พิมพ์
หมวด: The Only Perfect Man
ฮิต: 1993

pdf pic

 

 

บทที่ 10

 

 

ฟีลิปปี 2

 

ch2 1

 

พระนามที่อยู่เหนือทุกนาม

 

 

      ระคัมภีร์ตอนหลักๆสองตอนในพระคัมภีร์ใหม่ ที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้เป็นข้อ กำหนดว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์นั้น นักวิชาการทั้งหลายยอมรับว่าพระคัมภีร์ตอนเหล่านี้เป็นบทกวีหรือเพลงสรรเสริญ  คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับบทกวีกัน  จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงบทกวีที่เป็นลักษณะของพระคัมภีร์และฝ่ายวิญญาณ  ความไม่คุ้นเคยนี้จึงทำให้บรรดาผู้เชื่อใน      ตรีเอกานุภาพมีโอกาสตีความคำและสำนวนที่เป็นบทกวีในแบบที่เหมาะกับหลักคำสอนของพวกเขา

      นอกเหนือจากคำขึ้นต้นของยอห์นแล้ว (ยอห์น 1:1-18) พระคัมภีร์อีกตอนที่เป็นบทกวีที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพใช้ก็คือฟีลิปปี 2:5-11 โดยเฉพาะข้อ 6 ซึ่งกล่าวว่าพระเยซู “อยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า” (หรือที่แปลกันว่า “อยู่ในสภาพของพระเจ้า”)[1]

 

5พวกท่านจงมีจิตใจเช่นนี้​ ​เหมือนอย่างที่มี​​ในพระเยซูคริสต์ 6ผู้ที่แม้จะทรงอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า[2] แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า 7แต่กลับทรงทำให้พระองค์เองหมดความสำคัญ โดยอยู่ในรูปลักษณ์ของคนรับใช้ โดยถือกำเนิดเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย 8และในรูปลักษณ์มนุษย์นั้น พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง โดยการยอมเชื่อฟังจนถึงความตาย แม้กระทั่งความตายบนกางเขน  9ดังนั้น พระเจ้าจึงทรงยกพระองค์ขึ้นสูง และประทานพระนามที่อยู่เหนือทุกนามแก่พระองค์ 10เพื่อว่าโดยพระนามของพระเยซู ทุกเข่าในสวรรค์ บนพื้นโลกและใต้พื้นโลก จะคุกลงกราบ 11และ ทุกลิ้นจะยอมรับว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้า เพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าพระบิดา (ฟีลิปปี 2:5-11, ฉบับ ESV)

 

 

      มีความเห็นพ้องกันทั่วไปว่า ฟีลิปปี 2:6-11 เป็นเพลงสรรเสริญหรือส่วนหนึ่งของเพลงสรรเสริญที่เขียนขึ้นเป็นภาษากวีและใช้ในคริสตจักรยุคแรกๆ  พระคัมภีร์ฉบับนิวเยรูซาเล็ม[3]กล่าวในหมายเหตุว่าพระคัมภีร์ตอนนี้ “อาจเป็นเพลงสรรเสริญของคริสเตียนยุคแรกๆที่เปาโลอ้างอิง”  พระคัมภีร์หลายฉบับที่มีคอลัมน์เดียวจะจัดเรียงให้ข้อในตอนนี้อยู่ในรูปของโคลงกวี ลักษณะที่เป็นเพลงสรรเสริญนี้ถูกตั้งข้อสังเกตโดยนักวิชาการหลายคน เช่น ผู้มีส่วนสิบคนที่ให้ข้อคิดเห็นในหนังสือชื่อ จุดเริ่มต้นของคริสตศาสตร์: ข้อเขียนเกี่ยวกับฟีลิปปีบทที่ 2[4] อันที่จริง ฟีลิปปี 2:6-11 มักถูกเรียกว่า “คาร์เมน ตริสตี้” (คำละติน, “เพลงสรรเสริญพระคริสต์”)[5]

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยึดอยู่กับคำกล่าวที่เป็นโคลงกวีว่า “ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า” มาเป็นหลักฐานว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า แม้ว่าพจนานุกรมคำศัพท์กรีก-อังกฤษทุกฉบับจะบอกเราว่า คำกรีกของ “รูปลักษณ์ (form)” นั้นเกี่ยวข้องกับรูปพรรณสัณฐานภายนอก  แต่พระเจ้าไม่มี “รูปลักษณ์” (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:15) เพราะพระองค์ทรงเป็นพระวิญญาณ (ยอห์น 4:24)  ดังนั้น เปาโลจึงกำลังใช้คำ “รูปลักษณ์” ไม่ตรงตามคำแต่เป็นคำอุปมาอุปมัย  ต่อมาเราจะเห็นว่าคำว่า “รูปลักษณ์” ในเพลงสรรเสริญนี้เป็นคำพ้องความหมายของ “รูปเหมือน” (image) เพราะพระเยซูทรงเป็น “รูปเหมือนของพระเจ้า”[6] (2 โครินธ์ 4:4; โคโลสี 1:15)

                        

                  

เปาโลกำลังอธิบายการที่พระเยซูทรงมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ

      เมื่อผมไตร่ตรองถึงช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ และการอุทิศตัวอย่างร้อนร้นให้กับพระคริสต์นั้น ตอนนี้ผมตระหนักชัดขึ้นเรื่อยๆว่าพระคริสต์ที่ผมอุทิศตัวให้นั้นผมไม่เคยเห็นจริงๆว่าทรงเป็นมนุษย์  ในความเป็นจริงแล้ว ผมเห็นว่าพระองค์เป็น “พระเจ้าพระบุตร” ผู้เป็นพระองค์ที่สองของพระเจ้าตรีเอกภาพ  ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว พระเจ้าพระบุตรที่ดำรงอยู่ก่อนนั้นได้รับธรรมชาติของมนุษย์ทางการจุติลงมาเกิดและมีร่างกายมนุษย์ แต่สำหรับบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว ไม่เคยสงสัยเลยว่าบุคคลที่แท้จริงที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ของพระเยซูก็คือพระเจ้าผู้เป็น “พระเจ้าพระบุตร”  การพยายามที่จะมองพระเยซูว่าทรงเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ก็เหมือนการพยายามมองเห็นภาพที่ซ้อนกัน ดังนั้นเราจึงแก้ปัญหาด้วยการคิดในลำดับแรกว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า และลำดับรองลงมาว่าเป็นมนุษย์

      ถึงแม้ว่าเราจะเชื่อมั่นและยึดมั่นในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เราก็ยังรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องพิสูจน์จากพระคัมภีร์ให้ได้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า  แต่สุดท้าย เราก็ไม่เคยสรุปได้อย่างแน่นอนว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า เราจึงกลับมาที่พระคัมภีร์สองสามข้อเดิมอยู่ตลอด เช่น ยอห์นบทที่ 1 และฟีลิปปีบทที่ 2 เพื่อจะ “พิสูจน์” ว่าพระเยซูคือพระเจ้า  ปัญหานี้ดูเหมือนจะสรุปไม่ได้ ดังนั้นจึงมีหนังสือและบทความต่างๆเขียนเกี่ยวกับพระคัมภีร์ตอนเดียวกันนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา  แต่กระนั้นก็ไม่มีความจำเป็นหรือความพยายามคล้ายๆกันนี้ที่จะพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระยาห์เวห์ นั่นก็คือ พระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์

      เมื่อเร็วๆนี้ ผมคิดขึ้นได้ว่า ข้อเหล่านี้ที่เราพยายามนำมาใช้พิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู แท้ที่จริงแล้วกลับพิสูจน์ให้เห็นสิ่งที่ต่างออกไป นั่นคือ พระเยซูทรงกลายมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเพียงผู้เดียว  และเนื่องจากการบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบอย่างงดงามนี้ พระเจ้าจึงทรงยกพระองค์ขึ้นสูง  เมื่อได้อ่านฟีลิปปี 2:6-11 ใหม่จากมุมมองนี้ ความเข้าใจความจริงแบบใหม่จึงเริ่มปรากฏขึ้น ซึ่งให้ความกระจ่างกับสิ่งที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ทำให้คลุมเครือ ปิดบังไว้ และเบี่ยงเบนไปในตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

      นี่คือบทสรุปของการที่พระเยซูทรงกลายมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ดังที่เห็นในฟีลิปปี 2:6-11

  1.  พระเยซูก็เหมือนกับอาดัม ที่อยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า (รูปเหมือนของพระเจ้า, เหมือนอย่างพระเจ้า)
  2.  พระเยซูไม่เหมือนกับอาดัม ที่ไม่ได้ทรงพยายามจะยึดฉวยความเท่าเทียมกันกับพระเจ้าด้วยการฝืน (นั่นกึคือ โดยไม่เชื่อฟัง ซึ่งเป็นการกระทำที่กบฏ)
  3. พระเยซูทรงถ่อมพระองค์ ทรงอ้าแขนรับความเป็นมนุษย์ของพระองค์แทนที่จะแสวงหาพระเกียรติของพระเจ้า
  4. พระเยซูทรงแสวงหาการเป็นทาสรับใช้ มากกว่าที่จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือหมู่เพื่อนมนุษย์ ของพระองค์
  5. พระเยซูทรงตั้งพระทัยที่จะสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าในชีวิตทุกด้านของพระองค์
  6. พระเยซูทรงสัตย์ซื่อจนถึงความตาย
    1. ...แม้แต่ความตายที่น่าอัปยศที่สุด ซึ่งก็คือความตายบนไม้กางเขน

 

      ถ้าใครสามารถดำเนินตามวิถีชีวิตนี้ได้โดยไม่ทำบาปสักอย่าง (“ปราศจากบาป” ฮีบรู 4:15) เริ่มจากอายุที่รู้จักผิดชอบชั่วดี (ซึ่งชาวยิวกำหนดไว้ที่ 13 ปีกับหนึ่งวัน) โดยได้รับกำลังจากการสถิตของพระยาห์เวห์ตลอดเวลา ในทางทฤษฎีแล้ว บุคคลเช่นนั้นก็สามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบได้  แต่ใครก็ตามที่เคยพยายามดำเนินชีวิตภายในหนึ่งวันโดยไม่ได้ทำบาปสักอย่างทั้งในการกระทำหรือในความคิด เขาก็จะรู้ว่าสิ่งนี้เป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ แม้ว่าผู้เชื่อทั้งหลายจะเป็นวิหารของพระวิญญาณของพระเจ้าด้วย (1 โครินธ์ 6:19)[7]  จากการที่คนพยายามจะดำเนินชีวิตโดยปราศจากบาปด้วยความพยายามของตนเอง คนๆนั้นจะซาบซึ้งกับความมหัศจรรย์ที่เปรียบไม่ได้ของพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ และจะตระหนักว่าการที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์คนใหม่ขึ้นมาคนหนึ่งนั้น เป็นความมหัศจรรย์ที่เหนือจินตนาการ เป็นผลงานการสร้างที่น่าประทับใจมากยิ่งกว่าความงดงามของจักรวาลจริงนัก

      ในอีกแง่หนึ่ง เราไม่สามารถจะมองข้ามในด้านความสมัครพระทัยของการมาเป็นคนที่สมบูรณ์แบบของพระเยซูได้ แม้ว่าเราจะรู้ว่าการอัศจรรย์ของความสมบูรณ์แบบไม่สามารถบรรลุผลได้นอกเหนือจากฤทธิ์อำนาจที่คอยช่วยเหลือของพระเจ้าในพระองค์  ความรักแบบให้ตนเองของพระเยซูแม้จะได้รับการดลใจและการเสริมกำลังจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นความรัก ถึงกระนั้นก็เป็นการเลือกของพระเยซูเองที่เป็นความรักของพระองค์เองอย่างแท้จริงและอย่างเต็มบริบูรณ์  คำกล่าวว่า “พระองค์ได้ทรงรักข้าพเจ้า และประทานพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า[8] (กาลาเทีย 2:20) เป็นหนึ่งในคำกล่าวที่สำคัญมากที่สุดเกี่ยวกับพระเยซูที่มีในพระคัมภีร์  หากปราศจากความรักที่ลึกซึ้งอย่างแท้จริงนี้ พระเยซูก็ไม่มีวันเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้เลย

      แต่สถานการณ์จะต่างกับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่เรียกว่าพระเจ้าพระบุตร  เนื่องจากพระเจ้าทรงเป็นความรักโดยพระลักษณะเฉพาะของพระองค์ (1 ยอห์น 4:8,16)[9] นั่นจึงเป็น ไปไม่ได้ที่พระเยซูผู้เป็นพระเจ้า ผู้เป็นพระเจ้าพระบุตรที่จะไม่รัก  สิ่งนี้ทำให้ความมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงทำสำเร็จใน “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” ถูกลดทอนลงอย่างมาก

      ใครก็ตามที่เคยพยายามจะรักผู้อื่นต่อไปได้เรื่อยๆและรักได้ในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะกับผู้ที่รักยาก ก็จะซาบซึ้งถึงความรักวิเศษของพระเยซูที่ไม่สามารถบรรยายได้  เพราะพระเยซูเป็นผู้ที่ความรักของพระเจ้าสำแดงให้เห็นอย่างสมบูรณ์แบบอยู่ในตัวพระองค์ ดังที่กล่าวไว้ในคำกล่าวที่รู้จักกันดีว่า “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกจนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 3:16)

      เพราะความปราศจากบาปที่สมบูรณ์ของพระเยซู และเพราะพระองค์ทรงรักเราอย่างถึงที่สุดจนสละพระชนม์ชีพของพระองค์  พระเจ้าจึงทรงยกย่องพระองค์ให้อยู่ในฐานะสูงสุดเท่าที่เป็นได้ในบรรดาสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น ที่ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ (กิจการ 2:33; 5:31; เอเฟซัส 1:20)  ในการยกย่องอย่างทรงเกียรตินี้ได้บอกไว้อย่างชัดเจนในฟีลิปปี 2:8-11 ที่พระนามของพระเยซูได้รับการยกขึ้นสูงสุดในจักรวาล ที่โดยพระนามนี้ ทุกเข่าจะคุกลงกราบพระองค์ และ​​ทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นองค์​​ผู้เป็นเจ้า อันเป็นการถวาย​​เกียรติแด่​​พระบิดา  แต่การที่ทุกเข่าจะคุกลงกราบพระเยซูนั้น จะเป็นการถวาย​​เกียรติแด่พระบิดาได้อย่างไร?  ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะ พระสิริของพระเจ้าได้ปรากฏบนพระพักตร์ของพระคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6)

 

“รูปลักษณ์ของพระเจ้า”

      เพื่อให้เห็นสิ่งที่เปาโลหมายถึงเมื่อเขากล่าวว่าพระเยซูคริสต์ “ทรงอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า” เราจะพิจารณาเรื่องนี้แบบย่อๆในสี่ประเด็น

 

ประเด็นที่ 1:  พระเจ้าเป็นผู้ที่ไม่อาจมองเห็นได้

      พระคัมภีร์ใหม่แสดงให้เห็นมาตลอดว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ไม่อาจมองเห็นได้  พระองค์ผู้เป็น “อมตะและไม่อาจมองเห็นได้ ผู้เป็นพระเจ้าแต่เพียงองค์เดียว” (1 ทิโมธี 1:17)  พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้โดยปกติวิสัย  ยิ่งกว่านั้นยังเป็นเพราะว่า “พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ” (ยอห์น 4:24)  แต่จะไม่สามารถพูดแบบเดียวกันนี้กับพระคริสต์ได้ เพราะเรามองเห็นพระองค์ได้อย่างชัดเจนและทรงเป็น “รูปเหมือน[10]ของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้” (โคโลสี 1:15)  พระคริสต์ได้ทรงทำให้จุดประสงค์ที่มนุษย์ถูกสร้างขึ้นนั้นสำเร็จ ที่ทำให้มองเห็นพระเจ้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ว่าส่วนมากมนุษย์ล้มเหลวที่จะเป็นเช่นนั้น

      ยอห์นพูดให้รู้ถึงการไม่สามารถมองเห็นพระเจ้าได้ไม่ว่าจะแง่ใดก็ตามเมื่อเขากล่าวว่า “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย” แต่พระเยซู “ได้ทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว” (ยอห์น 1:18)  เนื่องจากพระเยซูได้ทรงสำแดงพระเจ้าให้เห็น มันจึงมีความหมายที่ถูกต้องที่เรามองเห็นพระเจ้าด้วยการมองเห็นทางจิตวิญญาณไม่ใช่ด้วยการมองเห็นทางกาย  พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงโมเสสว่าเขา “ได้เห็นพระองค์ผู้ไม่อาจมองเห็นได้” ด้วยตาแห่งความเชื่อ (ฮีบรู 11:27)

      แม้ว่าเราจะไม่อาจมองเห็นพระยาห์เวห์ได้ แต่บางครั้งพระองค์ก็ทำให้พระองค์มองเห็นได้ เพื่อให้พระประสงค์เฉพาะนั้นสำเร็จ ดังในการปรากฏตัวของพระเจ้าที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์เดิม  บางครั้งพระองค์ทรงสำแดงพระสิริของพระองค์ให้ประชากรของพระองค์คือชนอิสราเอลได้มองเห็น “พระสิริของพระยาห์เวห์” ปรากฏอยู่ในเมฆ (อพยพ 16:10) และเอเสเคียลได้เห็น “การปรากฏเหมือนพระสิริของพระยาห์เวห์” (เอเสเคียล 1:28)

      การไม่สามารถมองเห็นพระเจ้าได้นั้น มีระบุไว้ในการอ้างอิงของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เช่น พจนานุกรมใหม่เกี่ยวกับศาสนศาสตร์, หัวข้อ “การกำหนดคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ให้แก่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์[11] ดังนี้

 

พระเจ้าเป็นผู้ที่ไม่อาจมองเห็นได้ ไม่มีขอบเขตที่จำกัดพระองค์ได้ และไม่มีร่างกาย แต่บ่อยครั้งที่ลักษณะของมนุษย์จะถูกอ้างกับพระเจ้า เพื่อสื่อข้อมูลเกี่ยวกับพระลักษณะหรือการกระทำต่างๆของพระองค์ มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในพระคัมภีร์ แม้ว่าพระเจ้าจะไม่มีร่างกาย แต่การกระทำต่างๆของพระองค์นั้นได้กล่าวไว้ว่าเป็นผลมาจาก ‘พระกรที่เต็มด้วยฤทธานุภาพของพระองค์’ (อพยพ 15:16)

 

ประเด็นที่ 2: “รูปลักษณ์” (form) ในฟีลิปปี 2:6 หมายถึงลักษณะภายนอก รูปลักษณ์ที่มองเห็นได้

      ในฟีลิปปี 2:6 (“ผู้ที่แม้จะอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า”) คำภาษากรีกของ “รูปลักษณ์” ก็คือ morphē คำที่จะเห็นในภาษาอังกฤษ[12]  Morphē ถูกนิยามโดยพจนานุกรมกรีก-อังกฤษมาตลอดว่าเป็นรูปลักษณ์หรือภาพลักษณ์ภายนอก ที่เป็นลักษณะภายนอกและมองเห็นได้  ยกตัวอย่างเช่น พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์ได้นิยามคำ morphē ว่า “รูปลักษณ์ซึ่งบุคคลหรือสิ่งนั้นปรากฏให้มองเห็น, ภาพลักษณ์ภายนอก”

      คำว่า morphē ไม่ได้มีหลายความหมาย และพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ได้ให้เพียงคำนิยามเดียวว่าเป็น “รูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ภายนอก รูปพรรณสัณฐานทั่วไปของรูปกาย”  พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG กล่าวว่าการใช้ morphē ในฟีลิปปี 2:6 “ตรงกันข้ามกับการแสดงให้เห็นถึงความเป็นพระเจ้าในพระคริสต์ผู้ทรงดำรงอยู่ก่อน”  นี่เป็นคำกล่าวที่น่าคิดที่สุด  แม้พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จะมีข้อสันนิษฐานต่างๆของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่รองรับคำกล่าวนี้ แต่ก็ระบุความหมายไว้อย่างถูกต้องที่ไม่ใช่พระเจ้าและไม่ใช่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพกับคำ morphē ว่าใน “รูปลักษณ์ของพระเจ้า”!

