พิมพ์
หมวด: The Only Perfect Man
ฮิต: 2711

pdf pic

 

 

บทที่ 9

ch1 1

 

ความเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์

 

 

 

      ในบทนี้เราจะพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์หรือสถานะความเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์   ผู้ที่ในพระคัมภีร์เรียกว่าบุตรมนุษย์ หรือพระบุตรของพระเจ้า หรือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์ แต่ไม่เคยเรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เนื้อหาบางส่วนจะคาบเกี่ยวกันเล็กน้อยกับหนังสือเล่มก่อนหน้านี้ของผมที่ชื่อพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว แต่นำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกันบ้าง และโดยมากเป็นเชิงไตร่ตรองในฝ่ายวิญญาณเพื่อจะตระหนักถึงความเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ของพระคริสต์กับชีวิตของเรา

      ใครก็ตามที่ศึกษาพระคัมภีร์และได้มีประสบการณ์จริงบางอย่างเกี่ยวกับพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ ก็จะมองเห็นได้ไม่ยากว่า พระเจ้าไม่สามารถจะมาเป็นมนุษย์ได้ ความแตกต่างระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์นั้นไม่อาจเชื่อมโยงกันได้ในแง่ของหลักธรรมชาติ พระเจ้าทรงเป็นอมตะเป็นผู้ที่จะตายไม่ได้ แต่มนุษย์เป็นผู้ที่ต้องตาย ในการที่จะมาเป็นผู้ที่ต้องตายนั้น พระเจ้าจะต้องเปลี่ยนหลักธรรมชาติของพระองค์เพื่อที่จะหยุดเป็นพระเจ้า ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้ ความจริงที่สำคัญในพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเจ้าก็คือ พระองค์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าผู้ดำรงเป็นนิตย์” (เฉลยธรรมบัญญัติ 33:27; โรม 16:26)[1] และทรงเป็นพระเจ้าจาก “นิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล” (สดุดี 90:2)[2] มีคำเขียนไว้เกี่ยวกับพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงเหมือนเดิม และปีเดือนของพระองค์ไม่มีที่สิ้นสุด” (สดุดี 102:27; ฮีบรู 1:12)[3], และ “เราคือพระยาห์เวห์ผู้ไม่เปลี่ยนแปลง” (มาลาคี 3:6)[4] “พระเจ้าไม่ใช่มนุษย์” (กันดารวิถี 23:19) ที่พระองค์จะต้องเปลี่ยนพระทัย (1 ซามูเอล 15:29)[5] ฉะนั้นจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเปลี่ยนหลักธรรมชาติของพระองค์ แต่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพกล่าวว่าในกรณีของพระเยซูคริสต์นั้นพระเจ้าทรงมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่สุดของทุกสิ่ง และพระเจ้าจะทรงหยุดเป็นในสิ่งที่พระองค์ทรงเป็นอยู่ แต่นี่เป็นเรื่องเหลวไหลและเป็นการหมิ่นประมาทโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเราได้เคยสั่งสอนกันในสมัยที่เราเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ

      ถ้าเราประกาศความจริงตามพระคัมภีร์ว่าพระเยซูไม่ได้เป็นพระเจ้า ในมุมมองของบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแล้วเรากำลังทำให้พระองค์เป็น “เพียงมนุษย์” แต่ในพระคัมภีร์นั้น พระเยซูทรงเป็นมนุษย์แท้และเป็นเหมือนมนุษย์ทุกคนที่ “เกิดมาจากสตรีเพศ” (กาลาเทีย 4:4)[6] บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เสื่อมเสียหรือไม่? บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพให้ความสำคัญกับพระเยซูว่าเป็นมากกว่ามนุษย์ พวกเขาต้องการพระเจ้าที่เรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” ซึ่งเป็นคำที่ไม่พบในพระคัมภีร์ เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น เราไม่ค่อยสนใจเรื่องความเป็นมนุษย์ของพระเยซู และอาจกล่าวได้ว่า บาทหลวงส่วนใหญ่ที่อยู่ในการสังคายนาแห่งไนเซียก็เช่นกัน

      เมื่อคนต่างชาติได้ยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้า พระกิตติคุณที่เคยถูกต่อต้านอย่างรุนแรงในหมู่พวกเขาและถูกพวกเขาปฏิเสธว่าเป็นเรื่อง “โง่เขลา” นั้น ไม่นานก็กลายมาเป็นศาสนาอย่างเป็นทาง การของกรุงโรม คำสอนเรื่องกษัตริย์ชาวยิวผู้ถูกตรึงตายบนกางเขนว่าเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลกที่ถือเป็นเรื่องน่าอับอายก็หมดไป ตอนนี้คุณต้องการเพียงแค่เชื่อในพระผู้สร้างผู้ทรงฤทธิ์ที่มาจุติเป็นพระเยซูคริสต์เท่านั้น ในนี้มีที่ไหนหรือที่ “กางเขนเป็นอุปสรรค” (กาลาเทีย 5:11) หรือเป็นผู้ที่ “ถูกดูหมิ่นและมนุษย์ปฏิเสธ” (อิสยาห์ 53:3; 1 เปโตร 2:4)?[7] มีอะไรที่น่าดูหมิ่นเกี่ยวกับมนุษย์ที่มาเป็นพระเจ้าหรือ? ประเด็นอยู่ที่ว่าลักษณะแรกเริ่มของ “พระกิตติคุณ” ได้เปลี่ยนไปเมื่อพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ได้ถูกยกขึ้นเป็นพระเจ้า

      บรรดาผู้นำคริสตจักรที่อยู่ในการสังคายนาแห่งไนเซียคิดว่าพระเจ้าที่เป็น “พระเจ้าพระบุตร” จะสามารถช่วยมวลมนุษย์ให้รอดได้ไหม? แต่กลับตรงกันข้ามที่เป็น “พระเยซูคริสต์ผู้เป็นมนุษย์” (1 ทิโมธี 2:5)[8] นี่แหละที่ทรงช่วยเราให้รอด “ได้อย่างสมบูรณ์” (ฮีบรู 7:25)[9] บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคิดว่าในแผนการแห่งความรอดของพระเจ้านั้น การสละความเป็นพระเจ้าจะช่วยให้มวลมนุษย์รับความรอดได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้นไหม? แล้วมีที่ไหนที่พระคัมภีร์สนับสนุนแนวคิดของพวกเขาเกี่ยวกับพระบุตรที่เป็นพระเจ้าผู้ถือกำเนิดมาจากพระเจ้า สิ่งนี้ไม่ได้เตือนพวกเขาหรอกหรือว่า พวกเขาจะไม่พบบุคคลดังกล่าวในพระคัมภีร์? แต่กระนั้นพวกเขาก็เชื่อมั่นในผู้ที่ไม่มีอยู่จริง ให้เป็นผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา!

      สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความไม่สมเหตุสมผลนี้ก็คือ ผู้เขียนสดุดีชื่นชมยินดีกับสิทธิพิเศษอันน่ามหัศจรรย์ที่ได้เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นอย่างประณีตบรรจง ทรงปั้นเขาให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้าเอง จากนั้นพระเจ้าก็ทรงระบายลมปราณแห่งชีวิตเข้าไปในเขา (ปฐมกาล 2:7)[10] ผู้เขียนสดุดีสรรเสริญพระเจ้าที่ได้ทรงสร้างเขาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

 

พระองค์ได้ทรงสร้างชิ้นส่วนภายในข้าพระองค์ พระองค์ทรง​​ทอข้าพระองค์เข้าด้วยกันในครรภ์มารดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์สรรเสริญพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสร้างข้าพระองค์อย่างน่าครั่นคร้ามและอย่างน่าอัศจรรย์ บรรดาพระราชกิจของพระองค์ช่างน่าอัศจรรย์ ใจของข้าพระองค์ทราบดี ​ ​​​​โครงร่างของข้าพระองค์ไม่ได้ถูกซ่อนจากพระองค์เมื่อข้าพระองค์ถูกสร้างขึ้นในที่ลับ ถูกทอด้วยรายละเอียดที่ซับซ้อนในส่วนลึกของโลก พระเนตรของพระองค์เห็นข้าพระองค์ตั้งแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง วันทั้งสิ้นที่กำหนดให้ข้าพระองค์ทุกๆวันนั้นถูกบันทึกไว้ในหนังสือของพระองค์ ตั้งแต่ยังไม่มีวันนั้นเลย ข้าแต่พระเจ้า พระดำริของพระองค์ล้ำค่ายิ่งสำหรับข้าพระองค์! (สดุดี 139:13-17, ฉบับ ESV)

 

การเชื่อฟังของมนุษย์คนเดียว

      เป็นเรื่องยากที่จะพูดเกินจริงถึงความสำคัญมากของโรม 5:19 ต่อหลักคำสอนเกี่ยวกับความรอดจากโรมและพระคัมภีร์ใหม่ เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพกันอยู่นั้น เราได้ใช้เวลาและความพยายามอย่างมากที่จะพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระเยซู แต่ไม่ได้ตระหนักว่าการค้นหาตัวบทในพระคัมภีร์ใหม่มาเป็นหลักฐานสนับสนุนของเรานั้นกำลังทำให้หลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพเกี่ยวกับความรอดอ่อนลงไปเลย

 

โรม 5:19 เพราะการไม่เชื่อฟังของมนุษย์คนเดียว ทำให้คนจำนวนมากเป็นคนบาปฉันใด การเชื่อฟังของมนุษย์คนเดียว ก็ทำให้คนจำนวนมากเป็นคนชอบธรรมฉันนั้น

 

      เปาโลกำลังพูดถึงการเชื่อฟังของพระเจ้า หรือว่าการเชื่อฟังของมนุษย์? ในเมื่อเปาโลกำลังพูดอย่างชัดเจนถึงการเชื่อฟังของ “มนุษย์คนเดียว” คือพระเยซูคริสต์ ที่คู่กันกับ “มนุษย์คนเดียว” ซึ่งก็คืออาดัม แล้วทำไมเราจึงกระตือรือร้นอย่างมากที่จะพิสูจน์ว่า “มนุษย์คนเดียว” ผู้นี้คือพระเจ้า? อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความพยายามอย่างมุ่งมั่นของเราหรือ? การเชื่อฟังของพระเจ้าที่มีต่อพระเจ้านั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญกับความรอดของเรา หรือจะเป็นการเชื่อฟังของพระเจ้าพระองค์ที่สองที่มีต่อพระเจ้าพระองค์แรกของความเป็นพระเจ้าที่รวมกันสามองค์ ผู้มีความเท่าเทียมกันและมีแก่นแท้เดียวกันก็ตาม

      การเชื่อฟังของพระเจ้าที่มีต่อพระเจ้านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ ซึ่งก็คือความรอดของเขา เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่โรม 5:19 กำลังกล่าว ให้เรามาดูอีกครั้ง เพราะการไม่เชื่อฟังของมนุษย์คนเดียว (ของอาดัม) ทำให้ “คนจำนวนมาก” (คำเปรียบเทียบสำหรับมนุษย์ทุกคน) เป็นคนบาป ดังนั้นจึงจำเป็นที่ “ด้วยการเชื่อฟังของมนุษย์คนเดียว (ไม่ใช่การเชื่อฟังของพระเจ้า หรือการเชื่อฟังของพระองค์หนึ่งในพระเจ้าตรีเอกภาพ) คนเป็นจำนวนมากจึงเป็นคนชอบธรรม”

      คำตอบเช่นเคยของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ที่พระองค์ที่สองในพระเจ้าตรีเอกภาพได้จุติลงมาเป็นมนุษย์ ประการแรกก็คือ การยอมรับว่าการเชื่อฟังของมนุษย์มีความสำคัญต่อความรอด นอกจากนี้ยังไม่ได้แก้ปัญหาอีกด้วย เพราะการหยิบยกเรื่องการจุติมาบังเกิด ก็คือการยอมรับว่าพระเยซูไม่ใช่มนุษย์มาแต่เดิมหรือโดยเนื้อแท้ พระองค์ต้องทรงมาเป็นมนุษย์ซึ่งพระองค์ไม่ได้เป็นมาก่อน บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบอกว่า พระเจ้าพระบุตรทรงได้รับ “สภาวะของมนุษย์” ทางการจุติมาเกิด แต่สภาวะของมนุษย์ก็ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งหมายความว่าพระเยซูไม่ได้เป็น “มนุษย์อย่างสมบูรณ์” ดังที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพตั้งข้อสันนิษฐานไว้ แต่ถ้าเราจะบอกว่าสภาวะมนุษย์ของพระเยซูที่มีร่างกายเป็นมนุษย์ก็คือคนที่สมบูรณ์ ก็จะมีปัญหาอื่นเกิดขึ้น คือพระเจ้าพระบุตรจะมารวมกับคนที่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทำให้พระเยซูทรงเป็นสองบุคคล

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพในยุคแรกตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ เมื่อพวกเขาประณามเนสโตเรียส[11]ว่าเป็นคนนอกรีตที่ส่งเสริมคำสอนที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเข้าใจว่าหมายถึงการรวมกันของสองบุคคลที่ต่างกัน ซึ่งเป็นความคิดที่พวกเขาปฏิเสธอย่างถูกต้อง[12] แต่เนสโตเรียสเพียงรับเอาความคิดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพมาสรุปเชิงตรรกะของการมีสองบุคคลในพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพของศตวรรษที่ 4 และ 5 ได้ถอยจากข้อสรุปนั้นและได้ประณามข้อสรุปนั้น

      แต่การปฏิเสธที่จะนำแนวความคิดเกี่ยวกับพระเจ้ามาเป็นมนุษย์มาเป็นข้อสรุปเชิงตรรกะ (เพื่อหลีกเลี่ยงความคิดที่ฟังไม่ขึ้นว่าพระเยซูทรงเป็นสองบุคคล) พวกเขาจึงยอมรับทางเลือกที่ว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่มีสภาวะของมนุษย์ แต่การผูกเรื่อง “พระเจ้า + สภาวะของมนุษย์” นี้จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริงไปได้อย่างไร? พระเยซูของความเชื่อในตรีเอกานุภาพไม่ใช่มนุษย์ในแง่ของคำว่า “มนุษย์” แต่อย่างใด พระองค์เพียงแค่มีสภาวะของมนุษย์ที่ดูเหมือนว่าสามารถดำรงอยู่ได้เองอย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์เท่านั้น เรื่องนี้เผยให้เห็นถึงแนวความคิดที่สับสนเกี่ยวกับพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทดสอบไม่ผ่านการวิเคราะห์ขั้นต้น

      แนวความคิดเกี่ยวกับพระเยซูว่าเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริงนั้น จะทำให้ต้องเสียความรอดนิรันดร์ไปชนิดที่เลวร้ายจนพูดไม่ออก เมื่อเห็นความจริงตามในโรม 5:19 ที่ผมเขียนในหนังสือ “ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว” ว่าเราไม่จำเป็นต้องมีพระเจ้าอีกองค์หนึ่งเพื่อจะได้ความรอด สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีก็คือมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ คนที่เชื่อฟังพระเจ้าอย่างสมบูรณ์

      เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องกันของพระเยซูตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพกับพระเยซูตามพระคัมภีร์นั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า พระเยซูองค์แรกไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนมนุษย์คนใดที่เคยมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกตั้งแต่การสร้างอาดัม พระองค์ไม่เหมือนอาดัมเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่เหมือนมนุษย์คนใดเลย

      นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กทางศาสนศาสตร์ เพราะความรอดของเราขึ้นอยู่กับการเป็นมนุษย์ที่แท้จริงนี้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เรามองไม่เห็นเมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ถ้าพระเยซูไม่ใช่มนุษย์ที่แท้จริงเหมือนอาดัม (หรือเหมือนพวกเรา ที่เป็นเชื้อสายของอาดัม) แต่ทรงเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ละก็ คำกล่าวที่สำคัญมากในโรม 5:18-19[13] ก็ไม่สามารถใช้กับพระองค์ได้ เมื่อความตายเข้ามาในโลกด้วยการละเมิดของอาดัมคนแรก (อาดัม หมายถึง “มนุษย์”) ดังนั้นในแผนการการไถ่ของพระเจ้า การลบล้างบาปจึงทำโดยโลหิตของอาดัมคนที่สองนี้

      ความสำคัญของอาดัมคนสุดท้ายในคำสอนของพระคัมภีร์ใหม่ไม่ใช่สิ่งที่เราใส่ใจที่จะไขความ ในสมัยที่ยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น ผมยอมรับว่าในช่วงหลายทศวรรษของการทำพันธกิจรับใช้ ผมซึ่งเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพคนหนึ่ง ผมไม่เคยได้สอนเกี่ยวกับหน้าที่สำคัญของอาดัมคนสุดท้ายในพระคัมภีร์ใหม่

 

สามช่วงของพันธกิจการช่วยให้รอดของพระเยซู

      พระคัมภีร์ใหม่โดยพื้นฐานนั้นเกี่ยวข้องกับความรอด และได้จัดวางพระเยซูคริสต์ไว้ในกรอบแผนการของพระเจ้าเพื่อความรอดของมวลมนุษย์ (แม้แต่ชื่อของพระเยซูที่พระเจ้ากำหนดไว้ก็มีความหมายว่า “พระยาห์วาห์ทรงเป็นความรอด”) แผนการนี้ดำเนินการเป็นสามช่วง ซึ่งสอดคล้องกับสามช่วงของความรอดที่พูดถึงในพระคัมภีร์ใหม่ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

      ช่วงแรก เริ่มจากการประสูติของพระเยซูจนถึงการสิ้นพระชนม์ การคืนพระชนม์ และการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เมื่อเสร็จสิ้นพันธกิจของพระองค์ในโลกนี้ พระองค์ก็ “ประทับนั่งที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า” (มาระโก 16:19; ฮีบรู 1:3; 10:12)[14] การประทับนั่งของพระองค์แสดงให้เห็นว่าพันธกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว การเสร็จสิ้นพันธกิจก็ยังเห็นได้จากการที่พระเยซูทรงใช้คำว่า “ระลึกถึง” เมื่อรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย คำนี้ (คำกรีก anamnēsis) มีปรากฏเพียงสี่ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยมีสามครั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหักขนมปังเพื่อระลึกถึงองค์ผู้เป็นเจ้า (ลูกา 22:19; 1 โครินธ์ 11:24, 25)[15] และพจนานุกรมฉบับ BDAG อธิบายไว้ว่า “เพื่อเป็นที่ระลึกถึง (หรือเพื่อระลึกถึง) เรา” คำว่า “ระลึกถึง” บอกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่มีความสำคัญต่อปัจจุบัน

      ช่วงแรกของความรอดเสร็จสมบูรณ์ด้วยการประกาศว่า “สำเร็จแล้ว” (ยอห์น 19:30) แต่ยังกล่าวด้วยว่า “ข้าพระองค์ได้ถวายเกียรติแด่พระองค์ในโลก ข้าพระองค์ได้กระทำพระราชกิจที่พระองค์ทรงให้ข้าพระองค์กระทำจนสำเร็จ” (ยอห์น 17:4)

      สิ่งที่ทำสำเร็จในช่วงแรกของความรอดก็คือ การคืนดีกับพระเจ้าในพระคริสต์ (2 โครินธ์ 5:19)[16] โดยพระโลหิตแห่งการชดใช้ของพระเยซูพระเมษโปดกของพระเจ้า ที่หลั่งลงบนแท่นบูชาแห่งกางเขนนั้น ตอนนี้มวลมนุษย์จึงสามารถคืนดีกับพระเจ้าได้ กำแพงที่ขวางกั้นระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ได้ถูกทลายลง ดังที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากการที่ม่านในพระวิหารฉีกขาด (ได้บันทึกไว้ในพระกิตติคุณทั้งสามเล่มคือมัทธิว 27:51; มาระโก 15:38; ลูกา 23:45) ที่ได้ปิดกั้นส่วนที่บริสุทธิ์ที่สุดออกจากส่วนอื่นทั้งหมดของพระวิหาร ในการปรนนิบัติรับใช้ในพระวิหารนั้น มหาปุโรหิตที่เป็นตัวแทนของประชาชน จะเข้าสู่ส่วนที่บริสุทธิ์ที่สุดนี้ซึ่งเรียกว่าอภิสุทธิสถานปีละหนึ่งครั้ง (ฮีบรู 9:7) เพื่อเข้าเฝ้าต่อพระพักตร์ของพระเจ้าพร้อมกับเลือดของเครื่องสัตวบูชา

      คำว่า schizō ในมัทธิว 27:51 ซึ่งแปลว่า “ฉีกออก” ที่อ้างอิงถึงม่านในพระวิหารนั้นก็ยังใช้ในข้อเดียวกันกับศิลาที่แตกออกจากกัน กำแพงระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ที่สร้างขึ้นจากความบาปของมนุษย์และแทนด้วยม่านนั้น ไม่สามารถผ่านเข้าไปได้เช่นเดียวกับศิลาในแง่ของความเป็นจริงฝ่ายวิญญาณอย่างที่ใครก็ตามที่พยายามเข้าไปถึงพระเจ้าจะค้นพบอีกไม่นานว่าเป็นเช่นนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถผลักออกไปได้ง่ายๆเหมือนกับม่านของจริง

      แต่เพื่อให้การคืนดีสำเร็จ พระเจ้าจำเป็นต้องมาหาเราในพระคริสต์ ก่อนที่เราจะสามารถไปหาพระองค์ได้ ในพระคริสต์นั้นพระยาห์เวห์ทรงตอบคำวิงวอนที่กล่าวอย่างเจ็บปวดในอิสยาห์ 64:1 ว่า “โอ ขอให้พระองค์ทรงแหวกฟ้าสวรรค์และเสด็จลงมา” ซึ่งเป็นข้อที่แสดงให้เห็นว่าฟ้าสวรรค์เป็นเหมือนม่าน หรือผ้าที่ซ่อนพระยาห์เวห์จากสายตาของเรา นี่ก็เช่นกัน คือภาพของม่านที่ถูกฉีกออกและพระยาห์เวห์เสด็จมาหาเรา นอกจากนี้ยังเป็นภาพที่พระวิญญาณของพระเจ้าเสด็จมาบนพระเยซูเมื่อทรงรับบัพติศมา (“ทันใดนั้น พระองค์รงเห็นท้องฟ้าแหวกออก และพระวิญญาณดุจนกพิราบก็ลงมาประทับบนพระองค์” มาระโก 1:10) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าสถิตอยู่กับพระองค์และสถิตในพระองค์

      ช่วงที่สองของความรอดเกี่ยวข้องกับช่วงปัจจุบันที่พระเยซูทรงอยู่ในสวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดาที่ว่า “จงนั่งที่เบื้องขวาของเรา จนกว่าเราจะทำให้ศัตรูของท่านเป็นที่รองเท้าของท่าน” (ฮีบรู 1:13) ในช่วงนี้เป็นพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ซึ่งก็คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นผู้ที่กำลังทำงานอยู่ใน “คริสตจักรของพระเจ้า” (คำที่ใช้ในกิจการ 20:28; 1 โครินธ์ 1:2; 10:32; 11:22; 15:9; 2 โครินธ์ 1:1; กาลาเทีย 1:13; 1 ทิโมธี 3:5, 15)[17] ในการชักนำคนทั้งหลายให้มาถึงความเชื่อที่นำไปสู่ความรอดในพระคริสต์ พระเจ้าทรงทำงานนี้ผ่านประชากรของพระองค์และคริสตจักรของพระองค์ ซึ่งเป็นพระกายของพระคริสต์

      ช่วงที่สามของความรอดเกี่ยวข้องกับการเสด็จกลับสู่โลกของพระเยซูในฐานะกษัตริย์และพระเมสสิยาห์ ตามที่เหล่าทูตสวรรค์ได้บอกกับเหล่าสาวกว่า “พระเยซูองค์นี้ที่ทรงรับไปจากท่านทั้งหลายขึ้นไปยังสวรรค์นั้น จะเสด็จมาอีกในลักษณะเดียวกับที่ท่านทั้งหลายได้เห็นพระองค์เสด็จไปยังสวรรค์นั้น” (กิจการ 1:11)

 

      ามช่วงของความรอด สามารถแสดงให้เห็นในอีกทางหนึ่งจากมุมมองของพระยาห์เวห์

 

      ช่วงแรก พระยาห์เวห์ได้เสด็จมาสถิตอยู่ในมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ จนกระทั่งว่าความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์ (โคโลสี 2:9)[18] พระเจ้าทรงอยู่ในพระคริสต์ ทรงทำให้โลกนี้คืนดีกับพระองค์เอง (2 โครินธ์ 5:19) ช่วงแรกนี้มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ใหม่ในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม

      ช่วงที่สอง ตอนนี้พระยาห์เวห์ทรงอยู่ในโลกโดยสถิตอยู่ในคริสตจักรของพระองค์ ซึ่งก็คือพระกายของพระคริสต์และพระวิหารของพระเจ้า และงานการคืนดีของพระองค์กำลังดำเนินต่อไปผ่านทางคริสตจักร ช่วงนี้เป็นจุดสำคัญหลักๆของส่วนจากกิจการไปจนถึงยูดา เนื่องจากส่วนนี้ของพระคัมภีร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับช่วงปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะถ้ามีข้อผิดพลาดใดๆตรงนี้ก็จะส่งผลทางจิตวิญญาณที่ร้ายแรง บัดนี้พระยาห์เวห์สถิตอยู่ในคริสตจักรของพระองค์ “ทางกาย” ในลักษณะเดียวกับที่พระองค์สถิตในพระคริสต์ (ที่ตอนนี้คือศีรษะของคริสตจักร) เมื่อพระคริสต์ทรงอยู่บนโลก ข่าวสารของคริสตจักรที่มาถึงโลกก็คือ “จงคืนดีกับพระเจ้า” (2 โครินธ์ 5:20, 18; โรม 5:10)[19] เช่นเดียวกับที่พระคริสต์เสด็จมาเพื่อทรง “นำเราไปถึงพระเจ้า” (1 เปโตร 3:18)[20]

      ตอนนี้พระกายของพระคริสต์อยู่ในโลกในแบบที่ศีรษะ ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ ได้อยู่ในโลก กล่าวได้ว่าในเวลานี้คริสตจักรเป็นเหมือนพระคริสต์เมื่อทรงอยู่ในโลก ที่ไม่ใช่เฉพาะเป็นชุมชนหรือร่างกายในฝ่ายวิญญาณเท่านั้น แต่ยังเป็นแต่ละบุคคลอีกด้วย กายของผู้เชื่อแต่ละคนที่ได้รับพระวิญ ญาณของพระเจ้า ตอนนี้ก็คือพระวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ นั่นคือพระวิหารของพระเจ้า ที่โดยหลักๆแล้วอยู่ในลักษณะเดียวกับที่พระเยซูทรงเป็นพระวิหารของพระเจ้า ยกเว้นความแตกต่างที่สำคัญมากว่าในขณะที่พระเยซูทรงบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงโดยพระยาห์เวห์สถิตอยู่ในพระองค์ แต่เรา (ยัง) ไม่บรรลุถึง “ระดับความสมบูรณ์แบบของพระคริสต์” ถึงอย่างนั้นเราก็สามารถมีประสบการณ์กับพระคริสต์ในตัวเราได้ ไม่ใช่แค่รู้แบบลอยๆ ด้วยเหตุนี้เปาโลจึงสามารถพูดว่า “สำหรับข้าพเจ้า การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์” เหตุนี้เองที่ การตายก็ได้กำไร (ฟีลิปปี 1:21)

 

      ช่วงที่สาม พระยาห์เวห์จะเสด็จมากลับมายังโลกในพระคริสต์ พระคริสต์ของพระยาห์เวห์ (“พระคริสต์ของพระเจ้า,” ลูกา 9:20)[21] และคริสตจักรของพระยาห์เวห์ (“คริสตจักรของพระเจ้า,” กิจการ 20:28)[22] จะปกครองโลกนี้ ทุกคนที่ปฏิเสธการคืนดีกับพระเจ้าจะถูกพิพากษา ช่วงที่สามนี้ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของยุคนี้ เป็นจุดสำคัญของหนังสือวิวรณ์ รวมถึงสองสามบทในพระกิตติคุณสามเล่มแรกและพระคัมภีร์บางตอนของจดหมายในพระคัมภีร์ใหม่ โดยเฉพาะ 2 เธสะโลนิกา

      ในช่วงนี้ พระคริสต์จะทรง “ให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของพระองค์” (ฟีลิปปี 3:21)[23] เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของช่วงที่สามในแผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับความรอดในพระคริสต์ การเปลี่ยนแปลงทางกายที่กล่าวถึงในข้อนี้คือความพ่ายแพ้ของความตายและการที่ต้องตาย การสวมความเป็นอมตะที่ไม่ต้องตายนั้น ร่างกายที่ได้รับการไถ่จะเปลี่ยนเป็นร่างกายที่เต็มด้วยสิริและไม่มีวันเสื่อมสลายเช่นเดียวกับของพระคริสต์ การให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของพระคริสต์นั้นจะรวมถึงความพ่ายแพ้ของความตายและความตายถูกขจัดออกไปจากสิ่งทรงสร้างที่ทรงไถ่ไว้

      นอกจากนี้ยังมีการอยู่ใต้อำนาจของวิญญาณที่มีฤทธิ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าซึ่งถูกเรียกว่า “เทพผู้ครองและเทพที่มีฤทธิ์” (ฉบับ KJV) หรือ “เทพผู้ปกครองและเทพที่มีอำนาจ” (ฉบับ ESV) ที่ “พระองค์ทรงปลดเทพผู้ครองและศักดิเทพเสีย พระองค์ได้ทรงประจานพวกมัน และชนะพวกมันโดยกางเขนนั้น” (โคโลสี 2:15) เราเห็นสิ่งที่คล้ายกันในพระคัมภีร์ตอนต่อไปนี้

 

ได้มีการ​​เป็นพยานในที่หนึ่ง (คือ สดุดี 8:4-6) ว่า “มนุษย์เป็นใครหรือ ที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา และบุตรมนุษย์เป็นใครหรือ ที่พระองค์ทรงห่วงใยเขา? พระองค์ทรงทำให้เขาต่ำกว่าเหล่าทูตสวรรค์เพียงชั่วระยะหนึ่ง พระองค์ทรงสวมมงกุฎแห่งสง่าราศีและเกียรติให้แก่เขา ​​ทรงทำให้ทุกสิ่งอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเขา (ของมนุษย์)”เรื่องที่พระองค์ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของเขานั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่อยู่ใต้อำนาจของเขา ในขณะนี้เรายังไม่เห็นว่าทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของเขา แต่เราก็เห็นพระองค์ซึ่งก็คือพระเยซู ผู้ทรงถูกทำให้ต่ำกว่าพวกทูตสวรรค์เพียงชั่วระยะหนึ่งนั้น ได้ทรงสวมสง่าราศีและพระเกียรติเป็นมงกุฎ เพราะ​​ความทุกข์ทรมานจากการสิ้นพระชนม์เพื่อว่าโดยพระคุณของพระเจ้า พระองค์จะได้ลิ้มรสความตายเพื่อทุกคน (ฮีบรู 2:6-9 ฉบับ ESV)

 

      จุดประสงค์นิรันดร์ของพระเจ้าสำหรับการสร้างนั้น รวมถึงการให้ทุกสิ่งอยู่ใต้ฝ่าเท้าของมนุษย์ หลังจากการไม่เชื่อฟังของอาดัม พระยาห์เวห์ได้ทรงดำเนินตามแผนการนิรันดร์ของพระองค์ทางการไถ่ซึ่งอยู่ใน “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” ผู้เป็น “คนกลางแต่เพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์” (1 ทิโมธี 2:5)[24] แต่ถ้าพระคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าดังที่พระองค์เป็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว แผนการของพระเจ้าก็จะไม่ได้ดำเนินการและถูกล้มไป เพราะจะเป็นว่าทุกสิ่งจะอยู่ใต้อำนาจของ “พระองค์ที่สองของพระเจ้าในตรีเอกภาพ” ไม่ใช่ทุกสิ่งจะอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์

      โยบครุ่นคิดหนักถึงคุณค่าที่พระยาห์เวห์ทรงรักมนุษย์และให้ความสนใจในตัวเขา (“มนุษย์เป็นผู้ใดเล่า พระองค์จึงทรงถือว่าเขาสำคัญนัก และเป็นผู้พระองค์ใส่พระทัย” โยบ 7:17) ความห่วงใยที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์นั้นมองเห็นได้จากความตั้งพระทัยของพระองค์ตั้งแต่ “ก่อนทรงสร้างโลก” ที่ “ให้ทุกสิ่งอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเขา” นั่นก็คือ ให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ เป็นมนุษย์นั่นเอง ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ผู้ที่ดีเลิศ ผู้ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดา ที่จะปกครองเหนือสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง ในฐานะตัวแทนและผู้มีอำนาจเต็มของพระองค์

 

1 โครินธ์ 15:24-27 แล้ว​​วาระสุดท้ายก็มาถึง เมื่อพระองค์ทรงถวายอาณาจักรแด่พระเจ้าพระบิดา หลังจากทรงทำลายการปกครอง อำนาจ และอานุภาพทุกอย่าง เพราะพระ​​องค์จะต้องทรง​​ปกครองจนกว่าพระองค์ได้ทรงปราบศัตรูทั้งหมดให้อยู่ใต้พระบาทของพระองค์ศัตรูตัวสุดท้ายที่จะถูกทำลายก็คือความตาย เพราะ“พระเจ้าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจภายใต้พระบาทของพระองค์ (ฉบับ ESV)

 

เอเฟซัส 1:18-23 ขอให้ตาใจของท่านสว่างขึ้น เพื่อท่านจะรู้ถึงความหวังที่พระองค์ (พระเจ้า, ข้อ 17) ได้ทรงเรียก​​ท่าน​ ​รู้ถึงมรดกอันมีสง่าราศีของพระองค์สำหรับพวกธรรมิกชนว่าบริบูรณ์เพียงไร และรู้ถึง ฤทธานุภาพอัน​​ยิ่งใหญ่ของพระองค์ว่ามากมายเพียงไรสำหรับเราที่เชื่อ ตามพระราช​​กิจอันทรงอานุภาพและทรงพลังของพระองค์ที่ได้ทรงทำในพระคริสต์เมื่อพระองค์ทรงทำให้พระคริสต์เป็นขึ้นจากตาย และทรงให้พระคริสต์ประทับที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ในสวรรคสถาน สูงส่งเหนือกว่าเทพที่ครอบครอง เทพที่มีอำนาจ เทพที่มีฤทธิ์เดชและเทพที่ปกครองทั้งมวล และเหนือกว่านามทั้งหมดที่ถูกเอ่ยชื่อ ไม่เฉพาะในยุคนี้เท่านั้นแต่ในยุคที่จะมาถึงด้วย พระเจ้าทรงวางทุกสิ่งไว้ใต้พระบาทของพระคริสต์ และทรงให้พระคริสต์​​เป็นศีรษะเหนือทุกๆสิ่งของคริสตจักร ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์ ที่ความบริบูรณ์ของพระองค์จะเต็มเปี่ยมอยู่ในทุกสิ่ง (ฉบับ ESV)

