พิมพ์
หมวด: The Only Perfect Man
ฮิต: 1541

pdf pic

 

 

บทที่ 6

 

ch1 1

 

เสาหลักที่สี่ของ

 

ความเชื่อในตรีเอกานุภาพ: วิวรณ์บทที่ 1

 

 

 

      วิวรณ์บทที่ 1 เป็นหนึ่งในสี่เสาหลักของความเชื่อในตรีเอกานุภาพที่เมื่อสมัยผมยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ผมได้ใช้เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า รวมทั้งอีกสามเสาหลักคือ ยอห์นบทที่ 1, โคโลสีบทที่ 1, และฮีบรูบทที่ 1  แต่การศึกษาวิวรณ์บทที่ 1 อย่างละเอียดจะแสดงให้เห็นว่าบทนี้ไม่ได้สอนความเชื่อในพระเจ้าตรีเอกานุภาพ หรือว่าความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์  เราจะสรุปให้เห็นโดยย่อเพราะเราจะพูดถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกันในบทต่อไปเกี่ยวกับการยกย่องสรรเสริญพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่  ต่อไปนี้คือวิวรณ์บทที่ 1 ทั้งบท

 

1 วิวรณ์ของพระเยซูคริสต์ที่พระเจ้าประทานแก่พระองค์ เพื่อ​​​แสดงให้บรรดาผู้รับใช้ของพระองค์เห็น​​ที่จะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้า พระองค์ได้ทรงให้ทูตสวรรค์ไปแจ้งกับยอห์นผู้รับใช้ของพระองค์ 2ผู้เป็นพยานถึงพระวจนะของพระเจ้าและคำพยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แม้กระทั่งกับทุกสิ่งที่ท่านเห็น  3ความสุขมีแก่ผู้ที่อ่าน​​คำเผยพระวจนะนี้ และความสุขมี​​แก่บรรดาผู้ที่ฟังแล้วประพฤติตามสิ่งที่เขียนไว้ในนั้น เพราะเวลานั้นใกล้เข้ามาแล้ว

4ยอห์น เรียนมายังคริสตจักรทั้งเจ็ดที่อยู่ในแคว้นเอเชีย  ขอ​​พระคุณและสันติสุขมีแก่ท่านทั้งหลาย ​​จากพระองค์ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา และจาก​​วิญญาณทั้งเจ็ดที่​​อยู่หน้าพระที่นั่งของพระองค์  5และจากพระเยซูคริสต์ผู้เป็นพยานที่ซื่อสัตย์ เป็นบุตรหัวปีที่​​เป็นขึ้นจากตาย และเป็นผู้ปก​​​ครองเหนือบรรดากษัตริย์ในโลก  แด่พระองค์ผู้ทรงรักเราทั้งหลายและได้ทรงให้เราหลุดพ้นจากบาปของเราด้วยพระโลหิตของพระองค์  6และได้ทรงตั้งเราให้เป็นอาณาจักรและเป็น​​ปุโรหิตของพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์ ขอให้พระเกียรติและฤทธิ์อำนาจมีแด่พระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน

7 ดูเถิด พระองค์จะเสด็จมา​​กับหมู่เมฆ และนัยน์ตาทุกดวงจะเห็นพระองค์ แม้แต่คนเหล่านั้นที่ได้แทงพระองค์ และมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะร้องครวญเพราะพระองค์ ก็จะเป็นไปเช่นนั้น อาเมน   8พระเจ้าผู้ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดตรัสว่า “เราเป็นอัลฟาและโอเมกา ผู้ทรงเป็นอยู่    ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา

9ข้าพเจ้าคือยอห์น พี่น้องของท่านทั้งหลาย ผู้มีส่วนร่วมในความทุกข์ยากและในอาณาจักร และความทรหดอดทนที่มีอยู่ในพระเยซู ข้าพเจ้า​​มาอยู่ที่เกาะปัทมอสเพราะพระวจนะของพระเจ้าและคำพยานของพระเยซู 10ข้าพเจ้าอยู่ในพระวิญญาณ​​ในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า และข้าพเจ้าได้ยินเสียง​​เหมือนอย่างเสียงแตรดังมาจากข้างหลังข้าพเจ้า 11กล่าวว่า “จงเขียนสิ่งที่ท่านเห็นลงในหนังสือม้วน แล้วส่งไปให้คริสตจักรทั้งเจ็ด ถึงคริสตจักรที่เมืองเอเฟซัส เมืองสเมอร์นา เมืองเปอร์กามัม เมืองธิยาทิรา เมืองซาร์ดิส เมืองฟีลาเดลเฟียและเมืองเลาดีเซีย”

12แล้วข้าพเจ้าก็หันมาดูเสียงที่พูดกับข้าพเจ้า และเมื่อหัน​​มา​ ​ข้าพเจ้าก็เห็นคันประทีปทองคำเจ็ดคัน  13และในท่ามกลางคันประทีปเหล่านั้นมีผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์ ทรงฉลองพระองค์ยาว และทรงคาดแถบทองคำรอบพระอุระ  14พระเศียรและพระเกศาของพระองค์ขาวเหมือนอย่างขนแกะ เหมือนอย่างหิมะ  พระเนตรของพระองค์เหมือนอย่างเปลวไฟ 15พระบาทของพระองค์เหมือนทองสัมฤทธิ์เงางาม  ดั่หลอมในเตาไฟ และพระสุรเสียงของพระองค์เหมือนเสียงน้ำมากหลาย 16พระองค์ทรงถือดาวเจ็ดดวงไว้ในพระหัตถ์ขวาของพระองค์ และมีดาบสองคมที่คมกริบออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ และพระพักตร์ของพระองค์เหมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงแรงกล้า

17เมื่อข้าพเจ้าเห็นพระองค์ ข้าพเจ้าก็ล้มลงแทบพระบาทของพระองค์เหมือน​​คนตาย  แต่พระองค์ทรงวางพระหัตถ์ขวาบนตัวข้าพเจ้า แลตรัสว่า “อย่ากลัวเลย เราเป็นเบื้องต้นและเป็นเบื้องปลาย 18และเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่  เรา​​ตายแล้ว และดูเถิดเรายังดำรงชีวิตอยู่ตลอดไป และเราถือลูกกุญแจ​​แห่งความตายและ​​แดนมรณา  19เพราะฉะนั้น จงเขียนสิ่งที่เจ้าได้เห็น​ ​คือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้  20ส่วนความล้ำลึกของดาวทั้งเจ็ดดวงที่เจ้าเห็นในมือขวาของเรา และของคันประทีปทองคำทั้งเจ็ด ดาวเจ็ดดวงก็คือบรรดาทูตสวรรค์ของคริสตจักรทั้งเจ็ด และคันประทีปเจ็ดคันนั้นก็คือคริสตจักรทั้งเจ็ด  (ฉบับ ESV)

 

การเปิดเผยของพระเยซูคริสต์ซึ่งพระเจ้าประทานแก่พระองค์

      เมื่อยังเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เราไม่ได้สังเกตหรือให้ความสำคัญอย่างเพียงพอว่า การเปิดเผยของพระเยซูคริสต์ไม่ได้มาจากพระเยซูเอง แต่แท้จริงแล้วมาจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับพระเยซูเพื่อพระเยซูจะได้แสดงแก่บรรดาผู้รับใช้ (หรือทาส) ของพระองค์ โดยเฉพาะอัครทูตยอห์น

 

วิวรณ์ของพระเยซูคริสต์ที่พระเจ้าประทานแก่พระองค์ เพื่อ​​​แสดงให้บรรดาผู้รับใช้ของพระองค์เห็น​​ที่จะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้า พระองค์ได้ทรงให้ทูตสวรรค์ไปแจ้งกับยอห์นผู้รับใช้ของพระองค์ (วิวรณ์ 1:1 ฉบับ ESV)

 

      เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่หนังสือวิวรณ์เริ่มต้นด้วยการแยกแยะบุคคลไว้อย่างชัดเจน ที่ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระเยซูคริสต์กับพระเจ้าในคำกล่าวว่า พระเจ้าได้ประทานวิวรณ์ให้กับพระเยซูคริสต์  ยอห์นกล่าวตรงๆด้วยภาษาที่ไม่ได้สนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพว่า “พระเจ้า” แทนที่จะเป็น “พระเจ้าพระบิดา” ซึ่งทำให้พระเยซูทรงแตกต่างไปจากพระเจ้า และไม่ใช่แค่จากพระเจ้าพระบิดา ผู้ที่ถึงอย่างไรก็เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว (ยอห์น 17:3)[1]  และข้อสรุปของเราได้แรงสนับสนุนมากขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าข้อนี้ พูดถึง “พระเจ้าที่ชี้เฉพาะ” (ho theos) มากกว่า “พระเจ้า” (theos)

      ความจริงที่ว่าวิวรณ์ไม่ได้มาจากพระเยซูคริสต์เอง แต่เป็นสิ่งที่พระเจ้าพระบิดาประทานให้แก่พระองค์นั้นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพทั้งหลายต่างก็รู้กันดี  ยกตัวอย่างเช่น เอช เอ ดับบลิว มายเออร์ กล่าวว่า “การเปิดเผยที่ระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้ พระคริสต์ทรงได้รับจากพระบิดา”  และ เจ พี แลงก์กล่าวว่า “[วิวรณ์] ซึ่งพระเจ้าประทานแก่พระองค์นั้น พระเจ้าก็คือพระบิดา”[2]

      คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ของผู้อธิบายเกี่ยวกับวิวรณ์ 1:1 อธิบายถึงลูกโซ่ของอำนาจที่เริ่มต้นจากพระเจ้าว่า “มีห้าการเชื่อมต่อกันในลูกโซ่ของอำนาจ คือพระเจ้า พระคริสต์ ทูตสวรรค์ของพระองค์  ยอห์นผู้รับใช้ของพระองค์ และบรรดาผู้รับใช้ในคริสตจักรทั้งหลาย”  คู่มืออธิบายพระคัมภีร์ใหม่ของไอวีพี[3] เกี่ยวกับวิวรณ์ 1:1 ก็กล่าวคล้ายๆกันว่า

 

ถ้าพระเยซูทรงเป็นแหล่งโดยตรงของวิวรณ์ พระเจ้าก็ทรงเป็นแหล่งที่มาสูงสุด พระเจ้าประทานวิวรณ์แก่พระเยซูคริสต์เพื่อที่จะแสดงต่อผู้รับใช้ของพระองค์  ประเด็นนี้ก็เหมือนในพระกิตติคุณยอห์นมากที่พระเยซูทรงยืนกรานซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ถ้อยคำที่พระองค์ตรัสนั้นไม่ใช่คำพูดของพระองค์เอง แต่เป็นคำของ “ผู้ที่ส่งพระองค์มา” (เช่น ยอห์น 7:16-17, 28; 8:28; 12:49-50)[4]

 