 

ประเด็นที่ 3: “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” หมายถึง “รูปเหมือนของพระเจ้า”

      แต่มีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากพระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ไม่อาจมองเห็นได้ (1 ทิโมธี 1:17) และทรงเป็นวิญญาณ (ยอห์น 4:24) เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ไม่อาจมีรูปพรรณสัณฐานภายนอกหรือรูปกายได้  สิ่งนี้ยืนยันได้จากคำที่โมเสสเตือนชาวอิสราเอลว่า “ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงระวังตัวให้ดี เพราะในวันนั้นท่านไม่เห็นรูปสัณฐาน[13]ใดๆเมื่อพระยาห์เวห์ตรัสกับท่านที่โฮเรบจากท่ามกลางไฟ” (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:15)  ถ้าพระเจ้าไม่มีรูปลักษณ์ แล้วเปาโลจึงพูดถึง “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” ในฟีลิปปี 2:6ได้อย่างไร?

      เนื่องจาก morphē (“form, รูปลักษณ์”) เกี่ยวข้องกับลักษณะที่เห็นภายนอก และเนื่องจากพระเจ้าทรงเป็นวิญญาณ ไม่มีรูปลักษณ์ดังกล่าว (ที่ภูเขาโฮเรบ พระองค์ไม่ได้ถูกมองเห็นด้วยตามนุษย์) เห็นได้ชัดว่าเปาโลกำลังใช้คำว่า “form, รูปลักษณ์” เป็นคำเปรียบเทียบ

      ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อเราเข้าใจว่า “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” หมายถึง “รูปเหมือนของพระเจ้า”  เหมือนเช่นการที่เราเป็น “รูปเหมือนของพระเจ้า” ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมองเห็นพระเจ้าได้  ดังนั้นการที่พระเยซูทรงอยู่ใน “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมองเห็นพระเจ้าได้เช่นกัน  พระคริสต์ทรงเป็น “รูปเหมือนของพระเจ้าที่เราไม่อาจมองเห็นได้” (โคโลสี 1:15) เช่นไร พระคริสต์ก็ทรงอยู่ใน “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” ผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้เช่นกัน  พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้ แต่ถูกทำให้เห็นได้ผ่านพระคริสต์ผู้ซึ่งเป็นรูปเหมือนของพระเจ้าและอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า

      ความเหมือนกันของ “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” กับ “รูปเหมือนของพระเจ้า” สามารถยืนยันได้ทั้งตามพระคัมภีร์และตามคำศัพท์

      ตามพระคัมภีร์แล้วคำว่า “รูปลักษณ์” และ “รูปเหมือน” ใช้ในความหมายแบบเดียวกันในพระคัมภีร์เดิมโดยเฉพาะเกี่ยวกับรูปเคารพ  ตัวอย่างเช่น คำสามคำว่า “รูปเหมือน” และ “รูปลักษณ์” และ “เหมือน” ใช้ในความหมายแบบเดียวกันในเฉลยธรรมบัญญัติ 4:16  จงระวังเถิด เกรงว่าท่านจะทำผิดดด้วยการทำรูปสลักสำหรับตัวเอง ในรูปลักษณ์ใดๆ เหมือนชายหรือหญิง” (ฉบับ ESV, เปรียบเทียบข้อ 23, 25)  การทำหน้าที่เหมือนกันของสามคำนี้ที่พิมพ์ตัวหนาคือคำว่า รูป, รูปลักษณ์, และเหมือนนั้น เผยให้เห็นการทำหน้าที่เหมือนกันของคำว่า “รูปเหมือนของพระเจ้า”, “รูปลักษณ์ของพระเจ้า”, และ “เหมือนพระเจ้า”

      เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์นั้น พระองค์ตรัสว่า “ให้เราสร้างมนุษย์ขึ้นตามรูปเหมือนของเรา เหมือนกับเรา” (ปฐมกาล 1:26)[14]  เนื่องจากเราถูกสร้างให้ “เหมือน” พระเจ้า เราจึงเป็นรูปเหมือนของพระเจ้าเหมือนที่พระคริสต์ทรงเป็นรูปเหมือนของพระเจ้า  สิ่งนี้บอกเราว่าปฐมกาล 1:26 เป็นพื้นฐานในการเข้าใจ “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” ในฟีลิปปี 2:6[15]

      ตามคำศัพท์แล้ว ความเหมือนกันของ “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” และ “รูปเหมือนของพระเจ้า” จะเห็นได้ในพจนานุกรมฉบับ HALOT (พจนานุกรมพระคัมภีร์เดิมภาษาฮีบรูและอาราเมค ซึ่งเป็นพจนานุกรมศัพท์ภาษาฮีบรูที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์)[16]  คำสำคัญสองคำในปฐมกาล 1:26 คือ “รูปเหมือน” (tselem, צֶלֶם, image) และ “เหมือน” (dmut, דְּמוּת, likeness)  พจนานุกรมฉบับ HALOT นิยามคำแรกว่า “เหมือน, รูปพรรณสัณฐาน, ตัวแทน” และนิยามคำหลังว่า “เหมือน, รูปลักษณ์, รูปพรรณสัณฐาน” ดังนั้นโดยหลักๆแล้วทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน (โปรดสังเกตคำว่า “รูปลักษณ์”ด้วย)  นี่เป็นพื้นฐานทางคำศัพท์ในการใช้ “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” เพื่อหมายถึง “เหมือนพระเจ้า” หรือ “รูปเหมือนของพระเจ้า”  ในปฐมกาล 1:26 นั้น การใช้ “รูปเหมือน” และ “เหมือน” ภายในประโยคเดียวกันนั้นเป็นการเน้นย้ำความจริงที่ว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นรูปเหมือนที่มองเห็นได้ของพระเจ้าที่ไม่เราอาจมองเห็นได้ นั่นก็คือ เป็น “เหมือน, รูปพรรณสัณฐาน, ตัวแทน” (พจนานุกรมฉบับ HALOT) ของพระเจ้า[17]

      ความเกี่ยวพันกันอย่างชัดเจนทางคำศัพท์ระหว่างคำว่า “รูปลักษณ์ (form)” และ “รูปเหมือน (image)” ไม่เพียงแต่มีเฉพาะในภาษาฮีบรูเท่านั้น แต่ยังมีในภาษากรีกด้วย ดังที่เห็นสามคำนิยามของ eikōn (คำภาษากรีกโดยทั่วไปสำหรับ “image” ดังใน “the image of God, รูปเหมือนของพระเจ้า”) ในพจนานุกรมฉบับ HALOT ดังนี้

 

1. สิ่งที่มีรูปพรรณสัณฐานเหมือนกับรูปลักษณ์  หรือภาพลักษณ์ที่เห็นภายนอกของบางสิ่ง,

          เหมือน, ภาพเหมือน

 

2. สิ่งที่มีรูปลักษณ์แบบเดียวกับสิ่งอื่น, รูปเหมือนที่มีชีวิต

 

3. สิ่งที่แสดงถึงสิ่งอื่นเกี่ยวกับรูปลักษณ์และลักษณะพื้นฐาน, รูปลักษณ์, ภาพลักษณ์

 

      สิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตก็คือคำว่า “รูปลักษณ์” (ดูตัวหนา) มีปรากฏอยู่ในทั้งสามคำนิยามของ eikōn (“image”) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG จะไม่มีคำนิยามของ eikōn ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์  สิ่งนี้แสดงให้เห็นความเหมือนกันของ “รูปเหมือนของพระเจ้า” กับ “รูปลักษณ์ของพระเจ้า”

      จากความเหมือนกันตามคำศัพท์ทั้งในภาษาฮีบรูและภาษากรีก มันก็ชัดเจนว่า ในเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงอยู่ใน “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” (ฟีลิปปี 2:6) พระองค์จึงทรงเป็น “รูปเหมือนของพระเจ้า” ด้วย (2 โครินธ์ 4:4) และเป็น “รูปเหมือนของพระเจ้าที่เราไม่อาจมองเห็นได้” (โคโลสี 1:15)[18]

      “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” ในฟีลิปปี 2:6 นั้นมาจากแนวความคิดที่อาดัมเป็น “รูปเหมือนของ พระเจ้า” ในปฐมกาล 1:26, 27  ที่จริงแล้วพระเยซูก็ทรงถูกเรียกว่าอาดัมคนสุดท้ายและมนุษย์คนที่สอง (1 โครินธ์ 15:45, 47, “อาดัม” เป็นคำฮีบรูสำหรับ “มนุษย์”) และมี “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” ที่เหมือนกันกับอาดัมคนแรก  นี่เป็นวิธีของบทกวีที่บอกถึงรูปเหมือนและความเหมือนกันกับพระเจ้า (ปฐมกาล 1:26-27) ที่อาดัมได้ถูกสร้าง

      มีความจริงที่น่าทึ่งที่จะไม่พบคำ “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” ที่ไหนในพระคัมภีร์นอกจากฟีลิปปี 2:6 ทำให้เป็นไปได้ว่าเป็นเพียงสำนวนกวีของแนวความคิดที่มีอยู่แล้วในพระคัมภีร์เช่นว่า มนุษย์เป็นรูปเหมือนของพระเจ้า หรือเหมือนกับพระเจ้า  ข้อเท็จจริงนี้สนับสนุนว่าฟีลิปปี 2:6-11 เป็นบทกวีที่แม้แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ยอมรับ  ภาษาของบทกวีนั้นมีการแทนสิ่งต่างๆด้วยสัญลักษณ์และคำพูดเป็นนัยอยู่มาก ดังนั้นการใช้คำอุปมาที่แตกต่างกันของเพลงสรรเสริญว่ารูปลักษณ์ของ พระเจ้าสำหรับรูปเหมือนของพระเจ้า จึงแทบไม่น่าแปลกแต่อย่างใด  

      ความจริงคำว่า formed  (ปั้นให้เป็นรูปร่าง) ถูกใช้ในการสร้างมนุษย์ในปฐมกาล 2:7: ที่ “พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ให้มีรูปร่างขึ้นจากผงคลีดิน”  พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อมนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามรูปเหมือนของพระเจ้า[19] (image of God) เขาก็ถูกพระเจ้า “ปั้นให้เป็นรูปร่าง” ในเวลาเดียวกัน  คำภาษาฮีบรูของ “formed” (yatsar) ก็ใช้ในที่อื่นกับช่างปั้นที่ปั้นภาชนะจากดินเหนียว (อิสยาห์ 29:16)[20]

      ไม่มีหลักฐานของพระคัมภีร์ในการใช้ “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” (รูปเหมือน หรือเหมือนกับ พระเจ้า)[21] ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเพื่อเป็นข้อโต้แย้งการเป็นพระเจ้าของพระเยซู  ความพยายามใดๆที่ไปในแนวทางนี้ควรถูกหยุดยั้งด้วยคำตรัสของพระยาห์เวห์ในอิสยาห์ 43:10 ว่า “ก่อนหน้าเราไม่มีพระเจ้าใดถูกปั้นให้เป็นรูปร่างขึ้น และหลังจากเราก็ไม่มีเลย” (ฉบับ ESV)  พระยาห์เวห์กำลังตรัสว่า ไม่มีพระเจ้าใดที่เคย “ถูกปั้น” หรือจะมีอีกเลย  เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครที่อยู่ใน “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” จะสามารถเป็นพระเจ้าได้  พระเยซูทรงอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้าในความหมายเดียวกันกับที่อาดัมถูกสร้างหรือ “ปั้น” ขึ้น (ปฐมกาล 2:7) ตาม “รูปเหมือน” หรือ “เหมือน” กับพระเจ้า (ปฐมกาล 1:26)[22]

      สำหรับการถกเถียงทางศาสนศาสตร์ในหัวข้อนี้ ให้ดูในภาคผนวก 6 ของหนังสือเล่มนี้ (“คาร์ล-โจเซฟ คูเชล เกี่ยวกับพระคริสต์กับอาดัม”)[23]

 

ประเด็นที่ 4: การกราบไหว้รูปเหมือนเป็นการไหว้รูปเคารพ

      พระคริสต์ทรงเป็นพระฉายาหรือ “รูปเหมือนของพระเจ้า” (2 โครินธ์ 4:4; โคโลสี 1:15)  เราก็เป็นรูปเหมือนของพระเจ้าด้วย แต่พระคริสต์ทรงเป็นรูปเหมือนของพระเจ้าที่ยอดเยี่ยม เพราะพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบแต่เพียงผู้เดียวที่เคยมีชีวิตอยู่  เมื่อเราเห็นพระเยซูผู้เป็นรูปเหมือนที่สมบูรณ์แบบของพระเจ้า เราก็จะเห็นพระเจ้าในพระสิริ ความงดงาม และความสูงส่งทั้งสิ้นของพระองค์

      ในประเด็นที่ 3 เราได้เห็นว่าสามคำนิยามของ eikōn (“รูปเหมือน”) ของพจนานุกรมฉบับ BDAG ทั้งหมดมีคำว่า “form” (รูปลักษณ์) ที่ให้หลักฐานของคำมากขึ้นว่า “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” จริงๆหมายถึง “รูปเหมือนของพระเจ้า”  สิ่งนี้ช่วยอธิบายความหมายของ “ผู้ที่แม้จะอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า”[24]

      จากคำ eikōn เราจึงได้คำภาษาอังกฤษว่า “icon” (ไอคอน)  การใช้คำนี้ในคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่น่าทึ่งกับความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความหมายพื้นฐานของคำไอคอน  โปรแกรมไมโครซอฟท์ เอ็กซ์เซล 2010 เป็นแฟ้มกระทำการ 20,000,000 ไบต์[25] ในขณะที่ไอคอนเป็นไฟล์ขนาดเล็ก 3,000 ไบต์  โปรแกรมนั้นจะแตกต่างจากไอคอนที่ชี้ไปที่โปรแกรม แต่ไอคอนก็ยังเป็นตัวแทนของโปรแกรมที่เรากดคลิกที่ไอคอนเหมือนว่าเป็นโปรแกรมเอง และก็โดยทางไอคอนนี่เองที่เราเข้าถึงโปรแกรม

      คำว่า eikon ถูกใช้กับรูปเหมือนที่อยู่บนเหรียญ เช่น รูปของซีซาร์ที่อยู่บนเหรียญที่พระเยซูทรงให้พวกฟาริสีดู ตามที่บันทึกไว้ในมัทธิว 22:20 ที่แปล eikōn ไว้ว่า “เหมือน” (“รูปในเหรียญนี้เหมือนของใคร” ฉบับ ESV) หรือ “รูปเหมือน” (ฉบับ NIV) หรือ “ภาพเหมือน” (ฉบับ NJB)  eikōn (ไอคอน, รูปสัญลักษณ์) นี้เป็นภาพเหมือนของซีซาร์ที่เหมือนซีซาร์  สิ่งที่เราเห็นในเหรียญนั้นไม่ใช่ตัวตนจริงของซีซาร์แต่เป็นรูปเหมือนของซีซาร์  ในทำนองเดียวกัน พระคริสต์ผู้เป็นรูปเหมือนของพระเจ้าก็ไม่ใช่ตัวพระเจ้าเอง  แต่เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เราดูไม่ออกเลยว่าเป็นรูปเหมือนของผู้ที่รูปเหมือนนั้นเป็นตัวแทนให้เห็น ดังนั้นเราจึงไม่ได้ลังเลที่จะนมัสการพระเยซูผู้ที่เป็นรูปเหมือนของพระเจ้าว่าเป็นพระเจ้า เราจะต้องจำไว้เสมอว่ามนุษย์ก็เป็นรูปเหมือนของพระเจ้า แต่มนุษย์ไม่ควรได้รับการนมัสการว่าเป็นพระเจ้า

      พระคัมภีร์ห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้กราบไหว้รูปเหมือนต่างๆ  โมเสสได้เตือนชาวอิสราเอลว่า “เพราะในวันนั้นท่านไม่เห็นรูปสัณฐานใดๆ เมื่อพระยาห์เวห์ตรัสกับท่านที่โฮเรบจากท่ามกลางไฟ  จงระวังเถิด เกรงว่าท่านทั้งหลายจะหลงทำรูปเหมือนแกะสลักสำหรับตนเอง เป็นรูปสัณฐานสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นรูปตัวผู้หรือตัวเมีย” (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:15-16; เปรียบเทียบเอเสเคียล 16:17)  ข้อห้ามตรงนี้ในการกราบไหว้รูปเหมือนนั้นครอบคลุมทุกอย่าง ครอบคลุมทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “รูปเหมือน” หรือ “รูปลักษณ์” หรือ “รูปสลัก” หรือ “สิ่งที่ทำเหมือน”

      ถึงแม้จะมีข้อห้ามในการกราบไหว้รูปเหมือนเหล่านั้น บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไม่ลังเลที่จะกราบไหว้ “พระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์” (เหมือนที่พระองค์ถูกเรียกใน 1 ทิโมธี 2:5) ผู้เป็นรูปเหมือนที่เป็นมนุษย์และมองเห็นได้ของพระเจ้า  เช่นนั้นแล้วเพราะเหตุใดเราจึงถูกห้ามไม่ให้กราบไหว้มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ผู้ที่เป็นรูปเหมือนของพระเจ้าเช่นเดียวกัน? (พจนานุกรมพระคัมภีร์ฉบับใหม่, หัวข้อ “รูปเหมือน”,[26] อ้างถึงปฐมกาล 9:6 และยากอบ 3:9, กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “มนุษย์ยังคงถูกพูดถึงว่าเป็นรูปเหมือนของพระเจ้า หลังจากการไม่เชื่อฟังของอาดัม”)