 

พระเจ้าผู้ทรงเป็นอมตะไม่สามารถตายได้

      พระเจ้าทรงเป็นอมตะ ซึ่งหมายความว่าพระเจ้าไม่สามารถตายได้และจะไม่ตาย แต่ความจริงข้อนี้หายไปกับผู้พูดภาษาอังกฤษส่วนมาก เพราะคำว่า “เป็นอมตะ” สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วไม่ได้สื่อความหมายชัดๆหรืออย่างชัดเจนว่าจะ “ไม่สามารถตายได้” หรือ “จะไม่ตาย” เหตุผลหนึ่งก็คือคำว่า “ที่ต้องตาย” และ “เป็นอมตะ” จะเห็นเป็นรูปธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่น้อยกว่าคำว่า “ตาย” และ “ความตาย” อีกเหตุผลหนึ่งก็คือคำว่า “เป็นอมตะ” มักถูกใช้ในความหมายของ “ควรเป็นที่จดจำตลอดไป” (พจนานุกรมฉบับอ๊อกฟอร์ด) เช่นเดียวกับใน “เช็กส์เปียร์ไม่มีวันตาย”[25] แต่ก็มีอีกเหตุผลหนึ่งคือคำว่า “ที่ต้องตาย” (หมายถึงมนุษย์) บางครั้งก็ใช้พูดถึงคนบางจำพวก เช่น “พวกเอกอัครราชทูตใช้ชีวิตแบบที่คิดว่าตนเองเหนือมนุษย์” (ตัวอย่างจากพจนานุกรมฉบับอ๊อกฟอร์ด)

      แต่ในภาษากรีก ความหมายว่า “ไม่สามารถตายได้” จะเห็นได้ชัดเจนในคำ athanasia (ความเป็นอมตะ) ซึ่งเป็นการผสมของพยัญชนะตัวต้นคือ “a” ที่เสริมหน้า กับคำ thanatos (“ความตาย”) ซึ่งโดยทั่วไปหมายความว่า “ไม่ตาย”

      คำภาษาอังกฤษว่า mortal จะเหมือนกับคำภาษาฝรั่งเศสว่า mort และคำภาษาลาตินว่า mortuus ซึ่งทั้งคู่หมายถึง “ตาย” อันที่จริงแล้วพระคัมภีร์บางฉบับแปล 1 ทิโมธี 6:16 ไว้ชัดเจนว่า พระเจ้าไม่สามารถตายได้คือ “พระองค์เพียงผู้เดียวที่ไม่มีวันตาย[26] (พระคัมภีร์ฉบับขยายความ), “พระเจ้าทรงเป็นผู้เดียวที่ไม่สามารถตายได้” (ฉบับ NIRV), และ “พระองค์เพียงผู้เดียวไม่มีวันตาย” (ฉบับ NLT) นี่จะเห็นได้จากพระคัมภีร์ภาษาอื่นๆ พระคัมภีร์ภาษาฝรั่งเศสกล่าวว่า “Il est le seul qui ne meurt pas” (“พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวที่ไม่ตาย”, La Bible: Parole de Vie) พระคัมภีร์ภาษาจีนฉบับ Chinese Union ก็มีความชัดเจนพอๆกันว่า “พระองค์เพียงผู้เดียวที่ไม่ตาย” (就是那独一不死)

      พวกเราที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพมาก่อน เราไม่ได้เข้าใจว่า ตามคำนิยามแล้ว ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ก็จะทรงเป็นอมตะและไม่สามารถตายได้ ฉะนั้นพระเยซูก็ไม่ใช่พระเจ้าและสามารถตายเพื่อความบาปของมวลมนุษย์ได้ หรือไม่เช่นนั้นพระองค์ก็เป็นพระเจ้าและไม่สามารถตายได้ ผมไม่รู้จักนักศาสนศาสตร์คนไหนที่ได้ให้คำตอบที่เป็นไปได้กับสิ่งที่เป็นปริศนาในเรื่องนี้ นักศาสนศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อเจอร์เกน มอลท์มานน์ ยังอวดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ โดยตั้งชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่า “พระเจ้าผู้ทรงถูกตรึงตายบนกางเขน”[27]

      แนวความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่สิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์อีกครั้งนั้น เป็นสิ่งที่โลกของคนนอกศาสนาคุ้นเคยที่คริสตจักรของชาวต่างชาติได้หยั่งราก นั่นแทบไม่น่าแปลกใจที่นักวิชาการบางคนได้ให้ภาพคริสต์ศาสนาว่าเป็นคำสั่งสอนเกี่ยวกับพระคริสต์ของคนนอกศาสนา (เช่น พระคริสต์ของคนนอกศาสนา เขียนโดยทอม ฮาร์ปูร์)[28] คำวิจารณ์ของพวกเขาไม่ใช่ว่าไม่มีบรรทัดฐาน เพราะพระเจ้าของพระคัมภีร์ทรงเป็นอมตะอย่างไม่อาจโต้แย้งได้ ตรงกันข้ามกับบรรดาพระเจ้าของคนนอกศาสนาที่ถูกกล่าวขานว่าตายและเป็นขึ้นมาอีก เพราะพวกเขาทำให้ลักษณะของธรรมชาติเป็นตัวบุคคลที่ตายในฤดูหนาวและเป็นขึ้นใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ มีพระเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์อยู่มากมายในวัฒนธรรมโบราณของคนนอกศาสนา และตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็คือ พระบาอัลที่กราบไหว้กันในประชาชาติคานาอัน และต่อมาคนจำนวนมากในอิสราเอลก็พากันกราบไหว้[29]

      อาจกล่าวได้ว่า คริสตจักรของชาวต่างชาติไม่ได้ยกพระเยซูให้เท่าเทียมกับพระเจ้าของพระคัมภีร์ผู้ที่เป็นอมตะ แต่ให้อยู่ในระดับเดียวกับบรรดาพระเจ้าของคนนอกศาสนาที่ต้องตาย!

      ตรงกันข้ามกับแนวความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าต่างๆของคนคานาอัน ตำนานเทพเจ้ากรีกนำเสนอมุมมองทางเลือกของคนนอกศาสนาเกี่ยวกับความเป็นอมตะของพระเจ้าต่างๆ ในวัฒนธรรมกรีก-โรมันแล้ว จะมีวิหารของ “พระเจ้าและ​​เจ้ามากมาย” (1 โครินธ์ 8:5) ที่เรียกว่าพระเจ้ามากมาย เพราะ พระเจ้าเหล่านี้ว่ากันว่าเป็นอมตะ ความเป็นอมตะเป็นคุณสมบัติของเทพเจ้าของกรีกที่ไม่อาจทำให้เป็นอื่นได้[30] ใครที่ตายได้ก็ไม่ใช่พระเจ้า ตามหลักเกณฑ์นี้พระเยซูก็ทรงเป็นมนุษย์แน่นอน เว้นแต่ว่าบรรดาคริสเตียน (โดยไม่รู้ตัว) จะจัดให้พระองค์เป็นพระเจ้าแห่งเกษตรกรรมที่ “ตายและเป็นขึ้นมาอีก” ซึ่งการดำรงอยู่ของพระเจ้าเหล่านั้นจะคล้ายกับฤดูกาลต่างๆ (ตายไปในฤดูใบไม้ร่วงและมีชีวิตขึ้นมาใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ)[31] บรรดาพระเจ้าของกรีกจะเป็นเหมือนมนุษย์ที่ถูกบูชาเป็นพระเจ้าเสียมากกว่า ซึ่งผิดกับบรรดาพระเจ้าที่ตายและเป็นขึ้น พระเจ้าเหล่านี้ทำตัวเหมือนมนุษย์และในบางกรณีก็เลวทรามกว่าพวกมนุษย์

      วัฒนธรรมกรีกโบราณไม่มีตำนานหรือเรื่องเล่าการทรงสร้างที่เป็นจุดสำคัญ ซึ่งตรงกันข้ามกับพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู ในตำนานเทพเจ้าของกรีกนั้น บางด้านของโลกโดยธรรมชาติถือกำเนิดมาจาก หรือขอบเขตการครอบครองของบรรดาพระเจ้าต่างๆ เช่น ไกอา เป็นเทพธิดาแห่งดินหรือแม่พระธรณี และยูรีโนม[32] เป็นเทพธิดาแห่งมหาสมุทร ไม่มีผู้สร้างสูงสุดและไม่มีความพยายามที่จะอธิบายถึงต้นกำเนิดที่สุดของทุกสิ่ง

      พระเยซูจะสิ้นพระชนม์บนกางเขนได้อย่างไร ถ้าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ในเมื่อโดยธรรมชาติแล้วพระเจ้าทรงเป็นอมตะ? ไม่มีทั้งสองทางในเรื่องนี้ พระคัมภีร์กล่าวอย่างชัดเจนว่า ความเป็นอมตะเป็นพระลักษณะที่แท้จริงของพระยาห์เวห์ ผู้เป็นพระเจ้าในพระคัมภีร์ ส่วนพระเจ้าผู้สามารถทำให้ตายได้โดยการตรึงตายบนกางเขนนั้นไม่ใช่พระเจ้าในพระคัมภีร์ แต่เป็นหนึ่งในบรรดาพระเจ้าที่ตายไปและเป็นขึ้นอีกของคนนอกศาสนาที่บรรดาบรรพชนของคริสตจักรคุ้นเคย แต่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพต้องการที่จะมีทั้งสองทางโดยพูดให้มีความหมายสองด้านอย่างช่ำชอง นี่แทบไม่น่าแปลกใจเลยที่หนังสือที่มีชื่อเช่น พระคริสต์ของคนนอกศาสนา จึงขายได้จำนวนมาก

      ในยุคปัจจุบันนี้ ความเป็นจริงเกี่ยวกับการมีชีวิตของมนุษย์ก็คือการที่มนุษย์ต้องตาย “ตามที่มีข้อกำหนดสำหรับมนุษย์ไว้แล้วว่าจะตายครั้งเดียว และหลังจากนั้นก็จะมีการพิพากษา” (ฮีบรู 9:27) มนุษย์ไม่ได้เป็นอมตะโดยกำเนิด แต่จะถูกทำให้เป็นอมตะเมื่อเป็นขึ้นจากความตาย (1 โครินธ์ 15:53-54) ความเป็นอมตะของเราในอนาคตไม่ใช่ความเป็นอมตะที่มีอยู่ในตัว แต่เป็นความเป็นอมตะที่มอบให้ มนุษย์ต้องได้รับความเป็นอมตะ เพราะว่าในที่สุดแล้วชีวิตของเขาก็มาจากชีวิตของพระเจ้าเช่นเดียวกับชีวิตของพระคริสต์ พระเยซูตรัสว่า “เรามีชีวิตเพราะพระบิดา” (ยอห์น 6:57); “เพราะว่าพระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เองอย่างไร พระองค์ก็ทรงให้พระบุตรมีชีวิตในพระองค์เองอย่างนั้น” (ยอห์น 5:26)

      และแน่นอนว่าเมื่อเราได้รับความเป็นอมตะ เราจะไม่ตายอีก และความตายจะพ่ายแพ้ (“ความตายถูกกลืนด้วยชัยชนะแล้ว” 1 โครินธ์ 15:54) ในทางกลับกัน พระเจ้าทรงเป็นอมตะชั่วนิรันดร์ พระองค์ไม่สามารถตายได้ พระองค์ไม่เคยตาย และจะไม่มีวันตาย

      สำหรับเราแล้ว ความตายไม่ใช่จุดจบของเรื่อง เพราะข้อถัดไปคือฮีบรู 9:28 ก็มีข่าวดีอยู่บ้างว่า “พระคริสต์​​ได้ทรงถูกถวาย (โดยพระเจ้า) เป็นเครื่องบูชาครั้งเดียวเพื่อ​​ทรงแบกบาปของคนจำนวนมากไว้ แล้ว​​จะทรงปรากฏเป็นครั้งที่สอง ไม่ใช่เพื่อ​​จัดการกับบาป แต่เพื่อให้บรรดาผู้ที่รอคอยพระองค์ด้วยใจจดจ่อได้รอด” (ฉบับ RSV)

      ในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระเยซูคริสต์จึงทรงสามารถตายได้ แต่การที่ทรงปราศจากความบาปนั้น ตามบทบัญญัติแล้วพระองค์ไม่จำเป็นต้องตาย แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ประทานชีวิตของพระองค์ด้วยความสมัครพระทัยเพื่อความรอดของเราดังที่ตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดชิงชีวิตไปจากเราได้ แต่เราสละชีวิตด้วยใจสมัครของ​​เรา​​เอง” (ยอห์น 10:18) ความตายเข้ามาในโลกทางความบาปของอาดัมและด้วยความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน แต่พระคริสต์ได้ประทานพระองค์เองเป็นค่าไถ่เพื่อไถ่มนุษย์ (มัทธิว 20:28)

      ถ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์จะไม่สามารถตายเพื่อเราได้ และเราก็จะถูกทิ้งให้อยู่ในบาปของเราโดยปราศจากความหวังในความรอด พระลักษณะของพระเจ้าที่ไม่อาจทำให้เป็นอื่นได้ก็คือว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่นิรันดร์ (“พระเจ้าผู้ดำรงเป็นนิตย์” เฉลยธรรมบัญญัติ 33:27) และเพราะฉะนั้นจึงทรงเป็นอมตะ (1 ทิโมธี 1:17) พระเจ้าต้องนำความรอดมาสู่เราด้วยวิธีการเดียวที่เป็นไปได้ นั่นคือ โดยการตายของมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ ความรอดโดยทางพระคริสต์ไม่ได้เป็นความคิดในภายหลัง เพราะพระยาห์เวห์ได้ทรงดำเนินการตามแผนการแห่งความรอดอันน่ามหัศจรรย์ของพระองค์ตั้งแต่ “ก่อนทรงสร้างโลก” (เอเฟซัส 1:4; 1 เปโตร 1:20)[33]

 

ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยง “ความเป็นอมตะ”

      เราจะพูดในส่วนนี้สั้นๆ ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนทราบดีว่าคำว่า “ความเป็นอมตะ” เป็นปัญหาต่อหลักคำสอนของพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงโดยบอกว่า เราจะต้องเข้าใจความเป็นอมตะว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ของจิตวิญญาณ มากกว่าการที่จะไม่สามารถตายได้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ คนที่ตายไปยังสามารถกล่าวได้ว่าเป็นอมตะ แต่มุมมองของความเป็นอมตะนี้ขัดแย้งกับมุมมองของพระคัมภีร์ตามที่เปาโลขยายความไว้ว่า

เมื่อสิ่งที่เสื่อมสลายได้สวมด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายไม่ได้ และสิ่งที่ต้องตายสวมด้วยความเป็นอมตะ เมื่อนั้นสิ่งที่เขียนไว้จะสำเร็จดังนี้ว่า “ความตายก็ถูกกลืนด้วยชัยชนะแล้ว” และ “ความตายเอ๋ย ชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหนความตายเอ๋ย เหล็กไนของเจ้าอยู่ที่ไหน? (1 โครินธ์ 15:54-55 ฉบับ ESV)

      เมื่อมนุษย์ที่ต้องตายสวมด้วยความเป็นอมตะ เขาจึงไม่ต้องเน่าเปื่อยอีกต่อไปแต่ไม่เสื่อมสลาย เพราะความตายถูกกลืนด้วยชัยชนะ (เปรียบเทียบอิสยาห์ 25:8 ​​​​พระองค์จะทรงกลืนความตายตลอดไปเป็นนิตย์”) ดังนั้นเมื่อคนๆหนึ่งกลายเป็นอมตะ เขาจะไม่มีวันตาย! โรม 2:7 เชื่อมโยงความเป็นอมตะกับชีวิตนิรันดร์เมื่อกล่าวว่า พระเจ้าจะประทานชีวิตนิรันดร์แก่ผู้ที่ “แสวงหาศักดิ์ศรี เกียรติ และความเป็นอมตะ” ความเป็นอมตะของเราไม่ได้ทำให้เราเป็นพระเจ้า เพราะมันเป็นของประทานที่ให้กับเรา มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเป็นอมตะอย่างแท้จริง ดังที่อธิบายไว้ในพจนานุกรมพระคัมภีร์พร้อมภาพประกอบของโฮลแมน[34] (“ความเป็นอมตะ”) ดังนี้

 

ตามความหมายที่แท้จริงของคำกล่าวแล้ว พระเจ้าเพียงผู้เดียวที่ทรงเป็น​​อมตะ (1 ทิโมธี 6:16; 1:17; 2 ทิโมธี 1:10) เพราะว่าพระเจ้าเพียงผู้เดียวที่ดำรงอยู่ตามความหมายที่แท้จริงของคำกล่าว มนุษย์ทั้งหลายอาจถือว่าเป็นอมตะก็เมื่อตราบใดที่ความเป็นอมตะเป็นของประทานจากพระเจ้า เปาโลชี้ให้เราเห็นในทิศทางเดียวกันนี้ ในโรม 2:7 เปาโลกล่าวว่า “ผู้ที่​​เพียรทำความดี แสวงหาศักดิ์ศรี เกียรติ และความเป็นอมตะนั้น พระองค์จะประทานชีวิตนิรันดร์ให้” (ฉบับ NRSV) เปาโลยังได้อธิบายอีกว่า ธรรมชาติที่เสื่อมสลายได้ของชีวิตมนุษย์จะถูกสวมด้วยสภาพที่ไม่เสื่อมสลาย และธรรมชาติที่ต้องตายของชีวิตมนุษย์จะถูกสวมด้วยความเป็นอมตะ เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น คำกล่าวถึงชัยชนะเหนือความตายก็จะสำเร็จ (1 โครินธ์ 15:53-55; อิสยาห์ 25:8; โฮเชยา 13:14)

 

      เปาโลกล่าวว่า “ไม่มีผู้ปกครองคนใดในยุคนี้เข้าใจเรื่องนี้ เพราะถ้าได้เข้าใจแล้ว พวกเขาก็จะไม่ได้เอาองค์​​ผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริไปตรึงกางเขน” (1 โครินธ์ 2:8) ในที่นี้คำว่า “ตรึงกางเขน” ชี้ไปที่ความตายของพระเยซูบนไม้กางเขน เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราเพิกเฉยต่อความจริงที่ไม่สามารถกำจัดทิ้งได้ว่า พระเจ้าทรงเป็นอมตะและไม่สามารถจะถูกตรึงตายบนไม้กางเขนได้ ความเป็นอมตะของพระเจ้าคือพระลักษณะของพระเจ้าที่ทำให้เป็นอื่นไม่ได้ และไม่เปิดช่องให้ต่อรองหรือประนีประนอม (เช่น โดยพูดว่าพระเจ้า “สิ้นพระชนม์บนกางเขนไม่กี่นาทีเอง”) พระเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่ “ตั้งแต่นิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล” ทรงเป็นอมตะ ส่วนการที่ต้องตายนั้นคือความเป็นจริงโท่นโท่ที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ

 

พระเจ้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ มนุษย์ที่มองเห็นได้

      เป็นเรื่องปกติที่พระคัมภีร์จะเริ่มจากความเป็นอมตะของพระเจ้าไปสู่การไม่สามารถมองเห็นพระเจ้าได้ตามลำดับ เพราะทั้งสองมีความเชื่อมโยงกันในคำกล่าวต่อไปนี้

...พระองค์ผู้ทรงสมควรแก่การสรรเสริญและทรงฤทธานุภาพสูงสุดเพียงผู้เดียว เป็นพระมหากษัตริย์เหนือบรรดากษัตริย์และเป็นองค์เจ้านายเหนือบรรดาเจ้านาย พระองค์เพียงผู้เดียวที่เป็นอมตะ      ผู้สถิตในความสว่างที่ไม่มีใครเข้าใกล้ได้ ผู้ที่ไม่เคยมีใครเคยได้เห็นหรือสามารถจะเห็นได้ ขอพระเกียรติและ​​การปกครองนิรันดร์จงมีแด่พระองค์ อาเมน (1 ทิโมธี 6:15-16 ฉบับ ESV)

      เปาโลกล่าวถึงประเด็นสำคัญสองประเด็นคือ พระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวที่เป็นอมตะ (“พระองค์ผู้เดียวทรงเป็นอมตะ”) และพระเจ้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ (“พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ไม่เคยมีใครได้เห็นหรือสามารถจะเห็นได้”) การที่ไม่สามารถมองเห็นตัวตนของพระเจ้าได้นั้นตัดโอกาสพระเยซูที่จะเป็นพระเจ้าได้ เพราะเราสามารถมองเห็นพระเยซูได้ ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่ว่าพระเจ้า “​​ผู้เดียวที่เป็น​​อมตะ” ได้ตัดโอกาสคนอื่นๆรวมทั้งพระเยซูว่าเป็นอมตะ และเพราะฉะนั้นจึงตัดโอกาสที่จะเป็นพระเจ้า ถ้าหากเราใช้คำว่า “​​ผู้เดียวที่เป็นอมตะ” กับพระเยซู เราก็ตัดโอกาสพระเจ้าพระบิดาว่าเป็นอมตะตามรากฐานของคำว่า “ผู้เดียว

      ความพยายามที่จะช่วยให้พระเยซูเป็นพระเจ้าจากพระคัมภีร์ตอนนี้ คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ที่ได้รับความนิยมให้คำกล่าวที่แปลกประหลาดว่า “พระเยซูทรงถูกอ้างถึงว่าเป็นอมตะ สถิตในความสว่างที่ไม่มีใครเข้าใกล้ได้ และไม่สามารถจะมองเห็นได้ไม่สามารถจะมองเห็นได้หรือ? พระเยซูทรงเป็นผู้ที่ไม่สามารถจะมองเห็นได้หรือ? ตรงนี้เราจะเห็นความรอบคอบของเปาโลที่เชื่อมอนุประโยค “พระองค์เพียงผู้เดียวที่เป็น​​อมตะ” กับ “ผู้ที่ไม่​​มีใครเคยได้เห็นหรือสามารถจะเห็นได้” ในแบบที่ไม่สามารถจะแยกทั้งสองอนุประโยคจากกันได้ ซึ่งเป็นการบังคับให้เราเลือกระหว่างพระเยซูที่มองเห็นได้และตายได้ (พระเยซูตามพระคัมภีร์) กับพระเยซูที่ไม่สามารถจะมองเห็นได้และไม่สามารถตายได้ (พระเยซูที่เป็นไปไม่ได้)

      พระเยซูทรงเป็นผู้ที่เรามองเห็นได้อย่างเด่นชัด เปาโลกล่าวว่าเขาได้เห็นพระเยซู “ข้าพเจ้ามีเสรีภาพไม่ใช่หรือ? ข้าพเจ้าเป็นอัครทูตไม่ใช่หรือ? ข้าพเจ้าเห็นพระเยซูองค์​​ผู้เป็นเจ้าของเราแล้วไม่ใช่หรือ?” (1 โครินธ์ 9:1) คำตอบคือ “ใช่แล้ว” กับคำถามเชิงโวหารทั้งสามข้อ แม้ว่าเราจะถือว่าคำกล่าวของเปาโลเป็นคำเปรียบเปรย แต่การมองเห็นพระเยซูที่ฟื้นคืนพระชนม์ก็ไม่มีข้อสงสัยเมื่อพระองค์ได้ทรงปรากฏกับเคฟาส กับสาวกสิบสองคนและกับพี่น้องกว่า 500 คน (1 โครินธ์ 15:5-6)[35]

      เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์? หรือรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นมนุษย์? พระคัมภีร์พูด ถึงมนุษย์ที่ต้องตายว่าเป็น “เนื้อและเลือด” (มัทธิว 16:17; 1 โครินธ์ 15:50; เอเฟซัส 6:12; ฮีบรู 2:14)[36] สิ่งนี้เผยให้เห็นความเสื่อมสภาพของมนุษย์และการที่มนุษย์ต้องตาย อีกทั้งข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกาย จึงมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ แต่พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ (ยอห์น 4:24) และโดยธรรมชาติแล้วจะไม่สามารถมองเห็นได้ การไม่สามารถมองเห็นได้เป็นพระลักษณะหนึ่งของพระยาห์เวห์ (1 ทิโมธี 1:17)[37] แม้จากการปรากฏของพระเจ้าหลายครั้งที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์เดิม เรารู้ว่าพระองค์ทรงสามารถทำได้และบางครั้งก็ทรงทำเช่นนั้น ที่ทรงทำให้พระองค์มองเห็นได้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะนั้น พระองค์ทรงปรากฏกับอาดัมและเอวาในสวนและพูดคุยกับพวกเขา พระองค์ทรงปรากฏกับผู้คนในรูปร่างมนุษย์ บางครั้งก็อาศัยตัวกลางผ่านทูตสวรรค์ขององค์ผู้เป็นเจ้า (คำตรงตัวคือ “ทูตสวรรค์ของพระยาห์เวห์”) จนบางคนเข้าใจผิดคิดว่าพระองค์เป็นมนุษย์

      ประเด็นก็คือว่า โดยธรรมชาติแล้ว เราจะไม่สามารถมองเห็นพระยาห์เวห์ได้ แม้ว่าพระองค์จะสามารถทำให้มองเห็นพระองค์ได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะนั้น แต่มนุษย์ไม่สามารถจะทำอะไรได้เกี่ยวกับการมองเห็นได้ของตัวเขาเอง และที่ใกล้เคียงกับการทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้มากที่สุดก็คือการซ่อนตัวเองเหมือนในกรณีของอาดัมกับเอวา หลังจากที่พวกเขาได้ทำบาปก็หาทาง “ที่จะทำให้ไม่มีใครมองเห็นพวกเขาได้” โดยพยายามจะซ่อนตัวจากพระเจ้า คนบาปทั้งหลายพยายามจะวิ่งหนีจากพระเจ้า แต่พวกเขาก็เป็นทุกข์ เพราะการเป็นมนุษย์นั้นหมายความว่า พวกเขาไม่สามารถจะทำให้ใครมองไม่เห็นตัวพวกเขาได้ และไม่ใช่กับพระเจ้าอย่างแน่นอน

      พระเยซูก็เป็นเหมือนกับมนุษย์ทุกคนที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า พระองค์ก็เหมือนกับมนุษย์ทุกคนที่สามารถไปยังที่ซึ่งอยู่นอกระยะสายตาของเรา เหมือนในยุคปัจจุบันเมื่อพระองค์ทรงอยู่ในสวรรค์ที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดา แต่ทั้งโลกจะได้เห็นพระเยซูเมื่อพระองค์เสด็จกลับมาอีกครั้ง

      เป็นเพราะเรามองเห็นพระเยซูได้ พระองค์จึงทรงสามารถเป็น “พระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้” (โคโลสี 1:15) ถ้าเราสามารถมองเห็นพระเจ้าได้ตามปกติวิสัย พระองค์ก็คงไม่ต้องการพระเยซูหรือใครอื่นที่จะมาทำให้มองเห็นพระองค์ได้ และพระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยพระสิริของพระองค์เอง “บนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6)[38] ในทางกลับกัน ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า เราก็จะไม่สามารถจะมองเห็นพระองค์ได้ตามปกติวิสัยเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ก็จะเป็นการซ้ำซ้อนสำหรับพระเจ้าพระบุตรที่จะทำให้มองเห็นพระเจ้าพระบิดาได้

      ในการเป็นขึ้นจากความตายครั้งสุดท้าย[39] ร่างกายที่เสื่อมสลายจะถูกเปลี่ยนเป็นกายที่ไม่เสื่อมสลาย ร่างกายที่ไร้เกียรติจะเป็นขึ้นในสง่าราศี ร่างกายที่อ่อนแอจะเป็นขึ้นด้วยพลัง ร่างกายที่เป็นเนื้อหนังจะเป็นขึ้นเป็นกายวิญญาณ (1 โครินธ์ 15:42-44)[40] “ร่างกายอันต่ำต้อย” ของเราจะเปลี่ยนไปเหมือนพระกาย “ที่เต็มด้วยพระรัศมี” ของพระเยซูคริสต์ (ฟีลิปปี 3:21)[41] เมื่อพระเยซูทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว พระกายของพระองค์ก็เปลี่ยนเป็นกายวิญญาณในขณะที่ยังคงมีร่าง กายอยู่ ตอนนี้จะสามารถมองเห็นพระองค์หรือมองไม่เห็นพระองค์ตามแต่พระองค์จะทรงเลือก ดังที่เห็นในเรื่องราวพระกิตติคุณในการปรากฏตัวหลังจากที่พระองค์เป็นขึ้นจากความตาย ร่างกายที่เปลี่ยนไปของบรรดาผู้เชื่อจะเกิดขึ้นเมื่อบรรดาธรรมิกชนเป็นขึ้นจากความตาย “เพราะว่าจะมีการเป่าแตร และพวกที่ตายแล้วจะถูกทำให้เป็นขึ้นมาใหม่อย่างไม่เสื่อมสลาย แล้วเราจะถูกเปลี่ยนใหม่” (1 โครินธ์ 15:52)

 

“เบน อาดัม” (บุตรมนุษย์) หมายถึงมนุษย์

      เมื่อผมกำลังศึกษาพระคัมภีร์ (ศาสนศาสตร์) ในประเทศอังกฤษ ผมได้ไปพักอยู่ในเยรูซาเล็มช่วงหนึ่งเพื่อเรียนการสนทนาภาษาฮีบรูสมัยใหม่

      สองสามเดือนที่ผมศึกษาอยู่ที่นั่น ผมได้เดินทางไปทางเหนือ ไปยังกาลิลีโดยรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารมีผู้โดยสารอัดเต็มและแน่น แต่คนก็ยังร้องตะโกนที่จะขึ้นไปบนรถทั้งๆที่มีผู้โดยสารยืนตามช่องว่างระหว่างกระเป๋าเดินทางตามช่องทางเดิน มีชายชราคนหนึ่งขึ้นมาบนรถและไม่มีที่จะนั่ง มีคนเห็นว่าเด็กสองคนนั่งเต็มสองที่นั่ง เขาจึงขอให้เด็กคนหนึ่งเขยิบให้ชายชราไปนั่งด้วย แต่ทันใดนั้นหนึ่งในพ่อแม่ของเด็กก็ตะโกนว่า “เยลาดิม กัม เบน อาดัม”[42] ซึ่งมีความหมายว่า “เด็กก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน”

      คำที่พ่อแม่ใช้คือ เบน อาดัม (บุตรอาดัม, บุตรมนุษย์) เป็นคำที่ใช้ในพระคัมภีร์เพื่อกล่าวถึงคนๆหนึ่งหรือมนุษย์คนหนึ่ง คำว่า “อาดัม” หมายถึง “มนุษย์” ซึ่งก็เหมือนกับคำว่า “บุตรอาดัม” (“บุตรมนุษย์”) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนรถโดยสารคันนั้นฝังใจผม เพราะผมได้ยินภาษาที่ใช้พูดในพระคัมภีร์!

      เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าคำว่า “บุตรมนุษย์” ยังคงใช้กันอยู่ในภาษาฮีบรูสมัยปัจจุบันนี้ว่าหมายถึง “มนุษย์” เราไม่จำเป็นต้องแปลว่า “บุตรมนุษย์” เพราะมันสามารถแปลตรงๆว่า “มนุษย์” นั่นเอง  

      ความเหมือนกันของคำว่า “มนุษย์” กับ “บุตรมนุษย์” นั้นเห็นได้ในความคล้ายคลึงกันของภาษาฮีบรูจากกันดารวิถี 23:19 ที่ว่า “พระเจ้าทรงไม่ใช่มนุษย์ที่จะมุสา หรือเป็นบุตร​​มนุษย์ที่จะเปลี่ยนใจ” อีกทั้งสดุดี 8:4 ที่ว่า “มนุษย์เป็นผู้ใดเล่า ที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา และบุตร​​มนุษย์เป็นใครเล่า ที่พระองค์ทรงห่วงใยเขา?”    

