่ได้ของเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 แต่หลังจากนั้นก็ได้ขยายคลุมถึงเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-9 และ 11:13-21 และกันดารวิถี 15:37-41

[57] Listen, Israel: Yahweh our God is the one, the only Yahweh” (Deuteronomy 6:4 NJB)

[58] Nick Norelli;http://www.reocities.com/bicwyzer.geo/Christianity/eschad.html as it was on March 31, 2013

[59] คำฮีบรูของ “หนึ่ง” (אֶחָד) บางครั้งจะถอดตามตัวอักษรว่า echad ตัว “c” ที่เพิ่มอยู่หน้า “h” เพื่อระบุว่าเป็นเสียงหนัก หรือเสียง “h” ซึ่งออกมาจากลำคอที่ต่างจาก “h” เสียงเบา ในหนังสือบางเล่ม “h” เสียงหนักจะมีจุดอยู่ข้างใต้ () แต่แป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษไม่สามารถพิมพ์ได้ ดังนั้นจึงมักจะละจุดไว้หรือให้ “h” เป็น “ch” แต่ผู้เขียนบทความนี้ไม่รู้เรื่องนี้เลย เขาจึงให้มีคำ eschad ที่ไม่มีอยู่จริง แต่ยังมีความอาจหาญที่จะวิจารณ์รับบีผู้ที่ได้ใช้เวลาศึกษาพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูมาทั้งชีวิต ที่แน่นอนว่านักวิจารณ์อย่างเขาไม่ได้ทำ

[60] rdtwot.files.wordpress.com/2007/06/yachid-vs-echad.doc, as it was on March 31, 2013

[61] JPS Tanach (Jewish Publication Society's 1917  edition of the Hebrew Bible in English)

[62] Bibleworks; ภาษาไทยอ้างจากฉบับมาตรฐาน 2011 และฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ในต้นฉบับภาษาอังกฤษอ้างจากฉบับ ESV หรือ NASB ซึ่งหมายเลขข้อจะเป็นตามฉบับภาษาอังกฤษ และจะไม่ตรงกับพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู

[63] อีกสี่ตัวอย่างที่เหลือของ yachid ไม่ได้หมายถึงการเป็นบุตรคนเดียวและจะพบในสดุดีที่ผู้แปลสดุดีหาคำแปล yachid ให้เหมาะสมกับบริบทได้ยาก

[64] ภาษาไทยใช้สรรพนาม “เรา” เป็นสรรพนามของบุคคลที่หนึ่งสำหรับพระเจ้า และเป็นสรรพนามอกพจน์ที่ใช้กับกษัตริย์ (ผู้แปล)

[65] Zondervan Encyclopedia of the Bible

[66] มีข้อยกเว้นที่น่าแปลกใจก็คือ พระคัมภีร์ฉบับศึกษาของ ESV ที่มีความเป็นตรีเอกานุภาพอย่างมากซึ่งยอมรับว่าเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 เป็น “คำกล่าวเกี่ยวกับความเฉพาะตัว ไม่ใช่ความเป็นเอกภาพภายในของพระเจ้า”

[67] การตีความเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ที่ไม่ได้ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะเห็นได้ในแหล่งข้อมูลที่เชี่ยวชาญดังต่อไปนี้ HALOT ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษาฮีบรู-อังกฤษที่ดีเยี่ยมได้ใส่ echad จากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ภายใต้หัวข้อ “มีจำนวนเท่ากับหนึ่ง” และกำหนดให้ความหมายของข้อนี้ว่า “พระยาห์เวห์ทรงเป็นหนึ่ง” หรือ “พระยาห์เวห์เดียว” หรือ “พระยาห์เวห์ผู้เดียว” หรือ “พระยาห์เวห์เพียงผู้เดียว” คีลและเดลิทซ์ กล่าวถึงเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 ว่า “สิ่งที่กล่าวถึงพระเยโฮวาห์ตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของพระเจ้า แต่เพียงกล่าวว่า พระนามของพระเยโฮวาห์เป็นของพระองค์เพียงผู้เดียวอย่างถูกต้อง ที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียวอย่างแท้จริง ไม่มีพระเจ้า (Elohim) อื่นใดจะสามารถเทียบได้กับพระองค์”

[68] http://www.thehebrewcafe.com/blog/?cat=19 ณ วันที่ 1 เมษายน 2013

[69] The Defense of an Essential: A Believers Handbook for Defend­ing the Trinity

[70] ฮาเชม (“ชื่อนั้น”) คำฮีบรูที่ชาวยิวใช้อ้างถึง YHWH (พระยาห์เวห์) พระเจ้าของอิสราเอลด้วยความยำเกรง

[71] G-d ที่ชาวยิวไม่ยอมออกพระนามของพระองค์ (ผู้แปล)