      ในข้อแรกของบัญญัติสิบประการ พระยาห์เวห์ทรงห้ามกราบไหว้ผู้ใดโดยเด็ดขาด (นี่จะรวมถึงพระเยซู) ที่นอกเหนือจากหรือต่อพระพักตร์พระยาห์เวห์ รวมถึงกราบไหว้รูปเหมือนใดๆ (รวมถึงพระเยซูผู้ที่เป็นรูปเหมือนของพระเจ้า)

 

‘ห้าม​มี​พระ​เจ้า​อื่น​ใด​นอก​เหนือ​จาก​เรา  ‘ห้าม​ทำ​รูป​เคารพ​สำหรับ​ตน เป็น​รูป​สิ่ง​ใด​ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​ฟ้า​เบื้อง​บน หรือ​บน​แผ่น​ดิน​เบื้อง​ล่าง หรือ​ใน​น้ำ​ใต้​แผ่น​ดิน  ห้าม​กราบ​ไหว้​หรือ​ปรน​นิบัติ​รูป​เหล่า​นั้น​เพราะ​เรา​คือ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​เจ้า เป็น​พระ​เจ้า​ที่​หวง​แหน (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:7-9)[27]

 

      เราจะจบส่วนนี้ด้วยคำกล่าวของเจมส์ ดี จี ดันน์[28]ที่ต่อต้านการกราบไหว้นมัสการพระเยซูผู้ที่เป็นรูปเหมือนของพระเจ้าว่า

 

นี่คืออันตราย (ของการกราบไหว้นมัสการพระเยซูแทนพระเจ้า) ที่ช่วยอธิบายว่าทำไมพระคัมภีร์ใหม่จึงกล่าวถึงพระเยซูด้วยคำว่า ‘ไอคอน’ (eikon) –ทรงเป็น ‘ไอคอน’ ของพระเจ้าที่เราไม่สามารถมองเห็นได้  เพราะการถกเถียงอย่างยืดเยื้อในศาสนาคริสต์ทางตะวันออกทำให้ความแตกต่างระหว่าง ‘ไอดอล’ (idol, รูปเคารพ) กับ ‘ไอคอน’ (icon, รูปเหมือน) จึงมีสำคัญมาก  ‘ไอดอล’ คือการแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ตาจับจ้อง เป็นกำแพงทึบที่การกราบไหว้นมัสการหยุดอยู่ตรงนั้น  ในทางกลับกันที่ ‘ไอคอน’ เป็นหน้าต่างที่ตามองผ่านทะลุซึ่งสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลออกไปได้ ที่สามารถมองเห็นความเป็นจริงของความเป็นพระเจ้าได้  ดังนั้นอันตรายในการกราบไหว้นมัสการซึ่งได้กลายมาเป็นการกราบไหว้นมัสการพระเยซูเสียมากกว่า ทำให้การกราบไหว้นมัสการที่พระเจ้าควรจะได้รับนั้นกลับมาหยุดอยู่ที่พระเยซู และการเปิดเผยของพระเจ้าผ่านทางพระเยซูและการกราบไหว้นมัสการพระเจ้าผ่านทางพระเยซู จึงถูกกั้นและถูกขวางทาง (คริสเตียนในยุคแรกนมัสการพระเยซูหรือไม่?,[29] หน้า 147)

 

การไหว้รูปเคารพของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพและวัวทองคำ

      การคิดผิดๆของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ และการกราบไหว้นมัสการพระเยซูเป็นพระเจ้า มีความคล้ายคลึงหลายอย่างกับรูปแบบและการกราบไหว้นมัสการวัวทองคำของชาวอิสราเอล

 

อพยพ 32:3-4 ดังนั้นประชาชนทั้งหมดจึงปลดตุ้มหู​​ของพวกตนมามอบให้อาโรน  เขาจึงใช้สิ่งที่พวกเขายื่นให้ แล้วนำมาหล่อ​​เป็นรูปวัวหนุ่ม แล้วพวกเขา​​ต่างพูดกันว่า “อิสราเอลเอ๋ย นี่คือ​​พระของพวกเจ้า ซึ่งนำเจ้าออกมาจากอียิปต์” (ฉบับ NIV)

กิจการ 7:41  แล้วพวกเขาก็หล่อรูปวัวหนุ่มขึ้น และนำเครื่องสัตวบูชามาถวายแก่รูปนั้น และรื่นเริงยินดีกับสิ่งที่พวกเขาทำขึ้นด้วยมือของพวกเขา (ฉบับ ESV)

 

      มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างระหว่างการกราบไหว้นมัสการพระเยซูกับการกราบไหว้นมัสการวัวทองคำ  คือว่าการกราบไหว้นมัสการทั้งสองอย่างเป็นผลมาจากอิทธิพลของการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ของคนต่างชาติ กรณีหนึ่งคือชาวอียิปต์ อีกกรณีหนึ่งคือชาวกรีก  กรณีหนึ่งเริ่มขึ้นหลังจากที่โมเสสขึ้นไปพบกับพระยาห์เวห์บนภูเขาซีนาย อีกกรณีหนึ่งเริ่มขึ้นหลังจากที่พระเยซูเสด็จขึ้นไปหาพระบิดา  วัวทองคำได้มาแทนที่พระยาห์เวห์ผู้เป็นเป้าหมายของการนมัสการอย่างไร พระเจ้าพระบุตรของความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ได้มาแทนที่พระยาห์เวห์ในศาสนาคริสต์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพอย่างนั้น  โทสะของโมเสสพลุ่งขึ้นเมื่อเขากลับลงมาจากภูเขาจะยิ่งเหมือนกับพระพิโรธของพระเยซูเมื่อพระองค์เสด็จมาครั้งที่สอง

      ผลที่ตามมาของการสังคายนาแห่งไนเซียก็คือ การที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพเปลี่ยนเป็น “เยซูอิสซึ่ม”[30] ทำให้อีกสองพระองค์ คือพระเจ้าพระบิดาและพระเจ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์ถูกจัดให้มีความสำคัญน้อยกว่าในคริสตจักรของคนต่างชาติ  นี่จะคล้ายกับสิ่งที่เจมส์ ดี จี ดันน์เรียกว่า ‘การกราบไหว้พระเยซูเป็นรูปเคารพ[31] แม้ว่าเขาจะใช้คำนั้นกับคริสตจักรสมัยใหม่มากกว่ากับคริสตจักรยุคแรกว่า “ผมใช้คำว่า ‘การกราบไหว้พระเยซูเป็นรูปเคารพในความหมายที่สำคัญว่าคล้ายกันหรือยังใกล้เคียงกับ ‘การไหว้รูปเคารพ” (คริสเตียนในยุคแรกนมัสการพระเยซูหรือไม่?, หน้า 147)

      บิชอปเกือบ 300 คนที่ประชุมกันในการสังคายนาแห่งไนเซีย ภายใต้การชี้แนะและการอุปถัมภ์ของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ยังไม่ได้เป็นคริสเตียน บิชอปเหล่านี้ได้ยกพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ขึ้นเท่าเทียมกับพระเจ้า หลังจากนั้นพระเยซูก็ทรงกลายเป็นศูนย์กลางของการนมัสการในคริสตจักร โดยให้ความสนใจต่อพระบิดาและพระวิญญาณเพียงน้อยนิด  สถานการณ์เช่นนี้ยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ในคริสตจักรคาทอลิกและคริสตจักรโปรแตสแตนท์

      ในคริสตจักรคาทอลิกมีการพัฒนาอย่างอื่นตามมาติดๆกับการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้า ก็คือการเชิดชูมารีย์ที่ได้รับการขนานนามว่า theotokos หรือ “ผู้ให้กำเนิดพระเจ้า” นั่นก็คือพระมารดาของพระเจ้า  ด้วยเหตุนี้เมื่อมีก้าวหนึ่งของการไหว้รูปเคารพในไม่ช้าก็มีอีกก้าวหนึ่งตามมา ซึ่งในกรณีนี้เกี่ยวกับการไหว้มารีย์เป็นรูปเคารพ[32] ที่ลัทธิบูชามารีย์เป็นรูปเคารพ  มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะรู้สึกว่ามารีย์มีอำนาจของความเป็นแม่ในการโน้มน้าวบุตรของเธอ เพื่อให้คำอธิษฐานของเรามีโอกาสจะได้รับคำตอบมากกว่า ถ้าพวกเขาจะพูดกับพระแม่มารีย์มากกว่าจะพูดกับพระเยซู  สิ่งที่กระทำต่อพระบิดาด้วยการยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้า พวกเขาก็กำลังกระทำกับพระเยซูด้วยการยก ระดับมารีย์ให้เป็นจุดศูนย์กลางของการนมัสการในคริสตจักรคาทอลิก

      เราจะได้เห็นกันว่า พระเยซูทรงอยู่ในฐานะที่ได้รับการยกย่องสูงสุดในพระคัมภีร์ แต่ไม่ใช่ในทางที่บดบังพระสิริของพระยาห์เวห์พระบิดา  ในทางตรงกันข้ามที่ทุกสิ่งที่พระเยซูทรงเป็นและทรงกระทำก็เพื่อ “ถวายพระเกียรติสิริแด่พระบิดา” (ฟีลิปปี 2:11 ฯลฯ )

 

พระคริสต์ไม่ได้ทรงแสวงหาการเท่าเทียมกับพระเจ้า

      เปาโลแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการที่พระเยซูทรงอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า กับการที่พระองค์ไม่ได้ทรงแสวงหาการเท่าเทียมกับพระเจ้าที่ “ผู้ที่แม้จะอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า พระ องค์ก็ไม่ได้ทรงยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า” (ฟีลิปปี 2:6 ฉบับ ESV)  อะไรคือความเชื่อมโยงที่มีเหตุผลระหว่างสองสิ่งนี้?  เมื่อมองแวบแรก ดูเหมือนว่าจะไม่มีการเชื่อมโยงอยู่ในตัวหรือมีสาเหตุว่าเพราะเหตุใดคนที่อยู่ในรูปลักษณ์หรือเป็นรูปเหมือนของพระเจ้า จึงคิดที่จะยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้า?  มนุษย์ทุกคนก็เป็นรูปเหมือนของพระเจ้าอยู่แล้ว และไม่เคยสูญเสียภาพลักษณ์นั้น  เรื่องนี้สอนโดยเปาโล (1 โครินธ์ 11:7) และยากอบ (3:9) และยืนยันไว้ในพระคัมภีร์เดิมแม้หลังจากที่อาดัมได้ทำบาป (ปฐมกาล 9:6)[33]  นอกจากนี้มันก็ยังคงมุมมองทางศาสนศาสตร์ของศาสนายิวอยู่  ประสบการณ์ของเราเองที่เป็นมนุษย์ซึ่งถูกสร้างตามรูปเหมือนของพระเจ้านั้นบอกเราว่า เราไม่มีความปรารถนาใดโดยเฉพาะหรือเหตุผลโดยธรรมชาติที่จะเรียกร้องความเท่าเทียมกับพระเจ้า เว้นแต่เราจะฟั่นเฟือนหรือทำเช่นนั้นด้วยเหตุผลทางการเมืองเหมือนกรณีของซีซาร์ของอาณาจักรโรมัน

      ถ้าหากไม่มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างสองสิ่งนี้ในฟีลิปปี 2:6 (มีรูปลักษณ์ของพระเจ้าและการยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า) แล้วทำไมเปาโลจึงเชื่อมโยงสองสิ่งนี้?  นี่เป็นเพราะฟีลิปปี 2:6 เป็นต้นไปเป็นเสียงสะท้อนที่ลึกซึ้งทางฝ่ายวิญญาณของการสร้างมนุษย์ในปฐมกาล

      เราได้เห็นว่า “รูปลักษณ์ของพระเจ้า” มีความเชื่อมโยงอยู่แล้วกับปฐมกาล (รูปเหมือนและเหมือนอย่างพระเจ้า และข้อเท็จจริงที่ว่าอาดัมได้ถูก “ปั้น” ด้วยพระหัตถ์ของพระเจ้าเอง)  ความเชื่อมโยงยิ่งลึกซึ้งขึ้นเมื่อเรานำเอาส่วนสำคัญของการยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้าเข้ามา คือฟีลิปปี 2:6 นำเรากลับไปยังเรื่องราวของการทดลองในปฐมกาล ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งกับชีวิตฝ่ายวิญญาณของอาดัม และยังคล้ายคลึงกับชีวิตฝ่ายวิญญาณของพระเยซูด้วย (แม้จะในเวลาและสถานที่ที่ต่างกัน และมีผลที่ตามมาต่างกัน)[34]

      ในความคล้ายคลึงกันนี้ก็ยังมีความแตกต่างระหว่างอาดัมกับพระคริสต์ เราจะเห็นการแยกแยะที่ชัดเจน คือคนหนึ่งเป็นมนุษย์คนแรกและอีกคนเป็นมนุษย์คนที่สอง คนหนึ่งคืออาดัมคนแรก อีกคนหนึ่งคืออาดัมคนสุดท้าย (1 โครินธ์ 15:47, 45)  แต่กระนั้นทั้งสองคนก็เริ่มต้นจากการเป็นมนุษย์ที่ปราศจากบาป  ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นมีเฉพาะอาดัมและพระเยซูที่เผชิญกับการทดลองขั้นสูงสุดที่จะยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้า  แม้ว่ามนุษย์เราเผชิญกับการทดลองต่างๆตลอดเส้นทางชีวิต แต่การทดลองเหล่านั้นจะไม่เหมือนแบบที่อาดัมและพระเยซูได้เผชิญในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้ปราศจากบาป  เพราะว่าเราได้ทำบาป เราจึงไม่คิดที่จะยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้า  เราไม่เคยมีประสบการณ์และจะไม่ได้มีประสบการณ์การทดลองในระดับเดียวกับการทดลองที่อาดัมและพระเยซูเผชิญ

      เริ่มแรกนั้น อาดัมเป็นผู้ที่ไม่มีบาปโดยข้อเท็จจริงเพียงว่าไม่ได้ทำบาป แต่เขาก็ไม่สมบูรณ์แบบในคุณธรรม เพราะความสมบูรณ์แบบในคุณธรรมนั้นโดยธรรมชาติแล้วไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นด้วยการที่พระเจ้าตรัสสั่ง แต่จะต้องบรรลุถึงโดยการทดสอบความเชื่อ  อาดัมไม่มีบาปในลักษณะเดียวกับที่เด็กทารกไม่มีบาป เพราะว่าทารกยังไม่ได้กระทำบาปและไม่สามารถที่จะแยกแยะถูกผิดได้  จะอย่างไรก็ตามในประเด็นสุดท้ายนี้ อาดัมกับเอวาแตกต่างจากเด็กทารกเพราะพวกเขาเข้าใจดีว่า พวกเขาจะต้องเชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้าที่จะไม่กินผลไม้ต้องห้าม  เพราะฉะนั้นความบาปของพวกเขาจึงเทียบได้กับการจงใจไม่เชื่อฟัง ซึ่งไม่เหมือนกับการกระทำที่ไม่รู้ของเด็ก  การไม่เชื่อฟังของอาดัมกับการเชื่อฟังของพระเยซูเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรอดของมวลมนุษย์ “เพราะว่าคนจำนวนมากเป็นคนบาป เพราะคนคนเดียวที่ไม่เชื่อฟังอย่างไร คนจำนวนมากก็เป็นคนชอบธรรม เพราะพระองค์ผู้เดียวที่ได้ทรงเชื่อฟังอย่างนั้น” (โรม 5:19)

      ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างการไม่เชื่อฟังของอาดัมกับการเชื่อฟังของพระคริสต์ จะถูกเผยให้เห็นในการเผชิญกับการทดลองจากซาตานตามลำดับ  ในกรณีของพระเยซูนั้น ความสำคัญของการทดลอง (มัทธิว  4:1-11; ลูกา 4:1-13) อยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า การทดลองเกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นพันธกิจของพระองค์ ซึ่งเหมือนกับข้อเท็จจริงที่ว่า อาดัมกับเอวาถูกทดลองไม่นานหลังจากที่พวกเขาเริ่มเข้าไปอยู่ในสวน

      ฟีลิปปี 2:6-9 เป็นภาพของพระเยซูคริสต์มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ผู้ไม่ยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า การเชื่อฟังพระเจ้าของพระองค์ก็คือการปฏิเสธความบาปอย่างเด็ดเดี่ยว  ในทางกลับกันก็เหมือนที่ความบาปก็คือการปฏิเสธการปกครองของพระเจ้า และการยืนยันความเท่าเทียมกับพระเจ้า ความบาปของอาดัมถือเป็น “การละเมิด” (โรม 5:14)[35] ซึ่งเป็นการ “ไม่สนใจ การฝ่าฝืน” คำสั่งของพระเจ้า (เธเยอร์, parabasis)[36] และมีรากฐานมาจากการไม่เชื่อฟัง (“การละเมิดหรือการไม่เชื่อฟังทุกอย่าง” ฮีบรู 2:2)[37]

      แต่พระเยซูทรงแตกต่างจากอาดัมตรงที่ “ทรงถ่อมพระองค์ลง โดยการยอมเชื่อฟังจนถึงความตายบนกางเขน” (ฟีลิปปี 2:8) ความสมบูรณ์แบบของพระองค์อยู่ที่การเชื่อฟังอย่างแน่วแน่ของพระ องค์ต่อพระบิดาตลอดชีวิตของพระองค์  และยังสัตย์ซื่อไปจนถึงการสิ้นพระชนม์อย่างทุกข์ทรมานและอย่างน่าอดสูบนกางเขน  การที่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้านั้น ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพียงแค่ครั้งเดียว แต่เป็นสิ่งที่ต่อสู้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ที่อยู่บนโลกนี้ ดังที่พระองค์ได้ทรงเผชิญกับการทดลองทีละอย่าง  แม้กระทั่งตั้งแต่ตอนเริ่มต้นพันธกิจของพระองค์

      ในขณะที่มนุษย์คนแรกยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้า (ปฐมกาล 3:5 “เจ้าจะเป็นเหมือนพระเจ้า”) แต่มนุษย์คนที่สองซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ได้ทรงปฏิเสธความคิดเช่นนั้น

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะอ่านฟีลิปปี 2:6 ให้หมายความว่าพระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าอยู่แล้วคือเป็น “พระผู้เป็นเจ้าพระบุตร” ในขณะที่พระองค์ปฏิเสธที่จะยึดฉวยความเท่าเทียมกับ     พระเจ้า แต่ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอยู่แล้ว เหตุใดพระองค์จึงจำเป็นต้องยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้าถ้าหากว่าพระองค์ทรงมีความเท่าเทียมกับพระเจ้าในทุกด้านตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ?  การโต้แย้งว่าพระองค์เต็มพระทัยที่จะสละความเท่าเทียมของพระองค์กับพระเจ้านั้นดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะทิ้งธรรมชาติที่เป็นเนื้อแท้ของตนเอง  ตัวอย่างเช่น ไม่มีใครที่สามารถจะถ่อมตัวเองลงให้เป็นสุนัขได้  เขาสามารถเลียนแบบการเห่าของสุนัขได้ แต่ไม่มีมนุษย์คนไหนจะมาเป็นสุนัขได้  และเนื่องจากพระเจ้าทรงไม่สามารถจะหยุดการเป็นพระเจ้าได้ ฉะนั้นการตีความฟีลิปปี 3:3 ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงดูไม่สอดคล้อง