      ความเหมือนกันยังเห็นได้ในพระคัมภีร์ใหม่อีกด้วย เช่น โดยการเปรียบเทียบพระคัมภีร์ตอนที่เหมือนกันในมัทธิว 12:31 ที่ว่า “บาปและคำหมิ่นประมาททุกอย่างจะโปรดอภัยให้มนุษย์ได้” (tois anthrōpois, “มนุษย์”) และมาระโก 3:28 บาปทุกอย่างและคำหมิ่นประมาทที่เขากล่าวนั้น จะทรงอภัยให้มนุษย์ได้” (tois huiois tōnanthrōpōn, “บุตรมนุษย์”)

      การสับเปลี่ยนกันได้ระหว่าง “มนุษย์” กับ “บุตรมนุษย์” ในภาษาฮีบรูสมัยใหม่ (เบน อาดัม, บุตรอาดัม) นั้นจะเห็นได้ในหนังสือไวยากรณ์ของภาษาฮีบรูสมัยใหม่ (ลูอิส ไกลเนิร์ต, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 1989, หน้า 390)[43] ในทางที่เข้าใจกันดีว่า เบน อาดัม หมายถึง “คน” และตามโครงสร้างและความสัมพันธ์ของคำในประโยคแล้วสามารถใช้เป็นคำผสมคำเดียวที่หมายถึงมนุษย์ คำอ้างอิงถึงต่อไปนี้จากหนังสือเล่มนี้เป็นเชิงวิชาการและอาจอ่านข้ามได้

 

คำหรือวลีหลายคำสามารถผูกเป็น ‘คำผสม’ ที่รู้สึกว่าเป็นการอ้างถึงแนวความคิดเดียวและดังนั้นจึงกลายเป็นโครงสร้างประโยคและความสัมพันธ์ของคำที่ตายตัวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การผูกคำ אדם-בני ~ אדם- בן ben-adam ~ (พหูพจน์) bney-adam ‘(หลาย) คน’ เป็นคำผสมที่ใช้เป็นครั้งคราวในลักษณะที่มาเป็นการใช้ที่แน่นอน: אדם- הבןha-ben-adam (ฮา-เบน-อาดัม) ‘คนนั้น’ มากกว่า האדם-בן ben ha-adam (เบน ฮา-อาดัม)

 

      ความเหมือนกันของความหมายของคำของ “บุตรมนุษย์” และ “มนุษย์” จะเห็นได้จากแหล่ง ข้อมูลอื่นๆนอกเหนือจากไวยากรณ์ภาษาฮีบรู โปรแกรมแปลภาษาของกูเกิ้ลที่ Error! Hyperlink reference not valid. (18 พฤษภาคม 2013) แปลคำภาษาอังกฤษ “human being” (มนุษย์) เป็นภาษาฮีบรูของอิสราเอลว่า אדם בני (“บุตรอาดัม”) หากคุณป้อนคำว่า “human being” (เอกพจน์) โปรแกรมแปลของกูเกิ้ลจะกลับไปที่คำ אדם (อาดัม) พร้อมด้วยคำแปลอีกอย่างว่า אדם בּן (เบน อาดัม, บุตรอาดัม) ซึ่งโปรแกรมแปลของกูเกิ้ลได้ให้คำนิยามไว้ว่า “บุคคล, คน, มนุษย์, ผู้ที่ต้องตาย”

      แหล่งข้อมูลของชาวยิวที่อีกตัวอย่างก็คือ หัวข้อ Mensch (Yid­dish สำหรับ “มนุษย์”) ในวิกิพีเดียซึ่งกล่าวว่า “ในภาษาฮีบรูของชาวอิสราเอลสมัยปัจจุบัน คำว่า “เบน อาดัม หรือ บุตรอาดัม[44] (אדם בּן) ใช้เป็นคำแปลที่ตรงกับ Mensch (มนุษย์)”

      พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับทั่วไป (ฉบับ CEB)[45] คงการแปล “บุตรมนุษย์” ไว้ว่า “ผู้เป็นมนุษย์” (เช่น “ใครก็ตามมีความอายเพราะเราและถ้อยคำของเรา ผู้เป็นมนุษย์ก็จะมีความอายเพราะคนนั้น” ลูกา 9:26)[46] โดยส่วนตัวแล้ว เรารู้สึกว่าฉบับ CEB ไม่จำเป็นต้องทิ้งสำนวนของชาวยิวว่า “บุตรมนุษย์” ที่มีมายาวนาน แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นใจกับความกังวลของพวกเขาที่ความหมายที่แท้จริงของสำนวนนี้ได้สูญหายไปในหมู่คริสเตียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้

 

พระเยซูทรงเรียกตัวเองว่าบุตรมนุษย์

      ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก (มัทธิว, มาระโก, ลูกา) คำที่พระเยซูทรงใช้เรียกตัวพระองค์เองมากกว่าใครทั้งหมด อันที่จริงแทบจะผูกขาดเพียงคนเดียวก็คือ “บุตรมนุษย์” บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับคำเรียกนี้ ทั้งยังให้ความสำคัญน้อยมากกับความหมายพื้นฐานที่จะอธิบายว่าทำไมพระเยซูจึงทรงเลือกคำเรียกนี้สำหรับตัวพระองค์เองมากกว่าคำอื่นใดทั้งหมด ความจริงแล้ว พระเยซูไม่เคยเรียกพระองค์เองว่า “บุตรของพระเจ้า” เลยในพระกิตติคุณสามเล่มแรก

      ในภาษาอาราเมค ซึ่งเป็นภาษาหลักที่พระเยซูทรงใช้และเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วไปในอิสราเอลในสมัยของพระองค์นั้น คำว่า “บุตรมนุษย์” มีความหมายแค่ว่ามนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับในภาษาฮีบรู

      ความจริงที่ “บุตรมนุษย์” เป็นคำเรียกที่พระเยซูทรงใช้กับตัวพระองค์เองมากกว่าคำอื่นนั้น แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงระบุตัวของพระองค์เองอย่างชัดเจนและไม่คลุมเครือว่าทรงเป็นมนุษย์ ดังนั้นเปาโลจึงเรียกพระเยซูว่า “อาดัมคนสุดท้าย” และ “มนุษย์คนที่สอง” (1 โครินธ์ 15:45, 47)[47]

      เมื่อพระเยซูกำลังจะรักษาคนง่อยต่อหน้าฝูงชนที่มาก่อกวน ซึ่งรวมถึงผู้นำทางศาสนาที่ไม่เป็นมิตร พระองค์ทรงประกาศกับพวกเขาว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรมนุษย์

 

“แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกท่านรู้ว่า บุตรมนุษย์มีสิทธิอำนาจในโลกที่จะอภัยบาปได้” พระองค์จึงตรัสกับคนง่อยว่า “จงลุกขึ้น ยกที่นอนกลับไปบ้านของท่าน” แล้วเขาจึงลุกขึ้นและกลับไปบ้าน เมื่อฝูงชนเห็นดังนั้น พวกเขาก็เกรงกลัว แล้วพวกเขาก็สรรเสริญพระเจ้า ผู้ประทานสิทธิอำนาจเช่นนั้นแก่มนุษย์ทั้งหลาย (มัทธิว 9:6-8 ฉบับ ESV)

 

      การตอบสนองของฝูงชนต่อการรักษานี้บอกเราว่า พวกเขาตีความคำ “บุตรมนุษย์” ซึ่งพระเยซูทรงใช้กับตัวพระองค์เองเมื่ออยู่ต่อหน้าพวกเขาให้หมายความว่า พระเยซูทรงเป็นตัวแทนของมวลมนุษย์เมื่อพระองค์ทรงได้รับสิทธิอำนาจจากพระเจ้าในการรักษาให้หาย (“พวกเขาก็สรรเสริญพระเจ้า ผู้ประทานสิทธิอำนาจเช่นนั้นแก่มนุษย์ทั้งหลาย”) เว้นแต่พระเยซูผู้เป็นบุตรมนุษย์และอาดัมคนสุดท้ายจะเป็นตัวแทนของมนุษย์ทั้งหลาย ไม่เช่นนั้นฝูงชนก็ไม่มีเหตุผลที่จะสรรเสริญ “พระเจ้าผู้ประทานสิทธิอำนาจเช่นนั้นแก่มนุษย์ทั้งหลาย” ความเข้าใจของพวกเขาในเรื่องที่พระเจ้าประทานสิทธิอำนาจแก่มนุษย์นั้นสอดคล้องกับสิ่งที่พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “สิ่งใดที่พวกท่านผูกมัดในโลก ก็จะถูกผูกมัดในสวรรค์ และสิ่งใดที่พวกท่านจะปลดปล่อยในโลก จะถูกปลดปล่อยในสวรรค์” (มัทธิว 18:18)

 

“บุตรมนุษย์” ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก

      ต่อไปนี้เป็นข้อความที่ตัดตอนมาจากหัวข้อ “บุตรมนุษย์” ในสารานุกรมพระคัมภีร์ ISBE ฉบับแก้ไข (เล่มที่ 4, หน้า 574-581) หัวข้อนี้กล่าวจากประโยคแรกว่า “บุตรมนุษย์” มักถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงๆว่า “มนุษย์” และกล่าวว่าภาษาอาราเมคเป็น “ภาษาหลักของปาเลสไตน์ที่พูดกันในคริสต์ศตวรรษที่ 1

      ข้อความที่ตัดตอนมานี้ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความบ่อยครั้งของการใช้คำว่า “บุตรมนุษย์” (ho huios tou anthrōpou) ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก เราอ้างอิงก็เพื่อประโยชน์ของผู้ที่สนใจในเรื่องสถิติและหมวดหมู่ของความหมาย แต่ผู้อ่านคนอื่นๆอาจต้องการอ่านข้ามในครั้งแรก

 

คำเรียก “บุตรมนุษย์” มีปรากฏ 82 ครั้งในพระกิตติคุณทั้งหมด; 69 ครั้ง (ใน 39 ตอน) ในพระกิตติคุณสามเล่มแรก (14 ครั้งในมาระโก, 30 ครั้งในมัทธิว และ 25 ครั้งในลูกา) และ 13 ครั้ง (ใน 11ตอน) ในยอห์น ในพระกิตติคุณทั้งหมดระบุให้เห็นว่ามีแต่พระเยซูเท่านั้นที่ทรงใช้เอง ยกเว้นในข้อความเดียวซึ่งเป็นการอ้างอิงคำตรัสของพระองค์ ในยอห์น 12:34 ฝูงชนตอบสนองพระเยซูด้วยการถามว่า “ท่านพูดได้อย่างไรว่าบุตรมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้น? บุตรมนุษย์ผู้นี้คือใคร?” นอกจากนี้คำว่า “บุตรมนุษย์” มีปรากฏครั้งเดียวในกิจการ โดยสเทเฟนที่กำลังจะตายเป็นผู้กล่าว (กิจการ 7:56)[48] ...

 

ในพระกิตติคุณไม่ได้พยายามที่จะอธิบายความหมายของถ้อยคำนี้ การไม่มีคำนิยามหรือคำอธิบายใดๆอาจแสดงให้เห็นว่า การระบุดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีของคนในสมัยของพระเยซูจนไม่จำเป็นต้องอธิบาย อีกทางหนึ่งก็คือ ปรากฏการณ์เดียวกันนี้อาจจะอธิบายได้โดยเชื่อว่าคำเรียกนี้เป็นคำที่ผู้ประกาศข่าวประเสริฐคุ้นเคยมาก จนพวกเขาคิดว่าผู้อ่านของพวกเขาไม่ต้องการคำอธิบายหรือคำนิยาม...

 

มาระโก ในมาระโกจะระบุคำ “บุตรมนุษย์” สิบสี่ครั้ง ซึ่งรวมสองคำกล่าวที่เกี่ยวกับโลก (2:10, 28) เก้าคำกล่าวที่เกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน (8:31; 9:9, 12, 31; 10:33, 45; 14:21 [สองครั้ง], 41) และสามคำกล่าวเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (8:38; 13:26; 14:62) สิบสองครั้งจากคำกล่าวเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากเปโตรประกาศที่ซีซารียาฟีลิปปีว่า พระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ (8:27-30) เมื่อพระเยซูทรงเริ่มบอกถึงความทุกข์ทรมานและความตายของพระองค์ที่จะเกิดขึ้น ...

 

มัทธิว คำว่า “บุตรมนุษย์” มีปรากฏสามสิบครั้งในมัทธิว ซึ่งรวมถึงเจ็ดคำกล่าวที่เกี่ยวกับโลก (8:20; 9:6; 11:19; 12:8, 32; 13:37; 16:13) สิบคำกล่าวที่เกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน (12:40; 17: 9, 12, 22; 20:18, 28; 26:2, 24 [สองครั้ง], 45) และสิบสามคำกล่าวที่เกี่ยวกับวาระสุดท้าย (10:23; 13:41; 16:27, 28; 19:28; 24:27, 30 [สองครั้ง], 37, 39, 44; 25:31; 26:64) มีสองคำกล่าวเพิ่มเติมที่อ่านแตกต่างกัน (18:11; 25:13) มีการปรากฏหกครั้งของ “บุตรมนุษย์” ที่มีเฉพาะในมัทธิวเท่านั้น (10:23; 13:37, 41; 24: 30; 25:31; 26:2) เห็นได้ชัดว่ามัทธิวเข้าใจสำนวนฮีบรูเพราะเขาเปลี่ยนคำว่า “บุตรทั้งหลายของมนุษย์” ในมาระโก 3:28[49] เป็น “มนุษย์ทั้งหลาย” ในมัทธิว 12:31[50] ...

 

ลูกา จะระบุการปรากฏของคำ “บุตรมนุษย์” ยี่สิบห้าครั้งในลูกา ซึ่งรวมถึงแปดคำกล่าวที่เกี่ยวกับโลก (5:24; 6:5, 22; 7:34; 9:58; 12:10; 17:22; 19:10) เจ็ดคำกล่าวที่เกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน (9:22,44; 11:30; 18:31; 22:22, 48; 24:7) และสิบคำกล่าวที่เกี่ยวกับวาระสุดท้าย (9:26; 12:8, 40; 17:24, 26, 30; 18:8; 21:27, 36; 22:69) เจ็ดคำกล่าวเกี่ยวกับ “บุตรมนุษย์” ที่มีปรากฏเฉพาะในลูกาเท่านั้น (17:22, 30; 18:8; 19:10; 21:36; 22:48; 24:7; เปรียบเทียบกิจการ 7:56)

 

มนุษย์คนที่สองและอาดัมคนสุดท้าย

 

1 โครินธ์ 15:45-49 45ดังนั้นจึงมีเขียนไว้ว่า อาดัมมนุษย์คนแรกจึงเป็นผู้มีชีวิต อาดัมคนสุดท้ายจึงเป็นวิญญาณผู้ให้ชีวิต 46 แต่กายที่มาก่อนนั้นไม่ใช่กายที่เป็นวิญญาณ แต่เป็นกายเนื้อหนัง กายต่อจากนั้นจึงเป็นกาย​​วิญญาณ 47มนุษย์คนแรกนั้นเกิดจากดินและเป็นมนุษย์ดิน ส่วนมนุษย์คนที่สอง​​มาจากสวรรค์ 48มนุษย์ดินคนนั้นเป็นอย่างไร มนุษย์ดินทุกคนก็เป็นอย่างนั้น และมนุษย์สวรรค์คนนั้นเป็นอย่างไร มนุษย์สวรรค์ทุกคนก็เป็นอย่างนั้น 49เราที่เกิดมา​​มีลักษณะของมนุษย์ดินอย่างไร เราก็จะมีลักษณะของมนุษย์สวรรค์อย่างนั้น (ฉบับ ESV)

 

      ความแตกต่างระหว่างอาดัมกับพระคริสต์ขยายมากขึ้นไม่ใช่ในโรม แต่ใน 1 โครินธ์ 15 ที่เปาโล กล่าวถึงเรื่องนี้จากมุมมองที่แตกต่างกัน คือระหว่างอาดัมมนุษย์คนแรกกับพระเยซูมนุษย์คนที่สอง นี่เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการเทียบให้เห็นความแตกต่าง เพราะการพูดถึงพระเยซูว่าเป็นมนุษย์คนที่สอง เป็นการตัดโอกาสทุกคนไม่ให้เข้ามาแทรกระหว่างคนทั้งสองที่มีความเกี่ยวข้องกับความรอดของมนุษย์ ดังนั้นชะตากรรมของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับมนุษย์สองคนนี้และการกระทำของพวกเขา ในขณะที่มนุษย์คนแรกได้นำความตายมาให้ด้วยการไม่เชื่อฟัง มนุษย์คนที่สองก็ได้นำชีวิตมาให้ด้วยการเชื่อฟัง ในศาสนายิวจะเรียกมนุษย์คนแรกว่า “บุตรหัวปีของโลก”[51] ในขณะที่เปาโลเรียกมนุษย์คนที่สองว่า “บุตรหัวปีของการทรงสร้าง” (โคโลสี 1:15)[52] ซึ่งกล่าวถึงการที่ถูกสร้างใหม่

      พระเยซูไม่เพียงแต่เป็นมนุษย์คนที่สองเท่านั้น แต่ยังเป็นอาดัมคนสุดท้ายที่เป็น “วิญญาณผู้ให้ชีวิต” อีกด้วย (1 โครินธ์ 15:45) เนื่องจาก “อาดัม” หมายถึง “มนุษย์” พระเยซูจึงทรงเป็นทั้งมนุษย์คนที่สองและเป็นมนุษย์คนสุดท้าย คำอธิบายของเปาโลเกี่ยวกับพระเยซูว่าเป็นมนุษย์คนสุดท้ายนั้นตัดโอกาสทุกคนที่มาหลังจากพระองค์ว่าเกี่ยวข้องกับความรอดของมวลมนุษย์

 

มนุษย์สวรรค์

      เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราใช้คำ “มนุษย์สวรรค์” ในข้อ 48 (คำอ้างอิงที่เป็นตัวเน้นด้านบน) ให้หมายความว่าพระเจ้าพระบุตรผู้ทรงดำรงอยู่ก่อนได้เสด็จลงมาจากสวรรค์จริงๆ นี่เป็นการเข้าใจเปาโลผิดๆ เพราะในข้อเดียวกันนี้ เปาโลก็ใช้คำเรียกที่เหมือนกันว่า “มนุษย์จากสวรรค์ทุกคน” กับคนของพระเจ้าซึ่งเชื่อมโยงแนวความคิดทั้งสองด้วยคำเชื่อมว่า “ก็เป็นอย่างนั้น” ถ้า “มนุษย์สวรรค์” ถูกเข้าใจในความหมายว่ามาจากอวกาศ เหมือนที่บรรดาความเชื่อในตรีเอกานุภาพเข้าใจ แล้วพวกเขาจะอธิบายอย่างไรกับคำกล่าวของเปาโลที่ว่า ผู้เชื่อทุกคน “ก็เป็นมนุษย์สวรรค์อย่างนั้น” (ไวยากรณ์ในกาลปัจจุบัน ไม่ใช่กาลอนาคต)?

      คำว่า “สวรรค์” นั้นไม่ได้เกี่ยวกับที่มาของการดำรงอยู่ของคนนั้น แต่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในข้อ 48 ระหว่างฝ่ายโลก (“มนุษย์ดิน”) กับฝ่ายวิญญาณ (“มนุษย์สวรรค์”) ความแตกต่างนี้ถูกยืนยันอีกครั้งในข้อ 46 ว่า “กายที่มาก่อนนั้นไม่ใช่กายที่เป็นวิญญาณ แต่เป็นกายเนื้อหนัง กายต่อจากนั้นจึงเป็นกาย​​วิญญาณ”

      พระคัมภีร์ข้อนี้ (ข้อ 46) ไม่ได้สนับสนุนการดำรงอยู่ก่อนของพระคริสต์ เพราะข้อนี้กล่าวว่า มนุษย์เนื้อหนังมา “ก่อน” มนุษย์วิญญาณ การ “มาก่อน” จะมีความเป็นไปได้ก็เมื่อเป็นการเรียง ลำดับก่อนหลัง (อาดัมมาก่อนช่วงเวลาเร็วกว่าพระเยซู) ไม่ใช่ในแง่ของความเหนือกว่า (ซึ่งจะทำให้อาดัมเป็นใหญ่กว่าพระเยซู) ดังนั้นข้อนี้จึงไม่ได้สนับสนุนการดำรงอยู่ก่อนของพระเยซู การเรียงลำดับก่อนหลังยังเห็นได้จากการเปรียบเทียบของเปาโลให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “มนุษย์คนแรก” กับ “มนุษย์คนสุดท้าย” อีกด้วย

      พระเยซูตรัสถึงสาวกของพระองค์ว่า “พวกเขาไม่ใช่ของโลก เหมือน​​ข้าพระองค์ไม่ใช่ของโลก” (ยอห์น 17:16) พระองค์ยังตรัสอีกว่า “ถ้าพวกท่านเป็นของโลก โลกก็จะรักพวกท่าน แต่เพราะพวกท่านไม่ได้เป็นของโลก แต่เราเลือกพวกท่านออกจากโลก เพราะฉะนั้นโลกจึงเกลียดชังพวกท่าน” (ยอห์น 15:19, เปรียบเทียบ 1 ยอห์น 3:13) แต่ถ้าพวกสาวกไม่ได้เป็นของโลก แล้วพวกเขาเป็นของ พวกไหนหรือ? คำตอบก็คือ พวกเขาเป็นของ “สวรรค์” เช่นเดียวกับที่พระเยซูไม่ใช่ของโลก ดังนั้นพวกสาวกของพระองค์จึงไม่ใช่ของโลกเช่นกัน แต่เป็นของสวรรค์ เราได้เห็นสิ่งนี้ใน 1 โครินธ์ 15:48 และสนับสนุนด้วยข้อ 49 ซึ่งกล่าวว่า ผู้เชื่อทุกคนจะ “มีลักษณะของมนุษย์สวรรค์อย่างนั้น”

      สวรรค์เป็นนามนัยของพระเจ้าที่รู้ๆกัน เมื่อพระเยซูตรัสถามพวกผู้นำศาสนาว่า บัพติศมาของยอห์น “มาจากสวรรค์หรือมาจากมนุษย์” (มัทธิว 21:25; มาระโก 11:30; ลูกา 20:4)[53]นั้น แท้ที่จริงพระองค์กำลังถามว่า บัพติศมาของยอห์นได้รับสิทธิอำนาจมาจากพระเจ้าหรือมาจากมนุษย์ มนุษย์ที่ “มาจากสวรรค์” เป็นมนุษย์ที่ “มาจากพระเจ้า”

 

พระเยซูเป็นมนุษย์แท้ในสวรรค์

“จงดูมือและเท้าของเรา นี่เป็นเราเอง จงจับดูที่ตัวเรา เพราะว่าวิญญาณไม่มีเนื้อและกระดูกเหมือน​​ที่พวกท่านเห็นว่าเรามี” (ลูกา 24:39)

      พระเยซูที่ฟื้นคืนพระชนม์ได้ตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า พระองค์ไม่ใช่วิญญาณเพราะ “วิญญาณไม่มีเนื้อและกระดูก เหมือนที่พวกท่านเห็นว่าเรามี” ถ้อยคำที่เด่นชัดเหล่านี้เป็นรากฐานของข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์ไม่ใช่ “วิญญาณ” ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมชาติทางวิญญญาณของพระเจ้าที่ “พระเจ้าทรงเป็นวิญญาณ” (ยอห์น 4:24)[54] ดังที่พระเยซูทรงให้ตัวพระองค์เองอยู่ในฝั่งของมนุษย์ซึ่งตรงกันข้ามอย่างเด่นชัด (“เนื้อและกระดูก”) แทนที่จะให้ตัวพระองค์เองอยู่ในฝั่งของพระเจ้า (“วิญญาณ”) แม้หลังจากที่พระองค์ทรงเป็นขึ้นจากตาย

      เวลานี้พระเยซูกำลังประทับในสวรรค์อยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า ในแบบที่ไม่ได้เป็น “วิญญาณ” แต่เป็นมนุษย์ที่มีเนื้อหนังและกระดูก! พระคัมภีร์ไม่ได้บ่งชี้เลยว่าพระเยซูเคยเปลี่ยนไปเป็น “วิญญาณ” ก่อนพระองค์จะเสด็จสู่สวรรค์ ก็จริงอยู่ที่พระเยซูทรงสามารถเสด็จผ่านผนังและประตูห้องด้วยพระกายที่เต็มด้วยพระเกียรติสิริของพระองค์หลังจากที่ทรงฟื้นจากความตาย แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ก็ยังทรงมี “เนื้อและกระดูก”[55] ความจริงก็คือว่า พระเยซูผู้ทรงเป็นมนุษย์ ทรงมีร่างกาย กำลังประทับอยู่ข้างๆพระบิดาในสวรรค์และกำลังทรงทูลขอเพื่อเรา ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยคิดถึงการมี “กาย” จริงๆอยู่ในสวรรค์ แต่นี่อาจเป็นความจริงอีกอย่างหนึ่งที่แปลกกว่านิยาย

      ในพระคัมภีร์ใหม่ คำที่คล้ายคลึงกันมากกว่าสำหรับมนุษย์ก็คือ “เนื้อและเลือด” พระเยซูทรงใช้คำนี้ในมัทธิว 16:17 เมื่อพระองค์ตรัสกับเปโตรว่า “เนื้อ​และ​เลือด[56]ไม่ได้เปิดเผยเรื่องนี้แก่ท่าน [ว่าเราเป็นพระคริสต์] แต่พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผยให้ทราบ” ในยอห์น 6:53-56 พระเยซูตรัสถึงเนื้อและโลหิตของพระองค์เองว่าเป็นความจริงที่สำคัญฝ่ายวิญญาณ ที่ผู้เชื่อทุกคนจะต้องกินและดื่มเพื่อเป็นอาหารแท้ ไม่ใช่ในแง่ของวัตถุปัจจัย แต่เป็นการดำรงชีวิตทางจิตวิญญาณ คำสอนนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นเรื่องยากเกินกว่าที่สาวกบางคนของพระองค์จะรับได้ ดังนั้นพวกเขาจึงทิ้งพระองค์ไป (ยอห์น 6:66)

      “เนื้อและเลือด” จะเสื่อมสลายและไม่ยั่งยืน ในขณะที่อาณาจักรของพระเจ้านั้นไม่มีวันเสื่อมสลายและดำรงนิรันดร์ ซึ่งเป็นเหตุที่เนื้อและเลือดไม่สามารถจะมีส่วนในอาณาจักรของพระเจ้าได้ (1 โครินธ์ 15:50)[57] เมื่อเป็นเช่นนั้น พระเยซูทรงมีร่างกายในสวรรค์ได้อย่างไร? การทรงอยู่ของพระองค์ในสวรรค์จะบ่งชี้ว่าพระกายของพระองค์ถูกทำให้เป็นกาย “วิญญาณ” หรือ “กายที่เต็มด้วยพระเกียรติสิริ” (ฟีลิปปี 3:21) แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่ร่างกายกลายมาเป็น “วิญญาณ” (พระเยซูทรงปฏิเสธว่าพระองค์ทรงเป็น “วิญญาณ” แม้หลังจากที่พระองค์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย) พวกสาวกยังสามารถจับดูพระองค์ได้ ซึ่งจะทำไม่ได้ในกรณีกับผู้ที่เป็น “วิญญาณ”

      ลูกา 24:39[58] เป็นที่เดียวในพระคัมภีร์ใหม่ที่มีคำว่า “เนื้อและกระดูก” ปรากฏ ในเรื่องราวรอบข้างข้อนี้จะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่เหล่าสาวกจะจับดูพระเยซูได้เท่านั้น พระองค์ยังได้ทรงเสวยปลาอีกด้วย (ข้อ 43)[59] เพื่อพิสูจน์ให้สาวกของพระองค์เห็นว่า พระองค์ทรงทำได้ทุกอย่างเหมือนมนุษย์แม้หลังจากที่ได้ทรง “เป็นขึ้นมาจากความตายโดยพระสิริของพระบิดา” (โรม 6:4)[60] ความเป็นมนุษย์ของพระองค์เองเห็นได้ชัดว่า เป็นสิ่งที่พระเยซูทรงถือว่าสำคัญที่จะให้เหล่าสาวกของพระองค์เข้าใจ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสู่สวรรค์ ดังนั้นมันจึงคุ้มค่าที่จะอ่านเรื่องราวไม่ธรรมดานี้

 

ขณะ​​พวกเขากำลังพูดเรื่องนี้อยู่นั้น พระเยซูเอง​​ประทับยืนอยู่ท่ามกลางพวกเขาและตรัสกับพวกเขาว่า “ขอสันติสุข​​ดำรงอยู่กับท่านทั้งหลาย!” แต่พวกเขาสะดุ้งตกใจ​​กลัวและคิดว่าพวกเขาเห็นวิญญาณ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “ทำไมพวกท่านจึง​​วุ่นวายใจ​? และทำไมพวกท่านจึงคิดสงสัยอยู่ในใจ? จงดูมือและเท้าของเรา นี่เป็นเราเอง จงจับดูที่ตัวเราเพราะว่าวิญญาณไม่มีเนื้อและกระดูกเหมือน​​ที่พวกท่านเห็นว่าเรามี” และเมื่อพระองค์ได้ตรัสอย่างนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงให้พวกเขาดูพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ และในขณะที่ยัง​​เชื่อไม่ถึงด้วยความตื่นเต้นยินดีและประหลาดใจอยู่นั้น พระองค์ก็ตรัสถามพวกเขาว่า “ที่นี่มีอะไรให้กิน​​ไหม? พวกเขาจึงเอาปลาย่างชิ้นหนึ่งมาให้พระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงรับมาเสวยต่อหน้าพวกเขา (ลูกา 24:36-43 ฉบับ ESV)

 

      นี่คือครึ่งแรกของเรื่องราว มันน่าสนใจที่เรื่องราวครึ่งหลังดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงักการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซู ซึ่งหมายความว่าพระเยซูเสด็จเข้าสวรรค์ด้วยกายเดียวกันที่มีเนื้อและกระดูก! ผมไม่เคยได้ยินใครพูดถึงข้อเท็จจริงอันน่าอัศจรรย์นี้ ดังนั้นให้เราอ่านส่วนที่เหลือของเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์นี้ ต่อไปนี้เป็นการบอกเล่าอย่างไม่หยุดชะงักโดยเริ่มตั้งแต่เวลาที่พระเยซูเสวยปลาย่างจนถึงเวลาที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์

 

พวกเขาจึงเอาปลาย่างชิ้นหนึ่งมาให้​​พระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงรับมาเสวยต่อหน้าพวกเขา พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “นี่คือถ้อยคำที่เราบอก​​พวกท่าน​​​เมื่อเรายังอยู่กับพวกท่านว่า ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเราใน​​หนังสือธรรมบัญญัติของโมเสส หนังสือผู้เผยพระวจนะและในหนังสือสดุดี​​นั้น จะต้องสำเร็จ” แล้วพระองค์ทรงเปิดใจของ​​พวกเขาให้เข้าใจพระคัมภีร์ และบอกพวกเขาว่า “มีคำเขียนไว้ดังนี้​​ว่า พระคริสต์จะต้องทน​​ทุกข์ทรมานและในวันที่สามจะเป็นขึ้นจากความตาย และจะต้องประกาศ​​เรื่องการกลับใจใหม่และการยกโทษบาปในพระนามของพระองค์แก่ทุกประชาชาติ เริ่มต้นที่กรุงเยรูซาเล็ม พวกท่านคือพยานของสิ่งเหล่านี้ และนี่แนะ เราจะส่งสิ่งที่พระบิดาของเราทรงสัญญาไว้ลงมาเหนือพวกท่าน แต่จงคอยอยู่ในกรุงจนกว่าท่านจะได้รับฤทธิ์เดชจากเบื้องบน” แล้วพระองค์จึงทรงพาพวกเขาออกไปจนถึงหมู่บ้านเบธานี และยกพระหัตถ์​​อวยพรพวกเขา ขณะที่พระองค์ทรงอวยพรพวกเขาอยู่นั้น พระองค์ก็เสด็จจากพวกเขาไปและทรงถูกรับขึ้นสู่สวรรค์ (ลูกา 24:42-51 ฉบับ ESV)

 

      นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดจนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซู การบอกเล่าดำเนินต่อไปในหนังสือกิจการและสรุปปิดท้ายในกิจการ 1:9 ด้วยคำพูดว่า “เมื่อพวกเขากำลังจ้องมองท้องฟ้านั้น พระองค์ได้ทรงถูกรับ​​ขึ้นไปต่อหน้าต่อตาพวกเขา และมีเมฆปกคลุมพระองค์จนพ้นสายตาของพวกเขา เหล่าสาวกของพระองค์เพ่งมองขณะที่พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์จนกระทั่งพวกเขาไม่สามารถมองเห็นพระองค์เพราะพระองค์ถูกรับขึ้นไปกับเมฆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ยังคงมองเห็นพระเยซูได้ด้วยตาเปล่าของมนุษย์ ไม่เคยมีการกล่าวไว้ว่าพวกสาวกมองเห็นในทางวิญญาณ เพราะพวกเขากำลังจ้องมองพระองค์ด้วยตาเปล่าของพวกเขา เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระเยซูไม่ได้เสด็จเข้าสู่สวรรค์ในแบบที่เป็นวิญญาณ แต่ในแบบที่เป็นพระเยซูองค์เดียวกันกับที่พวกสาวกสามารถจับดูตัวพระองค์ได้และรับประทานอาหารร่วมกับพวกเขา ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ของพลังงานในการแผ่รังสี (ซึ่งในกรณีนั้นจะยังคงอยู่ในขอบเขตของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ) พระกายของพระองค์ยังคงเป็นร่างกายที่สามารถจับดูได้ มีมนุษย์ที่มี “เนื้อและกระดูก” อยู่ในสวรรค์!