      แต่ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เราได้มองข้ามสิ่งที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในวิวรณ์ 1:1  และคิดอย่างผิดๆว่าวิวรณ์มาจากพระเยซูเอง  ความจริงมีอยู่ว่า แม้หลังจากการได้รับพระเกียรติของพระองค์[5] พระเยซูไม่ได้มีอำนาจที่แยกจากพระเจ้า เพราะแม้ในขณะนี้พระองค์ก็ทรงทำทุกสิ่งภายใต้อำนาจของพระบิดาเหมือนที่พระองค์ทรงเคยทำก่อนหน้านี้เมื่อทรงอยู่ในโลก

 

ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา

      คำทักทายของยอห์นถึงคริสตจักรเจ็ดแห่งในเอเชียในข้อ 4 และข้อ 5 นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาในการใช้คำศัพท์ที่ในพระคัมภีร์จะมีเฉพาะในหนังสือวิวรณ์

 

ยอห์น เรียนมายังคริสตจักรทั้งเจ็ดที่อยู่ในแคว้นเอเชีย ขอ​​พระคุณและสันติสุขมีแก่ท่านทั้งหลาย ​​จากพระองค์ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมาและจาก​​วิญญาณทั้งเจ็ดที่อยู่หน้าพระที่นั่งของพระองค์  และจากพระเยซูคริสต์ผู้เป็นพยานที่ซื่อสัตย์ เป็นบุตรหัวปีที่​​เป็นขึ้นจากตาย และเป็นผู้ปกครองเหนือบรรดากษัตริย์ในโลก (วิวรณ์ 1:4-5 ฉบับ ESV)

 

      คำทักทายนี้อาจเป็นเพียงการขยายคำทักทายของเปาโลซึ่งคริสตจักรในยุคแรกคุ้นเคยว่า “ขอพระคุณและสันติสุขจากพระเจ้าพระบิดาของเรา และจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่กับท่านทั้งหลาย[6]  แต่ถ้าเราใช้คำทักทายของยอห์นแบบตรงตัวมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับวิญญาณทั้งเจ็ดที่อยู่หน้าพระที่นั่ง มันก็จะเป็นข้อความที่ไปถึงคริสตจักรทั้งเจ็ดในนามของสามฝ่าย คือพระเจ้า “ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา”  อีกทั้งวิญญาณทั้งเจ็ด[7]ที่อยู่หน้าพระที่นั่งของพระเจ้า และพระเยซูคริสต์  ยอห์นแยกให้เห็นความแตกต่างของบุคคลอีกครั้ง คราวนี้แยกให้เห็นว่าพระเยซูคริสต์ทรงแตกต่างจากพระองค์ “ผู้ทรงเป็นอยู่  ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา” ซึ่งเป็นคำเรียกพระเจ้าที่ในพระคัมภีร์จะมีเฉพาะแต่ในวิวรณ์เท่านั้น  คำเรียกนี้มีปรากฏสามครั้งในวิวรณ์ ครั้งแรกอยู่ตรงนี้ (1:4) และกล่าวซ้ำใน 1:8 และ 4:8 อีกทั้งยังมีปรากฏในรูปที่สั้นกว่าใน 11:17 และ 16:5 รวมทั้งหมดห้าครั้ง

 

วิวรณ์ 1:4 ขอ​​พระคุณและสันติสุขมีแก่ท่านทั้งหลาย ​​จากพระองค์ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา

วิวรณ์ 1:8 พระเจ้าผู้ทรงเป็นองค์ผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ตรัสว่า “เราเป็นอัลฟาและโอเมกา ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา

วิวรณ์ 4:8 พวกเขา​​พูดไม่หยุดตลอดทั้งวันทั้งคืนว่า “บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ องค์​​ผู้เป็นเจ้า[8]พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ ผู้ทรงเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา

วิวรณ์ 11:17 ข้าพระองค์ทั้งหลายขอบพระคุณพระองค์ องค์​​ผู้เป็นเจ้า พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ผู้ทรงเป็นอยู่และผู้ทรงเคยเป็นอยู่ เพราะพระองค์ได้ทรงสำแดงฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ และได้ทรงเริ่มครอบครอง

วิวรณ์ 16:5 “พระองค์ทรงยุติธรรม ข้าแต่องค์บริสุทธิ์ ผู้​​ทรงเป็นอยู่และผู้ทรงเคยเป็นอยู่ เพราะพระองค์ได้ทรงนำการพิพากษามา” (กล่าวถึงพระเจ้า, ข้อ 1)

 

      คำเรียก “ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา” (หรือในรูปที่สั้นกว่า) ในข้อเหล่านี้ไม่ได้กล่าวถึงพระเยซูคริสต์  ในแต่ละกรณีจะอ้างถึงพระเจ้า พระบิดาของพระเยซูคริสต์ตามที่ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพส่วนมากยอมรับ

      ผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพบางคนบอกว่า สามอนุประโยคในคำกล่าวว่า “ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา” อ้างถึงพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามลำดับ  แต่ข้อ สรุปนี้แปลกๆและไม่มีมูลความจริงจนไม่เป็นที่ยอมรับแม้แต่ในงานเขียนของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ เช่น คู่มืออธิบายพระคัมภีร์สำหรับนักเทศน์ (วิวรณ์ 1:4) กล่าวว่า “ทุกอนุประโยคใช้กับพระบิดาไม่ใช่กับแต่ละพระองค์”  พระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีกของอัลฟอร์ด (วิวรณ์ 1:4) กล่าวว่า “ชื่อเรียกรวม” นั้น “ต้องใช้กับพระบิดา”  คู่มือผู้อธิบายพระคัมภีร์ของผู้อธิบาย[9] (วิวรณ์ 1:4) กล่าวว่าคำเรียก “ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา” กล่าวถึง “พระบิดา” โดยเฉพาะ  ยังมีกล่าวต่อไปว่าคำเรียกนี้แสดงถึงความเหนือกาลเวลาที่นิรันดร์ของพระยาห์เวห์

 

ชื่อที่อธิบายเกี่ยวกับพระบิดา [ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา] ไม่มีปรากฏที่ไหนเลยนอกจากวิวรณ์ (4:8; เปรียบเทียบ 11:17; 16:5)  เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เป็นการถอดความสำหรับชื่อของพระเจ้าที่แสดงให้เห็นทั่วพระคัมภีร์เดิมด้วยอักษรฮีบรูสี่ตัวว่า YHWH ที่หมายถึงพระเจ้า... การรวมกันครบของทั้งสามกาลในไวยากรณ์เหล่านี้ [นั่นคือ กาลปัจจุบัน อดีตกาล อนาคตกาล] มีปรากฏในทาร์กัมปาเลสไตน์เกี่ยวกับเฉลยธรรมบัญญัติ 32:39 ... กาลในไวยากรณ์เหล่านี้ทำให้รู้ว่าพระเจ้าองค์เดียวกันนี้สถิตอยู่ตลอดไปกับผู้ที่อยู่ในพันธสัญญาของพระองค์

 

      คู่มืออธิบายการใช้พระคัมภีร์เดิมในพระคัมภีร์ใหม่เกี่ยวกับวิวรณ์ 1:4 อธิบายไว้ว่า “ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมาหมายถึง YHWH ของอพยพ 3:14[10] โดยชี้ไปที่การใช้ไวยากรณ์กรีกที่ผิดธรรมดาของยอห์น  ผู้อ่านบางคนอาจต้องการอ่านข้ามคำอ้างอิงต่อไปนี้เนื่องจากมีลักษณะที่เป็นวิชาการอยู่บ้าง

 

คำอธิบายเกี่ยวกับพระเจ้าว่า “ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา” เป็นการตีความชื่อ “YHWH” (ยาห์เวห์) ที่ยึดความคิดตามอพยพ 3:14 พร้อมด้วยคำอธิบายเกี่ยวกับกาลกริยาสองและสามส่วนเกี่ยวกับพระเจ้าในอิสยาห์  (เปรียบเทียบอิสยาห์ 41:4; 43:10; 44:6; 48:12) ซึ่งเป็นไปได้ว่าคำอธิบายเหล่านี้เองเป็นความคิดเกี่ยวกับพระนามของพระเจ้าในอพยพ 3:14  ชื่อในอพยพ 3:14 ยังถูกขยายในลักษณะสามส่วนโดยคำสอนสืบทอดของชาวยิวในภายหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งทาร์กัมซูโด-โยนาธาน[11] ในเฉลยธรรมบัญญัติ 32:39 ที่ว่า “เรานี่แหละ คือผู้ที่เป็นอยู่ และเคยเป็นอยู่ และเรานี่แหละเป็นผู้ที่จะเป็น”  ส่วนแรกที่ว่า “ผู้ที่เป็นอยู่” (ho ōn) มาจากอพยพ 3:14 ฉบับ LXX (egō eimi ho ōn) และแม้ว่าคำบุพบท apo จะเรียกร้องสัมพันธการก ยอห์นก็คง ho ōn ให้เป็นกรรตุการก[12]เพื่อเน้นสิ่งนี้ว่าเป็นการกล่าวถึงอพยพ

 

      กล่าวโดยสรุปแล้ว คำเรียกที่ไม่เปลี่ยนแปลงว่า “ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา” เป็นของพระยาห์เวห์พระเจ้า ไม่ใช่ของพระเยซู และแสดงถึงความเหนือกาลเวลาที่นิรันดร์ของพระเจ้า (อพยพ 3:14 “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น”) ซึ่งยังเผยให้เห็นในสดุดี 90:2 ว่า “ก่อนที่ภูเขาทั้งหลายเกิดขึ้นมา หรือก่อนที่พระองค์จะทรงให้กำเนิดแผ่นดินโลกและพิภพ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าตั้งแต่นิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล”  ภาพของพระยาห์เวห์ว่าเป็นผู้ที่ทรงขยายขอบเขตของพระองค์ไปถึงอดีตอันไม่มีที่สิ้นสุด ผ่านสู่ปัจจุบัน และเข้าไปในอนาคตนั้นมีรายละเอียดเพิ่มเติมในข้อ 8

 

พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ตรัสว่า “เราเป็นอัลฟาและโอเมกา” ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่ และผู้ที่จะเสด็จมา(วิวรณ์ 1:8)

 

      พระยาห์เวห์ทรงเป็นอัลฟา ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวแรก เพราะทุกสิ่งมาจากพระองค์  พระองค์ทรงเป็นโอเมกา ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวสุดท้าย เพราะทุกสิ่งจะกลับมาหาพระองค์ด้วยความสำเร็จอันงดงามตามพระประสงค์ของพระองค์

 

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพยานที่ซื่อสัตย์ เป็นบุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากความตาย

และจากพระเยซูคริสต์ผู้เป็นพยานที่ซื่อสัตย์ เป็นบุตรหัวปีที่​​เป็นขึ้นจากตาย และเป็นผู้ปกครองเหนือบรรดากษัตริย์ในโลก แด่พระองค์ผู้ทรงรักเราและได้ทรงให้เราหลุดพ้นจากบาปของเราด้วยพระโลหิตของพระองค์ (วิวรณ์ 1:5)