      การแปลข้อนี้ของฉบับ ESV (“ที่แม้จะอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ก็ไม่ได้ทรงยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า”) เป็นตัวแทนของพระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษทั้งหลาย  แต่ฉบับ NIV ยกเลิกการแปลและกล้าเสี่ยงที่จะตีความทางศาสนศาสตร์เมื่อกล่าวว่า “ผู้ทรงธรรมชาติพระเจ้า แต่ไม่ได้ทรงยึดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า คำว่า “ทรงธรรมชาติพระเจ้า” นี้ไม่พบในข้อความภาษากรีกจากฟีลิปปี 2:6 นี่แสดงให้เห็นว่าผู้แปลทั้งหลายของฉบับ NIV คงไม่ได้คิดว่าคำกล่าวเดิมของเปาโลเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพไม่เคยคิดหรอกหรือว่า ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอยู่แล้ว ทำไมพระองค์จึงยังต้อง “ยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า” ด้วย?  การตีความของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจากฟีลิปปี 2:6 เป็นการทำลายความหมายที่ถูกต้องของคำ เป็นการดูถูกสติปัญญาของเรา และแสดงให้เห็นว่าพระคัมภีร์กล่าวคำที่ไม่สมเหตุสมผล

      เมื่อก่อนนี้ความคิดของเราถูกปรับให้เข้ากับความผิดพลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่การตีความเช่นนี้ไม่ได้ดูเหมือนว่าไม่สมเหตุสมผล  ตอนนี้เมื่อย้อนนึก ผมเห็นว่าด้านหนึ่งที่น่าตกใจของความเคยชินกับข้อผิดพลาดก็คือ การไม่สามารถมองเห็นได้ชัด  นี่คือสิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่าตาบอด เพราะมันชิงเอาความสามารถของเราที่จะมองเห็นความจริงที่ชัดแจ้งไปเสีย  ผลของความตาบอดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  ทำให้ความงดงามของข้อนี้และพระคัมภีร์ทั้งตอนจากฟีลิปปี 2:6-11 ซึ่งเปาโลกล่าวถึงความถ่อมพระองค์และการเชื่อฟังพระเจ้าของพระเยซูและเป็นผลให้พระองค์ทรงได้รับการถวายเกียรติจากพระบิดานั้นถูกทำลายไปหมด นี่คือสิ่งที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ทำกับพระคัมภีร์หลายตอน

      การตีความของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ทำให้เกิดปัญหาทำนองเดียวกันในตอนท้ายของเพลงสรรเสริญ (ข้อ 8 ถึง 11) ซึ่งกล่าวว่า พระเจ้าทรงยกพระเยซูขึ้นสูงสุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น จน กระทั่งว่าโดยพระนามนี้ ทุกเข่าในสวรรค์ ที่แผ่นดินโลก ใต้พื้นแผ่นดินโลกจะคุกลงกราบพระเยซู และทุกลิ้นจะยอมรับว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้า

      แต่คำกล่าวนี้จะนำมาใช้กับพระเจ้าพระบุตรของความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้อย่างไร?  ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอยู่แล้ว ทุกเข่าก็จะคุกลงกราบพระองค์อยู่แล้ว และทุกลิ้นก็จะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่ฟีลิปปีบทที่ 2 ยกระดับพระเกียรติสิริของพระเจ้าที่พระเยซูผู้เป็นพระเจ้านิรันดร์ตามความเชื่อตรีเอกานุภาพได้ทรงมีอยู่แล้ว?  จะมีใครไหมที่จะสามารถถูกยกย่องได้สูงมากขึ้นกว่านี้ในเมื่อรู้ความจริงแล้วว่าผู้นั้นเป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด?  การยกย่องพระเยซูในคำสอนของเปาโลก็คือสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงให้กับพระองค์  แต่จะไม่มีความจำเป็นต้องให้การยกย่องเช่นนั้นถ้าพระเยซูทรงมีพระเกียรติสิริของความเป็นพระเจ้าอยู่แล้ว  การตีความของความเชื่อในตรีเอกานุภาพจึงดูเป็นไปไม่ได้

      พระคัมภีร์ฉบับนิวเยรูซาเล็ม (NJB) เป็นพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการของคาทอลิกนอกประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้น่าประทับใจในความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่ที่น่าประทับใจยิ่งขึ้นก็คือความสมัครใจที่จะทิ้งการตีความฟีลิปปี 2:6-11 ตามแบบฉบับของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ และนอกจากนี้ยังตระหนักถึงความเหมือนกันของรูปลักษณ์ของพระเจ้ากับพระฉายาของพระเจ้า  ข้อที่ตัดตอนต่อไปนี้มาจากฉบับ NJB ที่คำว่า kenosis หมายถึงการทำให้ตัวเองไม่มีความสำคัญ[38]

 

[ฟีลิปปี 2:6-11] เข้าใจกันว่าเป็น kenosis ของพระคริสต์ในการทิ้งพระเกียรติสิริความเป็นพระเจ้าของพระองค์เองเพื่อจะมีชีวิตอย่างมนุษย์และรับการทนทุกข์  เป็นไปได้อย่างมากว่า ตรงนี้พระเยซูทรงเป็นอาดัมคนที่สองที่แตกต่างจากอาดัมคนแรก อาดัมคนแรกที่อยู่ในรูปลักษณ์หรือรูปเหมือนของพระเจ้านั้นได้พยายามที่จะยึดฉวยความเท่าเทียมกับพระเจ้า และด้วยความทะนงตนนี้จึงตกลงในบาป  แต่ตรงกันข้ามกับพระเยซูที่ด้วยการถ่อมตนของพระองค์ พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นเพื่อพระเกียรติของพระเจ้า  ในการตีความแบบดั้งเดิมแต่น่าจะเป็นไปได้น้อยกว่า ที่การทำให้ตัวเองไม่มีความ สำคัญหรือ kenosis นี้แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธความปรารถนาของตนเองโดยสมัครใจของพระเยซูในช่วงชีวิตที่พระองค์ทรงอยู่ในโลกเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติพระเจ้า แต่การตีความแบบนี้ไม่เพียงแต่จะไม่ค่อยตรงตามพระคัมภีร์แล้ว ก็ยังผิดยุคสมัยอีกด้วยกับการพัฒนาศาสนศาสตร์เกี่ยวกับพระคริสต์ตามความคิดของเปาโลในตอนนี้ (ฉบับ NJB, เชิงอรรถฟีลิปปี 2:5d และฟีลิปปี 2:7g)

 

กษัตริย์เมืองไทระอวดตัวเป็นพระเจ้า

      การพิพากษาของพระยาห์เวห์ต่อกษัตริย์แห่งไทระให้แง่คิดกับเราว่า การที่คนๆหนึ่งอยากจะเป็นเหมือนพระเจ้านั้นหมายความถึงอะไร  พระคัมภีร์ตอนต่อไปนี้เข้าใจยากเพราะใช้การอ้างอิงสี่ระดับ  ฉะนั้นเพื่อจะเข้าใจความคิดกว้างๆ ให้อ่านสามประโยคที่เป็นตัวเอนก็พอ

 

พระดำรัสของพระยาห์เวห์มาถึงข้าพเจ้าว่า “บุตรมนุษย์เอ๋ย จงกล่าวแก่เจ้าผู้ครองแห่งไทระว่า พระยาห์เวห์องค์เจ้านายตรัสดังนี้ว่า เพราะใจของเจ้าหยิ่งผยอง และเจ้า​​กล่าวว่า “ข้าเป็นพระเจ้า ข้านั่งบนที่นั่งของพระเจ้าทั้งหลาย ในใจกลางท้องทะเล” แต่เจ้าเป็นแค่มนุษย์ ไม่ใช่พระเจ้า แม้เจ้าจะทำให้ใจของเจ้าเหมือนใจของพระเจ้า... เจ้าได้เพิ่มพูนทรัพย์สมบัติของเจ้า และใจของเจ้าก็ผยองในทรัพย์สมบัติของเจ้า ดังนั้นพระยาห์เวห์องค์เจ้านายจึงตรัสว่า เพราะเจ้าทำให้ใจของเจ้าเหมือนใจของพระเจ้า ดังนั้น จงดูสิ เราจะนำคนต่างชาติมาต่อสู้เจ้า เป็นชนชาติที่โหดเหี้ยมที่สุดในบรรดาประชาชาติ และพวกเขาจะชักดาบของพวกเขาห้ำหั่น...พวกเขาจะผลักเจ้าลงไปในขุมนรก แล้วเจ้าจะตายอย่างคนที่ถูกฆ่าในใจกลางท้องทะเล  เจ้ายังจะกล่าวอีกไหมว่า “ข้าเป็นพระเจ้า” ต่อหน้าคนที่ฆ่าเจ้า? แม้เจ้าจะเป็นแค่มนุษย์ ไม่ใช่พระเจ้า ในมือของคนที่ฆ่าเจ้า?” (เอเสเคียล 28:1-9, ฉบับ ESV, โดยใช้ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู)

 

      พระคัมภีร์ตอนนี้พูดถึงกษัตริย์แห่งไทระเป็นคำกวีว่าเป็นเสมือนพระเจ้า แต่พระองค์ก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่คิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้า  สิ่งนี้คล้ายคลึงกับการอวดตัวในอิสยาห์ 14:13-14 (“ข้าจะขึ้นไปยังฟ้าสวรรค์ ข้าจะตั้งพระที่นั่งของข้า เหนือดวงดาวทั้งหลายของพระเจ้า...ข้าจะทำให้ตัวของข้าเองเหมือนองค์ผู้สูงสุด”) และการไหว้รูปเคารพที่เห็นในกิจการ 12:22-23 (ทูตสวรรค์ทำให้เฮโรด อากริปปาเป็นโรคร้ายและสิ้นพระชนม์ เพราะทรงรับการยกย่องให้เป็นรูปเคารพจากฝูงชนที่ประกาศว่าพระองค์เป็นพระเจ้า)

      จากตัวอย่างเหล่านี้เราจะเห็นว่ามนุษย์โดยเฉพาะที่อยู่ในฐานะที่มีอำนาจทางโลก ทะเยอทะยานที่จะเป็นเหมือนพระเจ้า  นี่คือความทะเยอทะยานของอาดัมและเอวา  ถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกสร้างให้เหมือนอย่างพระเจ้า แต่พวกเขาก็อยากจะได้ความรู้ และความรู้คือพลังอำนาจ ที่จะเป็น “เหมือนอย่างพระเจ้า” (ปฐมกาล 3:5)[39]  มนุษย์มักต้องการที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้าเสมอ

 

อยู่ในรูปลักษณ์ของคนรับใช้

      เหตุการณ์ในพระชนม์ชีพของพระเยซูตามภาพคร่าวๆในฟีลิปปีบทที่ 2 ได้เกิดขึ้นบนโลกและไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่มีอยู่ก่อน (ก่อนเป็นมนุษย์ หรือก่อนเกิด) ตามการคาดการณ์ของบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ  การที่พระเยซูทรงอยู่ในรูปลักษณ์หรือรูปเหมือนของพระเจ้านั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนก็เป็น เมื่อเขาหรือเธอเกิดเข้ามาในโลก (หรือในกรณีของอาดัมกับเอวาเมื่อถูกสร้าง)  พระเยซูก็ทรง “เกิดจากครรภ์ของผู้หญิง” (กาลาเทีย 4:4)[40] เช่นเดียวกับนมนุษย์อย่างเรา  แม้ว่าพระองค์จะทรง “บังเกิดจากพระวิญญาณ” ด้วยเมื่อทรงบังเกิดมา (ลูกา 1:35, เปรียบเทียบยอห์น 3:5, 6, 8)[41] พระองค์ก็ไม่ได้เป็นมนุษย์น้อยลงเพราะเหตุนั้น  ในทำนองเดียวกันเมื่อเราบังเกิดจากพระวิญญาณ เราก็ไม่ได้เป็นมนุษย์น้อยลง  ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ใหม่ที่การเกิดจากหญิงพรหมจารีของพระเยซูถูกใช้เป็นข้อโต้เถียงในการยืนยันการเป็นพระเจ้าของพระองค์  เป็นเรื่องน่าสนใจที่คัมภีร์กุรอ่านของศาสนาอิสลามให้เนื้อที่ส่วนใหญ่กับหัวข้อเรื่องการประสูติจากหญิงพรหมจารีของพระเยซู โดยไม่เคยนำมาเป็นหลักฐานในการเป็นพระเจ้าของพระองค์

      เนื่องจากเหตุการณ์อื่นๆในเพลงสรรเสริญของฟีลิปปีบทที่ 2 ที่เกิดขึ้นบนโลกนั้นชัดเจนเพียงพอ เช่น การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูบนไม้กางเขน  ภาษากวีของเพลงสรรเสริญนี้สะท้อนให้เห็นในคำเช่น “รูปลักษณ์” และ “เหมือน” ปรากฏซ้ำอีกในข้อ 7 ว่า “อยู่ในรูปลักษณ์ของคนรับใช้ ทรงถือกำเนิดเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย (ฉบับ ESV)”  ภาษาของ “รูปลักษณ์” ยังปรากฏในข้อถัดไปว่า “และเมื่อทรงปรากฏในรูปลักษณของมนุษย์นั้น” (ข้อ 8)  การใช้คำ “รูปลักษณ์” ซ้ำนี้มีจุดมุ่งหมายมาก กว่าการแค่พูดซ้ำ เพราะภาษาของ “รูปลักษณ์” หรือ “รูปลักษณ์มนุษย์” มุ่งหมายเพื่อจะสะท้อนให้เห็นเรื่องราวของการสร้างอาดัมในปฐมกาล (อาดัมถูก “ปั้นให้มีรูปร่าง” โดยพระเจ้า)

      ความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย เป็นกุญแจสำคัญในการทำพันธกิจทั้งสิ้นของพระองค์  การตัดสินพระทัยที่จะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อยเป็นการตัดสินพระทัยที่จะเชื่อฟังพระเจ้า  การแสดงให้เห็นถึงการเชื่อฟังอย่างสูงสุดของพระเยซู ทำให้ส่วนนี้ของเพลงสรรเสริญมาถึงจุดสูงสุดที่ “พระองค์ทรงยอมเชื่อฟังจนถึงความตาย แม้แต่ความตายบนกางเขน”  พระองค์ทรงเต็มพระทัยที่จะทนทุกข์ทรมานและตายเหมือนผู้ร้ายทั่วๆไปโดยไม่เหลือเกียรติไว้เลย  “ไม่มีใครชิงชีวิตไปจากเราได้ แต่เราสละชีวิตตามที่เราตั้งใจเอง” (ยอห์น 10:18)

      ด้วยการเชื่อฟังอย่างทั้งหมดของพระองค์ ทำให้พระเยซูทรงทิ้งห่างอาดัมที่อ่อนกำลังในการไม่เชื่อฟังไว้ข้างหลัง จนอาดัมแทบจะมองไม่เห็นเมฆคลุมรถรบแห่งชัยชนะของพระเยซูที่ลอยขึ้นสู่สวรรค์ (ใช้ภาพของเอลีชาที่เฝ้าดูเอลียาห์ถูกรับขึ้นไปบนสวรรค์)

      สิ่งที่อาดัมไปไม่ถึงก็คือในการเป็น “เหมือนพระเจ้า” นั้น ตอนนี้พระเจ้าพระบิดาทรงมอบให้กับพระเยซู  การเป็นเหมือนพระเจ้าหมายความว่าอะไรหรือ?  มันจะรวมถึง “การมีส่วนในพระลักษณะของพระเจ้า” อย่างไม่มีข้อสงสัยเลย (เปรียบเทียบ 2 เปโตร 1:4)[42]  นอกจากนี้ยังรวมถึงการได้รับสิทธิอำนาจทั้งสิ้นในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกด้วย (มัทธิว 28:18)[43]

      ความถ่อมพระทัยของพระเยซูเป็นภาพสะท้อนของความถ่อมพระทัยของพระเจ้า ที่แสดงให้เห็นในการรับใช้ประชากรของพระองค์  มีพวกเรากี่คนที่สามารถคาดคิดว่าพระเจ้าจะทรงทำงานของคนรับใช้หรือคนงา?  ผมได้อธิบายถึงแง่มุมนี้ของพระเจ้าพร้อมรายละเอียดพอควรในหนังสือพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว (TOTG) บทที่ 5 โดยชี้ไปที่งานอย่างคนใช้ที่พระองค์ทรงเต็มพระทัยที่จะทำเพื่อมนุษย์  คือพระเจ้าได้ทรงปลูกสวนในเอเดนสำหรับมนุษย์ ได้ทรงจัดเตรียมหนังสัตว์ให้อาดัมกับเอวาสวมใส่หลังจากที่พวกเขาได้ทำบาป และยังได้ทรงฝังร่างที่ไร้ชีวิตของโมเสสไว้บนเขาปิสกาห์!  การทำงานหยุมหยิมเหล่านี้ของคนรับใช้โดยเฉพาะการฝังศพโมเสส ที่บรรดานักปรัชญาศาสนาหลายคนถือว่าไม่เหมาะสมกับพระเจ้า ความคิดและใจของพวกเขาไม่กว้างพอที่จะปรับความคิดที่ว่าพระเจ้าผู้ “สถิตอยู่ไกลโพ้น” จะยอมให้ “พระหัตถ์ของพระองค์เปรอะเปื้อน” กับงานต่ำๆอย่างคนใช้ แม้แต่งานที่เปรอะเปื้อนอย่างการฝังศพโมเสส  แม้ว่าเหล่าทูตสวรรค์จะไม่ได้ปรากฏตัวในเรื่องราวที่พระเจ้าทรงทำงานของคนใช้จากตั้งแต่ปฐมกาลไปจนถึงเฉลยธรรมบัญญัติ ผู้อธิบายบางคนได้กล่าวโดยไม่มีการสนับสนุนจากพระคัมภีร์ว่า แท้จริงแล้วพระเจ้าได้ทรงบัญชาพวกทูตสวรรค์ให้ทำงานเหล่านี้  จากทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่าพระยาห์เวห์ทรงงดงามด้วยพระสิริและความถ่อมพระทัยอย่างไม่มีใครเทียบได้ของพระองค์ เกินกว่าที่ปัญญาอันน้อยนิดของเราจะนึกคิดได้

      นี่เป็นท่าทีเดียวกันของคนรับใช้ที่ยอดเยี่ยม ที่เราเห็นในพระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ไม่ใช่หรือ เมื่อพระองค์ประทับนั่งข้างกองไฟ ขณะพระองค์ทรงเริ่มเตรียมอาหารเช้าให้กับเหล่าสาวกของพระ องค์ที่แคว้นกาลิลี (ยอห์น 21:9-13)?  คำกล่าวของเปาโลเป็นความจริงทีเดียวที่พระเยซูทรงทำให้พระเจ้าผู้ที่เรามองไม่เห็นปรากฏให้เห็นได้  ผู้ที่ดูหมิ่นเรื่องราวในพระคัมภีร์เดิม ที่พระยาห์เวห์ทรงทำงานของคนรับใช้ จะดูหมิ่นเรื่องราวในพระคัมภีร์ใหม่ด้วยไหม ที่พระเยซูทรงทำอาหารมื้อเช้าที่  กาลิลี หรือเหตุการณ์ที่สรุปรวมชีวิตของพระเยซูในฟีลิปปีบทที่ 2 ที่พระองค์ทำให้พระเจ้าผู้ที่เรามองไม่เห็นปรากฏให้เห็นได้?  ถ้าเราเอาเหตุการณ์ในฟีลิปปี 2 ออกไปจากชีวิตของพระองค์ แล้วจะเหลืออะไรไว้หรือ?  ฟีลิปปีบทที่ 2 ไม่ใช่การสรุปชีวิตและพันธกิจทั้งหมดของพระเยซูหรอกหรือ?  ชีวิตในทุกด้านของพระองค์และความตายของพระองค์ ไม่ได้สรุปไว้อย่างสมบูรณ์ในเพลงสรรเสริญที่ยอดเยี่ยมนี้ ที่พระเยซูทรงสำแดงพระสิริของพระยาห์เวห์จนเราเห็น “พระสิริของพระเจ้าที่ปรากฏบน    พระพักตร์ของพระเยซูคริสต์” (หัวข้อย่อยของหนังสือเล่มนี้) หรอกหรือ?