      พระกิตติคุณลูกาจบลงได้เหมาะเจาะที่สุดด้วยคำพูดว่า “พวกเขาอยู่ในพระวิหารทุกวัน พากันสรรเสริญพระเจ้า” (ลูกา 24:53)

      ข้อสรุปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือว่า พระกายของพระเยซูที่สามารถเสวยปลาได้และที่สาวกของพระองค์สามารถจับดูได้นั้น เป็นพระกายเดียวกันกับที่เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ในขณะนี้ มีมนุษย์แท้จริงในสวรรค์! มนุษย์ซึ่งเคยเดินอยู่บนโลก ขณะนี้อยู่ท่ามกลางมวลหมู่ชาวสวรรค์เบื้องบน นี่คือข้อความที่ลูกาต้องการจะถ่ายทอดกับเราอย่างไม่ต้องสงสัย

      ขณะนี้พระคริสต์ประทับที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดาด้วย “พระกาย​​ที่เต็มด้วยพระเกียรติสิริ[61]ของพระองค์ (ฟีลิปปี 3:21) ในพระกายเดียวกันนี้แหละที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาสู่โลกในแบบเดียวกับที่พระองค์ทรงถูกรับไปจากโลก (กิจการ 1:11)[62]

      “เนื้อและเลือด” บอกให้รู้ถึงสภาพตามธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืนของร่างกายมนุษย์ บางครั้งคำนี้จะถูกย่อเป็นคำเดียวว่า “เนื้อ” เช่น “บรรดาเนื้อหนังก็เป็นเสมือนต้นหญ้า” (อิสยาห์ 40:6; 1 เปโตร 1:24)[63] ในอีกด้านหนึ่ง กระดูกเป็นส่วนที่คงทนที่สุดของร่างกายมนุษย์ นักโบราณคดีมักพบกระดูกที่มีอายุนับพันปี นี่อาจเป็นเหตุผลที่พระเยซูทรงใช้คำที่ผิดธรรมดาว่า “เนื้อและกระดูก” เพื่อกล่าวถึงพระกายของพระองค์ เหตุผลอีกประการหนึ่งอาจเป็นเพราะ พระองค์ได้ทรงหลั่งพระโลหิตของพระองค์จนหมดแล้วเพื่อยกโทษบาป (มัทธิว 26:28)[64] ดังนั้นสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในตัวพระองค์หลังจากพระโลหิตของพระองค์ได้หลั่งออกหมดก็คือ “เนื้อและกระดูก”

      พระคัมภีร์ประกาศว่าพระเยซูเป็นมนุษย์ ไม่มีการสนับสนุนในพระคัมภีร์ที่กล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ซึ่งตรงกันข้ามกับคำยืนยันที่อาจหาญและไม่มีมูลความจริงของคนต่างชาติถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ที่เริ่มตั้งแต่ราวกลางศตวรรษที่สอง ร้อยกว่าปีหลังจากช่วงสมัยของพระเยซู

      ภาพความเป็นมนุษย์ของพระเยซูเห็นได้ชัดเจนในช่วงสำคัญสุดของการไต่สวนพระองค์ที่ “เมื่อพระเยซูเสด็จออกมา ทรงสวมมงกุฎหนามและ​​เสื้อคลุมสีม่วง ปีลาตเจ้าเมืองกล่าวกับพวกเขาว่า คนนี้ไงล่ะ” (ยอห์น 19:5) คำพูดของปีลาตแปลให้ดีกว่าได้ว่า “จงดู! ผู้ชายคนนี้!” ไม่ว่าปีลาตอาจหมายถึงอะไรจากถ้อยคำนี้ เขาอาจพูดโดยที่เขาไม่เข้าใจ ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นพระเยซูผู้เป็นมนุษย์นี่แหละที่มนุษยชาติจะต้องพึ่งเพื่อความรอด คือ ในผู้อื่นไม่มี​​ความรอดเลย เพราะว่า​​ (พระเจ้า) ไม่ได้ประทานนามอื่นทั่วใต้ฟ้า​​ท่ามกลางมนุษย์ที่จะช่วยเราทั้งหลายให้รอด[65] (กิจการ 4:12)

      การตอบสนองตามปกติต่อการยืนยันว่าพระเยซูไม่ใช่พระเจ้าก็คือ งั้นพระเยซูก็ทรงเป็น “แค่” มนุษย์นะสิ? หรือว่า “จะมีอะไรพิเศษเกี่ยวกับพระองค์หรือที่นอกเหนือจากการเป็นพระเมสสิยาห์ ผู้เผยพระวจนะ และอาจารย์?” การคิดแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเราที่แม้จะเป็นคริสเตียนก็ให้คุณค่ากับมนุษย์น้อยนิดเพียงใด และความเข้าใจของเรานั้นตื้นเพียงใดที่มนุษย์มีคุณค่าเพียงใดต่อพระเจ้า

      เราประเมินคุณค่าของคนๆหนึ่งด้วยวิธีต่างๆ หลายคนประเมินคุณค่าของคนๆหนึ่งด้วยระดับความเป็นเพื่อนกับคนนั้น ถ้าเขาไม่ใช่เพื่อนที่ดีของเรา เขาก็จะมีค่าน้อยในสายตาของเรา บางคนประเมินคุณค่าของคนตามรายได้ของพวกเขา และกับบางคนแล้ว ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งยังมีค่าไม่คุ้มกับราคาของลูกกระสุนหนึ่งนัดด้วยซ้ำ

      คริสเตียนทุกคนคุ้นกับความจริงที่ว่า “พระเจ้าทรงรักโลกจนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์” นั่นไม่ได้บอกอะไรเราบางอย่างถึงคุณค่าของมนุษย์ในสายตาของพระเจ้าหรอกหรือ? พระเจ้าทรงให้คุณค่ากับมนุษย์ในแบบที่เราไม่เข้าใจ เราไม่ได้มองมนุษย์ในแบบที่พระเจ้าทรงมองมนุษย์ “เพราะความคิดของเราไม่ใช่ความคิดของเจ้า และทางของเราก็ไม่ใช่ทางของเจ้า” พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้แหละ (อิสยาห์ 55:8)

      “เป็นแค่มนุษย์หรือ”? นั่นหมายความว่าอย่างไร? นั่นหมายความว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นอะไรมากไปกว่ามนุษย์ที่แท้จริงหรอกหรือ? นั่นหมายความว่าพระองค์ไม่ได้มาจากโลกอื่น เช่นจากนอกโลกอย่างนั้นหรือ? มีอะไรผิดแปลกกับการที่พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่แท้จริงหรือ? เราทุกคนไม่ใช่มนุษย์กันหรอกหรือ? มีปัญหาอะไรกับการที่พระองค์ทรงเป็นพวกเดียวกับเราไหม? ในพระคัมภีร์ใหม่นั้น “พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” (1 ทิโมธี 2:5) ทรงเป็นหนึ่งในพวกเรา และพระองค์ไม่ได้ทรง “ละอาย” ที่จะเรียกเราว่าพี่น้องของพระองค์[66] แม้ว่าเราจะยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบเหมือนพระองค์

      ประเด็นนี้เป็นปัญหาเฉพาะกับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเท่านั้น เพราะพวกเขาไม่คิดว่าพระเยซูทรงเป็นหนึ่งในพวกเดียวกับเราทั้งหมด เพราะตามหลักคำสอนของพวกเขาแล้ว พระเยซูทรงมีสองสภาวะ คือสภาวะที่เป็นพระเจ้าและสภาวะที่เป็นมนุษย์ เป็นที่ชัดเจนว่า ใครก็ตามที่มีสภาวะของ พระเจ้าก็จะไม่ใช่มนุษย์เหมือนอย่างเรา ไม่มีใครในพวกเราที่มีสองสภาวะอยู่ในตัวเรา หรือจะพูดแบบสุภาพๆก็คือ ถ้ามีเราจะถูกมองว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภท!

      สภาวะของคนๆหนึ่งนั้น ไม่เท่ากับตัวของคนนั้นเอง แต่เป็นเพียงส่วนประกอบสำคัญของคนๆนั้นเท่านั้น นี่เป็นเรื่องที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพยอมรับโดยปริยายเมื่อพวกเขากล่าวว่าพระเยซูทรงมีสองสภาวะ คือเป็นพระเจ้าและเป็นมนุษย์ แต่ก็เป็นบุคคลเดียว ไม่ใช่สองบุคคล

      พระเยซูจะทรงเป็นคนประเภทไหนหรือ ถ้าพระองค์ทรงเป็นรูปผสมของพระเจ้าและมนุษย์? นี่เป็นปัญหาที่ยากและจัดการได้ยากซึ่งคุกรุ่นมานานหลายปีที่เรียกกันว่าข้อโต้แย้งเรื่องศาสนศาสตร์เกี่ยวกับพระเยซู สุดท้ายแล้วสิ่งที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพสามารถจะพูดเกี่ยวกับพระเยซูได้ก็คือ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์โดยการรวมกันของสภาวะทั้งสอง แต่พระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์นี้เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่คนเหมือนอย่างพวกเราเลย เนื่องจากการตั้งพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้พระเยซูเป็นมนุษย์ที่แท้จริง นี่จะไม่เป็นการกันพระเยซูจากการเป็นพระเจ้าที่แท้จริงด้วยหรือ?

      ตามคำนิยามแล้ว พระเจ้าจะมีสภาวะของพระเจ้า ไม่ได้มีสภาวะของมนุษย์ แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะโต้แย้งว่า สภาวะพระเจ้าของพระเยซูนั้นมาจากการที่พระองค์ที่สองในพระเจ้าตรีเอกภาพมาบังเกิดเป็นพระเยซู แต่ทำไมจึงต้องหยุดอยู่ที่สภาวะพระเจ้าของพระองค์ ซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความสับสนในประเด็นนี้? ถ้าทุกส่วนของพระองค์ที่สองของพระเจ้าในตรีเอกภาพอยู่ในพระเยซูแล้ว เราจะแปลความเกี่ยวกับสภาวะมนุษย์ของพระเยซูว่าอย่างไร? พระเยซูยังคงเป็นมนุษย์ทุกส่วนไหม? มีสองบุคคลอยู่ในพระเยซูไหม? ความคิดที่ว่ามีสองบุคคลอยู่ในพระเยซูเป็นเรื่องที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพต่อต้านอย่างมาก ดังนั้นพวกเขาจึงกล่าวว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่มีสภาวะของมนุษย์เพิ่มเข้ามา ไม่ใช่ตัวมนุษย์ แต่ผู้ที่ยังคงเป็นพระเจ้าอยู่นี้จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริงได้อย่างไร?

      แต่ตรงกันข้ามที่พระเยซูตามพระคัมภีร์ทรงเป็นมนุษย์ที่แท้จริงเหมือนกับเราทุกคน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ พระยาห์เวห์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว ได้ทรงเลือกที่จะสถิตอยู่ในมนุษย์คนนี้ “ความบริบูรณ์” ทั้งสิ้นของของพระเจ้าดำรงอยู่ใน “พระกาย” ของพระเยซู (โคโลสี 2:9)[67] โดยที่ทั้งสองรวมกันเป็น “จิตวิญญาณเดียวกัน” (1 โครินธ์ 6:17)[68] นี่เป็นภาพที่ถูกต้องตามพระคัมภีร์ใหม่ในการรวมกันของพระเจ้าที่แท้จริงกับมนุษย์ที่แท้จริง

      ข้อผิดพลาดของความเชื่อในตรีเอกานุภาพทำให้เราชินที่จะคิดว่า ถ้าพระเยซูไม่ใช่พระเจ้า พระคัมภีร์ใหม่ก็จะไม่มีถ้อยคำอะไรเกี่ยวกับพระองค์ที่มีค่าควรจะประกาศ สำหรับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว คุณค่าของพระคริสต์จะอยู่ที่การเป็นพระเจ้าของพระองค์ หรือการเป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่การเป็นแค่มนุษย์เท่านั้น แต่ความจริงที่เข้าใจได้ง่ายก็คือ พระสิริของพระคริสต์ตามพระคัมภีร์นั้นบดบังรัศมีพระสิริที่เราคิดว่าเป็นของพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแบบทิ้งห่าง เราถูกชักนำผิดๆให้เชื่อว่าพระคัมภีร์ใหม่มีศูนย์กลางอยู่ที่พระคริสต์ผู้เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ เมื่อตามความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลดังกล่าวมีอยู่จริงในพระคัมภีร์ใหม่ด้วยซ้ำ ความจริงที่เข้าใจได้ง่ายนี้สามารถยืนยันได้โดยการค้นหาในคอมพิวเตอร์ว่าคำสำคัญของความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า “พระเจ้าพระบุตร” นั้นไม่ได้มีอยู่ในพระคัมภีร์

 

“ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา”

      เปาโลพูดถึง “พระสิริของพระเจ้าที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6) พระสิริของพระเจ้าถูกสำแดงในพระเยซู ซึ่งแม้แต่คำพูดและการกระทำของพระเยซูก็มาจากพระบิดาผู้สถิตอยู่ในพระองค์ พระเยซูทรงเป็นเหมือนหน้าต่างโปร่งแสงที่มองผ่านได้ง่ายให้กับพระเจ้าดังที่ว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา” (ยอห์น 14:9)[69]

      แต่คำกล่าวนี้จะหมายถึงสิ่งที่ต่างไปเลยถ้าพระเยซูทรงเท่าเทียมกับพระบิดาทุกประการและทรงมีแก่นแท้เดียวกับพระองค์ เนื่องจากพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ดังนั้นการที่ได้เห็นพระเยซูก็คือการได้เห็นพระเจ้าพระบุตร ไม่ได้เห็นพระเจ้าพระบิดา ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้วเราไม่จำเป็นจะต้องเห็นพระบิดา เพราะการเห็นพระเจ้าพระบุตรก็เท่ากับการเห็นพระเจ้าพระบิดา ด้วยวิธีการที่เฉียบแหลมนี้เอง พระบิดาจึงถูกความเชื่อในตรีเอกานุภาพกำจัดออกไปด้วยความตั้งใจและด้วยความมุ่งหมายโดยแท้ สำหรับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนใหญ่แล้ว พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียว ที่พวกเขานมัสการและอธิษฐานกับพระองค์ แม้ว่าบรรดา คริสเตียนจากกลุ่มคาริสเมติกจะให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นพระองค์ที่สามในพระเจ้าตรีเอกภาพ มาเป็นศูนย์กลางของความเชื่อของพวกเขา ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนใหญ่ไม่มีความสนใจพระเจ้าพระบิดาอย่างแท้จริง เพราะนอกจากการส่งพระบุตรของพระองค์เข้ามาในโลกและการชุบพระบุตรให้เป็นขึ้นจากความตายแล้ว พระองค์ได้ทรงทำอะไรบ้าง? เหมือนที่เพลงหนึ่งสรุปเอาไว้ว่า “พระเยซูทรงทำทุกสิ่ง”!

      พระเยซูไม่ได้ตรัสว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระเจ้า” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่บางคนอาจจะใช้เป็นสมการอัตลักษณ์ที่ พระเยซู=พระเจ้า สิ่งที่พระเยซูตรัสจริงๆก็คือ “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา” เราไม่สามารถใช้คำกล่าวนี้เป็นสมการของอัตลักษณ์ได้ (พระบุตร=พระบิดา) นอกเสียจากว่าเราจะเข้าใจตามอย่างความเชื่อแบบโมดาลิสซึ่ม (ซึ่งบรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจะไม่เชื่อเช่นนั้น) ดังนั้นเมื่อเราเห็นพระเยซู เราก็จะไม่เห็นพระบิดาอยู่ตรงหน้าเรา (นี่เป็นความเชื่อแบบโมดาลิสซึ่ม)[70] สิ่งที่เราจะเห็นก็คือความบริบูรณ์ของพระบิดาดำรงอยู่ในพระกายของพระเยซู (โคโลสี 2:9) นี่เองที่ทำให้พระเยซูเป็นพระฉายาของพระเจ้า พระเยซูทรงสำแดงให้เห็นพระบิดาที่เห็นได้ชัด เพราะพระองค์ทรงเป็น “พระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้” (โคโลสี 1:1)

 

 

การเกิดจากหญิงพรหมจารีของพระเยซูและการสร้างใหม่

      การเกิดจากหญิงพรหมจารีของพระเยซูได้ถูกบันทึกไว้ในมัทธิวและลูกา (มัทธิว 1:18-25; ลูกา 1:26-38; 2:1-38) แต่ไม่มีพระกิตติคุณฉบับใดอธิบายความหมายของการเกิดนี้ การไม่มีคำอธิบายเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเพราะการเกิดจากหญิงพรหมจารีไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา เราควรจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไรถ้าไม่มีคำอธิบายให้ไว้? แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อหนึ่งในลูกาที่เด่นชัดในเรื่องการเกิดจากหญิงพรหมจารีนี้

 

ลูกา 1:35 และทูตสวรรค์จึงตอบเธอว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาเหนือเธอ และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ ดังนั้นเด็กที่จะเกิดมาจะได้ชื่อว่า​​บริสุทธิ์และพระบุตรของพระเจ้า” (ฉบับ ESV)

ปฐมกาล 1:2 แผ่นดินไม่มีรูปร่างและ​​ว่างเปล่า ทั้งความมืดอยู่เหนือพื้นผิวของที่ลึก และพระวิญญาณของพระเจ้า​​กำลังปก [หรือ กำลังโอบ] อยู่เหนือผิวน้ำนั้น (ฉบับ ESV)

 

      การปกของพระวิญญาณบริสุทธิ์เหนือมารีย์ในลูกา 1:35 นั้นมีความคล้ายคลึงกับในปฐมกาล 1:2 ซึ่งกล่าวว่าในการทรงสร้างโลกนั้น “พระวิญญาณของพระเจ้าปกอยู่เหนือผิวน้ำนั้น” นักวิชาการพระคัมภีร์เดิมหลายคนชี้ให้เห็นในข้อความภาษาฮีบรูว่า “กำลังปกอยู่เหนือ” นั้นหมายถึง “กำลังโอบอยู่เหนือ” (คำว่า “กำลังโอบ” หมายถึงการที่นกกำลังโอบหรือกกไข่เพื่อฟักไข่)[71]

      การเปรียบที่คล้ายคลึงกันของทั้งสองข้อระหว่างลูกา 1:35 กับปฐมกาล 1:2 (คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ // พระวิญญาณของพระเจ้า และการปกคลุม // การปก/การโอบ) เผยให้เห็นความจริงที่สำคัญคือ การปกมารีย์โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นเกี่ยวข้องกับการสร้างใหม่ ส่วนการที่พระวิญญาณโอบอยู่เหนือแผ่นดินที่ยังไม่มีรูปร่างนั้นเกี่ยวข้องกับการสร้าง “เก่า” (กายหรือโลกแห่งวัตถุ) การปก มารีย์โดยพระวิญญาณของพระเจ้านี้ ชี้ให้เห็นว่าการสร้างใหม่เป็นส่วนสำคัญของการสร้างในฝ่ายวิญญาณที่เกิดขึ้นโดยการ “เกิดจากพระวิญญาณ”

      ความหมายของการเกิดจากหญิงพรหมจารีนั้นไม่ได้เผยให้เห็นเฉพาะในคำสอนของพระเยซูเกี่ยวกับ “การเกิดจากพระวิญญาณ” (ยอห์น 3:5) เท่านั้น แต่ยังเห็นได้อีกในคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับ “การสร้างใหม่” (2 โครินธ์ 5:17; กาลาเทีย 6:15) ซึ่งเป็นคำที่เหมือนกันกับการเกิดจากหญิงพรหมจารี ที่จะไม่สามารถเข้าใจได้ดีหาก “อยู่ดีๆ” ก็ให้ไว้โดยไม่มีคำอธิบายหรือแบบอย่างที่มีมาก่อน         

      ไม่มีข้อน่าสงสัยเลยที่คำว่า “ปก” (episkiazō) ในเรื่องราวของการเกิดจากหญิงพรหมจารีนี้ชี้กลับไปที่การมีส่วนร่วมของพระวิญญาณในการสร้างในปฐมกาล (“พระวิญญาณของพระเจ้า​​ปกอยู่เหนือผิวน้ำนั้น” ปฐมกาล 1:2) คำว่า “ปก” ตรงนี้ (ภาษาฮีบรู rachaph ที่ใช้ที่อื่นก็มีแต่เฉพาะในเฉลยธรรมบัญญัติ 32:11) เผยให้เห็นความคิดเรื่องของ “การปก”[72]

      พระวิญญาณของพระเจ้าได้ทำให้เกิดการสร้างใหม่ในมารีย์ โดยแทนที่สเปิร์มจากเชื้อสายของอาดัม ด้วยวิธีนี้พระเยซูจึงทรงเป็นเชื้อสายของอาดัมผ่านทางมารีย์ อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างใหม่โดยฤทธิ์เดชแห่งการสร้างสรรค์ของพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ สิ่งนี้จะอธิบายคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับ “ผู้ที่ถูกสร้างใหม่” ในพระคริสต์ (2 โครินธ์ 5:17; กาลาเทีย 6:15; เปรียบเทียบวิวรณ์ 21:5)[73] และเกี่ยวกับพระเยซูที่เป็น “มนุษย์จากสวรรค์” หรือเป็น “มนุษย์ฝ่ายวิญญาณ” (1 โครินธ์ 15:45-49)

      พระเยซูได้ทรงบังเกิดโดยฤทธิ์เดชแห่งการสร้างสรรค์ของพระวิญญาณของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้เชื่อซึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ในพระคริสต์จึงถูกรวมเข้าไว้ในการสร้างใหม่ มาเป็นคนใหม่โดยฤทธิ์เดชของพระเจ้าที่ทำการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงบังเกิดจากพระวิญญาณเมื่อพระองค์ประสูติ ดังนั้นทุกคนจึงต้องเกิดจากพระวิญญาณดังที่กล่าวไว้ในคำพูดที่รู้จักกันดีกับนิโคเดมัสว่า “ท่าน (พหูพจน์) ต้องบังเกิดใหม่” (ยอห์น 3:7) และ “ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่ ผู้นั้นจะเห็นแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้” (ยอห์น 3:3) นั่นก็คือ เขาจะไม่ได้รับชีวิตนิรันดร์

      สิ่งที่พระเจ้าได้ทรงทำสำเร็จในพระเยซูนั้น พระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะทำการสร้างใหม่ในมนุษย์ทุกคนเพื่อให้เขาหรือเธอเป็นสิ่งสร้างใหม่หรือคนที่ถูกสร้างใหม่โดยการบังเกิดจากพระวิญญาณเข้าในชีวิตใหม่ที่ดำเนินชีวิตโดยฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณของพระเจ้าที่สถิตอยู่ภายในเขา (1 โครินธ์ 3:16; 2 โครินธ์ 6:16)[74] พระเจ้าทรงเห็นว่าเราจะเติบโตเป็น “ผู้ใหญ่เต็มที่ จนถึงขนาด​​ความบริบูรณ์ของพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:13)[75] การเป็นคริสเตียนตามพระคัมภีร์ใหม่นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการเชื่อในพระเยซู หรือแค่เชื่อว่าพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา แต่เป็นเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับการมาเป็นคนใหม่ที่เป็นเหมือนพระเยซูในการดำเนินชีวิตและในความคิดของเขา นี่คือสิ่งที่ถือเป็นการเชื่ออย่างแท้จริงหรือเหมือนสิ่งที่เปาโลเรียกว่า “การเชื่อฟังตามความเชื่อ” (โรม 1:5; 16:26)[76] ความเชื่อที่แท้จริงจะรวมถึงการเชื่อฟังพระบิดาที่สะท้อนให้เห็นจากการที่พระเยซูทรงดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อฟังพระบิดาอย่างสมบูรณ์ ในพระคัมภีร์ใหม่นั้น การอ้างใดๆก็ตามที่ไม่ได้มีการเชื่อฟังจนหมดหัวใจ ก็จะเป็นความเชื่อที่จอมปลอม

      พระกิตติคุณทั้งหมดพูดถึงการที่เราเป็นสาวกของพระเยซู แต่ตอนนี้พระเยซูทรงอยู่ในสวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระบิดา แล้วเราจะติดตามพระองค์ได้อย่างไร? การติดตามพระเยซูในยุคปัจจุบันนี้หมายถึงการมีชีวิตที่อยู่ในความสัมพันธ์กับพระบิดา เหมือนที่พระเยซูทรงมีชีวิตที่อยู่ในความสัมพันธ์กับพระบิดา “พระองค์ทรงเป็นเช่นไร เราในโลกนี้ก็เป็นเช่นนั้น” (1 ยอห์น 4:17)

      เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพอยู่นั้น เราก็คิดว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าที่มีสภาวะของมนุษย์ผนวกเข้ามาด้วย มนุษย์อย่างเรา ไม่สามารถหมายรวมว่าพระเยซูที่เป็นพระเจ้านี้จะมาเป็นหนึ่งในพวกเราได้ ถ้าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่เป็น “พระเจ้าพระบุตร” ละก็ นอกจากเราจะไม่สามารถถือรวมว่าพระองค์เป็นพวกเดียวกับเราแล้ว ก็ยังเป็นเช่นนั้นไม่ได้ด้วยซ้ำ ในเมื่อพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแต่เราไม่ได้เป็น การหมายรวมตัวของเรากับผู้ที่เป็นพระเจ้า จะกลายเป็นการหมิ่นประมาทที่เทียบตัวของเราเสมอพระเจ้า เนื่องจากพระเจ้าไม่ได้ถูกนับรวมว่าเป็นหนึ่งในมนุษย์เหมือนพวกเรา แต่เป็นเป้าหมายในการนมัสการของเรา

      เมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เรามองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดจากพระวิญญาณพระเยซูในการเกิดจากหญิงพรหมจารี กับการที่เราจำเป็นต้องเกิดจากพระวิญญาณ นอกจากนี้เรายังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการที่พระเยซูทรงเป็นหัวปีของการสร้างใหม่กับการที่เราเป็นผู้มีส่วนในการถูกสร้างใหม่ นอกจากนั้นเราก็มองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการที่พระเยซูทรงมี “ความบริบูรณ์ทั้งหมดของพระเจ้า” ดำรงอยู่ในพระองค์ (โคโลสี 1:19)[77] กับการที่พระวิญญาณสถิตอยู่ในเราจนเรา “เต็มเปี่ยมด้วยความบริบูรณ์ของพระเจ้า” (เอเฟซัส 3:19)[78]

      ดังนั้นเราจึงมองไม่เห็นว่าพระเจ้าทรงตั้งพระทัยให้ชีวิตในฝ่ายวิญญาณของเราถอดแบบชีวิตของพระเยซู เราก็มองไม่เห็นเช่นเดียวกันว่าเป้าหมายในชีวิตของผู้เชื่อคือการเป็นพระฉายาของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ เหมือนที่พระเยซูทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้า เพื่อชีวิตของพระเจ้าจะได้สำแดงผ่านทางเราในแบบเดียวกับที่ได้สำแดงผ่านทางพระเยซู นั่นเป็นความล้มเหลวที่มองไม่เห็นว่าในแผนการนิรันดร์ของพระบิดานั้นเรา “ถูกกำหนดให้เป็นตามพระฉายาแห่งพระบุตรของพระองค์” (โรม 8:29)[79]

      ความล้มเหลวของเราที่มองไม่เห็นความจริงที่สำคัญเหล่านี้ ได้ส่งผลให้ความเชื่อของคริสเตียนถูกจำกัดวงไว้ในแง่ของการยอมรับตามหลักความเชื่อมากกว่า ซึ่งเป็นการมีความเชื่อแต่เปลือกนอกโดยที่ไม่เห็นความจำเป็นในการดำเนินชีวิตของเราให้เหมือนอย่างที่พระเยซูได้ทรงดำเนินชีวิตของพระองค์ ในทุกวันนี้ เป็นเรื่องยากที่จะหาผู้ติดตามพระเยซูจนหมดหัวใจ ผู้ที่เต็มด้วยพลังและจิตวิญญาณที่มีพลัง แต่เปาโลกล่าวว่า “นี่คือพระประสงค์ของพระเจ้า​​ คือให้พวกท่านเป็นคนบริสุทธิ์” (1 เธสะโลนิกา 4:3) และการเป็นคนบริสุทธิ์นี้คืออะไรหรือ ถ้าไม่ใช่กระบวนการทั้งหมดในการเป็นเหมือนพระเยซูที่เป็นพระเยซูตามพระคัมภีร์ โดยการ “เกิดจากพระวิญญาณ” และจากนั้นเป็นการถูกทำให้สมบูรณ์แบบโดยพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ที่สถิตอยู่ภายใน?

      รื่องราวการเกิดจากหญิงพรหมจารีได้อ้างไว้โดยมัทธิวและลูกา แต่เหตุการณ์ที่ถือว่าสำคัญที่ทำให้เข้าใจตัวของพระเยซูคริสต์นั้น น่าสังเกตว่าการเกิดจากหญิงพรหมจารีไม่ได้มีกล่าวไว้ที่ไหนอีกในพระคัมภีร์ใหม่ ในคำกล่าวที่สำคัญในกาลาเทีย 4:4 ที่เปาโลสามารถจะกล่าวถึงการเกิดจากหญิงพรหมจารี แต่เปาโลก็ไม่ได้กล่าว เขากล่าวแต่เพียงว่าพระเยซู “ประสูติจากสตรีเพศ” โดยใช้คำกรีกธรรมดาว่า “ผู้หญิง” (gynē, เปรียบเทียบ gynecology) เห็นได้ชัดว่าเปาโลไม่คิดว่าจำเป็นจะต้องพูดว่า “เกิดจากหญิงพรหมจารี”

      แต่ความจริงที่การเกิดจากหญิงพรหมจารีปรากฏในพระกิตติคุณสองเล่มนั้นหมายความว่า ไม่สามารถจะมองข้ามเรื่องนี้ไปได้ ความจริงนี้หนุนคำสอนของเปาโลอย่างไม่มีข้อสงสัยในเรื่องที่พระเยซูทรงเป็นอาดัมคนสุดท้าย (1 โครินธ์ 15:45) และเรื่องการสร้างใหม่ในพระคริสต์ (2 โครินธ์ 5:17) เพื่อให้เข้าใจว่าการสร้างใหม่นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เราจะมาดูเรื่องราวของการเกิดจากหญิงพรหมจารี เรื่องราวจากมัทธิวนั้นมีความกระชับ

 

นี่คือเรื่องราวการประสูติของพระเยซูคริสต์ คือมารีย์มารดาของพระองค์ได้ตกปากรับคำจะแต่งงานกับโยเซฟ แต่ก่อนที่ทั้งสองจะอยู่กินด้วยกัน ก็พบว่ามารีย์กำลังจะมีบุตรโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ (มัทธิว 1:18 ฉบับ NIV)

 

      มารีย์ตั้งครรภ์โดยทาง (ภาษากรีกคือคำว่า ek) พระวิญญาณบริสุทธิ์และไม่ใช่โดยทางโยเซฟ เพราะโยเซฟกับมารีย์ยังไม่ได้ “อยู่กินด้วยกัน” ในข้อ 20 มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า “เพราะว่าเธอได้ตั้งครรภ์สิ่งที่อยู่ในเธอโดย​​พระวิญญาณบริสุทธิ์” (ฉบับ NJB) คำว่า “ตั้งครรภ์” ตรงนี้จะต้องเข้าใจว่าเป็นการตั้งครรภ์ทางสายเลือด ความจริงแล้วคำว่า “มดลูก” ปรากฏในข้อ 18 แต่ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ได้แปลไว้ เพราะจะทำให้ภาษาอังกฤษแปลกไปจากปกติ หากแปลตามตัวอักษร[80]

      มารีย์ตั้งครรภ์ในมดลูกของเธอ เหมือนที่ผู้หญิงทั้งหลายตั้งครรภ์เพื่อเริ่มต้นกระบวนการของการเกิด (เปรียบเทียบกาลาเทีย 4:4, “ประสูติจากสตรีเพศ”)[81] ในกรณีของมารีย์นั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นแหล่งกำเนิดของการตั้งครรภ์ มีรายละเอียดเพิ่มเติมบางอย่างให้ไว้ในลูกา 1:35

 

ทูตสวรรค์จึงตอบเธอว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือ (epeleusetai epi) เธอ และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปก (episkiasei) เธอ เพราะฉะนั้นเด็กที่จะเกิดมานั้นจะถูกเรียกว่าบริสุทธิ์ และได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (ฉบับ ESV)

 

      พระคัมภีร์กล่าวถึงพระวิญญาณที่มาอยู่เหนือคนของพระเจ้าในถ้อยคำเช่น “พระวิญญาณของพระเจ้าเสด็จมาอยู่เหนือ” (กันดารวิถี 24:2; 1 ซามูเอล 19:20, 23; 2 พงศาวดาร 15:1) หรือ “พระวิญญาณ ของพระยาห์เวห์เสด็จลงมาเหนือ” (2 พงศาวดาร 20:14) หรือ “พระวิญญาณบริสุทธิ์​​เสด็จลงมาสถิต” (กิจการ 19:6) พระวิญญาณของพระเจ้ามาอยู่เหนือคนเหล่านั้น เพื่อให้สามารถทำกิจที่พระเจ้าได้ทรงมอบหมายให้พวกเขาทำ คำกรีกว่า “มาอยู่เหนือ” ก็ใช้ในกิจการ 1:8 ที่พระวิญญาณมาอยู่เหนือเหล่าสาวกในวันเพ็นเทคอสต์ เพื่อให้พวกเขาสามารถทำพันธกิจซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการนำความรอดมาสู่โลกนี้

      “การปก” (episkiazō) ในลูกา 1:35 เผยให้เห็นถึงการสถิตอยู่ของพระเจ้า คำเดียวกันนี้ก็ใช้ในอพยพ 40:35 (ฉบับ LXX)[82] ที่เมฆแห่งการสถิตอยู่ของพระเจ้าปกคลุมเต็มเต็นท์นัดพบ คือเต็มพลับพลา คำว่า “ปก” (หรือ “ปกคลุม”) ก็ใช้ในที่อื่นอีกเมื่อเมฆปกคลุมเปโตร ยากอบ และยอห์นในเหตุการณ์ที่พระกายของพระเยซูเปลี่ยนไปต่อหน้าพวกเขา (มาระโก 9:7; มัทธิว 17:5; ลูกา 9:34) คำนี้ใช้ในสดุดี 91:4 (90:4 ในฉบับ LXX)[83] ที่พระยาห์เวห์จะทรง “ปก” และปกป้องประชากรของพระองค์ เหมือนเช่นนกอินทรี

 

การเกิดจากหญิงพรหมจารีและลำดับวงศ์ตระกูล

      เกซา เวอร์มีส[84]ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสำคัญในเรื่องสองลำดับวงศ์ตระกูลของพระเยซูที่ระบุในมัทธิวและลูกา (มัทธิว 1:1-17; ลูกา 3:23-38) ก็คือข้อเท็จจริงที่ลำดับวงศ์ตระกูลทั้งสองยึดทางเชื้อสายของโยเซฟ ไม่ใช่ของมารีย์ แต่ถ้าโยเซฟไม่ใช่บิดาทางสายเลือดของพระเยซู ลำดับวงศ์ตระกูลเหล่านี้ก็จะไม่มีส่วนสำคัญในการสืบเชื้อสายของพระเยซูจากดาวิด แล้วเช่นนั้นจะมีประโยชน์อะไรที่จะลำดับวงศ์ตระกูลเหล่านี้เสียยืดยาว?