 

      นี่คือภาพที่สวยงามของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น “พยานที่สัตย์ซื่อ” ต่อพระบิดาของพระองค์จนถึงความตายดังที่มีการกล่าวถึงพระองค์ในฟีลิปปี 2:8 ว่าทรงยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา กระทั่งมรณาบนกางเขน  ด้วยเหตุนี้สิ่งแรกที่กล่าวถึงชีวิตในโลกของพระเยซูในวิวรณ์ ก็คือความซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์พระบิดาของพระองค์ ทั้งโดยชีวิตของพระองค์และโดยความตายของพระองค์  ความสมบูรณ์แบบของพระเยซูอยู่ในความสัตย์ซื่อที่สมบูรณ์ของพระองค์ต่อพระบิดาของพระองค์ในการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้พระองค์เพื่อเป็นพยานถึงพระบิดา  ความสมบูรณ์แบบไม่ได้เป็นแนวคิดนามธรรม แต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นในคุณภาพชีวิตที่ไม่มีใครเทียบได้ของพระเยซู

      เพราะพระเยซูทรงซื่อสัตย์จนถึงความตาย พระบิดาจึงทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นจากความตาย  ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเป็นบุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากความตาย (ข้อ 5) ผู้ที่ถือลูกกุญแจ​​แห่งความตายและแดนคนตาย (ข้อ 18)  ในฐานะบุตรหัวปี พระเยซูจึงทรงเป็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย (ข้อ 17) เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป้าหมายของการทรงสร้างใหม่ซึ่งได้เริ่มต้นอย่างแท้จริงด้วยการฟื้นขึ้นจากความตาย

      แม้ว่า “เบื้องต้นและเบื้องปลาย”[13] จะหมายถึงพระเจ้าในอิสยาห์ 44:6 และ 48:12 ในพระคัมภีร์ใหม่ก็มีหลายวิธีที่สะท้อนถึงคำเรียกนี้ที่ใช้กับพระเยซู ที่สำคัญไม่น้อยจากชีวิตและคำสอนของพระองค์เองดังที่ว่า “ถ้าใครต้องการจะเป็นคนแรก ก็ให้คนนั้นเป็นคนสุดท้าย และเป็นคนปรนนิบัติคนทั้งหลาย” (มาระโก 9:35)  คนที่เป็นคนสุดท้ายจะกลับเป็นคนแรก และคนที่เป็นคนแรกจะกลับเป็นคนสุดท้าย” (มัทธิว 20:16)

      พระเยซูเป็นคนแรกและคนสุดท้ายในฐานะที่เป็นผู้เลี้ยงที่ดี ผู้เลี้ยงแกะจะเป็นคนแรกที่นำแกะไปข้างหน้าและเป็นคนสุดท้ายที่คอยดูว่ามีตัวไหนที่พลัดหลงอยู่ข้างหลังหรือไม่ ซึ่งก็เหมือนกับคนนำทางที่นำกลุ่มนักปีนเขาขึ้นไปบนภูเขา แต่ก็ยังเหลียวหลังไปดูว่ามีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือไม่

      ในที่สุดแล้ว พระเยซูทรงเป็นคนแรกในการเป็น “บุตรหัวปีที่เป็นขึ้นจากตาย” ทั้งยังเป็น “บุตรหัวปีของทุกสิ่งที่ทรงสร้าง” (โคโลสี 1:15) ที่อ้างอิงถึงการทรงสร้างใหม่มากกว่าจะเป็นการสร้างเก่า (ตามที่เราเห็นในบทที่ 4)  ในการทรงสร้างใหม่นี้ พระเยซูทรงเป็นผู้ที่เริ่มต้น[14]ของความเชื่อและเป็นผู้ที่ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์[15] (ฮีบรู 12:2) ดังนั้นจึงเป็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย

      ส่วนที่สามในวิวรณ์ 1:5 ที่มาหลังจาก “ผู้เป็นพยานที่ซื่อสัตย์” และ “เป็นบุตรหัวปีที่​​เป็นขึ้นจากตาย” ก็คือ “ผู้ปกครองเหนือบรรดากษัตริย์ในโลก” นั้นสะท้อนให้เห็นความสูงส่งของพระเยซูในฟีลิปปี 2:9  ส่วนที่สามนี้ยังไม่มีผลอย่างเต็มที่ (“เรายังไม่เห็นว่าทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจของเขา” ฮีบรู 2:8) แต่จะบรรลุผลเต็มที่เมื่อพระองค์ “จะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆ”  ในเวลานั้น “นัยน์ตาทุกดวงจะเห็นพระองค์” (วิวรณ์ 1:7)

      ในฐานะของผู้ปกครองเหนือกษัตริย์ในโลก พระเยซูจึงทรงได้รับตำแหน่งสูงสุดในโลกมนุษย์  ในสงครามทางโลกที่ต่อสู้กับพระเยซูผู้ที่ถูกเรียกว่าพระเมษโปดกนั้น พระองค์ยังถูกเรียกว่า “เจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย และ​​กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย” (วิวรณ์ 17:14) พระเยซูทรงแตกต่างจากคนอื่นๆที่ถูกเรียกว่า “กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย” (อารทาเซอร์ซีสในเอสรา 7:12, เนบูคัดเนสซาร์ในดาเนียล 2:37) ที่ทรงมีสิทธิอำนาจทั้งหมดในสวรรค์และแผ่นดินโลก (มัทธิว 28:18) แม้ว่าจะไม่ได้อยู่เหนือพระเจ้า เพราะพระเยซูจะทรงมีชีวิตอยู่ภายใต้พระเจ้าตลอดไป (1 โครินธ์ 15: 27-28)[16]  พระเยซูยังตรัสด้วยว่า “เช่นเดียวกับที่เราได้รับสิทธิอำนาจจากพระบิดาของเรา” (วิวรณ์ 2:27) ซึ่งหมายความว่า อำนาจสูงสุดของพระองค์ไม่ใช่อำนาจที่มีอยู่ในตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่พระบิดาประทานให้กับพระองค์

      ธรรมิกชนที่กำลังถูกข่มเหง (วิวรณ์ 1:7) จะเฝ้ามองไปที่การเสด็จมาของพระเยซูด้วยความคาดหวังอย่างร้อนร้น  พวกเขามีสิ่งมากมายที่จะขอบพระคุณในท่ามกลางความทุกข์ทรมานของพวกเขา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พวกเขาติดตามพระองค์บนแผ่นดินโลก และโดยเฉพาะขอบพระคุณสำหรับความรักที่ช่วยให้รอดของพระองค์ที่ว่า “แด่พระองค์ผู้ทรงรักเรา และได้ทรงให้เราหลุดพ้นจากบาปของเราด้วยพระโลหิตของพระองค์ และได้ทรงตั้งเราให้เป็นอาณาจักรและเป็นพวกปุโรหิตของพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์ ขอให้พระเกียรติและฤทธิอำนาจ​​มีแด่พระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์” (ข้อ 5-6)

 

ปุโรหิตของพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์

      ข้อพระคัมภีร์ที่เพิ่งอ้างอิงนี้กล่าวว่า พระเยซูได้ทรงตั้งเราให้เป็น “ปุโรหิตของพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์” (ข้อ 6)[17] ไม่ใช่ปุโรหิตของพระเยซูเอง  พระองค์ได้ทรงไถ่เราด้วยพระโลหิตของพระองค์ไม่ใช่เพื่อเราจะมีชีวิตอยู่เพื่อตนเองหรือแม้แต่เพื่อพระองค์ในที่สุด แต่เพื่อเราจะได้รับใช้ “พระเจ้าและพระบิดาของพระองค์” ในฐานะของพวกปุโรหิต  การปราศจากความเห็นแก่ตัวของพระเยซู ยังเป็นอีกด้านหนึ่งของความสมบูรณ์แบบของพระองค์ ที่เห็นได้ชัดเจนในความรักที่ให้ตัวเองของพระองค์ โดยที่ “พระองค์ได้ทรงให้เราหลุดพ้นจากบาปของเราด้วยพระโลหิตของพระองค์” (ข้อ 5)

      ความจริงที่ว่า พระเยซูได้ทรงตั้งเราให้​​เป็นปุโรหิตของพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์นั้น ไม่ได้ให้การสนับสนุนความเป็นพระเจ้าของพระเยซูตามที่อ้างถึงเลย แต่บอกเราแทนว่าพระเจ้ายังทรงเป็น “พระเจ้าและพระบิดาของพระองค์” ด้วย  ต่อมาในวิวรณ์ 3:12 เราจะเห็นว่าภายในข้อเดียวนี้ พระเยซูตรัสถึงพระเจ้าว่าเป็น “พระเจ้าของพระองค์” ถึงสี่ครั้งดังนี้

 

คนที่ชนะ เราจะทำให้เขาเป็นเสาหลักอยู่ในพระวิหารของพระเจ้าของเรา  เขาจะไม่ออกไปจากพระวิหาร​​เลย และเราจะจารึกพระนามพระเจ้าของเราบนตัวเขา และชื่อนครของพระเจ้าของเรา คือนครเยรูซาเล็มใหม่ที่ลงมา​​จากพระเจ้าของเราจากสวรรค์ และจะจารึกนามใหม่ของเราด้วย (ฉบับ ESV)

 

      เมื่อมองย้อนกลับไปครั้งเมื่อเป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพนั้น เราเชื่อกันได้อย่างไรว่าวิวรณ์บทที่ 1 ให้การสนับสนุนความเชื่อในตรีเอกานุภาพและความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์  แต่มันกลับเผยให้เห็นในสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นก็คือ วิวรณ์บทที่ 1 ประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์ ที่โดยพระโลหิตของพระองค์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์นั้น ทำให้บรรดาคนบาปได้หลุดพ้นจากความผิดบาปของพวกเขา (ข้อ 5)  มนุษย์ได้ทำบาปและเขาได้รับการไถ่โดยมนุษย์คนหนึ่ง  การไถ่ไม่ได้กระทำโดยทางพระเจ้าเพราะพระองค์ทรงเป็นอมตะที่ไม่สามารถตายได้ แต่การไถ่กระทำโดยทางมนุษย์ที่สามารถตายได้  นี่คือสิ่งที่พระยาห์เวห์ได้ทรงมีแผนการไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นของกาลเวลาด้วยพระปัญญาอันล้ำเลิศของพระองค์ (2 ทิโมธี 1:9; 1 โครินธ์ 2:7; ทิตัส 1:2)[18] โดยทรงเห็นว่าโดยทางมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบคนหนึ่งนี้ ที่พระองค์จะทรงช่วยทุกคนที่ร้องออกพระนามของพระองค์ให้รอดได้