 

องค์ผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริ

      ฟีลิปปีบทที่ 2 แสดงให้เห็นการยกย่องพระเยซู ซึ่งเป็นผลมาจากการเชื่อฟังอย่างสมบูรณ์ของพระองค์  พระเจ้าพระบิดาทรงยกพระเยซูขึ้นให้ประทับอยู่ข้างๆพระองค์เอง เพื่อที่พระเยซูจะทรงมีส่วนกับพระสิริของพระองค์ที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์  และเนื่องจากเป็นพระสิริของพระยาห์เวห์เองที่ส่องออกมาจากพระคริสต์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อ “เป็นการถวายพระเกียรติสิริแด่พระเจ้าพระบิดา” (ข้อ 11)[44]

      คำเรียก “องค์ผู้เป็นเจ้า” (“Lord”) ได้มอบให้โดยเฉพาะกับพระเยซูพระเมสสิยาห์ดังที่ “พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูที่ท่านทั้งหลายตรึงไว้บนกางเขนนั้น ให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเมสสิยาห์” (กิจการ 2:36)  คำว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” ที่นำมาใช้กับพระเยซูนั้นไม่ใช่คำเรียกพระเจ้า แต่เป็นคำเรียกที่ยกย่องที่พระบิดาทรงมอบให้พระองค์เป็นพิเศษ  เราจะต้องไม่สับสนกับคำ “Lord” ที่นำมาใช้กับพระเยซูและคำ “Lord” ที่ใช้แทนคำ “YHWH” (พระยาห์เวห์) ในพระคัมภีร์ส่วนใหญ่  ข้อพระคัมภีร์เดิมต่างๆที่ยกมาอ้างอิงในพระคัมภีร์ใหม่มักมีคำว่า “Lord” ในพระคัมภีร์เดิม (เมื่อควรถูกแปลว่า “YHWH” หรือ “Yahweh”) และมีคำว่า “Lord” ในพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งเป็นความสับสนที่ทำให้เข้ากับความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  ความเท็จเติบโตจากการเอามาใช้ปนกันและจากความคลุมเครือ แต่ความจริงไม่มีความคลุมเครือ

      พระเยซูทรงถูกเรียกว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริ” (1 โครินธ์ 2:8, ยากอบ 2:1)[45] เพราะทรงได้รับการยกย่องจากพระบิดา  คำเรียกนี้ไม่ได้ใช้กับพระยาห์เวห์ในพระคัมภีร์เดิมและไม่มีปรากฏในพระคัมภีร์เดิมเลย  อย่างไรก็ตามพระยาห์เวห์ไม่ได้ถูกเรียกว่า “องค์ผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริ” แต่พระองค์ทรงถูกเรียกว่า “กษัตริย์​​ผู้ทรงพระสิริ” ในบทเพลงสดุดี 24:7-10 ที่งดงามเหล่านี้

 

ประตูเมืองเอ๋ย จงยกหัวของเจ้าขึ้น!

บานประตูโบราณเอ๋ย จงยกขึ้นเถิด! เพื่อกษัตริย์ผู้ทรงพระสิริจะได้เสด็จเข้ามา

กษัตริย์ผู้ทรงพระสิรินั้นคือผู้ใด?

คือพระยาห์เวห์ ผู้ทรงเข้มแข็งและทรงอานุภาพ พระยาห์เวห์ผู้ทรงอานุภาพในสงคราม!

ประตูเมืองเอ๋ย จงยกหัวของเจ้าขึ้น!

บานประตูโบราณเอ๋ย  จงยกขึ้นเถิด เพื่อกษัตริย์ผู้ทรงพระสิริจะได้เสด็จเข้ามา

กษัตริย์ผู้ทรงพระสิรินั้นคือผู้ใด?

คือพระยาห์เวห์จอมทัพ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงพระสิริ!

 

      ในทางกลับกัน พระเยซูทรงถูกเรียกว่าองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริผู้ทรงถูกตรึงกางเขน ดังที่ว่า “ไม่มีอำนาจครอบครองใดๆในยุคนี้รู้จักพระปัญญานี้ เพราะว่าถ้ารู้จักแล้ว จะไม่เอาองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริตรึงกางเขน” (1 โครินธ์ 2:8)  ในสมัยที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราไม่เห็นปัญหาที่จะเชื่อว่าพระเจ้าจะเป็นผู้ที่ถูกตรึงตายบนกางเขน ไม่ได้ตระหนักว่าเนื่องจากพระเจ้าทรงเป็นอมตะที่ไม่สามารถตายได้และทรงดำรงอยู่ “ตั้งแต่นิรันดร์กาลจนถึงนิรันดร์กาล” พระองค์ไม่สามารถตายได้โดยการถูกตรึงกางเขนหรือโดยวิธีอื่นใดที่จะฆ่าให้ตายได้

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่ในทิศทางเดียวกับพระคัมภีร์เมื่อพวกเขากล่าวว่าพระเยซูทรงได้รับพระเกียรติและพระสิริเพราะว่าพระองค์ได้ทรงยอมเชื่อฟังจนถึงความตาย  แต่ดูเหมือนพวกเขาได้มองข้ามหลักการพื้นฐานของข้อเชื่อในตรีเอกานุภาพเรื่องการดำรงอยู่ก่อนของพระคริสต์  คือถ้าพระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าที่ดำรงอยู่ก่อนตามที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอ้างว่าพระองค์ทรงเป็นในฟีลิปปี 2:6 (“ผู้ที่แม้จะทรงอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า”) ดังนั้นด้วยเหตุที่บุคคลผู้นี้เป็น  พระเจ้า ฉะนั้นจึงต้องเป็นอมตะ และเพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถตายบนกางเขนได้  เมื่อดูตามการให้เหตุผลในแนวนี้ต่อไปอีก ก็จะเห็นว่าการยกย่องซึ่งเป็นผลมาจากการเชื่อฟังของพระองค์จนถึงความตายนั้น ไม่สามารถมอบให้กับพระองค์ได้ถ้าพระองค์ไม่สามารถจะตายได้  ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สองอย่างที่อยู่ตรงหน้าเราคือ พระเยซูทรงเป็นมนุษย์แท้ (และไม่ใช่แค่พระเจ้าที่มีร่างกายเนื้อหนังเท่านั้น) และสามารถตายบนกางเขนได้ หรือไม่พระเยซูก็ทรงเป็นพระเจ้าตามที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบอกว่าพระองค์เป็น ซึ่งพระเยซูก็จะไม่สามารถถูกตรึงตายบนกางเขนหรือถูกอธิบายให้เห็นว่า ได้ทรงเชื่อฟัง “จนถึงความตาย” ได้  เราไม่สามารถมีทั้งสองทางได้

      ถ้าเราจะบอกว่าแค่ร่างกายเนื้อหนังของพระเยซูเท่านั้นที่ตาย นั่นก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะร่างกายเนื้อหนังของพระองค์ไม่ได้ดำรงอยู่ก่อน แม้แต่ในความเชื่อตรีเอกานุภาพ ร่างกายเนื้อหนังของพระองค์ก็ไม่ได้ดำรงอยู่ก่อน ซึ่งในกรณีนี้ผู้ที่ตายบนกางเขนก็ไม่ได้เป็นผู้ที่ดำรงอยู่ก่อนตามที่ทึกทักเอาจากฟีลิปปี 2:6  ถ้าที่ตายไปนั้นเป็นแค่ธรรมชาติของมนุษย์ แล้วใครกันหรือที่พระยาห์เวห์จะทรงยกย่องโดยที่ทุกเข่าจะคุกลงกราบพระองค์ หรือจะให้คุกลงกราบ “ธรรมชาติของมนุษย์”?  พระเจ้าจะทรงยกย่องพระกายของพระเยซูที่ตายแล้วจริงๆ หรือว่าจะทรงยกย่องผู้ที่เป็นพระเจ้าที่ดำรงอยู่ในร่างกายนั้น นั่นคือพระเจ้าพระบุตรผู้ทรงดำรงอยู่ก่อนที่ได้จุติลงมาเกิดในพระเยซูไหม?  ตรงนี้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพติดอยู่ในปัญหาอันยุ่งยากที่สร้างขึ้นมาเองกับความไม่ถูกต้องที่เผยออกมาให้กับทุกคนที่เปิดรับความจริง

 

พระนามที่อยู่เหนือทุกนาม

      บทกวีอันงดงามในฟีลิปปีบทที่ 2 สรุปด้วยคำว่า “เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าพระบิดา” (ข้อ 11)  แต่การยกย่องพระเยซูจะนำพระเกียรติมาสู่พระเจ้าพระบิดามากกว่าที่จะเบนความสนใจของเราไปที่พระเยซูอย่างที่เกิดขึ้นในความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้อย่างไร?

      คำตอบที่สรุปได้ของคำถามนี้อยู่ในข้อเท็จจริงที่เราได้เห็นในบทที่ 7 ว่ามีเพลงสรรเสริญพระเจ้าอยู่มากมายในพระคัมภีร์ใหม่  แต่กับพระเยซูนั้นมีอย่างมากที่สุดก็หนึ่งหรือสองแห่ง (เช่น โรม 9:5 ที่ถกเถียงกัน)[46]  ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นพระเยซูไม่ได้รับการนมัสการเป็นพระเจ้า (ถึงแม้พระองค์จะทรงได้รับการยกย่องอย่างสูง) แม้แต่หลังจากที่พระองค์ได้ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมาจากความตายและได้รับ “พระนามเหนือทุกนาม” (ฟีลิปปี 2:9)  แต่การประทานพระนามเหนือทุกนามให้แก่พระเยซูนั้น พระยาห์เวห์ได้ทรงทำให้พระนามของพระเยซูสูงที่สุดในจักรวาล ถัดจากพระนามของพระองค์เอง เพื่อว่าโดยพระนามของพระเยซูนั้นทุกเข่าจะคุกลงกราบ  ให้เรามาดูตอนท้ายของเพลงสรรเสริญในฟีลิปปีบทที่ 2

 

ฟีลิปปี 2:9-11

9 ดังนั้นพระเจ้าจึงได้ทรงยกพระองค์ขึ้นสูง และได้ประทานพระนามเหนือทุกนาม​​แก่พระองค์

10 เพื่อว่าดยพระนามของพระเยซูนั้น ทุกเข่าในสวรรค์ บนพื้นโลก และใต้พื้นโลก จะคุกลงกราบ

11 และทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่    พระเจ้าพระบิดา (ฉบับ ESV)

 

      พระเจ้าได้ประทาน “พระนามเหนือทุกนาม” ให้แก่พระเยซู (ข้อ 9)[47]  พระนามอะไรหรือที่พระเจ้าได้ประทานให้แก่พระองค์?  เป็นพระนามพระยาห์เวห์ของพระเจ้าเองไหม?  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะมีสองบุคคลที่ถูกเรียกว่าพระยาห์เวห์  แต่ฟีลิปปี 2:9 ไม่ได้กล่าวว่าพระเจ้าได้ประทานพระนามพระยาห์เวห์ของพระองค์เองให้แก่พระเยซู  นามๆหนึ่งจะระบุถึงบุคคลๆหนึ่งโดยเฉพาะและไม่สามารถจะมอบให้กับคนอื่นได้

      “ยาห์เวห์” เป็นนามเฉพาะและเป็นนามโดยสิทธิ์ ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นแค่คำเรียกเช่น “องค์ผู้เป็นเจ้า” หรือ “กษัตริย์” ซึ่งสามารถมอบให้กับหลายบุคคลได้  นามเฉพาะนามหนึ่งๆนั้นจะชี้เฉพาะบุคคลเมื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่อ้างอิง  ในกรณีนี้นามก็เป็นอัตลักษณ์ด้วย  บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะไม่สามารถมอบอัตลักษณ์ของตนเองให้กับบุคคลอื่นได้ ไม่เช่นนั้นก็จะมีสองบุคคลที่ถูกอ้างถึงด้วยนามเดียวกัน ในเมื่อความเป็นจริงแล้วมีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นบุคคลที่ถูกอ้างถึงอย่างถูกต้อง (ผู้อ้างอิง)  ยิ่งกว่านั้นในขณะที่มีดาวิด เปโตร และมัทธิวอยู่มากมายในสังคมมนุษย์ แต่ก็มีเพียงพระยาห์เวห์เดียวเท่านั้น (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4)[48]

      พระนามของพระยาห์เวห์ไม่สามารถจะมอบหรือถ่ายโอนให้คนอื่นได้ เพราะนามๆหนึ่งอ้างถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ผมไม่สามารถจะมอบนามอีริค ชาง[49] ของผมไปให้กับคนอื่นได้ (ซึ่งอย่างไรเขาก็มีชื่อของตัวเองอยู่แล้ว) หรือแม้หากว่านามของเขาจะเป็นอีริค ชาง ที่เหมือนกันโดยบังเอิญ พูดง่ายๆก็คือ ผมไม่สามารถจะมอบนามของผมเองที่มีเพื่ออ้างอิงถึงตัวผมเองนั้นเอาไปให้คนอื่นได้ นามของผมคือ วิธีที่ระบุถึงตัวผม ฉะนั้นผมจะเอาไปมอบให้กับคนอื่นได้อย่างไร? ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ยาห์เวห์เป็นนามที่มีความหมายไม่ซ้ำกับใคร ที่ใช้เฉพาะกับพระองค์เท่านั้นและไม่มีใครอื่นอีก ดังนั้นจึงถ่ายโอนไม่ได้

      ผู้มีชีวิตทั้งหลายมีนามซึ่งระบุอัตลักษณ์ของตน ไม่ว่าผู้มีชีวิตเหล่านั้นจะเป็นมนุษย์บนโลกหรือสิ่งที่เป็นวิญญาณในแดนสวรรค์ ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์กล่าวถึงนามของหัวหน้าทูตสวรรค์มีคาเอลและกาเบรียล (ยูดา 1:9; ลูกา 1:19)[50]  พระเยซูก็ยังถามนามของผีโสโครด้วย (มาระโก 5:9)[51]

      เราขอถามอีกครั้งว่า เมื่อพระยาห์เวห์ประทาน “พระนามเหนือทุกนาม” ให้แก่พระเยซูนั้นคือนามอะไรหรือ?  ในการรับมือกับคำถามนี้ เรากำลังเผชิญกับความจริงว่า พระนามของพระเจ้า “ยาห์เวห์” ถ้าจะพูดให้ถูกต้องแล้ว อาจเป็นนามเดียวที่สามารถกล่าวได้ว่า “เหนือทุกนาม”  ดังนั้นเราจึงพยายามจะบ่ายเบี่ยงโดยบอกว่าที่จริงนามที่มอบให้พระเยซูก็คือ “ยาห์เวห์” แต่แฝงอยู่ในนาม “เยซู” อย่างนั้นไหม?  ปัญหาในการอธิบายเรื่องนี้ก็คือว่านาม “เยซู” (ที่หมายถึง “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอด” หรือ “พระยาห์เวห์ทรงเป็นความรอด”) ได้มอบให้กับพระเยซูตอนที่ทรงบังเกิด ไม่ใช่ตอนที่พระองค์ทรงถูกยกขึ้นสูงในฟีลิปปี

      เราเคยถามกันว่า นอกจาก “ยาห์เวห์” แล้วมีนามอะไรหรือที่เหนือนามอื่นทุกนาม?  นั่นอาจเป็นคำถามที่ผิดที่จะถาม เพราะจริงๆแล้วพระคัมภีร์ตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยกตัวบุคคลของพระเยซูเองขึ้นสูงและดังนั้นจึงยกพระนามของพระองค์ขึ้นสูงด้วย  การยกพระนามของพระเยซูเหนือนามอื่นทุกนามหมายความว่า พระเยซูเองทรงถูกยกขึ้นเหนือสิ่งทรงสร้างทั้งหมด เพื่อว่าสิ่งทรงสร้างทั้งหมดจะ “ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้า” (เปรียบเทียบกิจการ 10:36องค์​​ผู้เป็นเจ้าเหนือคนทั้งหลาย”)[52]

      ฟีลิปปี 2:10-11 พูดคล้ายกับอิสยาห์ 45:23 ที่พูดถึงพระยาห์เวห์ว่า “ทุกเข่าจะกราบลงต่อเรา และทุกลิ้นจะปฏิญาณต่อเรา”  นี่จะหมายความว่าพระเยซูทรงได้รับพระนามว่า “ยาห์เวห์” หรือไม่?  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะหมายความว่า พระเยซูก็ได้กลายมาเป็นพระยาห์เวห์แล้ว  แต่นี่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันจะหมายความว่า พระยาห์เวห์ได้สูญเสียอัตลักษณ์ของพระองค์ หรือไม่ก็มีพระยาห์เวห์สององค์ ในขณะที่พระคัมภีร์กล่าวว่ามีพระยาห์เวห์เพียงองค์เดียว (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4)  เรากำลังลืมอีกครั้งว่าฟีลิปปี 2:6-11 เป็นคำกวี  เปาโลแค่กำลังยืนยันด้วยภาษากวีว่า พระเจ้าได้ทรงยกพระเยซูและยกพระนามของพระเยซูเหนือบรรดาสิ่งมีชีวิตถึงขนาดว่า พระเยซูทรงใช้สิทธิอำนาจของพระยาห์เวห์ในฐานะตัวแทนของพระองค์  อันที่จริงเปาโลกล่าวอย่างชัดเจนว่าเป็นพระนามของ “พระเยซู” ที่ทุกเข่าจะคุกลงกราบ เพราะฉะนั้นพระเยซูจึงยังคงมีพระนามของพระองค์ว่า “เยซู” แต่ตอนนี้นามนั้นได้ถูกยกขึ้นเหนือนามทั้งปวง