      หากลำดับวงศ์ตระกูลจะมีความหมายใดๆ การเกิดจากหญิงพรหมจารีนั้นไม่สามารถจะเข้าใจได้ง่ายๆในแบบที่กันโยเซฟออกจากความเป็นพ่อของพระเยซูในลักษณะที่สำคัญบางอย่าง ข้อเสนอแนะต่างๆ เช่นว่า โยเซฟเป็นพ่อบุญธรรมของพระเยซู นั่นก็คือ เป็นพ่อตามกฎหมายแต่ไม่ใช่ตามสายเลือดนั้นเป็นข้อเสนอที่ไม่น่าเชื่อถือ เวอร์เมสชี้ให้เห็นว่า “ความเป็นพ่อ” แบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในกฎหมายของชาวยิวเกี่ยวกับเชื้อสาย การยอมรับดังกล่าวจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีของพระกิตติคุณมัทธิว เพราะถูกเขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านทั้งหลายที่เป็นชาวยิวเห็นถึงการรับรองพระเยซู พระเมสสิยาห์ว่าเป็นเชื้อสายของดาวิด

      หากการเกิดจากหญิงพรหมจารีจะมีความหมายที่สำคัญใดๆนั้น จะต้องเข้าใจในแง่จิตวิญญาณก่อน ความตั้งพระทัยของพระเจ้าในการเกิดจากหญิงพรหมจารีก็คือ ทำให้เกิดการสร้างใหม่โดยที่พระเยซูทรงเป็นบุตรหัวปี (เปรียบเทียบ “บุตรหัวปีเหนือสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง” โคโลสี 1:15) เพื่อชี้ ให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรหัวปีของการสร้างใหม่ การสร้างใหม่นี้ตรงกันข้ามกับการสร้างเก่าซึ่งสิ้นสุดในการสร้างอาดัมมนุษย์คนแรก ที่คล้ายกันมากกับพระเยซู ผู้เป็นอาดัมคนสุดท้าย (1 โครินธ์ 15:45)

      อาดัมไม่ได้ถูกสร้างจาก ex nihilo (จากความว่างเปล่า) แต่จากธุลี หรือพูดได้ว่าเขาถูกสร้าง ถูกปั้น และทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากธุลีดินมากกว่า ตรงกันข้ามกับเอวาที่ไม่ได้ถูกสร้างจากธุลีดินในลักษณะเดียวกับอาดัม แต่ถูกสร้างขึ้นจากซี่โครงของอาดัม จะเห็นว่านี่คือมนุษย์สองคนที่ถูกสร้างด้วยวิธีที่ต่างกัน แต่ทั้งสองก็มีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์และอย่างเท่าเทียมกัน

      จุดประสงค์ของการพูดเช่นนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเกิดของพระเยซูตราบเท่าที่พระองค์ทรงเกี่ยวข้องกับโยเซฟ (เป็นที่เข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้อง) ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่า ในการสร้างใหม่ในครรภ์ของมารีย์นั้น องค์ประกอบบางอย่างของโยเซฟ “ถูกดึงมา” ซึ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับร่างกายของพระเยซู ในลักษณะที่คล้ายกับการสร้างเอวาจากกระดูกซี่โครงของอาดัม

      เรานำเสนอสิ่งนี้ว่าเป็นไปได้โดยไม่ได้ดันทุรังในเรื่องนี้ และยินดีรับคำอธิบายอื่นๆที่อาจเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการเกิดจากหญิงพรหมจารี แต่คำอธิบายนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับข้อมูลในพระคัมภีร์โดยไม่ขัดกับหลักการพระคัมภีร์แต่อย่างใด มันแก้ปัญหาปริศนาการสืบเชื้อสายของพระเยซูผ่านทางโยเซฟทันทีและให้คำชี้แจงเหตุผลในการลำดับวงศ์ตระกูลที่ยืดยาวนี้ ยิ่งกว่านั้นเท่าที่ผมรู้ก็คือ จนถึงตอนนี้ก็ไม่พบข้อเท็จจริงที่ดีกว่าหรือน่าเชื่อกว่านี้

      ข้อวินิจฉัยนี้ช่วยแก้ปัญหา คือถ้าไม่มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างพระเยซูกับโยเซฟ ไม่เช่นนั้นแล้วพระเยซู “บุตรของดาวิด” (มัทธิว 1:1) จะถูกกล่าวถึงว่าสืบเชื้อสายมาจากเชื้อวงศ์ของดาวิดได้อย่างไร? คำอธิบายทางเลือกใดๆเกี่ยวกับการเกิดจากหญิงพรหมจารี จะต้องตอบคำถามนี้เกี่ยวกับเชื้อสายของดาวิด

      แต่ในความเชื่อตรีเอกานุภาพ ที่พระเจ้าพระบุตรผู้เสด็จมาจากสวรรค์และเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในพระเยซูผู้เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์นั้น จะมีเชื้อสายทางโลกที่สามารถสืบย้อนกลับไปถึงอาดัม หรือแม้แต่เชื้อวงศ์ของดาวิดได้อย่างไร? ลำดับวงศ์ตระกูลเป็นการสืบย้อนเชื้อสายของผู้   สืบเชื้อสายของมนุษย์มากกว่าผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าผู้ดำรงนิรันดร์จากต้นกำเนิดในสวรรค์ หากพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “พระเจ้าพระบุตร” ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ พระองค์ก็จะไม่สามารถมีลำดับวงศ์ตระกูลได้

      ความจริงที่ว่าลำดับวงศ์ตระกูลทั้งสองได้ให้เราไว้ในลักษณะที่ชัดเจนและตามความจริง ทั้งยังเป็นมนุษย์และคนเดินดินนั้น เป็นข้อบ่งชี้มากขึ้นว่าพระเยซูตามในพระคัมภีร์ไม่เหมือนกับพระเยซูตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพ ยิ่งกว่านั้นลำดับวงศ์ตระกูลไม่สามารถจะมีขึ้นเพียงเพื่อ “สภาวะมนุษย์” ของพระคริสต์ เพราะสภาวะไม่ได้แทนตัวของคนๆนั้น

      ลำดับวงศ์ตระกูลในมัทธิวและลูกาประกาศว่า พระเยซูตามในพระคัมภีร์เป็นมนุษย์อย่างแท้จริงในทุกแง่ของคำ ในเวลาเดียวกันลำดับวงศ์ตระกูลเหล่านั้นจะตัดโอกาสพระคริสต์ตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่าเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เพราะว่าพระเจ้าพระบุตรที่แม้จะมีสภาวะของมนุษย์ก็ไม่สามารถมีลำดับวงค์ตระกูลของมนุษย์ได้ ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นของพระคัมภีร์ใหม่จะเห็นได้ว่าพระเยซูตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไม่ใช่มนุษย์ที่แท้จริง

      ลำดับวงศ์ตระกูลของลูกาจบลงด้วยอาดัมที่ถูกเรียกว่า “บุตรของพระเจ้า” (ลูกา 3:38)[85] นี่เป็นที่เดียวในพระกิตติคุณสี่เล่มที่อาดัมถูกเรียกด้วยคำเรียกนี้ แต่ในพระกิตติคุณลูกา (1:35)[86]พระเยซูก็ถูกเรียกว่า “บุตรของพระเจ้า” เนื่องจากว่าพระองค์ทรงบังเกิดจากพระวิญญาณ เห็นได้ชัดว่าลูกาไม่มีปัญหาในการเรียกทั้งอาดัมและพระคริสต์ด้วยคำเรียกเดียวกันว่า “บุตรของพระเจ้า” ผู้เชื่อทั้งหลายที่เกิดจากพระวิญญาณก็เป็นบุตรของพระเจ้าเช่นกัน (กาลาเทีย 4:6; โรม 8:14)[87] ดังนั้นจึงไม่มีหลักฐานในพระคัมภีร์ใหม่กับการกลับคำ “พระบุตรของพระเจ้า” มาเป็น “พระเจ้าพระบุตร” ให้เป็นคำเรียกของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่ว่าผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทุกคนจะกล้าพูดว่า “พระเจ้าพระบุตร” เป็นคำกำหนดใหม่ที่ถูกต้องของ “พระบุตรของพระเจ้า” แต่การที่พวกเขาไม่พูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือการยอมรับโดยปริยายว่า การใช้คำกลับกันนี้มีแรงจูงใจมาจากหลักคำสอน

      การที่อาดัมถูกเรียกว่า “บุตรของพระเจ้า” เหมือนกับพระเยซูนั้น ไม่ได้ทำให้อาดัมเท่าเทียมกับพระเยซู พระเยซูทรงยิ่งใหญ่กว่าอาดัมมาก เพราะพระองค์แต่เพียงผู้เดียวเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ แต่กระนั้นทั้งสองก็มีบางสิ่งที่เหมือนกัน คือทั้งสองเป็นมนุษย์ที่แท้จริงและทั้งสองเป็นพระฉายาของพระเจ้า แต่ในขณะที่อาดัมเป็นหัวปีของมนุษยชาติในด้านกายภาพนั้น พระเยซูทรงเป็นหัวปีของมนุษยชาติใหม่ คือการถูกสร้างใหม่ ซึ่งประชากรของพระเจ้ามีส่วนในพระเยซูคริสต์โดยความเชื่อ และโดยการบังเกิดจากพระวิญญาณองค์เดียวกันของพระยาห์เวห์เช่นเดียวกับพระเยซู

 

บทเพลงสรรเสริญของมารีย์

 

ลูกา 1:46-55 (บทเพลงสรรเสริญ, ฉบับ ESV)

46 มารีย์จึงกล่าวว่า “จิตใจของข้าพเจ้า ยกย่ององค์ผู้เป็น​​เจ้า

47 และจิตวิญญาณของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของข้าพเจ้า

48 เพราะพระองค์ทอดพระเนตรฐานะอันต่ำต้อยของผู้รับใช้ของพระองค์ ดูเถิด เพราะต่อแต่นี้ไป

   คนทุกยุคจะเรียกข้าพเจ้าว่าผู้ได้รับพร

49 เพราะว่าพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ได้ทรงกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อข้าพเจ้า และพระนามของพระองค์

   บริสุทธิ์

50 และพระเมตตาของพระองค์มีแก่บรรดาผู้ที่ยำเกรงพระองค์ในทุกชั่วอายุ

51 พระองค์ได้ทรงสำแดงอานุภาพด้วยพระกรของพระองค์ พระองค์ได้ทรงทำให้คนที่มีใจ​​เย่อหยิ่ง

   ในความคิดส่วนลึกของเขาให้กระจัดกระจายไป

52 พระองค์ได้ทรงปลดผู้มีอำนาจลงจากบัลลังก์ของพวกเขา และได้ทรงยกผู้ต่ำต้อยขึ้น

53 พระองค์ได้ทรงให้ผู้หิวโหยได้อิ่มด้วยสิ่งดี และทรงส่งผู้ที่​​มั่งมีไปมือเปล่า

54 พระองค์ได้ทรงช่วยอิสราเอลผู้รับใช้ของพระองค์ ในการระลึกถึงพระเมตตาของพระองค์

55 ตามที่พระองค์ตรัสไว้กับ​​อับราฮัมบรรพบุรุษของเรา และกับพงศ์พันธุ์ของท่านเป็นนิตย์”

 

      ทเพลงที่รู้จักกันดีของมารีย์เริ่มต้นด้วยคำว่า “จิตใจของข้าพเจ้า ยกย่อง​​องค์ผู้เป็นเจ้า” มีหลายประเด็นให้เห็นเมื่อพิจารณาบทเพลงนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือพระยาห์เวห์ “ผู้สูงสุด” (ตามที่เรียกพระองค์ในบทเพลง, ข้อ 32, 35; เปรียบเทียบข้อ 76)[88] เป็นศูนย์กลางที่แท้จริงในการสรรเสริญของมารีย์ ประการที่สองบทเพลงนี้ท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกขอบพระคุณต่อพระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งอิสราเอลผู้สูงสุด เพราะความจริงที่ว่าพระเจ้าผู้ทรงมีอำนาจทุกอย่างได้ทรงให้ความสนใจกับมารีย์หญิงต่ำต้อยที่ไม่มีฐานะทางสังคม ประการที่สาม สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับคุณแม่ที่กำลังจะตั้งครรภ์ก็คือ ไม่มีที่ไหนเลยในบทเพลงของเธอที่เธอเอ่ยถึงทารกที่จะเกิดกับเธอ ธรรมดาแล้วหญิงที่ตั้งครรภ์มักจะมุ่งความสนใจไปที่ลูกน้อยของเธอที่จะมาเกิด แต่เป็นที่ชัดเจนว่าบทเพลงของเธอไม่ได้กล่าวถึงพระเยซู แต่บทเพลงนี้กลับมุ่งเน้นอยู่ที่พระยาห์เวห์แทน มารีย์เป็นหญิงที่มีพระยาห์เวห์เป็นจุดศูนย์กลางอย่างน่าอัศจรรย์ใจ และนี่ช่วยอธิบายการที่พระยาห์เวห์ทรงเลือกเธอให้เป็นมารดาทางเนื้อหนังผู้ให้กำเนิดพระเยซู เราจะเห็นว่าพระยาห์เวห์ไม่ได้ทรงเลือกมารีย์แบบสุ่มเลือกหรือไม่มีเหตุผล

      สิ่งที่เกิดขึ้นจากข้อสังเกตเหล่านี้ก็คือ ความเข้าใจอันน่าทึ่งของมารีย์ถึงพระลักษณะของพระยาห์เวห์ที่ดึงใจเธอให้อุทิศตนเต็มที่ต่อพระองค์ เธอรู้จักพระยาห์เวห์ว่าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ผู้ทรงสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ในทางปฏิบัติจริงมากที่สุด

      เมื่อบรรดานักศาสนศาสตร์พูดในทางทฤษฎีถึงความรอบรู้ทุกสิ่ง การสถิตอยู่ทั่วไปในทุกที่ และฤทธานุภาพทั้งสิ้นของพระเจ้านั้น คุณลักษณะเหล่านี้ของพระเจ้ามีความหมายอะไรในชีวิตจริงหรือ? สำหรับมารีย์แล้ว ความรอบรู้ทุกสิ่งของพระเจ้าหมายความว่า ท่ามกลางผู้คนมากมายที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินโลกและโดยเฉพาะในอิสราเอล พระองค์ทรงให้ความสนใจกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ไม่มีความสำคัญในสังคม เพราะพระองค์ทรงให้ความสนใจคนที่ไม่มีความสำคัญของโลกนี้ มารีย์จึงเป็นคนหนึ่งในหมู่คนเหล่านั้น สำหรับเธอแล้ว นั่นคือความหมายที่แท้จริงของความรอบรู้ทุกสิ่งของพระเจ้า ไม่ใช่แค่ความรอบรู้ทุกสิ่งเท่านั้นแต่ทั้งการสถิตอยู่ทั่วไปในทุกที่ด้วย ที่พระเจ้าทรงให้ความสนพระทัยกับมารีย์ไม่ใช่จากที่ไกลโพ้นในสวรรค์เบื้องบน แต่จากเบื้องล่างในอิสราเอลที่เธออยู่ การที่เธอพูดกับพระเจ้าโดยตรงในบทเพลงอธิษฐานของเธอนั้น แสดงให้เห็นว่าเธอตระหนักถึงการสถิตอยู่ด้วยของพระองค์ และมั่นใจว่าพระองค์ทรงเงี่ยพระกรรณของพระองค์ฟังเธอ

      ในบทเพลงของมารีย์นั้น ฤทธานุภาพทั้งสิ้นของพระเจ้าเห็นได้จากฤทธิ์อำนาจของพระองค์ที่ทำให้มีการบังเกิดของมนุษย์ทางหญิงพรหมจารีคนหนึ่ง และในการทำเช่นนั้นก็สำเร็จตามพระสัญญาของพระองค์ที่ทำไว้มาช้านานกับอับราฮัมซึ่งเธอได้เอ่ยชื่อ การรู้ซึ้งถึงความรักของพระยาห์เวห์จากประสบการณ์ของเธอนั้นมากยิ่งกว่าการเข้าใจถึงพระลักษณะของพระเจ้าจากทฤษฎีของนักศาสนศาสตร์ทั้งหลายที่ไม่ได้รู้จักพระองค์จากประสบการณ์

      มีคำกล่าวอื่นๆในบทเพลงสั้นๆแต่ลึกซึ้งของของมารีย์ ที่เผยให้เห็นถึงความเข้าใจของเธอ เกี่ยวกับฤทธานุภาพทั้งสิ้นของพระยาห์เวห์ เช่น การที่พระองค์ทรงปลดผู้มีอำนาจและผู้ที่โลกยกย่อง และทรงยกคนยากจนและคนต่ำต้อยขึ้น แต่จะเป็นใครเล่า ถ้าไม่ใช่พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ที่ได้สอนความจริงเช่นนี้แก่เธอ และให้ความเข้าใจอันยอดเยี่ยมเช่นนี้เกี่ยวกับพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวแก่เธอได้?

      แม้ว่าพระเยซูจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนักในบทเพลงของเธอ แต่ก็ชัดเจนจากบริบทว่าบทเพลงนี้มุ่งไปที่พระเยซูผู้เป็นเครื่องมือที่พระยาห์เวห์ทรงเลือกไว้ แต่กระนั้นก็เป็นพระยาห์เวห์ ไม่ใช่พระเยซู ที่ยังคงเป็นศูนย์กลางตลอดเวลาของบทเพลงแห่งความจงรักภักดีของมารีย์ แต่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็ไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยการกีดกันพระยาห์เวห์และยกย่องพระเยซูให้เท่าเทียมกับพระองค์ มารีย์คงจะพบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่ารังเกียจและแสดงให้เห็นว่าความเชื่อของคริสเตียนแตกต่างไปไกลแค่ไหนจากความเชื่อของคนของพระเจ้าอย่างเช่นมารีย์

      ความจงรักภักดีที่มอบให้กับมารีย์ในคริสตจักรคาทอลิก แม้กระทั่งตั้งชื่อให้เธอเป็นพระมารดาของพระเจ้านั้น ก็ยิ่งจะเป็นเรื่องน่ารังเกียจมากขึ้นต่อสตรีที่มีความเชื่อและถ่อมตน ผู้ที่ “ได้รับพรในบรรดาสตรีทั้งหมด” (ข้อ 42, 48)[89]

      บรรดาคริสเตียนในทุกวันนี้ที่มี “พระคริสต์เป็นศูนย์กลาง” ไม่ได้เป็นครอบครัวในฝ่ายวิญญาณเดียวกับมารีย์ นั่นก็คือครอบครัวของบรรดาผู้ที่มีพระยาห์เวห์เป็นจุดศูนย์กลาง ในขณะที่ถวายพระเกียรติพระเยซูที่ทรงสมควรได้รับ

      “การขยายความ” ของมารีย์เกี่ยวกับพระลักษณะของพระยาห์เวห์ที่ให้ความสนพระทัยกับสถานการณ์ของโลกแบบปฏิบัติจริง แม้แต่การยกชูคนยากจนขึ้นและทำให้คนเย่อหยิ่งต่ำลงนั้น ก็สะท้อนให้เห็นในคำเทศนาบนภูเขาซึ่งพระเยซูจะทรงสอนในเวลาต่อมาเมื่อเริ่มพันธกิจของพระองค์

 

การเลี้ยงดูพระเยซูของมารีย์

      ในศาสนาของยิวนั้น แม่จะมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกๆในครอบครัวของเธอ และเนื่องจากความสำคัญอยู่ที่การอบรมเลี้ยงดูเด็กในทางศาสนาของยิว เด็กจะได้ชื่อว่าเป็นเด็กยิว หากแม่ของเขาหรือของเธอเป็นยิวในขณะที่ไม่ได้นับเชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ ฯลฯ ของพ่อ

      นี่คือความเป็นคนฝ่ายจิตวิญญาณที่ไม่ธรรมดาของมารีย์ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการอบรมเลี้ยงดูพระเยซู แต่นี่เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญในความเชื่อในตรีเอกานุภาพ เพราะถ้าพระเยซูทรงเป็น พระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพจริง พระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการอบรบสั่งสอนจากมารดาของพระองค์ และก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะให้มารีย์ทำหน้าที่สำคัญนี้ซ้ำซ้อนในการอบรมเลี้ยงดูลูกๆตามศาสนายิว

      คริสตจักรยุคแรกมีเรื่องเล่าที่ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับวัยเด็กของพระเยซู เช่น เรื่องที่พระองค์ทรงปั้นนกจากโคลนแล้วระบายลมหายใจให้พวกมัน แล้วก็ปล่อยพวกมันให้บินไป นี่เป็นการเล่าเรื่องในแบบเพ้อฝันที่ผู้เชื่อที่เป็นคนต่างชาติบางคนชอบ โดยลดระดับความคิดเรื่องการทรงสร้างให้เด็กสนุก

      แต่ถ้าเราเข้าใจความคิดของพระคัมภีร์เกี่ยวกับครอบครัว เราจะชื่นชมบทบาทที่สำคัญของมารีย์ในชีวิตช่วงต้นของพระเยซู นั่นคือจวบจนพระองค์ทรงมีอายุ 13 ปี ซึ่งเป็นอายุที่ถือว่าโตเป็นผู้ใหญ่ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเยซูในวัย 12 ปีที่พระวิหาร (ลูกา 2:41-52) พระองค์ทรงสนทนาโต้ตอบกับพวกอาจารย์ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมพระคัมภีร์นั้น เป็นผลอย่างมากจากอิทธิพลที่พระองค์ทรงได้ รับจากมารดาของพระองค์ในการอบรมเลี้ยงดู เพราะว่าพระเยซูไม่น่าจะสามารถโต้ตอบได้อย่างมีความหมายกับบรรดาอาจารย์ในพระวิหาร ถ้าพระองค์ไม่ได้มีความเข้าใจพระคัมภีร์มาอย่างดีเยี่ยม แต่ตามหลักคำสอนของความเชื่อในตรีเอกานุภาพแล้ว พระเยซูทรงมีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วตั้งแต่เริ่มแรกเนื่องจากถูกตั้งให้เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์ ทำให้เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพระวิหารจึงเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น ไร้ประโยชน์ และตามจริงแล้วน่าเบื่อ เพราะมันไม่ได้พิสูจน์อะไรนอกจากประเด็นที่เห็นได้ชัดมากว่าพระเยซูผู้เป็นพระเจ้าน่าจะรู้ทุกสิ่ง

      ความจริงที่ว่าเด็กชายอายุสิบสองปีสามารถสนทนาโต้ตอบคำถามลึกๆเกี่ยวกับพระคัมภีร์ได้นั้น อย่างน้อยที่สุดก็พิสูจน์ได้ว่า พระองค์เป็นเด็กที่มีสติปัญญาสูงกว่าเด็กในวัยเดียวกับพระองค์ แม้ว่าไม่จำเป็นที่พระองค์จะต้องมีลักษณะที่พิเศษกว่าใครในแง่นี้

 

พระเยซูทรงเป็นพี่น้องของเรา

      เพื่อให้มีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ การศึกษาคำเรียกต่างๆที่เรียกพระองค์ในพระคัมภีร์ใหม่จะเป็นประโยชน์ แต่คำเรียกหนึ่งน่าจะโดดเด่นโดยไม่ปรากฏให้เห็นก็คือ พี่น้อง คำเรียกนี้มีปรากฏให้เห็นในพระคัมภีร์ใหม่ แต่ไม่ปรากฏให้เห็นในหนังสือต่างๆที่เกี่ยวกับคำเรียกพระคริสต์ ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ คำเรียกพระเยซู ที่เขียนโดยนักวิชาการชื่อวินเซนต์ เทย์เลอร์[90] อันที่จริงมีหนังสือหลายเล่มที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับ   การให้ข้อคิดในฝ่ายวิญญาณ ไม่ใช่งานเขียนทางวิชาการ แต่ไม่ว่าจะเกี่ยวกับวิชาการหรือให้ข้อคิดในฝ่ายวิญญาณ มันก็ยากที่คุณจะเจอหนังสือสักเล่มเกี่ยวกับคำเรียกพระเยซูที่มีคำเรียกพระองค์ว่า “พี่น้อง” รวมอยู่ด้วย

      เหตุผลก็ชัดเจน คือเมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราได้หลีกเลี่ยงสิ่งที่เราไม่ชอบในการคิดว่าพระเยซูผู้เป็นพระเจ้าที่มาเป็นมนุษย์นั้นจะเป็นพี่น้องของเรา ความเชื่อในตรีเอกานุภาพได้ปิดตาเราจนไม่เห็นสิทธิพิเศษที่วิเศษในการเกี่ยวดองกับพระเยซูในฐานะพี่น้องของเรา และทำให้เราต้องสูญเสียความเกี่ยวดองอย่างใกล้ชิดของเรากับพระองค์ไป หนังสือของเทย์เลอร์มีคำเรียกพระเยซูอย่างละเอียดในพระคัมภีร์ใหม่ถึง 42 คำเรียก แต่คำเรียกว่า “พี่น้อง” ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น เราอาจคิดว่า “พี่น้อง” เป็นหนึ่งในคำเรียกที่มีค่าที่สุดที่จะทำให้พระองค์เป็นที่รักของเรา แต่หลักคำสอนของการเป็นพระเจ้าพระบุตรได้ขวางเราจากการคิดว่าพระเยซูทรงเป็นพี่น้องของเรา ยกเว้นในทางทฤษฎี และชิงเอาความเข้าใจในความเกี่ยวดองของเรากับพระเยซูที่พระยาห์เวห์ได้ทรงกำหนดไว้สำหรับเราไปเสีย เรากลายเป็นคนยากจนทางจิตวิญญาณจากการสูญเสียความใกล้ชิดนี้ เป็นความจริงที่พระเยซูทรงเป็นศีรษะและองค์เจ้านายของเรา แต่ถ้าเราเน้นคำเรียกเหล่านี้โดยกันคำเรียกสำคัญอื่นๆออกไป เราก็จะตั้งระยะห่างระหว่างพระเยซูกับตัวเราเองที่จะเป็นการสูญเสียทางจิตวิญญาณอย่างมหันต์ของเรา คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการสอนเรื่องพื้นฐานของพระคัมภีร์ว่าพระเยซูทรงเป็นพี่น้องของเรา ดังนั้นอะไรคือหลักฐานทางพระคัมภีร์ในเรื่องนี้?

      เราถูกเรียกอย่างชัดเจนว่าเป็นพี่น้องของพระเยซู มีการกล่าวถึงบรรดาผู้เชื่อว่า พระเยซู “ไม่ทรงละอายที่จะเรียกพวกเขาว่าพี่น้อง” (ฮีบรู 2:11) นี่แม้ว่าพระเยซูจะทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่ตรงกันข้ามกับบรรดาผู้เชื่อของพระองค์ที่ไม่สมบูรณ์แบบซึ่งรวมถึงเปาโลด้วย สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงพระทัยอันสูงส่งของพระเยซู ซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความสมบูรณ์แบบของพระองค์ พระเยซูทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวหรือหนึ่งเดียว[91]ของพระเจ้าเพราะพระองค์เพียงผู้เดียวทรงสมบูรณ์แบบ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็เป็นบุตรของพระเจ้าด้วยและเพราะฉะนั้นเราจึงเป็นพี่น้องของพระเยซู ดังจะเห็นได้ในข้อต่อไปนี้ (ทั้งหมดมาจากฉบับ ESV ยกเว้นระบุไว้อย่างอื่น)

 

โรม 8:29 ​ ​บรรดาคนที่พระองค์ (พระเจ้า) ได้ทรงทราบล่วงหน้าแล้ว พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ล่วง หน้าให้เป็นตามแบบอย่าง​​พระบุตรของพระองค์ เพื่อว่าพระองค์ (พระเยซู) จะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก (ฉบับ CJB)

มัทธิว 25:40 “สิ่งที่พวกท่านทำกับคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรา ก็เหมือนทำกับเรา”

มัทธิว 28:10 “อย่ากลัวเลย จงไปบอกพี่น้องของเราให้ไป​​ที่กาลิลี”

ยอห์น 20:17 พระเยซูตรัสกับนางว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปหาพระบิดาของเรา แต่จงไปหาพวกพี่น้องของเราและบอกพวกเขาว่า เรากำลังจะขึ้นไปหาพระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน ไปหาพระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน

 

      แม้หลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ และหลังจากที่พระองค์ได้รับพระกายที่เต็มด้วยพระรัศมีซึ่งสามารถผ่านผนังและประตูที่ปิดได้ พระเยซูก็ยังคงตรัสถึงเหล่าสาวกของพระองค์ว่าเป็นพี่น้องของพระองค์ ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้ตระหนักว่าพระเยซูได้ทรงกล่าวบ่อยแค่ไหนถึงเหล่าสาวกของพระองค์และผู้ที่กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าว่าเป็นพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องของพระเยซูเอง (มัทธิว 12:49, 50; 25:40; 28:10; มาระโก 3:33, 34, 35; ลูกา 8:21;[92]ยอห์น 20:17) หรือเป็นพี่น้องต่อกัน (มัทธิว 5:47; 7:3, 4, 5; 18:15,35; 23:8; ลูกา 6:41,42; 17:3; 22:32)[93] พระเยซูตรัสถึงผู้หญิงที่สูงอายุว่า “มารดา” และผู้หญิงที่อายุน้อยว่า “น้องสาว” ของพระองค์ดังนี้

 

แต่พระองค์​​ตรัสกับชายที่​​ทูลพระองค์​​​​ว่า “ใครเป็นมารดาของเราหรือ? และใครเป็นพี่น้องของเราหรือ?” และทรงยื่นพระหัตถ์ของพระองค์ไปทางเหล่าสาวก​​ของพระองค์แล้วตรัสว่า “นี่คือมารดาและพี่น้องของเรา เพราะ​​ใครก็ตามที่ทำตามพระทัยพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ ก็เป็นพี่น้องชายและพี่น้องหญิงและมารดาของเรา” (มัทธิว 12:48-50 ฉบับ ESV)

 

      มีเพลงชีวิตคริสเตียนที่ยืนยันไว้อย่างดีว่า พระเยซูทรงเป็นพี่น้องของเรา บทเพลงที่มีชื่อเสียงที่ชื่อ “แสนยินดี แสนยินดี เรายกย่องพระองค์” ที่แต่งเนื้อร้องโดยเฮนรี่ แวน ไดก์ และเรียบเรียงเสียงดนตรีโดยบีโธเฟ่น[94] กล่าวไว้ในท่อนที่สามว่า

 

พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของเรา พระคริสต์ทรงเป็นพี่ชายของเรา

ทุกคนที่ดำเนินในความรัก ก็เป็นของพระองค์[95]

 

เต็มด้วยพระวิญญาณตั้งแต่เกิด

      พระเยซูได้ทรงบังเกิดในครรภ์ของมารีย์โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และทรงเต็มด้วยพระวิญญาณตั้งแต่พระองค์ประสูติ นี่หมายความว่าพระเยซูจะปราศจากบาปได้ง่ายกว่ามนุษย์คนอื่นๆที่ไม่มีโอกาสเกิดมาแบบนั้นหรือ? แต่ก็มีคนหนึ่งคือยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่เต็มด้วยพระวิญญาณตั้งแต่เกิดเช่นกัน

 

...เพราะ​​เขาจะยิ่งใหญ่ต่อพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้า[96] และเขาจะต้องไม่ดื่มเหล้า​​องุ่นหรือของมึนเมาแล้วเขาจะเต็มด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ แม้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาของเขา (ลูกา 1:15 ฉบับ ESV)

 

      ยอห์นผู้ให้บัพติศมาชี้ให้คนอิสราเอลไปหาพระเยซู โดยประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้า ผู้ทรงรับบาปของโลกไป” (ยอห์น 1:29) แต่ต่อมา เมื่อเขากำลังอิดโรยอยู่ในคุกเพราะกล่าวโทษบาปของเฮโรดอันทิปาส ยอห์นก็ยังกล้าถามว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์หรือไม่ การเต็มด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ตั้งแต่เกิดนั้น ไม่ได้ทำให้เขาได้เปรียบที่ชัดเจนว่าจะปราศจากบาปหรือมีความสมบูรณ์แบบ

      การเต็มด้วยพระวิญญาณไม่ได้เป็นประสบการณ์กครั้งเดียว แต่เป็นประสบการณ์ที่ต่อเนื่อง ที่เราจำเป็นต้องให้เต็มต่อไป “อย่าเมาเหล้าองุ่นซึ่งจะทำให้เสียคน แต่จงเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณต่อไป” (เอเฟซัส 5:18) การแปลของฉบับ CJB นี้เผยให้เห็นลักษณะของกาลปัจจุบันทางไวยากรณ์ที่ต่อเนื่อง[97]ของคำว่า “เต็ม” ในภาษากรีก ซึ่งฉบับแปลอื่นๆส่วนใหญ่จะแปลเพียงแค่ว่า “จงเต็มด้วยพระวิญญาณ”

 

พระวิญญาณของพระเยซู

      หลายคนสับสนกับสมการที่ พระวิญญาณบริสุทธิ์ = พระวิญญาณของพระเยซู = พระวิญญาณของพระคริสต์ = พระวิญญาณของพระเยซูคริสต์ ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนใช้ความเท่าเทียมกันนี้ให้หมายความว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า แต่นี่เป็นข้อสรุปที่ถูกต้องหรือไม่?