      การที่พระเยซูได้ทรงตั้งเราให้เป็น​​พวกปุโรหิตของพระเจ้าและพระบิดาของพระองค์มีความ หมายว่า มีพระวิหารที่จะรับใช้พระเจ้า เพราะปุโรหิตจะปรนนิบัติรับใช้ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ในพระวิหาร?  และที่จริงในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า (วิวรณ์  1:10) ยอห์นเห็น “คันประทีปทองคำเจ็ดคัน” (ข้อ 12) ซึ่งในพระคัมภีร์มักจะตั้งอยู่ในวิสุทธิสถานของพระวิหารเสมอ  ใน “ท่ามกลางคันประทีปทองคำเหล่านั้น” ยอห์นเห็น “ผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์” (ข้อ 13)[19]  ซึ่งเป็นคำอ้างอิงที่ชัดเจนถึงดาเนียล 7:13 (“มีท่านผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์”)  ผู้ที่ยืนอยู่ท่ามกลางคันประทีป “ทรงฉลองพระองค์ยาว และทรงคาดแถบทองคำรอบพระอุระ” (วิวรณ์ 1:13)  นี่เป็นภาพเสื้อของมหาปุโรหิต (อพยพ 28:4; 29:5)  แต่ภาพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่า พระเยซูทรงสวมเสื้อของมหาปุโรหิตหรือไม่  นั่นเป็นเพราะทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดในวิวรณ์ 15:6 ก็สวมเสื้อคล้ายๆกันคือ “และทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดองค์ที่​​ออกมาจากพระวิหารกับภัยพิบัติทั้งเจ็ดนั้น นุ่งห่มผ้าป่านสะอาดสุกใส และคาดแถบทองคำที่อก

      สิ่งที่กำหนดลักษณะปุโรหิตของผู้ที่ “เหมือนบุตรมนุษย์” มากกว่าก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเขายืนอยู่ท่ามกลางคันประทีปทองคำ  ในขณะที่ตะเกียงสำหรับครัวเรือนจะพบอยู่ในบ้านเรือนทั่วไป (มัทธิว 5:15; ลูกา 8:16) ส่วนคันประทีปทองคำนั้นไม่น่าจะเป็นของใช้อยู่ในครัวเรือน ยิ่งเมื่อคันประทีปทองคำทั้งเจ็ดตั้งอยู่ด้วยกันด้วยแล้ว  เลขเจ็ดบอกถึงพระวิหารที่สมบูรณ์แบบในสวรรค์ซึ่งพระวิหารในโลกได้จำลองแบบ (กันดารวิถี 8:4; อพยพ 25:9,37,40; กิจการ 7:44; ฮีบรู 9:2)[20]

      ในขณะที่วิวรณ์ 11:4 แสดงให้เห็นผู้เผยพระวจนะสองคนที่ได้รับฤทธานุภาพในบริบทที่แตกต่างกันว่าเป็น “​​ต้นมะกอกสองต้นและคันประทีปสองอันที่ตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดินโลก” ซึ่งคันประทีป​​เจ็ดคันในวิวรณ์เป็นตัวแทนของเจ็ดคริสตจักรแห่งเอเชีย (วิวรณ์  1:20)[21] ผู้ที่ยืนอยู่ท่ามกลางคันประทีปก็คือ “ผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์” ผู้เป็นมหาปุโรหิตของคริสตจักร (ฮีบรู 2:17; 3:1, 4:14-15, 5:10, 8:1-3; 9:11)  “มหาปุโรหิตเช่นนี้แหละที่เหมาะสำหรับพวกเรา คือเป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากอุบาย ไร้มลทิน แยกจากคนบาปทั้งหลาย และอยู่สูงกว่าฟ้าสวรรค์” (ฮีบรู 7:26)  จงสังเกตคำคุณศัพท์หลายคำที่ใช้เกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบของพระเยซูว่า “บริสุทธิ์ ไร้มลทิน ไม่ด่างพร้อย แยกจากคนบาปทั้งหลาย” (ฉบับ ESV) หรือ “บริสุทธิ์ ไร้ตำหนิ ปราศจากมลทิน แยกออกจากบรรดาคนบาป” (ฉบับ  NIV)

 

พระเยซูผู้เต็มด้วยพระสิริและเป็นที่ยกย่อง

      ไม่มีอะไรต้องสงสัยเลยว่า “บุตรมนุษย์” (วิวรณ์ 1:13) ผู้เต็มด้วยพระสิริเหมือนพระเจ้า ซึ่งยืนอยู่ในท่ามกลางคันประทีปก็คือพระเยซูเอง เพราะว่าพระองค์เป็นผู้ที่ตรัสด้วยว่า “เราได้ตายแล้ว แต่ดูเถิด เรายังดำรงชีวิตอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์” (วิวรณ์  1:18) และข้อ 5 ก็พูดถึงพระเยซูว่า “เป็นบุตรหัวปีที่​​เป็นขึ้นจากตาย

      เป็นเรื่องน่าแปลกที่รูปและลักษณะภายนอกของ “บุตรมนุษย์” ของดาเนียลในวิวรณ์เปลี่ยนไปคล้ายกับพระองค์ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลในดาเนียลว่า “พระเศียรและพระเกศาของพระองค์ขาวเหมือนอย่างขนแกะและขาวเหมือนอย่างหิมะ” (วิวรณ์  1:14)  นี่คล้ายกับภาพของพระเจ้าในดาเนียลที่ว่า “องค์ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลประทับที่บัลลังก์ของพระองค์ ฉลองพระองค์ขาวเหมือนหิมะ พระเกศาเหมือนขนแกะที่ขาวหมดจด” (ดาเนียล 7:9)  พระเยซูผู้เป็นบุตรมนุษย์ได้เป็นขึ้นมาจากความตายหลังจากสิ้นพระชนม์และได้รับการยกย่องขึ้นสูง ทรงกลายมาเป็นพระฉายาของพระองค์ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีตกาล!  ตอนนี้พระเจ้าผู้ทรงฤทธนุภาพสูงสุดได้ทรงสำแดงพระองค์เองในพระเยซูผู้เป็นมนุษย์ ผู้ที่ได้รับมอบสิทธิอำนาจทั้งสิ้นทั้งในสวรรค์และในแผ่นดินโลก!  พระสิริของพระเจ้าส่องสว่างบนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์ (2 โครินธ์ 4:6)  พระเยซูทรงทำให้พระประสงค์ดั้งเดิมของพระเจ้าสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในการทรงสร้างมนุษย์ให้เป็น “พระฉายาของพระเจ้า” (ปฐมกาล 1:27)[22]  เนื่องจากพระเยซูทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้าผู้ที่เราไม่อาจมองเห็นได้ (โคโลสี 1:15)[23] ดังนั้นการมองเห็นพระเยซูก็คือการมองเห็นพระเจ้า  แม้แต่พระสุรเสียงของพระองค์ซึ่ง “เหมือนเสียงน้ำมากหลาย” (วิวรณ์ 1:15) ก็เหมือนพระสุรเสียงของพระเจ้า (เอเสเคียล 43:2)[24]  มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเป็นภาพสะท้อนที่สมบูรณ์แบบของพระเจ้า

      “พระองค์ทรงถือดาวเจ็ดดวงไว้ในพระหัตถ์ขวาของพระองค์” (วิวรณ์ 1:16) ซึ่งก็คือ “บรรดาทูตสวรรค์ของคริสตจักรทั้งเจ็ด” (ข้อ 20)  และ “มีดาบสองคมที่คมกริบออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์” (ข้อ 16) ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างถึงอิสยาห์ 11:4  “ท่านจะตีแผ่นดินโลกด้วยตะบองจากปากของท่าน และท่านจะประหารคนอธรรมด้วยลมจากริมฝีปากท่าน” เป็นการอ้างอิงถึงกษัตริย์ผู้เป็นพระเมสสิยาห์จากเชื้อสายของดาวิด  พระวจนะของพระเจ้า คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆอย่างแท้จริง (ฮีบรู 4:12)

      ภาพอันเต็มด้วยพระสิริของพระเยซูในวิวรณ์ 1:16 (“พระพักตร์ของพระองค์เหมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงแรงกล้า”) คล้ายกับทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ในวิวรณ์ 10:1 ที่ว่า “ข้าพเจ้าเห็นทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์อีกองค์หนึ่งลงมาจากสวรรค์ คลุมกายด้วยเมฆ​​และมีรุ้งบนศีรษะของท่าน ใบหน้าของท่านเหมือนดั่งดวงอาทิตย์ และขาของท่านเหมือนดั่งเสาเพลิง

      การปรากฏที่เต็มด้วยพระสิริของพระเยซู ทำให้เรานึกถึงการเปลี่ยนแปลงพระกายที่เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ในโลกว่า “พระกายของพระองค์ก็เปลี่ยน​​ไปต่อหน้าพวกเขา พระพักตร์ของพระองค์ทอแสงเหมือนดวอาทิตย์ ฉลองพระองค์ก็ขาว​​ดุจแสงสว่าง” (มัทธิว 17:2)  ในทำนองเดียว กัน โดยการไถ่ในพระคริสต์นั้น “บรรดาคนชอบธรรมจะส่องแสงเหมือนดวงอาทิตย์อยู่ในอาณาจักรของพระบิดาของพวกเขา” (มัทธิว 13:43)

      เมื่อยอห์นเห็นพระเยซูในวิวรณ์ เขาเห็นตามที่เปาโลเรียกว่า “พระสิริของพระเจ้า ที่ปรากฏบนพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์” (2 โครินธ์ 4:6)  แล้วยอห์นก็ล้มลงแทบพระบาทของพระเยซู (วิวรณ์ 1:17) ซึ่งคล้ายกับที่เอเสเคียลทำเมื่อเห็นพระสิริของพระยาห์เวห์ว่า “นั่นเป็นลักษณะที่เหมือนพระสิริของพระยาห์เวห์ และเมื่อข้าพเจ้าเห็นแล้ว ข้าพเจ้าก็ซบหน้าลงถึงดิน” (เอเสเคียล 1:28)  ดาเนียลก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นนิมิตที่ยิ่งใหญ่​​นี้ ข้าพเจ้าก็สิ้นเรี่ยวแรง... ข้าพเจ้าก็ฟุบลงซบหน้ากับดินหลับผล็อยไป” (ดาเนียล 10:8-9; เปรียบเทียบข้อ 17-19)

      พระเยซูทรงวางพระหัตถ์ขวาของพระองค์บนยอห์นและตรัสว่า “อย่ากลัวเลย เราเป็นเบื้องต้นและเป็นเบื้องปลาย และเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่  เราได้ตายแล้ว และดูเถิด เรายังดำรงชีวิตอยู่ตลอดไป” (วิวรณ์ 1:17-18)