      ในสมัยของพระเยซูนั้น ชื่อ “เยซู” เป็นชื่อธรรมดาที่เหมือนกับโยชูวา  แม้ว่าชื่อนี้จะเป็นชื่อธรรมดาในอิสราเอล แต่พระเจ้าก็ประทานให้แก่พระเยซูเมื่อทรงบังเกิดเพราะความหมายของชื่อว่า “พระยาห์เวห์ทรงเป็นความรอด” ที่เปิดเผยให้เห็นสิ่งที่พระยาห์เวห์จะทรงทำให้สำเร็จผ่านพระองค์  และเพราะว่าพระเยซูยังคง “เชื่อฟังจนถึงความตาย แม้กระทั่งความตายบนกางเขน”  ไม่นานพระยาห์เวห์ก็ทรงยกย่องพระนาม “เยซู” ของพระองค์เหนือนามอื่นทุกนาม เพื่อว่าโดยพระนามของพระองค์นั้นทุกเข่าจะคุกลงกราบ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระยาห์เวห์  ในท่ามกลางเหตุผลอื่นๆนั้น พระยาห์เวห์ทรงได้รับการถวายพระเกียรติก็เพราะโดยการสิ้นพระชนม์และการเป็นขึ้นมาจากตายของพระเยซูที่พระเจ้าได้มาเป็นความรอดของเรา (“ดูเถิด พระเจ้าทรงเป็นความรอดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะวางใจและไม่กลัว” อิสยาห์ 12:2)[53]

 

พระเยซูในฐานะองค์ผู้เป็นเจ้าที่ถูกยกขึ้นสูง

      การประทานพระนามเหนือทุกนามในฟีลิปปีนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการสิ้นพระชนม์และการคืนพระชนม์ของพระเยซู  นั่นคือเหตุผลที่ก่อนการสิ้นพระชนม์และการคืนพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูจึงไม่ได้ทรงถูกเรียกว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” เว้นแต่ในสามความหมายต่อไปนี้

 

  1. วิธีเรียกพระเยซูแบบสุภาพและให้ความนับถือนั้นตรงกับคำว่า Sir” หรือ “Mister” หรือ “ท่าน” (มัทธิว 8:6, 8, 21; 15:22, 25, 27;ยอห์น 4:11,15,19, 49 ฯลฯ)[54]
  2. พระเยซูที่เป็นอาจารย์หรือรับบีกับเหล่าสาวกและผู้ติดตามที่อยู่ภายใต้พระองค์ (ยอห์น 6:68; 13:13,14)
  3. การอ้างอิงทางอ้อมถึงพระเยซูว่าเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าด้วยคำอ้างอิงจากพระคัมภีร์เดิมในพระคัมภีร์ใหม่ เช่น “The Lord said to my Lord(“พระเจ้าตรัสกับองค์ผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าว่า” ในมัทธิว 22:44[56] ซึ่งเป็นคำอ้างอิงมาจากสดุดี110:1 ที่ “Lord” คำแรกหมายถึงพระยาห์เวห์  ส่วน “Lordคำที่สองหมายถึงพระคริสต์)

 

      คำเรียกว่า “Lord (องค์ผู้เป็นเจ้า) ที่ใช้กับพระเยซูก่อนการสิ้นพระชนม์และการคืนพระชนม์นั้น ไม่ได้มีความหมายของการถูกยกขึ้นสูงเช่นเดียวกับ “Lord” ที่ใช้กับพระองค์หลังจากทรงคืนพระชนม์ ซึ่งสามารถยืนยันได้ด้วยการตรวจสอบคำ kyrios (Lord) ในศัพท์สัมพันธ์หรือโปรแกรมพระคัมภีร์  ในไม่ช้าก็จะเห็นได้ชัดว่าคำเรียก “Lord ที่ใช้กับพระเยซูก่อนการคืนพระชนม์นั้นแท้จริงแล้วแตกต่างจากหลังการคืนพระชนม์

      ในหนังสือกิจการ พระเยซูทรงถูกเรียกว่า “Lord” ในความหมายของการถูกยกขึ้นสูงของฟีลิปปี 2:9 (“พระนามเหนือทุกนาม”)  เปโตรรู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคำเทศนาของเขา ที่เขาประกาศโพล่งออกมากลางประโยคว่า “พระองค์ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าของคนทั้งปวง” (กิจการ 10:36)  เนื่องจากการพูดโพล่งออกมาด้วยความปลาบปลื้มยินดีนี้ ทำให้ชะงักการลื่นไหลของประโยค  ในฉบับแปลส่วนใหญ่จึงใส่ไว้ในวงเล็บ  ในพระคัมภีร์ใหม่หลังหนังสือกิจการ พระเยซูถูกพูดถึงว่าเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าในความหมายของการถูกยกขึ้นสูงนี้

      เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ “Lordในความหมายของการถูกยกขึ้นสูงของฟีลิปปี 2:9 นี้ ไม่เคยถูกนำมาใช้กับพระเยซูในพระกิตติคุณยอห์น และก็มีเพียงครั้งเดียวในการเขียนทั้งหมดของยอห์น (วิวรณ์ 17:14)[57]  แต่ kyrios (Lord) ในความหมายทั่วไปของ “Sir” ถูกใช้กับพระเยซูในพระกิตติคุณยอห์นโดยหญิงสะมาเรีย (ยอห์น 4:11, 15, 19), โดยข้าราชการที่ลูกชายป่วย (ยอห์น 4:49),[58] โดยคนป่วยที่ประตูแกะ (5:7), โดยหญิงล่วงประเวณี (8:11),[59] โดยมารีย์ (11:32) และโดยมารธา (11:27)  เหล่าสาวกของพระเยซูเรียกพระองค์ว่า “Lord” ในความหมายของ “อาจารย์” (ยอห์น 6:68; 13:13,14)[60]

      ข้อเท็จจริงในงานเขียนของยอห์น ที่พระเยซูแทบไม่เคยถูกเรียกว่า “Lord” ในความหมายของการถูกยกขึ้นสูงของฟีลิปปี 2:9 ทำให้ยิ่งโดดเด่นมากขึ้น เพราะงานเขียนของยอห์นเป็นสัดส่วนที่สำคัญของพระคัมภีร์ใหม่  ตรงกันข้ามกับจดหมายสั้นๆ เช่นยูดา ซึ่งมีแค่ 25 ข้อเท่านั้นก็ยังกล่าวถึงพระเยซูว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) สี่ครั้งในความหมายของการถูกยกขึ้นสูง  อาจมีคนสงสัยว่าทำไมยอห์นจึงหลีกเลี่ยงการใช้คำเรียก “Lord” กับพระเยซูในความหมายของการถูกยกขึ้นสูง  สิ่งนี้ทำให้งงยิ่งขึ้น เพราะงานเขียนของยอห์นได้รับการยกย่องจากบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพว่า สนับสนุน ศาสนศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตและงานของพระคริสต์อย่างมาก  ข้อเท็จจริงที่น่าแปลกใจนี้ควรกำหนดความเข้าใจของเราเกี่ยวกับยอห์น 20:28[61]

      คำเรียก “องค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้า” (Lord God) จะไม่พบในพระกิตติคุณหรือจดหมายของยอห์น แต่กระนั้นก็มีปรากฏแปดครั้งในวิวรณ์ โดยทั้งหมดหมายถึง “พระยาห์เวห์พระเจ้า” ( Lord  God) ของพระคัมภีร์เดิม (วิวรณ์ 1:8; 4:8; 11:17; 15:3; 16:7; 18:8; 21:22; 22:5)[62]

      ตัวอย่างของ “Lord” ที่หมายถึงพระยาห์เวห์ก็คือวิวรณ์ 11:15 ที่ว่า “อาณาจักรของโลกนี้กลับกลายเป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราแล้ว และเป็นของพระคริสต์ของพระองค์ และพระองค์จะทรงครอบครองตลอดไปเป็นนิตย์”  คำ “Lord” (“องค์ผู้เป็นเจ้า”) ตรงนี้หมายถึงพระยาห์เวห์ (Lord) อย่างชัดเจน ไม่ใช่พระคริสต์ และอาจพูดได้อย่างเดียวกันถึง “พระองค์” ใน “พระองค์จะทรงครอบครองตลอดไปเป็นนิตย์”  พระยาห์เวห์ไม่เพียงเป็นบุคคลหลักของข้อนี้และของข้อที่เหลือในบท     นี้เท่านั้น ยังเป็นการแยกความแตกต่างของสองบุคคลอย่างชัดเจน ระหว่างพระเจ้าฝ่ายหนึ่งและ    พระคริสต์อีกฝ่ายหนึ่ง

      เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น เรามองข้ามความแตกต่างระหว่างความหมายธรรมดากับความหมายของการยก “องค์ผู้เป็นเจ้า” (Lord) ขึ้นสูง เพราะเราถือว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าพระบุตร และใช้ทุกการอ้างอิงถึงพระเยซูว่า “องค์ผู้เป็นเจ้า” ในความหมายของพระเจ้า  สิ่งนี้ทำให้เรามองไม่เห็นว่า ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าจริงๆ พระองค์ก็จะมี “พระนามเหนือทุกนาม” อยู่แล้ว  การยกขึ้นสูงแบบไหนหรือที่พระบิดาจะสามารถประทานแก่พระองค์โดยประทานสิ่งที่พระองค์มีอยู่แล้วในฐานะที่เป็นพระเจ้า?

      แต่ในพระคัมภีร์ พระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์ไม่ได้ทรงถูกยกขึ้นให้เท่าเทียมกับพระยาห์เวห์ แต่ให้ประทับอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ ซึ่งเป็นตำแหน่งรองจากพระยาห์เวห์เท่านั้นในทั้งจักรวาล  แต่เราก็ยังรู้สึกว่านี่ยังไม่ดีพอสำหรับ “พระเจ้าพระบุตร” ที่เรามองว่าทรงเท่าเทียมกับพระบิดาทุกประการแม้ก่อนที่พระองค์จะทรงถูกยกขึ้นสูง  ความจริงก็คือว่าบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้ยกพระเยซูขึ้นในตำแหน่งที่สูงมากอยู่แล้วจนไม่สามารถจะยกให้สูงขึ้นอีกได้!  การที่ได้อยู่ในตำแหน่งเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดานั้น ที่จริงแล้วเป็นการลดตำแหน่งของพระเยซูในเรื่องความเท่าเทียมกับพระเจ้าตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ  การได้อยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของกษัตริย์เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุดและเป็นตำแหน่งที่พระราชินีจะประทับนั่ง (สดุดี 45:9; 1 พงศ์กษัตริย์ 2:19)[63] แต่ก็ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่เท่ากับของกษัตริย์เอง  การที่ได้อยู่ในตำแหน่งเบื้องซ้ายพระหัตถ์ของพระองค์นั้นถือว่ามีเกียรติน้อยกว่าอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ แต่ก็ยังคงเป็นตำแหน่งที่ประทับที่มีเกียรติมากเพราะมีความใกล้ชิดกับกษัตริย์ (มัทธิว 20:21, 23)[64]

      การที่พระเยซูคริสต์ประทับนั่งอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้านั้นเป็นใจความสำคัญในพระคัมภีร์ใหม่ ดังจะเห็นในข้อต่อไปนี้ในบรรดาข้ออื่นๆอีกมากมาย[65] (ทุกข้อยกมาจากฉบับ ESV)

 

โรม 8:34 พระเยซูคริสต์ผู้สิ้นพระชนม์แล้ว และยิ่งกว่านั้นอีก ผู้ทรงถูกชุบให้​​เป็นขึ้นจากความตาย​​ ผู้ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า ผู้ทรงอธิษฐานขอเพื่อเราอย่างแท้จริง

โคโลสี 3:1 ถ้า​​พวกท่านถูกชุบให้เป็นขึ้นมาด้วยกันกับพระคริสต์แล้ว ก็จงแสวงหาสิ่งที่อยู่เบื้องบนที่พระคริสต์ทรงอยู่ คือประทับอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า

ฮีบรู 8:1 เรามีมหาปุโรหิตอย่างนี้ ผู้ที่ประทับเบื้องขวาพระที่นั่งของพระผู้ทรงเดชานุภาพในสวรรค์

ฮีบรู 10:12 แต่เมื่อพระคริสต์ได้ทรงถวายเครื่องบูชาเพื่อลบบาปเพียงครั้งเดียวสำหรับตลอดไปแล้ว พระองค์ก็ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า

1 เปโตร 3:22 ผู้ได้เสด็จสู่สวรรค์ และประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า โดยมีเหล่า​​ทูตสวรรค์และเหล่าเทพผู้มีอำนาจ และเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์เดช อยู่ใต้อำนาจของพระองค์

 

      การยกพระเยซูขึ้นสูงได้เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ (คำว่า “ยกขึ้นสูง” และ “ได้ประทาน” ในฟีลิปปี 2:9 อยู่ในกาลกริยาแอริสต์[66])  ในตำแหน่งที่พระองค์ถูกยกขึ้นสูงเหนือโลกนั้น พระเยซูจะต้องปกครองจนกว่าพระองค์จะทรงปราบศัตรูทั้งหมดของพระเจ้าไว้ใต้อำนาจ (1 โครินธ์ 15:25-28)  เราเข้าร่วมการสู้รบครั้งนี้โดยนำความเย่อหยิ่งทุกรูปแบบให้อยู่ใต้อำนาจของพระคริสต์ (2       โครินธ์ 10:4-5) พระคริสต์ทรงทำหน้าที่เป็นตัวแทนที่มองเห็นได้ของพระเจ้า ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงมีชื่อย่อยว่า “พระสิริของพระเจ้า ที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6)  นี่จะช่วยให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ตอนต่อไปนี้

 

... พระองค์ทรงทำให้พระคริสต์เป็นขึ้นจากตาย และทรงให้ประทับที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ในสวรรคสถาน สูงส่งยิ่ง​​เหนือเทพที่ปกครอง เทพที่มีอำนาจ เทพที่มีฤทธิ์เดชและ​​เทพที่ครอบครอง และเหนือทุกนาม​​ที่ถูกเอ่ยถึง ไม่เพียงในยุคนี้เท่านั้นแต่ในยุคหน้าด้วย  และพระองค์ (พระเจ้า) ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้พระบาทของพระคริสต์ และตั้งพระองค์ให้เป็นเจ้านายเหนือทุกสิ่งต่อคริสตจักร ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์ เต็มบริบูรณ์ด้วยพระองค์ผู้ทรงเติมให้​​ทุกสิ่ง​​​บริบูรณ์ในทุกทาง (เอเฟซัส 1:20-23 ฉบับ ESV)

 

      พระยาห์เวห์ทรงตั้งมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ให้อยู่จุดที่สูงสุดของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง โดยให้เขานั่งที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์เอง  พระองค์ได้มอบตำแหน่งเหนือสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้นที่ทรงสร้างที่จุดสูงสุดของจักรวาลให้แก่พระเยซู ผู้เป็นมนุษย์เพียงผู้เดียวที่สมบูรณ์แบบ  นี่ทำให้เรานึกถึงคำพูดที่น่าประหลาดใจว่า “สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึง คือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์” (1 โครินธ์ 2:9 ข้อที่อ้างอิงจากอิสยาห์ 64:4)[67]

 

พระเยซูทรงเป็นผู้มีอำนาจเต็มของพระเจ้า

      การยกพระเยซูให้อยู่ในตำแหน่งที่เหนือคนอื่นๆทุกคน แม้แต่บรรดาเจ้านายและบรรดากษัตริย์นั้นหมายความว่า พระเจ้าได้ทรงทำให้พระเยซูเป็น “เจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย”  วิวรณ์ 17:14 กล่าวว่า “พวกเขาจะต่อสู้กับพระเมษโปดก และพระเมษโปดกจะทรงชนะเขา เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย และทรงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย” คำเรียก “เจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย” นี้ก็ใช้กับพระยาห์เวห์ด้วย (1 ทิโมธี 6:15; เปรียบเทียบข้อ 16; สดุดี 136:3; เฉลยธรรมบัญญัติ 10:17)[68]

      พระยาห์เวห์ได้ทรงทำให้พระคริสต์เป็นผู้มีอำนาจเต็ม และเป็นผู้แทนของพระองค์ที่ได้รับมอบอำนาจสูงสุดของพระองค์และทั่วจักรวาล และทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ (ข้อต่อไปนี้มาจากฉบับ ESV)

 

สดุดี 8:6 พระองค์ได้ทรงมอบอำนาจให้เขาครอบครองเหนือผลงานจากพระหัตถ์ของพระองค์     พระองค์ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้เท้าเขา

มัทธิว 11:27 “พระบิดาของเราทรงมอบทุกสิ่ง​​ให้แก่เรา

มัทธิว 28:18 “สิทธิอำนาจทั้งหมดทั้งในสวรรค์และในแผ่นดินโลกได้ทรงมอบไว้แก่เราแล้ว”

                ยอห์น 3:35 “พระบิดาทรงรักพระบุตรและได้ทรงมอบทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์(ข้อ 13:3)[69]

ฮีบรู 2:5-8 บัดนี้ พระเจ้าไม่ได้ทรงมอบโลกใหม่​​ที่เรากำลังกล่าวถึงนั้นให้อยู่ใต้อำนาจของเหล่าทูตสวรรค์ แต่ได้มีคำพยานในบางที่ (สดุดี 8:4-6) ว่า “มนุษย์เป็นใครเล่าที่พระองค์ทรงนึกถึงเขา หรือบุตรมนุษย์เป็นใครเล่าที่พระองค์ทรงห่วงใยเขา?  พระองค์ได้ทรงทำให้เขาต่ำกว่าเหล่าทูตสวรรค์เพียงระยะเวลาหนึ่ง พระองค์ยังได้ประทานมงกุฎแห่งศักดิ์ศรีและเกียรติให้แก่เขา ทรงทำให้ทุกสิ่งอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเขา”เรื่องที่พระองค์ประทานทุกสิ่งให้อยู่ใต้อำนาจของเขานั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่อยู่ใต้อำนาจของเขา

 