      คำเหล่านี้ที่ไม่ค่อยพบ เช่น “พระวิญญาณของพระเยซู” จะมีปรากฏเฉพาะในกิจการ 16:7[98] คำว่า “พระวิญญาณของพระคริสต์” จะมีปรากฏเฉพาะในโรม 8:9 และ 1 เปโตร 1:11[99] คำว่า “พระวิญญาณของพระเยซูคริสต์” จะมีปรากฏเฉพาะในฟีลิปปี 1:19 และคำว่า “พระวิญญาณของพระบุตรของพระองค์” จะมีปรากฏเฉพาะในกาลาเทีย 4:6 รวมกันทั้งหมดแล้วมีปรากฏห้าครั้งในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม

      ในกิจการ 16:6-7 เป็นการเปรียบเทียบระหว่างพระวิญญาณบริสุทธิ์กับพระวิญญาณของพระเยซู คือเปาโล “ถูกพระวิญญาณบริสุทธิ์ห้ามไม่ให้กล่าวพระคำในเอเชีย” (ข้อ 6) และ “พระวิญญาณของพระเยซูไม่ให้” เปาโลไปแคว้นบิธีเนีย (ข้อ 7)

      น่าแปลกใจที่ “พระวิญญาณของพระเยซู” ก็มีความคล้ายคลึงกันใน “วิญญาณของเอลียาห์” (2 พงศ์กษัตริย์ 2:15) ที่ทั้งสองหมายถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพระวิญญาณของพระยาห์เวห์อย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้าอ้างถึง “ด้วยวิญญาณและฤทธิ์เดชของเอลียาห์” (ลูกา 1:17)[100] กับยอห์นผู้ให้บัพติศมาผู้ “เปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาของเขา” (ลูกา 1:15)

      เอลียาห์เป็นที่รู้จักในอิสราเอลในสมัยของเขาว่า เป็นคนที่พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ทรงทำงานอย่างเต็มด้วยฤทธิ์เดชในเขา ฤทธิ์เดชนั้นมองเห็นได้ ตัวอย่างเช่น น้ำในแม่น้ำจอร์แดนแยกออก[101]เมื่อเอลียาห์เอาเสื้อคลุมของเขาฟาดลงในน้ำ (2 พงศ์กษัตริย์ 2:8) เอลีชาผู้เป็นสาวกของเขารู้ว่า การที่น้ำแยกออกนั้นเกิดขึ้นโดยพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ ไม่ใช่โดยวิญญาณมนุษย์ของเอลียาห์เอง ดังที่เห็นได้จากข้อเท็จจริงว่า ไม่นานหลังจากเอลียาห์ถูกรับไป เอลีชาได้ทำสิ่งที่เหมือนกันในการแยกน้ำในแม่น้ำจอร์แดนโดยร้องทูลต่อ “พระยาห์เวห์ พระเจ้าของเอลียาห์” (2 พงศ์กษัตริย์ 2:14)[102]

      ก่อนที่เอลียาห์จะถูกรับขึ้นสวรรค์โดยพายุ (2 พงศ์กษัตริย์ 2:1) เอลีชาผู้เป็นศิษย์เอกของเขาได้ขอวิญญาณของเขาสองเท่า

 

เอลียาห์เอาเสื้อคลุมของท่านม้วนแล้วฟาดลงที่น้ำ น้ำก็แยกออกไปข้างขวาและซ้าย แล้วทั้งสองก็เดินข้ามไปบนดินแห้ง เมื่อข้ามไปแล้ว เอลียาห์ก็พูดกับเอลีชาว่า “จงบอกมาเถิดว่าท่านอยากให้เราทำอะไรให้ ก่อนที่เราจะถูกรับไปจากท่าน?เอลีชาตอบว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้รับวิญญาณของท่านสองเท่า” เอลียาห์ตอบว่า “ท่านขอสิ่งที่ยากนัก แต่ถ้าท่านเห็นเราถูกรับไปจากท่าน ท่านก็จะได้สิ่งนั้น แต่ถ้าท่านไม่เห็น ท่านก็จะไม่ได้รับ” (2 พงศ์กษัตริย์ 2:8-10 ฉบับ NIV)

 

      สองเท่าคือส่วนที่บุตรหัวปีจะได้รับเป็นส่วนแบ่งในมรดกของเขา (เฉลยธรรมบัญญัติ 21:17)[103] เอลีชากำลังขออะไรหรือเมื่อเขาร้องขอ “วิญญาณของท่านสองเท่า? ขอวิญญาณมนุษย์ของเอลียาห์หรือ? แต่ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่ยอมให้มนุษย์คนหนึ่งมอบวิญญาณของตนเองให้กับคนอื่นได้ บริบทชี้ให้เห็นว่าเอลีชาจดจ่ออยู่ที่พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ (เช่น 2 พงศ์กษัตริย์ 2:14พระยาห์เวห์พระเจ้าของเอลียาห์อยู่ที่ไหน?”) สิ่งที่เขาร้องขอจากเอลียาห์ก็คือ เขาอาจได้รับส่วนแบ่งนี้ที่ให้แก่บุตรหัวปีในบรรดา “บุตรทั้งหลายของบรรดาผู้เผยพระวจนะ” (คำที่คุ้นกันใน 2 พงศ์กษัตริย์) เพื่อเขาจะได้เป็นผู้สืบทอดของเอลียาห์

      ไม่นานก่อนที่เอลียาห์จะถูกรับขึ้นไปโดยพายุ เขาใช้เสื้อคลุมของเขาฟาดลงในแม่น้ำจอร์แดนและน้ำก็แยกออกจากกัน ดังนั้นเอลียาห์กับเอลีชาจึงเดินข้ามไปบนดินแห้ง ต่อมาเมื่อเอลียาห์ถูกรับไปแล้ว เอลีชาจำเป็นต้องรับการยืนยันว่าเขาได้รับวิญญาณของเอลียาห์สองเท่าตามคำขอของเขาหรือไม่ ดังนั้นเขาจึงใช้เสื้อคลุมฟาดลงในแม่น้ำจอร์แดนขณะที่กล่าวว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าของเอลียาห์อยู่ที่ไหน?” (2 พงศ์กษัตริย์ 2:14) ความจดจ่อของเขานั้นอยู่ที่พระยาห์เวห์ ไม่ใช่ที่เอลียาห์ ในสองข้อถัดมา (ข้อ 15, 16) บุตรทั้งหลายของบรรดาผู้เผยพระวจนะได้กล่าวถึง “วิญญาณของเอลียาห์” ที่เกี่ยวโยงกับ “พระวิญญาณของพระยาห์เวห์”

      ถ้าเรายืนกรานว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าด้วยสมการ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ = พระวิญญาณของพระเยซู” แล้วเราจะยอมรับด้วยเช่นกันไหมว่า เอลียาห์เป็นพระเจ้าด้วยสมการ “พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ = วิญญาณของเอลียาห์”?

      เมื่อเอลีชาขอวิญญาณของเอลียาห์สองเท่านั้น เขาไม่ได้ขอวิญญาณมนุษย์ของเอลียาห์ แต่เขาขอพระวิญญาณของพระยาห์เวห์ที่ให้ฤทธิ์อำนาจกับเอลียาห์ ในที่สุดเอลีชาก็ได้รับตามคำร้องขอของเขาและจากนั้นผู้คนก็ยอมรับว่าเขาเป็นคนที่ทำหน้าที่ด้วยฤทธิ์เดชเดียวกันของพระยาห์เวห์ที่เคยทำงานในเอลียาห์นายของเขา (2 พงศ์กษัตริย์ 2:15; 3:11-12)[104] ผลก็คือว่า พันธกิจของเอลีชาได้สะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจของเอลียาห์ ทั้งสองได้ชุบคนตายให้ฟื้นขึ้น (1 พงศ์กษัตริย์ 17:21-22; 2 พงศ์กษัตริย์ 4:33-34) และทั้งสองได้ทำหน้าที่ภายใต้ฤทธิ์อำนาจของพระยาห์เวห์ (“พระยาห์เวห์ที่ข้าปรนนิบัติทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด” 1 พงศ์กษัตริย์ 17:1; 18:15; 2 พงศ์กษัตริย์ 3:14; 5:16)[105]

      เปาโลอาจจะนึกถึงเอลียาห์และเอลีชาก็ได้เมื่อเขากล่าวว่า ถ้าเราเป็นบุตรของพระเจ้า เราก็เป็น “ทายาทของพระเจ้าและเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์” (โรม 8:17) ในฐานะที่เป็นบุตรหัวปีของการทรงสร้าง (โคโลสี 1:15) พระคริสต์ทรงได้สองเท่า แต่เราในฐานะที่เป็นบุตรของพระเจ้าก็ได้หนึ่งเท่าด้วย การที่พระคริสต์ทรงมีพระสิริและความมีอำนาจมากกว่าสองเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รับการเต็มบริบูรณ์ด้วยพระวิญญาณเพียงครึ่งเดียว พระวิญญาณของพระเจ้าที่สถิตในพระคริสต์นั้นเป็นพระวิญญาณที่ไม่ได้ถูกแบ่งส่วนซึ่งสถิตอยู่ในเรา และประทานกำลังให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีชัยชนะ

 

การทำอัศจรรย์ต่างๆ

      พระยาห์เวห์ ผู้ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์ ได้ทรงสำแดงฤทธานุภาพของพระองค์ด้วยการอัศจรรย์ในเหตุการณ์นับไม่ถ้วนตั้งแต่เริ่มต้นของประวัติศาสตร์พระคัมภีร์ (ในปฐมกาลนั้นอับราฮัมและซาราห์มีบุตรในวัยชรา ส่วนในอพยพ พระเจ้าทรงปลดปล่อยชนอิสราเอลออกจากอียิปต์ด้วยการอิทธิฤทธิ์) และสิ่งนี้มีไปจนถึงวิวรณ์หนังสือเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์ ซึ่งจะเห็นการสำแดงอิทธิฤทธิ์ของพระเจ้าในช่วงท้ายของยุคปัจจุบันของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

      มักเป็นเรื่องที่เชื่อกันว่า คนที่ทำการอัศจรรย์จะต้องเป็นพระเป็นเจ้าหรือผู้ที่เหนือมนุษย์ธรรมดา และผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพจำนวนมากได้ชี้ให้เห็นถึงการทำอัศจรรย์ต่างๆของพระเยซูว่าเป็นหลัก ฐานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ แต่เอลียาห์และเอลีชาก็ทำการอัศจรรย์ต่างๆคล้ายกับที่พระเยซูได้ทรงทำ รวมถึงการชุบคนตายให้ฟื้นและการเพิ่มทวีอาหารเพื่อเลี้ยงคนมากมาย ในเหตุการณ์เหล่านี้ ฤทธิ์เดชที่สำแดงการอัศจรรย์ต่างๆทั้งหมดมาจากพระยาห์เวห์ แม้แต่ในกรณีของพระเยซูที่ตรัสว่า “พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดโดยลำพังพระองค์เอง” (ยอห์น 5:19)[106] และ “พระบิดาผู้สถิตอยู่ในเรา ทรงทำพระราชกิจของพระองค์” (ยอห์น 14:10)[107]

      เปโตรกล่าวในทำนองเดียวกันว่า พระเจ้าได้ทรงทำการอัศจรรย์ต่างๆ ผ่านพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ ดังนี้ “พระเยซูชาวนาซาเร็ธคือผู้ที่พระเจ้าทรงรับรองโดยการอิทธิฤทธิ์ การอัศจรรย์ และหมายสำคัญต่างๆ ซึ่งพระเจ้าได้ทรงกระทำผ่านพระองค์ท่ามกลางพวกท่าน” (กิจการ 2:22 ฉบับ NIV)

      ไม่ใช่ว่าการอัศจรรย์ทั้งหมดจะทำโดยฤทธิ์เดชของพระยาห์เวห์ บรรดาผู้ที่ชั่วร้ายก็มีฤทธิ์ทำการอัศจรรย์ได้ด้วย ดังที่กล่าวว่า “เพราะพระคริสต์ปลอมและผู้เผยพระวจนะเท็จจะปรากฏขึ้นและแสดงหมายสำคัญและการอัศจรรย์ยิ่งใหญ่เพื่อให้หลงผิด ถ้าเป็นไปได้แม้กระทั่งกับผู้ที่ทรงเลือกสรรไว้” (มัทธิว 24:24 ฉบับ NIV)

      ในหนังสืออพยพ มีพวกนักเล่นอาคมชาวอียิปต์ได้ทำสิ่งอัศจรรย์บางอย่างเหมือนที่โมเสสและอาโรนได้ทำ (อพยพ 7:9-13) ให้เราข้ามไปถึงอนาคตมาจนถึงช่วงปฏิปักษ์ของพระคริสต์[108]ที่เรียกกันว่า “สัตว์ร้าย” ในวิวรณ์โดยเฉพาะในบทที่ 13 ถึง 17 สัตว์ร้ายจะเลียนแบบสิ่งที่เอลียาห์ทำบนภูเขาคารเมล “มันทำหมายสำคัญที่ยิ่งใหญ่ถึงขั้นทำให้ไฟตกจากฟ้าลงมายังแผ่นดินโลกต่อหน้าคนทั้งหลาย” (วิวรณ์ 13:13; 1 พงศ์กษัตริย์ 18:38) การกระทำอันชั่วร้ายของมันยังมีอธิบายต่อไปอีกว่า “สัตว์ร้ายตัวที่สองได้รับอำนาจที่จะให้ลมหายใจแก่รูปจำลองของสัตว์ร้ายตัวแรก เพื่อให้รูปจำลองนั้นพูดได้ และทำให้ทุกคนที่ไม่ยอมบูชารูปจำลองนั้นถูกฆ่าตาย)” (วิวรณ์ 13:15 ฉบับ NIV)

      ฤทธิ์เดชในการทำการอัศจรรย์ต่างๆถ้าไม่ได้มาจากพระยาห์เวห์ พระผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ก็มาจากผู้ที่ชั่วร้ายคือมารหรือซาตาน (ชื่อซึ่งหมายถึง “ปฏิปักษ์” หรือ “ศัตรู”) ผลสุดท้ายปฏิปักษ์ของพระยาห์เวห์จะถูกโยนลงไปในบึงไฟกำมะถัน (วิวรณ์ 20:10) เพราะการอัศจรรย์ต่างๆของซาตานมักจะเลียนแบบการอัศจรรย์ของพระยาห์เวห์ ดังนั้นจึงต้องใช้การมองเห็นในฝ่ายวิญญาณเพื่อจะบอกได้ว่าการอัศจรรย์ใดมาจากพระยาห์เวห์ และการอัศจรรย์ใดมาจากซาตาน

      พระคัมภีร์ไม่รู้จักผู้ที่ถูกเรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” หรือ “พระองค์ที่สองในตรีเอกานุภาพ” ดังนั้นจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงการทำการอัศจรรย์ของบุคคลดังกล่าวเลย แต่พระยาห์เวห์ได้ทรงทำการอัศจรรย์อย่างมหัศจรรย์ผ่านทางพระเยซูของพระคัมภีร์ ซึ่งไม่ใช่แค่กระทำการที่สำแดงฤทธิ์เดชอย่างยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ยังได้กระทำการที่สำแดงความเมตตาด้วย คือการเลี้ยงดูประชาชนในถิ่นทุรกันดารที่หาอาหารได้ยาก การรักษาผู้ทุกข์ทรมานจากโรคต่างๆ การปลดปล่อยคนที่ถูกผีสิงให้เป็นอิสระ และการทำให้คนที่ตายแล้วเป็นขึ้นเหมือนกรณีของชายหนุ่มที่ตายไป ทิ้งให้มารดาเป็นทุกข์ที่ไม่มีใครเลี้ยงดู (ลูกา 7:12-15) ความเมตตาเป็นส่วนสำคัญของพระลักษณะของพระยาห์เวห์และปรากฏให้เห็นเป็นอย่างดีในพระเยซู แต่กระนั้นพวกฟาริสีก็กล่าวอย่างไม่เกรงกลัวใครว่า พระเยซูได้ทรงทำการอัศจรรย์ด้วยฤทธิ์อำนาจของซาตานที่พวกเขาเรียกว่าเบเอลเซบูลผู้เป็นนายผี

 

22แล้วเขาก็พาชายที่ถูกผีสิงคนหนึ่งซึ่งทั้งตาบอดและเป็นใบ้มาหาพระองค์ และพระองค์ได้ทรงรักษาเขาคนนั้นก็พูดได้และมองเห็น 23ฝูงชนทั้งหมดก็อัศจรรย์ใจและพูดว่า “คนนี้ใช่บุตรดาวิดไหม?   24แต่เมื่อพวกฟาริสีได้ยินดังนั้นจึงพูดกันว่า “คนนี้ขับผีออกได้​​เพราะใช้ฤทธิ์อำนาจเบเอลเซบูลผู้เป็นนายผี25พระองค์ทรงทราบความคิดของพวกเขาจึงตรัสกับพวกเขาว่า “ราชอาณาจักรใดซึ่งแตกแยกกันเองก็ถูกทิ้งให้รกร้างไร้ผู้คน ไม่มีเมืองใดหรือบ้านใดซึ่งแตกแยกกันเองแล้วจะตั้งอยู่ได้ 26และถ้าซาตานขับซาตานด้วยกันออกไป มันก็จะแตกแยกกัน​​เอง แล้วอาณาจักรของมันจะตั้งอยู่ได้อย่างไร?    27และถ้าเราขับผีออกด้วยฤทธิ์อำนาจเบเอลเซบูล แล้วคนของพวกท่านขับมันออกด้วยฤทธิ์อำนาจของใครเล่า? ​ฉะนั้นคนของท่านเองจะเป็นผู้ตัดสินพวกท่าน 28แต่ถ้าเราขับผีออกโดยพระวิญญาณของพระเจ้า อาณาจักรของพระเจ้าก็มาถึงพวกท่านแล้ว (มัทธิว 12:22-28 ฉบับ ESV)

 

      มีข้อสังเกตหลายประการจากพระคัมภีร์ตอนนี้คือ

1. การอัศจรรย์เป็นหมายที่ประกาศถ้อยคำฝ่ายวิญญาณ ในการขับผีออกนั้น ถ้อยคำก็คือว่า พระเจ้าได้ทรงส่งพระเยซูมาปลดปล่อยผู้ถูกจองจำให้พ้นจากพลังอำนาจแห่งความมืด พันธกิจของพระเยซูคือการประกาศถ้อยคำแห่งอิสรภาพแก่มวลมนุษย์ดังนี้ “พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามาประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย และให้คนตาบอดมองเห็นได้อีก ให้ผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงเป็นอิสระ” (ลูกา 4:18ฉบับ NASB)

 

2. เมื่อผู้คนเห็นการอัศจรรย์ที่พระเยซูได้ทรงทำก็ตะลึงและประหลาดใจ ปฏิกิริยาของพวกเขาไม่ใช่การร้องอุทานว่าพระองค์เป็นพระเจ้าหรือพระเจ้าพระบุตร แต่ถามว่าพระองค์อาจจะเป็น “บุตรดาวิด” หรือไม่ (มัทธิว12:23) นั่นก็คือพระเมสสิยาห์ กษัตริย์ของอิสราเอลและพระผู้ช่วยให้รอดของโลกตามพระสัญญา การถามเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าความคิดของชาวยิวแตกต่างจากความคิดของชาวต่างชาติอย่างสิ้นเชิง นั่นจึงเป็นเหตุที่เป็นไปไม่ได้ว่าความเชื่อในตรีเอกานุภาพจะมาจากชาวยิว แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดของชาวต่างชาติ

 

3. พระคัมภีร์ตอนนี้พูดถึงสองอาณาจักรที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน นั่นก็คืออาณาจักรของซาตานและอาณาจักรของพระยาห์เวห์ (ข้อ 26, 28) พระเยซูทรงมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะตั้งอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้ พระองค์จึงทรงสอนเหล่าสาวกของพระองค์ให้อธิษฐานต่อพระบิดาว่า “ขอให้อาณาจักรของพระองค์มาตั้งอยู่(มัทธิว6:10) แต่ในมัทธิว12:28 นี้ พระเยซูตรัสบางสิ่งที่มากขึ้นว่าการอัศจรรย์ต่างๆที่พระองค์ทรงกระทำนั้นแสดงให้เห็นว่า “อาณาจักรของพระเจ้าก็มาถึงพวกท่านแล้ว” การมาถึงของอาณาจักรได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และความเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกได้ปรากฏให้เห็นแล้วในพระราชกิจอันทรงอานุภาพที่ พระเยซูได้ทรงกระทำโดยพระวิญญาณของพระยาห์เวห์

 

      เมื่อชาวยิวบางคนอ้างว่าการอัศจรรย์ของพระเยซูมาจากฤทธิ์อำนาจของซาตานที่พวกเขาเรียกว่า เบเอลเซบูล (มัทธิว 12:24, 31, 32 = มาระโก 3:22, 28, 29)[109] พระเยซูทรงบอกพวกเขาว่า การกล่าวร้ายพระเยซูนั้นอภัยให้ได้ (เช่น “สิ่งดีๆจะมาจากนาซาเร็ธได้หรือ?” ยอห์น 1:46) แต่การที่ซาตานกล่าวร้ายสิ่งที่พระวิญญาณของพระเจ้าได้กระทำผ่านพระเยซูนั้นเป็นสิ่งที่อภัยให้ไม่ได้ เพราะเป็นการหมิ่นประมาทที่เลวร้ายที่สุด

      หัวข้อสำคัญเกี่ยวกับการทำอัศจรรย์ของพระเยซูนี้อยู่นอกขอบเขตเนื้อหาหนังสือของเรา มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนในหัวข้อนี้ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ พระเยซูผู้ทำการอัศจรรย์ ซึ่งเป็นการศึกษาอย่างละเอียดโดยเกรแฮม เอช ทเวล์ฟทรี[110] ที่มีรายชื่อเอกสารอ้างอิงมากมาย ผมอ้างอิงข้อสังเกตที่ สามารถเข้าใจได้ของเขามาสองข้อ (คำตัวเอนเป็นของผม)

 

... การรื้อฟื้นที่จำเป็นใดๆเกี่ยวกับพระเยซูในประวัติศาสตร์จะต้องไม่เพียงแต่รวมถึง แต่แท้จริงแล้วยังเน้นด้วยว่า พระองค์ทรงเป็นผู้กระทำการอัศจรรย์ที่ทรงอานุภาพและมีผลมากที่สุด โดยคำนึงถึงว่าในการทำอัศจรรย์ต่างๆของพระองค์นั้น พระเจ้าสถิตอยู่ด้วยฤทธานุภาพในการทรงนำเข้าสู่ขั้นแรกของการรอคอยยุคสุดท้ายของประสบการณ์การสถิตอยู่ด้วยฤทธานุภาพของพระองค์ (หน้า 358)

สิ่งที่เห็นในปัจจุบันว่าเป็นศาสนาคริสต์ อย่างน้อยที่สุดก็ในคริสตจักรแบบดั้งเดิมในประเทศตะวันตก ว่าเป็นถ้อยคำและข้อความหลักที่ต้องได้รับการยอมรับและเผยแพร่ต่อไปนั้น จะต้องถูกแทนที่ด้วยศาสนาคริสต์ที่เกี่ยวข้องและถูกครอบงำด้วยความเข้าใจในฤทธานุภาพที่เหนือธรรมชาติของพระเจ้าที่ดำเนินการเป็นพิเศษในพระเยซู และในเหล่าสาวกของพระองค์ด้วยในการทำการอัศจรรย์ (หน้า 359)

 

“เป็นใหญ่กว่า”

      เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เราคิดว่าการที่พระเยซูทรงอ้างว่า “เป็นใหญ่กว่า” บุคคลหรือสิ่งที่ระบุไว้นั้น เป็นการอ้างถึงความเป็นพระเจ้า มีตัวอย่างคำกล่าวของพระเยซูถึงตัวของพระองค์เองว่า “เราบอกท่านว่า สิ่งที่เป็นใหญ่กว่าพระวิหารก็อยู่ที่นี่” (มัทธิว 12:6) ดังนั้นการให้เหตุผลก็เป็นแบบนี้ว่า ใครเล่าจะเป็นใหญ่กว่าพระวิหารของพระเจ้าได้หรือ เว้นแต่พระเจ้าเอง?

      วิหารบนโลกเป็นสถานที่ที่มีการลบล้างบาปเกิดขึ้น แต่การเป็นวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์นั้นไม่สามารถให้การลบล้างที่แท้จริงและที่จำเป็นได้ แต่มีอีกวิหารหนึ่งให้เห็นก็คือ พระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นพระวิหารของพระเจ้า (ยอห์น 2:21)[111] ที่สามารถตอบสนองความต้องการมากมายทางจิตวิญญาณของมวลมนุษย์ได้ จดหมายถึงชาวฮีบรูอธิบายในรายละเอียดว่า ทำไมพระเยซูจึงเป็นใหญ่กว่าพระวิหารบนโลกและการเป็นปุโรหิตของพระวิหาร ทั้งพระวิหารบนโลก หรือมหาปุโรหิต หรือเลือดของวัวและแพะที่เป็นเครื่องบูชา ก็ไม่สามารถลบล้างความบาปของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง มีก็แต่เครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบของพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น ที่จะสามารถบรรลุถึงความรอด   นิรันดร์ได้ ดังนั้นจึงไม่มีความรอดในนามอื่นใดเลยท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า เว้นแต่ในพระนามของพระเยซู (กิจการ 4:12,10) ความรอดเป็นเรื่องสำคัญในคำประกาศของพระเยซูว่า “เป็นใหญ่กว่า”

      การมุ่งเน้นกับความรอดนี้จะเห็นได้อีกในบทเดียวกัน คือมัทธิว 12 ที่พระเยซูตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นใหญ่กว่าโยนาห์และซาโลมอน

 

ชาวนีนะเวห์จะยืนขึ้นในวันพิพากษากับคนในยุคนี้และกล่าวโทษพวกเขา เพราะชาวนีนะเวห์กลับใจใหม่โดยคำเทศนาของโยนาห์ และบัดนี้ผู้ที่เป็นใหญ่กว่าโยนาห์ก็อยู่ที่นี่ ราชินีแห่งแดนใต้จะลุกขึ้นวันการพิพากษาพร้อมกับคนในยุคนี้และกล่าวโทษพวกเขา เพราะพระนางมาจากสุดปลายแผ่นดินโลก เพื่อฟังสติปัญญาของโซโลมอน และบัดนี้ผู้ที่เป็นใหญ่กว่าโซโลมอนก็อยู่ที่นี่ (มัทธิว 12:41-42, ฉบับ NIV 1984, เปรียบเทียบลูกา 11: 31-32)

 

      โยนาห์ไม่ได้เป็นผู้เผยพระวจนะคนสำคัญในพระคัมภีร์เดิม เขาไม่ต้องการจะให้ชาวนีนะเวห์ซึ่งเป็นศัตรูของอิสราเอลได้กลับใจใหม่ด้วยซ้ำ แต่อยากให้พวกเขาพินาศด้วยการพิพากษาของพระยาห์เวห์ เขาทนไม่ได้ที่พระยาห์เวห์จะทรงให้อภัยพวกเขา หรือการกลับใจในที่สุดของพวกเขาซึ่งทำให้พระเจ้าทรงไว้ชีวิตพวกเขาจากการถูกทำลาย ชาวนีนะเวห์มีความสำนึกที่จะกลับใจจากคำเทศนาของผู้เผยพระวจนะน้อยผู้นี้ที่ไม่ต้องการให้พวกเขาได้รับความรอด

      กษัตริย์ซาโลมอนอธิษฐานขอสติปัญญามากกว่าความมั่งคั่งหรือชีวิตยืนยาว และพระเจ้าทรงพอพระทัยที่จะประทานสติปัญญาให้อย่างที่ไม่มีใครเทียบพระองค์ได้ (1 พงศ์กษัตริย์ 3:5-15) มีคนมากมายเดินทางมาจากแดนไกล โดยเฉพาะพระราชินีจากทางใต้พร้อมด้วยข้าราชบริพารมากมายของพระนางเพื่อฟังสติปัญญาที่ล้ำเลิศของซาโลมอน แต่ต่อมาในสมัยของพระเยซู มีบางคนไม่ยอมรับสติปัญญาของผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าซาโลมอน การที่พวกเขาไม่ยอมรับพระเยซูและถ้อยคำของพระองค์ พวกเขาก็ได้ปฏิเสธพระปัญญาที่ให้ชีวิตที่ซึมซับชีวิตและคำสอนของพระองค์ และหันไปจากทางแห่งชีวิตนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้พระเยซูจึงทรงคร่ำครวญด้วยความเจ็บปวดเหนือกรุงเยรูซาเล็ม (มัทธิว 23:37)

      ตัวอย่างของโยนาห์และซาโลมอนแสดงให้เห็นว่าคำกล่าวว่า “เป็นใหญ่กว่า” เกี่ยวข้องกับความรอด ในคำกล่าวเหล่านี้ พระเยซูไม่ได้ทรงยกระดับความเป็นใหญ่ของพระองค์เองตามที่ทรงต้องการ เพราะนั่นจะเป็นการยกย่องตนเอง แต่พระเยซูต้องเป็นใหญ่กว่ามวลมนุษย์ แม้กระทั่งไปถึงระดับของความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง เพื่อให้ความรอดของมวลมนุษย์สำเร็จผลเพราะไม่มีใครอื่นสามารถทำได้ แต่พระเยซูไม่ได้ยกย่องพระองค์เองดังคำที่ตรัสว่า “ถ้าเรายกย่องตัวเราเอง เกียรติของเราก็ไม่มีความหมาย พระบิดาของเราคือผู้​​ยกย่องเรา” (ยอห์น 8:54)

 

มีสิ่งใดที่พระเยซูไม่ได้ทรงรับจากพระเจ้าไหม?

      เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เราได้ยกระดับพระเยซูให้เป็นพระเจ้า แต่ไม่ได้ตระหนักว่าถ้าพระองค์ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ พระองค์ก็จะไม่สามารถถูกจัดได้อย่างถูกต้องว่าเป็นมนุษย์ เหมือนที่ความเป็นมนุษย์ของเราจะกันเราจากการเป็นพระเจ้าฉันใด ความเป็นพระเจ้าที่เข้าใจกันของพระเยซูก็จะกันพระองค์จากการเป็นมนุษย์ที่แท้จริงฉันนั้น

      อะไรคือคำนิยามของความเป็นมนุษย์? การนิยามมนุษย์ในแง่สรีรวิทยานั้นไม่ได้อยู่ในการพิจารณาของเรา ดังนั้นคำนิยามของเราจึงต้องครอบคลุมในแง่จิตวิญญาณ ลักษณะสำคัญของการเป็นมนุษย์จะเห็นได้จากคำพูดของเปาโลที่ว่า “สิ่งที่ท่านมีอยู่นั้นมีอะไรบ้างที่ท่านไม่ได้รับมา? และถ้าท่านได้รับสิ่งเหล่านั้นมาจริงแล้ว ทำไมจึงพูดโอ้อวดราวกับว่าท่านไม่ได้รับมา?” (1 โครินธ์ 4:7) คำภาษากรีกว่า “ได้รับมา” (lambanō) ปรากฏสามครั้งในข้อนี้

      สิ่งที่บอกลักษณะของมนุษย์ก็คือ ไม่มีอะไรเลยที่เขาไม่ได้รับจากพระเจ้า ผู้เดียวที่แตกต่างกันในข้อนี้ก็คือพระเจ้าเอง เป็นผู้ประทานทุกสิ่งที่เรามีอยู่ เป็นผู้ที่เราได้รับ “ของประทานที่ดีและเลิศทุกอย่าง” (ยากอบ 1:17)

      ในแง่นี้เราขอถามว่า พระคัมภีร์ใหม่เคยกล่าวไหมว่า พระเยซูทรงมีสิ่งที่พระองค์ไม่ได้รับมาจากพระเจ้า? พระเยซูตรัสเองว่า “พระบิดาของเราทรงมอบสิ่งสารพัดให้แก่เรา” (มัทธิว 11:27; เปรียบ เทียบยอห์น 17:7)[112] แม้แต่ชีวิตของพระองค์เองก็ได้รับจากพระบิดา (ยอห์น 5:26; 6:57)[113] สิทธิ อำนาจสูงสุดของพระองค์ทั้งในสวรรค์และแผ่นดินโลกก็เช่นกัน (มัทธิว 28:18)[114]

 

ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลในดาเนียล 7:13

      ดาเนียลบทที่ 7 เป็นที่เดียวในพระคัมภีร์ที่เรียกพระเจ้าว่า “ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล” (สามครั้ง, ข้อ 9, 13, 22) และยังเรียกพระองค์ว่า “ผู้สูงสุด” 14 ครั้งในดาเนียลที่มากกว่าหนังสือเล่มใดๆในพระคัมภีร์เว้นสดุดีที่ยาวกว่ามาก (17 ครั้ง) จากนั้นในข้อ 13 เราจะเห็นใครบางคน “เหมือนบุตรมนุษย์” ที่ปรากฏตัวต่อองค์ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล

 

ข้าพเจ้าเห็นในนิมิตเวลากลางคืน และดูเถิด มีผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์มากับหมู่เมฆแห่งฟ้าสวรรค์ และท่านมาเฝ้าผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล และอยู่ต่อ​​พระพักตร์พระองค์ (ดาเนียล 7:13 ฉบับ ESV)

 

      อะไรน่าจะเป็นจุดประสงค์ของการอธิบายให้เห็นภาพพระเจ้าว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล แต่ให้เห็นว่าบุตรมนุษย์นั้นตรงกันข้ามที่เป็นผู้มีอายุน้อยกว่ามาก? คำเรียกผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลยังหมายถึงว่า พระเจ้าทรงมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากบุตรมนุษย์ เพราะบุตรมนุษย์จะต้องตาย ไม่มีความเป็นอมตะ เป็นมนุษย์ไม่ใช่พระเจ้า ในอิสราเอลแม้จนถึงทุกวันนี้ สำนวนฮีบรูว่า “บุตรมนุษย์” จะหมายถึง “มนุษย์”

      ทำไมจึงให้ภาพของอายุที่แตกต่างระหว่างผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลกับบุตรมนุษย์ไว้อย่างสวย งาม? นี่ไม่ใช่ด้วยพระปัญญาของพระเจ้าหรอกหรือ ที่สิ่งนี้อาจค้านคำสอนเกี่ยวกับการเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์? ถ้าบุตรมนุษย์ทรงเป็นพระเจ้าเหมือนที่ทรงเป็นตามความเชื่อในตรีเอกานุภาพละก็ สิ่งที่เห็นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในดาเนียล 7:13 ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ระหว่างพระเจ้าที่อายุน้อยกับพระเจ้าผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล

      ภาพที่เห็นในดาเนียล 7:13 เป็นภาพของบุตรมนุษย์ซึ่งไม่ได้ถูกเรียกด้วยคำเรียกนี้ในที่อื่นในดาเนียล กำลังเฝ้าอยู่ต่อพระพักตร์พระผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล เมื่อดาเนียลเห็นสิ่งนี้ในสวรรค์นั้นสิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นเพราะเขาได้ภาพนี้ใน “ความฝันและนิมิต” (ข้อ 1) เนื่องจากดาเนียลเป็นผู้เผยพระวจนะคนสำคัญ นิมิตของเขาจึงเป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูพระเมสสิยาห์ผู้เป็นบุตรมนุษย์ ซึ่งในวันหนึ่งจะถูกรับขึ้นไปอยู่ต่อพระพักตร์ของพระยาห์เวห์ผู้ทรงดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล นี่เป็นคำพยากรณ์ถึงการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซู ที่จะเข้าเฝ้าอยู่ต่อพระพักตร์ของพระบิดา และประทับอยู่เบื้องพระหัตถ์ขวาของพระองค์ เหตุการณ์นี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่พระเยซูทรงทำพันธกิจอยู่ในโลกนี้ (“เรายังไม่ได้ขึ้นไปหาพระบิดาของเรา” ยอห์น 20:17) แต่ได้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้น (กิจการ 1:9-11)[115]

      นิมิตในดาเนียล 7:13 มีความคล้ายคลึงกันที่ไปไกลกว่าการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซูคริสต์โดยไม่ได้ตามลำดับวันเวลา คำว่า “มากับหมู่เมฆแห่งฟ้าสวรรค์” ถูกอ้างถึงในมัทธิว 26:64 และมาระโก 14:62 ที่พระเยซูตรัสว่า “พวกท่านจะเห็นบุตรมนุษย์ประทับอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของผู้ทรงฤทธานุภาพ และมากับหมู่เมฆแห่งฟ้าสวรรค์” (เปรียบเทียบมัทธิว 24:30; มาระโก 13:26)[116] สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูเสด็จมาครั้งที่สอง

 

      ย่างไรก็ตาม เราไม่ได้เห็นสิ่งใดในดาเนียลบทที่ 7 ที่ชี้ให้เห็นว่าบุตรมนุษย์เป็นพระเจ้า หรือเป็น “พระเจ้าองค์ที่สอง” เว้นแต่ว่าผู้อ่านจะอ่านเกินจากตัวบท ในหนังสือที่ชื่อ พระกิตติคุณของชาวยิว: เรื่องราวของพระคริสต์ของชาวยิว ของดาเนียล โบยาริน[117] เขาโต้แย้งในเรื่องหลักฐานอ้างอิงที่น่าแคลงใจว่าบุคคลที่พูดถึงในดาเนียล 7:13 ว่าเป็น “ท่านผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์” ตามที่พูดถึงนั้นคือพระเจ้าและเป็นพระเจ้าองค์ที่สอง แต่โบยารินก็ไม่ได้กล่าวถึงว่าในหนังสือเอเสเคียล ผู้เผยพระวจนะเอเสเคียล ผู้เป็นมนุษย์ที่แท้จริงก็ถูกกล่าวถึงว่าเป็น “บุตรมนุษย์” มากกว่า 90 ครั้ง ซึ่งเป็นการละไว้อย่างน่าประหลาดใจในผลงานทางวิชาการที่พูดถึง “บุตรมนุษย์” เอาไว้มาก ในหนังสือดาเนียลมีคำว่า “บุตรมนุษย์” ปรากฏสองครั้งในดาเนียล 7:13 (“มีท่านผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์”) และในดาเนียล 8:17 ที่ “บุตรมนุษย์”[118]คราวนี้กล่าวถึงดาเนียลผู้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งที่โบยารินไม่ได้กล่าวถึง

      ดาเนียล 7:13 คือหัวใจสำคัญของข้อสรุปของโบยารินว่า “บุตรมนุษย์” เป็นพระเจ้าและเป็นพระเจ้าองค์ที่สอง ข้อสรุปของเขาโดยหลักแล้วยึดจากคำกล่าวเดียวในข้อนี้ว่า บุตรมนุษย์มาเฝ้าผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลโดย “มากับหมู่เมฆแห่งฟ้าสวรรค์” ซึ่งตามความคิดโบยารินแล้ว นี่เป็นวิธีเช่นเคยที่พระเจ้าหรือบรรดาพระเป็นเจ้าทั้งหลายพาขึ้นไป ตามหลักเหตุผลของโบยารินแล้ว โยเซฟก็น่าจะเป็นฟาโรห์อีกองค์หนึ่งในอียิปต์เพราะเขาใช้ราชรถคันที่สองของฟาโรห์ (ปฐมกาล 41:43)[119]

      โบยารินกล่าวว่าความคิดเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าสององค์ (ทวิเอกานุภาพ) นั้นเป็นความคิดของชาวยิวที่ย้อนกลับไปราวเกือบสองศตวรรษก่อนพระคริสต์เมื่อหนังสือดาเนียลถูกเขียนขึ้น (161 ปีก่อน ค.ศ.) โบยารินยังกล่าวด้วยว่า ความคิดเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพมีต้นกำเนิดมาจากวิถีทางความคิดของชาวยิว!