      พระยาห์เวห์ตรัสในทำนองเดียวกันว่า  “เราเป็นเบื้องต้นและเราเป็นเบื้องปลาย นอกจากเราแล้วไม่มีพระเจ้าอื่น” (อิสยาห์ 44:6; 48:12; เปรียบเทียบ 41:4 และ 43:10)[25]   ตอนนี้พระเยซูทรงกระทำการแทนพระยาห์เวห์ในฐานะที่เป็นพระบุตรองค์เดียวที่บังเกิดมาและเป็นผู้ทำการแทนของพระองค์เหนือทุกสิ่งที่ทรงสร้าง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกสร้างใหม่ซึ่งประกอบด้วยบรรดาผู้เชื่อที่แท้จริง และตรงนี้ก็เจาะจงถึงบรรดาผู้เชื่อจากเจ็ดคริสตจักรของเอเชีย

 

ความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวของวิวรณ์

      ในการสำรวจวิวรณ์บทที่ 1 โดยย่อนี้ เราไม่พบสิ่งใดที่สนับสนุนความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์  คำเรียกว่า “พระเจ้าพระบุตร” ของผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพก็หาไม่พบที่ไหนเลยในวิวรณ์  สิ่งที่เราเห็นแทนก็คือพระสิริของมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ผู้เป็นพระฉายาที่สมบูรณ์แบบของพระเจ้า ที่พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของพระเจ้าที่ทอแสงพระสิริของพระเจ้าด้วยฤทธานุภาพและสง่าราศีที่ไม่มีใครเปรียบได้

      จากลักษณะที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวของวิวรณ์นี้ เราควรเรียนรู้ที่จะระมัดระวังการเร่งรีบ สันนิษฐานเหมือนที่ผมเคยทำในอดีตว่า สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นชื่อเรียกพระเจ้าในพระคัมภีร์เดิมนั้นสามารถจะสันนิษฐานได้ว่ามีความหมายอย่างเดียวกันเมื่อใช้กับพระคริสต์  ตัวอย่างเช่น “เราเป็นเบื้องต้นและเราเป็นเบื้องปลาย” ในวิวรณ์ 1:17 ก็ยังพบในอิสยาห์ 44:6 และ 48:12[26] (เปรียบเทียบ 41:4)  เราจะสันนิษฐานโดยไม่ชักช้าไหมว่า “เบื้องต้นและเบื้องปลาย” มีความหมายเหมือนกันในทั้งสองกรณี ที่ผู้กล่าวว่า “เราเป็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย” ในวิวรณ์ 1:17 เป็นบุคคลเดียวกับพระยาห์เวห์พระเจ้า?

      การพูดว่า “เราเป็นเบื้องต้นและเราเป็นเบื้องปลาย นอกจากเราแล้วไม่มีพระเจ้าอื่น” (อิสยาห์ 44:6) นั้น พระยาห์เวห์ทรงสำแดงพระองค์เองว่าเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียว ซึ่งเป็นการระบุตัวตนที่ไม่สามารถใช้ได้กับพระเยซู เพราะนั่นจะเป็นการกันไม่ให้พระบิดาของพระองค์เป็นพระเจ้า (ซึ่งตรงข้ามกับยอห์น 17:3 ซึ่งกล่าวว่า พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว)[27]

      อย่างไรก็ตาม คำเรียกพระเจ้าอย่างแท้จริงที่แสดงถึงความเหนือกาลเวลาของพระเจ้า ซึ่งมีรากฐานมาจากการเปิดเผยพระองค์เองของพระเจ้าต่อโมเสสที่พุ่มไม้ที่ลุกโชน นั่นก็คือ “ผู้ทรงเป็นอยู่ ผู้ทรงเคยเป็นอยู่และผู้ที่จะเสด็จมา” (วิวรณ์ 1:4,8; 4:8) คำที่เรียกพระเจ้านี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ของวิวรณ์และไม่เคยใช้กับพระเยซู ซึ่งเป็นความจริงที่สอดคล้องกับความเชื่อที่แน่วแน่ว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวของวิวรณ์

      มันสอดคล้องกับคำสอนในพระคัมภีร์มากกว่าที่จะบอกว่า พระเจ้าได้ทรงมอบคำเรียกและพระลักษณะของพระองค์บางอย่างให้กับพระคริสต์  พระคริสต์ทรงทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจเต็มของพระเจ้า ที่เมื่อพระองค์ตรัส ก็คือพระเจ้าเป็นผู้ตรัสผ่านพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงกระทำสิ่งใด ก็คือองค์ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุดเป็นผู้ทรงทำงานในพระองค์  และเมื่อพระองค์เสด็จมาในพระนามของพระบิดาของพระองค์ พระเจ้าก็เสด็จเข้ามาในพระองค์ (วิวรณ์  22:12-13)[28]

 

ลูกแกะเมษโปดกที่ถูกฆ่า

      ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า คำเรียกบ่อยมากที่สุดของพระเยซูคริสต์ในวิวรณ์ก็คือ “พระเมษโปดก”  คำนี้ใช้กับพระองค์ในหนังสือวิวรณ์ 28 ครั้ง (= 4 x 7  ตัวเลข 4 และ 7 ที่สำคัญฝ่ายวิญญาณ มีปรากฏอยู่ทั่ววิวรณ์)

      ในวิวรณ์ 13:11  มี “ลูกแกะ” อีกตัวหนึ่งที่ปรากฏตัวในโลกโดยเลียนแบบเหมือนลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้าโดยมีจุดประสงค์เพื่อหลอกลวงโลก ดังที่กล่าวว่า “แล้วข้าพเจ้าเห็นสัตว์ร้ายอีกตัวหนึ่งขึ้นมาจากแผ่นดิน มันมีสองเขาเหมือนลูกแกะ และพูดเหมือนอย่างพญานาค”  ลูกแกะที่ต่างกันนี้จากการใช้คำเรียกว่า “ลูกแกะ” นั้นเป็นสัญลักษณ์ของ “พระคริสต์องค์ที่ต่างกัน” (เปรียบเทียบ 2 โครินธ์ 11:4)[29]

      การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู ผู้เป็นลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้าเพื่อลบล้างบาป เป็นหัวใจสำคัญของพระคัมภีร์ใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เน้นเด่นชัดขึ้นในวิวรณ์ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์ที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นจุดสำคัญสุดและข้อสรุปของพระคัมภีร์ใหม่  วิวรณ์เป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่ความสุขจะมีแก่ผู้ที่อ่าน (วิวรณ์ 1:3; 22:7)  ในวิวรณ์นี้ พระเยซูทรงโดดเด่นในฐานะลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้าที่ถูกประหาร

      หนึ่งในสามของพระกิตติคุณสามเล่มแรกแต่ละเล่ม (มัทธิว มาระโก ลูกา) เน้นไปที่ช่วงสุดท้ายของชีวิตพระเยซู นั่นก็คือ เน้นที่ความทุกข์ทรมานและความตายของพระองค์  หัวข้อนี้ยังเน้นย้ำมากขึ้นในยอห์น คือเกือบครึ่งหนึ่งของพระกิตติคุณยอห์น มุ่งเน้นไปที่ช่วงสุดท้ายของชีวิตพระเยซู กับการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์

      การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ได้บอกไว้ล่วงหน้าตั้งแต่การประสูติของพระเยซูแล้ว ด้วยภาพของดาบที่แทงหัวใจมารดาของพระองค์ (ลูกา 2:35)

      คำเรียกลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวิวรณ์ปรากฏอยู่ในช่วงต้นของพระกิตติคุณยอห์นแล้ว (ยอห์น 1:29,36)[30]  สาระสำคัญของลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้านั้นแทรกซึมอยู่ในพระคัมภีร์ใหม่  นั่นเป็นจุดศูนย์กลางของทุกคำสอนที่แผ่ครอบคลุมคำสอนของพระคัมภีร์ใหม่  ในทางกลับกันนั้น ทุกคำสอนในพระคัมภีร์ใหม่เกี่ยวข้องกับจุดศูนย์กลางนี้ เพราะตราบที่คำสอนในพระคัมภีร์ใหม่แผ่ออกมาจากจุดศูนย์กลางนี้ มันก็สามารถถูกโยงกลับไปได้

      ใน 1 โครินธ์ 5:7[31] เปาโลอ้างอิงถึงภาพของลูกแกะปัสกา แม้ว่าเขาจะเขียนบ่อยกว่าถึงความทุกข์ทรมาน ความตาย และการคืนพระชนม์ของพระเยซูด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า  ความทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์ปรากฏเด่นชัดมากในหนังสือฮีบรู อีกทั้งในคำสั่งสอนของอัครทูตหลังวันเทศกาลเพ็นเทคอสต์ในหนังสือกิจการ

      หากปราศจากลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้า ก็จะไม่มีการบังเกิดใหม่ ไม่มีการสร้างใหม่ และไม่มีความสมบูรณ์แบบในชีวิตของผู้เชื่อ  เมื่อเราเห็นสิ่งที่ล้ำลึกของลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้า เราก็จะเข้าใจสิ่งที่ล้ำลึกของพระคัมภีร์ใหม่  ลูกแกะเมษโปดกของพระเจ้าเป็นบ่อน้ำพุที่ทุกสิ่งไหลมาจากที่นั่น  นี่เป็นจุดศูนย์กลางของพระคัมภีร์ใหม่ ส่วนที่เหลือเป็นการขยายความและการนำมาประยุกต์ใช้

      ลูกแกะที่ถวายบูชาจะต้องไม่มีจุดด่างพร้อยหรือมีตำหนิ (1 เปโตร 1:19)[32]  นั่นเป็นเหตุผลที่มีแต่พระเยซูผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเท่านั้นที่สามารถเป็น “พระผู้ช่วยโลกให้รอด” (ยอห์น 4:42; 1 ยอห์น 4:14)[33] “ไม่มีนามอื่นท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า ซึ่งให้เราทั้งหลายรอดได้” (กิจการ 4:12)[34]

 

พระเยซูไม่เคยรับการนมัสการในวิวรณ์

      คำภาษากรีกของ “นมัสการ” คือ proskyneō  ซึ่งมีปรากฏ 60 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ โดยพบ 24 ครั้ง (40%) ในวิวรณ์  นั่นเป็นจำนวนปรากฏที่มากสำหรับหนังสือเล่มเดียว แต่การปรากฏทั้ง 24 ครั้งของ proskyneō ในวิวรณ์ไม่ได้อ้างถึงพระเยซูเลย โดยยกเว้นข้อเดียวที่อาจเป็นไปได้!  เป้าหมายของการนมัสการในวิวรณ์คือพระยาห์เวห์แต่ผู้เดียว ไม่ใช่พระเยซูคริสต์

      ความจริงข้อนี้อาจทำให้คริสเตียนรู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าหนังสือวิวรณ์ให้ความสำคัญกับพระเยซูน้อยกว่าพระเจ้ามาก  พระนามของ “พระเยซู” มีปรากฏเพียง 14 ครั้งในวิวรณ์ ซึ่งเป็นจำนวนน้อยเพราะว่า “พระเยซู” มีปรากฏประมาณ 917 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ (แม้แต่ฟีลิปปีซึ่งเป็นจดหมายสั้นๆ ก็ยังมีปรากฏถึง 22 ครั้ง)  คำว่า “พระคริสต์” มีปรากฏมากกว่า 500 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ แต่มีปรากฏเพียง 7 ครั้งในวิวรณ์ (เทียบกับ 46 ครั้งในเอเฟซัส)  นี่ไม่ได้ชี้ให้เห็นหรือว่าพระเยซูคริสต์ไม่ใช่บุคคลผู้เป็นศูนย์กลางในวิวรณ์?

      ในพจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษฉบับ BDAG และ Thayer นั้นโดยพื้นฐานแล้ว proskyneō หมายถึง “การคุกกราบลง” (ดูรายละเอียดทั้งหมดในบทที่ 8)  คำนี้สามารถใช้ในความหมายที่อ่อนน้อม (การคุกกราบลงโดยไม่ได้นมัสการ) หรือในความหมายที่จดจ่อแน่วแน่ (นมัสการ)  ตัวอย่างของความหมายที่อ่อนน้อมจะพบในวิวรณ์ 3:9เราจะทำให้พวกเขามาและหมอบลงแทบเท้าของเจ้า และรับรู้ว่าเรารักพวกเจ้า” (ฉบับ NIV)  การหมอบกราบตรงนี้ไม่ใช่การนมัสการ แต่เป็นการนอบน้อมต่อหน้าบรรดาผู้เชื่อ

      มันจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจกับผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพที่หนังสือวิวรณ์ไม่เคยใช้ proskyneō กับพระเยซู ไม่ว่าจะด้วยความหมายที่อ่อนน้อมและความหมายที่จดจ่อแน่วแน่ โดยมีข้อยกเว้นเพียงอย่างเดียวและจำกัดของวิวรณ์ 5:14  เพื่อให้เห็นสิ่งนี้ ตอนนี้เราจะอธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับ proskyneō ในวิวรณ์ และต่อไปเราจะเจออีกคำคือ piptō (ทรุดตัวลง)

      คำว่า proskyneō ใช้สองครั้งกับการหมอบกราบลงของยอห์นตรงหน้าทูตสวรรค์ที่สำแดงให้เขาเห็นสิ่งต่างๆในสวรรค์ ข้าพเจ้าก็หมอบลงแทบเท้าของท่านเพื่อนมัสการท่าน” (วิวรณ์ 19:10) และ “ข้าพเจ้าก็หมอบลงนมัสการแทบเท้าทูตสวรรค์ที่สำแดงสิ่งเหล่านี้แก่ข้าพเจ้า” (วิวรณ์ 22:8)  ยอห์นหมอบกราบลงตรงหน้าทูตสวรรค์ แต่ทูตสวรรค์หยุดเขาไว้และพูดว่า “ท่านอย่าทำแบบนี้!  เราเป็นผู้ร่วมรับใช้เช่นเดียวกับท่านและพวกพี่น้องของท่านซึ่งเป็นผู้เผยพระวจนะ และพวกที่ถือรักษาถ้อยคำในหนังสือนี้  จงนมัสการพระเจ้าเถิด” (วิวรณ์ 22:9)

 

      ในวิวรณ์ 1:17 ยอห์นทรุดตัวลงแทบพระบาทของพระเยซูด้วยความกลัว แต่คราวนี้คำที่ใช้ไม่ใช่ proskyneō แต่เป็น piptō (ล้มลง)

 

เมื่อเห็นพระองค์ ข้าพเจ้าก็ล้มลงแทบพระบาทเหมือนกับตายแล้ว จากนั้นพระองค์ทรงวางพระหัตถ์ขวาบนข้าพเจ้าและตรัสว่า “อย่ากลัวเลย เราเป็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย” (วิวรณ์ 1:17 ฉบับ NIV)

 

       อีกสองสามบทต่อมาในวิวรณ์ 5:8 ก็มีการใช้ piptō อีกครั้งเกี่ยวกับพระเยซู “สิ่งมีชีวิตทั้งสี่และผู้อาวุโสยี่สิบสี่คนนั้น ก็ทรุดตัวลงต่อพระพักตร์พระเมษโปดก”  ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษทั้งหมดแปลคำ piptō ตรงนี้ว่า “ล้มลง” (หรือที่คล้ายกัน) แทนที่จะแปลว่า “นมัสการ”

      มีการใช้ piptō ที่คล้ายกันนี้อีกเพียงครั้งเดียวในวิวรณ์  ในกรณีนี้พระเมษโปดกไม่ได้อยู่ตามลำพัง แต่อยู่เบื้องขวาของพระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่ง

 

“ขอถวายคำสดุดี พระเกียรติ พระสิริและเดชานุภาพ แด่พระองค์ผู้ประทับบนพระที่นั่งและแด่พระเมษโปดก ตลอดไปเป็นนิตย์! สิ่งมีชีวิตทั้งสี่​​ร้องว่า “อาเมน” และพวกผู้อาวุโสก็ทรุดตัวลง (piptō) และนมัสการ (proskyneō) (วิวรณ์ 5:13-14 ฉบับ NIV)

 

      วิวรณ์ 5:8 และ 5:13-14 พระคัมภีร์สองตอนที่เพิ่งอ้างถึงนี้ เป็นเพียงสองตอนเท่านั้นในวิวรณ์ที่เข้ามาใกล้การนมัสการพระเยซู  ในวิวรณ์ 5:8 ที่สิ่งมีชีวิตทั้งสี่และผู้อาวุโสยี่สิบสี่คนก็ทรุดตัวลงต่อพระพักตร์พระเยซู แต่ไม่มีการกล่าวถึงการนมัสการ  ในวิวรณ์  5:14 ที่เพิ่งอ้างถึง เราจะเห็นคำภาษากรีกสองคำที่กล่าวถึงข้างต้น คือ piptō (แปลว่า “ทรุดตัวลง”) และ proskyneō (แปลว่า “นมัสการ”)  ครั้งนี้การนมัสการถูกกล่าวถึงก็เพราะส่วนใหญ่แล้วการนมัสการมุ่งไปที่พระองค์ผู้ที่ “ประทับบนพระที่นั่ง” ซึ่งก็คือพระเจ้า

      นี่เป็นข้อสังเกตที่สำคัญ นั่นคือ ในหนังสือวิวรณ์ที่นอกเหนือจาก 5:14 แล้ว คำว่า proskyneō จะอ้างถึงพระเจ้าเสมอ และไม่เคยหมายถึงพระเยซูโดยไม่มีข้อยกเว้นเลย[35]  ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อ proskyneō ได้ใช้กับทั้งพระเจ้าและพระเยซูในวิวรณ์ 5:14 ข้อเดียวนั้น ก็จะเป็นพระเจ้าและไม่ใช่พระเยซูที่เป็นเหตุผลหลักของการใช้ proskyneō  สิ่งนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าในบริบทถัดมาของวิวรณ์ 5:14 บุคคลที่เป็นจุดศูนย์กลางก็คือพระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์

      เรานึกถึงวิธีที่ชาวอิสราเอลกราบลงต่อพระเจ้าและต่อกษัตริย์ดาวิด (โปรดสังเกตคำที่เน้น)

 

1 พงศาวดาร 29:20  แล้วดาวิดก็ตรัสกับชุมนุมชนทั้งหมดว่า “บัดนี้ จงสรรเสริญพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทั้งหลาย!”  และชุมนุมชนทั้งหมดก็สรรเสริญพระยาห์เวห์พระเจ้าของบรรพบุรุษของพวกเขาทั้งหลาย และ​​กราบถวายบังคมต่อพระยาห์เวห์ และต่อกษัตริย์ (ฉบับ NJB)[36]

 

      ในต้นฉบับภาษาฮีบรูของข้อนี้ มีคำ YHWH ปรากฏสามครั้ง  ข้อนี้ในฉบับ LXX คำที่แปลว่า “กราบถวายบังคม” ก็คือ proskyneō เป็นคำเดียวกันเลยกับที่ใช้ในวิวรณ์ 5:14  การใช้ proskyneō ใน 1 พงศาวดาร 29:20 เป็นสิ่งสำคัญเพราะมันบอกกับเราว่า ผู้แปลฉบับ LXX ไม่ได้ลังเลที่จะใช้ proskyneō กับดาวิดในเมื่อ proskyneō ก็ใช้กับพระยาห์เวห์ด้วย!  ความคล้ายคลึงกันระหว่างดาวิดใน 1 พงศาวดาร 29:20  กับพระเยซูในวิวรณ์ 5:14 เด่นชัดมากขึ้นด้วยความจริงที่ว่า พระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ตามที่ได้เผยพระวจนะไว้จากเชื้อสายของดาวิด

      เราสังเกตว่าใน 1 พงศาวดาร 29:20 นั้น บุคคลหลักที่มุ่งหมายให้รับการนมัสการนั้นไม่ใช่ดาวิด แต่เป็นพระยาห์เวห์ด้วยข้อเท็จจริงที่ดาวิดกล่าวว่า “บัดนี้ จงสรรเสริญพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทั้งหลาย”  แต่นั่นก็ไม่ได้ตัดโอกาสดาวิดในการมีส่วนร่วมกับพระยาห์เวห์ในฐานะผู้รับ proskyneō

      การใช้คำ piptō และ proskyneō รวมกันมีปรากฏในวิวรณ์ 7:11 แต่ไม่ได้อ้างอิงถึงพระเยซู

 

... พวกเขาหมอบซบหน้าลงต่อหน้าพระที่นั่งและนมัสการพระเจ้า ร้องว่า “อาเมน! ขอให้คำสรรเสริญ พระสิริ พระปัญญา คำขอบพระคุณ พระเกียรติ ฤทธานุภาพ และพระกำลัง มีแด่พระเจ้าของเราสืบๆ ไปเป็นนิตย์ อาเมน!” (วิวรณ์ 7:11-12 ฉบับ NIV)

 

      มีการกล่าวถึงพระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์ แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงพระเมษโปดก  การใช้ piptō และ proskyneō รวมกันจะเห็นได้อีกในข้อต่อไปนี้

 

แล้วผู้อาวุโสทั้งยี่สิบสี่คนซึ่งนั่งบนบัลลังก์ของตนต่อหน้าพระเจ้า ก็หมอบกราบลงนมัสการพระเจ้า ทูลว่า “ข้าแต่องค์ผู้เป็นเจ้า พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ผู้ทรงเป็นอยู่และผู้ทรงเคยเป็นอยู่ พวกข้าพระองค์ขอบพระคุณพระองค์ เพราะพระองค์ได้ทรงสำแดงฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ของพระองค์ และได้ทรงเริ่มครอบครองแล้ว”  (วิวรณ์ 11:16-17 ฉบับ NIV)

 

      ผู้อาวุโสทั้ง 24 คนขอบพระคุณพระองค์ “ผู้ที่เป็นอยู่และผู้เคยเป็นอยู่” ซึ่งเป็นคำเรียกของพระยาห์เวห์ที่เราได้เห็นแล้ว  ผู้อาวุโสทั้งหมดก็หมอบกราบนมัสการพระเจ้า แต่ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงพระเมษโปดกอีกเช่นกัน

      ข้อสุดท้ายในวิวรณ์ที่มีทั้ง piptō และ proskyneō ก็คือวิวรณ์ 19:4 ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงพระเมษโปดกเลยว่า “และ​​ผู้อาวุโสทั้ง 24 คนกับสิ่งมีชีวิตทั้งสี่ ก็ทรุดตัวลงนมัสการพระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่ง

      ในสมัยที่เป็นผู้เชื่อในตรีเอกานุภาพ ผมเห็นว่าพระเยซูทรงเป็นศูนย์กลางของการนมัสการในวิวรณ์  แต่ว่ามีเพียงข้อเดียวนี้ (วิวรณ์  5:14) ที่สนับสนุนความเป็นไปได้ในเรื่องนั้น แต่ข้อสนับสนุนก็อ่อนน้ำหนักด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า พระเมษโปดกไม่ได้ปรากฏพระองค์แต่เพียงลำพัง แต่ทรงอยู่ข้างๆพระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่ง  มีกรณีเดียวของการยกย่องเทิดทูนพระเยซูตามลำพังองค์เดียวก็คือในวิวรณ์ 5:8[37] แต่ไม่ใช่ด้วยคำ proskyneō แต่ด้วยคำ piptō  ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้แปลว่า “นมัสการ” ในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษทั้งหลาย  อันที่จริงวิวรณ์ 5:8 แทรกอยู่กลางระหว่างบทวิวรณ์บทที่ 4 กับบทที่ 6 ซึ่งทั้งสองบทมีศูนย์กลางอยู่ที่การนมัสการพระยาห์เวห์

      ศูนย์กลางของการนมัสการในวิวรณ์นั้นไม่ใช่พระเมษโปดก แต่เป็นผู้ที่ประทับอยู่บนพระที่นั่งของพระองค์  พระเมษโปดกไม่ใช่ผู้ครอบครองหลักของพระที่นั่งนั้น เพราะพระที่นั่งนั้นเป็นของ พระเจ้าผู้ที่ถูกกล่าวถึงหลายครั้งมากว่าประทับบนพระที่นั่งนั้น  พระเยซูทรงมีพระที่นั่งของพระองค์เองที่ต่างจากพระที่นั่งของพระเจ้า (วิวรณ์ 3:21)[38]  เราได้นั่งกับพระเยซูบนพระที่นั่งของพระองค์เหมือนที่พระเยซูทรงได้นั่งกับพระบิดาของพระองค์บนพระที่นั่งของพระบิดาของพระองค์

      หนังสือวิวรณ์ยึดมั่นอย่างมากกับความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียว  ในนิมิตในสวรรค์ของยอห์นนั้น ไม่มีผู้ใดนอกจากพระเจ้าที่ได้รับการนมัสการเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด และพระองค์คือผู้ที่ประทับบนพระที่นั่งตรงกลาง

 

 

ข้อสังเกตเพิ่มเติม: การเสด็จกลับมาอีกครั้งของพระยาห์เวห์

วิวรณ์ 22:12-13  12“ดูเถิด เราจะมาในเร็วๆนี้ และจะนำบำเหน็จของเรามาด้วย เพื่อตอบแทนตามการกระทำของแต่ละคน  13เราคืออัลฟาและโอเมกา เป็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นปฐมและอวสาน”

 

      เราไม่สามารถจะสรุปจากพระคัมภีร์ตอนนี้ว่าเป็นเพราะข้อ 12 มีคำว่า “เราจะมาในเร็วๆนี้” พระคัมภีร์ตอนนี้จึงหมายถึงพระเยซู  เนื่องจากการที่ความเชื่อในตรีเอกานุภาพกันไม่ให้พระยาห์เวห์มีความสำคัญในคริสตจักร นั่นจึงไม่ได้รับรู้กันโดยทั่วไปว่า พระสิริของพระยาห์เวห์จะถูกสำแดงเมื่อพระเยซูเสด็จกลับมา  นี่ไม่ได้เป็นการปฏิเสธว่าวิวรณ์พูดถึงการเสด็จกลับมาของพระเยซู (วิวรณ์ 1:7; 22:20)[39]  ถึงกระนั้นก็ยังมีความสำคัญพอๆกันที่ต้องสังเกตว่า พระคัมภีร์หลายข้อที่อยู่นอกวิวรณ์พูดถึงการเสด็จมาของพระยาห์เวห์ในภาพเหตุการณ์ต่างๆกัน เช่น “พระยาห์เวห์เสด็จจากซีนาย และทรงฉายแสงอรุณจากเสอีร์” (เฉลยธรรมบัญญัติ 33:2); “พระเจ้าของเราเสด็จมา” (สดุดี 50:3) หรือที่ “พระยาห์เวห์พระเจ้าของข้าพเจ้าจะเสด็จมา” (เศคาริยาห์ 14:5); “พระยาห์เวห์ทรงเมฆที่เคลื่อนมาอย่างรวดเร็ว และเสด็จมายังอียิปต์” (อิสยาห์ 19:1); “พระสิริของพระยาห์เวห์จะถูกเผยให้เห็น และมนุษย์ทุกคนจะมองเห็นด้วยกัน” (อิสยาห์ 40:5); “องค์พระผู้เป็นเจ้ากำลังเสด็จมาพร้อมกับผู้บริสุทธิ์ของพระองค์​​เป็นหมื่นๆ” (ยูดา 1:14)  เราเห็นสิ่งนี้เช่นกันในวิวรณ์

 

วิวรณ์ 6:15-17 15 [คนทั้งหลายในโลก พวกคนใหญ่คนโตและต่ำต้อย] ต่างซ่อนตัวอยู่ในถ้ำและโขดหินตามภูเขา 16 พวกเขาร้อง​​กับภูเขาและโขดหินว่า “จงล้มทับเราและจงซ่อนเราไว้ให้พ้นจากพระพักตร์ของพระองค์ผู้ประทับอยู่บนพระที่นั่ง และจากพระพิโรธของพระเมษโปดก  17 เพราะว่าวันสำคัญแห่งพระพิโรธของพวกพระองค์มาถึงแล้ว และใครจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้เล่า” (ฉบับ ESV)

 

       คำพหูพจน์ว่า “ของพวกพระองค์” (“พระพิโรธของพวกพระองค์”) ตรงนี้หมายถึงสองบุคคล คือพระยาห์เวห์พระเจ้าผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์และพระเยซูคริสต์พระเมษโปดก  ถ้าพระยาห์เวห์ไม่ปรากฏให้เห็นในแบบที่มองเห็นได้ (สังเกตคำว่า “พระพักตร์”) แล้วทำไมผู้คนทั้งหลายในโลกนี้จึงพยายามซ่อนตัวจากพระองค์เล่า?  พระยาห์เวห์ผู้ประทับบนพระที่นั่งของพระองค์นั้นถูกกล่าวถึงก่อนพระเมษโปดก เพราะการเสด็จมาเกี่ยวข้องกับพระยาห์เวห์และพระเมษโปดกด้วย

       ในวิวรณ์ 22:7 เป็นคำประกาศว่า “นี่แน่ะ เราจะมาในเร็วๆนี้”  สองข้อก่อนหน้านี้พูดถึงพระเจ้า คือ “พระเจ้า” (ข้อ 5)[40] และ “พระเจ้าแห่งดวงวิญญาณของเหล่าผู้เผยพระวจนะ” (ข้อ 6)[41] ซึ่งตรงกันข้ามกับความคาดหวังของเรา  ข้อ 3 พูดถึง “พระที่นั่งของพระเจ้าและของพระเมษโปดก”[42] ซึ่งแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระเจ้ากับพระเมษโปดกอีกเช่นกัน  ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าพระยาห์เวห์เป็นผู้ที่กำลังตรัสในข้อ 7 (นี่แน่ะ เราจะมาในเร็วๆนี้) และพระองค์จะเสด็จกลับมาพร้อมกับพระเมษโปดก


[1] ยอห์น 17:3 “และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา”

[2] H.A.W. Meyer; J.P. Lange; ทั้งสองคำกล่าวนี้ยกมาจากคู่มือวิเคราะห์และตีความวิวรณ์ของยอห์นโดย เอช เอ ดับบลิว มายเออร์ (หน้า 95) และคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ของแลงก์เกี่ยวกับพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ (เกี่ยวกับวิวรณ์ 1:1)

[3] IVP New Testament Commentary

[4] ยอห์น 7:16-17 พระเยซูจึงตรัสตอบพวกเขาว่า “คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นของผู้ทรงใช้เรามา ถ้าใครตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ คนนั้นก็จะรู้ว่าคำสอนนี้มาจากพระเจ้า หรือว่าเราพูดตามใจชอบเอง”

[5] หมายถึงการเป็นขึ้นจากความตาย และการเสด็จสู่สวรรค์ (ผู้แปล)

[6] คำทักทายนี้ปรากฏในโรม 1:7; 1 โครินธ์ 1:3; 2 โครินธ์ 1:2; กาลาเทีย 1:3; เอเฟซัส 1:2; ฟีลิปปี 1:2; 2 เธสะโลนิกา 1:2; ฟีเลโมน 1:3

[7] ถ้าวิญญาณทั้งเจ็ดที่อยู่หน้าพระที่นั่งของพระเจ้า (วิวรณ์ 1:4) ถูกเข้าใจว่าเป็นวิญญาณจริง วิญญาณเหล่านั้นอาจเป็น “ทูตสวรรค์เจ็ดองค์ที่ยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้า” (วิวรณ์ 8:2) โดยทูตสวรรค์ทั้งปวงเป็น “วิญญาณผู้ปรนนิบัติ” (ฮีบรู 1:14)  นอกจากนี้วิวรณ์ 3:1 ยังพูดถึง “วิญญาณทั้งเจ็ดของพระเจ้าและ​​ดาวเจ็ดดวง” ที่ดาวเจ็ดดวงก็คือบรรดาทูตสวรรค์ของคริสตจักรทั้งเจ็ด (วิวรณ์ 1:20) นั้น บ่งบอกว่า “วิญญาณทั้งเจ็ดของพระเจ้า” อาจเป็นทูตสวรรค์เช่นกัน  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจมีความคล้ายกันระหว่างสามชุดของจำนวนเจ็ดดังนี้คือ วิญญาณทั้งเจ็ดที่อยู่หน้าพระที่นั่งของพระเจ้า (วิวรณ์ 1:4), วิญญาณทั้งเจ็ดของพระเจ้า (วิวรณ์ 3:1), และทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดที่ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า (วิวรณ์ 8:2), โดยทูตสวรรค์ทั้งปวงเป็นวิญญาณผู้ปรนนิบัติ (ฮีบรู 1:14)  มีอีกสองข้อที่อาจเกี่ยวข้องกัน  วิวรณ์ 4:5 เทียบ วิญญาณทั้งเจ็ดของพระเจ้า” กับ “เจ็ดคบเพลิง” ต่อหน้าพระที่นั่ง ซึ่งทำให้นึกขึ้นได้ว่าทูตสวรรค์คือ “เปลวเพลิง” (ฮีบรู 1:7)  วิวรณ์ 5:6 พูดถึง “พระวิญญาณทั้งเจ็ดของพระเจ้า ที่พระเจ้าทรงส่งออกไปทั่วแผ่นดินโลก” เป็นการเตือนเราว่า “ทูตสวรรค์” (ผู้สื่อสาร) ได้ถูก “ส่ง” ออกไป (วิวรณ์ 22: 6,16)