      พระเจ้าไม่ได้ทรงทำให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของเหล่าทูตสวรรค์ แต่ทรงให้อยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ (ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “บุตรมนุษย์”)  เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เราไม่ได้เห็นขีดขนาดของความรักอันอัศจรรย์ของพระเจ้าต่อมนุษย์  ดังนั้นเราจึงกำหนดการปกครองเหนือทุกสิ่งให้กับผู้ที่ไม่มีอยู่จริงที่เรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” ซึ่งจะไม่พบที่ไหนเลยในพระคัมภีร์  น่าแปลกที่การปกครองและการมีอำนาจเหนือที่เราผู้เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพได้กำหนดให้กับพระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่ไม่มีอยู่จริงนั้น ตามพระคัมภีร์แล้วได้ให้กับพระเยซูของพระคัมภีร์ (ทุกข้ออ้างอิงจากฉบับ ESV)

 

โคโลสี 2:10 [พระคริสต์] ทรงเป็นศีรษะ เหนือเหล่าเทพที่ปกครองและเทพที่มีอำนาจ

1 เปโตร 3:22 ผู้เสด็จสู่สวรรค์ และประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าแล้ว มีเหล่า​​ทูตสวรรค์​​เหล่าเทพผู้มีอำนาจ และเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์เดช อยู่ใต้อำนาจของพระองค์

1 โครินธ์ 15:27-28 เพราะว่า “พระเจ้าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้พระบาทของพระคริสต์” แต่เมื่อพระคัมภีร์กล่าวว่าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจนั้น ก็เห็นชัดว่า ยกเว้นพระเจ้าผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระคริสต์   เมื่อทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์แล้ว พระบุตร​​เองก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า ผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ เพื่อพระเจ้าจะทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง

ดาเนียล 7:13-14 ข้าพเจ้าเห็นในนิมิตเวลากลางคืน และดูเถิด มีผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์มาพร้อมกับหมู่เมฆแห่งฟ้าสวรรค์ และท่านเข้ามาใกล้​​องค์ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลนั้น และถูกนำมาเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระองค์  และท่านได้รับราชอำนาจ เกียรติสิริ และราชอาณาจักร เพื่อทุกชนทุก​​ชาติทุกภาษา จะปรนนิบัติท่าน ราชอำนาจของท่านเป็นราชอำนาจนิรันดร์ ซึ่งจะไม่​​สิ้นสุด และราชอาณาจักร​​ของท่าน​​จะไม่มีวันถูกทำลาย

 

พระเยซูเสด็จมาในพระนามของพระยาห์เวห์

      ข้อต่อไปนี้ มีหนึ่งข้อจากพระคัมภีร์เดิมและมีห้าข้อจากพระคัมภีร์ใหม่ที่มีคำพูดที่รู้จักกันดีคือ “ขอท่านผู้มาในพระนามของพระยาห์เวห์ (หรือ the Lord)[70] จงได้รับพระพร” เป็นการเปล่งเสียงสรรเสริญที่ปรากฏครั้งแรกในสดุดี 118:26  ในข้อต่อไปนี้เราใช้ “พระยาห์เวห์” แทน “องค์ผู้เป็นเจ้า” เพื่อให้สอดคล้องกับคำฮีบรูของสดุดี 118:26 ซึ่งเป็นรากฐานของห้าข้อจากพระคัมภีร์ใหม่

 

สดุดี 118:26 ขอท่านผู้มาในพระนามของพระยาห์เวห์ จงได้รับพระพร!  เราอวยพรพวกท่านจากพระนิเวศของพระยาห์เวห์

มัทธิว 21:9 และฝูงชนที่​​ไปข้างหน้าพระองค์กับพวกที่ตามมาข้างหลังพระองค์ก็โห่ร้องว่า “โฮซันนาแก่บุตรของดาวิด ขอท่านผู้ที่​​มาในพระนามของ​​พระยาห์เวห์ จงได้รับพระพร!  โฮซันนาในที่สูงสุด!

มาระโก 11:9 โฮซันนา! ขอให้ท่านผู้​​มาในพระนามของ​​พระยาห์เวห์ จงได้รับพระพร!

ยอห์น 12:13 พวกเขาก็ถือทางอินทผลัมและออกไป​​ต้อนรับพระองค์โห่ร้องว่า “โฮซันนา! ขอให้ท่านผู้เสด็จมาในพระนามของพระยาห์เวห์ ผู้เป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล จงได้รับพระพร!

มัทธิว 23:39 “เพราะเราบอกเจ้าทั้งหลายว่า เจ้าจะไม่เห็นเราอีก จนกว่าพวกเจ้าจะกล่าวว่า ‘ขอให้ท่านผู้มาในพระนามของพระยาห์เวห์ จงได้รับพระพร’”

ลูกา 13:35 “ดูเถิด นิเวศของพวกเจ้าจะถูก​​ทิ้งร้าง และเราบอกพวกเจ้าว่า เจ้าจะไม่เห็นเราจนกว่าพวกเจ้าจะกล่าวว่า ‘ขอให้ท่านผู้​​มาในพระนามของพระยาห์เวห์ จงได้รับพระพร’”

 

      พระเยซูตรัสซ้ำๆในพระกิตติคุณยอห์นว่า พระองค์ไม่ได้มาด้วยความริเริ่มและสิทธิอำนาจของพระองค์เอง แต่พระบิดาได้ทรงส่งพระองค์มา (“เราไม่ได้มาตามใจชอบของเราเอง แต่พระองค์ทรงใช้เรามา” ยอห์น 8:42; เปรียบเทียบ 5:36-38; 8:16-18; 10:36; 12:49)[71]  พระองค์เสด็จมาในพระนามของพระยาห์เวห์ ไม่ใช่ในพระนามของพระองค์เอง ซึ่งกล่าวได้ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงกระทำการด้วยอำนาจของพระองค์เอง แต่ทรงกระทำการทุกอย่างในฐานะตัวแทนของพระยาห์เวห์

 

สิทธิอำนาจของนาม

      อะไรคือความเชื่อมโยงระหว่าง การเสด็จมาของพระเยซูในพระนามพระบิดาของพระองค์กับการที่พระบิดาประทานพระนามเหนือทุกนามแก่พระองค์ (ฟีลิปปี 2:9)? เราได้เห็นแล้วว่าพระนามของพระเยซูไม่ได้เปลี่ยนเป็น พระยาห์เวห์ ซึ่งไม่ว่ากรณีใดก็ไม่สามารถมอบให้กับบุคคลอื่นได้ตราบเท่าที่นามๆหนึ่งเป็นการระบุอัตลักษณ์ถึงบุคคลๆหนึ่ง และตราบที่มีพระยาห์เวห์เพียงองค์เดียว (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4)[72]  อันที่จริง พระเยซูยังคงพระนามของพระองค์เองว่า เยซู แต่ตอนนี้ได้รับสิทธิอำนาจแห่งพระนามของพระยาห์เวห์  ในฐานะตัวแทนของพระยาห์เวห์นั้น พระเยซูเป็นผู้มีพระนามของพระยาห์เวห์[73] แม้ว่าพระองค์จะยังคงมีอัตลักษณ์ของพระองค์เองว่าเป็นพระเยซู

      มีสิ่งที่คล้ายกันนี้จากในพระคัมภีร์เดิม ที่พระยาห์เวห์ทรงตั้งทูตสวรรค์ให้นำชาวอิสราเอลผ่านถิ่นทุรกันดารไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา พระยาห์เวห์ตรัสถึงทูตสวรรค์องค์นี้ว่า “นามของเราอยู่ในเขา”

 

“ดูเถิด เราใช้ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมานำหน้าพวกเจ้า เพื่อปกป้องพวกเจ้าตามทาง และเพื่อนำพวกเจ้าไปถึงที่ที่เราได้จัดเตรียมไว้  จง​​ใส่ใจและ​​ฟังเสียงของเขา อย่าขัดขืนเขา เพราะเขาจะไม่ยกโทษการละเมิดของพวกเจ้า เพราะ​​นามของเราอยู่ในเขา[74] (อพยพ 23:20-21, ฉบับ ESV)

 

      ทูตสวรรค์องค์นี้มีอำนาจที่จะยกโทษหรือไม่ยกโทษ และเพราะฉะนั้นจึงมีอำนาจแห่งชีวิตและความตายเพราะเขามีพระนามของพระยาห์เวห์ แม้ว่าเขาจะมีพระนามของพระยาห์เวห์ในเขาและได้รับสิทธิอำนาจของพระองค์ แต่ทูตสวรรค์ก็ไม่ได้รับการกราบไหว้นมัสการจากคนอิสราเอล

      เราจะเห็นสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ในเรื่องราวของฟาโรห์กับโยเซฟ โดยฟาโรห์ทรงสวมแหวนตราของพระองค์ (ซึ่งมีพระนามและตราสัญลักษณ์ของพระองค์) ที่มือโยเซฟ ทำให้โยเซฟเป็นผู้มีพระนามและสิทธิอำนาจของพระองค์  นี่ไม่ได้หมายความว่าตอนนี้โยเซฟจะถูกเรียกว่าฟาโรห์ (เขายังคงถูกเรียกว่าโยเซฟ) แต่ตอนนี้เขาสามารถจะทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจเต็มของฟาโรห์ได้

 

38และฟาโรห์ตรัสกับบรรดาข้าราชการว่า “เราจะหาใครที่มีพระวิญญาณของพระเจ้าอยู่ในตัวเหมือนคนนี้ได้หรือ?  39แล้วฟาโรห์จึงตรัสกับโยเซฟว่า “เพราะพระเจ้าได้ทรงสำแดงเรื่องทั้งหมดนี้แก่เจ้า จึงไม่มีผู้ใดที่มีความเข้าใจและมีสติปัญญาเหมือนเจ้า 40เจ้าจะเป็นผู้ดูแลราชสำนักของเรา และ​​ประชาชนทั้งหมดของเราจะทำตามคำสั่งของเจ้า  เว้นก็แต่เฉพาะ​​บัลลังก์เท่านั้นที่เราจะเป็นใหญ่กว่าเจ้า” 41และฟาโรห์ก็ตรัสกับโยเซฟว่า “ดูสิ เราตั้งท่านให้ดูแลทั่วแผ่นดินอียิปต์”  42แล้วฟาโรห์จึงทรงถอดแหวนตราประจำพระองค์ออกจากพระหัตถ์และสวม​​ที่มือโยเซฟ ทรงสวมเสื้อผ้าป่านเนื้อดีและสวมสร้อยทองคำ​​ที่คอให้  43และให้โยเซฟใช้ราชรถคันที่สอง​​ของพระองค์ และมีคนร้องประกาศข้างหน้าว่า “คุกเข่าลง!”  ดังั้นพระองค์ได้ทรงตั้งท่านให้ดูแลทั่วแผ่นดินอียิปต์  44ยิ่งกว่านั้น ฟาโรห์ยังตรัสกับโยเซฟ​​ว่า “เราคือฟาโรห์  และถ้าเจ้าไม่อนุญาตก็ไม่มีผู้ใดทั่วแผ่นดินอียิปต์จะยกมือยกเท้าได้” (ปฐมกาล 41:38-44, ฉบับ ESV)

 

      ความคล้ายคลึงกันระหว่างเรื่องนี้กับฟีลิปปี 2:9-11 นั้นน่าประหลาดใจ แม้กระทั่งคำสั่งที่ให้ทุกคน “คุกเข่าลง” เมื่อโยเซฟนั่งในราชรถที่เรียกว่า “ราชรถคันที่สอง”[75] ของฟาโรห์ (ข้อ 43)  ด้วยคำสั่งของฟาโรห์ ทุกคนในอียิปต์ต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของโยเซฟ (ข้อ 40, 44)  แต่ราชบัลลังก์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสูงสุดเหนืออียิปต์ก็ยังคงเป็นของฟาโรห์ “เว้นก็แต่เฉพาะบัลลังก์เท่านั้นที่เราจะเป็นใหญ่กว่าเจ้า” (ข้อ 40; เปรียบเทียบยอห์น 14:28 “พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา”) โยเซฟเป็นรองก็กับฟาโรห์เท่านั้นในแผ่นดินอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในเวลานั้น

      การเชื่อฟังพระพระเยซูก็คือการเชื่อฟังพระยาห์เวห์ ไม่ใช่เพราะว่าพระเยซู (หรือทูตสวรรค์ในอพยพ 23:20) เป็นพระเจ้า แต่เพราะพระเยซูเป็นผู้มีพระนามของพระยาห์เวห์  ในทำนองเดียวกัน การรักพระเยซูคือการรักพระยาห์เวห์  ยิ่งเรารักพระเยซูมากเท่าใด (ไม่ใช่พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ แต่เป็นพระคริสต์ของพระยาห์เวห์ ผู้ที่ได้รับการเจิม) เราก็ยิ่งรักพระยาห์เวห์มากเท่านั้น  การมีชีวิตอยู่เพื่อพระคริสต์ผู้มีพระนามของพระยาห์เวห์ ก็คือการมีชีวิตอยู่เพื่อพระยาห์เวห์  การยอมรับพระเยซูคือการยอมรับพระยาห์เวห์ผู้ทรงใช้พระองค์มา (มัทธิว 10:40; ยอห์น 13:20)[76]  การปฏิเสธพระเยซูก็คือการปฏิเสธพระยาห์เวห์ (ลูกา 10:16)[77]  ถ้าเราเป็นสาวกของพระเยซูที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ โดยเฉพาะความเชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียวอย่างชัดเจนของพระองค์ (มาระโก 12:28-29; ยอห์น 5:44; 17:3)[78] ซึ่งอยู่ในพระบัญญัติข้อแรก ดังนั้นผู้ที่ปฏิเสธเราก็ปฏิเสธพระเยซูและท้ายที่สุดก็ปฏิเสธพระยาห์เวห์

      พระยาห์เวห์ทรงชุบพระเยซูคริสต์ให้เป็นขึ้นจากความตายและทรงยกพระองค์ขึ้นสูงให้อยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์  พระเยซูทรงได้รับตำแหน่งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกให้เป็นที่สองรองจากพระยาห์เวห์เองเท่านั้น  พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ ผู้เป็นมนุษย์คนที่สองและเป็นอาดัมคนสุดท้าย (1 โครินธ์ 15:47,45) รองจากพระองค์เองในจักรวาลทั้งหมด!

      พระยาห์เวห์จะทรงปกครองจักรวาลทางพระเยซูคริสต์  พระองค์ได้ทรงให้อำนาจพระเยซูที่จะปกครองในพระนามของพระองค์ ทรงให้สิทธิอำนาจทั้งหมดกับพระองค์ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก (มัทธิว 28:18) “พระบิดาของเราทรงมอบสิ่งสารพัดให้แก่เรา” (ลูกา 10:22, เปรียบเทียบ มัทธิว 11:27);[79] พระเจ้าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้พระบาทของพระคริสต์” (1 โครินธ์ 15:27)[80]

      พระเยซูไม่มีสิ่งใดที่มาจากพระองค์เอง เพราะทุกสิ่งที่พระองค์ทรงครอบครองนั้นก็ได้รับจากพระเจ้าพระบิดาของพระองค์  พระเจ้าได้ประทานทุกสิ่งให้พระเยซูที่พระเยซูทรงต้องมีในการปก ครองในฐานะที่เป็นพระเมสสิยาห์ กษัตริย์เหนือบรรดาราชอาณาจักรทั้งหมดของโลก และจะทรงปก ครองจนกว่าพระองค์จะทรงให้ทุกสิ่งที่ต่อต้านพระเจ้าอยู่ใต้อำนาจพระองค์  เมื่อได้ทรงทำทุกสิ่งแล้ว พระเยซูเองก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจพระยาห์เวห์เพื่อว่า “พระเจ้าจะทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง”

 

เมื่อทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ (พระเยซู) แล้ว พระบุตร​​เองก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจพระองค์ (พระเจ้า) ผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ (พระเยซู) เพื่อพระเจ้าจะทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง (1 โครินธ์ 15:28, ฉบับ ESV)[81]

 

      คำว่า “อยู่ใต้อำนาจ” เป็นกรรมวาจก[82]ของ hupotassō  ซึ่งพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ระบุไว้ว่า “อยู่ในความสัมพันธ์ที่ยอมจำนน, อยู่ภายใต้, อยู่ใต้บัญชา”  ตรงนี้เราจะเห็นการอยู่ใต้บัญชาของพระบุตรต่อพระบิดา ซึ่งเป็นคำสอนที่เห็นทั่วไปในพระคัมภีร์ใหม่ รวมถึงคำสอนของพระเยซูเองและคำสอนของคริสตจักรในยุคแรก ก่อนการสังคายนาแห่งไนเซีย  ชีวิตทั้งหมดของพระเยซูมุ่งอยู่กับความปรารถนาที่จะทำตามพระประสงค์ของพระบิดา ไม่ใช่ตามความประสงค์ของพระองค์เอง (ยอห์น 5:30; 6:38; 4:34; โรม 15:3; ฮีบรู 10:7,9 เปรียบเทียบสดุดี 40:7,8)[83]        


[1] was in the form of God”, ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “อยู่ในสภาพพระเจ้า”, ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “ทรงสภาพเป็นพระเจ้า”, และฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “ผู้ทรงสภาพพระเจ้า” ( หรือ “เป็นเหมือนพระเจ้า”) ผู้แปล

[2] หรือ “อยู่ในรูปที่ให้เห็นพระเจ้า” (“was in the form of God”) ภาษากรีกของคำว่า μορφῇ (form, external appearance) แปลได้อีกว่า “รูปสัณฐาน รูปโฉม การปรากฏให้เห็นภายนอก ลักษณะภายนอก มองเห็น รูปพิมพ์” (ผู้แปล)

[3] New Jerusalem Bible

[4] Where Christology Began: Essays on Philippians 2

[5] Carmen Christi” (Latin, “Christ Hymn”)

[6] หรือ “รูปจำลอง” หรือพระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับต่างๆ แปลว่า “พระฉาย” หรือ “พระฉายา” ของพระเจ้า (ผู้แปล)

[7] 1 โครินธ์ 6:19 ท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่า ร่างกายของพวกท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในท่าน

[8] พระคัมภีร์ฉบับมาตรฐาน 2011 ฉบับนิวคิงเจมส์ และฉบับ 1971 แปลว่า ได้ทรงสละพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า” (ผู้แปล)

[9] 1 ยอห์น 4:8 ผู้ที่ไม่รักก็ไม่รู้จักพระเจ้า เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก

[10] พระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับต่างๆ แปลว่า “พระฉาย” หรือ “พระฉายา” ของพระเจ้า (ผู้แปล)

[11] New Dictionary of Theology, article Anthropomor­phism

[12] ตัวอย่างเช่น จะพบในคำภาษาอังกฤษว่า mor­pho­logy (การศึกษารูปแบบของคำ หรือของสิ่งมีชีวิต) และ mor­ph (การเปลี่ยนรูปร่างหรือรูปลักษณ์ในลักษณะที่ราบรื่นและค่อยเป็นค่อยไป)

[13] form ยังหมายถึง “รูปพรรณ รูปร่างลักษณะ รูปโฉม การปรากฏให้เห็นภายนอก มองเห็น รูปลักษณ์ เป็นต้น (ผู้แปล)