      แต่หลังจากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ โบยารินก็ลบล้างข้อสรุปของเขาเองตามความเป็นจริง โดยบอกว่าเขาไม่ได้หมายความจริงๆว่า “บุตรมนุษย์” เป็นพระเจ้าที่ดำรงอยู่ แต่เพียงทำหน้าที่ของพระเจ้าเท่านั้น น่าจะเป็นไปได้ว่าเป็นผู้ทำการแทนหรือหรือผู้สำเร็จราชการของผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล! ข้อแม้หรือเงื่อนไขที่สำคัญนี้อยู่ในเชิงอรรถในหน้า 55! ผู้อ่านที่ไม่ได้อ่านเชิงอรรถก็จะไม่ทราบถึงข้อจำกัดของความมุ่งหมายนี้ แต่ถ้าเป็นข้อจำกัดที่มุ่งหมายไว้ มันก็ควรจะถูกเขียนไว้ในคำนำของหนังสือหรือในที่อื่นๆที่เด่นชัด มากกว่าจะเขียนเอาไว้ในเชิงอรรถที่อยู่ในส่วนหนึ่งในสามของหนังสือ

      ทั้งสองฝ่ายที่ถูกกล่าวถึงในดาเนียล 7:13 คือ “มีท่านผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์” กับ “ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล” ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายคุ้นเคยกันมาก่อนเมื่อพบกันครั้งแรก ซึ่งตรงกันข้ามกับความเข้าใจว่าทั้งสองมี “แก่นแท้เดียวกัน” (homoousios) จริงๆ หรือถ้าทั้งสองเป็นพระบิดาและพระบุตรในพระเจ้าตรีเอกภาพ บุตรมนุษย์ “ปรากฏตัวต่อพระพักตร์พระองค์” อย่างเป็นพิธีรีตอง (ฉบับ NASB) นั่นก็คือ ถูกนำมาเฝ้าต่อพระพักตร์ของผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล หรือ “ถูกนำมาปรากฏตัวต่อพระพักตร์ของพระองค์” (ฉบับ NIV) ภาพไม่ได้อยู่ที่ว่าบุตรมนุษย์มาปรากฏพระองค์เองต่อพระพักตร์พระยาห์เวห์ แต่ทรงถูกนำมาอยู่ต่อพระพักตร์พระยาห์เวห์ ภาพเหตุการณ์นี้จะดูเป็นไปได้หากบุตรมนุษย์จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริงและสมบูรณ์แบบ ที่ในเวลาแห่งชัยชนะของพระองค์นั้นทรงถูกนำเข้ามาเฝ้าต่อพระพักตร์ของพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์ ทรงเข้ามาเฝ้าต่อพระพักตร์พระองค์ด้วยความถ่อมพระทัยและด้วยการขอบพระคุณ และมาพร้อมด้วยชาวสวรรค์หมู่หนึ่ง พระบิดาทรงเป็นผู้ที่ยกย่องพระองค์ เพราะบุตรมนุษย์ไม่ได้ยกย่องตัวพระองค์เอง

      หัวใจสำคัญในข้อสรุปของโบยารินก็คือ การยืนยันว่าบุตรมนุษย์ในดาเนียลบทที่ 7 คือพระเป็นเจ้าที่เป็น “พระเป็นเจ้าองค์ที่สอง” (แต่ไม่ใช่พระเป็นเจ้าที่ดำรงอยู่) ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าที่มีอายุน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล โบยารินกล่าวว่าเนื่องจากมีการกล่าวถึง “บัลลังก์ต่างๆ” (พหูพจน์) ในดาเนียล 7:9[120] จะต้องมีบัลลังก์หนึ่งสำหรับบุตรมนุษย์และอีกบัลลังก์หนึ่งสำหรับผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล สำหรับโบยารินแล้ว นี่หมายความว่าทั้งคู่เป็นพระเจ้าหรือพระเป็นเจ้า แต่ก็มีหลายบัลลังก์ในวิวรณ์ (24 บัลลังก์ในวิวรณ์ 4:4) ดังนั้นการที่มีบัลลังก์จำนวนมากจึงไม่ได้หมายถึงว่าจะมีพระเป็นเจ้าเป็นจำนวนมาก บรรดากษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ก็ประทับบนบัลลังก์เช่นกัน

      เนื่องจากบุตรมนุษย์ได้รับราชอำนาจอันยิ่งใหญ่ในตอนท้ายของดาเนียลบทที่ 7 ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระองค์ก็มีบัลลังก์ด้วย แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์การเป็นพระเจ้าที่ดำรงอยู่ของพระองค์ ถ้าสิ่งที่โบยารินต้องการจะพูดทั้งหมดคือ บุตรมนุษย์ทำหน้าที่เป็นผู้ทำการแทนพระเจ้าละก็ ข้อสรุปของเขาก็จะถูกต้อง (ดาเนียล 7:14)[121] แต่มันห่างไกลจากข้อพิสูจน์ของการเป็น “พระเป็นเจ้าพระองค์ที่สอง” แล้วนับประสาอะไรกับข้อพิสูจน์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพ

      การที่บุตรมนุษย์ผู้นี้เป็นมนุษย์อย่างแท้จริงและไม่ใช่พระเจ้านั้น ได้รับการยืนยันจากความคล้ายคลึงกันอย่างน่าที่งระหว่างการที่พระองค์ได้รับ (จากผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล) “ราชอำนาจ ศักดิ์ศรี กับราชอาณาจักรที่นิรันดร์” (ดาเนียล 7:14) และความจริงที่ “บรรดาธรรมิกชนขององค์ผู้สูงสุด” ก็ได้รับการยกย่องอย่างเดียวกันให้ “ครอบครองราชอาณาจักรตลอดไปเป็นนิตย์” (ดาเนียล 7:18, 22, 27) อันที่จริงข้อ 27 พูดถึงบรรดาผู้บริสุทธิ์ด้วยคำศัพท์สูงคล้ายศัพท์ที่ใช้กับพระเจ้า

 

และราชอาณาจักรกับราชอำนาจ และความยิ่งใหญ่แห่งบรรดาราชอาณาจักรภายใต้ฟ้าสวรรค์ทั้งสิ้น จะ​​มอบให้แก่บรรดาธรรมิกชนผู้เป็นประชากร​​ขององค์ผู้สูงสุด ราชอาณาจักรของพวกเขาจะเป็นราช อาณาจักรนิรันดร์ และอาณาจักรทั้งหลายจะปรนนิบัติและเชื่อฟังพวกเขา (ดาเนียล 7:27 ฉบับ ESV)

 

      ด้วยเหตุนี้ศักดิ์ศรี ราชอำนาจ และราชอาณาจักรที่แทบจะเหมือนกันเลยจึงได้มอบให้แก่บุตรมนุษย์และบรรดาธรรมิกชน ที่สำคัญที่สุดก็คือ คำว่า “มอบให้” ได้ใช้เหมือนกันกับทั้งบุตรมนุษย์และบรรดาธรรมิกชน บุตรมนุษย์ได้รับราชอำนาจ ศักดิ์ศรี และราชอาณาจักรอย่างไร (ดาเนียล 7:14) บรรดาธรรมิกชนก็ได้รับ “ราชอาณาจักรกับราชอำนาจ และความยิ่งใหญ่แห่งบรรดาราชอาณาจักรภายใต้ฟ้าสวรรค์ทั้งสิ้น” อย่างนั้นเช่นกัน (ข้อ 27) สิ่งที่เหมือนกันนี้ ทำให้ความเชื่อในตรีเอกานุภาพอ่อนลงไปเลย ไม่เพียงเพราะว่าจะทำให้บุตรมนุษย์เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้กับพระคริสต์ของความเชื่อในตรีเอกานุภาพในฐานะที่เป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ที่ไม่สามารถเป็นผู้ “รับมอบ” สิ่งที่พระองค์ได้ทรงครอบครองอยู่แล้วตั้งแต่นิรันดร์กาลมาแล้วนั้นได้

      เนื่องจากทั้งบุตรมนุษย์และบรรดาธรรมิกชน ได้รับราชอำนาจ ศักดิ์ศรี และราชอาณาจักร มันจึงชัดเจนว่าพระองค์ทรงเป็นศีรษะและเป็นตัวแทนของบรรดาธรรมิกชน ในทำนองเดียวกันกับใน   พระคัมภีร์ใหม่ พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของพระกายซึ่งก็คือคริสตจักร ซึ่งประกอบด้วยธรรมิกชนทั้งหลาย

 

ลักษณะ “การหมิ่นประมาท” ของพระเยซู

      บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพโต้แย้งว่า ที่จริงพระเยซูได้ทรงอ้างว่าเป็นพระเจ้าเพราะสภาแซนเฮดรินซึ่งเป็นสภาสูงของยิวตัดสินโทษพระองค์ถึงตายในข้อหาหมิ่นประมาท โดยเฉพาะการหมิ่นประมาทที่อ้างว่าเป็นพระเจ้า เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนในเรื่องราวการไต่สวนพระเยซูตามที่แจ้งไว้ในพระกิตติคุณ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่รู้ความหมายทั้งหมดของคำว่า “หมิ่นประมาท” เพราะพวกเขาจำกัดวงความหมายไว้ที่การอ้างว่าเป็นพระเจ้า เราสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆในพระคัมภีร์ใหม่ว่าคำ “หมิ่นประมาท” ในภาษากรีกแทบจะไม่เคยถูกใช้ในความหมายที่อ้างว่าเป็นพระเจ้า แต่มักจะหมายถึงการจาบจ้วงบุคคลมากกว่า หลักฐานในเรื่องนี้มีมากมายและสรุปไว้ในเชิงอรรถนี้[122]

      เรื่องราวการไต่สวนพระเยซูในพระกิตติคุณนั้น พระเยซูไม่เคยอ้างตัวว่าเป็นพระเจ้า หรือแม้สภาสูงก็ไม่เคยกล่าวหาพระองค์ว่าทรงกล่าวอ้างเช่นนั้น นี่คือเรื่องราวในมาระโกบทที่ 14

 

60แล้วมหาปุโรหิตจึงลุกขึ้นยืนท่ามกลางที่ชุมนุมและถามพระเยซูว่า “ท่านไม่แก้ตัว​​หรือ? คนพวกนี้เป็นพยานปรักปรำอะไรท่านหรือ?61แต่พระองค์ทรงนิ่งอยู่ไม่ได้ตอบอะไร มหาปุโรหิตจึงถามพระองค์อีก​​ว่า “ท่านเป็นพระคริสต์พระบุตรขององค์ผู้ทรงเป็นที่สรรเสริญหรือ?62และพระเยซูตรัสว่า “เราเป็นผู้นั้น และพวกท่าน​​จะเห็นบุตรมนุษย์ประทับอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของผู้ทรงฤทธิ์ และมาพร้อมกับหมู่เมฆแห่งฟ้าสวรรค์63มหาปุโรหิตก็ฉีกเสื้อของตนแล้วกล่าวว่า “เรายังต้องการพยานอะไรอีกหรือ? 64พวกท่าน​​ก็ได้ยินคำหมิ่นประมาทของเขาแล้ว พวกท่านคิดเห็นอย่างไร?” และพวกเขาทุกคนเห็น​​ว่าพระองค์ควรรับโทษถึงตาย 65แล้วบางคนก็เริ่มถ่มน้ำลายรดพระองค์และปิดพระพักตร์พระองค์ ตีพระองค์ แล้วพูดกับพระองค์ว่า “ทำนายสิ” (มาระโก 14:60-65 ฉบับ ESV)

 

      ในข้อ 62 พระเยซูทรงยอมรับกับมหาปุโรหิตว่า พระองค์คือพระคริสต์ ผู้ประทับอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของ “ผู้ทรงฤทธิ์” (นามนัยของพระเจ้า) พระองค์จึงประกาศตัวว่าเป็น “บุตรมนุษย์” ที่พยากรณ์ไว้ในดาเนียล 7:13

      แต่ในเรื่องราวของการไต่สวนพระเยซูที่จบลงด้วยการตัดสินโทษถึงตายนั้น มีตรงไหนหรือที่พระเยซูทรงอ้างตัวว่าเป็นพระเจ้า และตรงไหนหรือที่พระองค์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กล่าวอ้างเช่นนั้น? เนื่องจากไม่พบการกล่าวอ้างดังกล่าวในเรื่องราวนั้น แล้วอะไรที่เป็นลักษณะของการหมิ่นประมาทของพระเยซูตามที่ผู้กล่าวหาพระองค์เข้าใจ?

      ถ้าเราหยุดการอ่านที่เกินจากตัวบท เราก็จะเห็นว่าพระองค์ถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาทในทันทีที่พระองค์ยอมรับว่าทรงเป็นพระคริสต์หรือพระเมสสิยาห์ (ข้อ 61-64) การยอมรับของพระองค์ที่ ประกอบกับคำอธิบายของพระองค์เองว่าเป็นบุตรมนุษย์ที่ประทับอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของผู้ทรงฤทธิ์และมาพร้อมกับหมู่เมฆแห่งฟ้าสวรรค์นั้น เข้าใจได้ว่าเป็นการอ้างถึงการเป็นกษัตริย์ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ ซึ่งก็คือพระเมสสิยาห์ การที่พระองค์ทรงอ้างว่าเป็นพระเมสสิยาห์ เป็นเหตุผลโดยตรงที่พระองค์ทรงถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูเหมือนเราจะลืมไปว่าพระองค์ทรงกำลังตอบคำถามที่ว่า “ท่านเป็นพระคริสต์ (พระเมสสิยาห์) พระบุตรขององค์ผู้ทรงเป็นที่สรรเสริญหรือ?” พระองค์ทรงตอบยืนยันโดยประกาศว่าพระองค์เป็นพระคริสต์ กษัตริย์ของอิสราเอลและเป็นผู้ปกครองโลกที่พระยาห์เวห์ได้ทรงแต่งตั้ง ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าที่กล่าวไว้ในสดุดีบทที่ 2 สำหรับมหาปุโรหิตและสภาแซนเฮดรินแล้วนี่เป็นการกล่าวอ้างที่อุกอาจ ซึ่งถ้าเป็นความจริงละก็ จะทำให้พวกเขาต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์!

      เรื่องราวของการไต่สวนพระเยซูในพระกิตติคุณสามเล่มแรกมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะมีมุมมองที่เหมือนกันเกี่ยวกับพระเยซูว่าเป็นบุตรมนุษย์ ในพระกิตติคุณทั้งสามเล่มนี้ ประเด็นที่พระเยซูตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็นบุตรมนุษย์จากดาเนียล 7:13 นี่แหละทำให้พระองค์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท (มัทธิว 26:64; มาระโก 14:62; ลูกา 22:69)[123] พระเยซูไม่เคยอ้างความเท่าเทียมกันกับพระเจ้า ที่จริงแล้วคำว่า “หมิ่นประมาท” แทบไม่เคยมีความหมายนี้ในพระคัมภีร์ (ดูเชิงอรรถก่อนหน้านี้)

      สุดท้ายแล้ว อะไรคือความสำคัญของคำพูดสบประมาทที่มุ่งร้ายว่า “จงทำนายสิ!” ในตอนท้ายของการไต่สวนพระองค์? สิ่งนี้ถูกบันทึกไว้ในพระกิตติคุณทั้งสามเล่มแรก (มัทธิว 26:68; มาระโก 14:65; ลูกา 22:64)[124] และมีความเชื่อมโยงที่สำคัญกับพระคัมภีร์เดิม ชาวยิวเชื่อว่าการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ที่จะมาถึงจะเป็นผู้เผยพระวจนะที่โมเสสได้พยากรณ์เอาไว้ว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน จะโปรดให้ผู้เผยพระวจนะเช่นเดียวกับข้าพเจ้านี้ เกิดขึ้นในหมู่พวกท่านจากพี่น้องของท่าน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15) นั่นก็คือ ผู้เผยพระวจนะเหมือนอย่างโมเสสที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่พระเจ้า ผู้เผยพระวจนะนี้ ชาวยิวได้กล่าวถึงในหลายที่ในพระกิตติคุณยอห์น

 

ยอห์น 1:21, 25 “ท่านเป็นผู้เผยพระวจนะคนนั้นหรือ?ยอห์น (ผู้ให้บัพติศมา) ตอบว่า “ไม่ใช่”... “ถ้าท่านไม่ใช่พระคริสต์ หรือเอลียาห์ หรือผู้เผยพระวจนะคนนั้นแล้วทำไมท่านถึงให้บัพติศมา?

ยอห์น 6:14 เมื่อคนทั้งหลายเห็นหมายสำคัญที่พระองค์ทรงทำ พวกเขาจึงพูดกันว่า “แท้จริงท่านผู้นี้เป็นผู้เผยพระวจนะคนนั้นที่จะมาในโลก”

ยอห์น 7:40 เมื่อพวกเขาได้ยินดังนั้น บางคนก็พูดว่า “แท้จริงท่านผู้นี้เป็นผู้เผยพระวจนะ” (เปรียบ เทียบยอห์น 4:19 และ 9:17)

 

คำกล่าวหาจากฝูงชน: พระเยซูทรงตั้งตัวเองเป็นพระเจ้าหรือไม่?

      ที่บันทึกไว้ในพระกิตติคุณยอห์นนั้นเป็นข้อกล่าวหาต่อหน้าสาธารณชนที่พุ่งมาที่พระเยซูคริสต์เรื่องหมิ่นประมาท (ยอห์น 10:33) ว่า “เราจะเอาหินขว้างท่านไม่ใช่เพราะการดีใดๆ แต่เป็นเพราะการพูดหมิ่นประมาท เพราะท่านเป็นเพียงมนุษย์แต่ตั้งตัวเป็นพระเจ้า” นี่เป็นที่เดียวในพระกิตติคุณยอห์นที่พระเยซูทรงถูกฝูงชนกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท ข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดขึ้น “บนถนน” และไม่ใช่ในศาล

 

ยอห์น 10:30-38 30เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” 31พวกยิวจึงหยิบก้อนหินขึ้นมาอีก หมายจะขว้างพระองค์32พระเยซูตรัสตอบพวกเขาว่า “เราได้แสดงให้ท่านเห็นการดีมากมายจากพระบิดา พวกท่าน​​จะขว้างเราให้ตายเพราะการดีข้อไหนหรือ?33พวกยิว​​ก็ตอบพระองค์ว่า “เราจะเอาหินขว้างท่านไม่ใช่เพราะการดีใดๆ แต่เพราะการพูดหมิ่นประมาท เพราะท่านเป็นเพียงมนุษย์แต่ตั้งตัวเป็นพระเจ้า34พระเยซูจึงตรัสตอบพวกเขาว่า “ในบทบัญญัติของท่านมีเขียนไว้ไม่ใช่หรือว่า ‘เรากล่าวว่าพวกท่านเป็นพระเจ้า[125]กันทุกคน?35 ถ้าคนเหล่านั้นที่รับพระวจนะของพระเจ้าถูกเรียกว่า​​พระเจ้า และจะฝ่าฝืนพระคัมภีร์ไม่ได้ 36แล้วพวกท่านจะกล่าวหาผู้ที่พระบิดาได้ทรงตั้งไว้เป็นพิเศษและทรงใช้เข้ามาในโลกว่า ‘ท่านกำลังกล่าวคำหมิ่นประมาท’ เพราะเรากล่าวว่า ‘เราเป็นบุตรของพระเจ้า’ อย่างนั้นหรือ? 37ถ้าเราไม่ได้ทำพระราชกิจของพระบิดาของเรา พวกท่านก็อย่าเชื่อเราเลย 38 แต่ถ้าเราทำพระราชกิจเหล่านั้น แม้ว่าท่านไม่ได้เชื่อ​​ในเรา ก็จงเชื่อในพระราชกิจเหล่านั้นเถิด เพื่อท่านจะได้รู้และเข้าใจว่าพระบิดาทรงอยู่ในเรา และเราอยู่ในพระบิดา” (ฉบับ ESV)

 

      เพื่อช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์นี้ ให้เราสังเกตลักษณะที่มีคนชุมนุมอยู่มาก ฝูงชนประกอบด้วย “ชาวยิว” (พหูพจน์, ข้อ 31) ที่ชุมนุมกันอยู่ตรงจุดที่สำคัญที่สุดในกรุงเยรูซาเล็ม (พระวิหาร, ข้อ 23) ในช่วงเทศกาลที่สำคัญของชาวยิว (ฉลองพระวิหาร, ข้อ 22) ด้วยจำนวนฝูงชนที่ชุมนุมกันอยู่นี้ก็น่าจะมีคุณสมบัติมากพอที่จะตั้งข้อกล่าวหาได้เพราะมีพยานมากกว่าสองหรือสามปาก ถ้าพระเยซูทรงอ้างว่าเป็นพระเจ้าต่อหน้าฝูงชนเหล่านี้จริงๆ ก็จะมีพยานเกินสองหรือสามปากที่นับได้หลายสิบคนอย่างสบายๆ ที่สามารถยืนยันเรื่องนี้ตามความจริงในศาลได้

      ที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าพระเยซูกล่าวอ้างต่อหน้าพวกเขาจริงๆว่าทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ก็คงเห็นพ้องกับพวกเขาตามจริง ด้วยความยินดี และกระตือรือร้น ในเมื่อนี่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการจะบอกกับพวกเขาถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ตามที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพเข้าใจ แต่พระเยซูไม่เคยถูกกล่าวหาว่าพระองค์ทรงอ้างตัวเป็นพระเจ้าในการไต่สวนพระองค์!

      เหตุการณ์ที่มีฝูงชนรวมตัวกันบนท้องถนน การมุ่งร้ายอย่างรุนแรงต่อพระเยซู (พวกเขาพร้อมจะเอาหินขว้างพระองค์, ข้อ 31) นั้นหมายความว่า เป็นเรื่องง่ายที่สภาแซนเฮดรินจะรวบรวมพยานที่มุ่งร้าย เพื่อจะกล่าวหาว่าพระเยซูทรงเจาะจงหมิ่นประมาทโดยอ้างตัวว่าเป็นพระเจ้า แต่เรื่องนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นแม้ว่าในการไต่สวนนี้จะมีการจัดเตรียมพยานเท็จไว้อย่างรอบคอบหลายคน (มัทธิว 26:60)[126] ความจริงแล้วไม่จำเป็นจะต้องมีพยานเท็จ ถ้าหากพระเยซูทรงบอกกับฝูงชนบนท้องถนนจริงๆว่าพระองค์คือพระเจ้า ในกรณีเช่นนี้ พระองค์ก็น่าจะได้ประกาศอย่างเปิดเผยไปเลยต่อหน้าสภาแซนเฮดรินว่าพระองค์เป็นพระเจ้า!

          ทำไมพระเยซูจึงไม่เคยถูกกล่าวหาว่าทรงอ้างตัวเป็นพระเจ้าเมื่อมีการไต่สวนพระองค์? หรือนี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พยานไม่เห็นด้วย หรือเป็นเพราะคำตอบของพระเยซูในเหตุการณ์ที่เกิดกับฝูงชนนั้นน่าเชื่อมากจนไม่สามารถจะตั้งข้อกล่าวหาพระองค์ได้? อันที่จริง พระเยซูทรงปฏิเสธความเท่าเทียมกับพระบิดาอย่างชัดเจนเมื่อพระองค์ตรัสกับฝูงชนในโอกาสอื่นว่า “เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า พระบุตรจะทำสิ่งใดตามใจไม่ได้ นอกเสียจากที่ได้เห็นพระบิดาทำ” (ยอห์น 5:19)

      สุดท้ายแล้วก็ไม่มีข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการที่จะตัดสินพระองค์ว่าทรงอ้างตัวเป็นพระเจ้า แต่น่าแปลกทีเดียวที่บรรดาผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็เห็นด้วยกับกลุ่มผู้กล่าวหา ว่าพระเยซูได้ทรงประกาศเช่นนั้นจริงๆ และเพราะฉะนั้นจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามบทบัญญัติของชาวยิว! และนี่ทั้งๆที่มีข้อเท็จจริงว่ามหาปุโรหิตและสภาแซนเฮดรินก็ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาเช่นนั้นกับพระองค์!

 

บรรพบุรุษของศาสนจักรบางคนสอนว่า การยกพระคริสต์เป็นพระเจ้า มีจุดประสงค์ในการยกมนุษย์เป็นพระเจ้า

      สำหรับผู้เชื่อในทวิเอกานุภาพและผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนในสมัยแรกๆ รวมทั้งบรรพชนผู้มีความเชื่อของศาสนจักรบางคนที่รู้จักกันดีนั้น การยกพระคริสต์เป็นพระเจ้ามีจุดประสงค์ในการยกบรรดาผู้เชื่อทั้งหลายขึ้นเป็นพระเจ้าทั้งหลาย ต่อไปนี้คือบางตัวอย่าง

 

 

      ทั้งหมดนี้อ้างอิงมาจากบทความ “การทำให้มีลักษณะของพระเจ้า (คริสเตียน)” ในวิกิพีเดียเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2013 ผมขอยืนยันว่าคำอ้างอิงเหล่านี้อ้างอิงถูกต้องแบบคำต่อคำ และไม่ได้ถูกดึงออกจากบริบท โดยค้นหาข้อมูลจากหนังสือชุดบรรพชนก่อนการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย (10 เล่ม) และบรรพชนช่วงการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซียและหลังการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย (28 เล่ม)[127]

     

 

เราสามารถสรุปอะไรได้จากคำกล่าวที่เข้าใจยากเหล่านี้? มีสามสิ่งที่เราเรียนรู้ได้ดังนี้

      ประการแรก คำกล่าวเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่คนต่างชาติชอบที่จะยกมนุษย์และมนุษย์ที่สุดยอดอย่างพระเยซูคริสต์ขึ้นเป็นพระเจ้า ถึงแม้ว่าบรรดาบรรพชนของคริสตจักรที่เราอ้างถึง (ออกัสติน, อธาเนเซียส, จัสติน, ไอเรเนียส,คลเมนท์)[128]ไม่ได้หมายความอย่างที่พวกเขาดูเหมือนจะหมายถึง ความจริงที่ว่าคำกล่าวดังกล่าวอาจทำให้ไม่มีข้อโต้แย้งในสมัยของพวกเขา บ่งชี้ให้     เห็นการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นโดยทั่วไปแม้แต่ภายในคริสตจักร กับภาษาที่ยกมนุษย์ขึ้นเป็นพระเจ้า ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือกับพระคริสต์

      ประการที่สอง แม้ว่าบรรดาบรรพชนของคริสตจักรเหล่านี้ไม่ได้ตั้งใจจะยกมนุษย์ขึ้นเป็นพระเจ้าในคำกล่าวของพวกเขา (สิ่งที่พวกเขาหมายถึงเรื่องแนวคิดของการทำให้มีลักษณะของพระเจ้าก็คือ การที่มนุษย์มีส่วนร่วมพระลักษณะของพระเจ้าในกระบวนการของการได้รับความรอด) ความจริงก็ยังคงมีอยู่ว่า คำกล่าวของพวกเขากล่าวถึงการยกมนุษย์ขึ้นเป็นพระเจ้าตรงตามคำ อันที่จริงภาษาในการยกขึ้นเป็นพระเจ้าที่พวกเขาใช้นั้น จะเบากว่าภาษาที่หลายคนใช้ยกพระเยซูขึ้นเป็นพระเจ้า

      ประการที่สาม แม้ว่าบรรดาบรรพชนของคริสตจักรเหล่านี้ไม่ได้ตั้งใจจะยกมนุษย์ขึ้นเป็นพระเจ้า แต่ความจริงที่พวกเขาได้ใช้ภาษาในการยกขึ้นเป็นพระเจ้านี้ จะช่วยลดการตีความยอห์น 10:33-36 ตามแบบฉบับของตรีเอกานุภาพ (เหตุการณ์การชุมนุมของฝูงชนที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้) ซึ่งผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนตีความ (อย่างไม่ถูกต้อง) ว่าพระเยซูทรงถือว่าพระองค์เองเท่าเทียมกับพระเจ้า

 

พวกยิวก็​​ตอบพระองค์ว่า “เราจะเอาหินขว้างท่านไม่ใช่เพราะการดีใดๆ แต่เป็นเพราะการพูดหมิ่นประมาท เพราะท่านเป็นเพียงมนุษย์แต่ตั้งตัวเป็นพระเจ้า” พระเยซูจึงตรัสตอบพวกเขาว่า “ในบทบัญญัติของท่านมีเขียนไว้ไม่ใช่หรือว่า ‘เรากล่าวว่าพวกท่านเป็นพระเจ้ากันทุกคน?[129] [สดุดี 82:6] ถ้าคนเหล่านั้นที่รับพระวจนะของพระเจ้าถูกเรียกว่า​​พระเจ้าและจะฝ่าฝืนพระคัมภีร์ไม่ได้ แล้วพวกท่านจะกล่าวหาผู้ที่พระบิดาได้ทรงตั้งไว้เป็นพิเศษและทรงใช้เข้ามาในโลกว่า ‘ท่านกำลังกล่าวคำหมิ่นประมาท’ เพราะเรากล่าวว่า ‘เราเป็นบุตรของพระเจ้า’ อย่างนั้นหรือ?” (ยอห์น 10:33-36, ฉบับ ESV)

 

      จอห์น แมคอาร์เธอร์ ผู้ที่เชื่อในตรีเอกานุภาพได้พูดถึงพระคัมภีร์ตอนนี้ว่า

 

ข้อโต้แย้งของพระเยซูก็คือ [สดุดี 82:6] ที่พิสูจน์ว่าคำว่า “พระเจ้า” สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องสมควรในการอ้างถึงคนอื่นๆที่นอกเหนือจากพระเจ้าเอง การให้เหตุผลของพระองค์ก็คือ ถ้ามีคนอื่นๆที่ พระเจ้าทรงสามารถกล่าวได้ว่าเป็น “พระเจ้า” หรือ “บรรดาบุตรของผู้สูงสุด” แล้วเหตุใดชาวยิวจึงควรคัดค้านคำตรัสของพระเยซูที่พระองค์ทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” (ข้อ 36) ล่ะ? (พระคัมภีร์ฉบับศึกษาของแมคอาร์เธอร์, หน้า 1571, เกี่ยวกับยอห์น 10:34-36)[130]


[1] เฉลยธรรมบัญญัติ 33:27 “พระเจ้าผู้ดำรงเป็นนิตย์เป็นที่อาศัยของท่าน และพระกรนิรันดร์รองรับท่านอยู่”

[2] สดุดี 90:2 “ก่อนที่ภูเขาทั้งหลายเกิดขึ้นมา ก่อนที่พระองค์ทรงให้กำเนิดแผ่นดินโลกและพิภพ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าตั้งแต่นิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล”

[3] ฮีบรู 1:12 พระองค์จะทรงม้วนสิ่งเหล่านี้เหมือนม้วนผ้าคลุม และสิ่งเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยน เหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่พระองค์เองยังทรงเหมือนเดิม และปีเดือนของพระองค์จะไม่มีวันสิ้นสุด”