[8] คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” นี้หมายถึง “พระยาห์เวห์” ซึ่งวิวรณ์ 4:8 อ้างอิงมาจากอิสยาห์ 6:3 ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ พระยาห์เวห์จอมทัพ” (ผู้แปล)

[9] Pulpit Comment­ary; Alford’s Greek Testa­ment; Expositor’s Bible Commentary

[10] อพยพ 3:14 พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” แล้วพระองค์ตรัสว่า “ไปบอกชนชาติอิสราเอลดังนี้ว่า ‘พระองค์ผู้ทรงพระนามว่า เราเป็นทรงใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย’”

[11] Tg. Ps.-J. (Targum Pseudo-Jonathan)

[12] คือการกที่ประธานของประโยคเป็นผู้กระทำ และสัมพันธการก คือการกที่แสดงความเป็นเจ้าของ (ผู้แปล)

[13] the first and the last” หรือแปลว่า “คนแรกและคนสุดท้าย” (ผู้แปล)

[14] หรือแปลว่า “ผู้นำ” จากคำกรีก “archegos”, ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “ผู้ริเริ่ม”,  ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “ผู้เบิกทาง”,  ฉบับ 1971  แปลว่า “ผู้บุกเบิก” (“archegos” คำเดียวกันนี้ใช้ในฮีบรู 2:10 ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “ผู้ที่เป็นนาย” ใช้ในกิจการ 5:31 ฉบับมาตรฐาน 2011 ว่า “องค์พระผู้นำ”) ผู้แปล

[15] fixing our eyes on Jesus, the author and perfecter of faith” (Heb. 12:2 NAU) ฉบับไทยคิงเจมส์แปลว่า “หมายเอาพระเยซูเป็นผู้ริเริ่มความเชื่อ และผู้ทรงทำให้ความเชื่อของเราสำเร็จ” ฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “โดยจับตามองที่พระเยซูผู้เบิกทางความเชื่อ และผู้ทรงทำให้ความเชื่อนั้นสมบูรณ์” (ผู้แปล)

[16] 1 โครินธ์ 15:27-28  27เพราะว่า “พระเจ้าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจภายใต้พระบาทของพระบุตร” แต่เมื่อพระคัมภีร์กล่าวว่าทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจนั้น ก็รู้ชัดกันอยู่แล้วว่า ยกเว้นพระเจ้าผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์  28 เมื่อทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์แล้ว เมื่อนั้นพระบุตรพระองค์เองก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า ผู้ทรงให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ เพื่อพระเจ้าจะทรงเป็นเอกในทุกสิ่ง

[17] ฉบับ ESV และฉบับอื่นๆคือ priests to his God and Father.” (Rev.1:6) พระคัมภีร์ภาษาไทยมีเพียงฉบับอมตธรรมร่วมสมัยที่แปลว่า “พระเจ้าและพระบิดาของพระองค์”  ส่วนฉบับอื่นๆไม่ได้แปลคำว่า “และ” (พระเจ้าพระบิดาของพระองค์) ผู้แปล

[18] 2 ทิโมธี 1:9 “ผู้ทรงช่วยเราให้รอด และทรงเรียกเราด้วยการทรงเรียกอันบริสุทธิ์ ไม่ใช่ตามการกระทำของเรา แต่ตามพระประสงค์และพระคุณของพระองค์เอง คือพระคุณที่ประทานแก่เราในพระเยซูคริสต์ก่อนเริ่มต้นของกาลเวลา”

[19] วิวรณ์  1:12-13 “แล้วข้าพเจ้าก็หันกลับมาดูตรงที่พระสุรเสียงตรัสกับข้าพเจ้านั้นและเมื่อหันกลับมาแล้วข้าพเจ้าก็เห็นคันประทีปทองคำเจ็ดคัน ในท่ามกลางคันประทีปเหล่านั้นมีผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์ ทรงฉลองพระองค์ยาวคลุมพระบาท และทรงคาดแถบทองคำที่พระอุระ”  

[20] อพยพ 25:37 “และเจ้าจงทำตะเกียงเจ็ดดวงสำหรับคันประทีปนั้น แล้วตั้งไว้บนยอดแต่ละกิ่งให้ส่องสว่างบริเวณหน้าคันประทีป”

[21] วิวรณ์ 1:20  ดาว​เจ็ด​ดวง​ก็​คือ​บรรดา​ทูต​สวรรค์​ของ​คริสต​จักร​ทั้ง​เจ็ด และ​คัน​ประ​ทีป​เจ็ด​คัน​นั้น​ก็​คือ​คริสต​จักร​ทั้ง​เจ็ด

[22] ปฐมกาล 1:27 “พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้นพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น”

[23] โคโลสี 1:15 “พระคริสต์ทรงเป็นพระฉายาของพระเจ้าผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา ทรงเป็นบุตรหัวปีเหนือทุกสิ่งที่ทรงสร้าง

[24] เอเสเคียล 43:2 “พระสิริของพระเจ้าแห่งอิสราเอลมาจากทิศตะวันออก และพระสุรเสียงของพระองค์ก็เหมือนเสียงน้ำไหลแรง

[25] อิสยาห์ 44:6 พระ​ยาห์​เวห์ พระ​มหา​กษัตริย์​ของ​อิส​รา​เอล และ​พระ​ผู้​ไถ่​ของ​เขา พระ​ยาห์​เวห์​จอม​ทัพ ตรัส​ดัง​นี้​ว่า “เรา​เป็น​เบื้องต้น​และ​เรา​เป็น​เบื้อง​ปลาย นอก​จาก​เรา​แล้ว​ไม่​มี​พระ​เจ้า”

[26] อิสยาห์ 48:12 จงฟังเรา โอ ยาโคบ อิสราเอล ผู้ซึ่งเราเรียก เราคือผู้นั้น เราเป็นเบื้องต้นและเราเป็นเบื้องปลาย”

[27] ยอห์น 17:3 “และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา

[28] วิวรณ์  22:12-13 “นี่แน่ะ เราจะมาในเร็วๆนี้ และจะนำบำเหน็จของเรามาด้วย เพื่อตอบแทนตามการกระทำของแต่ละคน  เราคืออัลฟาและโอเมกา เป็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นปฐมและอวสาน”

[29] 2 โครินธ์ 11:4 “เพราะว่าถ้าใครมาเทศนาถึงพระเยซูอีกองค์หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่องค์ที่เราเคยเทศนานั้น หรือถ้าพวกท่านรับพระวิญญาณ ซึ่งแตกต่างจากที่ท่านเคยรับนั้น หรือรับข่าวประเสริฐซึ่งแตกต่างกับที่พวกท่านเคยรับไว้แล้ว ท่านทั้งหลายก็ช่างอดกลั้นดีจริงๆ”

[30] ยอห์น 1:36 และท่านมองดูพระเยซูขณะที่พระองค์เสด็จผ่านไป และท่านกล่าวว่า “จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้า”

[31] 1 โครินธ์ 5:7จงชำระเชื้อเก่าเสีย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นแป้งดิบก้อนใหม่ ดังเช่นที่ท่านเป็นพวกไร้เชื้อ เพราะพระคริสต์ผู้ทรงเป็นปัสกาของเราถูกถวายบูชาแล้ว

[32] 1 เปโตร 1:19  “แต่ด้วยพระโลหิตล้ำค่าของพระคริสต์ ดังเลือดลูกแกะที่ไร้ตำหนิและไร้จุดด่างพร้อย

[33] ยอห์น 4:42 พวกเขาพูดกับหญิงคนนั้นว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ที่เราเชื่อนั้นไม่ใช่เพราะคำพูดของเจ้า แต่เพราะเราได้ยินเอง และเรารู้ว่าท่านผู้นี้เป็นพระผู้ช่วยโลกให้รอดที่แท้จริง”

[34] กิจการ 4:12 ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย เพราะว่านามอื่นซึ่งให้เราทั้งหลายรอดได้นั้น ไม่โปรดให้มีท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า

[35] ยกเว้นการปรากฏของ proskyneō ที่กล่าวถึงการบูชา (นมัสการ) สัตว์ร้าย

[36] ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “เขาทั้งปวงก็หมอบกราบต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าและกษัตริย์” และฉบับมาตรฐาน 2011 แปลว่า “และเขาทั้งหลายก้มลงนมัสการพระยาห์เวห์ และถวายบังคมแด่พระราชา” (ผู้แปล)

[37] วิวรณ์ 5:8 เมื่อพระองค์ทรงรับหนังสือนั้นแล้ว สิ่งมีชีวิตทั้งสี่และผู้อาวุโสยี่สิบสี่คนนั้น ก็ทรุดตัวลงเฉพาะพระพักตร์พระเมษโปดก แต่ละคนถือพิณและถือชามทองคำบรรจุเครื่องหอม ซึ่งเป็นคำอธิษฐานของบรรดาธรรมิกชน”

[38] วิวรณ์ 3:21 “คนที่ชนะ เราจะให้เขานั่งกับเราบนพระที่นั่งของเรา เหมือนอย่างที่เรามีชัยชนะแล้ว และได้นั่งกับพระบิดาของเราบนพระที่นั่งของพระองค์

[39] วิวรณ์ 1:7 “นี่แน่ะ พระองค์จะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆ และนัยน์ตาทุกดวงจะเห็นพระองค์ แม้แต่คนทั้งหลายที่แทงพระองค์ และมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะคร่ำครวญเพราะพระองค์ จะเป็นไปอย่างนั้น อาเมน”

[40] วิวรณ์ 22:5 “กลางคืนจะไม่มีอีกต่อไป เขาไม่ต้องการแสงตะเกียง หรือแสงอาทิตย์ เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเป็นแสงสว่างของเขา และเขาจะครอบครองอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์” (ฉบับ 1971)

[41] วิวรณ์ 22:6 “ถ้อยคำเหล่านี้จริงแท้และ​​เชื่อถือได้​  ​องค์พระผู้เป็นเจ้า​​พระเจ้าแห่งดวงวิญญาณของเหล่าผู้เผยพระวจนะ ทรงส่งทูตสวรรค์ของพระองค์มาสำแดงถึง​​แก่บรรดาผู้รับใช้ของพระองค์ให้เห็นสิ่งต่างๆที่จะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้านี้” (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

[42] วิวรณ์ 22:3พระที่นั่งของพระเจ้าและของพระเมษโปดกจะตั้งอยู่ที่นั่น และบรรดาผู้รับใช้ของพระองค์จะนมัสการพระองค์”