[14] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา ตามอย่างของเรา (ผู้แปล)

[15] บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า “รูปเหมือน” และ “เหมือน” มีความหมายเหมือนกันในปฐมกาล 1:26 (“ให้เราสร้างมนุษย์ขึ้นตามรูปเหมือนของเรา เหมือนกับเรา”)  หนึ่งในนั้นกล่าวว่า “รูปเหมือน” และ “เหมือน” ในข้อนี้เป็น “คำที่มีความหมายกัน” (หนังสืออธิบายพระคัมภีร์ของคอนสเตเบิล)  พระคัมภีร์ฉบับศึกษาของ NIV เกี่ยวกับปฐมกาล 1:26 กล่าวว่า “ไม่ควรให้มีข้อแตกต่างระหว่าง “รูปเหมือน” กับ “เหมือน” ซึ่งเป็นคำพ้องความหมายทั้งในพระคัมภีร์เดิม (5:1; 9:6) และพระคัมภีร์ใหม่ (1 โครินธ์ 11:7; โคโลสี 3:10; ยากอบ 3:9)

[16] Hebrew and Aramaic Lexicon of the Old Testament (HALOT)

[17] คำว่า “เหมือน” ในปฐมกาล 1:26 ไม่ได้หมายความว่า เมื่อพระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์นั้น พระองค์ได้ทรงก๊อบปี้ตัวของพระองค์เอง  แต่ในทางตรงกันข้าม มนุษย์ได้ถูกเข้าใจอย่างถูกต้องมากกว่าว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้าที่เราไม่อาจมองเห็นได้ (“ตัวแทน” เป็นหนึ่งในคำนิยามของ tselem จากพจนานุกรมฉบับ HALOT)  มนุษย์เป็นตัวแทนของพระเจ้า แต่ไม่ใช่ตามรูปพรรณสัณฐานทางกาย หรือรูปลักษณ์ภายนอก  การสร้างมนุษย์ให้มีดวงตานั้น พระเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงมองเห็น; หูของมนุษย์ก็ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงได้ยิน แขนก็ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงกระทำการต่างๆเป็นต้น  การเป็นตัวแทนของพระเจ้าอย่างเหมาะสมนั้น มนุษย์จะได้รับใจปรารถนา อารมณ์ความรู้สึก และความสามารถที่จะคิด  ในตะวันออกใกล้สมัยโบราณจะมีรูปเคารพและรูปปั้นเทพเจ้าเต็มไปหมด (เปรียบเทียบ “พระเจ้ามากมาย”, 1 โครินธ์ 8:5) บรรดาผู้ที่กราบไหว้รูปเหล่านี้ไม่ได้ไร้เดียงสานักที่จะคิดว่าเหล่าวิญญาณที่พวกเขากำลังกราบไหว้นั้น ที่จริงแล้วมองดูเหมือนรูปปั้นไม้หรือหิน  รูปเคารพบางรูปก็มีหลายศีรษะและมีหลายแขน ที่แสดงถึงพลังและสติปัญญาของเหล่าวิญญาณที่ได้รับการกราบไหว้

[18] หรือแปลตามฉบับภาษาไทยว่า “เป็นพระฉายาของพระเจ้า ที่เราไม่อาจมองเห็นได้” (ผู้แปล)

[19] การที่คำว่า “รูปเหมือน” และคำว่า “เหมือน” มีความหมายเหมือนกันในปฐมกาล 1:26 (“ให้เราสร้างมนุษย์ขึ้นตามรูปเหมือนของเรา เหมือนกันกับเรา”) และการที่คำว่า “รูปเหมือน ภาพลักษณ์ และเหมือน” มีความหมายเหมือนกันในเฉลยธรรมบัญญัติ 4:16 (“จงระวังเถิด เพราะเกรงว่าท่านจะทำผิด โดยการทำรูปสลักสำหรับตัวเอง เป็นรูปลักษณะใดๆ เหมือนชายหรือหญิง”) อย่างไร  ภาพลักษณ์และเหมือนก็เป็นคำที่มีความหมายแบบเดียวกันอย่างนั้นในฟีลิปปี 2:7 “แต่กลับทรงทำให้พระองค์เองหมดความสำคัญ  โดยอยู่ในภาพลักษณ์ของคนรับใช้ ทรงถือกำเนิดเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย”  คำเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคำพ้องความหมายและสามารถใช้แทนกันได้ทั้งในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงฟีลิปปี 2:6-11 อย่างเหนียวแน่นกับปฐมกาล 1:26-27 และปฐมกาล 2:7  การใช้คำพ้องความหมายที่สามารถใช้แทนกันได้เป็นเรื่องปกติในเพลงสรรเสริญ  ดังเช่น เพลงสรรเสริญในฟีลิปปี 2:6-11 เนื่องจากลักษณะที่เป็นบทกวีและคำอุปมาของข้อเหล่านี้

[20] อิสยาห์ 29:16 จะถือว่าช่างปั้นเท่ากับดินเหนียวหรือ? และสิ่งถูกสร้างจะพูดถึงผู้สร้างมันว่า “เขาไม่ได้สร้างข้า” หรือสิ่งถูกปั้นจะพูดถึงผู้ปั้นมันว่า “เขาไม่มีความเข้าใจ” อย่างนี้หรือ?

[21] form of God” (image of God or likeness of God)

[22] ปฐมกาล 1:26 “ให้เราสร้างมนุษย์ขึ้นตามแบบเรา ตามอย่าง​​เรา” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[23] Karl-Josef Kuschel on Christ and Adam

[24] ฟีลิปปี 2:6 “ผู้ที่แม้จะอยู่ในรูปลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ก็ไม่ได้ทรงยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า” (ฉบับ ESV)

[25] executable file of 20,000,000 bytes; Byte หน่วยเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ 1 ไบต์เท่ากับ 8 บิต (ผู้แปล)

[26] New Bible Dictionary, article  “Image”

[27] จากฉบับมาตรฐาน 2011 ที่กลับมาใช้ “พระยาห์เวห์” ตามต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู

[28] James D.G. Dunn

[29] Did the First Christians Worship Jesus?

[30] Jesusism คือความเชื่อว่าคำสอนของพระเยซูตามศาสนายิวแตกต่างจากคำสอนของเปาโล (ผู้แปล)

[31] Jesus-olatry

[32] Mariolatry

[33] ปฐมกาล 9:6 “เพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ ตามพระฉายาของพระองค์” (หรือ สร้างมนุษย์ “ตามอย่างเรา” ในปฐมกาล 1:26)

[34] ความเชื่อมโยงระหว่างฟีลิปปีบทที่ 2 กับปฐมกาลนี้ไม่ได้หายไปในบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ  คำอ้างอิงของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น คู่มือการใช้พระคัมภีร์เดิมในพระคัมภีร์ใหม่เกี่ยวกับฟีลิปปี 2:6-8 กล่าวว่า “มีขอบข่ายความคิดเชื่อมโยงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ ระหว่างฟีลิปปีบทที่ 2 กับปฐมกาลบทที่ 1 ถึง 3,  พจนานุกรมเกี่ยวกับภาพในความคิดของพระคัมภีร์, ใน “ฟีลิปปี”, กล่าวว่า “คำกล่าวอ้างว่าพระเยซูคริสต์ไม่ได้ทรงยึดฉวยที่จะเท่าเทียมกับพระเจ้า (ฟีลิปปี 2:6) อาจเป็นการอ้างถึงความบาปของอาดัม ที่พยายามยึดฉวยความเป็นพระเจ้า (ปฐมกาล 3:4-6)”

[35] โรม 5:14 “ความตายก็ได้ครอบงำตลอดมา ตั้งแต่อาดัมจนถึงโมเสส แม้คนที่ไม่ได้ทำบาปอย่างเดียวกับการละเมิดของอาดัม ผู้ซึ่งเป็นแบบของผู้ที่จะเสด็จมาภายหลัง”

[36] Thayer หรือพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับเธเยอร์

[37] ฮีบรู 2:2 “เพราะหากพระดำรัสซึ่งบรรดาทูตสวรรค์กล่าวไว้นั้นปรากฏเป็นความจริง และการล่วง​​ละเมิดกับการไม่เชื่อฟังทุกอย่างได้รับโทษตามที่ควรแล้ว”

[38] หรือการทิ้งตัวเองจนไม่เหลืออะไร (ผู้แปล)

[39] ปฐมกาล 3:5 “เพราะพระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า พวกเจ้ากินผลจากต้นไม้นั้นวันใด ตาของพวกเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น แล้วพวกเจ้าจะเป็นเหมือนอย่างพระเจ้า คือรู้ความดีและความชั่ว”

[40] กาลาเทีย 4:4 แต่เมื่อถึงกำหนด พระเจ้าได้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาประสูติจากครรภ์ของผู้หญิง ถือกำเนิดภายใต้บท บัญญัติ” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[41] ลูกา 1:35 ทูตสวรรค์จึงตอบนางว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาเหนือเธอ และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ เพราะฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่เกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า”

[42] 2 เปโตร 1:4 “โดยสิ่งเหล่านี้พระองค์จึงได้ประทานพระสัญญาอันล้ำค่าและยิ่งใหญ่แก่เรา เพื่อว่าโดยพระสัญญาเหล่านี้ พวกท่านจะพ้นจากความเสื่อมทรามที่มีอยู่ในโลกอันเกิดจากความปรารถนาชั่ว และจะมีส่วนในพระลักษณะของพระเจ้า”

[43] มัทธิว 28:18 พระเยซู​​ตรัสกับพวกเขาว่า “สิทธิอำนาจทั้งหมดในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว”

[44] ฟีลิปปี 2:11 “เพื่อทุกลิ้นจะยอมรับว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า อันเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าพระบิดา”

[45] 1 โครินธ์ 2:8 “ไม่มีอำนาจครอบครองใดๆในยุคนี้รู้จักพระปัญญานี้ เพราะว่าถ้ารู้จักแล้วจะไม่เอาองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริตรึงกางเขน”

[46] ฉบับไทยคิงเจมส์แปลโรม 9:5 ว่า “พระคริสต์ผู้ทรงอยู่เหนือสารพัด ผู้ซึ่งพระเจ้าจะทรงโปรดอวยพระพรเป็นนิตย์ เอเมน”, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “พระคริสต์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเหนือสรรพสิ่ง ทรงได้รับการสรรเสริญเป็นนิตย์! อาเมน” และฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “คือ​พระ​องค์​ผู้​ทรง​รับ​การ​สรร​เสริญ​ว่า​เป็น​พระ​เจ้า​เหนือ​สาร​พัดเป็น​นิตย์ อาเมน” (ผู้แปล)

[47] ต้นฉบับภาษากรีกส่วนใหญ่ไม่มีคำนำหน้านามที่ระบุแน่นอนใน “พระนามนั้นที่อยู่เหนือทุกนาม (the name that is above every name)” ดังนั้นฉบับคิงเจมส์ซึ่งยึดตามต้นฉบับนี้จึงใช้ “พระนามที่อยู่เหนือทุกนาม” (a name which is above every name)

[48] เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4 “โอ คนอิสราเอล จงฟังเถิด พระยาห์เวห์ พระยาห์เวห์เท่านั้นทรงเป็นพระเจ้าของเรา”

[49] Eric Chang

[50] ลูกา 1:19 ทูตสวรรค์องค์นั้นจึงตอบว่า “เราคือกาเบรียลซึ่งยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และพระองค์ทรงใช้ให้มาพูดกับท่าน

[51] มาระโก 5:9 แล้วพระองค์ตรัสถามมันว่า “เจ้าชื่ออะไร?มันตอบว่า “ข้าชื่อกองพล เพราะว่าพวกเรามีหลายตนด้วยกัน”

[52] กิจการ 10:36 เรื่องที่พระองค์ทรงฝากไว้กับพวกอิสราเอลคือการประกาศข่าวประเสริฐเรื่องสันติสุขโดยทางพระเยซูคริสต์ผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเหนือคนทั้งหลาย

[53] อิสยาห์ 12:2 “ดูสิ พระเจ้าเป็นความรอดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะวางใจและไม่กลัว เพราะพระยาห์เวห์ คือพระยาห์เวห์เองทรงเป็นกำลังและบทเพลงของข้าพเจ้า และพระองค์ทรงเป็นความรอดของข้าพเจ้าแล้ว”

[54] ยอห์น 4:19 นางทูลพระองค์ว่า “ท่านเจ้าคะ ดิฉันเห็นจริงๆ แล้วว่าท่านเป็นผู้เผยพระวจนะ”

[55] ยอห์น 13:13 “พวกท่านเรียกเราว่าพระอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านเรียกถูกแล้ว เพราะเราเป็นอย่างนั้น”

[56] มัทธิว 22:44 ‘พระเจ้าตรัสกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าว่า “จงนั่งที่ขวามือของเรา...”’

[57] วิวรณ์ 17:14 “พวกเขาจะต่อสู้กับพระเมษโปดก และพระเมษโปดกจะทรงชนะเขา เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย และทรงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย

[58] ยอห์น 4:49 ข้าราชการผู้นั้นทูลว่า “ท่านเจ้าข้า โปรดมาก่อนที่บุตรของข้าพเจ้าจะตาย” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[59] ยอห์น 8:11 นางทูลว่า “ท่านเจ้าข้า ไม่มีใครเลย” แล้วพระเยซูตรัสว่า “เราก็ไม่เอาโทษเหมือนกัน”

[60] ยอห์น 13:13 ท่านเรียกเราว่าพระอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านเรียกถูกแล้ว เพราะเราเป็นเช่นนั้น (ฉบับไทยคิงเจมส์)         

[61] ยอห์น 20:28 โธมัสทูลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ และพระเจ้าของข้าพระองค์!” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[62] วิวรณ์ 11:17 “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ผู้ที่ทรงเป็นอยู่และผู้ที่ทรงเคยเป็นอยู่

[63] 1 พงษ์กษัตริย์ 2:19 “พระนางบัทเชบาจึงเข้าเฝ้าพระราชาซาโลมอน และพระราชาทรงลุกขึ้นต้อนรับพระนาง รับสั่งให้นำพระเก้าอี้มาถวายพระราชมารดา พระนางก็เสด็จประทับที่เบื้องขวาของพระองค์”

[64] มัทธิว 20:21 พระองค์จึงตรัสถามนางว่า “ท่านปรารถนาอะไร?” นางทูลว่า “ขอพระองค์รับสั่งตั้งบุตรทั้งสองของข้าพระองค์ให้นั่งเบื้องขวาพระหัตถ์คนหนึ่ง และเบื้องซ้ายคนหนึ่งในราชอาณาจักรของพระองค์”

[65] มัทธิว 22:44; 26:64; มาระโก 12:36; 14:62; ลูกา 20:42; 22:69; กิจการ 2:33,34; 5:31; 7:55,56; โรม 8:34; เอเฟซัส 1:20; โคโลสี 3:1; ฮีบรู 1:3, 13; 8:1; 10:12; 12:2; 1 เปโตร 3:22

[66] aorist คือกาลกริยาในไวยากรณ์กรีก เป็นการกระทำที่เกิดขึ้น ณ จุดๆหนึ่งในอดีตกาล (ฟีลิปปี 2:9 “ดังนั้น พระเจ้าจึงได้ทรงยกพระองค์ขึ้นสูง และได้ประทานพระนามเหนือทุกนามแก่พระองค์” ฉบับ ESV) ผู้แปล

[67] อิสยาห์ 64:4 “ตั้งแต่โบราณมา ไม่มีใครเคยได้ยิน หรือได้รับทราบด้วยหู หรือได้เห็นพระเจ้าสักองค์ด้วยตานอกเหนือพระองค์”

[68] 1 ทิโมธี 6:15 “ซึ่งพระเจ้าจะทรงให้ปรากฏขึ้นในเวลาที่เหมาะสม พระองค์ผู้ทรงสมควรแก่การสรรเสริญและทรงฤทธานุภาพสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียว เป็นพระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และเป็นองค์เจ้านายเหนือบรรดาเจ้านาย”

[69] ยอห์น 13:3 “พระเยซูทรงทราบว่าพระบิดาประทานทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”

[70] ซึ่งมักจะแปลเป็นว่า พระเจ้า (ผู้แปล)

[71] ยอห์น 8:42 พระเยซูตรัสว่า “เพราะเรามาจากพระเจ้าและอยู่นี่แล้ว เราไม่ได้มาตามใจชอบของเราเอง แต่พระองค์ทรงใช้เรามา

[72] “โอ คน​อิส​รา​เอล จง​ฟัง​เถิด พระ​ยาห์​เวห์ พระ​ยาห์​เวห์​เท่า​นั้น​ทรง​เป็น​พระ​เจ้า​ของ​เรา” (ฉบับมาตรฐาน 2011) ภาษาฮีบรูแปล​ตรง​ตัว​ว่า “พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​เป็น​พระ​เจ้า​ของ​เรา พระ​ยาห์​เวห์​องค์​เดียว และ​​เป็น​หนึ่ง​เดียว” (ผู้แปล)

[73] หรือถูกเรียกชื่อตาม โดยทำหน้าที่ในพระนามของพระยาห์เวห์ (ผู้แปล)

[74] หรือฉบับอื่นๆแปลว่า “เขาทำในนามของเรา” (ผู้แปล)

[75] หรือหมายถึง “ในฐานะผู้มีอำนาจรองจากพระองค์” (ผู้แปล)

[76] มัทธิว 10:40 ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา และผู้ที่ต้อนรับเราก็ต้อนรับพระองค์ที่ทรงใช้เรามา”

[77] ลูกา 10:16 “ผู้ที่ยอมฟังพวกท่านก็ยอมฟังเรา ผู้ที่ไม่ยอมรับพวกท่านก็ไม่ยอมรับเรา ผู้ที่ไม่ยอมรับเราก็ไม่ยอมรับผู้ที่ใช้เรามา”

[78] ยอห์น 17:3 “และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา”

[79] ลูกา 10:22 “พระบิดาของเราทรงมอบสิ่งสารพัดให้แก่เรา ไม่มีใครรู้ว่าพระบุตรเป็นใครนอกจากพระบิดา”

[80] 1 โครินธ์ 15:27 “พระเจ้าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจภายใต้พระบาทของพระบุตร” แต่เมื่อพระคัมภีร์กล่าวว่าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจนั้น ก็รู้ชัดกันอยู่แล้วว่า ยกเว้นพระเจ้าผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์

[81] 1 โครินธ์ 15:28 เมื่อทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์แล้ว เมื่อนั้นพระบุตรพระองค์เองก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า ผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ เพื่อพระเจ้าจะทรงเป็นเอกในทุกสิ่ง”

[82] passive คือรูปแบบที่กระทำโดยคนอื่น (ผู้แปล)

[83] ยอห์น 5:30 “เราจะทำสิ่งใดตามใจไม่ได้ เราได้ยินอย่างไรเราก็พิพากษาอย่างนั้น..เพราะเราไม่ได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของผู้ทรงใช้เรามา