[4] มาลาคี 3:6 “เราคือพระยาห์เวห์ผู้ไม่ผันแปร โอ บุตรยาโคบเอ๋ย เจ้าทั้งหลายจึงไม่ถูกทำลายหมด”

[5] 1 ซามูเอล 15:29 องค์พระสิริแห่งอิสราเอลจะไม่ทรงมุสาหรือเปลี่ยนพระทัย เพราะว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นมนุษย์ที่เปลี่ยนใจ”

[6] กาลาเทีย 4:4 “แต่เมื่อถึงกำหนดแล้ว พระเจ้าก็ทรงใช้พระบุตรของพระองค์มาประสูติจากสตรีเพศและทรงถือกำเนิดใต้บทบัญญัติ

[7] 1 เปโตร 2:4จงมาหาพระองค์ พระศิลาที่มีชีวิต ที่แม้ถูกมนุษย์ปฏิเสธแล้ว แต่กลับเป็นศิลาที่ทรงเลือกสรร และล้ำค่าในสายพระเนตรพระเจ้า”

[8] 1 ทิโมธี 2:5 “เพราะมีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและมีคนกลางผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[9] ฮีบรู 7:25ฉะนั้น พระองค์จึงทรงสามารถช่วยบรรดาผู้ที่มาถึงพระเจ้าโดยทางพระองค์ได้อย่างสมบูรณ์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[10] ปฐมกาล 2:7 “พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์... ระบายลมปราณเข้าทางจมูกของเขา มนุษย์จึงกลายเป็นผู้มีชีวิตอยู่”

[11] Nestorius

[12] ไม่มีความชัดเจนจากประวัติศาสตร์เกี่ยวกับข้อเชื่อว่า เนสโตเรียสซึ่งเป็นหัวหน้าบาทหลวงแห่งคอนสแตนติโนเปิลได้สอนไว้จริงๆหรือไม่ เพราะงานเขียนส่วนใหญ่ของเขาได้สูญหายไป และสิ่งที่เรารู้จากคำสอนส่วนใหญ่ของเขานั้นมาจากศัตรูของเขา

[13] โรม 5:18-19 “ฉะนั้นการลงโทษได้มาถึงทุกคนเพราะการละเมิดครั้งเดียวอย่างไร การกระทำอันชอบธรรมครั้งเดียว ก็นำความชอบธรรมและชีวิตมาถึงทุกคนอย่างนั้น เพราะว่าคนจำนวนมากเป็นคนบาป เพราะคนคนเดียวที่ไม่เชื่อฟังอย่างไร คนจำนวนมากก็เป็นคนชอบธรรม เพราะพระองค์ผู้เดียวที่ได้ทรงเชื่อฟังอย่างนั้น”

[14] มาระโก 16:19 หลังจากพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสั่งพวกเขาแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นสู่ฟ้าสวรรค์ ประทับที่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า

[15] ลูกา 22:19 พระองค์ทรงหยิบขนมปัง เมื่อขอบพระคุณแล้วก็ทรงหักส่งให้พวกเขาตรัสว่า “นี่เป็นกายของเรา [ซึ่งให้ไว้สำหรับท่านทั้งหลาย จงทำอย่างนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเรา]”

[16] 2 โครินธ์ 5:19 “คือพระเจ้าผู้สถิตในองค์พระคริสต์ทรงให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์เอง มิได้ทรงถือโทษในการละเมิดของเขา และทรงมอบพระวจนะแห่งการคืนดีกันนั้นไว้กับเรา” (ฉบับไทยคิงเจมส์)

[17] 1 โครินธ์ 1:2เรียน คริสตจักรของพระเจ้า ที่เมืองโครินธ์ ผู้ได้รับการทรงชำระให้บริสุทธิ์ในพระเยซูคริสต์”

[18] โคโลสี 2:9 “เพราะในพระคริสต์ พระลักษณะทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์ในพระกายของพระองค์” (ฉบับอมตธรรม)

[19] 2 โครินธ์ 5:18สิ่งทั้งหมดนี้เกิดจากพระเจ้า ผู้ทรงให้เราคืนดีกับพระองค์โดยทางพระเยซูคริสต์

[20] 1 เปโตร 3:18 “คือพระองค์ผู้ชอบธรรมเพื่อผู้ไม่ชอบธรรม เพื่อจะนำพวกท่านไปถึงพระเจ้า ฝ่ายกายพระองค์จึงสิ้นพระชนม์ แต่ฝ่ายจิตวิญญาณทรงคืนพระชนม์

[21] ลูกา 9:20 พระองค์จึงตรัสถามเขาว่า “แล้วพวกท่านเองคิดว่าเราเป็นใคร?เปโตรทูลตอบว่า “เป็นพระคริสต์ของพระเจ้า”

[22] กิจการ 20:28 ทรงตั้งพวกท่านไว้ให้เป็นผู้ดูแล และให้เลี้ยงดูคริสตจักรของพระเจ้า ที่พระองค์ทรงได้มาด้วยพระโลหิตของพระบุตรของพระองค์”

[23] ฟีลิปปี 3.21พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงร่างกายอันต่ำต้อยของเรา ให้เหมือนพระกายของพระองค์ที่เต็มด้วยพระรัศมี ตามพลังอำนาจที่ทำให้พระองค์สามารถให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของพระองค์

[24] 1 ทิโมธี 2:5 “เพราะมีพระเจ้าเพียงองค์เดียวและมีคนกลางผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นมนุษย์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[25] In Oxford Dic­tionary; as inthe immor­tal Shake­speare

[26] ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “พระองค์เพียงผู้เดียวที่เป็นองค์อมตะ” (ผู้แปล)

[27] Jürgen Moltmann; The Crucified God

[28] Tom Harpur's The Pagan Christ

[29] โลกของชาวกรีกในสมัยการสังคายนาแห่งไนเซียนั้นคุ้นกับบรรดาเทพเจ้าที่กล่าวกันว่าได้ตายและกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ เช่น เทพเจ้าแอททิส (ต้นกำเนิดจากกรีก), เทพเจ้าไดโอนีซุส (กรีก), เทพเจ้าอโดนิส (กรีกกับตะวันออกใกล้โบราณ), เทพเจ้าโอซิริส (อียิปต์), เทพเจ้ารา (อียิปต์), เทพเจ้าทัมมุส (ซูเมอร์กับบาบิโลน), และเทพเจ้าซัลโมซิส (กรีก) ดูบทความวิกิพีเดียที่เกี่ยวข้องภายใต้ชื่อเหล่านี้

[30] เรื่องตำนานเทพเจ้าของกรีก วิกิพีเดียอ้างถึงหนังสือศาสนากับตำนานเทพเจ้าของชาวกรีกของเอช ดับบลิว สโตลล์ว่า “บรรดาพระเจ้าของกรีกโบราณมีความสามารถที่ยอดเยี่ยมมาก ที่สำคัญมากที่สุดก็คือบรรดาพระเจ้าจะไม่ได้รับผลกระทบจากความเจ็บป่วยและจะบาดเจ็บได้เฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างมาก ชาวกรีกถือว่าความเป็นอมตะเป็นลักษณะที่โดดเด่นของบรรดาพระของพวกเขา”

[31] สำหรับงานเขียนทางวิชาการเกี่ยวกับบรรดาพระเจ้าที่ตายและเป็นขึ้นอีก จะดูได้จากหนังสือของที เอ็น ดี เม็ตทิงเจอร์ ที่ชื่อ ปริศนาของการเป็นขึ้นจากความตาย: บรรดาพระเจ้าที่ตายและเป็นขึ้นอีกในแถบตะวันออกไกลสมัยโบราณ

[32] Gaia (goddess); Eurynome

[33] 1 เปโตร 1:20 “พระคริสต์ทรงถูกกำหนดไว้ก่อนการสร้างโลก แต่ทรงปรากฏพระองค์ในวาระสุดท้ายนี้เพื่อพวกท่าน”

[34] Holman Illustrated Bible Dictionary

[35] 1 โครินธ์ 15:5-6 พระองค์ทรงปรากฏต่อเคฟาส แล้วต่ออัครทูตสิบสองคน ต่อจากนั้น พระองค์ทรงปรากฏต่อพี่น้องกว่าห้าร้อยคนในเวลาเดียวกัน ที่ส่วนมากยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่บ้างก็ล่วงหลับไปแล้ว

[36] ฮีบรู 2:14 “บุตรทั้งหลายมีเลือดและเนื้อเช่นกันอย่างไร พระองค์ก็ทรงมีส่วนเช่นนั้นด้วยอย่างนั้น เพื่อโดยทางความตายนั้น พระองค์จะทรงทำลายมารผู้มีอำนาจแห่งความตาย”

[37] 1 ทิโมธี 1:17 “ขอพระเกียรติและพระสิริมีแด่จอมราชันองค์นิรันดร์ผู้ทรงอมตะและเราไม่อาจมองเห็นได้ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแต่ผู้เดียวนั้นตลอดกาลสืบๆไปเป็นนิตย์ อาเมน” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[38] 2 โครินธ์ 4:6 “เพราะว่าพระเจ้าผู้ตรัสว่าให้ความสว่างส่องออกมาจากความมืด ทรงส่องสว่างเข้ามาในใจของเรา เพื่อให้เรามีความสว่างแห่งความรู้ถึงพระสิริของพระเจ้า ที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระคริสต์

[39] วิวรณ์ 20:6 “ใครที่มีส่วนในการเป็นขึ้นจากตายครั้งแรกก็เป็นสุขและบริสุทธิ์ ความตายครั้งที่สองจะไม่มีอำนาจเหนือเขาทั้งหลาย”

[40] 1 โครินธ์ 15:44สิ่งที่ถูกหว่านลงนั้นเป็นกายเนื้อหนัง สิ่งที่เป็นขึ้นมานั้นเป็นกายวิญญาณ ถ้ามีกายเนื้อหนัง กายวิญญาณก็มีด้วย”

[41] ฟีลิปปี 3:21 “พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงร่างกายอันต่ำต้อยของเรา ให้เหมือนพระกายของพระองค์ที่เต็มด้วยพระรัศมี

[42] Yeladim gam ben Adam

[43] Grammar of Modern Hebrew; Lewis Glinert, Cambridge University Press, 1989, p.390

[44] Ben Adam 'Son of Adam'

[45] Common English Bible

[46] ฉบับภาษาไทยแปลว่า “บุตรมนุษย์” (“ถ้าใครอับอายเพราะเราและถ้อยคำของเรา บุตรมนุษย์ก็จะอับอายเพราะคนนั้น”) ผู้แปล

[47] 1 โครินธ์ 15:47 “มนุษย์คนแรกนั้นมาจากดินและเป็นมนุษย์ดิน มนุษย์คนที่สองนั้นมาจากสวรรค์

[48] กิจการ 7:56 “นี่แน่ะ ข้าพเจ้าเห็นท้องฟ้าแหวกเป็นช่อง และเห็นบุตรมนุษย์ทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า”

[49] มาระโก 3:28 “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่าความผิดบาปทุกอย่าง และคำหมิ่นประมาทที่เขากล่าวนั้น จะทรงโปรดยกให้บุตรทั้งหลายของมนุษย์ได้” (ฉบับไทยคิงเจมส์)

[50] มัทธิว 12:31 “เพราะเหตุนี้เราบอกพวกท่านว่า บาปและคำหมิ่นประมาททุกอย่างจะโปรดอภัยให้มนุษย์ทั้งหลายได้ เว้นแต่คำหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์จะโปรดอภัยให้ไม่ได้

[51] อาดัมคนสุดท้าย: การศึกษาในเรื่องมนุษย์ในจดหมายของเปาโล, โรบิน สกร็อกส์, หน้า 38 (สำนักพิมพ์ฟอร์เทรส, 1966)

[52] โคโลสี 1:15 “พระคริสต์ทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้าผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา ทรงเป็นบุตรหัวปีเหนือทุกสิ่งที่ทรงสร้าง”

[53] มาระโก 11:30 “คือบัพติศมาของยอห์นนั้นมาจากสวรรค์หรือมาจากมนุษย์? จงตอบเราเถิด”

[54] ยอห์น 4:24 พระเจ้าเป็นพระวิญญาณ และคนที่นมัสการพระองค์จะต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง”

[55] เพื่อนนักฟิสิกส์ของผมที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศอังกฤษได้อธิบายกับผมว่า พระกายของพระเยซูสามารถทะลุกำแพงและสิ่งกีดขวางอื่นๆได้ในแง่ของความน่าจะเป็นพลังงานจากการแผ่รังสีและการทำงานของความถี่ของการแผ่รังสีนั้น แต่สิ่งนี้เกินความรู้ด้านฟิสิกส์ของผม

[56] หรือ “มนุษย์”(ภาษา​กรีก​แปล​ตรง​ตัว​ว่า เนื้อ​และ​เลือด)(ผู้แปล)

[57] 1 โครินธ์ 15:50 พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าหมายความว่า เนื้อและเลือดไม่สามารถมีส่วนในอาณาจักรของพระเจ้า

[58] ลูกา 24:39 “จงคลำตัวเราดู เพราะว่าผีไม่มีเนื้อและกระดูกเหมือนอย่างที่พวกท่านเห็นว่าเรามี”

[59] ลูกา 24:42-43 พวกเขาก็เอาปลาย่างชิ้นหนึ่งมาให้พระองค์ พระองค์ทรงรับมาเสวยต่อหน้าพวกเขา

[60] โรม 6:4 เพราะฉะนั้น เราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้ว โดยการรับบัพติศมาเข้าในการตายนั้น เพื่อว่าเมื่อพระบิดาทรงให้พระคริสต์เป็นขึ้นมาจากตายโดยพระสิริของพระองค์แล้ว เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยเหมือนกัน

[61] หรือ “พระกายอันทรงพระสิริ” (ฉบับ 1971) และ “พระกายอันทรงสง่าราศี” (ฉบับไทยคิงเจมส์)

[62] กิจการ 1:11 สองคนนั้นกล่าวว่า “ชาวกาลิลีเอ๋ย ทำไมพวกท่านถึงยืนจ้องมองฟ้าสวรรค์? พระเยซูองค์นี้ที่ทรงรับไปจากท่านทั้งหลายขึ้นไปยังสวรรค์นั้น จะเสด็จมาอีกในลักษณะเดียวกับที่ท่านทั้งหลายได้เห็นพระองค์เสด็จไปยังสวรรค์นั้น”

[63] 1 เปโตร 1:24 เพราะว่า มนุษย์ทุกคน (ภาษา​กรีก​แปล​ตรง​ตัว​ว่า เนื้อ​หนัง​ทั้ง​ปวง) เป็นเหมือนต้นหญ้า และศักดิ์ศรีทั้งสิ้นของเขาก็เป็นเหมือนดอกหญ้า ต้นหญ้าเหี่ยวแห้ง และดอกก็ร่วงโรยไป”

[64] มัทธิว 26:28 “เพราะว่านี่เป็นโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อยกบาปโทษคนจำนวนมาก”

[65] กิจการ 4:12 “ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย เพราะว่านามอื่นซึ่งให้เราทั้งหลายรอดได้นั้น ไม่โปรดให้มีท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า”

[66] ฮีบรู 2:11 “เพราะทั้งผู้ชำระให้บริสุทธิ์และคนเหล่านั้นที่ได้รับการชำระ ก็มีพระบิดาองค์เดียวกัน ด้วยเหตุนี้ พระเยซูจึงไม่ทรงละอายที่จะเรียกเขาเหล่านั้นว่าพี่น้อง”

[67] โคโลสี 2:9 “เพราะในพระคริสต์พระลักษณะทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์ในพระกายของพระองค์” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) ฉบับไทยคิงเจมส์และฉบับ 1971 แปลว่า “เพราะว่าในพระองค์นั้น สภาพของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์” (ผู้แปล)

[68] 1 โครินธ์ 6:17 “แต่คนที่รวมตนเองเป็นหนึ่งกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นหนึ่งกับพระองค์ในจิตวิญญาณ”

[69] ยอห์น 14:9 พระเยซูตรัสกับเขาว่า “ฟีลิป เราอยู่กับท่านนานถึงขนาดนี้แล้วท่านยังไม่รู้จักเราอีกหรือ? คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา ท่านจะพูดได้อย่างไรอีกว่า ‘ขอสำแดงพระบิดาให้พวกข้าพระองค์เห็น?

[70] Modalism คือความเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นบุคคลเดียวที่ไม่แตกต่างกันที่สำแดงพระองค์เองในสามสถานะ

[71] คีลและเดลิทซ์ (ปฐมกาล 1:2): “רחף ใน Piel ใช้กับการปกและการกกของนกเหนือลูกอ่อนของมันเพื่อให้ความอบอุ่นและการเจริญวัยด้วยพลกำลังที่จำเป็นสำหรับลูกนก (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:11) ในลักษณะเช่นเดียวกับที่พระวิญญาณของพระเจ้าทรงเคลื่อนไหวเหนือที่ลึก ในการทรงสร้างนั้นทุกชีวิตได้รับลมหายใจแห่งชีวิตของพระองค์เพื่อเติมเต็มพลกำลังที่จำเป็นสำหรับพวกเขา” นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลในคู่มือวิเคราะห์และอธิบายปฐมกาลของจอห์น สกินเนอร์ หน้า 17-18 (“...พระวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งปรากฏเหมือนนกที่กกอยู่เหนือรังของมัน และอาจเป็นการแสดงให้เห็นหลักการภายในของชีวิตและแบบแผนที่ยังไม่ยุ่งเหยิง”); นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของฟาร์ราและคอทเทอริลล์ ในคู่มืออธิบายพระคัมภีร์สำหรับนักเทศน์: ปฐมกาล (“พระวิญญาณของพระเจ้าทรงเคลื่อนไหว (คำตรงตัว, กำลังกก) อยู่เหนือผิวน้ำ”)

[72] คู่มืออธิบายพระคัมภีร์สำหรับนักเทศน์ กล่าวว่าลูกา 1:35 “เตือนให้เรานึกถึงคำเริ่มต้นของปฐมกาล ที่ผู้เขียนบอกถึงต้นกำเนิดของชีวิตในการสร้างในถ้อยคำว่า ‘พระวิญญาณของพระเจ้า​​เคลื่อนไหว [หรือ โอบ] อยู่เหนือพื้นผิวที่ลึกนั้น’” นอกจากนี้ก็ยังมีคู่มืออธิบายของ เอช เอ ดับบลิว มายเออร์ เกี่ยวกับลูกา 1:35

[73] 2 โครินธ์ 5:17 ฉะนั้นถ้าใครอยู่ในพระคริสต์ เขาก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งเก่าๆ ก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น

[74] 1 โครินธ์ 3:16 “พวกท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพวกท่าน”

[75] เอเฟซัส 4:13 จนกว่าเราทุกคน...จะบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ คือโตเต็มถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์

[76] โรม 1:5 “โดยทางพระองค์นั้นพวกข้าพเจ้าได้รับพระคุณและหน้าที่เป็นอัครสาวก เพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์ให้ชนชาติต่างๆเชื่อฟังตามความเชื่อนั้น” (ฉบับไทยคิงเจมส์)

[77] โคโลสี 1:19 เพราะว่าพระเจ้าพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งหมดดำรงอยู่ในพระองค์

[78] เอเฟซัส 3:19ให้ซาบซึ้งในความรักของพระคริสต์ซึ่งเกินความรู้ เพื่อ​​ท่านจะได้รับความบริบูรณ์ของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม

[79] โรม 8:29 “เพราะ​​ทุกคนที่พระองค์ได้ทรงเลือกไว้แล้ว พระองค์ทรงกำหนดไว้ก่อนให้เป็นตามพระฉายาแห่งพระบุตรของพระองค์ เพื่อพระบุตรนั้นจะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพี่น้องจำนวนมาก”

[80] มัทธิว 1:18 มีข้อความ ἐν γαστρὶ ἔχουσα ἐκ πνεύματος ἁγίου แปลคำต่อคำก็คือ “ในมดลูกของเธอมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์” ตรงนี้คำกรีกสำหรับ “มดลูก” (gastēr) ยังพบในลูกา 1:31 (“เธอจะตั้งครรภ์ในมดลูกของเธอ และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง”) ที่โครงสร้างประโยคช่วยให้แปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมีคำว่า “มดลูก” ปรากฏอยู่ในฉบับภาษาอังกฤษส่วนใหญ่

[81] หรือแปลตรงตัวว่า “บังเกิดจากผู้หญิงคนหนึ่ง” (ผู้แปล)

[82] อพยพ 40:35โมเสสเข้าไปในเต็นท์นัดพบไม่ได้ เพราะเมฆปกคลุมอยู่ และพระรัศมีของพระยาห์เวห์ก็อยู่เต็มพลับพลานั้น”

[83] สดุดี 91:4 “พระองค์จะทรงปกท่านไว้ด้วยปีกของพระองค์ และท่านจะลี้ภัยอยู่ใต้ปีกของพระองค์

[84] การประสูติ: ประวัติศาสตร์และพงศาวดาร, หน้า 26-47, เกซา เวอร์เมส เป็นผู้รอบรู้ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับม้วนหนังสือเดดซี และเบื้องหลังการเป็นชาวยิวของพระเยซู

[85] ลูกา 3:38 “ไคนานเป็นบุตรของเอโนส เอโนสเป็นบุตรของเสท เสทเป็นบุตรของอาดัม อาดัมเป็นบุตรของพระเจ้า”

[86] ลูกา 1:35 ทูตสวรรค์จึงตอบนางว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาเหนือเธอ และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ เพราะฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่เกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า

[87] โรม 8:14 เพราะว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำใคร คนนั้นก็เป็นบุตรของพระเจ้า

[88] ลูกา 1:32 “บุตรนั้นจะเป็นใหญ่ และจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้าสูงสุด องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าจะประทานบัลลังก์ของดาวิดบรรพบุรุษของท่านให้แก่ท่าน

[89] ลูกา 1:48 เพราะ​พระ​องค์​ทอดพระเนตรฐานะ​อัน​ต่ำ​ต้อยของ​ทาสี​ของ​พระ​องค์ ดูเถิด ต่อแต่​นี้​ไป​คน​ทุก​ยุค​ จะ​เรียก​ข้าพ​เจ้า​ว่า​ผู้ได้รับพร (ฉบับ ESV) พระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับอื่นๆแปลว่า “จะเรียกข้าพเจ้าว่าผาสุก” ยกเว้นฉบับอมตธรรมร่วมสมัย (ผู้แปล)

[90] The Titles of Jesus” เขียนโดย Vincent Taylor

[91] หรือไม่เหมือนใคร

[92] ลูกา 8:21 “มารดาของเราและพี่น้องของเราคือคนเหล่านั้นที่ได้ฟังพระวจนะของพระเจ้าและทำตาม”

[93] มัทธิว 23:8 อย่าให้ใครเรียกว่า ‘ท่านอาจารย์’ เพราะพวกท่านมีพระอาจารย์เพียงผู้เดียว และพวกท่านทุกคนเป็นพี่น้องกัน

[94] Joyful, We Adore Thee,” with lyrics by Henry van Dyke and music by Beethoven

[95] Thou our Father, Christ our Brother, All who live in love are Thine

[96] เศคาริยาห์หมายถึง “พระเจ้าหรือพระยาห์เวห์” ตามในพระคัมภีร์เดิม (ผู้แปล)

[97] present con­tin­uous

[98] กิจการ 16:7 “เมื่อ​มา​ถึง​​แคว้น​มิ​เซีย​แล้ว ก็​พยา​ยาม​จะ​เข้า​ไป​ยัง​​แคว้น​บิ​ธี​เนีย แต่​พระ​วิญ​ญาณ​ของ​พระ​เยซู​ไม่​โปรด​ให้​ไป”

[99] โรม 8:9 “ใครไม่มีพระวิญญาณของพระคริสต์ คนนั้นก็ไม่เป็นของพระองค์

[100] ลูกา 1:17 เขาจะนำหน้าพระองค์ด้วยจิตวิญญาณและฤทธิ์เดชของเอลียาห์ ให้พ่อกลับคืนดีกับลูก”

[101] เราจะไม่พูดถึงความหมายทางจิตวิญญาณของการแยกน้ำในแม่น้ำจอร์แดนออก การแยกน้ำออกที่คล้ายๆกันได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์เมื่อชาวอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา (โยชูวา 3:13-17)

[102] 2 พงศ์กษัตริย์ 2:14 แล้วท่านก็เอาเสื้อคลุมของเอลียาห์ที่ตกลงมานั้นฟาดลงที่น้ำ กล่าวว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าของเอลียาห์สถิตที่ใด?” และเมื่อท่านฟาดลงที่น้ำ น้ำก็แยกออกไปสองข้าง และเอลีชาก็เดินข้ามไป

[103] เฉลยธรรมบัญญัติ 21:17 “แต่เขาต้องยอมรับบุตรหัวปีคือบุตรของภรรยาคนที่ตนไม่ชอบ โดยแบ่งทุกสิ่งที่มีให้แก่บุตรหัวปีสองเท่า เพราะว่าคนนี้เป็นต้นกำลังของบิดา สิทธิของบุตรหัวปีเป็นของเขา

[104] 2 พงศ์กษัตริย์ 2:15 ผู้เผยพระวจนะที่อยู่เมืองเยรีโคเห็นท่านอยู่แต่ไกล เขาทั้งหลายพูดว่า “ฤทธิ์เดชของเอลียาห์อยู่กับเอลีชา”    

[105] 1 พงศ์กษัตริย์ 17:1 เอลียาห์ชาวทิชบีอาศัยอยู่ในกิเลอาดได้ทูลอาหับว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าแห่งอิสราเอล ผู้ซึ่งข้าพระบาทปรนนิบัติทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด จะไม่มีน้ำค้างหรือฝนในปีเหล่านี้ฉันนั้น นอกจากตามคำของข้าพระบาท”

[106] ยอห์น 5:19 พระเยซูตรัสตอบพวกเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดโดยลำพังพระองค์เอง พระองค์สามารถทำได้แต่เพียงสิ่งที่เห็นพระบิดาของพระองค์ทรงกระทำ” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[107] ยอห์น 14:10 “ท่านไม่เชื่อหรือว่าเราอยู่ในพระบิดาและพระบิดาทรงอยู่ในเรา? คำซึ่งเรากล่าวกับพวกท่านนั้น เราไม่ได้กล่าวตามใจชอบ แต่พระบิดาผู้สถิตอยู่ในเราทรงทำพระราชกิจของพระองค์”

[108] พระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยบางฉบับแปลว่า “ศัตรูของพระคริสต์” (ผู้แปล)

[109] มัทธิว 12:24 แต่​เมื่อ​พวก​ฟา​ริ​สี​ได้​ยิน​ดัง​นั้น​ก็​พูด​กัน​ว่า “คน​นี้​ขับ​ผี​ออก​ได้​ก็​เพราะ​ใช้​อำ​นาจ​เบ​เอล​เซ​บูล​ผู้​เป็น​นาย​ผี​นั้น”

[110] Graham H. Twelftree, Jesus the Miracle Worker

[111] ยอห์น 2:21 “แต่วิหารที่พระองค์ตรัสถึงนั้นคือพระกายของพระองค์

[112] ยอห์น 17:7 “บัดนี้พวกเขารู้ว่าทุกสิ่งที่พระองค์ประทานแก่ข้าพระองค์นั้นมาจากพระองค์”

[113] ยอห์น 5:26 “เพราะว่าพระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เองอย่างไร พระองค์ก็ทรงให้พระบุตรมีชีวิตในพระองค์เองอย่างนั้น”

[114] มัทธิว 28:18 พระเยซูจึงเสด็จเข้ามาใกล้แล้วตรัส​​ว่า “สิทธิอำนาจทั้งหมดในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว”

[115] กิจการ 1:9 เมื่อ​​ตรัสเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นไปต่อหน้าต่อตาพวกเขา และมีเมฆคลุมพระองค์ให้พ้นสายตาของเขา

[116] มัทธิว 24:30 “เมื่อนั้นหมายสำคัญแห่งบุตรมนุษย์จะปรากฏขึ้นในท้องฟ้า มนุษย์ทุกชาติทั่วโลกจะทุกข์โศก แล้วจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆในท้องฟ้า ทรงฤทธานุภาพและทรงพระรัศมีอย่างยิ่ง”

[117] The Jewish Gospels: The Story of the Jewish Christ, Daniel Boyarin

[118] ดาเนียล 8:17 “บุตรมนุษย์เอ๋ย จงเข้าใจเถิดว่า นิมิตนั้นเกี่ยวกับกาลอวสาน” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[119] ปฐมกาล 41:43 ให้โยเซฟใช้ราชรถคันที่สองที่เป็นของพระองค์ มีคนร้องประกาศข้างหน้าว่า “คุกเข่าลง” ดังนี้แหละ พระองค์ทรงตั้งท่านให้อยู่เหนือดินแดนอียิปต์ทั้งหมด

[120] ดาเนียล 7:9 “ขณะ​​ข้าพ​เจ้า​มอง​ดู​ ข้าพเจ้าก็เห็นบัล​ลังก์​ต่างๆจัด​ตั้ง​ไว้แล้ว และองค์ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ประทับที่บัลลังก์ของพระองค์ ฉลอง​พระ​องค์​ขาว​เหมือน​หิมะ พระ​เก​ศา​เหมือน​ขน​สัตว์ที่ขาวสะอาด​ (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[121] ดาเนียล 7:14 “ราชอำนาจ ศักดิ์ศรี กับราชอาณาจักร ทรงมอบไว้กับท่าน เพื่อชนทุกชาติทุกเผ่าทุกภาษา จะปรนนิบัติท่าน ราชอาณาจักรของท่านเป็นราชอาณาจักรนิรันดร์ ซึ่งจะไม่มีที่สิ้นสุด”

[122] คำว่า “หมิ่นประมาท” ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงการอ้างว่าเป็นพระเจ้าหรือเท่าเทียมกับพระเจ้า ที่จริงคำนี้แทบจะไม่เคยถูกใช้ในแง่นี้ แต่เป็นเรื่องปกติที่จะใช้ในการสบประมาทหรือจาบจ้วงพระเจ้าหรือผู้คน ในภาษากรีกของมัทธิว 26:65 นั้น มหาปุโรหิตใช้ทั้งคำกริยา “blasphēmeō” และคำนาม “blasphēmia” เกี่ยวกับพระเยซู (“เขาพูดหมิ่นประมาทพระเจ้า” และ “ตอนนี้ท่านก็ได้ยินคำพูดหมิ่นประมาทของเขาแล้ว”) พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG นิยามคำแรกว่า “การพูดแบบไม่เคารพ ที่ทำให้เสียเกียรติ ลบหลู่ ใส่ร้าย” และนิยามคำที่สองว่า “คำพูดที่ลบหลู่ หรือทำให้เสียชื่อเสียง จาบจ้วง การลบหลู่ พูดแบบไม่เคารพ การใส่ร้าย” มันน่าประหลาดใจที่พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG ไม่เคยใช้คำว่า “พระเจ้า” ในคำอธิบายคำนิยามใดๆ แต่ใช้เฉพาะในการอ้างอิงเท่านั้น นั่นก็เพราะการหมิ่นประมาทสามารถใช้กับผู้มีชีวิตทุกประเภท เช่น กับเปาโล (กิจการ 13:45; 18:6; โรม 3:8; 1 โครินธ์ 10:30); กับคนทั่วไป (ทิตัส 3:2); กับคริสเตียน (1 เปโตร 4:4); กับทูตสวรรค์ (2 เปโตร 2:10; ยูดา 1:8); และกับพระเจ้า (ข้ออ้างอิงมากมาย) คำว่า blasphēmeō ถูกใช้ในข้อเหล่านี้ทั้งหมด

[123] มัทธิว 26:64 พระเยซูตรัสตอบว่า “ท่านได้พูดแล้ว แต่เราจะบอกท่านทั้งหลายด้วยว่า ตั้งแต่นี้ไปพวกท่านจะเห็นบุตรมนุษย์ ประทับข้างขวาของผู้ทรงฤทธิ์เดช และเสด็จมาบนเมฆแห่งฟ้าสวรรค์

[124] มัทธิว 26:68 “เจ้าพระคริสต์ จงทำนายให้เรารู้ซิว่าใครตีเจ้า”

[125] คำกรีกของ god” กับ “God” คือคำเดียวกันว่า “theos” จึงแปลเหมือนกันว่า “พระเจ้า” (หรือถูกแปลว่า “พระ” หรือ “เจ้า”) และข้อนี้อ้างอิงมาจากสดุดี 82:6 ว่า “เราได้กล่าวว่า ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพระ เป็นบุตรองค์ผู้สูงสุด เจ้าทุกคนนั่นแหละ’” (ผู้แปล)

[126] มัทธิว 26:60 “แต่ถึงแม้มีพยานเท็จหลายคนมาให้การก็ยังหาหลักฐานไม่ได้ ในที่สุดมีสองคนมาให้การ”

[127] ข้อมูลอ้างอิงมีดังนี้: ออกัสติน (NPNF1, เล่ม 8, สดุดี L, ย่อหน้า 2); อธาเนเซียส (NPNF2, เล่ม 4, ข้อความอธิบาย, บท XI, ย่อหน้า 39); จัสตินผู้พลีชีพ (ANF, เล่ม 1, บท CXXIV, บรรดาคริสเตียนเป็นบุตรของพระเจ้า); ไอเรเนียส (ANF, เล่ม 1, บท XXXVIII, ทำไมจึงไม่ทำให้มนุษย์สมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก, ย่อหน้า 4); เคลเมนท์แห่งอเล็กซานเดรีย (ANF, เล่มที่ 2, การตักเตือนให้ละทิ้งสิ่งเร้นลับที่ไม่น่าเลื่อมใสของการไหว้รูปเคารพ, บท I; ความงามที่แท้จริง, บท I) ANF แสดงถึงบรรพชนก่อนการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย (10 เล่ม), NPNF1 แสดงถึงบรรพชนช่วงการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซียและหลังการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย (ชุดที่ 1, 14 เล่ม), และ NPNF2 แสดงถึงบรรพชนช่วงการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซียและหลังการประชุมข้อเชื่อแห่งไนเซีย (ชุดที่ 2, 14 เล่ม)

[128] Augustine, Athanasius, Justin, Irenaeus, Clement

[129] ฉบับภาษาไทยส่วนใหญ่จะแปลว่า ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพระ’ (ผู้แปล)

[130] John MacArthur; MacArthur Study Bible, p.1571, on Jn.10:34-36